ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป018

การปฏิบัติในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

สติตามรู้จิต ๓

กามาวจรจิต ๔

จิตที่เป็นมหัตตา ๕

จิตที่เป็นสามัญ ๖

จิตเป็นอย่างไรก็ให้รู้ ๗

หลักปฏิบัติที่จะละกิเลสได้ ๘

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๙

ต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๒๑/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๒๑/๒ ( File Tape 18 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

การปฏิบัติในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จิตตภาวนาการอบรมจิต วิธีหนึ่งก็คือสติปัฏฐาน

การปฏิบัติตั้งสติในกายเวทนาจิตธรรม ทุกคนย่อมมีกายเวทนาจิตธรรมอยู่ด้วยกัน

และก็เรียกชื่อต่างๆเป็นขันธ์ ๕ บ้าง เป็นนามรูปบ้าง หรือเป็นกายใจบ้าง

ฉะนั้น การปฏิบัติตั้งสติในที่ตั้งทั้ง ๔ นี้จึงสามารถทำได้

และเป็นการสะดวกที่จะปฏิบัติได้ ทำได้ด้วย

เพราะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตนเอง ไม่ต้องแสวงหาที่ไหน แสวงหาแต่ตัวสติที่จะมาตั้ง

และเมื่อได้ตัวสติมาตั้งในกาย ก็ย่อมจะติดเวทนาจิตธรรมเข้ามาด้วย

แต่ว่ากายเป็นส่วนหยาบ ตั้งสติในกายจึงทำได้สะดวก

และเวทนาก็อยู่ที่กายจิตนี้เอง ตั้งสติในเวทนาก็เป็นการสะดวก

และเวทนานั้นเล่า ก็เนื่องกับจิต ฉะนั้น ตั้งสติเข้ามาในจิตก็ย่อมทำได้

และเมื่อได้สติในกายในเวทนา มาตั้งสติในจิตก็ย่อมจะทำได้สะดวกขึ้น

และแม้ว่าจะเริ่มตั้งสติในจิตเองทีเดียวก็ย่อมจะทำได้

สติตามรู้จิต

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ตั้งสติตามรู้จิต ตามเห็นจิต

ดังที่ตรัสสอนเอาไว้ว่า จิตมีราคะความติดใจยินดี ก็ให้รู้ว่าจิตมีราคะ

จิตปราศจากราคะ ก็ให้รู้ว่าจิตปราศจากราคะ

จิตมีโทสะความโกรธแค้นขัดเคือง ก็ให้รู้ว่าจิตมีโทสะ

จิตปราศจากโทสะ ก็ให้รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ

จิตมีโมหะคือความหลง ก็ให้รู้ว่าจิตมีโมหะคือความหลง

จิตปราศจากโมหะ ก็ให้รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ

จิตฟุ้ง ก็ให้รู้ว่าจิตฟุ้ง จิตหดหู่ ก็ให้รู้ว่าจิตหดหู่ จิตฟุ้งก็ให้รู้ว่าจิตฟุ้ง

จิตกว้างใหญ่ก็ให้รู้ว่าจิตกว้างใหญ่ จิตไม่กว้างใหญ่ก็ให้รู้ว่าจิตไม่กว้างใหญ่

จิตยิ่งก็ให้รู้ว่าจิตยิ่ง จิตไม่ยิ่งก็ให้รู้ว่าจิตไม่ยิ่ง

จิตตั้งมั่นก็ให้รู้ว่าจิตตั้งมั่น จิตไม่ตั้งมั่นก็ให้รู้ว่าจิตไม่ตั้งมั่น

จิตหลุดพ้นก็ให้รู้ว่าจิตหลุดพ้น จิตไม่หลุดพ้นก็ให้รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น

ตามที่ตรัสสอนไว้นี้เป็นการตรัสสอนจิตทุกระดับ

ทั้งที่เป็น กามาวจรจิต จิตที่หยั่งลงในกาม รูปาวจรจิต จิตที่หยั่งลงในรูปฌานสมาธิ

อรูปาวจรจิต จิตที่หยั่งลงในอรูปฌานสมาธิ โลกุตรจิต จิตที่เป็นโลกุตรคือพ้นโลก

เพราะบุคคลผู้ปฏิบัติย่อมมีภูมิชั้นต่างๆกัน อันหมายถึงว่าภูมิชั้นของจิตนั้นเอง

ภูมิชั้นที่เป็นกามาพจรก็มี รูปาพจรก็มี อรูปาพจรก็มี และที่เป็นโลกุตรก็มี

ว่าถึงสามัญชนซึ่งจิตยังเป็นกามาวจรจิต คือจิตที่หยั่งลงในกาม

อันหมายความว่ายังละสัญโยชน์กิเลสไม่ได้

เพราะฉะนั้นจิตจึงยังท่องเที่ยวไปในกามารมณ์ อารมณ์ที่เป็นกาม

คืออารมณ์ที่ใคร่ที่ปรารถนาทั้งหลาย ดังสามัญชนทั่วไป

จิตที่อยู่ในภาวะดั่งนี้ จึงเป็นจิตที่มีราคะบ้าง มีโทสะบ้าง มีโมหะบ้าง

เป็นจิตที่หดหู่หรือฟุ้งซ่านบ้าง และเป็นจิตที่ไม่กว้างใหญ่ เป็นจิตที่ไม่ยิ่ง

เป็นจิตที่ยังไม่ตั้งมั่น เป็นจิตที่ยังไม่หลุดพ้น

กามาวจรจิต

สำหรับจิตที่ยังมีราคะโมสะโมหะ ที่หดหู่ หรือที่ฟุ้งซ่านนั้น ก็เป็นที่เข้าใจกันอยู่

จิตที่ไม่กว้างใหญ่นั้นก็หมายความว่ายังเป็นจิตที่คับแคบนั้นเอง

และจิตที่คับแคบนั้นก็หมายถึงว่าจิตที่ยังท่องเที่ยวไปในกามทั้งหลาย คือในวัตถุกาม

อันได้แก่รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย

ด้วยอำนาจของกิเลสกาม จิตดั่งนี้เรียกว่าจิตคับแคบ

ก็เพราะว่าอันกามาวจรจิตนั้นย่อมประกอบด้วยกามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา

คือรักใคร่ปรารถนาพอใจในอารมณ์คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ

และดิ้นรนต้องการที่จะเป็นเจ้าเข้าเจ้าของในกาม คือสิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจนั้น

และก็ดิ้นรนที่จะกำจัดทำลายบุคคลหรือสิ่งที่ขัดขวางทั้งหลาย

หรือว่าที่จะแย่งชิงเอาสิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจไป

เพราะฉะนั้นบุคลจึงมีมัจฉริยะ คือความตระหนี่เหนียวแน่น

หรือว่ามีความหึงหวงต่างๆ เพราะต้องการที่จะรักษาไว้เป็นของๆตน

ไม่ยอมที่จะให้เฉลี่ยเผื่อแผ่ไป ต้องการที่จะให้เป็นของๆตนเท่านั้น

เพราะฉะนั้นจึงคับแคบ ไม่กว้างใหญ่ จำเพาะตน คือจำเพาะตนเท่านั้น

เพราะฉะนั้น กามาวจรจิตนี้จึงทำให้อัตตาคือตัวตนนี้คับแคบ ไม่กว้างใหญ่

ตรงกันข้ามกับจิตที่กว้างใหญ่ คือจิตที่มีเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา

แผ่ไปในตนเอง และในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า

การแผ่ไปนี้ของเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา เมื่อแผ่ไปโดยเจาะจงก็แปลว่ากว้างออกไป

แต่ว่ายังไม่หมด ต่อเมื่อแผ่ไปโดยไม่เจาะจงเป็นอัปปมัญญา ไม่มีประมาณ จึงจะกว้างขวาง

และจะกว้างขวางเท่าไรนั้น ก็สุดแต่ว่าจะสามารถแผ่จิตออกไปด้วยเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา

ได้กว้างขวางเป็นไม่มีประมาณเพียงไร

จิตที่เป็นมหัตตา

จิตที่ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรมทั้ง ๔ ประการนี้เรียกว่า มหัตตา ก็ได้ แปลว่าตนใหญ่

คือว่าอัตตาตัวตนเรานี้ เมื่อยังมิได้ปฏิบัติแผ่เมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาออกไปให้กว้างขวาง

ก็เป็นตัวที่คับแคบเท่ากับกายเนื้ออันนี้ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา

เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบเท่านี้

แต่ว่าเมื่อแผ่ออกไปซึ่งพรหมวิหารธรรมได้กว้างขวาง มุ่งให้สรรพสัตว์ทั้งหลายมีความสุข

ปราศจากทุกข์ มุ่งให้รักษาสมบัติที่ได้ไม่ให้เสื่อม และมุ่งให้มีความที่มีกรรมเป็นของๆตน

จึงมีจิตใจที่เที่ยงธรรม ใครทำกรรมดีก็ได้รับผลดี ใครทำกรรมชั่วก็ได้รับผลชั่ว

วางใจเป็นกลางลงไปได้ ไม่ว่าในตนเอง ไม่ว่าในบุคคลอื่นที่อยู่ใกล้ก็ตาม อยู่ไกลก็ตาม

เมื่อทำดีก็ได้ผลดี ทำชั่วก็ได้ผลชั่ว วางใจลงไปได้ดั่งนี้เป็นกลาง

และก็มีเมตตากรุณาที่จะให้พากันละความชั่วประกอบความดี

เพื่อที่จะได้มีสุขพ้นจากทุกข์ทั่วกัน และก็ยินดีในความดีและผลดีที่ทุกคนได้รับอีกด้วย

เพราะฉะนั้นในตนเองฉันใด ในผู้อื่นก็ฉันนั้น ในผู้อื่นฉันใด ในตนเองก็ฉันนั้น

เพราะฉะนั้นจึงมีจิตที่แผ่ไปด้วยเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาในสรรพสัตว์

เหมือนอย่างที่มีเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาในตน

เพราะฉะนั้นจึงเท่ากับว่าขยายขอบเขตแห่งความเมตตาในตนออกไปอย่างกว้างขวาง

ตลอดจนถึงไม่มีประมาณ คนอื่นหรือตนก็เหมือนอย่างเป็นบุคคลเดียวกัน ไม่แตกต่างกัน

หวังดีต่อตน หวังดีต่อผู้อื่นเหมือนกัน คิดจะช่วยตน คิดจะช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกข์เหมือนกัน

ยินดีในความสุขความเจริญของตน และในผู้อื่นเหมือนกัน

และก็วางใจลงไปเป็นกลางในตนในผู้อื่นเหมือนกันในกรรม

เพราะฉะนั้นจึงเท่ากับว่าตนเองและผู้อื่น ทั้งมนุษย์และเดรัจฉานนั้นเป็นคนเดียวกันไปทั้งโลก

เพราะฉะนั้นจึงมีตัวใหญ่ครอบไปทั้งโลก เพราะมีเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขาครอบไปทั้งโลก

ดั่งนี้ ก็คือว่ามหัตตาตัวใหญ่ ตัวใหญ่ด้วยพรหมวิหารธรรมที่แผ่ครอบออกไปได้ทั้งหมด

เป็นการปฏิบัติดับพยาบาท ดับสิเนหาได้ด้วยเมตตา ดับวิหิงสาความเบียดเบียน

และโทมนัสความทุกข์ใจเพราะความทุกข์ของผู้อื่นได้ด้วยกรุณา

ดับอรติความริษยา และโสมนัสความที่ยินดีอยากจะได้บ้าง

ในความสุขความเจริญของผู้อื่นด้วยมุทิตา ดับราคะปฏิฆะคือความชอบความชัง

และความวางเฉยด้วยความไม่รู้ได้ด้วยอุเบกขา

จิตของผู้ที่ได้ปฏิบัติจนบรรลุถึงภาวะเป็นมหัตตาดั่งนี้เป็นจิตที่กว้างขวาง

แต่ว่าถ้าไม่มีพรหมวิหารธรรมก็เป็นจิตที่คับแคบ

ถ้ามีพรหมวิหารธรรมไปได้เท่าไหร่ จิตก็กว้างขวางไปได้เท่านั้น

จิตที่เป็นสามัญ

และจิตที่ไม่ยิ่งก็คือเป็นจิตที่เป็นสามัญ

จิตของที่เป็นสามัญชนทั่วไป ที่เป็นกามาพจรทั่วไป ไม่มีการปฏิบัติในสมาธิ

ที่จะทำจิตให้ได้สมาธิ จะเป็นอุปจาระสมาธิ จนถึงอัปปนาสมาธิก็ตาม

เพราะฉะนั้นจิตจึงไม่แตกต่างไปจากจิตสามัญชนทั้งปวง ดั่งนี้เป็นจิตที่ไม่ยิ่ง

และจิตที่ไม่ยิ่งนี้ยังหมายตลอดจนถึงที่ยังไม่เป็นโลกุตรจิตด้วย

ส่วนจิตที่ยิ่งนั้นตรงกันข้าม นับตั้งแต่จิตที่ได้ทำสมาธิ จิตที่มีสมาธิ

ตลอดจนถึงที่เป็นโลกุตรจิต กล่าวคือที่ปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญาสมบูรณ์ขึ้นไป

เป็นจิตที่ครอบงำกิเลสได้ตามภูมิตามชั้น

เพราะฉะนั้นจึงสรุปว่า จิตที่ไม่ยิ่งนั้นคือจิตที่ยังครอบงำกิเลสอะไรไม่ได้

ยังละกิเลสอะไรไม่ได้ จะเป็นการละชั่วคราวก็ตาม จะเป็นการละอย่างเด็ดขาดก็ตาม

เป็นจิตที่ยังมีราคะโทสะโมหะอยู่นั้นเองเป็นจิตที่ไม่ยิ่ง

แต่จิตที่ยิ่งนั้นคือจิตที่ครอบงำกิเลสได้ตามภูมิตามชั้น เช่นครอบงำกิเลสอย่างหยาบได้ด้วยศีล

กิเลสอย่างกลางได้ด้วยสมาธิ และกิเลสอย่างละเอียดได้ด้วยปัญญา

ทั้ง ๓ นี้ก็รวมกันช่วยกันสำหรับที่จะครอบงำกิเลสทั้งปวงได้ ดั่งนี้ก็เป็นจิตยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ

แต่ถ้าหากว่ายังปฏิบัติอะไรไม่ได้ตามสมควร ยังแพ้กิเลสอยู่เรื่อยดั่งนี้ก็ไม่ยิ่ง

ชนะกิเลสบ้างตั้งแต่น้อยจนถึงใหญ่นั่นแหละจึงยิ่ง

เพราะฉะนั้นทุกคนก็สังเกตุดูจิตของตัวเองได้

เมื่อยังแพ้โลภแพ้โกรธแพ้หลง แพ้ราคะแพ้ตัณหาอยู่ก็เป็นจิตที่ไม่ยิ่งอะไร

แต่ว่าถ้าเอาชนะได้แม้แต่น้อยหนึ่งก็ยิ่งขึ้นมาน้อยหนึ่ง ก็ยังดี

เพราะฉะนั้นก็หัดปฏิบัติที่จะเอาชนะกิเลสให้ยิ่งๆขึ้นไป ดั่งนี้ก็เป็นจิตยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ

คราวนี้จิตที่ตั้งมั่นก็คือจิตที่สมาธิ ไม่ตั้งมั่นก็คือเป็นจิตที่ไม่มีสมาธิ

จิตที่หลุดพ้นก็คือจิตที่พ้นกิเลสได้ ชั่วคราวก็ตาม ได้เด็ดขาดก็ตาม ที่ไม่พ้นก็ยังพ้นไม่ได้

จิตเป็นอย่างไรก็ให้รู้

เพราะฉะนั้นภาวะของจิตของบุคคลจึงมีต่างๆ

ที่พระพุทธเจ้ามาตรัสสอนประมวลเอาไว้ในทางปฏิบัตินั้น

ก็ให้เอาปัจจุบันธรรมนี่เป็นประการสำคัญ คือจิตที่เป็นปัจจุบันเป็นอย่างไร

ถ้ามีราคะก็ให้รู้ว่ามีราคะ ไม่มีราคะคือยังสงบอยู่ ก็ให้รู้ว่าไม่มี

มีโทสะก็ให้รู้ว่ามีโทสะ สงบไม่มีก็ให้รู้ไม่มี มีโมหะก็ให้รู้ว่ามีโมหะ

สงบอยู่ก็ให้รู้ว่าไม่มีโมหะ อันหมายถึงจิตที่เป็นไปอยู่ทั่วไป

ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจะมีกิเลสที่เป็นอาสวะอนุสัยอยู่หรือไม่

เพราะเมื่อยังละสัญโญชน์ไม่ได้ก็ยังเป็นจิตสามัญ แม้จะสงบก็ยังมีราคะอนุสัย

มีโทสะอนุสัย โมหะอนุสัย มีอาสวะต่างๆอยู่ อันเป็นกิเลสอย่างละเอียด

เหมือนอย่างมีตะกอนนอนอยู่ก้นตุ่ม แม้น้ำข้างบนจะใส แต่ตะกอนก็ยังอยู่

หลักปฏิบัติที่จะละกิเลสได้

เพราะฉะนั้น ในขั้นปฏิบัติทั่วไปนี้ก็เอาในพื้นจิตสามัญนี่แหละ

จิตเป็นอย่างไรก็ให้รู้อย่างนั้น พยายามที่จะให้รู้จิตของตนอยู่ตลอดเวลา

ความที่พยายามที่จะให้รู้จิตของตนอยู่ดั่งนี้ เป็นหลักปฏิบัติพุทธศาสนาที่จะละกิเลสได้

เพราะว่าเมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะพบว่าโดยมากนั้นไม่ได้ดูจิตของตนว่าเป็นอย่างไร

แต่ว่าไปดูยึดถืออารมณ์ที่เข้ามา และก็ติดอยู่ในราคะโทสะโมหะ

ในโลภะในตัณหาที่บังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ในอารมณ์นั้นๆ แต่ไม่ได้ดูเข้ามาถึงตัวจิต

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงได้ถูกกิเลสและอารมณ์ครอบงำอยู่เป็นอันมาก

เพราะไม่ได้ดูเข้ามา แต่ดูออกไปในภายนอก

เพราะความยึดถือดึงจิตออกไปเกี่ยวเกาะอยู่กับอารมณ์ทั้งปวง และกับกิเลสทั้งปวง

เพราะฉะนั้นจึงได้บังเกิดกิเลส และได้บังเกิดความทุกข์ต่างๆ

อันทำจิตนี้ให้ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย และให้ดูเหมือนว่ารักษายากห้ามยาก

ซี่งว่าดูเหมือนว่านั้นก็เพราะความจริงไม่ใช่ว่ารักษาไม่ได้ห้ามไม่ได้

( เริ่ม ๒๑/๒ ) แต่เพราะการที่ปล่อยจิต แต่ว่าไม่เชื่อฟังคำห้ามปรามตักเตือน

พระพุทธเจ้าจะทรงห้ามปรามตักเตือนก็ไม่เชื่อฟัง แต่ว่าไปเชื่อฟังกิเลสตัณหาต่างๆ

จึงได้ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปต่างๆดังที่ปรากฏ

เพราะฉะนั้นเมื่อมาหัดปฏิบัติหันเข้ามามองดูจิตเองว่าเป็นยังไงในปัจจุบัน

เพราะในเวลาปัจจุบันนี้ก็เห็นอะไรๆอยู่ ได้ยินอะไรๆอยู่

ได้ทราบกลิ่นทราบรสทราบโผฏฐัพพะอะไรๆอยู่ และได้คิดได้นึกถึงเรื่องอะไรๆอยู่

ก็ดูเข้ามาว่าจิตนี้กำลังคิดอะไร และจิตเป็นยังไง ดูให้รู้

เหมือนอย่างพี่เลี้ยงที่เลี้ยงเด็ก แล้วก็ปล่อยให้เด็กอยู่ข้างหน้า

เด็กจะเดินจะยืนจะนอนจะนั่งอย่างไรก็รู้ มองเห็น เด็กจะวิ่งไปทางไหนก็รู้ก็มองเห็น ให้รู้

และความรู้จิตดั่งนี้เองก็เป็นอันนำจิตเข้ามารู้จิตของตนว่าเป็นอย่างไร

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เมื่อเป็นการนำจิตเข้ามารู้จิตของตนว่าเป็นอย่างไรดั่งนี้

ก็เป็นอันว่าได้ปล่อยความยึดอยู่ในอารมณ์ และในกิเลสทั้งหลาย

ซึ่งได้เคยยึดเอาไว้ และดิ้นรนไปอย่างไม่ลืมหูลืมตาว่าตัวเองนั้นดิ้นรนไปยังไง

แต่ว่าเมื่อกลับมีสติมาดูจิตว่าจิตตัวเองนั้นดิ้นรนไปยังไง คือมาดูตัวเอง

เหมือนอย่างพี่เลี้ยงดูเด็กที่เลี้ยงดูดังที่กล่าวนั้น ก็จะเห็นจิต ว่าคิดยังงั้นคิดยังงี้

รักยังงี้ ชังยังโง้น หลงอย่างนั้นเป็นต้น

และเมื่อจิตได้ถูกดูดั่งนี้

อันหมายความว่ากิเลสและอารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตได้ถูกดูถูกมองดั่งนี้แล้ว ก็จะสงบตัวลงไปเอง

และเมื่อสงบตัวลงไปแล้ว อันหมายความว่ากิเลสสงบลง อารมณ์สงบลง จิตสงบลง

จิตก็ตั้งมั่นอยู่ในภายใน เหมือนอย่างเด็กที่พี่เลี้ยงๆดู วิ่งไปทางโน้นวิ่งไปทางนี้

และเมื่อพี่เลี้ยงดูอยู่ดั่งนี้ในที่สุดเด็กนั้นเหนื่อยเข้าก็นั่งสงบ ทีแรกวิ่ง เหนื่อยเข้าก็เดิน

เหนื่อยเข้าก็หยุดยืน เหนื่อยเข้าก็นั่ง เหนื่อยเข้าก็นอน ก็เป็นอันว่าหมดเรื่องกันไป

อารมณ์ก็สงบ กิเลสก็สงบ จิตก็ตั้งมั่นอยู่ในภายใน

หัดปฏิบัติดูจิตให้ค่อยๆสงบเข้ามาตั้งมั่นอยู่ในภายในดั่งนี้ ก็เป็นสมาธิได้

เป็นอุปจาระสมาธิก็ได้ เป็นอัปปนาสมาธิก็ได้

ดั่งนี้เป็นการปฏิบัติในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานได้โดยตรงประการหนึ่ง

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

วิธีปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔

นิวรณ์ ๕

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ธรรมาธิปไตย ๒

สุปฏิปันนะ ๓

ความมุ่งหมายของการปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๓

สติปัฏฐาน ๒ วิธี ๕

ปฏิบัติโดยลำดับ ๕

กายที่เป็นปัจจุบันธรรม ๖

เวทนาที่เป็นปัจจุบันธรรม ๖

จิตที่เป็นปัจจุบันธรรม ๗

ธรรมะที่เป็นปัจจุบันธรรม ๗

นิวรณ์ ๕ ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดนิดหน่อย

ม้วนที่ ๒๑/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๒๒/๑ ( File Tape 18 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

วิธีปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔

นิวรณ์ ๕

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้รู้ผู้เห็นจริงแจ้งในธรรมะทั้งปวง

ได้ทรงแสดงสั่งสอนเพื่อให้บุคคลผู้ปฏิบัติธรรมะที่ทรงสั่งสอน พ้นจากกิเลสและกองทุกข์

แต่ทั้งนี้ ทุกคนก็ต้องปฏิบัติด้วยตนเอง เพราะพระองค์ได้ตรัสไว้ว่า อัคขาตาโร ตถาคตา

พระตถาคตทั้งหลายเป็นผู้บอก ท่านทั้งหลายต้องปฏิบัติเองจึงจะหลุดพ้นได้

ธรรมาธิปไตย

แต่ว่าในการปฏิบัตินั้น ในเบื้องต้นก็จะต้องทำความรู้สึกสำนึกรับ

ว่าปฏิบัติเพื่อผลตามที่ทรงสั่งสอน มิใช่เพื่อผลตามที่ตนกำหนดเอาเอง

กล่าวอีกอย่างหนึ่ง การปฏิบัตินั้นต้องมิให้มีโลกเป็นใหญ่ อันเรียกว่าโลกาธิปไตย

มิให้ตนเป็นใหญ่อันเรียกว่าอัตตาธิปไตย ต้องให้มีธรรมะเป็นใหญ่อันเรียกว่าธรรมาธิปไตย

ดั่งนี้ จึงจะปฏิบัติให้ได้รับผลเป็นความพ้นกิเลสและกองทุกข์ไปได้โดยลำดับ

สุปฏิปันนะ

แต่ว่าบุคคลผู้ปฏิบัติเป็นอันมากก็คิดว่ามุ่งธรรมะเป็นใหญ่

แต่ว่าการปฏิบัตินั้นแม้เป็นการปฏิบัติที่เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา

แต่ว่ายังปฏิบัติด้วยกิเลส คือมีตัณหาความอยากความต้องการในผลของการปฏิบัตินั้น

มิใช่มุ่งสิ้นกิเลสและกองทุกข์โดยตรง

ฉะนั้น แม้จะเป็นสุปฏิปัติ ปฏิบัติดี ก็ต้องให้เป็นอุชุปฏิปัติ ปฏิบัติตรง

ตรงต่อความมุ่งหมายแห่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าด้วย

และเมื่อปฏิบัติตรงจึงจะเป็นญายะปฏิปัติ ปฏิบัติที่จะให้บรรลุถึงผล

อันเป็นความถูกต้องขึ้นไปได้ตามภูมิตามชั้น

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะเป็นสามีจิปฏิบัติ ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติเหมาะ

อันเป็นการปฏิบัติที่แสดงไว้ในพระสังฆคุณ

พระอริยสงฆ์ทั้งหลายคือหมู่แห่งสาวกผู้เป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า

ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติที่บรรลุความเป็นอริยบุคคล

ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป ก็ต้องเป็นผู้ที่ชื่อว่าสุปฏิปันนะ ปฏิบัติดีแล้ว

ก็คือปฏิบัติศีลให้เป็นศีล ปฏิบัติสมาธิให้เป็นสมาธิ ปฏิบัติปัญญาให้เป็นปัญญา

ความมุ่งหมายของการปฏิบัติในสติปัฏฐาน

การปฏิบัตินั้นก็เป็นอันว่าก็ถูกต้องนั่นแหละ

แต่ว่าก็ต้องให้เป็นอุชุปฏิปันนะปฏิบัติตรงแล้วด้วย

คือมีความมุ่งหมายตรงต่อความสิ้นกิเลสและกองทุกข์

หรือตามที่ได้ตรัสแสดงถึงความมุ่งหมายของการปฏิบัติในสติปัฏฐานไว้ว่า

สัตตานังวิสุทธิยา เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย

โสกะปริเทวานัง สมติกมายะ เพื่อล่วงความโศกความปริเทวะทั้งหลาย

ทุกขโทมนัสสานัง อัตทังขมายะ เพื่อดับทุกข์โทมนัสทั้งหลาย

ญายัสสะ อธิกมายะ เพื่อบรรลุธรรมะที่พึงบรรลุอันถูกต้องไปตามภูมิชั้น

และสามีจิปฏิปันนะปฏิบัติที่ชอบเหมาะ และก็ต้องปฏิบัติแล้วคือสำเร็จ

ละสัญโยชน์ได้ตั้งแต่ ๓ ขึ้นไป จึงนับเข้าพวกเป็นอริยสงฆ์

แต่ในขณะที่กำลังปฏิบัติอยู่ แม้จะยังไม่นับเข้าในอริยสงฆ์ ก็นับเข้าในกัลยาณชน

เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่าปฏิบัติได้ถูกต้อง

แต่ที่จะเป็นกัลยาณชนได้ก็จะต้องประกอบด้วยหลักทั้ง ๔ ประการนี้ คือดีตรงและถูกต้อง

คือบรรลุความถูกต้องขึ้นไปเป็นชั้นๆ และชอบเหมาะตามที่แสดงไว้ในพระสังฆคุณ

เพราะฉะนั้นจึงต้องหมั่นพิจารณาให้รู้จักตนเอง

และในการที่จิตจะพิจารณาให้รู้จักตนเองนั้น

ก็จะต้องพิจารณาดูที่จิตใจนี้เองเป็นประการสำคัญ ว่าใจดำเนินไปในทางไหน

ใจดำเนินไปในทางก่อกิเลสและกองทุกข์ หรือดำเนินไปในทางดับกิเลสและกองทุกข์

ถ้าดำเนินไปในทางก่อกิเลสและกองทุกข์แล้ว ถึงคิดว่าจะปฏิบัติในศีลในสมาธิอย่างไร

ก็ยากที่จะดับกิเลสและกองทุกข์ได้ เหมือนอย่างหันหน้าเดินเข้าไปสู่ไฟ ก็จะต้องร้อนเข้าๆ

จะพบความเย็นนั้นก็จะต้องเดินหันหน้าออกมาจากไฟ หันหลังให้ไฟ ให้ห่างไฟออกไป

จึงจะพบความเย็นขึ้นโดยลำดับ เพราะฉะนั้นจึงต้องพิจารณาดูที่จิตใจของตน

และปรับปรุงการปฏิบัติให้มุ่งตรงต่อผลที่ต้องการ ให้เป็นอุชุปฏิปัติ ปฏิบัติตรง

ในการปฏิบัติเพื่อที่จะนำจิตให้ตรงดังกล่าวนี้

พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงแสดงสั่งสอนเอาไว้ทุกข้อทุกบท

และบทที่มาปฏิบัติกันอยู่เป็นอันมากก็คือสติปัฏฐานทั้ง ๔

ตั้งใจปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ ตั้งสติพิจารณากายเวทนาจิตและธรรมะ

ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเอาไว้ที่ตนเอง

เพราะทุกคนก็มีกายมีเวทนามีจิตมีธรรมเป็นไปอยู่เป็นประจำ

รวมกันเข้าเป็นอัตภาพอันนี้ ก็คือกายเวทนาจิตธรรมนั้นเอง

พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนให้หยิบขึ้นมาพิจารณาซึ่งอัตภาพอันนี้

โดยเป็นสติปัฏฐาน ๔ บ้าง โดยเป็นขันธ์ ๕ บ้าง โดยเป็นนามรูปบ้าง เป็นต้น

ตามแต่จะเหมาะต่อปริยายคือทางแห่งธรรมที่ทรงแสดง

แต่ก็รวมอยู่ในก้อนอัตภาพ ก้อนกายใจอันนี้นั่นแหละ ไม่นอกไปจากก้อนกายและใจอันนี้

และก้อนกายใจอันนี้ หรือก้อนกายก้อนเวทนาก้อนจิตก้อนธรรมอันนี้

ก็เป็นไปอยู่ดำเนินไปอยู่ เป็นตัวชีวิตอยู่ทุกขณะ

สติปัฏฐาน ๒ วิธี

ฉะนั้นจะจับข้อไหนขึ้นมาพิจารณาแต่ละข้อก็ได้ จะพิจารณาให้เนื่องกันไปโดยลำดับก็ได้

และในการที่ชื่อว่าได้บรรลุถึงสติปัฏฐานตั้งสติ จนสติตั้งขึ้นมาได้นั้น

เมื่อจับขึ้นมาข้อใดข้อหนึ่งแล้ว ก็เป็นอันว่าได้จับขึ้นมาทั้งหมดทุกข้อ

เพราะรวมอยู่ในที่อันเดียวกัน หรือในก้อนอันเดียวกัน

ในเบื้องต้นจะจับข้อไหนขึ้นมา ก็สุดแต่ปัจจุบันธรรมในขณะนั้น

และสุดแต่วิธีปฏิบัติของผู้ปฏิบัติ

ปฏิบัติโดยลำดับ

เกี่ยวแก่วิธีปฏิบัติของผู้ปฏิบัตินั้น ก็เช่นผู้ปฏิบัติต้องการที่จะให้ดำเนินขึ้นไปโดยลำดับ

ก็จับพิจารณากายเช่นกำหนดลมหายใจเข้าออก ก็ย่อมจะได้สติในกาย

และเมื่อได้สติในกาย เวทนาอันเป็นผลของการปฏิบัติก็จะปรากฏ ก็จับเวทนาขึ้นมา

เมื่อจับเวทนาขึ้นมาพิจารณาเวทนาสงบ จิตก็จะปรากฏ ก็จับจิตขึ้นมา

เมื่อจับจิตขึ้นมาก็จะมองเห็นธรรมะในจิต ก็จับธรรมะในจิตขึ้นมาพิจารณาต่อไป

เวทนาจิตและธรรมะที่ปรากฏขึ้นมาโดยลำดับนี้

ก็เป็นตัวสติปัฏฐานที่ละเอียดขึ้นไปโดยลำดับนั้นเอง

วิธีนี้ก็ดังที่ตรัสสอนไว้ในหมวดที่เรียกว่าอานาปานาสติ ๑๖ ชั้น

กายที่เป็นปัจจุบันธรรม

อีกอย่างหนึ่งจับพิจารณาที่เป็นปัจจุบันธรรม

อันที่จริงนั้นกายเวทนาจิตธรรมของบุคคล ก็เป็นปัจจุบันธรรมอยู่ทุกข้อ

ดังทุกคนในบัดนี้ก็มีกายมีเวทนามีจิตมีธรรมเป็นไปอยู่เป็นปัจจุบัน

แต่ว่าแม้จะเป็นปัจจุบันธรรมทุกข้อก็ตาม ในบางคราวข้อใดข้อหนึ่งก็ปรากฏชัด

สำหรับข้อกายคือลมหายใจเข้าออกนั้นย่อมชัดอยู่เสมอ กำหนดเมื่อไรก็จะพบเมื่อนั้น

เพราะต้องหายใจอยู่เสมอ และการที่หายใจนั้นก็ปรากฏอยู่ที่ร่างกาย

ที่มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาจึงปรากฏอยู่ตลอดเวลา

จึงเป็นการง่ายที่ทุกคนจะจับเอาลมหายใจขึ้นมาตั้งต้น

เวทนาที่เป็นปัจจุบันธรรม

ส่วนเวทนานั้นถ้าร่างกายเป็นปรกติ จิตใจเป็นปรกติ

ซึ่งทำให้เวทนาเองนั้นก็เป็นปรกติ เหมือนอย่างเป็นเวทนาที่เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

คือทุกคนก็ไม่รู้สึกว่าเป็นสุขอะไร ไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์อะไร ก็ไม่ค่อยจะนึกถึงเวทนา

เหมือนอย่างมีท้องถ้าไม่ปวดท้อง ก็ไม่ได้นึกว่ามีท้อง เหมือนท้องไม่มี

ลมหายใจเข้าลมหายใจออก หายใจเข้าหายใจออกอยู่เป็นปรกติอยู่ ก็ไม่รู้สึก

ก็เหมือนอย่างไม่ต้องหายใจ ไม่ได้นึกถึงลมหายใจ

แต่ครั้นว่าเป็นหวัดลมหายใจขัดเข้า จึงจะรู้สึกเป็นทุกข์

หรือว่าเมื่อไปได้อากาศที่ดีๆ มีความสดชื่นจึงจะรู้สึกว่าเป็นสุข

เพราะฉะนั้น เวทนาจึงจะปรากฏเป็นสุขเป็นทุกข์ให้ชัดขึ้นมา

หรือบางทีจิตใจเองรับอารมณ์เป็นปรกติ ก็รู้สึกเป็นปรกติ

เวทนาก็เหมือนอย่างเป็นกลางๆ ก็ไม่สุขไม่ทุกข์อะไร

แต่บางคราวประสบอารมณ์แรงทางสุข ก็ทำให้ใจสบาย หรือว่าประสบอารมณ์แรงทางทุกข์

ก็ทำให้ใจเป็นทุกข์ มีความโศกมีความคับแค้นต่างๆ ดั่งนี้เวทนาก็ปรากฏชัด

เพราะฉะนั้นเมื่อเวทนาปรากฏชัด จะเป็นสุขเวทนาปรากฏชัดมากไปก็ต้องกำหนดระงับเสีย

หรือว่าเป็นทุกขเวทนาปรากฏชัดมากไปก็ต้องพิจารณาระงับเสีย

จิตที่เป็นปัจจุบันธรรม

ก็จับเวทนาขึ้นมา และก็เนื่องไปถึงจิตเองอีกนั่นเอง จิตเองเป็นตัวที่กินสุขกินทุกข์

เป็นตัวที่รับสุขรับทุกข์ จึงต้องกำหนดดูจิตใจที่เป็นไปอย่างไร เพราะเหตุแห่งเวทนานั้น

ก็เพราะว่าเวทนานี้เองเป็นตัวปรุงให้บังเกิดเป็นกิเลสข้อใดข้อหนึ่งขึ้นได้

สุขเวทนาก็ปรุงให้เกิดราคะขึ้นได้ ทุกขเวทนาก็เกิดปรุงให้เกิดโทสะขึ้นได้

เวทนาที่ไม่ทุกข์ไม่สุขก็ปรุงให้เกิดโมหะขึ้นได้

เพราะฉะนั้น เมื่อกำหนดดูตัวเวทนาก็ย่อมจะพบจิตเองที่เป็นตัวกินเวทนานี้เป็นอย่างไร

ก็จับจิตขึ้นมากำหนดพิจารณาดู ถ้าจิตแรงไปด้วยราคะมากนักก็ต้องระงับเสีย

แรงไปด้วยโทสะมากนักก็ต้องระงับเสีย แรงไปด้วยโมหะมากนักก็ต้องระงับเสีย

ก็เป็นอันว่าปฏิบัติกำหนดดูจิตเพื่อที่จะระงับราคะโทสะโมหะให้สงบ

ธรรมะที่เป็นปัจจุบันธรรม

และเมื่อกำหนดดูจิตดั่งนี้ก็จะต้องพบธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิต

ฉะนั้นธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิตนี้เป็นอกุศลธรรมก็มี เป็นกุศลธรรมก็มี

เป็นธรรมะที่เป็นกลางๆก็มี สำหรับที่เป็นอกุศลธรรมนั้น

( เริ่ม ๒๒/๑ ) ซึ่งบางคราวก็เกิดขึ้นแรง ราคะแรง โลภะแรง โทสะแรง โมหะแรง

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ต้องกำหนดพิจารณาดูเพื่อที่จะระงับเสีย

ในบางคราวก็เบา เบาก็กำหนดพิจารณาดู ระงับเสียเหมือนกัน

ก็ระงับง่ายเข้าเพราะถ้ายังเบา ถ้าแรงก็ระงับยาก

และก็ดูธรรมะที่เป็นฝ่ายกุศลที่บังเกิดขึ้นในจิต ก็คือการที่ปฏิบัติ

ทำสติ ทำสมาธิ ทำปัญญานี้แหละ ว่ามีสติยังไง มีสมาธิอย่างไร มีปัญญายังไง

น้อยอยู่ก็เสริมให้มากขึ้น แล้วก็รักษาไว้ แล้วก็เพิ่มเติมยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ นี่ก็เป็นกุศลธรรม

คราวนี้ธรรมะที่เป็นกลางๆนั้นเล่า ก็กำหนดพิจารณาขันธ์อายตนะนี้เอง

ก็เป็นอันว่าทั้งกายทั้งเวทนาทั้งจิตทั้งธรรมะทั้งหมดนี่ มารวมกันเป็นตัวธรรมะได้ทั้งนั้น

สำหรับที่จะพิจารณาดู เมื่อจิตกำหนดเอาอะไรขึ้นมา นั่นก็เป็นธรรมะในจิตทั้งนั้น

จิตกำหนดกายขึ้นมา กายก็เป็นธรรมะในจิต จิตกำหนดเวทนา เวทนาก็เป็นธรรมะในจิต

จิตกำหนดจิตเอง จิตก็เป็นธรรมะในจิต

ถ้าจิตกำหนดตัวธรรมะที่เป็นกุศลอกุศล หรือเป็นกลางๆนั้นเอง ธรรมะนั้นก็เป็นธรรมะในจิต

ก็เป็นอันว่าทั้งหมดก็รวมเข้ามาเป็นธรรมะกับจิตนี้เอง ก็รวมเข้ามาตรงนี้

นิวรณ์ ๕

คราวนี้โดยปรกตินั้นอกุศลธรรมในจิตมักจะออกหน้าอยู่เสมอ

แต่บางคราวกุศลธรรมก็จะออกหน้าเหมือนกัน

แต่ว่าถึงจิตสามัญของสามัญชนแล้ว อกุศลธรรมักจะออกหน้าอยู่เสมอ

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้กำหนดจับดูตัวอกุศลธรรมในจิต

สำหรับในมหาสติปัฏฐานสูตรก็เริ่มตั้งแต่นิวรณ์ คือนิวรณ์ ๕

นิวรณ์นั้นตามศัพท์ก็แปลว่าเครื่องกั้น คือกั้นจิตเอาไว้ไม่ให้ได้สมาธิ

และกั้นปัญญามิให้เกิดขึ้น ก็ได้แก่กามฉันท์ ความพอใจรักใคร่อยู่ในกาม

คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย

พยาบาทคือความมุ่งร้าย จิตวิบัติ จิตถึงความวิบัติไปด้วยอำนาจของโทสะ

ถีนะมิทธะ ความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญ

และวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ

เหล่านี้เป็นเครื่องกั้นจิตไม่ให้ได้สมาธิ ปิดบังปัญญาไม่ให้บังเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ปฏิบัติทำสมาธิ ปฏิบัติทำสติปัฏฐาน

จิตไม่ได้สติตั้งมั่นในกายในเวทนาจิตธรรม ไม่ได้สมาธิก็เพราะระงับนิวรณ์ไม่ได้

นิวรณ์เข้ามาปกคลุมอยู่เต็มจิต สติหยั่งลงไม่ได้ สมาธิตั้งลงไม่ได้

ไปติดอยู่ที่นิวรณ์ นิวรณ์เต็มอยู่หมด

บางคราวก็เป็นตัวกามฉันท์

จิตมีกังวลห่วงใยอยู่ในกามต่างๆ จะเป็นบุคคลก็ตาม เป็นวัตถุก็ตาม

ที่รักใคร่ที่พอใจ พรากออกไม่ได้ รวมจิตเข้ามาเมื่อไรก็รวมไม่ได้

จิตวิ่งออกไปเกาะอยู่ในกามบุคคล ในกามวัตถุนั้นๆอยู่ตลอดเวลา

หรือบางคราวจิตมีความกระทบกระทั่งขัดใจโกรธแค้นขัดเคือง

คอยแต่จะมุ่งร้ายออกไปอยู่เสมอด้วยความโกรธ

ก็ในกามวัตถุในกามบุคคลเหล่านั้นนั่นแหละ ไม่ใช่ที่อื่น

เพราะว่ารักอยู่ที่ไหนชังก็อยู่ที่นั่น มีความใคร่อยู่ที่ไหนความโกรธก็มีอยู่ที่นั่น

และในขณะเดียวกันความหลงก็ย่อมมีอยู่ด้วย อันพึงกล่าวได้ว่าหลงรักหลงชัง

ก็เพราะหลงนั่นเองจึงเกิดความรักความชังขึ้นมา แต่ว่าเมื่อความรักหรือความชังออกหน้า

ก็ยกเอาความรักความชังขึ้นมาพูด เป็นราคะหรือโลภะ เป็นโทสะ

ในบางคราวความหลงออกหน้า ไม่รู้สึกว่ารักว่าชังอะไร แต่ยังหลง

อันปรากฏเป็นความสยบติด อันปรากฏเป็นความไม่รู้ในสิ่งนั้น ดั่งนี้ก็เป็นตัวความหลง

แต่ก็เฉยด้วยความไม่รู้อีกเหมือนกัน

บุคคลเรานั้นเมื่อยังไม่ปรากฏเป็นรักเป็นชัง ก็มักจะอยู่ด้วยความหลงคือด้วยความไม่รู้

เห็นได้ชัดมาก สมมติว่ามีใครเขาจะสรรเสริญมีใครเขาจะนินทา

เมื่อไม่ได้ยินก็ไม่รู้ จึงเฉยๆอยู่ ไม่ชอบไม่ชัง แต่ครั้นรู้ว่าเขานินทาก็โกรธขึ้นมา

รู้ว่าเขาสรรเสริญก็ชอบขึ้นมา ก็เป็นชอบเป็นชังไป

อีกอย่างหนึ่งไม่รู้นั้นแม้จะมีเรื่องบังเกิดขึ้นแล้ว

แต่ว่าเรื่องนั้นถ้าเป็นเรื่องที่ชวนให้ชอบชัดๆก็ชอบ ถ้าเป็นเรื่องที่ชวนให้ชังชัดๆก็ชัง

ถ้าเป็นเรื่องที่เป็นกลางๆ ไม่ชวนให้ชอบให้ชังชัดนักก็เฉยๆ แ

คือมิได้พิจารณาให้รู้จักว่า สิ่งเหล่านั้นแม้ว่าจะยังไม่ชวนให้ ..ให้รักหรือให้ชังก็ตาม

แต่ก็เป็นสิ่งที่เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง ซึ่งต้องเกิดต้องดับเหมือนกันหมด

เมื่อพิจารณาดั่งนี้ก็เป็นอันว่ารู้ เมื่อรู้แล้วเฉยนั่นก็เฉยด้วยความรู้

และแม้ในเรื่องที่ทำให้ชังให้ชอบเล่า..ก็เช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาให้รู้จัก

ว่าแม้เรื่องที่ทำให้ชอบให้ชังนั้น ก็เป็นสังขารหรือสิ่งผสมปรุงแต่งเหมือนกัน เป็นสิ่งที่เกิดดับ

เมื่อรู้ดั่งนี้แล้วก็เฉยได้ ไม่ชอบไม่ชัง ก็เป็นเฉยด้วยความรู้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้นเมื่อมีความเฉยด้วยความรู้แล้ว จะเป็นเรื่องอะไรเข้ามาก็ตาม ก็เฉยได้ทั้งนั้น

เรื่องที่น่าชอบก็ตาม เรื่องที่น่าชังก็ตาม เรื่องที่เป็นกลางๆก็ตาม

ก็รู้หมดว่าเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง เป็นสิ่งเกิดดับทั้งนั้น ไม่มีอะไรจริง

ดั่งนี้จึงจะเป็นความเฉยที่ประกอบด้วยความรู้ที่ต้องการเรียกว่าเป็นธรรมปฏิบัติ

แต่ว่าความเฉยด้วยความไม่รู้นั้นไม่ใช่เป็นธรรมปฏิบัติ เป็นขึ้นเองใครๆก็มีได้ทั้งนั้น

มีใครเขาสรรเสริญเขานินทาไม่ได้ยินก็เฉย หรือคนหูหนวกเขาว่าอย่างไรตรงๆก็ไม่ได้ยินก็เฉย

เขาด่าก็เฉย เขาชมก็เฉย เพราะไม่ได้ยิน ถ้าได้ยินเขาก็ต้องโกรธ หรือต้องชอบ

แต่เพราะไม่ได้ยิน ดั่งนี้เป็นเฉยด้วยความไม่รู้

ธรรมปฏิบัตินั้นต้องการให้เฉยด้วยความรู้ จึงจะเป็นอุเบกขาอันถูกต้องในทางพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้นบรรดาสิ่งเหล่านี้ที่เป็นตัวพยาบาทซึ่งเป็นนิวรณ์ เช่นเดียวกับกามฉันท์เป็นนิวรณ์

คราวนี้แม้ว่าจิตจะไม่ปรากฏว่ามีกามฉันท์ไม่มีพยาบาท

ก็ยังมีถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

อันความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มนี้มากับความสงบโดยมาก

ดังจะพึงเห็นได้ว่า ถ้าดูหนังดูละครอันเต็มไปด้วยเรื่องที่ทำให้ยินดีให้ยินร้ายแล้ว

คือก่อให้เกิดกามฉันท์บ้าง ก่อให้เกิดพยาบาทบ้าง ตาสว่าง

แต่ครั้นมาฟังเทศน์ที่เป็นเรื่องสงบ ไม่มีอะไรที่น่าชัง ไม่มีอะไรที่น่าชอบ

ไม่มีเรื่องที่จะก่อให้เกิดราคะ ไม่มีเรื่องที่จะเกิดให้ก่อโทสะ ก็เป็นเรื่องที่หากันว่าจืดชืดไม่มีรส

คือไม่มีโทสะไม่มีราคะ ก็หาว่าไม่มีรส คนทั้งหลายหาว่าจืดชืด เมื่อมาฟังเข้าแล้ว

เมื่อไม่มีเรื่องที่ทำให้ใจขึ้นๆลงๆให้ตื่นเต้นด้วยอารมณ์ราคะอารมณ์โทสะเป็นต้นแล้ว

ก็เป็นความสงบ ง่วงก็มากับความสงบ ฟังเทศน์จึงมักจะง่วงนอน ฟังธรรมะจึงมักจะง่วงนอน

เพราะความง่วงซึ่งเป็นตัวถีนะมิทธะเหล่านี้มากับความสงบ

เมื่อเป็นความง่วงขึ้นมาดั่งนี้แล้ว แม้จะฟังเทศน์ซึ่งเป็นเรื่องสงบ แม้ว่าใจจะสงบ

แต่ง่วงก็มาเสียแล้ว เมื่อง่วงมาเสียแล้วก็ฟังไม่รู้เรื่อง ก็หลับ หรือกระซึมทึมทือ

ซึมไม่ปลอดโปร่ง สมาธิก็ไม่ได้ ปัญญาก็ไม่ได้

หรืออีกอย่างหนึ่งถ้าง่วงไม่มาก็เป็นฟุ้งซ่านไป

ขณะฟังเทศน์หรือขณะทำกรรมฐาน ฟังธรรมบรรยายซึ่งล้วนเป็นทางสงบ

ไม่ง่วงแต่ว่าใจก็ไม่อยู่ วิ่งออกไปหาเรื่องที่ก่อให้เกิดราคะบ้าง ก่อให้เกิดโทสะบ้าง ต่างๆ

เป็นเรื่องที่ล่วงมาแล้วบ้าง เรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้นบ้าง ที่ปั้นขึ้นมาเองบ้าง

ก็มักจะเป็นอย่างนี้ ก็เป็นอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญ

หรือไม่เช่นนั้นก็เกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ เพราะความไม่รู้ อยากจะรู้ขึ้นมาก็สงสัย

อันความเคลือบแคลงสงสัยนี้มักจะเกิดจากการที่ยังมีความยึดถือว่าตัวเราของเรา

ก็มักจะมีความเคลือบแคลงสงสัยอยู่ในเรื่องของตัวเราของเราที่ยังไม่รู้ต้องการจะรู้

หรือบางทีก็มีความเคลือบแคลงสงสัยอยู่ในทางปฏิบัติต่างๆ ยังไม่มั่นใจลงไป

ไม่เข้าใจก็เคลือบแคลงสงสัย

แต่ว่าความเคลือบแคลงสงสัยนี้บางอย่างก็เป็นประโยชน์

เพราะทำให้ค้นคว้าศึกษา แต่ก็ต้องรู้จักกาละเทศะ

ในขณะที่กำลังต้องการให้จิตเป็นสมาธิ หรือทำสมาธินั้น

ก็มุ่งที่จะรวมใจเข้ามาให้สงบอย่างเดียว ยังไม่ต้องคิดจะไปตั้งปัญหา

แก้ปัญหาโน้นแก้ปัญหานี้ เพราะไม่ใช่เป็นเวลา

แต่เมื่อขึ้นไปตั้งปัญหา คิดไปแก้ปัญหาขึ้นก็เป็นความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ

ก็ทำให้ใจรวมไม่ได้ เพราะไม่ใช่เวลาที่จะมาตั้งปัญหา หรือจะมาแก้ปัญหาต่างๆ

เหล่านี้ก็เป็นความเคลือบแคลงสงสัย

เพราะฉะนั้น นิวรณ์ต่างๆเหล่านี้เองก็เป็นอกุศลธรรมในจิต

ซึ่งผู้ปฏิบัติเมื่อดูจิต เมื่อว่าถึงสามัญชนก็จะต้องพบนิวรณ์อยู่เสมอ

ก็จะต้องมีหน้าที่รำงับนิวรณ์เหล่านี้ลงไปให้ได้ ให้จิตว่างนิวรณ์

สติจึงจะตั้งลงไปได้ สมาธิจึงจะตั้งลงไปได้ แต่ก็ต้องอาศัยสติสมาธินี่ตอกลงไป

ด้วยความเพียรพยายามที่ไม่หยุดยั้ง และด้วยความเพียรที่แรงไม่ย่อท้อ

คือพยายามที่จะตอกสติตอกสมาธิลงไปในจิตไม่ทอดทิ้ง และไม่ยอมที่จะปล่อยจิต

ให้เป็นไปตามอำนาจของนิวรณ์ เช่นว่านั่งสมาธิก็ปล่อยใจให้เที่ยวไปในกามฉันท์ในพยาบาท

หรือปล่อยใจให้หลับ ให้ง่วงเหงา ให้ซึมกะทืออยู่ หรือว่าปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน

หรือว่าคิดตั้งปัญหาแก้ปัญหาโน่นแก้ปัญหานี่ ใจก็เลยหลุดลอยไป

การทำสมาธิดั่งนี้มีโทษ เพราะเป็นการปฏิบัติที่ทำใจให้เลื่อนลอย

หากว่าปฏิบัติไปมากวิธีนี้แล้วจะกลายเป็นได้ผลคือความที่มีใจลอยอยู่เป็นปรกติซึ่งมีโทษมาก

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติสมาธิต้องพยายามละความใจลอยนี้

ต้องเอาใจเข้ามาตั้งไว้ในอารมณ์ของสมาธิ กำหนดดูกายเวทนาจิตธรรม

เช่นโดยเฉพาะถ้าในข้อธรรมะนี้ก็ดูนิวรณ์เหล่านี้เอง ให้สงบลงไปให้ได้ ดั่งนี้แหละจึงจะถูกทาง

และเมื่อการปฏิบัติถูกทางดั่งนี้แล้ว ในที่สุดก็จะสงบนิวรณ์ได้ จิตก็จะได้สติได้สมาธิ

แปลว่าสติตั้งได้ และสมาธิก็ตั้งขึ้นมาได้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและทำความสงบสืบต่อไป

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats