ถอดเทปพระธรรมเทศนา

  • พิมพ์

 

 

 

เทป028

เอกายนมรรค ทางปฏิบัติอันเดียว

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

อุปการปฏิบัติ ๓

ศีลเพื่อสมาธิ ๔

เครื่องกำจัดภัยแห่งสมาธิ ๕

ข้อปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๖

โพชฌงค์องค์ของความรู้ ๘

มรรค ๘ ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ ดีเยี่ยม

ม้วนที่ ๓๒/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๓๓/๑ ( File Tape 28 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

เอกายนมรรค ทางปฏิบัติอันเดียว

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงสรุปธรรมะที่บรรยายมาโดยลำดับ

ตามแนวพระสูตรใหญ่ที่ตรัสแสดงสติปัฏฐาน อันได้ชื่อว่ามหาสติปัฏฐานสูตร

อันได้ถือเป็นหลักในการปฏิบัติของผู้ปฏิบัติธรรมทั่วไป

พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงชี้ทางปฏิบัติอันเดียว อันเรียกโดยชื่อว่าเอกายนมรรค

ทางไปอันเดียว คือทางปฏิบัติอันเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย

เพื่อก้าวล่วงความโศก ความรัญจวนคร่ำครวญใจทั้งหลาย เพื่อดับทุกข์โทมนัสทั้งหลาย

เพื่อบรรลุธรรมะอันถูกชอบที่พึงบรรลุ

เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งนิพพานคือความดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น

ทางปฏิบัติอันเดียวนี้ก็คือสติปัฏฐานพิจารณากาย สติปัฏฐานพิจารณาเวทนา

สติปัฏฐานพิจารณาจิต สติปัฏฐานพิจารณาธรรมะคือเรื่องในจิต

อุปการปฏิบัติ

และได้ทรงแสดงอุปการะปฏิบัติ

คือข้อปฏิบัติที่เป็นอุปการะในการปฏิบัติสติปัฏฐานดังกล่าว

คือ ๑ อาตาปี มีความเพียรปฏิบัติ

สัมปชาโน มีความรู้พร้อม คือมีความรู้ตัวเรียกอีกชื่อหนี่งว่าสัมปชัญญะที่แปลว่าความรู้ตัว

สติมา มีสติคือความระลึกได้ หรือความกำหนดพิจารณา

วินัยโลเก อภิชา โทมนัสสัง กำจัดความยินดีความยินร้ายในโลกเสีย ดั่งนี้

และได้ทรงแสดงขอบเขตแห่งการปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ไว้ด้วยว่า

ตั้งสติพิจารณากายในกาย ตั้งสติพิจารณาเวทนาในเวทนา

ตั้งสติพิจารณาจิตในจิต ตั้งสติพิจารณาธรรมในธรรม

อันเป็นการเตือนให้ได้ทราบขอบเขตของการตั้งสติพิจารณาใน ๔ ข้อนี้

ว่าเมื่อพิจารณากายก็ต้องพิจารณาในกาย มิใช่ในที่อื่น อีก ๓ ข้อก็เหมือนกัน

เมื่อจะปฏิบัติข้อไหน ก็ต้องตั้งสติพิจารณาในข้อนั้น มิใช่ในข้ออื่น

และได้ทรงแสดงสถานที่สำหรับที่จะปฏิบัติไว้ก็คือ ป่า โคนไม้ เรือนว่าง

( เริ่ม ๓๓/๑ ) ในการปฏิบัติ จึงต้องการสถานที่อันประกอบด้วยสุญญตาคือความว่าง

จะเป็นป่าก็ได้ โคนไม้ก็ได้ เรือนว่างก็ได้ ก็คือที่ที่มีความว่างอันสงบสงัดนั้นเอง

และได้ตรัสถึงอิริยาบถแห่งการปฏิบัติซึ่งใช้โดยมาก ก็คือนั่งขัดบัลลังก์

ที่เรียกกันว่านั่งขัดสมาธิ หรือนั่งขัดสะหมาด ในบาลีไม่ได้บอกรายละเอียด

แต่อาจารย์ผู้สอนปฏิบัติได้แนะเพิ่มเติม ว่าในการนั่งขัดสะหมาดนั้นเท้าขวาทับเท้าซ้าย

ส่วนการวางมือก็ไม่ได้แสดงไว้ในพระบาลีถึงรายละเอียดของการวางมือ

แต่อาจารย์ผู้สอนปฏิบัติก็มักจะสอนให้วางมือ จะชนกันหรือไม่ชนกัน

หรือว่ามือขวาทับมือซ้าย ก็สุดแต่สัปปายะของแต่ละบุคคล

แต่ได้ตรัสแนะให้นั่งตั้งกายตรง ดำรงสติจำเพาะหน้า

คือรวมจิตเข้ามากำหนดอยู่เฉพาะหน้า นี้เป็นการเตรียมปฏิบัติ

และในที่อื่นก็ได้มีสอนให้ตั้งใจถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล

ศีลเพื่อสมาธิ

อันศีลนั้นย่อมเป็นพื้นของสมาธิตามที่ได้ตรัสแสดงไว้ในที่อื่น

และผู้ปฏิบัติธรรมเป็น ธรรมจารีบุคคล อยู่โดยปรกติก็มักจะมีศีลประจำอยู่ในตนเอง

โดยปรกติก็ศีล ๕ ในโอกาสพิเศษเช่นวันอุโบสถก็ศีลอุโบสถคือศีล ๘

เมื่อออกบวชเป็นสามเณรก็ศีล ๑๐ เป็นภิกษุก็ศีล ๒๒๗ หรือศีลของสามเณรศีลของภิกษุ

แต่สำหรับศีลในขณะปฏิบัติทำสมาธิ หรือปฏิบัติวิปัสสนาทางปัญญา

แม้ผู้ที่มิได้มีศีลเป็นธรรมจารีอยู่เป็นปรกติดังกล่าว

เมื่อมีความสำรวมกายสำรวมวาจาสำรวมใจ ก็เป็นศีลขึ้นมาทันที

แม้ว่ามิได้ตั้งใจที่จะสมาทานศีล แม้ว่าจะไม่รู้จักคำว่าศีล ไม่รู้จักข้อของศีลต่างๆ

แต่เมื่อมีความสำรวมกายสำรวมวาจาสำรวมใจ ก็เป็นศีลขึ้นทันที

ก็เป็นพื้นฐานของภาวนาทางจิตใจทางปัญญาได้

และความสำรวมกายวาจาใจดังกล่าวเป็นข้อสำคัญ อันเป็นที่ตั้งของสมาธิ

แม้ว่าจะสมาทานศีลอยู่ และก็มิได้ละเมิดศีลทางกายทางวาจา

แต่มิได้มีความสำรวมกายวาจาใจในขณะที่นั่งปฏิบัติ คือใจไม่สำรวม

คือใจไม่รวมเข้ามา ไม่ทำสติจำเพาะหน้า ดั่งนี้ การปฏิบัติก็ไม่ได้

และทางกายทางวาจาก็เหมือนกัน เช่นว่าในขณะที่มิได้มีความสำรวมกาย

เช่นทำการงานอยู่ นั่งพักผ่อนอยู่ ซึ่งเหยียดมือเหยียดเท้าไปตามสบาย

มิได้สำรวมวาจาพูดคุยอยู่ มิได้สำรวมใจ ใจคิดเรื่องราวอะไรต่ออะไรอยู่ดั่งนี้

ก็แปลว่ายังไม่มีศีลที่จะทำสมาธิ หรือยังไม่มีศีลเพื่อสมาธิ

ศีลเพื่อสมาธิจึงต้องมีความสำรวมกาย มีร่างกายพร้อมที่จะปฏิบัติ

อาจจะเป็นนั่งก็ได้ เป็นเดินที่เรียกว่าเดินจงกรมก็ได้ หรือว่าอาจจะเป็นนอน

แต่ว่าเป็นนอนนั้นมักจะใกล้กับความง่วง นอนปฏิบัติจึงไม่เป็นที่นิยม

โดยมากก็ใช้จงกรมหรือนั่ง

และเมื่อจะทำจิตให้สงบจริงๆก็ต้องนั่ง

เพราะจะไม่ต้องไปพะวักพะวนในเรื่องของการเดิน

ซึ่งจะต้องมีความพะวักพะวนมากกว่านั่ง

อิริยาบถนั่ง นั่งกายตรง นั่งขัดสะหมาดหรือนั่งขัดสมาธิ

นั่งขัดบัลลังก์ ตั้งกายตรง ย่อมเป็นอิริยาบถที่ทำจิตให้สงบได้ง่าย

หรือแม้จะนั่งเก้าอี้สำหรับผู้ที่นั่งกับพื้นไม่สะดวกก็ใช้ได้

แต่ว่าให้นั่งกายตรงดีกว่าที่จะนั่งพิง นั่งพิงก็เป็นไปเพื่อง่วงง่ายอีกเหมือนกัน

เหล่านี้เป็นเรื่องของจะต้องมีความสำรวมกายสำรวมวาจาสำรวมใจ ซึ่งเป็นศีลเพื่อสมาธิ

เป็นภิกษุเป็นสามเณรนึกว่ามีศีลอยู่แล้ว

ไม่มีความสำรวมกายสำรวมวาจาสำรวมใจเพื่อสมาธิดั่งนี้ ก็ทำสมาธิไม่ได้

เป็นคฤหัสถ์มีศีล ๕ ศีล ๘ อยู่แล้ว แต่ว่าขาดสำรวมดังกล่าวก็ทำสมาธิไม่ได้

จึงต้องมีศีลเพื่อสมาธิคือความสำรวมดังกล่าวในขณะปฏิบัติ เป็นศีลเพื่อสมาธิ

เครื่องกำจัดภัยแห่งสมาธิ

และมีสรณะเป็นเครื่องกำจัดภัยแห่งสมาธิ

เพราะจิตที่ถึงสรณะก็คือจิตที่ถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์ อันเป็นวัตถุที่บริสุทธิ์

เมื่อจิตถึง แม้จะโดยสมมติบัญญัติแห่งพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์

ตามที่รู้จักตามที่เข้าใจก็ตาม แต่เมื่อมีความเข้าใจว่าสมมติบัญญัติ

แห่งพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ตามที่เข้าใจนั้น เป็นที่ตั้งของความบริสุทธิ์

เมื่อจิตถึงจิตก็ย่อมจะได้ความสงบได้ความเย็น ได้ศรัทธาได้ปสาทะ

อันนำให้เป็นศีลคือความสำรวมกายสำรวมวาจาสำรวมใจขึ้นโดยอัตโนมัติ

ควบคู่กันไปกับการถึงสรณะ

และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็ชื่อว่าได้ทำการเตรียมตนพร้อมที่จะปฏิบัติ ทำสมาธิ ทำปัญญา

จึงถึงการที่จะเลือกข้อปฏิบัติอันเรียกว่ากรรมฐานตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสั่งสอนไว้

และเมื่อได้ตั้งเลือกสติปัฏฐาน คือตั้งสติกำหนดกายเวทนาจิตธรรม

ก็น้อมนำสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงสั่งสอนเอาไว้

และที่ครูบาอาจารย์ได้บอกกล่าวสั่งสอนกันต่อๆมา

มากำหนดปฏิบัติด้วยสติที่ตั้งขึ้นจำเพาะหน้านั้น

ข้อปฏิบัติในสติปัฏฐาน

อาจปฏิบัติได้ตามข้อต่างๆที่ตรัสแสดงเอาไว้

อันเริ่มแต่ข้อกาย คือตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก

ตั้งสติกำหนดอิริยาบถยืนเดินนั่งนอน

ตั้งสติกำหนดอิริยาบถน้อยแห่งอิริยาบถใหญ่เหล่านั้น

เช่นเดินก็เดินก้าวไปข้างหน้า หรือถอยไปข้างหลังเป็นต้น

สำหรับข้ออิริยาบถใหญ่อิริยาบถน้อยนี้ มักเรียกว่าทำสัมปชัญญะคือความรู้ตัว

แต่อันที่จริงนั้นก็ต้องด้วยกัน สติกับสัมปชัญญะต้องคู่กันไป

ตั้งสติกำหนดกายนี้ว่าประกอบด้วยอาการ หรือสิ่งที่ปฏิกูลไม่สะอาดต่างๆ

มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นต้น แยกออกไปเป็น ๓๑ ประการ

ในที่บางแห่งก็เป็น ๓๒ ประการ จึงมักเรียกกันว่าอาการ ๓๒

ตั้งสติกำหนดพิจารณาธาตุทั้ง ๔ อันมีอยู่ในกายนี้ คือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

ในที่บางแห่งเติมอากาสธาตุ ธาตุอากาศคือช่องว่างเข้าอีกข้อ ๑ เป็นธาตุ ๕

ตั้งสติกำหนดป่าช้าทั้ง ๙ คือพิจารณาศพที่ทิ้งไว้ในป่าช้า หรือที่กำหนดพิจารณาเอา

ว่าเป็นศพที่ตายแล้ววันหนึ่ง สองวัน สามวัน มีสีเขียวน่าเกลียด

พิจารณาศพที่ทิ้งไว้ในป่าช้าถูกสัตว์ทั้งหลายกัดกิน

พิจารณาศพที่เป็นโครงร่างกระดูกมีเส้นเอ็นรึงรัด ประกอบด้วยเนื้อและเลือด

พิจารณาศพที่เป็นโครงร่างกระดูกมีเส้นเอ็นรึงรัด ไม่มีเนื้อแต่ยังเปื้อนเลือด ยังมีเส้นเอ็นรึงรัด

พิจารณาศพที่เป็นโครงร่างกระดูกที่ไม่มีเนื้อไม่มีเลือด แต่ยังมีเส้นเอ็นรึงรัด

พิจารณาโครงร่างกระดูกที่ไม่มีเส้นเอ็นรึงรัด กระดูกจึงกระจัดกระจายไปในทิศทางต่างๆ

ก็พิจารณากระดูกที่เป็นสีขาวเหมือนดั่งสังข์

พิจารณากระดูกที่มีอายุล่วงไปปีหนึ่ง หรือเกินกว่าซึ่งอยู่เป็นกองๆ

พิจารณากระดูกที่ผุป่นละเอียดไปในที่สุด

ก็เป็นอันว่าพิจารณากาย

เริ่มแต่กายที่ยังมีชีวิต ยังหายใจเข้าหายใจออก ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถใหญ่น้อยได้

มีอาการ ๓๒ มีธาตุทั้ง ๔ ประกอบกันอยู่ และเป็นกายที่ยังดำรงชีวิต

และพิจารณากายที่สิ้นชีวิตเป็นทรากศพ ตั้งแต่เริ่มตายจนถึงเป็นกระดูกผุป่นไปในที่สุด

ก็เป็นอันว่ากายอันนี้ก่อนจะเกิดก็ไม่มี และเมื่อเกิดเป็นชาติก็มีขึ้นมา

และในที่สุดก็กลับไม่มีอีกตามเดิม

จากนั้นก็ตรัสสอนให้พิจารณาเวทนา

คือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขทางกายทางใจ

ที่เป็นสามิสคือมีอามิสมีกิเลสเป็นเครื่องล่อ

มีอารมณ์อันประกอบด้วยกิเลสเป็นเครื่องล่อให้บังเกิดขึ้นบ้าง

เป็นนิรามิสคือไม่มีกิเลสไม่มีอารมณ์ประกอบด้วยกิเลสเป็นเครื่องล่อให้บังเกิดขึ้นบ้าง

จากนั้นก็ตรัสสอนให้พิจารณาจิตนี้ จิตที่มีราคะมีโทสะโมหะก็ให้รู้ว่ามี

จิตปราศจากราคะโทสะโมหะก็ให้รู้ว่ามี จิตที่ฟุ้งซ่านหรือจิตที่หดหู่อย่างไรก็ให้รู้

จิตที่ได้สมาธิที่เป็นจิตใหญ่ หรือจิตที่ไม่ได้สมาธิเป็นจิตที่คับแคบอย่างไรก็ให้รู้

จิตที่ยิ่งหรือไม่ยิ่งด้วยความที่มี หรือไม่มีธรรมปฏิบัติที่ยิ่งหรือไม่ยิ่งอย่างไรก็ให้รู้

จิตที่เป็นสมาธิหรือไม่เป็นสมาธิก็ให้รู้ จิตที่หลุดพ้นหรือไม่หลุดพ้นอย่างไรก็ให้รู้

กำหนดทำความรู้จิตของตนเข้ามา

และต่อจากนั้นก็ตรัสสอนให้หัดปฏิบัติกำหนดดูธรรมะในจิต

เมื่อมีอกุศลธรรมเกิดขึ้นในจิตคือนิวรณ์ทั้ง ๕ ข้อใดข้อหนึ่งก็ให้รู้ ไม่มีก็ให้รู้

และหัดปฏิบัติให้รู้จนถึงว่านิวรณ์จะเกิดขึ้นอย่างไร จะละได้อย่างไร

ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นได้อย่างไร

และตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดดู ขันธ์ อายตนะ

พร้อมทั้งสัญโยชน์ที่บังเกิดขึ้น หรือไม่บังเกิดขึ้นทางอายตนะ

ตลอดจนถึงสัญโยชน์เกิดขึ้นอย่างไรก็ให้รู้ ละได้อย่างไรก็ให้รู้

ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นอย่างไรก็ให้รู้

อันขันธ์อายตนะนี้ นับว่าเป็นอัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล

เพราะเป็นวิบากขันธ์วิบากอายตนะที่ได้มาตั้งแต่ชาติคือความเกิด

โพชฌงค์องค์ของความรู้

และก็ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดโพชฌงค์ องค์ของความรู้

ก็คือตัวสตินั้นเอง ที่เมื่อได้ปฏิบัติมาโดยลำดับ เป็นสติที่กำหนดมาโดยลำดับดังกล่าว

สตินี้เองก็เลื่อนขึ้นเป็นโพชฌงค์คือเป็นองค์ของความรู้

ทำให้ได้ธรรมวิจัยเลือกเฟ้นธรรมขึ้นในจิตใจเอง

อะไรเกิดขึ้นในใจก็รู้ทันที ว่านี่ดี นี่ชั่ว นี่มีโทษ นี่ไม่มีโทษ ก็เป็นธรรมะวิจัย

และก็จะเกิดความเพียรละขึ้นเอง คือส่วนที่เป็นชั่วหรือเป็นอกุศลก็จะละให้ดับหายไปได้

และก็จะได้ปีติคือความอิ่มใจ เพราะเหตุว่าจิตเริ่มบริสุทธิ์

หรือว่าบริสุทธิไปโดยลำดับจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่ละเสียได้

เมื่อจิตบริสุทธิ์ จิตก็ย่อมจะอิ่มเอิบ ดูดดื่มอยู่ในธรรมะซึ่งเป็นส่วนความดี

ดูดดื่มสติ ดูดดื่มสมาธิ ตลอดจนถึงญาณคือความหยั่งรู้เข้าในจิต

ก็แปลว่าสติสมาธิญาณคือความหยั่งรู้นั้นซึมซาบเข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับจิต

เหมือนอย่างที่ดื่มน้ำระงับกระหายน้ำก็เข้าไปซึมซาบอยู่ในร่างกาย ดับร้อน

ฉะนั้นเมื่อละส่วนที่เศร้าหมอง รับเอาส่วนที่ดี ก็คือสติสมาธิญาณปัญญาเป็นต้นเหล่านี้เข้ามา

ก็ทำให้จิตนี้เองผ่องใส ดูดดื่ม อิ่มเอิบ และก็มีความสุขความสงบทั้งทางกายทั้งทางใจ

เมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิมากขึ้น เป็นความตั้งมั่นสงบอยู่ในภายใน

สงบอยู่ด้วยความรู้ เป็นความรู้ที่นิ่งสงบอยู่ในภายใน ไม่ออกไปในภายนอก

อารมณ์อะไรผ่านเข้ามาก็ตกอยู่แค่ตา แค่หู แค่จมูก แค่ลิ้น แค่กาย แค่มนะคือใจ

ไม่เข้าไปสู่จิต เพราะจิตตั้งสงบรู้อยู่ รู้อยู่ในภายในไม่ออกรับ

อาการที่ตั้งสงบอยู่ในภายใน รู้อยู่ไม่ออกรับ ดั่งนี้คืออุเบกขา

ก็เป็นโพชฌงค์ขึ้นมาสมบูรณ์

มรรค ๘

และเมื่อเป็นดั่งนี้ความรู้ที่เป็นสติ ที่เป็นสมาธิ ที่เป็นปัญญา

ทุกอย่างก็ประมวลกันเข้าเป็นมรรคมีองค์ ๘

นำให้กำหนดรู้ทุกข์ รู้ทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์ ทุกขนิโรธความดับทุกข์

รู้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

เป็นญาณความหยั่งรู้ในสัจจะทั้ง ๔ ขึ้นไปโดยลำดับ

ดั่งนี้ก็เป็นตั้งสติกำหนดธรรมอันเป็นข้อที่ครบ ๔

เพราะฉะนั้นจึงเป็นทางปฏิบัติอันเดียว

พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงเอาไว้ถึงอานิสงส์ผลของผู้ปฏิบัติสติปัฏฐาน

ว่าจะได้บรรลุอัญญาคือพระอรหัตผล หรือมิฉะนั้นก็ความเป็นอนาคามี

เป็นนิทัศนะในเบื้องสูงในเมื่อปฏิบัติได้สมบูรณ์

สุดแต่ว่าผู้ปฏิบัตินั้นจะเป็นบุคคลประเภทใด คือเป็นผู้รู้เร็ว รู้ช้า รู้ปานกลางเป็นต้น

ซึ่งยกไว้เป็นนิทัศนะ ก็ ๗ ปี จนถึง ๗ วัน ก็เป็นนิทัศนะคือตัวอย่างอันแสดงว่า

การปฏิบัตินั้นต้องได้รับผล ไม่เร็วก็ช้า และแม้จะช้ากว่านั้น เมื่อปฏิบัติไปโดยลำดับไม่ละเว้น

ก็ย่อมจะบรรลุเข้าได้สักวันหนึ่ง ในปัจจุบันภพไม่ได้ก็ในอนาคตภพ

การปฏิบัติย่อมเป็นอุปนิสัย เป็นนิสสัย เป็นอินทรีย์ เป็นบารมีที่เป็นพื้น

และปฏิบัติเพิ่มเติมยิ่งขึ้นไป

เพราะฉะนั้นพระสูตรนี้จึงประกอบด้วยหลักปฏิบัติเป็นอันมาก

ซึ่งผู้ปฏิบัติยกเอาเพียงข้อใดข้อหนึ่งขึ้นปฏิบัติ

และเมื่อปฏิบัติไปๆ ทุกๆข้อก็ย่อมประมวลเข้ามา เพราะเป็นทางปฏิบัติอันเดียว

ข้อสำคัญนั้นคือต้องมีความเพียรไม่หยุด ทำไปโดยลำดับน้อยหรือมากก็ตามทุกๆวัน

มีสัมปชัญญะ มีสติ และคอยกำจัดความยินดียินร้ายในโลกไปโดยลำดับ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

สติ อนุสสติ ญาณ ปัญญา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

สติ สัมปชัญญะ ๓

สติต่างจากสัญญา ๔

สติระลึกชาติ ๖

สัตตะ สัตวะ ๗

โพธิสัตว์ มหาสัตว์ ๘

อะไรเป็นสัตวะ ๘

บุญบาปเป็นของๆตน ๙

สัตตภาวะ ๑๐

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๓๓/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๓๔/๑ ( File Tape 28 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สติ อนุสสติ ญาณ ปัญญา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

อันปัญญานั้นคู่กันกับคำว่าสติ

ตามที่พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงเอาไว้ในที่บางแห่ง

ฉะนั้น จึงควรศึกษาทำความเข้าใจในคำว่าสติและคำว่าปัญญา

สตินั้นคือความระลึกได้ ปัญญานั้นคือความรู้ทั่วถึง

สติได้มีพระพุทธภาษิตตรัสสอนเอาไว้ให้ระลึกถึงการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้

อันนับว่าเป็นสติคือความระลึกได้ทั่วไป

และได้มีพระพุทธภาษิตตรัสสอนเอาไว้

ให้ระลึกกำหนดในกายเวทนาจิตธรรม อันเป็นสติปัฏฐานทั้ง ๔

กับได้ตรัสสอนให้ระลึกถึงพระพุทธะ พระธรรม พระสงฆ์

อันเรียกว่าพุทธานุสสติ ธรรมานุสสติ สังฆานุสสติเป็นต้น

ซึ่งใช้คำว่าอนุสสติแปลว่าระลึกตามไป หรือว่าตามระลึก

สติเหล่านี้นับเข้าในคำว่าสัมมาสติระลึกชอบ

และเมื่อตรงกันข้าม คือระลึกไปในทางผิดต่างๆก็เรียกว่ามิจฉาสติ ระลึกผิด

เพราะว่าแม้ในทางที่ผิดต่างๆนั้นก็ระลึกไปได้เหมือนกัน แต่ว่าเป็นมิจฉาสติระลึกผิด

สติ สัมปชัญญะ

สตินี้ยังมีธรรมะที่คู่กันโดยตรงก็คือสัมปชัญญะ ที่ท่านแปลว่าความรู้ตัว

สติและสัมปชัญญะนี้เมื่อมาคู่กัน สติก็คือความระลึกได้ สัมปชัญญะก็คือความรู้ตัว

เมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะทำให้เข้าใจว่า

ทั้งสองนี้ต้องมีประกอบกันอยู่ในการปฏิบัติทุกขณะทุกอย่าง

คือจะต้องมีทั้งระลึกคือตัวกำหนด จะต้องมีทั้งความรู้ตัว คือจะต้องมีทั้งระลึกทั้งรู้

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะเป็นสติที่สมบูรณ์ และจึงจะเป็นสัมปชัญญะที่สมบูรณ์

ถ้าขาดระลึกก็ย่อมจะไม่รู้ ต้องระลึกจึงจะรู้

และรู้ที่มาคู่กันกับระลึกนี้ ก็เป็นรู้ที่เป็นสัมปชัญญะ

อีกอย่างหนึ่งถ้าขาดรู้ก็เป็นระลึกไม่ได้ ต้องมีรู้จึงจะเป็นระลึกได้

ฉะนั้นก็เป็นอันว่าสติและสัมปชัญญะในทางปฏิบัติต้องมีอยู่ด้วยกัน

แม้ว่าจะแยกเรียกกันว่าสติคำเดียว ก็ต้องหมายถึงสัมปชัญญะด้วย

จะเรียกแยกกันว่าสัมปชัญญะคำเดียวก็ต้องหมายถึงสติด้วย

ยกตัวอย่างเช่นลมหายใจเข้าลมหายใจออก ซึ่งทุกคนก็หายใจกันอยู่ทุกเวลา

แต่ว่าเมื่อไม่ระลึกถึงก็ไม่รู้ว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออก

แต่เมื่อระลึกถึงคือกำหนดอยู่ที่ลมหายใจ ก็ย่อมรู้ว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออก

อาการที่กำหนดนี่แหละคือสติ

และอาการที่รู้ว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออก นี่คือสัมปชัญญะ คือรู้ตัว

ฉะนั้น เมื่อกำหนดอยู่ที่ตัวก็รู้ตัว

เป็นอันว่าจะเป็นสติเป็นสัมปชัญญะขึ้นมาได้นั้นต้องกำหนดอยู่ที่ตัว ไม่ทิ้งตัว

และเมื่อกำหนดก็เป็นสติ รู้ตัวก็เป็นสัมปชัญญะ

แม้ในอิริยาบถยืนเดินนั่งนอนต่างๆก็เช่นเดียวกัน เมื่อสติกำหนดอยู่ที่อิริยาบถ

ก็ย่อมจะรู้ตัวว่าเรากำลังเดิน เรากำลังยืน เรากำลังนั่ง เรากำลังนอน ดั่งนี้เป็นต้น

สติกำหนดอยู่ที่ตัวให้รู้ตัวนี้เป็นสติที่สมบูรณ์ คือมีความหมายเต็มของคำว่าสติ

และแม้ว่าจะแยกเรียกจำเพาะสัมปชัญญะ อย่างในสัมปชัญญะปัพพะ

ก้าวไปข้างหน้าก็รู้ว่าเราก้าวไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลังก็รู้ว่าเราถอยไปข้างหลังเป็นต้น

ที่ท่านเรียกว่าเป็นสัมปชัญญะปัพพะ ข้อว่าด้วยสัมปชัญญะ

แต่ก็จะต้องมีสติกำหนดอยู่ที่อิริยาบถ จึงจะมีสัมปชัญญะคือความรู้ตัวอยู่ในอิริยาบถ

แม้ในข้ออื่นก็เหมือนกัน ก็จะต้องมีทั้งสองนี้คู่กันไป ดั่งที่กล่าวมานั้น

สติต่างจากสัญญา

และคำว่าสตินี้ก็ต่างจากคำว่าสัญญา

แม้ว่าสติคือความระลึกได้จะมีความหมายว่าจำได้

ระลึกถึงการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้ ก็คือจำการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้

สัญญานั้น สัญญาในขันธ์ ๕ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ก็เป็นความจำได้หมายรู้

แต่ว่าเป็นความจำได้หมายรู้ที่เป็นเรื่องของขันธ์

ส่วนสตินั้นเป็นความจำที่เป็นธรรมปฏิบัติ

ซึ่งจะทำให้ระลึกได้มากยิ่งไปกว่าสัญญาคือความจำที่เป็นขันธ์นี้มากมายนัก

ดังที่แสดงไว้ในพระญาณของพระพุทธเจ้าอันบังเกิดขึ้นในราตรีที่ตรัสรู้

ว่าในปฐมยามทรงได้ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณความหยั่งรู้

ที่เป็นเหตุให้ทรงได้อนุสสติคือตามระลึกถึงขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้

ดังที่เรียกว่าระลึกชาติหนหลังได้

ในมัชฌิมยามทรงได้จุตูปปาตญาณ ญาณคือความหยั่งรู้

ในความจุติคือความเคลื่อน และความอุปบัติคือความเข้าถึง

ภพชาตินั้นๆของสัตว์ทั้งหลายว่าเป็นไปตามกรรม

ในปัจฉิมยามทรงได้อาสวักขยญาณ ญาณอันเป็นเหตุสิ้นอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดาน

จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น อนุสสติคือความระลึกตามที่ทรงได้ในปฐมยามแห่งราตรีนั้น

อันเรียกว่าปุพเพนิวาสานุสสติญาณ จึงเป็นสติคือความระลึกได้ที่ยาวไกล และเป็นอย่างยิ่ง

มากว่าสัญญาคือความกำหนดหมายหรือความจำได้หมายรู้ อันเป็นเรื่องของขันธ์ทั่วๆไป

สัญญาคือความจำได้หมายรู้อันเป็นเรื่องของขันธ์ ๕ นั้น

ก็เป็นเรื่องของกายใจซึ่งเป็นตัววิบากขันธ์

ผู้ที่จะปฏิบัติธรรมะหรือไม่ปฏิบัติธรรมะ

ก็ย่อมจะมีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร มีวิญญาณ มาตั้งแต่เกิดด้วยกัน

อาจจะมีแตกต่างกันไปบ้าง เช่นมีสัญญาดี มีสัญญาไม่ดี

ก็เช่นเดียวกับร่างกายที่เป็นส่วนรูป ก็มีแข็งแรง ไม่แข็งแรง

แต่ว่าก็เป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับเหมือนอย่างรูปขันธ์คือกองรูป

และก็มีกองรูปเป็นส่วนสำคัญอยู่ด้วย

ดังจะพึงเห็นได้ว่าในเมื่อรูปขันธ์คือกองรูปเจริญ

เช่นกำลังอยู่ในวัยหนุ่มสาว สัญญาคือความจำก็ว่องไว จำอะไรได้ง่าย

แต่เมื่อรูปขันธ์ไม่แข็งแรงแม้จะอยู่ในวัยหนุ่มสาวก็ตาม

หรือว่าเป็นโรคบางอย่างเกี่ยวแก่ร่างกายบางส่วนอันสัมพันธ์กับสัญญาความจำ

ก็ทำให้สัญญาคือความจำนั้นไม่ดี เช่นกระทบกระเทือนที่ศรีษะมากเพราะอุบัติเหตุบางอย่าง

ก็ทำให้สัญญาคือความจำนั้นไม่ดี ต้องลืมไปหมดในบางครั้งบางคราว ดั่งนี้ก็มี

และเมื่ออายุมากเข้าๆสัญญาคือความจำก็เสื่อมลงไป

มักจะจำได้แต่เรื่องเก่าๆที่เคยจำไว้ได้ตั้งแต่เมื่อยังเป็นหนุ่มเป็นสาวร่างกายยังแข็งแรง

แต่ว่าเรื่องใหม่ๆไม่จำ คนแก่ก็มักจะเป็นดั่งนั้น สัญญาจึงเกี่ยวแก่รูปขันธ์หรือร่างกาย

ส่วนนามธรรมอื่นๆก็เช่นเดียวกันมักจะเกี่ยวเนื่องอยู่กับรูปขันธ์คือร่างกาย

ก็เป็นอันว่าต้องประกอบกันอยู่ดั่งนี้ เป็นส่วนของขันธ์

สติระลึกชาติ

แต่ว่าสติคือความระลึกได้ซึ่งเป็นความจำนี้เป็นธรรมะปฏิบัติ

ที่เมื่อปฏิบัติทำสติอยู่เสมอแล้ว ก็จะทำให้สติคือความระลึกได้นี้ดี

และไม่เกี่ยวแก่อายุมากอายุน้อย

เมื่อปฏิบัติทำสติอยู่ อายุมากขึ้น สติคือความระลึกได้ก็ยังคงดี

แต่ก็ต้องอาศัยร่างกายอีกเหมือนกัน ถ้าร่างกายพิกลพิการไปมาก

ก็จะทำให้ความระลึกที่เป็นตัวสตินี้ปรากฏยาก หรือหยุดชงักไปได้อีกเหมือนกัน

แต่ถ้าเป็นไปตามธรรมดาสามัญแล้ว แม้อายุมาก เมื่อหัดปฏิบัติทำสติอยู่เสมอ

สติคือความระลึกได้ก็จะยังคงดี

และความระลึกได้ซึ่งเป็นตัวสตินี้ เมื่ออาศัยการปฏิบัติทำสมาธิให้ดีขึ้นด้วย

คือเมื่อจิตได้สมาธิที่ดียิ่งขึ้นๆ จนถึงขั้นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น

ย่อมจะทำให้สติคือความระลึกได้นี้ หากว่าเมื่อน้อมจิตที่เป็นสมาธินี้ไปเป็นอนุสสติ

คือระลึกตามหรือตามระลึก ก็ย่อมจะนึกขึ้นมาได้ถึงอดีตในภพชาตินี้ ตลอดจนถึงข้ามภพชาติ

ดังที่บังเกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าเมื่อก่อนจะตรัสรู้ หรือเมื่อใกล้ที่จะตรัสรู้

เป็นปุพเพนิวาสานุสสติญาณ เป็นอนุสสติคือตามระลึกได้

จนถึงข้ามภพข้ามชาติไปในอดีตเป็นอันมาก ตลอดจนถึงรายละเอียดต่างๆของชาตินั้นๆ

ตามกำลังของสติที่จะระลึกได้มากหรือน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ก็เพราะว่าเมื่อยังเป็นผู้มีกิเลสอยู่ก็ยังต้องเกิดอีก เมื่อสิ้นกิเลสก็ไม่ต้องเกิด

ขณะเมื่อมีกิเลสยังไปเกิดอีกนั้น ก็มักจะเรียกกันว่า วิญญาณไปเกิดบ้าง จิตไปเกิดบ้าง

แต่ว่าตามพระพุทธภาษิตโดยตรงนั้น

สำหรับในปฐมญาณที่ทรงได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณนั้น

ในพระบาลีใช้คำว่า เรา เราก็หมายถึงองค์พระพุทธเจ้าเองเมื่อก่อนจะตรัสรู้นั้น

ว่าเราคือพระองค์ ( เริ่ม ๓๔/๑ ) ทรงระลึกชาติในหนหลังได้

ว่าเราคือพระองค์เข้าถึงชาตินี้ เคลื่อนจากชาตินี้แล้วก็ไปเข้าถึงชาตินั้น

เคลื่อนจากชาตินั้นแล้วก็เข้าไปถึงชาติโน้น มาโดยลำดับจนถึงในชาติปัจจุบัน ดั่งนี้

ฉะนั้น คำว่าเราคือพระองค์ที่ตรัสถึงนี้จึงเป็นผู้ที่ถือชาติภพต่างๆมาโดยลำดับ

แล้วก็เป็นเราคือพระองค์ซึ่งเป็น ..เรียกว่าคนเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนกัน

จึงมีปัญหาว่าเราคือพระองค์ที่ตรัสถึงนี้ได้แก่อะไร

สิ่งที่ตรัสถึงนี้ต้องไม่ใช่ขันธ์ ๕ เป็นอย่างแน่นอน เพราะว่าขันธ์ ๕ นั้นก็เป็นสิ่งที่เกิดสิ่งที่ดับ

คือไม่ใช่รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณซึ่งเป็นขันธ์ ๕ อันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ

ต้องแตกต้องสลาย ต้องมีชาติคือความเกิด ต้องมีมรณะคือความตาย

ฉะนั้น เราที่ตรัสถึงนี้จึงไม่ใช่ขันธ์ ๕

สัตตะ สัตวะ

แต่เมื่อเป็นเช่นนี้จะเป็นอะไร ก็ไปจับพิจารณาดูในพระญาณที่ ๒ คือจุตูปปาตญาณ

หยั่งรู้ถึงจุติคือความเคลื่อน อุปบัติคือความเข้าถึงสัตว์ทั้งหลาย ว่าเป็นไปตามกรรม

สัตว์เหล่าใดที่กระทำกรรมชั่วไว้ กายแตกทำลายก็เข้าถึงทุคติคือคติที่ชั่ว

สัตว์เหล่าใดที่ประกอบกรรมที่ดีไว้ กายแตกทำลายไปก็เข้าถึงสุคติคือคติที่ดี ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น คำว่าเราที่ตรัสถึงในพระญาณที่ ๑ มาถึงพระญาณที่ ๒ ก็ทรงใช้คำว่าสัตว์

ที่แปลว่าผู้ข้อง คือผู้ที่ยังข้องติดอยู่ ยังมีตัณหามีอุปาทานอยู่

ผู้ที่ยังข้องยังมีตัณหาอุปาทานอยู่ ก็ชื่อว่าเป็นสัตว์ สัตตะหรือสัตวะในคำว่า สัตวโลก

คำว่าสัตว์นี้บางทีมาใช้เรียกสัตว์เดรัจฉาน เป็นเดรัจฉานจึงเรียกว่าสัตว์

ถ้ามิใช่เดรัจฉานก็ไม่เรียกว่าสัตว์ เช่นเรียกว่าบุคคล

โพธิสัตว์ มหาสัตว์

แต่ว่าตามภาษาธรรมะนั้น คำว่าสัตว์หรือสัตวะนั้นครอบหมด

เมื่อยังมีตัณหาอุปาทาน ยังมีกิเลสอยู่ ก็เรียกว่าสัตวะหรือสัตตะทั้งนั้น

และสัตวะหรือสัตตะนี้เมื่อเป็นผู้มุ่งความตรัสรู้ ปฏิบัติเพื่อความตรัสรู้

และได้รับพุทธพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง

มาว่าผู้นี้จะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าต่อไปข้างหน้า และก็ได้ปฏิบัติอยู่ใน พุทธการกธรรม

คือธรรมที่จะกระทำให้เป็นพระพุทธเจ้า อันได้แก่บารมีทั้ง ๑๐ ก็เรียกว่าโพธิสัตว์

ยังเป็นผู้ข้องผู้ติด ยังมีตัณหาอุปาทาน แต่ว่าก็ได้ปฏิบัติในพุทธการกธรรมมุ่งพระโพธิญาณ

หรือเรียกว่ามหาสัตว์ที่แปลว่าเป็นสัตว์ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ หมายในทางดีก็คือพระโพธิสัตว์นั้นเอง

เพราะฉะนั้น ในทางธรรมคำว่าสัตวะหรือสัตว์นั้นจึงมีความหมายทั่วไป

ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์นรก จกเปรต อสุรกาย

ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เป็นเทวดา เป็นมาร เป็นพรหม

เมื่อยังมีกิเลสเป็นเหตุให้ข้องติด เป็นต้นว่ามีตัณหามีอุปาทานอยู่

ก็เรียกว่าสัตว์ทั้งนั้น เป็นสัตวะโลกทั้งนั้น

อะไรเป็นสัตวะ

เพราะฉะนั้น ตามพระบาลีที่ตรัสเอาไว้ ก็พบสองคำนี้เท่านั้น

ในพระญาณที่ ๑ ก็ทรงใช้เรียกพระองค์เองว่าเรา เคลื่อนจากชาตินี้ไปสู่ชาตินั้น ดั่งนี้เป็นต้น

มาถึงพระญาณที่ ๒ ก็ทรงใช้คำว่าสัตวะหรือสัตว์

ทุกๆคนเมื่อยังมีกิเลสมีตัณหามีอุปาทานอยู่ ก็เรียกว่าสัตวะหรือสัตตะทั้งนั้น

อะไรเป็นสัตวะหรือสัตตะนั้นทุกคนก็มีอยู่ด้วยกันแล้ว

เพราะฉะนั้น จะสมมติเรียกกันว่าจิต เรียกว่าวิญญาณ หรืออะไรก็ตาม

หรือเรียกว่าอัตตาตัวตนอะไรก็ตาม แต่ก็ต้องหมายถึงสภาพอันหนึ่งในทุกๆคนนี้

เมื่อขันธ์ ๕ นี้แตกสลายไป แต่ว่าสภาพอันนั้นไม่แตกสลาย ยังไปถือภพถือชาติต่อไป

แล้วก็เป็นบุคคลเดียวกันนี่แหละ ไม่ใช่ต่างกันออกไป

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสามารถบำเพ็ญพระบารมีสืบต่อกันได้

คราวนี้สภาพดังกล่าวนี้เองที่ผ่านภพชาติมาเป็นอันมากนั้น

และก็ได้บำเพ็ญบุญบ้าง บาปบ้าง บุญบาปที่บำเพ็ญไว้นั้นก็ติดมาพร้อมทั้งกิเลส

ก็เรียกว่าติดตัวมา สมมติเรียกว่าตัวหรือตนก็ได้ เรียกว่าสัตว์ก็ได้ หรืออะไรก็ได้

อันเป็นสภาพที่สืบต่อกันมานั้น และเมื่อยังมีกิเลสอยู่ก็ยังต้องถือชาติถือภพกันต่อมา

ก็มีกิเลสมีบุญมีบาปอันเป็นตัวกรรมติดมา และเมื่อบำเพ็ญในปัจจุบัน

จะเป็นบุญก็ตาม เป็นบาปก็ตาม บุญบาปที่บำเพ็ญไว้นั้นก็ไม่หายไป

ยังอยู่กับผู้ทำซึ่งจะให้ผลต่อไป

บุญบาปเป็นของๆตน

เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสสอนให้พิจารณาเนืองๆว่า

เรามีกรรมเป็นของของตน เราทำดีจักได้ดี เราทำชั่วจักได้ชั่ว

แต่ว่าสิ่งอื่นนั้นไม่ตรัสว่าเป็นของของตน ชีวิตร่างกายนี้ก็ไม่ใช่เป็นของของตน

ทรัพย์สมบัติทั้งหลายก็ไม่ใช่เป็นของของตน อะไรก็ไม่ใช่เป็นของของตนทั้งนั้น

แต่ว่ากรรมที่กระทำไว้เป็นของของตน และยังตรัสไว้อีกว่าบุคคลผู้จะต้องตาย

ทำบุญด้วยบาปด้วยทั้งสองอันใดไว้ในโลกนี้ ก็ย่อมนำเอาบุญบาปที่ทำทั้งสองนั้นไว้ไป

อันหมายความว่าเมื่อกายนี้แตกสลาย ก็นำเอาบุญบาปทั้งสองนี้ไป ดั่งนี้

ก็แปลว่าสภาพที่ยังต้องไปเวียนว่ายตายเกิดอยู่นี้ ซึ่งนำเอากิเลสนำเอากรรมที่กระทำไว้ไป

และได้รับผลของกรรมที่กระทำไว้นั้นไปโดยลำดับได้ผ่านภพชาติต่างๆมาเป็นอันมากนับไม่ถ้วน

เพราะฉะนั้นสภาพดังกล่าวนี้จึงเป็นที่เก็บสั่งสมทั้งกิเลส และทั้งบุญทั้งบาปเอาไว้ได้

จนกว่าจะสิ้นกิเลสไม่เกิดอีกก็เป็นว่าเสร็จสิ้น แต่ในขณะที่ยังไม่สิ้นกิเลสต้องเกิดอีก

สภาพดังกล่าวนี้ก็เป็นที่เก็บเป็นที่สั่งสมทั้งกิเลส ทั้งบาปทั้งบุญที่ได้กระทำเอาไว้

สัตตภาวะ

อันนี้เองที่ทุกคนมีสภาพอันนี้อยู่ด้วยกัน สภาพเป็นเรา

หรือว่าสัตตะภาวะสภาพเป็นสัตว์ที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ด้วยกัน

ซึ่งได้ผ่านชาติภพทั้งหลายต่างๆมาเป็นอันมากนับไม่ถ้วน

แต่ว่านึกไม่ได้ ก็เพราะเหตุว่าไม่มีสติ ไม่มีสมาธิอย่างสูงที่จะทำให้ระลึกได้

และที่จะทำให้ระลึกข้ามภพข้ามชาติไปได้นั้น จะต้องมาถึงตัวปัญญา

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าคู่กับสติ

เมื่อมีสติ มีสมาธิ ก็ย่อมจะทำให้ได้ปัญญาที่เป็นความรู้

เข้าถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริง แต่ว่าก่อนที่จะเข้าถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริง

ก็ย่อมจะได้ปัญญาคือตัวความรู้ที่เป็นเหตุให้ได้อนุสสติคือความระลึกถึงอดีตได้

เมื่อน้อมใจระลึกถึงไปก็ย่อมจะระลึกถึงในอดีต จนถึงข้ามภพข้ามชาติ เป็นระลึกชาติได้

แต่ว่าแม้ว่าจะไม่ได้สติไม่ได้สมาธิ ไม่ได้ปัญญาที่จะทำให้ระลึกข้ามชาติข้ามภพได้ดังนั้น

ปัญญานั้นก็จะทำให้รู้ทั่วถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริง ตั้งต้นแต่ให้รู้ทั่วถึงว่าบาปบุญคุณโทษ

ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ ให้รู้ทั่วถึงในอริยสัจจ์คือ ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์

ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

และแม้ว่าจะได้สมาธิอย่างสูงยิ่ง ได้สติที่ดียิ่ง ทำให้ได้ปัญญาอันเรียกว่าญาณคือความหยั่งรู้

ญาณคือความหยั่งรู้นี้หมายความว่ารู้หยั่งลงไป เหมือนอย่างหยั่งน้ำทะเลลึก

หยั่งลึกลงไป เมื่อมีความสามารถก็หยั่งลึกลงไปได้ จนถึงที่สุดของความลึก

ญาณคือความหยั่งรู้นี้ก็เช่นเดียวกัน เป็นตัวปัญญาที่หยั่งรู้ลงไปได้ และอาการที่หยั่งรู้ลงไปได้นี้

ก็คือว่าอาการที่ตามระลึก ระลึกได้ลึกซึ้งคือไกลออกไปตามอำนาจของญาณคือความหยั่งรู้

แต่แม้ว่าจะระลึกหยั่งลงไปได้ลึกซึ้งเช่นสาวไปในอดีตได้ไกล ตลอดจนถึงได้ญาณที่ ๒

รู้จุติและอุปบัติความเคลื่อน และความเข้าถึงของสัตว์ทั้งหลายว่าเป็นไปตามกรรม

แต่ก็ยังละกิเลสไม่ได้ แม้ได้ญาณ ๒ ข้อนี้ก็ยังละกิเลสไม่ได้

เพราะฉะนั้นจึงมีปรากฏมาในอดีตเป็นอันมาก ว่ามีผู้ปฏิบัติธรรมะเป็นฤาษีชีไพร

ได้ญาณที่ระลึกชาติได้ และได้ญาณที่หยั่งรู้ถึงความจุติอุปบัติของสัตว์ทั้งหลาย

ว่าเป็นไปตามกรรม แต่ว่าได้เพียงเท่านั้น ก็ยังละกิเลสไม่ได้

เมื่อยังละกิเลสไม่ได้ญาณคือความหยั่งรู้นี้ก็ยังเสื่อมได้

 เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงไม่บังเกิดขึ้นในโลก

แม้ว่าจะมีผู้ได้ญาณทั้ง ๒ ข้างต้นกันมาแล้วในอดีตก่อนพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นก็ตาม

แต่ไม่ได้ญาณที่ ๓ คือ อาสวักขยญาณ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ

พระพุทธเจ้านั้นได้ทรงได้จนถึงพระญาณที่ ๓ เพราะไม่ทรงติดอยู่ในญาณสองข้างต้น

ว่าพอแล้ว เก่งแล้ว สามารถแล้ว แต่ว่าทรงพิจารณายิ่งขึ้นต่อไป ทรงแสวงหาต่อไป

ญาณที่ระลึกชาติได้อันเป็นพระญาณที่ ๑ นั้น ก็ทำให้รู้ว่าต้องเวียนว่ายตายเกิดมานานนักหนา

ญาณที่ ๒ ก็ทำให้รู้ว่าเวียนว่ายตายเกิดไปตามกรรม กรรมดีก็เวียนว่ายตายเกิดไปในทางดี

ทรงเห็นทุกข์ ว่าความเวียนว่ายตายเกิดทั้งปวงนั้นเป็นตัวทุกข์ทั้งนั้น

เห็นเหตุเกิดทุกข์ก็คือเห็นสมุทัย ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก

ความยึดถือ อันสืบเนื่องมาจากอวิชชา

 ทรงเห็นความดับทุกข์ก็คือดับตัณหาเสียได้ เห็นมรรคทางปฏิบัติก็คือมรรคมีองค์ ๘

ทรงเห็นอาสวะคือกิเลสที่ดองสันดาน เหตุเกิดอาสวะก็คือตัณหาเป็นต้นนั้นนั่นแหละ

ความดับอาสวะก็คือดับตัณหาเสียได้ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะก็คือมรรคมีองค์ ๘

กิเลสจึงสิ้นไป เมื่อกิเลสวัฏฏะเวียนวนคือกิเลสสิ้นไป กรรมวัฏฏะวนคือกรรมก็สิ้นไป

วิบากวัฏฏะผลคือความเกิดต่อไปก็สิ้นไป จึงทรงเป็นพุทโธผู้ตรัสรู้

สิ้นกิเลสและกองทุกข์ด้วยประการทั้งปวง เป็นพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลก

เพราะฉะนั้นปัญญาพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้นี้จึงเป็นปัญญายอดที่สุด

ที่ผู้มีปัญญาทั้งหลายจะพึงได้พึงถึง ไม่มีที่จะยิ่งไปกว่าปัญญาที่เป็นพระสัมมาสัมโพธิญาณนี้

บังเกิดขึ้นจากพระโพธิสัตว์ซึ่งได้ทรงปฏิบัติมาจนทรงพบทาง และได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป