ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป040

สัมมาทิฏฐิ ๔ ความรู้จักทุกข์ (ต่อ)
 

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ขันธ์ ๕ นามรูป ๓
ความยึดถือ ๔
 สังสาระ วัฏฏะ ๔
กิเลส กรรม วิบาก ๕
 วัฏฏะในปัจจุบัน วัฏฏะในวงกว้าง ๖
 ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ๗
ต้นเริ่มของความทุกข์ ๗
เหตุแห่งความพลัดพราก ๘
 ศึกษาให้รู้จักทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ๙
วิปรินามะ ลักษณะของสังขาร ๑๐
ทุกขทุกข์ สังขารทุกข์ วิปรินามทุกข์ ๑๑

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ ม้วนที่ ๔๙/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๔๙/๒ ( File Tape 40 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมมาทิฏฐิ ๔ ความรู้จักทุกข์ (ต่อ)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*
 บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงท่านพระสารีบุตรอธิบายสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ในขั้นที่อธิบายนี้ก็คือรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ และได้แสดงกิจในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือทำปริญญาความรู้รอบคอบกำหนดรู้ในทุกข์ ทำปหานะการละสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ทำสัจฉิกรณะกระทำให้แจ้งความดับทุกข์ ทำภาวนาอบรมปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นมา และเป็นข้อปฏิบัติที่พึงปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้น การปฏิบัติพุทธศาสนาก็ปฏิบัติในกิจ ๔ อย่างนี้ ในอริสัจจ์นั้นเอง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้นผู้ปฏิบัติธรรมะก็พึงศึกษาสดับตรับฟังว่าทุกข์คืออะไร ตามที่ตรัสไว้ว่าชาติความเกิดเป็นทุกข์ เป็นต้น ๒ และเมื่อสรุปเข้า ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ ดั่งนี้ กำหนดพิจารณาให้มีความรู้ความเข้าใจ ขันธ์ ๕ นามรูป และสำหรับข้อข้างต้นๆ ก็พิจารณาเห็นได้โดยไม่ยากนัก ส่วนข้อที่ว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์โดยย่อ ก็ต้องทำความเข้าใจว่า ขันธ์คือกองทั้ง ๕ รูปขันธ์ ก็คือรูปกายอันประกอบด้วยธาตุดินน้ำไฟลมนี้ เวทนาขันธ์ กองเวทนาก็ได้แก่ ความรู้เป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ทั้งทางกายทั้งทางใจ สัญญาขันธ์ ก็คือกองแห่งสัญญาความจำได้หมายรู้ เป็นต้นว่า จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง จำธรรมะคือเรื่องราวที่คิดหรือที่รู้ทางมโนคือใจ สังขารขันธ์ กองสังขาร ก็คือความคิดปรุงหรือความปรุงคิดต่างๆ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และในธรรมะคือเรื่องราวที่จำได้ วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ คือความรู้เห็นรูปทางตา ความรู้ได้ยินเสียงทางหู ความรู้ทราบกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ทางจมูกทางลิ้นทางกาย และความรู้เรื่องที่คิดหรือที่นึกที่รู้ทางมโนคือใจ รูปก็เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมเรียกว่านาม รูปนาม แต่เรียกกลับกันเสียว่านามรูป ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเหล่านี้เป็นทุกข์ ก็เพราะยึดถือจึงเป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดถือขันธ์ทั้ง ๕ นี้ก็เป็นสภาพธรรมดา ซึ่งมีชาติคือความเกิดเป็นเบื้องต้น มีชราความเก่า ตลอดจนถึงชำรุดทรุดโทรมโดยลำดับ และมีมรณะความตายเป็นที่สุด ก็เป็นสภาวะเป็นธรรมดา เมื่อบุคคลไม่ยึดถือขันธ์ทั้ง ๕ นี้ก็เป็นไปตามสภาพธรรมดา ๓ เกิด แก่ ตาย หรือเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่เมื่อบุคคลไปยึดถือเพราะมีตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก เป็นเหตุปัจจัยให้ยึดถือว่าเป็นของเรา เราเป็น เป็นอัตตาตัวตนของเรา บุคคลโดยตรงคือจิตใจจึงต้องเป็นทุกข์ ต้องมีโสกะมีปริเทวะเป็นต้น ซึ่งรวมเข้าก็เป็น ๒ คือประจวบกับสิ่งหรือสัตว์สังขารที่ไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากสิ่งหรือสัตว์สังขารซึ่งเป็นที่รัก ย่อเข้าอีกก็เป็น ๑ คือปรารถนาไม่ได้สมหวัง แต่ทั้งหมดนี้ก็สรุปเข้าย่อเข้าในขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเหล่านี้นั่นแหละ ความยึดถือ เพราะฉะนั้น จึงมีความสำคัญอยู่ที่ความยึดถือ ยึดถือว่า เอตังมะมะ นี่เป็นของเรา เอโส หะ มัสมิ เราเป็นนี่ เอโส เม อัตตา นี่เป็นอัตตาตัวตนของเรา ที่ยึดถือก็เพราะมีตัณหา ความอยาก ความดิ้นรน ความทะยานอยากของจิตใจ เพราะฉะนั้นจึงศึกษาให้รู้จักว่าตัณหานี้เป็นตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ นอกจากให้เกิดทุกข์ทางจิตใจมีโสกะปริเทวะเป็นต้นดังกล่าว ยังเป็นเหตุก่อภพชาติต่อไป ต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป สังสาระ วัฏฏะ ความเวียนว่ายตายเกิดต่อไปนั้นเรียกว่า สังสาระ หรือ สงสาร อันแปลว่าความท่องเที่ยวไป และความท่องเที่ยวไปนั้นก็ท่องเที่ยวไปโดยอาการที่เป็น วัฏฏะ อันแปลว่าวน วัฏฏะคือวนนั้นก็พูดกันง่ายๆว่าเวียนเกิดเวียนตาย หรือเวียนเกิดแก่เจ็บตาย คือเมื่อเกิดก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย ตายแล้วก็เกิด ก็แก่ ก็เจ็บ แล้วก็ตาย ตายแล้วก็เกิด ก็เวียนอยู่ดั่งนี้ ความเวียนอยู่ดั่งนี้เรียกว่าวัฏฏะ คือความวน หรือความเวียน ซึ่งพูดกันเข้าใจง่ายๆ ๔ กิเลส กรรม วิบาก แต่เมื่อจะแสดงถึงวัฏฏะคือความวนตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ ก็มี ๓ อย่างคือ กิเลสวัฏฏะ วนคือกิเลส กรรมวัฏฏะ วนคือกรรม วิปากวัฏฏะ วนคือวิบากผลของกรรม อันหมายความว่ากิเลสก็เป็นเหตุให้ทำกรรม กิเลสจึงเป็นเหตุ กรรมจึงเป็นผลของกิเลส และกรรมนั้นเองก็เป็นตัวเหตุให้เกิดวิบากคือผล กรรมจึงเป็นเหตุ วิบากจึงเป็นผล และวิบากนั้นเองก็เป็นตัวเหตุก่อกิเลสขึ้นอีก เมื่อเป็นดั่งนี้วิบากนั้นก็เป็นเหตุ กิเลสก็เป็นผลของวิบาก และกิเลสก็เป็นเหตุให้กระทำกรรม กิเลสก็เป็นเหตุ กรรมก็เป็นผลของกิเลส และกรรมนั้นเองก็เป็นเหตุส่งวิบาก เมื่อเป็นดั่งนี้กิเลสก็กลับเป็นเหตุ วิบากก็เป็นผล และวิบากคือผลนั้นก็กลับเป็นเหตุก่อให้เกิดกิเลสขึ้นอีก เพราะฉะนั้น กิเลส กรรม วิบาก จึงวนอยู่ดั่งนี้ ก็โดยที่บุคคลนี้เอง หรือจิตนี้เองที่วนอยู่ในกิเลสกรรมวิบาก แล้วก็กลับเป็นเหตุก่อกิเลส กิเลสก็ก่อกรรม กรรมก็ก่อวิบาก วิบากก็ก่อกิเลส เพราะฉะนั้น สัตว์บุคคลจึงวนอยู่ในกิเลสกรรมวิบากทั้ง ๓ นี้ นี้เป็นวัฏฏะ วัฏฏะคือความวนนี้ก็วนอยู่ในปัจจุบันนี้นี่เอง และวนอยู่เรื่อยไป ในอดีตก็วนมาดั่งนี้ ในปัจจุบันก็วนมาดั่งนี้ ในอนาคตก็จะวนต่อไปดั่งนี้ เพราะฉะนั้นวัฏฏะคือความวนนี้จึงวนอยู่ในกิเลสกรรมวิบาก หรือในกงของกิเลสกรรมวิบาก กิเลสกรรมวิบากนี้เป็นกรรมเมื่อเทียบกับล้อ จะเป็นล้อเกวียนล้อรถก็ตาม ซึ่งประกอบด้วยกง ประกอบด้วยกำ ก็มีอยู่ ๓ กำ ก็คือ กิเลส กรรม วิบาก ติดประกอบอยู่ในกงอันเป็นวงกลม วัฏฏะคือความวน ก็วนเป็นวงกลมอยู่ดั่งนี้ ๕ วัฏฏะในปัจจุบัน พิจารณาดูความเป็นไปของจิตในปัจจุบัน ก็จะพึงเห็นได้ว่าก็วนอยู่ใน ๓ อย่างนี้ เป็นต้นว่าเกิดตัณหาขึ้นในรูป ตัณหานั้นก็เป็นกิเลส ก็เป็นเหตุให้ประกอบกรรมคือจงใจที่จะดูรูป และเมื่อเป็นกรรมคือประกอบการดูรูป เช่นขวนขวายไปดู มองดู ดั่งนี้ก็เป็นกรรม ก็ได้วิบากคือผล คือเห็นรูปที่จงใจจะดูด้วยรูปตัณหา การเห็นรูปนี่เป็นวิบากคือผล ผลของกรรมคือการที่จงใจดู และเมื่อเห็นรูป รูปที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ก็ก่อให้เกิดรูปตัณหายิ่งขึ้นไปอีก รูปตัณหานั้นก็เป็นเหตุให้ประกอบกรรมคือการดูยิ่งขึ้นไปอีก ดูก็เห็นซึ่งเป็นผล รูปที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ก็ก่อให้เกิดรูปตัณหายิ่งขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น ทุกๆอย่างในปัจจุบันนี้ จิตของสรรพสัตว์ คือจิตที่ยังมีความข้องความเกี่ยว มีสัญโญชน์คือความผูกพัน ก็วนอยู่ในกิเลสกรรมวิบากทั้ง ๓ นี้ตลอดเวลา ไม่ออกไปนอกจากวงแห่งกิเลสกรรมวิบากทั้ง ๓ นี้ ก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้ วัฏฏะในวงกว้าง

( เริ่ม ๔๙/๒ ) ในที่นี้ก็ยกเอาเพียงข้อกิเลสคือตัณหาอย่างเดียว เพราะว่าตัณหานั้นเป็นตัวก่อภพชาติ และเมื่อมีชาติคือความเกิดขึ้นมา ก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย ในที่สุด และเมื่อยังมีตัณหาอยู่ ยังดับตัณหาไม่ได้ ตัณหาก็เป็นชนกกิเลส ชนกกรรม นำก่อภพก่อชาติใหม่ขึ้นมาอีก แล้วเป็นชาติขึ้น ก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ตายแล้วก็มีปฏิสนธิคือเกิด เกิดก็แก่ ก็เจ็บ ก็ตาย ตายแล้วก็เกิด ก็เป็นอันว่าแม้ในวงกว้างก็วนเวียนอยู่ดั่งนี้ สัตว์บุคคลหรือจิตอันนี้จึงท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏะคือวน ดังที่กล่าวมานี้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าวัฏฏะสงสาร ท่องเที่ยววนเวียนอยู่ในกิเลสกรรมวิบาก ท่องเที่ยววนเวียนเกิดแก่เจ็บตาย ก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้ ๖ เพราะฉะนั้นก็เป็นอันศึกษาให้รู้จักตัวสมุทัย คือตัณหาซึ่งเป็นตัวต้นเหตุ เมื่อดับตัณหาเสียได้ก็เป็นอันว่าหักวัฏฏะคือวนดังกล่าว ดับกิเลส ดับทุกข์ทางจิตใจในปัจจุบัน วิบากขันธ์ยังอยู่ ก็อยู่ไป เหมือนอย่างวิบากขันธ์ของพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย และเมื่อดับขันธ์ในที่สุด ไม่เกิดอีก ก็เป็นอันว่าเป็นปรินิพพาน คือดับรอบ สิ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวง เป็นอันศึกษาให้รู้จักทุกขนิโรธคือความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ จึงมาถึงศึกษาให้รู้จักข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ซึ่งก็รวมเข้าในมรรคมีองค์ ๘ ย่อเข้าก็เป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา เมื่อศึกษาให้รู้จักดั่งนี้ ก็ปฏิบัติหัดที่จะกำหนดรู้จักทุกข์ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน และกำหนดเข้ามาดูทุกข์ อันมีอยู่ที่ตัวเราเอง คือ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ ซึ่งเป็นตัวสภาวะทุกข์ หัดดูให้รู้จักทุกข์ทางจิตใจที่บังเกิดขึ้นมี โสกะ ปริเทวะ เป็นต้น และกำหนดให้รู้จักว่าที่ต้องมีทุกข์โศกกันอยู่เหล่านี้ ก็เพราะว่ายังมีที่รัก ยังมีไม่เป็นที่รัก เมื่อประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ขึ้นมา พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ขึ้นมา รวมเข้าก็คือว่า เพราะยังมีความปรารถนา และความปรารถนานั้นไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ขึ้นมา ต้นเริ่มของความทุกข์ อันความปรารถนาไม่สมหวังนั้นย่อมมีอยู่ เพราะความปรารถนาที่สมหวัง ที่เรียกว่าสมหวังนั้น ก็คือความที่ได้มาตามที่ต้องการ ตามที่หวัง แต่ความที่ได้มาตามที่ต้องการ ตามที่หวังนั้น เรียกว่าเป็นความประจวบ เมื่อประจวบกับสิ่งที่เป็นที่รักก็ย่อมจะมีความสุข ๗ แต่ว่าอันความสุขที่ได้จากความประจวบกับสิ่งที่เป็นที่รักนั้น ก็เป็นการเริ่มต้นของความพลัดพราก เหมือนอย่างเมื่อได้ชาติคือความเกิดมา ตนเองเกิดมาก็ดี ลูกหลานเกิดมาก็ดี ก็เรียกว่าเป็นความตั้งต้นการได้ แต่ว่าความตั้งต้นการได้นี้ ก็เป็นความตั้งต้นของความเสื่อมความดับ เพราะเมื่อเกิดมาก็ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ในทางขึ้น และในทางเสื่อม จนถึงดับในที่สุด แต่ว่าเมื่อยังมีตัณหา มีความยึดถือ ว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา ก็ย่อมจะไม่ต้องการให้สิ่งที่ยึดถือนี้ ต้องเปลี่ยนแปลงไป ต้องดับไป ซึ่งเป็นการฝืนสภาพธรรมดา อันเป็นไปไม่ได้ เมื่อเป็นดั่งนี้ การได้นั้นเอง และยึดถือ จึงเป็นตัวต้นเหตุที่ให้เกิดทุกข์ต่างๆ ความได้ที่ทุกคนพอใจดีใจร่าเริงนั้น ทุกอย่างเป็นความตั้งต้นแห่งความทุกข์ เพราะจะต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ต้องพลัดพรากไป การได้ลาภได้ยศที่ทุกคนพอใจดีใจร่าเริง นั้นคือความเริ่มต้นของความพลัดพราก ซึ่งเป็นตัวทุกข์ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะในที่สุดก็จะต้องพลัดพราก ถ้าลาภยศนั้นไม่พลัดพรากไปก่อน ชีวิตนี้ก็ต้องพลัดพราก เพราะชีวิตนี้ก็ต้องเกิดต้องดับ เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งจึงเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ เหตุแห่งความพลัดพราก หัดกำหนดพิจารณาให้รู้จักสัจจะคือความจริงดั่งนี้ คือให้รู้จักว่าทุกข์เป็นทุกข์ อันนี้เป็นข้อฝึกทางปัญญาที่จะให้รู้จัก รู้จักว่าทุกข์เป็นทุกข์นั้น นอกจากที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ตามที่ได้แสดงแล้ว ก็กำหนดให้รู้จักว่าทุกๆสิ่งที่ได้ จะเป็นลาภเป็นยศ เป็นอะไรก็ตามที่ได้นั้น ชื่อว่าเป็นการได้ที่เป็นความตั้งต้นของความพลัดพราก ๘ เพราะฉะนั้น เมื่อได้ก็ดีใจรู้สึกเป็นสุข แต่ความดีใจความสุขนั้นตั้งอยู่ประเดี๋ยวประด๋าว แล้วเมื่อสิ่งที่ได้นั้น ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปดับไป เมื่อมีความยึดถืออยู่ว่าเป็นตัวเราของเรา ยึดถือไว้เท่าไหร่ก็ต้องเป็นทุกข์มากเท่านั้น ยึดถือมากก็ทุกข์มาก ยึดน้อยก็ทุกข์น้อย ไม่ยึดถือเลยจึงจะไม่เป็นทุกข์ ศึกษาให้รู้จักทุกข์ว่าเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นก็ต้องศึกษาให้รู้จักทุกข์ว่าเป็นทุกข์ รู้จักว่าสิ่งที่ได้จะเป็นลาภเป็นยศก็ตาม เป็นความสุข เป็นความรื่นเริง เป็นความหัวเราะ ความบันเทิงต่างๆ นั่นเป็นตัวทุกข์ เป็นตัวทุกข์ทุกๆอย่าง เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปทั้งสิ้น ไม่มีอะไรที่จะดำรงอยู่ หัดรู้จักทุกข์ รู้จักตัวทุกข์ว่าเป็นตัวทุกข์ดั่งนี้ และความที่กำหนดให้รู้จักทุกข์ว่าเป็นตัวทุกข์ดั่งนี้ ก็พึงหัดกำหนดให้รู้จักทุกข์ทุกอย่างที่ประสบทางอายตนะทั้งสิ้น แม้ตัวความสุขความร่าเริงความเพลิดเพลินต่างๆเอง ก็กำหนดให้รู้จักว่านั่นแหละก็เป็นตัวทุกข์ เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ สิ่งทั้งหลายอันเป็นที่ตั้งของความสุขความเพลิดเพลิน เหล่านั้นก็เป็นตัวทุกข์ ก็เป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ ทำความรู้เท่าไว้ตั้งแต่ในเบื้องต้น เมื่อจะมีความสุขก็มีความสุขไป มีเพลิดเพลิน มีความร่าเริง มีความหัวเราะ ก็หัวเราะไป ร่าเริงไป เพลิดเพลินไป แต่ในขณะเดียวกันก็ทำความรู้เท่าทันไว้ด้วย ว่านั่นคือตัวทุกข์ทั้งนั้น เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าทุกๆสิ่งทุกๆอย่างเหล่านี้ล้วนเป็นสังขาร ๙ คือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น เป็นสิ่งผสมปรุงแต่งทุกๆอย่าง ตากับรูป หูกับเสียง เป็นต้น ก็เป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง และเมื่อตากับรูปประจวบกันเห็นรูปที่เรียกว่าวิญญาณ ก็เป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง เวทนา สัญญา สังขาร ต่างๆที่บังเกิดขึ้น ก็เป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง ทุกๆอย่างเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น ซึ่งมีความรวมกันเข้ามา ประจวบกันเข้ามา ที่เรียกว่าชาติคือความเกิดก็ได้เป็นเบื้องต้น แล้วก็ต้องมีความแตกมีความดับในที่สุด เรียกว่าเกิดดับ เกิดเป็นเบื้องต้น ดับเป็นที่สุด ทุกอย่างต้องเป็นไปดั่งนี้ และสิ่งที่มาผสมปรุงแต่งอันมีลักษณะดั่งนี้ นี่แหละเรียกว่าสังขารสิ่งผสมปรุงแต่ง ทำความรู้จักว่านี่คือสังขารคือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง อันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ วิปรินามะ ลักษณะของสังขาร และเมื่อเป็นสังขารอันเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับดั่งนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งสอนให้รู้จักลักษณะของสิ่งผสมปรุงแต่ง อันเรียกว่าสังขตลักษณะ ลักษณะของสิ่งผสมปรุงแต่ง หรือลักษณะของสิ่งที่เรียกว่าเป็นสังขารว่า อุปปาโท ปัญญายติ ความเกิดขึ้นปรากฏ วโย ปัญญายติ ความเสื่อมไปปรากฏ ฐิตัสสะ อัญญะถัตตัง ปัญญายติ เมื่อตั้งอยู่ความที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปปรากฏ ความเปลี่ยนแปลงไปนี้ของชีวิต ของทุกๆสิ่ง มีอยู่ตลอด เหมือนอย่างกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ทุกขณะ ไม่มีหยุด กาลเวลาไม่มีหยุดที่จะล่วงไปๆ ต้องเปลี่ยนแปลงไป สังขารชีวิตร่างกายทุกๆสิ่งในโลกนี้ ก็ไม่มีหยุดต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เพราะฉะนั้นเมื่อกำหนดให้รู้จักสังขาร จึงต้องกำหนดให้รู้จัก วิปรินามะ อันเป็นลักษณะของสังขาร อันได้แก่ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง นี่เป็นวิธีพิจารณา ๑๐ ทุกขทุกข์ สังขารทุกข์ วิปรินามทุกข์ เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสอนวิธีกำหนดให้รู้จักทุกข์ไว้ ๓ อย่าง ข้อ ๑ ก็คือว่า ทุกขทุกข์ ให้รู้จักทุกข์ว่าเป็นตัวทุกข์ ข้อ ๒ สังขารทุกข์ ให้รู้จักว่าทุกข์ก็คือสังขาร สิ่งที่ผสมปรุงแต่งทั้งหมด ให้รู้จัก วิปรินามทุกข์ ทุกข์คือความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่เกิดจนถึงดับ มีเกิดเบื้องต้น มีดับเป็นที่สุด ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น ท่านที่ได้ดวงตาเห็นธรรม เมื่อฟังเทศนาของพระพุทธเจ้า ดั่งท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ เมื่อฟังปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าที่ตรัสแสดงอริยสัจจ์ ท่านฟังแล้วท่านเข้าใจ จับประเด็นอันสำคัญได้ คือท่านเห็นทุกข์ เห็น ทุกขทุกข์ ตัวทุกข์ว่าเป็นตัวทุกข์ เห็น สังขารทุกข์ ทุกข์คือสังขารสิ่งผสมปรุงแต่ง เห็น วิปรินามทุกข์ ทุกข์คือความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ต้องเกิดต้องดับ ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรมของท่านจึงมีแสดงไว้ว่า ท่านเห็นว่า ยังกิญจิ สมุทย ธัมมัง สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สัพพันตัง นิโรธ ธัมมัง สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา ดั่งนี้ คือท่านเห็นทุกขะทุกขะ เห็นสังขารทุกขะ เห็นวิปรินามทุกขะ ทุกๆสิ่งที่เป็นสังขารสิ่งผสมปรุงแต่งเป็นตัวทุกข์ เป็นตัวสังขาร และเป็นสิ่งที่ต้องเกิดต้องดับ ทั้งสิ้น อันนี้แหละเป็นธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม ฟังเทศอริยสัจจ์ท่านเกิดธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรมดั่งนี้ และท่านที่ได้ดวงตาเห็นธรรมดั่งนี้ ท่านแสดงว่าท่านได้โสดาปัติมรรค โสดาปัติผล เป็นโสดาบันบุคคล อันเป็นอริยบุคคลขั้นที่๑ ในพระพุทธศาสนา

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 สัมมาทิฏฐิ ๕ ความรู้จักชรามรณะ
 

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 ปฏิจจสมุปบาท ๔
ปฏิจฉันนชรา อัปปฏิจฉันนชรา ๖
 ความสุกรอบแห่งอินทรีย์ ๗
ปฏิจฉันนมรณะ อัปปฏิจฉันนมรณะ ๘
 เกิดดับในปัจจุบัน ๙
 

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ม้วนที่ ๔๙/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๕๐/๑ - ๕๐/๒ ( File Tape 40 )
 

อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ

 สัมมาทิฏฐิ ๕
 ความรู้จักชรามรณะ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 ได้แสดงสัมมาทิฏฐิตามเถราธิบายแห่งท่านพระสารีบุตร และโดยที่ท่านได้อธิบายไว้โดยปริยายคือทางแสดง ติดต่อกันหลายข้อหลายประการ แต่อันที่จริงก็เป็นทางธรรมะที่ดำเนินไปทางเดียวกัน เป็นแต่ท่านได้จำแนกแจกแสดง เพื่อเป็นทางพิจารณาทางปัญญาของผู้ที่มุ่งทราบ และมุ่งปฏิบัติอบรมทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายได้ถามท่านต่อไปอีกว่า จะมีทางอธิบายสัมมาทิฏฐิอีกหรือไม่ ท่านก็ตอบว่ามี และก็ได้แสดงอธิบายต่อไปอีกว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบก็คือรู้จัก ชรา มรณะ รู้จักสมุทัยเหตุเกิดแห่งชราและมรณะ รู้จักความดับชรามรณะ และรู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับชรามรณะ ท่านก็ได้แสดงชี้แจงต่อไปอีกว่า ชราก็ได้แก่ความแก่ ความทรุดโทรม ฟันหัก ผมหงอก หนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมแห่งอายุ ๒ ความหง่อมแก่แห่งอินทรีย์ทั้งหลาย มีตาเป็นต้น มรณะก็ได้แก่จุติความเคลื่อน ความแตกทำลาย ความหายไป มฤตยูความตาย การกระทำกาละ ความแตกแห่งขันธ์ทั้งหลาย ความทอดทิ้งซากศพไว้ ความตัดขาดแห่งอินทรีย์คือชีวิต รู้จักชราความแก่ มรณะความตาย ดั่งนี้ เหตุเกิดแห่งชรามรณะความแก่ความตายก็คือชาติความเกิด รู้จักเหตุเกิดแห่งความแก่ความตายก็คือรู้จักว่าชาติความเกิดเป็นสมุทัย เหตุเกิดแห่งความแก่ความตาย ดับชาติคือความเกิดเสียได้ก็เป็นความดับชรามรณะ รู้จักความดับชรามรณะก็คือรู้จักว่าดับชาติคือความเกิดเสียได้ เป็นความดับชรามรณะดังกล่าว ทางปฏิบัติให้ถึงความดับชาติคือความเกิด ทางปฏิบัติให้ถึงความดับชรามรณะความแก่ความตาย ก็คือมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะความดำริชอบ สัมมาวาจาเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะการงานชอบ สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะเพียรชอบ สัมมาสติระลึกชอบ สัมมาสมาธิตั้งใจชอบ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับชรามรณะ ก็คือรู้จักว่ามรรคมีองค์ ๘ ดังกล่าว เป็นทางดับชรามรณะ เมื่อรู้จักดั่งนี้ก็ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบความเห็นตรง เป็นเหตุละอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน คือราคะความติดใจยินดี บันเทาปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งขัดเคือง ถอนอนุสัยคือทิฏฐิมานะว่าเรามีเราเป็น ละอวิชชาความไม่รู้ ทำวิชชาความรู้ให้บังเกิดขึ้น นำให้ได้ความเลื่อมใสไม่หวั่นไหวในพระธรรม นำมาสู่พระสัทธรรมคือพระธรรมวินัยในศาสนานี้ ดั่งนี้ ๓ ตามเถราธิบายนี้ก็เป็นการแสดงอธิบายอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั่นแหละ ให้พิสดารกว้างขวางออกไป โดยที่อริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้เป็นหลักใหญ่ เป็นผลเป็นเหตุในด้านทุกข์ หรือด้านวัฏฏะความวนเวียน เป็นเหตุเป็นผลในด้านดับทุกข์ หรือดับวัฏฏะความวนเวียน และแม้ในอธิบายอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่อธิบายโดยทั่วไป ดังที่พระสารีบุตรได้แสดง ( เริ่ม ๕๐/๑ ) และก็ได้แสดงอธิบายแต่ละข้อ ขยายความออกไป ดังในข้อทุกข์ ข้อแรกก็แสดงด้วยเริ่มว่าชาติความเกิดเป็นทุกข์ ชราความแก่เป็นทุกข์ มรณะความตายเป็นทุกข์ เป็นต้น รวมอยู่ในข้อทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ แต่ในที่นี้ท่านได้จำแนกแจกแจงออกไปอีก คือในข้อทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ ที่ได้ยกเอา ชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณะทุกข์ ขึ้นมาแสดง ก็อธิบายขยายความว่า แม้ใน ๓ ข้อนี้เอง ก็ยังเป็นอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ได้ คือชรามรณะความแก่ความตาย ชรามรณะสมุทัยเหตุเกิดแห่งความแก่ความตาย ก็คือชาติความเกิด ดังที่แสดงไว้ว่า ชาติปิทุกขา ชาติคือความเกิดเป็นทุกข์นั้น นั่นแหละ ชรามรณะนิโรธดับความแก่ความตายก็คือดับชาติความเกิดเสีย ชรามรณะนิโรธะปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงความดับชรามรณะ อันเรียกว่าชรามรณะนิโรธะคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับชรามรณะ ก็คือมรรคมีองค์ ๘ สำหรับในข้อ ๔ นี้ อธิบายเป็นข้อยืน ปฏิจจสมุปบาท เพราะฉะนั้น แม้ในข้อทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ที่อธิบายกันทั่วไปนั้น ๓ ข้อข้างต้นก็มาจำแนกเป็นอริยสัจจ์ ๔ อีกได้ สำหรับเป็นทางพิจารณา อันเรียกว่า ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งแปลว่าอธิบายจับเหตุจับผลที่สืบเนื่องกันไป เหมือนอย่างลูกโซ่สืบเนื่องกันไปเป็นลูกๆ รวมกันก็เป็นสายโซ่ทั้งเส้น แปลตามศัพท์ก็แปลว่าธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ๔ คือเป็นเหตุเป็นปัจจัยอาศัยกันและกันบังเกิดขึ้นเป็นไป เหมือนอย่างลูกโซ่ลูกที่หนึ่ง ก็เป็นปัจจัยของลูกที่สอง ลูกที่สองก็เป็นปัจจัยของลูกที่สาม ลูกที่สามก็เป็นปัจจัยของลูกที่สี่ เชื่อมโยงกันไปดั่งนี้เป็นสายโซ่ และในการพิจารณาจับเหตุจับผล หรือจับปัจจัยจับผลที่โยงกันไปเป็นสายโซ่ของสังสารวัฏ คือความท่องเที่ยวเวียนเกิดเวียนตายของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ก็พิจารณาจับได้ตามนัยยะปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น เนื่องกันไปเป็นลูกโซ่ดังกล่าว และในการที่จะจับขึ้นมาพิจารณาให้เห็นได้สะดวก ก็จับพิจารณาโดยทางแห่งเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรนี้ ตั้งต้นแต่จับชรามรณะความแก่ความตาย เมื่อความแก่คืออะไร ความตายคืออะไร ให้รู้จักความแก่ให้รู้จักความตาย และก็พิจารณาให้รู้จักสมุทัยของความแก่ความตาย ว่าคือชาติความเกิดนั่นแหละ เป็นสมุทัยของความแก่ความตาย ให้รู้จักความดับความแก่ความตาย ว่าก็คือดับชาติคือความเกิดเสียได้ ก็เป็นความดับความแก่ความตาย ให้รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับความแก่ความตาย คือดับชาติดังกล่าว ก็คือมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งมรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นข้อธรรมะปฏิบัติที่ยืน เพราะฉะนั้น ผู้มุ่งอบรมสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ดังพระเถราธิบายที่ท่านได้แสดงมาโดยลำดับ จับตั้งแต่ให้รู้จัก อกุศล อกุศลมูล ให้รู้จักกุศล กุศลมูล ให้รู้จักอาหารทั้ง ๔ ให้รู้จักอริยสัจจ์ทั้ง ๔ โดยอธิบายทั่วไป อันเป็นหลักใหญ่ แล้วท่านจึงมาซอยให้เห็นเงื่อน ที่ต่อเนื่องกันไปเป็นสาย เหมือนอย่างสายโซ่ดังกล่าวนั้น โดยให้จับพิจารณาให้รู้จัก ก็ตามหลักผลและเหตุด้านเกิดและด้านดับ แห่งอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่เป็นหลักใหญ่นั้นนั่นเอง ดังกล่าว ๕ เพราะฉะนั้น ผู้ศึกษาปฏิบัติพุทธศาสนาทางปัญญา จึงควรศึกษาตามแนวเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรนี้ อันเป็นทางอธิบายทางปัญญาที่ดีเยี่ยม อันทำให้ได้ปัญญารู้จักพุทธศาสนา แม้โดยปริยัติก็ตาม โดยปฏิบัติก็ตาม ย่อมใช้ได้ทั้งสองทาง จับพิจารณาให้รู้จักชราความแก่ มรณะคือความตาย ว่าความแก่เป็นอย่างนี้ ความตายเป็นอย่างนี้ ปฏิจฉันนชรา อัปปฏิจฉันนชรา ท่านพระอาจารย์ได้อธิบายความแก่ความตาย ให้ละเอียดขึ้นไปอีก โดยที่แสดงว่าชราคือความแก่นั้นมี ๒ อย่าง คือ ปฏิจฉันนะชรา ความแก่ที่ปกปิด อัปปฏิจฉันนะชรา ความแก่ที่ไม่ปกปิด ความแก่ที่ปกปิดนั้น ก็คือความแก่ที่มีเริ่มตั้งแต่ชาติคือความเกิด ตั้งต้นแต่เป็นกลละในครรภ์ของมารดา มาจนเป็นตัวเป็นตน คลอดออกมาก็เจริญขึ้นเป็นเด็กเล็กเป็นเด็กใหญ่ เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นความเจริญเต็มที่ ดั่งนี้ เรียกว่า ปฏิจฉันนะชรา ความแก่ที่ปกปิด หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าความแก่ขึ้น อันความแก่ขึ้นนี้ก็เป็นชราเหมือนกัน คือความแก่ เราทั้งหลายก็ยังเรียกความแก่ขึ้นของผลไม้ว่าผลไม้แก่ ผลไม้นั้นก็เริ่มมาตั้งแต่ต้นจนปรากฏเป็นผลเล็กๆ แล้วก็โตขึ้นๆ จากผลไม้อ่อนก็แก่ขึ้นๆ เป็นแก่เต็มที่ ก็เรียกกันว่าผลไม้แก่ แต่ว่าบุคคลเราร่างกายที่เจริญขึ้นๆ จนเจริญเต็มที่ไม่เรียกกันว่าแก่ แต่อันที่จริงก็เป็นอย่างเดียวกันกับผลไม้นั้น แต่เพราะคนเราไม่เห็นว่าเป็นความแก่ แต่ว่าไปเห็นผลไม้ว่าแก่ ในเมื่อผลไม้นั้นเจริญเต็มที่ ส่วนคนเราเจริญเต็มที่นั้นเราไม่เห็นว่าแก่ เห็นว่าเป็นหนุ่มเป็นสาวเป็นความเจริญเต็มที่ ๖ แต่อันที่จริงก็เป็นอย่างเดียวกัน ที่เรียกว่าเป็นความแก่ขึ้น และเมื่อร่างกายเจริญเต็มที่แล้วก็เริ่มเสื่อมลง เรียกว่าเป็นความแก่ลง ก็แก่ลงไปเรื่อยๆ ความแก่ลงนี้ก็เป็นความแก่ที่ปรากฏ ซึ่งทุกๆคนก็รับรองกันว่าแก่ จึงเรียกว่า อัปปฏิจฉันนะชรา ความแก่ที่ไม่ปกปิด เมื่อเทียบกับพระพุทธาธิบาย หรือพระเถราธิบาย ที่แสดงมาข้างต้นนั้น ที่อธิบายว่าชราความแก่ก็คือ ความแก่ ซึ่งคำนี้ ซึ่งเป็นคำเริ่มต้น ก็อาจจะเป็นความแก่ที่ปกปิดก็ได้ และต่อมาจึงอธิบายต่อไปว่า ความชำรุดทรุดโทรม ซึ่งเป็นอธิบายของความแก่ลง และอธิบายให้ชัดต่อไปอีกว่าได้แก่อาการที่ ฟันหัก ผมหงอก หนังเหี่ยวย่น ความเสื่อมแห่งอายุ ความแก่หง่อมแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย มีตาเป็นต้น อันความเสื่อมแห่งอายุนั้นก็กล่าวได้ว่า เริ่มเสื่อมตั้งแต่เวลาแรกของชาติคือความเกิด เมื่อมีชาติคือความเกิดก็เริ่มเสื่อมเรื่อยไป เช่นว่าเกิดขึ้นมาได้ ๑ ปีก็เสื่อมไป ๑ ปี เกิดมาได้ ๒ ปีก็เสื่อม ๒ ปี ก็แปลว่าลดเวลาที่มีอยู่ทั้งหมดของชีวิตลงไปทุกขณะๆ ที่เวลาของอายุล่วงไปๆ ความสุกรอบแห่งอินทรีย์ เพราะฉะนั้น อายุที่ล่วงไปๆ นับตั้งแต่ชาติคือความเกิด ก็เรียกว่าเริ่มเสื่อมไปโดยลำดับ คือคืบเข้าไปสู่ที่สุดอันได้แก่ความตายโดยลำดับ ทุกขณะทุกเวลาที่ล่วงไปๆ ฉะนั้นความเสื่อมของอายุจึงมีมาโดยลำดับตั้งแต่ชาติคือความเกิด และเมื่อแก่ลงความทรุดโทรมของอินทรีย์ทั้งหลายมีตาเป็นต้นก็ปรากฏ แต่อันที่จริงนั้นตามศัพท์ที่ท่านใช้ว่า อินทริยานัง ปริปาโก ที่แปลว่าความ สุกรอบ ของอินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมหมายความได้ตั้งแต่แก่ขึ้น ตลอดจนถึงแก่ลง แต่ก็มักจะแปลกันว่าความหง่อมเสื่อม แต่อันที่จริงนั้นไม่ตรง หาคำแปลยาก จึงขอยืมคำว่าความหง่อมความเสื่อม หรือแก่หง่อม มาใช้เท่านั้น ๗ แต่อันที่จริงตามศัพท์นั้นได้ทั้งแก่ขึ้นแก่ลง อินทรีย์คือตาหูจมูกลิ้นกาย ก็เริ่มที่จะสมบูรณ์ขึ้นโดยลำดับ ตั้งแต่ชาติคือความเกิด ดั่งนี้ก็เรียกว่า ปริปากะ คือความที่สุกโดยรอบ คือในทางสมบูรณ์ เหมือนอย่างผลไม้ที่แก่เต็มที่แปลว่าสมบูรณ์ที่สุด แล้วจึงแก่งอม แปลว่าแก่ลง ตาเสื่อม หูเสื่อม เป็นต้น เพราะฉะนั้น แม้ในพุทธาธิบายและเถราธิบายนั้น ก็อธิบายได้ทั้งแก่ขึ้นและแก่ลงดังกล่าวนั้น แต่พระอาจารย์ได้มาชี้ให้ชัดขึ้นอีก เป็นปฏิจฉันนะชราแก่ที่ปกปิด กับอัปปฏิจฉันนะชราแก่ที่ไม่ปกปิด ซึ่งอันที่จริงนั้นก็ไม่ได้ปกปิดด้วยกันทั้งสอง ปรากฏทั้งสอง เป็นแต่เพียงว่าบุคคลไม่รู้จักเท่านั้น คือชี้แจงอย่างละเอียดไม่รู้จัก ก็ต้องชี้กันไปตรงว่าแก่ขึ้นแก่ลง จี้ลงไปให้ชัดขึ้นเท่านั้นเอง แต่พระพุทธาธิบาย พระเถราธิบายนั้นก็ครอบไปได้ทั้ง ๒ อย่างแล้ว ท่านจึงใช้คำอธิบายถึงเรื่องความแก่นี้ไว้หลายคำดังที่กล่าวมานั้น ก็กำหนดพิจารณาให้รู้จักชราคือความแก่ดังกล่าว และทุกคนก็มีชราคือความแก่ดังกล่าว เด็กก็พิจารณาได้ ผู้ใหญ่ก็ได้ เพราะก็แก่ด้วยกันทั้งนั้น ตั้งแต่ชาติคือความเกิดดังกล่าวมานั้น ว่านี่คือชราคือความแก่ ปฏิจฉันนมรณะ อัปปฏิจฉันนมรณะ มาถึงมรณะคือความตาย พระอาจารย์ก็ให้คำอธิบายไว้ ๒ อย่างเช่นเดียวกัน คือ ปฏิจฉันนะมรณะ ความตายที่ปกปิด กับ อัปปฏิจฉันนะมรณะ ความตายที่ไม่ปกปิด โดยอธิบายว่า อันความดับของธาตุทั้งหลาย อันประกอบเข้าเป็นรูปขันธ์ และของนามขันธ์ทั้งหลาย ย่อมมีความดับอยู่ทุกขณะในปัจจุบัน แต่ว่าอาศัยมีสันตติคือความสืบต่อ ด้วยอาหารทั้งหลายเข้าไปบำรุงเลี้ยงชดเชยส่วนที่ดับไปนั้น จึงมีความเกิดของรูปนามต่อเนื่องกันไป คือว่าเกิดดับ แล้วก็เกิด แล้วก็ดับ แล้วก็เกิดต่อเนื่องกันไป ๘ อันความดับที่มีอยู่ในระหว่างๆ นี้คือมรณะความตายที่มีอยู่ในระหว่างๆ จะพึงเห็นได้ และโดยมีอาหารเข้าช่วยทำให้เกิดต่อเนื่องกัน ดังที่ได้มีเถราธิบายไว้แล้วในอาหาร ๔ ที่กล่าวมาแล้ว แม้ผู้ศึกษาทางสรีระวิทยาในปัจจุบันก็ยังได้กล่าวไว้เช่นนั้น ว่าร่างกายของทุกๆคนในปัจจุบันนี้ แม้จนชั้นกระดูกที่เป็นโครงร่างของแต่ละบุคคล

( เริ่ม ๕๐/๒ ) ความต้องการอาหารสำหรับที่จะชดเชยสืบเนื่องนี้ อย่างละเอียดก็เห็นได้ เช่นลมหายใจเข้าลมหายใจออก ต้องหายใจเข้าต้องหายใจออกกันอยู่ทุกขณะ หยุดไม่ได้ อันแสดงว่าต้องการใช้ลมเข้าไปชดเชยส่วนที่ดับไป หมดไป หยุดหายใจสักครู่หนึ่งชีวิตก็จะต้องดับ ต่อไม่ติด เกิดดับในปัจจุบัน อันนี้แสดงว่า เกิดดับ เกิดดับ มีอยู่ในปัจจุบัน และดับนั้นก็คือมรณะความตาย แต่อาศัยมีสันตติคือความสืบต่อดังกล่าว หายใจเข้า มีหายใจออก ออกแล้วก็เข้า เมื่อใดสันตติคือความสืบต่อนี้หยุด เช่นหายใจเข้าแล้วไม่ออก ออกแล้วไม่เข้า ดับอัสสาสะปัสสาสะ ความตายที่เรียกว่ามรณะในที่สุดก็ปรากฏ ความตายในระหว่างๆที่ยังมีสันตติสืบต่อเป็นความตายที่ไม่ปรากฏ แต่ความตายที่ปรากฏก็คือความตายในที่สุดที่สิ้นความสืบต่อดังที่กล่าวนั้น แต่ตามพระเถราธิบายก็เริ่มตั้งแต่ว่าจุติความเคลื่อน ความแตกสลาย ความอันตรธานหายไป ก็เป็นถ้อยคำที่คลุมได้ทั้ง ๒ อย่าง ตั้งต้นแต่คำว่าจุติคือความเคลื่อน ชีวิตนี้ก็เคลื่อนไปสู่ความดับเรื่อยๆไปทุกขณะแล้ว ตั้งแต่ดับที่ยังมีสันตติสืบต่อ จนถึงดับที่สิ้นสันตติอันเป็นความตายในที่สุด แต่ว่าสำหรับผู้ที่อ่อนสติปัญญาก็ยังมองไม่เห็นชัด จึงต้องจี้ลงไป ว่าตายที่ปกปิด และตายที่ไม่ปกปิด คือสะกิดใจให้พิจารณาให้เห็นชัด เป็นอันว่าชราและมรณะนี้มีอยู่ตั้งแต่ในปัจจุบัน ตั้งแต่ชาติคือความเกิด หัดพิจารณาให้รู้จักชรา ให้รู้จักมรณะ ที่มีอยู่ในตนเอง ทุกๆคนมีอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ๙ เมื่อหัดให้รู้จักว่าสมุทัยของชรามรณะก็คือชาติความเกิด เพราะมีชาติคือความเกิดเป็นเบื้องต้นจึงมีชรามรณะ ถ้าไม่มีชาติคือความเกิดชรามรณะก็ไม่มี เพราะฉะนั้นดับชาติเสียได้จึงเป็นอันว่าดับชรามรณะ และทางปฏิบัตินั้นก็คือมรรคมีองค์ ๘ เพื่อให้ถึงความดับชรามรณะคือดับชาติความเกิด

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats