ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป103

สติ ธรรมะที่มีอุปการะมาก

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

* 

สิกขาของพระพุทธเจ้า ๓

เสขะ อเสขะ ๔

อุปการธรรม ๔

การอบรมสติสัมปชัญญะ ๕

สติ ธรรมะที่เป็นใหญ่ ๖

สติสัมปชัญญะในปัจจุบัน ๗

สติปัฏฐาน ๔ ๘

นี่แหละคือธรรมะ ๘

สติสัมโพชฌงค์ ธัมวิจยสัมโพชฌงค์ ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๓๒/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๓๓/๑ ( File Tape 103 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สติ ธรรมะที่มีอุปการะมาก

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

อันศีลสมาธิและปัญญานี้เป็นหลักปฏิบัติ

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้โดยเป็นสิกขาคือศึกษา อันได้แก่เป็นข้อที่พึงศึกษา

คือเรียนให้รู้ด้วยการฟัง ด้วยการอ่าน ด้วยการเพ่งพินิจพิจารณา

และทำความเข้าใจให้ถูกต้อง และก็ศึกษาปฏิบัติต่อไป

อันคำว่า สิกขา ซึ่งเป็นภาษาบาลี

และสันสกฤตว่า ศิกฺษา มาเป็นภาษาไทยก็นำมาใช้ว่า ศึกษา

และมักจะมีความเข้าใจว่าเป็นไปในภาคเล่าเรียน ซึ่งมักจะพูดต่อกันว่าศึกษาเล่าเรียน

แต่ความหมายของคำนี้ในทางพระพุทธศาสนาหมายถึงการปฏิบัติ

เป็นข้อหลักคือศึกษาปฏิบัติ แต่ก็ต้องเริ่มมาจากศึกษาเล่าเรียน

เพราะถ้าไม่ศึกษาเล่าเรียนก็ไม่สามารถจะมาศึกษาปฏิบัติได้

เพราะฉะนั้น คำนี้ในพุทธศาสนา คำว่า ศึกษา จึงหมายถึงเมื่อยังไม่รู้ก็เรียนให้รู้

และรู้แล้วก็ปฏิบัติ ซึ่งมุ่งถึงปฏิบัติเป็นข้อสำคัญของคำว่าศึกษา

เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวว่าสิกขาหรือศึกษาในทางพระพุทธศาสนา

จึงมีความหมายดังกล่าว

และในทางธรรมคือพุทธศาสนาก็ยังคงใช้คำว่าสิกขา อันเป็นภาษาบาลีดั้งเดิม

ดังเรียกว่าไตรสิกขา สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา

คือศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติให้เป็นศีลขึ้น ก็เรียกว่าสีลสิกขา

ศึกษาคือเล่าเรียนปฏิบัติให้เป็นสมาธิขึ้น ก็เรียกว่าจิตตสิกขา

ศึกษาปฏิบัติให้เป็นปัญญาขึ้นมา ศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติให้เป็นปัญญาขึ้นมา

ก็เรียกว่าปัญญาสิกขา

สิกขาของพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น ความสำเร็จศึกษา จึงอยู่ที่เล่าเรียนปฏิบัติ

ให้เป็นศีลขึ้นมา ให้เป็นสมาธิขึ้นมา และให้เป็นปัญญาขึ้นมา

แต่ว่าเพียงเท่านี้ก็ยังไม่จบศึกษาหรือสิกขาของพระพุทธเจ้า

จะต้องได้ผล คือความที่จิตใจปล่อยวางจากความยึดถือเกี่ยวเกาะ มีความบริสุทธิ์ใจ

มีความสะอาดทางใจ น้อยหรือมากตามควรแก่กำลังของศีลสมาธิปัญญา

เมื่อได้ผลคือความพ้นอันหมายถึงปล่อยวาง ไม่ยึดถือเกี่ยวเกาะ

มีความบริสุทธิ์สะอาดทางใจดั่งนี้แล้วจึงจะเป็นผลของการศึกษาหรือสิกขา

และเมื่อยังปล่อยวางไม่หมด ยังสะอาดบริสุทธิ์ไม่หมด ก็ยังไม่จบศึกษา

จะต้องปล่อยวางได้หมดสิ้น สะอาดบริสุทธิ์หมดสิ้น คือสำเร็จเป็นพระอรหันต์

ผู้สิ้นกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง เช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย จึงจะเรียกว่าจบสิกขาหรือจบศึกษา

เสขะ อเสขะ

เพราะฉะนั้น ทางพระพุทธศาสนาจึงได้จัดเรียกบุคคลผู้ที่กำลังศึกษาอยู่

หรือที่เรียกว่านักศึกษาต้องเป็นบุคคลตั้งแต่เป็นพระโสดาบันขึ้นไป

คือเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี

คือเป็นอริยบุคคลผู้ละกิเลสได้บางส่วนยังไม่หมดว่าเป็น เสขะ แปลว่านักศึกษา

และเมื่อละกิเลสและกองทุกข์ได้หมดสิ้นแล้วจึงจะเรียกว่า อเสขะ

ที่แปลว่าผู้ไม่ต้องศึกษาต่อไป คือจบศึกษา

เพราะฉะนั้นในเวลาบอก อนุสาสน์ ที่พระอุปัชฌาย์ได้บอกอนุสาสน์

จึงได้บอกไว้ในตอนท้ายว่า ให้ศึกษาในไตรสิกขา คือสีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา

ให้ยิ่งๆขึ้นไป จนกว่าที่จะสิ้นกิเลสอาสวะ คือกิเลสที่ดองจิตสันดานได้หมดสิ้น

อันหมายความว่าเมื่อปฏิบัติได้ถึงขั้นดังกล่าวนี้จึงจะจบศึกษา

นี้เป็นศึกษาหรือสิกขาทางพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้น ทุกๆบุคคลทั้งพระและทั้งคฤหัสถ์

เมื่อยังไม่สิ้นกิเลสและกองทุกข์ทั้งหมด ก็ต้องศึกษากันเรื่อยไป

ศึกษาในศีล ในสมาธิ ในปัญญา ปฏิบัติให้เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาขึ้นมา

ตามภูมิตามชั้นของการปฏิบัติ ซึ่งสรุปเข้าในพระพุทธโอวาสที่ว่า

ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส

เป็นข้อที่พึงปฏิบัติเรื่อยไป

อุปการธรรม

และในการปฏิบัตินี้ต้องอาศัยอุปการธรรม คือธรรมะที่เป็นอุปการะในการปฏิบัติ

เป็นต้นว่า สติ ขันติ สติก็คือความระลึกได้ ขันติก็คือความอดทน

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงสติไว้ว่ามีอุปการะมาก

พร้อมทั้งสัมปชัญญะคือความรู้ตัว ที่อยู่ในหมวด ๒ ในหนังสือนวโกวาท

นำด้วยธรรมที่มีอุปการะมาก ๒ อย่าง

สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว และขันติคือความอดทน

พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสสอนไว้ในพระโอวาทที่เป็นหัวข้อใหญ่ เริ่มด้วยขันติคือความอดทน

ที่ตรัสไว้ว่า ขันติคือความอดทนเป็นตบะ คือธรรมะเป็นเครื่องแผดเผากิเลสเป็นอย่างยิ่ง

เพราะฉะนั้น สติกับขันติทั้ง ๒ นี้ จึงเป็นอุปการธรรมอันสำคัญ

และนอกจากเป็นอุปการธรรมแล้ว ยังเป็นตัวธรรมปฏิบัติโดยตรงด้วย

คือทุกคนจะต้องอบรมจิตใจของตัวให้มีสติ และให้มีขันติ

ไม่ใช่ว่าสติและขันตินี้จะมามีขึ้นเฉยๆโดยไม่ต้องปฏิบัติ

แต่ว่าทุกคนก็ต้องมีสติมีขันติที่เป็นภาคพื้นจิตใจของแต่ละคนอยู่แล้วเหมือนกัน

แต่ว่ายังไม่เพียงพอ จะต้องอบรมให้ยิ่งขึ้นไป

การอบรมสติสัมปชัญญะ

และการอบรมสตินั้น สติคือความระลึกได้ ก็ต้องอบรมด้วยการที่มาหัดนึก

หัดกำหนดดูด้วยใจของตัวเอง ในข้อที่ควรกำหนดนึกกำหนดดูทั้งหลาย

เช่นว่า กำหนดนึกถึงการที่ทำไว้แล้ว คำที่พูดไว้แล้วได้ ว่าได้เคยทำอะไรไว้ ได้เคยพูดอะไรไว้

และในข้อนี้ก็มีความหมายถึงความจำด้วย เช่นว่าวันนี้เมื่อเช้านี้ได้เรียนธรรมะเรื่องอะไร

ได้ปฏิบัติธรรมะอะไร มาถึงตอนเย็นก็ระลึกนึกตรวจสอบดูจิตใจของตัวเอง

ว่าเรียนอะไรไว้ ทำอะไรไว้ พูดอะไรไว้ การปฏิบัติดั่งนี้ก็เป็นการที่หัดทำให้เกิดความจำดี

บางทีอาจจะนึกไม่ได้ ก็ต้องมีการจดเอาไว้ เมื่อจดเอาไว้ก็ต้องมาอ่านทบทวน

และเมื่ออ่านทบทวนแล้วก็กำหนดจำไว้ให้ได้ที่ใจของตัวเอง

หัดปฏิบัติอยู่ดั่งนี้เสมอจะทำให้มีสติคือความระลึกได้ ถึงการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้

อันหมายตลอดถึงจำถึงข้อที่เราเรียนมาแม้นานได้ ทำให้มีความจำดีขึ้น

เพราะฉะนั้นสตินี้ก็เป็นการที่ช่วยทำให้สัญญา คือความจำหมายในสิ่งต่างๆที่ประสบพบผ่าน

อันเป็นข้อที่ควรกำหนดจดจำไว้ ทำให้กำหนดจดจำได้ กำหนดจดจำในสมุด

แล้วก็มากำหนดจดจำในใจ ให้กำหนดจดจำไว้ได้ที่ใจของตัวเอง ดั่งนี้เป็นการหัดทำสติ

และเมื่อหัดทำสติดั่งนี้ก็จะเป็นการหัดทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัวไปพร้อมกัน

เพราะว่าเมื่อมีสติความระลึก ความกำหนด

ก็ย่อมจะมีความรู้ขึ้นมาในข้อที่กำหนดได้ระลึกได้นั้น

สติ ธรรมะที่เป็นใหญ่

( เริ่ม ๑๓๓/๑ ) เพราะฉะนั้น คำว่าสติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว

จึงอาจที่จะกล่าวรวมกันว่าความระลึกรู้ ระลึกก็เป็นสติ สัมปชัญญะก็เป็นรู้

เพราะฉะนั้น ธรรมะคู่นี้จึงเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่กันประกอบกันดั่งนี้

พระพุทธเจ้าตรัสว่าธรรมะคู่นี้คือสติสัมปชัญญะ เป็นธรรมมีอุปการะมาก คือช่วยมาก

และนอกจากนี้ยังตรัสยกไว้โดยเฉพาะสติ ว่าเป็นธรรมะที่เป็นกำลัง เป็นธรรมะที่เป็นใหญ่

ทุกๆคนที่สามารถพูดได้ เรียนรู้อะไรได้ ก็อาศัยสตินี้เอง

เพราะว่าคำพูดที่พูดนี้เป็นภาษาที่พ่อแม่สอนมาตั้งแต่รู้เดียงสา

คราวละคำสองคำก็หัดพูดขึ้นมา จนรู้เดียงสามากขึ้นก็พูดได้มากขึ้น

ทำไมจึงพูดได้ ก็เพราะว่าระลึกได้ นึกได้ อยากจะพูดถึงเรื่องนี้ก็นึกได้ถึงภาษาที่จะพูด

ว่าต้องพูดอย่างนี้ เช่นว่าจะไปก็นึกได้ว่าพูดว่าจะไป ดั่งนี้เป็นต้น

ถ้าหากว่านึกไม่ได้ว่าพูดยังไง ก็ไม่สามารถจะพูดได้

เหมือนอย่างว่าไม่ได้หัดเรียนหัดพูดภาษาต่างประเทศ ก็พูดไม่ได้

หรือแม้ว่าภาษาของตนเองเมื่อไม่ได้พูดนานๆ ไม่ได้นึกถึง ลืมไป

ก็พูดไม่ได้พูดไม่ถูกเหมือนกัน ทำไมจึงลืมก็เพราะว่าไม่ได้ใช้สติคือความระลึก

หรือความนึกถึงอยู่บ่อยๆ ก็ลืมไปได้

แม้ในการแสดงทางกิริยามารยาทต่างๆ ในการที่จะนุ่งจะห่ม จะทำอะไรต่างๆ

ก็ต้องมีสติคือระลึกได้ว่าจะต้องเดินอย่างนี้ จะต้องนั่งอย่างนี้

จะต้องแสดงกิริยาอาการอย่างนี้ จึงทำได้ทำถูก

ถ้าไม่มีสติระลึกได้แล้วก็ทำไม่ถูก เช่นเดียวกับพูดไม่ถูก

เพราะฉะนั้นสติที่มีลักษณะดังกล่าวมานี้จึงเป็นธรรมะที่มีอุปการะมาก

เป็นธรรมะที่เป็นกำลัง และก็เป็นใหญ่เหนือความลืม

เพราะถ้าหากว่าไม่มีสติดั่งนี้อยู่ก็ทำอะไรไม่ถูก และหากไม่มีสติดั่งนี้อยู่ก็จะลืม

เพราะฉะนั้นสติจึงเป็นกำลังทำให้ทุกๆคนสามารถทำได้พูดได้อยู่ในปัจจุบัน

แสดงกิริยาอาการใดๆได้ถูกต้องอยู่ในปัจจุบันไม่ผิดพลาด

และเป็นใหญ่เหนือความลืม คือทำให้ไม่ลืม สติจึงเป็นธรรมะอันสำคัญดั่งนี้

สติสัมปชัญญะในปัจจุบัน

และนอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังตรัสสอนให้มีสติและสัมปชัญญะอยู่ในปัจจุบัน

คือระลึกอยู่ถึงตนเองในปัจจุบัน เมื่อจะเดิน จะยืน จะนั่ง จะนอน

ก็ระลึกนึกว่าเราจะเดิน จะยืน จะนั่ง จะนอน

และก็รู้ตัวอยู่ว่าเรากำลังเดิน เรากำลังยืน เรากำลังนั่ง เรากำลังนอน

คือมีสติรักษาตัวอยู่เสมอ

และนอกจากนี้ยังมีสติรักษาใจ กล่าวคือเมื่อใจคิดอย่างไรก็มีสติระลึกได้

แล้วก็รู้อยู่ว่าเรากำลังคิดอย่างนี้ และก็ทำให้ระลึกได้ถึงข้อที่มารดาบิดาสั่งสอน พระสั่งสอน

ว่าอะไรดีอะไรชั่ว ตั้งแต่น้อยๆออกไปโดยลำดับ ดั่งที่พ่อแม่ ครูอาจารย์ พระ อบรมสั่งสอน

ก็นึกได้ และเมื่อรู้ว่าเรากำลังคิดอย่างนี้ ก็มีสติรู้ได้ว่าคิดอย่างนี้ถูก คิดอย่างนี้ผิด

นี่คือสติในปัจจุบันที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ ให้ทุกๆคนมีความรู้

ตามดูอยู่ซึ่งความเป็นไปของกายของใจของตัวเองในปัจจุบัน

สติปัฏฐาน ๔

จึงมาถึงสติปัฏฐาน ๔ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้

ให้มีสติตามดูกายของตัวเอง ตามดูเวทนาของตัวเอง

ตามดูจิตใจของตัวเอง ตามดูธรรมะคือเรื่องในจิตใจของตัวเอง

คือว่ามีสติตามดูกายของตัวเองนั้น ก็คือมีสติตามดูว่ากายของเราเป็นอย่างไร

เมื่อมีสติคอยตามดูอยู่ดั่งนี้ ก็ย่อมจะเห็นว่ากายของเรานั้น

กำลังเดินบ้าง ยืนบ้าง นั่งบ้าง นอนบ้าง ในบัดนี้ก็กำลังนั่งอยู่ แล้วก็ไม่ใช่นั่งเปล่าๆ

ยังหายใจเข้าหายใจออกอยู่ ไม่มีเวลาหยุด ดูเข้ามาให้รู้

แล้วก็ดูใจของตัวเอง ว่าใจของตัวเองนั้นก็กำลังกำหนดดูกายอยู่อย่างนี้

และเมื่อดูกายพร้อมทั้งดูใจที่กำลังเป็นไปอยู่ในปัจจุบันดั่งนี้

ก็ย่อมจะดูเห็นถึงสุขทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ของกายใจที่เป็นไปอยู่ตลอดเวลา

และย่อมจะทำให้ตัวใจเองที่เป็นตัวสำคัญของบุคคลนั้นโผล่ขึ้นมาให้รู้ได้

ว่าใจตัวเป็นยังไง ใจปลอดโปร่ง หรือไม่ปลอดโปร่ง

ใจกำลังชอบอะไร ใจกำลังไม่ชอบอะไร โกรธอะไร ใจกำลังหลงใหลอะไร

ใจมีสมาธิหรือใจไม่มีสมาธิ ใจยึดอะไรหรือไม่ยึดอะไร ก็ย่อมรู้ใจของตัวเอง

นี่แหละคือธรรมะ

และเมื่อใจของตัวเองปรากฏขึ้น เรื่องในใจก็จะโผล่ขึ้นมา

เพราะความเป็นไปในใจนั้นเนื่องอยู่กับเรื่องในใจที่บังเกิดขึ้น ที่ผุดขึ้นมา

เป็นเรื่องนั่นบ้าง เรื่องนี่บ้าง เรื่องโน่นบ้าง พร้อมทั้งอาการของใจที่เป็นฝ่ายดีบ้าง

ที่เป็นฝ่ายไม่ดีบ้าง เช่นว่า เป็นความโลภอยากได้บ้าง ความโกรธบ้าง ความหลงบ้าง

เมื่อดูเข้ามาดั่งนี้แล้วอะไรโผล่ขึ้นมาก็จะมองเห็น ว่านี่โลภ นี่โกรธ นี่หลง ในใจของตัวเราเอง หรือว่าส่วนดีเช่นความเมตตาความกรุณา ความปสาทะความเลื่อมใส

สติความระลึกได้ สมาธิความตั้งใจมั่น ความรู้อันถูกต้องปลอดโปร่ง ซึ่งแปลว่าเป็นส่วนดี

ก็จะรู้ได้ ก็จะรู้ว่าใจของเรานี้กำลังมีเรื่องที่ดีอยู่ในใจ กำลังมีเรื่องที่ไม่ดีอยู่ในใจ

เรื่องที่มีในใจนี่แหละคือธรรมะ ถ้าฝ่ายดีก็เป็นกุศลธรรม ฝ่ายชั่วก็เป็นอกุศลธรรม

ต้องใช้สติความระลึกกำหนดดูที่กายก่อน และเมื่อเห็นกายดังกล่าวก็จะเห็นเวทนา

ก็จะเห็นใจเอง แล้วก็จะเห็นเรื่องในใจ ก็จะได้ความรู้ว่านี่เป็นกุศล นี่เป็นอกุศล

และสติที่เป็นตัวกำหนดนี้ กำหนดก็รู้ รู้ตัวว่าเป็นยังไง

สติสัมโพชฌงค์ ธัมวิจยสัมโพชฌงค์

กำหนดเป็นสติรู้ตัวนั่นก็เป็นสัมปชัญญะประกอบกันอยู่ดั่งนี้

พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ทำสติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็คือให้ใช้สติกำหนดเข้ามาดูที่ตัวเอง

ก็จะพบกาย พบเวทนา พบจิต พบธรรม ในตัวเอง ดั่งนี้นั่นเอง นี่ก็เป็นสติปัฏฐาน

และเมื่อได้สติปัฏฐานดั่งนี้แล้วก็จะได้ สติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้ คือสติที่ยิ่งขึ้นไป

คือว่าสติที่กำหนดดู เข้ามารู้ที่ตัวเองให้รู้กายรู้ใจของตัวเองดั่งนี้

ก็เป็นทางแห่งความรู้ที่ยิ่งขึ้นไป คือเป็นความรู้ที่เรียกว่า ความรู้วิจัย

วิจัยเรื่องในจิตของตัวเองนี่แหละ

เพราะดังกล่าวแล้วว่าเมื่อสติระลึกกำหนดดูกาย ก็จะเห็นกาย ก็จะเห็นเวทนา

ก็จะเห็นจิตใจ ก็จะเห็นธรรมะในจิตใจ คือเรื่องในจิตใจว่าเป็นอย่างไร

สติที่กำหนดดั่งนี้เป็นตัวสติ และความรู้ที่จะได้ความรู้ ก็วิจัยเรื่องในใจของตัวเองนั่นเอง

ว่าเรื่องในใจของตัวเรานี้ เรื่องอย่างนี้เป็นอกุศลธรรม เช่นว่าโลภอยากได้อะไรของเขาบ้าง

โกรธเขาบ้าง หลงใหลอะไรบ้าง ก็เป็นอกุศลธรรม

เรื่องอย่างนี้ในใจของตัวเองที่เป็นฝ่ายดีเช่น เป็นเมตตา เป็นกรุณา

เป็นฉันทะความพอใจในการเล่าเรียนศึกษา ในการที่จะละชั่วทำดี

อะไรเป็นต้นเหล่านี้ก็เป็นกุศลธรรม

วิจัยแยกแยะเรื่องในใจของตัวเองได้ว่า นี่เป็นอกุศลธรรม นี่เป็นกุศลธรรม

ฝ่ายอกุศลธรรมนั้นมีโทษ ก่อให้ความเดือดร้อน

ส่วนฝ่ายที่เป็นกุศลธรรมนั้นเป็นคุณ ก่อให้เกิดความสุข

ก็เป็นอันว่าได้ ธัมวิจยสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือความจำแนกแจกธรรม

ไม่ใช่ไปจำแนกแจกธรรมที่ไหน จำแนกแจกธรรมในจิตใจของตัวเองนี้เองให้รู้

ให้รู้จักว่าอะไรเป็นอะไร และเมื่อได้ความรู้ที่เริ่มเป็นปัญญาขึ้นดั่งนี้แล้ว

ก็จะทำให้เกิดวิริยะคือความเพียร เพียรที่จะละเสียซึ่งความชั่วต่างๆ ซึ่งอกุศลธรรมต่างๆ

เพียรที่จะประกอบกระทำกุศลธรรมความดีต่างๆให้บังเกิดขึ้น

ยกตัวอย่างเช่นว่าถึงเวลาที่จะไปโรงเรียน ถึงเวลาที่จะทำงาน

ถึงเวลาที่จะอ่านหนังสือ ดูหนังสือ ทบทวนการเรียน หรือว่าคิดอ่านการงานที่จะทำต่อไป

ก็เกิดความเกียจคร้านขึ้นมา หรือไม่เช่นนั้นก็อยากไปเที่ยว

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็มีสติกำหนดเข้ามาดู ดูว่าให้รู้จักว่าในขณะที่มีความคิดดั่งนี้

ร่างกายเองก็กระสับกระส่าย และเวทนาก็ไม่เป็นสุข

คือมีความกระวนกระวาย อยู่ไม่สุข เป็นทุกข์ จิตใจเองก็กระวนกระวาย

และเรื่องในใจเองนั้นก็เป็นความคิดที่เป็นความเกียจคร้าน ที่เป็นความอยากเที่ยว

อะไรต่างๆเหล่านี้ที่เป็นส่วนที่ไม่ถูกไม่ชอบ

เมื่อหากมีสติกำหนดเข้ามาดูเสียดั่งนี้ มีความรู้ตัวว่ากำลังคิดอย่างนี้

ก็จะได้ปัญญาขึ้นมาว่านี่เป็นความคิดผิดเสียแล้ว คิดเที่ยวนี่คิดผิด เกียจคร้านก็ผิด

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะทำให้ความคิดที่ผิดนั้นหายไป เกิดเป็นความคิดที่ดีขึ้นแทน

หรือว่าเร่งเร้าให้เกิดความคิดที่ดีขึ้นมา สติส่งเสริมให้เกิดความคิดที่ดีขึ้นมา

คือว่าให้มีความขยันหมั่นเพียร ให้เล่าเรียน ให้ขยันเรียนให้ขยันทำงานตามหน้าที่

เหล่านี้เป็นต้น หรือว่าขยันหมั่นเพียรในการที่จะละชั่วทำดีต่างๆ อันเป็นความประพฤติธรรมะ

เหล่านี้ก็เป็นวิริยะคือความเพียร จะบังเกิดขึ้นสืบต่อมาจากข้อธรรมวิจัย

คือความที่วิจัยจำแนกแจกธรรมะในใจของตัวเองว่าให้รู้ว่าอะไรดีอะไรชั่ว

แล้วจะเกิดความเพียรละส่วนที่ชั่ว ทำส่วนที่ดีให้บังเกิดขึ้น

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะได้รับผลเป็นตัวปีติคือความอิ่มใจ อิ่มใจในการที่ชำระจิตใจของตัวเองได้

ทำให้จิตใจที่ละชั่วทำดีนั้นเป็นจิตใจที่สะอาดบริสุทธิ์ขึ้น ความอิ่มใจก็บังเกิดขึ้น

เหมือนอย่างร่างกายที่สกปรก อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดแล้ว ก็สบาย

จิตใจก็เหมือนกัน เมื่อชำระให้สะอาดจากส่วนที่ชั่ว มีส่วนที่ดีอยู่แล้ว ก็จะทำให้จิตใจนี้ผ่องใส

เป็นความอิ่มใจ อิ่มเอิบ แล้วก็จะได้ความสงบ ใจก็จะตั้งมั่นในการที่จะทำดียิ่งขึ้น

และใจเองก็จะปล่อยวางส่วนที่ชั่วได้ไปโดยลำดับมีความวางชั่วได้ เฉยต่อสิ่งยั่วเย้าที่ชั่วได้

สามารถที่จะเพ่งพินิจประกอบกระทำการเล่าเรียน ประกอบกระทำการงานให้ดียิ่งขึ้นไปได้

อันอยู่ในข้อว่าอุเบกขา

เป็นอันว่าสตินี้เองทำให้เกิดโพชฌงค์ได้ทุกข้อ

เพราะฉะนั้นสตินี้เองจึงเป็นธรรมะสำคัญมากในพุทธศาสนา

ที่ทุกคนควรจะต้องอบรมให้บังเกิดมีขึ้น ก็จะได้สติที่เป็นอุการะมาก

สติที่เป็นกำลัง สติที่เป็นสติปัฏฐาน สติที่เป็นโพชฌงค์ ตลอดจนถึงสติที่จะเป็นตัวมรรคต่อไป

ที่มีหน้าที่กำจัดกิเลสและกองทุกข์ได้ตามสมควรแก่ความปฏิบัติ

แต่ทั้งนี้ต้องมีขันติความอดทนในการที่จะปฏิบัติในสติดังกล่าวนี้ได้

ถ้าไม่มีความอดทนต่อหนาวร้อนลำบากตรากตรำ ไม่สามารถจะอดทนต่ออารมณ์

และต่อกิเลสต่างๆ ต่อใจของตัวเองที่รุนแรงในทางไม่ดีได้แล้ว การปฏิบัติทำสติก็เป็นไปได้ยาก

จึงต้องมีขันติความอดทนนี้สนับสนุนอยู่ตลอดเวลาคู่กันไป

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

การปฏิบัติธรรมที่เข้าถึงธรรม

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

สัมมาสติ มิจฉาสติ ๒

ปรกติจิตของสามัญชน ๔

กุศลวาสนา อกุศลวาสนา ๖

สมมติ บัญญัติ ๗

การปฏิบัติในขั้นปัญญา ๘

 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๓๓/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๓๓/๒-๑๓๔/๑ ( File Tape 103 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

การปฏิบัติธรรมที่เข้าถึงธรรม

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสติปัฏฐานทั้ง ๔

ซึ่งเราทั้งหลายถือเป็นหลักปฏิบัติทางจิตตภาวนาตลอดมาถึงทุกวันนี้

และสติปัฏฐานเป็นหลักใหญ่ในการปฏิบัติธรรม

และการปฏิบัติธรรมนั้นก็ต้องมีจิตตภาวนาอบรมจิต

จึงจะเป็นการปฏิบัติธรรมที่เข้าถึงธรรมได้ อันต้องอาศัยสติเป็นข้อสำคัญ

และสตินั้นเมื่อกล่าวโดยสรุปก็มี ๒ อย่าง คือ สัมมาสติ สติชอบ และ มิจฉาสติ สติผิด

 

สัมมาสติ มิจฉาสติ

อันคำว่า สติ นั้นที่แปลว่าความระลึกได้ ความระลึกรู้ ความกำหนดของใจ

ก็เป็นธรรมชาติธรรมดาที่ทุกคนมีอยู่ตั้งแต่เกิดมา

และทุกคนก็ต้องอาศัยสตินี้เองในการปฏิบัติ การกระทำทั้งหลาย

เป็นต้นว่าในการ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ทั้งปวง

ต้องอาศัยสติความระลึกได้ทั้งนั้น ถ้าไม่มีสติก็ไม่สามารถจะทำได้ถูกต้อง

แต่ว่าสติที่มีทั่วไปอันเป็นธรรมชาติธรรมดานี้อาจจะเป็นมิจฉาสติได้ในเมื่อมีกิเลสชักนำ

คือมีกิเลสกอง โลภะ โทสะ โมหะ โลภโกรธหลง หรือราคะโทสะโมหะชักนำ

ก็นำให้ระลึกไปผิด กำหนดใจไปผิด

อีกอย่างหนึ่งทุกคนย่อมมีกิเลสอย่างละเอียดที่เรียกว่า อาสวะอนุสัย

คือกิเลสที่นอนจมหมักหมมดองจิตใจอยู่เป็นพื้นอยู่ด้วยกัน

และเมื่อทุกคนได้ประสบอารมณ์ คือจิตใจนี้เองของทุกคนรับเรื่องที่ผ่านเข้ามา

ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ อันเป็นเรื่องที่จิตคิด จิตดำริ

จิตหมกมุ่นถึง เรียกว่าอารมณ์ เมื่อจิตมีอารมณ์จึงทำให้อาสวะอนุสัยที่หมักดอง

นอนจมเป็นตะกอนอยู่ในจิตส่วนลึกฟุ้งขึ้นมา ( เริ่ม ๑๓๓/๒ ) ปรากฏเป็นโลภโกรธหลง

หรือราคะโทสะโมหะ ซึ่งมีอาการเป็นตัณหาความทะยานอยากของจิตใจไปต่างๆ

เพราะฉะนั้น จึงนำให้ความระลึก ความกำหนดนึกของจิตใจ

อันเรียกว่าสตินี้เป็นมิจฉาสติ สติที่ผิด

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสให้อบรมจิตเพื่อให้เกิดเป็นสัมมาสติคือระลึกชอบ

คือระลึกไปในอารมณ์ก็คือเรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึงนั่นแหละ

อันเป็นอารมณ์ฝ่ายกุศล อารมณ์ที่ดี ตรงกันข้ามกับอารมณ์ของมิจฉาสติ

ดังที่เรียกว่า กามคุณารมณ์ อารมณ์คือกามคุณ ซึ่งปรกติก็มี ๕ สำหรับที่เป็นส่วนรูป

คือเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย

อันนำให้เกิดราคะคือความติดใจยินดี เกิดโลภะความโลภอยากได้

แต่เมื่อได้รับอารมณ์ที่ตรงกันข้ามก็เป็นชนวนให้เกิดโทสะ

ความกระทบกระทั่งหงุดหงิดโกรธแค้นขัดเคือง

หรือแม้ว่าไม่ประสบกับอารมณ์ที่เด่นชัดในทางก่อให้เกิดราคะ โลภะ หรือโทสะดังกล่าว

ที่เรียกว่าเป็นอารมณ์ที่เป็นกลางๆ ก็มิได้จับขึ้นมาพิจารณาให้เห็นสัจจะคือความจริง

ของอารมณ์นั้น ผ่านเลยไปๆ ดั่งนี้ ก็เรียกว่าเป็นโมหะคือความหลง

ปรกติจิตของสามัญชน

เพราะฉะนั้น เมื่อปล่อยให้จิตระลึกนึกคิดกำหนดอยู่ในอารมณ์ฝ่ายอกุศล ดั่งนี้

จึงเป็นไปเพื่อเพิ่มอาสวะอนุสัย คือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งสามกองดังกล่าวนั้นให้มากขึ้น

เพราะฉะนั้น ปรกติของจิตสามัญชนทั้งหลายจึงเรียกตามภาษาอภิธรรมว่า กามาพจร

ท่องเที่ยวไปในกาม หรือว่าตกอยู่ในกาม มีกามเป็นอาลัยคือที่อาศัย

เหมือนอย่างปลาที่มีน้ำเป็นที่อาศัย อาลัยของปลาคือน้ำ

อาลัยของจิตก็คือกามคุณารมณ์ อันเป็นกามาพจรดังกล่าว

สามัญชนย่อมตกอยู่ในกามาพจรดังกล่าวนี้

เพราะฉะนั้นจึงมีจิตใจมากด้วยนิวรณ์ทั้งหลาย

อันปรากฏเป็นกามฉันท์ พอใจรักใคร่ในกามบ้าง

เป็นพยาบาทหงุดหงิด ขัดเคือง โกรธแค้น มุ่งหมายล้างผลาญบ้าง

ถีนมิทธะง่วงงุนเคลิบเคลิ้มบ้าง อุทธัจจะกุกกุจจะฟุ้งซ่านรำคาญบ้าง

วิจิกิจฉาเคลือบแคลงสงสัยบ้าง ทำให้จิตฟุ้งซ่านไม่อาจที่จะสงบได้โดยง่าย

อันความไม่สงบของจิตนี้ ผู้ไม่ปฏิบัติธรรมะอาจจะไม่รู้สึก

แต่เมื่อมาปฏิบัติธรรมะคือทำกรรมฐาน เช่นกำหนดลมหายใจเข้าออก

รวมจิตให้กำหนดอยู่รู้อยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกของตนเอง

จึงจะรู้ว่าจิตใจนี้รวมเข้ามายาก เดี๋ยวก็ออกไปนั่น เดี๋ยวก็ออกมานี่

กำลังที่สวดมนต์อยู่ตั้งใจจะให้จิตอยู่กับถ้อยคำที่สวด อยู่กับบทที่สวด

ก็มักจะไม่ค่อยได้ ปากสวดแต่ว่าจิตไม่สวด จิตท่องเที่ยวไปที่อื่น

เมื่อรู้สติรู้ตัวขึ้นมาก็นำจิตกลับเข้ามาใหม่ และจิตก็ออกไปอีก

บางทีจิตออกไปโดยที่ไม่รู้ตัวเอง ออกไปสักครู่หนึ่งจึงรู้ก็มี แต่ปากก็ยังสวดไป

แต่ว่าบุคคลผู้สวดนั้นเมื่อจิตออกไปแล้วก็ไม่รู้ว่าสวดอะไรไปบ้าง ปากว่าไปได้แต่ว่าจิตไม่รู้

นี้คืออาการของจิตที่เป็นกามาพจร ที่ฟุ้งซ่านออกไปอยู่ได้เสมอดั่งนี้

จึงไม่ได้สมาธิไม่ได้ปัญญา

พระพุทธเจ้าจึงสอนให้ปฏิบัติในสัมมาสติ สติชอบ

ก็คือให้มีสติระลึกไปในอารมณ์ที่เป็นฝ่ายกุศล

อันตรงกันข้ามกับอารมณ์ที่จิตนอนจมอยู่ อาศัยอยู่ อันเป็นกามาพจรดังกล่าวนั้น

เช่นยกตัวอย่างกำหนดลมหายใจเข้าออกดังกล่าวมานั้น

เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมะ ก็คือการปฏิบัติที่ทำสัมมาสติให้บังเกิดขึ้นนั้นเอง

และจึงจะรู้ว่าเมื่อทำสัมมาสติจิตใจของตนเองนั้นดิ้นรนเพียงไร กวัดแกว่งเพียงไร

แต่เมื่อไม่ปฏิบัติธรรมก็ย่อมไม่รู้

เหมือนอย่างปลาอยู่ในน้ำก็แหวกว่ายไปในน้ำ

จิตที่อยู่ในกามคุณารมณ์ก็แหวกว่ายไปใน กามา กามคุณารมณ์

แล้วก็มีความสุขหรือความสบาย หรือเมื่อมีความทุกข์ก็มีความสบายเข้ามาแก้

จึงไม่รู้สึกว่าจิตดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายเพียงไร

แต่เมื่อมาให้ปฏิบัติกรรมฐานจึงจะรู้สึกว่าจิตนี้ดิ้นรนมาก กวัดแกว่งมาก ทำสมาธิได้ยาก

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเปรียบว่าเหมือนอย่างปลาที่จับขึ้นมาจากน้ำ แล้ววางไว้บนบก

ปลาก็ย่อมดิ้นเพื่อที่จะลงน้ำ และเมื่อลงน้ำได้แล้วก็หยุดดิ้น แหวกว่ายไปในน้ำ

อันเป็นอาลัยคือที่อาศัยของปลา

จิตก็เหมือนกัน เมื่อจับยกขึ้นจากอาลัย

คือที่อาศัยของจิต ที่เป็นพื้นกามาพจรดังกล่าว มาสู่กรรมฐานเพื่อสัมมาสติ

ก็ดิ้นเพื่อที่จะได้กลับไปสู่อาลัย คือกามคุณารมณ์อันเป็นที่อยู่อาศัย

แต่ว่าจิตนี้ไม่เหมือนอย่างปลา ซึ่งมีน้ำเป็นอาลัยคือที่อาศัยแต่เพียงอย่างเดียว

ส่วนจิตหาได้มีอาลัยคือกามคุณารมณ์เป็นที่อาศัยแต่เพียงอย่างเดียวไม่

เพราะจิตนี้เป็นธรรมชาติที่ปภัสสรคือผุดผ่อง

เป็นธาตุรู้ รู้อะไรๆ คิดอะไรๆได้ และเป็นธรรมชาติที่น้อมไปได้

การที่เป็นกามาพจรก็เพราะว่าจิตน้อมไปมากในกามา กามคุณารมณ์

เพราะฉะนั้นจึงมีความคุ้นเคยอยู่ในกามคุณารมณ์ เรียกว่าอยู่กับกามคุณารมณ์มานาน

อยู่กับกามคุณารมณ์มาก โดยมาก อยู่กับกามคุณารมณ์บ่อยๆ

ฉะนั้นเมื่อผู้ปฏิบัติธรรมะมีสติความระลึกได้ในฝ่ายอารมณ์ที่เป็นกุศล คือกรรมฐาน

มีความรู้ตัวอยู่ มีความเพียรไม่ทิ้งความเพียร ปฏิบัติอยู่บ่อยๆในกรรมฐาน

ทำให้มากในกรรมฐาน และทำให้อยู่นานในกรรมฐาน จิตก็จะน้อมมาสู่สัมมาสติ

สู่กรรมฐานอันเป็นฝ่ายกุศล สู่อารมณ์ของกรรมฐาน อารมณ์ของสัมมาสติอันเป็นฝ่ายกุศลได้

สามารถที่จะละทิ้งอาลัยซึ่งกามคุณารมณ์ อันเป็นกามาพจร

มาอยู่ในภูมิชั้นของจิตอันประกอบด้วยสัมมาสติ สัมมาสมาธิทางฝ่ายกุศลได้

 

กุศลวาสนา อกุศลวาสนา

และเมื่อน้อมจิตให้เข้ามาอยู่ในสัมมาสติสัมมาสมาธิได้แล้ว

จิตก็ไม่พอใจที่จะน้อมไปในฝ่ายกามาพจร เพราะว่าน้อมมาอยู่ตัวในฝ่ายกุศลได้แล้ว

ก็ทิ้งอกุศลได้ การที่ปฏิบัติน้อมจิตมาให้อยู่ในฝ่ายกุศลได้อยู่ตัวนี้เรียกว่า วาสนา

ก็คือความอยู่ตัว อยู่ตัวในฝ่ายกุศล และอันที่จริงนั้น คำว่าวาสนาคือความอยู่ตัวนี้

ก็ใช้ได้ในทางอกุศลเหมือนกัน อยู่ตัวในฝ่ายอกุศลก็เป็น อกุศลวาสนา

อยู่ตัวในฝ่ายกุศลก็เป็น กุศลวาสนา

เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมะจึงต้องพยายามปฏิบัติทำสัมมาสติสัมมาสมาธิ

อันเป็นไปเพื่อสัมมาทิฏฐิหรือสัมมัปปัญญาอยู่เสมอๆบ่อยๆ ทำให้มาก ทำให้อยู่ได้นานขึ้นๆ

จนถึงจิตน้อมมาอยู่ตัวในฝ่ายกุศลเป็นกุศลวาสนา

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติธรรมะก็ย่อมจะรู้สึกตัวว่าปฏิบัติในสมาธิได้ง่าย

ทำในสัมมาสติได้ง่าย และการปฏิบัติธรรมดังกล่าวนั้นก็คือการปฏิบัติในสติปัฏฐานนั้นเอง

คือปฏิบัติตั้งสติ ตั้งสัมมาสติ ให้กำหนดกาย กำหนดเวทนา กำหนดจิต กำหนดธรรม

ทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นที่ประมวลของอารมณ์แห่งสัมมาสติทั้งหมด อันตั้งต้นด้วยฝ่ายสมถะ

ทำใจให้สงบเป็นสมาธิ และต่อไปจนถึงทางปัญญาหรือวิปัสสนา

อบรมให้เกิดปัญญา เห็นจริงรู้แจ้ง หรือเห็นแจ้งรู้จริง

เพราะฉะนั้นสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ จึงเป็นที่ตั้งของสติ ที่ตั้งของปัญญา

ตลอดจนถึง วิชชาวิมุติ อันเป็นผลแห่งการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้นจึงสมควรที่จะปฏิบัติธรรมะ ด้วยการหัดตั้งสติไว้ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม

ซึ่งเมื่อรวมความเข้ามาแล้วก็คือ ในสิ่งที่สมมติบัญญัติว่าเป็นอัตภาพ เป็นตัวเรานี้เอง

 

สมมติ บัญญัติ

ตัวเรานี้เป็นสมมติบัญญัติว่าเป็นเรา เป็นบุคคลนั้นเป็นบุคคลนี้

เป็นชายเป็นหญิง เป็นนั่นเป็นนี่ และก็เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือว่าเป็นตัวเราจริงๆเสียด้วย

เพราะฉะนั้นเมื่อมีความยึดถือว่าเป็นตัวเราจริงๆ จึงเป็นการยึดถืออยู่ในสมมติบัญญัติ

ดังที่กล่าวมานั้น ซึ่งสมมติบัญญัตินั้นอันที่จริงไม่มีจริงตามที่สมมติบัญญัติ

แต่ว่ามีตามที่สมมติบัญญัติ เช่นว่า สมมติบัญญัติว่าต้นไม้

เช่นทุกคนเมื่อเห็นต้นไม้ก็ย่อมจะรู้จักว่าต้นไม้ และถ้าจะรู้จักชื่อก็ย่อมจะรู้จักว่า

ต้นมะม่วง ต้นขนุน ต้นไม้อย่างนั้นต้นไม้อย่างนี้

คำว่าต้นไม้หรือว่าต้นมะม่วงเป็นต้นนั้นเป็นสมมติ คือเป็นถ้อยคำที่สำหรับรู้กัน

สำหรับเรียกกัน เป็นบัญญัติคือเป็นถ้อยคำที่บัญญัติขึ้น ที่แต่งตั้งขึ้น

มุ่งถึงเป็นสิ่งที่บัญญัติคือแต่งตั้งขึ้นก็เรียกว่าบัญญัติ มุ่งถึงสำหรับที่จะให้รู้กันก็เรียกว่าสมมติ

แต่อันที่จริงนั้นต้นมะม่วงจริงๆไม่มี ต้นขนุนจริงๆไม่มี หรือต้นไม้จริงๆก็ไม่มี

คือไม่มีต้นไม้ ไม่มีต้นมะม่วง ไม่มีต้นขนุนเป็นต้น

เป็นเพียงธาตุทั้งหลายมาประกอบกันเข้าเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้

บุคคลก็เหมือนกัน ที่เกิดขึ้นมาเป็นชายเป็นหญิง

ต่อมาก็มีชื่ออย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็เป็นนั่นเป็นนี่ต่างๆ

ก็เป็นสมมติบัญญัติดังที่กล่าวนั้น แต่ความจริงไม่มีตัวบุคคล

ไม่มีความเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ในตัวบุคคล เป็นธาตุทั้งหลายมาประกอบกันเข้า

แต่ว่าก็ต้องมีสมมติ ต้องมีบัญญัติ คือต้องมีการแต่งตั้งถ้อยคำสำหรับพูด

แต่งตั้งภาวะฐานะเป็นต้น สำหรับที่จะรู้จักกัน เป็นบัญญัติ

เมื่อเป็นสมมติก็คือสำหรับที่จะให้รู้กัน จึงสามารถที่จะพูดถึงกันได้ เป็นภาษาขึ้นมาได้

แต่อันที่จริงนั้นไม่มีความเป็นบุคคลตัวตนเราเขาอยู่ในสิ่งที่สมมติบัญญัตินี้

แต่ว่าอาศัยที่บุคคลมีความยึดถือเป็นอุปาทานความยึดถืออยู่ในสมมติบัญญัติ

จึงได้มีความเข้าใจว่าเป็นจริงๆ เป็นตัวเราจริงๆ เป็นนั่นเป็นนี่จริงๆ

ทั้งนี้ก็เพราะว่ายังมีอวิชชาคือความไม่รู้จักสัจจะที่เป็นตัวความจริง

ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อุปาทานความยึดถือ เป็นต้น

เพราะฉะนั้น จึงเป็นที่ตั้งของกิเลสต่างๆ

อันเป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ และของความทุกข์ต่างๆ

เป็นที่ตั้งของกรรมคือการงานที่กระทำลงไป ทางกาย ทางวาจา ทางใจ

เป็นกรรมดีบ้าง เป็นกรรมชั่วบ้าง เป็นกรรมกลางๆบ้าง

( เริ่ม ๑๓๔/๑ ) จึงต้องตกอยู่ในห้วงทุกข์อยู่ด้วยกัน

 

การปฏิบัติในขั้นปัญญา

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่ปฏิบัติในศีล ปฏิบัติในสมาธิ

ตลอดถึงในปัญญา มุ่งให้ได้ปัญญาวิมุติอันเป็นผลสืบเนื่องจากปัญญา

เมื่อเป็นดั่งนี้ เมื่อได้ปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ความยึดถือว่าเป็นตัวเราของเราดังกล่าวก็จะหมดไป

เพราะว่าเท่ากับยึดถือเงาว่าเป็นตัวจริง เหมือนอย่างยึดถือภาพถ่ายว่าเป็นตัวจริง

ในภาพถ่ายนั้นไม่มีตัวจริง ในเงาก็ไม่มีตัวจริง ในธาตุทั้งหลายที่มาประชุมกันเข้า

อันเป็นที่ตั้งของสมมติบัญญัติว่าตัวเราของเรานี้ ก็ไม่มีตัวเราของเราจริง

เป็นเพียงสมมติบัญญัติเท่านั้น

แต่ในขั้นปัญญานี้เป็นขั้นที่จะต้องฝึกไปโดยลำดับ

อันจะต้องสืบเนื่องมาจากหัดปฏิบัติในศีล หัดปฏิบัติทำจิตให้เป็นสมาธิ

คือให้มีสัมมาสติสัมมาสมาธิดังที่กล่าวมาข้างต้น แล้วก็จะได้ปัญญา

มองเห็นสัจจะที่เป็นตัวความจริงขึ้นโดยลำดับ ในการนี้ก็ต้องอาศัยการฝึกหัดปฏิบัติตั้งสติ

กำหนดกาย กำหนดเวทนา กำหนดจิต กำหนดธรรม อันรวมกันเข้าก็คือตัวเราของเรา

คืออัตภาพอันนี้นั้นเอง เพราะอัตภาพอันนี้หรือตัวเราของเรานี้ก็คือกายส่วนหนึ่ง

เวทนาส่วนหนึ่ง จิตส่วนหนึ่ง ธรรมะส่วนหนึ่ง รวมกันเข้าเป็นก้อนเดียวกัน

ฉะนั้นก็ต้องจับพิจารณาด้วยสติกำหนดดูที่กาย ให้รู้ว่านี่กาย กายมีอยู่อย่างนี้

ที่เวทนา ให้รู้ว่านี่เวทนา เวทนามีอยู่อย่างนี้ ที่จิต ให้รู้ว่านี่จิต จิตมีอยู่อย่างนี้

ให้รู้ว่านี่ธรรมะคือเรื่องที่บังเกิดขึ้นในจิต ธรรมะมีอยู่อย่างนี้

และทั้ง ๔ นี้ก็รวมกันอยู่เป็นก้อนเดียวกัน แต่มีลักษณะที่พึงกำหนดได้แต่ละอย่าง

เหมือนอย่างว่ารถคันเดียวกัน ก็กำหนดได้ว่านี่เป็นล้อรถ นี่เป็นตัวถังของรถ

นี่เป็นส่วนนั้นส่วนนี้ของรถดั่งนี้เป็นต้น รวมกันเข้าก็สมมติบัญญัติเรียกว่ารถ

เพราะฉะนั้นก็หัดกำหนดทำสติดูแต่ละส่วนของรถให้รู้จักว่านี่เป็นนี่ นั่นเป็นนั่น

ที่ตัวเรานี่ก็เหมือนกันหัดกำหนดให้รู้จักว่า นี่เป็นกาย นี่เป็นเวทนา นี่เป็นจิต นี่เป็นธรรม

และทั้ง ๔ นี้รวมกันอยู่

การที่กำหนดให้รู้จักดังกล่าว ก็จะต้องรู้จักภายนอก ต้องรู้จักภายใน

ต้องรู้จักทั้งภายนอกทั้งภายใน เหมือนอย่างว่าจะกำหนดดูรถ

รถคันหนึ่งก็ต้องรู้จักภายนอกของรถ ภายในของรถ หรือแม้แต่ชิ้นหนึ่งของรถเช่นล้อ

ก็รู้จักภายนอกของล้อ ภายในของล้อเป็นยังไง ต้องรู้จักว่านี่เป็นกายให้สมบูรณ์

นี่เป็นเวทนา จิต ธรรม ให้สมบูรณ์ แล้วก็ดูความเป็นไปตามธรรมชาติธรรมดาของสิ่งทั้ง ๔ นี้

ก็จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่เกิดดับ เกิดดับๆอยู่เสมอ ไม่มีอันใดที่จะตั้งอยู่คงที่ไม่เกิดไม่ดับ

ในตอนแรกนั้นก็เป็นขั้นสติ ขั้นสมาธิ

และเมื่อเห็นเกิดดับก็เป็นขั้นปัญญา อันจะทำให้จิตใจนี้ไม่ยึดถือ ปล่อยวางได้

เพราะว่าที่ยังยึดถืออยู่นั้นก็เพราะเห็นว่ายังตั้งอยู่ ยังเป็นสิ่งที่จะพึงยึด

แต่เมื่อเห็นว่าดับ ก็ไม่มีอะไรจะยึด อุปาทานก็หลุดไปเอง

ไม่ต้องตั้งใจจะให้อุปาทานหลุด อยากให้อุปาทานหลุดๆไปนั้นไม่ได้

อุปาทานไม่ยอมหลุดไปด้วยความคิดว่าจะให้หลุดจะให้พ้น

ต้องเห็นดับของสิ่งที่ยึด เมื่อเห็นดับของสิ่งที่ยึดแล้วอุปาทานหายไปเอง

เพราะไม่มีอะไรจะยึด เมื่อไม่มีอะไรจะยึดก็ปล่อยไปเอง

เพราะฉะนั้น จึงสำคัญที่ต้องปฏิบัติทำปัญญานี้ให้เกิดขึ้น คือเห็นเกิดดับคู่กันไป

อุปาทานแม้ไม่ปรารถนาจะให้เขาหลุด เขาก็หลุดไปเอง

ต่อไปนี้ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats