ถอดเทปพระธรรมเทศนา

  • พิมพ์

เทป158

กรรมฐานป้องกันถีนมิทธะ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

นวหรคุณ ๒

การระลึกในพระพุทธคุณ ๔

ข้อว่ากรุณามหัณณโว ๕

ทางปฏิบัติเพื่อชั้นภูมิต่างๆ ๖

ประโยชน์สุข ๓ ประการ ๗

 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๒๐๑/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๒๐๑/๒ ( File Tape 158 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

กรรมฐานป้องกันถีนมิทธะ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็พึงตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ได้แสดงข้อถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม ซึ่งเป็นนิวรณ์ข้อที่ ๓

ได้แสดงอาหารของถีนมิทธะ และอนาหารสิ่งที่ไม่ใช่อาหารของถีนมิทธะ

ก็คือข้อปฏิบัติเพื่อกำจัดถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม และได้แสดงข้อปฏิบัติมาแล้ว

แต่ยังมีอีกข้อหนึ่ง ที่พระอาจารย์ได้แสดงไว้ว่าเป็นข้อปฏิบัติ

หรือจะว่าเป็นกรรมฐานก็ได้ เป็นเครื่องละถีนมิทธะที่บังเกิดขึ้น

ทั้งป้องกันถีนมิทธะที่ยังไม่เกิดมิให้เกิด ก็คือ พุทธานุสสติ ความระลึกถึงพระพุทธเจ้า

ข้อนี้ก็หมายถึงความระลึกถึงพระพุทธเจ้าโดยพระคุณ

หรือจะกล่าวว่าระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าก็ได้

 

นวหรคุณ

 

อันพระคุณของพระพุทธเจ้านั้นไม่มีประมาณ

ดังบทที่แสดงว่า อัปปมาโท พุทโธ พระพุทธเจ้าไม่มีประมาณ คือมีคุณไม่มีประมาณ

และการที่ได้มีบทพระพุทธคุณ ดังที่เราทั้งหลายได้สวดกัน

ก็เป็นบทพระพุทธคุณที่เป็นกิติศัพท์ คือเสียงที่กล่าวสรรเสริญพระเกียรติ์ของพระพุทธเจ้า

ดังพระคุณ ๙ ประการที่เราสวดกัน อันเรียกว่า นวรหะคุณ หรือ นวหระคุณ

ว่า อิติปิโส ภควา อรหังสัมมา สัมพุทโธ เป็นต้น

จะน้อมระลึกถึงพระคุณทั้ง ๙ นี้ในข้อใดข้อหนึ่ง หรือโดยลำดับทีละข้อก็ได้

 

หรือว่าจะระลึกถึงโดยสรุป ดั่งที่พระอาจารย์ได้แสดงว่า

พระคุณโดยสรุปนั้น ( เริ่ม ๒๐๑/๒ ) พระวิสุทธิคุณ คุณคือความบริสุทธิ์จริง

พระกรุณาคุณ คุณคือพระกรุณาจริง ดังบทสวดต่อทำวัตรเช้าว่า

พุทโธ สุสุทโธ กรุณา มหัณณโว

พุทโธ พระผู้ตรัสรู้แล้ว ก็แสดงถึงพระปัญญาคุณ

พระองค์ตรัสรู้อะไร เราทั้งหลายก็ทราบได้ จากปฐมเทศนาของพระองค์เป็นต้น

ที่ตรัสถึงความตรัสรู้ของพระองค์ ว่าพระองค์ได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔

อันได้แก่ ทุกข์ ทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ทุกขนิโรธความดับทุกข์

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

หรือว่ามรรคมีองค์ ๘

 

พระองค์ได้ตรัสรู้ ด้วยพระญาณที่ตรัสรู้ โดยเป็น สัจจญาณ คือตรัสรู้ว่า นี้ทุกข์จริง

นี้สมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์จริง นี้นิโรธดับทุกข์จริง นี้มรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์จริง

พระองค์ตรัสรู้โดยเป็น กิจจญาณ ญาณคือความหยั่งรู้ในกิจที่พึงทำในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้

ว่ากิจที่พึงทำ คือพึงปฏิบัติในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้ ก็คือ

ทุกข์ควรกำหนดรู้ คือควรกำหนดรู้หรือให้รู้รอบคอบว่าเป็นทุกข์

สมุทัยควรละ นิโรธควรกระทำให้แจ่มแจ้งขึ้นในใจ

และมรรคมีองค์ ๘ ก็ควรปฏิบัติทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น

 

พระองค์ได้ตรัสรู้โดยเป็น กตญาณ คือความหยั่งรู้ว่าได้กระทำเสร็จแล้วในกิจที่พึงทำเหล่านั้น

คือทุกข์ได้ทรงกำหนดรู้แล้ว สมุทัยทรงละได้แล้ว นิโรธทรงกระทำให้แจ้งได้แล้ว

มรรคทรงปฏิบัติได้บริบูรณ์แล้ว ดั่งนี้

 

ญาณทัสสนะความรู้ความเห็นดังกล่าวนี้ หากยังไม่บริสุทธิ์บริบูรณ์แก่พระองค์

พระองค์ก็ยังไม่ปฏิญญาว่าได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว

แต่เมื่อญาณทัสสนะความรู้ความเห็นดังกล่าวในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ สมบูรณ์แล้ว

จึงได้ทรงปฏิญญาว่าพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ดั่งนี้

 

การระลึกในพระพุทธคุณ

 

ในการระลึกไปในพระพุทธคุณดังที่กล่าวมานี้ ก็ต้องอาศัยความจำ

คือต้องจำให้ได้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแล้ว

ว่าทรงอธิบายทุกข์ไว้ว่าอย่างไร ทรงอธิบาย สมุทัย นิโรธ และมรรคไว้ว่าอย่างไร

ก็ระลึกไปตามนั้น และระลึกไปให้เข้าใจ โดยที่ตรัสถึงความตรัสรู้ของพระองค์

ว่าประกอบด้วยสัจจญาณรู้ว่าจริง กิจจญาณรู้กิจที่พึงปฏิบัติกระทำ

และกตญาณรู้ว่าได้กระทำกิจนั้นแล้วเสร็จ ดั่งนี้

จึงทรงปฏิญญาพระองค์ว่าได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ดั่งนี้

นี้เป็นการระลึกไปในพระปัญญาคุณ คุณของพระพุทธเจ้า

 

ระลึกไปในพระวิสุทธิคุณ พระคุณคือความบริสุทธิ์นั้น ก็คือระลึกว่า

เพราะพระองค์ได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ

ประกอบด้วยสมาธิอันชอบ และศีลอันชอบ หรือว่าประกอบด้วยมรรคมีองค์ ๘

จึงทรงสิ้นอาสวะกิเลส กิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหมด

และเมื่อสิ้นอาสวะกิเลส ก็สิ้นกิเลสอื่นๆ ทุกข้อ ทุกบท ทุกอย่าง

ที่บังเกิดสืบเนื่องมาจากอาสวะกิเลสนั้นเอง

เพราะฉะนั้น จิตของพระองค์จึงทรงพ้นแล้วจากอาสวะทั้ง ๓

คือ กามาสวะ อาสวะคือกาม ภวาสวะ อาสวะคือภพ อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา

ทรงทราบว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่พึงกระทำได้กระทำเสร็จแล้ว

ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงกระทำ ยิ่งหรือนอกไปกว่านี้

 

เพราะฉะนั้น เมื่อทรงสิ้นกิเลสและกองทุกข์ทั้งสิ้น

พระองค์จึงบรรลุถึงความบริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจสิ้นเชิง

เพราะเหตุว่า กายวาจาใจของพระองค์ปราศจากบาปอกุศลทุจริตทุกอย่าง

เพราะเหตุว่าสิ้นอาสวะกิเลสทั้งปวงแล้ว จึงเป็นกายวาจาใจที่บริสุทธิ์สิ้นเชิง

การระลึกถึงพระวิสุทธิคุณดั่งนี้ ก็ต้องอาศัยความกำหนดจดจำ

คำอธิบายของพระพุทธเจ้าเอง และของพระอาจารย์ และมีความเข้าใจ

เพ่งพินิจพิจารณาให้เข้าใจชัดในพระวิสุทธิคุณ

 

ข้อว่ากรุณามหัณณโว

 

อีกข้อหนึ่งก็คือพระกรุณาคุณ คุณคือพระกรุณาจริง

ดังบทสวดที่ว่า กรุณา มหัณณโว มีกรุณาดังห้วงมหรรณพ คือห้วงทะเลหลวง

อันหมายถึงว่ามีพระกรุณาที่แผ่ไปไพศาล ยิ่งใหญ่ กว้างขวาง มาก

เพราะด้วยทรงมีพระมหากรุณาในสัตว์โลกทั้งหลาย ที่ยังต้องตกอยู่ในกองทุกข์

หรือหากจะเปรียบอาสวะกิเลสว่าเป็นห้วงน้ำใหญ่ อันเรียกว่าอรรณพ หรือเรียกว่า โอฆะ

สัตว์โลกทั้งสิ้นก็ยังเหมือนอย่างตกอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ คือห้วงน้ำคือกิเลส

แหวกว่ายอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ ที่จมลงไปก็มี ที่กำลังแหวกว่ายอยู่ก็มี

เพราะฉะนั้น จึงมีพระกรุณามุ่งที่จะช่วยให้สัตว์ทั้งหลายพ้นจากทุกข์ดังกล่าว

 

และความบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้านั้นหาได้ยาก

นานๆพระพุทธเจ้าจึงทรงอุบัติขึ้นในโลกครั้งหนึ่ง

และเมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงอุบัติขึ้น ก็ไม่มีศาสดาองค์ไหนจะปฏิบัติสิ้นอาสวะกิเลส

พ้นจากทุกข์ทั้งปวง เป็นต้นว่า พ้นจากชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณะทุกข์

สำหรับสัตว์โลกที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่นั้น ก็มีอยู่ทั่วไป ในอบายภูมิเป็นต้นว่า สัตว์เดรัจฉาน

นรก เปรต อสุรกาย ก็มีทั่วไป หนีขึ้นมาเป็นมนุษย์ก็มีทั่วไปเป็นอันมาก

และสูงขึ้นเป็นสวรรค์ ตลอดจนถึงเป็นพรหม ก็มีอยู่เป็นอันมาก ทุกกาลสมัย

 

ทางปฏิบัติเพื่อชั้นภูมิต่างๆ

 

พิจารณาดูแล้วก็กล่าวได้ว่า ศาสดาทั้งปวง เว้นจากพระพุทธเจ้าแล้ว

ก็สอนทางปฏิบัติเพื่อให้ไปได้แค่สวรรค์ หรือว่าแค่เป็นพรหมเป็นเทพ

ไม่มีที่จะสอนให้ดับทุกข์ดับกิเลส เป็นผู้สิ้นอาสวะได้

พระพุทธะที่ปฏิบัติดับกิเลสและกองทุกข์ได้ ก็มีแต่พระพุทธเจ้า

ซึ่งเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น

 

เพราะฉะนั้น พระองค์เมื่อทรงพิจารณาดูสัตว์โลกที่เกิดอยู่ในภูมิภพต่างๆ

ก็ทรงแจ้งประจักษ์ว่าทุกภูมิภพนั้น ก็ล้วนต้องมีแก่เจ็บตาย

แม้จะเป็นพรหมเป็นเทพ ก็มีอุปบัติคือบังเกิดขึ้น และจุติคือเคลื่อนไป

ล้วนชื่อว่ายังไม่พ้นจากเกิดดับ ยังไม่พ้นจากเกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น จึงทรงมีพระกรุณาแผ่ไปในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า

จึงได้เสด็จทรงเทศนาสั่งสอนโปรดเวไนยนิกร คือหมู่ชนที่จะพึงแนะนำได้

ให้รู้เห็นธรรมตามภูมิตามชั้น ให้ได้ศรัทธาความเชื่อ ให้ได้วิริยะความเพียร

ให้ได้สติความระลึกได้ ให้ได้สมาธิความตั้งใจมั่น ให้ได้ปัญญาความรู้เข้าถึงธรรม

อันเป็นพละหรือเป็นอินทรีย์ตามภูมิตามชั้น

นำให้เวไนยนิกรได้ประสบประโยชน์สุขปัจจุบันบ้าง ประโยชน์สุขภายหน้าบ้าง

ประโยชน์สุขอย่างยอดบ้าง ตามภูมิชั้นของการปฏิบัติ

นี้ก็คือพระกรุณาคุณของพระองค์

ประโยชน์สุข ๓ ประการ

 

พระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้นตั้งอยู่มาจนบัดนี้ ก็ด้วยพระกรุณาคุณของพระพุทธเจ้า

และก็ประกอบด้วยพระปัญญาคุณ และพระวิสุทธิคุณรวมกัน

เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจึงชื่อว่าได้รับประโยชน์สุข ปัจจุบันบ้าง ภายหน้าบ้าง

หรืออย่างสูงก็เป็นประโยชน์อย่างยอด เนื่องมาจากพระคุณทั้ง ๓ ของพระพุทธเจ้านี้เอง

 

เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าดั่งนี้แล้ว เมื่อพระคุณมาปรากฏชัดแก่ใจตนเอง

และได้ประจักษ์ว่าพระคุณของพระองค์ได้เนื่องมาถึงตน คือเนื่องมาถึงเราเองทุกๆคน

เราเองได้รับสุขประโยชน์ ก็ชื่อว่าได้รับพระคุณของพระพุทธเจ้ามาโปรดนั้นเอง

ก็จะทำให้เกิดศรัทธาความเชื่อ ปสาทะความเลื่อมใส ทำจิตใจให้สว่างให้แจ่มใส

และน้อมนำให้เกิดอุตสาหะพยายาม ในอันที่จะตั้งใจฟัง ตั้งใจเรียน

ธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้แล้ว ตั้งใจปฏิบัติตามที่ฟัง ตามที่เรียนรู้

เพื่อให้ได้ผลเป็นความเข้าใจ เป็นความรู้แจ้งแทงตลอด

เป็นเครื่องดับรำงับกิเลสในตนเองไปโดยลำดับ ตั้งแต่ดับกิเลสอย่างหยาบด้วยศีล

ดับกิเลสอย่างกลางด้วยสมาธิ และดับกิเลสอย่างละเอียดด้วยปัญญา

ก็ชื่อว่าได้ทำตนให้เป็น เนยยะ คือเป็นบุคคลที่พระพุทธเจ้าโปรดได้ พระพุทธเจ้าแนะนำได้

 

แม้ว่าพระองค์จะได้เสด็จดับขันธปรินิพพานนานมาแล้ว

แต่ก็ได้ทรงตั้งพระธรรมที่ได้ทรงแสดงแล้ว พระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้แล้ว

เป็นศาสดาแทนพระองค์ ก็คือพระพุทธศาสนานั้นเอง

เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายจึงชื่อว่ายังมีพระศาสดาของตนตั้งอยู่ดำรงอยู่

ยังไม่สิ้นพระศาสดาของตน ทั้งพระองค์ก็ยังได้ตรัสไว้อีกว่า

ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ดั่งนี้

เป็นการประกาศว่าเมื่อเห็นธรรมเมื่อใด คือเมื่อปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญาเมื่อใด

ก็อาจจะทำให้ได้ธรรมจักขุดวงตาเห็นธรรมเมื่อนั้น

และเมื่อเห็นธรรม อันเป็นสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นสัจจะความจริงขึ้นแล้ว

ก็เป็นอันว่าได้เห็นพระองค์ คือพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา

และเห็นว่าท่านผู้ที่ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมนี้ไว้นั้น เป็นพุทโธจริง ตรัสรู้จริง ดั่งนี้

 

( เริ่ม ๒๐๒/๑ ) เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงยังคงประทับอยู่ทุกกาลสมัย

ตลอดเวลาที่พระพุทธศาสนายังดำรงอยู่ และยังมีผู้ปฏิบัติให้เห็นธรรมได้

ก็จะเห็นพระพุทธเจ้าได้ แม้ว่าจะไม่มีพระพุทธศาสนาที่สอนกัน

แต่สัจจะคือความจริง ก็ย่อมดำรงอยู่ย่อมตั้งอยู่ ไม่ดับหายไปไหน

เมื่อมีผู้ปฏิบัติค้นคว้าจับทางที่ถูกต้องบังเกิดขึ้นเมื่อใด ก็ย่อมจะได้ตรัสรู้เมื่อนั้น

และท่านนั้น ซึ่งเป็นผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองก็เป็นพระพุทธเจ้า

 

เพราะฉะนั้น เมื่อเราทั้งหลายระลึกถึงพระพุทธคุณ

ก็ย่อมจะทำให้เกิดศรัทธาปสาทะความเชื่อความเลื่อมใส จิตใจสว่างแจ่มใส

บังเกิดอุตสาหะพยายามในอันที่จะปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญายิ่งขึ้น

ก็จะทำให้ทั้งถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม และนิวรณ์ข้ออื่นสงบระงับไปตาม

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

นิวรณ์ข้ออุทธัจจะกุกกุจจะ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๒๐๒/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๒๐๒/๒ ( File Tape 158 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

นิวรณ์ข้ออุทธัจจะกุกกุจจะ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ได้แสดงนิวรณ์ ๕ พร้อมทั้งธรรมะที่เป็นอาหารของนิวรณ์

และธรรมะที่มิใช่อาหารของนิวรณ์มาโดยลำดับ

วันนี้ถึงข้ออุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

นิวรณ์ข้อนี้ตรงกันข้ามกับถีนมิทธะความง่วงงุนเคลิบเคลิ้ม

คือไม่ง่วงแต่ว่าไม่สงบ ใจฟุ้งซ่าน และใจรำคาญ

 

อันความฟุ้งซ่านนั้น คืออาการที่ใจคิดพล่านไปในอารมณ์คือเรื่องต่างๆ

ไม่สามารถจะทำให้สงบได้โดยง่าย

โดยปรกติทุกๆคนก็จะไม่ค่อยรู้สึกว่าใจนี้คิดพล่านไปเพียงไร

ต่อเมื่ออ่านหนังสือ หรือว่าฟังสอน ฟังคำบรรยายธรรมเป็นต้น

หรือในขณะที่กำลังสวดมนต์ จึงจะรู้ว่าใจนี้คิดพล่านไปมาก

เช่นในขณะที่กำลังอ่านหนังสือ ตาก็อยู่ที่หนังสือ แต่ว่าใจไม่อยู่

คิดพล่านไปเรื่องนั้นบ้างเรื่องนี้บ้าง

ตาที่อยู่กับหนังสือนั้นก็เป็นตาที่ดับ เหมือนอย่างมองไม่เห็นหนังสือ

ไม่รู้เรื่องในหนังสือที่กำลังอ่านนั้น

 

ในขณะที่กำลังฟังธรรมบรรยาย หรือฟังธรรมเทศนา

หูก็ตั้งใจฟัง เสียงก็เข้ามากระทบกับโสตะประสาท คือประสาทหู

แต่ว่าใจนั้นไม่ฟัง คิดพล่านไปในเรื่องต่างๆ

โสตะประสาทคือประสาทหูก็เหมือนดับ ฟังไม่ได้ยิน

ไม่รู้เรื่องในธรรมะที่ฟัง หรือในเรื่องที่กำลังฟังนั้น

 

แม้ในขณะที่กำลังสวดมนต์ ปากก็สวดมนต์ หรือว่าสวดมนต์อยู่ในใจ

แต่ว่าใจก็ยังคิดพล่านไปในเรื่องต่างๆ ใจไม่ได้สวดมนต์ด้วย

เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นก็เหมือนอย่างใจดับในเรื่องสวดมนต์

ไม่รู้ว่ากำลังสวดไปถึงไหน อย่างไร แต่ว่าสวดไปได้ก็เพราะความคล่องปาก

หรือสวดในใจ ก็คล่องใจไปตามบทสวดเท่านั้น ดั่งนี้ จะเห็นว่าใจนี้คิดพล่านมาก สงบยาก

อาการที่ใจคิดพล่านดั่งนี้เป็นอุทธัจจะความฟุ้งซ่าน มีอาการคิดพล่านไปในเรื่องต่างๆ

และเมื่อจับพิจารณาดูแล้ว ก็จะจับได้ว่าในชั่วแว๊บเดียวก็คิดพล่านไปหลายเรื่องหลายราว

ใจจึงวิ่งไปเร็วมาก ในอารมณ์คือเรื่องนั้นๆ

 

กุกกุจจะความรำคาญใจ มีลักษณะที่จิตใจเบื่อหน่ายระอา ไม่เพลิดเพลินในกิจที่พึงทำ

เช่น กำหนดนั่งทำสมาธิภาวนา คืออบรมสมาธิ ใจก็รำคาญ ไม่อยากจะนั่ง อยากจะเลิก

นั่งชั่ว ๕ นาที ๑๐ นาที ก็ดูนานมาก ขาดความเพลิดเพลิน ขาดความพอใจ

หรือจะเรียกว่าขาดปีติสุขในสมาธิภาวนา อันเป็นกิจที่พึงทำนั้นก็ได้

เพราะฉะนั้น ความรำคาญใจนี้ คือกุกกุจจะ จึงมีปรกติที่ทำให้จับจด

ทิ้งการปฏิบัติได้ง่าย ไม่ติดต่อ เพราะมีความรำคาญ ไม่พอใจ ไม่มีปีติสุขในสมาธิภาวนา

แต่ว่าไปชอบใจในอารมณ์ต่างๆที่ใจคิดพล่านไปนั้น

เพราะฉะนั้น อุทธัจจะกุกกุจจะ ท่านจึงแสดงไว้เป็นคู่กัน

และบางอาจารย์ท่านมีแสดงต่างกันอยู่

คืออุทธัจจะความคิดพล่านหรือความฟุ้งซ่านจัดเข้าในโมหะ คือกิเลสกองหลง

แต่ว่ากุกกุจจะความรำคาญใจจัดเข้าในกิเลสกองโทสะ

แต่ว่าบางอาจารย์ท่านก็จัดทั้งอุทธัจจะความฟุ้งซ่าน กุกกุจจะความรำคาญใจ

เข้าในกองโมหะด้วยกัน

 

เพราะฉะนั้น นิวรณ์ข้อนี้จึงครอบงำจิตอยู่เป็นอันมาก

ทำให้ไม่สามารถทำจิตให้เป็นสมาธิได้ง่าย

เพียงแต่คุมใจในขณะที่สวดมนต์ ในขณะที่ฟังเทศน์หรือฟังธรรมบรรยาย

หรือในขณะที่อ่านหนังสือ ไม่ให้คิดพล่านไป ก็เป็นการทำยากแล้ว

เมื่อมานั่งทำสมาธิ ก็ยิ่งเป็นการรวมใจได้ยาก ใจไม่ยอมรวม คอยคิดพล่านไป

ทั้งมีความรำคาญไม่เพลิดเพลินไม่พอใจ ไม่เป็นสุขใจในการนั่งสมาธิ

อันเป็นกิจที่พึงทำดังกล่าว

 

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงเอาไว้ว่า

ความไม่สงบแห่งใจ และการกระทำไว้ให้มากด้วยอโยนิโสมนสิการ

คือการไม่กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย จับเหตุจับผล

เป็นอาหารของความฟุ้งซ่านรำคาญใจข้อนี้

อันความไม่สงบแห่งใจนั้นก็คือ อาการที่ใจคิดพล่านไปนั้นเอง ไม่สงบ

และเมื่อปล่อยใจให้ไม่สงบดั่งนั้น ไม่คิดสำรวมใจเข้ามา และปฏิบัติสำรวมใจเข้ามา

ทั้งนี้ก็ประกอบด้วยการที่ไม่ทำไว้ในใจโดยแยบคาย คือไม่คอยพิจารณาจับเหตุจับผล

ปล่อยใจไปตามเรื่องโดยมาก ก็เป็นการไม่มีเครื่องหยุดยั้งความไม่สงบของใจ

 

อันการไม่พิจารณาจับเหตุจับผล อันเรียกว่าอโยนิโสมนสิการนั้น

ก็คือไม่มาปฏิบัติจับพิจารณาจิตใจอันนี้ที่คิดพล่าน

เช่นไม่พิจารณาว่า ความคิดพล่านบังเกิดจากอะไร

เช่นในขณะที่กำลังสวดมนต์ ต้องการให้ใจสวดไปด้วยพร้อมกับปาก หรือพร้อมกับใจที่สวด

เมื่อตั้งใจให้ใจสวดไปด้วยดั่งนี้ ก็สามารถทำได้บ้าง แต่ว่าใจก็คิดพล่านออกไปได้ง่าย

เช่นบางทีใจกำลังรวมอยู่ ได้ยินเสียงคนพูดกัน ใจก็ละการสวดมนต์ วิ่งไปที่เสียงคนพูดกันนั้น

แล้วก็ไปเรื่องโน้นเรื่องนี้อะไรต่อๆไปอีก เริ่มมีสติก็นำใจมากลับตั้งไว้ใหม่ในบทสวด

 

ในตอนนี้ก็ให้หัดจับพิจารณาสอบสวนใจเอง

ว่าใจนี้วิ่งออกไปแล่นออกไป คิดพล่านไป เพราะอะไรเป็นเหตุ

เมื่อจับพิจารณาดั่งนี้ก็อาจจับเหตุได้ว่า

เนื่องมาจากเสียงคนพูดกันดังที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้นก่อน

และเมื่อออกไปที่เสียงนั้นแล้ว ใจก็พล่านไปที่ไหนอีก

ก็อาจจับได้ว่าใจพล่านไปจากเสียง ก็ถึงเรื่องนั้น ถึงเรื่องโน้น ดั่งนี้เป็นต้น

กว่าจะได้สตินำกลับเข้ามาใหม่ ก็หลายเรื่อง

อาจจะสอบสวนได้ ก็จับใจนี้มาตั้งไว้ใหม่ ให้ใจสวดมนต์ไปใหม่

หรือตั้งไว้ในสมาธิที่กำลังปฏิบัติ ให้ใจปฏิบัติในสมาธิต่อไป

หรือมาตั้งฟังเทศน์ หรือฟังธรรมบรรยายต่อไป

 

แต่ว่าใจนี้ก็แล่นพล่านออกไปอีก ได้สติก็กลับมาตั้งไว้ใหม่

ก็จับสอบสวนใหม่อีกว่า มีอะไรเป็นเหตุให้ใจพล่านออกไป ก็อาจจับได้

แล้วก็จับสอบสวนว่า จากเรื่องนั้นแล้วไปไหนอีก ไปไหนอีก ไปไหนอีก ก็อาจจับได้

จนถึงได้สติก็กลับมาตั้งไว้ใหม่

 

หัดคิดสอบสวนใจดั่งนี้

บางทีอาจจะต้องใช้เวลากว่า ๕ นาที ๑๐ นาที

ใจจึงจะยอมสยบอยู่กับสวดมนต์ อยู่กับฟังเทศน์ อ่านหนังสือ หรืออยู่กับการทำสมาธิ

แต่ว่าให้สังเกตุว่า การจับสอบสวนดั่งนี้ แม้ว่าจะต้องสอบสวนกันหลายหน

แต่น่าสังเกตุว่า เมื่อใจถูกสอบสวนคราวหนึ่ง หากว่าใจแล่นออกไปอีก

ใจจะไม่คิดพล่านไปในเรื่องที่เคยถูกสอบสวนแล้ว

จะคิดพล่านไปในเรื่องอื่นๆ นอกจากที่ถูกสอบสวน

เพราะฉะนั้น เมื่อถูกสอบสวนหลายๆครั้งเข้า เรื่องที่ใจจะแล่นพล่านไปก็น้อยเข้าๆ

จนถึงใจกลับมาตั้งสงบอยู่

 

ดั่งนี้ เป็นวิธีที่เรียกว่าทำไว้ในใจโดยแยบคายประการหนึ่ง ให้ปฏิบัติทำให้มาก

ถ้าหากว่าไม่ทำให้มากซึ่งการพิจารณาโดยแยบคายดั่งนี้

ใจนี้ก็จะต้องคิดพล่านไปบ่อยๆ เป็นความไม่สงบของใจ

เพราะฉะนั้น ความไม่สงบของใจดังกล่าว

และความที่ไม่กระทำให้มากซึ่งการพิจารณาโดยแยบคาย

หรือการกระทำให้มากด้วยการพิจารณาโดยไม่แยบคายดังที่กล่าวมา

จึงเป็นอาหารของความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

 

และแม้ตัวความรำคาญใจเองก็เหมือนกัน

เมื่อเกิดขึ้นก็ต้องจับพิจารณาว่า เมื่อสมควรจะปฏิบัติอย่างนี้

คือในขณะที่อ่านหนังสือก็ดี ฟังเทศน์ฟังธรรมก็ดี สวดมนต์ก็ดี

ควรจะมีความพอใจ ควรจะมีความสุข ควรจะมีความตั้งใจ

ไม่ควรที่จะรำคาญเบื่อหน่าย ซึ่งเป็นตัวความรำคาญใจหรือกุกกุจจะดังที่กล่าว

พิจารณาส่งเสริมใจที่จะให้หมดความรำคาญ

ด้วยมีความพอใจและมีความสุขอยู่ในการปฏิบัติกิจที่ควรปฏิบัติดังกล่าว

 

แต่หากว่าถ้าไม่พิจารณาดั่งนั้น

ก็ชื่อว่าเป็นการกระทำไว้ให้มาก ด้วยการพิจารณาโดยไม่แยบคาย

เพราะฉะนั้น จึงเป็นอาหารที่ส่งเสริมความรำคาญใจ ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น

ที่เกิดแล้วให้มากขึ้นไปอีก

เพราะฉะนั้น เป็นอันว่าความไม่สงบของใจ และการกระทำให้มากโดยไม่แยบคาย

( เริ่ม ๒๐๒/๒ ) เป็นอาหารที่บำรุงเลี้ยง อุทธัจจะความฟุ้งซ่าน กุกกุจจะความรำคาญใจ

ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วให้มากขึ้น

 

ส่วนธรรมะที่เป็น อนาหาร คือธรรมะที่ไม่เป็นอาหารของนิวรณ์คู่นี้

ก็ได้แก่ความสงบของใจ และการกระทำไว้ให้มากด้วยการพิจารณาโดยแยบคาย

ความสงบของใจนั้น ก็ต้องอยู่ที่การมาปฏิบัติในกรรมฐานที่ทำให้ใจสงบ

และอยู่ที่สร้างฉันทะคือความพอใจ ความสุขความเพียรในการปฏิบัติทำใจให้สงบ

อาศัยการพิจารณาโดยแยบคาย จับเหตุจับผล ดังที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น

 

เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ชื่อว่าได้ปฏิบัติในธรรมที่ไม่เป็นอาหาร

ของอุทธัจจะกุกกุจจะความฟุ้งซ่านรำคาญใจ

อันทำให้ความฟุ้งซ่านรำคาญใจที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว ให้สงบลงไปได้

ต่อจากนี้ก็ให้ตั้งใจฟังสวด และทำความสงบสืบต่อไป

 

*