ถอดเทปพระธรรมเทศนา

  • พิมพ์

เทป079

พระธรรมคุณ ๑ สวากขาโต

สติกำหนดดูกายเวทนาจิตธรรม

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร 

*

ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ๓

ธรรมะอันเหมาะสมกับอินทรีย์ของบุคคล ๕

อิทธิปาฏิหาริย์ ๕

อาเทสนาปาฏิหาริย์ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ๖

ธรรมรส ๗

หลักปฏิบัติในสติปัฏฐาน กาย ๘

เวทนา จิต ธรรม ๙

ทำไมจึงต้องปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๑๐

ข้อความสมบูรณ์ อธิบายเริ่มสติปัฏฐานดีมาก

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๑๐๑/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๐๒/๑ ( File Tape 79 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระธรรมคุณ ๑ สวากขาโต

สติกำหนดดูกายเวทนาจิตธรรม

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ได้แสดงคำว่าธรรมหรือธรรมะซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้

และที่พระอาจารย์ได้อธิบาย โดยที่คำว่าธรรมหรือธรรมะนี้ได้เรียกกันในที่หลายแห่ง

เช่นพระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรม พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมสั่งสอน

ตลอดจนถึง กุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากตธรรม รูปธรรม อรูปธรรม เป็นต้น

แต่ในความหมายแห่งธรรมที่เป็นรัตนะที่ ๒ พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

ท่านได้แสดงไว้เป็น ๑๐ คือมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ เป็น ๙

กับปริยัติธรรมอีก ๑ เป็น ๑๐

 

และที่แสดงไว้อีกอย่างหนึ่งโดยสรุปเข้ามาก็เป็น ๓

คือปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม และปฏิเวธธรรม

ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

 

พระธรรมนี้ได้มีบทสวดสรรเสริญคุณ อันเรียกว่า พระธรรมคุณ

ว่า สวากขาโต ภควตา ธัมโม เป็นต้น ดังที่ได้กล่าวแล้ว

จะได้จับอธิบายพระธรรมคุณบทที่ ๑ นี้ ที่แปลว่า ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

และได้มีบทสวดสรรเสริญขยายความออกไป ว่าทรงแสดงธรรม

งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด

ทรงประกาศพรหมจรรย์ คือพระศาสนาคำสั่งสอน หรือพระธรรมวินัย

พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริบูรณ์ บริสุทธิ์สิ้นเชิง ดั่งนี้

 

บทว่างามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด

และบทที่ว่าทรงประกาศพรหมจรรย์คือพระศาสนา คำสั่งสอนคือพระธรรมวินัยนี้

พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริบูรณ์บริสุทธิ์สิ้นเชิง

ก็เป็นคำอธิบายของคำว่า งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด

คำนี้แปลมาจากคำว่า อาทิกัลยาณัง มัชเฌกัลยาณัง ปริโยสานกัลยาณัง

คำว่า กัลยาณะ ก็เป็นคำที่ใช้พูดในภาษาไทย แปลกันว่างาม

และสำหรับที่ใช้ในพระธรรมคุณนี้ มีแปลเป็นอย่างอื่นก็มี เช่นแปลว่าไพเราะ

ไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด

 

ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสอันมีลักษณะดังกล่าวนี้

พระอาจารย์ก็ได้แสดงความหมายไว้ เป็นต้นว่า ที่ว่างามในเบื้องต้นก็คือทรงแสดงศีล

งามในท่ามกลางก็คือทรงแสดงสมาธิ งามในที่สุดก็คือทรงแสดงปัญญา

หรือว่าถ้าเป็นธรรมะมากกว่า ๓ ข้อขึ้นไป เช่นศีลสมาธินั้นเอง

เมื่อมีวิมุติเพิ่มเข้าอีกเป็น ๔ ข้อ ก็อธิบายว่างามในเบื้องต้นด้วยศีล

งามในที่สุดด้วยวิมุติ งามในท่ามกลางก็ด้วยสมาธิด้วยปัญญา ดั่งนี้เป็นต้น

 

เมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นได้ว่า ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น

เป็นธรรมะที่บริบูรณ์ คือว่าไม่ต้องเติมเข้ามาอีก เป็นธรรมที่บริสุทธิ์ คือไม่ผิดไม่ต้องแก้ไข

และประกอบด้วยอรรถะคือเนื้อความ ประกอบด้วยพยัญชนะคือถ้อยคำ

ก็บริสุทธิ์บริบูรณ์ ไม่มีผิดพลาดบกพร่อง คือว่าใจความกับถ้อยคำเหมาะกันสมกัน

และเป็นถ้อยคำเป็นใจความที่ถูกต้องด้วยสมมติบัญญัติของภาษาที่พูด

ไม่ใช่ว่าผิดจากสมมติบัญญัติแห่งภาษาที่พูด เรียกว่าเป็นถ้อยคำที่สละสลวย

เป็นถ้อยคำที่ไม่ฟุ่มเฟือยคือพูดมากแต่ไร้สาระ และไม่เป็นถ้อยคำที่สั้นจนเสียความ

เป็นถ้อยคำที่กล่าวไว้อย่างชัดเจนบริสุทธิ์บริบูรณ์ ส่องถึงเนื้อความที่จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้

และใจความแห่งถ้อยคำนั้นก็ส่องแสดงถึงสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นความจริง

 

อันเป็นไปตามลักษณะที่ทรงสั่งสอนดังที่ได้กล่าวไว้แล้ว

ว่าทรงแสดงธรรมในข้อที่ควรรู้ควรเห็น มีเหตุอันผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้

และมีปาฏิหาริย์คือว่าปฏิบัติได้ผลสมจริงตามที่ทรงสั่งสอน

คือปฏิบัติให้บรรลุถึงประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายหน้า

และประโยชน์อย่างยิ่ง คือมรรคผลนิพพานได้

 

เพราะฉะนั้น ถ้อยคำที่ทรงแสดงนั้น

จึงสมบูรณ์ด้วยเนื้อความหรือใจความ อันนำให้เกิดความเข้าใจ

ให้เกิดความรู้ ทั้งเหตุทั้งผล และให้ปฏิบัติได้ บรรลุถึงผลตามที่ทรงสั่งสอนได้

เป็นการแสดงที่ทำให้เข้าใจ และให้ปฏิบัติได้ไปโดยลำดับ เพื่อผลที่ประสงค์ตามที่ทรงสั่งสอน ไม่มีขาดตกบกพร่อง เหมือนอย่างเป็นทางที่นำไปสู่เป้าหมายที่จะไปถึง

ติดต่อกันไปโดยตลอด ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

หรือว่าถ้าเปรียบด้วยบันได ก็เปรียบเหมือนอย่างว่าเป็นบันไดที่เป็นขั้นๆขึ้นไป

ตั้งแต่ต้นจนถึงปลาย ไม่มีขาดตกบกพร่อง

เพราะฉะนั้น จึงเป็นธรรมะที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ดังกล่าวโดยตลอด

ตั้งแต่เบื้องต้นท่ามกลางจนถึงที่สุด ไม่มีบกพร่อง ไม่มีขาดตก

ธรรมะอันเหมาะสมกับอินทรีย์ของบุคคล

 

และธรรมะที่ทรงแสดงนั้นเป็นธรรมะที่เข้าในลักษณะที่เรียกว่า

สันทัศนา คือทำให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงได้

สมาทปันนา ทำให้เกิดความคิดสมาทานคือรับมาปฏิบัติ

สมุทเตชนา เตือนใจให้เกิดความอุตสาหะขมักเขม้นในอันที่จะปฏิบัติ

สัมปหังสนา ทำให้บังเกิดความรื่นเริงในการฟังในการปฏิบัติ

แต่ทั้งนี้ก็ต้องหมายความว่า ผู้ฟังจะต้องมีความตั้งใจฟัง

และธรรมะที่ฟังนั้นก็เหมาะสมกับอัธยาศัยจิตใจ เหมาะสมแก่พื้นภูมิของจิตใจ

ที่เรียกว่าเหมาะสมแก่อินทรีย์ของบุคคล

 

อิทธิปาฏิหาริย์

 

ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนประกอบด้วยปาฏิหาริย์ ๓ ข้อ

ข้อที่ ๑ ก็คือ อิทธิปาฏิหาริย์ ปาฏิหาริย์คือการที่แสดงฤทธิ์ได้

อันเป็นเครื่องปราบเป็นเครื่องทำลายมานะทิฏฐิของผู้ที่รับเทศนา

และคำว่าอิทธินี้ก็ไม่ได้มุ่งหมายว่าเหาะเหิรเดินฟ้าอย่างที่เข้าใจกันโดยมากอย่างเดียว

แต่ว่าหมายถึงการที่จะ หรือวิธีที่จะทำลายทิฏฐิมานะของผู้ฟังได้สำเร็จ

 

ดังเช่นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดภิกษุเบ็ญจวัคคีย์เพื่อเแสดงปฐมเทศนา

ในครั้งแรกท่านทั้ง ๕ นั้นไม่ยอมเชื่อว่าพระองค์ได้ตรัสรู้พระธรรมแล้ว

เพราะว่าพระองค์ได้ทรงเลิกทุกรกิริยาที่ท่านทั้ง ๕ นั้นนับถือ

ท่านทั้ง ๕ จึงคิดว่าได้ทรงท้อถอยเสียแล้ว

เวียนมาเพื่อความมักมากคือเพื่อความสุขสำราญเสียแล้ว

จึงได้หลีกออกไปพักอยู่ในป่าอิสิปตนมฤคทายวันแขวงเมืองพาราณสี

ครั้นเห็นพระองค์เสด็จมา ก็ได้เพียงต้อนรับอย่างเสียไม่ได้

พระองค์ก็ต้องใช้พระวาจาตรัสแก่ท่านทั้ง ๕ นั้น ให้ท่านทั้ง ๕ นั้นละทิฏฐิมานะ

ยอมฟังคำสั่งสอนของพระองค์ และเมื่อท่านทั้ง ๕ นั้นยอมฟังคำสั่งสอนของพระองค์

พระองค์จึงได้ทรงแสดงปฐมเทศนาโปรด

 

การที่ได้ทรงตรัสพระวาจาให้ท่านทั้ง ๕ ละทิฏฐิมานะได้ ยอมฟังเทศนาของพระองค์

นี้แหละคืออิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นกิจเบื้องต้น ( เริ่ม ๑๐๒/๑ ) ที่พระพุทธเจ้าจะต้องทำก่อน

ถ้าผู้ฟังยังมีทิฏฐิมานะอยู่ พระองค์ก็ยังไม่ทรงแสดงธรรมเทศนา จะต้องทำให้เขาละทิฏฐิมานะ

ยอมที่จะฟังเสียก่อน และคำว่ายอมที่จะฟังนี้ก็ไม่ใช่หมายความว่าให้เขาเชื่อ

เป็นแต่เพียงว่าให้ยอมฟัง ให้ตั้งใจที่จะฟังเท่านั้น จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

พระองค์ไม่บังคับให้เชื่อ เพียงแต่ว่าให้ยอมตั้งใจที่จะฟังเท่านั้น

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเป็นขั้นที่ ๑ เรียกว่าอิทธิปาฏิหาริย์

 

อาเทสนาปาฏิหาริย์

 

มาถึงข้อที่ ๒ อาเทสนาปาฏิหาริย์ ที่แปลว่าดับใจ เป็นปาฏิหาริย์

หรือว่าดับใจเป็นอัศจรรย์ อันหมายความว่าได้ทรงทราบถึงอัธยาศัยจิตใจ

ทรงทราบถึงอินทรีย์ที่แก่กล้า หรือย่อหย่อนของผู้ฟัง ว่าเป็นอย่างไร

ได้มีอินทรีย์คือได้มีกำลังของสติปัญามาเพียงไหน มีอัธยาศัยอย่างไร

มีความคุ้นเคยอยู่อย่างไร ก็ทรงแสดงธรรมให้เหมาะแก่พื้นภูมิแห่งจิตใจของเขา

ให้เหมาะแก่พื้นภูมิแห่งสติปัญญาของเขา จึงจะทำให้เขารับได้ ดั่งนี้เป็นข้อที่ ๒

 

อนุสาสนีปาฏิหาริย์

 

จึงมาถึงข้อที่ ๓ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ทรงพร่ำสอนเป็นอัศจรรย์

ก็คือทรงแสดงธรรมะสั่งสอนชี้แจงแสดงให้เกิดความเข้าใจได้ ที่เรียกว่า สันทัศนา

ให้เกิดความคิดสมาทานที่เรียกว่ารับปฏิบัติ อันเรียกว่า สมาทะปันนา

ให้เกิดความอุตสาหะในอันที่จะปฏิบัติ อันเรียกว่า สมุทเตชะนา

ให้เกิดความรื่นเริงไม่เบื่อหน่ายในอันที่จะปฏิบัติ อันเรียกว่า สัมปหังสนา

เพราะฉะนั้น ธรรมที่ทรงสั่งสอนนั้นจึงได้มีคำสรรเสริญว่าตรัสดีแล้ว

คืองามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด

เป็นคำสั่งสอนที่ประกาศพรหมจรรย์ศาสนาคำสั่งสอนคือพระธรรมวินัย

อันบริบูรณ์บริสุทธิ์สิ้นเชิง ดั่งนี้

 

แต่ทั้งนี้ก็ต้องหมายถึงว่าผู้ฟังต้องมีความตั้งใจฟัง

เป็นผู้ที่ละทิฏฐิมานะยอมรับฟัง ยอมรับพิจารณาไตร่ตรองไปตาม

และเมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะได้ความรู้ได้ความเห็นในธรรม ได้ความรับปฏิบัติ

ได้อุตสาหะในอันที่ปฏิบัติ และได้ความรื่นเริงในการฟัง และในการปฏิบัติ

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมอันประกอบด้วยลักษณะอาการ

และประกอบด้วยปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ ดังที่กล่าวมานี้

เพราะฉะนั้น ธรรมะที่ตรัสจึงเป็น สวากขาโต ตรัสดีแล้ว

 

ธรรมรส

 

แต่ว่าธรรมะที่พระสาวกได้แสดงกันสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ก็แสดงตามพระพุทธเจ้า โดยอาศัยหลักคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

แต่ว่าผู้แสดงขาดลักษณะอาการ ขาดปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ ของพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้น จึงเหมาะบ้างไม่เหมาะบ้างแก่อัธยาศัยจิตใจของบุคคลผู้ฟัง

หรือว่าอาจจะเหมาะแก่บางคน ไม่เหมาะแก่บางคน ดั่งนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ผู้ฟังจึงมักจะไม่ได้ความรู้สึกไพเราะหรืองดงามในธรรมที่แสดง

 

แต่พระพุทธเจ้านั้น ได้ทรงเป็นผู้ประกอบด้วยปาฏิหาริย์ในการแสดง

ด้วยลักษณะอาการที่แสดงดังกล่าว แต่แม้เช่นนั้น ธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดง

ก็ย่อมเป็นสัจจะคือความจริง ที่มีอยู่ในบุคคลทุกๆคนนี้เอง ไม่ว่าจะในสมัยไหน

เพราะฉะนั้น หากได้ตั้งใจฟัง ตั้งใจพินิจพิจารณา ขบเจาะด้วยทิฏฐิคือความเห็น

ให้มีความเข้าใจแล้ว ก็ย่อมจะได้ธรรมรส รสของธรรม น้อยหรือมาก

 

ธรรมรสที่ได้นี่แหละคือ สวากขาโต ภควตา ธัมโม คือจะได้ความรู้ว่า

ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด

ประกาศพรหมจรรย์คือศาสนาคำสั่งสอนคือพระธรรมวินัยอันบริบูรณ์บริสุทธิ์สิ้นเชิง ดั่งนี้

เมื่อฟังธรรมะได้ความรู้สึกดั่งนี้ ก็เรียกว่าได้ธรรมรสคือรสของธรรม

 

หลักปฏิบัติในสติปัฏฐาน

 

สติปัฏฐานอันเป็นหลักปฏิบัตินั้นก็คือการที่ตั้งสติในกายในเวทนาในจิตในธรรม

กายนั้นก็ได้แก่กายนี้ที่ทุกๆคนมีอยู่ ในบัดนี้ก็กำลังนั่งกันอยู่

เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ

เป็นร่างกายที่หายใจเข้าหายใจออกอยู่ เป็นร่างกายที่ต้องอยู่ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่ง

เช่นในบัดนี้กำลังอยู่กันในอิริยาบถนั่ง และประกอบด้วยอิริยาบถเล็กน้อย

เช่นนั่งในลักษณะนี้ พับเท้าอย่างนี้ วางมืออย่างนี้

ตั้งกายตั้งศรีษะอย่างนี้ หันหน้าอย่างนี้ ดั่งนี้เป็นต้น

 

กาย

 

และเป็นร่างกายที่ประกอบด้วยอาการทั้งหลาย มีผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น

และเมื่อรวมเข้าแล้วก็เป็นร่างกายที่ประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔

คือส่วนที่แข้นแข็งก็เรียกว่า ปฐวีธาตุ ธาตุดิน

ส่วนที่เอิบอาบเหลวไหลก็เรียกว่า อาโปธาตุ ธาตุน้ำ

ส่วนที่อบอุ่นก็เรียกว่า เตโชธาตุ ธาตุไฟ ส่วนที่พัดไหวก็เรียกว่า วาโยธาตุ ธาตุลม

เมื่อธาตุเหล่านี้ประกอบกันอยู่ ชีวิตก็ยังดำรงอยู่

และเมื่อชีวิตยังดำรงอยู่ร่างกายอันนี้ก็ผลัดเปลี่ยนอิริยาบถต่างๆได้

หายใจเข้าออกอยู่ได้โดยปรกติ

แต่เมื่อธาตุทั้ง ๔ นี้แตกสลาย ชีวิตก็สิ้น ร่างกายนี้ก็กลายเป็นศพ

ก็จะเป็นศพที่ผุเปื่อยไปโดยลำดับ จนถึงเหลือแต่กระดูก

และในที่สุดกระดูกที่เหลืออยู่นี้ก็จะผุกร่อนไปหมด นี้ก็คือกาย

 

เวทนา จิต

 

และเมื่อร่างกายนี้ธาตุทั้งหลายยังคุมกันอยู่ ชีวิตยังดำรงอยู่ ก็ย่อมมีเวทนา

คือความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ทางกายบ้างทางใจบ้าง

และก็มีจิตที่ครองกายนี้อยู่เป็นธาตุรู้ ที่รู้อะไรได้ คิดอะไรได้ มีอาการเป็นต่างๆ

บางทีก็มีโลภมีโกรธมีหลง บางทีก็สงบโลภโกรธหลง บางทีก็สงบ บางทีก็ฟุ้งซ่าน

และบางทีเมื่อปฏิบัติธรรมะจิตก็สงบ หลุดพ้นจากโลภโกรธหลงได้

ชั่วคราว หรือว่านาน หรือว่าตลอดไป

แต่เมื่อยังไม่ได้ปฏิบัติ ก็ยังหลุดพ้นไม่ได้ ยังมีโลภมีโกรธมีหลง

 

ธรรม

 

และเมื่อมีจิตใจก็ต้องมีธรรมะ คือธรรมะที่เป็นส่วนกุศลบ้าง

ธรรมะที่เป็นส่วนอกุศลบ้าง ธรรมะที่เป็นกลางๆบ้าง

โดยเฉพาะก็คือธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ ก็คือเรื่องหรือว่าภาวะที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ

เรื่องที่บังเกิดขึ้นในจิตใจนั้น ก็เช่นอารมณ์คือเรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ

เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึงต่างๆ เป็นเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ในจิตใจ

และเมื่อมีเรื่องก็จะต้องมีภาวะของจิตใจที่เป็นความชอบบ้างความชังบ้าง

หรือความยินดีบ้างความยินร้ายบ้างอยู่ในเรื่องเหล่านั้น บังเกิดขึ้นสลับซับซ้อน

เหล่านี้คือธรรมะ อันได้แก่เรื่องต่างที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ ภาวะต่างๆที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ

ทำไมจึงต้องปฏิบัติในสติปัฏฐาน

 

ทุกคนก็ย่อมมีกาย ย่อมมีเวทนา ย่อมมีจิต ย่อมมีธรรมะในจิต อยู่ดั่งนี้ด้วยกัน

แต่ว่าโดยปรกตินั้นทุกคนไม่ได้ตั้งจิตมากำหนดดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรมะในจิตของตน

แต่ว่าส่งจิตไปกำหนดในเรื่องนั้นบ้างในเรื่องนี้บ้าง และก็เกิดยินดีบ้างยินร้ายบ้างกันอยู่

เพราะฉะนั้น จึงได้บังเกิดอกุศลกรรมต่างๆ บังเกิดความทุกข์เดือดร้อนต่างๆ

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้มาตั้งจิตกำหนดดูกายเวทนาจิตธรรมของตน

นี่แหละคือสติปัฏฐาน

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

* 

พระธรรมคุณ ๒ สันทิฏฐิโก

การปฏิบัติสติปัฏฐานประจำวัน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

ธรรมะที่พึงรู้พึงเห็นได้ ๓

โลกในภายใน ๔

โลกคือขันธ์ ๕ ๕

ธรรมะที่เป็นสันทิฏฐิโกนี้คืออย่างไร ๗

การปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๙

เมื่อมีอกุศลธรรมอยู่ในจิต ๑๐

เมื่อมีกุศลธรรมอยู่ในจิต ๑๑

สติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน ๑๒

ข้อความสมบูรณ์ อธิบายสติปัฏฐานประจำวันดีมาก

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๑๐๒/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๐๒/๒ ( File Tape 79 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระธรรมคุณ ๒ สันทิฏฐิโก

การปฏิบัติสติปัฏฐานประจำวัน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ธรรมหรือธรรมะนั้น เป็นธรรมะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

ดังพระธรรมคุณบทว่า สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

ตรัสดีแล้วอย่างไรได้แสดงแล้วโดยปริยายคือทางที่พึงแสดงได้ในครั้งเดียว

แต่มีข้อสำคัญที่ส่องถึงว่าธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

ก็เพราะว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสสอนนั้นเป็น สันทิฏฐิโก

คือเป็นธรรมะอันผู้ฟังผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นได้เอง

 

ข้อนี้เป็นหลักสำคัญอย่างยิ่งของธรรมะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอน

ชื่อว่าได้ตรัสดีได้ทรงสั่งสอนดี ก็เพราะผู้ฟังผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นได้เองนี่เอง

เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้นก็พึงทำความเข้าใจไว้ดั่งนี้ก่อน

และไม่ควรจะมีความเข้าใจว่า ข้อที่ว่าเห็นได้เองนี้เพราะเป็นธรรมะที่ลึกซึ้ง

ไม่เป็นวิสัยของสามัญชนจะพึงเห็นได้ ซึ่งอาจจะมีผู้เข้าใจดั่งนั้น

 

ธรรมะที่พึงรู้พึงเห็นได้

 

แต่อันที่จริงนั้นข้อว่าสันทิฏฐิโกนี้

เป็นลักษณะอันสำคัญของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

เพราะเหตุที่ทำให้ผู้ฟังผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุเห็นเองได้นี้

จึงทำให้ชื่อว่าเป็นธรรมะที่ตรัสดีแล้วดังกล่าว

อันข้อที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้นก็ดังที่ได้กล่าวแล้ว ว่ามีอาการ ๓ อย่าง

คือเป็นธรรมะที่พึงรู้พึงเห็น ก็คือพึงรู้พึงเห็นได้ เป็นสันทิฏฐิโกนี่แหละ

เป็นธรรมะมีเหตุที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้

ก็เพราะว่าจะรู้จะเห็นได้เองดังที่ข้อ ๑ ก็ต้องมีข้อ ๒

คือมีเหตุที่ผู้ฟังอาจตรองตามให้เห็นจริงได้ คือให้เป็นสันทิฏฐิโกขึ้นมาได้

และที่จะเป็นดั่งข้อสองนี่ได้ก็โดยที่มีข้อ ๓ คือเป็นธรรมะที่มีปาฏิหาริย์

กล่าวคือ กำจัดข้าศึกกิเลสได้ เป็นสัจจะคือความจริง ที่ให้ผลเป็นประโยชน์สุข

ตั้งแต่ขั้นต้นขั้นต่ำขึ้นไปได้จริง จนถึงประโยชน์สูงสุดคือมรรคผลนิพพาน

กำจัดกิเลสและกองทุกข์ได้หมดสิ้นจริง ตามสมควรแก่ความปฏิบัติ

 

การที่ปฏิบัติได้ผลสมจริงนี่แหละเป็นตัวปาฏิหาริย์ดังที่ได้กล่าวแล้ว

เพราะฉะนั้นธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน จึงต้องมีลักษณะที่เป็นสันทิฏฐิโกดังกล่าว

ถ้าไม่มีลักษณะเป็นสันทิฏฐิโกก็ไม่ทรงสั่งสอน แม้จะมีผู้มาถาม ก็ไม่ตรัสตอบ

ไม่ตรัสพยากรณ์ ดังเช่นที่แสดงไว้ถึงปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ตรัสตอบไว้ ๑๐ ข้อ

ยกตัวอย่างขึ้นมาเพียงบางข้อ คือปัญหาที่ถามว่าโลกเที่ยง หรือโลกไม่เที่ยง

โลกมีที่สุด หรือโลกไม่มีที่สุด ก็เป็นทำนองปัญหาเรื่องการสร้างโลก หรือการสิ้นสุดแห่งโลก

ซึ่งหมายถึงโลกคือพื้นพิภพอันนี้ อันเรียกว่าโอกาสโลก โลกคือพื้นพิภพอันนี้

เที่ยงหรือไม่เที่ยง มีที่สุดหรือไม่มีที่สุด อย่างไร

ปัญหาเหล่านี้พระพุทธองค์ไม่ตรัสตอบ เพราะว่าไม่ให้สำเร็จประโยชน์อะไร

ไม่ทำให้สิ้นกิเลสและกองทุกข์ได้อย่างไร

 

เพราะว่าไม่มีผู้ฟังที่จะได้ความรู้ความเห็นได้ด้วยตนเอง

ถ้าตรัสตอบไปก็เพียงแต่ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อเท่านั้น ถ้าไม่เชื่อและเกิดความลบหลู่ขึ้น

ก็เป็นการที่ไม่เชื่อในพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ไม่เป็นบุญไม่เป็นกุศลเพิ่มขึ้นอีก

เพราะว่าไม่ทำให้ผู้ฟังได้ความรู้ความเห็นขึ้นด้วยตัวเอง

เพราะฉะนั้น เรื่องดังเช่นที่กล่าวมานี้พระพุทธเจ้าไม่ตรัสสอน แม้จะมีผู้มาถามก็ไม่ตรัสตอบ

เพราะไม่เป็นสันทิฏฐิโกขึ้นมาได้ ไม่ให้สำเร็จประโยชน์อะไร

ส่วนธรรมะที่ตรัสสอนนั้น ต้องเป็นธรรมะที่เป็นสันทิฏฐิโก ที่ผู้ฟังพึงรู้พึงเห็น รู้เห็นได้

ก็คือเห็นได้ด้วยตนเองดังกล่าว

 

โลกในภายใน

 

เพราะฉะนั้น พระองค์จึงได้ทรงแสดงโลก

คือแทนที่จะแสดงโลกในภายนอกที่เป็นพื้นพิภพโลกธาตุดังที่กล่าวมานั้น

มาทรงแสดงโลกในภายในคือในกายอันยาววาหนาคืบนี้ มีสัญญามีใจครองนี้

ดังที่ได้ตรัสไว้แก่โรหิตัสสะเทพบุตร ว่าพระองค์ทรงบัญญัติโลก

บัญญัติโลกสมุทัยเหตุเกิดเพราะโลก บัญญัติโลกนิโรธความดับโลก

บัญญัติโลกนิโรธคามินีปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลก

ในกายอันยาววาหนึ่งมีสัญญามีใจครองนี้ ดั่งนี้

 

โลกที่พระองค์ทรงบัญญัตินี้ พระองค์ได้ถึงที่สุดของ ... ( จบเทป ๑๐๒/๑ )

( ข้อความขาดนิดหน่อย )

( เริ่ม ๑๐๒/๒ ) ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธะ ก็เพราะได้ตรัสรู้ถึงที่สุดของโลกในภายใน

และก็ตรัสแสดงชี้แจงเปิดเผยกระทำให้แจ้ง

โลกที่ทรงบัญญัติไว้ทั้ง ๔ นี้ ก็คืออริยสัจจ์ทั้ง ๔ นั้นเอง

ก็คือทุกข์ ทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์ ทุกขนิโรธความดับทุกข์

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

 

โลกคือขันธ์ ๕

 

เพราะว่าที่ชื่อว่าโลกนั้นก็เพราะเป็นสิ่งที่ชำรุดทรุดโทรม

สิ่งใดชำรุดทรุดโทรมสิ่งนั้นชื่อว่าโลก เพราะฉะนั้นโลกจึงเป็นทุกข์

พระองค์ก็ตรัสชี้ทุกขสัจจะความจริงคือทุกข์นี้ โดยตรงก็คือขันธโลก

โลกคือขันธ์ ๕ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

อันย่อเข้าเป็นนามรูปนี้เองเป็นตัวโลกที่เรียกว่าขันธโลก และเป็นตัวทุกข์โดยสรุป

เพราะเมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วก็ตรัสไว้ว่า ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นตัวทุกข์

 

พระองค์ทรงแสดงชี้แจงให้รู้จักโลก ให้รู้จักทุกข์ โดยปริยายเป็นอันมาก

และก็ทรงแสดงชี้แจงให้รู้จักทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ให้เกิดโลก

ที่ทรงยกเอาตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากขึ้นมาแสดง โดยปริยายเป็นอันมาก

ทรงแสดงให้รู้จักทุกขนิโรธความดับทุกข์

หรือโลกนิโรธความดับโลก โดยปริยายคือทางเป็นอันมาก

ทรงแสดงทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

โลกนิโรธคามินีปฏิปทาข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลก โดยปริยายคือทางเป็นอันมาก

ทั้งหมดก็รวมเข้าในกายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญามีใจครองของทุกๆคนนี้เอง

 

เพราะฉะนั้น ธรรมะที่พระองค์ทรงแสดงทุกคนจึงเห็นได้เอง

เป็นสันทิฏฐิโก เป็นธรรมะอันพึงเห็นได้เอง ฟังก็เห็นรู้ได้เอง ปฏิบัติก็รู้เห็นได้เอง

บรรลุถึงผลเป็นความรู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดก็รู้เห็นได้เอง

เป็นสันทิฏฐิโก ตั้งแต่ขั้นปริยัติ ขั้นปฏิบัติ และขั้นปฏิเวธคือขั้นผลที่ได้

ตั้งแต่ขั้นต้นจนถึงขั้นมรรคผลนิพพาน ที่เรียกว่าเป็นความรู้แจ้งแทงตลอดขั้นสูงสุด

ล้วนเป็นสันทิฏฐิโกเห็นเองทั้งนั้น

 

อันสันทิฏฐิโกเห็นเองดังกล่าวนี้เป็นเรื่องธรรมดา

ที่แม้ในการเล่าเรียนศึกษาวิชาต่างๆ ที่ทุกคนเล่าเรียนศึกษา

เพื่อประกอบอาชีพการงานเป็นต้น ก็ต้องอาศัยเป็นสันทิฏฐิโกเช่นนี้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น นึกถึงทุกๆคนที่เข้าโรงเรียนตั้งแต่ขั้นอนุบาลเป็นต้นขึ้นมา

ก็ต้องเรียนเอง แล้วก็รู้เอง ตั้งแต่ ก ข ค ง เป็นต้นขึ้นมา จะเรียนแทนกันไม่ได้

มารดาบิดาที่ส่งลูกเข้าโรงเรียน ก็ส่งอุปการะต่างๆ เช่นนำเด็กเข้าสู่โรงเรียน

ให้เครื่องแต่งตัวเป็นนักเรียน หาเครื่องเรียนให้ และเครื่องอุปการะต่างๆตามที่ต้องการ

แต่ว่าเด็กที่เป็นลูกหลานนั้นต้องเรียนเอง พ่อแม่จะไปเรียนแทนให้ลูกไม่ได้

ลูกต้องเรียนเอง แล้วลูกก็รู้เองเห็นเองตั้งแต่ต้นมา ดั่งนี้ก็เป็นสันทิฏฐิโกเหมือนกัน

เป็นหลักธรรมดาที่มีอยู่ในการที่ทุกคนจะได้ปัญญาที่เป็นตัวความรู้ หรือได้วิชชา

ซึ่งก็ต้องเล่าเรียนเองต้องศึกษาเองด้วยตนเองมาตั้งแต่ในเบื้องต้น

 

มาถึงธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

ก็ทรงสั่งสอนเพื่อให้รู้เองเห็นเอง จำเพาะในธรรมะที่จะรู้เองเห็นเองได้

ถ้าเป็นธรรมะที่รู้เองเห็นเองไม่ได้ ดังปัญหาที่ไม่ทรงพยากรณ์นั้น

ก็ไม่ตรัสสอนไม่ตรัสพยากรณ์

เพราะฉะนั้น สันทิฏฐิโกนี้จึงเป็นหลักสำคัญของธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอน

อันส่องถึงว่าพระองค์ได้ตรัสดีแล้วก็เพราะตรัสให้ผู้ฟังรู้เองเห็นเองได้ปฏิบัติได้

และได้รับผลได้ตามที่ตรัสสอนไว้สมจริงทุกอย่าง

และก็ตรัสสอนในกายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญามีใจครองนี้นี่แหละ ไม่ใช่ทรงสั่งสอนที่อื่น

เพราะเหตุนี้แหละทุกๆคนจึงสามารถจะฟังให้รู้เห็นเองได้ จะปฏิบัติได้ จะบรรลุถึงผลได้

นี้เป็นลักษณะพิเศษของพระพุทธศาสนาที่เป็นไปดั่งนี้

ธรรมะที่เป็นสันทิฏฐิโกนี้คืออย่างไร

 

ได้มีพระสูตรที่แสดงถึงพระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบปัญหาแก่พราหมณ์ผู้มาถามพระองค์

ว่าธรรมะที่เป็นสันทิฏฐิโกนี้คืออย่างไร พระองค์ก็ได้ตรัสตอบว่า

 

บุคคลที่มีราคะคือติดใจกำหนัดยินดีถูกราคะครอบงำ

มีใจที่ถูกราคะจับไว้ได้ยึดไว้ได้ ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง

เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งสองบ้าง ย่อมเสวยทุกข์โทมนัสทางใจบ้าง

ย่อมประพฤติทุจริตทางกายบ้าง ประพฤติทุจริตทางวาจาบ้าง ประพฤติทุจริตทางใจบ้าง

ย่อมไม่เห็นประโยชน์ตนบ้าง ไม่เห็นประโยชน์ผู้อื่นบ้าง ไม่เห็นประโยชน์แม้ทั้งสองบ้าง

 

บุคคลที่ละราคะได้แล้วย่อมไม่คิดอย่างนั้น

คือไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น เบียดเบียนทั้งสอง

ไม่ต้องเสวยทุกข์โทมนัสทางใจ ไม่ประพฤติทุจริตทางกายทางวาจาทางใจ

ย่อมเห็นประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสอง

 

ผู้ที่มีโทสะความโกรธแค้นขัดเคือง ถูกโทสะครอบงำ มีใจถูกโทสะจับยึดไว้ได้

ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เพื่อเบียดเบียนทั้งสองบ้าง

ย่อมเสวยทุกข์โทมนัสทางใจบ้าง ย่อมประพฤติทุจริตทางกายบ้าง

ประพฤติทุจริตทางวาจาบ้าง ประพฤติทุจริตทางใจบ้าง

ย่อมไม่เห็นประโยชน์ตน ไม่เห็นประโยชน์ผู้อื่น ไม่เห็นประโยชน์ทั้งสอง

 

บุคคลผู้ที่ละโทสะได้แล้วย่อมไม่คิดอย่างนั้น

คือไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น เบียดเบียนทั้งสอง

ไม่ต้องเสวยทุกข์โทมนัสทางใจ ไม่ประพฤติทุจริตทางกายทางวาจาทางใจ

ย่อมเห็นประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสอง

ผู้ที่มีโมหะความหลง ถูกความหลงครอบงำ มีใจอันความหลงจับยึดไว้ได้

ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง คิดเพื่อเบียดเบียนทั้งสองบ้าง

ย่อมเสวยทุกข์โทมนัสทางใจบ้าง ย่อมประพฤติทุจริตทางกายบ้าง

ประพฤติทุจริตทางวาจาบ้าง ประพฤติทุจริตทางใจบ้าง

ย่อมไม่เห็นประโยชน์ตน ไม่เห็นประโยชน์อื่น ไม่เห็นประโยชน์ทั้งสอง

 

ผู้ที่ละโมหะคือความหลงได้ ย่อมไม่คิดอย่างนั้น

คือไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น เบียดเบียนทั้งสอง

ไม่ต้องเสวยทุกข์โทมนัสทางใจ ไม่ประพฤติทุจริตทางกายทางวาจาทางใจ

ย่อมเห็นประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสอง

ดั่งนี้ นี้คือธรรมะเป็นสันทิฏฐิโก อันบุคคลผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุถึงพึงเห็นเอง ดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้น ตามพระพุทธภาษิตที่ตรัสนี้ จึงแสดงถึงธรรมะที่เป็นสันทิฏฐิโกดังที่กล่าวมา

เมื่อบุคคลเป็นผู้ที่มีจิตใจเป็นอย่างไร และมีความประพฤติอันสืบเนื่องมาจากจิตใจเป็นอย่างไร

ทุกคนก็ย่อมรู้เห็นเอง ไม่ใช่แต่ในทางดีเท่านั้น แม้ในทางชั่วก็รู้เห็นได้เอง

คือเมื่อได้ฟังคำสั่งสอนของพระองค์ที่ตรัสแสดงชี้แจงดังที่ยกมานี้

และน้อมเข้ามาพิจารณาดูตนเองว่าเป็นอย่างไรก็ย่อมจะเห็นได้

 

แม้เมื่อตนเองมีจิตใจอันประกอบด้วยโลภโกรธหลง

หรือราคะโทสะโมหะ และมีความทุกข์โทมนัส เพราะอำนาจของกิเลส

และเมื่อประพฤติทุจริตทางกายทางวาจาทางใจ ตนเองก็ยอมรู้

ว่าจิตใจของตนกำลังโลภ กำลังโกรธ กำลังหลง

กำลังมีราคะ กำลังมีโทสะ กำลังมีโมหะ และกำลังกระสับกระส่ายเดือดร้อน

เพราะถูกกิเลสแผดเผาใจของตัวเอง ให้กระสับกระส่ายให้วุ่นวาย

และเมื่อประพฤติทุจริตทางกายทางวาจาทางใจอย่างไร

ตนเองก็ย่อมรู้ว่าเรากำลังทำนั่น กำลังทำนี่ กำลังพูดนั่น กำลังพูดนี่

กำลังคิดนั่น กำลังคิดนี่ ซึ่งล้วนเป็นทุจริต คือเป็นสิ่งที่ไม่ดี

ก็ย่อมรู้ได้ดั่งนี้ ในเมื่อน้อมใจเข้ามาเพื่อรู้

 

และเมื่อมีสติกำหนดพิจารณาดู

ก็ย่อมจะรู้ได้ว่าในขณะที่กำลังมีจิตใจถูกกิเลสครอบงำ

กำลังประพฤติทุจริตต่างๆนั้น ย่อมไม่มีปัญญาที่จะรู้จักว่า นี่ดี นี่ชั่ว

นี่เป็นประโยชน์ตน นี่เป็นประโยชน์ผู้อื่น นี่เป็นประโยชน์ทั้งสอง ย่อมจะไม่รู้จัก

ย่อมจะสำคัญผิดว่าสิ่งที่ตนกำลังคิดกำลังทำกำลังพูดนั่นแหละ เป็นสิ่งที่ดี

อาจจะเห็นอย่างนั้น จึงชวนใจให้กระทำ ทั้งนี้ก็เพราะว่ากำลังถูกกิเลสครอบงำจิตใจอยู่

และกำลังปฏิบัติกรรมที่เป็นบาปเป็นอกุศลอยู่ จิตใจก็ย่อมมืดมัว ไม่ผ่องใส

ทำให้ไม่ได้ปัญญาที่จะมองเห็นสัจจะที่เป็นตัวความจริง

 

แต่ว่าเมื่อมาปฏิบัติตามพระธรรมที่ทรงสั่งสอน

ปฏิบัติละราคะหรือโลภะ ละโทสะ ละโมหะ ละบาปอกุศลทุจริตกายวาจาใจ

เป็นตัวศีล และเป็นสมาธิขึ้นมา จิตใจย่อมจะผ่องใสสะอาด

เมื่อจิตใจผ่องใสสะอาดก็ย่อมจะได้ปัญญา มองเห็นว่าสัจจะคือความจริงเป็นอย่างไร

ประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน ประโยชน์ทั้งสองเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นตัวปัญญา

ย่อมจะได้ปัญญาขึ้นในเมื่อจิตใจมีความบริสุทธิ์สะอาด อันสืบเนื่องมาจากศีล

เหล่านี้ต้องเป็นสันทิฏฐิโกคือที่จะต้องเห็นด้วยตัวเองทั้งนั้น

โดยที่ตั้งจิตกำหนดเข้ามาดูให้รู้จักธรรมะในตัวเอง ทั้งที่เป็นฝ่ายอกุศล ทั้งที่เป็นฝ่ายกุศล

ก็เป็นสันทิฏฐิโกด้วยกันทั้งนั้น

 

การปฏิบัติในสติปัฏฐาน

 

การปฏิบัติในสติปัฏฐานตั้งสติกำหนดพิจารณากายเวทนาจิตธรรม ก็เช่นเดียวกัน

เพราะทั้ง ๔ ข้อนี้ย่อมมีอยู่ในกายอันยาววา มีสัญญา มีใจครอง นี้นั่นเอง ไม่ใช่มีที่ไหน

เมื่อตั้งสติกำหนดเข้ามาดูกาย ก็ย่อมจะเห็นกายว่ามีอยู่

กำหนดเวทนาก็ย่อมจะเห็นว่าเวทนามีอยู่ กำหนดจิตก็ย่อมจะเห็นว่าจิตมีอยู่

กำหนดธรรมก็ย่อมจะเห็นว่าธรรมมีอยู่

 

เมื่อมีอกุศลธรรมอยู่ในจิต

 

ยกตัวอย่างตามพระสูตรที่ได้ยกมาอ้างนั้น

ในบางคราวมีราคะหรือโลภะ มีโทสะ มีโมหะ บังเกิดขึ้นในจิต ปรากฏอยู่ในจิต

เมื่อน้อมจิตเข้ามากำหนดดู ก็ย่อมจะรู้ได้ว่ากำลังมีราคะหรือกำลังมีโลภะอย่างนี้ๆ

กำลังมีโทสะอย่างนี้ๆ กำลังมีโมหะอย่างนี้ๆ ก็เป็นอันว่าได้รู้จักอกุศลธรรมในตนเอง

ว่าตนเองกำลังปรากฏมีอกุศลธรรม คือกิเลสดังกล่าว และถ้าหากว่ากิเลสเหล่านี้ก่อให้เกิดเจตนาคือความจงใจที่จะประกอบกรรม เป็นอกุศลทางกายทางวาจาทางใจต่างๆ

มีสติกำหนดดูก็ย่อมจะรู้ว่า ย่อมจะเห็นว่าเรากำลังมีเจตนาคือความจงใจๆ

คือมีเจตนาคือความจงใจอย่างนี้ๆ นี้เป็นอันว่าได้รู้จักอกุศลธรรมในจิตของตน

 

คราวนี้เมื่อมากำหนดดูจิต จิตของตนในขณะที่กำลังมีกิเลสดังกล่าวนั้น

ก็ย่อมจะรู้จะเห็นจิตของตนว่า กำลังดิ้นรน กวัดแกว่ง กระสับกระส่าย

เร่าร้อนอยู่ด้วยอำนาจของกิเลสที่บังเกิดขึ้นในจิต ย่อมจะรู้จักจิตของตนว่าเป็นอย่างนี้ๆ

 

คราวนี้เมื่อมาดูเวทนาว่าเป็นอย่างไร ก็ย่อมจะรู้เหมือนกันว่า

เวทนาของตนในขณะที่มีกิเลสครอบงำจิตอยู่นี้นั้น เป็นทุกขเวทนา เป็นตัวทุกข์

เพราะว่ามีความเร่าร้อน มีความกระสับกระส่ายไม่ผาสุข

 

คราวนี้มาดูกาย ว่ากายของตนเป็นอย่างไร

ก็จะเห็นว่าแม้กายของตนนั้นก็ไม่ปรกติเหมือนกัน ตั้งต้นแต่ลมหายใจ

ก็จะรู้สึกว่าลมหายใจนั้นก็ไม่ปรกติ จะมีการหายใจแรง อาจจะฮืดฮาดๆด้วยอำนาจของกิเลส

๑๐

อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ไม่เรียบร้อย บางคราวก็ต้องเดินงุ่นง่านไปมาอยู่

นั่งก็กระสับกระส่าย ยืนก็ไม่อยู่เป็นที่ แม้จะนอนก็ไม่เป็นสุข กระสับกระส่าย

เพราะฉะนั้นอาการทางกายนั้นก็เป็นอาการที่ไม่ปรกติ

เพราะฉะนั้น หากกำหนดดูที่กายของตนในขณะดังกล่าวก็จะเห็นได้ว่าเป็นอย่างนี้

กายก็เป็นไปทางอกุศล เวทนาก็เป็นไปทางอกุศล จิตก็เป็นไปทางอกุศล

เพราะมีอกุศลธรรมบังเกิดขึ้นในจิต

 

เมื่อมีกุศลธรรมอยู่ในจิต

 

คราวนี้ถ้าเป็นไปตรงกันข้าม ในขณะที่มีกุศลธรรมบังเกิดขึ้นในจิต

เช่นว่ามีศีลคือตัววิรัติเจตนาบังเกิดขึ้นในจิต มีสมาธิ มีสติ บังเกิดขึ้นในจิต

มีปัญญาที่เป็นตัวความรู้ความเห็นปลอดโปร่งบังเกิดขึ้นในจิต นี่เป็นกุศลธรรม

เมื่อกุศลธรรมบังเกิดขึ้นในจิตดั่งนี้ กำหนดดูก็ย่อมจะรู้

ว่าบัดนี้เรากำลังมีศีล เรากำลังมีสมาธิ มีสติ มีปัญญา

 

มาดูจิตว่าในขณะที่กุศลธรรมบังเกิดขึ้นในจิตนี้จิตเป็นอย่างไร

ก็ย่อมจะเห็นว่าจิตเป็นจิตที่ปรกติ มีความสงบ มีความสุข

สงบราคะหรือโลภะ โทสะ โมหะ หรือว่าละราคะโลภะโทสะโมหะได้

แม้ในขณะที่กุศลธรรมบังเกิดขึ้นในจิต จิตมีความสงบ มีความเป็นปรกติ

 

ดูเวทนาก็ย่อมจะรู้จะเห็นว่า มีสุขเวทนา มีความเป็นสุขอันเกิดจากความสงบใจ สงบอารมณ์

ดูกายก็เห็นจะเห็นว่ากายนั้นก็เป็นไปโดยปรกติ จะยืนจะเดินจะนั่งจะนอนก็เป็นปรกติเรียบร้อย

ลมหายใจก็เป็นปรกติเรียบร้อย ธาตุทั้งหลายในกายนี้ก็เป็นไปโดยเรียบร้อย

ไม่มีธาตุใดธาตุหนึ่งหย่อนหรือเกิน ดั่งนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น กายก็เป็นไปตามกุศล เวทนาก็เป็นไปตามกุศล จิตก็เป็นไปตามกุศล

เพราะฉะนั้น เมื่อมีกุศลธรรมอยู่ในจิต อื่นๆก็ดีหมด

 

สติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน 

เพราะฉะนั้น การที่มาหัดกำหนดพิจารณาดูดั่งนี้ก็เป็นการปฏิบัติสติปัฏฐาน

เป็นการปฏิบัติทั่วไป ซึ่งปฏิบัติได้เป็นการประจำวัน

และแม้ว่าสามัญชนจะต้องมีฝ่ายอกุศลบังเกิดขึ้นในจิตบ้าง มีฝ่ายกุศลบังเกิดขึ้นในจิตบ้าง

แต่เมื่อหัดทำสติกำหนดดูธรรมะในจิต ดูจิตเอง ดูเวทนา ดูกาย อยู่เนืองๆแล้ว

หากฝ่ายอกุศลบังเกิดขึ้น ฝ่ายอกุศลนั้นเมื่อถูกเพ่งพินิจขึ้นแล้ว ก็จะสงบลง

ฝ่ายกุศลนั้นหากบังเกิดขึ้น และมีสติกำหนดดูอยู่ ฝ่ายกุศลก็จะตั้งอยู่และจะเจริญยิ่งขึ้น

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*