ถอดเทปพระธรรมเทศนา

  • พิมพ์

เทป074

การปฏิบัติทำจิตตภาวนา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร 

*

ความหมายของคำว่าภาวนา ๒

อุปกิเลส ๔

สมถะ วิปัสสนา ๔

สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา ๕

เนวเสขานาเสขะ เสขะ อเสขะ ๖

ขีณาสวะ ๗

ความหมายของคำว่าเสขะ ๗

เนวเสขานาเสขะบุคคล ๘

โสดาบันบุคคล ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต สมบูรณ์ ดีเยี่ยม

ม้วนที่ ๙๔/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๙๕/๑ ( File Tape 74 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

การปฏิบัติทำจิตตภาวนา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

การอบรมจิตได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเรียกว่า จิตตภาวนา ที่แปลว่าอบรมจิต

คำว่าภาวนาก็ใช้กันในภาษาไทย เช่นพูดกันว่า ทำภาวนาทางจิตใจ

บางทีก็หมายถึงการที่ใช้ถ้อยคำสำหรับภาวนา เช่นภาวนาว่าพุทโธ ภาวนาว่าอรหัง

ซึ่งพูดหมายถึงว่ากำหนดคำว่าอรหังหรือพุทโธไว้ในใจ กำหนดอยู่ว่าพุทโธว่าอรหังเป็นต้น

ก็เป็นภาวนา หรือเปล่งเป็นวาจาเบาๆว่า พุทโธ หรือว่า อรหัง ก็เรียกกันว่าภาวนาในภาษาไทย

 

ความหมายของคำว่าภาวนา

แต่สำหรับในภาษาธรรมะนั้น คำว่าภาวนาแปลว่าการทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น

เช่นว่าทำศีลให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นมา ทำสมาธิให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นมา ทำปัญญาให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นมา

คำว่าทำให้มีขึ้น ก็คือให้มีศีลขึ้น ให้มีสมาธิขึ้น ให้มีปัญญาขึ้น

คำว่าทำให้เป็นก็คือทำให้เป็นศีลขึ้น ให้เป็นสมาธิขึ้น ให้เป็นปัญญาขึ้น ก็คือการปฏิบัตินั้นเอง

การปฏิบัติทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ดั่งนี้เรียกว่าภาวนา

ส่วนการกำหนดว่าพุทโธว่าอรหังเป็นต้น หรือการเปล่งวาจาเบาๆ

ว่าพุทโธว่าอรหังเป็นต้นนั้น ก็มีคำเรียกว่าบริกรรม ซึ่งเป็นการปฏิบัติเบื้องต้น

คำว่าบริกรรมนี้ บัดนี้ในภาษาไทยมาใช้ว่าบริการ โดยความก็คล้ายๆกับบริกรรมนั่นแหละ

การกำหนดใจ หรือการเปล่งวาจาเบาๆดังกล่าวมาข้างต้น นับว่าเป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติ

จึงเรียกว่าบริกรรมภาวนา คือการปฏิบัติที่จะทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นดังกล่าวนั้นในขั้นบริกรรม

คือในขั้นปฏิบัติเบื้องต้น ซึ่งอาศัยความกำหนดใจ หรือแม้การเปล่งวาจาเบาๆ

นี้เป็นเรื่องของถ้อยคำ

จิตตภาวนาการอบรมจิต การปฏิบัติทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นในจิต

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้โดยใจความว่า จิตนี้เป็นธรรมชาติปภัสสรคือผุดผ่อง

แต่ว่าเศร้าหมองไปด้วยอุปกิเลส คือเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรเข้ามา

จิตนี้วิมุติคือหลุดพ้นจากอุปกิเลส คือเครื่องเศร้าหมองทั้งหลายที่จรเข้ามาได้

ด้วยอาศัยจิตตภาวนาคือการปฏิบัติอบรมจิต

ฉะนั้น ตามพระพุทธภาษิตนี้จึงเป็นอันตรัสแสดงถึงเรื่องจิต

อันเป็นสิ่งสำคัญที่มีอยู่ในทุกๆคน ว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติปภัสสรคือผุดผ่อง ดังที่ได้กล่าวแล้ว

เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้นนี้จึงควรทำความเข้าใจว่า การปฏิบัติทำจิตตภาวนา

คืออบรมจิตให้วิมุติหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองจิตที่จรเข้ามานั้น เป็นสิ่งที่ทำได้

ก็เพราะว่า อันเครื่องเศร้าหมองที่ทำให้จิตเศร้าหมอง อันเรียกว่ากิเลสไม่ใช่เป็นเนื้อแท้ของจิต

แต่ว่าเป็นสิ่งที่ปลอมเข้ามาสู่จิต เหมือนอย่างเป็นอาคันตุกะคือเป็นแขก

คือผู้ที่มาหา ไม่ใช่เป็นตัวเจ้าของบ้าน แต่ว่าแขกที่เข้ามาหา

ซึ่งเป็นอาคันตุกะคือผู้จรมานี้ เมื่อจรเข้ามาสู่จิต อาศัยอยู่ในจิต ก็ทำจิตให้เศร้าหมอง

จิตที่มีธรรมชาติปภัสสร ก็กลายเป็นจิตที่เศร้าหมอง

 

อุปกิเลส

เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า อุปกิเลส ที่ใช้ว่ากิเลสที่จรเข้ามา

เพื่อให้เป็นที่เข้าใจว่ากิเลสนั้นเป็นอาคันตุกะ คือเป็นผู้ที่จรเข้ามา

เป็นสิ่งที่จรเข้ามาสู่จิต ไม่ใช่เป็นเจ้าของจิต เป็นเนื้อแท้ของจิต ไม่ใช่เป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นเมื่อทำภาวนาคือการอบรมจิต จึงวิมุติหลุดพ้น

จากเครื่องเศร้าหมองที่จรเข้ามานั้นได้

ข้อนี้เป็นหลักสำคัญในการปฏิบัติพุทธศาสนา ที่ทุกคนควรจะทำความเข้าใจดังที่ตรัสไว้

เพราะว่าถ้ากิเลสคือเครื่องเศร้าหมองที่อยู่ในจิตทั้งหลายเป็นเนื้อแท้ของจิต

เป็นธรรมชาติของจิตแล้วก็ไม่สามารถที่จะละได้ ไม่สามารถที่จะปฏิบัติให้หลุดพ้นได้

แต่เพราะเหตุที่ว่าไม่ใช่เป็นเนื้อแท้ ไม่ใช่เป็นธรรมชาติของจิต

แต่ว่าเป็นอาคันตุกะ คือเป็นผู้ที่จรเข้ามา เป็นสิ่งที่จรเข้ามา จึงละได้ ชำระได้ หลุดพ้นได้

คือหมายความว่าปฏิบัติทำจิตนี้ให้หลุดพ้นได้ ดั่งนี้

 

สมถะ วิปัสสนา

วิธีปฏิบัติอบรมจิตนั้น เมื่อกล่าวโดยย่อ

ก็ได้แก่วิธีปฏิบัติที่เรียกว่าสมาธิ กับวิธีปฏิบัติที่เรียกปัญญา

สมาธินี้คือความตั้งมั่นของจิต ปัญญาคือความรู้ทั่วถึง ตามเหตุผล ตามเป็นจริง

หรือความรู้ทั่วถึงความจริงตามเหตุผล สมาธิและปัญญานี้เป็นวิธีอบรมจิต

อันเรียกว่าจิตตภาวนา แต่ก็มีคำเรียกที่ต่างออกไป เช่นเรียกว่า สมถะ วิปัสสนา

สมถะก็คือวิธีปฏิบัติทำจิตให้สงบ วิปัสสนาก็คือวิธีปฏิบัติทำจิตให้รู้แจ้งเห็นจริง

สมถะกับสมาธิก็มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน

วิปัสสนากับปัญญาก็มีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน

อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า สัญมะ คือวิธีสำรวมระวัง ทมะ คือวิธีข่ม

สัญมะวิธีสำรวมระวังนั้น ก็เนื่องถึงสติที่สำรวมระวังจิตใจ

ก็มีความหมายถึงมีสติสำรวมระวังจิตใจ

เพื่อให้จิตใจสงบ ซึ่งเรียกว่าสมถะ หรือว่าให้จิตใจตั้งมั่นเป็นสมาธิ

ฉะนั้น สัญมะคือวิธีสำรวมระวังจิตใจด้วยสติเพื่อให้สงบ เพื่อให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ

จึงมีความหมายเป็นอย่างเดียวกัน

ทมะ ข่มก็คือวิธีข่มใจ ก็หมายถึงว่าข่มใจ ฝึกใจด้วยปัญญานั้นเอง

เพราะฉะนั้น จึงมีความหมายถึงการปฏิบัติในขั้นปัญญา หรือขั้นวิปัสสนา

จึงเป็นพวกเดียวกันชั้นเดียวกัน

 

สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา

จิตภาวนาวิธีอบรมจิตดังกล่าวนี้ จะต้องมีศีลเป็นภาคพื้น

เหมือนอย่างเป็นพื้นดินสำหรับรองรับสัตว์บุคคลทั้งหลาย สิ่งทั้งหลาย ซึ่งอยู่บนแผ่นดิน

ฉันใดก็ดี ศีลก็เป็นภาคพื้น เป็นเครื่องรองรับกุศลธรรมทั้งหลายที่บังเกิดขึ้น

คือที่จะปฏิบัติอบรมให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ดังที่กล่าวมา

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติพุทธศาสนานั้น เมื่อกล่าวโดยย่อแล้ว

จึงต้องมีทั้งศีล ทั้งสมาธิ ทั้งปัญญา

อันเรียกว่า ไตรสิกขา คือข้อที่พึงศึกษา ๓ ประการ หรือว่าการศึกษา ๓ ประการ

( เริ่ม ๙๕/๑ ) สิกขา เป็นภาษาบาลี ศึกษามาจากภาษาสันสกฤตว่า ศิกฺษา

มาเป็นภาษาไทยว่า ศึกษา อันมีความหมายรวมทั้งการเรียน ทั้งการปฏิบัติ

ยังไม่รู้ก็เรียนให้รู้ ยังไม่ปฏิบัติก็ปฏิบัติ คือว่าเริ่มตั้งแต่เรียนให้รู้

และเมื่อเรียนรู้แล้วก็ปฏิบัติ รวมเข้าในคำว่า ศึกษา ในทางพุทธศาสนา

มิได้มีความหมายว่าเล่าเรียนอย่างเดียว ดังที่มักเข้าใจกันในภาษาไทย

สีลสิกขา ศึกษาในศีล ก็คือเรียนให้รู้จักศีล และปฏิบัติในศีล ทำศีลให้มีขึ้นมาให้เป็นขึ้นมา

จิตตสิกขา ศึกษาจิต ก็คือเรียนให้รู้จักวิธีปฏิบัติอบรมจิต และก็ปฏิบัติอบรมจิต

ซึ่งในขั้นนี้มีความหมายแค่ให้จิตเป็นสมาธิ หรือให้สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ

ปัญญาสิกขา ศึกษาในปัญญา ก็เรียนให้รู้จักวิธีปฏิบัติอบรมปัญญา

และก็ปฏิบัติอบรมปัญญาให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นมา

เมื่อเรียกว่าสิกขาในข้อสมาธิ ไม่เรียกว่าสมาธิสิกขา แต่เรียกว่าจิตตสิกขา

ซึ่งก็มีความหมายจำเพาะการปฏิบัติในขั้นสมาธิดังที่กล่าวมาแล้ว

สิกขาทั้งสามนี้เป็นข้อที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ สำหรับเป็นข้อปฏิบัติกล่าวโดยย่อ

และก็ได้ตรัสเอาไว้ว่าเป็นข้อปฏิบัติที่จะต้องปฏิบัติกันเรื่อยไป

จนกว่าจะบรรลุมรรคผลนิพพานในที่สุด จึงจะเป็นอันว่าจบสิกขา หรือว่าจบศึกษา

การศึกษาในทางโลกนั้นก็มีกำหนดชั้นว่าจบชั้นนั้นชั้นนี้

เช่นจบประถมศึกษา จบมัธยมศึกษา จบอุดมศึกษา

ในทางพระพุทธศาสนานั้นการศึกษาก็มีจบ แต่ว่าจบศึกษาของพุทธศาสนานั้น

จบในเมื่อปฏิบัติในไตรสิกขาดังกล่าวจนบรรลุวิมุติ คือความหลุดพ้นจากกิเลส

และกองทุกข์ทั้งสิ้น ดังที่กล่าวว่าบรรลุมรรคผลนิพพานนั้นเอง

และเมื่อได้บรรลุวิมุติคือความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้นแล้ว จึงเรียกว่าจบศึกษา

 

เนวเสขานาเสขะ เสขะ อเสขะ

เพราะฉะนั้น ในทางพุทธศาสนาจึงได้มีการแบ่งผู้ศึกษาไว้ดั่งนี้

คือผู้ที่ปฏิบัติพุทธศาสนา ปฏิบัติในไตรสิกขาโดยย่อดังกล่าวมา ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติ

แต่ว่ายังไม่บรรลุมรรคผล ตั้งแต่ในขั้นต้นเรียกว่า เนวเสขานาเสขะ

คือเป็นผู้ศึกษาก็มิใช่ เป็นผู้ที่ไม่ศึกษาคือจบศึกษาแล้วก็มิใช่

คือยังไม่จัดว่าเป็น เสขะ ผู้ศึกษา หรือนักศึกษา สำหรับจบนั้นยังไม่ต้องพูด

แต่ว่าชื่อที่เรียกก็กล่าวรวมเข้ามาด้วยว่าเป็น เสขะ คือผู้ศึกษาก็ไม่ใช่

เป็น อเสขะ คือผู้ไม่ศึกษา คือจบศึกษาก็ไม่ใช่

และเมื่อได้ปฏิบัติไปจนบรรลุมรรคผลตั้งแต่ขั้นต้น

จนถึงเป็นผู้ตั้งอยู่ในอรหัตมรรคก็เรียกว่าเป็น เสขะ คือเป็นผู้ศึกษาหรือเป็นนักศึกษา

เมื่อบรรลุอรหัตผลแล้วจึงจะเรียกว่า อเสขะ ผู้ที่มิใช่ศึกษา คือเป็นผู้ที่จบการศึกษาแล้ว

และก็เรียกว่าเป็นผู้ที่เสร็จกิจ คือได้มีกรณียะคือกิจที่พึงทำ

เพื่อความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ อันได้ทำเสร็จแล้ว

จึงเป็นผู้ที่เสร็จกิจที่จะพึงกระทำเพื่อละกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น เป็นผู้จบศึกษา

 

ขีณาสวะ

เพราะฉะนั้น การจบศึกษาในพุทธศาสนานั้น

จึงกำหนดด้วยการที่ปฏิบัติในไตรสิกขาจนบรรลุวิมุติคือความหลุดพ้น

จากกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น เป็น ขีณาสวะ คือเป็นผู้ที่มีอาสวะสิ้นแล้ว

แต่ว่าก่อนที่จะได้จบศึกษาก็จะต้องศึกษาต้องเล่าเรียนให้รู้

และก็ต้องปฏิบัติกันอยู่เรื่อยๆขึ้นไป ยิ่งๆขึ้นไป

แม้ว่าในขณะที่ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลเบื้องต้น ท่านจะไม่เรียกว่าเป็นผู้ศึกษา

หรือเป็นนักศึกษาก็ตาม แต่ว่าก็ชื่อว่าเป็นผู้ที่เริ่มปฏิบัติอยู่

 

ความหมายของคำว่าเสขะ

มาพิจารณาว่าทำไมท่านจึงไม่เรียกผู้ที่กำลังปฏิบัติอยู่

แม้ว่าจะไม่บรรลุมรรคผลเบื้องต้นว่าเป็น เสขะ คือเป็นผู้ศึกษาหรือเป็นนักศึกษา

ทั้งนี้ก็เพราะว่า คำว่าผู้ศึกษาหรือนักศึกษาอันเรียกว่า เสขะ ในพุทธศาสนานั้น

จะต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติที่เข้าทางที่ชอบ ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนเอาไว้

คือเข้าทางศีล เข้าทางสมาธิ เข้าทางปัญญา นั้นเอง

ถ้าหากว่ายังปฏิบัติเข้าทางบ้างไม่เข้าทางบ้าง ก็ยังไม่ควรจะเรียกว่าเป็นผู้ศึกษา เป็นผู้ปฏิบัติ

หรือเรียกว่าเป็นนักศึกษาพุทธศาสนา เพราะยังมีโอกาสที่ปฏิบัติไม่เข้าทางพุทธศาสนา

เมื่อปฏิบัติไม่เข้าทางพุทธศาสนา จะเรียกว่าเป็นผู้ศึกษาปฏิบัติพุทธศาสนาหาได้ไม่

 

เนวเสขานาเสขะบุคคล

บรรดาผู้ที่ยังเป็นสามัญชน หรือเรียกว่าเป็นบุถุชนอยู่นั้น

ก็ย่อมจะปฏิบัติเข้าทางบ้างไม่เข้าทางบ้าง

ในขณะที่ได้มีสติ ได้มีปัญญา คอยระมัดระวัง คอยฝึก คอยข่มจิตใจอยู่

ก็ย่อมจะปฏิบัติเข้าทางศีล เข้าทางสมาธิ เข้าทางปัญญาในพุทธศาสนาได้

แต่ในขณะที่ขาดสติสำหรับที่จะระมัดระวัง ขาดปัญญาที่จะฝึกใจ ข่มใจของตนเอง

ย่อมปฏิบัติออกนอกทางพุทธศาสนาได้ ยังประพฤติละเมิดศีลได้

ยังมีจิตใจเป็นไปตามอำนาจของกิเลสกองราคะหรือโลภะบ้าง กองโทสะบ้าง กองโมหะบ้าง

หรือยังเป็นไปตามอำนาจของตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากในจิตใจของตนเอง

ก็แปลว่าจิตใจออกนอกทาง ยังมีความคิดความเห็นที่ไม่ถูกต้อง ผิดจากทำนองคลองธรรมได้

เพราะฉะนั้น ในขณะที่เป็นดั่งนี้ก็เรียกว่าปฏิบัตินอกทางพุทธศาสนา

นอกทางศีล นอกทางสมาธิ นอกทางปัญญา

จึงไม่อาจจะเรียกว่าเป็น เสขะ คือเป็นผู้ที่ได้ปฏิบัติพุทธศาสนา

เพราะข้อที่ปฏิบัตินั้นไม่เข้าทางพุทธศาสนา ไม่ถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธเจ้า

สามัญชนหรือที่เรียกว่าบุถุชนก็ย่อมเป็นเช่นนี้

เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่ยอมเรียกว่าเป็น เสขะ ผู้ศึกษา หรือเป็นนักศึกษาพุทธศาสนา

โสดาบันบุคคล 

ส่วนท่านที่ได้ปฏิบัติจนบรรลุถึงมรรคผลตั้งแต่เบื้องต้น

ดังที่ได้เรียกว่าเป็น โสดาบันบุคคล ที่แปลว่าเป็นผู้เข้าสู่กระแสธรรมแล้ว

ย่อมจะมีความปฏิบัติไม่ออกนอกทางศีล และโดยเฉพาะก็คือศีล ๕

ศีล ๕ จะบังเกิดมีขึ้นเป็นธรรมชาติธรรมดา ของท่านผู้ที่มีจิตใจเข้ากระแสธรรมแล้ว

ไม่มีที่จะคิดล่วงละเมิดศีล ๕ จิตใจที่จะคิดล่วงละเมิดศีล ๕ ก็ไม่มี

ก็เป็นอันว่าความประพฤติทางกาย ทางวาจา ทางใจ ก็เข้าศีล ๕

จิตใจก็เข้าศีล ๕ ไม่มีที่จะคิดละเมิดออกไป ความรู้ความเห็นก็ยืนยันรับรองในศีล ๕

ไม่มีความคิดที่จะละเมิด ไม่มีความรู้ความเห็นที่จะผิดออกไป

เพราะฉะนั้น จึงได้เรียกว่าเป็น เสขะ คือเป็นผู้ศึกษาเป็นนักศึกษาได้

เพราะว่าไม่มีที่จะปฏิบัติออกนอกทางศีล ทางสมาธิ ทางปัญญา ในขั้นตั้งแต่ขั้นศีล ๕ นี้ขึ้นไป

และก็จะมุ่งหน้าโดยกระแสธรรมนี้จะนำไปสู่ภูมิชั้นที่สูงๆยิ่งขึ้นไป ไม่มีที่จะถอยหลังกลับ

จึงเรียกว่า เสขะ คือเป็นผู้ที่ศึกษา หรือเป็นนักศึกษาในพุทธศาสนา

แต่ว่าก็ต้องเข้าใจว่าท่านแบ่งไว้ดั่งนี้ แบ่งไว้ตามขั้นตอนของการปฏิบัติ

ผู้ที่จะเป็น อเสขะ คือจบศึกษาก็จะต้องมาจาก เสขะ คือเป็นนักศึกษา หรือเป็นผู้ศึกษา

ผู้ที่เป็น เสขะ นั้นเล่าก็จะต้องมาจากขั้นที่ยังไม่ใช่ เสขะ คือมิใช่นักศึกษา

คือเป็นผู้ที่เริ่มต้น อย่างที่สามัญชนทั่วไปได้ปฏิบัติกันนี้แหละ

ต้องเริ่มต้นขึ้นจากขั้นที่มิใช่ เสขะ และมิใช่ อเสขะ คือขั้นสามัญชนนี้เอง

ต้องเริ่มต้นขึ้นจากในขั้นนี้ จะเรียกว่าในขั้นอนุบาล ในขั้นประถม ในขั้นมัธยมก็ได้

เพราะแม้ว่าในทางโลกเองที่เรียกว่า นิสิต หรือเรียกว่านักศึกษานั้น

ก็มาเรียกในขั้นมหาวิทยาลัย แต่ก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัย ก็ไม่เรียกว่านักศึกษา

ไม่เรียกว่านิสิต แต่เรียกว่านักเรียน นักเรียนอนุบาล นักเรียนประถม นักเรียนมัธยม

มาเข้ามหาวิทยาลัยจึงจะเรียกว่านักศึกษา หรือเรียกว่านิสิต ฉันใดก็ดี

ในทางพุทธศาสนานั้น ในขั้นที่ปฏิบัติกันเบื้องต้นนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นขั้นนักเรียน

ต่อเมื่อบรรลุมรรคผลเบื้องต้นขึ้นไปจึงจะเรียกว่าเป็นนักศึกษา หรือผู้ศึกษา

จนจบบรรลุวิมุติหลุดพ้น ทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปในที่สุดแล้ว จึงจะจบศึกษา

ก็อาจจะเทียบกันได้ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น แม้ในขั้นที่เป็นนักเรียน ถึงจะยังไม่ถึงนักศึกษาก็เป็นขั้นต้นอันเป็นขั้นสำคัญ

เพราะบรรดานักศึกษาทั้งหลายก็ต้องมาจากความเป็นนักเรียนก่อน

และมาจากนักเรียนอนุบาล นักเรียนประถม นักเรียนมัธยม

ดังที่เราทั้งหลายได้ปฏิบัติกันอยู่นี้เอง

เพราะฉะนั้น ในขั้นที่เป็นนักเรียนนี้จึงเป็นขั้นสำคัญ อันจะนำไปสู่ขั้นสูงขึ้นไป

ก็คือในขั้นที่จะต้องฝึกปฏิบัติ ในศีล ในสมาธิ และในปัญญา กันไปโดยลำดับนี้เอง

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

ไตรสิกขา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

* 

ความหมายของคำว่ากุศล ๒

สชาติปัญญา ๓

ชีวิตประกอบด้วยธาตุ ๖ ๔

ธรรมะ ๓ อย่าง ๔

กุสลาธรรมา อกุสลาธรรมา ๕

อัพยากตาธรรมา ๕

กรรมย่อมเกิดจากการกระทำ ๖

เครื่องมือกระทำกรรม ๗

กาย ใจ อายตนะ ๗

ข้อที่ทรงบัญญัติไตรสิกขา ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๙๕/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๙๕/๒ - ๙๖/๑ ( File Tape 74 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

ไตรสิกขา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

* 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงไตรสิกขา สีลสิกขา จิตตสิกขา ปัญญาสิกขา หรือศีลสมาธิปัญญา

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งสอนให้ปฏิบัติธรรมะที่ทรงสั่งสอน ดังเช่นไตรสิกขาดังกล่าว

อันที่จริงธรรมะที่ทรงสั่งสอนนี้ก็เป็นธรรมชาติธรรมดา ที่ทุกๆคนต่างมีพื้นอยู่ในจิตใจของตน

และโดยเฉพาะผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ที่แปลว่าผู้มีมนะคือใจ หรือความรู้สูง

เป็นผลของกุศลซึ่งได้ประกอบกระทำมา จึงได้มาถือกำเนิดเกิดเป็นมนุษย์

ผู้มีมนะความรู้หรือใจสูง ที่ว่าเป็นผลของกุศล

 

ความหมายของคำว่ากุศล

คำว่ากุศลนั้นแปลว่ากิจของคนฉลาด โดยตรงความฉลาดนี่แหละเป็นกุศล ก็คือปัญญานั้นเอง

เพราะฉนั้น ทุกคนเกิดมาจึงมี สชาติปัญญา ที่ว่าปัญญาที่ได้มากับชาติคือความเกิด

มาพร้อมกับชาติคือความเกิด มนุษย์หรือคนจึงมีความรู้สูงมาแต่กำเนิด

ต่างจากสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บังเกิดมีสัตว์โลกมาในโลกนี้ก็ว่าได้

มนุษย์ได้มีความเจริญต่างๆ ทั้งในด้านวัตถุ ทั้งในด้านจิตใจ

ในด้านวัตถุนั้นก็มีความรู้ความฉลาดสามารถสร้างบ้านสร้างเมืองสร้างสิ่งต่างๆ

อันอำนวยทั้งความสุข ทั้งความทุกข์ ทั้งเพื่อสร้าง ทั้งเพื่อทำลายกัน ดังที่ปรากฏ

ในทางจิตใจก็มีความเจริญ ได้มีพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาเอกบังเกิดขึ้นในโลก

ก็จากหมู่มนุษย์นี้เอง อันแสดงถึงมีความเจริญทางจิตใจถึงที่สุด

สามารถปฏิบัติทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปได้

ส่วนสัตว์เดรัจฉานนั้น เรียกว่าตั้งแต่ต้นมาจนบัดนี้ ก็อยู่คงที่นั่นเอง

ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กไม่ว่าจะเป็นสัตว์ใหญ่ ไม่มีความเจริญคืบหน้าเหมือนอย่างมนุษย์

 

สชาติปัญญา

ที่มนุษย์เป็นดั่งนี้ก็เพราะอำนาจของกุศล

โดยตรงก็คือ สชาติปัญญา ปัญญาที่ได้มาพร้อมกับชาติคือความเกิด

นี้เองคือธรรมะที่แปลว่า ทรงไว้ คือเป็นสภาพที่ทรงไว้

ทรงตัวเองคือทรงธรรมะเอง โดยเป็นสัจจะคือความจริงอยู่ทุกกาลสมัย

ดังที่เรียกว่าเป็น อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

และทรงผู้ที่ทรงธรรมะให้ทรง หรือดำรงอยู่ได้ ...

( เริ่ม ๙๕/๒ ) เช่นเดียวกับชีวิตซึ่งเป็นเครื่องทรงหรือดำรงร่างกาย

หรือรวมเรียกว่าบุคคล สัตว์ ให้ดำรงอยู่หรือให้ทรงอยู่

เช่นร่างกายที่มีชีวิต ก็เป็นร่างกายที่ดำรงอยู่ทรงอยู่ ยืน เดิน นั่ง นอน ได้

ชีวิตเป็นเครื่องทรงหรือดำรงร่างกายนี้ดังกล่าว

แต่ถ้าขาดชีวิต ไม่มีชีวิต ร่างกายนี้ก็ต้องนอนทอดทิ้งอยู่บนแผ่นดิน

ไม่สามารถที่จะลุกขึ้นมายืนเดินนั่งนอนได้ เพราะไม่มีเครื่องทรงอยู่ คือชีวิต

และเครื่องทรงอยู่คือชีวิตนี้ก็ประกอบด้วยจิตใจ และกายอันนี้ที่รวมกันอยู่นั้นเอง

 

ชีวิตประกอบด้วยธาตุ ๖

กายและจิตใจนี้ทรงอยู่ดำรงอยู่ หรือว่ากล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือธาตุทั้ง ๖

ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าบุรุษสตรีนี้มีธาตุ ๖ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

ธาตุอากาสคือช่องว่าง กับวิญญาณธาตุคือธาตุรู้ ประกอบกันอยู่ ทรงอยู่

จึงดำรงความเป็นสัตว์บุคคล เป็นชายเป็นหญิงที่ดำรงชีวิตอยู่ได้

ถ้าธาตุเหล่านี้แตกสลาย ความทรงอยู่ดำรงอยู่ของชีวิตก็ต้องสิ้นไปหมดไป

สิ่งที่ดำรงอยู่หรือทรงอยู่ อันเป็นเครื่องให้ทรงอยู่หรือดำรงอยู่ดั่งกล่าวนี้

ก็เท่ากับเป็นธรรมะ ที่แปลว่าทรงอยู่หรือดำรงอยู่

คุณอันเป็นเครื่องให้ทรงอยู่ดำรงอยู่ก็คือธรรมะนั้นเอง ตัวธรรมะเองนั้นก็ทรงอยู่ดำรงอยู่

และส่วนที่เป็นคุณก็เป็นเครื่องทำให้ทรงอยู่ดำรงอยู่ ในทางที่เป็นคุณด้วย

และแม้ส่วนที่เป็นโทษก็เช่นเดียวกัน

เมื่อเป็นโทษก็เป็นสิ่งที่ทรงอยู่ดำรงอยู่โดยความเป็นโทษ

และทำให้ผู้ที่มีอยู่ ก็ทรงอยู่ดำรงอยู่โดยความเป็นโทษ

ในทุกๆคนย่อมมีสิ่งที่ทรงอยู่ดำรงอยู่ดังกล่าวมานี้

และนอกจากส่วนที่เป็นคุณและส่วนที่เป็นโทษแล้ว ยังมีส่วนที่เป็นกลางๆ

ไม่ใช่คุณไม่ใช่โทษ ก็เป็นส่วนที่ทรงอยู่ดำรงอยู่เช่นเดียวกัน

 

ธรรมะ ๓ อย่าง

เพราะฉะนั้น ทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง

จึงได้ตรัสแสดงไว้ทั้งหมด ว่าธรรมะคือส่วนที่ทรงอยู่ดำรงอยู่นี้มีเป็น ๓ คือ

กุสลาธรรมา ธรรมทั้งหลายที่เป็นกุศล อกุสลาธรรมา ธรรมทั้งหลายที่เป็นอกุศล

อัพยากตาธรรมา ธรรมทั้งหลายที่เป็นอัพยากฤตคือไม่ใช่กุศลไม่ใช่อกุศล

 

กุสลาธรรมา อกุสลาธรรมา

เมื่อจะชี้ตัวอย่างธรรมะที่เป็นส่วนกุศล ก็ได้มีอยู่ในบุคคลผู้เกิดมาเป็นมนุษย์

ยกข้อที่สำคัญที่สุดก็คือ สชาติปัญญา ปัญญาที่ได้มากับชาติคือความเกิด

พร้อมทั้งสังขารร่างกาย จิตใจ อันพร้อมที่จะได้ปฏิบัติกระทำในทางพัฒนา

คือทำให้เกิดความเจริญ นี้เป็นตัวอย่างของกุศลธรรม

ส่วนที่เป็นอกุศลธรรมนั้น ก็ยกตัวอย่างได้แก่ สัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย

ที่ไม่ได้ สชาติปัญญา มาเหมือนอย่างมนุษย์

มีร่างกายพร้อมทั้งจิตใจไม่อาจที่จะปฏิบัติ พัฒนาให้บังเกิดความเจริญ

 

อัพยากตาธรรมา

ส่วนที่เป็นกลางๆนั้นก็หมายถึงร่างกายและจิตใจเองที่ได้มาโดยธรรมชาติธรรมดา

ตลอดจนถึงการกระทำที่เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา

เช่นการ ยืน เดิน นั่ง นอน การบริโภค การถ่าย ซึ่งเป็นไปตามธรรมดาของร่างกาย

ตลอดจนถึงการดู การฟัง การสูดดม การลิ้มรส การถูกต้องทางกาย ความคิดต่างๆ

รวมทั้งการกระทำอะไรๆ การพูดอะไรๆ การคิดอะไรๆ ที่เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา

เหล่านี้นับว่าเป็นของกลางๆ เช่นคนที่ต้องยืนเดินนั่งนอน ต้องกินดื่มทำพูดคิด

ต่างๆเป็นต้นดังกล่าว ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เรียกว่าเป็นบุญ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เรียกว่าบาป

ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เรียกว่าความดี ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เรียกว่าความชั่ว

เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าเป็นธรรมะที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่ดีไม่ใช่ชั่ว

 

กรรมย่อมเกิดจากการกระทำ

พระพุทธเจ้าก็ได้ทรงสั่งสอน

ให้ใช้สิ่งที่มีเป็นธรรมชาติเป็นธรรมดานี่แหละ ละความชั่ว กระทำความดีต่างๆ

คือว่าใช้ตา ใช้หู ใช้จมูก ใช้ลิ้น ใช้กาย ใช้มนะคือใจ พร้อมทั้งวาจา

หรือว่าใช้ทวารทั้ง ๓ คือ กาย วาจา ใจ เว้นจากอกุศลธรรม ธรรมะที่เป็นอกุศล

ประกอบกุศลธรรม คือธรรมะที่เป็นกุศลต่างๆ

เพราะว่า กุศลธรรมก็ดี อกุศลธรรมก็ดี ย่อมเกิดขึ้นจากการกระทำ

อันประกอบด้วยเจตนาคือความจงใจ สำเร็จเป็นการงานที่กระทำต่างๆ

อันเรียกว่ากรรม แปลว่าการงานที่กระทำ เมื่อทำดีก็เป็นกรรมดี เมื่อทำชั่วก็เป็นกรรมชั่ว

เพราะฉะนั้น เมื่อมุ่งถึงการกระทำ การงานที่กระทำดังกล่าวนี้จึงเรียกว่ากรรม

และกรรมดังกล่าวมานี้คือการกระทำ หรือการงานที่กระทำ

เมื่อทำชั่วเราก็เรียกกันในภาษาไทยว่าทำความชั่ว ทำดีก็เรียกกันในภาษาไทยว่าทำความดี

มีคำว่า “ความ” ความดี ความชั่ว

เพราะฉะนั้น คำว่าความดีก็คือกุศลธรรมนั้นเอง ความชั่วก็คืออกุศลธรรมนั้นเอง

ซึ่งแสดงว่าต้องมีความดีต้องมีความชั่วอยู่ในโลกนี้ ไม่ใช่ไม่มี

มีความดี มีความชั่ว มีความดีก็คือมีกุศลธรรม มีความชั่วก็คือมีอกุศลธรรม

คำว่าธรรมะนั้นเป็นสภาพ ก็คือตัว “ความ” ที่เราพูดกันในภาษาไทยนี้เอง

แต่ว่าความดีความชั่วนี้จะปรากฏด้วยการกระทำ

เมื่อกระทำความดีก็เป็นกรรมดี เมื่อกระทำความชั่วก็เป็นกรรมชั่ว

แต่เมื่อไม่กระทำ ความดีความชั่วก็ย่อมยังไม่มาเกิดขึ้นในบุคคล

ต่อเมื่อกระทำจึงจะมาบังเกิดขึ้นในบุคคล และเมื่อมาบังเกิดขึ้นในบุคคล

ก็ทำให้บุคคลเป็นคนดี หรือว่าเป็นคนชั่ว ไปตามความดีหรือความชั่วที่กระทำ

และก็เป็นคนดีหรือเป็นคนชั่วขึ้นทันที ที่ได้กระทำความดีหรือความชั่วนั้น

นี้เป็นสัจจะคือความจริงที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ทรงแสดงสั่งสอน

 

เครื่องมือกระทำกรรม

ในการกระทำความดีหรือความชั่วทั้ง ๒ อย่างนี้

ก็ต้องอาศัยธรรมะที่เป็นกลางๆ อันมีอยู่ในบุคคลทุกคน คือกายใจ หรือกายและจิต

หรือว่าสังขารร่างกาย ที่สมมติเรียกว่าอัตภาพตัวตนนี้แหละ

หรือว่าโดยตรงเมื่อยกเอาทวารคือทางที่จะกระทำกรรม

ก็คือกายทวารทางกาย วจีทวารทางวาจา มโนทวารทางใจ นี้เอง

ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกว่าเป็นธรรมะที่เป็นกลางๆ คือเป็นส่วนที่เป็นกลางๆ

เป็น “ความ” ที่เป็นกลางๆ ซึ่งทุกคนได้มาตั้งแต่กำเนิด เกิดมาก็มีกายและจิตนี้มา

มีสังขารร่างกายนี้มา มีกายวาจาใจนี้มา หรือเรียกตามภาษาธรรมะว่าเป็นวิบากขันธ์

คือเป็นขันธ์ที่เป็นวิบากคือเป็นส่วนผล ที่ได้มาตั้งแต่เกิด

ไม่เรียกว่าเป็นดี หรือไม่เรียกว่าเป็นชั่ว เป็นกลางๆ ก็ให้ใช้ส่วนที่เป็นกลางๆนี้แหละ

โดยเว้นจากกรรมที่ชั่วที่ผิด อันเรียกว่าอกุศลกรรม หรือบาปกรรม

ประกอบกรรมที่ดีที่ชอบอันเรียกว่าบุญกรรม หรือกุศลกรรม

และก็ตรัสให้ชำระจิตใจของเรา ของตนเองนี่แหละ ให้บริสุทธิ์ผ่องใส

เพราะจิตใจนี้เป็นส่วนสำคัญ

 

กาย ใจ อายตนะ

มาจับกล่าวถึงศีลสมาธิปัญญา พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนจากธรรมชาติธรรมดา

คือธรรมะที่เป็นกลางๆที่ทุกคนมีอยู่นี่แหละ เพราะว่าทุกคนนั้นก็ต้องมีกายพร้อมทั้งใจ

อันประกอบด้วยอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมโนคือใจ

และทุกคนเมื่อจะทำอะไรก็ต้องใช้ร่างกายใช้ตาใช้หูเป็นต้น เช่นว่าเมื่อจะฟังอะไรก็ต้องใช้หูฟัง

จะดูอะไรก็ต้องใช้ตาดู จะทราบกลิ่นก็ต้องใช้จมูก จะทราบรสก็ต้องใช้ลิ้น

จะทราบสิ่งถูกต้องก็ต้องใช้กาย จะคิดจะรู้อะไรก็ต้องใช้มโนคือใจ

ก็ต้องอาศัยอายตนะเหล่านี้นั่นเอง

และโดยเฉพาะอายตนะ ๕ ข้อข้างต้นคือตาหูจมูกลิ้นและกายนั้น

เป็นส่วนประสาททางร่างกาย ซึ่งเป็นส่วนภายนอก

ส่วนมโนอันเป็นข้อที่ ๖ นั้นเป็นส่วนภายในประกอบกันอยู่

เพราะฉะนั้น การที่จะทำอะไรทุกอย่างจึงต้องอาศัยทั้ง ๖ ทางนี้ประกอบกัน

ยกตัวอย่างเช่นกำลังฟังธรรมบรรยายอยู่นี้

ก็ต้องมีร่างกายพร้อมที่จะฟัง ดังเช่นที่นั่งสำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ

สำรวมกายนั้นก็คือร่างกายพร้อมทั้งหู เรียกว่าเงี่ยหูที่จะฟัง กายก็ต้องมีความสำรวม

สำรวมวาจานั้นก็คือต้องสำรวมความคิด ซึ่งเป็นต้นของวาจา ไม่คิดไปในเรื่องอื่น

และสำรวมใจนั้นก็คือต้องตั้งใจ มีความตั้งใจที่จะฟัง เรียกว่าในการฟังนี้ หูก็ต้องฟัง

วาจาคือความคิดก็ต้องคิดไปในสิ่งที่ฟัง ใจก็ต้องตั้งที่จะฟัง คือใจก็ต้องฟัง

แปลว่าหูก็ต้องฟัง ใจก็ต้องฟัง และความคิดก็ต้องคิดไปตามที่ฟัง

ดั่งนี้ จึงจะฟังได้ยิน และเมื่อฟังได้ยินก็รู้เรื่องที่ฟัง เข้าใจเรื่องที่ฟัง

ความรู้เรื่องที่ฟังเข้าใจเรื่องที่ฟังนี้ คือตัว ปัญญา และความที่ตั้งใจฟังเป็นตัว สมาธิ

ความที่สำรวมกายเงี่ยหูฟังเป็น ศีล

ฉะนั้น จึงจะเห็นได้ว่าแม้ในการฟังธรรมบรรยายที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้

กายก็ต้องเป็นศีล คือต้องมีความเป็นปรกติ มีความสำรวม

ใจก็ต้องมีสมาธิคือตั้งใจ ตั้งใจฟัง จึงจะได้ปัญญาคือความที่ฟังได้ยิน

และได้ความรู้ความเข้าใจตามที่ฟัง ตามที่จะพึงได้ อันเป็นตัวปัญญา

ทุกคนจะต้องใช้อาการของร่างกายที่ต้องสำรวม อาการของใจที่ต้องตั้งใจ ดั่งนี้

พร้อมทั้งความคิดไปตาม จึงจะได้ปัญญาที่เป็นตัวความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ทำนั้นๆ

ต้องเป็นดั่งนี้ทุกอย่าง อันจะขาดเสียมิได้

ถ้าขาดเสียแล้ว การทำการงานทุกอย่างไม่มีความสำเร็จ

ตั้งแต่เป็นเด็กเรียนหนังสือมาในขั้นต้น จนถึงเรียนสำเร็จ

และเมื่อทำการงานอะไรทุกอย่าง ก็จะต้องอาศัยอาการทั้ง ๓ นี้

( เริ่ม ๙๖/๑ ) คือความสำรวมทางกาย ความตั้งใจ และปัญญา ที่ได้จากอาการทั้ง ๓ นั้น

มาประกอบกระทำการงานต่างๆ ต้องมีอาการทั้ง ๓ นี้อยู่ด้วยกันทั้งนั้น

จึงจะสำเร็จเป็นการงานทุกอย่าง

แต่ว่าในการประกอบกระทำ

อาการทั้ง ๓ อย่างดังที่กล่าวนี้ ย่อมเป็นไปได้ทั้งในทางดี ทั้งในทางชั่ว

จะทำความดีก็จะต้องมีความสำรวมทางกายเพื่อที่จะทำ มีความตั้งใจที่จะทำ มีปัญญาที่จะทำ

จะทำความชั่วก็เช่นเดียวกัน ต้องมีความสำรวมทางกายที่จะทำชั่ว

ตั้งใจที่จะทำชั่ว มีปัญญาที่จะทำชั่ว

เพราะฉะนั้น อาการทั้ง ๓ นี้ เมื่อว่าถึงตัวอาการทั้ง ๓ นี้จริงๆ ย่อมเป็นของกลางๆ

แต่ว่าใช้ไปได้ทั้งในทางดี ทั้งในทางชั่ว เหมือนอย่างมือทั้ง ๒ ของทุกๆคนที่มีอยู่

ก็เป็นของกลางๆ มือไม่ดีไม่ชั่วอะไร เป็นของกลางๆ

แต่ว่าถ้าใช้มือทำความชั่ว เช่นว่าไปชกต่อยใครต่อใคร ทำร้ายใครต่อใคร ก็เป็นการทำชั่ว

แต่ถ้าใช้มือทำดี เช่นใช้มือทำการทำงานที่เป็นประโยชน์ ทำบุญทำกุศลต่างๆ

ก็เป็นการใช้ทำความดี ตัวมือเองนั้นไม่ใช่ดีไม่ใช่ชั่ว

แต่ว่าตัวบุคคลนั่นแหละเมื่อใช้มือทำดีก็เป็นการทำดี ใช้มือทำชั่วก็ป็นการทำชั่ว

 

ข้อที่ทรงบัญญัติไตรสิกขา

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ใช้สิ่งที่มีอยู่เป็นธรรมชาติธรรมดา

คือเป็นสิ่งที่คนเรามีอยู่แล้ว และก็กระทำกันอยู่แล้วนี่แหละ ให้กระทำความดี ละความชั่ว

และให้เพิ่มพลังของการกระทำโดยเพิ่มพลังของอาการที่มีอยู่เป็นธรรมชาติเป็นธรรมดานี่แหละ

ให้มีพลังในการที่จะละความชั่ว ที่จะกระทำความดีให้มากขึ้น

จึงได้ทรงบัญญัติข้อปฏิบัติ อันเรียกว่าเป็นศีล ข้อปฏิบัติอันเรียกว่าเป็นสมาธิ

ข้อปฏิบัติอันเรียกว่าปัญญา ให้เป็นข้อที่เรียกว่าเป็นสิกขาหรือศึกษา คือให้ศึกษาให้รู้จัก

และฝึกปฏิบัติให้เป็นขึ้นให้มีขึ้น ให้เป็นศีลขึ้น ให้เป็นสมาธิขึ้น ให้เป็นปัญญาขึ้น

ฝึกหัดกายวาจาใจนี้เอง ให้เว้นจากบาปอกุศลทุจริตทั้งหลายทางกายทางวาจาทางใจ

โดยที่งดเว้นใจของตัวเองให้ได้จาก ความโลภ ความโกรธ ความหลง

จากตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อันจะดึงไปให้ประพฤติทางกาย ประพฤติทางวาจา

ประพฤติทางใจ เป็นบาปเป็นอกุศล เป็นทุจริตต่างๆ ดั่งนี้เป็น ศีล

ให้ฝึกปฏิบัติจิตใจนี้ให้สงบจากอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลสทั้งหลาย

ให้มีอารมณ์เป็นอันเดียวในทางที่ดีที่ชอบ ให้จิตตั้งมั่นอยู่เป็นอารมณ์อันเดียว

อันเป็นอารมณ์ที่ดีที่ชอบนั้น อันจะทำให้จิตใจให้สงบจากกาม

จากอกุศลธรรมทั้งหลายเป็น สมาธิ 

และให้ฝึกตัวความรู้ที่เป็น สชาติปัญญา ปัญญาโดยชาติกำเนิด และที่ได้สั่งสมเพิ่มเติมมานี้

ให้เป็นความรู้ที่เข้าถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริงในตนเอง ให้รู้จักนามรูปหรือขันธ์ ๕

โดยเป็นไตรลักษณ์ อนิจจะไม่เที่ยง ทุกขะเป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง

อนัตตาไม่ใช่อัตตาตัวตน เพื่อละความยึดมั่นถือมั่นในตัวเราของเรา

อันเป็น ปัญญา ที่กำจัด หรือที่ดับกิเลสและกองทุกข์

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*