ถอดเทปพระธรรมเทศนา

  • พิมพ์

เทป085

พระธรรมคุณ ๑๓ โอปนยิโก

สติกำหนดตามดูจิตสืบต่อจากเวทนา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

  *

กำหนดดูจิตให้ถึงเวทนา ๖

อารมณ์ ๖ ๗

จิต อารมณ์ กิเลส ๘

วิธีพิจารณาที่เรียกว่าเจาะแทง ๘

ขั้นตอนการดับกิเลส ๙

 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๐๙/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๑๐/๑ ( File Tape 85 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระธรรมคุณ ๑๒ โอปนยิโก

สติกำหนดตามดูจิตสืบต่อจากเวทนา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ธรรมะเป็น สวากขาตธรรม คือธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา

เพราะฉะนั้นธรรมะที่พระองค์ได้ตรัสไว้ดีแล้วนั้น จึงเป็นธรรมะอันประกอบด้วยพระธรรมคุณ

ทุกข้อดังที่ได้แสดงมาโดยลำดับ จนถึงข้อโอปนยิโกควรน้อมเข้ามา

ก็คือควรน้อมจิตนี้เองเข้ามาสู่ธรรม หรือควรน้อมธรรมเข้าสู่จิต

ถ้าไม่น้อมเข้ามาดังกล่าวนี้ ธรรมะที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้วนั้น

ก็ไม่บรรลุถึงบุคคล บุคคลก็ไม่บรรลุถึงธรรมะ

จะต้องมีการน้อมเข้ามาจึงจะได้บรรลุธรรมะ หรือธรรมะบรรลุบุคคล

หรือบุคคลถึงธรรมะ ธรรมะถึงบุคคล

และการน้อมเข้ามานั้นก็ได้แสดงมาเมื่อยกสติปัฏฐานขึ้นเป็นที่ตั้ง

ก็น้อมเข้ามากำหนดกายเวทนาจิตธรรม และก็ได้กำลังแสดงถึงข้อเวทนา

ซึ่งข้อเวทนานี้เป็นข้อที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ในที่ทั้งหลาย

แก่บุคคลทั้งหลายเป็นอันมาก ตลอดถึงทรงแสดงแก่พระอัครสาวก

ก่อนที่ท่านจะได้บรรลุถึงธรรมะสูงสุด ดังที่ได้กล่าวแล้วเหมือนกัน

และเวทนานี้ตามปฏิจจสมุปบาทเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา

ซึ่งได้อ้างมาแล้วเหมือนกัน

กิเลสสืบเนื่องมาจากเวทนา

และยังมีในพระสูตรอื่น ดังเช่น ธชัคคสูตร

ที่ได้ตรัสไว้โดยความว่า แม้อาสวะอนุสัยคือกิเลสที่ดองจิตสันดาน

นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน ที่ท่านเปรียบเหมือนเป็นตะกอนก้นตุ่ม

อันเป็นกิเลสอย่างละเอียด ก็สืบเนื่องมาจากเวทนาเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น เวทนานี้จึงกล่าวได้ว่าเป็นเครื่องปรุงจิต

การกำหนดเวทนาจึงเป็นข้อที่ผู้ปฏิบัติธรรมะ จะพึงตั้งสติหัดกำหนด

ตามนัยยะที่ได้ตรัสสอนไว้

สำหรับที่ตรัสถึงอาสวะอนุสัย ก็สืบมาจากเวทนานั้น

ดังจะได้นำเอาใจความมาแสดงโดยสังเขปว่า

บุคคลอันสุขเวทนาถูกต้องย่อมอภินันท์ยินดีเพลิดเพลิน ย่อมชมชื่นสยบติดอยู่

เมื่อเป็นดั่งนี้ ราคานุสัย ราคะคือความติดใจยินดีย่อมตกตะกอน

นอนจมอยู่ในจิตสันดาน อันเรียกว่า ราคานุสัย

( เริ่ม ๑๑๐/๑ ) บุคคลอันทุกข์เวทนาถูกต้องย่อมโศกเศร้าเสียใจ

ลำบากใจ รัญจวนใจ ตีอกคร่ำครวญถึงความหลงไหล

ปฏิฆะคือความกระทบกระทั่งจิตซึ่งเป็นต้นของกิเลสกองโทสะ

ย่อมตกตะกอนนอนจมอยู่ในจิตสันดานเป็น ปฏิฆานุสัย กิเลสที่นอนจมจิตสันดาน

คือปฏิฆะความกระทบกระทั่ง

บุคคลอันเวทนาที่มิใช่ทุกข์มิใช่สุขถูกต้อง ย่อมไม่รู้ความเกิดขึ้น ความดับไป

ย่อมไม่รู้ผลส่วนดี ที่น่าพอใจ ย่อมไม่รู้ผลส่วนโทษ ย่อมไม่รู้การนำจิตออก

เมื่อเป็นดั่งนี้อวิชชาคือความไม่รู้แจ่มแจ้ง ก็ตกตะกอนนอนจมอยู่ในจิตสันดาน

เป็น อวิชชานุสัย อนุสัยกิเลสที่นอนจมจิตสันดานคืออวิชชา

บุคคลไม่ละราคานุสัยในสุขเวทนา ไม่บันเทาปฏิฆานุสัยในทุกขเวทนา

ไม่ถอนอวิชชานุสัยในเวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขหรืออุเบกขาเวทนา

ไม่ละอวิชชา ไม่ทำวิชชาให้บังเกิดขึ้น

ย่อมไม่เป็นฐานะว่าจะกระทำให้ถึงที่สุดทุกข์ในปัจจุบันได้

 ส่วนบุคคลผู้ที่สุขเวทนาถูกต้องย่อมไม่อภินันท์ยินดีเพลิดเพลิน

ไม่ชื่นชม ไม่สยบติด ราคานุสัยก็ไม่เกิดขึ้น

บุคคลอันทุกขเวทนาถูกต้อง ย่อมไม่โศกเศร้าเสียใจ ลำบากใจ

ไม่รัญจวนใจ ไม่ตีอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความหลงไหล ปฏิฆานุสัยก็ไม่เกิดขึ้น

บุคคลอันเวทนาที่มิใช่ทุกข์มิใช่สุขถูกต้อง ย่อมรู้ความเกิดความดับ

ย่อมรู้ส่วนเป็นคุณที่ทำให้พอใจ ส่วนที่เป็นโทษ ย่อมรู้การนำจิตออกไปได้

อวิชชานุสัยก็ไม่เกิดขึ้น

บุคคลผู้ละราคานุสัยในสุขเวทนา บันเทาปฏิฆานุสัยในทุกขเวทนา

ถอนอวิชชานุสัยในเวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข ละอวิชชา ทำวิชชาให้บังเกิดขึ้น

ย่อมเป็นฐานะที่จะทำทุกข์ให้สิ้นสุดได้ในปัจจุบัน ดั่งนี้

สติกำหนดตามดูจิต

ตามพระพุทธภาษิตใน ธชัคคสูตร ที่ได้ตัดตอนมากล่าวโดยย่อนี้

แสดงว่าเวทนาเป็นปัจจัยอันสำคัญนำให้เกิดกิเลส

จนถึงขั้นอนุสัย คือกิเลสที่นอนจมอยู่ในจิตสันดาน

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดตามดูจิตสืบต่อจากเวทนา

ที่เรียกว่า จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติดูตามจิต ซึ่งแปลโดยสังเขปว่าตั้งสติตามดูจิต

คือกำหนดดูจิตของตน จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะความติดใจยินดี

จิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะความติดใจยินดี

จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะความขัดแค้นโกรธเคือง จิตปราศจากโทสะก็ให้รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ

จิตมีโมหะความหลงก็ให้รู้ว่าจิตมีโมหะ จิตปราศจากโมหะก็ให้รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ

จิตหดหู่ก็ให้รู้ว่าจิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่านก็ให้รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน

จิตถึงความเป็นใหญ่ที่เรียกว่า มหัคตะ

คือบรรลุถึงสมาธิขั้นอัปปนาแนบแน่น ถึงฌานก็ให้รู้ว่าจิตถึงความเป็นใหญ่

จิตไม่ถึงความเป็นใหญ่ก็ให้รู้ว่าจิตไม่ถึงความเป็นใหญ่

จิตที่ยังมีจิตอื่นยิ่งกว่าเช่นเป็นจิตที่ยังไม่ได้สมาธิอะไร ซึ่งต่ำกว่าจิตที่ได้สมาธิ

หรือว่าแม้จิตที่ได้สมาธิ ก็ยังเป็นสมาธิขั้นบริกรรมชั่วครู่ชั่วขณะ ซึ่งต่ำกว่าสมาธิที่เป็นอุปจาร

คือเฉียดที่จะสงบจริง คือที่ยังมีจิตอื่นยิ่งขึ้นไปกว่าอีกโดยลำดับขึ้นไป ดั่งนี้

จิตที่เป็นอนุตระคือไม่มีจิตอื่นยิ่งขึ้นไปกว่า คือเป็นจิตที่บรรลุถึงขั้นสูง

ซึ่งหมายความว่าขั้นสูงสำหรับในชั้นนั้นๆ ก็ให้รู้ หรือว่าสูงสุดทีเดียวก็ให้รู้

จิตที่ได้สมาธิมีสมาธิตั้งมั่น ก็ให้รู้ จิตที่ไม่มีสมาธิไม่มีความตั้งมั่น ก็ให้รู้

จิตที่วิมุติหลุดพ้น หมายถึงหลุดพ้นตั้งแต่ขั้นต้นขึ้นไป ดังที่เรียกว่า ตทังควิมุติ

หลุดพ้นด้วยองค์นั้นๆ แม้ชั่วคราวก็ให้รู้ จิตที่ไม่วิมุติหลุดพ้น ก็ให้รู้ ดั่งนี้

คือน้อมจิตนี้เองเข้ามาดูจิตว่าจิตเป็นไปอย่างไรอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับจิตที่ตรัสแสดงไว้ให้ตั้งสติกำหนดดู

คู่ที่ ๑ คู่ที่ ๒ คู่ที่ ๓ คือจิตที่มีราคะ หรือปราศจากราคะ

จิตที่มีโทสะ หรือปราศจากโทสะ จิตที่มีโมหะ หรือปราศจากโมหะ

สำหรับจิตที่มีราคะ จิตที่มีโทสะ จิตที่มีโมหะ ก็สืบเนื่องมาจากเวทนาดังที่กล่าวมาแล้ว

คือเมื่อมีสุขเวทนา อันสุขเวทนาถูกต้อง และยังมีความยินดี บันเทิง ชื่นชม สยบติด

ก็นำให้จิตนี้เป็นจิตที่มีราคะคือความติดใจยินดี

จิตที่ได้รับทุกขเวทนา อันทุกขเวทนาถูกต้องก็โศกเศร้าเสียใจลำบากใจ

ทุกข์ใจ รัญจวนใจ ตีอกคร่ำครวญ หลงใหล ก็นำให้เกิดโทสะ เป็นจิตที่มีโทสะ

เมื่อได้รับเวทนาที่เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข หรืออุเบกขาเวทนา

ก็ไม่กำหนดดูให้รู้จักเกิดรู้จักดับของเวทนานี้ ไม่กำหนดดูให้รู้คุณรู้โทษของเวทนานี้

ไม่กำหนดนำจิตออกจากเวทนานี้ ก็เป็นจิตที่มีโมหะคือความหลง

กำหนดดูจิตให้ถึงเวทนา

ก็เมื่อกำหนดเวทนา ก็จะนำไปถึงจิต

และกำหนดจิตดูว่าจิตมีราคะก็ให้รู้ มีโทสะก็ให้รู้ มีโมหะก็ให้รู้

ดั่งนี้ ก็ทำให้รู้จิตว่าเป็นจิตมีราคะ มีโทสะ มีโมหะ อันสืบเนื่องมาจากเวทนาดังกล่าว

ดูเวทนาก็ถึงจิต และดูจิตก็จะถึงเวทนา ที่สัมพันธ์กัน

และก็ให้รู้อาการของจิตที่มีราคะ ว่าคือมีความติดใจยินดี

ที่มีโทสะก็มีความกระทบกระทั่งโกรธแค้นขัดเคือง ที่มีโมหะก็คือมีความหลง คือไม่รู้

คราวนี้เมื่อมาเป็นผู้ปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

ในขณะที่ได้รับเวทนา เมื่อได้รับสุขเวทนาก็ทำจิตให้ไม่อภินันท์เพลิดเพลินยินดี

ไม่ให้ชื่นชม ไม่ให้สยบติด เมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็จะปราศจากราคะในอารมณ์นั้น

เมื่อได้รับทุกขเวทนาก็ทำจิตไม่ให้โศกเศร้าเสียใจ เป็นทุกข์ใจ ลำบากใจ

ไม่ให้รัญจวนใจ ไม่ให้ตีอกคร่ำครวญ ไม่ให้หลงใหล เมื่อเป็นดั่งนี้จิตก็ปราศจากโทสะ

เมื่อได้รับเวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข อันเป็นอุเบกขาเวทนา ก็กำหนดพิจารณาให้รู้จัก

และกำหนดให้รู้จักเกิดดับ คุณโทษ และการที่นำจิตออกได้

ดั่งนี้ก็ทำให้จิตปราศจากโมหะในอารมณ์นั้น

ก็เป็นอันว่าการกำหนดดูจิตนั้น ก็กำหนดดูไปให้ถึงเวทนา

หรือว่าเมื่อกำหนดเวทนา ก็กำหนดให้ถึงจิตซึ่งสัมพันธ์กัน ดังที่กล่าวมาแล้ว

และเมื่อรู้ และหากว่าไม่ได้ปฏิบัติปล่อยจิตไปตามอารมณ์

ก็ย่อมจะเป็นจิตมีราคะ มีโทสะ มีโมหะ เพราะมีความติดใจยินดี

เพราะมีความทุกข์กระทบกระทั่ง เพราะมีความไม่รู้ตามเป็นจริง

หากปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน คอยที่จะกำหนดดูให้รู้จักเวทนา

และไม่ทำความอภินันท์ในสุขเวทนา ไม่ทำความทุกข์ขัดใจในทุกขเวทนา

ไม่ทำความไม่รู้ในอุเบกขาเวทนาหรือเวทนาที่ไม่ทุกข์ไม่สุข

ดั่งนี้ก็เป็นจิตที่ปราศจากราคะโทสะโมหะในอารมณ์นั้น

อารมณ์ ๖

เพราะฉะนั้น จิตนี้รับอารมณ์คือเรื่องที่ประสบทางตา

หรือทางจักขุทวาร ทางตา ประตูตา โดยเป็น รูปารมณ์ อารมณ์คือรูป

รับอารมณ์ทางโสตะทวารคือประตู หรือทางหูโดยเป็น สัททารมณ์ อารมณ์คือเสียง

รับอารมณ์ทางฆานะทวาร คือทางจมูกโดยเป็น คันธารมณ์ อารมณ์คือกลิ่น

รับอารมณ์ทางชิวหาทวาร ประตูลิ้น หรือทางลิ้นโดยเป็น รสารมณ์ อารมณ์คือรส

รับอารมณ์ทางกายทวารโดยเป็น โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง

รับอารมณ์คือธัมมะเรื่องราวทางมโนทวาร ประตูใจ หรือทางใจ

โดยเป็น ธรรมารมณ์อารมณ์ คือธรรมะ ในที่นี้หมายถึงเรื่องราวของรูปเสียงเป็นต้น

ที่ได้ประสบพบผ่านมาแล้ว หรือที่คิดว่าจะได้ประสบพบผ่านต่อไป

อารมณ์เหล่านี้คู่กันอยู่กับจิตเสมอ

จิต อารมณ์ กิเลส

อารมณ์นั้นได้มีพระพุทธภาษิตตรัสแสดงไว้ว่า คือเรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ

เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง ไม่ใช่หมายถึงภาวะของจิตที่รัก หรือที่ชัง หรือที่หลง

ที่คนมักจะพูดกันว่าอารมณ์ดีอารมณ์ไม่ดี ที่หมายถึงจิตที่ดี หรือจิตที่ไม่ดี

แต่อารมณ์นั้นหมายถึงเรื่องดังที่กล่าวมานั้น

แต่ว่าถ้าเรียกว่าอารมณ์ดี หรือเรียกว่าอารมณ์ไม่ดี

เช่นคนนี้กำลังโกรธก็ว่าอารมณ์ไม่ดี อารมณ์หงุดหงิด

ถ้าพูดด้วยความเข้าใจว่าอันความโกรธความหงุดหงิดนั้น

ย่อมตั้งอยู่ในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของความโกรธของความหงุดหงิด

เพราะฉะนั้นตัวอารมณ์กับตัวอาการของจิตที่โกรธที่หงุดหงิด ก็ประกอบกันอยู่เป็นสังขาร

คือผสมปรุงแต่งกันอยู่ กิเลสกับอารมณ์ผสมปรุงแต่งกันอยู่ และก็ผสมปรุงแต่งกันอยู่ที่จิต

ก็เป็นอันว่ามี ๓ สิ่ง คือจิต ๑ อารมณ์ ๑ กิเลส ๑ ผสมปรุงแต่งกันอยู่

เป็นสังขารคือสิ่งประสมปรุงแต่ง

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็อาจพูดได้เหมือนกัน เช่นเมื่อจิตผสมปรุงแต่งกันอยู่

กับอารมณ์อันเป็นที่ตั้งของความโกรธ และตัวความโกรธเอง

ก็พูดได้เหมือนกันว่าจิตไม่ดี อารมณ์ไม่ดี เพราะว่า ต้องมีทั้งจิต ทั้งอารมณ์ ทั้งกิเลส

รวมกันอยู่เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งดังที่กล่าวมาแล้ว

 

วิธีพิจารณาที่เรียกว่าเจาะแทง

เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาที่เป็นสติปัฏฐานนั้น ก็คือเป็นการพิจารณาแยก

แยกสังขารคือความผสมปรุงแต่งกันของ ๓ สิ่งนี้ ให้แยกออกจากกันเสีย

ตั้งต้นแต่การที่มาจับพิจารณาดู ว่าจิตที่มีราคะก็เพราะ ๑ มีจิต

๒ มีอารมณ์เป็นที่ตั้งของราคะ

๓ มีกิเลสตัวราคะ ประกอบกันอยู่ปรุงแต่งกันอยู่ จึงเป็นจิตมีราคะขึ้น

จิตมีโทสะก็มี ๓ สิ่งนี้อีกเหมือนกัน คือจิต ๑

อารมณ์เป็นที่ตั้งของโทสะ ๑ กิเลสตัวโทสะ ๑ ผสมปรุงแต่งกันอยู่

จิตที่มีโมหะก็เช่นเดียวกัน มีจิต ๑ อารมณ์เป็นที่ตั้งของโมหะ ๑

กิเลสตัวโมหะ ๑ มาประกอบกันอยู่ พิจารณาแยกออกดั่งนี้

และเมื่อพิจารณาแยกออกดั่งนี้ นี่แหละเรียกว่าเป็นวิธีพิจารณาที่เรียกว่าเจาะแทง

เหมือนอย่างที่ใช้สว่านเจาะ หรือใช้เลื่อยๆไม้ ทำให้ไม้ที่เป็นท่อนเดียวกันเป็นหลายท่อน

หรือว่าทำไม้ที่ไม่เป็นช่องเป็นรู ให้เป็นช่องเป็นรูตามต้องการ

การพิจารณาเจาะแทงดั่งนี้ คือเป็นการที่แยก แยกความผสมปรุงแต่งกันในจิตนี้เอง

ออกเป็นส่วนๆ ให้รู้ตามเป็นจริง

 

ขั้นตอนการดับกิเลส

และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็ทำความรู้ในโทษ

ในเมื่อจิตมีราคะก็ให้รู้ในโทษ จิตมีโทสะก็ให้รู้ในโทษ จิตมีโมหะก็ให้รู้ในโทษ

ว่าเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองบ้าง เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง

เป็นเครื่องดับปัญญา เป็นไปในฝ่ายความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อดับกิเลส

และเมื่อได้ความรู้ขึ้นมาดั่งนี้ ความผสมปรุงแต่งกันทั้ง ๓ นี้ ก็จะแยกออกจากกัน

คือเรียกว่าแตกออกจากกัน ก็เป็นความดับ

จิตที่มีราคะก็มี ๓ สิ่งนั้นมารวมกัน

และเมื่อมาพิจารณาแยกธาตุออกไปว่าทั้ง ๓ สิ่งนี้มารวมกัน

ให้ทั้ง ๓ สิ่งนี้กระจายออกจากกัน ก็จะเป็นจิตที่ปราศจากราคะ

และเมื่อทั้ง ๓ สิ่งนี้แยกตัวออกจากกันได้ อารมณ์อันเป็นที่ตั้งของกิเลส และกิเลสก็ดับ

จิตที่มีโทสะก็กำหนดพิจารณาดูเช่นเดียวกัน และก็แยกออกไปให้รู้ในโทษ

อารมณ์ฝ่ายที่มีโทษ และกิเลสฝ่ายที่มีโทษนั้นก็ดับ ก็เป็นจิตปราศจากโทสะ

จิตมีโมหะก็เช่นเดียวกัน ก็กำหนดดู และก็แยกออกไปพร้อมทั้งให้รู้จักโทษ

เมื่อเป็นดั่งนี้ อารมณ์อันเป็นที่ตั้งโมหะ และตัวโมหะก็จะดับ

ก็เป็นจิตปราศจากโมหะในอารมณ์นั้น

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติดั่งนี้

จึงเป็นการปฏิบัติในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เชื่อมกับจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

และเมื่อมาถึงขั้นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้นก็มุ่งมาดูที่ตัวจิตนี้เป็นที่ตั้ง

แล้วก็สาวไปที่เวทนา ตั้งสติกำหนด จำแนกแจกแจงส่วนผสมปรุงแต่งจิตนี้ออกไปดังที่กล่าว

ก็จะทำให้จิตที่มีราคะเป็นจิตที่ปราศจากราคะ ทำให้จิตที่มีโทสะเป็นจิตที่ปราศจากโทสะ

ทำจิตที่มีโมหะปราศจากโมหะในอารมณ์นั้นๆ

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

พระธรรมคุณ ๑๔

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 *

วิญญู ๓ จำพวก ๓

ข้อว่าผู้รู้พึงรู้จำเพาะตน ๔

การเรียนรู้ก็เพื่อปฏิบัติ ๕

การปฏิบัติอันเรียกว่าภาวนา ๖

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๑๐/๒ ครึ่งแรก ต่อ ๑๑๑/๑ ( File Tape 85 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระธรรมคุณ ๑๔

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 *

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ธรรมะเป็น สวากขาโต ภควตาธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา

และ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน ดั่งนี้

ได้แสดงอธิบายพระธรรมคุณตั้งแต่บทต้นมาโดยลำดับ

จนถึงบทที่ ๕ โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา และจะได้เริ่มแสดงอธิบายต่อในบทที่ ๖

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน

พระธรรมคุณทั้ง ๖ บทนี้ย่อมเป็นพระธรรมคุณของธรรมะทั้งสิ้น

ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

ธรรมะที่พระองค์ตรัสแล้วดีทุกข้อทุกบท ย่อมเป็นพระธรรมคุณบทที่ ๑

และย่อมประกอบด้วยอีก ๕ บท ด้วยกันทั้งหมด ไม่ใช่จำเพาะบทใดบทหนึ่ง

และพระธรรมที่พระองค์ตรัสดีแล้วนั้น ก็ตรัสชี้ข้อปฏิบัติต่างๆอันเป็นปฏิบัติธรรม

เพื่อผลที่พึงได้พึงถึง ตั้งแต่ในขั้นโลกิยะเกี่ยวกับโลก จนถึงโลกุตรเหนือโลกพ้นโลก

คือมรรคผลนิพพานซึ่งเรียกว่าเป็นปฏิเวธ คือเป็นธรรมะที่พึงเจาะแทงด้วยความรู้แจ้ง

ที่มักจะใช้เป็นคำแปลของปฏิเวธว่ารู้แจ้งแทงตลอด ก็ล้วนประกอบด้วยพระธรรมคุณทั้งปวงนี้

ฉะนั้นความต่างกันแห่งบทพระธรรมคุณ จึงอยู่ที่พยัญชนะคือถ้อยคำอันเป็นบัญญัติโวหาร

ซึ่งอาจที่จะบัญญัติขึ้นกล่าวเป็นภาษาคำพูดได้จำเพาะเจาะจงในแง่หนึ่งมุมหนึ่ง

ฉะนั้นจึงต้องใช้กล่าวหลายๆบท แต่ก็ย่อมมุ่งสู่เนื้อความเป็นอันเดียวกัน

รวมเข้าในพระธรรมคุณเป็นอันเดียวกัน

และยังมีบทอื่นๆที่แม้พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้เอง

อันเป็นพระธรรมคุณอีกเป็นอันมาก เช่นที่ตรัสเอาไว้ว่า

นิยานิโก เป็นธรรมะที่นำออก อุปสมิโก เป็นธรรมะที่นำให้เกิดความสงบรำงับ

ปรินิพานิโก เป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความดับกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น ดั่งนี้เป็นต้น

ฉะนั้นพระธรรมคุณ ๖ บทนี้ จึงเป็นพระธรรมคุณที่ยกขึ้นมาแสดง มากล่าวสรรเสริญ

มาสวดสาธยายจำเพาะบทที่มีเนื้อความสำคัญๆเท่านั้น แม้บทอื่นที่ไม่ได้ยกมาแสดง

มาสวดสรรเสริญกันใน ๖ บทนี้ จะหาว่าไม่สำคัญก็ไม่ได้ ก็เป็นบทสำคัญด้วยกันทั้งนั้น

แต่ว่าก็จำที่จะต้องเลือกมาสำหรับกล่าวเป็นบทสรรเสริญ เป็นบทสวด

ตามจำนวนที่เหมาะสมเท่านั้น

 

วิญญู ๓ จำพวก

และแม้ในบทที่ ๖ นี้ก็ย่อมมีอยู่ร่วมกับพระธรรมคุณที่แสดงมาข้างต้นทั้งหมด

พระธรรมคุณที่แสดงมาข้างต้นทั้งหมดแต่ละบท ก็ย่อมมีร่วมอยู่ในบทอื่นๆ

ด้วยกันทั้งหมด เช่นเดียวกันดังที่กล่าว

และในบทที่ ๖ นี้ที่เจาะจงไว้ว่า

อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตนนั้น ก็มีอธิบายโดยย่อว่า

ที่ชื่อว่าวิญญูคือผู้รู้นั้นก็หมายถึง ผู้รู้จำพวกที่เรียกว่า อุคคติตัญญู

รู้ธรรมที่เพียงแต่ยกหัวข้อขึ้นแสดง เป็นบุคคลจำพวกที่มีความรู้ไว

และเป็นวิญญูคือผู้รู้จำพวกที่รองลงมาคือ วิปจิตัญญู รู้ธรรมต่อเมื่อแสดงอธิบายหัวข้อที่ยกขึ้น

กับจำพวกที่รู้ช้าเข้าอันเรียกว่า เนยยะ คือพึงแนะนำได้

คือต้องอธิบายแนะนำหลายครั้งหลายหน อันเป็นบุคคลที่รู้ธรรมทั่วๆไป

วิญญูคือผู้รู้หมายถึงรู้ธรรม ก็คือรู้ธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว ๓ จำพวกดังที่กล่าวมา

และก็พึงรู้เฉพาะตน คือจะต้องรู้ด้วยตนเอง มิใช่ว่าจะมีผู้อื่นรู้แทนได้ หรือจะไปรู้แทนผู้อื่นได้

 

ข้อว่าผู้รู้พึงรู้จำเพาะตน

อันผู้รู้พึงรู้จำเพาะตนนี้ก็เป็นหลักธรรมดาทั่วไปของความรู้ ของทุกๆคน

ยกตัวอย่างเช่น ความรู้ที่ได้จากการเรียน เช่นเรียนหนังสือเรียนวิทยาการต่างๆ

ทุกๆคนก็ต้องเรียนเอง ต้องศึกษาเองจึงจะรู้ ตั้งแต่เด็กๆเป็นต้นมา

ฉะนั้นผู้ปกครองเช่นมารดาบิดาจึงต้องส่งลูกหลานเข้าโรงเรียน

ลูกหลานนั้นก็ได้รับอุปการะด้วยเสื้อผ้า ตำราเรียนเครื่องเรียน อาหารเป็นต้น

จากมารดาบิดาผู้อุปการะทั้งหลาย แต่ก็ต้องเรียนเอง

มารดาบิดาผู้อุปการะทั้งหลายจะเรียนแทนให้ไม่ได้ เด็กทุกคนต้องเรียนเอง

ฉะนั้นแม้ความรู้ทั่วๆไป ศิลปวิทยาการทั่วๆไปก็ต้องรู้จำเพาะตนดังที่กล่าว

และเมื่อเรียนรู้แล้วจะไปยกเอาความรู้ที่ตนเรียนมานั้นให้แก่ผู้อื่นก็ไม่ได้

ผู้อื่นเมื่อต้องการจะรู้ก็ต้องเรียนเอง ต้องศึกษาเอง ด้วยการอ่านการฟัง การคิดพินิจพิจารณา

และการปฏิบัติต่างๆด้วยตนเองของทุกๆคน จึงจะรู้ได้ในสิ่งที่ต้องการรู้นั้นๆ

แม้ในขั้นปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน ต้องปฏิบัติด้วยตนเอง

จึงจะรู้ในธรรมะที่ปฏิบัตินั้น ในสิ่งที่ปฏิบัตินั้น

แม้ในการปฏิบัติทั่วๆไปที่เป็นสามัญก็เป็นเช่นนั้น

เช่น การที่จะใช้มือปฏิบัติ เช่นเขียนหนังสือก็ต้องหัดมือให้เขียนหนังสือ

และเมื่อหัดมือให้เขียนหนังสือมือข้างไหนที่หัดไว้ก็เขียนได้ แต่มือข้างที่ไม่หัดก็เขียนไม่ได้

เช่นหัดเขียนหนังสือด้วยมือขวา หัดมือขวาเขียนหนังสือ ก็ใช้มือขวาเขียนได้

แต่ครั้นมาใช้มือซ้ายเขียนหนังสือ มือซ้ายไม่ได้หัดไว้ก็เขียนไม่ได้เหมือนอย่างมือขวา

เพราะฉะนั้น แม้ในการปฏิบัติของอวัยวะร่างกายก็ต้องอาศัยการฝึกหัดปฏิบัติกระทำ

และก็กระทำได้จำเพาะเหมือนกัน แม้แต่มือก็ทำได้จำเพาะมือที่หัด มือที่ไม่หัดก็ทำไม่ได้

ยิ่งเป็นการปฏิบัติที่ละเอียดขึ้นก็จะต้องฝึกหัดให้ยิ่งขึ้น

และก็ทำได้จำเพาะตน จำเพาะตน หรือจำเพาะที่ปฏิบัตินั้นอีกเหมือนกัน

 

การเรียนรู้ก็เพื่อปฏิบัติ

การเรียนให้รู้ก็เพื่อปฏิบัติ ถ้าหากว่าไม่ปฏิบัติก็ไม่บังเกิดเป็นผลขึ้นมาในทุกๆอย่าง

ทั้งในทางคดีโลกและทั้งในทางคดีธรรม ในทางคดีโลกก็เช่นว่า เรียนรู้การไสไม้ เป็นช่างไม้

แต่ว่าไม่ฝึกปฏิบัติด้วยมือในกิจการช่าง เช่นการไส การตัด การเจาะ เป็นต้น

เพียงแต่เรียนรู้อย่างเดียว ก็ทำไม่ได้ สิ่งต่างๆที่บังเกิดขึ้นในโลก

ก็บังเกิดขึ้นจากการฝึกหัดกระทำขึ้น และก็ด้วยการลงมือกระทำทั้งนั้น

แม้แต่ในการหุงข้าวต้มแกง แม้ว่าเรียนรู้วิธีหุงข้าวต้มแกง

แต่ไม่ลงมือหุงข้าวต้มแกงด้วยตัวเองก็ทำไม่ได้

เรียนรู้ในวิธีที่จะขับขี่รถจักรยานแต่ไม่ฝึกหัดขับขี่ด้วยตัวเองก็ขับขี่ไม่ได้

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการปฏิบัติ และเมื่อปฏิบัติก็ย่อมรู้ในสิ่งที่ตนปฏิบัตินั้น

มาถึงธรรมะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วก็เช่นเดียวกัน

ทีแรกก็ต้องเรียนเพื่อรู้ว่าพระองค์ทรงสั่งสอนอย่างไร

แม้เรียนเพื่อรู้ดังกล่าวนี้ก็ต้องเรียนด้วยตัวเอง เช่นต้องตั้งใจฟังธรรม ตั้งใจอ่านหนังสือธรรม

ตั้งใจท่องบ่นจำทรง ตั้งใจเพ่งพินิจพิจารณา และขบเจาะด้วยทิฏฐิคือความเห็น

อันได้แก่ทำความเข้าใจในธรรมะที่ฟังนั้น

เหล่านี้ก็ต้องเรียนรู้ดังกล่าวด้วยตัวเอง เรียนแทนกันไม่ได้ หรือเรียนให้กันไม่ได้

และเมื่อเรียนรู้แล้ว ถ้าเพียงเรียนรู้อย่างเดียวธรรมะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้วนั้น

ก็คงตั้งอยู่ในความจำ ในความเข้าใจ ไม่บังเกิดเป็นธรรมะทางปฏิบัติขึ้นมา

ไม่เป็นศีล ไม่เป็นสมาธิ ไม่เป็นปัญญาขึ้นมา เหมือนอย่างว่าเรียนรู้วิธีสร้างบ้าน สร้างเรือน

แต่ว่าไม่ทำการสร้างบ้านสร้างเรือนขึ้นมา ก็ไม่เกิดเป็นบ้านเป็นเรือนขึ้นมา

ทุกๆอย่างก็เช่นเดียวกัน

 

การปฏิบัติอันเรียกว่าภาวนา

เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการปฏิบัติอันเรียกว่าภาวนา

คือการทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นมา นี้คือปฏิบัติ ทำศีลให้มีขึ้นมาเป็นขึ้นมา

ทำสมาธิให้มีขึ้นมาเป็นขึ้นมา ทำปัญญาให้มีขึ้นมาเป็นขึ้นมา

ที่กายวาจาใจหรือจิตของตนเอง เมื่อเป็นดั่งนี้จึงจะเป็นธรรมะปฏิบัติขึ้นมา

เพราะฉะนั้นการปฏิบัตินี้จึงมีคำเรียกว่าภาวนา ไม่ใช่หมายถึงว่าการระลึกถึงด้วยใจ

หรือเปล่งวาจาสวดบทพุทธมนต์ต่างๆเป็นต้น ดังที่เข้าใจกันโดยมาก เรียกกันโดยมาก

แต่ว่าภาวนานี้หมายถึงว่าทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น คือทำศีลสมาธิปัญญาให้มีขึ้น

ให้มีศีล มีสมาธิ มีปัญญาขึ้น ให้เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาขึ้นมาดังที่กล่าว

และเมื่อได้ปฏิบัติดั่งนี้ก็ย่อมรู้จำเพาะตนที่ตนเอง ว่าตนได้ปฏิบัติมีหรือเป็นขึ้นมาอย่างไร

และเมื่อได้รับผลของการปฏิบัติควบคู่ไปกับการปฏิบัติดังที่เคยแสดงมาแล้วตั้งแต่เบื้องต้น

จนถึงขั้นสูงสุดอันเรียกว่าปฏิเวธรู้แจ้งแทงตลอด ขั้นสูงสุดก็เป็นขั้นมรรคผลนิพพาน

ก็รู้จำเพาะตนอีกเช่นเดียวกัน

( เริ่ม ๑๑๑/๑ ) แต่ว่าข้อที่ว่าอันวิญญูชนพึงรู้จำเพาะตนนี้

ไม่ได้หมายถึงว่าบอกกล่าวผู้อื่นไม่ได้ ก็บอกกล่าวผู้อื่นได้

ดังเช่นพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรมด้วยพระองค์เองแล้ว

ก็ได้ทรงแสดงธรรมะที่ตรัสรู้สั่งสอน แต่ก็ทรงสั่งสอนได้ในธรรมะ

ที่ควรสั่งสอนให้รู้แจ้งเห็นจริง ทรงแสดงเหตุผลที่อาจตรองตามเห็นจริงได้

และก็ทรงแสดงมีปาฏิหาริย์ คือเป็นจริงทุกอย่าง และผู้ปฏิบัติพึงปฏิบัติได้จริง

พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงสั่งสอนได้ดั่งนี้ จึงเกิดเป็นพระพุทธศาสนา

ซึ่งเป็น สวากขาโต ภควตาธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

แต่ในการบอกนั้นก็คือบอกทางปฏิบัติ เพื่อว่าผู้ฟังจะพึงรู้ทางที่ทรงบอก

และปฏิบัติด้วยตนเองอีกเช่นเดียวกัน เพื่อให้รู้ธรรมะที่ตรัสสอนนั้นด้วยตัวเอง

จึงจะเป็นผลที่ตนได้รับ ถ้าหากว่าไม่เดินไปตามทางที่ทรงสั่งสอนนั้น

ก็ไม่ได้บรรลุถึงธรรมะที่ทรงสั่งสอน ไม่เห็นแจ้งธรรมะที่ทรงสั่งสอน

เพราะฉะนั้นพระองค์ถึงได้ตรัสถึงพระองค์ไว้ว่า ตถาคตเป็นผู้บอก

ท่านทั้งหลายต้องปฏิบัติด้วยตนเอง

ยกตัวอย่างง่ายๆ เหมือนอย่างว่า

บุคคลได้เดินทางไปเห็นรมณีย์สถาน คือสถานที่น่ารื่นรมย์ใจในป่า

เมื่อออกจากป่ากลับมาสู่บ้านก็มาเล่าให้เพื่อนฝูงญาติมิตรฟังได้ ว่าในป่าที่นั่นๆ

มีสิ่งนั้นๆ ที่น่ารื่นรมย์ใจ ญาติมิตรเพื่อนฝูงที่ได้ฟังก็เข้าใจตามที่บอก

แต่ว่าจะให้รู้เหมือนอย่างเห็นด้วยตาตัวเองไม่ได้

ฉะนั้นเมื่อต้องการที่จะรู้ว่าน่ารื่นรมย์เพียงไร ก็ต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง

ไปดูด้วยตัวเองที่สถานถึงสถานที่นั้น และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะได้ทราบได้เองว่า

ถ้อยคำที่ผู้มาก่อนบอกให้ฟังนั้นเป็นจริงเพียงไร เมื่อเป็นจริงตามที่ผู้มาก่อนเล่าให้ฟัง

ก็ย่อมจะคิดหรือกล่าวขึ้นมาได้ด้วยตัวเองว่าเขาบอกจริง

แม้พระสาวกของพระพุทธเจ้าตั้งแต่อดีตกาลมาจนถึงเราทั้งหลายในปัจจุบัน

ก็ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตรัสแสดงถึงธรรมที่ได้ตรัสรู้แล้ว

และแสดงถึงผลต่างๆที่พระองค์ได้ทรงรับมา

และผู้ที่ปฏิบัติตามทางที่พระองค์ทรงปฏิบัติจะพึงได้ต่างๆ

ดังเช่น ตรัสแสดงถึงมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางนำไปสู่ความตรัสรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔

นำไปสู่วิชชาวิมุติ พ้นกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น เป็นบรมสุข

ดังที่ตรัสแสดงไว้ว่านิพพานเป็นบรมสุข เป็นสุขอย่างยิ่ง

พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงบอกเอาไว้ดั่งนี้

บรรดาเราทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ฟังธรรมะที่ทรงสั่งสอน

ก็ได้ความรู้อันเกิดจากการฟัง การเรียน และก็เมื่อกำหนดก็จดจำได้

และเมื่อพิจารณาก็มีความเข้าใจในธรรมะที่ทรงแสดง

แต่ถ้าหากว่าไม่ปฏิบัติ คือไม่ดำเนินไปตามธรรมะที่ทรงแสดงคือมรรคมีองค์ ๘

ก็ไม่รู้จักมรรคมีองค์ ๘ นี้ทางปฏิบัติ และไม่รู้จักอริสัจจ์ ๔ ตามที่ทรงสั่งสอน

ซึ่งจะเกิดปัญญาญาณรู้เห็นขึ้นได้จริง ก็ต้องดำเนินไปในมรรคมีองค์ ๘

ไม่ได้พบความสิ้นกิเลสกองทุกข์ ไม่ได้พบบรมสุข

ฉะนั้น เมื่อต้องการที่จะให้ได้มีความรู้ในธรรมะที่เป็นสวากขาตธรรมตามที่ตรัสแสดง

จึงต้องปฏิบัติไปตามมรรคมีองค์ ๘ และก็ย่อมจะได้รับผลของการปฏิบัติ

อันเป็นผลในฝ่ายดับความคับแค้นดับทุกข์ขึ้นโดยลำดับ

และก็จะรู้เห็นในผลที่ตัวได้รับนั้นด้วยตัวเอง และก็ได้มีแสดงถึงท่านผู้ที่ได้บรรลุถึงผลที่สุด

เป็นบรมสุขตามที่ตรัสสั่งสอน จึงได้เปล่งอุทานขึ้นว่า อโหพุทโธ อโหธัมโม อโหสังโฆ

โอหนอพระพุทธเจ้า โอหนอพระธรรม โอหนอพระสงฆ์ พระพุทธเจ้าตรัสรู้ดีถูกต้องจริง

ธรรมะเป็นสวากขาตธรรมจริง พระสงฆ์ปฏิบัติดีจริง ดั่งนี้ ซึ่งเป็นการรู้ตามพระพุทธเจ้

แต่ว่าการรู้ตามพระพุทธเจ้านั้น ก็ต้องหมายความว่าปฏิบัติไปตามทางที่ทรงสั่งสอน

ตามทางที่ได้ทรงปฏิบัติแล้ว จึงได้รู้ได้เห็น และก็ได้รู้ได้เห็นด้วยตัวเอง

จำเพาะตัวเองอีกเหมือนกัน แต่ก็อาจจะมาบอกกล่าวเล่าความแก่ผู้อื่นต่อไปได้

ดังที่พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าได้ทรงนำพระพุทธศาสนาสืบต่อมาโดยลำดับ

จนถึงปัจจุบัน ท่านก็มาเล่าต่อๆกันมา สอนต่อๆกันมาถึงเราทั้งหลาย

เราทั้งหลายจึงได้รู้ธรรมตามที่ท่านสั่งสอน และก็ปฏิบัติธรรมกันไปตามสติปัญญาสามารถ

แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องรู้เห็นด้วยตัวเอง ต้องปฏิบัติเอง แม้ในการเรียนก็ต้องเรียนเองรู้เอง

ปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติเอง ผลที่ได้รับก็ได้รับเอง แต่ก็บอกกล่าวกันให้ผู้อื่นเรียนปฏิบัติต่อไปได้

เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจึงสมควรที่จะได้ตั้งใจฟัง ตั้งใจเรียน

ตั้งใจปฏิบัติตามทางที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้

และเมื่อปฏิบัติก็ย่อมได้รับผลทันที อันเป็นผลของการปฏิบัติ

แต่ว่าก็ต้องใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้จัก ว่าอะไรเป็นผลของธรรมปฏิบัติ อะไรเป็นผลของกิเลส

ดังที่ได้กล่าวมาในเบื้องต้นๆ และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะทำให้เพิ่มความรู้จริง

ในเหตุและผลยิ่งขึ้นด้วยตัวเอง ทำให้เจริญในธรรมปฏิบัติยิ่งขึ้นด้วยตัวเอง

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 *