ถอดเทปพระธรรมเทศนา

  • พิมพ์

เทป062

พระพุทธคุณบทว่าสัมมาสัมพุทโธ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

* 

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๗๘/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๗๙/๑ ( File Tape 62 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระพุทธคุณบทว่าสัมมาสัมพุทโธ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

จะแสดงพระพุทธคุณบทที่ ๒ สัมมาสัมพุทโธ นำสติปัฏฐาน

เพื่อให้สำเร็จเป็นพุทธานุสสติระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า

พระพุทธคุณบทนี้เป็นพระพุทธคุณบทใหญ่คู่กับบทว่า อรหํ หรือ อะระหัง

และมักจะเรียกควบกันอยู่เสมอ ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

อรหันตะก็มาจากอะระหัง

 

อรหัง อรหันต์

 

คำว่า อะระหัง นี้ก็มีความเป็นอย่างเดียวกันกับ อะระหันตะ หรืออรหันต์

แต่ว่าในทางพูดเรียกสำหรับพระพุทธเจ้าก็ใช้ว่า อะระหัง

ถ้าเป็นพระสาวกใช้ว่า อะระหันตะ หรือ อรหันต์ เพื่อให้ต่างกัน

แม้ในบทสวดภาษาบาลีแห่งพระพุทธคุณทั้ง ๒ นี้

เราทั้งหลายก็สวดว่า อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ

แต่ว่าในเวลาพูดเป็นภาษาไทย ก็ไม่พูดกันว่าพระอะระหังสัมมาสัมพุทธเจ้า

แต่มักพูดกันว่าพระอะระหันตะสัมมาสัมพุทธเจ้า

เพราะใช้พูดกันอย่างนี้ รู้สึกว่าเต็มปากเต็มคำ และถนัด

จึงนิยมพูดในภาษาไทยกันว่าพระอะระหันตะสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

แต่ว่าภาษาบาลีของท่านนั้น อะระหังสำหรับพระพุทธเจ้า

อะระหันตะหรืออรหันต์สำหรับพระสาวก แต่อรรถะคือเนื้อความก็เป็นอย่างเดียวกัน

จึงควรที่จะเข้าใจความหมายของพระพุทธคุณบทนี้

ซึ่งประกอบด้วยคำว่า สัมมา สัง และ พุทธะ

สัมมา นั้นแปลว่าโดยชอบ สัง แปลว่า สามัง คือเอง พุทธะ ก็ตรัสรู้

รวมกันเป็นสัมมาสัมพุทธะที่แปลว่าผู้ตรัสรู้โดยชอบและเอง

หรือแปลว่าผู้ตรัสรู้เองโดยชอบก็ได้

 

สัมมัตตะ ๑๐ ประการ

 

คำว่าโดยชอบนี้มีความหมายถึงว่า

ความตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นความตรัสรู้โดยชอบคือถูกต้อง

และมีความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นความตรัสรู้โดยชอบที่มีพยาน

หรือผู้รับรองในความตรัสรู้นั้น ว่าเป็นความตรัสรู้โดยชอบหรือถูกต้อง

ความหมายประการแรกว่าโดยชอบหรือถูกต้อง

ก็หมายถึงว่า ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นเป็นความถูกต้อง

ที่อาจยกเอา สัมมัตตะ คือความเป็นสิ่งถูกต้อง หรือความเป็นสิ่งชอบ

ซึ่งได้ตรัสแสดงไว้ ๑๐ ประการ

 

คือมรรคมีองค์ ๘ อันได้แก่สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ

สัมมาสังกัปปะความดำริชอบ ทั้ง ๒ นี้รวมเข้าเป็นปัญญา

สัมมาวาจาเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะการงานชอบ

สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ ๓ นี้รวมเข้าเป็นศีล

สัมมาวายามะเพียรชอบ สัมมาสติระลึกชอบ สัมมาสมาธิตั้งใจชอบ

๓ นี้รวมเข้าเป็นสมาธิ หรือจิตตสิกขา

 

จึงรวมเข้าเป็นปัญญาหรือปัญญาสิกขา

รวมเข้าเป็นศีลหรือสีลสิกขา รวมเข้าเป็นสมาธิหรือจิตตสิกขา นี้เป็น ๘

กับอีก ๒ คือ สัมมาญาณะ ความหยั่งรู้ชอบ สัมมาวิมุติ ความพ้นชอบ

( เริ่ม ๗๙/๑ ) สัมมาญาณะความหยั่งรู้ชอบนั้น ก็อาจยกญาณ ๓ ขึ้นแสดงได้

คือญาณความหยั่งรู้ที่ระลึกขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในกาลก่อน คือระลึกชาติได้

ญาณที่หยั่งรู้ความจุติคือความเคลื่อน อุปบัติคือความเข้าถึงภพชาตินั้นๆของสัตว์ทั้งหลาย

และญาณคือความหยั่งรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดาน

สัมมาวิมุติหรือวิมุติความหลุดพ้นชอบ ก็คือความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงสิ้นเชิง

รวมเป็นสัมมัตตะคือความเป็นสิ่งชอบหรือถูกต้อง

พระพุทธเจ้าตรัสรู้โดยชอบ ก็โดยเป็นสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบเป็นต้น เหล่านี้

 

ส่วนอีกความหมายหนึ่งที่กล่าวว่า

ความตรัสรู้ชอบของพระองค์นั้นมีพยาน หรือผู้รับรอง

ก็ได้แก่หมู่แห่งสาวกคือผู้ฟังซึ่งเป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า

ซึ่งได้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า ก็เป็นพยานในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

เป็นผู้รับรองในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ว่าพระองค์ได้ตรัสรู้โดยชอบจริงคือถูกต้อง

ความตรัสรู้ของพระองค์มิใช่เป็นของเทียมหรือไม่จริง แต่เป็นความตรัสรู้จริงคือถูกต้องจริง

ชอบหรือถูกต้องนั้นก็คือชอบหรือถูกต้องต่อความจริงทุกประการ

ที่เรียกว่าบริสุทธิ์คือหมดจดจากความผิดพลาด ไม่มีความผิดพลาดแม้แต่น้อย

บริบูรณ์ก็คือเต็มที่ไม่มีบกพร่องแม้แต่น้อย

สัจจะที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้น บริสุทธิ์คือหมดจดถูกต้องทั้งหมด บริบูรณ์คือเต็มที่ทั้งหมด

ไม่มีบกพร่อง หรือจะเรียกว่าไม่มีขาดไม่มีเกิน บริสุทธิ์บริบูรณ์เต็มที่ ดั่งนี้คือความเป็นสิ่งที่ชอบ

ซึ่งหมู่แห่งสาวกผู้ฟังคือศิษย์ของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้ตรัสรู้ตามพระองค์ ก็ได้รับรองได้เป็นพยาน

ดังที่ได้ปรากฏในความรู้ของหมู่แห่งสาวกของพระพุทธเจ้า ซึ่งได้ตรัสรู้ตามพระองค์ว่า

อโหพุทโธ โอหนอพระพุทธเจ้า อโหธัมโม โอหนอพระธรรม อโหสังโฆ โอหนอพระสงฆ์

คือพระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้าจริงๆ พระธรรมก็เป็นพระธรรมจริงๆ

พระสงฆ์ก็เป็นพระสงฆ์จริงๆ

 

เพราะฉะนั้น คำว่าสัมมาสัมพุทโธที่แปลว่าผู้ตรัสรู้โดยชอบและเอง

จึงมีความหมายถึงพระพุทธเจ้า ซึ่งได้ประกาศพระพุทธศาสนา มีหมู่แห่งสาวกได้ตรัสรู้ตาม

ได้ตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นในโลก และได้เรียกพระพุทธเจ้าซึ่งได้ตรัสรู้เอง

แต่มิได้ทรงแสดงธรรมะสั่งสอน ตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นในโลก ว่าพระปัจเจกพุทธะ

คือพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้จำเพาะพระองค์เอง

ส่วนพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองแล้ว ยังสอนผู้อื่นให้ตรัสรู้ตาม

ตั้งพระพุทธศาสนาขึ้นในโลก ก็เรียกว่าสัมมาสัมพุทธะ

 

ดังที่ได้มีแสดงพระพุทธะไว้ ๓

คือพระสัมมาสัมพุทธะ พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ซึ่งได้สั่งสอนผู้อื่นให้ตรัสรู้ตาม

พระปัจเจกพุทธะ พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้จำเพาะพระองค์ผู้เดียว

และพระสาวกะพุทธะ หรือพระอนุพุทธะ คือพระพุทธะ คือพระผู้ตรัสรู้ตาม

ได้แก่หมู่แห่งพระสาวกซึ่งได้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า ก็เป็นพุทธะจำพวกที่ ๓

อันเรียกว่าพระอนุพุทธะ

 

เพราะฉะนั้น จึงเห็นว่าคำว่าสัมมานี้มีความหมายถึงว่าได้มีผู้อื่นรับรองเป็นพยาน

ก็โดยที่พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้โดยชอบเอง ได้ทรงสั่งสอนให้ผู้อื่นตรัสรู้ตามได้

ก็คือพระสงฆ์สาวกผู้ตรัสรู้ตามพระพุทธเจ้า

พระสงฆ์สาวกนี่เองก็เป็นพยานรับรองความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

ได้เห็นพระพุทธเจ้า ดังที่มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้แปลความว่า

ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ดั่งนี้

 

คำว่า สัง แปลว่า สามะ คือเอง

ก็มีความหมายว่า ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้านั้นผุดขึ้นเองแก่พระองค์

ดังที่ได้มีแสดงไว้ในปฐมเทศนาที่ตรัสไว้เองว่า จักขุคือดวงตา ญาณคือความหยั่งรู้

ปัญญาคือความรู้ทั่วถึง วิชชาคือความรู้แจ่มแจ้ง อาโลกะคือความสว่าง

บังเกิดผุดขึ้นในธรรมะทั้งหลายที่มิได้เคยทรงสดับฟังมาก่อน

พระพุทธภาษิตที่ตรัสแสดงไว้นี้ แสดงว่าความตรัสรู้ของพระองค์นั้นผุดขึ้นเอง

พระองค์จึงเป็นผู้ตรัสรู้เอง และในปฐมเทศนานั้นเองก็ได้ตรัสแสดงถึงความตรัสรู้ของพระองค์

ว่าพระองค์ได้ตรัสรู้อะไร ซึ่งมีความโดยย่อว่า

 

จักขุคือดวงตาอันหมายถึงดวงตาใจ ญาณังคือความหยั่งรู้ ปัญญาคือความรู้ทั่วถึง

วิชชาคือความรู้แจ่มแจ้ง อาโลกะคือความสว่าง ได้บังเกิดผุดขึ้นในธรรมะทั้งหลาย

ก็คือในสัจจะคือความจริงทั้งหลายที่พระองค์มิได้เคยทรงสดับมาก่อนว่า

นี้ทุกข์ ทุกข์นี้พึงกำหนดรู้ ทุกข์นี้ทรงกำหนดรู้แล้ว

นี้ทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ทุกขสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์นี้พึงละเสีย

ทุกขสมุทัยคือเหตุเกิดทุกข์นี้ทรงละได้แล้ว

นี้ทุกขนิโรธความดับทุกข์ ทุกขนิโรธความดับทุกข์นี้ควรกระทำให้แจ้ง

ทุกขนิโรธคือความดับทุกข์นี้ทรงกระทำให้แจ้งแล้ว

นี้มรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นี้พึงทำให้มีให้เป็นขึ้น

มรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์นี้ได้ทรงทำให้มีให้เป็นขึ้นแล้ว ดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้น ในปฐมเทศนานี้เอง เป็นเทศนาที่ได้ตรัสแสดงถึงความตรัสรู้ของพระองค์

และก็ได้ตรัสแสดงชี้แจงไว้อย่างชัดเจน ว่าจักขุคือดวงตาอันหมายถึงดวงตาใจ

ที่บังเกิดผุดขึ้นในธรรมทั้งหลายที่มิได้เคยทรงสดับมาก่อนนั้น ก็คือในอริยสัจจ์ทั้ง ๔

อันได้แก่ทุกข์ ทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ทุกขนิโรธความดับทุกข์

และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หรือมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

และก็ได้ตรัสแสดงไว้เองว่า ความตรัสรู้ของพระองค์

ที่ตรัสใช้คำว่าจักขุดวงตาเห็นธรรม ญาณคือความหยั่งรู้ ปัญญาคือความรู้ทั่วถึง

วิชชาคือความรู้แจ่มแจ้ง และอาโลกะคือความสว่าง ก็รวมเข้าในคำว่าญาณคือความหยั่งรู้

ญาณคือความหยั่งรู้คือความตรัสรู้ของพระองค์นี้

ตามที่ตรัสแสดงไว้นั้นจึงมีวนรอบ ๓ และมีอาการ ๑๒ ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔

โดยที่เป็นความตรัสรู้ที่เป็นไป คือวนไปในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้น ๓ รอบ

โดยเป็นสัจจญาณความหยั่งรู้ในสัจจะคือความจริงรอบหนึ่ง

ว่านี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ นี้ทุกขนิโรธความดับทุกข์
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ความตรัสรู้ที่วนไปในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ โดยสัจจะคือความจริงว่านี้เป็นอย่างนี้

นั้นเรียกว่า สัจจญาณ เป็นรอบที่ ๑

 

รอบที่ ๒ ก็คือญาณคือความหยั่งรู้ที่วนไปหรือเป็นไปในอริยสัจจ์ทั้ง ๔

โดยเป็นกิจจญาณคือความหยั่งรู้ในกิจคือหน้าที่ซึ่งพึงปฏิบัติ

ว่าทุกข์พึงกำหนดรู้ ทุกขสมุทัยพึงละเสีย ทุกขนิโรธพึงกระทำให้แจ้ง

มรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์พึงอบรมทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น

เป็นกิจคือหน้าที่ซึ่งพึงปฏิบัติในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ดั่งนี้ เป็นรอบที่ ๒

 

ญาณคือความหยั่งรู้ที่วนไปเป็นไปในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ รอบที่ ๓

ก็โดยเป็นกตญาณคือเป็นความหยั่งรู้ว่า กิจซึ่งพึงปฏิบัติในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้น

ได้ทรงกระทำแล้ว ได้ทรงปฏิบัติเสร็จแล้ว ว่าทุกข์นั้นได้ทรงกำหนดรู้แล้ว

ทุกขสมุทัยทรงละได้แล้ว ทุกขนิโรธทรงกระทำให้แจ้งแล้ว

มรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ทรงปฏิบัติทำให้มีให้เป็นขึ้นเสร็จแล้ว ดั่งนี้

เป็นอันว่าได้ทำกิจเสร็จในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เป็นรอบที่ ๓

 

เพราะฉะนั้น พระญาณคือความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

จึงได้ตรัสแสดงว่าวนไป ๓ รอบ หรือมี ๓ รอบในอริยสัจจ์ทั้ง ๔

และ ๓ คูณ ๔ ก็เป็น ๑๒ จึงตรัสว่ามีอาการ ๑๒ ดั่งนี้

ฉะนั้น ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าจึงเป็นความตรัสรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔

ซึ่งเวียนไป ๓ รอบ และมีอาการ ๑๒

 

แต่ว่าไม่ใช่หมายความว่าความหยั่งรู้นั้นบังเกิดขึ้นในขณะต่างกัน

จึงมีญาณคือความหยั่งรู้บังเกิดขึ้นหลายขณะ และต่างๆกัน

แต่หมายความว่าญาณคือความหยั่งรู้นั้นเป็นอันเดียวเป็นขณะเดียว

แต่ว่าเป็นความรู้ที่เวียนไปในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ สามรอบ และมีอาการ ๑๒ ดังกล่าวนั้น

ในข้อนี้อาจจะเทียบง่ายๆเหมือนอย่างการดูนาฬิกา

จะรู้เวลาก็ต้องมองเห็นหน้าปัทม์ของนาฬิกา เห็นตัวเลขที่บอกชั่วโมงบอกนาที

เห็นเข็มสั้นเข็มยาวที่บอกชั่วโมงบอกนาที ต้องเห็นพร้อมกันในขณะเดียวกัน

คือเห็นหน้าปัทม์ทั้งหมดในขณะเดียวกัน จึงจะรู้เวลาได้

เพราะฉะนั้น การเห็นของลูกตาซึ่งหน้าปัทม์ของนาฬิกาทั้งหมดนั้น ซึ่งเห็นคราวเดียวกัน

แต่ว่าสิ่งที่เห็นนั้นมีหลายอย่างรวมกันอยู่

 

ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก็จะพึงเทียบได้ดั่งนั้น

ในความตรัสรู้ของพระองค์นั้น ทรงรู้ทรงเห็นคราวเดียว

แต่ได้รวมทั้งหมดซึ่งอริยสัจจ์ทั้ง ๔ โดยมีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ รวมกันเป็นคราวเดียว

เพราะฉะนั้น จึงเป็นความตรัสรู้เองโดยชอบ เหมือนอย่างการที่มองดูหน้าปัทม์นาฬิกา

มองเห็นหมดในหน้าปัทม์นั้นคราวเดียว ตัวเลขทั้งหมด เข็มสั้นเข็มยาวทั้งหมด

จึงจะบอกเวลาได้ถูกต้อง

เพราะฉะนั้น ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร ได้ตรัสรู้อะไร ตรัสรู้อย่างไร

ได้ทรงแสดงไว้โดยแจ่มแจ้งในปฐมเทศนาของพระองค์

เพราะฉะนั้น พระองค์จึงทรงเป็นสัมมาสัมพุทโธผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ

และเมื่อได้มีพระมหากรุณาเสด็จไปทรงแสดงธรรมะสั่งสอน

ได้มีหมู่แห่งสาวกได้ตรัสรู้ตามพระองค์ พระองค์ก็ได้ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทโธเต็มที่

ในความรู้ความรับรองของผู้อื่น ซึ่งได้ตรัสรู้ตามพระองค์

และได้ความรู้ความรับรองพระองค์ว่า ได้ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธะแท้จริง

 

เพราะฉะนั้นพระพุทธคุณบทนี้จึงมีความที่สำคัญ

ซึ่งเมื่อได้ตั้งใจศึกษากำหนดให้มีความรู้ความเข้าใจแล้ว

จะได้รู้จักพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พระพุทธคุณบทว่าวิชชาจรณสัมปันโน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

วิชชา ๓ ๒

ขันธ์ ๕ นามรูป ๓

สติพละ สติอินทรีย์ ๖

กายเวทนาจิตธรรมเท่ากับเป็นขันธ์ ๔ ๗

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๗๙/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๗๙/๒- ๘๐/๑ ( File Tape 62 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระพุทธคุณบทว่าวิชชาจรณสัมปันโน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

จะแสดงพระพุทธคุณบทที่ ๓ ว่า วิชชาจรณสัมปันโน ผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

เพื่อเป็นการเจริญพุทธานุสสติ ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้านำ

พระพุทธคุณบทนี้แปลตามศัพท์ว่าผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

วิชชาได้แก่ความรู้ที่ถูกต้องถ่องแท้แจ่มแจ้งตามเป็นจริง

 

วิชชา ๓

 

วิชชานี้ที่ตรัสแสดงไว้เองถึงพระองค์เมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์

( เริ่ม ๗๙/๒ ) ได้ปฏิบัติในข้อปฏิบัติซึ่งเป็นเครื่องดำเนินถึงวิชชา ที่เรียกว่าจรณะก็ได้

ก็ได้ทรงบรรลุวิชชา และวิชชาที่ได้ตรัสแสดงไว้โดยมากก็คือวิชชา ๓

อันได้แก่ปุพเพนิวาสานุสสติญาณความรู้จักระลึกชาติหนหลังได้

จุตูปปาตญาณความรู้จักจุติและบังเกิด

อาสวักขยญาณความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ คือกิเลสที่ดองจิตสันดาน

 

จะได้จับแสดงไปโดยลำดับตามพระพุทธาธิบาย

พระญาณที่ ๑ หรือวิชชาที่ ๑ ที่แปลว่าความรู้จักระลึกชาติหนหลังได้

เป็นการแปลเพื่อให้เข้าใจง่าย แต่ตามศัพท์แปลว่าความหยั่งรู้

ตามระลึกถึงนิวาสคือที่อาศัยอยู่ในปางก่อน

คำว่านิวาสที่แปลว่าที่อาศัยอยู่นี้ ก็เป็นคำที่หมายถึงบ้านเรือนที่อยู่อาศัย

ดังที่นำมาใช้กันอยู่ในภาษาไทยก็มี

 

ขันธ์ ๕ นามรูป

 

แต่ที่อยู่อาศัยในพระญาณที่หยั่งรู้นี้หมายถึงขันธ์ ๕

อันได้แก่รูปขันธ์กองรูป เวทนาขันธ์กองเวทนา สัญญาขันธ์กองสัญญา

สังขารขันธ์กองสังขาร วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ

ย่อลง รูปขันธ์ก็เป็นรูป เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ก็เป็นนาม

ย่อลงเป็นรูปกับนาม แต่โดยปรกติเรียกกลับกันว่านามรูป หรือนามะรูป

ขันธ์ ๕ หรือนามรูปนี้ชื่อว่านิวาส คือเป็นที่อาศัยอยู่ของสัตว์ทั้งหลายผู้เกิดมา

 

คำว่าสัตว์ทั้งหลายนี้หมายถึงทั้งมนุษย์เดรัจฉานที่อาศัยอยู่ในโลกนี้

ตลอดถึงผู้ที่บังเกิดในอบายโลกอื่นๆ มี นรก เปรต อสุรกาย

และในโลกสวรรค์เป็น เทวดา มาร พรหม ทั้งหมดรวมเรียกว่าสัตว์ทั้งนั้น

เพราะคำว่าสัตว์นี้แปลว่าผู้ข้อง คือผู้ข้องติดอยู่ในโลก ยังต้องเวียนเกิดแก่เจ็บตายอยู่ในโลก

ไม่ว่าจะเป็นโลกมนุษย์ โลกสวรรค์ หรือว่าอบายโลกดังกล่าว รวมเรียกว่าสัตว์ทั้งหมด

นิวาสที่อาศัยของสัตวโลกหรือของสัตว์ทั้งหลายดังกล่าวที่มีขันธ์ ๕

เช่นมนุษย์ทั้งหลาย สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายโดยมาก ก็คือขันธ์ ๕ หรือนามรูปดังกล่าว

และพระญาณที่รู้จักระลึกถึงนิวาสคือขันธ์เป็นที่อยู่อาศัยนี้ ตามที่ทรงแสดงไว้

ก็ทรงยกถึงพระองค์เองเป็นที่ตั้ง ว่าทรงรู้ระลึกได้ถึงนิวาสคือขันธ์ที่เป็นที่อยู่อาศัย

ของพระองค์เองในชาตินั้นๆ ย้อนหลังไป หนึ่งชาติ สองชาติ สามชาติ สี่ชาติ ห้าชาติ

หกชาติ เจ็ดชาติ แปดชาติ เก้าชาติ สิบชาติ ยี่สิบ สามสิบ สี่สิบ ห้าสิบ หกสิบ เจ็ดสิบ

แปดสิบ เก้าสิบ ร้อย พัน แสน และยิ่งๆขึ้นไปหลายกัปป์หลายกัลป์

ว่าพระองค์ได้ทรงอุบัติในชาตินั้น มีชื่อมีโคตรอย่างนี้ มีอาหารอย่างนี้ มีสุขมีทุกข์อย่างนี้

มีที่สุดแห่งอายุอย่างนี้เป็นต้น จุติคือเคลื่อนจากชาตินั้นแล้ว ก็อุบัติคือเกิดในชาติโน้นเรื่อยๆไป

และทรงระลึกได้ย้อนกลับมา ว่าจากชาติโน้นมาสู่ชาตินั้น จนมาถึงชาตินี้ซึ่งเป็นปัจจุบันชาติ

 

พระญาณที่รู้จักระลึกชาติหนหลังได้นี้

ท่านแสดงว่าเป็นเหตุกำจัดโมหะคือความหลงที่กำบังขันธ์สันดาน คือความสืบต่อแห่งขันธ์

ทำให้มองเห็นอนิจจะคือไม่เที่ยง ทุกขะเป็นทุกข์ และอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน

ของขันธ์ที่เป็นที่ยึดถือทั้งหลาย นี้เป็นพระญาณหรือวิชชาที่ ๑

 

พระญาณหรือวิชชาที่ ๒ จุตูปปาตญาณ รู้จักจุติและอุบัติคือเกิด

ตามที่ตรัสแสดงไว้ได้ทรงยกสัตว์ทั้งหลายขึ้นเป็นที่ตั้ง ว่าได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายที่จุติอยู่

อุบัติคือเกิดอยู่ ด้วยทิพย์จักษุคือตาทิพย์ที่ล่วงวิสัยมนุษย์สามัญ ว่าเป็นไปตามกรรม

สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต

ด่าว่าพระอริยะทั้งหลาย เป็นมิจฉาทิฏฐิ สมาทานคือถือปฏิบัติกรรมของมิจฉาทิฏฐิ

เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงทุคติคือคติที่ชั่ว วินิบาตคือที่ซึ่งตกต่ำ

นรกคือที่ซึ่งไร้ความเจริญไร้ความสุข ประกอบด้วยความทุกข์ต่างๆ

 

ส่วนสัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต

ไม่ด่าว่าพระอริยะทั้งหลาย เป็นสัมมาทิฏฐิ สมาทานกรรมของสัมมาทิฏฐิ

เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติคือคติที่ดี

เข้าถึงโลกสวรรค์คือโลกที่มีอารมณ์อันเลิศ ประกอบด้วยความสุขต่างๆ

ได้ทรงเห็นสัตว์ทั้งหลายซึ่งจุติอยู่ อุบัติคือเกิดอยู่

มีสุขมีทุกข์ มีวรรณะดี มีวรรณะเลว ไปดี ไปไม่ดี เป็นต้น

เป็นไปตามกรรมคือการงานที่ได้กระทำเอาไว้ ทำกรรมดีก็ไปดี ทำกรรมชั่วก็ไปชั่ว

ดั่งนี้ เป็นพระญาณหรือวิชชาที่ ๒

ซึ่งกำจัดโมหะคือความหลงที่กำบัง กัมมัสสกตา คือความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน

ทั้งเป็นเหตุกำจัดสีลัพพตปรามาสความยึดถือในศีลและวัตรในทางที่ผิดต่างๆ

กำจัดมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิดต่างๆ ในกรรมและผลของกรรมเป็นต้น

 

พระญาณหรือวิชชาที่ ๓ อาสวักขยญาณ ความหยั่งรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะทั้งหลาย

ได้ตรัสอธิบายไว้ว่า ทรงได้ญาณคือความหยั่งรู้ หรือวิชชาความรู้ที่แจ่มแจ้งถูกต้อง

ว่านี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

เหล่านี้อาสวะ นี้เป็นเหตุเกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ

ด้วยพระญาณหรือวิชชานี้ จึงทรงสิ้นอาสวะทั้งหลาย ทรงพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งหมด

ทรงเป็นอภิสัมพุทโธคือผู้ตรัสรู้ยิ่งแล้ว คือตรัสรู้อย่างยอดยิ่ง

เลิศล้ำในโลก พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก

เลิศล้ำในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์เทวดามนุษย์ทั้งหลาย

 

อาสวักขยญาณนี้จึงเป็นพระญาณอันสำคัญที่สุด

แต่ก็สืบเนื่องมาจากพระญาณที่ ๑ และที่ ๒ ข้างต้น

ซึ่งตามพุทธประวัติได้แสดงว่า ทรงบรรลุถึงพระญาณที่ ๑ ในปฐมยามของราตรี

พระญาณที่ ๒ ในมัชฌิมยามของราตรี พระญาณที่ ๓ ในปัจฉิมยามของราตรีที่ได้ตรัสรู้นั้น

 

พระญาณหรือวิชชาทั้ง ๓ นี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงบรรลุ

เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่รู้สึกว่าสูงอย่างยิ่ง ล่วงวิสัยของสามัญชน

แต่เพราะพระพุทธเจ้าเป็นพระพุทธเจ้า พระผู้ตรัสรู้พระธรรมซึ่งเป็นพระศาสดาเอกในโลก

ก็เพราะได้ทรงบรรลุพระญาณหรือวิชชาที่เป็นอย่างยิ่ง

ถ้าไม่ทรงบรรลุพระญาณหรือวิชชาที่เป็นอย่างยิ่ง

ทรงมีพระญาณหรือวิชชาซึ่งเป็นธรรมดา เหมือนอย่างสามัญมนุษย์ทั้งหลาย

ก็มิได้เป็นบุคคลพิเศษในโลก แต่เพราะได้ทรงบรรลุพระญาณหรือวิชชาที่เป็นอย่างสูงยิ่งดั่งนี้

จึงทรงเป็นบุคคลพิเศษในโลก ซึ่งทรงล้ำเลิศกว่าเทพและมนุษย์ทั้งปวง

และเมื่อพิจารณาดูตามกระแสของธรรมะ ก็ย่อมจะพอเห็นได้แม้ว่าจะโดยเลือนลางก็ตาม

คือเห็นทางที่ทรงปฏิบัติว่าเป็นไปได้ เพื่อบรรลุวิชชาดังกล่าว

ดังในพระญาณหรือวิชชาที่ ๑ ทรงรู้จักระลึกชาติหนหลังได้

มีคำว่า ระลึก ก็มาจากคำว่าอนุสสติระลึกตาม และญาณคือความหยั่งรู้

ก็คือระลึกย้อนไปได้ และก็รู้ไปได้

 

สติพละ สติอินทรีย์

 

อันสติคือความระลึกได้นี้ ก็เป็นสิ่งที่ทุกๆคนซึ่งเป็นสามัญชนต้องมี

คือความระลึกถึงการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้ อันเป็นความจำอย่างหนึ่ง

เพราะฉะนั้นทุกคนจึงสามารถ ทำ พูด ได้อยู่ในปัจจุบัน

ก็ต้องอาศัยภาษาพูดที่จำมาได้ ตั้งแต่พ่อแม่สอน เริ่มตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆจนถึงปัจจุบัน

ถ้าลืมภาษาที่พูดเมื่อไรก็เป็นอันว่าพูดไม่ได้ แต่เพราะยังระลึกได้จึงพูดได้

และการกระทำอะไรทางกายต่างๆได้ถูกต้อง ตั้งต้นแต่การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถ

การงานที่กระทำ มรรยาทที่ประพฤติ ก็ล้วนแต่จะต้องระลึกได้

ถึงการที่ได้หัดมาได้ฝึกมาในอดีต จึงมาทำได้อยู่ในปัจจุบัน

แม้ความคิดถึงเรื่องราวอะไรต่างๆ ยังคิดได้รู้ได้ ก็เพราะว่าระลึกได้ถึงเรื่องนั้นๆ จึงคิดได้รู้ได้

ถ้าลืมเสียแล้วก็คิดไม่ได้รู้ไม่ได้ เพราะจะไปคิดในเรื่องที่ลืมแล้วนั้นหาได้ไม่

จะไปรู้ในเรื่องที่ลืมแล้วเสียหาได้ไม่ จะคิดอะไรได้จะรู้อะไรได้ ก็ในเรื่องที่ยังจำได้

คือยังระลึกได้ทั้งนั้น ดั่งนี้เป็นตัวสติ

 

( เริ่ม ๘๐/๑ ) เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนไว้ว่า

สติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว เป็นธรรมะที่มีอุปการะมาก

และได้ตรัสยกสติขึ้นว่าเป็นธรรมะที่เป็นกำลัง เรียกว่าสติพละ

เป็นธรรมะที่เป็นใหญ่ เรียกว่าสติอินทรีย์เป็นต้น

ก็มีความหมายถึงสติคือความระลึกได้ คือระลึกถึงการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้เหล่านี้

และยังได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติทำสติตามดูตามรู้ตามเห็นกายเวทนาจิตและธรรม

อันเรียกว่าสติปัฏฐานทั้ง ๔ ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติกรรมฐานอันนับว่าเป็นหลักใหญ่

 

กายเวทนาจิตธรรมเท่ากับเป็นขันธ์ ๔

 

เพราะว่าทุกคนมีกายมีเวทนามีจิตมีธรรม

และกายเวทนาจิตธรรมก็เป็นไปอยู่ในปัจจุบัน เท่ากับว่าเป็นขันธ์ ๔

เหมือนอย่างขันธ์ ๕ แต่ในที่นี้ไม่เรียกว่าขันธ์ ๔ แต่เรียกว่าสติปัฏฐาน ๔

กายเวทนาจิตธรรมนี้ ก็เท่ากับเป็นนิวาสะคือเป็นที่อาศัยอยู่ของสัตว์ทั้งหลาย

ของบุคคลทั้งหลาย หรือของเราทั้งหลายอยู่ด้วยกันทุกคน

แต่ว่าเมื่อไม่ระลึกถึงก็ไม่รู้ ต่อเมื่อระลึกถึงจึงจะรู้

เหมือนอย่างว่าหายใจเข้าหายใจออก ทุกคนก็ต้องหายใจเข้าหายใจออกกันอยู่ หยุดไม่ได้

แต่เมื่อไม่ระลึกถึงลมหายใจเข้าลมหายใจออก ก็ไม่รู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออก

ระลึกถึงเมื่อไรก็รู้เมื่อนั้น ว่าเราหายใจเข้าอยู่หายใจออกอยู่

แม้ในข้ออิริยาบถก็เหมือนกัน ก็ต้องเดินต้องยืนต้องนั่งต้องนอนกันอยู่

ในอิริยาบถน้อยก็เหมือนกัน ต้องก้าวไปข้างหน้า ต้องถอยไปข้างหลังเป็นต้น

ต้องหลับต้องตื่นต้องพูดต้องนิ่งกันอยู่เป็นต้น

 

และแม้อาการในกาย ๓๑,๓๒ มีผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้นก็เหมือนกัน

ก็ต้องมีกันอยู่ และผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้นเหล่านี้ต่างก็ปฏิบัติหน้าที่ของตนอยู่

ปรากฏเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง เป็นต้น

รวมเข้าก็เป็นธาตุ ๔ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ประกอบกันอยู่เป็นกายนี้

เหล่านี้เป็นต้น เมื่อระลึกถึงก็จึงจะรู้ได้ แต่เมื่อไม่ระลึกถึงก็ไม่รู้

 

เพราะฉะนั้น สติคือความระลึกนี้จึงเป็นข้อสำคัญ

เมื่อมาหัดปฏิบัติทำสติปัฏฐานอยู่ ก็ย่อมจะทำให้มีสติอยู่กับตัว

และทำให้มีความรู้อยู่กับตัว ซึ่งนับว่าเป็นสติสัมปชัญญะที่เป็นภาคพื้น

และจะทำให้ได้ความรู้ที่เป็นตัวปัญญาเห็นเกิดเห็นดับต่อไปด้วย

ความระลึกได้และความรู้อยู่กับตัวซึ่งเป็นสติสัมปชัญญะนี้ ก็เป็นสมาธิ

ความรู้ที่เป็นตัวปัญญาเห็นเกิดเห็นดับ ก็เป็นตัวปัญญา

เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิบัติทำสติในกายในเวทนาในจิตในธรรม

ก็ย่อมจะได้สติสัมปชัญญะ ได้สมาธิ ได้ปัญญา ไปด้วยกัน

 

และเมื่อปฏิบัติทำสติสัมปชัญญะอยู่กับตัว เป็นสมาธิที่แนบแน่นยิ่งขึ้น

ก็จะทำให้สติคือความระลึกนี้ ระลึกได้ดีขึ้น จะระลึกย้อนหลังไปได้ดีขึ้นในชาตินี้เอง

ความระลึกได้ซึ่งเป็นตัวสตินี้ถ้าไม่ดี ระลึกย้อนหลังไปในชาตินี้เองก็ไม่ดี

ดังเช่นถ้ามีสติที่ระลึกได้ดี ฟังอะไรก็ย่อมจะจำได้ดี อ่านอะไรก็ย่อมจะจำได้ดี

คือมีสติสัมปชัญญะตั้งอยู่ในสิ่งที่ฟังในสิ่งที่อ่าน ก็เป็นอันว่าได้สมาธิในสิ่งที่ฟังในสิ่งที่อ่าน

อ่านหนังสือหนึ่งหน้าก็จะจำได้มาก ฟังเรื่องอะไรก็จะจำได้มาก

แต่ถ้าไม่มีสติไม่มีสัมปชัญญะอยู่ในสิ่งที่ฟังในสิ่งที่อ่านแล้ว จะจำอะไรไม่ได้เลย

ถ้ามีสติสัมปชัญญะอยู่ในสิ่งอ่านสิ่งที่ฟังน้อย ก็จะจำได้น้อย มากก็จำได้มาก

 

เพราะฉะนั้น การฝึกหัดสติให้ดีพร้อมทั้งสัมปชัญญะนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

จะทำให้ระลึกได้จำได้ย้อนหลังไปได้มาก เมื่อวานนี้ วานซืนนี้

เมื่อเดือนที่แล้ว ปีที่แล้ว ถอยหลังไปเป็นต้น จะจำได้มากขึ้นๆ

และเมื่อมีสติสัมปชัญญะอยู่กับตัว คืออยู่กับกายเวทนาจิตธรรม

เป็นสมาธิที่แนบแน่น เป็นอัปปนาสมาธิ

อย่างดีที่สุดก็จะทำให้ความจำคือความระลึกได้นี้ ย้อนหลังไปได้มากที่สุด

ก็เพราะว่าสัตว์ทั้งหลาย คือตัวเราเองนี้ก็เป็นหนึ่งในสัตว์ทั้งหลาย

ย่อมได้ประสบพบผ่านอดีตของตนมาแล้วทั้งนั้น

และจุติคือเคลื่อน อุบัติคือเข้าถึง หรือเกิดมาชาติหนึ่งๆก็ผ่านมาแล้วทั้งนั้น

สัตว์ทั้งหลายโดยเฉพาะคือตัวเราทั้งหลายนี้ จึงมีสิ่งที่ประสบพบผ่านเหล่านี้เก็บอยู่

ซึ่งเมื่อมีสติที่ระลึกได้ดีแล้ว ก็ย่อมจะนึกย้อนหลังได้ดี

เหมือนอย่างเห็นเหตุการณ์ที่ผ่านมาแล้วในวันนี้ หรือเมื่อวานนี้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*