ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป036

อนังคณสูตร

*
สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ข้อว่ากิเลสเพียงดังเนิน ๓

ความไม่รู้ ๔

สรุปโอวาทของท่านพระสารีบุตร ๖

ข้อปฏิบัติที่สำคัญ ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ ม้วนที่ ๔๓/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๔๓/๒ ( File Tape 36 )

 อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

*

อนังคณสูตร

 

 *
สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงกรรมฐานที่พระสารีบุตรเถระ

ได้สอนภิกษุทั้งหลายใน อณังคณสูตร นำสติปัฏฐาน

ท่านพระสารีบุตรเถระได้กล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย มีความว่า มีบุคคลทั้งหลายในโลกนี้ ๔ จำพวก จำพวกที่ ๑ เป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนิน ก็ไม่รู้ว่าตนมีกิเลสเพียงดังเนิน จำพวกที่ ๒ เป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนิน รู้ว่าตนมีกิเลสเพียงดังเนิน จำพวกที่ ๓ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ไม่รู้ว่าตนไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน จำพวกที่ ๔ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน รู้ว่าตนไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่าจำพวกที่ ๑ ที่ ๒ นั้น จำพวกที่ ๑ คือผู้ที่มีกิเลสเพียงดังเนิน ไม่รู้ว่าตนมีกิเลสเพียงดังเนินนั้น เลว ไม่ดี ๒ ส่วนจำพวกที่ ๒ คือผู้ที่มีกิเลสเพียงดังเนิน รู้ว่าตนมีกิเลสเพียงดังเนินนั้น ประเสริฐ ดี อีกฝ่ายหนึ่ง จำพวกที่ ๓ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ไม่รู้ว่าตนไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน เลว ไม่ดี ส่วนจำพวกที่ ๔ ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน รู้ว่าไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ประเสริฐ ดี ดั่งนี้ ข้อว่ากิเลสเพียงดังเนิน และท่านก็ได้อธิบายแก่ภิกษุทั้งหลายต่อไปว่า ข้อว่ากิเลสเพียงดังเนินนั้นคืออะไร ท่านก็อธิบายว่าได้แก่ อิจฉาวจร อันแปลว่าความหยั่งลงสู่ความปรารถนา ความท่องเที่ยวไปแห่งความปรารถนา พิจารณาดูคำนี้ ก็ตรงกับคำที่ใช้ในอภิธรรมถึงจิตที่เป็นกามาพจร หยั่งลงหรือท่องเที่ยวไปในกามเป็นต้น แต่ในที่นี้ท่านพระสารีบุตร ท่านใช้ว่า อิจฉาวจร แทน กามาพจร ก็คือท่องเที่ยวไปในความปรารถนา หยั่งลงสู่ความปรารถนา จึงหมายถึงความปรารถนาต่างๆที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ อันเป็นฝ่ายอกุศล โดยที่ท่านพระสารีบุตรได้แสดงชี้เอาไว้ว่าฝ่ายที่เป็นอกุศล เพราะความปรารถนาที่บังเกิดขึ้นในจิตใจนั้น ย่อมมีได้ทั้งสอง ฝ่ายกุศลก็มี ฝ่ายอกุศลก็มี ความปรารถนาที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ ซึ่งเป็นตัวกิเลสเพียงดังเนินนี้ จึงหมายจำเพาะที่เป็นอกุศล คือเป็นฝ่ายที่ไม่ดี เป็นฝ่ายที่ชั่ว และต่อจากนี้ท่านพระสารีบุตรก็ได้แสดงยกตัวอย่างต่างๆเป็นอันมาก สำหรับอบรมสั่งสอนภิกษุทั้งหลาย กล่าวจำเพาะที่เป็นข้ออธิบายในบุคคล ๔ จำพวกนั้นก่อน ซึ่งมีใจความว่า จำพวกที่ ๑ เป็นผู้มีกิเลสเพียงดังเนิน ไม่รู้ว่าตนมีกิเลสเพียงดังเนินนั้น ก็คือผู้ที่มีความปรารถนาเป็นอกุศลต่างๆ จิตท่องเที่ยวไปในความปรารถนาที่เป็นอกุศลต่างๆ คือคิดถึงเรื่องนั้นบ้าง ถึงเรื่องนี้บ้าง อันเป็นฝ่ายอกุศล คือไม่ถูกไม่ชอบ ไม่เหมาะไม่ควร ๓ ประกอบไปด้วยความโลภอยากได้บ้าง ความริษยากันบ้าง ความคิดเปรียบเทียบต่างๆบ้าง

( เริ่ม ๔๓/๒ ) จิตที่มีความปรารถนาดั่งนี้บังเกิดขึ้นตั้งอยู่ ย่อมเป็นจิตที่เปรียบเหมือนอย่างพื้นแผ่นดินที่มีเนินขึ้นมา จึงทำให้พื้นแผ่นดินนั้นไม่ราบเรียบสูงๆต่ำๆ พื้นแผ่นดินที่เป็นธรรมดาก็เรียบ แต่ก็มีเนินบังเกิดขึ้นมาที่โน่นที่นี่ ทำให้พื้นแผ่นดินไม่ราบเรียบ จิตที่มีความปรารถนาอันเป็นอกุศลบังเกิดขึ้นดั่งนี้ ก็เป็นจิตที่ไม่ราบเรียบ ไม่สม่ำเสมอไม่สงบ แต่เป็นจิตที่ขึ้นลงสูงๆต่ำๆ หรือถ้าจะเทียบกับพื้นน้ำในทะเล พื้นน้ำในทะเลที่ไม่มีคลื่นลมจัด ก็นับว่าเป็นพื้นน้ำที่เรียบพอสมควร แต่ที่มีลมจัดก็เป็นคลื่นขึ้นมา ก็ดูเป็นตะปุ่มตะป่ำ ไม่ราบเรียบ และคลื่นที่บังเกิดขึ้นมานั้น ก็เป็นอันตรายแก่การที่จะเดินเรือแล่นเรือไปในท้องทะเล อาจถึงให้อับปางได้ จิตก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีความปรารถนาอันเป็นอกุศลครอบงำอยู่ ก็ย่อมจะเป็นจิตที่เป็นเนินขึ้นมา ทำให้จิตไม่ราบเรียบ ไม่สม่ำเสมอ ไม่สงบ และทั้งมิได้รู้ว่าจิตของตนมีเนินอันเป็นบาปเป็นอกุศล เป็นกิเลสดังที่กล่าวมานั้น เพราะฉะนั้น จึงเป็นจิตที่ไม่สงบ เป็นจิตที่ไม่บริสุทธิ์ ความไม่รู้ เพราะความที่ไม่รู้นั้นเองจึงทำให้ไม่เกิดฉันทะความพอใจ ไม่เกิดความพยายามเริ่มความเพียรที่จะชำระจิตใจของตน จึงเป็นผู้ที่มีราคะโทสะโมหะครอบงำ มีจิตเศร้าหมอง มีจิตเป็นเนิน หากจะทำกาละลงไปในขณะนั้น ก็เป็นผู้ที่มีจิตเศร้าหมองทำกาละไป อันมีทุคติเป็นที่หวังได้ เพราะฉะนั้นบุคคลจำพวกนี้คือเป็นผู้ที่มีจิตมีเนิน มีกิเลสเพียงดังเนิน และก็ไม่รู้ตัวว่าตนมีกิเลสเพียงดังเนิน จึงเป็นจำพวกที่เลว ไม่ดี เปรียบเหมือนอย่างว่า บุคคลที่ไปซื้อถาดสำริดมาจากร้านตลาด ๔ อันเป็นถาดที่เป็นสนิมไม่สะอาด และก็มิได้ตรวจตราให้รู้ว่าเป็นถาดที่เป็นสนิมไม่สะอาด ปล่อยทิ้งไว้ไม่ดูแลรักษา ก็จะยิ่งไม่สะอาด ยิ่งเป็นสนิมมากขึ้น ส่วนจำพวกที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ที่มีกิเลสเพียงดังเนิน แต่มีความรู้ตัวว่าตนมีกิเลสเพียงดังเนิน เพราะความรู้ตัวนี้เองย่อมจะทำให้เกิดฉันทะความพอใจ เกิดความพยายามเริ่มความเพียร ที่จะปฏิบัติชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์สะอาด ทำให้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินต่อไป เมื่อเป็นดั่งนี้จึงเป็นผู้ที่จะปฏิบัติเพื่อระงับราคะโทสะโมหะ ทำจิตให้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ให้บริสุทธิ์ หากจะทำกาละไป ก็เป็นผู้ที่มีจิตบริสุทธิ์ไม่เศร้าหมองทำกาละไป ย่อมมีสุคติเป็นที่หวังได้ ฉะนั้น บุคคลจำพวกนี้แม้จะยังมีกิเลสเพียงดังเนินอยู่ก็ชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐ ดี จำพวกที่ ๓ คือเป็นผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน และก็ไม่รู้ว่าตนไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน บุคคลจำพวกนี้ก็หมายถึงคนที่มีจิตใจยังไม่ถูกอารมณ์ทั้งหลายมากระทบ มาเป็นเหตุให้บังเกิด อิจฉา คือความอยาก หรือโลภะราคะโทสะโมหะต่างๆขึ้น จิตใจจึงยังเป็นปรกติ แต่ก็มิได้กำหนดให้รู้จิตใจเช่นนี้ เมื่อเป็นดั่งนี้ เมื่อไปใส่ใจถึง สุภนิมิต คือเครื่องกำหนดหมายว่างดงามเป็นต้น ก็ย่อมจะเกิดราคะ เกิดโทสะ เกิดโมหะ ขึ้น จิตที่ปรกตินั้นก็จะกลายเป็นจิตที่ไม่ปรกติ เป็นจิตที่มีกิเลสกองราคะโทสะโมหะครอบงำ มี อิจฉา คือความปรารถนาต่างๆครอบงำ ก็จะกลายเป็นจิตที่มีกิเลสเพียงดังเนินไป จึงเป็นจิตที่เศร้าหมอง เพราะฉะนั้น แม้บุคคลจำพวกนี้ก็ชื่อว่าเลวไม่ดีเช่นเดียวกัน ส่วนบุคคลจำพวกที่ ๔ คือที่ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน และก็รู้ตัวว่าไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ก็หมายถึงบุคคลที่มีจิตใจยังไม่ถูกอารมณ์มากระทบ นำให้บังเกิดกิเลสต่างๆขึ้นมา และมิได้เกิด อิจฉา คือความปรารถนาต่างๆขึ้นมา เป็นจิตที่สงบเป็นปรกติอยู่ และเมื่อมีความรู้ตัวว่าตนเองมีจิตดั่งนี้ เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะทำให้ไม่ใส่ใจถึงอารมณ์ ที่จะก่อให้บังเกิดกิเลสเพียงดังเนินขึ้น เช่นไม่ใส่ใจถึง สุภนิมิต ๕ เครื่องกำหนดหมายว่างดงามต่างๆ อันยั่วใจให้เกิดราคะโทสะโมหะ เมื่อเป็นดั่งนี้จึงเป็นการปฏิบัติรักษาภาวะของจิต ที่ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินนี้ให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ เพราะฉะนั้นจึงชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐ ดี ดั่งนี้ สรุปโอวาทของท่านพระสารีบุตร โอวาทของท่านพระสารีบุตรนี้ย่อมใช้ได้สำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติธรรมทั่วไป และก็นับว่าเป็นกรรมฐานอย่างหนึ่ง เป็นกรรมฐานที่ควรจะปฏิบัติได้เป็นประจำ เพราะว่าความอยู่ด้วยกันเป็นหมู่นั้น จะเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม เป็นบรรพชิตก็ตาม ย่อมจะต้องประสบกับความยิ่งบ้างความหย่อนบ้าง ในเครื่องแวดล้อมทั้งหลาย และทั้งจิตใจของทุกๆคนที่ยังละกิเลสไม่ได้ ก็จะต้องมีอาสวะอนุสัยนอนจมหมักหมม หรือดองจิตสันดานอยู่ เมื่อได้ประสบกับอารมณ์ หรือประสบกับเวทนาต่างๆ ที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง ก็ย่อมจะนำให้เกิดความคิด ย่อมจะนำให้เกิดความปรารถนา ย่อมจะนำให้เกิดความยินดีบ้าง ความยินร้ายบ้าง ในอารมณ์ต่างๆที่ประจวบนั้น และโดยเฉพาะย่อมจะมีความปรารถนา และความปรารถนานั้นเมื่อมีตัณหาชักนำ มีราคะหรือโลภะโทสะโมหะชักนำ ก็ย่อมจะมีความปรารถนาไปในทางอกุศลต่างๆ เช่นต้องการในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุข และเมื่อไปคิดเปรียบเทียบถึงบุคคลอื่นๆที่อยู่ใกล้กันก็ตาม ที่อยู่ห่างกันก็ตาม ที่มีความสัมพันธ์กันก็ตาม ไม่มีความสัมพันธ์กันก็ตาม ว่าคนนั้นดี คนนี้ไม่ดี เราไม่ดี เขาดี หรือเขาไม่ดี เราดี เหล่านี้เป็นต้น ก็ก่อให้บังเกิดความโลภบ้าง ความริษยาบ้าง ต่างๆ เหล่านี้มาจาก อิจฉา คือความปรารถนาทั้งนั้น ความอยากทั้งนั้น ซึ่งเป็นอกุศล ซึ่งเป็นเนินขึ้นในจิต ทำจิตที่เคยเป็นปรกติสงบ ให้ไม่ปรกติ ไม่สงบ เหมือนอย่างแผ่นดินที่ถ้าไม่มีเนินก็เป็นดินที่ราบเรียบ แต่ที่มีเนินสูงต่ำตะปุ่มตะป่ำไป ก็ทำให้เป็นพื้นดินที่ไม่ราบไม่เรียบ ๖ หรือเหมือนอย่างน้ำทะเลที่ไม่มีลม ก็ไม่มีคลื่น เมื่อมีลมก็มีคลื่นขึ้นมา ตามอำนาจของลมที่น้อยหรือมาก ลมน้อยก็คลื่นเล็ก ลมใหญ่ก็คลื่นมาก นี่ล้วนแต่เป็นเนินทั้งนั้นที่บังเกิดขึ้นในจิต รวมความก็คือจิตที่มีราคะ หรือมีโลภะมีโทสะมีโมหะนั้นเอง จึงเป็นจิตที่สงบไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า อิจฉา โลภะ สมาปันโน ผู้ที่ถึงพร้อมในอิจฉาความปรารถนา โลภะความโลภอยากได้ สมโณ ติงภวิสติ จักเป็นสมณะคือผู้สงบได้อย่างไร ดั่งนี้ ข้อปฏิบัติที่สำคัญ เพราะฉะนั้น กรรมฐานที่สำคัญก็คือต้องคอยตรวจตราดูตนเอง ให้รู้จิตของตนเอง ว่าจิตของตนเองนั้นเป็นอย่างไร มีความปรารถนาอันเป็นตัวกิเลสเพียงดังเนินหรือไม่ หากพบว่าจิตมีความปรารถนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ด้วยความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่ง จะเป็นทางโลภะคือความโลภอยากได้มาเพื่อตนเองก็ดี จะเป็นทางริษยาตัดรอนความดีของผู้อื่นก็ดี หรือแม้เป็นในทางที่ทำจิตให้มีความยินดี กลัดกลุ้ม หรือทำจิตให้หงุดหงิดโกรธแค้นขัดเคือง หรือทำให้ลุ่มหลงมัวเมาอะไรต่างๆเหล่านี้ ก็ให้รู้ ว่าบัดนี้ตัวเองกำลังมีกิเลสเพียงดังเนิน หรือมีจิตที่มีกิเลสเพียงดังเนิน เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ให้ตั้งฉันทะคือความพอใจ ตั้งความพยายามเริ่มความเพียร เพื่อละกิเลสเพียงดังเนิน คือความคิดปรารถนาไปต่างๆดังกล่าวนี้เสีย เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะเป็นการปฏิบัติทำจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ ไม่ให้มีกิเลสเพียงดังเนิน หากว่าจะทำกาละไป ก็จะไปดี หรือไม่ทำกาละยังดำรงชีวิตอยู่ต่อไป ก็จะเป็นชีวิตที่ดี และจะเป็นสมณะคือผู้สงบได้ ทั้งบรรพชิต ทั้งคฤหัสถ์ เมื่อมีจิตสงบได้แล้ว กายวาจาก็สงบ ก็ได้ชื่อว่าผู้สงบเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ความที่มีสติคอยกำหนด พร้อมทั้งปัญญา คือความรอบรู้ในจิตใจ ตลอดจนถึงในกายวาจาของตนเองนั้นอยู่เสมอ จึงเป็นความดี ๗ แต่ถ้าหากว่าพบว่าจิตใจของตนสงบดี ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน คือไม่ได้คิดปรารถนาอะไร ด้วยอำนาจของโลภะก็ตาม ด้วยอำนาจของความริษยาก็ตาม หรือด้วยราคะโทสะโมหะต่างๆ กำลังมีจิตสงบ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ปฏิบัติรักษาความเป็นผู้ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินนี้ไว้ ด้วยการที่ไม่ใส่ใจใน สุภนิมิต เครื่องกำหนดหมายว่างามเป็นต้น คือไม่เอาอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของราคะโทสะโมหะเข้ามาใส่ไว้ในใจ ไม่เอาใจเข้าไปใส่ไว้ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของราคะโทสะโมหะ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะระงับความปรารถนาคืออิจฉาความปรารถนา อันเป็นฝ่ายอกุศลได้ และสามารถที่จะเพิ่มอิจฉาคือความปรารถนาอันเป็นฝ่ายกุศล คือในการที่จะปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทางศีล ทางสมาธิ และทางปัญญาให้ยิ่งๆขึ้นไป เพราะฉะนั้นความที่เมื่อมีจิตสงบเรียบร้อยไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน และก็มาทำความรู้ตัวอยู่ และรักษาภาวะของจิตดังกล่าวนี้ไว้ เว้นจากการปฏิบัติกระทำใส่ใจไปในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลส อันจะนำกิเลสเข้ามาสู่จิตใจ แต่ปฏิบัติรักษาจิตของตนให้เป็นไปในทางของศีลสมาธิปัญญา อันเป็นฝ่ายสงบดั่งนี้แล้ว ก็จะทำให้รักษาภาวะของจิตที่เรียบร้อย ที่ดีนี้ไว้ได้นาน ไว้ได้มาก และเมื่อทำเพิ่มพูนอยู่เสมอแล้ว ก็จะยิ่งทำได้ดี และได้มาก ทำให้เป็นผู้ที่ไม่มีกิเลสเพียงดังเนินนี้ได้ ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น คำสอนของท่านพระสารีบุตรที่สอนภิกษุทั้งหลายดั่งนี้ จึงเป็นการสอนกรรมฐานโดยตรง และเป็นกรรมฐานที่ควรจะทำอยู่ทุกเวลา ควรจะทำอยู่เสมอ และเป็นสิ่งที่กระทำได้ ท่านพระมหาโมคคัลลานะเถระ ท่านได้ฟังโอวาทของท่านพระสารีบุตร ท่านก็ได้เกิดปฏิภาณขึ้นมา คือได้เกิดความคิดเข้าใจ และก็ขอแสดง ๘ ท่านพระสารีบุตรก็อนุญาตให้ท่านแสดง ท่านจึงแสดงว่าวันหนึ่งท่านไปบิณฑบาต ได้ไปพบกับปริพาชกผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรของนายช่างทำยานพาหนะ เช่นทำรถ ปริพาชกผู้นั้นกับท่านก็ได้เกิดไปพบกับช่างทำรถกำลังไสไม้ตัดไม้ที่จะทำกงล้อ ปริพาชกซึ่งเคยเป็นบุตรของช่างทำยวดยานด้วยกัน ยืนดูอยู่ก็คิดขึ้นในใจว่า ควรจะต้องถากตรงนี้ ควรจะต้องไสตรงนั้น ควรจะต้องตัดตรงโน้น ฝ่ายช่างซึ่งกำลังทำอยู่นั้น ก็ไส ก็ตัด เหมือนดังที่ปริพาชกที่เคยเป็นช่าง คิดตรงกัน ปริพาชกนั้นก็กล่าวขึ้นว่า ช่างคนนี้ทำเหมือนอย่างรู้ใจของตัวเอง ใจของตัวเองคิดอย่างไรช่างก็ทำอย่างนั้น ทั้งนี้ก็เพราะเป็นช่างด้วยกัน ก็รู้ว่าควรจะไสตรงไหน ตัดตรงไหน เป็นต้น ฉันใดก็ดี ท่านพระสารีบุตรได้ให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายครั้งนี้ ก็เหมือนอย่างท่านรู้ภาวะของประชุมชน เช่นภาวะของภิกษุทั้งหลาย หรือภาวะของประชุมชนทั้งหลายที่อยู่ด้วยกันเป็นหมวดหมู่ ซึ่งจะต้องมีอิจฉาคือความอยากความปรารถนาต่างๆ อันเป็นอกุศลเป็นอันมาก เพราะฉะนั้น จึงสอนตรงกับเรื่องราวที่เป็นไป อันเป็นการอำนวยประโยชน์ในด้านที่จะทำให้เกิดการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบถูกต้อง ดั่งนี้ ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

อิติวิตกติกนิบาต

 

*
สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*
เวทนา ๕ ๓

 อายตนะ ผัสสะ เวทนา ๔

เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ๖

เวทนาที่มีอามิสเครื่องล่อ ๗

เวทนาที่ไม่มีอามิสเครื่องล่อ ๘

พิจารณาสุขเวทนาโดยเป็นทุกข์ ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ ม้วนที่ ๔๓/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๔๔/๑ ( File Tape 36 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ ๑

อิติวิตกติกนิบาต
 

*
สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงพระพุทธเจ้าสอนกรรมฐานใน อิติวิตกติกนิบาต

ซึ่งได้ตรัสสอนให้กำหนดพิจารณาเวทนา

ได้ตรัสไว้ว่าเวทนามี ๓

( เริ่ม ๔๔/๑ ) ตรัสสอนให้กำหนดพิจารณาสุขเวทนา โดยความเป็นทุกข์ ให้พิจารณาทุกขเวทนา โดยความเป็นเหมือนอย่างลูกศร ให้พิจารณาอทุกขมสุขเวทนา โดยความเป็นของไม่เที่ยง และได้ตรัสไว้ว่าผู้พิจารณากำหนดเห็นเวทนาดังกล่าวชื่อว่าเป็นอริยะคือผู้ประเสริฐ เป็นผู้เห็นชอบ ดับตัณหาได้ เปลื้องสัญโญชน์กิเลสที่ผูกใจได้ ทำทุกข์ให้สิ้นสุดได้ เพราะตัดมานะได้โดยชอบ อนึ่ง ในสติปัฏฐานข้อที่ตรัสสอนให้พิจารณาเวทนา อันเรียกว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๒ ก็ได้ตรัสสอนให้ทำสติกำหนดระลึกรู้ในเวทนา เมื่อเสวยสุขเวทนา ก็รู้ว่าเราเสวยสุขเวทนา เมื่อเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ว่าเราเสวยทุกขเวทนา เมื่อเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนา เมื่อเสวยเวทนาเหล่านี้ที่มีอามิส ก็รู้ว่าเราเสวยเวทนาเหล่านี้ที่มีอามิส เมื่อเสวยเวทนาเหล่านี้ที่ไม่มีอามิส ก็รู้ว่าเราเสวยเวทนาเหล่านี้ที่ไม่มีอามิส ดั่งนี้ เวทนา ๕ เวทนานั้นเป็นขันธ์ที่ ๒ ในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ก็คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เวทนาเป็นขันธ์ที่ ๒ และนับเป็นข้อต้นของนามธรรม หมายถึงความรู้เป็นสุข ความรู้เป็นทุกข์ หรือความรู้เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ทางกายทางใจ ที่ทุกๆคนมีอยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อกล่าวจำแนกออกไปเป็นเวทนาทางกายทางใจด้วย ก็ได้เวทนา ๕ คือ กายิกสุขเวทนา กับ เจตติกสุขเวทนา สุขเวทนาทางกาย สุขเวทนาทางใจ กายิกทุกขเวทนา เจตติกทุกขเวทนา ก็คือทุกขเวทนา ทางกาย ทางใจ กับ อุเบกขาเวทนา เวทนาที่เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานได้ตรัสเวทนาไว้เป็น ๓ ตอน ตอนแรกตรัสให้ทำสติกำหนดรู้สุขทุกข์และอทุกขมสุขเวทนาเป็นกลางๆ ตอนที่สองตรัสให้ทำสติกำหนดรู้ จับว่าถ้าเป็นสามิสคือมีอามิส ก็ให้รู้ว่าเป็นสามิสคือมีอามิส ตอนที่สามก็ตรัสสอนให้ทำสติกำหนดรู้ว่า ถ้าเป็นนิรามิสคือไม่มีอามิส ก็ให้รู้เป็นนิรามิสคือไม่มีอามิส สำหรับตอนที่ ๑ ที่ตรัสสอนให้ทำสติกำหนดรู้เป็นกลางๆ ว่าสุขหรือทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขนั้น ก็พิจารณาได้ว่า หมายถึงเวทนาที่มีลักษณะเป็นเวทนา ๓ ยังไม่พูดถึงว่าเป็นสามิสคือมีอามิส หรือเป็นนิรามิสคือไม่มีอามิส คือเวทนาที่เป็นกลางๆดังกล่าวนี้ ก็ได้แก่เพียงรู้สุข รู้ทุกข์ รู้เป็นกลางๆไม่ทุกข์ อันบังเกิดขึ้นทางกายทางใจ ที่ทุกๆคนได้รับอยู่ อายตนะ ผัสสะ เวทนา โดยที่เวทนาดังกล่าวนี้ย่อมบังเกิดขึ้น จากความที่อายตนะภายใน และอายตนะภายนอก ของทุกๆคนมาประจวบกัน จนถึงเป็นสัมผัส ก็คือว่าเมื่ออายตนะภายในอายตนะภายนอกมาประจวบกันนั้น ย่อมเกิดวิญญาณขึ้นก่อน คือความรู้เห็นรูป ความรู้ได้ยินเสียง ความรู้ทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะ และรู้หรือคิดเรื่อง รู้เหล่านี้เรียกว่าวิญญาณ อันบังเกิดขึ้นในเมื่ออายตนะภายในและภายนอกมาประจวบกัน เมื่ออายตนะภายใน อายตนะภายนอก กับวิญญาณ ทั้ง ๓ นี้มาประชุมกัน จึงเกิดเวทนา พิจารณาดูแล้วก็ย่อมจะเห็นได้ว่า อาการที่อายตนะภายในภายนอกและวิญญาณทั้ง ๒ นี้มาประชุมกัน ก็หมายถึงว่ามากระทบถึงจิตอย่างแรง ความกระทบถึงจิตอย่างแรงนี้เรียกว่าสัมผัส หรือเรียกว่าผัสสะที่ตรัสอธิบายไว้ว่า คือความที่อายตนะภายใน อายตนะภายนอก กับวิญญาณทั้ง ๓ นี้มาประจวบกัน เป็นสัมผัสที่แปลว่ากระทบ ถ้าหากว่าเพียงแต่อายตนะภายในภายนอกมาประจวบกัน และเกิดวิญญาณคือความรู้เห็นเป็นต้นเท่านั้น ยังไม่มารวมกันเข้าอีก ก็ยังไม่เป็นสัมผัส และเมื่อไม่เป็นสัมผัสเวทนาก็ยังไม่เกิด ในข้อนี้ยกตัวอย่างเพียงข้อเดียวก่อน คืออายตนะภายในก็ได้แก่ตา อายตนะภายนอกก็ได้แก่รูป เมื่อตารูปมาประจวบกันก็เกิดวิญญาณคือความรู้เห็นรูป ที่เรียกกันว่าเห็น ๔ เห็นนี้ก็เป็นความรู้อย่างหนึ่งเป็นความรู้เห็นรูป อันบังเกิดขึ้นในเมื่ออายตนะภายในภายนอกคู่นี้ คือตากับรูปมาประจวบกัน จึงเห็นรูป ก็เป็นความรู้เห็นนั้นเองอันเรียกว่าจักขุวิญญาณ ทุกๆคนนั้นเมื่อลืมตาขึ้นก็ย่อมจะประจวบกับรูปอันอยู่ในคลองจักษุร้อยแปดเป็นประจำ แต่ว่าสักแต่ว่ามาประจวบแล้วก็เห็นอันเป็นจักขุวิญญาณ แล้วก็ผ่านไป ผ่านไป ผ่านไป เป็นสิ่งที่ไม่สะกิดถึงใจอย่างแรง ลักษณะดังกล่าวนี้ทุกคนย่อมมีอยู่เป็นอันมาก เพราะเมื่อลืมตาขึ้นก็เห็น เพราะรูปที่มาประจวบในคลองของจักษุนั้นมากมายหลายสิบหลายร้อย แต่ว่าเมื่อไม่มีอะไรที่เป็นเครื่องสะกิดที่แรง ก็ผ่านไปๆดังกล่าวมานั้น ก็ไม่เกิดเวทนาอะไร แต่เมื่อเป็นพิเศษขึ้นมา เป็นเครื่องสะกิดใจ ก็คือว่าอายตนะภายในคือตา ภายนอกคือรูป กับจักษุวิญญาณ ทั้ง ๓ นี้มาประจวบกันเข้าอีก จึงแปลว่ายังไม่ยอมปล่อยไป ก็เป็นสัมผัสกระทบถึงใจ ดั่งนี้แหละจึงจะเกิดเวทนาขึ้นมา เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง ทางกายบ้าง ทางทางใจบ้าง ส่วนมากนั้นเป็นไปทางใจ มีอยู่ข้อเดียวที่เป็นไปทางกายก็คือข้อที่ ๕ อายตนะที่ ๕ อันได้กับกายและโผฏฐัพพะ เมื่อกายและโผฏฐัพพะมาประจวบกันก็เกิดกายวิญญาณ และเมื่อทั้ง ๓ นี้มาประชุมกันเข้าอีกก็เป็นสัมผัส เมื่อเป็นสัมผัสจึงให้เกิดเวทนา เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง หรือเป็นกลางๆบ้าง ทางกาย มีข้อเดียวนี้ที่เป็นไปทางกาย แต่ว่าข้อนอกจากนี้เป็นไปทางใจ เพราะฉะนั้น เวทนาคือความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ทางกายทางใจนี้จึงมีเป็นประจำอยู่เสมอแก่ทุกๆคน เพราะฉะนั้น ตอนที่ตรัสสอนตอนแรกให้ทำสติกำหนดรู้เวทนา ก็ให้รู้จักเวทนาที่เป็นตัวเวทนา เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ดังที่กล่าวมานี้ และพึงทำความเข้าใจได้อีกอย่างหนึ่งว่า อันเวทนาดังกล่าวมานี้ ย่อมเป็นไปตามธรรมดาของขันธ์ คือของเวทนาขันธ์ที่ทุกคนจะต้องมีทั้งนั้น ๕ ไม่ว่าจะเป็นบุถุชน สามัญชน ไม่ว่าจะเป็นอริยชน และสำหรับที่เป็นอริยชนนั้น เวทนาที่เป็นธรรมชาติธรรมดาดั่งนี้ก็ย่อมมีอยู่ เว้นไว้แต่ในข้อที่เป็นสามิส เมื่อตัดกิเลสได้แล้วข้อที่เป็นสามิสก็ไม่มี แต่ข้อที่เป็นนิรามิสก็ยังมีอยู่ แต่จะว่าถึงในตอนแรกนี่ก่อนว่า เมื่อเวทนาเป็นสิ่งที่พึงบังเกิดขึ้น ตามธรรมชาติตามธรรมดาดั่งนี้ และมีอยู่ด้วยกันทุกคนดั่งนี้ จึงเป็นเวทนาที่เป็นธรรมชาติธรรมดา เหมือนอย่างว่าเมื่อถูกไฟหรืออยู่ใกล้ไฟก็ร้อน นี่ก็เป็นทุกขเวทนา ไม่ว่าใครเมื่ออยู่ใกล้ไฟหรือถูกไฟ ก็ต้องร้อนทั้งนั้น หรือว่าเมื่อลมพัดมาหรืออยู่ในที่ๆมีอากาศเย็นสบายก็สบาย ก็เป็นสุขเวทนา นี่ยกตัวอย่างทางกาย ไม่ว่าใครก็ต้องเป็นอย่างนี้เป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นในตอนแรกนี้ จึงได้ตรัสสอนให้กำหนดให้รู้จักเวทนา และก็กล่าวถึงเวทนาที่เป็นไปทั่วๆไป อันเป็นธรรมชาติธรรมดาดั่งนี้ก่อน ซึ่งทุกๆบุคคล จะเป็นบุถุชนหรือเป็นอริยบุคคลก็จะต้องมี ดังที่กล่าวมาแล้ว เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา คราวนี้สำหรับที่เป็นสามัญชน หรือที่เป็นบุถุชนนั้นยังมีกิเลส เป็นต้นว่ามีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก มีราคะมีโทสะมีโมหะ ฉะนั้นเมื่ออายตนะภายในอายตนะภายนอกประจวบกัน เกิดวิญญาณ คือความรู้เห็นรูป รู้ได้ยินเสียงเป็นต้น ดังที่กล่าวมาแล้ว กิเลสในจิตใจก็เข้าผสม กล่าวคือเมื่อทั้ง ๓ นี้มาประชุมกันเป็นสัมผัสกระทบถึงใจ กิเลสที่ตั้งอยู่ในใจเป็นอาสวะ เป็นอนุสัยก็พลอยถูกกระทบไปด้วย เมื่อถูกกระทบไปด้วยกิเลสจึงฟุ้งขึ้นมา เพราะฉะนั้น จึงบังเกิดราคะความติดใจยินดีในสุขเวทนา ๖ เกิดปฏิฆะความกระทบกระทั่งในทุกขเวทนา เกิดโมหะคือความหลงเพราะไม่รู้ในเวทนาที่เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ราคะโทสะโมหะจึงได้ปนเข้าไปในตัวเวทนา เวทนาที่มีอามิสเครื่องล่อ เมื่อเป็นดั่งนี้เวทนานั้นจึงกลายเป็น สามิส เวทนาที่มีอามิส ที่แปลกันว่ามีกิเลสเป็นเครื่องล่อบ้าง หรือโดยความก็คือมีกิเลสมาเคลือบแฝง มาเจือปน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตากับรูปประจวบกัน รูปนั้นเป็นรูปที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ เช่นเป็นรูปที่สวยงาม ก็เกิดวิญญาณคือเห็นรูป เมื่อไปเห็นรูปที่สวยงามเข้า ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจเข้า ทั้ง ๓ นี้เมื่อมาประชุมกันเป็นสัมผัสกระทบถึงใจ ราคานุสัยที่นอนเนื่องอยู่ในใจก็ฟุ้งขึ้นมารับเอารูปที่สวยงามนั้น ก็บังเกิดสุขเวทนา เป็นความสุขความสบายความเพลิดเพลินยินดีในรูปที่สวยงาม อันน่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ เพราะมีราคะปนเข้าไปอยู่ คราวนี้ถ้าหากว่าเมื่อตากับรูปประจวบกัน รูปที่มาประจวบนั้นเป็นรูปที่น่าเกลียดน่ากลัว หรือเป็นรูปที่ไม่ชอบ เช่นเป็นคนที่เป็นศัตรูกันเกลียดกันไม่ชอบกัน ดั่งนี้ เมื่อตากับรูปเช่นนี้มาประจวบกันก็เกิดวิญญาณ คือรู้เห็น เห็นขึ้นเป็นจักขุวิญญาณ ทั้ง ๓ นี้เป็นสัมผัสกระทบถึงใจ ปฏิฆานุสัยที่นอนเนื่องอยู่ในใจก็ฟุ้งขึ้นมา จึงได้เกิดทุกขเวทนา คือว่าเห็นแล้วไม่สบาย หงุดหงิด เร่าร้อน เพราะว่ามีปฏิฆะมีโทสะเจือเข้ามา คราวนี้ถ้าหากว่าตากับรูปที่มาประจวบกันนั้น รูปที่ตาเห็นเป็นกลางๆ ไม่พอที่จะให้ชอบ ไม่พอที่จะให้ชัง จึงเกิดการเห็น และเมื่อเกิดการประชุมเป็นสัมผัสกระทบถึงใจขึ้น ตัวโมหะคือความหลงก็ปรากฏขึ้น ปนอยู่เป็นเวทนาที่เป็นกลางๆ ที่ประกอบด้วยโมหะคือความหลง เพราะมิได้พิจารณาให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ๗ เพราะฉะนั้น สำหรับสามัญชนหรือบุถุชนทั้งหลายที่ยังมีกิเลส จึงมีเวทนาที่มีอามิสคือมีกิเลสเจือ มีกิเลสผสม หรือมีกิเลสเป็นเครื่องล่อ ดั่งนี้อยู่เป็นอันมาก จึงได้ตรัสถึงในตอนที่สอง เวทนาที่ไม่มีอามิสเครื่องล่อ มาถึงในตอนที่ ๓ เมื่อ .. ( เริ่ม ๔๔/๒ ) หรือว่านั่งสมาธิ เมื่อนั่งยังไม่ได้สุขจากสมาธิ ก็มักจะได้ทุกข์จากสมาธิ ทุกข์จากการนั่งสมาธิ เมื่อยขบ จิตใจก็วุ่นวาย เพราะไม่ได้สุขจากสมาธิ แปลว่าใจก็ไม่สบาย กายก็ไม่สบาย แต่ว่าก็ยังตั้งใจที่จะปฏิบัติต่อไป เมื่อได้ทุกข์ดั่งนี้ก็เป็นทุกขเวทนาที่ไม่มีอามิสเป็นเครื่องล่อ เพราะฉะนั้นที่ไม่มีอามิสเป็นเครื่องล่อจึงมีได้อย่างนี้ และแม้พระอริยบุคคลทั้งหลาย ละกิเลสได้บางส่วน จนถึงได้สิ้นเชิง ก็กล่าวได้ว่าท่านก็ได้สุข ได้ทุกข์ ได้เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข เมื่อท่านเห็นรูปอะไร ท่านก็รู้ว่ารูปนี้งดงาม รูปนี้ไม่งดงาม ได้ยินเสียงอะไรท่านก็รู้ว่านี่เป็นเสียงที่ดี เสียงที่ไม่ดี เป็นเสียงสรรเสริญ เป็นเสียงนินทา เป็นเสียงดนตรีที่ว่าเพราะท่านก็รู้ว่าเพราะ หรือเป็นเสียงด่าท่านก็รู้ว่านี่ด่า แม้ทางจมูกทางลิ้นทางกาย ตลอดจนถึงความคิดทางใจ ก็เช่นเดียวกัน ท่านก็รู้ เพราะท่านก็รู้สมมติบัญญัติของโลกว่าเป็นอย่างไร ไม่ใช่ไม่รู้ เหมือนดังพระพุทธเจ้าเอง บ้านเมืองที่สวยงาม ท่านก็ทรงทราบว่าสวยงาม ดังที่มีเล่าไว้ในพุทธประวัติว่า เมื่อเสด็จผ่านกรุงเวสาลีในครั้งสุดท้าย ก็จะเสด็จผ่าน ก็ยังหันพระกายไปทอดพระเนตร แล้วก็ตรัสบอกแก่ภิกษุทั้งหลาย ว่ากรุงเวสาลีนี้วิจิตรงดงาม จึงเรียกอาการที่พระพุทธเจ้าทรงผันพระกาย ไปทอดพระเนตรเมืองเวสาลีเป็นครั้งสุดท้าย ว่าเป็น นาคาวโลก ทอดพระเนตรเหมือนอย่างงูที่กลับศรีษะไปข้างหลังเรียกว่า นาคาวโลก เพราะฉะนั้น แม้ท่านผู้สิ้นกิเลสแล้วท่านก็รู้ตามสมมติบัญญัติของโลก ๘ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ เรื่องราวอะไรที่สวยงาม ที่ไม่สวยงาม ที่ดี ที่ไม่ดี ที่หยาบที่ละเอียด ท่านก็รู้ แต่ว่าท่านไม่มีกิเลสอาสวะอนุสัย ไม่มีกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ไม่มีราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อวิชชานุสัย เพราะฉะนั้น เมื่ออายตนะภายในภายนอกมาประจวบกัน ก็เป็นวิญญาณขึ้นนี่แหละ ธรรมดานี่แหละ แล้วก็เป็นสัมผัส เมื่อเป็นสัมผัสก็เป็นเวทนา ก็เป็นเวทนาธรรมดา ไม่มีกิเลสที่จะฟุ้งขึ้นมาเจือปน เพราะฉะนั้นก็เป็น นิรามิส ไม่มีอามิส เพราะฉะนั้น เวทนาของพระอริยเจ้าทั้งหลาย ของพระอรหันต์ทั้งหลาย จึงไม่เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดราคะโทสะโมหะ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ตั้งสติ กำหนดให้รู้จักเวทนาเป็น ๓ ตอน ตอนที่เป็นเวทนาทั่วไป ตอนที่เป็นเวทนาที่มีอามิส มีกิเลสเจือ มีกิเลสเป็นเครื่องล่อ กับตอนที่เป็นนิรามิส ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรม และที่ไม่มีกิเลสเจือ ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องล่อ ดั่งนี้ พิจารณาสุขเวทนาโดยเป็นทุกข์ และก็ได้ตรัสสอนยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ที่ตรัสสอนในทางวิปัสสนา ดังที่ยกขึ้นมาในเบื้องต้น ตรัสสอนให้พิจารณาสุขเวทนาโดยเป็นทุกข์ ในข้อนี้ก็เพราะว่าสุขเวทนานี้ ปรกตินั้นสำหรับสามัญชน ย่อมนำให้เกิดราคะความติดใจยินดี เพราะฉะนั้นจึงตรัสสอนให้พิจารณาว่าโดยที่แท้แล้ว ตัวสุขที่เข้าใจว่าสุขนี้ก็คือทุกข์ ก็เพราะว่าเป็นสิ่งที่ทนอยู่คงที่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป คือต้องดับ คือเป็นสุข สุขนี้ก็ต้องดับ ไม่มีสุขเวทนาอันใดที่ตั้งอยู่คงที่ได้ ต้องดับดั่งนี้ เพราะฉะนั้นตัวสุขจึงต้องเป็นตัวทุกข์ คือตั้งอยู่ไม่ได้ต้องดับ เมื่อต้องดับก็ชื่อว่าเป็นทุกข์ และอีกประการหนึ่ง แม้สุขนั้นเองก็เป็นสิ่งที่ต้องทน แต่ว่าทนได้ง่ายจึงเรียกว่าสุข แม้ทุกข์เองก็ต้องทน แต่ทนได้ยากจึงเรียกว่าทุกข์ ทั้งสุขทั้งทุกข์ก็ต้องทนทั้งนั้น ๙ ถ้าหากว่าไม่ทนหรือทนไม่ได้ สุขก็จะไม่เป็นสุขเลย จะต้องเป็นอันตรายทั้งนั้น แต่ที่เป็นสุขนั้นก็เพราะทนได้ และทนได้ง่าย สำหรับในภาวะที่พึงทนได้ หรือที่ต้องการ ดังจะพึงเห็นได้ว่าเมื่อนั่งอยู่นานๆ เมื่อย ก็ต้องลุกขึ้นยืน เมื่อลุกขึ้นยืนแล้วก็รู้สึกว่าเป็นสุข แต่ก็ไม่ใช่หมายความว่าสุขเพราะยืนนี้จะมีอยู่ได้นาน ยืนอยู่สักครู่หนึ่งก็เป็นทุกข์เสียแล้ว สุขหายไปแล้ว ต้องนั่งกันใหม่ หรือต้องเปลี่ยนอิริยาบถอย่างอื่นต่อไปอีก เพราะฉะนั้น ความสุขนี้จึงเป็นการสับเปลี่ยนกับทุกข์เท่านั้น แปลว่าเพราะมีทุกข์จึงต้องมีสุข และเพราะมีสุขจึงต้องมีทุกข์ เหมือนอย่างเมื่อมีนั่งก็ต้องมียืน เมื่อมียืนก็ต้องมีนั่ง เป็นคู่กันดั่งนี้เป็นต้น สุขทุกข์จึงต้องคู่กันอยู่ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนให้พิจารณาว่า สุขนี้แหละก็คือตัวทุกข์ คราวนี้สำหรับทุกขเวทนาที่บังเกิดขึ้น ก็ตรัสสอนให้พิจารณา โดยเป็นลูกศรที่เสียบแทง คือเหมือนอย่างลูกศรที่เสียบแทงทำให้เจ็บช้ำ เพราะฉะนั้นจึงให้ถอนลูกศรนี้เสียด้วยการที่ การพิจารณาให้เห็นว่า แม้ทุกข์นี้เองก็ต้องเป็นทุกข์โดยที่ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเช่นเดียวกัน และถ้าหากว่ายึดเอาทุกข์ไว้ก็คือว่านำเอาลูกศรมาเสียบไว้ที่จิตใจ ถ้าหากว่าไม่นำเอาทุกข์มาเสียบไว้ที่จิตใจ กล่าวคือจิตใจไม่ยึดถือ หรือจิตใจปฏิบัติตามวิธีที่ทรงสั่งสอน เช่นว่าเพ่งดูตัวทุกข์เวทนานั้นอันบังเกิดขึ้น ให้รู้จักว่าอันที่จริงทุกขเวทนานั้น เช่นบังเกิดขึ้นที่ ..เมื่อย ที่ขา เมื่อยที่ขา ขานั้นไม่ใช่ใจ แต่ที่ไปเมื่อยที่ใจนั้นก็เพราะใจไปยึด เพราะฉะนั้น เมื่อใจไม่ยึดให้ทุกข์เวทนาที่ขาก็อยู่ที่ขา ไม่ใช่มาอยู่ที่ใจ พิจารณาดั่งนี้เป็นต้น ให้รู้จักแยกดั่งนี้ตามสมควร ก็เป็นอันว่าไม่ยอมให้ทุกข์เวทนานี้เป็นลูกศรที่เสียบใจ เปลื้องลูกศรออกจากใจเสียดั่งนี้ ก็จะคลายทุกข์ไปได้ ไม่ยึดถือ ไม่ทุกข์ ส่วนอทุกขมสุขเวทนาก็ตรัสสอนให้พิจารณาเห็นโดยเป็นของไม่เที่ยง คือเป็นสิ่งที่เกิดดับ เมื่อหัดพิจารณาดั่งนี้เนืองๆแล้ว

ก็ตรัสว่าจะเป็นผู้ที่ประเสริฐ จะเป็นผู้ที่เห็นชอบ จะเป็นผู้ที่ตัดตัณหาได้ จะเป็นผู้ที่เปลื้องสัญโญชน์คือกิเลสที่ผูกใจได้ และจะทำทุกข์ให้สิ้นได้

เพราะตัดมานะความสำคัญหมายต่างๆได้โดยชอบ

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats