ถอดเทปพระธรรมเทศนา

  • พิมพ์

เทป075

เบื้องต้นของกุศลธรรม

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดนิดหน่อย แต่สมบูรณ์ดีมาก

ม้วนที่ ๙๖/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๙๖/๒ ( File Tape 75 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

เบื้องต้นของกุศลธรรม

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงจิตตภาวนาการอบรมจิต

และโดยตรงตรัสสอนให้ปฏิบัติอบรมจิตนี้แหละเป็นหลักสำคัญ

แม้ว่าจะได้ตรัสธรรมโดยปริยายคือทางเป็นอันมาก แต่ก็รวมอยู่ที่จิตนี้เอง

การถึงสรณะ คือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึง

ก็ต้องถึงให้ถึงจิตใจ จิตใจต้องถึง จะปฏิบัติในศีลก็ต้องให้ถึงจิตใจ

ในสมาธินั้นตรัสเป็นจิตตสิกขา อบรมจิตโดยตรง

ปัญญาก็ต้องอบรมที่จิตใจนี้เอง ให้ธาตุรู้ของจิตใจเกิดปัญญาคือความรู้อันถูกต้อง

การปฏิบัติแม้ในเบื้องต้น ก็ต้องให้ถึงจิตใจดังกล่าว

ได้แสดงสรณะและศีลมาตามสมควร

จึงจะได้จับในขั้นสติ ขั้นสมาธิ และปัญญา สืบต่อไป

ด้วยอาศัยพระพุทธภาษิตที่ตรัสตอบแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุรูปนั้นได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

กราบทูลถามข้อที่พึงปฏิบัติโดยย่อ เพื่อว่าจะได้ออกไปปฏิบัติอยู่ผู้เดียว

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอน ซึ่งมีความโดยย่อว่า

ให้ปฏิบัติทำเบื้องต้นในกุศลธรรมทั้งหลายให้บริสุทธิ์

อะไรเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลาย ก็ตรัสว่า ศีลที่บริสุทธิ์ดีแล้ว

และทิฏฐิคือความเห็นที่ตรง ๒ ข้อนี้เป็นเบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลาย

แล้วตรัสต่อไปว่า อาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีล พึงปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ โดยอาการทั้ง ๓

คือตั้งสติกำหนดดูกาย กำหนดดูเวทนา กำหนดดูจิต กำหนดดูธรรม

ในภายใน ในภายนอก ทั้งภายในและภายนอก ดั่งนี้

ภิกษุรูปนั้นได้ฟังพระพุทธโอวาทแล้ว ก็ได้หลีกออกไปปฏิบัติอยู่ผู้เดียวตามพระพุทธโอวาท

ก็ได้บรรลุถึงธรรมะสูงสุดในพุทธศาสนา คือเป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น พระพุทธโอวาทที่ตรัสสอนไว้โดยย่อนี้ จึงถือเป็นหลักปฏิบัติ

ของผู้ปฏิบัติธรรมะทั้งหลายได้

ข้อแรกก็คือปฏิบัติเบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลาย

หรือในกุศลธรรมทั้งหลายให้บริสุทธิ์ คือปฏิบัติศีลให้บริสุทธิ์ ดี และทำความเห็นให้ตรง

การปฏิบัติศีลให้บริสุทธิ์ดีนั้น ก็ต้องรักษาศีลให้ถึงใจ ไม่ให้ใจคิดล่วงละเมิด

แม้ว่าจะไม่ทำทางกายทางวาจา การไม่ละเมิดศีลทางกายทางวาจานั้น ศีลก็ไม่ขาด

แต่ว่าถ้าใจยังละเมิดอยู่ ศีลก็ไม่บริสุทธิ์ดี แม้ว่าจะไม่ขาดก็ไม่บริสุทธิ์ดี

เพราะฉะนั้น จึงต้องรักษาจิตใจนี้ ไม่คิดละเมิด

ด้วยทำจิตใจให้สงบ เป็นปรกติ เป็นจิตใจอันประกอบด้วยความสำรวม

โดยมีสติสำรวมระวังอยู่เสมอ ดั่งนี้ ศีลจึงจะบริสุทธิ์ ดี

และข้อสองคือทำความเห็นให้ตรง

คือให้ถูกตรงต่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ต่อคลองธรรม

ไม่ทำความเห็นนอกทางแห่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า นอกคลองธรรม

ข้อนี้เป็นข้อสำคัญคู่กันไปกับทำศีลให้บริสุทธิ์ดี

และทั้ง ๒ ข้อนี้เองที่ตรัสว่าเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลาย หรือในกุศลธรรมทั้งหลาย

ถ้าหากว่าไม่มี ๒ ข้อที่เป็นเบื้องต้นนี้ ท่ามกลางและที่สุดของกุศลธรรมทั้งหลาย หรือในกุศล

ธรรมทั้งหลายก็มีขึ้นไม่ได้ เพราะฉะนั้นจึงต้องมี ๒ ข้อนี้เป็นเบื้องต้น

การที่มาปฏิบัติรักษาศีลเป็นคฤหัสถ์ก็ดี เป็นบรรพชิตคือผู้บวชก็ดี

จะเป็นศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็ดี

ก็เป็นการมาปฏิบัติเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมทั้งหลายข้อที่ ๑

ซึ่งการปฏิบัติในศีลนี้ ก็พึงปฏิบัติให้บริสุทธิ์ดี คือให้ถึงจิตใจ ให้จิตใจเป็นศีลดังกล่าว

การที่มาเล่าเรียน สดับตรับฟังคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาก็ดี

อ่านหนังสือพระพุทธศาสนาก็ดี ก็เพื่อที่จะให้มีความรู้ความเห็นตรง

คือถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้นเอง

และอีกอย่างหนึ่งก็กล่าวได้ว่าถูกต้องตามคลองธรรม

เพราะพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงสั่งสอนตามคลองธรรม คือทรงสั่งสอนความจริงตามเหตุและผล

หรือเหตุผลตามความเป็นจริง เช่นให้รู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์

ให้รู้จักสัจจะคือความจริงที่ยิ่งๆขึ้นไป จนถึงในอริยสัจจ์ทั้ง ๔

และอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ ก็ได้ตรัสไว้ว่า

เป็นที่รวมของกุศลธรรมทั้งสิ้นที่พระองค์ได้ทรงสั่งสอน

เมื่อทำความรู้ความเห็นให้ถึงอริยสัจจ์ทั้ง ๔

หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ถึงอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ด้วยปัญญา

หรือด้วยญาณทัสนะความรู้ความเห็น ก็เป็นอันว่าได้ทำความเห็นให้ตรง

แต่ว่าความเห็นตรงอันเป็นเบื้องต้นของกุศลธรรมทั้งหลายนี้

ก็ไม่ได้มุ่งถึงอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่พึงถึงด้วยปัญญา หรือด้วยความรู้ความเห็นอันเป็นระดับสูง

แต่หมายถึงระดับที่เป็นสามัญ รวมเข้าในเหตุผลที่เป็นสามัญนั้นเอง

เช่นว่า เหตุผลทางกรรม คือการงานที่กระทำทางกายทางวาจาทางใจ ที่เป็นอกุศล ที่เป็นกุศล

หรือว่าที่เป็นบาปที่เป็นบุญ ที่เป็นคุณเป็นโทษ เป็นประโยชน์มิใช่ประโยชน์

กรรมที่กระทำทั้งปวงที่เป็นส่วนดีคือที่เป็นกุศล เป็นคุณเป็นประโยชน์ ก็ให้เกิดผลดี

ส่วนที่เป็นอกุศลที่เป็นส่วนชั่ว เป็นโทษ ไม่เป็นประโยชน์ ... ( จบเทป ๙๖/๑ )

( ข้อความขาดไปนิดหน่อย แต่ไม่เสียใจความ )

( เริ่ม ๙๖/๒ ) และการปฏิบัติในศีลสมาธิปัญญา เพื่อวิมุติคือความหลุดพ้นในพุทธศาสนานั้น

พึงปฏิบัติอย่างไร วิธีไหน ก็ต้องศึกษาให้มีความรู้ความเห็นให้ตรง

ตรงต่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ตรงต่อคลองธรรม

ข้อว่าตรงต่อคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น ก็คือพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้อย่างใด

มีพระพุทธาธิบายคือความประสงค์หรือความหมายเป็นอย่างใด ก็รู้ตรงตามที่ทรงสั่งสอนไว้

ที่ว่าตามคลองธรรมนั้น ก็คือมีความรู้ความเห็นในศีล ตรงต่อศีลจริงๆ

มีความรู้ความเห็นในสมาธิ ตรงต่อสมาธิจริงๆ

มีความรู้ความเห็นในปัญญา ตรงต่อปัญญาจริงๆ

ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน หรือว่าตามพระพุทธาธิบาย

การที่มาสดับตรับฟังคำสั่งสอน อ่านหนังสือธรรมะทั้งหลาย

คิดพิจารณาความหมายของธรรมะทั้งหลาย ก็เพื่อให้มีความเห็นตรงดังที่กล่าวมานี้

เบื้องต้นนี้แหละเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลายจะต้องปฏิบัติ

แล้วจึงตรัสสอนให้อาศัยศีล ปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ ดังกล่าว

และสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ยังได้ตรัสแสดงไว้อีกว่า

พึงปฏิบัติได้สำหรับบุถุชน สำหรับเสขะบุคคลซึ่งเป็นอัญญะบุคคล

ตั้งแต่ขั้นโสดาบันขึ้นไปแต่ยังไม่ถึงเป็นพระอรหันต์

ตลอดจนถึงอเสขะบุคคลคือพระอรหันต์ทั้งหลาย

ทุกจำพวกตรัสสอนให้ปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔

สำหรับบุถุชนหรือสามัญชนที่ตรัสยกเป็นตัวอย่าง

เช่นภิกษุใหม่ที่มาบวชไม่นาน ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔

ทำจิตให้รวมมีอารมณ์อันเดียว เพื่อญาณคือความหยั่งรู้ กาย เวทนา จิต ธรรม

สำหรับอริยบุคคลที่ยังเป็นเสขะ คือเป็น โสดาบันบุคคล สกทาคามีบุคคล อนาคามีบุคคล

ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ เพื่อปริญญาคือทำความรู้รอบคอบ

ใน กาย เวทนา จิต ธรรม

ส่วนพระอรหันต์ทั้งหลายก็ตรัสว่าปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔

พรากจิตออกจาก กาย เวทนา จิต ธรรม

จึงเป็นอันว่าสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้เป็นข้อที่ตรัสสอนให้ปฏิบัติด้วยกันทั้งนั้น

ที่เป็นสามัญชน หรือเป็นภิกษุผู้บวชเข้ามาใหม่ ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติ

เป็นอริยบุคคลที่เป็นเสขะบุคคล ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติ

ที่เป็นอริยบุคคลขั้นอเสขะผู้เสร็จกิจเป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติ

แต่ว่าเพื่อผลต่างกัน สำหรับสามัญชนก็เพื่อญาณคือความรู้กายเวทนาจิตธรรม

เสขะบุคคลก็เพื่อปริญญากำหนดรู้กายเวทนาจิตธรรม หรือรู้รอบคอบกายเวทนาจิตธรรม

อเสขะบุคคลก็เพื่อแยกจิตออกจากกายเวทนาจิตธรรม

เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้จึงเป็นหลักปฏิบัติใหญ่

เป็นสมถกรรมฐานด้วย เป็นวิปัสสนากรรมฐานด้วย ต่อกันไป

ที่เป็นสมถกรรมฐานนั้นก็คือปฏิบัติทำจิตให้เป็นสมาธิ กำหนดกายเวทนาจิตธรรม

ที่เป็นวิปัสสนากรรมฐานนั้นก็คือทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในกายเวทนาจิตธรรม

ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยสติเป็นหลักใหญ่ในการปฏิบัติ หรือเรียกว่าสตินำหน้า

เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสติปัฏฐาน

การจะทำสมาธิก็ต้องอาศัยสติ การจะทำวิปัสสนาก็ต้องอาศัยสติ

เพราะฉะนั้น จึงได้เรียกว่าสติปัฏฐานที่ได้เคยแสดงแล้วว่า

แปลกันง่ายๆว่า ตั้งสติ อย่างหนึ่ง สติตั้ง อีกอย่างหนึ่ง

ในขั้นปฏิบัตินั้นแปลว่า ตั้งสติ และเมื่อปฏิบัติจนตั้งสติได้ก็แปลว่า สติตั้ง

ที่แปลว่า ตั้งสติ นั้นเป็นขั้นปฏิบัติ ที่แปลว่า สติตั้ง นั้นเป็นขั้นผลของการปฏิบัติ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ตั้งสติในกายเวทนาจิตธรรม

ทั้ง ๔ นี้ก็รวมอยู่ที่กายและใจ หรือกายและจิตของทุกๆคนนี้เอง

รวมเข้าก็คือตัวอัตภาพอันนี้ และที่เรียกว่าอัตภาพนี้ก็เรียกตามสมมติบัญญัติ

คือกายและใจของทุกๆคนนี้ ก็สมมติบัญญัติว่าเป็นอัตตาตัวตน

หรือเรียกว่าอัตภาวะหรืออัตภาพที่แปลว่าเป็นอัตตาตัวตน

ภาวะก็แปลว่าความมีความเป็น เมื่อมารวมอัตตาเป็นอัตภาพ ก็แปลว่าเป็นอัตตาตัวตน

และก็เรียกอีกอย่างหนึ่งตามที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา

อันอัตภาพซึ่งเป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเราดังกล่าวนี้

พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสจำแนกแจกแจงออกไปหลายนัยยะ

เช่น จำแนกแจกแจงออกไปเป็นขันธ์ ๕ จำแนกแจกแจงออกไปเป็นอายตนะ ๖

จำแนกแจกแจงออกไปเป็นธาตุ ๑๘ จำแนกแจกแจงออกไปย่อขันธ์ ๕ เป็นนามรูป

จำแนกแจกแจงออกไปเป็นสติปัฏฐาน ๔ คือที่ตั้งของสติทั้ง ๔ กายเวทนาจิตธรรม

ตามควรแก่การที่จะเป็นกรรมฐาน สำหรับเป็นที่ตั้งสติ เป็นที่ตั้งสมาธิ

หรือเป็นที่ตั้งของปัญญาที่จะพิจารณา

แต่อันที่จริงนั้นทั้งหมดนี้ก็รวมเข้าเป็นสมมติบัญญัติที่ว่าอัตภาพ

ตัวเราของเรานี่แหละทั้งหมด

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

กายเวทนาจิตธรรม

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ ดีเยี่ยม

ม้วนที่ ๙๖/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๙๗/๑-๒ ( File Tape 75 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

กายเวทนาจิตธรรม

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงสมาธิในสติปัฏฐาน สติปัฏฐานนั้นได้เคยแสดงแล้วว่า

แปลว่า ตั้งสติ อันหมายถึงการปฏิบัติ แปลว่า สติตั้ง อันหมายถึงผลของการปฏิบัติ

ว่าถึงในการปฏิบัติตั้งสติ ก็จะต้องมีที่ตั้งของสติ พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ตั้งสติ

ที่กายเวทนาจิตและธรรม ทั้ง ๔ นี้จึงเป็นที่ตั้งสติ สตินั้นแปลกันว่าความระลึกได้

ซึ่งมีความหมายว่าระลึกคือนึกถึง และก็นึกได้ด้วย

สติคือความระลึกได้นี้ได้มีพระพุทธาธิบายไว้โดยความว่า

ระลึกถึงการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้

คล้ายกับสัญญาที่แปลว่าความกำหนดหมายหรือความจำหมาย

แต่สัญญานั้นใช้ในความหมายดังกล่าวในอารมณ์ คือเรื่อง

ที่มาประสบพบพานทางอายตนะโดยปรกติ

เป็นความรู้ จำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง

และจำธรรมะคือเรื่องราวที่ประสบพบผ่านทางตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ

เมื่อรู้จำดังกล่าวก็ผ่านไปๆในเรื่องนั้นๆ

แต่สติคือความระลึกได้นี้แม้ผ่านไปแล้ว ผ่านไปแล้ว ในเรื่องนั้นๆ

แม้นานก็ยังระลึกได้ คือเมื่อนึกถึงก็ยังนึกถึงได้

จึงมีความหมายที่เป็นความกำหนดจดจำ อันยาวนานกว่าสัญญา

สัญญานั้นรู้จำในเรื่องที่ประสบพบผ่านนั้นๆดังกล่าว แล้วก็ผ่านไปๆ

จะเรียกว่าเกิดดับไป เกิดดับไป ก็ได้

แต่สตินี้แม้จะเป็นเรื่องที่มีสัญญาความรู้จำเกิดดับๆไปแล้ว สติก็ยังระลึกได้

เพราะสตินี้ตั้งอยู่ในจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ อันเรียกว่าวิญญาณธาตุ อันเป็นตัวเดิม

สติดังกล่าวได้มีพระพุทธาธิบายตรัสไว้

ส่วนสติในสติปัฏฐานเป็นสติที่ตรัสสอนให้ตั้งในกายเวทนาจิตธรรม

ด้วยอนุปัสสนาคือตามดูหรือดูตาม มุ่งถึงอนุปัสสนาดูตามกายเวทนาจิตธรรมที่เป็นปัจจุบัน

ส่วนสติที่กล่าวมาในเบื้องต้นระลึกได้ถึงการที่ทำคำที่พูดแม้นานได้นั้น

เป็นสติระลึกได้ในเรื่องที่เป็นอดีตคือที่ล่วงไปแล้วแม้นาน

ทำอะไรไว้ พูดอะไรไว้ ในอดีตที่ล่วงไปนานๆก็ยังระลึกได้

ส่วนสติในสติปัฏฐาน ( เริ่ม ๙๗/๑ ) มีพระพุทธาธิบายให้ตั้งสติด้วยอนุปัสสนา

คือด้วยวิธีตามดู หรือดูตาม กาย เวทนา จิต ธรรม โดยตรงก็หมายถึงที่เป็นปัจจุบันธรรม

ธรรมะที่เป็นปัจจุบัน คือกายเวทนาจิตธรรมที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบัน

เพราะฉะนั้นสติในสติปัฏฐานนี้จึงมุ่งถึงสติในปัจจุบันธรรม ธรรมะที่เป็นปัจจุบัน

อันคำว่าปัจจุบันธรรมที่นำมาใช้ในที่นี้ ก็หมายรวมถึงทั้ง ๔ นั้นนั่นแหละ

คือ ทั้งกาย ทั้งเวทนา ทั้งจิต ทั้งธรรม รวมเรียกว่าปัจจุบันธรรม ธรรมะที่เป็นปัจจุบัน

คือเรื่องที่เป็นปัจจุบันธรรม คำนี้จึงเป็นคำคลุมถึงทั้ง ๔

และเมื่อจำแนกปัจจุบันธรรมในที่นี้ออกเป็น ๔

คำว่าธรรมะข้อที่ ๔ นั้นจึงมีความหมายถึงภาวะ หรือว่าเรื่องที่บังเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ในจิต

ปรากฏเป็นความคิด เป็นสิ่งที่คิด เป็นสิ่งที่ประกอบอยู่ในจิต ในความคิด อันเป็นภาวะในจิต

ซึ่งทุกๆคนมีอยู่เป็นส่วนดีก็มี เป็นส่วนชั่วไม่ดีก็มี เป็นกลางๆก็มี

ที่เป็นส่วนดีนั้นคือเป็นกุศลธรรม ธรรมะที่เป็นกุศลทั้งหลาย

เป็นต้นว่า สติความระลึกได้ สมาธิความตั้งใจมั่น

เมตตาความรักใคร่ปรารถนาให้เป็นสุข กรุณาความสงสารคิดช่วยให้พ้นทุกข์

หรือกุศลเจตนาความตั้งใจความจงใจที่เป็นกุศลทั้งหลาย

ในการบุญการกุศลทั้งหลาย อันสำเร็จด้วยทานบ้าง ด้วยศีลบ้าง ด้วยภาวนาบ้าง

เหล่านี้เป็นกุศลธรรม ธรรมะที่เป็นกุศล หรือว่าจะรวมเข้าว่าเป็นกุศลมูล มูลของกุศลทั้งหลาย

คือความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง ก็ได้

ส่วนที่เป็นตรงกันข้าม คือส่วนที่ชั่วที่ไม่ดี ก็คืออกุศลธรรมทั้งหลาย ธรรมะที่เป็นอกุศล

เป็นต้นว่านิวรณ์ทั้ง ๕ กามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกาม

คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่น่าปรารถนาพอใจทั้งปวง

พยาบาทความกระทบกระทั่งโกรธแค้นขัดเคือง จนถึงมุ่งร้ายหมายทำลาย

ถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม อุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญ

วิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัย

ซึ่งสรุปเข้าในกิเลสกองราคะหรือโลภะ กองโทสะ กองโมหะ

อันเป็นอกุศลมูล มูลของอกุศลทั้งหลาย

ส่วนที่เป็นกลางๆนั้นก็คือเป็นความคิดความนึกเรื่องต่างๆไปโดยปรกติธรรมดา

ไม่เป็นความดี ไม่เป็นความชั่วอย่างไร เช่นความคิดที่จะทะนุบำรุงกาย อาบน้ำชำระกาย

ความคิดที่จะบริโภคอาหาร ใช้สอยเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยาแก้ไข้ต่างๆ

ก็เป็นเรื่องธรรมดาทั่วๆไป สำหรับที่จะทำนุบำรุงกาย หรือว่าที่จะประกอบอาชีพการงาน

ไปในทางที่ถูกที่ชอบโดยปรกติ

เหล่านี้ก็เป็นอัพยากตธรรม ธรรมะที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่ดี ไม่ใช่ชั่ว

รวมเข้าก็คือธรรมะทั้งหลายดังกล่าวที่บังเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ในจิต

นี่แหละคือธรรมะอันเป็นสติปัฏฐานข้อที่ ๔

ซึ่งทุกคนก็มีธรรมะดังกล่าวนี้บังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เป็นไปอยู่ในจิต

เป็นเรื่องนั้นบ้าง เป็นเรื่องนี้บ้าง อยู่เป็นประจำ

มาถึงข้อ ๓ คือจิต ก็เป็นธรรมชาติที่ทุกคนมีอยู่

เป็นสิ่งที่ไม่มีสรีระสัณฐาน มีคูหาคือกายนี้เป็นที่อาศัย

แม้ว่าไม่มีสรีระสัณฐาน แต่ทุกคนก็รู้ว่าทุกคนมีจิตใจ

ก็โดยรู้จักจิตใจที่ตัวความรู้ ที่ตัวความคิด ของตนเองนี้เอง

เพราะจิตใจนี้เป็นตัวธาตุรู้ และมีลักษณะที่รู้ที่คิด

อันความรู้ความคิดนี้เป็นสิ่งที่อาศัยกัน จะกล่าวว่าคิดก็คือรู้ รู้ก็คือคิดก็ได้

เพราะว่าที่ปรากฏเป็นรู้ขึ้นมาก็ด้วยความคิด และที่ปรากฏเป็นความคิดก็ด้วยความรู้

เพราะว่าใครจะคิดในสิ่งที่ไม่รู้นั้นไม่ได้ จะคิดได้ในสิ่งที่รู้เท่านั้น

และความรู้ก็เช่นเดียวกัน จะปรากฏหรือจะแสดงเป็นความรู้ขึ้นมาได้ก็ด้วยความคิด

เพราะฉะนั้น คิดกับรู้นี่จึงเป็นสิ่งที่อยู่ด้วยกัน

และทุกๆคนก็ย่อมรู้ความคิด รู้ความรู้ของตนเอง

ตนรู้อะไร ตนคิดอะไรก็ย่อมรู้ ว่าเรากำลังคิด เรากำลังรู้ เรื่องนั้นเรื่องนี้

เพราะฉะนั้นแม้ไม่มีสรีระสัณฐาน ทุกคนก็รู้จิตใจของตนเองได้ที่ความรู้ความคิดดังกล่าว

และนอกจากนี้ย่อมรู้จิตของตนว่าเป็นอย่างไร จิตมีราคะความติดใจยินดี หรือโลภความโลภ

หรือว่าจิตมีโทสะโกรธแค้นขัดเคือง หรือว่าจิตมีโมหะคือความหลงไหล

ก็ย่อมรู้ว่าจิตของเราเป็นอย่างนี้ๆ

หรือว่าจิตไม่มีราคะโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ คือกำลังสงบ

ก็ย่อมรู้จิตของตนว่าเป็นอย่างนี้ๆ เช่นเดียวกัน

 และเวทนาอันเป็นข้อที่ ๒ อันได้แก่ เป็นความรู้อย่างหนึ่งของจิตนั่นแหละ

ซึ่งเป็นความรู้ที่เป็นสุข เป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

อันเป็นไปทางกายเป็นไปทางจิตเอง ที่บังเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ ทุกคนก็รู้

เมื่อความเย็นมาสัมผัสกับร่างกาย

หรือความร้อนมาสัมผัสกับร่างกาย ซึ่งทำให้เป็นสุขบ้าง ทำให้เป็นทุกข์บ้าง

หรือแม้เหลือบยุงมากัดที่ร่างกายทำให้รู้สึกแสบคันเป็นทุกข์

ซึ่งเป็นทุกขเวทนาทางกาย ทุกคนก็รู้

หรือเมื่อเห็นอะไรได้ยินอะไรทางตาทางหูที่นำให้ไม่สบายใจ

หรือทำให้สบายใจ อันเป็นสุขเป็นทุกข์ทางใจ ทุกคนก็รู้

หรือว่าสิ่งที่มาประสบพบผ่านดังกล่าว ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง

อันเป็นกลางๆ ไม่พอจะให้เป็นสุข ไม่พอจะให้เป็นทุกข์ ก็เฉยๆ

ซึ่งก็มีอยู่เป็นอันมาก ก็เป็นเวทนาเหมือนกัน เป็นเวทนาที่เป็นกลางๆ ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข

เพราะเป็นความรู้ รู้ถึงความสัมผัสแห่งสิ่งหรือเรื่องนั้นๆทางกายทางใจ

แต่ว่าไม่พอที่จะให้เป็นสุข ไม่พอที่จะให้เป็นทุกข์ ก็เฉยๆ ที่เรียกว่าเป็นกลางๆ ทุกคนก็รู้

มาถึงข้อที่ ๑ คือกายเอง

คือร่างกายอันประกอบด้วยธาตุที่เป็นวัตถุต่างๆ ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ทุกๆคนมีอยู่

เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบนี้ ทุกคนก็รู้

สำหรับร่างกายที่เป็นอวัยวะภายนอกนั้น ทุกคนก็เห็นด้วยตาได้

ส่วนที่เป็นอวัยวะภายใน ภายในหนังหุ้ม ทุกคนไม่เห็นด้วยตา

แต่ก็รู้ได้พิสูจน์ได้ อย่างเอ็กซ์เรย์ส่องดูได้ เป็นอวัยวะภายในต่างๆ

ร่างกายนี้ที่หายใจเข้าหายใจออกอยู่ ที่ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถยืนเดินนั่งนอน

อันเป็นอิริยาบถใหญ่ ประกอบด้วยอิริยาบถเล็กน้อย รวมเข้าก็เป็นอาการ ๓๑ หรือ ๓๒

รวมเข้าก็เป็นธาตุ ๔ เมื่อธาตุ ๔ นี้ยังคุมกันอยู่ก็เป็นร่างกายที่ยังดำรงชีวิต

เมื่อธาตุ ๔ นี้แตกสลายก็กลายเป็นศพ ต้องนำไปเผาไปฝัง

เพราะฉะนั้น กายเวทนาจิตธรรม หรือว่าธรรมจิตเวทนาและกาย

ทั้ง ๔ นี้ จึงเป็นอัตภาพ คือสมมติบัญญัติว่าเป็นอัตภาพ

เป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเราอย่างหนึ่งตามที่กล่าวมาแล้ว

กายเวทนาจิตธรรมทั้ง ๔ นี้ ทุกๆคนที่ยังดำรงชีวิตอยู่ ย่อมประกอบกันอยู่

ย่อมเป็นไปอยู่ทุกขณะ และก็ต้องอาศัยซึ่งกันและกันเป็นไป

หากจะจับเอาธรรมะข้อที่ ๔ ขึ้นเป็นต้น คือเอาเรื่องหรือเอาสิ่ง เอาภาวะที่บังเกิดขึ้นในจิต

เมื่อภาวะหรือสิ่งที่บังเกิดขึ้นในจิตเป็นอย่างไร จิตเองก็เป็นไปตาม

และเวทนาก็เป็นไปตาม กายเองก็เป็นไปตาม

ยกตัวอย่างเมื่ออกุศลธรรมบังเกิดขึ้นในจิต เช่นโทสะพยาบาท

จิตเองก็เป็นจิตที่ประกอบด้วยโทสะพยาบาท เป็นจิตที่ร้าย

เวทนาเองก็ต้องเป็นทุกข์ คือเป็นความไม่สบายกายไม่สบายใจ

ร้อนรุ่มไปตามจิตอันประกอบด้วยโทสะพยาบาท

กายเองก็วิปริตแปรปรวนไปตาม ดังเช่นอาการร่างกายของคนโกรธ

แสดงออกมาทางสายตา ทางหน้า ทางอวัยวะร่างกาย ทางวาจา

ดังอาการของคนโกรธทั้งหลายที่ทุกๆคนก็เห็น แม้ตนเองก็ย่อมรู้ตนเอง

นี้ยกเอาธรรมะข้อที่ ๔ เป็นที่ตั้ง อีก ๓ ข้อก็ตามกันมาหมด

หรือว่าจะยกเอาข้อที่ ๓ ขึ้นเป็นที่ตั้งก็ได้เหมือนกัน คือเมื่อจิตนี้เป็นจิตที่ร้าย

หรือว่าเป็นจิตที่คิดในทางร้าย เช่นคิดไปในเรื่องที่เป็นที่ตั้งของโทสะ

ก็ทำให้ธรรมะอกุศลธรรมกองโทสะบังเกิดขึ้นในจิต เวทนาก็เป็นทุกขเวทนา

คือทำให้รุ่มร้อนกายรุ่มร้อนใจ กายเองก็วิปริตไปตามดังกล่าว

หรือจะยกเอาข้อเวทนาขึ้นเป็นที่ตั้งก็ได้ เมื่อเวทนาเป็นสุข

เวทนานี้เองก็ปรุงจิตให้ชอบให้ติดในสุข จึงปรากฏเป็นความติด

เป็นตัณหาเป็นราคะในสุข ร่างกายเองก็ปรากฏทางตาทางหน้าทางกิริยาต่างๆ

ไปตามอาการของกิเลสกองตัณหาราคะดังกล่าวนั้น

หรือจะยกเอาข้อที่ ๑ คือกาย ขึ้นเป็นที่ตั้งก็ได้

คือเมื่อกายนี้ได้สัมผัสทางกาย กับสิ่งที่เป็นที่ตั้งของสุข ก็เกิดสุขเวทนา

สุขเวทนาก็ปรุงจิต ให้เป็นตัณหาราคะในสุข

( เริ่ม ๙๗/๒ ) หรือว่าเมื่อกายนี้สัมผัสกับสิ่งอันเป็นที่ตั้งของความทุกข์ ก็เกิดทุกขเวทนา

ทุกขเวทนาก็ปรุงจิต ให้เกิดโทสะปฏิฆะหงุดหงิดโกรธแค้นขัดเคือง

ในสิ่งอันเป็นที่ตั้งของทุกข์นั้น

ก็เป็นอันว่าทุกข้อนั้นเป็นต้นเป็นปลายของกันและกันได้

ต่างต้องอาศัยซึ่งกันและกันเป็นไปอยู่ดั่งนี้

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ใช้สติ ด้วยวิธี อนุปัสสนา คือตามดู

ตามดูตามรู้ตามเห็นกายเวทนาจิตธรรมว่าเป็นไปอยู่อย่างไรในปัจจุบัน

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*