ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป164

การปฏิบัติในสติปัฏฐาน

อานาปานสติ ๔ ชั้น

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

หลักในการพิจารณากายเวทนาจิตธรรม ๓

ข้อปฏิบัติข้อแรกในสติปัฏฐาน ๔

การกำหนดอารมณ์ของสมาธิ ๕

นิมิตของลมหายใจ ๖

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๒๐๘/๑ เริ่มต้น จบในหน้าเดียว ( File Tape 164 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

การปฏิบัติในสติปัฏฐาน

อานาปานสติ ๔ ชั้น

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

บทกรรมฐานที่สวดและแสดงในที่นี้

ได้มีพระสูตรใหญ่แห่งสติปัฏฐาน อันเรียกว่ามหาสติปัฏฐานเป็นหลัก

และคำว่าสติปัฏฐานนี้กล่าวโดยย่อ หมายถึงสติตั้งอย่างหนึ่ง ตั้งสติอย่างหนึ่ง

ในการปฏิบัตินั้นก็คือตั้งสติ และเมื่อปฏิบัติจนตั้งสติได้ก็เรียกว่าสติตั้ง

คำว่าตั้งสติและสติตั้งนี้ เรียกเป็นภาษาบาลีว่าสติปัฏฐานนั้นเอง

 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้มีความเพียรที่เรียกว่าอาตาปี

มีสัมปชานะหรือสัมปชัญญะความรู้ตัว มีสติความระลึกได้ กำจัดความยินดียินร้ายในโลกเสีย

ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในคำว่าสติ ยกสติขึ้นมาคำเดียวก็หมายถึงทั้ง ๔ ข้อนี้

ซึ่งเป็นอุปการธรรมในการปฏิบัติตั้งสติ เพื่อให้สติตั้ง

หลักในการพิจารณากายเวทนาจิตธรรม

 

พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ตั้งสติพิจารณากายเวทนาจิตธรรม

ให้มีสติตั้งอยู่ในกายเวทนาจิตธรรม

ให้รู้จักกาย รู้จักเวทนา รู้จักจิต รู้จักธรรม ในกายใจของตัวเองนี้เอง

แต่ก็ได้ตรัสสอนให้กำหนดพิจารณารู้ว่าแม้ในกายของผู้อื่นก็มีกายเวทนาจิตธรรมนี้เช่นเดียวกัน

และพิจารณาเช่นเดียวกัน คือทั้งภายในทั้งภายนอก

 

ทั้งนี้โดยหลักที่พึงปฏิบัติในทุกข้อ

ก็คือพิจารณาให้เห็นว่า อนิจจะคือไม่เที่ยงต้องเกิดดับ

ทุกขะเป็นทุกข์คือตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

เป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ไม่ควรที่จะยึดถือว่า ของเรา เป็นเรา เป็นตัวตนของเรา

ในกายเวทนาจิตธรรม ทั้งของตนเอง ทั้งของผู้อื่น ที่เรียกว่าทั้งภายในทั้งภายนอก

ซึ่งการพิจารณาให้เห็นดั่งนี้ ก็รวมอยู่ในข้อที่ตรัสไว้ว่าให้ตั้งสติพิจารณาในกายเวทนาจิตธรรม

ว่ามีเกิดเป็นธรรมดา มีดับเป็นธรรมดา มีทั้งเกิดทั้งดับเป็นธรรมดา

ก็คือให้เห็น อนิจจะไม่เที่ยง ทุกขะเป็นทุกข์ อนัตตามิใช่อัตตาตัวตน

และทั้งเห็นว่าเป็น อสุภะ คือไม่สวยงามในกายทั้งหลาย

 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ดั่งนี้

ก็เพื่อว่าจะได้กำจัด จิตวิปัลลาส ความผิดวิปริตแห่งจิต

ทิฏฐิวิปัลลาส ความวิปริตผิดแห่งความเห็นนั้นเอง

คือวิปัลลาสความเห็นที่วิปริตผิดไปนี้ก็คือว่า เห็นวิปริตผิดไปในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง

ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสิ่งที่เป็นอนัตตาว่าเป็นอัตตา ในสิ่งที่ไม่งามว่างดงาม

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติในสติปัฏฐานนั้นจึงเป็นไปเพื่อแก้ไข จิตวิปัลลาส ทิฏฐิวิปัลลาส

จิตใจที่คิดผิดเห็นผิด หรือความเห็นผิดดังกล่าว

เพราะฉะนั้นการพิจารณาดั่งนี้ จึงเป็นหลักในการพิจารณาทุกข้อ

ข้อปฏิบัติข้อแรกในสติปัฏฐาน

 

และได้ตรัสสอนไว้เป็นข้อแรกให้ปฏิบัติในอานาปานสติ

คือสติที่พิจารณากำหนดลมหายใจเข้าออก และอานาปานสตินี้ได้มีตรัสแสดงไว้ว่า

แม้พระพุทธเจ้าเองเมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ เมื่อทรงปฏิบัติค้นคว้าไปต่างๆ

จนพบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่เป็นหนทางกลางคือมรรคมีองค์ ๘

ก็ทรงพบอานาปานสตินี้เป็นเบื้องต้นนั้นเอง

โดยทรงระลึกได้ถึงสมาธิที่ทรงได้เมื่อครั้งเป็นพระราชกุมารดังที่กล่าวแล้ว

จากการที่ทรงกำหนดลมหายใจเข้าออก จึงได้ตรัสสอนอานาปานสตินี้เป็นบทแรก

และเป็นข้อที่ผู้ปฏิบัติสมาธิทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติกรรมฐานทั้งหลาย ได้นำมาปฏิบัติเป็นส่วนมาก

 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

โดยวางหลักในข้อแรกของสติปัฏฐาน คือตั้งสติพิจารณากายในกาย

ให้ปฏิบัติกำหนดลมหายใจเข้าออกไว้เป็น ๔ ชั้น คือ

๑ มีสติหายใจเข้ายาว มีสติหายใจออกยาว

๒ มีสติหายใจเข้าสั้น มีสติหายใจออกสั้น

๓ ศึกษาว่า สำเหนียกว่าเราจักกำหนดรู้กายทั้งหมด หายใจเข้า

ศึกษาคือสำเหนียกว่าเราจักกำหนดรู้กายทั้งหมด หายใจออก

๔ ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่าเราจักสงบระงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย

คือลมหายใจเข้าลมหายใจออก หายใจเข้า

เราจักสงบระงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย หายใจออก ดั่งนี้

 

และพระอาจารย์ได้มีอธิบายไว้ยกเอาข้อแรกขึ้นเป็นที่ตั้งก่อน

มีสติกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกยาวนั้น

ก็คือกำหนดลมหายใจเข้าออกของตนที่เป็นไปโดยปรกติธรรมดา

ซึ่งลมหายใจเข้าออกนี้ เมื่อหายใจเข้า ลมหายใจก็ย่อมมากระทบที่ริมฝีปากเบื้องบน

หรือปลายกระพุ้งจมูกเข้าไป ที่กำหนดว่าต้องผ่านอุระคือทรวงอก และเข้าไปถึงอุทรที่พองขึ้น

และเมื่อหายใจออกก็จากอุทรที่ยุบลง ผ่านอุระคือทรวงอก

มาผ่านปลายกระพุ้งจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบน

 

การกำหนดอารมณ์ของสมาธิ

 

ทีแรกก็หัดกำหนดให้รู้ทางลมดังที่กล่าวมานี้

เมื่อเข้าก็ให้รู้ที่ปลายกระพุ้งจมูกซึ่งลมกระทบ แล้วตามลมเข้าไป ผ่านอุระมาถึงนาภีที่พองขึ้น

ออกก็กำหนดจากนาภีที่ยุบลง ผ่านอุระมาถึงปลายกระพุ้งจมูก แล้วออกไป

ซึ่งอันนี้ก็ไม่ตรงกับหลักสรีระวิทยา แต่ว่าการจะกำหนดให้เป็นที่ตั้งของสมาธิ

ตามหลักสรีระวิทยาให้ตลอดนั้นไม่ได้ เพราะลมที่เข้าปอดนั้นไม่สามารถจะกำหนดได้

จึงกำหนดอาการภายนอกดังที่กล่าวนี้เพื่อให้เป็นที่ตั้งของสมาธิ หรือเป็นอารมณ์ของสมาธิ

และเมื่อหัดกำหนดตามลมเข้าตามลมออกดั่งนี้ จนรู้ทางลมเข้าออกชัดเจนพอสมควรแล้ว

ก็กำหนดเพียงจุดเดียว คือที่ปลายกระพุ้งจมูก หรือริมฝีปากเบื้องบน

คือจุดที่ลมกระทบเมื่อเข้าและกระทบเมื่อออก ไม่ต้องส่งจิตตามลมเข้าออก

เพราะไม่สามารถจะทำจิตให้เป็นสมาธิ คือมีอารมณ์เป็นอันเดียวได้

จึงต้องยกเว้นเสีย ๒ ให้เหลือ ๑ คือที่ปลายกระพุ้งจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบนเท่านั้น

 

และดังที่ได้กล่าวแล้วว่า พระอาจารย์ท่านสอนมาแต่เดิมว่าให้ใช้นับช่วยก็ได้

หรือในปัจจุบันนิยมใช้ พุทโธ กันมาก หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ

ตามวิธีที่พระอาจารย์กรรมฐานท่านสอนกันมาสำหรับในประเทศไทย

และสำหรับในประเทศอื่นที่ผู้ปฏิบัติชาวไทยได้นำมาใช้ก็เช่นพองยุบ

หายใจเข้าพอง หายใจออกยุบ กำหนดที่ท้องหรือนาภี ก็สุดแต่จะใช้กัน

 

และท่านอาจารย์ท่านสอนว่า เมื่อกำหนดรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกจนจิตสงบลง

ขึ้นตามสมควร จะได้ฉันทะคือความพอใจในการปฏิบัติ

และเมื่อได้ฉันทะคือความพอใจในการปฏิบัติขึ้น

ลมหายใจเข้าออกก็จะละเอียดเข้า ด้วยสามารถแห่งฉันทะ

และเมื่อกำหนดลมหายใจเข้าออกที่ละเอียดขึ้นด้วยอำนาจแห่งการฉันทะมากขึ้น

ปราโมทย์คือความบันเทิงใจก็ย่อมจะเกิดขึ้น เมื่อปราโมทย์คือความบันเทิงใจบังเกิดขึ้น

ก็จะหายใจเข้าออกละเอียดขึ้นไปอีก ด้วยสามารถแห่งปราโมทย์

และเมื่อหายใจเข้าออกละเอียดขึ้นไปอีกด้วยสามารถแห่งปราโมทย์ยิ่งขึ้น

อุเบกขาคือความวางเฉยก็จะเกิดขึ้น จิตที่มีอุเบกขาก็จะกลับจากลมหายใจเข้าลมหายใจออก

ทำให้มีความรู้สึกเหมือนอย่างว่าไม่หายใจ

 

แต่อันที่จริงเมื่อพิจารณาดูแล้ว ก็จะเห็นว่าคงมีลมเข้าออกอย่างละเอียดนั้นเอง

โดยที่กิริยาหายใจละเอียดมาก จนถึงรู้สึกว่าไม่ปรากฏ

และเมื่อกายสงบมากแล้วอาการของกายก็ไม่ปรากฏ แต่ลมหายใจคงเข้าไปได้ออกได้นั้นเอง

เพราะทางลมหายใจที่เข้าออกนั้นมิได้อุดตันแต่ประการใด ย่อมเปิด

ยังคงเปิดอย่างปรกติ เป็นแต่เพียงละเอียดเข้าเท่านั้น

 

นิมิตของลมหายใจ

 

แต่ว่าเมื่ออาการที่หายใจเข้าออกไม่ปรากฏ

ลมหายใจเข้าออกซึ่งเป็นที่ตั้งของสมาธิ ก็รู้สึกเหมือนอย่างหายไป

เมื่อหายไป จึงไม่ได้อานาปานสติ ไม่ได้อานาปานสมาธิ เพราะไม่มีที่ตั้ง

เพราะฉะนั้น ท่านพระอาจารย์จึงสอนว่า

ให้กำหนดนิมิตของลมหายใจที่ละเอียดก่อนที่จะรู้สึกว่าหยุดนั้นไว้

กำหนดนิมิตคือเครื่องหมายเครื่องกำหนดของลมหายใจที่ละเอียดนั้นไว้

เหมือนอย่างว่าเมื่อตีกังสดาลหรือระฆัง เสียงของกังสดาลหรือระฆังที่ตีนั้นก็ดัง

ก็กำหนดเสียงของกังสดาลหรือระฆังที่ตีนั้นเป็นอารมณ์

เมื่อเสียงของกังสดาลหรือระฆังที่ตีนั้นเบาลง ก็กำหนดเสียงที่เบาลงนั้น

และเมื่อเสียงของระฆังของกังสดาลหรือระฆังที่เบาลงอีก จนถึงเป็นเสียงละเอียด

ก็กำหนดเสียงที่ละเอียดนั้นเป็นอารมณ์

เมื่อเสียงที่ละเอียดนั้นหยุดลง ก็กำหนดนิมิตของเสียงที่ละเอียดนั้นไว้

เมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็คงมีที่ตั้ง คือนิมิตของเสียงที่ละเอียดนั้นเป็นที่ตั้งของสติของสมาธิ

 

ฉันใดก็ดี เมื่อเครื่องปรุงกายคือลมหายใจเข้าออก

พร้อมทั้งกายที่ปรุงลมหายใจเข้าออกนั้นสงบลง การหายใจเข้าออกที่เกี่ยวกับกายก็สงบลง

ก็กำหนดลมหายใจเข้าออกที่ละเอียดนั้นเป็นอารมณ์ คือเป็นที่ตั้งของสติของสมาธิ

และเมื่อกายสังขารเครื่องปรุงกาย คือกายทั้งลมหายใจเข้าออกที่ละเอียดนั้นสงบลงถึงที่สุด

เหมือนอย่างว่าไม่หายใจ ก็ให้กำหนดนิมิต คือเครื่องกำหนดหมาย

ของลมหายใจที่ละเอียดนั้นไว้เป็นอารมณ์ ไม่ปล่อยนิมิตนั้น

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ชื่อว่ายังมีนิมิตนั้นเป็นอารมณ์ คือเป็นที่ตั้งของสมาธิ

ย่อมได้อานาปานสติ อานาปานสมาธิ

 

และในขณะเดียวกันก็ให้กำหนดรู้ว่าไม่เที่ยง ต้องเกิดดับ

เป็นทุกข์ ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน

ไม่ควรยึดถือทั้งกายทั้งลมหายใจ ทั้งใจที่เป็นนามรูป ว่าเป็นเราเป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา

และก็ให้พิจารณาให้รู้ด้วยว่ากายทั้งหมดเป็นสิ่งปฏิกูลไม่สะอาด ไม่งดงาม

จะทำให้ละ ทิฏฐิวิปัลลาส จิตวิปัลลาส ความวิปริตแปรผันของความเห็นของๆจิตใจได้

จะทำให้ได้สติปัฏฐาน ได้โพชฌงค์ ได้มรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น ไปในขณะเดียวที่ปฏิบัตินี้

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

 

 

 

สัมปชัญญะในอิริยาบถ

อินทรีย์ ๕ พละ ๕

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

สมมติบัญญัติ ๓

อินทรีย์ ๕ พละ ๕ ๔

อินทรีย์เป็นพื้นฐานของธรรมปฏิบัติ ๕

ทุกคนเกิดมาด้วยอำนาจของกุศล ๕

ศรัทธาต้องประกอบด้วยปัญญา ๖

อนุปุพพิกกถา ๗

กามาทีนพ โทษของกาม ๘

เนกขัมมะ การออกจากกาม ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดนิดหน่อยแต่ไม่เสียความ

ม้วนที่ ๒๐๘/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๒๐๘/๒ - ๒๐๙/๑ ( File Tape 164 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมปชัญญะในอิริยาบถ อินทรีย์ ๕ พละ ๕

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ในมหาสติปัฏฐานสูตร พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติในอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกแล้ว

ก็ได้ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดในอิริยาบถทั้ง ๔ ให้มีความรู้ทั่ว

ในอาการเดินยืนนั่งนอน ที่ ...( เป็นอิริยาบถใหญ่ และในอาการต่างๆที่ปลีกย่อยออกไป

คือในกิริยาที่ก้าวไปข้างหน้า ถอยมาข้างหลัง ในกิริยาที่แลเหลียว ในกิริยาที่คู้เข้ามา

คู้แขนคู้ขาเข้ามา และเหยียดแขนเหยียดขาออกไป ในกิริยาที่นุ่งห่ม ในกิริยาที่กินดื่มเคี้ยวลิ้ม

ในกิริยาที่ถ่ายหนักถ่ายเบา ในกิริยาที่เดินยืนนั่งนอนตื่นพูดนิ่ง เป็นต้น )

 

( เริ่ม ๒๐๘/๒ ) ก็หัดปฏิบัติพิจารณาไป พร้อมกับกิริยาผลัดเปลี่ยนอิริยาบถเหล่านี้ว่า

ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา คือไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เป็นผู้เดินยืนนั่งนอน

ผลัดเปลี่ยนอาการอิริยาบถทั้งหลาย แต่เป็น ขันธ์ อายตนะ ธาตุ ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถเหล่านี้

ไม่ใช่อัตตาตัวตนเราเขา ภายในก็เรา ภายนอกก็เขา

เป็นขันธ์อายตนะธาตุ ไม่ใช่อัตตาตัวตนเราเขาทั้งหมด

ให้หัดพิจารณาให้รู้ดั่งนี้ด้วย จึงจะชื่อว่ารู้ทั่วถึงในอิริยาบถทั้งปวง

 

สมมติบัญญัติ

 

ถ้อยคำที่เรียกว่า เรา เช่นที่ตรัสสอนว่าเมื่อเราเดินก็ให้รู้ว่าเราเดิน ดั่งนี้เป็นต้น

เป็นคำที่ตรัสเรียกตามสมมติบัญญัติ ไม่ได้ตรัสเรียกให้ยึดถือ

ว่าตัวเราคืออัตตาตัวตน เป็นผู้เดินเป็นต้น

เพราะเหตุว่า ถ้าไม่ทรงใช้คำที่เป็นสมมติบัญญัติที่ใช้กันอยู่ ผู้ฟังก็จะไม่เข้าใจ

เพราะฉะนั้นจึงต้องทรงใช้ถ้อยคำที่เป็นสมมติบัญญัติเพื่อให้เข้าใจเท่านั้น

ว่าหมายถึงขันธ์อายตนะธาตุที่เป็นภายใน ดั่งที่เรียกว่าเรา

ที่เป็นภายนอกที่เรียกว่าเขา เท่านั้น

เพราะฉะนั้น แม้ในข้อนี้ก็พึงหัดปฏิบัติให้ทำความรู้ในเวลาผลัดเปลี่ยนอิริบาบถทั้งปวง

ว่าเราคือขันธ์อายตนะธาตุเดินอยู่บัดนี้ ยืนอยู่บัดนี้ นั่งอยู่บัดนี้ นอนในบัดนี้

ดั่งนี้เป็นต้น เป็นหมวดอิริยาบถ

 

และก็ตรัสสอนให้หัดตั้งสติซึ่งใช้คำว่าสัมปชัญญะคือให้ทำความรู้ตัว

ในอาการต่างๆที่ปลีกย่อยออกไป และที่สรุปเข้ามาทั้งหมด คือในกิริยาที่ก้าวไปข้างหน้า

ถอยมาข้างหลัง ในกิริยาที่แลเหลียว ในกิริยาที่คู้เข้ามา คู้แขนคู้ขาเข้ามา

และเหยียดแขนเหยียดขาออกไป ในกิริยาที่นุ่งห่ม

หรือสำหรับภิกษุก็เช่นในกิริยาที่ทรงผ้าสังฆาฏิบาตรจีวร ในกิริยาที่กินดื่มเคี้ยวลิ้ม

ในกิริยาที่ถ่ายหนักถ่ายเบา ในกิริยาที่เดินยืนนั่งนอนตื่นพูดนิ่ง ให้มีสัมปชัญญะคือความรู้ตัว

 

อันหมายถึงว่าให้มีทั้งสติความระลึกได้ และสัมปชัญะความรู้ตัวอยู่แม้ในอิริยาบถต่างๆเหล่านี้

แต่เรียกแยกว่าเป็นข้อที่ว่าด้วยสัมปชัญญะ

การหัดทำสติ ทำสัมปชัญญะ ความระลึกได้ความรู้ตัวในอิริยาบถทั้งปวง

ที่เรียกว่าข้อ อิริยาปถปัพพะ ข้อว่าด้วยอิริยาบถ

และข้อที่ว่าด้วยสัมปชัญญะปัพพะ ข้อที่ว่าด้วยสัมปชัญญะความรู้ตัวนี้

ก็เป็นข้อที่ผู้ปฏิบัติธรรมในการที่จะหัดทำสติสัมปชัญญะในสติปัฏฐาน พึงหัดปฏิบัติด้วย

เพราะจะทำให้เป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะรอบคอบในเรื่องของกายทั้งหลาย

 

อินทรีย์ ๕

 

อนึ่ง ในการปฏิบัติสติปัฏฐานนี้ต้องอาศัยอุปการธรรม ดังที่กล่าวมาแล้ว

และนอกจากนี้ยังต้องอาศัยอุปการธรรมที่แสดงไว้เป็นอีกปริยายหนึ่ง

ที่จะแสดงในบัดนี้ก็คือ อินทรีย์ ที่แปลว่าธรรมะที่เป็นใหญ่ มี ๕ ประการ คือ

 

สัทธินทรีย์ อินทรีย์ธรรมะที่เป็นใหญ่คือศรัทธาความเชื่อ

วิริยินทรีย์ อินทรีย์ธรรมะที่เป็นใหญ่คือวิริยะความเพียร

สตินทรีย์ อินทรีย์คือธรรมะที่เป็นใหญ่คือสติ

สมาธินทรีย์ อินทรีย์ธรรมะที่เป็นใหญ่คือสมาธิความตั้งใจมั่น

และ ปัญญินทรีย์ อินทรีย์ธรรมะที่เป็นใหญ่คือปัญญา

 

พละ ๕

 

หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พละ ๕ ก็ได้แก่ธรรมะที่เป็นชื่ออย่างเดียวกันทั้ง ๕ นี้

เรียกว่า สัทธาพละ ธรรมะที่เป็นกำลังคือศรัทธา

วิริยะพละ ธรรมะที่เป็นกำลัง คือวิริยะความเพียร

สติพละ ธรรมะที่เป็นกำลังคือสติ

สมาธิพละ ธรรมะที่เป็นกำลังคือสมาธิ

ปัญญาพละ ธรรมะที่เป็นกำลังคือปัญญา

อินทรีย์เป็นพื้นฐานของธรรมปฏิบัติ

 

ธรรมะที่เป็นอินทรีย์ หรือธรรมะที่เป็นพละทั้ง ๕ นี้

ได้เป็นธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดง ว่าทุกคนผู้ที่จะปฏิบัติธรรมนั้นจะต้องมี

มากบ้างน้อยบ้างอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ถ้าไม่มีเลยแล้วก็ไม่สามารถที่จะปฏิบัติได้

และก็ได้มีคำแสดงไว้ในพุทธประวัติเป็นต้น ว่าพระพุทธเจ้าเมื่อจะตรัสแสดงธรรม

ก็ต้องทรงพิจารณาอินทรีย์ของผู้ฟังที่มีอยู่เป็นพื้น ว่ามีเพียงไหน

และก็ตรัสแสดงธรรมะให้เหมาะแก่อินทรีย์ของผู้ฟัง
เพื่อให้เกิดอินทรีย์ที่แก่กล้ายิ่งขึ้น จนถึงบรรลุถึงมรรคผลนิพพานได้

 

ดังที่เรียกว่าทรงพิจารณาถึงอินทรีย์ของผู้ฟัง

ก็คือพื้นคุณความดีของผู้ฟังนั้นเอง และบรรดาพื้นเหล่านั้นก็ได้แก่ธรรมะทั้ง ๕ ข้อนี้

คือมีศรัทธา มีวิริยะคือความเพียร มีสติ มีสมาธิ มีปัญญาที่เป็นพื้นอยู่เพียงแค่ไหน

ถ้าหากว่ามีธรรมะที่เป็นอินทรีย์คือเป็นพื้นนี้อยู่ไม่มาก ก็ทรงแสดงธรรมะที่พอเหมาะ

ที่ผู้ฟังจะรับได้ ยกตัวอย่างเช่นข้อปัญญา ว่าเขาจะรับฟังด้วยปัญญาที่มีอยู่เป็นพื้นได้เพียงใด

จะฟังเข้าใจได้เพียงใด ถ้าปัญญาอ่อนเทศน์ธรรมะสูงก็ฟังไม่เข้าใจ ต้องเทศน์ธรรมะต่ำๆ

 

ทุกคนเกิดมาด้วยอำนาจของกุศล

 

และตามหลักทางพระพุทธศาสนานั้น ได้มีแสดงว่าผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์

ย่อมเกิดมาด้วยอำนาจของกุศล มีปัญญาที่เป็นพื้นเรียกว่า สชาติปัญญา

ปัญญาที่เกิดมาพร้อมกับชาติคือความเกิด เป็นพื้นที่ดีกว่าสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย

เพราะฉะนั้นมนุษย์ทั่วไปจึงเรียกว่ามีพื้นดีอยู่โดยทั่วไปตามสมควร แม้จะไม่มากนัก

ก็เรียกว่ามีพื้นที่ผู้เกิดมาเป็นมนุษย์ได้ปัญญาเกิดมาพร้อมกับชาติคือความเกิด มีอยู่ทั่วไป

เว้นแต่ที่พิการหรือที่โง่เง่าเกินไป เพราะมีอกุศลกรรมอย่างอื่นเข้ามาขัดขวางหรือเข้ามาทำลาย

หรือว่าเพราะมีมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิดที่ดิ่งลงไป พระพุทธเจ้าจึงไม่สามารถจะโปรดได้

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสามารถโปรดได้จำเพาะที่เรียกว่า เวเนยยะ

คือผู้ที่พึงแนะนำได้ดังที่เรียกว่า เวไนยนิกร หมู่แห่งชนที่พึงแนะนำได้

คือผู้ที่ไม่โง่เง่าเกินไปผิดธรรมดามนุษย์ทั้งหลายเพราะความพิการ

หรือพิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งของสมองของอวัยวะร่างกาย

หรือได้ประกอบอกุศลกรรมอย่างหนัก เช่นกระทำอานันตริยกรรม อกุศลกรรมอย่างหนัก

มีฆ่าบิดามารดาเป็นต้น อกุศลกรรมหนักนี้ก็เป็นเครื่องกั้นไว้ไม่ให้บรรลุมรรคผลได้

 

แต่แม้เช่นนั้นก็ยังทำให้อาจเห็นคุณของพระรัตนตรัย

ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งได้ แต่ไม่เจริญในธรรม ไม่อาจบรรลุมรรคผล

จะต้องรับผลของกรรมที่ประกอบกระทำอย่างหนักนี้ก่อน

และเมื่อรับกรรมนั้นไปแล้วในอนาคตจึงอาจจะบรรลุมรรคผลต่อไปได้

หรือว่ามีเป็นมิจฉาทิฏฐิความเห็นผิดอย่างแรงที่ดิ่งลงไป

ไม่สามารถจะแก้ทิฏฐิคือความเห็นที่ผิดของตนได้ ก็เป็นผู้ที่ตรัสสอนให้เข้าถึงธรรมะไม่ได้

 

ศรัทธาต้องประกอบด้วยปัญญา

 

ก็อาจกล่าวได้ว่าเราทั้งหลายทุกคนซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติธรรม จัดอยู่ในจำพวกที่เป็นเวไนยนิกร

คือหมู่ชนที่พระพุทธเจ้าพึงแนะนำได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องรับธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนปฏิบัติ

ที่เรียกว่าต้องมีศรัทธา และก็ให้เป็นศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญาคือความรู้

ศรัทธากับปัญญาจึงเป็นข้อสำคัญคู่กันที่พึงมีทุกคน

และก็ต้องมีความเพียรปฏิบัติ มีสมาธิความตั้งใจมั่นในการปฏิบัติ

ตั้งต้นแต่ต้องมีสมาธิในการฟังในการอ่าน และในการที่พิจารณาธรรมะ

เพื่อให้เกิดธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม

และจะต้องมีสติกำกับอยู่กับศรัทธา กับปัญญา กับความเพียร กับสมาธิ

ซึ่งรวมเข้าก็เป็นอินทรีย์ทั้ง ๕ นี้

อินทรีย์นี้ทำให้เป็นใหญ่

คือศรัทธาทำให้เป็นใหญ่ที่จะชนะ อสัทธิยะ คือความไม่เชื่อ

วิริยะคือความเพียรเป็นใหญ่ที่จะชนะ โกสัชชะ (ไม่แน่ว่าถูก) ความเกียจคร้าน

สติเป็นใหญ่ที่จะชนะความหลงลืมสติ สมาธิเป็นใหญ่ที่จะชนะความฟุ้งซ่าน

ปัญญาเป็นใหญ่ที่จะชนะอวิชชาความไม่รู้ โมหะความหลง

และทั้ง ๕ นี้ก็เป็นพละคือเป็นกำลังที่จะทำให้มีพลังไม่หวั่นไหว

คือศรัทธาก็จะทำให้ไม่หวั่นไหว เพราะความไม่เชื่อ

วิริยะก็ทำให้ไม่หวั่นไหวเพราะความเกียจคร้าน

สติก็ทำให้ไม่หวั่นไหวเพราะความที่หลงลืมสติ หรือสติไม่ตั้งมั่น

สมาธิก็เป็นพละก็เป็นกำลังทำให้ไม่หวั่นไหวเพราะความฟุ้งซ่าน

ปัญญาก็ทำให้ไม่หวั่นไหวเพราะโมหะความหลง หรืออวิชชาความไม่รู้

 

เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าทุกคนนี้ต่างมีอินทรีย์มีพละอยู่ด้วยกันเป็นพื้น

น้อยบ้างมากบ้างด้วยกันทั้งนั้น จึงสามารถที่จะรับธรรมได้

และพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงพิจารณาดูโลกว่า ยังมีเวไนยนิกรคือหมู่ชนที่จะพึงแนะนำได้อยู่มาก

จึงได้ทรงเสด็จจาริกไปทรงแสดงธรรมะสั่งสอน ทรงตั้งพุทธบริษัท

และพระพุทธศาสนาขึ้นในโลก ซึ่งมีสืบต่อมาจนถึงบัดนี้

 

อนุปุพพิกกถา

 

เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงธรรมะสำหรับคนทั่วไปที่มีอินทรีย์พละพอสมควร

โดยอนุปุพพิกกถานำก่อน คือทรงแสดงทาน ทรงแสดงศีล

ทรงแสดงสวรรค์ที่เป็นผลของทานศีล และสวรรค์นี้ที่ตรัสแสดงเป็นกลางๆ

เป็นสวรรค์ทางอายตนะคือตาหูจมูกลิ้นกายและใจนี้เองของทุกคน

เมื่อผู้ที่ได้ประสบรูปที่น่าปรารถนาพอใจทางตา เสียงที่น่าปรารถนาพอใจทางหู

กลิ่นที่น่าปรารถนาพอใจทางจมูก รสที่น่าปรารถนาพอใจทางลิ้น

โผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้องทางกายที่น่าปรารถนาพอใจทางกาย

ธรรมะคือเรื่องราวที่คิดที่รู้อยู่ในใจที่น่าปรารถนาพอใจทางมโนคือใจ

ในที่ใด ในการใด ก็กล่าวได้ว่าเป็นสวรรค์ในที่นั้นในการนั้นในโลกนี้เอง

หรือแม้ในโลกอื่นก็เป็นสวรรค์ทั้งนั้น ดั่งนี้เป็นสวรรค์ทางอายตนะที่แสดงไว้

ที่ตรัสแสดงไว้เป็นผลของทานศีล

 

เพราะว่าเมื่อคนพากันปฏิบัติอยู่ในทาน ปฏิบัติอยู่ในศีล

ปฏิบัติอยู่ในทานก็คือว่าเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เจือจานซึ่งกันและกัน

ให้ต่างมีความสุขอยู่ด้วยเครื่องดำรงชีวิต คือเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นต้นด้วยกัน

และไม่เบียดเบียนกันด้วยศีล ช่วยเหลือเจือจานกันด้วยทาน ไม่เบียดเบียนกันด้วยศีล

เมื่อมีทานศีลอยู่ในที่ใด ก็เป็นสวรรค์ขึ้นในที่นั้น เพราะจะพากันอยู่เป็นสุข

 

และที่เรียกว่าเป็นสุขนั้นก็คือว่า อายตนะตาหูจมูกลิ้นกายใจ

ได้ประสบกับอายตนะภายนอกคือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

และธรรมะคือเรื่องราวที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ อันเป็นผลของทานศีล

ซึ่งเห็นกันได้ชัด นี่เป็นสวรรค์ในโลกนี้ และสวรรค์ในโลกอื่นก็ต้องเป็นเช่นนี้เหมือนกัน

 

กามาทีนพ โทษของกาม

 

ฉะนั้นเมื่อตรัสทรงแสดงทานศีลสวรรค์

จากนั้นก็ตรัสกามาทีนพคือโทษของกาม คือตรัสให้รู้ว่าแม้สวรรค์ดังที่กล่าวมานั้น

ซึ่งหมายถึงความที่ได้ประสบกับอารมณ์คือเรื่องต่างๆดังกล่าวนั้น ที่น่ารักใคร่

(ข้อความขาดไปเล็กน้อย)

( เริ่ม ๒๐๙/๑ ) ทั้งยังมีความตระหนี่เหนียวแน่นไม่บริจาคทาน

ทั้งเมื่อลุอำนาจของกิเลสก็ยังเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ไม่ตั้งอยู่ในทาน ไม่ตั้งอยู่ในศีล

ก็เป็นนรกขึ้นมา เป็นนรกขึ้นมาในโลกนี้นั้นเอง

ดังจะเห็นได้ว่าในโลกนี้ได้มีการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน

มีการเห็นแก่ตัว ไม่มีคิดถึงที่จะเผื่อแผ่ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นตามสมควรกันอยู่ทั่วไป

จึงมีนรกบังเกิดขึ้นในโลกนี้อยู่ทั่วไป มากบ้างน้อยบ้าง อย่างมากก็เช่นเกิดสงคราม

เป็นสงครามโลกขึ้น ล้างผลาญกันให้สิ้นชีวิตทรัพย์สินเป็นมหาศาล

ดังที่กล่าวปรากฏมาแล้วเป็นครั้งคราว ก็เป็นนรกในโลกนี้

เพราะเหตุที่ว่าขาดทานขาดศีล ก็เป็นนรกขึ้นมา ต่อเมื่อมีทานมีศีลจึงเป็นสวรรค์

ฉะนั้น นรกจึงมีในโลกนี้มากบ้างน้อยบ้างเป็นครั้งคราว แต่ก็มีอยู่เป็นประจำ

คู่กับสวรรค์สำหรับผู้ที่มีทานมีศีล หรือหมู่ที่มีทานมีศีล

 

แม้ผู้ที่มีทานมีศีล มีสวรรค์ของตัวเองอยู่

แต่เมื่อต้องอยู่ในหมู่ที่ไม่มีทานไม่มีศีล ที่เบียดเบียนกัน

ก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย เหมือนอย่างไปพบนรกเข้า ที่ผู้อื่นสร้างขึ้น

เพราะฉะนั้น สวรรค์จึงเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง ไม่แน่ว่าจะมีอยู่เสมอไป

และหากว่าจะมีขึ้นมาก็ต้องเกิดดับ ต้องสิ้นไปหมดไป นี่เป็นโทษของกาม

เพราะสวรรค์ก็เป็นกามอย่างหนึ่ง

 

เนกขัมมะ การออกจากกาม

 

ต่อจากนั้นก็ทรงแสดง เนกขัมมานิสงส์ อานิสงส์ของเนกขัมมะคือการออกจากกาม

คือการออกด้วยการปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญาทั่วๆไป ก็เป็นเนกขัมมะอย่างหนึ่งๆ

หรือการออกบวชถือเพศบรรพชิตก็เป็นเนกขัมมะอย่างหนึ่ง เป็นเนกขัมมะทางกาย

แม้ไม่ออกบวชเมื่อปฏิบัติในทานในศีลในสมาธิในปัญญา ก็เป็นเนกขัมมะทางใจ

ก็ใช้ได้เหมือนกัน ก็ทรงแสดงอานิสงส์ของเนกขัมมะ

 

และเมื่อได้ทรงแสดงธรรมะฟอกจิตใจของผู้ฟังให้ประณีตขึ้นมาโดยลำดับดังนี้แล้ว

จึงตรัสแสดงอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เป็นขั้นที่สุด อันนับว่าทรงนำให้ถึงยอดพุทธศาสนา

คืออริยสัจจ์ทั้ง ๔ หรือตัวพระพุทธศาสนาก็คืออริยสัจจ์ทั้ง ๔

ทั้งนี้ก็เป็นการที่ต้องการจะทรงฝึกอินทรีย์ของผู้ฟังให้แก่ขึ้นโดยลำดับ

ก็คือทรงฝึกให้ผู้ฟังได้มีศรัทธา มีวิริยะ มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา

เพิ่มพูนที่มีอยู่แล้วให้เพียงพอต่อการที่จะรับพระธรรมเทศนาที่สูงขึ้นไปโดยลำดับ

จากทาน จากศีลทั่วไป จนถึงอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้นเอง

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและทำความสงบ

 

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats