ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป051

สัมมาทิฏฐิ ๒๖ ความรู้จักอวิชชา (ต่อ)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

* 

อวิชชา ๘ ๓

เงื่อนต้น เงื่อนปลาย ปฏิจจสมุปบาท ๔

อริยสัจจ์ ๔ โดยพิสดาร ๕

ไตรลักษณ์ กาลเวลา ๖

กาลิโก อกาลิโก ๘

ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม ๙

 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๖๔/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๖๔/๒ - ๖๕/๑ ( File Tape 51 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมมาทิฏฐิ ๒๖ ความรู้จักอวิชชา (ต่อ)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร 

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงพระเถราธิบายในข้อสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ

ในหมวดว่า รู้จักอวิชชา รู้จักเหตุเกิดอวิชชา

รู้จักความดับอวิชชา รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอวิชชา

และได้มีพระเถราธิบายในข้ออวิชชาว่าได้แก่ ไม่หยั่งรู้ในทุกข์ ไม่หยั่งรู้ในเหตุเกิดทุกข์

ไม่หยั่งรู้ในความดับทุกข์ ไม่หยั่งรู้ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ได้แสดงอธิบายเพิ่มเติมในที่นี้อีก ๔ ข้อ ๒ นัยยะ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในพระสูตรอื่น

คือ ไม่หยั่งรู้ในอดีต ไม่หยั่งรู้ในอนาคต ไม่หยั่งรู้ทั้งในอดีต ทั้งในอนาคต

ไม่หยั่งรู้ในธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น

อีกนัยยะหนึ่ง หรืออีกปริยายหนึ่งว่า ไม่หยั่งรู้ในเงื่อนต้น ไม่หยั่งรู้ในเงื่อนปลาย

ไม่หยั่งรู้ทั้งในเงื่อนต้นทั้งในเงื่อนปลาย ไม่หยั่งรู้ในธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น

รวมเข้าจึงเป็นอวิชชา ๘

 

อวิชชา ๘

แต่อวิชชา ๘ นี้ ก็มีข้ออริยสัจจ์ทั้ง ๔ เป็นหลัก

และอีก ๔ ข้อนั้น นัยยะหนึ่งก็ยกเอา อดีต อนาคต ขึ้นแสดง

อีกนัยยะหนึ่งก็ยกเอา เงื่อนต้น เงื่อนปลาย ขึ้นแสดง

แต่เมื่อยกเอาอดีตอนาคตขึ้นแสดง ก็ไม่ยกเอาเงื่อนต้นเงื่อนปลายขึ้นแสดง

( เริ่ม ๖๔/๒ ) หรือว่าเมื่อยกเอาเงื่อนต้นเงื่อนปลายขึ้นแสดง

ก็ไม่ยกเอาอดีตหรืออนาคตขึ้นแสดง จึงรวมเป็น ๘

และโดยที่ข้ออวิชชานี้เป็นข้อสำคัญในพุทธศาสนา

ในปฏิจจสมุปบาทคือธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าเมื่อทรงสาวขึ้นไปก็ถึงอวิชชา

เพราะฉะนั้น อวิชชาจึงเป็นอันว่าเป็นปัจจัยแรกที่สำคัญ

แห่งปัจจัยที่เกิดสืบต่อกันไปโดยลำดับ จนถึงชาติชรามรณะโสกะปริเทวะเป็นต้น

และเราทั้งหลายได้รู้เรื่องอวิชชา ก็โดยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสจำแนกแจกแจงแสดงสั่งสอนไว้

ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถรู้เรื่องอวิชชาได้ ทั้งที่อวิชชานี้ ก็มิได้มีอยู่ที่ไหน

มีอยู่ในจิตใจของทุกๆคนนี้เอง ทุกๆคนจะรู้จักหรือไม่รู้จักอวิชชา

ซึ่งนับว่าเป็นตัวต้นเดิมของกิเลสทั้งหลาย อวิชชาก็คงมีอยู่

และเพราะมีอวิชชาอยู่นี้เอง จึงทำให้จิตนี้ซึ่งเป็นธรรมชาติปภัสสรคือผุดผ่อง

ต้องเศร้าหมองไปเพราะอุปกิเลส คือกิเลสเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรเข้ามา

เพราะฉะนั้น จึงควรพิจารณาใคร่ครวญคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

ในเรื่องอวิชชานี้ให้มีความเข้าใจ แม้ว่าจะยังไม่สามารถรู้เจาะแทงไปถึงตัวอวิชชา

ซึ่งมีอยู่ในจิตใจของตนเองได้ ก็ยังเป็นการเริ่มต้นแห่งความรู้ในเรื่องอวิชชานี้

จึงจะได้แสดงอธิบายประมวลกันเข้าอีกครั้งหนึ่ง

อวิชชาคือไม่หยั่งรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์

ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นี้เป็นหลัก

 

เงื่อนต้น เงื่อนปลาย 

และเพื่อที่จะได้แสดงขยายความถึงอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้

สำหรับที่จะได้เป็นทางพิจารณา เพื่อทำความรู้ความเข้าใจ จึงได้มีแสดงต่อไป อีก ๒ นัยยะ

ยกเอาอดีตอนาคตขึ้นแสดง หรือว่ายกเอาเงื่อนต้นเงื่อนปลายขึ้นแสดง ดังที่กล่าวมาแล้ว

อธิบายโดยปริยายคือทางอันหนึ่ง ไม่หยั่งรู้หรือไม่รู้จักอดีต ก็คือไม่รู้จักสาวหลัง

ได้แก่เมื่อประสบผลอยู่ในปัจจุบัน ก็ไม่รู้จักที่จะสาวไปข้างหลังในอดีต ว่าเกิดมาจากเหตุอะไร

ดั่งนี้ ก็เรียกว่าไม่รู้จักอดีต ผลที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันจึงเท่ากับเป็นเงื่อนปลาย

ส่วนเหตุในอดีตก็เท่ากับเป็นเงื่อนต้น ที่ตรัสแสดงไว้ในนัยยะที่ ๒

อีกอย่างหนึ่งเมื่อเริ่มกระทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน อันนับว่าเป็นส่วนเหตุ

ก็ไม่รู้จักที่จะคาดหน้าไปในอนาคต ว่าจะให้เกิดผลต่อไปอย่างไร

การที่จับกระทำอะไรอยู่ในปัจจุบันที่เป็นกรรมต่างๆ เป็น กายกรรม กรรมทางกาย

วจีกรรม กรรมทางวาจา มโนกรรม กรรมทางใจ อันเป็นส่วนเหตุ

ก็เท่ากับว่าเป็นเงื่อนต้น ส่วนผลที่จะบังเกิดขึ้นต่อไปก็เท่ากับว่าเป็นเงื่อนปลาย

ไม่รู้จักคาดหน้า คือไม่รู้จักหยั่งถึงผลที่จะบังเกิดขึ้นข้างหน้า

ดั่งนี้ จึงเรียกว่าไม่รู้จักอนาคต ก็เท่ากับว่าไม่รู้จักเงื่อนปลาย ที่แสดงไว้ในนัยยะที่ ๒

และความที่ไม่รู้จักที่จะโยงอดีตและอนาคตเข้าถึงกัน คือไม่หยั่งรู้ถึงเหตุและผล

หรือว่าผลและเหตุที่โยงกันอยู่ ก็เรียกว่าไม่รู้จักทั้งในอดีต ทั้งอนาคต

หรือว่าไม่รู้จักทั้งเงื่อนต้นทั้งเงื่อนปลาย ดังกล่าวไว้ในนัยยะที่ ๒

 

ปฏิจจสมุปบาท

ส่วนที่ไม่รู้จักธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น

อันเรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น

ก็ได้แก่ไม่รู้จักดังที่ท่านพระสารีบุตรได้แสดงเถราธิบายมาโดยลำดับ

ดั่งที่ยกมาแสดงไว้ทีละหมวด จับตั้งแต่ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ

คือความโศกความรัญจวนคร่ำครวญใจเป็นต้น ว่ามีเพราะอะไร

ก็มีเพราะชาติคือความเกิด ชาติคือความเกิดมีเพราะอะไร ก็เพราะภพคือความเป็น

ภพมีเพราะอะไร ก็เพราะอุปาทานคือความยึดถือ

อุปาทานมีเพราะอะไร ก็เพราะตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก

ตัณหามีเพราะอะไร ก็เพราะเวทนา เวทนามีเพราะอะไร ก็เพราะผัสสะความกระทบ

ผัสสะมีเพราะอะไร ก็เพราะอายตนะทั้ง ๖ อายตนะทั้ง ๖ มีเพราะอะไร ก็เพราะนามรูป

นามรูปมีเพราะอะไร ก็เพราะวิญญาณ วิญญาณมีเพราะอะไร ก็เพราะสังขาร

สังขารมีเพราะอะไร ก็เพราะอวิชชา

เพราะฉะนั้น เมื่อมาถึงอวิชชา

อวิชชาจึงเท่ากับเป็นเงื่อนต้น สังขารเท่ากับเป็นเงื่อนปลาย

และสังขารนั้นเองก็เท่ากับเป็นเงื่อนต้น วิญญาณเท่ากับเป็นเงื่อนปลาย

ก็ทะยอยกันไปดั่งนี้ จนถึงชรามรณะโสกะปริเทวะเป็นต้น

และก็อาจกล่าวได้ว่า อวิชชานั้นก็เป็นปัจจุบันก่อน

และเมื่ออวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร อวิชชาก็เท่ากับเป็นอดีต สังขารก็เป็นปัจจุบัน

เมื่อสังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ สังขารก็เท่ากับเป็นอดีต วิญญาณก็เป็นปัจจุบัน

ก็โยงกันไปดั่งนี้ ซึ่งความรู้จักปฏิจจสมุปบาทคือธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นนี้

ก็กล่าวได้ว่าเป็นอริยสัจจ์อย่างละเอียด แต่ละข้อๆนั้นเท่ากับเป็นลูกโซ่อันหนึ่งๆที่โยงกันไป

อวิชชาก็เท่ากับเป็นลูกโซ่อันหนึ่ง สังขารก็เท่ากับเป็นลูกโซ่อันหนึ่งเป็นต้น โยงกันไปอาศัยกันไป

 

อริยสัจจ์ ๔ โดยพิสดาร

และท่านพระสารีบุตรได้มาจับอธิบายลูกโซ่แต่ละลูกโซ่นี้ แจกออกไปเป็นสี่ๆ

คือลูกโซ่อันหนึ่งๆ ก็เท่ากับเป็นอริยสัจจ์ ๔ ไปทุกลูกโซ่

ดั่งในลูกโซ่อวิชชานี้ ท่านแจกไปเป็น ๔ ดังที่กล่าวมาข้างต้น

คือไม่รู้จักอวิชชา ไม่รู้จักเหตุเกิดอวิชชา ไม่รู้จักความดับอวิชชา

ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอวิชชา

ลูกโซ่อื่นๆถัดไป ท่านก็แจกเป็นสี่ๆ คือเป็นอริยสัจจ์ ๔ ไปทุกลูกโซ่

ซึ่งเป็นการแสดงอธิบายอย่างละเอียดพิสดาร

และในปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอนไว้จบลงแค่อวิชชา

แต่ของท่านยังไม่จบ ยังมีต่อไปอีกลูกโซ่หนึ่ง

คือว่าในข้อเหตุเกิดอวิชชา ที่ท่านชี้เอาว่าได้แก่อาสวะทั้งหลาย

แต่เมื่อถึงอาสวะทั้งหลาย ท่านก็แจกออกไปอีกเป็น ๔ เหมือนกัน

แต่ว่าเหตุเกิดอาสวะนั้นคืออะไร ท่านก็ชี้เอาอวิชชา ก็วนกลับมาอีก

ก็เป็นอันว่าในพระเถราธิบายนี้ มีเพิ่มปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้

ไปอีกเงื่อนหนึ่ง คืออาสวะ ซึ่งจะยังไม่แสดงอธิบายในวันนี้

ก็เพียงแต่กล่าวย่อคำว่าปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นไว้เสียก่อนคราวหนึ่ง

เพราะฉะนั้น อวิชชา ๘ นี้ จึงมีอริยสัจจ์ ๔ เป็นหลัก

และอีก ๔ ข้อข้างหลังก็มี ๒ นัยยะดังที่กล่าวมาแล้ว

แต่ก็มีความอธิบายที่สัมพันธ์กัน อีก ๔ ข้อ ๒ นัยยะข้างหลังนั้น

ก็เป็นการอธิบายอริยสัจจ์ ๔ นั้นเอง อันเกี่ยวด้วยกาลเวลา เกี่ยวด้วยเงื่อน

การจับทำความเข้าใจในอริยสัจจ์ ๔ อาศัยกาลเวลา อาศัยเงื่อน

คือพิจารณาอาศัยกาลเวลาอาศัยเงื่อน ย่อมจะทำให้มีความเข้าใจในอริยสัจจ์ ๔ นี้

ได้มากขึ้น หรือได้ง่ายขึ้น

 

ไตรลักษณ์ กาลเวลา

ข้อที่ควรอธิบายเพิ่มเติมก็คือ กาลเวลานั้นย่อมควบคู่กันไปกับไตรลักษณ์

คืออนิจจตาความไม่เที่ยง หรืออนิจจลักขณะเครื่องกำหนดหมายว่าไม่เที่ยง

ทุกขตาความเป็นทุกข์ หรือทุกขลักษณะเครื่องกำหนดหมายว่าเป็นทุกข์

อนัตตาความเป็นอนัตตา หรืออนัตลักขณะเครื่องกำหนดหมายว่าเป็นอนัตตา

ความเป็นไตรลักษณ์ย่อมมี ก็เพราะมีกาลเวลา คือมีอดีตมีอนาคตมีปัจจุบัน

สังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลาย เป็นสังขารขึ้นก็เพราะอาศัยกาลเวลา

จึงได้เป็นสังขารขึ้นมา คือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง และเมื่อเป็นสังขารขึ้นมาก็ต้องเป็นไตรลักษณ์

คือสังขารนี้เองแสดงตัวออก ว่าอนิจจะไม่เที่ยง ต้องเกิดดับ

ทุกขะเป็นทุกข์ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง

เป็นอนัตตาบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ มิใช่ตัวเราของเราอย่างแท้จริง

เพราะว่ากาลเวลานั้นล่วงไปๆอยู่เสมอ

ปัจจุบันนั้น เป็นปัจจุบันขึ้นมาแล้วก็เป็นอดีตคือล่วงไป

ส่วนที่ยังไม่มาถึงเป็นอนาคต อนาคตก็มาเป็นปัจจุบัน เป็นปัจจุบันแล้วก็เป็นอดีต

เพราะฉะนั้น มีปัจุบันก็เพราะมีอนาคต และเพราะมีปัจจุบันจึงมีอดีต

กาลเวลาจึงเลื่อนไปๆอยู่ทุกขณะไม่มีหยุด

สังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหลายซึ่งมีชาติเป็นเบื้องต้น จึงต้องมีชรา ต้องมีมรณะ

ถ้าหากว่ากาลเวลานี้หยุดได้ไม่เลื่อนไปๆ ความไม่เที่ยงของสังขารก็ต้องหยุดได้

เช่นเมื่อเกิดเป็นเด็กออกมา กาลเวลาหยุดอยู่เพียงนั้น ก็คงเป็นเด็กอยู่นั่นแหละ

หรือว่าเมื่อเติบโตขึ้นมาเป็นหนุ่มเป็นสาว กาลเวลาหยุดอยู่แค่นั้น

ก็คงเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่นั่นแหละ

เมื่อเป็นคนแก่ กาลเวลาหยุดอยู่แค่นั้น ก็เป็นคนแก่อยู่นั่นแหละ

แต่นี่กาลเวลาไม่หยุด กาลเวลาที่มาถึงจำเพาะหน้าเป็นปัจจุบัน

ที่ยังไม่มาถึงเป็นอนาคต ที่ล่วงไปก็เป็นอดีต

ปัจจุบันนั้นมาจากอนาคต อดีตก็มาจากปัจจุบัน ทั้งอดีตทั้งอนาคตทั้งปัจจุบันไม่มีหยุด

เพราะฉะนั้น ความไม่เที่ยงของสังขารทั้งหลาย

ความเป็นทุกข์เป็นอนัตตาของสังขารทั้งหลายจึงไม่มีหยุด

คนเราจึงต้องมีอายุ ๑ ขวบ ๒ ขวบ ๓ ขวบ ๔ ขวบ เป็นต้น

สมมติว่าถ้ากาลเวลาหยุดอยู่แค่เมื่ออายุ ๔ ขวบ ก็คง ๔ ขวบอยู่นั่นแหละ

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ อายุก็ต้องล่วงไปๆ จนในที่สุดก็ถึงเวลาที่แตกสลาย

ชาติชรามรณะอันเป็นความไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาของสังขารทั้งหลายนี้

จึงเป็นไปตามกาลเวลา กาลเวลานี้เองก็เป็นตัวไม่เที่ยง เป็นตัวทุกข์ เป็นตัวอนัตตาด้วย

 

กาลิโก อกาลิโก

เพราะฉะนั้นจึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า

กาลเวลาย่อมกินสรรพสัตว์ทั้งหลายพร้อมทั้งตัวเอง

คือกาลเวลานี้กินผู้ที่เกิดมาคือสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย และกินตัวเองด้วย

สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงซึ่งเกิดมาก็ต้องตกอยู่ในไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

กาลเวลาเองก็เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กินสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย กินตัวเองด้วย ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น ทุกๆสิ่งที่ยังขึ้นอยู่แก่กาลเวลา คือเป็นกาลิโกประกอบด้วยกาลเวลา

ย่อมตกอยู่ในทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ทั้งนั้น เป็นสังขารทั้งนั้น

( เริ่ม ๖๕/๑ ) ส่วนธรรมชาติที่พ้นจากกาลเวลาจึงจะเป็นวิสังขาร

คือไม่ใช่สิ่งผสมปรุงแต่ง อันได้แก่นิพพาน อันเป็นอมตะธาตุ ธาตุที่ไม่ตาย

ทุกๆสิ่งที่ขึ้นอยู่แก่กาลเวลานั้นต้องเกิดแก่ตายทั้งนั้น จะเป็นเทพก็ตาม เป็นมนุษย์ก็ตาม

เป็นพรหมก็ตาม ขึ้นอยู่แก่กาลเวลาต้องเกิดแก่ตายทั้งนั้น

แต่ธรรมชาติที่อยู่เหนือกาลเวลาเป็นอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เป็นวิสังขาร

คือนิพพานเป็นอมตะธาตุ ธาตุที่ไม่ตาย ก็คือเป็นธรรมชาติที่พ้นจากกาลเวลาเป็นอกาลิโก

ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ตั้งต้นแต่ธรรมะที่เป็นสัจจะ

คือความจริงที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ซึ่งตรัสเรียกว่าเป็นธรรมฐิติความตั้งอยู่แห่งธรรม

ธรรมนิยามความกำหนดแน่แห่งธรรม

คือเป็นธรรมชาติธรรมดา ซึ่งเรียกอีกคำหนึ่งว่า ธาตุ ซึ่งแปลว่าทรงอยู่ดำรงอยู่

มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า ธรรม ที่แปลว่าทรงอยู่ดำรงอยู่

 

ธรรมฐิติ ธรรมนิยาม

ดังที่มีตรัสเอาไว้ในธรรมนิยามสูตร

ว่าพระตถาคตพุทธเจ้าจะทรงอุบัติขึ้นหรือไม่ทรงอุบัติขึ้นก็ตาม

ธาตุนั้น ซึ่งเป็นธรรมฐิติความตั้งอยู่แห่งธรรม ธรรมนิยามความกำหนดแน่แห่งธรรม

ก็ตั้งอยู่ดำรงอยู่แล้ว อันได้แก่ข้อที่สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ข้อที่สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง

ข้อที่สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ข้อที่สังขารทั้งปวงเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน

ข้อที่มีสังขารทั้งปวงเป็นอนัตตาไม่ใช่อัตตาตัวตน

ซึ่งตรัสรวมเรียกว่าข้อที่ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน

พระตถาคตพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธาตุนั้น คือธรรมฐิติธรรมนิยามนั้นแล้ว

จึงได้ตรัสจำแนกแจกแจงแสดงเปิดเผยกระทำให้ตื้น เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจ

ว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

คือทั้งสังขารธรรม ทั้งวิสังขารธรรม เป็นอนัตตา ดั่งนี้

ข้อที่เป็นสัจจะคือความจริง ซึ่งเป็นธรรมชาติธรรมดาดังกล่าวนี้ ไม่ขึ้นอยู่แก่กาลเวลา

เป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เมื่อไรๆก็คงเป็นอยู่อย่างนี้

คือข้อที่ สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ธรรมทั่งปวงเป็นอนัตตา

ก็ไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตาอยู่อย่างนี้ ไม่มีที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น

เพราะฉะนั้น สัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นสัจจะคือความจริงที่เป็นธรรมชาติธรรมดาดั่งนี้

จึงเป็นอกาลิโก

และจิตนี้เองที่ได้สดับฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

ได้ปฏิบัติจนกำจัดอวิชชาได้หมดสิ้น เป็นวิชชาบังเกิดขึ้น วิมุติหลุดพ้นจากอาสวะทั้งสิ้น

ก็บรรลุถึงวิสังขารคือนิพพาน เพราะสิ้นตัณหาทั้งหลาย

ก็บรรลุถึงความเป็นอมตะธาตุอมตะธรรม ธรรมะที่ไม่ตาย

อยู่เหนือกาลเวลาเป็นอกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

พ้นจากภาวะที่เป็นสังขาร ซึ่งขึ้นอยู่แก่กาลเวลา

ซึ่งตรัสว่าไม่เกิดอีก เพราะความเกิดอีกนั้นก็เกิดเป็นสังขาร ต้องขึ้นอยู่แก่กาลเวลา

เมื่อขึ้นอยู่แก่กาลเวลา ก็ต้องตกอยู่ในไตรลักษณ์เกิดแก่เจ็บตาย

เพราะฉะนั้น เกี่ยวแก่กาลเวลานี้ เมื่อทำความเข้าใจให้ดี

พร้อมกับเงื่อนทั้งหลายซึ่งอาศัยกันอยู่สัมพันธ์กันอยู่

ย่อมจะทำให้เข้าใจในอริยสัจจ์ ๔ ของพระพุทธเจ้าได้ดีขึ้น

และสามารถที่จะจับกาลเวลาได้ถูกต้อง

รู้จักที่จะสาวหลัง ในเมื่อประสบผลที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบันได้ถูกต้อง

รู้จักที่จะคาดหน้า หรือเมื่อทำอะไรที่เป็นส่วนเหตุอยู่ในปัจจุบัน

ก็จะคาดไปข้างหน้าได้ถูก ว่าจะให้เกิดผลอย่างไร เป็นการจับเงื่อนได้ถูกต้อง

ทั้งในด้านที่เป็นสายทุกข์ ทั้งในด้านที่เป็นสายดับทุกข์

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

สัมมาทิฏฐิ ๒๗ ความรู้จักอาสวะ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

อนุสัย ๓ ๓

วีติกกมกิเลส ๓

อกุศลกรรมบถ ๑๐ ๔

กรรมกิเลส ๔ นิวรณ์ ปริยุฏฐานะ ๕

นิวรณ์ ๕ อาสวะ ๓ ๖

กามาสวะ ราคานุสัย ๗

อัสมิมานะทิฏฐิ ๗

ภพ ปฏิฆะ ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๖๕/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๖๕/๒ ( File Tape 51 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมมาทิฏฐิ ๒๗ ความรู้จักอาสวะ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงข้อสัมมาทิฏฐิตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรมาโดยลำดับ

ถึงหมวดสุดท้ายที่ภิกษุทั้งหลายได้กราบเรียนถามท่าน

ว่ายังมีปริยายคือทางแสดงอย่างอื่นแห่งข้อสัมมาทิฏฐิต่อไปอีกหรือ

ท่านพระสารีบุตรก็กล่าวตอบว่า ยังมีปริยายคือทางแสดงอย่างอื่นต่อไปอีก

และท่านก็ได้แสดงอธิบายต่อไป อันนับว่าเป็นหมวดสุดท้าย

ว่าสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบก็คือ รู้จักอาสวะ รู้จักเหตุเกิดอาสวะ

รู้จักความดับอาสวะ รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ

เมื่อท่านให้หัวข้อไว้เป็น ๔ ดั่งนี้แล้ว ก็ได้ให้อรรถาธิบายต่อไปว่า

รู้จักอาสวะ อาสวะมี ๓ คือ กามาสวะ อาสวะคือกาม ภวาสวะ อาสวะคือภพ

อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา

รู้จักเหตุเกิดอาสวะ คือเพราะอวิชชาเกิด อาสวะทั้งหลายจึงเกิด

รู้จักความดับอาสวะ คือรู้จักว่าเพราะอวิชชาดับ อาสวะจึงดับ

รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ ก็คือรู้จักมรรคคือทางที่มีองค์ ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น

 

อนุสัย ๓

จะได้แสดงอธิบายในข้ออาสวะ กิเลสที่ดองจิตสันดาน

ที่หมักหมมอยู่ในจิตสันดาน ได้ชื่อว่าอาสวะ จัดเป็นกิเลสอย่างละเอียด

และกิเลสอย่างละเอียดนี้มีเรียกชื่ออีกคำหนึ่งว่าอนุสัย คือกิเลสที่นอนจมติดตามไปอยู่เสมอ

อนุสัยนี้ก็แจกเป็น ๓ อีกเหมือนกัน คือราคานุสัย อนุสัยคือราคะ

ปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะ อวิชชานุสัย อนุสัยคืออวิชชา

เป็นกิเลสอย่างละเอียดอีกเช่นเดียวกัน

คำว่าอาสวะกับอนุสัยนี้ แม้ว่าจะมีชื่อเพี้ยนกันอยู่ก็มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน

เมื่อแสดงถึงอาสวะก็หมายถึงอนุสัยรวมอยู่ด้วย

เมื่อแสดงถึงอนุสัยคือเมื่อยกอนุสัยขึ้นแสดง ก็หมายถึงอาสวะรวมอยู่ด้วย

เพราะฉะนั้นแม้จะแสดงชื่อใดชื่อหนึ่ง ก็เป็นอันว่าหมายถึงทั้งสองนี้รวมอยู่ด้วยกัน

 

วีติกกมกิเลส

และเมื่อกล่าวว่าอาสวะอนุสัยเป็นกิเลสอย่างละเอียด

ก็ย่อมจะมีกิเลสอย่างหยาบ และกิเลสอย่างกลางอีกด้วย ซึ่งก็ได้มีแสดงไว้

กิเลสอย่างหยาบนั้นเรียกว่า วีติกกมกิเลส

คือกิเลสที่เป็นเหตุให้ล่วงละเมิดออกไปทางไตรทวาร สำเร็จเป็นกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม

ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ หรือว่า ราคะ โทสะ โมหะ อย่างแรง

ที่เป็นตัวอกุศลมูล คือเป็นรากเหง้าของอกุศลทั้งหลาย

ก็ได้แก่รากเหง้าของอกุศลกรรม ดังที่เรียกว่าอกุศลกรรมบถ ทางของกรรมที่เป็นอกุศล

 

อกุศลกรรมบถ ๑๐

อกุศลกรรมบถทางของกรรมที่เป็นอกุศลนั้นก็แจกเป็น ๓

คือเป็นกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ และมโนกรรม ๓

กายกรรม ๓ นั้น ก็ได้แก่ปาณาติบาตทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป คือฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

อทินนาทานถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ ด้วยจิตใจเป็นขะโมยคือจิตใจคิดจะลัก

กาเมสุมิจฉาจารประพฤติผิดในกามทั้งหลาย

วจีกรรม ๔ ก็คือมุสาวาทพูดเท็จ ปิสุณาวาทพูดส่อเสียด ผรุสวาทพูดคำหยาบ

สัมผัปปลาวาทพูดโปรยประโยชน์คือพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล

มโนกรรม ๓ ก็คืออภิชฌาโลภเพ่งเล็งทรัพย์สิ่งของๆผู้อื่นมาเป็นของตน

พยาบาทมุ่งร้ายปองร้ายหมายล้างผลาญ มิจฉาทิฏฐิเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม

คือเห็นว่ากรรมที่กระทำไม่มีบุญไม่มีบาป เห็นว่าไม่มีเหตุคือผลที่ได้รับเป็นสุขเป็นทุกข์

หรือเป็นความเสื่อมเป็นความเจริญต่างๆ ไม่มีกรรมที่ทำดีหรือกรรมชั่วเป็นเหตุ

แต่ว่าผลทั้งปวงเหล่านี้บังเกิดขึ้นตามคราว ตามความบังเอิญเป็นต้น

ไม่มีกรรมดีกรรมชั่วที่ทำไว้มาเป็นเหตุ เห็นว่าทุกๆอย่างไม่มี

คือข้อที่นับถือว่ามารดาบิดามีคุณนั้นก็ไม่มี ข้อที่ถือว่าทำทานหรือบูชาต่างๆมีผลนั้นก็ไม่มี

ไม่มีสมณะพรหมณ์ผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ เพราะว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่าดีสิ่งที่เรียกว่าชอบ

ไม่มีโลกนี้ไม่มีโลกหน้า เป็นต้น

อกุศลกรรมบถทางของกรรมที่เป็นอกุศล

ย่อมประกอบด้วยกายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ดังกล่าว

บังเกิดขึ้นก็เพราะมีเจตนาอันประกอบด้วยกิเลสกองโลภกองโกรธกองหลงดังกล่าว

ซึ่งเป็นกิเลสอย่างหยาบคือบังเกิดขึ้นรุนแรง

จนถึงให้ละเมิดออกไปทางกายทวารเป็นกายกรรม ทางวจีทวารเป็นวจีกรรม

ทางมโนทวารเป็นมโนกรรมดังกล่าว จึงเรียกว่า วีติกกมกิเลส กิเลสที่เป็นเหตุให้ล่วงละเมิด

 

กรรมกิเลส ๔

พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสเรียกไว้อีกชื่อหนึ่งว่ากรรมกิเลส

ที่ตรัสแสดงเอาไว้ ๔ คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน กามะมิจฉาจาร และมุสาวาท

จะแปลว่ากรรมที่เศร้าหมองก็ได้ แปลว่ากิเลสที่เป็นเหตุให้กระทำกรรมทั้ง ๔ ข้อนี้ก็ได้

คือปรากฏออกมาเป็นปาณาติบาทเป็นต้น ซึ่งก็ปรากฏออกมาจากจิตใจนี้เอง

อันประกอบด้วยโลภโกรธหลงอย่างรุนแรง

และเมื่อจับแสดงถึงกิเลสอย่างรุนแรงที่บังเกิดขึ้นในจิตใจในขณะที่ประกอบกรรม

อันเป็นอกุศลกรรมบท หรือที่เป็นกรรมกิเลสดังกล่าวนั้น ก็เรียกว่าเป็นกิเลสอย่างหยาบ

หรือวีติกกมกิเลส กิเลสที่เป็นเหตุให้ล่วงละเมิดออกทางไตรทวาร

เป็นกรรมทั้ง ๓ ดังกล่าวนั้น

 

นิวรณ์ ปริยุฏฐานะ

กิเลสอย่างกลาง คือกิเลสที่บังเกิดขึ้นเป็นนิวรณ์อยู่ในจิตใจ

คือทำจิตใจไม่ให้พบกับความสงบ และทำปัญญาให้เสียให้ทราม คือไม่ให้เกิดปัญญา

ที่เรียกว่า นิวรณ์( เริ่ม ๖๕/๒ ) หรือที่เรียกว่า ปริยุฏฐานะ

คือกิเลสที่บังเกิดขึ้นทำจิตใจให้กลัดกลุ้มวุ่นวายกระสับกระส่าย

จึงใช้คำว่าปริยุฏฐานะที่มาจากคำว่าปล้นสะดม

โจรที่เข้าปล้นสะดมในบ้านเรือนของผู้ใด ก็ทำให้เกิดความกาหลอลหม่าน

เดือดร้อนวุ่นวาย ทรัพย์สินเสียหาย หรือตลอดถึงเสียชีวิตเลือดเนื้อ

กิเลสที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ ก็ปล้นจิตใจ ทำจิตใจให้วุ่นวายกระสับกระส่ายเดือดร้อน

ทำลายธรรมะในจิตที่เป็นส่วนดีส่วนชอบต่างๆ เหมือนอย่างโจรเข้าปล้นทำลายทรัพย์สินต่างๆ

ที่เรียกว่าเป็นกิเลสอย่างกลางนั้น ก็เพราะบังเกิดขึ้นในจิตใจ ไม่ถึงให้ละเมิดล่วงออกไป

ทางไตรทวารเป็นกรรมดังกล่าว

 

นิวรณ์ ๕

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงนิวรณ์เอาไว้ก็คือกามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม

คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย

หรือว่าความพอใจรักใคร่ด้วยอำนาจของกาม คือความใคร่ความปรารถนาทั้งหลาย

พยาบาทความโกรธแค้นขัดเคือง ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

อุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัย

ก็ย่อลงในกิเลสกองโลภโกรธหลง หรือราคะโทสะโมหะนั่นแหละ

ที่นับว่าเป็นอย่างกลางก็คือบังเกิดขึ้นในจิตใจ เป็นนิวรณ์อยู่ในจิตใจ

ทำจิตใจให้กลัดกลุ้ม ทำให้ไม่ได้สมาธิ ทำให้ไม่ได้ปัญญา

การปฏิบัติทางกรรมฐาน แต่ว่าไม่ค่อยได้สมาธิไม่ค่อยได้ปัญญา ก็เพราะนิวรณ์นี้เอง

หรือปริยุฏฐานะกิเลสเหล่านี้เอง ไม่สงบไปจากจิตใจ

ยังบังเกิดขึ้นอยู่ในจิตใจ เป็นนิวรณ์อยู่ในจิตใจ เป็นปริยุฏฐานะคือปล้นจิตใจอยู่

เพราะฉะนั้น จิตใจจึงไม่ได้สมาธิไม่ได้ปัญญา ต่อเมื่อสงบนิวรณ์เสียได้

หรือสงบปริยุฏฐานะคือกิเลสที่ปล้นจิต ทำจิตใจให้กลัดกลุ้มวุ่นวายนี้เสียได้

นั่นแหละจึงจะได้สมาธิจึงจะได้ปัญญา การปฏิบัติกรรมฐานจึงจะสำเร็จเป็นขั้นตอนขึ้นไปได้

 

อาสวะ ๓

กิเลสอย่างละเอียดก็ได้แก่อาสวะ ๓ คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ

หรืออนุสัย ๓ คือ ราคานุสัย ปฏิฆานุสัย และอวิชชานุสัย ดังที่กล่าวแล้ว

สำหรับอาสวะและอนุสัย อันเป็นกิเลสอย่างละเอียดที่แสดงไว้เป็น ๒ ชื่อนี้

 

กามาสวะ ราคานุสัย

ข้อที่ ๑ ในส่วนอาสวะ ก็ได้แก่กามาสวะอาสวะคือกาม

ในส่วนอนุสัยก็ได้แก่ราคานุสัย อนุสัยคือราคะ กามแปลว่าใคร่ ราคะแปลว่าติด คือติดใจ

กามกับราคะนั้นก็หมายถึงกิเลสกองความยินดีด้วยกัน

ราคะ(กาม)ความใคร่ก็เป็นกิเลสกองยินดี ราคะความติดใจก็เป็นกิเลสกองยินดีพอใจด้วยกัน

เพราะฉะนั้นแม้ว่าชื่อจะต่างกัน ก็มีความหมายเป็นอันเดียวกัน

 

อัสมิมานะทิฏฐิ

ข้อ ๒ ในส่วนอาสวะ ได้แก่ภวาสวะ อาสวะคือภพที่แปลว่าความเป็น

ความเป็นนั่น ความเป็นนี่ ตั้งต้นแต่ความเป็นเราเป็นของเรา

อันเรียกว่าอัสมิมานะ หรืออัสมิทิฏฐิ หรือว่าเรียกรวมกันว่า อัสมิมานะทิฏฐิ

ความเห็นนับถือว่าเรามีเราเป็น คือเป็นเราเป็นของเรา

นี่เป็นตัว ภวะ หรือตัวภพ ซึ่งเป็นต้นเดิมในทุกๆคน

เมื่อมีเรามีของเรา เป็นเราเป็นของเราขึ้น เรานี้เองก็เป็นนั่นเป็นนี่ต่อไปอีก

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีเราคือเป็นเราขึ้นก่อนซึ่งเป็นตัวภพ ซึ่งเป็นต้นเดิม นี้คือภพ

 

ภพ ปฏิฆะ 

ในส่วนอนุสัยข้อ ๒ ได้แก่ปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะที่แปลว่าการกระทบกระทั่ง

ดูถ้อยคำแล้วต่างกัน แต่ว่าเมื่อดูความสัมพันธ์ย่อมจะเห็นว่า สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด

คือว่าจะต้องมีภพความเป็น เป็นนั่นเป็นนี่ ตั้งต้นแต่เป็นเราขึ้นมา จึงมีปฏิฆะขึ้นมาได้

คือมีที่กระทบกระทั่ง ตัวเราที่เป็นตัวภพนี่แหละเป็นที่กระทบกระทั่ง ความกระทบกระทั่งจึงมีได้

ถ้าไม่มีตัวเราซึ่งเป็นที่กระทบกระทั่ง ปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งก็มีขึ้นไม่ได้

เพราะฉะนั้น ภพกับปฏิฆะนั้นจึงสัมพันธ์กันดั่งนี้

และเมื่อยกขึ้นว่าปฏิฆะความกระทบกระทั่ง ก็ต้องหมายว่า

ต้องมีสิ่งที่เป็นที่กระทบกระทั่ง คือมีตัวเราอันเป็นภพ อันเป็นที่กระทบกระทั่ง

หรือเมื่อกล่าวว่าภพความเป็นนั่นเป็นนี่ ตั้งต้นแต่เป็นเรา

ก็ต้องหมายถึงว่าจะต้องมีความกระทบกระทั่งขึ้นได้แล้ว เพราะมีที่กระทบกระทั่ง

ฉะนั้น จะยกขึ้นว่าภพหรือยกขึ้นว่าปฏิฆะ ก็ย่อมเป็นอันเดียวกัน มีความเนื่องถึงกัน

ดังจะพึงเห็นได้ว่าบุคคลทั่วไป

เมื่อมีใครมาสรรเสริญว่า นายก.นางข. ดีอย่างนั้นดีอย่างนี้

ตัวนายก.นางข.นั้นย่อมมีตัวภพความเป็นนั่นเป็นนี่ตั้งต้นแต่เป็นเรา

คือมีตัวเราอยู่ในนายก.นางข. อันเป็นตัวภพซึ่งเป็นต้นเดิมดังกล่าวนั้น

ตัวเราซึ่งเป็นนายก.นางข. นั้นก็ออกรับคำสรรเสริญ

คำสรรเสริญนั้นก็แปลว่ามีที่กระทบ เพราะว่ามีตัวเราของนายก. นางข. ออกรับ

ก็มีปฏิฆะคือการกระทบขึ้น แต่ว่าเป็นกระทบในด้านทำให้ยินดี เพราะเป็นคำสรรเสริญ

แต่ถ้าเป็นคำนินทาว่าร้าย ตัวเราของนายก.นางข. ก็ออกรับ

คำนินทานั้นก็มากระทบตัวเราของนายก.นางข.เข้า ก็เกิดความขัดใจ ยินร้าย

แต่ถ้าหากว่านายก.นางข.นั้นไม่มีตัวเราออกรับคำสรรเสริญหรือนินทา

คำสรรเสริญหรือนินทาของใครๆนั้นก็ไม่มากระทบ

เพราะว่านายก.นางข.นั้นไม่เอาตัวเราออกรับ

เมื่อไม่เอาตัวเราออกรับ คำนินทาหรือสรรเสริญทั้งปวงนั้นก็ผ่านไปๆ

ไม่ทำให้บังเกิดความยินดี ไม่ทำให้บังเกิดความยินร้าย

เพราะว่าไม่มีตัวเราของนายก.นางข.ออกรับการกระทบแห่งคำสรรเสริญหรือคำนินทาดังกล่าว

เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาดูที่จิตใจของตนเองของทุกๆคนแล้ว ก็จะรู้สึกได้ว่าเป็นเช่นนี้

เวลาใครเขามายกย่องก็พอใจ ก็เพราะมีตัวเราออกรับ

มีใครเขามานินทาว่าร้าย ก็ขัดแค้นโกรธเคือง ก็เพราะมีตัวเราออกรับ

คือออกรับการกระทบ การกระทบก็บังเกิดขึ้น อันเรียกว่าปฏิฆะนั้น

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมะจึงต้องทำสติให้มีความรู้ดั่งนี้ และไม่เอาตัวเราออกรับ

แต่ว่า รู้ ได้ยิน เห็น แต่ไม่เอาตัวเราออกรับ เมื่อไม่เอาตัวเราออกรับการกระทบก็ไม่มี

การกระทบที่เรียกว่าปฏิฆะนั้นก็ไม่มี ก็ไม่ทำให้จิตใจบังเกิดความขึ้นลง

จิตใจคงสงบเป็นปรกติในเมื่อไม่มีปฏิฆะคือการกระทบ

ความยินดีความยินร้ายต่างๆ ตลอดจนถึงกรรมต่างๆที่สืบเนื่องไป

ก็บังเกิดขึ้นเพราะมีตัวเรานี่แหละออกรับ ปฏิฆะคือการกระทบก็บังเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นภพกับปฏิฆะนี้จึงเนื่องกันดั่งนี้

ในส่วนข้อ ๓ นั้น ก็ได้แก่อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา

และอวิชชานุสัย อนุสัยคืออวิชาซึ่งเป็นอันเดียวกัน

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats