ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป057

สัมมาทิฏฐิ ๓๘ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

วิปัสสนาภูมิ ๓

เวทนา ๔

การปฏิบัติดับเวทนาด้วยสมาธิ ๖

กิเลสกรรมฐาน ๖

อารมณ์ของกรรมฐานเป็นไปเพื่อดับกิเลส ๗

ลักษณะของจิตที่เป็นกามาพจร ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๗๒/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๗๓/๑ ( File Tape 57 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมมาทิฏฐิ ๓๘ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ว่าอาศัยกันอย่างไร

ตามนัยยะพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตร ซึ่งท่านอธิบาย

ในข้อสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ประกอบด้วยพระพุทธาธิบาย ซึ่งนำมาแทรกเข้า

และในตอนที่แสดงอธิบาย ถึงธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นสืบไปเป็นสาย

เหมือนอย่างส่ายโซ่ ซึ่งประกอบด้วยลูกโซ่เป็นอันมาก

ในตอนที่กำลังอธิบายนี้ก็เท่ากับกำลังอธิบายว่า

ลูกโซ่แต่ละลูกนั้นคล้องกันไปอย่างไร จึ่งได้ต่อกันไปเป็นสายเส้นเดียวกัน

ซึ่งได้มาถึงข้อว่า เพราะผัสสะหรือสัมผัสเป็นปัจจัย คือเป็นเหตุอาศัย

คือเมื่อสัมผัสหรือผัสสะเกิดขึ้น เวทนาก็เกิด เงื่อนหรือข้อต่อซึ่งได้อธิบายไปแล้ว

ก็คือเพราะอายตนะทั้ง ๖ เป็นปัจจัย จึงเกิดสัมผัสหรือผัสสะ

แต่ก็ได้แสดงอธิบายแทรกว่าในพระสูตรบางพระสูตร

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงข้ามอายตนะทั้ง ๖ คือตรัสว่าเพราะนามรูปเป็นปัจจัยเกิดสัมผัส

ก็เป็นปริยายคือเป็นทางแสดงของธรรมะ ซึ่งเป็นไปตามความเหมาะสมในการแสดงนั้นๆ

ซึ่งบางครั้งก็แจกแจงอย่างละเอียด บางครั้งก็แสดงอย่างรวบรัด

เมื่อแสดงอย่างรวบรัดก็ข้ามอายตนะทั้ง ๖ ดังที่ได้แสดงอธิบายแล้ว

แต่เมื่อแสดงไม่รวบรัด ก็แสดงอายตนะทั้ง ๖ ต่อจากนามรูป

คือเพราะนามรูปเป็นปัจจัย ก็เกิดอายตนะทั้ง ๖

เพราะอายตนะทั้ง ๖ เป็นปัจจัย ก็เกิดสัมผัสหรือผัสสะ

วิปัสสนาภูมิ

และแม้ในข้ออายตนะทั้ง ๖ เป็นปัจจัยแห่งผัสสะนั้น

ผู้ปฏิบัติก็เพ่งพิจารณา จับให้รู้จักอาการเป็นต้นของอายตนะทั้ง ๖ นั้นแต่ละข้อ

เชื่อมกับสัมผัสหรือผัสสะ ให้เป็นวิปัสสนาภูมิ ภูมิของวิปัสสนาได้

คือเพ่งพินิจพิจารณาให้รู้จักอาการ ให้รู้จักเพศ ให้รู้จักนิมิตคือเครื่องกำหนด

และให้รู้จักอุเทศคือการแสดง เช่นแสดงชื่อของตากับรูปที่ต่อกัน หูกับเสียงที่ต่อกัน

จมูกกับกลิ่นที่ต่อกัน ลิ้นกับรสที่ต่อกัน กายและโผฏฐัพพะที่ต่อกัน

มโนคือใจและธรรมะคือเรื่องราวที่ต่อกัน

จึงได้เกิดวิญญาณ เช่นจักขุวิญญาณ รู้รูปทางตาคือเห็นรูปเป็นต้น

และเมื่อทั้ง ๓ นี้มาประชุมกัน จึงเกิดสัมผัสหรือผัสสะ

 แต่ว่าในหมวดปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น

แสดงว่าเพราะอายตนะเป็นปัจจัยก็เกิดสัมผัสหรือผัสสะ ก็เป็นการรวบรัด

การพิจารณาให้รู้จักอาการเป็นต้นของวิถีจิต ทางดำเนินของจิตใจดั่งนี้

ก็เป็นวิปัสสนาภูมิ ภูมิของวิปัสสนาดังกล่าวแล้ว 

เวทนา

และเพราะสัมผัสหรือผัสสะเป็นปัจจัย

หรือว่าเพราะสัมผัสหรือผัสสะมีขึ้น เกิดขึ้น จึงเกิดเวทนา จึงมีเวทนา

เพราะฉะนั้น เวทนาคือสุขทุกข์หรือมิใช่ทุกข์มิใช่สุข

หรือว่าเวทนาที่จำแนกออกเป็นเวทนา ๕ ได้แก่ สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา

ซึ่งมีอธิบายว่า สุขก็ได้แก่สุขทางกาย ทุกข์ก็ได้แก่ทุกข์ทางกาย

โสมนัสสุขทางใจ โทมนัสทุกข์ทางใจ

อุเบกขาก็คือความเป็นกลางๆ มิใช่ทุกข์ มิใช่สุข มิใช่โสมนัส มิใช่โทมนัส

แต่เมื่อย่อเข้าก็เป็นเวทนา ๓ ที่แสดงกันโดยมาก

คือสุขทุกข์และอทุกขมสุข มิใช่ทุกข์มิใช่สุข เมื่อแสดงเวทนา ๓ ดั่งนี้

สุขก็หมายถึงทั้งสุขทางกาย ทั้งสุขทางใจ ทุกข์ก็หมายถึงทั้งทุกข์ทางกาย ทั้งทุกข์ทางใจ

อทุกขมสุข มิใช่ทุกข์มิใช่สุข ก็หมายถึงอุเบกขาเป็นกลางๆ มิใช่ทุกข์มิใช่สุขทางกายทางใจ

เพราะฉะนั้น แม้จะจำแนกเวทนาเป็น ๓ แม้จะจำแนกเวทนาเป็น ๕ ก็เป็นอันเดียวกันนั้นเอง

ก็คือหมายถึงสุขทุกข์และมิใช่ทุกข์มิใช่สุขเป็นกลางๆ ที่เป็นไปทางกายบ้างที่เป็นไปทางใจบ้าง

และท่านมีแสดงขยายความออกไปอีกว่า

อันสุขทุกข์ทางกายนั้น ก็บังเกิดจากกายสัมผัส สัมผัสทางกาย

คือสัมผัสสิ่งที่ถูกต้องทางกาย ส่วนสัมผัสทางตาที่เห็นรูปต่างๆ

สัมผัสทางหูที่ได้ยินเสียงต่างๆ สัมผัสทางจมูกที่ได้ทราบกลิ่นต่างๆ

สัมผัสทางลิ้นที่ได้ทราบรสต่างๆ และสัมผัสทางมโนคือใจที่ได้คิดได้รู้เรื่องต่างๆ

ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดสุขทุกข์ทางใจ

( เริ่ม ๗๓/๑ ) ฉะนั้น สุขทุกข์ทางกายนั้นจึงเกิดจากสัมผัสทางกายเพียงทางเดียว

เป็นการจำแนกแสดงสำหรับพิจารณาที่เกิดของเวทนา จะได้จับพิจารณาได้ถูกต้อง

และเวทนาดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ก็พูดกันว่าเป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

ซึ่งอันที่จริงนั้นก็เป็นตัวความรู้อย่างหนึ่ง คืออาการที่จิตน้อมออกรู้อารมณ์

ที่เข้ามาทางอายตนะภายใน หรือทางทวารทั้ง ๖ นั้น

หน้าที่ของจิตนั้นเป็นวิญญาณธาตุ คือธาตุรู้

เพราะฉะนั้น อาการที่น้อมออกรับอารมณ์นั้น ก็คือรู้อารมณ์นั้นเอง

ซึ่งรู้ทีแรกก็เป็นวิญญาณทั้ง ๖ ดังที่กล่าวแล้ว รู้ต่อมาที่แรงขึ้นก็คือสัมผัส

และแรงขึ้นก็เป็นเวทนา ซึ่งเป็นตัวรู้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น เวทนานั้นคือตัวรู้ ที่รู้เป็นสุข รู้เป็นทุกข์ หรือรู้เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

ถ้าไม่มีความรู้ หรือไม่มีตัวรู้อยู่แล้ว สุขทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขก็ย่อมไม่บังเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น คำว่าเวทนานั้นตามศัพท์ก็แปลว่ารู้ หรือว่ารับรู้ และก็มีนักธรรมะที่แปลว่าเสวย

เช่น สุขเวทนาก็เสวยสุข ทุกขเวทนาก็เสวยทุกข์ ก็คือกินสุขกินทุกข์

คำว่าอัตตาที่แปลกันว่าตัวตน ก็มีคำแปลอย่างหนึ่งว่า ผู้กิน ผู้เสวย

ก็คือผู้กินผู้เสวยสุขหรือทุกข์นี้เอง

เพราะฉะนั้น เวทนานั้นก็คือความรู้ แต่หมายจำเพาะว่า

ความรู้ที่เป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ดังที่กล่าวมานั้น

ซึ่งเกิดสืบเนื่องมาจากสัมผัสหรือผัสสะ เพราะสัมผัสหรือผัสสะเป็นปัจจัย

หรือว่าเพราะสัมผัสหรือผัสสะมีเกิดขึ้น จึงมีเวทนา จึงเกิดเวทนา

ท่านจึงมีเปรียบเอาไว้ว่า เหมือนอย่างไม้สีไฟสองอันมาสีกัน ก็เกิดไฟ ฉันใด

เพราะสัมผัสก็คืออายตนะภายในภายนอกกับวิญญาณมาประจวบกันจึงเกิดเวทนา

สัมผัสหรือผัสสะจึงเท่ากับไม้สีไฟสองอันที่มาสีกัน

เวทนาก็เปรียบเหมือนอย่างไฟที่บังเกิดขึ้น เพราะไม้สีไฟสองอันมาสีกันนั้น

ฉะนั้น เมื่อแยกไม้สีไฟสองอันมิให้สีกัน ไฟก็ไม่เกิด

เมื่อแยกอายตนะภายในภายนอกกับวิญญาณมิให้มาประชุมกันได้ ก็ไม่เกิดเวทนา

การปฏิบัติดับเวทนาด้วยสมาธิ

ในการปฏิบัติทางสมาธิชั้นสูงนั้น

ก็เป็นการปฏิบัติเพื่อที่จะดับเวทนาด้วยสมาธิ โดยที่มิให้ไม้สีไฟสองอันมาสีกัน

คือมิให้อายตนะภายในภายนอกกับวิญญาณ มาประชุมกัน มาประจวบกัน

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ดับเวทนาได้ และในการปฏิบัติสมาธินั้น ก็เป็นการปฏิบัติ

ใช้สัมผัสและเวทนาที่เป็นนิรามิส คือไม่มีกิเลสเป็นเครื่องล่อ

มาเป็นเครื่องดับเวทนาที่เป็นสามิส คือมีกิเลสเป็นเครื่องล่อ

ดังจะพึงเห็นได้ว่า จิตโดยปรกตินั้นก็เหมือนอย่างไม้สีไฟสองอันที่สีกัน

แล้วเกิดเวทนาอยู่เสมอ คือว่าอายตนะภายในภายนอกมาประจวบกัน เกิดวิญญาณ

มีเห็นรูปได้ยินเสียงเป็นต้น และเมื่อทั้ง ๓ ส่วนนี้มาประชุมกัน เป็นสัมผัส ก็เกิดเวทนา

แต่เป็นไปในทางกามาพจร คือหยั่งลงในกาม โดยมาก

เพราะฉะนั้น จึงได้เกิดกามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกาม หรือด้วยกามบ้าง

เกิดพยาบาทคือความกระทบกระทั่งหงุดหงิดโกรธแค้นขัดเคือง

มุ่งร้ายหมายล้างผลาญบ้าง คือเกิดนิวรณ์ต่างๆ

กิเลสกรรมฐาน

เพราะว่าตากับรูปที่มาประจวบกันเป็นต้นนั้น

ก็เป็นตากับรูปที่เป็นไปในกาม คือเป็นรูปที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ

เมื่อตามาต่อกับรูปเช่นนั้น ก็เป็นไปในทางกาม ก็เกิดกามฉันท์

หากไปพบรูปที่ขัดกันกับรูปที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ก็เกิดพยาบาท มักจะเป็นไปในทางนี้

อันที่จริงนั้นก็เป็นกรรมฐานเหมือนกัน แต่เป็นกิเลสกรรมฐาน

คือเป็นที่ตั้งของการงานทางใจที่เป็นฝ่ายกิเลส

อารมณ์ของกรรมฐานเป็นไปเพื่อดับกิเลส

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติสมาธิ

พระพุทธเจ้าจึงตรัสสอนให้ปฏิบัติในกรรมฐาน ที่ไม่เป็นไปเพื่อกิเลส

หรือไม่เป็นไปเพื่อก่อกิเลส เช่นตั้งสติกำหนดพิจารณากายเวทนาจิตธรรม

ก็ใช้มโนกับธรรมะซึ่งเป็นอายตนะที่ ๖ นั่นแหละ คิดหรือนึกในเรื่องที่เป็นกรรมฐาน

แปลว่าพรากจิตออกจากอารมณ์ อันเป็นไปเพื่อกิเลส มาตั้งอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐาน

ที่ไม่เป็นไปเพื่อกิเลส แต่เป็นไปเพื่อดับกิเลส

เมื่อพรากจิตออกมาตั้งอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานได้

ตั้งสติกำหนดพิจารณากายเวทนาจิตธรรม ก็ต้องอาศัยอายตนะที่ ๖ คือมโนกับธรรมะ

ใจต่อกับธรรมะที่เป็นกรรมฐาน ก็เกิดสัมผัส เมื่อเกิดสัมผัสก็เกิดเวทนา

แต่ก็เป็นนิรามิสเวทนา เวทนาที่ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องล่อ

และเมื่อใจมาตั้งอยู่ในอารมณ์ของกรรมฐานได้ ได้สัมผัสกับกรรมฐาน

ได้เวทนาที่เป็นนิรามิสดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าดับสัมผัสกับกิเลส กับกามคุณารมณ์

อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลส ดับเวทนาที่เป็นสามิสคือที่มีกิเลสเป็นเครื่องล่อได้

ก็แปลว่าดับสัมผัสดับเวทนาในฝ่ายกิเลส ด้วยสัมผัสและเวทนาในฝ่ายที่เป็นนิรามิส

ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องล่อ

การเริ่มต้นปฏิบัติกรรมฐานก็ต้องใช้ดั่งนี้ ก็แปลว่าใช้ไม้สีไฟสองอันสีกัน

ให้เกิดไฟเหมือนกัน แต่ว่าไม้สีไฟสองอันที่สีกันให้เกิดเวทนาที่เป็นนิรามิสนี้

เป็นไม้สีไฟสองอันที่พระพุทธเจ้าได้ประทานไว้ เช่นสติปัฏฐานทั้ง ๔ หรือกรรมฐานทั้งปวง

ที่ตรัสสอนเอาไว้ให้ปฏิบัติ ก็ล้วนเป็นไม้สีไฟทั้งนั้น ให้รับเอากรรมฐานนี่แหละ มาสีเข้ากับใจ

ให้สัมผัสกับใจ ให้เกิดเวทนาที่เป็นนิรามิส ก็เป็นอันว่าจะดับไม้สีไฟสองอันฝ่ายกิเลส

กล่าวสั้นเข้ามาก็คือว่า อารมณ์ที่มาสีกับใจ ที่เป็นฝ่ายกิเลสนั้น

ก็ทำให้สัมผัสกับฝ่ายกิเลส ได้เวทนาที่เป็นสามิสฝ่ายกิเลส

แต่เมื่อมาปฏิบัติใช้ไม้สีไฟของพระพุทธเจ้า คือเอากรรมฐานมาสีเข้ากับใจ

ก็จะสัมผัสกับไม้สีไฟที่เป็นกรรมฐาน ได้เวทนาที่เป็นนิรามิส

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติทำสมาธินั้น ในเบื้องต้นก็ปฏิบัติด้วยอาศัยวิธีนี้

ลักษณะของจิตที่เป็นกามาพจร

แต่ว่าจิตนี้ เมื่อเริ่มปฏิบัตินั้น ยังเป็นจิตที่เป็นกามาพจรเต็มที่

เพราะฉะนั้น จึงยกขึ้นมาสู่กรรมฐานไม่ค่อยจะได้ มักจะตกลงไป ก็คือว่าปรกตินั้นไปติด

หรือไปพอใจเสียแล้ว ในไม้สีไฟที่เป็นฝ่ายกาม เป็นฝ่ายกิเลส รับเข้ามาสีใจอยู่เสมอ

และเมื่อนำเข้ามาสีใจ ก็เกิดสัมผัสกับใจ ก็เกิดไฟกิเลส ก็เป็นเวทนาที่เป็นสามิส เป็นไปอยู่ดั่งนี้

ครั้นมาเปลี่ยนไม้สีไฟที่เป็นกรรมฐานของพระพุทธเจ้า นำเอากรรมฐานเข้ามาสีกับใจ

ใจก็ไม่ค่อยจะยอมรับ ไม่ค่อยจะยอมให้กรรมฐานนี้มาสีกับใจ มักจะหนีออกไป

รับเอาไม้สีไฟที่เป็นฝ่ายกามมาสีใจอยู่ มักจะเป็นดั่งนี้ นี้เป็นลักษณะของจิตที่เป็นกามาพจร

แต่เมื่อปฏิบัติอยู่บ่อยๆ มีความคุ้นเคยกับไม้สีไฟของพระพุทธเจ้า

ด้วยกรรมฐานมาสีกับใจอยู่ ให้สัมผัสกับใจอยู่ ให้เกิดเวทนาที่เป็นสามิสอยู่

ก็แปลว่าทีแรกนั้น เมื่อปฏิบัติกรรมฐานนั้น มักจะได้ทุกข์เวทนา

เพราะว่าใจไม่ชอบ มักจะอึดอัดรำคาญ เพราะจิตเป็นกามาพจรย่อมเป็นดั่งนี้

แต่ครั้นเมื่อนำมาสีใจอยู่บ่อยๆ สัมผัสกับใจบ่อยๆ ได้เวทนาที่เป็นสุขขึ้น ที่เป็นนิรามิส

อันเป็นสุขที่บริสุทธิ์ ย่อมจะน้อมใจให้กลับมาสู่กรรมฐานของพระพุทธเจ้า

อันเป็นไม้สีไฟของพระพุทธเจ้า สัมผัสกับไม้สีไฟของพระพุทธเจ้า สัมผัสกับความสุขที่ได้

อันเป็นสุขเวทนาที่เป็นนิรามิส จะทำให้ได้ฉันทะคือความพอใจ

ในการปฏิบัติกรรมฐานมากขึ้น ก็แปลว่าจิตก็จะได้สมาธิมากขึ้น

แต่เมื่อถึงสมาธิขั้นสูงแล้ว ท่านแสดงว่าปฏิบัติพรากไม้สีไฟทั้งหมด ดับเวทนาทั้งหมด

จิตจึงจะได้สมาธิถึงขั้นสูง ซึ่งเป็นอุเบกขาอันบริสุทธิ์

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

สัมมาทิฏฐิ ๓๙ ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

* 

อุปาทาน ๔ ๓

เหตุแห่งการแสวงหา ๔

โลกย่อมเป็นไปดั่งนี้ ๕

ข้อที่พึงพิจารณา ๖

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๗๓/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๗๓/๒ ( File Tape 57 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมมาทิฏฐิ ๓๙ ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

* 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงข้อสัมมาทิฏฐิตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรมาโดยลำดับ

โดยที่ท่านได้จับอธิบายในข้อสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ว่าคือเห็นอย่างไร

จำแนกแจกแจงตามลำดับธรรมะในปฏิจจสมุปบาท คือธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น

จับแต่ข้อชรามรณะย้อนขึ้นไปจนถึงอวิชชาอาสวะ

แต่ละข้อก็จำแนกออกตามหลักอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ซึ่งเป็นผลและเหตุในด้านเกิดทุกข์

และผลและเหตุในด้านดับทุกข์ไปทีละข้อ

ในการอธิบายในที่นี้ ก็อธิบายไปตามแนวของท่าน

และเมื่อขึ้นไปถึงอวิชชาอาสวะ จึงได้จับอธิบายในแต่ละข้อ

ที่เป็นผลและเหตุในด้านเกิดทุกข์ หรือว่าในด้านเกิด ว่าเป็นปัจจัยที่สืบกันลงไปอย่างไร

ก็จับแต่ข้ออวิชชาอาสวะ หรืออาสวะอวิชชาลงมา ว่าเป็นเหตุปัจจัยของกันอย่างใด

และก็ต่อลงมา อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารอย่างไร

สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณอย่างไร วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปอย่างไร

นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ ๖ อย่างไร อายตนะ ๖ เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะอย่างไร

ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนาอย่างไร เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาอย่างไร

อุปาทาน ๔ 

ในวันนี้ก็จะได้จับอธิบายว่า ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน

คือเมื่อมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ก็ย่อมมีอุปาทานคือความยึดถือ

และอุปาทานนั้นท่านพระเถระก็ได้แยกออกเป็นอุปาทาน ๔

คือ กามุปาทาน ยึดถือกาม ทิฏฐุปาทาน ยึดถือทิฏฐิคือความเห็น

สีลัพพตุปาทาน ยึดถือศีลและพรต อัตตวาทุปาทาน ยึดถือวาทะว่าตน

ซึ่งอุปาทาน ๔ นี้ก็ได้แสดงอธิบายแล้ว เมื่อได้แสดงมาถึงลำดับของอุปาทาน

เพราะมีตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก จึงมีอุปาทานคือความยึดถือ

คือเพราะอยากจึงยึด ถ้าหากว่าไม่มีอยากซึ่งเป็นตัวตัณหา ก็ย่อมไม่มียึดซึ่งเป็นอุปาทาน

แต่ได้มีพระพุทธาธิบายแทรกเข้ามาตรงตัณหานี้ในพระสูตรอื่นว่าเพราะตัณหา

เป็นเหตุให้เกิดอะไรต่ออะไรต่างๆอีกมากมาย ซึ่งก็เป็นข้อที่จะพึงเห็นได้อย่างง่ายๆ

เพราะเป็นเรื่องที่มีอยู่ เป็นไปอยู่ เหมือนอย่างเป็นธรรมดาโลก

( เริ่ม ๗๓/๒ ) ซึ่งโลกนั้นก็ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสแสดงไว้ว่า อันตัณหาก่อให้เกิดขึ้น

ตัณหายะ อุฑฑิโต โลโก โลกอันตัณหาก่อให้เกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น ข้อที่ตรัสจำแนก ว่าอะไรเกิดขึ้นบ้างจากตัณหา

จึงแสดงถึงความเป็นพระสัพพัญญูผู้รู้ธรรมทั้งหมดของพระพุทธเจ้า

และแสดงถึงทรงเป็นพระผู้จำแนกแจกธรรม สั่งสอนได้อย่างถูกต้องแท้จริง

คือได้ตรัสแสดงชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากตัณหา

อันกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องธรรมดาโลกที่ตัณหาก่อขึ้น

คือได้ตรัสแสดงไว้ว่า เพราะมีตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก จึงมีการแสวงหา

คือมีการแสวงหาสิ่งที่ตัณหาทะยานอยากเพื่อจะได้

ทะยานอยากเพื่อจะได้อะไร ก็แสวงหาสิ่งนั้น

ทะยานอยากเพื่อจะเป็นอะไร ก็แสวงหาเพื่อจะเป็นอย่างนั้น

ทะยานอยากเพื่อที่จะไม่ให้เป็นอะไร ก็แสวงหาเพื่อที่จะไม่ให้เป็นอย่างนั้น

เหตุแห่งการแสวงหา

เพราะฉะนั้น เพราะมีตัณหาจึงมีการแสวงหา

และเพราะมีการแสวงหาก็มีลาภคือการได้มา ในเมื่อการแสวงหานั้นเป็นเหตุให้ได้มา

ก็ย่อมจะได้ เช่น ได้ทรัพย์ ได้สิ่งที่ตัณหาต้องการ อันมีคำเรียก เช่นเรียกว่ากามหรือวัตถุกาม

หรือกามคุณ คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย

ได้เป็นนั่นเป็นนี่ตามที่ตัณหาต้องการ หรือว่าได้ที่จะไม่เป็นนั่นเป็นนี่

หรือที่ให้สิ่งที่เป็นนั่นเป็นนี่ ต้องหายไปหมดไป เสื่อมไปสิ้นไป ตามที่ตัณหาต้องการ

เหล่านี้รวมเข้าในคำว่าการได้

และเพราะมีการได้ จึงมีความปลงใจตกลงใจว่า เราได้มาซึ่งสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้ว

และเพราะมีความปลงใจตกลงใจดั่งนี้ จึงมีฉันทราคะความพอใจยินดี

ความติดใจ พอใจ อยู่ในสิ่งที่ได้นั้น ซึ่งตกลงใจว่าเราได้มาแล้ว

รับรู้ว่าเราได้มาแล้ว ก็มีความยินดีพอใจ มีความพอใจติดใจ หรือติดใจพอใจอยู่ในสิ่งนั้น

และเพราะมีความพอใจติดใจ หรือว่ายินดีพอใจอยู่ในสิ่งนั้น จึงได้มีความสยบติด

อันหมายความว่า ความพอใจติดใจนั้นทำให้ตนหรือจิตใจของตนสยบอยู่ในสิ่งนั้น

ติดอยู่ในสิ่งนั้น เหมือนอย่างวัตถุที่ติดกันอยู่ด้วยกาว อันทำให้มีความสยบอยู่ด้วยความติด

และเพราะมีความสยบอยู่ด้วยความติด จึงมีความยึดถือ รวบถือ

อันหมายความว่า ไม่ต้องการที่จะพรากออก แต่ว่าแถมมีความยึดถืออยู่ในความติดนั้น

แปลว่าต้องการจะให้ติดอยู่ ต้องการที่จะให้สยบอยู่ ไม่ต้องการที่จะให้พรากออก

แม้มีใครมาบอกว่าให้พรากออก เพราะความที่สยบติดอยู่นั้น ไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้

ก็ไม่ยอมฟัง ยังยืนยันอยู่ในความสยบติดนั้น ดั่งนี้คือความที่ยึดถือ หรือว่ารวบถือ

ด้วยความสมัครใจ สมัครใจที่จะยึดถืออยู่อย่างนั้น

และเพราะมีความยึดถืออยู่ดั่งนี้

จึงมีมัจฉริยะที่แปลกันว่าความตระหนี่เหนียวแน่น หวงแหน

และเพราะมีมัจฉริยะคือความตระหนี่เหนียวแน่นหวงแหน จึงมีอารักขา

คือการรักษาด้วยวิธีรักษาต่างๆ เป็นต้นว่า ต้องมีการถือกระบอง ถือท่อนไม้

ต้องมีการถือศัสตราวุธ ต้องมีการทะเลาะกัน ต้องมีการแก่งแย่งกัน ต้องมีการวิวาทกัน

ต้องมีการกล่าวหากัน ว่าท่านนั่นแหละ ท่านนั่นแหละ หรือว่าเจ้านั่นแหละ เจ้านั่นแหละ

ต้องมีการกล่าวส่อเสียด ต้องมีการกล่าวคำเท็จต่างๆ

และก็จะต้องมีบาปอกุศลธรรมต่างๆมากมาย บังเกิดขึ้นสืบต่อกันไปดั่งนี้

โลกย่อมเป็นไปดั่งนี้

นี้เป็นพระพุทธาธิบายที่ตรัสจำแนกเอาไว้ โดยที่ได้ทรงชี้ให้ทุกๆคนได้มองเห็นได้

ว่าความวุ่นวาย ความทุกข์เดือดร้อนต่างๆ ที่มีอยู่ในโลกนั้น ได้มีขึ้นดั่งนี้ สืบจากตัณหา

คือความดิ้นรนทะยานอยากและเมื่อพิจารณาดู ทุกคนก็จะเห็นได้ว่าเป็นอย่างนี้จริงๆ

โลกที่ตัณหาก่อขึ้นย่อมเป็นไปดั่งนี้จริงๆ และทุกคนที่มีตัณหาก็ย่อมเป็นไปอย่างนี้มากหรือน้อย

เพราะฉะนั้น ข้อที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสชี้แจงไว้นี้ จึงเป็นเรื่องที่บังเกิดขึ้นในโลกจริงๆ

เพราะเหตุแห่งตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก

และเมื่อรวมเข้าแล้ว ก็รวมเข้าในอุปาทานทั้ง ๔ นั้นแหละ

ที่ตรัสสรุปเข้าว่าเพราะตัณหามีขึ้น จึงมีอุปาทานคือความยึดถือ

ยึดถือกาม คือสิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ภาวะที่รักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย

ยึดถือทิฏฐิคือความเห็น ความเห็นที่เป็นไปตามอำนาจของตัณหา

ยึดถือศีลและวัตร คือความประพฤติที่เป็นข้อเว้น

และความประพฤติที่เป็นข้อที่พึงทำต่างๆ ไปตามอำนาจของตัณหา

ยึดถือวาทะว่าตัวเราของเรา และก็สืบไปถึงตัวเขาของเขา

เพราะเมื่อมีตัวเราของเรา ก็ต้องมีตัวเขาของเขา คู่กันไป

ก็รวมเข้าในอุปาทานทั้ง ๔ นี้แหละ ซึ่งปรากฏออกไป ก็เป็นการแสวงหา

เป็นการได้มาในเมื่อได้ เป็นการที่รับเข้ามาว่าเราได้ ยุติไปเป็นอย่างๆ

และมีความพอใจติดใจ มีความสยบติด มีความยึดถือ มีความตระหนี่เหนียวแน่น

และมีอารักขาต่างๆ ซึ่งต้องใช้กระบองท่อนไม้ ต้องใช้ศัตราวุธต่างๆ ต้องทะเลาะกัน

แก่งแย่งกัน วิวาทกัน กล่าวหากัน ว่าท่านนั่นแหละ หรือว่าเจ้านั่นแหละผิดเป็นต้น

ต้องพูดส่อเสียดกัน ต้องพูดเท็จกัน และต้องประกอบบาปอกุศลธรรมต่างๆ เป็นเอนก

คือไม่น้อย มากมาย ก็สืบเนื่องมาจากตัณหาซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน ดังนี้นี่แหละ

ข้อที่พึงพิจารณา 

เพราะฉะนั้น ตามที่ทรงจำแนกไว้นี้ จึงเป็นข้อที่พึงพิจารณา

และเมื่อพิจารณาดีแล้ว ก็จะทำให้จิตใจนี้เห็นโทษของตัณหา เห็นโทษของอุปาทาน

ในการที่เพ่งพิจารณา ก็ต้องใช้สมาธิในสิ่งที่เพ่งพิจารณานั้น

ปัญญาที่ได้มาจากความเพ่งพิจารณา ก็เป็นปัญญา

และเมื่อเป็นปัญญาขึ้นดั่งนี้ ปัญญานี้เองก็จะทำให้เกิดการละได้ การสละได้

ดังที่ท่านพระเถระได้แสดงไว้ว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ

ก็คือความเห็นตรงเห็นถูกต้อง ประกอบด้วยความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในธรรม

อันนำมาสู่พระสัทธรรม คือพระธรรมวินัยในศาสนานี้

เป็นเหตุละราคานุสัย อนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องในจิตสันดาน คือราคะความติดใจยินดี

บันเทาอนุสัยคือปฏิฆะความกระทบกระทั่ง

อันเป็นต้นของความโกรธแค้นขัดเคือง โทสะพยาบาททั้งหลาย

และถอนอนุสัยคือทิฏฐิมานะว่าตัวเราของเรา เป็นเหตุให้ละอวิชชา ทำวิชชาให้บังเกิดขึ้นได้

เพราะฉะนั้น จึงนำให้กระทำที่สุดของทุกข์ได้

ความที่ได้พิจารณาให้มองเห็นตามเป็นจริง ตามที่ตรัสไว้นี้แหละ

คือสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบในแต่ละข้อ

และที่ตรัสแสดงไว้นี้ ก็เป็นข้อที่จะพิจารณาเห็นตามไปได้จริงๆ

เพราะเป็นเรื่องที่มีอยู่เป็นไปอยู่จริงในโลกนี้ ซึ่งทุกๆคนก็อยู่ในโลกนี้

โดยตรงก็อยู่ในจิตใจอันนี้นี่แหละ ของทุกๆคน ซึ่งทุกๆคนก็มีจิตใจอันนี้อยู่

มีตัณหามีอุปาทานอยู่ และมีความเป็นไปต่างๆอยู่ตามที่ตรัสสอนไว้นี้ มากหรือน้อย

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats