ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป097

สังฆานุสสติ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

สรณะ ๒ ๓

ปฐมเทศนา ๔

วันอาสาฬหะบูชา ๕

เอหิภิกขุอุปสัมปทา ๖

สมมติสงฆ์ อริยะสงฆ์ ๘

สติปัฏฐานโดยสังเขป ๑๐

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๒๔/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๒๔/๒ ( File Tape 97 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สังฆานุสสติ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

จะแสดงสังฆานุสสติ อนุสสติคือสติที่ระลึกถึงพระสงฆ์

สืบต่อจากพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติที่ได้แสดงมาแล้ว นำสติปัฏฐาน

อันเป็นข้อปฏิบัติทางจิตตภาวนาอบรมจิต อันเป็นหลักสำคัญที่ปฏิบัติกันอยู่ทั่วไป

สังฆะ หรือ สงฆ์ ที่เราเรียกกันว่าพระสงฆ์ อันหมายถึงรัตนะ หรือสรณะที่ ๓

ต่อเนื่องมาจากพระพุทธะและพระธรรมะ มาจากคำที่สวดกันอยู่ในสังฆานุสสติว่า

ภควโต สาวกสังโฆ ที่แปลว่าสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า

 

สาวกแปลตามศัพท์ว่าผู้ฟังคือศิษย์ สงฆ์ก็มาจากสังฆะที่แปลว่าหมู่

สาวกสังโฆก็แปลว่าหมู่แห่งสาวก คือผู้ฟังหรือศิษย์นั้นเอง

และคำว่าสังฆะหรือสงฆ์ที่แปลว่าหมู่นี้ก็ใช้ในความหมายทั่วไปด้วย

เช่นหมู่นกก็เรียกว่า สกุณะสังโฆ ที่แปลว่าหมู่แห่งนก

ส่วนในทางพระพุทธศาสนาก็นำมาใช้ถึงหมู่แห่งสาวก ผู้ฟัง

คือศิษย์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า คือพระพุทธเจ้า

 

สรณะ ๒

 

โดยที่เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรม เมื่อยังไม่ได้เสด็จจาริกไปทรงสั่งสอน

ก็มีเพียงรัตนะ ๒ หรือสรณะ ๒ อันได้แก่พระพุทธเจ้า และพระธรรม

ฉะนั้น จึงมีแสดงไว้ในพุทธประวัติว่าเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ๆ ยังมิได้ทรงสั่งสอน

ผู้ที่ได้เข้าเฝ้าโดยได้พบพระพุทธเจ้า ได้ความเลื่อมใสในพระองค์ ก็เปล่งวาจาถึงพระองค์

คือพระพุทธเจ้าและพระธรรมเป็นสรณะที่แปลว่าที่พึ่ง คือถึงสรณะ ๒

 

พิจารณาดูว่าผู้ที่ถึงสรณะ ๒ นั้น ได้รู้จักพระธรรมอย่างไร

ก็ได้มีแสดงไว้ต่อมาที่ทำให้จับความได้ว่า ผู้ที่ได้พบเห็นพระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้ใหม่ๆนั้น

ได้เห็นพระฉวีวรรณ พระอากัปกิริยาที่ผ่องใส สงบ

ก็ทำให้นึกว่าท่านผู้นี้เป็นผู้ที่ได้มีคุณวิเศษทางจิตใจ ซึ่งท่านได้บรรลุแล้ว

และคุณวิเศษทางจิตใจนั้นเขาผู้นั้นเองก็ไม่รู้จักว่าอะไร

แต่เข้าใจว่าต้องมีจึงทำให้มีพระฉวีวรรณผ่องใส มีพระอากัปกิริยาสงบ

มีแววพระเนตรที่บริสุทธิ์แจ่มใส แสดงถึงความที่เต็มไปด้วยพระมหากรุณา

( เริ่ม ๑๒๔/๒ ) อาการเหล่านี้เขาก็เข้าใจรวมเข้าในคำว่าธรรม หรือธรรมะ

ซึ่งท่านผู้นี้จะต้องมีธรรมะอันเป็นคุณวิเศษอยู่ในจิตใจอย่างแน่นอน

 

เพราะฉะนั้น แม้จะยังไม่เข้าใจธรรมะ ไม่ได้ฟังธรรมะ ยังไม่รู้จักธรรมะ

เมื่อเห็นพระองค์เข้าอย่างนี้ก็ทำให้รู้สึกซาบซึ้งในจิตใจแล้ว ว่าต้องมีของวิเศษอยู่ในจิตใจ

คือคุณวิเศษอยู่ในจิตใจหรือธรรมะ รวมเรียกว่าธรรมะนั่นเอง

เพราะฉะนั้นจึงได้เปล่งวาจาถึงพระองค์และพระธรรมที่ทรงมีอยู่ในจิตใจนั่นแหละ

เป็นสรณะคือที่พึ่ง ดั่งนี้

เพราะฉะนั้นเมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกทีแรก

จึงได้มีสรณะ ๒ ได้แก่พระพุทธเจ้า และพระธรรมที่ได้ตรัสรู้

และต่อมาเมื่อได้เสด็จจาริกไปประกาศพระศาสนา

ตั้งต้นแต่ทรงแสดงปฐมเทศนาแก่พระปัญจวัคคีย์ ซึ่งขณะนั้นเป็นฤษี ๕ องค์

และเมื่อทรงแสดงปฐมเทศนาจบ ท่านโกณฑัญญะที่เป็นหัวหน้าก็ได้ดวงตาเห็นธรรม

อันเรียกว่าธรรมจักขุ หรือธรรมจักษุ คือได้เกิดความรู้ขึ้นว่า

ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

สัพพันตัง นิโรธธัมมัง สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา

ที่ท่านแสดงว่าท่านสำเร็จเป็นโสดาบันบุคคล ซึ่งเป็นอริยบุคคลชั้นแรกในพุทธศาสนา

และท่านได้ขออุปสมบทจากพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ประทานพระพุทธานุญาติให้เป็นภิกษุ

ด้วยพระวาจาว่า เอหิภิกขุ จงเป็นภิกษุมาเถิด

 

ปฐมเทศนา

 

เพราะฉะนั้น ในวันที่ได้ทรงแสดงปฐมเทศนา และท่านพระโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม

ได้รับอุปสมบทเป็นภิกษุขึ้นเป็นองค์แรกนั้น จึงได้นับถือว่าเป็นวันเริ่มบังเกิดขึ้นของพระสงฆ์

แต่อันที่จริงนั้น เรียกว่าเป็นวันเริ่มเกิดขึ้นได้ แต่ยังไม่เป็นพระสงฆ์ที่สมบูรณ์

เพราะคำว่าสงฆ์แปลว่าหมู่ ท่านโกณฑัญญะองค์เดียวยังไม่เป็นหมู่ เพราะเป็นเพียงองค์เดียว

หมู่จะต้องตั้งแต่ ๒ ขึ้นไป และถ้าในวินัยบัญญัติก็ตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป

และคุณวิเศษที่ท่านได้นั้นคือธรรมจักขุดวงตาเห็นธรรม

ก็ทำให้ท่านได้สำเร็จเป็นโสดาบันบุคคล ก็ยังเป็นอริยบุคคลชั้นแรก ยังละกิเลสไม่ได้หมด

เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าเป็นวันที่เริ่มบังเกิดขึ้นของพระสงฆ์ได้ แต่ยังไม่เป็นพระสงฆ์ที่สมบูรณ์

 

และในวันนั้นก็คือวันอาสาฬหบูชา

ที่เราทั้งหลายได้กระทำการบูชา อันตรงกับวัญเพ็ญเดือนอาสาฬหะหรือเดือนแปด

และต่อมาพระพุทธเจ้าได้ทรงอบรมอีก ๔ ท่าน จนได้ดวงตาเห็นธรรมทั้งหมดแล้ว

คือเป็นโสดาบันด้วยกันหมดแล้ว รวมทั้ง ๕ องค์

จึงได้ทรงแสดงทุติยเทศนา เทศนาที่ ๒ อันเรียกว่า อนัตตลักขณสูตร

พระสูตรที่แสดงลักษณะเครื่องกำหนดหมาย ขันธ์ ๕ ว่าเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน

พระเบ็ญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั้น ซึ่งได้อุปสมบทเป็นภิกษุทั้งหมดแล้ว จึงได้มีจิตพ้นจากอาสวะทั้งสิ้น

เป็นขีณาสวะคือเป็นผู้มีอาสะสิ้นแล้ว สิ้นกิเลสทั้งหมดแล้ว เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด

ซึ่งตรงกับวันแรม ๕ ค่ำแห่งเดือนอาสาฬหะคือเดือน ๘

ที่เราทั้งหลายฝ่ายบรรพชิตได้ไปสวดมนต์กันที่วัดพระแก้วในวันแรม ๕ ค่ำนั้น

เป็นการถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย

 

เพราะพระองค์ได้ตรัสสั่งเอาไว้เมื่อได้เสด็จปริวัตรจากบรรชิตเพศ

ออกไปเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๔

เมื่อถึงวาระเข้าพรรษา พระเถระ พระภิกษุที่เป็นสัทธิวิหารริกของพระองค์ท่าน

ได้เคยทำวัตรเข้าพรรษาคือนำสักการะถวาย ดังที่เราทั้งหลายได้กระทำกัน

แต่เมื่อพระองค์ได้ทรงปริวัตรไปเป็นฆราวาสแล้ว

จึงไม่เป็นฐานะที่จะไปถวายทำวัตรเข้าพรรษาได้ จึงได้ตรัสสั่งไว้ว่าเมื่อสัทธิวิหาริกทั้งหลาย

ศิษย์ทั้งหลายระลึกถึงพระองค์ ก็ให้เข้าไปทำวัตรสวดมนต์ที่วัดพระแก้วในวันแรม ๕ ค่ำ

ซึ่งเป็นวันที่ได้บังเกิดพระสงฆ์ขึ้นอย่างสมบูรณ์

 

วันอาสาฬหะบูชา

 

และเมื่อบังเกิดพระสงฆ์ขึ้นอย่างสมบูรณ์แล้ว

ก็เป็นอันว่ารัตนะทั้ง ๓ สรณะทั้ง ๓ ได้มีครบบริบูรณ์ขึ้นแล้วในโลก

ตั้งแต่วันแรม ๕ ค่ำเดือนอาสาฬหะนั้น เพราะว่าได้เป็นสังฆะคือหมู่แห่งสาวก

คือผู้ฟังของพระพุทธเจ้า ที่ได้ตรัสรู้ตาม อันเรียกว่าอนุพุทธะคือผู้ที่รู้ตาม ตรัสรู้ตามพระองค์

เป็นผู้สิ้นอาสวะกิเลส เป็นพระอรหันต์ขึ้นเหมือนดั่งพระองค์

เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระอรหันต์ขึ้น ๖ รูป ๖ พระองค์ ในโลกในวันแรม ๕ ค่ำนั้น

คือพระพุทธเจ้า ๑ และพระเบ็ญจวัคคีย์อีก ๕ ก็รวมเป็น ๖ องค์ด้วยกัน

เพราะฉะนั้นพระสงฆ์จึงเกิดขึ้นสมบูรณ์ตั้งแต่ในวันนั้นมา

และสงฆ์ที่สมบูรณ์นี้จึงหมายถึงสงฆ์ที่มีอาสวะสิ้นแล้ว

คือสิ้นกิเลสดองสันดานทั้งหมด

 

แต่แม้เช่นนั้นทางพระพุทธศาสนาก็ได้แสดงถึงสงฆ์ไว้ว่ามี ๔ คู่ นับเรียงบุคคลก็เป็น ๘

อันได้แก่ท่านผู้ที่ได้ฟังธรรมเป็นสาวกคือเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า

ได้ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรมขึ้นเป็นชั้นที่เรียกว่า

ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล นี่เป็นคู่หนึ่ง

ที่สูงขึ้นไป ตั้งอยู่ในสกทาคามีมรรค ตั้งอยู่ในสกทาคามีผล คู่หนึ่ง

ที่สูงขึ้นไป ตั้งอยู่ในอนาคามีมรรค ตั้งอยู่ในอนาคามีผล คู่หนึ่ง

ที่สูงสุด ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค ตั้งอยู่ในอรหัตตผล คู่หนึ่ง

จึงเป็น ๔ คู่ และเมื่อนับเรียงเป็นบุคคลก็เป็น ๘

 

และเมื่อนับเป็นบุคคลผู้บรรลุมรรคผลที่เป็น ๔ คู่นั้น โดยที่ไม่แยกเป็นมรรคเป็นผลดังกล่าว

ก็นับได้ ๔ คือเป็นโสดาบัน ๑ เป็นสกทาคามีบุคคล ๑ เป็นอนาคามี ๑ เป็นอรหันต์ ๑ ก็เป็น ๔

และที่แบ่งเป็น ๔ ชั้นดั่งนี้ก็ได้มีพระพุทธาธิบายตรัสไว้ ว่าแบ่งตามการละกิเลสได้บางส่วน

และก็ละได้เพิ่มมากขึ้นๆ จนถึงละได้หมดโดยลำดับ เป็นพระขีณาสพ

คือเป็นผู้สิ้นกิเลสที่ดองสันดานทั้งสิ้น คือเป็นพระอรหันต์เป็นที่สุด

 

เอหิภิกขุอุปสัมปทา

 

เพราะฉะนั้นพระสงฆ์นั้นที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ที่บังเกิดมาในทีแรก

จึงเริ่มมาตั้งแต่ได้ธรรมจักขุดวงตาเห็นธรรม และก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุในพุทธศาสนา

ด้วยวิธีที่ตรัสเรียกว่า เอหิภิกขุ จงเป็นภิกษุมาเถิด เพียงเท่านี้ก็สำเร็จเป็นภิกษุแล้วในเบื้องต้น

ซึ่งวิธีบวชในชั้นแรกนี้เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา

เพราะฉะนั้น พระสงฆ์ที่มีในชั้นแรกจึงมีความเป็นมาดั่งนี้

แล้วก็เป็นภิกษุทั้งหมด คือบวชเข้ามาทั้งหมด

 

แต่ว่าในการรับรองว่าเป็นสงฆ์ พระพุทธเจ้าทรงรับรองด้วยการละกิเลสเป็นข้อสำคัญ

เมื่อละกิเลสได้ตั้งแต่บางส่วนจึงนับว่าเป็นสงฆ์

ซึ่งการละกิเลสได้บางส่วนนั้น ก็ได้แก่การละกิเลสของบุคคลที่เรียกว่าโสดาบันนั้นเอง

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นเบื้องต้น แต่ว่าก็มุ่งเอาการละกิเลสนี้เป็นประการสำคัญ

และต่อมาเมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงแผ่พระพุทธศาสนา

เสด็จจาริกไปทรงแสดงธรรมะสั่งสอนแก่เวไนยนิกร คือหมู่ชนผู้ที่พึงแนะนำได้

ก็ได้มีผู้ที่ได้ฟังธรรม ได้ดวงตาเห็นธรรม ได้บรรลุธรรมขึ้นโดยลำดับมา

และท่านผู้ที่ได้บรรลุธรรมในขั้นเป็นโสดาบันนั้น

เมื่อได้บรรลุแล้วก็ไม่ออกบวช ยังอยู่ครองเรือนอยู่ก็มี ออกบวชก็มี

และแม้ผู้ที่เป็นสกทาคามีบุคคลก็เช่นเดียวกัน ออกบวชก็มี ครองเรือนอยู่ก็มี

ผู้ที่ได้บรรลุเป็นอนาคามีบุคคลแล้วที่ยังไม่ออกบวช ยังอยู่ในบ้านเรือนก็มี

 

แต่สำหรับที่เป็นอนาคามีบุคคลซึ่งยังไม่ออกบวชนั้นก็มีแสดงว่า

เพราะยังมีภาระที่จะเลี้ยงดูท่านบุพการี คือมารดาบิดาของตนอยู่ จึงยังไม่ออกบวช

ส่วนที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์นั้น โดยมากบรรลุเมื่อออกบวชแล้ว

แต่ก็มีอยู่ที่บรรลุเมื่อยังเป็นฆราวาส แต่เมื่อบรรลุแล้วก็ออกบวชในวันนั้น

เพราะเมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วไม่อยู่ในฐานะที่จะอยู่ในบ้านในเรือน ต้องออกบวช

 

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ได้เป็นอริยะบุคคลซึ่งยังไม่ออกบวช

ก็นับว่าเป็นคฤหัสถ์ ยังอยู่ครองเรือน หรืออยู่ในบ้านเรือน

แต่แม้เช่นนั้นเมื่อถือการนับว่าละกิเลสได้บางส่วนขึ้นไปแล้ว ก็นับเป็นสงฆ์ได้

ท่านที่เป็นคฤหัสถ์เหล่านั้นก็นับเข้าในสาวกสังโฆ หมู่แห่งสาวกผู้ฟังคือศิษย์ของพระพุทธเจ้าได้

เพราะว่านับรวมอยู่ในบุคคล ๔ คู่ ๘ จำพวก ดั่งที่กล่าวมา

และเมื่อพระพุทธเจ้าได้ประกาศพระพุทธศาสนา ต่อมาก็ได้มีผู้ที่เข้ามาขอบวชเป็นภิกษุสามเณร

และภิกษุสามเณรเหล่านั้นก็ได้ปฏิบัติตามพระธรรมที่ทรงสั่งสอน

แต่ผู้ที่เข้ามาบวชเมื่อมีมากเข้า ก็มีผู้ที่ประพฤติสิ่งอันไม่สมควรแก่ความเป็นสมณะ

พระองค์จึงต้องทรงบัญญัติพระวินัยสำหรับที่ผู้เข้าบวชปฏิบัติ

และผู้ที่ออกบวชเป็นภิกษุจึงต้องปฏิบัติตามพระวินัยที่ทรงบัญญัตินั้น

ต่อมาเมื่อมีสามเณรก็มีวินัยบัญญัติสำหรับสามเณรที่ผ่อนลงมา

 

และต่อมาเมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาติให้พระภิกษุเถระให้อุปสมบทได้

ด้วยวิธีที่เรียกว่า ติสรณคมณุปสัมปทา อุปสมบทด้วยการถึงสรณะ ๓

และต่อมาอีกเมื่อมีภิกษุมากขึ้น ก็ตรัสให้สงฆ์อันหมายความว่าหมู่แห่งภิกษุ

ที่ได้รับอุปสมบทตามพระวินัยนี้ประชุมกันให้การอุปสมบท นับกำหนดว่าตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป

เพราะฉะนั้นจึงมีวิธีอุปสมบทโดยสงฆ์ดังกล่าว

อันเรียกว่า ญัติจตุตกรรมอุปสัมปทา อุปสมบทด้วยญัติเป็นที่ ๔

คือตั้งญัติหนหนึ่ง สวดประกาศอันเรียกว่า อนุสาวนา สามหนก็เป็น ๔ เที่ยว

จึงสำเร็จเป็นภิกษุซึ่งใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้

 

สมมติสงฆ์ อริยะสงฆ์

 

และสำหรับในสังฆกรรมอย่างอื่นก็โปรดให้ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป

ประชุมกันเรียกว่าเป็นสงฆ์ประกอบสังฆกรรมนั้นๆ

เพราะฉะนั้น จึงได้เกิดมีสงฆ์ขึ้นอีกตามพระวินัย อันเรียกว่า การกสงฆ์

คือสงฆ์ที่ปฏิบัติสังฆกรรม หรือวินัยสงฆ์ สงฆ์ตามพระวินัยบัญญัติ

หรือที่เรียกกันโดยมากว่า สมมติสงฆ์ สงฆ์โดยสมมติ

 

อันคำว่าสงฆ์โดยสมมตินี้ไม่ใช่หมายความว่า “ สักแต่ว่า

หรือ “ เหมือนอย่างว่า ” เหมือนอย่างที่เราพูดกันในภาษาไทยว่า “ สมมุติว่า

คือไม่ใช่เป็นจริง ตี๊ต่างว่า เหมือนอย่างว่า

แต่สมมติสงฆ์ในที่นี้หมายถึงสงฆ์ที่บัญญัติขึ้นมาตามพระวินัย

คือคำว่า “ สมมติ ” นั้นแปลว่ามีมติร่วมกัน หรือมีมติพร้อมกัน

มาจากคำว่า “ สัง ” คำหนึ่ง “ มติ ” อีกคำหนึ่ง

คำว่ามตินั้นก็พูดกันในภาษาไทย เช่นว่าที่ประชุมลงมติว่าอย่างนั้นอย่างนี้

แล้วเมื่อมีมติพร้อมกันก็เป็นอันว่าตกลงตามนั้น

หรือที่มีบัญญัติเป็นอย่างอื่นเช่นว่าครึ่งหนึ่ง หรือกว่าครึ่งอะไรเป็นต้น

ได้มติอย่างนั้นก็ชื่อว่าตกลงกันอย่างนั้น

และเมื่อตกลงกันอย่างนั้นก็แปลว่าพร้อมกัน ก็ต้องรับรองทั้งหมด

 

ก็เรียกว่า “ สัมมติ ” คือสมมติ คือมีมติร่วมกัน มีมติพร้อมกัน

สมมติสงฆ์ในที่นี้ จึงมีความหมายความว่าหมู่แห่งภิกษุที่ประชุมกันปรึกษากัน

แล้วก็มีมติพร้อมกันทั้งหมดรับรองในกรรมที่กระทำนั้น เช่นประชุมกันประกอบอุปสมบถกรรม

พระที่ประชุมทั้งหมดนั้นตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป ต้องมีมติเห็นชอบพร้อมกันรับรอง

โดยไม่มีรูปใดรูปหนึ่งคัดค้านขึ้นมา

 

เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า “ สมมติสงฆ์ ” สงฆ์โดยสมมติ

คือสงฆ์ที่จะมีมติร่วมกัน รับรองสังฆกรรมนั้นๆ

และก็เป็นสงฆ์ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติแต่งตั้งขึ้นตามพระวินัย

แต่งตั้งขึ้นนั้นก็เป็นสมมติอย่างหนึ่งคือรับรอง เป็นที่รับรองพร้อมกัน

เพราะฉะนั้น จึงได้บังเกิดมีคำว่า “ สังฆะ ” นี้ขึ้นเป็น ๒ อย่าง

คือเป็นอริยะสงฆ์อย่างหนึ่ง เป็นวินัยสงฆ์ หรือสมมติสงฆ์อย่างหนึ่ง

 

อริยสงฆ์นั้นนับเอาการละกิเลสได้เป็นประการสำคัญ

ผู้ที่ละกิเลสได้ตั้งแต่บางส่วนขึ้นไปจนถึงหมดสิ้น จะบวชเป็นภิกษุสามเณรก็ตาม

จะเป็นฆราวาสก็ตาม ก็นับชื่อว่าเป็นอริยสงฆ์ได้

แต่สำหรับสมมติสงฆ์หรือวินัยสงฆ์นั้นต้องเป็นภิกษุที่อุปสมบทโดยถูกต้อง

และมาประชุมกันตามที่มีวินัยกำหนด บางอย่างก็ ๔ รูป บางอย่างก็ ๕ รูป

บางอย่างก็มากกว่านั้น ปรึกษาหารือกัน สวด ปรึกษาหารือกัน

และเมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้าน ก็ชื่อว่ามีมติร่วมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็ใช้ได้

ก็เป็นวินัยสงฆ์หรือสมมติสงฆ์ จึงมีสงฆ์ ๒ อย่างดั่งนี้

แต่ว่าสงฆ์ที่เป็นรัตนะหรือเป็นสรณะนั้นมุ่งถึงอริยสงฆ์ที่มี ๔ คู่ นับรายบุคคลเป็น ๘

 

สติปัฏฐานโดยสังเขป

 

อนึ่ง วันนี้เป็นวันที่จะได้เริ่มมีการอธิบายสวดสติปัฏฐานสูตรใหญ่ อันเรียกว่ามหาสติปัฏฐาน

อันเป็นข้อปฏิบัติทางจิตตภาวนา การอบรมจิตทางสมาธิทางปัญญาประกอบกันไป

( เริ่ม ๑๒๕/๑ ) เพราะฉะนั้นจึงจะอธิบายคำว่าสติโดยสังเขป

สตินั้นคือความระลึกความกำหนดของจิตในสิ่งที่ต้องการระลึกต้องการกำหนด

โดยที่รวมจิตเข้ามากำหนด รวมจิตเข้ามาระลึก

เมื่อปฏิบัติในสติปัฏฐานก็รวมจิตเข้ามากำหนด รวมจิตเข้ามาระลึก

ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ซึ่งจะมีการอธิบายต่อไป

 

และในวันนี้ก็ให้ปฏิบัติทำสติกำหนดระลึกในกาย ส่วนที่เป็นลมหายใจเข้าลมหายใจออก

นำจิตเข้ามาตั้งอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ตามอาการที่ลมหายใจกระทบ คือที่ปลายจมูก

เมื่อหายใจเข้าลมหายใจเข้ามากระทบที่ปลายจมูก แล้วก็เข้าไป

เหมือนอย่างผ่านอุระคือทรวงอกไปจนถึงอุทรคือท้องที่พองขึ้น

และหายใจออกก็เหมือนอย่างออกผ่านอุทรผ่านอุระคือหน้าอก มาออกที่ปลายจมูก

ให้มีสติกำหนดอยู่ รู้อาการของลมหายใจที่เข้าออกดั่งนี้

 

และเมื่อได้มีสติกำหนดอาการดังกล่าวหลายครั้งจนรู้ทางของลม

ก็หยุดที่จะส่งจิตเข้านำจิตออกดังกล่าว มาหยุดอยู่ที่ปลายจมูกหรือที่ริมฝีปากเบื้องบน

๑๐

หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้ เป็นการรวมใจเข้ามา

และในการรวมใจเข้ามานี้โดยง่ายๆก็ใช้พุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ

หายใจรวมอยู่ ดั่งนี้เป็นสมาธิ กำหนดให้รู้อยู่ในภายในดั่งนี้เป็นเบื้องต้น

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 *

สุปฏิปัติ การปฏิบัติดี ๓

พระโอวาทที่เป็นทางปฏิบัติ ๕

อนุโสตะคามี ปฏิบัติตามกระแสกิเลส ๖

ปฏิโสตะคามี ปฏิบัติทวนกระแสกิเลส ๗

สติปัฏฐานในข้อกาย ๘

 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๒๕/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๒๕/๒ ( File Tape 97 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

จะแสดงสังฆานุสสติ ระลึกถึงพระสงฆ์ คือระลึกถึงคุณของพระสงฆ์นำสติปัฏฐาน

สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ หมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น

สุปฏิปันโนปฏิบัติดีแล้ว หมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยตรงก็หมายถึงบุรุษ ๔ คู่

หรือบุคคล ๔ คู่ นับรายบุคคลเป็น ๘ ดังที่ได้แสดงแล้ว คือบุคคลผู้เป็นโสดาบัน

เป็นสกทาคามี เป็นอนาคามี เป็นอรหันต์ ที่เรียกว่าอริยะบุคคลในธรรมวินัยนี้

หรือในพุทธศาสนาอย่างต่ำคือโสดาบันบุคคล เป็นผู้ละกิเลสได้เด็ดขาด คือสัญโญชน์ได้ ๓

จนถึงเป็นอรหันตบุคคล ละกิเลสคือสัญโญชน์ได้หมดสิ้น ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้

ท่านผู้ละกิเลสได้บางส่วนจนถึงหมดสิ้นดังกล่าวนี้ จึงจะชื่อว่า สุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดีแล้ว

 

และผู้ปฏิบัติดีแล้วนี้ ก็ดีแล้วตั้งแต่ขั้นละสัญโญชน์ได้ ๓ แล้ว

ก็ดีแล้วในขั้นละสัญโญชน์ได้ ๓ แต่ว่ายังไม่แล้วในการที่จะละสัญโญชน์ที่ยิ่งขึ้นไป

จนถึงเป็นอรหันตบุคคล ที่เราเรียกกันว่าพระอรหันต์ละสัญโญชน์ได้ทั้งหมด

ซึ่งสัญโญชน์นั้นมี ๑๐ ก็ละได้ทั้ง ๑๐ คือทั้งหมด จึงจะเป็น สุปฏิปันโน คือปฏิบัติดีแล้ว

อย่างเสร็จกิจ ไม่มีกิจที่จะปฏิบัติเพื่อละกิเลสยิ่งขึ้นต่อไปอีก จึงจะเป็นดีแล้วจริงๆ

แต่แม้ในขั้นโสดาบันบุคคลก็เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วในขั้นละสังโญชน์แล้วได้ ๓

 

สุปฏิปัติ การปฏิบัติดี

 

ส่วนผู้กำลังปฏิบัติเพื่อละสัญโญชน์ คือพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย

ทั้งบรรพชิตคือผู้บวช ทั้งคฤหัสถ์คือผู้ครองเรือน

ซึ่งกำลังปฏิบัติอยู่ตามพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็ชื่อว่าเป็น สุปฏิปัติ

คือมีการปฏิบัติดี มีความปฏิบัติดี คือกำลังปฏิบัติดีอยู่ แต่ว่ายังไม่แล้ว

แม้ในขั้นที่จะละกิเลสได้แล้วในขั้นต้นที่ชื่อว่าปฏิบัติดีนั้นได้มีอธิบายไว้

ก็คือปฏิบัติดีจริง ปฏิบัติดีบริสุทธิ์ ปฏิบัติดีชอบ เป็นสัมมาปฏิปทาปฏิบัติชอบ

แต่ใช้คำว่าดีตามภาษาพูดที่เข้าใจกันได้ง่าย เพราะตรงกับคำที่ว่าดี ในคำว่าทำดีเป็นต้น

 

และเมื่อว่าถึงคำว่าดีนี้ก็อาจจะกล่าวได้ว่ามี ๓

คือดีที่เป็น โลกาธิปไตย คือมีโลกเป็นใหญ่ อันหมายถึงว่าเมื่อชาวโลกว่าดี ก็รับว่าดีไปตาม

เมื่อชาวโลกว่าชั่วหรือไม่ดี ก็รับว่าไม่ดีไปตาม เป็นดีไปตามโลก

อีกอย่างหนึ่งดีที่เป็น อัตตาธิปไตย มีตนเป็นใหญ่คือคนเองเห็นว่าดีก็ถือว่าดี

ตนเองเห็นว่าไม่ดีก็ถือว่าไม่ดี

อีกอย่างหนึ่งดีที่เป็น ธรรมาธิปไตย คือมีธรรมะคือความถูกต้องเป็นใหญ่

ตามเหตุและผลตามเป็นจริง เมื่อเป็นธรรมะคือเป็นคุณที่เป็นส่วนดีเป็นกุศลเป็นบุญที่แท้จริงก็ดี

เมื่อเป็นอธรรมคือเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมอันถูกต้อง หรือเป็นอกุศลธรรมเป็นบาปตามเป็นจริงก็ไม่ดี

ดีที่มีธรรมะคือมีความถูกต้องเป็นใหญ่ ดั่งนี้เรียกว่าธรรมาธิปไตย

 

ทั้ง ๓ นี้ ดีที่มีโลกเป็นใหญ่นั้น บางทีก็ดีจริง บางทีก็ไม่ดีจริง

สุดแต่ว่าคนส่วนใหญ่จะว่าดีหรือว่าไม่ดี และก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา

สมัยนี้ว่าดีอีกสมัยหนึ่งว่าไม่ดี หรือว่าสมัยนี้ว่าไม่ดี อีกสมัยหนึ่งว่าดี

เป็นสิ่งที่ไม่คงทนแน่นอน แม้ดีที่มีตัวเองเป็นใหญ่ก็เหมือนกัน

เพราะตนเองนั้นเมื่อถูกใจชอบใจก็ว่าดี เมื่อไม่ถูกใจไม่ชอบใจก็ว่าไม่ดี

ก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้ ในคราวที่ถูกใจตนได้ประโยชน์ก็ว่าดี

แต่ในคราวที่ไม่ถูกใจตนเสียประโยชน์ก็ว่าไม่ดี ก็เป็นดีที่ไม่แน่นอน

 

ส่วนดีที่มีธรรมะเป็นใหญ่นั้นเป็นดีที่ถูกต้องแน่นอน

แต่ว่าดีที่มีธรรมะเป็นใหญ่นี้ ทุกคนไม่อาจจะรู้เห็นได้

ในเมื่อจิตใจยังประกอบด้วยตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก

ยังมีโลภมีโกรธมีหลง ซึ่งรวมเป็นตัวกิเลสที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองไม่ผ่องใส

ทำให้จิตนี้ไม่ได้ปัญญาคือความรู้ที่ถูกต้อง ยังมีโมหะคือความหลง

ยังมีอวิชชาคือความไม่รู้ตามความเป็นจริง

 

เพราะฉะนั้น คนทั่วไปจึงมักจะยึดถือว่าดีหรือไม่ดี

ที่มีโลกเป็นใหญ่บ้าง มีตนเองเป็นใหญ่บ้าง

แต่เมื่อได้ใช้ปัญญาได้รู้เห็นตามเป็นจริงตามเหตุผล ก็อาจจะได้พบดีหรือชั่ว

ที่มีธรรมะเป็นใหญ่คือถูกต้อง หรือว่าได้ฟังคำสั่งสอนของท่านผู้รู้

เช่นลูกที่มีพ่อแม่สั่งสอนมาว่านี่ดีนี่ชั่วตั้งแต่เป็นเด็ก

และที่ครูอาจารย์สั่งสอนว่านี่ดีนี่ชั่วเมื่อเข้าโรงเรียน

หรือว่าได้มาฟังธรรมะที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตรัสชี้ว่านี่ดีนี่ชั่ว

แม้ว่าจะยังไม่มีปัญญาที่จะรู้ถึงรู้เท่าด้วยตนเองก็อาศัยศรัทธาคือความเชื่อ

ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน หรือตามท่านผู้รู้เช่นพ่อแม่ครูบาอาจารย์สั่งสอน

ก็ได้ความรู้จักว่าอะไรดีอะไรชั่วอันถูกต้อง

ดั่งนี้ก็เป็นดีชั่วที่มีธรรมะเป็นใหญ่ คือถูกต้องเป็นใหญ่

 

เพราะฉะนั้น สุปฏิปัติ คือการปฏิบัติดีนั้น จึงต้องเป็นการปฏิบัติที่ต้องมีธรรมะเป็นใหญ่

และต้องอาศัยปัญญาและอาศัยศรัทธาตามที่กล่าวมา

เพราะฉะนั้น ทุกๆคนซึ่งเป็นผู้นับถือพุทธศาสนา จึงได้ถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์

เป็นสรณะคือที่พึ่ง ก็คือเป็นผู้นำทาง คือนำเข้าสู่ทางที่ชอบให้ดำเนินเข้าสู่ทางที่ชอบ

และเมื่อดำเนินเข้าสู่ทางที่ชอบได้ ก็ชื่อว่าได้มีการปฏิบัติดี

 

พระโอวาทที่เป็นทางปฏิบัติ

 

พระสงฆ์คือหมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ปรากฏมาตามพุทธประวัติ

ทุกท่านก็ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ได้มีพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระธรรมพระสงฆ์

เป็นสรณะนำเข้าสู่ทางชอบ ปฏิบัติชอบ จึงเป็นสุปฏิปัติคือปฏิบัติดีขึ้นโดยลำดับ

การที่จะเป็นผู้ปฏิบัติดีขึ้นโดยลำดับนั้น เมื่อแสดงอย่างสั้นตามโอวาทปาติโมกข์ ๓ ข้อ

ก็คือไม่ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส

อะไรเป็นบาปพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสชี้เอาไว้ อะไรเป็นกุศลพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสชี้เอาไว้

และการชำระจิตของตนให้ผ่องใสได้อย่างไร พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดงสั่งสอนเอาไว้

นี้เป็นพระโอวาทที่ทรงแสดงไว้เป็นทางปฏิบัติ สำหรับที่พระสาวกทั้งหลายจะได้นำไป

ประกาศพระพุทธศาสนาตั้งแต่ในครั้งต้นพุทธกาล

 

และก็ได้ตรัสแสดงสัมมาปฏิบัติคือการปฏิบัติชอบ

เป็นหลักไว้ตั้งแต่ปฐมเทศนา ก็คือมรรคมีองค์ ๘

อันได้แก่ สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะความดำริชอบ

ทั้งสองนี้ก็จัดเป็นปัญญา หรือปัญญาสิกขา

สัมมาวาจาเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะการงานชอบ สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ

สามนี้ก็จัดเป็นศีล หรือสีลสิกขา

สัมมาวายามะเพียรชอบ สัมมาสติระลึกชอบ สัมมาสมาธิตั้งใจชอบ

สามนี้ก็จัดเป็นสมาธิ หรือจิตตสิกขา

เพราะฉะนั้น มรรคมีองค์ ๘ ก็รวมเข้าในไตรสิกขา

และพระโอวาทปาติโมกข์ทั้ง ๓ นั้น ก็รวมเข้าในไตรสิกขาเช่นเดียวกัน

 

เมื่อปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

อะไรที่ตรัสว่าเป็นบาป เป็นอกุศล เป็นทุจริต ก็ละไม่ทำ

อะไรที่ตรัสสอนว่าเป็นบุญเป็นกุศลสุจริต ก็ประกอบกระทำ

และคอยชำระใจของตนให้บริสุทธิ์ ขัดเกลาใจของตนให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ

ด้วยมาปฏิบัติโดยลำดับคือศีลสมาธิจนถึงปัญญาอันเป็นข้อสำคัญ

ชำระตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ชำระโลภโกรธหลงในจิตใจนี้เอง

เมื่อปฏิบัติชอบเข้าทางที่พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนไว้ดั่งนี้ ก็ชื่อว่าเป็นปฏิบัติดี

 

อนุโสตะคามี ปฏิบัติตามกระแสกิเลส

 

และการปฏิบัติดีดั่งนี้ จำจะต้องปฏิบัติไม่ปล่อยจิตไปตามกระแสกิเลส

ที่เรียกว่า อนุโสตะคามี ไปตามกระแสของกิเลส

คือไปตามกระแสของตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก

หรือไปตามกระแสของโลภโกรธหลง

 

อันตัณหาหรือโลภโกรธหลงนี้แยกเรียกชื่อออกไปตามลักษณะ

ของภาวะแห่งกิเลสที่บังเกิดขึ้นในจิต แต่อันที่จริงนั้นก็รวมอยู่เป็นกองเดียวกัน

คือจิตที่มีโลภโกรธหลง ย่อมเป็นจิตที่มีความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย

จิตที่โลภนั้นก็ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย จิตที่โกรธนั้นก็ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย

จิตที่หลงนั้นมี ๒ อย่าง คือดิ้นรนกระสับกระส่ายไปอย่างโง่ๆ คือด้วยความหลง

อีกอย่างหนึ่งก็ง่วงงุนหลับไหลไป

 

เพราะฉะนั้นเมื่อจับเอาอาการที่ชอบหรือชังหรือหลงก็เป็น โลภ โกรธ หลง

เมื่อจับเอาอาการที่ดิ้นรนไปดังกล่าวนั้นก็เรียกว่า ตัณหา

เพราะฉะนั้นจึงรวมอยู่เป็นอันเดียวกันนั่นแหละ และเมื่อปล่อยจิตให้เป็นไปตามกระแส

ของตัณหาหรือโลภโกรธหลงดังกล่าวนี้ก็เป็น อนุโสตะคามี

( เริ่ม ๑๒๕/๒ ) ผู้ปฏิบัติไปตามกระแสของกิเลสเหล่านี้

กิเลสย่อมนำให้ปฏิบัติชั่วปฏิบัติผิดต่างๆ เป็นบาปเป็นอกุศลเป็นทุจริตต่างๆ

 

ปฏิโสตะคามี ปฏิบัติทวนกระแสกิเลส

 

เพราะฉะนั้น จึงต้องปฏิบัติทวนกระแสของกิเลสเป็น ปฏิโสตะคามี

ปฏิบัติกลับกระแสของกิเลส หรือทวนกระแสของกิเลส

คือปฏิบัติดับระงับตัณหาหรือโลภโกรธหลง ไม่รับตัณหาหรือโลภโกรธหลงมาไว้ในจิตใจ

เผาตัณหาเผาโลภโกรธหลงที่เรียกว่า ตบะ

การบำเพ็ญตบะคือความเพียรของพราหมณ์นั้นเผาวัตถุต่างๆในภายนอก

แต่การบำเพ็ญตบะของพระพุทธศาสนานั้นคือเผากิเลสเผาตัณหาเผาโลภโกรธหลง

ให้ดับไปจากจิตใจ ไม่ให้จิตใจล่องลอยไปตามกระแสของกิเลส

แต่ให้ทวนกระแสของกิเลสดังกล่าวนั้นเป็น ปฏิโสตะคามี

 

ในการปฏิบัติทวนกระแสของกิเลสดังกล่าวนี้ เมื่อดับรำงับเผากิเลสได้แล้ว

ก็นำจิตให้เข้าสู่กระแสของธรรมะคือทางปฏิบัติที่ดีที่ชอบ คือทางศีลทางสมาธิทางปัญญา

หรือทางมรรคมีองค์ ๘ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเอาไว้

เมื่อทวนกระแสของกิเลสได้ และปฏิบัตินำจิตให้เข้าสู่กระแสของธรรมะได้ดังกล่าว

จนสามารถตั้งตัวได้ในกระแสของธรรมะ ไม่ตกจากกระแสของธรรมะ

ก็เรียกว่าเป็น ทิตัดโต ( ฟังไม่ชัด ) คือเป็นผู้ที่มีตนตั้งได้แล้วในกระแสของธรรมะ

 

และเมื่อตั้งตัวได้ดังกล่าว จนถึงละสัญโญชน์ได้ ๓

ก็ได้ชื่อว่าเป็น โสตาปันนะ ที่แปลว่าผู้ถึงกระแส คือกระแสธรรมะแล้ว

อาปันนะ ก็แปลว่าถึงแล้ว โสตะ ก็แปลว่ากระแสหมายถึงกระแสของธรรมะ

อันตรงกันข้ามกับกระแสของกิเลส รวมกันเป็น โสตาปันนะ

แปลว่าถึงแล้วซึ่งกระแสของธรรมะ เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นอริยะบุคคลขั้นแรก

นับเข้าในหมู่สงฆ์ในคำว่า สุปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ

หมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดีแล้ว

 

สติปัฏฐานในข้อกาย

 

การปฏิบัติในสติปัฏฐานคือตั้งสติกำหนดกายเวทนาจิตธรรม

เมื่อปฏิบัติไปโดยลำดับก็ปฏิบัติตั้งสติกำหนดกาย

และในข้อกายนี้ก็ยังจำแนกออกเป็นหลายข้อ เริ่มตั้งแต่ลมหายใจเข้าออก

เมื่อมีสติกำหนดลมหายใจเข้าออก ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนเอาไว้

มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก หายใจเข้ายาวก็ให้รู้ว่ายาว สั้นก็ให้รู้ว่าสั้น

หายใจเข้ายาวก็ให้รู้ว่ายาว หายใจออกยาวก็ให้รู้ว่ายาว

หายใจเข้าสั้นก็ให้รู้ว่าสั้น ออกสั้นก็ให้รู้ว่าสั้น

ตั้งสติว่า ตั้งสติสำเหนียกศึกษา คือสำเหนียกว่า

เราจักรู้กายทั้งหมดหายใจเข้า เราจักรู้กายทั้งหมดหายใจออก

ศึกษาคือสำเหนียกว่าเราจักรู้กายสังขารคือเครื่องปรุงกายทั้งสิ้นหายใจเข้า

เราจักรู้กายสังขารคือเครื่องปรุงกายทั้งสิ้นหายใจออก

เหมือนอย่างช่างกลึงเมื่อกลึงยาวก็รู้ว่ายาว กลึงสั้นก็รู้ว่าสั้น ฉะนั้น

หลักใหญ่ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้เกี่ยวแก่ลมหายใจเข้าออกในพระสูตรนี้ ก็มีเพียงเท่านี้

เป็นหลักที่ผู้ปฏิบัติพึงถือเป็นหลักใหญ่ในการปฏิบัติ เพราะเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเอง

และก็ได้มีคำสั่งสอนของอาจารย์ต่างๆอธิบายขยายความกันออกไป

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats