ถอดเทปพระธรรมเทศนา

  • พิมพ์

เทป010 อารักขกรรมฐาน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

พุทธานุสสติ ๔

เมตตาพรหมวิหาร ๕

อสุภกรรมฐาน ๕

มรณสติ ๖

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดนิดหน่อย

ม้วนที่ ๑๒/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๒/๒ ( File Tape 10 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

อารักขกรรมฐาน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จิตตภาวนาการอบรมจิตเป็นกิจสำคัญแห่งผู้ปฏิบัติธรรมะในพุทธศาสนา

ไม่ว่าจะเป็นภิกษุสามเณร ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ชายหญิงทั้งปวง

เพราะว่าจิตนี้เป็นความสำคัญ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติกระทำทุกอย่าง

เป็นเบื้องต้นของกรรมคือการงานที่ประกอบกระทำ

ถ้าจิตร้ายใจร้ายก็เป็นเหตุให้ประกอบกรรมที่ร้ายต่างๆ

ถ้าจิตดีใจดีก็เป็นเหตุให้ประกอบกรรมที่ดีงามต่างๆ

เพราะฉะนั้น จิตตภาวนาการอบรมจิต

จึงหมายถึงการอบรมจิตให้ละเว้น ให้สงบอารมณ์และกิเลสที่ชั่วร้ายทั้งหลาย

แต่ให้ตั้งอยู่ในธรรมะที่เป็นคุณงามความดีต่างๆ อันตรงกันข้าม

การปฏิบัติธรรมะในพุทธศาสนา แม้ว่าจะเป็นขั้นต้นก็ต้องอาศัยจิตที่สงบ ที่ดี

ด้วยการทำจิตนี้ให้สงบให้ดีประกอบไปด้วย

แม้ว่าการปฏิบัตินั้นจะปรากฏทางกายทางวาจา ดังที่เรียกว่าศีล

ที่อธิบายกันทั่วไปว่าเว้นจากความประพฤติชั่วประพฤติผิดทางกายทางวาจา

แต่ก็มิใช่ว่าจะทิ้งใจเสียได้ ต้องมีจิตใจ ตั้งใจที่จะงดเว้น

และจะต้องมีจิตใจเป็นศีล กายวาจาจึงจะเป็นศีลที่สมบูรณ์

ถ้าแสดงกายวาจาว่างดเว้นได้ แต่จิตใจยังไม่สงบ ยังมีความคิดฟุ้งซ่าน

ยังมีความอยากต้องการที่จะทำโน่นทำนี่อันเป็นการผิดศีล ก็ชื่อว่าใจยังไม่เป็นศีล

และหากว่ากุศลเจตนาหย่อนลงไป หรืออารมณ์อันเป็นเครื่องยั่วเย้าจิตแรงขึ้น

ก็จะทำให้ละเมิดศีลได้ ดังที่เรียกว่าศีลขาด ศีลเป็นท่อน เป็นช่อง ศีลด่างศีลพร้อย

เป็นอันยังไม่ได้ สีลวิสุทธิ ความบริสุทธิ์แห่งศีล

ฉะนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีจิตตภาวนาการอบรมจิต

วิธีหนึ่งสำหรับที่จะใช้อบรมจิต เรียกว่าอารักขกรรมฐาน

คือกรรมฐานที่ควรรักษาไว้เป็นประจำ

เพราะว่าจิตนี้ที่ยังมิได้อบรมก็มีกิเลสมีอารมณ์อยู่เป็นประจำ

ถ้าหากว่าไม่มีกรรมฐานมาเป็นประจำบ้าง

อารมณ์และกิเลสก็จะจูงจิตไปในทางชั่วทางผิดได้โดยง่าย

แต่ถ้าหากว่ามีกรรมฐานมารักษาจิตเอาไว้ตามสมควร

กรรมฐานที่รักษาจิตไว้นี้ก็จะช่วยรักษาบุคคล

ไม่ให้ตกไปสู่อำนาจของอารมณ์และกิเลสได้โดยง่าย

อารักขกรรมฐาน กรรมฐานที่ควรรักษาไว้เป็นนิจนี้

ข้อ ๑ พุทธานุสสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า

ข้อ ๒ เมตตา แผ่จิตออกไปด้วยความใคร่ความปรารถนาสุขประโยชน์

แก่บุคคลแก่สัตว์ทั้งหลาย

ข้อ ๓ อสุภะ พิจารณากายนี้ว่าไม่งดงาม และข้อ ๔ มรณสติ ระลึกถึงความตาย

พุทธานุสสติ

ข้อ ๑ พุทธานุสสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า

ในทางปฏิบัติที่เป็นกรรมฐานก็คือระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า

ตามบทที่สวดกันว่า อิติปิโส ภควา อรหังสัมมา สัมพุทโธ เป็นต้น

อันมีคำแปลว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

คือเป็นพระผู้ไกลกิเลส ผู้ตรัสรู้ชอบเอง ดั่งนี้เป็นต้น

อันเรียกว่า นวหรคุณ คือคุณของพระพุทธเจ้า ๙ ประการ

นวหรคุณนี้ย่อลงก็เป็น ๓ ประการ ดังที่เราทั้งหลายสวดกันอยู่

ว่า พุทโธสุสุทโธ กรุณามหัณโว อันแปลว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเป็นพระ พุทโธ

คือพระผู้ตรัสรู้แล้ว อันแสดงถึงพระปัญญาคุณ

สุสุทโธ ทรงเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว อันแสดงถึงพระวิสุทธิคุณ

กรุณามหัณโว มีพระกรุณาดั่งห้วงทะเลหลวง อันแสดงถึงพระกรุณาคุณ

ก็คือย่อลงเป็นพระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ พระกรุณาคุณ

ก็ตั้งใจระลึกพิจารณาในพระคุณของพระพุทธเจ้า บทใดบทหนึ่งใน ๙ บทก็ดี

ย่อลงเป็นพระคุณทั้ง ๓ ดังกล่าวแล้วนี้ก็ดี

หรือว่าจะพิจารณาระลึกถึงพระคุณดังที่ท่านแสดงไว้อย่างอื่น

เช่นระลึกว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้มีพระสันดานแห่งธรรมอันบริสุทธิ์แล้ว

และที่เรียกว่าพระพุทธะ พระพุทธะ ก็เพราะตรัสรู้อย่างยอดเยี่ยม

เพราะประกอบเวไนยนิกรไว้ในธรรมะ

เพราะทรงปลุกให้ตื่นจากความหลับคือกิเลสมีความหลงเป็นต้น ดั่งนี้ก็ได้

ซึ่งก็รวมเข้าในพระปัญญาคุณ ในพระวิสุทธิคุณ ในพระกรุณาคุณนั้นเอง

และเมื่อ ... (เริ่ม ๑๒/๒ ) ในพระปัญญาตรัสรู้ของพระองค์

ในความบริสุทธิ์ของพระองค์ และในพระกรุณาของพระองค์ยิ่งขึ้น

ทำให้จิตใจได้พบสรณะคือที่พึ่งกำจัดทุกข์ภัยได้จริง

กำจัดกิเลสได้จริง กำจัดบาปอกุศลได้จริง

อันน้อมใจให้ใฝ่ปฏิบัติธรรมะตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน

เมตตาพรหมวิหาร

ฉะนั้นจึงมาถึงข้อที่ ๒ เมตตา ความแผ่จิตออกไปในสัตว์บุคคล

เจาะจงก็ตาม ไม่เจาะจงคือทั่วไปไม่มีประมาณก็ตาม ให้มีความสุข

ดังเช่นคิดว่าสัตว์ทั้งหลายจะเป็น นระ คือมนุษย์ก็ตาม เป็น อนระ คือมิใช่มนุษย์

คือเป็นพวกโอปปาติกะทั้งหลาย ทั้งที่เป็นฝ่ายสุคติ ทั้งที่เป็นฝ่ายทุคติก็ตาม

เป็นสัตว์เดรัจฉานก็ตาม ต่างก็พากันแสวงหาความสุข

จึงขอให้สัตว์ทั้งปวงพากันมีความสุข มีตนบรรลุถึงความสุข มีความเกษมสวัสดี

เมื่อหัดปฏิบัติแผ่เมตตาไปดั่งนี้ จะทำให้จิตใจนี้พ้นจากโทสะพยาบาท

เป็นจิตใจที่อ่อนโยน ที่สุภาพ ที่ไม่มุ่งร้ายต่อใครๆ แต่ว่ามีความมุ่งดีต่อใครๆ

อันทำให้ผู้ที่มีเมตตาอยู่ในจิตเอง มีความสุขความเย็น มองดูใครๆโดยรอบ

ก็มองดูด้วยสายตาที่มีความรักใคร่ปรารถนาดีมุ่งดี ไม่มุ่งทำลายล้าง

ผู้ปฏิบัติมีเมตตาขึ้นเองจึงได้พบความสุข ความเย็น

และก็ทำให้ผู้ที่อยู่ร่วมกันมีความสุขความเย็นด้วย

และนอกจากนี้ยังทำให้จิตใจยากที่จะกระทบกระทั่ง ง่ายต่อที่จะให้อภัยในความผิดพลาด

ล่วงเกินของผู้อื่น ไม่ถือโทษโกรธแค้น จะโกรธยาก ใจจะถูกกระทบกระทั่งให้โกรธได้ยาก

เพราะฉะนั้น จึงเป็นข้อที่ควรอบรมให้มีอยู่ประจำใจเนืองนิจ

อสุภกรรมฐาน

และมาถึงข้อที่ ๓ อสุภะ พิจารณากายนี้ว่าไม่งดงาม

กรรมฐานข้อนี้เป็นเครื่องระงับกิเลสกองราคะ

คือความกำหนัดยินดีติดอยู่ในกายตนในกายผู้อื่น

เพราะฉะนั้นจึงสอนให้พิจารณากายนี้ อันเป็นที่ตั้งของกิเลสกองราคะนี้

ว่าอันที่จริงนั้นเป็นสิ่งปฏิกูล ไม่สะอาดไม่งดงาม เพราะว่ากายนี้เป็นที่ประชุมแห่งศพ

มี ผม ขน เป็นต้น เป็นสิ่งที่พึงรังเกียจ โดยจะพึงพิจารณาเห็นได้โดย สี สัณฐาน เป็นต้น

ฉะนั้น จึงต้องมีการชำระ และการตกแต่งให้งดงามต่างๆ

แต่ก็ไม่สามารถจะกระทำให้สำเร็จไปได้ เพราะเป็นสิ่งที่ปฏิกูลไม่สะอาด

ไม่งดงามอยู่โดยธรรมชาติ เมื่อพิจารณาดั่งนี้ก็จะดับกิเลสกองราคะ

คือความติดอยู่ในกายลงได้ ทำให้มีความเบา มีความสบาย

มรณสติ

และอีกข้อหนึ่งเป็นข้อที่ ๔ คือ มรณสติ ระลึกถึงความตาย

ว่าความตายนั้นคือความเข้าไปตัด ชีวิตินทรีย์

ซึ่งความตายนี้เป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ของสัตว์ทั้งปวงในโลก

ส่วนชีวิตนั้นเป็นของไม่เที่ยงแท้ เพราะจะต้องมีความตายเป็นที่สุดด้วยกันทั้งหมด

และเมื่อพิจารณาถึงความตายซึ่งต้องมีแก่ตนเองด้วย แก่ผู้อื่นด้วยทุกๆคนในโลกผู้เกิดมา

ดั่งนี้แล้ว ก็จะทำให้จิตใจนี้สงบจากความประมาทมัวเมาเลินเล่อเผลอเพลินในชีวิต

แต่ว่าก็ไม่ได้มุ่งว่าจะให้กลัวตาย หรือจะให้หมดกำลังใจ

แต่มุ่งว่าเมื่อระลึกว่าความตายจะต้องมีแน่นอนดั่งนี้แล้ว ก็จะได้รีบเร่งประกอบกระทำกรณียะ

คือกิจที่ควรทำ ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ทำเสียตั้งแต่ในวันนี้ทีเดียว

ดั่งนี้ จึงจะชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในชีวิต และจะทำให้ได้ความรู้รับรองในคติธรรมดาของชีวิต

จะทำให้เป็นผู้ไม่กลัวตายเพราะเป็นธรรมดาของชีวิต

ความกลัวตายนั้นเพราะเหตุที่ไม่รับรองคติธรรมดาของชีวิต

แต่เมื่อรับรองคติธรรมดาของชีวิตด้วยปัญญา ก็จะทำให้ไม่กลัวตาย

และก็จะทำให้ไม่ประมาทไม่มัวเมาเลินเล่อเผลอเพลิน

ประกอบกรณียะคือกิจที่ควรทำไปทุกวัน ไม่ผัดหรือผลัดเอาไว้

ทั้ง ๔ ข้อนี้ คือ ๑ พุทธานุสสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ๒ เมตตา แผ่เมตตาจิตออกไป

อสุภะ พิจาณากายนี้ว่าเป็นของที่ไม่งดงามไม่สะอาด และ มรณสติ ระลึกถึงความตาย

เป็นอารักขกรรมฐาน คือกรรมฐานที่ควรรักษาไว้เนืองนิจ ปฏิบัติอบรมอยู่เนืองๆ

หัดระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้าอยู่เนืองๆ หัดแผ่เมตตาอยู่เนืองๆ

หัดพิจารณากายนี้ว่าเป็นของไม่งดงามไม่สะอาดอยู่เนืองๆ ระลึกถึงความตายอยู่เนืองๆ

เมื่อเป็นดั่งนี้จะเป็นเครื่องป้องกันอารมณ์และกิเลสร้ายทั้งหลายได้

แม้ว่าจะเกิดอารมณ์กิเลสขึ้นตามธรรมดาของสามัญชน

ก็สามารถจะใช้อารักขกรรมฐานนี้ระงับได้ เมื่ออารมณ์และกิเลสบังเกิดขึ้น

ก็ระลึกถึงกรรมฐานทั้ง ๔ ข้อนี้ทันที ข้อใดข้อหนึ่ง ก็จะทำให้ระงับใจได้

ทำให้จิตใจได้ความสงบได้ความสุข ตลอดจนถึงได้สมาธิตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นสูง

เป็นบาทของปัญญาที่จะเห็นธรรมะยิ่งขึ้นต่อไป

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

การอบรมปัญญา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความไม่ต่อกัน

ม้วนที่ ๑๒/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๓/๑ ( File Tape 10 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

การอบรมปัญญา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงความแห่งทางปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงโมกขะ

คือความพ้น อันหมายถึงพ้นกิเลสพ้นทุกข์

อันเริ่มด้วยปฏิบัติในปาริสุทธิศีลทั้ง ๔ อันได้แก่ความสำรวมในพระปาติโมกข์

ความสำรวมอินทรีย์คือตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ ความบริสุทธิ์แห่งการเลี้ยงชีพ

กับการพิจารณาปัจจัยทั้ง ๔ คือ ผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัยหรือการนั่งการนอน และยาแก้ไข้

ให้บริโภคเพื่อประโยชน์ที่ต้องการบำรุงเลี้ยงร่างกาย มิใช่เพื่อเพิ่มพูนกิเลสตัณหา

เพื่อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอันเรียกว่าพรหมจรรย์

และเมื่อได้ปฏิบัติในศีลเป็นภาคพื้น ก็ปฏิบัติในอารักขกรรมฐาน

คือกรรมฐานที่ควรรักษาไว้ให้มีประจำอยู่ในจิตใจเนืองนิจ

คือ พุทธานุสสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า เมตตา แผ่เมตตาปรารถนาให้เป็นสุข

อสุภะ พิจารณากายนี้ว่าไม่งดงาม และ มรณสติ ระลึกถึงความตาย

เมื่อจิตใจได้อารักขกรรมฐานนี้รักษา ย่อมเป็นจิตใจที่สงบตั้งมั่นอยู่เป็นอย่างดี

ต่อจากนี้จึงควรปฏิบัติกระทำวิปัสสนาคืออบรมปัญญาให้เห็นแจ้งรู้จริงสืบต่อไป

วิปัสสนา

การอบรมปัญญาให้รู้แจ้งเห็นจริงนั้น

เริ่มแต่กำหนดดูเข้ามาในตนเอง ให้รู้จักขันธ์ ๕ คือกองทั้ง ๕

อันได้แก่รูปขันธ์กองรูปคือรูปกายอันนี้ อันประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔

เวทนาขันธ์กองเวทนาคือความรู้สุขรู้ทุกข์ รู้ไม่ทุกข์ไม่สุข ทั้งทางกายทั้งทางใจ

สัญญาขันธ์กองสัญญาคือความจำได้หมายรู้

เช่น จำรูปจำเสียงจำกลิ่นจำรสจำโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง และจำเรื่องราวทางใจ

สังขารขันธ์กองสังขารคือความคิดปรุงหรือความปรุงคิด

ถึงเรื่องรูปบ้างเสียงบ้างกลิ่นบ้างรสบ้างโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องบ้าง

เรื่องทางใจต่างๆบ้าง ปรุงดีบ้าง ปรุงไม่ดีบ้าง ปรุงเป็นกลางๆบ้าง

วิญญาณขันธ์กองวิญญาณคือความรู้อันปรากฏเป็นความเห็นรูปความได้ยินเสียง

ความทราบกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง และความรู้เรื่องราวทางมนะคือใจต่างๆ

รวมเข้าเป็นขันธ์ ๕ ซึ่งทุกๆคนมีอยู่ และขันธ์ ๕ นี้ย่อลงก็เป็นรูปเป็นนาม

รูปขันธ์ก็เป็นรูป นามขันธ์ก็คือเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

กำหนดดูให้รู้จักขันธ์ ๕ อันย่อลงเป็นนามรูปที่ตนเอง

อุปาทานขันธ์

และขันธ์ ๕ นี้พระบรมศาสดาตรัสเรียกว่า อุปาทานขันธ์

ขันธ์คือกองอันเป็นที่ยึดถือว่านี่เป็นของเรา เราเป็นสิ่งนี้ สิ่งนี้เป็นอัตตาตัวตนของเรา

ย่อลงก็คือเป็นเราเป็นของเรา หรือว่าเป็นอัตตาตัวตนนั่นเอง

สามัญชนทุกคนก็ย่อมยึดถือขันธ์ ๕ นี้

หรือที่ย่อลงเป็นนามรูปว่าเป็นอัตตาตัวตน เป็นเรา เป็นของเรา

สังขาร

แต่ว่าขันธ์ทั้ง ๕ นี้ รวมเข้าก็เรียกว่าเป็น สังขาร คือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง

ซึ่งประกอบด้วยลักษณะของสิ่งผสมปรุงแต่ง

คือมีความเกิดขึ้นปรากฏ มีความเสื่อมสิ้นไปปรากฏ

เมื่อยังตั้งอยู่ก็มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นปรากฏ

เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสสอนให้พิจารณาเนืองๆว่า

เรามีความแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นไปได้

ที่เรียกว่าเราๆนี้ก็เป็นสมมติสัจจะที่ตรัสเรียกสัตว์บุคคลทั้งปวง

ตามที่ยึดถือกันว่าตัวเราของเรานี่แหละ

โดยตรงก็คือตรัสเรียกขันธ์อันเป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ นี้ของทุกๆคน

ว่าเมื่อเกิดมาแล้วก็จะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย

อันแสดงถึงลักษณะที่มีความเกิด ความเสื่อมสิ้นปรากฏ

และเมื่อตั้งอยู่ก็มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นปรากฏ

เมื่อลักษณะของสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลายเป็นดั่งนี้

เมื่อบุคคลยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา จึงต้องเป็นทุกข์ไปเพราะสังขารที่ยึดถือ

คือขันธ์ ๕ ที่ยึดถือนี้อยู่ตลอดเวลา

จึงต้องมีความโศก มีความคร่ำครวญรำพัน มีไม่สบายกายไม่สบายใจ

มีความคับแค้นใจ ที่เป็นตัวทุกข์ทางใจต่างๆอยู่ตลอดเวลา

เพราะว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือนี้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

แต่เมื่อจิตใจยังมีความยึดถืออยู่ ก็ย่อมยึดถือไว้ไม่ต้องการจะให้แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

เมื่อพบความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป อันเป็นไปโดยที่ไม่สมปรารถนา

จึงต้องเป็นทุกข์ร้อนต่างๆ น้อยหรือมาก ตามแต่ว่าจะยึดถือไว้น้อยหรือมากเพียงไร

และความยึดถือนี้เองก็เป็นตัวกิเลส ความทุกข์ต่างๆก็เป็นผลของกิเลส

และแม้จะยึดถือไว้เพียงไรขันธ์ ๕ นี้ก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายไปตามธรรมดานั้นเอง

เพราะฉะนั้นเมื่อไปยึดเอาไว้ที่จะไม่ให้แก่ไม่ให้เจ็บไม่ให้ตาย ก็ต้องเป็นทุกข์

ไตรลักษณ์

เหมือนที่จะยึดถือเวลาที่เปลี่ยนไปทุกขณะไม่ให้เปลี่ยนไป

เหมือนดังที่เรียกว่าจะยึดดวงอาทิตย์ไว้ไม่ให้โคจรไป ซึ่งเป็นไปไม่ได้

เพราะฉะนั้น จึงตรัสให้ทำวิปัสสนาคือให้รู้แจ้งเห็นจริง

หรือเห็นจริงรู้แจ้ง ในความจริงของขันธ์ ๕ อันเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง

โดยที่ตรัสสอนให้พิจารณาโดยไตรลักษณ์

คือลักษณะที่ไม่เที่ยง ลักษณะที่เป็นทุกข์ ลักษณะที่เป็นอนัตตา

เพราะว่าขันธ์ ๕ นี้ ย่อมประกาศลักษณะทั้งสามนี้อยู่ตลอดเวลา

หากว่าขันธ์ ๕ จะพูดได้ ขันธ์ ๕ ก็จะต้อง ... (จบเทป ๑๒/๒)

ข้อความไม่ต่อในม้วน 13/1 อยู่ใน Tape13 Doc