ถอดเทปพระธรรมเทศนา

  • พิมพ์

เทป063

วิชชา ๘

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

วิปัสสนาญาณ ๓

มโนมยิทธิ ๔

มโนมัยกาย กายทิพย์ ๕

อิทธิวิธิญาณ ๖

ทิพยโสตญาณ ๖

เจโตปริยญาณ ๖

วิชชา ๓ ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดเล็กน้อย

ม้วนที่ ๘๐/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๘๐/๒ ( File Tape 63 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

วิชชา ๘

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

จะแสดงพระพุทธคุณบทว่าวิชชาจรณสัมปันโนผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

ได้แสดงวิชชา ๓ ไปแล้ว วันนี้จะได้แสดงวิชชา ๘ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในหลายพระสูตร

แต่ก่อนที่จะได้นำวิชชา ๘ มาแสดง ก็ต้องทำความเข้าใจว่าวิชชาที่แสดงเกี่ยวแก่ฤทธิ์ต่างๆ

ซึ่งอาจเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปได้ แต่ก็ควรจะรับฟังว่าได้มีวิชชาดังกล่าวนี้ในพุทธศาสนาเอง

และท่านก็ได้อ้างถึงผู้ที่ปฏิบัติทางจิตอย่างยิ่งแม้ก่อนพุทธกาล ก็ได้ก็ถึงวิชชาที่เกี่ยวแก่ฤทธิ์

ต่างๆนี้มาแล้วหลายประการ เรียกได้ว่าวิชชาข้อต้นๆทั้งหมดนั้นท่านได้ท่านถึงกันมาแล้ว

แต่วิชชาข้อสุดท้ายคืออาสวักขยญาณความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ

นอกจากในพุทธศาสนาแล้วยังไม่มีได้กันมา

 

พระพุทธเจ้าทรงได้ทรงถึงจนถึงอาสวักขยญาณ จึงทรงเป็นพระพุทโธคือเป็นพระผู้ตรัสรู้แล้ว

ผู้ที่ยังมิได้ถึงอาสวักขยญาณ แต่ว่าได้วิชชาอย่างอื่นจากอำนาจจิตที่อบรมดีแล้ว

คือแม้ว่าจะได้ในข้อต้นๆมาทั้งหมดแต่ก็มิได้เป็นพระพุทโธคือเป็นพระผู้ตรัสรู้แล้ว

ฉะนั้น จึงสมควรที่จะรับฟังเพื่อทราบไว้ว่าท่านได้ท่านถึงกันมา

และการได้การถึงนี้ก็เกิดจากข้อปฏิบัติเป็นเครื่องดำเนินถึงวิชชาที่เรียกว่าจรณะ

เพราะฉะนั้น จึงจะไปอธิบายถึงทางปฏิบัติให้ถึงวิชชาในตอนที่จับแสดงจรณะ

จรณะเป็นเหตุ วิชชาเป็นผล จึงจะแสดงผลก่อน ตามลำดับถ้อยคำที่ว่าวิชชาจรณสัมปันโน

 

วิชชา ๓ ที่ได้แสดงไปแล้วก็คือปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

ความรู้จักระลึกขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้ หรือที่เรียกง่ายๆว่าระลึกชาติได้

๒ จุตูปปาตญาณ ความรู้จักจุติคือความเคลื่อน และอุปบัติคือความเข้าถึง

ชาตินั้นๆของสัตว์ทั้งหลาย ว่าเป็นไปตามกรรม

อาสวักขยญาณความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดาน

วิชชา ๘ ที่จะแสดงในวันนี้ ก็คือมีเติมเข้าอีก ๕ ข้อข้างต้น

ส่วน ๓ ข้อข้างหลังก็คือวิชชา ๓ นั้นเอง

 

วิปัสสนาญาณ

 

๕ ข้อข้างต้นที่เติมเข้ามานั้น ก็คือ วิปัสสนาญาณ

ความรู้จักด้วยความรู้แจ้งเห็นจริงในกายนี้ซึ่งมีวิญญาณอาศัยอยู่

ว่าเป็นไปตามคติธรรมดาคือโดยไตรลักษณ์

อันได้แก่การที่มาพิจารณากายใจนี้ หรือนามรูปนี้โดยไตรลักษณ์

ว่ากายนี้อันเป็นส่วนรูป ประกอบด้วยธาตุดินน้ำไฟลม

อาศัยอาหารมีข้าวเป็นต้นบำรุงเลี้ยง เป็นของไม่เที่ยง

ต้องทะนุบำรุงมีบีบนวดเยียวยารักษาต่างๆเป็นต้น

และแม้นามคือความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

ความรู้จำได้หมายรู้ ความรู้คิดปรุงหรือปรุงคิด

ความรู้ที่เรียกว่าเห็นที่ได้ยินได้ทราบที่ได้คิดได้รู้ทางอายตนะ

อันเรียกว่าเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ซึ่งเป็นนามธรรมคู่อยู่กับรูปธรรม ก็เช่นเดียวกัน

คือไม่เที่ยงเป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ไม่พึงเห็นยึดถือว่าเป็นเราเป็นของเรา

 

เมื่อพิจารณาที่กายนี้ จับที่รูปกายตลอดถึงนามกายโดยไตรลักษณ์

จนมีความรู้ความเห็นปรุโปร่ง คือชำแรก นิจจะสัญญา ความกำหนดหมายว่าเที่ยง

สุขสัญญา ความกำหนดหมายว่าเป็นสุข อัตตสัญญา ความกำหนดหมายว่าเป็นตัวตน

ในรูปในนาม กายนี้ก็จะโปร่งจะใส โดยไม่มีนิจจะสัญญา สุขสัญญา อัตตสัญญา ตั้งอยู่ในจิต

จึงปรากฏรู้แจ้งเห็นจริงในวิญญาณที่บริสุทธิ์ผ่องใส อันตั้งอาศัยอยู่ในกายนี้

ซึ่งได้ตรัสไว้ว่าเปรียบเหมือนอย่างแก้วไพทูรย์ที่งดงามเกิดเอง ที่จาระนัยดี

ซึ่งมีด้ายสีเขียวเหลืองแดงขาวนวลร้อยอยู่ในภายใน บุรุษผู้มีจักษุหยิบเอาแก้วไพทูรย์นี้

วางไว้ในมือ และมองดูก็จะมองเห็นด้ายสีเขียวเหลืองแดงขาวนวลที่ร้อยอยู่ในแก้วไพทูรย์นั้น

 

ก็เหมือนอย่างเมื่อน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสสนะ

ความรู้ความเห็นที่กายนี้ ก็ย่อมจะได้รู้ได้เห็นกายนี้ตามเป็นจริง

และได้รู้ได้เห็นวิญญาณซึ่งอาศัยอยู่ในกายนี้ตามเป็นจริง เหมือนอย่างมองดูแก้วไพทูรย์

ที่งดงามและใส ก็มองเห็นด้ายสีต่างๆที่ร้อยอยู่ในแก้วไพทูรย์นั้น นี้เรียก ...

 

มโนมยิทธิ

 

(เริ่ม ๘๐/๒) มโนมยิทธิญาณคือความรู้จักแสดงฤทธิ์ นิรมิตมโนมัยกายคือกายที่สำเร็จจากใจ

มโนมยะ มโนมัย แปลว่าสำเร็จจากใจ อิทธิแปลกันว่าฤทธิ์ ตามศัพท์แปลว่าความสำเร็จ

ก็คือน้อมจิตไปเพื่อนิรมิตรูปที่สำเร็จจากใจ คือนิรมิตกายอื่นจากกายนี้ มีรูปที่สำเร็จจากใจ

มีอินทรีย์ที่สมบูรณ์ คือเหมือนมีตามีหูมีจมูกมีลิ้นมีกายและมีมนะคือใจ

ซึ่งเป็นอินทรีย์ ๖ ของกายใจบุคคลนี้

 

ตรัสเปรียบเหมือนอย่างว่าชักไส้ออกจากหญ้าปล้อง

และก็พิจารณาดูรู้ว่า นี่เป็นไส้ นี่เป็นหญ้าปล้อง

หรือเปรียบเหมือนชักดาบออกจากฝัก พิจารณาดูรู้จักว่านี่เป็นดาบนี่เป็นฝัก

หรือเปรียบเหมือนอย่างดึงงูออกจากคราบ พิจารณาดูรู้จักว่านี่เป็นงูนี่เป็นคราบ

ก็คือนิรมิตหรือนำมโนมัยกาย กายที่สำเร็จจากใจออกจากกายนี้

เหมือนอย่างชักไส้หญ้าปล้องออกจากหญ้าปล้องเป็นต้นนั้น

อันมโนมัยกายนี้ไม่มีสรีระสัณฐานเหมือนอย่างรูปกาย

 

มโนมัยกาย กายทิพย์

 

ในเมืองไทยนี้ท่านผู้ปฏิบัติกรรมฐานและสนใจในวิชชานี้ ท่านตั้งชื่อเรียกว่ากายทิพย์

ส่วนกายธรรมดาซึ่งประกอบขึ้นด้วยธาตุดินน้ำไฟลมเรียกว่ากายเนื้อ

กายทิพย์นี้ก็คือมโนมัยกาย หรือมโนมัยรูป ซึ่งท่านได้แสดงเอาไว้ในประวัติพระพุทธศาสนา

ว่าพระพุทธเจ้าโดยปรกติเสด็จไปด้วยกายเนื้อ แต่ในบางคราวเสด็จไปด้วยกายทิพย์

หรือมโนมัยกายนี้

 

ดังเช่นที่ได้มีแสดงไว้ว่าพระภิกษุบางรูป

ได้ออกปฏิบัติกรรมฐานในป่า หรือในเสนาสนะป่า หรือในที่อันสงบสงัด

เมื่อกระแสจิตของท่านได้ดำเนินไปในวิปัสสนากรรมฐาน

แต่ว่าได้มีความชงักงันอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จ

ไปประทับอยู่ในที่เฉพาะหน้าท่าน และก็ได้ทรงแสดงธรรมะสั่งสอนแก้ไขข้อที่ติดขัดนั้น

ท่านเห็นพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรด ได้ยินพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะสั่งสอน

แล้วก็เสด็จกลับ ท่านก็ดำเนินปฏิบัติต่อตามที่ตรัสแนะนำ ก็ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

มีแสดงไว้หลายเรื่องดั่งนี้ และท่านแสดงว่าที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปนั้น

ก็เสด็จไปด้วยมโนมัยกายหรือกายทิพย์นี้เอง หลายครั้งหลายคราว

มโนมยิทธินี้เป็นวิชชาที่ ๒

 

อิทธิวิธิญาณ

 

อิทธิวิธิญาณคือความรู้จักวิธีแสดงฤทธิ์ ก็คือน้อมจิตไปเพื่ออิทธิวิธิ

แสดงฤทธิ์ด้วยวิธีต่างๆ ตามที่น้อมจิตไปว่าจะแสดงวิธีไหนอย่างไร

ดังที่ท่านแสดงไว้เช่น คนเดียวเป็นมากคนหลายคนเป็นคนเดียว

ปรากฏตัวหายตัว เดินทะลุฝากำแพงภูเขา เหมือนอย่างเดินไปในที่ว่าง

ดำดินโผล่ขึ้นเหมือนอย่างดำน้ำโผล่ขึ้น ดำน้ำ เดินบนน้ำเหมือนเดินบนแผ่นดิน

ไปในอากาศได้เหมือนนก ดั่งนี้เปนต้น

ตรัสเปรียบไว้เหมือนอย่างช่างหม้อ หรือลูกศิษย์ของช่างหม้อผู้ฉลาด

เมื่อได้เตรียมดินไว้ดี ก็ปั้นภาชนะดินต่างๆได้ตามต้องการ

หรือเหมือนอย่างช่างงา เตรียมงาไว้ดี ก็แกะสลักงาเป็นเครื่องงาต่างๆได้ตามต้องการ

หรือเหมือนอย่างช่างทองหลอมทองดี ก็ทำทองรูปพรรณต่างๆได้ตามต้องการ

อิทธิวิธิญาณนี้เป็นวิชชาที่ ๓

 

ทิพยโสตญาณ

 

ทิพยโสตญาณ ญาณคือความหยั่งรู้ด้วยทิพยโสต หูทิพย์

น้อมจิตไปเพื่อทิพยโสตญาณ ก็ฟังเสียงได้ ๒ อย่างคือเสียงทิพย์ หรือเสียงมนุษย์

เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ ทั้งที่ไกลทั้งที่ใกล้

เหมือนอย่างคนเดินทางไกลได้ยินเสียงสังข์เสียงตะโพน ก็รู้ว่านี่เป็นเสียงสังข์เสียงตะโพน

ในที่ใกล้บ้างที่ไกลบ้างที่ผ่านไป ทิพยโสตญาณนี้เป็นวิชชาที่ ๔

 

เจโตปริยญาณ

 

เจโตปริยญาณความรู้จักกำหนดใจของผู้อื่นได้

คือน้อมจิตไปเพื่อเจโตปริยญาณ ก็กำหนดรู้ใจได้ อ่านใจได้

ที่ท่านแสดงไว้ก็คือจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ จิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ

จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ จิตปราศจากโทสะก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ

จิตมีโมหะก็รู้ว่าจิตมีโมหะ จิตปราศจากโมหะก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ

จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ จิตฟุ้งก็รู้ว่าจิตฟุ้ง

จิตถึงความเป็นใหญ่คือกว้างขวาง ก็รู้ว่าจิตถึงความเป็นใหญ่คือกว้างขวาง

จิตไม่ถึงความเป็นใหญ่คือกว้างขวาง ก็รู้ว่าจิตไม่ถึงความเป็นใหญ่คือกว้างขวาง

จิตที่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตที่ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ว่าจิตที่ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า

หรือจิตที่มีความยิ่งก็รู้ว่าจิตที่มีความยิ่ง จิตที่ไม่ยิ่งก็รู้ว่าจิตที่ไม่ยิ่ง

จิตที่มีสมาธิก็รู้ว่าจิตมีสมาธิ จิตที่ไม่มีสมาธิก็รู้ว่าจิตไม่มีสมาธิ

จิตวิมุติคือหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตวิมุติหลุดพ้น จิตที่ไม่วิมุติหลุดพ้นก็รู้ว่าจิตไม่วิมุติหลุดพ้น

ตรัสเปรียบไว้ว่าเหมือนอย่างบุรุษสตรีส่องดูเงาหน้าในแว่นส่อง

หรือกระจกเงา หรือในน้ำที่สะอาด ก็จะเห็นหน้าของตนว่ามีตำหนิมีจุดไม่สะอาด

หรือว่าไม่มีตำหนิสะอาด เจโตปริยญาณนี้เป็นวิชชาที่ ๕

 

วิชชา ๓

 

ปุพเพนิวาสนานุสสติญาณความรู้จักระลึกชาติหนหลังได้

ตรัสเปรียบไว้เหมือนอย่างบุรุษคนหนึ่งที่ออกจากบ้านของตนไปเยี่ยมบ้านนั้นบ้านนี้

แล้วก็กลับมาบ้านของตน ก็รู้ระลึกได้ว่าตนออกจากบ้านไปบ้านนั้น

เดินยืนนั่งนอนพูดเป็นต้นอย่างนั้นๆ ออกจากบ้านนั้นไปบ้านโน้นก็ไปทำไปพูดอย่างนั้นๆ

ออกจากบ้านโน้นกลับมาสู่บ้านของตน ปุพเพนิวาสานุสสติญาณนี้เป็นวิชชาที่ ๖

 

จุตูปปาตญาณความรู้จักจุติคือความเคลื่อน

อุปบัติคือความเข้าถึงชาตินั้นๆของสัตว์ทั้งหลาย ว่าเป็นไปตามกรรม

ตรัสเปรียบไว้เหมือนอย่างว่า บุรุษขึ้นไปสู่ปราสาทที่ตั้งอยู่ที่ถนนสามแพร่ง

มองลงมาก็เห็นหมู่มนุษย์หมู่คน เดินออกจากบ้านบ้าง เดินเข้าบ้านบ้าง

นั่งอยู่ที่ทางสามแพร่งบ้าง เดินไปตามถนนบ้าง จุตูปปาตญาณนี้เป็นวิชชาที่ ๗

 

อาสวักขยญาณความรู้จักทำอาสวะให้สิ้น

คือญาณที่เป็นเหตุสิ้นไปอาสวะกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย

ตรัสเปรียบไว้เหมือนอย่างว่าบุรุษผู้มีจักษุยืนอยู่ที่ริมสระน้ำที่ใสสะอาด

ก็มองเห็นก้อนกรวดหอยโข่งเป็นต้นอยู่ในน้ำ มองเห็นปลาว่ายไปว่ายมาอยู่ในน้ำ

 

ญาณที่เป็นเหตุสิ้นอาสวะ ก็รู้เห็นทุกข์

เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

รู้เห็นอาสวะ เหตุเกิดอาสวะ ความดับอาสวะ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ

เมื่อรู้เมื่อเห็นจิตก็พ้นจากอาสวะทั้งหลายไม่ยึดมั่น

และเมื่อพ้นแล้วก็รู้ว่าพ้นแล้ว สิ้นชาติแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว

กิจที่พึงทำได้กระทำแล้ว ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงทำเช่นนี้อีก

ย่อมรู้เห็นตามเป็นจริงเหมือนอย่างบุรุษที่ยืนอยู่ริมฝั่งสระ

มองเห็นก้อนหินหอยโข่งเป็นต้นอยู่ในสระ มองเห็นปลาว่ายไปว่ายมาอยู่ในสระฉะนั้น

อาสวักขยญาณนี้เป็นวิชชาที่ครบ ๘ อันเป็นข้อสำคัญ

พระพุทธเจ้าทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาที่ตรัสแสดงไว้ก็คือวิชชา ๓ วิชชา ๘

 

และข้อสำคัญก็คืออาสวักขยญาณ ซึ่งด้วยญาณนี้จึงทรงเป็นพุทโธคือเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว

ญาณคือความหยั่งรู้ทั้งปวงนี้เป็นปัญญาเป็นวิชชา ซึ่งต้องอาศัยสติความระลึกได้

หรือความรู้ระลึก ก็คือระลึกรู้ในกายในเวทนาในจิตในธรรม สติปัฏฐานนี้เองเป็นตัวหลักใหญ่

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

พระพุทธคุณบทว่า จรณะสัมปันโน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

จรณะ ๑๐ ๒

สีลสัมปทา อินทรียสังวร ๓

สติ สัมปชัญญะ ๓

สันโดษ ๕

กายวิเวก ๕

เปลื้องจิตจากนิวรณ์ ๕ ๖

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๘๐/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๘๑/๑- ๘๑/๒ ( File Tape 63 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระพุทธคุณบทว่า จรณะสัมปันโน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

จะแสดงพระพุทธคุณบทว่าวิชชาจรณสัมปันโนผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ

พระพุทธเจ้าได้ทรงเป็นวิชชาสัมปันโนผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา

ซึ่งได้แสดงอธิบายแล้ว จึงจะแสดงจรณะสัมปันโนผู้ถึงพร้อมด้วยจรณะ

 

จรณะ ๑๐

 

คำว่าจรณะนี้แปลกันว่าข้อปฏิบัติเครื่องดำเนินถึงวิชชา

ใน อัมพัทธสูตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เองเป็น ๑๐ ประการ

คือ สีลสัมปทา ถึงพร้อมด้วยศีล อินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์

ถึงพร้อมด้วย สติ สัมปชัญญะ สันโดษ เสพเสนาสนะอันสงัด

ชำระจิตจาก นิวรณ์ ทั้งหลาย รวมเป็น ๖ข้อ

และรูปฌานที่ ๑ รูปฌานที่ ๒ รูปฌานที่ ๓ รูปฌานที่ ๔

อีก ๔ ข้อ ก็รวมเป็น ๑๐ ประการหรือ ๑๐ ข้อ

 

สีลสัมปทา อินทรียสังวร

 

สีลสัมปทาถึงพร้อมด้วยศีล ได้ตรัสแสดงไว้สำหรับภิกษุ ก็คือถึงพร้อมด้วยศีล

อันได้แก่สำรวมในพระปาฏิโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระความประพฤติและโคจรคือที่เที่ยว

มีปรกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายแม้มีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย

และได้ตรัสแสดงสีลสัมปทา คือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ไว้อีกโดยพิสดาร

ศีลนี้เป็นจรณะเครื่องดำเนินถึงวิชชา เป็นข้อที่ ๑

 

อินทรียสังวรความสำรวมอินทรีย์ คือตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ

อันได้แก่มีสติรักษาตาในขณะที่ประจวบกับรูป หูในขณะที่ประจวบกับเสียง

จมูกในขณะที่ประจวบกับกลิ่น ลิ้นในขณะที่ประจวบกับรส

กายในขณะที่ประจวบกับโผฏฐัพพะ และมโนหรือมนะคือใจ

ในขณะที่ประจวบกับธรรมะคือเรื่องราว ( เริ่ม ๘๑/๑ ) โดยมีสติรักษาไว้ คือรักษาใจนี้เอง

มิให้ยึดถือรูปที่ตาเห็นเสียงที่หูได้ยินเป็นต้นนั้น โดยนิมิตคือทั้งหมด

หรือโดยอนุพยัญชนะคือบางส่วน มิให้อาสวะคือกิเลสอกุศลธรรมทั้งหลาย

ที่ระบุไว้ก็คือความยินดีความยินร้ายไหลเข้าสู่จิตใจ

ให้สิ่งที่ตาเห็น สิ่งที่หูได้ยินเป็นต้นนั้นตกอยู่แค่ตาแค่หู จึงเป็นสักแต่ว่าได้ยิน

สักแต่ว่าได้เห็นเป็นต้น ไม่ยึดถือให้กิเลสอกุศลธรรมทั้งหลายเข้าสู่จิตใจ

เป็นจรณะเครื่องดำเนินถึงวิชชาเป็นข้อที่ ๒

 

สติ สัมปชัญญะ

 

ถึงพร้อมด้วยสติสัมปชัญญะ สติก็คือความระลึกได้ สัมปชัญญะก็คือความรู้ตัว

ในอารมณ์ทั้งหลาย ในอิริยาบถทั้งหลาย สติคือความระลึกได้นี้เมื่อมีอยู่ ก็จะทำให้มีความรู้ตัว

และความรู้ตัวนี้เมื่อมีอยู่ ก็จะทำให้มีสติความระลึกได้ ทั้งสองนี้จึงต้องอาศัยกัน

ประกอบกันเป็นไป แม้ว่าจะยกขึ้นกล่าวเพียงข้อเดียวว่าสติ ก็จะต้องมีสัมปชัญญะรวมอยู่ด้วย

หรือจะยกสัมปชัญญะขึ้นกล่าว ก็ต้องมีสติรวมอยู่ด้วย

 

ยกตัวอย่างเช่นหายใจเข้าหายใจออก

เมื่อสติไม่กำหนดก็ย่อมไม่มีความรู้ตัวว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออก

ดั่งโดยปรกตินั้นทุกคนมักจะไม่ได้นึกถึงลมหายใจเข้าออกของตน

เพราะฉะนั้นจึงไม่รู้ตัวว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออกอยู่

ต่อเมื่อมีสติกำหนดที่ลมหายใจ จึงมีความรู้ตัวอยู่ในลมหายใจ

และในขณะที่มีความรู้ตัวอยู่ในลมหายใจนี้ สติก็ย่อมกำหนดอยู่ด้วยกัน

เพราะฉะนั้น สัมปชัญญะจึงต้องอิงอยู่กับสติ และสติก็ต้องอิงอยู่กับสัมปชัญญะคู่กันไป

สติที่มีสัมปชัญญะจึงเป็นสติที่สมบูรณ์ สัมปชัญญะที่มีสติจึงเป็นสัมปชัญญะที่สมบูรณ์

 

และความถึงพร้อมด้วยสัมปชัญญะนี้

ก็ให้มีอยู่ในการที่จะทำ คำที่จะพูด เรื่องที่จะคิด

และในการที่กำลังทำ ในการที่กำลังพูด ในการที่กำลังคิด

ตลอดจนถึงในการที่ทำแล้วพูดแล้วคิดแล้ว

 

และให้มีในสัมปชัญญะยืนเดินนั่งนอน ซึ่งในข้อนี้ท่านยกสัมปชัญญะขึ้นเป็นหัวหน้า

ว่าให้มีความรู้ตัว คือเมื่อเดินก็รู้ตัวว่าเดิน เมื่อยืนเมื่อนั่งเมื่อนอน ก็รู้ตัวว่ายืนนั่งนอน

หรือเมื่อเยื้องกรายในอิริยาบถเล็กน้อย เช่นก้าวไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลัง แลเหลียว

เหยียดอวัยวะออกไป คู้อวัยวะเข้ามา นุ่งห่มกินดื่มลิ้มเรียกว่านำเข้า ขับถ่ายเรียกว่านำออก

และรวมทั้งในการเดิน ในการยืน ในการนั่ง ในการนอน ในการหลับ ในการตื่น

ในการพูด ในการนิ่ง ทั้งหมด ก็ให้มีสัมปชัญญะคือความรู้ตัว

สำหรับในอิริยาบถใหญ่ในอิริยาบถน้อยดั่งนี้ ท่านยกเอาสัมปชัญญะขึ้นเป็นหัวหน้า

แต่ก็ต้องมีสติด้วย คือเมื่อจะทำอิริยาบถ หรือผลัดเปลี่ยนอิริยาบถอันใด

ก็ให้มีสติกำหนดอยู่ในการทำในการผลัดเปลี่ยนอิริยาบถอันนั้น

จึงจะมีความรู้ตัวในอิริยาบถที่ทำ ในอิริยาบถที่ผลัดเปลี่ยน

 

หัดให้มีสติสัมปชัญญะอยู่กับตนให้มากหรือให้เสมอ

และเมื่อเสมอได้จึงจะมีสติสมบูรณ์ ที่ท่านแสดงว่าพระอรหันต์เป็นผู้มีสติสมบูรณ์

แต่เมื่อยังไม่เป็นพระอรหันต์ก็บกพร่องน้อยบ้างมากบ้าง

แต่ก็ต้องพยายามหัดปฏิบัติให้มีสติมากที่สุด พร้อมทั้งสัมปชัญญะรักษาตน

ให้เป็น สติเนปักกะ ที่แปลว่ามีสติรักษาตน เป็นจรณะเครื่องดำเนินถึงวิชชาเป็นข้อที่ ๓

 

สันโดษ

 

สันโดษคือความยินดีพอใจด้วยปัจจัยเครื่องอาศัย คืออาหารผ้านุ่งห่มที่อยู่อาศัยยาแก้ไข้

ตลอดถึงในสิ่งอื่นที่พึงได้พึงถึงทั้งหลาย หรือที่ได้ที่ถึงทั้งหลายตามมีตามได้

ท่านเรียกว่า ยถาลาภะสันโดษ และพระอาจารย์ยังได้แสดงอธิบาย

ตลอดจนถึงความยินดีพอใจตามกำลัง อันเรียกว่า ยถาพละสันโดษ

ความยินดีพอใจตามที่ถูกที่ควร อันเรียกว่า ยถาสาริปสันโดษ

เป็นจรณะคือเครื่องดำเนินถึงวิชชาเป็นข้อที่ ๔

 

กายวิเวก

 

เสพเสนาสนะอันสงัด ก็คือที่นอนที่นั่งอันสงัด

เป็นต้นว่าป่าโคนไม้เรือนว่าง หรือที่ใดที่หนึ่งอันเป็นที่สงัด

เป็นกายวิเวกสงัดกาย และเป็นไปเพื่อจิตตวิเวกสงัดจิต อุปธิวิเวกสงัดกิเลส

เป็นจรณะเครื่องดำเนินถึงวิชชาเป็นข้อที่ ๕

 

เปลื้องจิตจากนิวรณ์ ๕

 

เปลื้องจิตจากนิวรณ์ทั้ง ๕ นิวรณ์คือกิเลสที่บังเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจ

ทำจิตใจให้กลัดกลุ้มวุ่นวายไม่สงบ และทำปัญญาคือความรู้ให้อ่อน

จึงเป็นเครื่องกั้นมิให้ได้สมาธิ มิให้ได้ปัญญาคือความรู้ทั่วถึง มี ๕

คือ ๑ กามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกาม คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ

ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย อันเรียกว่าวัตถุกาม

ด้วยอำนาจของกิเลสกาม คือตัวความใคร่ความติดใจยินดี ความปรารถนาต้องการ

นิวรณ์ข้อนี้มีอยู่แก่ผู้ใด ผู้นั้นก็เหมือนอย่างคนที่เป็นหนี้เขา ก็ต้องส่งดอกแก่เจ้าหนี้อยู่เสมอ

ฉันใดก็ดี คนที่ถูกกามฉันท์ครอบงำ ก็ทำให้ต้องแสวงหาวัตถุกามทั้งหลาย ส่งกิเลสกาม

หรือบำเรอกิเลสกามในจิตใจของตน เหมือนอย่างต้องคอยส่งดอกแก่เจ้าหนี้อยู่เป็นประจำ

เพราะฉะนั้นเมื่อจิตใจยังถูกกามฉันท์ครอบงำอยู่ จึงเหมือนอย่างเป็นลูกหนี้

ที่ต้องหาใส่เสนอบำเรอส่งเจ้าหนี้ คือส่งดอกแก่เจ้าหนี้อยู่ตลอดไป

 

แต่เมื่อเปลื้องจิตจากกามฉันท์เสียได้

โดยที่มาปฏิบัติกำหนดอยู่ในอสุภะนิมิต คือเครื่องกำหนดว่าไม่งาม

ในสิ่งที่เป็นอารมณ์ของกามฉันท์นั้น คือกามฉันท์นั้นย่อมเกิดจากความที่มายึดถือ

ในสิ่งที่เป็นอารมณ์ของกามฉันท์ว่างาม อันเรียกว่าสุภะนิมิต

แต่เมื่อมาปฏิบัติกำหนดลงไปในสิ่งนั้นว่าไม่งาม คือให้เห็นอสุภะนิมิตขึ้น

กามฉันท์ก็สงบลงไปได้ ก็เป็นอันว่าเปลื้องหนี้ได้ ไม่ต้องหาวัตถุกามมาส่งดอก

แก่เจ้าหนี้ คือกิเลสกามในใจตัวเอง

 

นิวรณ์ข้อต่อไปก็คือพยาบาท ความโกรธแค้นขัดเคือง

จนถึงมุ่งล้างผลาญให้วิบัติ เมื่อบังเกิดขึ้นในจิตใจ ย่อมทำให้จิตใจรุ่มร้อนไม่สงบ

เพราะโทสะนี้ย่อมเสียดแทงจิตใจเหมือนอย่างโรคร้ายที่บังเกิดขึ้นเสียดแทงร่างกาย

ทำให้เกิดทุกขเวทนาแรงกล้าตามกำลังของโรค น้อยหรือมาก

โทสะก็เสียดแทงจิตใจให้เจ็บปวดรวดร้าว น้อยหรือมากเหมือนอย่างโรค

แต่ว่าเมื่อมาปฏิบัติอบรมเมตตาให้บังเกิดขึ้น

เมื่อเมตตาบังเกิดขึ้นได้ จิตก็จะพ้นจากพยาบาทได้ เปลื้องจิตจากพยาบาทได้

เพราะฉะนั้นเมตตาจึงเรียกว่า เมตตาเจโตวิมุติ

และเมตตานี้เองย่อมดับปฏิฆะนิมิต คือความกำหนดหมายกระทบกระทั่ง

อันเป็นมูลของโทสะพยาบาทเสียได้ เมตตาบังเกิดขึ้นแทน ก็เปลื้องโทสะได้

เมตตาที่เปลื้องโทสะนี้ได้ก็เป็นเมตตาเจโตวิมุติ

ก็เหมือนอย่างคนที่เป็นโรค ก็พ้นจากโรคได้ หายโรคได้

 

นิวรณ์ข้อต่อไปก็คือถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

เมื่อบังเกิดขึ้นในจิตใจ ก็ทำให้กายและจิตใจอ่อนแอท้อแท้

ไม่เข้มแข็งที่จะลุกขึ้นประกอบกรณียะ คือกิจที่ควรทำทั้งหลาย

จึงเป็นเหมือนอย่างเรือนจำ ซึ่งเมื่อต้องโทษติดอยู่ในเรือนจำ ก็ต้องนั่งเหงาง่วงอยู่ในเรือนจำ

จะไปไหนก็ไม่ได้ แม้ว่าจะต้องทำการงาน ก็ทำการงานตามที่ผู้คุมบังคับ

ไม่ปรารถนาจะทำก็ต้องทำ น่าเบื่อหน่าย

 

ฉะนั้นเมื่อมาปฏิบัติเปลื้องจิตจากถีนมิทธะได้

ด้วยการที่มาทำอาโลกะสัญญาความสำคัญหมายว่าสว่าง ทำจิตใจให้สว่าง

หรือว่าทำจิตใจให้เข้มแข็งขึ้นด้วยธาตุของความเพียร คืออารัมภธาตุ

เริ่มจับทำกรณียะคือกิจที่ควรทำ ในขณะที่ง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

ลุกไม่ขึ้นจากที่นอน ลุกไม่ขึ้นจากที่นั่ง ก็ทำจิตใจให้เข้มแข็งลุกขึ้นมา

เริ่มจับทำกิจที่ควรทำทันที ไม่ตามใจคือไม่ตามอำนาจของความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

ก็เป็นอันว่าได้จับความเพียรทีแรก ดั่งนี้เป็นอารัมภธาตุ

และเมื่อเริ่มขึ้นแล้วก็ต่อไปก็เป็นนิคมธาตุ และก็ก้าวไปทีละขั้นๆ

ข้างหน้าไม่ถอยหลัง ก็เป็นปรักมธาตุ จนบรรลุความสำเร็จ

ดั่งนี้ก็เป็นเครื่องแก้ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ซึ่งบังเกิดขึ้นจากเหตุหลายอย่าง

เช่นบังเกิดขึ้นจากความที่ซึมเซา บังเกิดขึ้นจากการที่พึ่งบริโภคอาหารเหล่านี้เป็นต้น

แต่ว่าก็สามารถที่จะเปลื้องจิตจากความง่วงงุนเคลิบเคลิ้มได้

ก็เหมือนอย่างพ้นจากเรือนจำได้ เป็นอิสระเสรี

 

นิวรณ์ข้อต่อไปก็คืออุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

ย่อมบังเกิดขึ้นจากเรื่องที่ทำให้ฟุ้งซ่านรำคาญใจทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่เป็นอันมาก

และเมื่อบังเกิดขึ้นแล้ว จิตใจนี้ก็เหมือนอย่างเป็นทาส

ก็เพราะว่าความฟุ้งซ่านรำคาญใจนี้ ก็จะส่งใจนี้ให้ซัดส่ายไปโน่น ซัดส่ายไปนี่

ไม่หยุดอยู่กับที่ได้ ก็เหมือนอย่างทาสที่ถูกนายสั่ง ใช้ให้ทำงานโน่นให้ทำงานนี่

ให้ไปโน่น ให้ไปนี่ อยากจะหยุดนั่งพักบ้าง อยากจะนอนบ้าง ก็ไม่ได้

เพราะเป็นทาสเขา เมื่อนายเขาสั่งให้ไปไหน ให้ทำอะไร ก็ต้องทำ

จิตใจนี้ก็เหมือนกัน เมื่อมีอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

ก็ถูกความฟุ้งซ่านรำคาญใจนี้ส่งให้ซัดส่ายไปต่างๆ ไม่มีเวลาที่จะหยุด

จนถึงเครียดไปเครียดมาในเรื่องทั้งหลายเป็นอันมาก

 

แต่เมื่อมาปฏิบัติเปลื้องจิตจากอุทธัจจะกุกกุจจะได้

ด้วยมากำหนดในสมถะนิมิต เครื่องกำหนดหมายที่ทำให้จิตสงบ

เครื่องกำหนดหมายที่ทำให้จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว ไม่มีอารมณ์มาก

เช่นสติกำหนดลมหายใจเข้าออก รวมอยู่เป็นอารมณ์เดียว

ก็จะเปลื้องจิตจากอุทธัจจะกุกกุจจะได้

ก็เหมือนอย่างว่าเปลื้องตนออกจากความเป็นทาสเขาได้

 

ข้อต่อไปก็คือวิจิกิจฉา ความเคลือบแคลงสงสัยลังเลไม่แน่นอนใจ

อันบังเกิดขึ้นจากเรื่องอันเป็นที่ตั้งของวิจิกิจฉาคือความเคลือบแคลงสงสัย

ซึ่งมีอยู่เป็นอันมาก เช่นบางทีก็คิดไปว่า เมื่อก่อนนี้เราเป็นอะไรมาจากไหน

เดี๋ยวนี้เราเป็นอะไร และต่อไปเราจะเป็นอะไร ดั่งนี้เป็นต้น

ตลอดจนถึงเรื่องที่ไม่น่าจะคิดต่างๆอีกเป็นอันมาก ที่ชอบนำเอามาคิด

ก็ทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัย เมื่อบังเกิดขึ้นครอบงำใจ

ก็ทำให้จิตใจนี้ไม่ได้ข้อตกลงที่แน่นอน เต็มไปด้วยความสงสัยว่าอะไรจะเป็นอะไร

เป็นอันว่าจะทำอะไรก็ทำไปไม่ได้สะดวก เพราะมัวสงสัยอยู่

เช่นว่าจะทำยังไง จะมีผลอย่างไร เหล่านี้เป็นต้น ก็เป็นอันว่าทำให้ไม่ได้ความแน่นอนใจ

ทำให้ขาดความเชื่อในตัวเอง ที่จะทำอะไรลงไปให้ถูกต้อง

ท่านจึงเปรียบเหมือนอย่างว่าเดินทางไกล

เพราะว่าการเดินทางไกลนั้น จะต้องเดินนานกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง

และถ้ายิ่งหลงทางก็ยิ่งเป็นอันว่าไปไกลหนักขึ้น

 

วิจิกิจฉาก็เหมือนกัน ทำให้ไม่สามารถที่จะถึงข้อตัดสินใจได้

หรือว่าข้อยุติลงได้ ว่านั่นเป็นนี่ นี่เป็นนั่น

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็เหมือนอย่างเดินทางไกลที่ไม่รู้จักถึงสักทีหนึ่ง

แต่ว่าเมื่อมาเปลื้องความสงสัยเสียได้ ด้วยใช้โยนิโสมนสิการ พิจารณาจับเหตุจับผลมาใส่ใจ

ว่าอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล หรืออะไรเป็นผลอะไรเป็นเหตุ ให้ถูกต้อง

ตลอดจนถึงศึกษาสำเหนียกไต่ถามท่านผู้รู้ และนำมาไตร่ตรองพิจารณาและมาปฏิบัติ

ก็จะทำให้สามารถพบข้อยุติได้ ได้ความตกลงใจได้

จะทำให้ได้ความเชื่อมั่นในตนเอง ในอันที่จะทำอะไรลงไป

 

( เริ่ม ๘๑/๒ ) เพราะฉะนั้น วิจิกิจฉานี้จึงเป็นโทษมาก

ในกิจการเป็นอันมาก ที่ถ้ามัวลังเลๆอยู่แล้วก็เป็นอันว่า ทำอะไรไม่ได้

ทำให้ไม่ทันการไม่ทันเวลา และมีเหตุการณ์เป็นอันมากที่จะต้องตัดสินใจฉับพลัน

แต่ว่าถ้ามีวิจิกิจฉาอยู่แล้วก็ตัดสินใจไม่ได้ ขาดข้อตกลงใจ ทำให้เป็นอันว่าล่วงขณะไป

ซึ่งมีพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า ผู้ที่มีขณะล่วงไปแล้วย่อมเศร้าโศก คือย่อมเป็นทุกข์ ดั่งนี้

ก็วิจิกิจฉานี้เองเป็นข้อสำคัญ ก็เหมือนอย่างเดินทางไกลไม่รู้จักถึงกันสักทีหนึ่ง

ฉะนั้น เมื่อเปลื้องวิจิกิจฉาเสียได้ ก็เป็นอันว่าเดินทางถึงกันซะทีหนึ่ง

การปฏิบัติเปลื้องจิตจากนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ นับเป็นจรณะเครื่องดำเนินถึงวิชชาเป็นข้อที่ ๖

และรูปฌานที่๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ อีก ๔ ข้อ รวมเป็น ๑๐

พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นจรณะเครื่องดำเนินถึงวิชชาไว้เองในอัมพัทธสูตร

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*