ถอดเทปพระธรรมเทศนา

  • พิมพ์

เทป026

เริ่มต้นปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔

สติ ศีล สมาธิ ปัญญา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ตั้งสติ สติตั้ง ๓

สติปัฏฐาน ๔ ๓

สติกำหนดดูตัณหา ๔

เวทนาอันเนื่องมาจากตัณหา ๕

กายอันเนื่องมาจากตัณหา ๖

สติพละ ๖

ทางนำปัญญา ๗

สติเนปักกะ ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๓๐/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๓๑/๑ ( File Tape 26 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

เริ่มต้นปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔

สติ ศีล สมาธิ ปัญญา

*

 บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม 

วันนี้จะได้แสดงว่าจะปฏิบัติอย่างไร

จึงจะไม่เป็นทาสของตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยาก

หรือเป็นทาสของกิเลสกองราคะโทสะโมหะ หรือว่ากองโลภโกรธหลง

จะปฏิบัติด้วยธรรมะข้อไหน

จะได้แสดงธรรมะข้อหนึ่งหรือสองข้อ ก็คือสติ หรือว่าสติและปัญญา

ข้อปฏิบัติสำหรับที่จะทำให้ไม่เป็นทาสของตัณหา หรือทาสของกิเลส

ก็คือปฏิบัติทำสติ หรือว่าสติและปัญญานี้เอง

ถ้าหากว่าไม่ปฏิบัติทำสติ หรือสติและปัญญา

จิตก็จะต้องตกเป็นทาสของตัณหา หรือเป็นทาสของกิเลส

เพราะฉะนั้นเมื่อไม่ต้องการที่จะเป็นทาสของตัณหา ไม่ต้องการเป็นทาสของกิเลส

ก็จะต้องปฏิบัติอบรมสติให้มีขึ้น หรือว่าอบรมสติปัญญาให้มีขึ้น รักษาจิตใจ

จิตใจจึงจะไม่เป็นทาสของตัณหาของกิเลส

ตั้งสติ สติตั้ง

สำหรับสตินั้นก็คือสติปัฏฐานนั้นเอง สติปัฏฐานก็ดังที่ได้เคยกล่าวมาแล้วในขั้นปฏิบัติ

สติปัฏฐานก็แปลว่าตั้งสติ คือปฏิบัติตั้งสติ และในขั้นที่เป็นสติปัฏฐานขึ้นจริงๆก็แปลว่าสติตั้ง

อันเป็นผลของการปฏิบัติตั้งสติ ฉะนั้นในขณะที่ปฏิบัติตั้งสติก็เรียกว่าสติปัฏฐาน

และเมื่อปฏิบัติจนสติตั้งขึ้นได้ก็เรียกว่าสติปัฏฐาน

แต่ว่าสติปัฏฐานในขั้นปฏิบัติตั้งสตินั้นเป็นเหตุ ส่วนสติปัฏฐานที่เป็นสติตั้งขึ้นเป็นผล

ซึ่งจะต้องมีเหตุก่อนคือต้องปฏิบัติตั้งสติขึ้นมาก่อน จึงจะได้ผลคือสติตั้ง

และเมื่อสติตั้งขึ้นมาได้ จิตก็จะไม่เป็นทาสของตัณหา ไม่เป็นทาสของกิเลส

สติปัฏฐาน ๔

เมื่อกล่าวยกเอาหมวดธรรมะขึ้นมาดั่งนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นการปฏิบัติยาก

แต่อันที่จริงนั้นไม่ใช่เป็นการปฏิบัติยาก ทุกคนปฏิบัติได้

ในเมื่อมีความเข้าใจในศัพท์แสง ในความหมายของศัพท์แสง

ฉะนั้นในขั้นต้น ก็ให้ทำความเข้าใจคำว่าสติก่อน ว่าสติคือความระลึกได้

หรือความกำหนดจิตลงไปดูให้รู้ให้เห็น ดั่งนี้คือสติ

และสติปัฏฐานในขั้นปฏิบัติตั้งสติก็คือตั้งจิตกำหนดลงไปดูให้รู้ให้เห็น

หากจะถามว่าดูให้รู้ให้เห็นอะไร ก็ตอบว่าดูให้รู้ให้เห็นกายคือกายนี้

ดูให้รู้ให้เห็นเวทนาคือความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขที่มีอยู่นี้

ดูให้รู้ให้เห็นจิตคือจิตใจที่คิดที่รู้อยู่นี้ ดูให้รู้ให้เห็นธรรมคือเรื่องที่เกิดขึ้นในจิต

นี้เป็นสติปัฏฐาน ๔ ก็คือสติเป็นไปในกาย ในเวทนา ในจิต และในธรรม

สติกำหนดดูตัณหา

คราวนี้ในการปฏิบัติตั้งสติสำหรับที่จะรักษาจิตไม่ให้ตกเป็นทาสของตัณหาของกิเลสนั้น

ก็คือเมื่อตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากต่างๆบังเกิดขึ้นในจิตใจ

หรือเมื่อกิเลสกองโลภกองโกรธกองหลงบังเกิดขึ้นในจิตใจ

ก็ทำสติคือตั้งจิตกำหนดดูตัณหาในจิตของตนเอง ดูโลภ ดูโกรธ ดูหลง

หรือว่าดูราคะโทสะโมหะในจิตของตนเอง

และทำความรู้จักว่าอาการที่จิตของตนดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย ดิ้นรนทะยานอยาก

นี่แหละคือตัณหา อันเป็นตัวอกุศลธรรมคือธรรมะที่เป็นอกุศลบังเกิดขึ้นในจิต

เมื่อความโลภบังเกิดขึ้น เมื่อราคะบังเกิดขึ้น ก็ดูอาการของโลภของราคะ

ว่าอาการที่จิตอยากได้นี่แหละเป็นตัวโลภ อาการที่จิตติดใจยินดีนี่แหละคือราคะ

อาการที่จิตขัดใจโกรธแค้นขัดเคืองนี่แหละคือโทสะ

อาการที่จิตหลงสยบติดอยู่นี่แหละคือโมหะความหลง

ดูให้รู้จักว่าเหล่านี้ก็เป็นอกุศลธรรม ธรรมะที่เป็นอกุศลบังเกิดขึ้นในจิต

ดูให้รู้จักหน้าตาของตัณหาของกิเลส ให้รู้จักว่านี่เป็นตัวอกุศลบังเกิดขึ้นในจิต

ดั่งนี้ก็คือตั้งสติกำหนดดูธรรมะในจิตนั้นเอง ก็คือเรื่องที่บังเกิดขึ้นในจิต

เมื่อเป็นตัณหาเป็นกิเลสก็ให้รู้ว่าตัณหากิเลสเหล่านี้เป็นอกุศลธรรม

ดั่งนี้ก็เป็น ธรรมานุปัสสนา สติที่พิจารณาตามดูตามรู้ตามเห็นธรรม

คราวนี้มาดูจิตใจเองว่าจิตใจเป็นอย่างไร

เมื่อจิตใจประกอบด้วยตัณหา จิตใจนี้เองก็ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย

ไปในรูปบ้าง ไปในอารมณ์คือเรื่องรูปบ้าง เรื่องเสียงบ้าง เรื่องกลิ่นบ้าง

เรื่องรสบ้าง เรื่องโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้องบ้าง เรื่องของเรื่องราวเหล่านั้นบ้าง

อาการที่จิตดิ้นกวัดแกว่งกระสับกระส่ายนี้แหละคือจิตที่ประกอบด้วยตัณหา

จิตที่ประกอบด้วยโลภะก็จะเป็นจิตที่อยากได้ จิตที่ประกอบด้วยราคะก็จะเป็นจิตที่ติดใจยินดี

จิตที่ประกอบด้วยโทสะก็จะเป็นจิตที่โกรธแค้นขัดเคืองงุ่นง่าน

จิตที่ประกอบด้วยโมหะก็จะเป็นจิตที่หลงสยบ

เป็นจิตที่ง่วงงุนเคลิบเคลิ้มฟุ้งซ่านรำคาญเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ เหล่านี้

เมื่อกำหนดดูให้รู้จักจิตอันประกอบด้วยตัณหาหรือกิเลสดังกล่าว

ก็ทำความรู้จักว่าจิตนี้แหละเป็นจิตที่เป็นอกุศล เป็นจิตที่ประกอบด้วยอกุศล

ตั้งสติกำหนดดูจิตดั่งนี้ก็เป็น จิตตานุปัสสนา สติที่ตามดูตามรู้ตามเห็นจิตของตนว่าเป็นอย่างไร

เวทนาอันเนื่องมาจากตัณหา

คราวนี้ก็หัดกำหนดดูเวทนา คือความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

อันบางทีก็เป็นสุขซึ่งเนื่องมาจากตัณหา ซึ่งเนื่องมาจากกิเลส

บางทีก็รู้สึกว่าเป็นทุกข์ อันเนื่องมาจากตัณหา อันเนื่องมาจากกิเลส

บางทีก็เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข อันเนื่องมาจากตัณหา หรือเนื่องมาจากกิเลส

ในเมื่อมีความเพลิดเพลินมีความสมปรารถนา เพราะตัณหาหรือเพราะกิเลส

ก็ทำให้รู้สึกเป็นสุข น้อยหรือมาก ในเมื่อไม่สมปรารถนาก็เป็นทุกข์

ในเมื่อยังเป็นกลางๆอยู่ก็ยังเป็นกลางๆ

แต่รวมความก็คือเป็นสุขหรือทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

อันเนื่องมาจากตัณหา เนื่องมาจากกิเลสนั้นเอง

และเมื่อพิจารณาดูให้ดีอย่างละเอียดแล้วก็จะเห็นว่า

แม้ที่เข้าใจว่าเป็นสุขนั้น คือแม้เป็นสุขเวทนานี่เอง ก็หาเป็นสุขเวทนาจริงๆไม่

แต่ว่าเป็นตัวทุกข์เวทนา เพราะเหตุว่าเมื่อจิตประกอบด้วยตัณหาประกอบด้วยกิเลส

จิตใจก็จะต้องดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย ต้องร้อนมากหรือร้อนน้อย

ฉะนั้นอาการที่ไม่สงบดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย หรืออาการที่ร้อนนั้น

ก็จะมาปรากฏเป็นตัวทุกขเวทนานั้นเอง ดูให้ดีจึงจะมองเห็นตัวทุกขเวทนา

อันซ่อนอยู่ในอาการที่เข้าใจว่าเป็นสุขเพราะตัณหาหรือเพราะกิเลส

เมื่อตั้งจิตกำหนดดูเวทนาดั่งนี้

ก็ดูให้รู้จักว่าแม้เวทนานี้ก็เป็นอกุศลเวทนา เวทนาที่เนื่องมาจากอกุศล

และเมื่อมีโมหะไม่รู้จักตัวเวทนาของตนตามเป็นจริง

ว่าอันที่จริงนั้นเป็นตัวทุกข์ต่างหาก ไม่ใช่เป็นตัวสุข แต่ยังมีความเข้าใจว่าเป็นสุข

ดั่งนี้ก็เป็นอกุศลเวทนา เป็นเวทนาที่ทำให้เข้าใจผิด เป็นตัวอกุศล

กายอันเนื่องมาจากตัณหา

และก็หัดกำหนดตั้งจิตพิจารณาดูกาย เมื่อกายประกอบด้วยตัณหาประกอบด้วยกิเลส

กายนี้ก็จะทำจะพูดไปตามอำนาจของตัณหาตามอำนาจของกิเลส

อาจจะประกอบอกุศลกรรมทางกายทางวาจา น้อยหรือมาก

ตามอำนาจของตัณหาอำนาจของกิเลส ในเมื่อตัณหาแรงกิเลสแรง

ก็จะทำให้ประกอบกรรมทางกายทางวาจา ซึ่งรวมเข้าในคำว่ากายนี้นั่นเอง

เป็นการฆ่าเขาบ้าง ลักของเขาบ้าง ประพฤติผิดในกามบ้าง พูดเท็จหลอกลวงเขาบ้าง

ดื่มน้ำเมาคือสุราเมรัยอันเป็นฐานประมาทบ้าง ดั่งนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ก็ทำสติให้รู้จักว่า กายที่เป็นไปตามอำนาจของตัณหากิเลสดั่งนี้

ก็เป็นกายที่จะก่อกายกรรมวจีกรรมอันเป็นอกุศลต่างๆ

ดั่งนี้ก็เป็น กายานุปัสสนา ตั้งสติกำหนดพิจารณาดูกาย

สติพละ

ความที่ตั้งจิตกำหนดดูให้รู้จักธรรม รู้จักจิต รู้จักเวทนา รู้จักกาย

หรือว่าเรียงตามลำดับของท่าน ว่าตั้งสติกำหนดดูให้รู้จัก กาย เวทนา จิต ธรรม

ที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบันตามเป็นจริงดั่งนี้เป็นตัวสติ

และเมื่อตั้งสติกำหนดดูให้รู้จักกายเวทนาจิตธรรมตามที่เป็นไปจริงๆดั่งนี้แล้ว นี้ก็เป็นสติ

และเมื่อเป็นสติขึ้นมาดั่งนี้แล้ว สตินี้เองที่จะเป็นตัวพละอำนาจกำลัง

สำหรับที่จะยับยั้งตัณหายับยั้งกิเลสไว้ได้ ตัณหากิเลสก็จะอ่อนกำลังลง

ด้วยกำลังของสติที่กำหนดดูให้รู้จัก คือแปลว่าสตินี้เองไปต้านเอาไว้

เมื่อต้านไปไว้ได้ดั่งนี้ ตัณหากิเลสถอยกำลังลง

ก็จะทำให้เกิดความยับยั้ง กล่าวคืออกุศลธรรมอันได้แก่ตัณหากิเลสอ่อนกำลัง

จิตนี้ก็จะไม่ผลุนผลันไปตามอำนาจของตัณหาของกิเลส

จิตนี้ก็จะเกิดความยับยั้งไม่ก่อมโนกรรมฝ่ายอกุศลขึ้นอย่างแรง

และเมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็จะผ่อนคลายจากความยึดถือบีบบังคับของตัณหาของกิเลส

เวทนาเองก็จะผ่อนคลายลงจากความที่เป็นทุกข์อย่างละเอียดบ้างอย่างหยาบบ้าง

เพราะถูกกิเลสบีบคั้น มาเป็นเวทนาที่เป็นตัวความสุขที่เกิดจากความสงบขึ้น

กายเองก็จะเป็นกายที่มีความปรกติขึ้น ไม่ประกอบก่อกายกรรมวจีกรรมฝ่ายอกุศลต่างๆ

ก็เป็นอันว่าเกิดความยับยั้ง ซึ่งความยับยั้งนี้ก็คือตัวศีลนั้นเอง

ทำให้ไม่ละเมิดกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ฝ่ายอกุศล แล้วก็เป็นตัวสมาธิอย่างอ่อนนั้นเอง

ก็ทำให้จิตมีความสงบขึ้น ไม่ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายไปต่างๆ

ความดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายต่างๆนั้นสงบลงไป

ทางนำปัญญา

และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะเป็นทางนำปัญญา

คือความรู้จักผิดชอบชั่วดีมากขึ้น คือรู้จักว่านี่เป็นอกุศล สติที่ยับยั้งไว้ได้นี่เป็นกุศล

( เริ่ม ๓๑/๑ ) และในขั้นสมาธิก็จะทำให้จิตสงบขึ้นจากกิเลสอย่างหยาบ

และจากกิเลสอย่างกลางมากขึ้น

และเมื่อได้สติปัฏฐานในขั้นนี้ก็เป็นอันว่า

เป็นการปฏิบัติที่จะทำให้จิตนี้ไม่ต้องเป็นทาสของตัณหา ไม่ต้องเป็นทาสของกิเลส

ฉะนั้นการปฏิบัติดั่งนี้ทุกคนจึงสามารถปฏิบัติได้ด้วยการที่หยุดดูจิตของตนนั้นเอง

หรือเมื่อกล่าวเป็นสติปัฏฐานทั้ง ๔ ก็คือหยุดดูธรรมะในจิตที่บังเกิดขึ้น

ดูตัวจิตเอง ดูเวทนา และดูกายพร้อมทั้งวาจาของตนซึ่งรวมอยู่ในข้อว่ากาย

สติเนปักกะ

ฉะนั้นเมื่อมีสติ สติปัฏฐาน ตั้งสติขึ้นมาดั่งนี้

จนสติตั้งขึ้นมา แล้วศีลก็จะมา สมาธิก็จะมา ปัญญาก็จะมาโดยลำดับ

และก็จะเปลื้องตนจากความเป็นทาสของตัณหา จากความเป็นทาสของกิเลสได้โดยลำดับ

และก็เป็นสติปัฏฐานอันเป็นข้อที่พึงปฏิบัติได้ทั่วไปทุกกาลทุกเวลา

เพราะว่าจิตนี้กับอารมณ์ซึ่งมาประกอบกันทุกคนต้องมีอยู่เป็นประจำ

ฉะนั้นจึงต้องมีสติดังกล่าวนี้อยู่เป็นประจำ ให้เป็น สติเนปักกะ

คือสติเป็นเครื่องรักษาตน รักษาจิตใจ

ก็จะทำให้สามารถรักษาตนไว้ไม่ให้เป็นทาสของตัณหา ไม่ให้เป็นทาสของกิเลสได้

หรือว่าเป็นไปบ้างแล้วก็แก้ได้ในเมื่อมีสติที่เป็นสติพละ สติที่เป็นกำลัง

อันเนื่องมาจากการหัดปฏิบัติได้เพียงพอ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

ความว่าง

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

สุญญตา ๓

การปฏิบัติธรรม ๔

อาลัยของจิต ๔

ความว่างในขั้นศีลสมาธิปัญญา ๖

ความจริงที่ตนเอง ๗

ความทุกข์ ความสุข ๘

พิจารณาให้รู้จักทุกข์ตามเป็นจริง ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๓๑/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๓๑/๒ ( File Tape 26 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

ความว่าง

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

การปฏิบัติธรรมะ บุคคลทุกคนย่อมปฏิบัติได้

ไม่ว่าจะเป็นสตรีบุรุษ ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์บรรพชิต ไม่ว่าจะเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่

และในการปฏิบัติธรรมะนั้นก็ปฏิบัติให้รู้จักศีล ให้รู้จักสมาธิ ให้รู้จักปัญญา

ก็ให้รู้จักที่จิตนี้เอง เมื่อจิตเป็นศีลก็จะรู้จักศีลที่จิต

เมื่อจิตเป็นสมาธิก็รู้จักสมาธิที่จิต เมื่อจิตเป็นปัญญาก็รู้จักปัญญาที่จิต

และก็จะรู้จักผลของการปฏิบัติ อันเป็นความว่าง อันเป็นความสงบ

หรือเรียกชื่ออย่างอื่นว่าเป็นความหลุดพ้นเป็นต้น

ซึ่งล้วนมีศัพท์แสง

และเมื่อใช้ศัพท์แสงหากไม่เข้าใจก็จะทำให้ฝั้นเฝือ

แต่ถ้าเข้าใจก็จะทำให้เข้าถึงความหมายด้วยศัพท์แสงที่เป็นคำสั้นๆ

อันความหลุดพ้นเมื่อใช้ศัพท์แสงก็เรียกว่า วิมุติ หรือเรียกว่า นิพพาน

อันความสงบก็เรียกว่า สันติ หรือ สมถะ อันความว่างก็เรียกว่า สุญญตา

เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมะในพุทธศาสนา เมื่อรู้จักผลเหล่านี้แม้เพียงเล็กน้อย

คือรู้จักความว่าง รู้จักความสงบ รู้จักความหลุดพ้น แม้เพียงเล็กน้อย

ก็จะทำให้เข้าใจพุทธศาสนาได้ดีขึ้น ได้รู้จักพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

ซึ่งเป็นพระรัตนตรัยนี้ ได้ดีขึ้น ได้ถูกต้องขึ้น

สุญญตา

ดังจะยกขึ้นมากล่าวสักคำหนึ่ง

คือคำว่าความว่าง หรือเรียกตามศัพท์ว่า สุญญตา ที่แปลว่าความว่าง

อันความว่างนั้นก็เป็นคำที่พูดกันอยู่ และก็พูดกันทั้งในด้านที่ดี และทั้งในด้านที่ไม่ดี

ว่าถึงในด้านที่ไม่ดีก็ดังคำว่า ว่างการว่างงาน ไม่มีอะไรทำ

อยู่ว่างๆ ก็ทำให้ขาดประโยชน์ที่จะพึงได้ และทำให้จิตใจกลัดกลุ้ม

ดังเช่นเมื่อเคยทำการทำงานต่างๆอยู่เป็นประจำ

เมื่อมาว่างงาน ไม่ทำอะไร เป็นเหมือนอยู่เฉยๆ ก็ทำให้กลัดกลุ้ม

และสำหรับผู้ที่ต้องการประโยชน์จากการงาน เมื่อว่างงานก็แปลว่าขาดประโยชน์

ก็ทำให้เกิดความขัดข้องต่างๆในการดำรงชีวิต เหล่านี้เป็นความว่างที่ใช้ในทางที่ว่าไม่ดี

แต่อีกอย่างหนึ่งความว่างที่ใช้ในทางดี ก็คือความที่ว่างโดยที่ได้พักผ่อน

เมื่อต้องการความพักผ่อน และเมื่อได้โอกาสซึ่งเป็นความว่าง ได้พักผ่อน

ก็ทำให้บังเกิดความผาสุข

ในทางพุทธศาสนานั้น

พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้รู้จัก สุญญตา คือความว่าง

มุ่งถึงความว่างกิเลส และว่างทุกข์ซึ่งเกิดจากกิเลส ว่างบาปอกุศลทุจริต

ก็เป็นการว่างจากความทุกข์เพราะเกิดจากบาปอกุศลทุจริต

ในการปฏิบัติธรรมะนั้นต้องการผลคือความว่างกิเลส ว่างบาปอกุศลทุจริต

และว่างความทุกข์ที่เกิดเพราะกิเลส และบาปอกุศลทุจริตต่างๆ

เพราะฉะนั้นจึงต้องเข้าใจความว่าง ดังที่กล่าวมานี้

การปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรมะนั้น การเข้ามาบวชก็เป็นการเข้ามาปฏิบัติธรรมะ

หรือแม้การไม่เข้ามาบวช แต่ว่าการที่มาสมาทานศีลฟังธรรม ก็เป็นการปฏิบัติธรรมะ

หรือแม้การที่ตั้งใจปฏิบัติด้วยตัวเองในศีลในสมาธิในปัญญาก็เป็นการปฏิบัติธรรมะ

ก็มุ่งผลให้จิตนี้ว่างกิเลสและความทุกข์ที่เกิดเพราะกิเลส ว่างบาปอกุศลทุจริตทั้งหลาย

และว่างความทุกข์ อันเป็นผลของบาปอกุศลทุจริตทั้งหลาย ให้จิตนี้มีความว่างดังกล่าวนี้

หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็ให้กายวาจาใจนี้เองว่างจากบาปอกุศลทุจริตทั้งหลาย

ความว่างดังกล่าวนี้แหละ ก็เป็นความสงบ และก็เป็นความพ้น

สงบก็คือสงบกิเลส โลภ โกรธ หลง สงบบาปอกุศลทุจริตต่างๆ ทางกายทางวาจาทางใจ

และก็เป็นความหลุดพ้น คือว่าหลุดพ้นจากบาปอกุศลทุจริตต่างๆ

ตลอดจนถึงหลุดพ้นจากกิเลสต่างๆ กองโลภ กองโกรธ กองหลง

จะเป็นความพ้นได้ชั่วคราว หรือว่าความพ้นได้นานๆ หรือตลอดไปก็ตาม

ก็เป็นความหลุดพ้นทั้งนั้น แล้วก็เป็นความสงบทั้งนั้น และอันนี้เองก็เป็นความว่าง

อาลัยของจิต

แต่จิตใจของบุคคลทั่วไปนั้นมีความไม่ว่างประจำอยู่ ก็คือมีนันทิคือความเพลิน

มีราคะคือความติดใจยินดี มีตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากของใจอยู่เป็นประจำ

ซึ่งเรียกว่าอาลัย หรือเรียกว่ากังวลบ้าง เรียกว่ากามฉันท์ความพอใจรักใคร่อยู่ในกาม

คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย

หรือเรียกอำนาจกิเลสกาม มีอยู่เป็นประจำ

จิตย่อมอยู่ในอาลัย หรืออาศัยอยู่กับอาลัยดังกล่าวนี้

อาลัยดังกล่าวนี้จึงเหมือนอย่างเป็นบ้านของจิต

ท่านจึงเปรียบเหมือนอย่างว่าอาลัย คือน้ำเป็นที่อาศัยอยู่ของปลา ฉะนั้น

เพราะฉะนั้นจิตนี้จึงไม่ว่างอยู่โดยปรกติ

และเมื่อปล่อยให้จิตนี้ท่องเที่ยวไปในอาลัยอันเป็นที่อยู่

อันเรียกว่ากามคุณ หรือเรียกว่ากามฉันท์ก็จะไม่รู้สึกเดือดร้อน

แม้ว่าจะต้องมีความทุกข์มาสลับกับความสุขเป็นครั้งเป็นคราว ก็อยู่ได้

เพราะอำนาจของความเพลิดเพลิน และความติดอยู่

ลักษณะของจิตสามัญทั่วไปย่อมเป็นไปอยู่ดั่งนี้

และการที่ได้ปฏิบัติจัดทำต่างๆไปตามวิสัยของกิเลสดังกล่าว หรือของอาลัยดังกล่าว

จึงทำให้รู้สึกเพลิดเพลินไป ไม่รู้สึกเดือดร้อน

แต่เมื่อต้องมาอยู่กับความว่าง แม้ในบางครั้งบางคราว

อันหมายความว่าไม่ขวนขวายจัดทำทางกายทางวาจาทางใจ

ไปตามอำนาจของกิเลสหรืออาลัยดังกล่าวนั้น ก็จะรู้สึกเหมือนอย่างว่า

เหมือนอย่างการที่มานั่งทำความสงบก็ดี นั่งฟังอบรมหรือฟังเทศน์ก็ดี

หรือการเข้ามาบวชก็ดี ซึ่งเป็นการหยุดพักจากการวิ่งเต้นขวนขวายไปต่างๆ

ตามอำนาจของอาลัย หรืออำนาจของกิเลส

ก็ทำให้รู้สึกเหมือนอย่างว่าว่าง และทำให้เกิดความรำคาญ

หรือความดิ้นรนไปเพื่อที่จะได้ปฏิบัติจัดทำ เหมือนอย่างที่จะทำตามปรกติ

จึงทำให้เข้าใจว่าความว่างทำให้เดือดร้อน

แต่อันที่จริงนั้น เมื่อศึกษาดูให้ดี กำหนดดูให้ดีที่จิตแล้ว

จึงจะเข้าใจว่าอันที่จริงไม่ว่าง เพราะจิตนี้ยังมีนันทิความเพลิดเพลิน

ราคะความติดใจยินดีไปด้วยกันอยู่กับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก

ในอารมณ์คือเรื่องทั้งหลายอยู่เป็นประจำ

และเมื่อต้องมาหยุด แม้ในขณะที่มานั่งสมาธินี้ก็ต้องมาหยุดจิต

ไม่ให้คิดไปในอารมณ์คือเรื่องทั้งหลายตามใคร่ตามปรารถนา

ก็ทำให้รู้สึกอึดอัดรำคาญไม่สบาย ก็ทำให้เข้าใจว่าเพราะว่าง

เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรมะจึงต้องหัดกำหนดจิตให้รู้จักว่า

อันที่จริงเป็นความไม่ว่าง จิตยังไม่ว่าง จิตยังมีนันทิความเพลิน

ราคะความติดใจยินดี ไปด้วยกันอยู่กับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก

จึงทำให้ยินดีเพลิดเพลินยิ่งๆขึ้นไปอีกในอารมณ์คือเรื่องนั้นๆ โดยไม่หยุด

เพราะฉะนั้นจึงต้องทำความรู้จักว่าอันที่จริงไม่ว่าง ยังไม่เป็นความว่าง

ความว่างในขั้นศีลสมาธิปัญญา

การที่จะเป็นความว่างนั้นต้องหัดกำหนดให้รู้จัก ความสงบกายสงบวาจาสงบใจ

ซึ่งเป็นศีล ไม่ดิ้นรนไปเพื่อที่จะประพฤติก่อภัยก่อเวรต่างๆ

จิตพร้อมทั้งกายทั้งวาจาสงบเรียบร้อย ดั่งนี้ก็เป็นศีล ตัวศีลนี่แหละเป็นความว่าง

ว่างจากภัย ว่างจากเวรทั้งหลาย ไม่ก่อภัยไม่ก่อเวรอะไรๆขึ้น ทางกายวาจาพร้อมทั้งทางใจ

คือใจก็ไม่คิดที่จะไปก่อภัยก่อเวรแก่ใคร ไปทำร้ายเบียดเบียนใคร

กายวาจาก็ไม่ไปประพฤติกระทำร้ายใครเบียดเบียนใคร ก็ว่างจากภัยจากเวรทั้งหลาย

ใจที่ว่างดั่งนี้ กายวาจาที่ว่างดั่งนี้เป็นศีล

จิตก็เหมือนกัน เมื่อจิตสงบได้จากความคิดฟุ้งซ่านไป

ในอารมณ์ตามใคร่ตามปรารถนาต่างๆ มาตั้งมั่นอยู่ในกิจที่ควรทำต่างๆ

ตลอดจนถึงมีความสงบอยู่ในภายใน ไม่ฟุ้งซ่านออกไป ความสงบจิตดั่งนี้ก็เป็นสมาธิ

และปัญญาคือตัวความรู้ ความรู้ที่รู้จักศีลตามเป็นจริง รู้จักสมาธิตามเป็นจริง

ตลอดจนถึงรู้จักตัวความว่าง

ว่าความว่างที่เป็นความว่างจริงนั้น ต้องว่างจากความเพลิดเพลิน

ความติดใจยินดีที่ไปกับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก

ดั่งนี้ก็เป็นปัญญา คือรู้จักสัจจะคือความจริงที่กายวาจาใจของตัวเอง ดั่งนี้ก็เป็นปัญญา

จิตที่เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญานี้เอง ก็เป็นตัวความว่างซึ่งเป็นตัวผล

เป็นความสงบที่ยิ่งๆขึ้นไป และเป็นความรู้ที่ยิ่งๆขึ้นไป

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว จึงจะรู้จักธรรมะ รู้จักพุทธศาสนา

เมื่อรู้จักธรรมะรู้จักพุทธศาสนาดั่งนี้ แม้น้อยหนึ่งก็เป็นประโยชน์มาก

เพราะได้รู้จักของจริงของแท้ ว่าพุทธศาสนาที่จริงที่แท้นั้นเป็นอย่างนี้

และจะทำให้รู้จักลู่ทางที่จะปฏิบัติให้พบกับความว่าง ให้พบกับความสงบ

ให้พบกับความหลุดพ้นของตนยิ่งๆขึ้นไปได้

ความจริงที่ตนเอง

พระบรมศาสดาผู้ทรงรู้ทรงเห็น ได้ทรงแสดงธรรมะสั่งสอน

ก็เพื่อให้ผู้ปฏิบัติทุกคนได้รู้ได้เห็นสัจจะคือความจริงนี้ ที่ตนเองของทุกๆคน ไม่ใช่ที่อื่น

แม้ที่ทรงแสดงสติปัฏฐานทั้ง ๔ ตั้งสติกำหนดดูกายเวทนาจิตธรรม

ก็เป็นการดูให้รู้เข้ามาในการที่จะปฏิบัติอาศัยกายเวทนาจิตธรรมนี้เอง

ให้เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาขึ้นมา และให้พบกับความว่าง

ให้พบกับความสงบ ให้พบกับความหลุดพ้น ไม่ใช่อย่างอื่น

และก็ทรงจำแนกแจกธรรม ก็คือตรัสสอนให้ผู้ฟัง

รู้จักจำแนกทางปฏิบัติออกไปเป็นกาย เป็นเวทนา จิต ธรรม

ดูให้รู้จักกาย รู้จักเวทนา รู้จักจิต รู้จักธรรม ดังที่ได้อธิบายมาแล้ว

และโดยเฉพาะในข้อที่เกี่ยวกับธรรมะนั้น ก็ได้ทรงสรุปเข้าในสัจจะคือความจริง

ความทุกข์ ความสุข

( เริ่ม ๓๑/๒ ) อันได้แก่ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ก็ให้รู้จักตัวทุกข์ที่ กาย เวทนา จิต ธรรม นี้นี่เอง คือให้รู้จักว่าตัวทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ต้องทน

โดยสามัญบุคคลนั้น สิ่งที่ทนยากจึงเรียกกันว่าทุกข์ แต่สิ่งที่ทนง่ายเรียกกันว่าสุข

แต่ที่จริงนั้นก็เป็นสิ่งที่ต้องทนทั้งนั้น เป็นทุกข์ทั้งนั้น

โลกเรียกว่าสุข เรียกว่าทุกข์ แต่อย่างละเอียดตามคดีธรรมนั้นเป็นทุกข์ทั้งนั้น

คือเป็นสิ่งที่ต้องทนทั้งนั้น ทั้งสุขและทั้งทุกข์ที่คนเข้าใจกันอยู่

และเมื่อทนง่ายก็ไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์มาก แต่อันที่จริงนั้นเป็นทุกข์คือทุกข์น้อย

แต่ว่าเมื่อต้องทนยากจึงเรียกกันว่าเป็นทุกข์

เพราะเหตุว่าทุกๆสิ่งนั้น ที่เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหมด

ย่อมเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ต้องเกิดต้องดับ

เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ ก็เป็นสิ่งที่เป็นทุกข์คือทนยากทั้งนั้น คือทนอยู่ไม่ได้

ถ้าหากว่าทนอยู่ได้แล้วก็จะไม่ต้องดับ เหมือนอย่างความสุขที่ว่าเป็นความสุขกันทางคดีโลกนั้น

แม้ไม่กล่าวว่าทนง่าย คือว่าทุกข์น้อย เรียกกันว่าสุข หรือกล่าวกันว่าสุขนี่แหละ

ก็เป็นสิ่งที่ไม่ตั้งอยู่ตลอดไป อยู่ชั่วคราวแล้วก็หายไป เมื่อหายไปอาการที่ต้องทนมาก

หรือทนยาก ที่เรียกกันว่าความทุกข์ตามธรรมดานั้น ก็บังเกิดขึ้นมาอีก

เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เป็นความสุขอะไรที่แท้จริง แต่เป็นสิ่งที่ตั้งอยู่เพียงชั่วคราว

คือตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

เพราะฉะนั้นจึงต้องหัดดูให้รู้จัก ว่าแม้ความสุขที่เข้าใจกันนี้ก็เป็นตัวทุกข์

คือเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

และแม้สิ่งที่น่าปรารถนาพอใจทั้งหลายอย่างอื่น เช่นลาภยศสรรเสริญต่างๆก็เช่นเดียวกัน

ก็เป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ ไม่ตั้งอยู่คงที่ อาจจะมีอยู่ ตั้งอยู่ นานบ้าง

แต่ในที่สุดก็ต้องดับ ต้องหายไป

แม้ว่าจะดำรงอยู่นาน ชีวิตนี้ก็จะต้องดับไปก่อน

เพราะชีวิตนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ เมื่อชีวิตนี้ดับไปก่อนก็เป็นอันว่า ก็ต้องละทุกอย่าง

ไม่เป็นเจ้าเข้าเจ้าของในสิ่งทั้งปวงอยู่ได้ตลอดไป

พิจารณาให้รู้จักดั่งนี้ ว่าเป็นทุกข์ทั้งนั้นคือเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้

ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

พิจารณาให้รู้จักทุกข์ตามเป็นจริง

แต่ว่าบุคคลนั้น เมื่อยังไม่กำหนดให้รู้จักทุกข์อย่างละเอียดลงไปจริงๆ

จึงทำให้มีความเพลินอยู่ในทุกข์ มีความติดอยู่ในทุกข์ ยึดเอาทุกข์ไว้ เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ปล่อยไม่ได้

พระบรมศาสดาจึงได้ตรัสสอนให้กำหนดให้รู้จักทุกข์ตามความเป็นจริง

และก็ตรัสสอนไว้เป็นอันมากในเรื่องนี้ เพื่อให้หมั่นพิจารณาให้รู้จักทุกข์ตามความเป็นจริง

และเมื่อมองเห็นทุกข์แล้ว ก็จะทำให้ผ่อนคลายความเพลิดเพลิน ความติดใจยินดี

ความดิ้นรนไปในทุกข์ต่างๆ ก็จะทำให้ปล่อยทุกข์ได้

พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนไว้โดยปริยายคือทางเป็นอันมาก

และในสติปัฏฐานก็ได้ตรัสสอนให้พิจารณาให้รู้จัก

ตลอดจนถึงตัวสมุทัยคือเหตุเกิดทุกข์ คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก

ว่าก็เกิดขึ้นที่ทุกข์นี่แหละ แล้วก็ดับไปที่ทุกข์นี่แหละ

และโดยที่ตรัสขยายทุกข์ออกไปเป็นอายตนะภายใน อายตนะภายนอก เป็นวิญญาณ

เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญเจตนา เป็นตัณหา เป็นวิตก เป็นวิจาร

ทั้งหมดนี้ก็รวมอยู่ในคำว่าทุกข์ทั้งนั้น คือตัวทุกข์นี้เอง

อันสรุปเข้าได้ว่าตัณหาก็บังเกิดขึ้นตั้งอยู่ที่ตัวทุกข์ ดับไปก็ดับไปที่ตัวทุกข์นี้เอง ไม่ใช่ที่อื่น

เพราะฉะนั้น การที่จะพิจารณาให้เห็นทุกข์นั้น

จึงต้องพิจารณาให้ผ่านตัวทุกข์ที่เข้าใจว่าเวทนาต่างๆที่ทนง่ายทนยากดังกล่าวนั้น

เข้าไปจนถึงตัวสังขารอันเป็นที่ตั้งของทุกข์ทั้งปวง ที่ตรัสเรียกว่าขันธ์บ้าง อายตนะบ้าง ธาตุบ้าง

หรือที่ตรัสจำแนกไว้ในหมวดที่ทรงแสดงถึงสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ และความดับทุกข์ดังกล่าวนี้

รวมเข้าในคำว่าทุกข์คำเดียวทุกๆข้อ ตัณหาก็เกิดขึ้นตั้งอยู่ที่ทุกข์

แต่เพราะยังไม่เห็นทุกข์ จึงได้มีความเพลินอยู่ในทุกข์ และมีความติดใจอยู่ในทุกข์

แต่ว่าเมื่อเห็นทุกข์แล้วก็จะทำให้ปล่อยวาง ไม่ต้องการ ก็เป็นความดับทุกข์ ก็ดับที่ทุกข์นั้นเอง

เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจึงสมควรที่จะหมั่นฝึกหัดพิจารณา ให้รู้จักสัจจะคือตัวความจริงนี้

และจะพบกับสุญญตาคือความว่าง พบกับสันติคือความสงบ จะพบกับวิมุติคือความหลุดพ้น

ตามสมควรแก่ความปฏิบัติที่ได้ที่ถึง

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*