• พิมพ์

พระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรไทย

1 พระพุทธศาสนาแพร่สู่ประเทศไทย

       ในพุทธศตวรรษที่ 3 พระเจ้าอโศกมหาราช แห่งราชวงศ์เมารยะ ซึ่งตั้งราชธานีอยู่ที่กรุงปาฏลีบุตร แคว้นมคธในอินเดีย พระองค์เลื่อมใสพระพุทธศาสนามาก และโดยการแนะนำของพระมหาเถราจารย์รูปหนึ่ง คือพระโมคคัลลีบุตรติสสะ พระมหาราชจึงโปรดให้ส่งธรรมทูตอัญเชิญพระพุทธศาสนา จาริกแพร่หลายทั่วทิศานุทิศ ทั้งในประเทศอินเดียและประเทศอื่นๆภายนอกปรากฏว่าคณะธรรมทูตชุดหนึ่ง ซึ่งมีพระโสณะและพระอุตตระเป็นหัวหน้าได้มาสู่สุวรรณภูมิ แล้วตั้งหลักพระพุทธศาสนาขึ้นที่นั่น ก็สุวรรณภูมิในที่นี้ ได้แก่ดินแดนตอนใดตอนหนึ่งในแหลมอินโดจีนนี่เอง ราวอินเดียสมัยก่อนพุทธกาล เคยไปมาค้าขายติดต่อกับสุวรรณภูมิอยู่เสมอ จึงเป็นข้อสันนิษฐานว่า คงจะมีชาวอินเดียเข้ามาตั้งรกรากแพร่อารยธรรมแก่ชาวพื้นเมืองในดินแดนแถบเอเชียอาคเนย์นี้แต่โบราณนานไกลแล้ว และโดยเฉพาะเมื่อพระพุทธศาสนาเจริญขึ้นในอินเดีย พระพุทธศาสนาไม่ถือลัทธิรังเกียจการไปตั้งหลักแหล่งต่างถิ่น เหมือนพวกที่ถือศาสนาพราหมณ์บางเหล่า จึงปรากฏว่าได้มีพวกอินเดียที่ถือพระพุทธศาสนาเข้ามาอยู่ในแหลมอินโดจีนมากขึ้น ในจำเนียรกาลต่อมา เลยเป็นสาเหตุให้พวกถือลัทธิพราหมณ์พลอยหายรังเกียจ อพยพมาแสวงหาโชคมากขึ้นกว่าเดิมและพวกนี้ไม่แต่มาสอนลัทธิศาสนาเท่านั้น ยังได้มาสร้างบ้านเมืองตั้งเป็นอาณาจักรขึ้นหลายแห่ง ปกครองพวกมนุษย์เจ้าถิ่นอีกด้วย ส่วนสุวรรณภูมิอันเป็นแหล่งแรกที่พระพุทธศาสนามาตั้งมั่นนั้น เข้าใจว่าน่าจะได้แก่บริเวณตั้งแต่ตอนใต้ของพม่าเดี๋ยวนี้ (ซึ่งสมัยต่อมาเป็นอาณาจักรมอญ) กินตลอดลงมาถึงภาคกลางของประเทศไทย มีศูนย์กลางสำคัญอยู่ที่จังหวัดนครปฐม มีพวกมอญ ละว้าเป็นคนพื้นเมือง เนื่องด้วยที่บริเวณจังหวัดดังกล่าวปรากฏซากโบราณสถานมากมายล้วนใหญ่โต สร้างตามคตินิยมเก่า ถึงครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชก็มี เช่นพระสถูปเจดีย์องค์เดิมซึ่งอยู่ภายในพระสถูปใหญ่ที่เห็นอยู่บัดนี้* ตามรูปเดิมก็สร้างเป็นรูปทรงโอคว่ำอย่างพระสถูปสัญจิในอินเดีย และภาพอุเทสิกเจดียฺอื่นๆที่ทำเป็นรูปพระธรรมจักรมีกวางหมอบ รูปพระแท่นเปล่าๆ ฯลฯ ซึ่งสร้างกันในสมัยที่ชาวอินเดียยังไม่นิยมสร้างพระพุทธรูป คตินิยมที่สร้างอุเทสิกเจดีย์ดังกล่าวก็มีปรากฏที่โบราณสถานที่นครปฐม นอกจากนี้ในระยะสมัยต่อมาแบบพุทธศิลปะของอินเดียยุคสำคัญๆเช่นพุทธศิลปะสมัยอมราวดี และสมัยคุปตะก็มีแพร่หลายเข้ามาเจริญที่ศูนย์กลางแห่งนี้อีกเหมือนกัน จึงเป็นยุติได้ว่าจำเดิมแต่พระพุทธศาสนามาตั้งมั่นลง ณ ภาคกลางแห่งประเทศไทย ก็ได้เจริญงอกงามพัฒนาตลอดมาไม่ขาด อนึ่ง พระพุทธศาสนาซึ่งพระโสณะและพระอุตตระนำเข้ามานั้น เป็นพระพุทธศาสนาสาวกยานนิกายเถรวาท ซึ่งเป็นนิกายดั้งเดิม เคารพมติของพระอรหันต์ครั้งปฐมสังคายนา โดยการรักษาพระธรรมวินัยของสมเด็จพระพุทธองค์ ได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ดี

*     พระพุทธศาสนายุคแรกที่เข้ามาสู่สุวรณภูมิในยุดพระเจ้าอโศกมหาราชนั้นเป็นพุทธศาสนาสายเถรวาท ครั้นต่อมาเมื่อพุทธศาสนาฝ่ายมหายานแพร่หลายขึ้นได้แผ่เข้าสู่ทั้งดินแดนศรีวิชัย และดินแดนเขมร จึงปรากฏพระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมินี้ด้วย เมื่อไม่นานมานี้ข้าพเจ้าเคยรับฟังจากพระลามะเถราจารย์องค์หนึ่งแห่งภูฏานซึ่งเคยได้เดินทางในเส้นทางเลี่ยงเมืองนครปฐมเพื่อเดินทางไปกาญจนบุรี ในขณะที่ผ่านกองอิฐเก่าซึ่งกองสุมอยู่ดังโบราณสถานเก่าๆทั่วไป ท่านก็ได้กล่าวถึงความรู้สึกว่าท่านได้สัมผัสกับฑากินีเป็นจำนวนมาก โดยที่ท่านก็ยังไม่รู้ว่ากองอิฐที่ผ่านมานั้นเป็นกองอิฐอะไร ด้วยความเป็นชาวนครปฐมแต่กำเนิด ข้าพเจ้าจึงพอจะรู้ว่า กองอิฐนั้นเป็นโบราณาสถานเก่าแก่มากอายุเป็นพันๆปี มีชื่อเรียกอาณาบริเวณนั้นว่า "ทุ่งพระสุเมรุ" ซึ่งก็คือป่าช้าขององค์พระปฐมเจดีย์ในยุคนั้น ซึ่งก็ตรงกับคำของพระลามะเถราจารย์ที่ว่าได้พบฑากินี เพราะป่าช้าของสถานที่สำคัญๆเป็นที่ประทับของฑากินี ซึ่งเรื่องนี้ข้าพเจ้าก็เพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรก และนี่ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ให้เชื่อได้ว่า พระพุทธศาสนาสายวัชรยานเคยได้มาประดิษฐานอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิในยุคหนึ่งก่อนที่จะกำเนิดประเทศไทยขึ้น ฤทธิชัยผู้บันทึก

2 พระพุทธศาสนาสมัยฟูนัน

      พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท จำเดิมแต่มาตั้งมั่น ณ สุวรรณภูมิปรากฏว่า ได้พัฒนารุ่งเรืองขึ้น แต่รายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์ เราไม่สามารถที่จะค้นคว้าหาได้ ทราบแต่พอเป็นเลาๆว่า ประชากรของแว่นแคว้นสุวรรณภูมิ น่าจะเป็นมนุษย์ในตระกูลมอญ-เขมร และพวกละว้า พวกเหล่านี้มีเจ้านายเป็นชาวอินเดียทั้งที่เป็นชาวอินเดียมัธยมประเทศ และชาวอินเดียทิกษินประเทศ หรือมิฉะนั้นก็มีเจ้านายที่มีเชื้อสายผสมกับชาวอินเดีย ฉะนั้นย่อมเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่อารยธรรม วัฒนธรรมของชมพูทวีป ย่อมแพร่หลายทั่วไปในดินแดนดังกล่าวนี้ และจากศูนย์กลางนี้เอง พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทจึงได้แพร่หลายตลอดทั่วไปในแหลมอินโดจีน ยกเว้นดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของคาบสมุทรนี้ ซึ่งเป็นดินแดนญวนเหนือ ณ บัดนี้ จำเนียรกาลล่วงมาเมื่อมีมนุษย์ต้นตระกูลพม่า  และมนุษย์เผ่าไทยซึ่งอพยพมาจากทิเบตและยูนาน เมื่อมาถึงที่นี้ จึงได้รับเอาพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทจากพวกมนุษย์ตระกูลมอญ-เขมรอีกต่อหนึ่ง

      ในราวพุทธศตวรรษที่ 6 ทางประเทศอินเดีย พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานได้เจริญขึ้นพุทธมามกะชาวอินเดียก็ได้นำลัทธิมหายานออกมาสั่งสอน  แพร่หลายในคาบสมุทรแห่งนี้ ได้เดินทางมาโดยทางบก ผ่านแคว้นเบงกอลเข้ามาทางพม่าเหนือก็มี เดินทางมาโดยทะเลมาขึ้นที่แหลมมลายู สุมาตรา และแล่นเรืออ้อมอ่าวเข้ามาทางประเทศกัมพูชาบัดนี้ก็มี ในระหว่างนั้น ได้เกิดมีอาณาจักรฟูนัน หรือที่เรียกว่า อาณาจักรพนมขึ้น อาณาจักรนี้ คือบริเวณดินแดนกัมพูชาในปัจจุบันกินเลยเข้ามาในประเทศไทยตอนกลางและถึงภาคอีสานด้วย ปรากฏว่าประชาชนชาวฟูนันนับถือพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน จนถึงกับมีสมณทูตชาวฟูนัน เดินทางไปแปลพระคัมภีร์ในประเทศจีน เมื่อพุทธศตวรรษที่ 10 สมณทูตชาวฟูนันที่มีชื่อดัง คือ พระสังฆปาละและพระมัทรเสน อาณาจักรฟูนันมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 ก็เสื่อมโทรมไป ด้วยถูกอาณาจักรเจนละซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นฟูนันมาก่อนแย่งอำนาจ พวกเจนละนับถือศาสนาพราหมณ์ ฉะนั้นพระพุทธศาสนาจึงชะงักความเจริญระยะหนึ่ง

3 พระพุทธศาสนาสมัยทวาราวดี

      ในยุคพุทธศตวรรษที่ 11 ขณะที่อิทธิพลของฟูนันกระทบกระเทือน ก็ปรากฏว่าพวกมอญในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ถือโอกาสประกาศอิสรภาพตั้งเป็นอาณาจักรทวาราวดีขึ้น อาศัยเคยเป็นศูนย์กลางความรุ่งเรืองมาเก่าก่อน แต่ครั้งยังเป็นแว่นแคว้นสุวรรณภูมิ อาณาจักรทวาราวดีจึงเจริญอย่างรวดเร็ว ทั้งในด้านศิลปะและการพระศาสนา ซึ่งปรากฏว่า อาณาจักรนี้ได้รักษาจารีตของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ซึ่งรับมาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชไว้อย่างเคร่งครัด อาณาจักรทวาราวดีมีความสัมพันธ์กับชาวพุทธอินเดียในลุ่มแม่น้ำคงคามาก ฉะนั้นพุทธศิลปะของทวาราวดีมีเลียนแบบราชวงศ์คุปตะ ศูนย์กลางของทวาราวดีได้ขยับขยาย เหนือขึ้นไปจนถึงลพบุรี และจากลพบุรีได้แผ่ขึ้นไปอีกจนถึงภาคเหนือของประเทศไทย ดังปรากฏในตำนานว่าพระนางจามเทวีซึ่งมีเชื้อสายมอญจากลพบุรี ได้ขึ้นไปครองนครหริภูญชัยหรือลำพูน และพระนางได้นิมนต์ภิกษุสงฆ์จำนวนถึง 500 รูป ซึ่งบทรงพระไตรปิฎก ขึ้นไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่เมืองลำพูนด้วย เป็นเหตุหนึ่งที่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท จากทวาราวดีได้ไปตั้งมั่นทางภาคเหนือ เป็นการย้ำศรัทธาปสาทะของประชาชนในภาคนี้ ให้กระชับแนบกับพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแน่นหนาขึ้น พวกมอญได้ปกครองหัวเมืองเหนือหลายร้อยปี  จารึกภาษามอญเก่าเราอาจพบได้ ตั้งแต่นครปฐม ลพบุรีตลอดจนถึงลำพูน

4 พระพุทธศาสนาสมัยศรีวิชัย

       ในสมัยที่อาณาจักรทวาราวดี กำลังรุ่งเรืองอยู่นั้น ปรากฏว่าทางภาคใต้ของประเทศไทย ได้มีแว่นแคว้นใหญ่น้อยหลายแคว้น ดังปรากฏในจดหมายเหตุจีนเรียกชื่อประเทศเชี๊ยโท้ (แปลว่าดินแดง) ได้แก่แถวรัฐไทยบุรีในมลายูบัดนี้ มีพลเมืองนับถือพระพุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ ประเทศผานผานได้แก่บริเวณท้องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีบัดนี้ มีพลเมืองนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายสาวกยาน และที่เมืองเวียงสระเราเคยขุดพบพระพุทธรูปสมัยคุปตะ ดินแดนเหล่านี้เคยมีสัมพันธ์ติดต่อกับอาณาจักรทวาราวดี จนถึงพุทธศตวรรษที่ 12 อาณาจักรศรีวิชัยได้เกิดขึ้นที่เกาะสุมาตรา ภายหลังได้แผ่ขยายอำนาจรุกล้ำขึ้นมาทางแหลมมลายู และปราบแว่นแคว้นต่างๆ ในแหลมมลายู มีอาณาเขตทางเหนือติดกับอาณาจักรทวาราวดี ในระยะเวลาดังกล่าวแคว้นเหล่านี้ พระพุทธศาสนาฝ่ายสาวกยานยังรุ่งเรืองดี นักธรรมจาริกอี้จิงบันทึกว่าอาณาจักรนี้พระราชาตลอดจนประชาราษฎร์ศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนามาก มีพระภิกษุสงฆ์ในนครหลวงกว่าพันรูป และมีคณาจารย์สำคัญรูปหนึ่ง ชื่อ ศากยเกียรติ การปฏิบัติธรรมก็เคร่งครัดเหมือนกับในอินเดีย ต่อมาเมื่อราชวงศ์ปาละแห่งมคธเบงกอลมีอำนาจขึ้น กษัตริย์ราชวงศ์นี้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน โดยเฉพาะคือนิกายมนตรยาน ราชวงศ์ไศเลนทระแห่งอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่ง ณ บัดนั้นได้แผ่อำนาจราชศักดิ์ ครอบงำทั่วคาบสมุทรทะเลใต้และแหลมมลายูแล้ว ได้มีสัมพันธไมตรีกับราชสำนักปาละ จึงพลอยได้รับลัทธิมหายานนิกายมนตรยานเข้ามานับถือด้วย ลัทธิมหายานได้เป็นศาสนาประจำของจักรวรรดิศรีวิชัย ซึ่งเป็นจักรวรรดิมลายูตลอดระยะกาลแห่ง พ.ศ.1200-1700 ปีเศษ ทางตอนเหนือของแหลมมลายู ที่ในขณะนี้คือนครศรีธรรมราช ซึ่งมีชื่อเรียกในยุคพุทธศตวรรษที่ 12 ว่า เมืองตามพรลิงค์ เป็นประเทศราชของจักรวรรดิศรีวิชัย เราได้พบศิลาจารึกภาษาสันสกฤต ยอเกียรติพระเจ้ากรุงศรีวิชัย และกล่าวถึงการสถาปนาพระเจดีย์ อุทิศในพระพุทธศาสนาเมื่อ พ.ศ.1318 ดังข้อความตอนหนึ่งว่า

          “พระเจ้ากรุงศรีวิชัย มีชัยชนะและพระสิริขาว พระองค์มีวาสนาอันร้อนด้วยเปลวเพลิงรัศมีซึ่งเกิดขึ้นจากพระราชาแห่งประเทศใกล้เคียง พระองค์นี้ พระพรหมได้อุตส่าห์บันดาล ให้บังเกิดราวกะว่าทรงพระประสงค์ที่จะทำให้พระธรรรมมั่นคงในอนาคตกาล”

          “พระเจ้ากรุงศรีวิชัย ผู้เป็นเจ้าแห่งพระราชาทั้งหลายในโลกทั้งปวง ได้ทรงสร้างปราสาทอิฐทั้ง 3 นี้ เป็นที่บูชาพระโพธิสัตว์เจ้าผู้ถือดอกบัว(คือพระปัทมปาณี) พระผู้ผจญพระยามาร และพระโพธิสัตว์เจ้าผู้ถือวชิระ (คือพระวัชรปาณิ)”

          “ปราสาทอิฐทั้ง 3 นี้ งามราวกับเพชรในภูเขาอันเป็นมลทินของโลกทั้งปวง แลเป็นที่บังเกิดความรุ่งเรืองแก่ไตรโลก พระองค์ได้ถวายแก่พระชินราช ประกอบด้วยพระสิริอันเลิศกว่าพระชินะทั้งหลายซึ่งสถิตในทศทิศ”

          (ดูศิลาจารึกภาค 2) ปราสาทอิฐทั้ง 3 ที่กล่าวในจารึกนี้ ปัจจุบันจะหาได้ครบทั้ง 3 ปราสาท คือที่วัดแก้ว วัดหลง และวัดเวียงทางภาคใต้ของประเทศไทย นอกจากนี้อาณาจักรศรีวิชัย ยังเป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษาพระปริยัติธรรมที่โด่งดัง จนถึงสมัยพุทธศตวรรษที่ 15 พระทีปังกรอติศะ คณาจารย์ผู้พื้นฟูพระพุทธศาสนาในทิเบต เคยมาพักศึกษาในสำนักพระธรรมเกียรติที่สุมาตราถึง 12 ปี มหาเจดีย์บุโรบุโดในเกาะชวาสร้างขึ้นในยุคศรีวิชัย กล่าวเฉพาะในประเทศไทยเรามีปูชนียวัตถุ เช่น พระเจดีย์บรมธาตุที่ไชยาก็ดี รูปปฏิมาพระอวโลกิเตศวรสัมฤทธิ์ขนาดโตกว่าคนที่ไชยาก็ดี และบรรดาพระพิมพ์ดินดิบต่างๆ ซึ่งมีทั้งพระพุทธพิมพ์และพิมพ์พระโพธิสัตว์ตามคติมหายาน มีปรากฏมากมายทางจังหวัดภาคใต้ของไทย เช่น ที่ถ้ำคูหาสวรรค์ ถ้ำอกทลุ จังหวัดพัทลุง, ที่เข้ากำปัน จังหวัดปัตตานี และที่ถ้ำเขาตะเภา จังหวัดยะลา เป็นอาทิ เหล่านี้เป็นเครื่องหมายแห่งมหายานและอิทธิพลของศรีวิชัย ตามเรื่องราวที่ปรากฏในตำนานว่า อิทธิพลศรีวิชัยได้กำจายรุกขึ้นมาถึงประเทศกัมพูชาและบรรดาประเทศราช ของเขมรในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 2 คราว เมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ 13 คราวหนึ่ง และเมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ 15 อีกคราวหนึ่ง พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ในกลางพุทธศตวรรษที่ 15 กษัตริย์กัมพูชา ปรากฏน่าจะมีเชื้อสายสืบมาจากศรีวิชัย ประเทศกัมพูชาและประเทศไทย จึงได้รับนับถือลัทธิมหายานตามแบบอย่างศรีวิชัยอีก ในระยะนี้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา

4 พระพุทธศาสนาในสมัยลพบุรี

          ในยุคที่จักรวรรดิเขมรมีอำนาจครอบงำประเทศไทย เราเรียกว่ายุคลพบุรี มีระยะเวลาราว พ.ศ. 1500-1800 ปี กษัตริย์เขมรบางพระองค์ก็เป็นพุทธมามกะ บางพระองค์ก็เป็นพราหมณมามกะ แต่พระพุทธศาสนาซึ่งแพร่หลายอยู่ในสมัยลพบุรีนี้ ปรากฏว่ามีทั้งลัทธิฝ่ายเถรวาทและลัทธิฝ่ายมหายาน สำหรับลัทธิฝ่ายเถรวาทนั้นดูเหมือนจะไม่เจริญแข็งแรงนัก ทั้งนี้เพราะกษัตริย์เขมรที่เป็นพุทธมามกะก็เป็นพุทธมามกะในลัทธิมหายาน ก็ลัทธิมหายานที่ลพบุรีนั้นแพร่หลายสืบเนื่องมาแต่ครั้งสมัยอาณาจักรฟูนันวาระหนึ่งแล้ว เมื่ออาณาจักรทวราวดีรุ่งเรืองขึ้นลัทธิมหายานได้ชะงักลงชั่วคราว ครั้นมาถึงสมัยนี้ลัทธิมหายานนิกายมนตรยานได้แพร่หลายขึ้นมาจากศรีวิชัย และเจริญงอกงามขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในประเทศกัมพูชาเองและในประเทศไทยตั้งแต่ตอนกลางและอีสานบางส่วนลงไป สถานสำคัญเกี่ยวกับลัทธิมหายานนิกายมนตรยาน เช่น ปราสาทหินพิมาย ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างเมื่อพุทธศตวรรษที่ 16 ที่ท่ามกลางลายประกอบส่วนบนประตู ด้านตะวันอกกจำหลักรูปพระไตรโลกวิชัย ด้านตะวันตกเป็นพุทธประวัติตอนทรมานพญาชมพู ซึ่งภาพเหล่านี้ล้วนเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิมหายาน และโดยเฉพาะนิกายมนตรยาน ส่วนที่ลพบุรีก็มีปรางค์สามยอด ซึ่งเข้าใจว่าเป็นพุทธสถานในลัทธิมหายาน และได้พบศิลาจารึกของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ที่ลพบุรี มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ในสถานที่อยู่ของดาบสทั้งหลาย หรือของผู้ซึ่งบวชเป็นพระภิกษุมหายานก็ดี บวชเป็นสถวีระ (คือฝ่ายเถรวาท) ก็ดี ให้ท่านทั้งหลายบวชโดยจริงใจถวาย “ตบะ” แก่พระบาทกัมรเดงกำตวน อัญศรีสุริยะวรมันเทวะ” นอกจากนี้ในสมัยลพบุรี ได้มีการสร้างประติมากรรมทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ขนาดเล็กนั้นคือพระพิมพ์ซึ่งนิยมกันในหมู่พระเครื่องว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์ เช่นพระร่วง ซึ่งเป็นพระเครื่องปางประทานพร พระเศียรทรงกะบังมงกุฎเทริด ซึ่งข้าพเจ้าได้สันนิษฐานว่า พวกเขมรได้สร้างเป็นพระปฏิมาแห่งพระไวโรจนะพุทธเจ้าซึ่งตามคติของนิกายมนตรยานมักจะเป็นพระเครื่องเสมอ พระพิมพ์อีกแบบหนึ่งที่เรียกกันว่า “พระหูยาน” เป็นพระปางภุมิสัมผัสมุทระ  ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นพระปฏิมาแห่งพระอักโษภยพุทธเจ้า ซึ่งฝ่ายมหายานถือว่าเป็นพระพุทธเจ้าประจำพุทธเกษตรทางบูรพาทิศ พวกเขมรจึงสร้างขึ้นในฐานะสัญลักษณ์แห่งความรุ่งโรจน์ของจักรวรรดิเขมรในภาคตะวันออกของโลกด้วยนอกจากนี้ยังมีพระพิมพ์ที่ทำรูปเป็นพระอาทิพุทธ ประทับบนตัวพญานาค มีพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์และพระปรัชญาปารมิตาโพธิสัตว์ประทับยืนอยู่ซายขวา ซึ่งเราจะพบได้ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช ลพบุรี สุพรรณบุรี และสวรรคโลก พระพิมพ์เหล่านี้ล้วนแล้วสร้างตามพิธีกรรมของลัทธิมหายานนิกายมนตรยาน ซึ่งต่อมาได้แปรเป็นวิชาไสยศาสตร์ฝ่ายพุทธคู่กับไสยศาสตร์ฝ่ายพราหมณ์ในประเทศนี้ และเพื่อนบ้าใกล้เคียงต่อมา

6 ไทยนับถือพระพุทธศาสนา แต่ครั้ง “อ้ายลาว”

          ชนชาติไทยเป็นชาติใหญ่ชาติหนึ่งในทวีปเอเชีย แต่หากได้แบ่งแยกกันออกเป็นหลายเผ่าตามเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม จึงได้กระจัดกระจายพลัดพรากห่างเหินกันไป พื้นเพเดิมของไทยอยู่ในประเทศจีนตั้งแต่ครั้ง 4000 ปีมาแล้ว ไทยได้ตั้งแว่นแคว้นอยู่ทางตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำเหลือง ต่อมาจีนได้อพยพเข้ามาแย่งที่ของไทย ขับไล่ไทยให้แตกร่นลงมาทางใต้ถึงลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง พอไทยจะตั้งหลักได้บ้างก็ถูกจีนขยายอำนาจตามลงมาขับไล่อีก ไทยจึงต้องร่นลงมาทางใต้ ได้เข้ามาตั้งแว่นแคว้นกระจายอยู่ทั่วไปในภาคใต้ของประเทศจีน เช่นในมณฑลเสฉวน, กุยจิ๋ว, กวางตุ้ง, กวางซี และมาชุมนุมคับคั่งมากกว่าแห่งอื่น คือที่มณฑลยูนนาน ในราวพุทธศตวรรษที่ 5 ไทยในยูนนานได้ตั้งอาณาจักรอ้ายลาวขึ้น จดหมายเหตุของจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นบอกแก่เราว่า อาณาจักรไทยอ้ายลาวมีความสัมพันธ์กับอินเดียบ้างแล้ว จึงเข้าใจว่าอารยธรรมของอินเดีย เช่นพระพุทธศาสนาเป็นต้น อาจแพร่เข้าสู่อ้ายลาวในระหว่างนี้ก็เป็นได้ ครั้นตกราวพุทธศตวรรษที่ 6 เมื่อพระพุทธศาสนาแพร่เข้าสู่ประเทศจีนแล้ว ปรากฏว่าขุนหลวงเม้ากษัตริย์ไทยอ้ายลาวพวกหนึ่ง (เวลานั้นไทยแบ่งเป็นหลายเหล่า) ได้ประกาศนับถือพระพุทธศาสนา นับเป็นกษัตริย์ไทยองค์แรกที่เป็นพุทธมามกะ พระพุทธศาสนาในครั้งนั้นเข้าใจว่าจะยังไม่ใช่ลัทธิมหายาน จะเป็นลัทธิสาวกยาน แต่จะใช่นิกายเถรวาทหรือไม่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดได้

7 ไทยน่านเจ้านับถือลัทธิมหายาน

          ในราวปลายศตวรรษที่ 7 ราชวงศ์ฮั่นของจีนเสื่อมอำนาจ บ้านเมืองระส่ำระสายแตกกันออกเป็น 3 ก๊ก ขงเบ้งแม่ทัพของเล่าปี่ ซึ่งตั้งก๊กขึ้นทีเสฉวน ได้ยกทัพมาตีอาณาจักรอ้ายลาวแตก ไทยต้องอพยพหนีภัยแตกกระจายคนละทิศละทาง ไทยบางพวกลงมาอยู่ทางลุ่มแม่น้ำสาละวินตอนเหนือของพม่า บางพวกอพยพมาอยู่ในสิบสองพันนา, สิบสองจุไทย และหัวพันทั้งห้าทั้งหกบางพวกลงมาอยู่ในแดนลานช้าง และภาคเหนือของประเทศไทยตามแถบลุ่มแม่น้ำโขง บางพวกล้ำเข้ามาอยู่ถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็มี ในตอนแรกๆก็อยู่อย่างฐานะผู้ลี้ภัย ต่อมาพอมีกำลังขึ้นจึงได้ตั้งตัวเป็นอิสระ ซึ่งต้องกินเวลาช้านานอีกหลายร้อยปี ส่วนพี่น้องไทยที่ไม่ยอมอพยพหนีลงมา ก็คอยหาโอกาสกู้เอกราชของชาติอยู่ในยูนนาน ราวพุทธศตวรรษที่ 12 ไทยเกิดวีรบุรุษขึ้น คือ พ่อขุนพีลก ได้รวบรวมไทยในยูนานประกาศตั้งเป็นอาณาจักรอิสระ เรียกว่าอาณาจักรไทยเมือง ต่อมาเปลี่ยนเป็นน่านเจ้า มีราชธานีอยู่ที่เมืองตาลีฟู อาณาจักรน่านเจ้ามีอายุยืนถึง 500 ปี ในระยะกาลอันยาวนี้ไทยต้องทำสงครามขับเคี่ยวกับจีนบ้าง, ทิเบตบ้าง, ญวนบ้าง บางคราวก็ชนะ บางคราวก็แพ้ ประจวบกับจีนตกอยู่ในสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ้อง ทั้งสองราชวงศ์มีกษัตริย์เสื่อมใสในพระพุทธศาสนาอยู่หลายองค์ โดยเฉพาะในสมัยถัง พระพุทธศาสนาลัทธิมหายานเจริญรุ่งเรืองขึ้นมากจนเรียกว่าเป็นยุคทองของพระพุทธศาสนา ลัทธิมหายานจากจีนแพร่สู่น่านเจ้าและเจริญในเวลาไม่สู้ช้านัก จดหมายเหตุสมัยถังกล่าวถึงน่านเจ้าว่า “ประชาชนน่านเจ้ามีวัฒนธรรมเจริญดี นับถือเคร่งครัดในพระพุทธศาสนา สาธยายพระพุทธคัมภีร์ด้วยความเคารพตัวหนังสือใช้เขียนด้วยตัวทอง” เมื่อน่านเจ้ามีกำลังมากมักจะยกทัพขึ้นไปรุกรานเมืองเซ่งโตวของจีนในมณฑลเสฉวน จีนต้องส่งทูตมาขอเจรจาสัมพันธไมตรี แต่น่านเจ้าไม่ยอมต้อนรับอุปราชจีนมณฑลเสฉวน ปรารภว่าน่านเจ้านับถือพระพุทธศาสนาแข็งแรง จึงเปลี่ยนเป็นส่งสมณจีนรูปหนึ่งชื่อเก็งเชียนมาเป็นทูตเจรจา คราวนี้ได้ผล กษัตริย์ไทยน่านเจ้าพร้อมด้วยราษฎรได้กราบไหว้ต้อนรัรบสมณะเก็งเชียนและแผนเจรจาสันติจึงสำเร็จ ในสมัยราชวงศ์ซ้อง เครื่องราชบรรณาการของน่านเจ้าที่ถวายต่อกษัตริย์จีนปรากฏว่ามีคัมภีร์พระวัชรปรัชญาปารมิตาสูตร 3 ผูก คัมภีร์มหายมานตกะสูตร 3 ผูก  ล้วนเป็นตัวทอง พระสูตรดังกล่าวนี้เป็นของลัทธิมหายาน เฉพาะสูตรหลังเป็นนิกายมนตรยาน นอกจากนี้ยังมีวัดวาอารามสถูปวิหารซึ่งสร้างสมัยน่านเจ้า ยังมีซากอยู่ในยูนนานสืบมาจนถึงทุกวันนี้ อาณาจักรไทยน่านเจ้าต้องพินาศดับสูญด้วยกองทัพของพวกมองโกลอันมีกุบไลข่านเป็นจอมทัพบกยกมาตีประเทศจีนได้ แล้วกุบไลข่านทำปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้ ตั้งราชวงศ์หงวนขึ้นในประเทศจีนได้ แล้วส่งทัพมาตีน่านเจ้าแตกในราวพุทธศตวรรษที่ 18 จดหมายเหตุครั้งราชวงศ์หงวนบันทึกถึงความเจริญของพระพุทธศาสนาในนครหลวงน่านเจ้าว่า “ราษฎรในแว่นแคว้นนี้ ถ้าเดินทางไปอินเดียทางทิศตะวันตกใกล้กันมาก ทุกบ้านเรือนไม่ว่าจะมั่งมีหรือยากจน ส่วนมากจะต้องมีห้องบูชาพระพุทธปฏิมา ไม่ว่าจะเป็นคนเฒ่าชราหรือหนุ่มสาวที่มือจะต้องมีพวงประคำสำหรับชักเวลาสวดมนต์ติดประจำอยู่เสมอ” จากบันทึกเหล่านี้ เราพอจะมองเห็นภาพความรุ่งโรจน์ของพระพุทธศาสนาในน่านเจ้าได้อย่างแจ่มชัด เมื่ออาณาจักรน่านเจ้าแตกแล้ว ปรากฏว่าพี่น้องไทยน่านเจ้าได้อพยพมุ่งใต้ มาสมทบกับพี่น้องพวกที่มาอยู่ก่อนในแหลมอินโดจีนนี้มากขึ้น เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ไทยในแหลมอินโดจีนได้กำลังสามารถขับไล่พวกมอญและเขมรออกจากแผ่นดินไทยได้โดยสิ้นเชิง

8 พระพุทธศาสนาสมัยโยนกเชียงแสน

          ชนชาวไทยที่อพยพมาอยู่ในคาบมหาสมุทรอินโดจีนแต่ครั้งพุทธศตวรรษที่ 8ดังได้กล่าวมาแล้ว บรรพบุรุษของเราเหล่านี้ได้เที่ยวแยกย้ายกันสร้างบ้านแปลงเมือง ต้องสู้รบกับเจ้าของที่มาอยู่ก่อน คือพวกมอญและเขมร บางคราวก็แพ้ บางคราวก็ชนะ จนราวพุทธศตวรรษที่ 16 ไทยตั้งอาณาจักรเป็นปึกแผ่นขึ้นในลานนาภาคเหนือและพายัพของประเทศปัจจุบันนี้ นักประวัติศาสตร์กะระยะกาลตอนนี้ว่า เริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 16-18 เรียกว่า สมัยเชียงแสนรุ่นแรกระยะหนึ่ง เริ่มตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18-21 เรียกว่า สมัยเชียงแสนรุ่นหลังระยะหนึ่ง แต่ที่จะกล่าวในที่นี้มุ่งเฉพาะแต่สมัยเชียงแสนรุ่นแรก ในระหว่างที่ไทยมาอยู่ในดินแดนใหม่ดังกล่าวนี้ ไทยนับถือพระพุทธศาสนาติดเนื่องมาตั้งแต่ยังอยู่ในอาณาจักรอ้ายลาว และเมื่อได้รับอารยธรรมจากพวกมอญกับเขมร ก็คงจะได้นับถือพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทตามแบบมอญกับพระพุทธศาสนาลัทธิมหายานตามแบบเขมรด้วย ในระยะนี้จึงเรียกได้ว่านับถือรวมๆกันไป (ในสมัยแผ่นดินพระเจ้ากือนา เมืองเชียงใหม่ พ.ศ.1910 ปรากฏว่าพระมหาเถระองค์หนึ่งชื่อพระจันทเถระ ได้ประกอบพิธีสาธยายคัมภีร์มหาโยคีมัตรประเภทบนดอยสุเทพ เพื่อขอให้มีปัญญาประสิทธิ พิจารณาตามเค้าเงื่อนแล้ว  ดูเป็นคัมภีร์มหายานนิกายมนตรยานชัดๆทีเดียว แสดงว่าลัทธิมหายานแม้จะสาบสูญมาก่อนหน้าช้านาน แต่ยังมีร่องรอยติดค้างอยู่จนถึงสมัยศตวรรษที่ 18 นี้) แต่อิทธิพลของลัทธิเถรวาทมีสูงกว่าลัทธิมหายานมาก ครั้นตกราวพุทธศตวรรษที่ 16 ทางประเทศพม่า พระเจ้าอโนรธาได้เป็นใหญ่ครองพุกาม แล้วแผ่อานุภาพลงมาตีเมืองสุธรรมสดีของมอญแตก แผ่ขยายอำนาจเข้ามาปกครองหัวเมืองมอญในภาคเหนือของไทยกับภาคพายัพของไทยด้วย อาณาจักรไทยเช่นเมืองไชยปราการ ในท้องที่เมืองฝางปัจจุบันก็พลอยแตกในตอนนี้ เป็นเหตุให้ไทยซึ่งรวมกำลังกล้าแข็งแล้วกลับทรุดลงระยะหนึ่ง แต่กลับได้อพยพลงมาทางภาคกลางมากขึ้น มีความเห็นของนักโบราณคดีบางท่านว่าพระเจ้าอโนรธาถึงกับสามารถตีอาณาจักรเขมรในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย และว่าเมืองนครปฐมต้องร้างไปเพราะศึกพม่าคราวนี้ พวกพม่าแต่เดิมทีก็นับถือพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาท ต่อมาลัทธิมหายานกลับเจริญข่มรัศมีลัทธิเถรวาทลงมา ถีงสมัยพระเจ้าอโนรธา พวกมหายานนิกายมนตรยานแพร่หลายเข้ามาจากแคว้นเบงกอลเข้ามาในพุกามมากขึ้น และเป็นนิกายมนตรยานรุ่นปลายๆ ซึ่งปฏิบัติเลอะเทอะด้วยเอาลัทธิตันตระของฮินดูเข้ามาปะปนมาก ถึงกันพระสงฆ์อาจมีภริยาและดื่มสุราเมรับได้ ใครถวายธิดาให้พระสงฆ์เหล่านี้เป็นเมียก็ถือว่าได้บุญ พระเจ้าอโนรธาไม่พอพระทัยวัตรปฏิบัติอันเป็นสัทธรรมปฏิรูปชนิดขัดแย้งกับพระพุทธวจนะอย่างกลับหน้าเป็นหลังอย่างนี้ เมื่อตีได้อาณาจักรมอญ ซึ่งเป็นอู่ความเจริญของพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทสืบเนื่องมาแต่ครั้งพระโสณะพระอุตตระ ก็บังเกิดความเลื่อมใสในลัทธินี้ จึงทรงรับเป็นศาสนูปถัมภ์ฟื้นฟูพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทให้รุ่งเรืองขึ้น โดยมีเมืองพุกามเป็นศูนย์กลาง เพราะฉะนั้นในตอนนี้พม่าจึงเป็นแหล่งสำคัญของความพัฒนาแห่งพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทซึ่งได้ขยายเข้ามาในประเทศไทยด้วย ดังปรากฏโบราณสถานพระเจดีย์เจ็ดยอดเมืองเชียงใหม่ ซึ่งสร้างถ่ายแบบจากพระเจดีย์มหาโพธิเมืองพุกาม ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่า พระเจดีย์มหาโพธินี้ พระเจ้าติโลมินโล กษัตริย์พุกามโปรดให้ไปถ่ายแบบสร้างจากปรางค์พุทธคยาในอินเดีย เมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ 17 เวลานั้นอาณาเขตทางลานนายังตกเป็นประเทศราชของพุกามอยู่ นักประวัติศาสตร์จึงกล่าวถึงพระพุทธศาสนาในประเทศไทยยุคนี้ว่า “เถรวาทอย่างพุกาม” แต่ตามความเห็นของข้าพเจ้า ไม่อยากจะจัดระยะกาลอันนี้เป็นเหตุพิเศษจนถึงกับจัดเข้าเป็นยุคเป็นสมัย ทั้งนี้เพราะพระเจ้าอโนรธาก็ได้พระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทจากมอญเอง เพียงแต่ว่าเวลานั้นมอญแพ้พม่า ความสำคัญของศาสนาก็ไปอยู่ที่ผู้ชนะซึ่งเป็นผู้เลื่อมใสในลัทธิเถรวาทอยู่ ด้วยเอาเป็นธุระให้เจริญเท่านั้น

9 ลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์

          ประเทศลังกาหรือสิงหลนับถือพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทสืบมาแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชเหมือนกับทางสุวรรณภูมิ พระพุทธศาสนาในลังกาก็มีเจริญบ้าง เสื่อมบ้างเช่นกับประเทศอื่นๆ ครั้นตกราวพุทธศตวรรษที่ 17 พระเจ้าปรักกรมพาหุได้เป็นใหญ่ในลังกา ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์ มีการทำสังคายนาพระธรรมวินัยซึ่งนับเป็นหนที่ 7 ในตำนานสังคายนาของฝ่ายเถรวาท กิตติศัพท์แพร่หลายมาถึงประเทศพม่า มีพระสงฆ์จากพุกามและมอญออกไปศึกษาเล่าเรียนในลังกา และได้อุปสมบทใหม่ในคณะสงฆ์ลังกา แล้วพาคณะซึ่งมีทั้งพระสงฆ์พุกามและมอญที่บวชใหม่กับพระสงฆ์ลังกากลับมาเมืองพุกามและเมืองมอญ ตั้งเป็นคณะลังกาวงศ์ขึ้น ก็ได้รับความนับถือเสื่อมใสจากพระราชาและประชาชน จึงเจริญรุ่งเรืองขึ้น พระสงฆ์พวกเก่านับวันก็ค่อยๆหมดไปโดยพฤตินัย ครั้งนั้นมีคณาจารย์ในลังกานี้รูปหนึ่งชื่อพระราหุล เป็นชาวลังกา ได้จาริกจากพุกามมาตั้งคณะลังกาวงศ์ขึ้นที่เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งยังเรียกชื่อว่าเมืองตามพรลิงค์ มีกษัตริย์มลายูเชื้อสายศรีวิชัยปกครองอยู่ คณะสงฆ์ลังกาวงศ์ที่เมืองนครฯ ก็เจริญขึ้นเหมือนที่พุกาม เป็นเหตุให้แพร่หลายสู่ประเทศไทยและกัมพูชาในกาลต่อมา

10 มหายานรุ่งโรจน์ครั้งสุดท้าย

          พวกพุกามปกครองอาณาจักรทางลานนาอยู่ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ก็หมดอำนาจพวกมอญกลับได้เป็นใหญ่ขึ้นในภูมิภาคนี้ ทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาพวกเขมรก็กลับฟื้นอำนาจขึ้นใหม่ แต่มาถึงชั้นนี้อิทธิพลทั้งมอญและเขมรหมดฤทธิ์ลงไปมากแล้ว บ้านเมืองต่างๆในอาณาเขตปรากฏว่ามีไพร่บ้านพลเมืองเสียแหละมาก จนถึงกับต้องตั้งคนไทยให้เป็นเจ้าเมืองปกครองกันเอง แต่ขึ้นอยู่กับมอญหรือเขมรทำนองประเทศราชก็มี และบางครั้งก็ต้องใช้วิธีผูกน้ำใจกับไทย ยกธิดาให้แต่งงานกับเจ้าเมืองไทยก็มี เรื่องราวของมอญในตอนนี้มีทางทราบได้น้อย แต่เรื่องราวของเขมรปรากฏว่า นับตั้งแต่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์นักก่อสร้างมหาราชองค์สุดท้ายของกัมพูชา (พ.ศ.1724-1748) ได้เบ่งอำนาจของเขมรให้ถึงจุดสว่างโพลงอีกเป็นวาระสุดท้าย พระองค์เป็นมหายานพุทธมามกะที่เคร่งครัด ทรงเลื่อมใสในพระพุทธไภษัชยคุรุเจ้ายิ่งนัก โปรดให้สร้างพระปฏิมาโลหะขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก อุทิศบูชาพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ ซึ่งต่อมาเรียกกันในพวกนักนิยมพระเครื่องในเมืองไทยว่า “กริ่งพระปทุม” (สร้างกันบ้างแล้วในสมัยสุริยวรมันที่ 1) ทรงสร้างพระพุทธปฏิมา “ชยพุทธมหานาถ” พระราชทานไปประดิษฐานบูชาตามหัวเมือง 23 แห่ง. ทรงสร้างปราสาทพระขรรค์ประดิษฐานพระปฏิมาพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ทรงสร้างปราสาทตาพรหมประดิษฐานพระปฏิมาพระปรัชญาปารมิตาโพธิสัตว์ และทรงสร้างปราสาทบายนประดิษฐานพระพุทธรูปฉลองพระองค์เอง โปรดให้สร้าง “อโรคยาศาลา” ทั่วพระราชอาณาจักรถึง 102 แห่ง แปลว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ฟื้นฟูลัทธิมหายานในคาบสมุทรนี้เป็นการมโหฬาร แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเมื่อพระองค์สวรรคตลง ลัทธิมหายานก็เสื่อมโทรมลงทันที และพร้อมกันนั้นอำนาจราชศักดิ์ของเขมรก็เป็นอันยุติลงไปด้วย ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้มีชนไทยประกาศปลดแอกจากเขมรตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้นพร้อมๆกับทางลานนาก็มี ไทยอีกพวกหนึ่งปลดแอกจากพวกมอญตั้งอาณาจักรเชียงใหม่ขึ้น

11 พระพุทธศาสนาสมัยสุโขทัย

          ในราว พ.ศ. 1800 บคคลชั้นนำของไทยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือพ่อขุนบากลางท่าว ได้ประกาศเอกราช ขับไล่อิทธิพลของเขมรออกไป แล้วตั้งนครสุโขทัยเป็นราชธานี พ่อขุนบางกลางท่าวได้พระนามว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เชื้อวงศ์ของพระองค์ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกง่ายๆว่า วงศ์พระร่วง ได้สืบสายต่อมาอีกราว 121 ปี จึงเสียเอกราชให้กับไทยอยุธยาเมื่อ พ.ศ.1921 พระพุทธศาสนาในยุคสุโขทัยนี้คงมีทั้งลัทธิเถรวาท ,ลัทธิมหายานปะปนกัน จนถึงรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงกษัตริย์องค์ที่ 3 ของวงศ์พระร่วง (1820-1860) พระองค์เป็นมหาราชที่สามารถแผ่อำนาจของไทยออกไปโดยกว้างขวาง ตอนเหนือจดถึงหลวงพระบาง ตอนตะวันออกจดถึงฝั่งแม่น้ำโขง ตอนตะวันตกได้ประเทศมอญไว้ในอำนาจ และทางใต้แผ่ถึงแหลมมลายู ซึ่งนับว่าเป็นความสามารถอย่างมหัศจรรย์ ในการที่ประเทศไทยเพิ่งจะมีเอกราชใหม่ๆ ชั่วระยะไม่กีสิบปี ก็สามารถมีดินแดนไพศาลอย่างนี้ ผลแห่งการขยายจักรวรรดิของไทยครั้งนี้ ได้กระเทือนอำนาจของอาณาจักร ซึ่งเคยใหญ่โตมาก่อน 3 อาณาจักร คือ ทางตะวันตกได้แก่อาณาจักรมอญ อาณาจักรนี้ตกเป็นประเทศราชของไทยเลยทีเดียว อาณาจักรเขมรเท่ากับถูกตัดแขนขาหมด เหลือแต่ดินแดนซึ่งเป็นประเทศดั้งเดิมของตน อาณาจักรศรีวิชัยถึงกับดับสูญทีเดียว ทั้งนี้เพราะบนคาบสมุทรอิทธิพลไทยบีบกระชัยลงไป ได้บรรดาหัวเมืองที่ขึ้นแก่ศรีวิชัยถึงกับดับสูญทีเดียว ทั้งนี้เพราะบนคาบสมุทรอิทธิพลไทยบีบกระชับลงไป ได้บรรดาหัวเมืองที่ขึ้นแก่ศรีวิชัยมาเป็นส่วนมาก ทางทะเลก็ถูกพวกมัชปาหิตในชะวารุกกระชับขึ้นมา จักรวรรดิมหายานศรีวิชัยในสุมาตราจึงเป็นอันล้มโค่นลง น่าประหลาดที่ลัทธิมหายานเคยรุ่งเรืองในเวลาเกือบพร้อมๆกันทั้งในประเทศกัมพูชาและศรีวิชัย ต้องมีอันสลายลงในเวลาใกล้เคียงกันเหมือนกัน

          พ่อขุนรามคำแหงได้สดับกิตติคุณความเคร่งครัดของคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ที่เมืองนครศรีธรรมราช จึงโปรดให้นิมนต์คณะสงฆ์ลังกาขึ้นมาตั้งลังกาวงศ์ขึ้นที่กรุงสุโขทัย คณะสงฆ์ลังกาวงศ์พอใจอยู่ในที่วิเวกตามป่าเขาใกล้เมืองสุโขทัย สำหรับสะดวกแก่การบำเพ็ญพรต จารึกของพ่อขุนรามคำแหง มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวยกย่องคณะสงฆ์ลังกาวงศ์ว่า

          “เบื้องตะวันตกเมืองสุโขทัย มีอรัญญิก พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทานแก่มหาเถรสังฆราชปราชเรียนจบปิฎกไตร หลวก(คือรู้หลัก) กว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองนครศรีธรรมราชมา” เข้าใจว่าพระไตรปิฎกภาษาบาลีฝ่ายเถรวาทพร้อมทั้งอรรถกถา และปกรณ์วิเศษอื่นๆ ที่ใช้เป็นหลักฐานอยู่จนสืบมาบัดนี้ ไทยจะได้จากลังกาในระยะนี้เอง ก่อนหน้านี้ถึงลัทธิเถรวาทจะรุ่งเรืองในพวกมอญ ก็คงไม่มีพระไตรปิฎกสมบูรณ์ เพราะระคนปนกับคัมภีร์ฝ่ายมหายานบ้าง ฝ่ายศาสนาพราหมณ์บ้าง หรือว่าจะมีสมบูรณ์อยู่แล้วหายสาบสูญไป ดูก็ยังไม่ปรากฏเห็นเหตุผล จารึกพ่อขุนรามคำแหงได้พรรณนาความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวสุโขทัยต่อไปว่า

          คนในเมืองสุโขทัยนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัย ทั้งนี้ชาวเม่ชาวเจ้า ท่วยปั่วท่วยนางลูกเจ้าลูกขุนทั้งสิ้นทั้งหลายทั้งผู้ชายผู้หญิง ฝูงท่วยมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ทรงศีลเมื่อพรรษาทุกคน เมื่อออกพรรษากรานกฐินเดือนหนึ่งจึงบแล้ว ฯลฯ”

          ความศรัทธาปฏิบัติในศาสนกิจดังที่กล่าวจารึกนี้ได้กลายเป็นวัฒนธรรมอันหนึ่งของชาติไทยสืบมาแต่บัดนั้น นอกจากนี้ ยังได้เกิดพุทธศิลปะทางด้านการก่อสร้างสถูปวิหารและประติมากรรมซึ่งได้รับอิทธิพลจากลังกา แต่ไทยเรามาดัดแปลงจนเป็นแบบฉบับของเรา มุ่งโดยเฉพาะคือประติมากรรม ปรากฏว่ามีฝีมือสร้างงดงามถึงขีดสุด และได้จัดเป็นแบบช่างสกุล “สุโขทัย” ขึ้นศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี อาจารย์ประติมากรรมแห่งกรมศิลปกร ได้กล่าวชมเชยในหนังสือเรื่อง “ประติมากรรมไทย”ว่า

          “บัดนี้ขอให้ดูพระพุทธรูปซึ่งเป็นศิลปะสุโขทัยด้วยกัน สังเกตว่ารูปประติมากรรมนี้แสดงว่าเป็นศิลปะชั้นเยี่ยมฝีมือสมัยคลาสสิกอย่างที่ตำหนิไม่ได้ รูปและอาการสำแดงในทางจิตใจก็งามสมบูรณ์ ดูรูปประหนึ่งว่าประทับสงบนิ่งอยู่อย่างสง่าเสียนี่กระไร ไม่มีพระพุทธรูปที่ชนชาติใดผลิตขึ้นในยุคสมัยต่างๆจะเท่าเทียมซึ่งอาการสำแดงอันสมบูรณ์แห่งพระธรรมของพระพุทธศาสนายิ่งไปกว่าพระพุทธรูปสมัยนี้เลย” และพระพุทธรูปซึ่งอุดมด้วยวิจิตรศิลป์เอกอุตามที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กล่าวนี้ ในเมืองสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามฯ มีมากถึงกับในจารึกพรรณนาว่า

          “กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารส มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม (ราม=ขนาดกลาง) มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม มีปู่ครู มีเถร มีมหาเถร”

          จำเดิมแต่พระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ขึ้นมาประดิษฐานที่สุโขทัยแล้ว ลัทธิเถรวาทแบบมอญเก่าก็ดี ลัทธิมหายานก็ดี ค่อยๆสลายตัวเองหมดไป พระสงฆ์ทั้งไทยสุโขทัย, ไทยลานนา, เขมร,และมอญ พากันไปบวชเรียนในลังกามากขึ้น จึงทำให้เกิดสมณวงศ์แบบลังกาวงศ์ขึ้นหลายสาย สัมพันธ์กันโดยใกล้ชิด บางคราวก็นิมนต์พระคณาจารย์ชาวลังกามาเป็นอุปัชฌาย์ อุปสมบทกุลบุตรในแว่นแคว้นของตน ส่วนลัทธิเถรวาทแบบเก่าครั้งทวาราวดี และลัทธิมหายานต่างๆสลายลงไป จึงเป็นอันยุติได้ว่า ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-19 ประเทศต่างๆมีไทย, พม่า,เขมร,มอญ,ลาว ได้เปลี่ยนเป็นนับถือลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์หมด

          ลุถึงสมัยพระเจ้ามหาธรรมราชาลิไทย ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ 5 ในราชวงศ์พระร่วง (พ.ศ.1897-1919) ได้ทรงอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชชาวลังกา เข้ามาเป็นพระอุปัชฌายาจารย์ได้เสด็จออกผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดป่ามะม่วงอยู่ชั่วระยะกาลหนึ่ง เป็นการบำเพ็ญเนกขัมมบารมี เมื่อ พ.ศ. 1905 นับเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกของไทยซึ่งผนวชในพระพุทธศาสนาในขณะที่ขึ้นเสวยราชย์แล้ว พระมหาธรรมราชาลิไทยทรงศึกษาพระไตรปิฎกแตกฉานถึงกับสามารถพระราชนิพนธ์ “เตภูมิกถา” (เรียกกันปัจจุบันว่า ไตรภูมิพระร่วง) ซึ่งพรรณนาถึงเรื่องของกามภูมิ, รูปภูมิ, อรูปภูมิ, และกุศล ,อกุศลกรรมของส่ำสัตว์ที่จะพาให้ไปเสวยสุขหรือเสวยทุกข์ในภูมินั้นๆอย่างละเอียด ทรงรวบรวมจากหลักฐานที่มาต่างๆจากอรรถกถา, ฏีกา, ปกรณ์วิเศษรวม 30 คัมภีร์ แสดงว่าการศึกษาพระปริยัติธรรมในสมัยนั้นรุ่งเรืองมาก หนังสือไตรภูมิพระร่วงนี้จึงจัดได้ว่าเป็นวรรณคดีพระพุทธศาสนาในภาษาไทยเล่มแรก อนึ่ง พระปฏิมาพุทธชินราชเมืองพิษณุโลกก็ถือกันว่าสร้างขึ้นในแผ่นดินนี้ เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้ามหาธรรมราชาลิไทยแล้วสุโขทัยก็เสื่อมอำนาจลง ที่สุดต้องตกเป็นประเทศราชของไทยกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1921 และอีก60ปีเศษ ต่อมาก็ถูกผนวกเป็นหัวเมืองอันหนึ่งของราชอาณาจักรอยุธยา

12 พระพุทธศาสนาสมัยเชียงใหม่

          ในขณะที่ไทยทางลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาขับไล่อิทธิพลเขมร และสร้างอาณาจักรสุโขทัยขึ้นนั้นพี่น้องไทยทางภาคเหนือก็ได้ทำงานร่วมกัน โดยขับไล่อิทธิพลของมอญให้ออกจากกลุ่มแม่น้ำปิงด้วยปรากฏว่าในราว พ.ศ.1824 พระเจ้าเม็งราย เชื้อสายกษัตริย์ไทยเชียงแสนเก่า ได้รบชนะพญาญีกษัตริย์มอญซึ่งครองเมืองลำพูน ล้างอำนาจของมอญลงแล้วทรงเที่ยวสร้างบ้านแปลงเมืองรวบรวมไทยเป็นกลุ่มก้อนในปี พ.ศ. 1839 ทรงสร้างนครเชียงใหม่ขึ้นเป็นราชธานี ลัทธิเถรวาทลังกาวงศ์ได้แพร่หลายจากสุโขทัยและจากมอญขึ้นมาสู่ลานนาไทย แต่ยังไม่สู้จะเป็นหลักฐานมั่นคงนัก จนถึงแผ่นดินพระเจ้ากือนา (ภาษาบาลีผู้ศัพท์เป็น “กิลนา”) ซี่งเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ.1910 พระเจ้ากือนาส่งทูตไปนิมนต์พระอุทุมพรมหาสวามีคณาจารย์ลังกาวงศ์ที่เมืองนครพัน (คือเมืองเมาะตะมะ) ในประเทศมอญ เพื่อมาตั้งลัทธิลังกาวงศ์ที่เมืองเชียงใหม่ พระอุทุมพรมหาเถระส่งพระอนุเถระชื่ออานันทะขึ้นมาเมืองเชียใหม่ทำหน้าที่แทน พร้อมกันนั้นพระเจ้ากือนาส่งทูตมาของพระสุมนเถระชาวไทยสุโขทัยซึ่งเป็นศิษย์ของพระอุทุมพรมหาเถระเหมือนกัน ให้ช่วยกันไปตั้งลัทธิลังกาวงศ์ ทางสุโขทัยก็ส่งขึ้นไปให้ตามประสงค์ ลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ก็ตั้งมั่นรุ่งเรืองขึ้นจำเดิมแต่นั้นมา ตกในปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ปรากฏว่ามีพระสงฆ์ชาวเชียงใหม่หลายรูป และพระสงฆ์ชาวมอญ ชาวไทยอยุธยากับเขมรพากันไปอุปสมบทเล่าเรียนพระธรรมวินัยที่ลังกา เมื่อกลับมาแล้วก็แยกย้ายกันไปบำเพ็ญศาสนกิจตามชาติภูมิของตน ในรัชสมัยพระเจ้าติโลกราช ทรงเป็นอัครศานนูปถัมภ์ จัดให้มีการทำสังคายนาพระธรรมวินัยขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2020 ณ วัดมหาโพธาราม (วัดเจดีย์เจ็ดยอด) พระเถระเข้าประชุมราวร้อยรูป มีพระธรรมทินมหาเถระเป็นประธาน  1 ปีจึงสำเร็จ นับว่าเป้นการทำสังคายนาครั้งแรกในประเทศไทย จำเดิมแต่นั้นมาอาณาจักรเชียงใหม่ที่รุ่งเรืองเจริญด้วยการศึกษาพระปริยตธรรม จนมีนักปราชญ์พระเถระชาวลานนาหลายรูปสามารถรจนาคัมภีร์ปกรณ์วิเศษเป็นภาษาบาลี เช่นพระญาณกิตติ ผู้แต่งโยชนาอภิธรรม 7 คัมภีร์, โยชนามูลกัจจยนะ, โยชนาวินัย ในแผ่นดินพระเจ้าติโลกราชต่อกันกาบแผ่นดินพระเจ้ายอดเชียงราย และพระศิริมังคลาจารย์ ผู้รจนาคัมภีร์มังคลัตถทีปนี, ทีปนีเวสสันดรชาดก, จักรวาลทีปนี, ฎีกาสังขยาปกาสกะ, พระรัตนปัญญา, แต่งชินกาลมาลินีในแผ่นดินพระเจ้าพิลกปนัดดาธิราช (พระเมืองแก้ว) พ.ศ.2038-2068  ครั้นถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 จึงเสียอาณาจักรแก่พม่า ต่อจากนั้นไทยกับพม่าก็ผลัดกันปกครองเชียงใหม่ จนกระทั่งถึงสมัยกรุงธนบุรีจึงรวมเชียงใหม่เข้าไว้ในผืนแผ่นดินไทยด้วยกัน ในระหว่างเวลาที่ขึ้นอยู่กับพม่า ลานนาได้รับอิทธิพลศิลปะสถาปัตยกรรมจากพม่าด้วย

13 พระพุทธศาสนาสมัยกรุงศรีอยุธยา

          เมื่อไทยสุโขทัยอ่อนอำนาจลง ทางแคว้นสุพรรณภูมิ (อยู่ในท้องที่อำเภอจระเข้สามพัน จ.สุพรรณบุรี) ซึ่งเป็นแคว้นไทยในอำนาจสุโขทัย พระเจ้าอู่ทองเจ้าผู้ครองนครเห็นเป็นโอกาสที่จะประกาศอิสรภาพ ประจวบกับเกิดอหิวาตกโรคขึ้นในเมืองสุพรรณภูมิ พระเจ้าอู่ทองจึงอพยพราษฎรสร้างราชธานีขึ้นใหม่ที่ตำบลหนองโสน ในท้องที่เมืองอโยธยาเก่าของเขมรแต่ครั้งยังมีอำนาจ สร้างเป็นนครขึ้นให้ชื่อว่า “กรุงเทพทวาราวดีอยุธยาฯ” เฉลิมพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระรามาธิบดีฯ ประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับสุโขทัยเมื่อ พ.ศ.1893 กรุงศรีอยุธยาได้เป็นราชธานีของไทยอยู่ถึง417ปี มีวงศ์กษัตริย์ปกครอง 5 ราชวงศ์ รวมกษัตริย์ได้ 33 พระองค์ พระพุทธศาสนาในสมัยอยุธยาคงเป็นลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ตลอดระยะอันยาวไกลของอายุกรุงนี้ทำให้กรุงศรีอยุธยาอุดมด้วยวัดวาอารามสถูปเจดีย์ พระราชามหากษัตริย์ขุนนางข้าราชการตลอดจนราษฎร ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก นิยมกันทำบุญตักบาตรและสร้างวัดวิหารกันมาก ตลอดจนธรรมเนียมที่ถือว่าลูกชายจะต้องบวชเรียนอย่างน้อย 1 พรรษา เพื่อให้ได้รับการอบรมศึกษาจากพระศาสนา และเป็นการสนองคุณบิดามารดา ก็เกิดขึ้นในสมัยอยุธยา วัดเป็นทั้งโรงเรียนให้การศึกษาอักษรศาสตร์ตลอดจนวิชาอาชีพอื่นๆแก่กุลบุตร วัดเป็นสโมสรซึ่งประชาชนจะมีโอกาสพบปะสังสรรค์กันในวันทำบุญหรือวันเทศกาลนักขัตฤกษ์ วัดเป็นทั้งโรงพยาบาล เป็นทั้งที่ระงับคดีวิวาทของชาวบ้าน ชีวิตของชาวไทยสมัยอยุธยามีวัดและพระสงฆ์เป็นที่พึ่งที่พำนัก พระพุทธศาสนารุ่งโรจน์มากไม่แพ้สุโขทัยเลย จิตตกวีในสมัยอยุธยา ได้พรรณนาภาพแห่งความรุ่งโรจน์ของพระพุทธศาสนาในกรุงศรีอยุธยาว่า

อยุธยายศยิ่งฟ้า         ลงดินแลฤา

อำนาจบุญเพรงพระ    ก่อเกื้อ

เจดีย์ลอออินทร         ปราสาท

ในทาบทองแล้วเนื้อ    นอกโสม

ฯลฯ

พรายพรายพระธาตุเจ้า          เจียนจันทร แจ่มแฮ

ไตรโลกเลงคือโคม               ค่ำเช้า

พิหารระเบียงบรรพ์               รุจเรข เรืองแฮ

ฯลฯ

ศาลาอเนกสร้าง                   แสนเสา โสดแฮ

ธรรมาสนจูงใจเมือง              สู่ฟ้า

พิหารย่อมฉลักเฉลา              ฉลุแผ่น ไซ้นา

พระมาศเหลื้อมหล้า              หล่อแลง

          ในสมัยพระเจ้าบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. 1991-2031) ทรงดำเนินปฏิปทาคล้ายกับพระมหาธรรมราชาลิไทย คือเสด็จออกผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดจุฬามณี เมืองพิษณุโลกนานถึง 8 เดือน วรรณกรรมทางศาสนาในแผ่นดินนี้ที่ปรากฏชื่อเสียงคือ “มหาชาติคำหลวง” ซึ่งเป็นเรื่องของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อยังเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์สร้างทานบารมีอยู่

          ก่อนหน้านี้ปรากฏว่ามีสงฆ์ไทยไปบวชในลังกาในสำนักพระวันรัตมหาสามี แล้วพาพระลังกากลับเข้ามาเมืองไทย จึงเข้าใจว่าพระเจ้าบรมไตรโลกนาถจะได้ออกผนวชในคณะสงฆ์เชื้อสายนี้ ซึ่งความจริงก็เป็นลังกาวงศ์เหมือนกัน ครั้นถึงแผ่นดินพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ.2163-2171) สงฆ์ไทยที่เดินทางไปนมัสการปูชนียสถานเมืองลังกากลับมา ได้มาทูลเล่าตามคำบอกพระลังกว่า พระพุทธองค์เคยประทับรอยพระบาทไว้ที่เขาสุวรรณบรรพต ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยนี้เอง จึงโปรดให้มีการค้นคว้า หารอยพระพุทธบาทกันขึ้น ความจริงในสมัยสุโขทัยก็ได้มีการจำลองรอยพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฎ ประเทศลังกา มาสร้างไว้สักการะในประเทศไทยแล้ว แต่นี่เป็นกรณีพิเศษ เพราะทางลังกาอ้างว่าเป็นรอยพระพุทธบาทของจริง ในที่สุดจึงค้นพบรอยพระพุทธบาทดังกล่าวที่ไหล่เขาลูกหนึ่ง แขวงเมืองสระบุรี พระเจ้าทรงธรรมจึงโปรดให้สร้างเป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งของชาวไทย และแม้ชาวต่างประเทศนิยมกันไปนมัสการแต่ครั้งนั้นมา ลุถึงแผ่นดินพระเจ้าบรมโกษฐ์ (พ.ศ.2275-2301) ทางประเทศลังกาว่างสมณวงศ์ลง พระเจ้ากิตติศิริราชสิงหะเจ้าแผ่นดินลังกา โปรดให้ส่งทูตมาขอสมณวงศ์จากอยุธยาออกไปบวชชาวลังกา พระเจ้าบรมโกษฐ์จึงส่งพระอุบาลีเถระเป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ออกไปอุปสมกุลบุตรลังกาฟื้นฟูสมณวงศ์ขึ้นได้ดังประสงค์ คณะสงฆ์ลังกาซึ่งบวชกับคณะสงฆ์ไทย จึงมีชื่อเรียกว่า สยามวงศ์หรืออุบาลีวงศ์ นับเป็นนิกายใหญ่มีจำนวนพระมากยังเจริญสืบมาจนถึงบัดนี้ วรรณกรรมทางศาสนาสมัยอยุธยาที่เป็นภาษาบาลีมีน้อย หรืออาจจะมีแต่สาบสูญไปเมื่อคราวเสียกรุงครั้งหลังก็ได้ แต่ในภาษาไทยนอกจากมหาชาติคำหลวงที่สำคัญอื่นๆยังมีมาก เช่นกาพย์มหาชาติ พระราชนิพนธ์ของพระเจ้าทรงธรรม นันโทปนันทสูตรคำหลวง พระมาลัยคำหลวง ทั้งสองเรื่องนี้เป็นพระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศรในรัชสมัยพระเจ้าบรมโกษฐ์ บุณโณวาทคำฉันท์ของพระมหานาค วัดท่าทรายในแผ่นดินเดียวกัน ส่วนพุทธศิลปะในด้านสถาปัตยกรรมและประติมากรรม สมัยอยุธยาตอนปลายถือกันว่าเป็นยุคเสื่อมราชอาณาจักรอยุธยานี้ ได้ถึงแก่กาลพินาศจงเมื่อ พ.ศ.2310 ด้วยกองทัพพม่า

14 พระพุทธศาสนาสมัยกรุงธนบุรี

          สมัยนี้มีระยะเพียง 15 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ.2310-2325 พระเจ้ากรุงธนบุรีหรือเรียกกันโดยสามัญว่า พระเจ้าตากสินทรงกู้เอกราชของไทยให้กลับคืนดังเดิม ตั้งราชาธานีใหม่ที่กรุงธนบุรี นอกจากจะทรงเป็นนักรบที่แกล้วกล้า ยังทรงเป็นนักศาสนาที่เคร่งครัดด้วย ทรงปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน และทรงฟื้นฟูวัดวาอาราม รวมรวมพระสงฆ์ที่กระจัดกระจายคราวกรุงศรีอยุธยาแตกให้กลับคืนสู่วัดของตน และพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ก็เป็นอเนก ทรงกำจัดพวกสงฆอลัชชี ส่งเสริมบำรุงสงฆ์ผู้ปฏิบัติชอบ และโปรดให้รวบรวมคัมภีร์พระไตรปิฎก และปกรณ์วิเศษต่างๆซึ่งกระจัดกระจายเมื่อคราวเสียกรุง คัมภีร์ใดขาดหล่นหายไปก็ให้ไปขอฉบับจากต่างประเทศ มีประเทศเขมรเป็นต้นมาคัดลอก แต่น่าเสียดายว่ารัชสมัยสั้นเกินไป เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ.2325 นายสวนมหาดเล็ก สมัยกรุงธนฯ ได้แต่งโคลงสดุดีพระมหากษัตริย์องค์นี้ ซึ่งทำให้เราสามารถเห็นพระอัธยาศัยได้ว่า

“พระมามอบชีพช้อน   ชีพิต

อวยโภชน์ทานอุทิศ    ทั่วได้

อเนกบริจาคนิตย์        สนองศาส-นานา

ธรณิศหวาดไหวไหว้   เชิดชี้ชมพล”

15 พระพุทธศาสนาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

          เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีสวรรคตแล้วสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกแม่ทัพเอกของไทย ได้ขึ้นเสวยราชสมบัติเมื่อ พ.ศ.2325 ตั้งพระราชวงศ์จักรีขึ้น โปรดให้ย้ายราชธานีมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือกรุงเทพพระมหานครหลวงของประเทศไทยบัดนี้ ทำพิธีปราบดาภิเษกเฉลิมพระนามาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามธิบดีฯ ซึ่งต่อไปจะกล่าวพระนามอันเป็นที่รู้จักทั่วไปว่า  พระสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงอยู่ในราชสมบัติตั้งแต่ พ.ศ.2325 ถึง พ.ศ.2352 รัชสมัยนี้นอกจากงานศึกสงครามป้องกันราชอาณาจักรแล้ว ทรงตั้งพระทัยที่จะสร้างกรุงเทพฯ ให้รุ่งเรืองเหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา โปรดให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามในเขตพระราชฐาน ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกต ซึ่งอัญเชิญมาจากเมืองเวียงจันทน์ โปรดให้สร้างวัดพระเชตุพนฯ เดิมเป็นเก่ามาก่อนซึ่งมีลักษณะวิจิตรพิสดารมาก สิ้นเวลาสร้างอยู่ถึง 7 ปีเศษ และบุรณปฏิสังขรณ์อารามทั้งในกรุงนอกรุงอีกหลายวัด โปรดให้รวบรวมอัญเชิญพระพุทธรูปโบราณบรรดาที่ชำรุดทรุดโทรมจากหัวเมืองต่างๆมีอยุธยา, ลพบุรี,พิษณุโลก, สุโขทัย, สวรรคโลก เป็นต้น จำนวน 1248 องค์ให้มาปฏิสังขรณ์ เก็บรักษาไว้ในพระอารามที่ทรงสร้างและบูรณะ และพระราชทานแก่วัดอื่นๆตามสมควร เมื่อ พ.ศ.2331 โปรดให้ประชุมพระมหาเถรานุเถระ มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประทานชำระสังคายนาพระไตรปิฎก ณ วัดพระศรีสรรเพ็ชรญาดาราม (คือวัดมหาธาตุเดี๋ยวนี้ เป็นวัดพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงปฏิสังขรณ์) เริ่มพิธีสังคายนา เมื่อวันเพ็ญเดือน12  ปีวอก พ.ศ.2331 สิ้นเวลา 5 เดือนก็สำเร็จบริบูรณ์ จำนวนพระมหาเถรานุเถระที่เข้าสังคายนา ประมาณ218 รูป และราชบัณฑิตอีก32 คน โปรดให้สร้างพระไตรปิฎกตามที่ได้สังคายนาไว้ในครั้งนั้นเป็นหลักฐาน ปิดทองทึบทั้งใบปกหน้าหลังและกรอบเรียกว่าฉบับทอง(ต่อมาเรียกกันว่า ฉบับทองใหญ่) มีจำนวนหนังสือปรากฏในฉบับนี้ คือ พระวินัย 80 คัมภีร์ พระสูตร 160คัมภีร์ พระอภิธรรม 61 คัมภีร์ สัททาวิเสส 53 คัมภีร์ รวม 354 คัมภีร์ เป็นหนังสือใบลาน 3686 ผูก และสร้างพระไตรปิฎกชุดอื่นๆพระราชทานให้เป็นที่เล่าเรียนตามอารามต่างๆอีกมาก การศึกษาพระปริยัติธรรมจึงกลับรุ่งเรืองขึ้น ในปี พ.ศ.2351 โปรดให้อัญเชิญพระมหาพุทธปฏิมา หน้าตัก 3 วาคืบ จากเมืองสุโขทัย มาประดิษฐาน ณ อารามที่จะทรงสร้างขึ้นใหม่ ท่ามกลางพระนคร พระพุทธรูปองค์นี้ภายหลังขนานพระนามว่า พระศรีศากยมุนี เป็นพระหล่อที่ใหญ่โตที่สุดในประเทศไทย บัดนี้ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารวัดสุทัศน์ฯ

          วรรณกรรมพากย์ไทยทางศาสนาที่สำคัญในรัชสมัยนี้ก็มีเรือง “ไตรภูมิโลกวินิจฉัย” ของพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) ซึ่งแต่งตามแนวไตรภูมิพระร่วง ฝ่ายภาษาบาลีก็มี “สังคีติยวงศ์”ของสมเด็จพระพนรัตวัดพระเชตพนเป็นต้น

          ลุถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2(พ.ศ.2352-2367) โปรดให้ส่งสมณทูตไปเจริญศาสนสัมพันธ์กับลังกา และโปรดให้จัดการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นแบบ 9 ประโยคขึ้นและทรงสถาปนาบำรุงพระสถูปวิหารอารามต่างๆอีกมาก กรุงเทพพระมหานครก็รุ่งเรืองไม่แพ้กรุงศรีอยุธยา จินตกวีในแผ่นดินนั้นพรรณนาเป็นภาพพจน์ออกมา ซึ่งมีอรรถรสไพเราะทำให้เห็นภาพความเจริญของพระศาสนาและบ้านเมืองได้อย่างแจ่มชัด

          นี้คือผลการบำรุงพระพุทธศาสนา และบ้านเมืองของรัชกาลที่ 1 และที่ 2

          ลุถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ (พ.ศ.2367-2394) กษัตริย์พระองค์นี้โปรดการสถาปนา บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามอย่างยิ่ง จึงมีวัดเกิดขึ้นมากในแผ่นดินนี้ ทั้งในกรุงและสถาปนา บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามอย่างยิ่ง จึงมีวัดเกิดขึ้นมากในแผ่นดินนี้ ทั้งในกรุงและตามหัวเมือง เมื่อ พ.ศ.2379 ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนเป็นการใหญ่ มีพระประสงค์จะให้วัดนี้เป็นมหาวิทยาลัยของสรรพวิชาซึ่งมีอยู่ในสมัยนั้น โปรดให้ผู้ทรงความรุ้ในวิชาด้านต่างๆ เช่นทางวรรณคดีและทางเวชชศาสตร์ ชำระรวบรวมความรู้ในวิชานั้นๆแล้วจารึกลงบนแผ่นหิน ติดไว้ตามผนังระเบียงศาลาในบริเวณวัด เพื่อการศึกษาของประชาชน

          อนึ่ง พระมหาธาตุเจดีย์ วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) บนฝั่งธนบุรี เป็นของเก่าเดิมเมื่อรัชกาลที่ 2 ได่เริ่มบูรณะเสริมไว้  การมาสำเร็จสมบูรณ์เมื่อรัชกาลที่ 3นี้ เป็นพระปรางค์ใหญ่สูง 1 เส้น 13 วาเศษ นับเป็นพระปรางค์สวยงามที่สุดในประเทศไทย ในรัชกาลนี้มีสมณทูตออกไปลังกา 2 คราว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ใฝ่พระทัยในเรื่องความรู้พระปริยัติธรรมมาก โปรดให้พระเถระและราชบัณฑิต แปลพระไตรปิฎกและปกรณ์วิเศษออกเป็นภาษาไทย เพื่อแพร่หลายความรู้ จึงเกิดหนังสือพระไตรปิฎกแปลร้อยในรัชกาลนี้หลายเรือง (แต่แปลไม่จบทั้ง 3 ปิฎก) อนึ่ง มีสมณทูตออกไปลังกาในรัชกาลนี้ 2 คราว

          ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งคือ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ พระอนุชา ซึ่งผนวชเป็นพระภิกษุตามพระราชประเพณี เมื่อ พ.ศ.2367 และทรงผนวชอยู่ถึง 27 พรรษา มีฉายาว่า “วชิรญาณมหาเถระ” ทรงศึกษารอบรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกอรรกถา ฎีกาและภาษาสันสกฤต ภาษาอังกฤษ  ได้ตั้งนิกายธรรมยุติกวงศ์ขึ้น เมื่อ พ.ศ.2372 นิกายนี้ได้เจริญมาโดยลำดับจนทุกวันนี้ คณะสงฆ์เดิมซึ่งมีปริมาณมากจึงมีชื่อเรียกว่า “มหานิกาย” สังฆมณฑลไทยจึงมี 2นิกายแต่บัดนั้นมา

          วรรณกรรมทางศาสนาภาไทยที่สำคัญ ในรัชกาลที่ 3 ก็มีพระปฐมสมโพธิกถา แปลและชำระโดยกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิดโนรส วัดพระเชตุพนเป็นต้น

          ลุถึงรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ (พ.ศ.2394-2411) ก่อนขึ้นเสวยราชย์คือ พระวชิรญาณมหาเถระบูรพาจารย์แห่งนิกายธรรมยุติกวงศ์ เสด็จลาผนวชจขึ้นเสวยราชย์เมื่อปี พ.ศ.2394 ในสมัยนี้กวดขันวัตรปฏิบัติของภิกษุสามเณรให้เคร่งครัด การศึกษาพระปริยัติธรรมเจริญยิ่งขึ้นกว่าแก่ก่อน การบริหารคณะสงฆ์ก็ทรงวางระเบียบใหม่หลายอย่าง โปรดให้ส่งสมณทูตไปลังกาคราวหนึ่ง นิกายธรรมยุติวงศ์ได้แพร่หลายออกไปถึงประเทศเขมรในระยะนี้ด้วย วรรณกรรมทางศาสนาภาษาบาลีที่สำคัญคือ “สีมาวิจารณ์” พระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 4 แต่ยังทรงผนวชอยู่ สำเร็จแล้วพระราชทานไปยังลังกา คณะสงฆ์ลังกาทุกนิกายในสมัยนั้นนิยมเสื่อมใสในวิทยาคุณของพระองค์มาก สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระนิพนธ์เรื่องหนึ่งชื่อ “สุคตวิทัตถิวิธาน” วัดสำคัญที่สร้างในรัชกาลนี้มีวัดราชประดิษฐ์ วัดปทุมวนาราม เป็นต้น อนึ่ง เมื่อ พ.ศ.2396 โปรดให้ปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุปฐมเจดีย์ โดยก่อเป็นพระสถูปใหญ่ห่อหุ้มองค์เดิม เป็นพระสถูปสูงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สูงราว 3 เส้นเศษ ฐานกลมโดยรอบราว 6 เส้นเศษ พระสถูปปฐมเจดีย์นี้ตบแต่งแล้วเสร็จเอาต่อเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6

          ลุถึงรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระปิยมหาราช (พ.ศ.2411-2453) ตลอดรัชสมัยอันยืดยาว 42 ปี ได้ทรงทะนุบำรุงประเทศชาติและพระศาสนาให้วิวัฒนาถาวรยิ่งขึ้น ในด้านศาสนจักร ทรงอาศัยพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ ซึ่งผนวชอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ภายหลังทรงกรมมีพระนามว่า กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส (ภายหลังในรัชกาลที่ 6 ได้รับมหาสมณุตตมาภิเษก เป้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยา) เป็นคู่พระบารมีในการบำรุงพระศาสนาให้รุ่งเรืองทั้งในด้านปริยัติธรรมและด้านปฏิบัติธรรม และโปรดให้ตั้ง “มหามงกุฎราชวิทยาลัย” ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางศึกษาปริยัติธรรมหน้าวัดบวรนิเวศวิหารแห่งหนึ่ง และตั้งศูนย์กลางศึกษาภาษาบาลีที่วัดมหาธาตุอีกแห่งหนึ่ง มหามกุฏราชวิทยาลัยได้ออกนิตยสาร “ธรรมจักษุ” พิมพ์เผยแพร่พระพุทธศาสนา ฉบับแรกออกเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2437 และยังคงพิมพ์ออกเผยแพร่อยู่จนทุกวันนี้ นับเป็นนิตยสารพระพุทธศาสนา ที่เก่าแก่อายุยืนที่สุดของไทย คือมีอายุจนถึงปี พ.ศ. 2500 นี้ได้ 67 ปี (แม้ว่าท่ามกลางเคยออกช้าไปแต่ก็ออกได้ตามปกติ เมื่อ พ.ศ.2431 โปรดให้ทำสังคายนาชำระพระไตรปิฎกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งของเดิมเป็นอักขระเขมรมาแต่โบราณ โปรดให้ถ่ายออกเป็นตัวอักษรไทย  แล้วโปรดให้พิมพ์เป็นเล่มหนังสือรวม 1000 จบ จบละ 39 เล่ม รวมเป็นสมุด 39,000เล่ม มาเสด็จเอาเมื่อ พ.ศ.2436 นับเป็นครั้งแรกของโลก ที่พระไตรปิฎกฝ่ายบาลีได้พิมพ์ครบถ้วนสมบูรณ์เป็นเล่มหนังสือ (ไม่ใช่จารลงใบลานเหมือนโบราณ) เป็นเกียรติยศของชาติไทยยิ่งนัก กิตติศัพท์ที่ประเทศไทยสามารถพิมพ์พระไตรปิฎกนี้ นานาชาติที่นับถือพระพุทธศาสนา และตามหอสมุดสถาบันศึกษาในต่างประเทศ ทั้งในยุโรปและอเมริกาได้ขอพระราชทานไปเพื่อศึกษา ก็โปรดพระราชทานให้ตามประสงค์ อนึ่งควรกล่าว ณ ที่นี้ด้วยว่า ในยุคนั้นพระพุทธศาสนากำลังเริ่มแพร่หลายในยุโรป ในประเทศอังกฤษ มีนักปราชญ์ที่คงแก่เรียน สนใจเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาชวนกันถ่ายพระไตรปิฎกออกเป็นอักษรโรมัน และแปลสู่ภาษาอังกฤษบางคัมภีร์ สมเด็จพระปิยมหาราชก็โปรดพระราชทานทรัพย์ออกไปจุนเจือ ในการตีพิมพ์สำเร็จ ใน พ.ศ.2445 โปรดให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ เป็นแบบแผนสืบมา วัดสำคัญที่ทรงสถาปนา มีวัดเบญจมบพิตร วัดราชบพิธ วัดเทพศิรินทราวาส วรรณกรรมทางศาสนาในรัชสมัยนี้ส่วนมากเป็นของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรจนาไว้เป็นแบบเรียนบ้าง เป็นงานค้นคว้าบ้างหลายเล่มด้วยกัน ทรงรจนาเป็นภาษาไทยส่วนมาก ทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาสะดวกสบายขึ้นกว่าเดิม

          ลุถึงรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ (พ.ศ.2453-2468) ในรัชสมัยนี้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้จัดให้มีการศึกษาพระปริยัติธรรมขึ้นอีกประเภทหนึ่ง คือ นักธรรม เพื่อจุดประสงค์อบรมภิกษุสามเณรที่มีโอกาสบวชเรียนน้อยวันแล้วลาสิกขาไป จะได้รับความรู้พระศาสนาพอสมควร การเรียนพระปริยัติธรรมแบบนี้ แม้ชาวบ้านก็นิยมเรียนด้วยเรียกว่า “ธรรมศึกษา”สมเด็จพระมงกุฎฯ พระราชนิพนธ์เรื่อง “เทศนาเสือป่า” และ “พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร” 2 เรื่อง

          ลุถึงรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ (พ.ศ.2468-2477)  ทรงอาราธนาสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ วัดราชบพิธ พร้อมด้วยคณาจารย์ทั้งหลายประชุมสอบทานพระไตรปิฎกฉบับรัชกาลที่ 5 ให้ละเอียดถี่ถ้วนอีกครั้งหนึ่ง แล้วโปรดประกาศชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ ประชาชน ช่วยกันออกทุนทรัพย์พิมพ์ร่วมพระราชกุศลพิมพ์พระไตรปิฎกขึ้นใหม่ จำนวน 1500 จบ จบละ 45 เล่ม เท่าพระชนม์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงธรรมโปรดสัตว์นับแต่กาลตรัสรู้แล้ว พระไตรปิฎกชุดนี้เรียกว่า “พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ” ซึ่งเป็นฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย และอาจพูดได้ว่า ในวงการพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทนี้ด้วย อนึ่ง การปกครองของประเทศ ได้เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เมื่อ พ.ศ.2475

          ลุถึงราชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (พ.ศ.2477-2489) ได้มีการเปลี่ยนการปกครองคณะสงฆ์ไทยโดยอนุโลมตามแบบรัฐสภาคือ มีคณะสังฆมนตรี, สมาชิกสังฆสภา รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยสมัยนี้ ได้สร้างวัดพระศรีมหาธาตุขึ้น ณ ตำบลบางเขนเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุซึ่งอัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย

          ลุถึงรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (เสวยราชย์เมื่อ พ.ศ.2489 ขอให้ทรงพระเจริญยืนนานเทอญ) ในรัชสมัยนี้รัฐยาลได้สร้างโรงพยาบาลสงฆ์ขึ้นที่พญาไท กรุงเทพฯ เพื่อถวายการรักษาพยาบาลภิกษุสามเณรอาพาธ ใน พ.ศ. 2489มหามกุฏราชวิทยาลัยได้จัดตั้งมหาวิทยาพระพุทธศาสนาขึ้น ให้ชื่อว่า “สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวัทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย” นับเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งแรกของประเทศ พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาททั้งปวง และเป็นแห่งแรกของไทยใน 25 พุทธศตวรรษนี้* ต่อมาทางวัดมหาธาตุก็ได้ตั้งมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาขึ้นให้ชื่อว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยจึงมี 2 แห่ง ต่างได้อำนวยความรู้แก่พระภิกษุสามเณรเป็นประโยชน์แก่พระศาสนาส่วนรวม และแก่ประชาชน  นับเป็ฯสัญลักษณ์แห่งความรุ่งโรจน์ของพระพุทธศาสนา ขอให้มหาวิทยาลัยทั้ง 2 จงเจริญ ในปี พ.ศ.2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชศรัทธา เสด็จออกผนวชตามพระราชประเพณีเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นพระอุปัชญายะ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ สมเด็จพระวันรัต สังฆนายก วัดเบญจมบพิตร เป็นพระอนุศาสนาจารย์ ทรงประทับ ณ วัดบวรนิเวศ บำเพ็ญเนกขัมมบารมีอยู่ 15 วัน จึงลาผนวช

*          เมื่อคราวฉลอง 25 พุทธศตวรรษ พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตรฯ เจ้าคณะใหญ่สงฆ์จีนนิกาย แห่งประเทศไทย พุทธฝ่ายมหายาน ได้ สร้างองค์คุรุปัทมสมภพ และองค์พระเมตตรัย ณ องค์พระปฐมเจดีย์ ทำให้พระพุทธศาสนาทั้งสามยานกลับมาประดิษฐานในดินแดนสุวรรณภูมิอีกครั้งหนึ่ง

16     ลัทธิมหายานในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

          แม้ลัทธิมหายานเสื่อมสูญไปจากประเทศไทยเมื่อพุทธศตวรรษที่ 18 แต่ความเชื่อถือบางอย่างอันเนื่องด้วยคติมหายานหาได้พลอยสูญไปไม่ เช่นการปรารถนาพุทธภูมิ  พุทธศาสนิกไทยซึ่งเคร่งครัดในศาสนาเวลาทำบุญมักอธิษฐานหวังพระโพธิญาณ  ความนิยมดังกล่าวเพิ่งจะจืดจางเมื่อในสมัยรัชกาลที่ 4 นี่เอง นอกจากนี้เรายังนับถือพระเจ้าแผ่นดินมีสถานะเป็นพระบรมโพธิสัตว์หน่อเนื้อพุทธางกูร บางพระองค์ที่บำเพ็ญประโยชน์แก่ราษฎรมาก ก็เลยได้รับยกย่องขึ้นเป็นพระพุทธเจ้าหลวง เช่นสมเด็จพระปิยมหาราชรัชกาลที่ 5 เป็นอาทิ อีกอย่างหนึ่ง ลัทธิมหายานมักจะถือว่าพระมกาเถราจารย์มี่มีบุญบารมีก็คือพระพุทะเจ้าหรือพระโพธิสัตว์ แบ่งภาคลงมาโปรดสัตว์ เช่นพวกทิเบตและมองโกล เขานับถือพระคณาจารย์สำคัญๆของเขาเป็นพระพุทธเจ้าทรงชีพพระมหาสังฆปรินายกของทิเบต ซึ่งมีสมณนามว่า “ทะไลลามะ” ก็ถือว่าเป็นอวตารของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ พระมหาสังฆปรินายกอีกองค์หนึ่งมีสมณนามว่า “ปันเชนลามะ” ก็ถือว่าเป็นอวตารของพระอมิตาภะพุทธเจ้าสามารถอวตารสืบตำแหน่งกัน รรมเนียมนิยมดังกล่าวนี้มีปรากฏอยู่ในประเทศไทย แต่ของเราไม่ถือแรงขนาดนั้น เพราะเปลี่ยนมานับถือลัทธิเถรวาทแล้วกล่าวคือเรายกย่องสมเด็จพระสังฆราชขึ้นเป็นพระพุทธเจ้า เรียกสังฆราชบัญชาเป็นพุทธฎีกา ดังจะยกตัวอย่างมาพอเป็นนิทัศนะอุทาหรณ์ในจารึกวัดป่าแดงสมัยสุโขทัย มีข้อความตอนหนึ่งว่า  “สารนี้พระบรมครูติโลกดิลกติรตนสีลคนธวนวาสีธรรมกิตติสังฆราชมหาสวามิเจ้า มีพุทธฎีกาดังนี้” ในสมัยกรุงธนบุรี ยังเรียกสมเด็จพระสังฆราชเป็นสมเด็จพระพุทธองค์ก็มี และในสมัยกรุงเทพฯนี่เองเมื่อรัชกาลที่ 3 ในสำเนาพระราชปุจฉา มีปุจฉาของกรมพระราชวังบวร มีข้อความว่า ตรัสให้เผดียงสมเด็จพระพุทธองค์ทรงวิสัชนา ดังนี้เป็นตัวอย่าง นอกจากนี้ยังมีพระสุตรบางสูตรซึ่งไม่ปรากฏมีในพระไตรปิฎกบาลีเลย เช่นพระอาการะวัตตาสูตร พระยอดพระกัณฑ์ไตรปิฎก เป็นต้น พระสูตรเหล่านี้พรรณนาอานิสงส์วิจิตรพิสดารนัก เช่นว่าเพียงบุคคลได้สวดสาธยายหรือได้จารคัดลอกไว้ เป็นบุญกิริยามโหฬารพันลึก ข้อนี้บ่งโดยชัดแจ้งว่าถือคติเนื่องมาแต่ลัทธิมหายานทีเดียว ที่สุดจนการนั่งสมถกัมมัฏฐานเชิญพระเข้าตัวเป็นต้น ก็ล้วนเป็นข้อปฏิบัติในลัทธิอันหนึ่งของฝ่ายมหายาน ฉะนั้นสรุปความตอนนี้ว่า ลัทธิมหายานคงมีออิทธิพลแทรกซึมอยู่ในความนิยมนับถือของทวยพุทธมามกชนไทยโดยไม่รู้ตัวว่า นั่นเป็นคติเนื่องในลัทธินั้นสืบทอดลงมาถึงสมัยปัจจุบันนี้

          ลัทธิมหายานได้เข้ามาตั้งมั่นในประเทศไทยอีกระยะหนึ่งโดยชาวพุทธญวนและจีนนำเข้ามา พระพุทธศาสนาที่แผ่เข้าไปในเมืองจีนส่วนใหญ่เป็นลัทธิมหายาน และเจริญตั้งมั่นอยุ่ในประเทศนั้น จนมีคณาจารย์จีนตั้งนิกายขึ้นหลายนิกาย(ความอ่านหนังสือ ปรัชญามหายาน ของข้าพเจ้าจะได้ความละเอียด) ส่วนญวนได้รับอารยธรรม วัฒนธรรมจากจีน จึงพลอยรับนับถือลัทธิมหายานจากจีนด้วย ในสมัยกรุงธนบุรี ประเทศญวนเกิดจลาจลมีเจ้านายเชื้อพระวงศ์ญวนและผู้คนบ่าวไพร่อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ญวนพวกนี้ได้พาเอาลัทธิมหายานที่ตนนับถือเข้ามาด้วย และได้สร้างวัดมหายานขึ้นเป็นปฐมที่ตำบลบ้านหม้อ และตำบลบ้านญวนบนฟากแผ่นดินตะวันออก ซึ่งต่อมาคือที่ตั้งของกรุงเทพฯ ครั้นถึงสมัยกรุงเทพฯรัชกาลที่ 1 มีเจ้านายญวนและบริวารอพยพเข้ามาอีก ญวนพวกนี้ได้มาสร้างวัดอีก 2 วัด ในแขวงกรุงเทพฯ เมื่อรัชกาลที่ 3 พวกญวนอพยพเข้ามาอีก ทีทั้งพวกที่นับถือพระพุทธศาสนา และพวกถือศาสนาคริสต์  พวกที่นับถือพระพุทธศาสนาได้มาสร้างวัดขึ้นอีก 3 วัด อยู่แขวงกรุงเทพฯ วัดหนึ่ง อยู่เมืองกาญจนบุรีวัดหนึ่ง แลเมืองจันทบุรีวัดหนึ่ง ต่อมาพวกจีนซึ่งนับถือลัทธิศาสนาอันเดียวกันกับญวนได้ช่วยกันสร้างอีก 4 วัด ครั้นลุถึงสมัยรัชกาลที่ 5มีพระจีนเข้ามาจากเมืองจีนรูปหนึ่งชื่อ อาจารย์สกเห็ง มีกิตติคุณทางวิปัสสนาธุระเป็นที่เลื่อมใสของพวกจีน ตลอดจนชาวไทย (เมื่อได้รับที่ดินพระราชทาน ฤทธิชัย) จึงได้บอกบุญเรี่ยไรจากพุทธศาสนิกชนทั่วไปสร้างวัดมังกรกมลวาส)(เล่งเน่ยยี่) ขึ้นที่กรุงเทพฯ นับเป็นวัดมหายานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แล้วไปสร้างที่เมืองฉะเชิงเทราอีกวัดหนึ่ง( วัดจีนประชาสโมสร ฤทธิชัย) ในรัชกาลที่ 5 นี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระญวนพระจีนสมณศักดิ์ฝ่ายญวนรูปแรกคือ พระครูคณานัมสมาณาจารย์(องฮึง) วัดอุภัยราชบำรุง ตำบลตลาดน้อย ฝ่ายจีนคือ พระอาจารย์จีนวังสมาธิวัตร(สกเห็ง) วัดมังกรกมลาวาส ต่อมาโปรดให้มีตำแหน่งฐานานุกรมขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย ลัทธิมหายานในประเทศไทยจึงมี 2 นิกายคือฝ่ายอนัมนิกายหนึ่ง ฝ่ายจีนนิกายหนึ่ง นับตั้งแต่บัดนั้น ลุถึงสมัยรัชกาลที่ 9 นี้ พระอาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร (โพธิ์แจ้ง)(สมณศักดิ์ในขณะนั้น ฤทธิชัย) เจ้าคณะใหญ่ฝ่ายจีนนิกาย ได้สร้างวัดจีนขึ้นอีกวัดหนึ่ง ชื่อวัดโพธิ์เย็น ที่อำเภอท่ามะกา กาญจนบุรี เป็นวัดจีนวัดแรกที่ได้ผูกพัทธสีมาเป็นหลักฐาน คณะสงฆ์จีนภายใต้การนำของพระอาจารย์รูปนี้เจริญรุ่งเรืองมาก เป็นที่เสื่อมใสของพุทธบริษัทไทย-จีน อนึ่ง พระจีน พระญวนได้เข้ามาประกอบพีธีหลวง มีพิธีกงเต็กในงานพระบรมศพเป็นต้นแต่รัชกาลที่ 4 จึงนับว่าเป็นเกียรติยศแก่ลัทธินี้ นอกจากนี้ยังมีพุทธบริษัทจีนช่วยกันตั้งสมาคมเผยแผ่ลัทธิมหายานอีกหลายสมาคม ที่สำคัญคือ พุทธสมาคมตงฮั้ว พุทธสมาคมเล่งฮั้วในกรุงเทพฯ เป็นต้น โดยปกติแล้วคนไทยก็นับถือทั้งฝ่ายจีนนิกายอนัมนิกายรวมๆกันไป เพราะเห็นว่าเป้นพระพุทธศาสนาอันเดียวกัน