ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป086

พระธรรมคุณ ๑๕ โอปนยิโก

กำหนดดูจิต นิวรณ์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

* 

เวทนา เครื่องปรุงเวทนา ๓

ธรรมานุปัสสนา ๔

ธรรมะในจิต ๕

นิวรณ์ ๕ ๖

เหตุเกิดนิวรณ์ เหตุดับนิวรณ์ ๗

อายตนะ สังโญชน์ ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๑๑/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๑๑/๒ ( File Tape 86 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระธรรมคุณบทที่ ๕ โอปนยิโก

กำหนดดูจิต นิวรณ์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ธรรมะเป็น สวากขาโต ภควตาธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญู คือผู้รู้พึงรู้จำเพาะตน

 

ในข้อที่ ๖ นี้ได้แสดงอธิบายโดยทั่วไปมาแล้ว

จะได้แสดงโดยความต่อเชื่อมกับข้อข้างต้น โดยเฉพาะคือ โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา

โดยที่น้อมเข้ามาดูจิตมีราคะ หรือปราศจากราคะ

มีโทสะ หรือปราศจากโทสะ มีโมหะ หรือปราศจากโมหะ

โดยจำแนกจิตดังกล่าวออกทีละข้อ

ก็ดูจิตที่บังเกิดขึ้น ในความรู้ ความคิด ของตนเองนี่แหละ

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อจิตมีราคะความติดใจยินดี ก็ตั้งสติกำหนดดูจิตดังกล่าว

โดยจำแนกออกเป็น ๑ จิต ๒ อารมณ์ และ ๓ ตัวราคะความติดใจยินดีที่บังเกิดขึ้น

ว่าทั้ง ๓ นี้ มาปรุงกันแต่งกันเป็นจิตมีราคะขึ้น และเมื่อแยกออกจากกันเสียได้

ก็จะเป็นจิตที่ปราศจากราคะ กำหนดดูจิตดั่งนี้

 

เวทนา เครื่องปรุงเวทนา

 

และเมื่อต้องการกำหนดดูสืบสาวออกไป

ก็จะพบจิตที่มีราคะดังกล่าวนี้ ว่าเนื่องจากเวทนา

คือความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขในอารมณ์ทั้งหลาย

และโดยเฉพาะจิตที่มีราคะนั้นเมื่อเกิดเวทนาที่มีสุข และจิตก็รับเวทนาที่มีสุขนี้เป็นอารมณ์

จึงเกิดราคะขึ้น เพราะอารมณ์อันได้มาจากสุขเวทนาเป็นที่ตั้งของราคะ

และหากจะสืบออกไปอีกก็จะพบกายนี้เองเป็นเครื่องปรุงเวทนา

และจะพบอารมณ์ทางจิตเองด้วยเป็นเครื่องปรุงเวทนา

เพราะว่าเวทนานั้นเป็นไปทางกายก็มี เป็นไปทางใจก็มี

 

เพราะฉะนั้นเมื่อได้ตั้งสติกำหนดดูจิต จิตที่เป็นไปในปัจจุบันนี้แหละ

ก็ย่อมจะพบว่าจิตนี้ย่อมรับอารมณ์อยู่เสมอ และอารมณ์ที่จิตรับนี้

เมื่อเป็นที่ตั้งของราคะหรือโลภะ ก็เกิดราคะหรือโลภะขึ้น

เป็นที่ตั้งของโทสะก็เกิดโทสะขึ้น เป็นที่ตั้งของโมหะก็เกิดโมหะขึ้น

จึงเป็นจิตที่มีราคะโทสะโมหะดังกล่าว

ฉะนั้นเมื่อกำหนดดูจิตก็ย่อมจะพบอารมณ์ พบกิเลสที่บังเกิดขึ้นในจิต

 

หรือว่าเมื่อจิตไม่ปรุงแต่งดังกล่าวมา คือจิตอารมณ์กิเลสไม่มาปรุงแต่งกัน

ก็เป็นจิตที่ปราศจากราคะโทสะโมหะ เป็นจิตที่สงบราคะโทสะโมหะ

เมื่อเป็นดั่งนี้ผู้ที่กำหนดดูจิต ย่อมพบอารมณ์ พบกิเลสที่บังเกิดขึ้นในจิตด้วย

หรือว่าพบความสงบที่ปรากฏอยู่ในจิต

 

เช่นเดียวกับเมื่อกำหนดดูน้ำ จะเป็นน้ำในแม่น้ำ ในลำคลอง

หรือแม้ในกระถางน้ำ โอ่งน้ำ ก็ย่อมจะพบสิ่งที่อยู่ในน้ำ เช่นพบก้อนกรวด

พบต้นไม้ที่เกิดในน้ำเช่นจอกแหน บัว หรือพบปลาที่อยู่ในน้ำ พบตะกอน

และหากน้ำนั้นใสไม่มีอะไรดังกล่าวก็ย่อมจะเห็นความใสสะอาดของน้ำ

เพราะฉะนั้นสิ่งที่พบในน้ำก็เหมือนกับสิ่งที่พบในจิต

เมื่อดูจิต คือย่อมจะพบอารมณ์ พบกิเลส หรือหากกิเลสสงบก็พบความสงบ

หรือแม้มีภาวะอะไรอื่นทั้งส่วนดีทั้งส่วนชั่วบังเกิดขึ้นในจิต ก็ย่อมจะรู้ย่อมจะเห็น

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้า เมื่อได้ตรัสสอนให้กำหนดดูจิตให้รู้จิตว่าเป็นอย่างไร

ก็ตรัสสอนให้ทำสติกำหนดดูให้รู้สิ่งที่อยู่ในจิต ดังที่กล่าว

 

ธรรมานุปัสสนา

 

สิ่งที่อยู่ในจิตทั้งสิ้นนี้ก็รวมเข้าในคำว่าธรรมะ

ในสติปัฏฐานข้อที่ ๔ ธรรมานุปัสสนาที่ตรัสสอนให้พิจารณาธรรมะ กำหนดธรรมะ

ก็คือภาวะต่างๆที่บังเกิดขึ้นมีอยู่ในจิต และผู้ปฏิบัติในข้อธรรมานุปัสสนานี้

เมื่อปฏิบัติสืบเนื่องมาจากข้อจิตตานุปัสสนา ก็ย่อมจะได้เห็นอารมณ์เห็นกิเลส

ที่บังเกิดขึ้นในจิต ที่มีอยู่ในจิต ก็เพราะว่าเมื่อดูจิต หากว่าจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ

และก็ย่อมรู้ราคะที่มีอยู่ในจิตด้วย ตัวราคะที่มีอยู่ในจิตนี้แหละเป็นธรรมานุปัสสนาข้อ ๔

จิตมีโทสะ จิตมีโมหะ ก็เช่นเดียวกัน โทสะโมหะก็เป็นข้อธรรมานุปัสสนาที่มีอยู่ในจิต

 

และแม้ว่าจิตปราศจากราคะโทสะโมหะ

ความปราศจากราคะโทสะโมหะนั้นก็เป็นธรรมานุปัสสนาที่มีอยู่ในจิต

แต่ว่าเป็นฝ่ายกุศล ส่วนฝ่ายราคะโทสะโมหะเป็นฝ่ายอกุศล

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าครั้นตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูจิตรู้จิต

จิตมีราคะโทสะโมหะก็ให้รู้ หรือไม่มีก็ให้รู้ ดั่งนี้แล้ว

จึงได้ตรัสสอนให้กำหนดดูธรรมะที่มีอยู่ในจิต คือให้กำหนดดูราคะโทสะโมหะ

ที่บังเกิดขึ้นนั้นเอง หยิบยกขึ้นมาพิจารณา

 

ธรรมะในจิต

 

แต่ว่าในตอนนี้ก็ควรที่จะต้องกล่าวชี้แจงแทรกไว้ด้วยว่า

ราคะโทสะโมหะนั้นเรียกว่าเป็นธรรมะด้วยหรือ ในข้อนี้จึงควรเข้าใจว่า

อันที่จริงธรรมะนั้นใชัในความหมายเป็นกลางๆก็มี ดังพระบาลีที่ว่า

กุสลาธรรมา ธรรมะทั้งหลายเป็นกุศล อกุสลาธรรมา ธรรมะทั้งหลายเป็นอกุศล

อัพยากตาธรรมา ธรรมะทั้งหลายเป็นอัพยากฤต คือเป็นกลางๆ

ไม่ยืนยันพยากรณ์ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล

 

ธรรมะนั้นใช้เฉพาะเป็นส่วนดีก็มี ส่วนที่ไม่ดีเรียกว่า อธรรม

ดังพระบาลีที่ว่า นหิธัมโม อธัมโม จะ บุพโพสมะอปากิโน (ฟังไม่ชัด)

ธรรมมะคือส่วนดี อธรรมคือส่วนที่ไม่ดี ทั้งสองหามีวิบากคือผลเสมอกันไม่

อธรรมโม นิรยัง เนติ อธรรมนำไปสู่นิรยะที่แปลกันว่านรก คือถิ่นที่ไร้ความเจริญ

ธรรมโม ปาเปติสุคติง ส่วนธรรมให้ถึงสุคติ คือคติที่ดี ดั่งนี้

 

คำว่าธรรมะใช้หมายเป็นกลางๆบ้าง ใช้หมายถึงส่วนที่ดีเท่านั้นบ้าง

เพราะฉะนั้นเมื่อพบคำว่าธรรมะจึงต้องพิจารณาดูถึงคำที่ประกอบ

จึงจะรู้ความหมายที่ต้องการที่ใช้ในที่นั้นๆได้

ดังที่แสดงในที่นี้มุ่งถึงส่วนที่เป็นกลางๆ เมื่อเป็นราคะโทสะโมหะ ก็เป็นอกุศลธรรม

เมื่อเป็น อราคะ อโทสะ อโมหะ คุณที่ไม่ใช่ราคะ ไม่ใช่โทสะ ไม่ใช่โมหะ ก็เป็นกุศลธรรม

 

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้กำหนดดูจิต โดยทรงแสดงเป็นนิวรณ์ทั้ง ๕

นิวรณ์ ๕

 

นิวรณ์นั้นก็คือกิเลสที่บังเกิดขึ้นในจิต กลุ้มรุมจิต

คือทำจิตให้กลัดกลุ้ม กั้นจิตไว้ไม่ให้สงบเป็นสมาธิ และไม่ให้ได้ปัญญา

ก็ได้แก่ ๑ กามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ด้วยอำนาจของกิเลสกาม

คือกิเลสเป็นเหตุใคร่ หรือในกามคืออารมณ์ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย

กามฉันท์นี้ก็เป็นกิเลสกองราคะ

 

พยาบาท ความมุ่งร้ายหมายล้างผลาญให้พินาศ

อันเป็นโทสะอย่างแรง ซึ่งก็รวมถึงโทสะที่เป็นอย่างปานกลาง อย่างเบา

อย่างเบาก็คือจำพวกที่เรียกว่า ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่ง อันทำให้เริ่มหงุดหงิด

อย่างกลางก็คือ โกธะ ความโกรธ คือขัดเคือง หรือ โทสะ เองที่แปลว่าประทุษร้าย

ซึ่งหมายถึงประทุษร้ายใจตัวเองให้เร่าร้อน

ต่อเมื่อมุ่งร้ายออกไปในภายนอก คือมุ่งให้ผู้ที่ตนโกรธวิบัติเสียหาย

เป็นการมุ่งร้ายหมายล้างผลาญดังกล่าวจึงเป็น พยาบาท ซึ่งกิเลสกองนี้ก็คือกองโทสะ

 

ถีนมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

อุทธัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญ และ ๕ วิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัย

๓ ข้อนี้จัดเข้าในกิเลสกองโมหะคือความหลง เว้นไว้แต่ข้อที่เรียกว่าความรำคาญ

อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน กุกกุจจะ ความรำคาญ อันเป็นข้อที่ ๔

สำหรับ อุทธัจจะ ความรำคาญนั้นพระอาจารย์ท่านใส่เข้าในกองโทสะ

ก็รวมเข้าเป็นนิวรณ์ ๕ ย่อเข้าก็เป็น ๓ คือ ราคะ โทสะ โมหะ นั้นเอง

 

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูนิวรณ์เหล่านี้ที่บังเกิดขึ้น

นิวรณ์ข้อไหนบังเกิดขึ้นก็ตั้งสติกำหนดดูให้รู้จัก และให้รู้จักว่านิวรณ์เหล่านี้เกิดขึ้นมาจากอะไร

จะดับไปอย่างไร และเมื่อดับไปแล้วจะไม่บังเกิดขึ้นได้อย่างไร

ซึ่งจะกล่าวเพียงย่อๆว่า เกิดขึ้นก็เพราะขาดสติกำหนดพิจารณาดูจิตที่รับอารมณ์

เมื่อมีสติกำหนดดูจิตที่รับอารมณ์ และพรากจิตเสียจากอารมณ์ได้ นิวรณ์ก็ดับ

และเมื่อทำสติอยู่เนืองๆ ทำสติอยู่มากๆ ก็จะเกิดยากขึ้น

จนถึงดับได้ทั้งหมด เมื่อการปฏิบัติในสตินั้นเป็นมรรคเป็นผลขึ้นมาในที่สุด

แต่เมื่อยังไม่เป็นมรรคเป็นผลขึ้นมาในที่สุด ก็ต้องมีได้มีเสื่อม

จึงต้องปฏิบัติทำสติกันอยู่เรื่อยๆไป ให้สติมากขึ้นไม่หลงลืม

 

เหตุเกิดนิวรณ์ เหตุดับนิวรณ์

 

เพราะฉะนั้นจึงมาถึงข้อตัวเหตุให้เกิดนิวรณ์ และเหตุที่ดับนิวรณ์

ที่ได้กล่าวว่าเกิดขึ้นก็เพราะจิตรับอารมณ์ ดับก็เพราะจิตพรากออกจากอารมณ์ได้

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖

และให้กำหนดดูสังโญชน์คือความผูก

 

อายตนะ สังโญชน์

 

กำหนดอายตนะดังกล่าวนี้ก็คือให้ตั้งสติกำหนดทำความรู้จักรูป

ให้ตั้งสติกำหนดทำความรู้จักตา ทำความรู้จักรูปที่ตาเห็น

ตั้งสติกำหนดทำความรู้จักหูเสียง จมูกกลิ่น ลิ้นรส กายโผฏฐัพพะคือสิ่งที่กายถูกต้อง

มโนใจ ธรรมะคือเรื่องราวที่ใจรู้ใจคิด

 

และให้ทำสติกำหนดดูสังโญชน์คือความผูกใจ

ในเมื่อตากับรูปประจวบกัน หูกับเสียงประจวบกัน จมูกกับกลิ่นประจวบกัน

ลิ้นกับรสประจวบกัน กายและโผฏฐัพะคือสิ่งที่กายถูกต้องประจวบกัน

มโนคือใจ ธรรมะและเรื่องราวประจวบกัน อยู่ทุกขณะของทุกๆคน

จิตนี้เองก็จะเห็นรูป และก็ไม่ได้เห็นเปล่าๆยังผูกใจไว้ในรูปที่ตาเห็นด้วย

จิตนี้เองก็จะได้ยินเสียง จะได้ทราบกลิ่นได้ทราบรส ได้ทราบโผฏฐัพพะและได้รู้ได้คิดเรื่องราว

ทั้งยังมีสังโญชน์คือผูกใจไว้ด้วยใน รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่องราวเหล่านั้น

ใจไม่ปล่อยใจยังผูกเอาไว้ ตัวความผูกนี่แหละตรัสว่าคือ ฉันทะราคะ ความติดใจพอใจ

คือความติดใจด้วยอำนาจของความพอใจ ซึ่งมีอาการเป็นราคะความติดใจยินดี

 

และแม้เป็นรูปเสียงเป็นต้นที่ไม่ใช่สิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ

เป็นสิ่งที่เกลียดไม่ชอบก็ผูกโกรธ ก็เป็นผูกเหมือนกัน เป็นสัญโญชน์เหมือนกัน

เพราะว่าโกรธของทุกๆคนนั้นที่บังเกิดขึ้นในใจก็ว่าเพราะใจผูก

ถ้าใจไม่ผูกในบุคคลที่โกรธในสิ่งที่โกรธ โกรธก็ไม่มี ก็เป็นสัญโญชน์เหมือนกัน

และแม้เป็นรูปเสียงเป็นต้นที่เป็นกลางๆ ไม่พอที่จะให้ชอบ ไม่พอที่จะให้ชัง

แต่ว่าไม่รู้ในคุณโทษ ไม่รู้ในวิธีที่จะนำใจออก ก็ผูกเหมือนกัน

เป็นความผูกหลงเอาไว้เพราะไม่รู้ในสิ่งเหล่านั้น

 

เพราะฉะนั้นสัญโญชน์นี้เองคือผูกใจ หรือใจผูก

จึงหมายถึงราคะได้ด้วย โทสะได้ด้วย โมหะได้ด้วย เป็นผูกทั้งนั้น

และเมื่อเป็นราคะโทสะโมหะขึ้น ราคะโทสะโมหะก็ผูกใจแน่นเข้าไปอีก

ผูกเอาสิ่งเหล่านั้น คือผูกรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

และธรรมะที่ตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจได้ประจวบไว้ ผูกไว้ในใจด้วยกัน ไม่ปล่อย

เพราะฉะนั้น นี้เองเป็นชนวนสำคัญที่ให้เกิดนิวรณ์ทั้ง ๕ หรือให้เกิดราคะโทสะโมหะ

เพราะฉะนั้นเมื่อพระพุทธเจ้า ตรัสสอนให้กำหนดดูให้รู้จักราคะโทสะโมหะ

หรือนิวรณ์ ๕ ที่โยงอยู่ในข้อจิตแยกออกมา ดูต่างหากให้ชัดเจน

ก็ย่อมจะสืบสาวไปพบถึงต้นของนิวรณ์ หรือราคะโทสะโมหะ

ก็คือตัวสัญโญชน์ความผูกใจดังกล่าวนี้ที่บังเกิดขึ้น

อาศัยอายตนะภายนอกและภายในมาประจวบกันอยู่ทุกขณะ

เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติทำสติในข้อนี้จึงจำเป็นที่จะต้องมีอยู่เป็นประจำทุกเวลา

เพราะทุกคนนั้นก็จะต้องเห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้ทราบกลิ่น รส โผฏฐัพพะ อะไรๆ

และได้คิดได้รู้เรื่องอะไรๆทางอายตนะอยู่เป็นประจำ ตั้งแต่ตื่นจนหลับอยู่ทุกๆวัน

ทุกๆเวลา ถ้าหากว่าขาดสติเมื่อไรสัญโญชน์ก็เกิดขึ้นได้เมื่อนั้น

และบรรดากิเลสนิวรณ์ทั้งหลายก็บังเกิดขึ้นได้เมื่อนั้น

 

เพราะฉะนั้นจะปฏิบัติดับกิเลสนิวรณ์ได้ก็ต้องทำสตินี่แหละ

ก็คอยกำหนดดูต้นทาง ก็คืออายตนะภายในภายนอกที่ประจวบกันอยู่

และเมื่อมีสติกำหนดอยู่ดั่งนี้สัญโญชน์ก็จะบังเกิดยากขึ้น และที่บังเกิดขึ้นแล้วก็จะดับไป

เพราะฉะนั้นสติในข้อธรรมะนี้จึงเป็นข้อที่ละเอียดยิ่งขึ้นที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเอาไว้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

พระธรรมคุณ ๑๖ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ

จิตตานุปัสสนา ขันธ์ ๕

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

จิตและเจตสิก ๓

กามาวจรจิต ๔

นิวรณ์ ๕ คือราคะโทสะโมหะ ๕

ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ๖

ข้อพิจารณาให้รู้จักขันธ์ ๕ ๗

ขันธ์ ๕ เกิดดับเป็นธรรมดา ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๑๑/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๑๒/๑ ( File Tape 86 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระธรรมคุณบทที่ ๖ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ

จิตตานุปัสสนา ขันธ์ ๕

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร 

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ธรรมะเป็น สวากขาโต ภควตาธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา

และ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน ดั่งนี้

ธรรมะทุกข้อทุกบทย่อมประกอบด้วยลักษณะที่เป็นพระธรรมคุณทั้ง ๖ บทนี้

และได้กำลังแสดงอธิบายในข้อที่ ๖ ที่มุ่งถึงผู้รู้พึงรู้จำเพาะตน

 

และในการอธิบายก็ได้ยกเอาสติปัฏฐานทั้ง ๔

มาอธิบายเข้าในพระธรรมคุณ ตั้งแต่ในพระธรรมคุณบทข้างต้น

จับแต่สติปัฏฐานตั้งสติกำหนดพิจารณากาย อันเป็นข้อที่ ๑

กำหนดพิจารณาเวทนาอันเป็นข้อที่ ๒

กำหนดพิจารณาจิต อันเป็นข้อที่ ๓ และกำหนดพิจารณาธรรม อันเป็นข้อที่ ๔

โดยที่ได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันมาโดยลำดับ

 

และโดยเฉพาะในข้อจิตและข้อธรรมนี้ก็ได้แสดงอธิบายมาแล้ว

เป็นการทำความเข้าใจในส่วนที่เกี่ยวข้องกัน และในส่วนจำเพาะของข้อ

ซึ่งก็จะได้แสดงอธิบายในข้อตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรมต่อไป

แต่ก็ควรที่จะได้กลับกล่าวย้อนถึงอนุสนธิคือความต่อเนื่องกันสักเล็กน้อย

( เริ่ม ๑๑๒/๑ ) คือเมื่อจับพิจารณาจิต รู้จิต ก็ย่อมจะรู้ธรรมะในจิตด้วย

เพราะว่าจิตเป็นอย่างไรก็สุดแต่ธรรมะที่ตั้งอยู่ในจิต ดังเช่นจิตมีราคะ

ก็เพราะมีราคะตั้งอยู่ในจิต จิตมีโทสะโมหะก็เพราะมีโทสะโมหะตั้งอยู่ในจิต

ลำพังจิตเองนั้นเป็นกลางๆ

 

จิตและเจตสิก

 

เพราะฉะนั้น ในอภิธรรมจึงได้แสดงถึง

จิตและเจตสิกเป็นข้อที่ ๑ ข้อที่ ๒ รูปและนิพพานเป็นข้อที่ ๓ ข้อที่ ๔

และโดยเฉพาะจิตและเจตสิกนี้ เจตสิกก็คือธรรมะที่เกิดขึ้นในจิต

โดยทั่วไปก็คือธรรมะในข้อธรรมานุปัสสนานี้เอง เป็นธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิต

ฉะนั้นเมื่อกำหนดดูจิต ก็ย่อมจะเห็นธรรมะที่ตั้งอยู่ในจิต หรือเจตสิกดังกล่าวนี้ด้วย

 

ถ้าไม่มีธรรมะตั้งอยู่ในจิต ตัวจิตเองก็เป็นธรรมดาไม่เป็นอะไร

คือไม่เป็นฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว จะกล่าวว่าเป็นกลางๆก็ได้

จิตก็คงตั้งอยู่ในสภาพเป็นธาตุรู้ ที่เรียกวิญญาณธาตุ ธาตุรู้

และมีลักษณะที่ปภัสสรคือผุดผ่อง ความปภัสสรคือผุดผ่อง

กับความเป็นธาตุรู้เป็นธรรมชาติธรรมดาของจิต

เพราะฉะนั้นลำพังจิตเองท่านจึงเปรียบเหมือนน้ำที่ไม่มีสี

แต่ว่าน้ำนั้นกลายเป็นน้ำมีสีก็เพราะเมื่อมีสีแดงผสมก็เป็นน้ำสีแดง

มีสีเขียวผสมก็เป็นน้ำสีเขียวก็เป็นน้ำสีเขียว มีสีเหลืองผสมก็เป็นน้ำสีเหลือง ดั่งนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้นจิตที่เป็นจิตมีราคะ หรือมีโทสะ มีโมหะ ก็เพราะมีราคะมีโทสะมีโมหะเข้าผสม

และเมื่อมองดูจิตที่เป็นอย่างไรก็จะต้องเห็นธรรมะที่ผสมอยู่ในจิตด้วย

เหมือนอย่างมองดูน้ำที่ผสมสี ก็ย่อมจะเห็นสีของน้ำ เป็นสีแดง สีเขียว เหลืองเป็นต้น

ดังกล่าวนั้นด้วย เพราะฉะนั้น จึงพึงทำความเข้าใจเป็นพื้นฐานดั่งนี้

 

กามาวจรจิต

 

และก็พึงทำความเข้าใจต่อไปอีกว่า

อันธรรมะที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ในจิตนั้น เมื่อกล่าวรวมเข้ามาก็เป็น ๓

คือเป็นอกุศลธรรม ธรรมะที่เป็นอกุศล เป็นกุศลธรรม ธรรมะที่เป็นกุศล

เป็นอัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นอัพยากฤต คือเป็นกลางๆ มิใช่กุศลมิใช่อกุศล

ธรรมะที่ตั้งอยู่ในจิตก็รวมเข้าเป็นธรรมะ ๓ กอง หรือ ๓ ชนิด ดั่งนี้

และจิตที่เป็นสามัญ ซึ่งเรียกว่าเป็น กามาวจรจิต จิตที่ท่องเที่ยวอยู่ในกาม

หยั่งลงในกามนั้นก็ย่อมเป็นจิตมีราคะ มีโทสะ หรือมีโมหะ

ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ปฏิบัติในจิตตานุปัสสนากำหนดพิจารณาจิต ดูจิต

ก็ทรงตั้งต้นว่าจิตมีราคะ หรือปราศจากราคะ ก็ให้รู้ดังนี้เป็นต้น

เพราะว่าพื้นของจิตที่เป็นกามาวจรของโลกทั่วไปนั้น

ก็ย่อมประกอบด้วยกิเลส ๓ กองนี้อยู่ด้วยกัน

 

ฉะนั้นตรัสสอนให้กำหนดดูจิต มุ่งดูที่ตัวจิตว่าเป็นอย่างไร

คือจิตมีราคะ หรือปราศจากราคะเป็นต้นก็ให้รู้ดั่งนี้แล้ว

จึงได้ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดูธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิตโดยตรง เป็นข้อที่ ๔

อันนับว่าเป็นข้อสำคัญ

นิวรณ์ ๕ คือราคะโทสะโมหะ

 

เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนตั้งต้นให้กำหนดดูจิตอันประกอบด้วยนิวรณ์ทั้ง ๕

ก็คือดูนิวรณ์ทั้ง ๕ มุ่งดูนิวรณ์ทั้ง ๕ ที่บังเกิดขึ้นในจิต

นิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ก็คือราคะโทสะโมหะนั้นแหละ แต่ว่าตรัสขยายออกไปเป็น ๕

และเรื่องนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ก็ได้แสดงแล้ว ทั้งคำว่าชื่อของนิวรณ์

พร้อมทั้งคำว่านิวรณ์แปลว่าอะไร หมายถึงอะไร และ ๕ ข้อนั้นมีอะไรบ้าง

และทั้ง ๕ ข้อนั้นก็รวมเข้าในกิเลส ๓ กอง คือราคะโทสะโมหะนั้นเอง

 

ตรัสสอนให้กำหนดดูนิวรณ์เหล่านี้ที่บังเกิดขึ้นในจิต นิวรณ์ข้อไหนบังเกิดขึ้นในจิต ก็ให้รู้

และให้รู้ถึงประการที่ทำให้นิวรณ์เกิดขึ้น ให้รู้ถึงประการที่จะละนิวรณ์ได้

ให้รู้ถึงประการที่จะปฏิบัติทำนิวรณ์ที่ละแล้วไม่ให้บังเกิดขึ้นอีก

และประการทั้งปวงดังที่กล่าวมานี้ก็ได้มีพระพุทธาธิบายไว้จำเพาะข้อๆ โดยประการต่างๆ

แต่ว่าในที่นี้ได้เว้นประการอื่น แสดงจับเข้ามาตามสายของ ขันธ์ อายตนะ สัญโญชน์

ที่ตรัสไว้ตามลำดับในข้อธรรมานุปัสสนา นี่แหละไม่ยกมาจากที่อื่น

 

ก็คือว่าประการที่ให้นิวรณ์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ในจิต

ก็ได้แก่สัญโญชน์คือความผูกใจในอารมณ์คือเรื่องที่ผ่านทางอายตนะมีตาหูเป็นต้น

เมื่อเกิดอารมณ์คือเรื่องที่จิตนี้รับเข้ามาทางอายตนะมีตาหูเป็นต้น ก็มีสัญโญชน์คือผูก

คือจิตผูกอยู่กับอารมณ์ หรืออารมณ์ผูกอยู่กับจิต

ตัวความผูกนี้เอง ก็ทำให้แสดงอาการเป็นผูกใจชอบ ดั่งนี้ ก็เกิดเป็นกามฉันท์ขึ้น

ผูกใจโกรธก็เกิดเป็นโทสะพยาบาทขึ้น ผูกใจหลงก็เกิดเป็นถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

กุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญ วิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัย

แต่ว่าสำหรับข้อความรำคาญที่คู่กับความฟุ้งซ่านนั้น พระอาจารย์ท่านจัดเข้าในกองโทสะก็มี

ก็เป็นอันว่าตัวสัญโญชน์คือผูกใจนี่แหละ เป็นต้นนำให้เป็นนิวรณ์ขึ้นมาทั้ง ๕ นั้น

ดั่งนี้ก็ได้แสดงมาแล้ว

ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖

 

ในวันนี้ก็จะได้กล่าวเพิ่มเติมตามพระพุทธโอวาทอีกว่า อันนิวรณ์

สัญโญชน์ ผูกใจดังที่กล่าวมานี้ ก็อาศัยขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ เหล่านี้แหละบังเกิดขึ้น

ทุกคนมีขันธ์ ๕ มีอายตนะ ๖ มาตั้งแต่ถือกำเนิดเกิดก่อขึ้นในครรภ์ของมารดา

ก็เริ่มมีขันธ์ ๕ มีอายตนะ ๖ จนถึงเมื่อสมบูรณ์จึงได้คลอดออกมา

มีขันธ์ ๕ มีอายตนะทั้ง ๖ เว้นไว้แต่บางคนที่บกพร่อง

เช่นคลอดออกมาขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ บางอย่างพิกลพิการ เช่นว่าตาบอดเป็นต้น

 

เพราะฉะนั้นขันธ์อายตนะเหล่านี้จึงได้ชื่อว่าเป็นวิบากขันธ์ ขันธ์ที่เป็นวิบาก

วิบากอายตนะ อายตนะคือวิบาก คือเป็นผลของกรรมเก่า

โดยเฉพาะก็คือชนกกรรม กรรมที่นำให้เกิดมาตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้

และขันธ์ ๕ และอายตนะ ๖ เหล่านี้ เมื่อเป็นวิบากจึงเป็นของกลางๆ ไม่ใช่บุญไม่ใช่บาป

เพราะเป็นตัวผล แต่ว่าก็เป็นที่อาศัยบังเกิดขึ้นของกิเลส ของบุญ และบาป

แต่ตัวขันธ์ ตัวอายตนะเอง ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป

 

ในข้อนี้เมื่อนึกเทียบดูอย่างง่ายๆเช่น คนที่ไปตีใคร

ก็ต้องใช้มือตี หรือว่าเอามือจับไม้ไปตีเขา คนที่ตีนั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้ตี

และชื่อว่าได้กระทำการเบียดเบียนผู้อื่นด้วยการตี เป็นผู้ที่ได้กระทำความชั่วอันเป็นบาป

เพราะเหตุที่ หรือในข้อที่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยการตี

แต่ว่ามือหรือไม้ที่ใช้ตีเขานั้นไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป

แม้เมื่อใช้มือหยิบของทำบุญเช่นใส่บาตรพระ หรือว่าให้แก่ผู้ที่ควรสงเคราะห์

เป็นการทำทาน ผู้ที่กระทำนั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ทำบุญทำทาน

แต่ว่ามือที่หยิบของให้เขานั้นไม่ชื่อว่าเป็นบุญหรือเป็นบาปอย่างไร

เพราะเป็นเครื่องมือสำหรับที่จะใช้ ดังที่กล่าวมานี้ก็ยกขึ้นเป็นตัวอย่าง

เพื่อแสดงว่าขันธ์อายตนะนั้นไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป

แต่เป็นเครื่องมือสำหรับที่จะทำบุญทำบาปได้

การทำบุญทำบาปก็ต้องอาศัยขันธ์อาศัยอายตนะทำ ผู้ทำก็เป็นบุญเป็นบาป

แต่ว่าขันธ์อายตนะนั้นไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป

เพราะฉะนั้นขันธ์อายตนะนี้จึงเป็นกลางๆ อันเรียกว่าอัพยากตธรรม

ธรรมะที่เป็นอัพยากฤต ไม่ยืนยันว่าเป็นบุญหรือเป็นบาป

 

ข้อพิจารณาให้รู้จักขันธ์ ๕

 

พระพุทธเจ้าครั้นตรัสแสดงธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เริ่มด้วยข้อนิวรณ์

ต่อจากข้อนิวรณ์จึงได้ทรงแสดงขันธ์ ๕ คือขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ

อันได้แก่ตั้งสติกำหนดพิจารณาให้รู้จักขันธ์ ๕ อันเรียกว่าอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ

ว่ารูปอย่างนี้ ความบังเกิดขึ้นแห่งรูปอย่างนี้ ความดับไปแห่งรูปอย่างนี้

เวทนาอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาอย่างนี้ ความดับไปแห่งเวทนาอย่างนี้

สัญญาอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาอย่างนี้ ความดับไปแห่งสัญญาอย่างนี้

สังขารอย่างนี้ ความบังเกิดขึ้นแห่งสังขารอย่างนี้ ความดับไปแห่งสังขารอย่างนี้

วิญญาณอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณอย่างนี้ ความดับไปแห่งวิญญาณอย่างนี้

 

คือกำหนดดูให้รู้จัก ตัวรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

พร้อมทั้งความเกิดพร้อมทั้งความดับ ว่าเป็นอย่างนี้ๆ

สำหรับความกำหนดดูให้รู้จัก พร้อมทั้งความเกิดความดับนี้

พึงตั้งสติกำหนดพิจารณาดู ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนก่อน

ให้รู้จักว่า รูป ก็คือรูปกายอันนี้ อันประกอบขึ้นด้วยธาตุทั้ง ๔

เวทนา ก็คือความรู้นี้เอง ซึ่งเป็นความรู้สุขรู้ทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

เพราะว่าที่จะเป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ทางกายทางใจ

ที่บังเกิดขึ้นแก่ทุกๆคน ก็โดยที่ทุกๆคนรู้นี้เอง

เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข ก็เป็นขึ้นด้วยความรู้

ถ้าไม่มีความรู้แล้ว อาการที่เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขก็ไม่ปรากฏ

 

เพราะฉะนั้นตัวเวทนานี้จึงเป็นตัวรู้

ดังจะพึงเห็นได้ว่าเมื่อฉีดยาชาที่ร่างกาย และหมอก็ทำการผ่าตัดที่ร่างกายตรงนั้น

ไม่ปรากฏเป็นทุกข์ก็เพราะว่าไม่มีตัวรู้อยู่ที่ร่างกายส่วนนั้น

เพราะฉะนั้น เมื่อไม่มีตัวรู้หมอจะทำอะไรก็ไม่มีเจ็บ ทุกขเวทนาก็ไม่เกิด

หรือแม้สุขเวทนาก็ไม่เกิดเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้นที่เรียกว่าสุขทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขทางกายทางใจ จึงอยู่ที่รู้นี้เอง

รู้ที่มีอาการสบายก็เรียกว่าสุข รู้ที่มีอาการไม่สบายก็เรียกว่าทุกข์

รู้ที่มีอาการเป็นกลางๆก็เรียกว่าไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข ก็ให้รู้จักว่านี่คือเวทนา

 

มาถึง สัญญา ให้รู้จักว่าก็คือความจำได้หมายรู้

ที่จำรูปจำเสียงจำกลิ่นจำรสจำโผฏฐัพพะ จำเรื่องราวอะไรต่างๆได้ นี่ก็คือสัญญา

สังขาร ก็คือความคิดปรุง หรือความปรุงคิดทางใจ

ก็คิดเรื่องรูปบ้างเรื่องเสียงบ้างเรื่องกลิ่นบ้างเรื่องรสบ้างเรื่องโผฏฐัพพะบ้าง

เรื่องของเรื่องต่างๆเหล่านี้บ้าง คิดดีบ้าง คิดไม่ดีบ้าง คิดเป็นกลางๆบ้าง นี่ก็เป็นสังขาร

( เริ่ม ๑๑๒/๒ ) การเห็น การได้ยิน การทราบ การคิด การรู้ ต่างๆเหล่านี้ก็เป็น วิญญาณ

แม้สัญญาสังขารวิญญาณทั้ง ๓ นี้ ก็เป็นความรู้อีกเหมือนกัน

ถ้าไม่มีความรู้อยู่ ก็ไม่เป็นสัญญา ไม่เป็นสังขาร ไม่เป็นวิญญาณ

แต่ว่าความรู้นั้น เมื่อเป็นความรู้จำก็เป็นสัญญา รู้คิดปรุงหรือปรุงคิดก็เป็นสังขาร

รู้เห็นรู้ได้ยินก็เป็นวิญญาณ

 

ขันธ์ ๕ เกิดดับเป็นธรรมดา

 

เพราะฉะนั้นก็ทำความรู้จักขันธ์ ๕ ดั่งนี้ ที่ตนเอง

รูปอย่างนี้ เวทนาอย่างนี้ สัญญาอย่างนี้ สังขารอย่างนี้ วิญญาณอย่างนี้

และก็ให้รู้ความเกิดความดับ ว่าทั้ง ๕ นี้ก็มีความเกิดความดับเป็นธรรมดา

และประการที่ทำให้ เกิด เป็นอย่างไร ประการที่ ดับ เป็นอย่างไร

ก็ต้องกำหนดไปตามข้ออายตนะได้ ก็เกิดดับทางอายตนะนั่นแหละ

แต่ว่าในวันนี้อธิบายเพียงเท่านี้ เกิดดับของขันธ์ ๕ ทางอายตนะอย่างไร

จะได้ไปว่าในข้ออายตนะต่อไป ตลอดจนถึงกิเลสที่สืบเนื่อง

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 *

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats