ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป049

สัมมาทิฏฐิ ๒๒ ความรู้จักสังขาร

*
สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

สังขาร ๓

อุปาทินนกสังขาร อนุปาทินนกสังขาร ๓

สมมติบัญญัติของสังขาร ๔

สังขตลักษณะ ๔

ทุกขลักษณะ ๕

กายสังขาร วจีสังขาร ๖

จิตตสังขาร ๗

อาการของชีวิต ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ม้วนที่ ๖๑/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๖๒/๑ ( File Tape 48 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

*
สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงพระเถราธิบายตอบคำถามของภิกษุทั้งหลาย ของท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรมาโดยลำดับ จนถึงวันนี้ ท่านได้แสดงอธิบายสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ว่าได้แก่ รู้จักสังขาร รู้จักเหตุเกิดสังขาร รู้จักความดับสังขาร รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับสังขาร และท่านได้แสดงชี้แจงไปทีละข้อว่า รู้จักสังขารนั้น สังขารมี ๓ คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร รู้จักเหตุเกิดสังขารนั้น ก็คือรู้จักว่า เพราะอวิชชาเกิด สังขารจึงเกิด รู้จักความดับสังขารว่า เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับสังขาร ว่าได้แก่มรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น สังขาร จะได้แสดงอธิบายในข้อ ๑ ที่ท่านแสดงชี้แจงสังขาร ๓ ดังกล่าว แต่ก่อนที่จะได้แสดงสังขาร ๓ จะได้แสดงใจความ หรือความหมายของคำว่าสังขารก่อน คำว่าสังขารนั้น ก็ตามที่ได้ทราบกันอยู่โดยมาก สำหรับผู้ปฏิบัติธรรมะ หรือศึกษาธรรมะ ว่าได้แก่ปรุงแต่ง คือสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้น ก็เรียกว่าสังขาร การปรุงแต่ง หรือความปรุงแต่ง ก็เรียกว่าสังขาร โดยอธิบายว่าทุกๆสิ่งในโลกนี้ จะเป็นสิ่งที่มีใจครองเช่นมนุษย์เดรัจฉานทั้งหลาย สิ่งที่ไม่มีใจครองเช่นดินน้ำไฟลมที่เป็นภายนอกทั่วไป และที่เป็นต้นไม้ภูเขาเป็นต้น เรียกว่า สังขาร คือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งสิ้น แม้ที่รวมกันเป็นพื้นพิภพนี้ หรือว่า ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ดวงดาวทั้งหลายที่เห็นอยู่ในท้องฟ้า ก็เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งสิ้น หรือแม้ ลม ฝน อากาศเย็นร้อน ที่เป็นเรื่องของโลกธาตุอันบังเกิดขึ้นทั้งสิ้น ก็เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง อุปาทินนกสังขาร อนุปาทินนกสังขาร เพราะฉะนั้น ท่านจึงย่อสังขารลงเป็น ๒ คือ อุปาทินนกะสังขาร สังขารที่มีใจครอง อนุปาทินนกะสังขาร สังขารที่ไม่มีใจครอง แต่ว่าคำนี้ท่านผู้เพ่งธรรมะบางท่าน ก็อธิบายเป็นอีกอย่างหนึ่งว่า สังขารที่ยังยึดถือเรียกอุปาทินนกะสังขาร สังขารที่ไม่ยึดถือเป็นอนุปาทินกะสังขาร แต่แม้จะตีความหรือเข้าใจความอย่างไร รวมเข้าก็คือว่า บรรดาทุกสิ่งทุกอย่างในโลกที่เป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง เรียกว่าสังขารทั้งหมด และคำว่าผสมปรุงแต่งนี้ก็มีความหมายที่แจ่มแจ้งอยู่ในตัวแล้วว่า ไม่ใช่เป็นสิ่งเดียวที่ปรากฏ เป็นนั่นเป็นนี่ต่างๆ แต่ว่ามีส่วนประกอบเข้ามาหลายอย่าง มาปรุงแต่งกันขึ้น ซึ่งถ้าเทียบอย่างหยาบๆ ก็เช่น บ้านเรือน ที่เป็นบ้าน เป็นเรือน ก็เรียกว่าเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง เพราะประกอบขึ้นด้วยทัพพะสัมภาระ เช่นไม้เป็นต้น หลายสิ่งหลายอย่างมาประกอบกันเข้า เป็นบ้าน เป็นเรือน สมมติบัญญัติของสังขาร และคำว่าบ้านว่าเรือนนั้น ก็เป็นสมมติบัญญัติ ของสิ่งผสมปรุงแต่งนั้นๆ ว่าเมื่อผสมปรุงแต่งขึ้นเป็นอย่างนั้น ก็เรียกว่าอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ ก็เรียกว่าอย่างนี้ แม้คำว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขานี้ก็เช่นเดียวกัน ก็เป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ที่แปลความว่า เพราะประกอบ องคะสัมภาระ คือองค์ประกอบต่างๆ ส่วนประกอบต่างๆเข้า เสียงว่ารถจึงมี ฉันใด เมื่อขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ เสียงว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขา จึงมีอยู่ ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น ทุกๆอย่างดังกล่าว จึงเรียกว่าสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น สังขตลักษณะ ได้มีพระพุทธภาษิตแสดง สังขตะลักษณะ คือลักษณะของสิ่งผสมปรุงแต่งเอาไว้ ว่ามี ๓ อย่าง คือ ๑ ความเกิดขึ้นปรากฏ ๒ ความเสื่อมไปสิ้นไปปรากฏ ๓ เมื่อยังตั้งอยู่ ความเป็นไปอย่างอื่น คือความแปรปรวนไปเป็นอย่างอื่นปรากฏ ฉะนั้น จึงได้มีภาษิตแสดงภาวะของสังขารทั้งหลาย ซึ่งพระใช้เป็นคำสำหรับสวดว่า อนิจจา วะตะ สังขารา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง อุปปา ทะวะยะ ธัมมิโน มีความเกิดขึ้น และเสื่อมไปเป็นธรรมดา อุปปัช ชิตวา นิรุชฌันติ เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป เตสัง วูปสโม สุโข ความดับแห่งสังขารทั้งหลายเหล่านั้นจึงเป็นสุข ดั่งนี้ ทุกขลักษณะ เพราะฉะนั้น ในการพิจารณาทางวิปัสสนา ยกเอา ทุกขลักษณะ คือลักษณะเครื่องกำหนดหมายว่าเป็นทุกข์ขึ้นมาพิจารณา พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอน ให้พิจารณาโดยลักษณะที่เรียก ทุกขทุกขะ คือทุกข์โดยเป็นทุกข์ ก็ได้แก่ทุกข์ที่ปรากฏเป็นทุกข์ เช่น ทุกขเวทนาต่างๆที่บังเกิดขึ้นแก่ร่างกายและจิตใจ ดั่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสชี้เอาไว้ในการที่ทรงอธิบายทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ ว่าเกิดเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ ความโศก ความรัญจวนคร่ำครวญ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ เป็นทุกข์ ความประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ความปรารนาไม่สมหวังเป็นทุกข์ พิจารณาทุกข์ โดยที่เป็นทุกข์ต่างๆ ซึ่งทุกคนต้องประสบทางกายบ้างทางใจบ้าง อนึ่ง ได้ตรัสสอนให้พิจารณาว่าเป็นทุกข์โดยเป็นสังขาร อันเรียกว่า สังขารทุกขะ ทุกข์โดยเป็นสังขาร คือล้วนเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งสิ้น ทุกๆอย่างที่สมมติบัญญัติขึ้นว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ตั้งต้นแต่รูปกายของตนเอง นามกายของตนเอง รูปกายนามกายของผู้อื่น และสัตว์บุคคลต่างๆ ทรัพย์สินสิ่งต่างๆ ทุกอย่างที่สมมติบัญญัติกัน ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ทั้งที่ยึดถือกันว่าเป็นของเรา ว่าเราเป็น ว่าเป็นอัตตาตัวตนของเรา ล้วนเป็นสังขาร คือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น ส่วนที่มีชื่อเรียกกันต่างๆนั้น ก็เป็นสมมติบัญญัติทั้งสิ้น และส่วนที่ว่าเป็นเราเป็นของเรา ก็เป็นความยึดถือเอาเองทั้งสิ้น เพราะว่า ทุกๆอย่างนั้นเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งนั้น อนึ่ง ได้ตรัสสอนให้พิจารณา ว่าเป็นทุกข์โดยเป็น วิปรินามะ คือความที่แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เพราะทุกๆสิ่งทุกๆอย่างที่เป็นสังขารนั้น ล้วนมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา เป็นไปตามสังขตลักษณะ ลักษณะเครื่องกำหนดหมายแห่งสังขาร คือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลาย ดังกล่าวมาแล้ว คือมีเกิดมีดับเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป และในระหว่างแห่งเกิดและดับนั้น ก็มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นอยู่เรื่อยๆ ดังเช่นร่างกายของทุกๆคนเรานี้ เมื่อเกิดมาก็เป็นเด็ก คือร่างกายเป็นเด็ก แล้วก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงมาเป็นเด็กใหญ่ๆขึ้นโดยลำดับ เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นกลางคน เป็นคนแก่ เป็นคนแก่เฒ่า ไปโดยลำดับ ในที่สุดก็แตกดับ คือสิ่งที่ผสมปรุงแต่งนั้นก็แตกสลายจากการปรุงแต่ง หยุดปรุงแต่ง ฉะนั้น เรื่องสังขารนี้ จึงเป็นข้อที่ควรทำความเข้าใจ และพิจารณาในทางวิปัสสนากรรมฐานได้เป็นอย่างดียิ่ง ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน แต่ในที่นี้ก็ต้องการที่จะให้มีความเข้าใจในความหมายของคำว่าสังขาร เพียงว่าได้แก่สิ่งที่ผสมปรุงแต่งขึ้น หรืออาการที่ผสมปรุงแต่งขึ้น เรียกว่าสังขาร และที่ท่านจำแนกสังขารไว้เป็น ๓ คือกายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร กายสังขาร วจีสังขาร กายสังขารนั้นก็ได้แก่ปรุงแต่งกาย อธิบายว่าลม อัสสาสะ ปัสสาสะ คือลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ได้ชื่อว่ากายสังขารปรุงแต่งกาย เพราะว่าเป็นเครื่องบำรุงปรนปรือกายอยู่ตลอดเวลา กายดำรงอยู่ได้ก็เพราะมีลมอัสสาสะปัสสาสะ บำรุงปรนปรืออยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุด ดังจะพึงเห็นได้ว่าทุกๆคนนั้นไม่มีหยุดหายใจ กายจึงดำรงอยู่ได้ ที่เรียกว่าชีวิต หากหยุดหายใจเมื่อใด กายก็ดำรงอยู่ไม่ได้ ( เริ่ม ๖๒/๑ ) ฉะนั้น ลมอัสสาสะปัสสาสะจึงเรียกว่ากายสังขาร เป็นเครื่องปรุงกาย วจีสังขารแปลว่าปรุงแต่งวาจา ได้แก่วิตกวิจารที่แปลว่าความตรึกความตรอง วิตกวิจารนี้เองเป็นต้นของวาจาที่ทุกๆคนพูด ก็คือว่าพูดจากใจที่วิตกวิจาร คือที่ตรึกตรอง อาจจะกล่าวได้ว่าจิตใจนี้พูดก่อน คือตรึกตรองขึ้นมาก่อน จึงพูดออกทางวาจา หรือว่าวาจาจึงพูดออกมา ถ้าหากว่าไม่มีวิตกวิจาร ขึ้นในจิตใจก่อน การพูดอะไรออกไปทางวาจาก็เป็นวาจาของคนที่เพ้อคลั่ง หรืออาการที่เพ้อหรือที่กล่าวในเวลาหลับ และจะไม่เป็นภาษา ฉะนั้น วาจาที่ทุกๆคนพูดนี้จึงออกมาจากจิตใจ ที่มีวิตกมีวิจาร คือที่ตรึกตรอง ฉะนั้น วิตกวิจารจึงเรียกวจีสังขาร เป็นเครื่องปรุงวาจา จิตตสังขาร จิตตสังขาร ปรุงแต่งจิต ก็ได้แก่ สัญญา เวทนา เวทนานั้นก็ได้แก่ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข สัญญานั้นก็ได้แก่ความจำได้หมายรู้ เช่นจำรูปจำเสียงจำกลิ่นจำรสจำโผฏฐัพพะจำธรรมะคือเรื่องราว เวทนาสัญญานี้ เรียกกลับกันว่าสัญญาเวทนา เป็นเครื่องปรุงจิต คือปรุงจิตใจให้คิดไปต่างๆ ความคิดไปต่างๆนั้นอาศัยสัญญาเวทนา ถ้าหากว่าไม่มีสัญญาคือความจำได้หมายรู้ ไม่มีเวทนาคือรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ก็คิดอะไรไม่ได้ เพราะทุกๆคนนั้น จะไปคิดในเรื่องที่ตนเองจำไม่ได้ หรือว่าที่ลืมไปแล้วนั้น หาได้ไม่ จะคิดอะไรได้ ก็ต้องคิดได้ตามที่จำได้เท่านั้น อันที่จริงยกเอาสัญญาขึ้นมาอย่างเดียว อธิบายอย่างนี้ก็เข้าใจ แต่ท่านยกเอาเวทนาขึ้นมาคู่ด้วย ก็โดยที่สัญญานี้ตามวิถีจิตในขันธ์ ๕ ย่อมเกิดขึ้นอาศัยเวทนา คือต้องมีเวทนาที่เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข จึงจะมีสัญญาคือจำได้ ถ้าไม่มีเวทนาแล้วก็จำอะไรไม่ได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนอย่างคนที่ดับความรู้ทางกายประสาท เช่นว่าฉีดยาชาที่ร่างกาย เมื่อร่างกายส่วนนั้นชาไปแล้ว หมอก็ทำการผ่าตัด หรือทำอะไร ก็ไม่มีความรู้เจ็บ เมื่อไม่มีความรู้เจ็บ ก็แปลว่าสัญญาคือความจำในการที่หมอได้กระทำอะไรตรงร่างกายส่วนนั้นก็ไม่มี ถ้าหากว่าไม่ได้ฉีดยาชา เมื่อเอามีดไปปาดเข้าก็เจ็บ เมื่อเจ็บก็จำได้ในอาการที่เจ็บนั้น นี้ยกตัวอย่างเพียงการทำให้กายประสาทไม่รู้สึกเพียงข้อเดียว ถ้าหากว่าไม่มีความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ที่เป็นเวทนา ทางจักขุประสาท โสตะประสาท ฆานะประสาท ชิวหาประสาท หรือทั้งกายประสาทดังกล่าวนั้นด้วย ใครจะทำอะไรที่ร่างกายทุกส่วน ก็ย่อมไม่มีความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ก็ไม่มีสัญญาคือความจำในส่วนนั้นๆ หรือคนที่ถูกฉีดยาสลบหมดความรู้ไป ในขณะที่สลบนั้น ก็เป็นอันว่าจำอะไรในขณะนั้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นสัญญานี้จึงมาจากเวทนา ต้องมีเวทนาจึงจะเกิดสัญญา คือความจำได้หมายรู้ขึ้นมา เพราะฉะนั้น จิตที่คิดไปต่างๆ ที่ปรุงไปต่างๆ จึงปรุงไปตามสัญญาเวทนา ถ้าไม่มีสัญญาเวทนาแล้วก็จิตก็ปรุงไม่ถูก แม้จิตที่คิดปรุงไปต่างๆดังกล่าวนั้น ก็รวมวิตกวิจารดังกล่าวมาข้างต้นในข้อวจีสังขารเข้าด้วย เพราะวิตกวิจารคือความตรึกความตรอง ก็เป็นความคิดไปของจิตอย่างหนึ่ง ซึ่งก็อาศัยสัญญาเวทนาดังกล่าวนี้นั่นแหละ เพราะฉะนั้น สัญญาเวทนาจึงเป็นจิตตสังขารเครื่องปรุงจิต กายสังขารปรุงแต่งกาย มีลมหายใจเข้าลมหายใจออกเป็นเครื่องปรุงแต่งกาย วจีสังขารก็มีวิตกวิจารเป็นเครื่องปรุงแต่งวาจา จิตตสังขารก็มีสัญญาเวทนาเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต นี้แสดงอธิบายถึงเครื่องปรุงแต่งกาย ปรุงแต่งวาจา ปรุงแต่งจิต อาการของชีวิต แต่ว่ายังมีการปรุงแต่งของกายเอง ของวาจาเอง ของจิตเอง คือกายที่มีการปรุงแต่งอยู่ คือกายที่ยังประกอบกันเป็นกาย มีอาการปรุงแต่งของกาย ซึ่งเป็นไปเองต่างๆ เช่นว่า อาการ ๓๑,๓๒ เกสาผม โลมาขน นขาเล็บ ทันตาฟัน เป็นต้น ผมเองก็มียาวขึ้นไปได้ ขนเองก็มีการที่ตั้งอยู่ หรือที่หลุดก็งอกขึ้นมาใหม่ได้ เหล่านี้เป็นต้น เป็นความปรุงแต่งของกาย ตลอดจนถึงที่เป็นอวัยวะภายในต่างๆ เช่นตับปอด ก็ปฏิบัติหน้าที่ เช่นปอดก็ปฏิบัติหน้าที่ในการที่ทำการหายใจเข้าหายใจออกเป็นต้น ไปอยู่ตลอดเวลา เหล่านี้เป็นอาการปรุงแต่งของกายเอง ซึ่งเป็นไปอยู่ไม่มีหยุด วจีสังขาร วาจาเองที่พูดออกไป ก็พูดกันอยู่ทุกวัน ตามที่ควรพูด หรือแม้ว่าที่ไม่ควรพูด จิตที่คิดนึกไปก็คิดนึกกันไปต่างๆอยู่ตลอดเวลาไม่หยุด แปลว่าอาการปรุงแต่งของกาย ของวาจา ของจิตเอง ก็ปรุงแต่งอยู่ไม่หยุดเหมือนกัน นี่ก็เป็นสังขาร เพราะฉะนั้น ชีวิตนี้อันประกอบด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยจิต ดังที่กล่าวมา ยกเป็นตัวอย่างเพียง ๓ ข้อนี้ เป็นสังขารที่ปรุงแต่งอยู่ไม่หยุดตั้งแต่เกิดมา หยุดเมื่อไรก็คือตาย เมื่อยังไม่ตายก็ต้องเป็นสังขารคือปรุงแต่ง ปรุงแต่งตั้งแต่ถือกำเนิดเกิดก่อขึ้นในครรภ์ของมารดา คลอดออกมาก็ปรุงแต่งเรื่อยไปจนถึงตายในที่สุด เพราะฉะนั้น อาการที่เรียกว่าสังขารคือปรุงแต่งนี้เป็นอาการของชีวิต ซึ่งต้องมีการปรุงแต่งกันอยู่ดั่งนี้ตลอดเวลา ไม่หยุด หยุดปรุงแต่งเมื่อไรก็ตาย ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

สัมมาทิฏฐิ ๒๓ ความรู้จักอวิชชา

*
สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

อวิชชา ๘ ๓

ข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อชาติภพ ๕

สมาธิที่เป็นทุกขสมุทัย สมาธิที่เป็นทุกขนิโรธ ๗

อุปกิเลสของสมาธิ อุปกิเลสของปัญญา ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ม้วนที่ ๖๒/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๖๒/๒ - ๖๓/๑ ( File Tape 49 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

*
สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*  

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงพระเถราธิบายในข้อสัมมาทิฏฐิ ตามที่ภิกษุทั้งหลายได้กราบเรียนถาม มาทีละตอนทีละตอนโดยลำดับ จนถึงตอนที่ท่านพระสารีบุตรเถระได้ตอบว่า ยังมีปริยายคือทางแสดงอื่นต่อไปอีก คือ สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบได้แก่ รู้จักอวิชชา รู้จักเหตุเกิดอวิชชา รู้จักความดับอวิชชา รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอวิชชา และท่านได้แสดงอธิบายไปทีละข้อ ว่ารู้จักอวิชชา อวิชชาก็คือไม่หยั่งรู้ในทุกข์ ไม่หยั่งรู้ในเหตุเกิดทุกข์ ไม่หยั่งรู้ในความดับทุกข์ ไม่หยั่งรู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ไม่รู้จักเหตุเกิดอวิชชา ก็คือไม่รู้จักว่าเพราะอาสวะเกิด อวิชชาจึงเกิด ไม่รู้ความดับอวิชชา ก็คือไม่รู้จักว่าเพราะอาสวะดับ อวิชชาจึงดับ ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอวิชชา ก็คือไม่รู้จักมรรคมีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น จะได้อธิบายในข้อแรก ไม่รู้จักอวิชชา อวิชชานี้เป็นข้อที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ ว่าเป็นต้นเหตุสำคัญแห่งกิเลส และกองทุกข์ทั้งหลาย ในปฏิจจสมุปบาท คือธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ก็ตรัสแสดงอวิชชาไว้เป็นข้อต้น และบรรดากิเลสที่เป็นอย่างละเอียด อันบังเกิดนอนจมหมักหมมอยู่ในจิตสันดาน ดองจิตสันดาน ซึ่งเรียกว่าอาสวะหรืออนุสัย ก็มีอวิชชาเป็นข้อสำคัญ และได้มีพระพุทธาธิบายอวิชชา ดังที่ท่านพระสารีบุตรได้นำมาอธิบาย คือความไม่หยั่งรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ได้แสดงอวิชชา ๔ ไว้ดั่งนี้ เป็นพื้น อวิชชา ๘ และที่แสดงอวิชชา ๘ ก็มี คือเติมเข้าอีก ๔ ข้อ อันได้แก่ไม่รู้จักเงื่อนต้น ไม่รู้จักเงื่อนปลาย ไม่รู้จักทั้งเงื่อนต้นทั้งเงื่อนปลาย ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท คือธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น อีกปริยายคือทางแสดงอันหนึ่ง ก็ได้แก่ไม่รู้จักอดีต ไม่รู้จักอนาคต ไม่รู้จักทั้งอดีตทั้งอนาคต ไม่รู้จักปฏิจจสมุปบาท คือธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น จะได้แสดงคำว่าอวิชชา และอวิชชาในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้นก่อน อันเป็นข้อหลัก อวิชชาแปลตามศัพท์ว่าความไม่รู้ อันหมายความว่าไม่รู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ดังกล่าวนั้น แต่ว่าถ้ายกขึ้นมาเพียงคำเดียวว่าไม่รู้ ก็อาจมีปัญหาว่า สิ่งที่มีความไม่รู้ ก็จะเป็นดั่งก้อนหินก้อนดินท่อนไม้เป็นต้น ซึ่งไม่มีความรู้อยู่ในตัว แต่ว่าอันบุคคล แม้สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายย่อมมีความรู้อยู่ในตัว ดังคนเราก็มีความรู้อะไรๆอยู่ในตัว ฉะนั้น จะเรียกว่ามีอวิชชาได้อย่างไร จึงมีคำอธิบายให้ชัดขึ้นว่า อวิชชานั้นเป็นข้อที่มีอยู่เป็นสิ่งที่มีอยู่ แก่สัตว์โลกทั้งหลาย ซึ่งมีวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ หรือว่ามีจิตวิญญาณซึ่งเป็นธรรมชาติเป็นธาตุรู้ ดังมนุษย์เราคนเรา ก็มีความรู้อะไรๆอยู่ ตั้งต้นแต่มีความรู้เห็นรูป รู้ได้ยินเสียงเป็นต้น ตลอดจนถึงความรู้ในสิ่งต่างๆที่มีเป็นพื้นอยู่ และที่ศึกษาเล่าเรียนเพิ่มเติมขึ้นมาต่างๆ อันเรียกว่าวิชา หรือปัญญา ( เริ่ม ๖๒/๒ ) ฉะนั้น คนเราจึงจะชื่อว่ามีอวิชชาได้อย่างไร จึงมีคำตอบว่า ก็มีความรู้นั่นแหละ จึงมีอวิชชาขึ้นมาได้ ถ้าไม่มีความรู้ อย่างก้อนดินก้อนหินท่อนไม้ ก็ไม่มีอวิชชาขึ้นมาได้ ก็คือมีความรู้ แต่ว่าความรู้ที่มีอยู่นั้นเป็นความรู้ที่ไม่จริง เป็นความรู้ที่ผิดจากความจริง ฉะนั้น ความรู้ที่ไม่จริง ความรู้ที่ผิดจากความจริง นี้แหละคืออวิชชา ในทางตรงกันข้าม เมื่อเป็นความรู้ที่จริง ไม่ผิดจากความจริง ก็เป็นวิชชา และอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะ คือความจริง ของจริง ของแท้ หรือกล่าวอีกนัยยะหนึ่งว่าเป็นความรู้ที่ผิด จากสัจจะคือของจริงของแท้ นี้คืออวิชชา พระพุทธเจ้าผู้รู้ผู้เห็น ได้ทรงอธิบายอวิชชานี้ได้ ว่าได้แก่ความที่ไม่มีญาณคือความหยั่งรู้ในทุกข์เป็นต้นดังกล่าว แต่หากว่า ถ้ามิได้พระพุทธเจ้าผู้รู้ผู้เห็นมาทรงแสดงสั่งสอน ทุกๆคนก็ย่อมจะไม่สามารถจะรู้จักอวิชชาที่มีอยู่ในตนเองได้ ย่อมจะเข้าใจว่า ตนมีวิชชาคือความรู้ ที่เป็นความรู้จริง เป็นความรู้ถูก ดังศาสดาทั้งหลาย แห่งศาสนาทั้งหลาย แห่งลัทธิทั้งหลาย ซึ่งได้เกิดขึ้นก่อนพระพุทธเจ้า หรือภายหลังพระพุทธเจ้า มิได้เป็นผู้รู้ผู้เห็นเหมือนพระพุทธเจ้า คือมิได้ตรัสรู้เหมือนพระพุทธเจ้า ก็ย่อมเข้าใจว่า แต่ละท่านมีวิชชาคือความรู้ถึงที่สุด เป็นผู้ที่ปราศจากอวิชชาคือความไม่รู้ เป็นผู้รู้ เป็นผู้เห็นแล้ว ข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อชาติภพ แต่อันที่จริงนั้น เมื่อยังมีชาติมีภพ ก็ชื่อว่ายังมีทุกข์ ยังมีกิเลส ยังไม่สิ้นทุกข์ยังไม่สิ้นกิเลส ดังที่มีความต้องการเกิดอีก แม้ในชาติภพที่เข้าใจว่ายั่งยืน และเมื่อไปเกิดในชาติภพนั้นแล้วก็ยั่งยืน มีผู้ที่เกิดอยู่ยั่งยืน และเต็มไปด้วยความสุขต่างๆ ดังฤษีทั้งหลายดาบสทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติแม้ใกล้พุทธศาสนาเข้ามามาก ดังเช่นท่านอาฬารดาบสกาลามโคตร อุทกดาบสรามบุตร ปฏิบัตินับว่าสมบูรณ์อยู่มาก ในศีลในสมาธิ คือได้ถึงสมาบัติ ๗ สมาบัติ ๘ หรือว่า รูปฌาน อรูปฌาน แต่ว่าก็ติดอยู่แค่นั้น เพราะว่าต้องการที่จะไปเกิดในพรหมโลกเป็นพรหม ซึ่งเข้าใจว่าดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไปในพรหมโลกนั้น แต่พระพุทธเจ้าเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์เสด็จออกทรงผนวช ได้เสด็จเข้าไปทรงศึกษาในสำนักของท่านดาบสทั้งสองนั้น ก็ทรงเห็นว่ายังเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อชาติภพ เพราะฉะนั้น จึงยังมีกิเลสคือความต้องการจะไปเกิดอีก อันเป็นตัณหา และเมื่อไปเกิดอีก ความเกิดนั้นก็ยังเป็นทุกข์ เพราะเมื่อมีเกิดก็จะต้องมีแก่มีตาย เมื่อไปเกิดเป็นเทพก็จะต้องมีจุติ คือเคลื่อนออกจากความเป็นเทพในที่สุด จึงยังไม่พ้นทุกข์ ไม่พ้นความเวียนว่ายตายเกิด อันเรียกว่าวัฏฏสงสาร เพราะฉะนั้น ก็เป็นอันว่าท่านศาสดาและลูกศิษย์ทั้งปวงนั้นก็ยังมีอวิชชาคือความไม่รู้ คือยังมีความรู้ที่ผิดจากสัจจะที่เป็นตัวความจริง ยังเห็นในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าสิ้นทุกข์ ยังเห็นในสิ่งที่เป็นเหตุเกิดทุกข์ ว่าเป็นเหตุเกิดสุข เพราะฉะนั้น ความรู้ของบรรดาศาสดาและศิษย์ทั้งปวงนั้น จึงเป็นความรู้ที่ยังไม่ถึงที่สุด และเมื่อสำคัญว่าถึงที่สุด ก็เป็นความสำคัญผิด เป็นความเห็นผิด ความรู้ก็เป็นความรู้ที่ผิดจากสัจจะที่เป็นตัวความจริงดังกล่าว ยังเป็นความรู้ที่เป็นอวิชชาอยู่ เพราะฉะนั้น จึงได้เสด็จหลีกออกไปทรงแสวงหาโมกขธรรม ธรรมะที่เป็นเครื่องหลุดพ้นด้วยพระองค์เอง และแม้พระองค์เอง ก็ทรงรู้พระองค์เอง ว่าความรู้ของพระองค์เองที่ยังมีอยู่ในขณะที่ทรงแสวงหานั้น ก็ยังเป็นความรู้ที่ยังเป็นอวิชชาอยู่อีกเหมือนกัน เพราะยังไม่พบสัจจะที่เป็นตัวความจริง อันเป็นโมกขธรรม ธรรมะที่เป็นเครื่องหลุดพ้น จากกิเลสและกองทุกข์ได้จริง ยังไม่ทรงรู้ในขณะนั้นว่าสัจจะที่เป็นความจริงนั้นคืออะไร ฉะนั้นแม้ความรู้ของพระองค์เองในขณะนั้น ก็ยังเป็นความรู้ที่ยังเป็นอวิชชา ทรงปรารถนาจะได้ความรู้ที่เป็นวิชชา คือความรู้ที่ตรงกับสัจจะคือความจริง ในเบื้องต้นก็ทรงมุ่งอาศัยท่านคณาจารย์ที่มีอยู่ในขณะนั้น ดังเช่นท่านดาบสทั้งสอง แต่เมื่อทรงเห็นว่า แม้ความรู้สูงสุดของท่านอาจารย์ทั้งสองนั้นก็ยังเป็นอวิชชาอยู่ คือยังไม่เป็นความรู้ที่เข้าถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริง จึงได้เสด็จหลีกออกไปทรงแสวงหาด้วยพระองค์เอง เพราะอาศัยผู้อื่นไม่ได้แล้ว จึงได้ทรงจับบำเพ็ญทุกกรกิริยา ก็ไม่ได้ความรู้อะไรขึ้นมา จึงได้ทรงเลิก แล้วก็ทรงจับปฏิบัติทางสมาธิ ด้วยทรงนึกถึงสมาธิอย่างแน่วแน่ ที่ทรงได้เมื่อเป็นพระกุมารตามเสด็จพระราชบิดาไปในพระราชพิธีแรกนาขวัญ ทรงได้สมาธิถึงขั้นปฐมฌาน โดยที่จิตของพระองค์ได้รวมเข้ามา กำหนดลมหายใจเข้าออก สงบจากนิวรณ์ทั้งหลาย ที่ท่านแสดงว่าถึงปฐมฌาน และหลังจากนั้นสมาธินี้ก็เสื่อมไป เป็นสมาธิที่บริสุทธิ์ ไม่ได้ทรงได้สมาธินี้ด้วยมุ่งที่จะไปเกิดเป็นพรหม หรือเป็นอะไร หรือเพื่อชาติภพอะไร จิตรวมเข้ามากำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก ก็สงบอยู่ภายใน สงบจากกาม สงบจากอกุศลธรรม สงบจากนิวรณ์ทั้งหลาย จึงได้จับปฏิบัติทางสมาธิอันบริสุทธิ์นี้ จนทรงได้อัปปนาสมาธิ สมาธิที่บริสุทธิ์ ก็เป็นสมาธินับเข้าในสมาบัติ หรือในฌาน ที่ท่านดาบสทั้งสองท่านได้ แล้วก็ได้สอน นั่นแหละ แต่ว่าความมุ่งหมายต่างกัน และของท่านดาบสทั้งสองนั้น ท่านสิ้นสุดเพียงเท่านั้น เพราะเพียงพอที่จะไปเกิดเป็นพรหมแล้ว ก็สิ้นสุดเพียงเท่านั้น ก็กลายเป็นสมาธิที่เป็นตัวทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ เพราะเป็นเหตุให้เกิดชาติต่อไปอีก อันนี้เป็นเงื่อนสำคัญ คือสมาธิที่ปฏิบัติไม่ถูกทาง แม้จะได้สมาธิจนถึงฌานถึงสมาบัติ ก็เป็นสมาธิเป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่ใช่เป็นสมาธิที่เป็นทุกขนิโรธความดับทุกข์ ไม่เป็นสมาธิที่นับเข้าในมรรคมีองค์ ๘ ของพระพุทธเจ้า คือสัมมาสมาธิที่เป็นข้อที่ ๘ สมาธิที่เป็นทุกขสมุทัย สมาธิที่เป็นทุกขนิโรธ ฉะนั้น สมาธิ เมื่อสรุปเข้าแล้วจึงมี ๒ อย่าง สมาธิที่เป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ อย่างหนึ่ง สมาธิที่เป็นทุกขนิโรธ คือเป็นเหตุให้ดับทุกข์ เป็นความดับทุกข์อีกอย่างหนึ่ง ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิแม้ในพุทธศาสนาเอง ตามวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้เอง บางทีก็ได้สมาธิดีถึงอัปปนาสมาธิ แต่หากว่าถ้าเป็นไปไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์เพื่อความสิ้นทุกข์ ก็กลายเป็นสมาธิที่เป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ไป ซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อย ส่วนสมาธิที่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์เพื่อความสิ้นทุกข์ในพุทธศาสนานั้น ต้องเป็นสมาธิที่เป็นไปเพื่อทุกขนิโรธความดับทุกข์ พระโพธิสัตว์จับปฏิบัติสมาธิเป็นไปเพื่อทุกขนิโรธคือความดับทุกข์ คือไม่ต้องการชาติภพอีกต่อไป ไม่ต้องการมนุษย์สมบัติ ไม่ต้องการสวรรค์สมบัติ หรือไม่ต้องการความเป็นเทพความเป็นพรหมอะไรทั้งสิ้น แต่ว่าต้องการนิพพาน ซึ่งยังเป็นความต้องการอยู่ เพราะฉะนั้นแม้จะยังมีตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก เพราะยังละตัณหาไม่ได้ ยังมีตัณหาอยู่ แต่ก็ใช้ตัณหานั้นไปเพื่อนิพพาน คือต้องการนิพพานเพียงอย่างเดียว ดังที่ได้มีแสดงว่าอาศัยตัณหาละตัณหา ก็คืออาศัยตัณหาที่มีอยู่นี้ เป็นตัณหาเพื่อนิพพาน ต้องการนิพพาน ก็เพื่อละตัณหานั้นเอง จึงเป็นสมาธิวิธีปฏิบัติเพื่อทุกขนิโรธคือความดับทุกข์ เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติพุทธศาสนาที่พอใจกรรมฐาน ก็ต้องรู้จักว่ามี ๒ อย่าง คือปฏิบัติไปๆ แล้วก็เป็นไปเพื่อทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ หรือว่าปฏิบัติไปๆ ก็เป็นไปเพื่อทุกขนิโรธความดับทุกข์ ฉะนั้น ต้องให้รู้จักดั่งนี้ อุปกิเลสของสมาธิ อุปกิเลสของปัญญา และที่เป็นไปเพื่อทุกขนิโรธ และที่เป็นไปเพื่อทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์นั้น ก็เพราะไปยึดถือในอุปกิเลสของสมาธิ ในเมื่อปฏิบัติทางสมาธิ ไปยึดถือในอุปกิเลสของปัญญาในเมื่อปฏิบัติทางวิปัสสนาอันเรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส ไปติดเสียในวิปัสสนูปกิเลส นั่นก็เลยกลายเป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ไป เพราะว่าผลของสมาธิของวิปัสสนานั้น ที่ได้โดยลำดับ เป็นผลที่ชวนให้ติด เป็นอุปกิเลสขึ้นมาเป็นอันมาก เมื่อไปติดเข้าแล้ว สมาธิปัญญาที่ปฏิบัติไปนั้น ก็กลายเป็นทุกขสมุทัยไป ต่อเมื่อละผลของสมาธิของปัญญา ที่น่าติด น่าชม น่าเสวย นั้นได้ ก็เป็นอันว่า ไม่สร้างอุปกิเลสของสมาธิของปัญญาขึ้นมา จึงจะปฏิบัติสมาธิปัญญาของตนให้เป็นทุกขนิโรธคือความดับทุกข์ขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น พระโพธิสัตว์จึงได้จับปฏิบัติในศีลในสมาธิ อันเป็นไปเพื่อทุกขนิโรธ ได้อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แน่วแน่ ก็ถึงขั้นฌานขั้นสมาบัติ นั่นแหละญาณคือความหยั่งรู้ คือผุดขึ้นแก่พระองค์ ดังที่ตรัสแสดงไว้ในปฐมเทศนา ว่าทรงพบทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติอันเป็นหนทางกลาง มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น ก็คือมรรคมีองค์ ๘ นั่นแหละ ทรงปฏิบัติไปในมรรคมีองค์ ๘ นี้ อันเป็นไปเพื่อดับกิเลสและกองทุกข์ เป็นไปเพื่อญาณคือความหยั่งรู้ จึงทรงได้ญาณคือความหยั่งรู้ขึ้น ก็คือว่าญาณคือความหยั่งรู้ที่แสดงไว้ว่า จักขุคือดวงตาผุดขึ้น ญาณคือความหยั่งรู้ผุดขึ้น ปัญญาคือความรู้ทั่วถึงผุดขึ้น วิชชาคือความรู้ผุดขึ้น อาโลกคือความสว่างผุดขึ้น ในธรรมะที่พระองค์มิได้เคยทรงสดับมาก่อน ว่านี้ทุกข์ ทุกข์ควรกำหนดรู้ ทุกข์พระองค์ทรงกำหนดรู้ได้แล้ว นี้สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ สมุทัยนี้ควรละ สมุทัยนี้ทรงละได้แล้ว นี้นิโรธคือความดับทุกข์ ความดับทุกข์ควรกระทำให้แจ้ง ความดับทุกข์นี้พระองค์กระทำให้แจ้งได้แล้ว นี้มรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นี้ควรอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ทางดับทุกข์นี้พระองค์ได้ทรงอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นสมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว ดั่งนี้ ญาณคือความหยั่งรู้ผุดขึ้นแก่พระองค์ดั่งนี้ ในธรรมะที่ไม่ได้ทรงสดับแล้วมาก่อน จึงได้ทรงพอพระทัยว่ารู้ละรู้แล้ว ได้ตรัสรู้อภิสัมโพธิคือความตรัสรู้ยิ่งแล้ว ทรงเป็นผู้ที่ตรัสรู้ยิ่ง ที่เรียกว่าตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณแล้ว อวิชชาคือความไม่รู้จึงดับไป วิชชาความรู้ผุดขึ้น หรือจะเรียกว่าวิชชาคือความรู้ผุดขึ้น อวิชชาดับไป เหมือนแสงสว่างบังเกิดขึ้น ความมืดก็หายไป เพราะฉะนั้น จึงทรงเป็นพุทโธคือเป็นผู้รู้แล้ว เป็นวิมุติโตคือเป็นผู้พ้นแล้ว พระพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว ก็ทรงอยู่ด้วยวิชชาคือความรู้ และวิมุติคือความหลุดพ้น แต่ว่าผู้ที่ยังมิได้ตรัสรู้เหมือนอย่างพระพุทธเจ้า หรือแม้พระองค์เองเมื่อยังมิได้ตรัสรู้ ก็ยังมีอวิชชา คือมีความรู้ที่เป็นอวิชชา ไม่รู้จริงในสัจจะทั้ง ๔ ( เริ่ม ๖๓/๑ ) เพราะฉะนั้น อวิชชา จึงได้แก่ความไม่หยั่งรู้ในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats