ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป077

อนุโลมิกะขันติ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 *

ตีติกขาขันติ ๓

บรมตบะ เครื่องแผดเผากิเลส ๓

ขันติที่ประกอบด้วยปัญญา ๔

เมื่อเห็นนิพพานโดยความเป็นทุกข์ ๕

ได้อนุโลมิกะขันติด้วยอาการอย่างไร ๖

ข้อความสมบูรณ์ มีศัพท์บางคำที่อาจเขียนผิด หน้า 2-3

 

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๙๘/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๙๙/๑ ( File Tape 77 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

อนุโลมิกะขันติ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ได้แสดงขันติมาครั้งหนึ่ง จะแสดงต่อไป

ขันติที่จะแสดงต่อไปนี้มีความหมายในทางเพื่อมรรคผลนิพพาน

เพื่อความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ ขันติดังกล่าวนี้เรียกว่า อนุโลมิกะขันติ

ขันติที่เป็นไปโดยอนุโลม คืออนุโลมต่อความเห็นชอบ

ก็คืออนุโลมอริยมรรค มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น เพื่อกระทำให้แจ้งอริยผลทั้งหลาย

ขันติดังกล่าวนี้เป็นขันติที่มีความหมายเป็นพิเศษกว่าขันติทั่วๆไป

แม้ตามที่ได้แสดงอธิบายแล้ว และได้มีความหมายในทางเดียวกัน

กับขันติที่ตรัสไว้ในโอวาทปาติโมกข์ว่า ขันติ ปรมัง ตโปตีติกขา

ขันติคือ ตีติกขา ความทนทาน เป็นบรมตบะ คือเป็นธรรมะที่เผากิเลสอย่างยิ่ง

เป็นไปเพื่อนิพพาน

 

ดังที่ตรัสต่อไปว่า นิพพานัง ปรมัง ตี พุทธา

พระพุทธะทั้งหลายกล่าวนิพพานว่าเป็นอย่างยิ่ง ขันติเป็นบรมตบะ ดั่งนี้

จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้อีกว่า ขันติ พลัง วยะ ตินัง

ขันติเป็นกำลังของนักพรต หรือผู้บำเพ็ญพรตทั้งหลาย ดั่งนี้

 

ตีติกขาขันติ

 

อันขันติดังกล่าวว่า ตีติกขาขันติ ในโอวาทปาติโมกข์

หรือ อนุโลมิกะขันติ ที่ยกขึ้นมาแสดงในวันนี้

จึงมีความหมายว่าเป็นความอดทน เป็นความทนทาน ต่ออารมณ์ทั้งหลาย

คืออารมณ์ คือรูปที่เห็นทางตา อารมณ์คือเสียงที่ได้ยินทางหู

อารมณ์คือกลิ่นที่ได้ทราบทางจมูก อารมณ์คือรสที่ได้ทราบทางลิ้น

อารมณ์คือสิ่งถูกต้องที่ได้ทราบทางกาย

อารมณ์คือธรรมะอันได้แก่เรื่องราวที่ได้รู้ได้คิดทางมโนคือใจ

 

อดทนต่ออารมณ์เหล่านี้

เพราะอารมณ์เหล่านี้เป็นที่ตั้งแห่งราคะความติดใจยินดีก็มี

เป็นที่ตั้งแห่งโทสะความโกรธแค้นก็มี เป็นที่ตั้งแห่งโมหะความหลงก็มี

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงเกิดราคะโทสะโมหะ หรือว่าโลภโกรธหลงขึ้น ไหลเข้าสู่ใจหรือจิต

เพราะฉะนั้น อดทนต่ออารมณ์ทั้งหลาย จึงมีความหมายถึงอดทนต่อกิเลสทั้งหลาย

ที่บังเกิดขึ้นจากอารมณ์นั้นๆด้วย

 

บรมตบะ เครื่องแผดเผากิเลส

 

ขันติที่เป็นอนุโลมขันติ หรืออนุโลมิกะขันติ

จึงมีความหมายถึงความอดทนต่ออารมณ์ ต่อกิเลสดังกล่าว

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะเป็น บรมตบะ คือเป็นเครื่องแผดเผากิเลส

ผู้ที่ปฏิบัติขันติ ฝึกจิตใจให้มีความอดทนต่ออารมณ์ทั้งหลาย ต่อกิเลสทั้งหลาย

ย่อมสามารถเผากิเลสทั้งหลายได้ ดับกิเลสทั้งหลายได้

เช่นเมื่อความโลภบังเกิดขึ้นในวัตถุอันเป็นที่ตั้งของความโลภ

หรือราคะความติดใจยินดีบังเกิดขึ้นในวัตถุอันเป็นที่ตั้งของราคะ

ก็มีความอดทน ไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของโลภะหรือราคะ

เมื่อความอดทนนี้มีกำลังที่แรงกว่ากำลังของกิเลส ก็ชนะกิเลสได้

กิเลสก็ดับหายไป เหมือนอย่างถูกเผาไป

 

เมื่อโทสะบังเกิดขึ้นก็เช่นเดียวกัน มีความอดทนต่อโทสะ ต่ออารมณ์ของโทสะ

ไม่ยอมแพ้อำนาจของโทสะ และเมื่อความอดทนนี้มีกำลังกว่า

โทสะกับอารมณ์ของโทสะก็ดับหายไป เหมือนอย่างถูกเผาสิ้นไป

โมหะก็เช่นเดียวกัน ความหลงถือเอาผิด หลงติดอยู่ในวัตถุอันเป็นที่ตั้งของความหลง

มีความอดทนต่อความหลงความติด และอารมณ์ของความหลงนั้น

เมื่อความอดทนมีกำลังก็เอาชนะโมหะได้ โมหะก็ดับหายไป เหมือนอย่างถูกเผาไป

 

ขันติที่ประกอบด้วยปัญญา

 

แต่ในการปฏิบัติทำขันติคือความอดทนนี้

เมื่อประกอบไปด้วยกับการปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญา

ก็ทำให้เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ขึ้นมาได้

ขันติที่ประกอบด้วยปัญญานับว่าเป็นยอดของขันติที่ประกอบด้วยสมาธิด้วยศีล

แต่ว่าก็ต้องอาศัยการปฏิบัติทั้งในศีลทั้งในสมาธิทั้งในปัญญาประกอบกันไป

ทั้ง ๓ นี้มีปัญญาเป็นยอด แต่เมื่อมียอดก็ต้องหมายความว่าต้องมีต้นมีรากด้วย

ศีลก็เหมือนอย่างราก สมาธิก็เหมือนอย่างต้น ปัญญาก็เหมือนอย่างยอด เมื่อเทียบกับต้นไม้

ฉะนั้น แม้จะยกยอดขึ้นมาแสดง ก็ต้องหมายความว่าต้องมีลำต้นต้องมีรากอยู่ด้วยกัน

เป็นแต่เพียงต้องการจะชี้ว่าปัญญาเป็นยอด

 

เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ว่า

ปัญญาเห็นอย่างไรจึงจะเป็นฐานะที่ว่าประกอบด้วยอนุโลมิกะขันติ

ได้ตรัสแสดงไว้ว่า เมื่อยังเห็นสังขารอะไรๆโดยความเป็นของเที่ยง โดยความเป็นสุข

เห็นธรรมะอะไรๆคือทั้งส่วนที่เป็นสังขารทั้งส่วนที่เป็นวิสังขาร โดยความเป็นอัตตาตัวตน

เมื่อยังเห็นดั่งนี้อยู่ก็ไม่เป็นฐานะที่จะชื่อว่าประกอบด้วยอนุโลมิกะขันติ

และเมื่อไม่ประกอบด้วยอนุโลมิกะขันติ ก็ไม่เป็นฐานะที่จักหยั่งลงสู่ความเป็นชอบ

คือหยั่งลงสู่อริยมรรค มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น และเมื่อยังไม่หยั่งลงสู่ความเป็นชอบ

หรือว่าสู่ สัมมัตตะนิยาม คือความกำหนดแน่โดยความเป็นชอบ

ก็ไม่เป็นฐานะที่จะกระทำให้แจ้งอริยผลทั้งหลาย

 

( เริ่ม ๙๙/๑ ) ต่อเมื่อเห็นสังขารทั้งปวงโดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์

เห็นธรรมอะไรๆทั้งปวงโดยความเป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตาตัวตน

จึงเป็นฐานะที่จะชื่อว่าประกอบด้วยอนุโลมิกะขันติ

และเมื่อประกอบด้วยอนุโลมิกะขันติ ก็เป็นฐานะที่จักหยั่งลงสู่นิยาม

คือความกำหนดแน่แห่งความเป็นชอบ คือสู่นิยามแห่งอริยมรรคมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น

และเมื่อหยั่งลงสู่นิยามแห่งความเป็นชอบ ก็เป็นฐานะที่จะกระทำให้แจ้งอริยผลทั้งหลาย

 

เมื่อเห็นนิพพานโดยความเป็นทุกข์

 

อนึ่ง เมื่อยังเห็นนิพพานโดยความเป็นทุกข์ก็เช่นเดียวกัน

ไม่เป็นฐานะที่จะประกอบด้วยอนุโลมิกะขันติ

ไม่เป็นฐานะที่จักหยั่งลงสู่นิยามแห่งความเป็นชอบ

ไม่เป็นฐานะที่จะกระทำให้แจ้งอริยผลทั้งหลาย

ต่อเมื่อเห็นนิพพานโดยความเป็นสุข ดังที่มีปาฐะว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง

นิพพานเป็นบรมสุข จึงจะเป็นฐานะที่ประกอบด้วยอนุโลมิกะขันติ

เป็นฐานะที่จักหยั่งลงสู่นิยามแห่งความเป็นชอบ

เป็นฐานะที่จะกระทำให้แจ้งอริยผลทั้งหลาย ดั่งนี้

 

อนุโลมิกะขันติด้วยอาการอย่างไร

 

และจะชื่อว่าได้อนุโลมิกะขันติด้วยอาการอย่างไร

จะชื่อว่าหยั่งลงสู่ความเป็นชอบด้วยอาการอย่างไร

ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสจำแนกอาการไว้เป็นอันมาก แต่อาจสรุปลงได้เป็น ๓

คือเห็นขันธ์ ๕ โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา

เห็นนิพพาน โดยความเป็นเที่ยง โดยความเป็นสุข และโดยความเป็นปรมัตถ์

หรือ ปรมัตถะ คือมีอรรถะอย่างยิ่ง

 

กล่าวคือเห็นขันธ์ ๕ โดยความเป็นของไม่เที่ยง ย่อมได้อนุโลมิกะขันติ

เห็นความดับขันธ์ ๕ เป็นนิโรธคือความดับทุกข์เป็นของเที่ยงแท้ เป็นนิพพาน

ย่อมได้หรือหยั่งลงสู่นิยามแห่งความเป็นชอบ คือสู่ทางอริยมรรค

เห็นขันธ์ ๕ โดยความเป็นทุกข์ ย่อมได้อนุโลมมิกะขันติ

เห็นความดับขันธ์ ๕ เป็นนิโรธคือความดับทุกข์ เป็นสุข เป็นนิพพาน

ย่อมหยั่งลง ย่อมได้นิยามแห่งความเป็นชอบ

เห็นขันธ์ ๕ โดยความเป็นอนัตตา ย่อมได้อนุโลมิกะขันติ

เห็นความดับขันธ์ ๕ เป็นนิโรธคือความดับทุกข์

เป็นปรมัตถะคือมีอรรถะอย่างยิ่งอย่างละเอียด เป็นนิพพาน

ย่อมหยั่งลงสู่นิยามแห่งความเป็นชอบ ดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้น อนุโลมิกะขันตินี้จึงเป็นข้อสำคัญ

ศีล สมาธิ ปัญญา อาศัยขันติมาก่อน

คือในการปฏิบัติศีลสมาธิปัญญานั้นก็ต้องใช้ขันติ ต้องประกอบด้วยขันติ

และเมื่อได้ศีลสมาธิปัญญาขึ้น ก็ทำให้ได้ขันติที่สูงขึ้น คืออนุโลมิกะขันติดังกล่าว

คือเมื่อได้ปัญญาเห็นขันธ์ ๕ ว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา

เมื่อได้ปัญญาดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าได้อนุโลมิกะขันติ

ซึ่งนำไปสู่นิยามแห่งความเป็นชอบ คืออริยมรรค มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น

และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะกระทำให้แจ้งอริยผลทั้งหลายได้

 

เพราะฉะนั้น นิยามแห่งความเป็นชอบคืออริยมรรค

จึงกล่าวได้ว่าเป็นมรรคนั้นเอง และเมื่อได้มรรคก็ย่อมได้ผล

คือกระทำให้แจ้งผลทั้งหลาย คืออริยผลทั้งหลาย ได้อริยมรรค ก็ได้อริยผล

อนุโลมิกะขันตินั้น จึงเป็นขันติที่อนุโลมต่ออริยมรรคอริยผล สอดคล้องต่ออริยมรรคอริยผล

เป็นขันติที่ได้มาจากปัญญาที่เห็นขันธ์ ๕ ว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา

 

และในการที่จะปฏิบัติในปัญญาในสมาธิในศีล

ก็ต้องอาศัยขันติคือความอดทนมาโดยลำดับ แผดเผากิเลสมาโดยลำดับ

ถ้าไม่อาศัยขันติก็ไม่อาจที่จะปฏิบัติให้สำเร็จได้ เป็นขันติในขั้นปฏิบัติตั้งแต่ในเบื้องต้น

ครั้นได้ศีลได้สมาธิได้ปัญญา เห็นขันธ์ ๕ ว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา

จึงได้ขันติที่เป็นอนุโลมต่อมรรคผล อันเรียกว่าอนุโลมิกะขันตินี้

มีลักษณะเป็นความทนทาน ไม่หวั่นไหว อันจะเปรียบได้อย่างภูเขาหินล้วน

ไม่หวั่นไหวด้วยลมอันพัดมาแต่ทิศทั้งปวง ต่างจากต้นไม้เป็นต้นทั้งใหญ่ทั้งเล็ก

เมื่อถูกลมพัดแม้จะไม่หักก็ไหว และแม้ว่าจะไม่โค่นล้มทั้งต้น กิ่งใบก็อาจที่จะหักหล่น

ถ้าหากว่าถูกลมแรงมากก็จะต้องล้มทั้งต้น

แต่ภูเขาหินล้วนนั้นย่อมทนได้ต่อลมอันพัดมาแต่ทิศทั้งปวง

 

อนุโลมมิกะขันติก็เช่นเดียวกัน

เมื่อปฏิบัติให้เห็นไตรลักษณ์ในขันธ์ ๕ ได้ จิตก็จะแข็งแกร่งทนทาน

ไม่หวั่นไหวต่ออารมณ์และกิเลสทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น จึงนำสู่อริยมรรคสู่อริยผล จึงเรียกว่าอนุโลมิกะขันติ ขันติที่อนุโลม

คืออนุโลมต่ออริยมรรคที่เรียกว่านิยามแห่งความเป็นชอบ และอริยผลทั้งหลาย ดั่งนี้

 

ตามที่แสดงมานี้ แสดงตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสเอาไว้

เป็นขันติที่มีลักษณะพิเศษกว่าขันติทั่วไป

แต่ว่าในการปฏิบัตินั้นก็จะต้องปฏิบัติตั้งแต่ขันติคือความอดทน มีน้ำอดน้ำทน

มีความอดกลั้นทนทาน ต่ออารมณ์และกิเลสทั้งหลาย ซึ่งอาจจะทนได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

แต่ว่าเมื่อฝึกอยู่บ่อยๆแล้ว ก็จะทำให้ความอดทนนี้มีพลังยิ่งขึ้น

สามารถอดทนต่ออารมณ์และกิเลสได้มากขึ้น

 

พร้อมทั้งเมื่อมีโสรัจจะคือความที่ทำใจให้สบาย โดยระบายอารมณ์และกิเลส

ที่อัดอยู่ในใจออกไป ไม่ปล่อยให้อัดเอาไว้ ระบายใจออกไปให้สบาย

อาศัยสติอาศัยปัญญา และอาศัยธรรมะอื่นๆเช่นเมตตากรุณาเป็นต้น เข้ามาช่วย

และเมื่อระบายออกไปได้ใจก็สบาย เมื่อใจสบาย กายวาจาก็เป็นปรกติเรียบร้อยดีงาม

เพราะฉะนั้นจึงตรัสแสดงว่าธรรมะคู่นี้ ขันติคือความอดทน

โสรัจจะที่ท่านแปลว่าความเสงี่ยม เป็นธรรมะที่ทำให้งาม ดั่งนี้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

มาร ๕

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

ดวงตาเห็นธรรม ๓

มารในพุทธศาสนา ๓

เทพบุตรมาร ๔

ขันธ์มาร กิเลสมาร ๖

อภิสังขารมาร มัจจุมาร ๗

มารย่อมเนื่องด้วยกิเลส ๗

ความเกิด ความตาย ๙

เจโตวินิพันธะ ๑๐

 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๙๙/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๙๙/๒ - ๑๐๐/๑ ( File Tape 77 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

มาร ๕

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

พระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาที่เราทั้งหลายได้สวดสรรเสริญพระคุณ

หรือกำหนดใจสรรเสริญพระคุณ ด้วยบทว่า พุทโธ อยู่เป็นประจำ

และแม้ในการทำสมาธิก็กำหนดจิตว่า พุทโธ ไปพร้อมกับลมหายใจเข้าออกเป็นต้น

พุทโธ พระผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน จึงเป็นบทพระพุทธคุณที่เราทั้งหลายได้กล่าวเรียกถึง

หรือกำหนดใจถึงพระพุทธเจ้า ก็คือพุทโธนี้เอง จึงเป็นคำที่เราทั้งหลายรู้จัก

และเข้าใจว่าหมายถึงองค์สมเด็จพระบรมศาสดา

 

แต่ว่าความเข้าใจนั้นย่อมมีต่างๆกัน เข้าใจด้วยความรู้ทางตาทางหู

คือได้อ่านได้ฟังเรื่องพระพุทธเจ้าพระพุทธศาสนา อันนับว่าเป็นปริยัติ

และได้รู้จักเข้าใจด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน

โดยย่อก็คือปฏิบัติในศีลสมาธิปัญญา และรู้จักเข้าใจด้วยผลของการปฏิบัติ

จนถึงขั้นที่ตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา หรือผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ดั่งนี้

อันเป็นความรู้ความเห็นขั้นผลของการปฏิบัติ อันกล่าวได้ว่าเป็นขั้นธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม

 

ดวงตาเห็นธรรม

 

อันธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรมนั้น

ท่านแสดงไว้ถึงดวงตาเห็นธรรมที่บังเกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะ

ว่าท่านได้ฟังปฐมเทศนาแล้ว ก็ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา

ดั่งนี้ ก็เป็นธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม และเมื่อได้ดวงตาเห็นธรรม

ก็ย่อมได้ดวงตาเห็นพระพุทธะ พระผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

เพราะธรรมะที่ทรงแสดงสั่งสอน เป็นสัจจะคือความจริงทั้งสิ้น

 

มารในพุทธศาสนา

 

พระพุทธะ พระองค์มิได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธะโดยง่ายดาย

และแม้เมื่อตรัสรู้แล้ว ก็มิใช่ว่าจะทรงดำรงอยู่โดยง่ายดาย

จะทรงประกาศพระพุทธศาสนาโดยง่ายดาย เพราะมีสิ่งขัดขวาง

หรือผู้ขัดขวางมาโดยลำดับ ก็คือมาร ที่เราทั้งหลายผู้ศึกษาพระพุทธศาสนา

ก็ย่อมจะได้ยินได้ฟังเรื่องมารที่มาผจญพระพุทธเจ้า และพระพุทธเจ้าก็ทรงผจญมาร

ทรงชนะมาร จึงได้ตรัสรู้พระธรรมเป็นพระพุทธเจ้า ดังที่มีแสดงเรื่องพระพุทธเจ้าผจญมาร

และนิยมเขียนภาพพระพุทธเจ้าผจญมารที่เห็นกันอยู่

 

และแม้เมื่อได้ตรัสรู้แล้ว มารพ่ายแพ้ขัดขวางพระองค์มิให้ไม่ตรัสรู้ไม่ได้

ก็ยังไม่หมดความพยายาม ยังได้ทูลขอให้พระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน

แต่พระองค์ก็มิได้รับคำทูลของมาร เพราะทรงมีพระมหากรุณาต่อโลก

ทรงทำสังขาราธิษฐาน คืออธิษฐานตั้งพระทัย ดำรงพระชนมายุสังขาร

เพื่อประกาศพระศาสนา ให้พระสัทธรรมตั้งมั่นลงในโลก ประดิษฐานพุทธบริษัทขึ้นในโลก

และก็ได้ทรงปฏิบัติตามที่ทรงอธิษฐานพระหทัย เสด็จประกาศพระพุทธศาสนา

ประดิษฐานพุทธบริษัท ตลอดเวลาที่แสดงไว้ว่า ๔๕ ปี

 

( เริ่ม ๙๙/๒ ) ในระหว่างนี้ก็ยังมีแสดงไว้ว่ามารก็ได้เข้ามาทำการขัดขวางต่างๆ

หรือว่าทูลส่งเสริมไปในทางผิดต่างๆ อีกหลายครั้งหลายคราว

จนถึงเมื่อมีพระชนม์พรรษา ๘๐ ประกาศพระพุทธศาสนามาได้ ๔๕ ปี

มารก็ยังได้เข้าทูลขอให้เสด็จดับขันธปรินิพพาน

เพราะได้ทรงปฏิบัติประกาศพระพุทธศาสนาให้ตั้งมั่นขึ้นในโลก

ประดิษฐานพุทธบริษัท ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ขึ้นในโลกสำเร็จ

ตามที่ได้ทรงทำสังขาราธิษฐานแล้ว

พระพุทธองค์จึงได้ตรัสรับ ว่าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน

ในเวลาต่อจากที่ตรัสรับนั้นอีกไม่นาน คือทรงรับในวันเพ็ญเดือนมาฆะ

และก็ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ เป็นเวลา ๓ เดือน

เรื่องมารมีเล่าไว้ดั่งนี้

 

เทพบุตรมาร

 

และก็มีแสดงไว้ว่ามารเป็นเทพบุตร สถิตย์อยู่ในสวรรค์ชั้นที่ ๖

โดยเป็นหัวหน้าของเทพชั้นนี้กลุ่มหนึ่ง อันเป็นฝ่ายมาร

และในชั้นนี้ก็ยังมีเทพอีกกลุ่มหนึ่งมีหัวหน้าอีกองค์หนึ่ง เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับมาร

และยังได้มีแสดงไว้ในคัมภีร์ที่น่าจะมีแต่งขึ้นต่อมาภายหลัง

ว่าต่อไปในอนาคตมารก็จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าอีกองค์หนึ่ง

โดยปริยายที่แสดงนี้ ก็แสดงว่ามารเป็นเทพ หรือเป็นเทวบุตรองค์หนึ่ง หรือท่านหนึ่ง หรือผู้หนึ่ง

และเมื่อพิจารณาดูตามเหตุผลในข้อที่ว่าจะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าต่อไปนั้น

ก็น่าเห็นว่ามีเหตุผลอยู่บ้าง โดยที่ผู้จะไปเกิดเป็นเทพนั้น

ก็ไปเกิดได้ด้วยอำนาจของกรรมที่เป็นกุศล หรืออำนาจของบุญ

จะต้องมีทานมีศีลเป็นเหตุที่จะไปเกิดในสวรรค์ได้

เพราะฉะนั้น เทพที่เป็นมารดังกล่าวนี้ก็จะต้องทำบุญทำกุศลไว้ไม่น้อย

จึงไปเกิดในสวรรค์ชั้นที่ ๖ ได้ แต่ว่าเป็นฝ่ายที่มุ่งมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติ

ไม่ต้องการนิพพานสมบัติ

 

เพราะฉะนั้น จึงปรากฏในเรื่องว่ามารที่เล่านี้ ก็มิได้เที่ยวทำบาปทำกรรมอะไรแก่ใคร

มุ่งที่จะป้องกันมิให้พระโพธิสัตว์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น

คือต้องที่จะให้พระโพธิสัตว์ไม่พ้นไปจากอำนาจของตน

เมื่อไม่ตรัสรู้พระองค์ก็ต้องอยู่ในอำนาจของมาร

แต่เมื่อตรัสรู้แล้วพระองค์ก็ทรงพ้นจากอำนาจของมาร มารทำอะไรไม่ได้

และเมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้วยังทรงแสดงธรรมะสั่งสอน

โปรดให้เวไนยนิกรบรรลุมรรคผลนิพพานตามอีกเป็นอันมาก ก็ทำให้บุคคลเป็นอันมาก

ตลอดถึงเทพเป็นอันมาก ผู้บรรลุมรรคผลนิพพาน พ้นไปจากอำาจของมาร

มารจึงขวนขวายป้องกัน มิให้ใครๆพ้นไปจากอำนาจของมารเท่านั้น

ก็คือพ้นไปจากอำนาจของโลก พ้นไปจากอำนาจของกิเลส

 

เพราะฉะนั้น หากมารเป็นเทพดังกล่าวก็เป็นวิสัยที่จะเป็นเทพได้

ในเมื่อทำบุญทำกุศลมามาก ส่วนทานส่วนศีลเพื่อมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติ

และมารก็ไม่ได้ไปขัดขวางใคร ผู้ที่ทำบุญทำกุศลเพื่อมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติ

ขัดขวางแต่ผู้ที่ปฏิบัติให้พ้นจากอำนาจของโลก คืออำนาจของกิเลสเท่านั้น

ต้องการที่จะให้ติดอยู่ในโลก จะเป็นมนุษย์เป็นสวรรค์ก็ตาม ก็ยังติดอยู่ในอำนาจของโลก

ยังไม่เป็นโลกุตรเหนือโลก

 

เมื่อเป็นมรรคเป็นผลนิพพานละกิเลสได้นั่นแหละ จึงจะเป็นโลกุตรเหนือโลก

เมื่ออยู่เหนือโลกก็เป็นอันว่าพ้นจากอำนาจของโลก คือของกิเลสและของทุกข์ทั้งหลายในโลก

มารก็จึงขัดขวางใครๆที่จะปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานสมบัติเท่านั้น

 

เพราะฉะนั้น เมื่อละมิจฉาทิฏฐิในข้อนี้ได้

ก็สามารถที่จะปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานต่อไปได้ และข้อนี้ใครๆก็ตาม

เมื่อยังติดอยู่ในมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติ ก็บรรลุถึงนิพพานสมบัติไม่ได้เช่นเดียวกัน

และในการที่จะบรรลุถึงมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติได้ ก็ต้องประกอบการบุญการกุศล

จึงจะบรรลุได้ ถ้าประกอบการเป็นบาปเป็นการอกุศลต่างๆก็ต้องไปอบาย

คือคติที่เป็นทุกข์ต่างๆ ไร้ความสุขความเจริญ

 

ขันธ์มาร กิเลสมาร

 

ตามที่แสดงมานี้ เรื่องมารจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันมาถึงกิเลสเป็นต้น

ก็สมกับที่ได้มีตรัสแสดงไว้ถึงมาร ๕

คือขันธ์มาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร มัจจุมาร เทวบุตรมาร

และท่านก็แสดงอธิบายว่าขันธ์มาร มารคือขันธ์ ขันธ์ก็คือขันธ์ ๕

อันได้แก่ขันธ์คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ย่อลงก็เป็นนามขันธ์รูปขันธ์ หรือที่เรียกว่านามรูป

กล่าวโดยย่อก็คือกายใจของทุกๆคนนี้เอง ได้ชื่อว่าเป็นมาร

ที่แปลว่าผู้ทำให้ตาย หรือผู้ทำลาย

 

กิเลสมาร มารคือกิเลสที่แปลว่าเครื่องเศร้าหมองจิต

อันได้แก่กิเลสกองราคะหรือโลภะโทสะโมหะเป็นต้น

บรรดาที่เป็นเครื่องเศร้าหมองจิตทั้งหมด ทั้งที่เป็นอย่างหยาบอย่างกลางอย่างละเอียด

ได้ชื่อว่าเป็นมาร คือเป็นผู้ทำให้ตาย หรือทำลาย

 

อภิสังขารมาร มัจจุมาร

 

อภิสังขารมาร มารคืออภิสังขาร อันได้แก่ความปรุงแต่ง

หมายถึงปรุงแต่งทางใจ คือเจตนาความจงใจต่างๆ

จนถึงปรุงแต่งทางกายทางวาจาและทางใจ เป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

 

มัจจุมาร มารคือมัจจุ อันได้แก่ความตาย

ก็เป็นมารคือเป็นผู้ทำให้ตาย หรือผู้ทำลายชีวิต

เทวบุตรมาร มารคือเทวบุตร โดยทั่วไปก็คือเทวดาที่เป็นมาร

หรือเทพที่เป็นมารดังที่กล่าวมาข้างต้น

 

มารย่อมเนื่องด้วยกิเลส

 

ในข้อนี้เมื่อจับพิจารณาดูแล้ว ก็จะเห็นว่าทุกๆข้อนั้นที่ชื่อว่าเป็นมาร

ก็ย่อมเนื่องด้วยกิเลส เนื่องด้วยโลภ อันเป็นชื่อของทุกข์ อันเป็นชื่อของกิเลสทุกข้อ

ตั้งแต่ข้อที่ ๑ ขันธ์มาร มารคือขันธ์ ขันธ์คือขันธ์ ๕ หรือว่านามรูปนี้

ที่เป็นมารก็เมื่อยังเป็น อุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา

หรือ อุปาทานนามรูป นามรูปที่ยึดถือดั่งนั้น

เมื่อเป็นอุปาทานขันธ์จึงเป็นมารคือเป็นผู้ฆ่า ผู้ทำให้ตาย หรือผู้ทำลาย

เพราะเหตุว่า ฆ่าหรือทำลายต่อมรรคผลนิพพาน

ทำให้ปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงนิพพานสมบัติไม่ได้ ก็ได้แค่มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ

ต่อเมื่อละอุปาทานความยึดถือว่าตัวเราของเราในขันธ์เสียได้

นั่นแหละจึงจะบรรลุนิพพานสมบัติได้

และเมื่อบรรลุนิพพานสมบัติแล้วดังพระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ขันธ์ก็ไม่เป็นขันธมารของพระองค์ แต่ว่าเป็นขันธ์หรือเป็นนามรูปที่เป็นธรรมชาติธรรมดา

 

มาถึงกิเลสมารข้อ ๒ ก็เช่นเดียวกัน

กิเลสนั้นย่อมเป็นมารโดยตรง เมื่อยังละกิเลสไม่ได้ก็บรรลุมรรคผลนิพพานไม่ได้

คือเมื่อยังติดอยู่ในกิเลส ยังยินดีพอใจอยู่ในกิเลส ก็บรรลุมรรคผลนิพพานไม่ได้

ต่อเมื่อละกิเลสได้ กิเลสก็ไม่เป็นมารที่จะขัดขวางต่อการบรรลุมรรผลนิพพาน

 

อภิสังขารคือปรุงแต่งทางใจทางจิต เป็นเจตนา ตลอดจนถึงก่อกรรม

เป็นการกระทำกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ก็เช่นเดียวกัน

กรรมที่ชั่วหรือว่าส่วนชั่วก็เป็นมารต่อส่วนดี

แม้กรรมที่เป็นส่วนดีก็เป็นมารต่อส่วนที่เป็น อเนญชะ คือที่เป็นกลางๆ ที่เป็นความสงบ

แม้กรรมที่เป็นกลางๆ เป็น อเนญชะ เช่นเป็นฌาน ถ้าติดอยู่ก็เป็นมารต่อปัญญา

ที่จะให้ตรัสรู้ถึงมรรคผลนิพพาน และการที่ยังมีปรุงแต่งอยู่ก็เพราะว่ายังมีกิเลส

เพราะฉะนั้นการปรุงแต่ง จึงหมายถึงว่ายังมีกิเลส จึงต้องปรุงแต่ง

และเมื่อละกิเลสได้ ก็ละการปรุงแต่งได้

เพราะฉะนั้น ก็เป็นอันว่าไม่มีการปรุงแต่งที่เรียกเป็นมารต่อไป

 

มัจจุคือความตายก็เช่นเดียวกัน

ที่คนเราทุกๆคนรู้สึกว่าความตายเป็นผู้ทำลายชีวิต

ก็เพราะว่ายังมีอุปาทานยึดถืออยู่ในขันธ์ในชีวิต ว่าเป็นเราเป็นของเรา

จึงรู้สึกว่าความตายนั้นเป็นตัวมารคือเป็นผู้ทำให้ตายโดยตรง

เป็นผู้ฆ่าโดยตรง คือว่าฆ่าชีวิตหรือทำลายชีวิตนี้โดยตรง

เพราะยังมีความยึดถืออยู่ในชีวิตว่าเป็นเราเป็นของเรา

เพราะฉะนั้นจึงทำให้ทุกๆคนซึ่งเป็นสามัญชนต้องกลัวตาย

มรณะภัยคือความกลัวต่อความตายนั้นย่อมมีอยู่แก่จิตสามัญทั่วไป

ก็เพราะยังมีความยึดถืออยู่ในชีวิตว่าเป็นเราเป็นของเราดังที่กล่าวมานั้น

ฉะนั้นเมื่อละความยึดถือในชีวิตได้ ว่าเป็นเราเป็นของเรา

คือว่าละกิเลสได้ ละความยึดถือในขันธ์ได้ มัจจุคือความตายก็ไม่เป็นมาร

แต่ว่าเป็นธรรมดา เช่นเดียวกับความเกิดซึ่งเป็นธรรมดา ความแก่ซึ่งเป็นธรรมดา

ความเจ็บไข้ซึ่งเป็นธรรมดา ความตายก็เป็นธรรมดาเช่นเดียวกัน

 

ความเกิด ความตาย

 

คนเราชอบความเกิดถือว่าเป็นมงคล

แต่ว่าความตายถือว่าเป็นความสูญสิ้น และไม่ถือว่าเป็นมงคล

แต่อันที่จริงนั้นเหมือนกัน ทั้งเกิดทั้งแก่ทั้งเจ็บทั้งตาย เป็นธรรมดาเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ที่สิ้นกิเลสแล้ว คือพระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

ท่านไม่ยึดถือขันธ์ ไม่ยึดถือชีวิต เพราะฉะนั้น จึงไม่เป็นมารของท่าน แต่เป็นธรรมดา

เช่นเดียวกับชีวิตที่ดำรงอยู่นี้ ก็เป็นธรรมดา

เมื่อธาตุทั้งหลายยังประชุมกันอยู่ ชีวิตนี้ก็ยังดำรงอยู่ ก็เป็นธรรมดา

เมื่อธาตุทั้งหลายแตกสลาย ชีวิตนี้ก็ดับ ก็เป็นธรรมดา

เป็นของธรรมดาสามัญ ก็ไม่เป็นมารของท่าน

 

คราวนี้มาถึงเทวบุตรมาร มารคือเทวบุตร

ก็มักอธิบายถึงเทพที่เป็นมารดังที่กล่าวมาโดยลำดับ

แต่โดยที่ทุกๆข้อนั้น หรือแม้ที่เล่าถึงมารโดยเป็นเทพ

ก็สัมพันธ์มาถึงกิเลส สัมพันธ์มาถึงโลก อันหมายถึงตัวทุกข์ และตัวกิเลสนี้เอง

เพราะฉะนั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวโรรส

สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์

จึงได้ทรงอธิบายว่าหมายถึงรูปธรรมทั้งปวง จะเป็นรูปธรรมที่เป็นมนุษย์ก็ตาม

เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ตาม เป็นอะไรก็ตาม หรือเป็นวัตถุต่างๆก็ตาม

เช่นเป็นรูปเป็นเสียงเป็นกลิ่นเป็นรสเป็นโผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นที่ยึดถือ เป็นที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ

หรือแม้ไม่เป็นที่ปรารถนาพอใจ เป็นที่ตั้งของกิเลสกองโลภกองโกรธกองหลง

เหล่านี้ก็รวมเข้าในคำว่าเทวบุตรมารทั้งนั้น

กับทั้งได้ฟังกระแสรับสั่งของสมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าเทวบุตรมารนั้น

ควรจะหมายถึงความที่อยากไปเกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดา

หรือความที่อยากไปเกิดเป็นเทวดาเป็นเทพ ก็เป็นตัวกิเลสด้วยกัน

เมื่ออธิบายดั่งนี้ ย่อมจะมีความสัมพันธ์กันหมดทั้ง ๕ ข้อ

ทั้ง ๔ ข้อข้างต้นนั้นก็หมายรวมเข้าไปในตัวกิเลส

แม้ข้อ ๕ นี้เองก็ควรจะหมายรวม ...

( ข้อความขาดนิดหน่อย )

 

เจโตวินิพันธะ

 

( เริ่ม ๑๐๐/๑ ) พระราชดำรินี้ก็ไปตรงกันเข้ากับข้อที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

เป็น เจโตวินิพันธะ คือเครื่องผูกพันใจ ๕ ข้อ อันได้แก่ ความติดใจยินดี ความพอใจ

ความรักอยู่ในกามข้อหนึ่ง ในกายข้อหนึ่ง ในรูปข้อหนึ่ง เป็น ๓ ข้อ

กับความที่บริโภคอิ่มแล้ว การเอน การซึมเซา เป็นข้อที่ ๔

กับความที่ตั้งจิตปรารถนาว่า ด้วยการปฏิบัติในศีลในวัตรทั้งปวงนี้

ขอให้ไปเกิดเป็นเทพ หรือเทพชั้นใดชั้นหนึ่งอันเป็นข้อที่ ๕

๕ ข้อนี้เรียกว่าเป็น เจโตวินิพันธะ คือเป็นเครื่องผูกพันใจ

อันทำให้ไม่น้อมใจไปเพื่อประกอบความเพียร เพื่อกระทำความเพียรติดต่อ

ฉะนั้นจึงไม่เป็นฐานะที่จะทำให้บรรลุถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในพระธรรมวินัยนี้ ดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้น ความที่ปรารถนาจะไปเกิดเป็นเทพนี้แหละจึงเป็นเทวบุตรมาร

เพราะเมื่อต้องการสวรรค์สมบัติก็เป็นอันว่า ทำให้ติดอยู่ในสวรรค์สมบัติ

ไม่ให้บรรลุถึงนิพพานสมบัติได้ เพราะฉะนั้น สมบัติทั้งปวง มนุษย์สมบัติก็ดี สวรรค์สมบัติก็ดี

เมื่อติดอยู่จึงเป็นมารต่อนิพพานสมบัติ จะต้องละมนุษย์สมบัติได้ สวรรค์สมบัติได้

จึงจะบรรลุถึงนิพพานสมบัติได้

๑๐

เทวบุตรมารข้อนี้จึงหมายได้ถึงสมบัติทั้งปวงดังกล่าว ทั้งที่เป็นมนุษย์สมบัติ

ทั้งสวรรค์สมบัติ เมื่อไปติดอยู่เสียแล้วก็เป็นอันว่าเป็นมารต่อนิพพานสมบัติ

เพราะฉะนั้น มารทั้ง ๕ ประการเหล่านี้ จึงเป็นมารต่อนิพพานสมบัติ

 

พระพุทธเจ้าได้ทรงผจญมารทั้ง ๕ นี้ได้

จึงได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้า และก็ได้ทรงแสดงธรรมะสั่งสอน

เพื่อให้ผู้มุ่งปฏิบัติเพื่อพ้นกิเลสและกองทุกข์ ได้รู้จักหน้าตาของมารทั้ง ๕ นี้

เพื่อว่าเมื่อต้องการนิพพานสมบัติก็ต้องปฏิบัติเพื่อละมารทั้ง ๕ นี้

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะบรรลุถึงนิพพานสมบัติได้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats