ถอดเทปพระธรรมเทศนา

  • พิมพ์

เทป003

พระสูตรที่ว่าด้วยสุญญตา (๕)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

สมาธินิมิต กิเลสนิมิต ๓

กำหนดอารมณ์ภายใน ภายนอก ๔

ความยินดียินร้ายในการปฏิบัติ ๕

ต้องไม่ละความเพียร ๕

สุญญตาวิหารภายใน ๖

วิธีปฏิบัติเดินจงกรม ๖

ติรัจฉานกถา กถาวัตถุ ๗

วิตก ความตรึกนึกคิด ๘

กำหนดพิจารณาขันธ์ ๕ ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดนิดหน่อยระหว่างเทป

ม้วนที่ ๓/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๔/๑ ( file Tape 03 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระสูตรที่ว่าด้วยสุญญตา (๕)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ปัญญาในธรรมนั้นย่อมทำให้ได้สุญญตาคือความว่าง

หรือว่าจิตว่างใจว่างจากกิเลสทั้งหลายได้ดียิ่งๆขึ้นไปกว่าสมาธิเท่านั้น

แต่แม้สมาธิในพุทธศาสนาก็เป็นสมาธิเพื่อสุญญตาคือความว่างดังกล่าวเช่นเดียวกัน

นับตั้งแต่ว่างนิวรณ์ คือกิเลสที่บังเกิดขึ้น กลุ้มกลัดจิตใจ จึงทำให้จิตใจฟุ้งซ่านไป

ในอารมณ์คือเรื่องทั้งหลาย ปรากฏเป็นความทุรนทุรายไม่สงบ

ก็ต้องอาศัยสมาธิทำจิตใจให้สงบจากอารมณ์ทั้งหลาย

อันเป็นที่ตั้งของกิเลสทั้งหลาย ตามวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้

เมื่อเป็นดั่งนี้จิตจึงสงบสงัดจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลาย

ทั้งที่เป็นส่วนอารมณ์ และทั้งที่เป็นส่วนกิเลส

สมถกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ทุกข้อ

ก็เป็นไปเพื่อความสงบสงัดจากกาม และอกุศลธรรมทั้งหลายดังกล่าว

ทั้งนี้ก็ได้ทรงสั่งสอนให้ตั้งจิตไว้ใน สมาธินิมิต นิมิตของสมาธิ

หรือว่าที่ซึ่งเป็นที่กำหนดหมายแห่งสมาธิ เป็นนิมิตที่กำหนดหมายในจิตใจ

ความที่ทำจิตใจให้กำหนดหมายอยู่ในที่กำหนดหมายนั้น ก็ชื่อว่าทำสมาธิในพุทธศาสนา

สมาธินิมิต กิเลสนิมิต

สมาธินิมิต ในพุทธศาสนาดังกล่าวนั้น ย่อมตรงกันข้ามกับ กิเลสนิมิต

ที่กำหนดหมาย หรือความกำหนดหมายแห่งจิต ซึ่งเป็นฝ่ายกิเลส ดังเช่น สุภะนิมิต

กำหนดหมายว่างดงาม ก็เป็นที่ตั้งของกามฉันท์ คือกิเลสกองราคะ กองกาม หรือกองโลภ

ปฏิฆะนิมิต กำหนดหมายแห่งความกระทบกระทั่ง ก็ก่อให้เกิดกิเลสกองโทสะ

และนอกจากนี้ก็เป็น โมหะนิมิต กำหนดหมายให้เกิดโมหะคือความหลง

เหล่านี้เป็นกิเลสนิมิต ซึ่งบุคคลสามัญทั่วไปก็ย่อมมีกิเลสนิมิตนี้เป็นที่ตั้งของจิต

เป็นที่อาศัยของจิต ดั่งนี้เรียกว่า กิเลสวิหาร วิหารคือที่อยู่ของกิเลส

หรือ อสุญญตาวิหาร วิหารคือที่อยู่ของอสุญญตาความไม่ว่าง

เพราะว่าเต็มยั้วเยี้ยไปด้วยอารมณ์และกิเลสทั้งหลาย

แต่ว่าเมื่อมาปฏิบัติในสมาธินิมิตของพระพุทธเจ้า

โดยการปฏิบัติในกรรมฐานที่พระองค์ได้ทรงสั่งสอนเอาไว้

จะเป็นสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ก็ดี จะเป็นกรรมฐานที่ทรงสั่งสอนไว้โดยประการอื่นก็ดี

ดังที่พระอาจารย์ได้ประมวลไว้ว่ากรรมฐาน ๔๐ ประการ เป็นต้น

หรือว่าที่พระอาจารย์ได้แสดงไว้อีกเท่ากับธรรมขันธ์ กรรมฐาน ๘๔๐๐๐ ก็ตาม

ซึ่งเป็นกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้

ก็ล้วนเป็นสุญญตาวิหารคือที่อยู่แห่งสุญญตาคือความว่างทั้งนั้น

ก็คือว่างตั้งต้นแต่จากกามจากอกุศลธรรมทั้งหลาย

เพราะว่ากรรมฐานที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนทั้งปวงนั้น

ล้วนให้ตั้งจิตกำหนดเป็นนิมิตคือที่กำหนดหมายของจิต เพื่อสุญญตาคือความว่างทั้งนั้น

และโดยตรงก็กำหนดให้ตั้งเข้ามาในภายใน ให้จิตนั่งอยู่ในภายใน

ให้กำหนดอยู่ในสมาธินิมิตเพียงข้อเดียว เพียงอย่างเดียว

ดังที่เรียกเป็นภาษาธรรมะว่ามีข้อเดียวประการเดียวผุดขึ้นปรากฏขึ้น

นี่แหละคือสมาธินิมิตของพระพุทธเจ้า

กำหนดอารมณ์ภายใน ภายนอก

และแม้ว่าจะกำหนดไปในอารมณ์ของกรรมฐานที่เป็นภายนอกก็ได้

เพราะอารมณ์ของกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้นั้นกำหนดในภายใน

เช่นกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก กำหนดอิริยาบถเดินยืนนั่งนอน

กำหนดอาการผมขนเล็บฟันหนังเป็นต้น กำหนดธาตุ ๔

เหล่านี้ กำหนดภายในกายนี้ทั้งนั้น

อีกอย่างหนึ่งกำหนดในภายนอกเช่นกำหนดใน กสิณ

กำหนดดิน กำหนดน้ำ กำหนดไฟ กำหนดลม กำหนดสีต่างๆ ซึ่งเป็นทางกสิณในภายนอก

เหล่านี้เรียกว่าภายนอก แต่ก็ต้องเข้าใจว่าทั้งภายนอก ทั้งภายในนั้น .. ( จบ ๓/๒ )

( ข้อความขาดนิดหน่อย )

( เริ่ม ๔/๑ ) ...อยู่ ก็ต้องรวมเข้ามาตั้งไว้ในจิตทั้งนั้น

เป็นแต่เพียงว่าส่วนที่ตั้งจิตกำหนดทีแรก เป็นภายในบ้างเป็นภายนอกบ้าง

แต่เมื่อได้เริ่มกำหนดจากภายในก็ตาม จากภายนอกก็ตาม ก็ต้องให้มาตั้งอยู่ในจิตทั้งนั้น

ให้จิตกำหนดอยู่เป็นสมาธินิมิตขึ้นในจิต ให้เป็นข้อเดียวตั้งขึ้นในจิต

ดั่งนี้ จึงจะได้พบกับสุญญตาคือความว่าง

แต่ว่าในการปฏิบัตินั้น เมื่อปฏิบัติไปในบางคราวจิตก็ไม่ตั้งแนบแน่น

อยู่ในสมาธินิมิตที่กำหนดนั้น

ในบางคราวจิตก็ตั้ง ก็เป็นธรรมดา

จึงต้องไม่เว้นความเพียร ไม่ละความเพียร ไม่ทิ้งความเพียร

ต้องมีความเพียรปฏิบัติต่อไป ทำความรู้ตัว ทำสติให้มากขึ้น

และคอยกำจัดความยินดีความยินร้ายที่บังเกิดขึ้น

ความยินดียินร้ายในการปฏิบัติ

อันความยินร้ายนั้นคือยินร้ายในการปฏิบัติ เพราะเหตุที่ทำจิตให้ตั้งเป็นสมาธิไม่ได้

จิตไม่น้อมไปตั้งอยู่ในสมาธินิมิต ก็ต้องละความยินร้ายนี้เสีย

กำหนดพิจารณาว่า เมื่อยังอ่อนเพียร อ่อนสติ อ่อนสัมปชัญญะ ก็จะต้องเป็นเช่นนั้น

จึงต้องทำความเพียร ทำสติ ทำสัมปชัญญะ สืบต่อไป

บางทีก็ได้ความยินดีในสมาธิ เช่นเมื่อได้ผลของสมาธิ เป็นปีติ เป็นสุข

ก็มีความยินดีในผลของสมาธินั้น ก็จะเป็นเหตุให้ติดอยู่ในปีติสุขของสมาธิ

ดั่งนี้ก็ต้องละความยินดีนั้นเสีย ไม่พะวงอาลัยอยู่กับปีติสุข

แต่ทำความเพียรทำสติ ทำสัมปชัญญะ ในการปฏิบัติสมาธิให้ยิ่งขึ้นไป

บางทีก็เป็นนิวรณ์ภายนอกโผล่เข้ามา แทรกแซงเข้ามา ดึงจิตให้ยินดีให้ยินร้ายไป

ดั่งนี้ก็ต้องคอยละเสีย

ต้องไม่ละความเพียร

เพราะฉะนั้น แม้ว่าในการปฏิบัติหลายครั้งหลายคราว จิตไม่น้อมไป ไม่ตั้งอยู่ในสมาธินิมิต

ก็ต้องไม่ละความเพียรดังกล่าว ต้องทำความเพียรเรื่อยไป ทำสติสัมปชัญญะให้ยิ่งขึ้น

คอยละความยินดีความยินร้ายอยู่เสมอ ทำใจให้เป็นอุเบกขา

อันหมายความว่าวางเฉยจากความยินดีความยินร้าย เมื่อยินดียินร้ายเกิดขึ้น

ก็วางเสียไม่รักษาเอาไว้ และไม่วุ่นวายไปเพราะความยินดีความยินร้าย เฉยเสียได้

วางเสียได้ จากความยินดีความยินร้าย ดั่งนี้คืออุเบกขา

และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจิตก็จะน้อมไปตั้งอยู่ในสมาธินิมิตได้

จะได้สุญญตาคือความว่างที่เป็นภายใน อันหมายความว่าจากอารมณ์ที่เป็นภายใน

จะได้สุญญตาในภายนอก อันหมายความว่าจากอารมณ์ที่เป็นภายนอก

ในเบื้องต้นเป็นกสิณดังกล่าวนั้น

จะได้สุญญตาทั้งภายในทั้งภายนอก จะได้สุญญตาที่ไม่หวั่นไหวยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ

ดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าได้สร้างสุญญตาวิหารขึ้นในจิตใจ

สุญญตาวิหารภายใน

สุญญตาวิหารในจิตใจนี่แหละคือวัดใจวิหารใจ อันควบคู่กันไปกับวัดกายวิหารกาย

วัดกายวิหารกายนั้นเป็นภายนอก ดั่งวัดวาอารามทั้งหลายที่เข้าใจกัน

แต่ว่าวัดใจวิหารใจนี้ก็คือว่าสุญญตาวิหารซึ่งเป็นภายในนี้

วิธีปฏิบัติเดินจงกรม

เพราะฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงได้ตรัสสอนต่อไป

ให้เดินยืนนั่งนอนอยู่ด้วยสุญญตาวิหารนี้ เดินนั้นก็เรียกว่าจงกรม

จะเป็นจงกรมคือเดินโดยปรกติก็ตาม จะจงกรมที่เป็นการปฏิบัติ ดั่งเรียกว่าเดินจงกรมก็ตาม

พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้เองว่าให้ตั้งจิตกำหนด

ว่าเราจะจงกรมคือเดิน โดยที่มิให้ความยินดีความยินร้ายบังเกิดขึ้นครอบงำจิตใจ

เราจะยืนโดยที่ไม่ให้ความยินดีความยินร้ายบังเกิดขึ้นครอบงำจิตใจ

เราจะนั่งโดยที่มิให้ความยินดีความยินร้ายบังเกิดขึ้นครอบงำใจ

เราจะนอนโดยที่มิให้ความยินดีความยินร้ายบังเกิดขึ้นครอบงำใจ

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ชื่อว่าได้เดินอยู่ในสุญญตาวิหาร ได้ยืน ได้นั่ง ได้นอน อยู่ในสุญญตาวิหาร

อันเป็นวิหารใจอันเป็นวัดใจ

อันนี้แหละเป็นเงื่อนสำคัญของผู้ปฏิบัติธรรมะ

ซึ่งมักจะมีปัญหาถามกันอยู่เสมอๆว่า เดินจงกรมจะให้ทำใจยังไง

ในที่นี้จึงนำเอาพระพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้เองในพระสูตรนี้

มาเล่าให้ฟังว่าท่านสอนไว้ยังงี้ ว่าให้ทำจิตใจอย่างนี้

ในอิริยาบถเดินก็ตาม ยืนก็ตาม นั่งก็ตาม นอนก็ตาม

ด้วยตั้งใจว่าเราจะมิให้ความยินดีความยินร้ายบังเกิดขึ้นครอบงำจิตใจ

จึงเป็นอันว่าได้เดินยืนนั่งนอนอยู่ในสุญญตาวิหาร

ในวัดสุญญตา ในวิหารสุญญตา ซึ่งตั้งอยู่ในจิตใจ

เมื่อปฏิบัติดั่งนี้ก็เป็นอันว่าได้จงกรมคือเดินยืนนั่งนอนตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

ติรัจฉานกถา กถาวัตถุ

และแม้ว่าจะพูดก็ตาม ก็ให้ตั้งใจว่า จะเว้นจากวาจาที่ไม่เป็นประโยชน์ทั้งหลาย

ดังเช่นที่เรียกว่า ติรัจฉานกถา ถ้อยคำที่เป็นดิรัจฉาน คือที่ขัดขวางต่อธรรมะปฏิบัติ

เพื่อสุญญตาดังกล่าว เป็นถ้อยคำที่พูดจากันก่อให้บังเกิดกิเลสทั้งหลาย

กองราคะบ้าง กองโทสะบ้าง กองโมหะบ้าง ดั่งนี้เป็นวาจาที่ควรเว้น

เพราะว่าส่อถึงใจที่ไม่มีสุญญตาคือความว่าง จากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย

เมื่อใจเป็นอย่างไรก็พูดออกมาอย่างนั้น

จึงให้พูดแต่ถ้อยคำที่เรียกว่า กถาวัตถุ คือถ้อยคำที่ควรพูด

อันจะนำให้จิตใจได้สุญญตาคือความว่างจากกิเลสทั้งหลาย

เช่นพูดจากันปรารภธรรมะที่ทำให้ปรารถนาน้อย ให้เกิดความสันโดษเป็นต้น

ที่จะชักนำให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ดั่งนี้ก็ชื่อว่าได้พูดจาอยู่ในสุญญตาวิหารเหมือนกัน

ถ้าไปพูดที่เป็นติรัจฉานกถาทั้งหลาย ก็เป็นอันว่าไปพูดกันนอกสุญญตาวิหาร

นอกวัดสุญญตา ไม่ได้อยู่ในวัดสุญญตา

วิตก ความตรึกนึกคิด

และแม้ว่าจะมีความตรึกนึกคิดในจิตใจ ก็ให้ตรวจตราพิจารณาระมัดระวัง

ห้ามจิตใจไม่ให้คิดนึกไปในทางที่เรียกว่ากามวิตก ตรึกนึกคิดไปในกาม

พยาบาทวิตก ตรึกนึกคิดไปในทางพยาบาทปองร้าย

วิหิงสาวิตกตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียน

แต่ว่าสนับสนุนจิตใจให้คิดนึกไปในทางเนกขัมมะ

การออกจากเครื่องผูกพันทั้งหลาย ไม่ให้เข้ามารึงรัดผูกมัดจิตใจ อันเรียกว่าเนกขัมมะวิตก

ให้ตรึกนึกคิดไปในทางไม่พยาบาท ประกอบด้วยเมตตา

ตรึกนึกคิดไปในทางไม่เบียดเบียน ประกอบด้วยกรุณา เป็นต้น

ดั่งนี้ ก็เป็นเนกขัมมะวิตก อัพพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก

ระวังจิตใจมิให้นึกคิดไปในทางอกุศลวิตก ที่เป็นกามวิตกเป็นต้น

แต่ให้ตรึกนึกคิดไปในทางที่เป็นกุศลอันเรียกว่ากุศลวิตก มีเนกขัมมะวิตกเป็นต้นดังกล่าวนั้น

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ชื่อว่าได้ตรึกนึกคิดอยู่ในวัดสุญญตา ในวิหารสุญญตา เช่นเดียวกัน

ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงสั่งสอนให้คอยตรวจพิจารณาจิตใจของตนอยู่เสมอ

ว่ามีนิวรณ์ข้อใดข้อหนึ่งอยู่หรือไม่ เมื่อมีอยู่ก็ให้รู้ว่ามี และก็ให้รู้ว่ายังละไม่ได้

และเมื่อตรวจพิจารณาดูว่าไม่มี ก็ให้รู้ว่าไม่มี ตามความเป็นจริง

ถ้ายังมีอยู่ ปล่อยให้นิวรณ์ครอบงำจิตใจอยู่แล้ว

ก็เป็นอันว่าออกไปจากวัดสุญญตา ออกไปจากวิหารสุญญตาเช่นเดียวกัน

แต่ว่าเมื่อนิวรณ์สงบลงได้ก็เป็นอันว่าได้เข้าวัดสุญญตา เข้าวิหารสุญญตา

กำหนดพิจารณาขันธ์ ๕

และได้ตรัสสั่งสอนไว้ให้ปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไปกว่านั้น

โดยที่กำหนดพิจารขันธ์ ๕ ให้เห็นความเกิดความดับของขันธ์ ๕

ว่ารูปเป็นอย่างนี้ ความดับความเกิดของรูปเป็นอย่างนี้ ความดับของรูปเป็นอย่างนี้

เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นอย่างนี้

ความเกิดของเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นอย่างนี้

ความดับของเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นอย่างนี้

เมื่อมาปฏิบัติพิจารณาให้เห็นความเกิดความดับของขันธ์ ๕ อยู่

อัสมิมานะคือความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น หรือว่าเป็นเราเป็นของเรา

ก็ย่อมจะไม่บังเกิดขึ้นในขันธ์ทั้ง ๕

แต่ถ้าขาดปัญญาที่มองเห็นเกิดดับในขันธ์ ๕

ก็ย่อมจะต้องมีอัสมิมานะคือความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น

ยึดถือว่าเรามีเราเป็น ยึดถือว่าตัวเราของเราอยู่ในขันธ์ ๕

และเมื่อเป็นดั่งนี้ แม้ว่าจะได้สมาธิมาโดยลำดับสูงเท่าไรก็ตาม

เมื่อยังมีอัสมิมานะอยู่ก็เป็นอันว่ายังไม่เข้าถึงวัดสุญญตา

หรือวิหารสุญญตาที่เป็นขั้นละเอียดที่สุด หรือที่บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ยังเสื่อมได้

ต่อเมื่อได้มาหัดปฏิบัติให้ได้ปัญญามองเห็นเกิดดับ แห่งรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

ละอัสมิมานะดังกล่าวได้ ก็เป็นอันว่าได้พบวัดสุญญตา วิหารสุญญตา

อันเป็นวัดที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ สูงสุดในพุทธศาสนา

ฉะนั้น ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ดังที่แสดงเล่ามานี้

จึงเป็นข้อที่ผู้ปฏิบัติธรรมะจะพึงทราบ และพึงสนใจ

ใฝ่แสวงหาวัดสุญญตา หรือวิหารสุญญตาในจิตใจ ให้พบ

แม้ว่าจะเป็นวัดสุญญตาหรือวิหารสุญญตา ที่ยังเป็นชั้นนอกอยู่ก็ตาม

หากว่าได้พบวัดสุญญตาวิหารสุญญตาเช่นนี้ในจิตใจของตนเองแล้ว

ก็จะทำให้ได้พบกับความสุขดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

อันเรียกว่าเนกขัมมะสุข ปวิเวกสุข อุปสมะสุข สัมโพธิสุข วิมุติสุข ตั้งแต่เบื้องต้นได้

แต่หากว่ายังไม่ได้พบวิหารสุญญตา หรือวัดสุญญตาในจิตใจของตนเองบ้างแล้ว

แม้จะเข้ามาสู่วัดสู่วิหารที่เป็นของภายในภายนอก

จะตั้งอยู่ในบ้านก็ตาม ตั้งอยู่ในป่าก็ตาม ที่ไหนก็ตาม

เป็นอันว่ายังไม่ได้พบกับวัดสุญญตา วิหารสุญญตา อันเป็นพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

ซึ่งเป็นที่สถิตย์ของพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์

ยังไม่ได้พบพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์อย่างแท้จริง

เพราะฉะนั้นต้องปฏิบัติให้ได้พบวัดสุญญตาวิหารสุญญตา

แม้จะเป็นชั้นนอกชั้นต่ำก็ตามที ก็เป็นอันว่าได้เริ่มพบกับความสุข

ได้เริ่มพบกับพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ ได้เริ่มพบกับพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้น สุญญตาวิหาร หรือวัดสุญญตาวิหารสุญญตานี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

สติปัฏฐานก็อยู่ในวัดนี้ ธรรมะอื่นๆเป็นต้นว่า สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔

อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นโพธิปักขิยธรรมทั้งสิ้น

พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ทั้งหมดก็อยู่ในวัดสุญญตาวิหารสุญญตานี้ทั้งหมด

เข้าไปได้แล้วจะได้พบท่านทั้งนั้น

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

พระสูตรที่ว่าด้วยสุญญตา (๖)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

สัจจะธรรม ๓

บุถุชน ๕

กิเลส ปัญญา ๖

เนกขัมมสุข กามสุข ๗

หัดพิจารณาให้รู้จักสุญญตาสุข ๗

ความรู้หลง ๙

สมุทัยเหตุแห่งทุกข์ ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดนิดหน่อยระหว่างเทป

ม้วนที่ ๔/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๔/๒ - ๕/๑ ( File Tape 03 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระสูตรที่ว่าด้วยสุญญตา (๖)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ปัญญาในธรรมนั้นต้องอาศัยจิตที่บริสุทธิ์

โดยมีศีลเป็นที่รองรับหรือเป็นพื้น ท่านจึงเปรียบศีลเหมือนอย่างแผ่นดิน

อันเป็นที่ดำรงอยู่ของสรรพสัตว์ในโลก และของสิ่งทั้งปวง

ศีลเป็นเหมือนแผ่นดินก็เพราะเป็นที่รองรับกุศลธรรมทั้งหลาย

จะต้องมีศีลเป็นแผ่นดินที่รองรับ กุศลธรรมทั้งหลายจึงจะตั้งขึ้นได้

และก็ต้องมีสมาธิอันทำจิตให้บริสุทธิ์จากนิวรณ์ทั้งหลาย

เป็นบาทของปัญญาคือเป็นเท้าของปัญญา

หากจะเปรียบเหมือนอย่างร่างกาย สมาธิก็เป็นส่วนเท้าอันเป็นที่ตั้งของลำตัวและศรีษะ

ฉะนั้นจึงต้องมีสมาธิเป็นเท้าเป็นที่รองรับลำตัว

คือสมาธิ คือปัญญาต้องมีสมาธิเป็นเท้าเป็นที่รองรับลำตัวคือปัญญา

เพื่อวิมุติคือความหลุดพ้น อันเป็นเหมือนอย่างศรีษะ

ฉะนั้นศีลสมาธิปัญญาทั้ง ๓ นี้ กับทั้งวิมุติอันเป็นส่วนผลจึงต้องอาศัยกัน

เหมือนอย่างเป็นแผ่นดิน เป็นเท้า เป็นลำตัว เป็นศรีษะ

การปฏิบัติจึงต้องปฏิบัติให้มีศีลด้วย มีสมาธิด้วย มีปัญญาด้วย ประกอบกันไป

และปัญญาในธรรมนั้นดั่งที่ได้กล่าวแล้ว ต้องอาศัยจิตที่บริสุทธิ์

คือจิตที่เป็นสมาธิที่บริสุทธิ์จากนิวรณ์ทั้งหลาย

จึงจะได้ปัญญามองเห็นสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นตัวความจริง

สัจจะธรรม

อันสัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นตัวความจริงนี้ก็มีหลายชั้น ที่เป็นความจริงทั่วๆไปก็เป็นชั้นสามัญ

ขึ้นมาเป็นความจริงเกี่ยวแก่กรรมและผลของกรรม หรือเรียกเป็นคำสามัญว่าเกี่ยวแก่บาปบุญ

คุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์ต่างๆ ก็เป็นสัจจะคือความจริงที่ละเอียดเข้า

สูงขึ้นเป็นความจริงที่เป็นอริยสัจจะคือ ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์

ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็เป็นความจริงที่ต้องใช้จิตอันเป็นสมาธิ

สงบสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย เพ่งพินิจพิจารณาจึงจะมองเห็นได้ถนัด

ฉะนั้น การทำสมาธิเพื่อทำจิตให้บริสุทธิ์จากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย

จึงเป็นข้อที่ผู้ต้องการปัญญาในธรรมพึงปฏิบัติ ... ( จบ ๔/๑ )

( ข้อความขาดนิดหน่อย น่าจะในทำองว่า ศีลก็เป็นสุญญาตาคือความว่าง ... )

( เริ่ม ๔/๒ ) อันเป็นผลของอกุศลกรรมที่ก่อภัยเวรนั้นๆ

สมาธิก็เป็นสุญญตาคือความว่าง

ว่างจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายในจิตใจ จิตบริสุทธิ์ด้วยอุเบกขา

คือความที่วางกามวางอกุศลธรรมทั้งหลายที่เป็นนิวรณ์ เฉยคือไม่วุ่นวายเพราะกาม

และอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงเข้าไปเพ่งพินิจอยู่ ดูอยู่ รู้อยู่ในภายใน สงบอยู่ในภายใน

ปัญญานั้นก็เป็นสุญญตาคือความว่าง ว่างจากอวิชชาโมหะ ความไม่รู้ ความหลง ยึดถือ

วิมุติก็เป็นความว่างจากกิเลสทั้งหลาย เป็นต้น อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ทั้งปวง

ฉะนั้น สุญญตา คือความว่างในพุทธศาสนานั้น จึงว่างจากอกุศลกรรม จากกิเลส

ทั้งที่เป็นอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ไปโดยลำดับ จนถึงว่างกิเลสทั้งหมด

ท่านจึงว่างกิเลสทั้งหมด คือพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลาย

มีแสดงว่าท่านอยู่ด้วยสุญญตาคือความว่าง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอยู่ด้วยวิชชาความรู้

และวิมุติคือความหลุดพ้น ในอิริยาบถทั้ง ๔

และเมื่อท่านจะพูด ท่านก็พูดด้วยสุญญตาคือความว่าง

หรือพูดด้วยวิชชาวิมุติดังกล่าว ดังจะพึงเห็นได้ว่าวาจาของพระพุทธเจ้า

และของพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ที่ท่านได้ทรงจำกันมา

จนถึงได้จารึกลงเป็นตัวอักษร เป็นคัมภีร์ ทุกคำทุกข้อทุกบทล้วนเป็นคำสั่งสอน

ให้ปฏิบัติเพื่อว่างกิเลสว่างอกุศลดังกล่าวแล้วทั้งนั้น และให้ปฏิบัติเพื่อวิชชาวิมุติทั้งนั้น

ไม่มีที่จะสั่งสอนให้หมกมุ่น คลุกคลี ให้ทำอกุศล ให้ก่อกิเลสทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น จึงเป็นคำสั่งสอนประกอบด้วยสุญญตาคือความว่าง หรือด้วยวิชชาวิมุติทั้งนั้น

และเมื่อท่านจะมีความตรึกนึกคิด ก็มีความตรึกนึกคิดอันประกอบด้วยสุญญตา

ด้วยวิชชาวิมุติเช่นเดียวกันทั้งหมด

เพราะฉะนั้น สุญญตา จึงเป็นวิหารธรรมของท่าน

วิชชาวิมุติ เป็นวิหารธรรมของท่าน ท่านอยู่ในสุญญตาวิหาร วิชชาวิมุติวิหาร

หรือวัดสุญญตา วัดวิชชาวิมุติ ตลอดเวลาทั้งหมด และก็อยู่ด้วยความสุข

เป็นสุญญตาสุข วิชชาวิมุติสุข หรืออีกอย่างหนึ่งดั่งที่เรียกว่า เนกขัมมะสุข สุขจากการออก

ปวิเวกสุข สุขจากความสงัด อุปสมะสุข สุขจากความสงบรำงับ

สัมโพธิสุข สุขจากความรู้พร้อม คือรู้ไม่บกพร่อง รู้บริบูรณ์

ท่านผู้ที่จะบรรลุถึงสุขดังกล่าวนี้ จะต้องปฏิบัติในศีล ในสมาธิ ในปัญญา

เพื่อวิมุติคือความหลุดพ้นทางเดียว คือปฏิบัติเพื่อสุญญตาคือความว่าง

จะต้องเข้าวัดสุญญตา จึงจะพบสุขดังกล่าวนี้

และก็พึงเข้าใจว่าอันความสุขดังกล่าวนี้นั้น

ไม่ใช่หมายความว่าจะได้จะถึงในเมื่อเป็นพระอรหันต์

หรือเมื่อเป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปแล้ว

ผู้ปฏิบัติแม้ตั้งแต่เบื้องต้นเบื้องต่ำ คือสามัญชนทั่วไปผู้ปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญา

ก็ย่อมจะได้ความสุขดังกล่าวนี้ทั้งนั้น ปฏิบัติเมื่อใดก็ได้เมื่อนั้น

แต่ว่าจำที่จะต้องหัดกำหนดดูให้รู้จัก

เพราะเหตุว่า ในขณะที่ปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้นเบื้องต่ำนั้น

ยังมีกิเลสและกองทุกข์พอกพูนอยู่ในจิตใจมาก

จึงมักมองไม่เห็นความสุขที่เป็นของละเอียด อันเกิดจากศีลสมาธิปัญญาที่ปฏิบัติ

เพราะว่ามีกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลายปกคลุมอยู่

ผลของกิเลสและกองทุกข์นั้นปรากฏชัดเจนกว่า คนจึงมองไม่เห็นผลของความดีในปัจจุบัน

และก็ไปเข้าใจว่าจะต้องได้รับผลของความดีในอนาคต

บางทีในชาตินี้ก็ไม่ได้ ต้องไปได้ในชาติหน้า

เมื่อเห็นผลของความดีห่างไกลออกไปดั่งนี้ จึงพอใจที่จะฉวยผลของความชั่วทั้งหลาย

ผลของกิเลสและกองทุกข์ทั้งหลาย ซึ่งได้ในปัจจุบัน ปรากฏในปัจจุบัน กันมากกว่า

และมักจะไปเข้าใจในปัจจัยเครื่องแวดล้อมทั้งหลาย ว่าเป็นตัวความดี

มองไม่เห็นตัวความดีที่แท้จริง มองไม่เห็นตัวความชั่วที่แท้จริง

เพราะฉะนั้นจึงได้กล่าวข้างต้นว่า จะต้องทำจิตให้บริสุทธิ์ด้วยสมาธิ น้อยหรือมาก

จึงจะได้ปัญญาในธรรมที่เป็นตัวความจริง

เป็นต้นว่าดีจริงชั่วจริงอย่างไร ทุกข์จริงสุขจริงอย่างไร

บุถุชน

ฉะนั้นสามัญชนในโลกนี้ที่ยังมีกิเลสและกองทุกข์ปกคลุมจิตใจอยู่เป็นอันมาก

จึงได้เรียกกันว่า บุถุชน คนที่หนาแน่น

อันหมายความว่ามีกิเลสหนา มีทุกข์หนา มีความชั่วหนา หนาแน่น

และเมื่อหนาอยู่ดั่งนี้ ปัญญาจึงยังไม่ปรากฏที่จะมองเห็นสัจจะที่เป็นตัวความจริง

ฉะนั้นจึงต้องทำใจให้สงบก่อน แม้ว่าจะยังมีกิเลสและกองทุกข์

เมื่อกิเลสและกองทุกข์นั้นไม่กำเริบขึ้นมาครอบงำจิตใจ ทำจิตใจให้กลัดกลุ้ม

วุ่นวายกระสับกระส่ายมาก เป็นกิเลสและกองทุกข์ที่สงบอยู่ภายในจิต

กิเลส ปัญญา

เหมือนอย่างผู้ที่ปฏิบัติธรรมะ

ที่เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา กิเลสก็หลบหน้าซ่อนหาย เหมือนไม่มีกิเลส

แต่อันที่จริงยังมีอยู่ เมื่อยังละไม่ได้ก็มีอยู่ ตกเป็นตะกอนลงไป

เพราะฉะนั้น แม้ได้จิตสงบดั่งนี้ ก็ย่อมได้ปัญญามองเห็นสัจจะคือความจริงทั้งหลายขึ้น

รู้จักความดีรู้จักความชั่ว รู้จักทุกข์ รู้จักสมุทัย รู้จักนิโรธ รู้จักมรรค ถนัดชัดเจนขึ้น

แต่เมื่อกิเลสที่ยังละไม่ได้นั้นฟุ้งขึ้นมาใหม่ ความรู้แจ่มแจ้งที่เคยได้นั้นก็เสื่อมไป

จิตจะถูกกิเลสครอบงำ นำไปได้ ให้ประกอบกรรมชั่วต่างๆได้ ตามอำนาจของกิเลส

และบางทีก็ทั้งรู้อยู่ว่าไม่ดีแต่ว่าก็ทำ เพราะเหตุว่ากำลังของจิตในด้านดีนั้นมีไม่พอที่จะห้าม

ไม่เป็นตัวสติตัวปัญญาที่จะห้ามได้ แต่ว่าราคะโทสะโมหะนั้นแรงกว่าก็นำจิตใจไปได้

สติปัญญาไม่ได้จิตใจไว้ กิเลสดึงเอาไป กิเลสก็นำเอาไปให้ทำโน่นทำนี่

แต่เมื่อกิเลสสงบ สติปัญญาแจ่มขึ้นมา สติปัญญาก็นำไปให้ทำโน่นทำนี่

เพราะฉะนั้น จิตของบุคคลนี้เมื่อพิจารณาดูแล้ว

ก็จะเห็นชัด ว่าบางคราวก็ถูกกิเลสดึงเอาไปใช้ต่างๆ

บางคราวก็ได้ธรรมะเช่นสติปัญญานำไปใช้ต่างๆ ก็กลับไปกลับมากันอยู่ดั่งนี้

ผู้ที่ได้กระทำกรรมอันใดไว้บ่อยๆ เสมอๆ ถ้าเป็นฝ่ายชั่ว จิตก็จะน้อมไปในฝ่ายชั่วมาก

ถ้าหากว่ากรรมที่ทำเสมอๆบ่อยๆนั้นเป็นความดี ความดีก็จะดึงจิตให้น้อมไปได้มาก

จิตจะน้อมไปได้มากในทางดี ดั่งนี้เป็นธรรมดา

เนกขัมมสุข กามสุข

เพราะฉะนั้น การละความชั่วกระทำความดีอยู่เสมอๆ จึงเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง

จะนำให้จิตน้อมไปในทางดีได้เสมอ จะทำให้ได้สุญญตาคือความว่างอยู่เสมอ

และเมื่อเป็นดั่งนี้เมื่อจิตดีขึ้น มีสมาธิดีขึ้น สงบดีขึ้น

ปัญญามองเห็นธรรมะที่เป็นความจริงชัดเจนขึ้น เรียกว่าได้สุญญตามากขึ้น

ก็ย่อมจะนำจิตให้น้อมไปในทางดีมากขึ้นไปโดยลำดับ และจะพบตัวความสุขดังที่ได้กล่าวมา

ดั่งที่เรียกว่าเนกขัมมะสุขเป็นต้น บ่อยๆขึ้น มากขึ้น ชัดเจนขึ้น

ทำให้เปรียบเทียบกันได้กับความสุขที่ได้มาในขณะที่ยังมีกิเลสหนา ดังที่เรียกว่ากามสุข

สุขอันเกิดจากรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจต่างๆ

สุขที่เกิดจากลาภยศสรรเสริญสุขต่างๆ อันเป็นที่ต้องใจพอใจ

เป็นที่เพลิดเพลินของสัตว์โลกทั่วไป ของสามัญชนทั่วไป

และเมื่อปฏิบัติมาจนถึงได้สุขเกิดจากสุญญตาดังกล่าวมากขึ้นๆ

ก็จะได้ข้อเปรียบเทียบเอง จะมองเห็นได้ถนัดขึ้นว่า

อันสุขชนิดที่เป็นสุญญตาสุข กับความสุขที่เป็นกามสุขนั้นต่างกันอย่างไร

อันไหนเป็นความสุขที่แท้จริง ที่เป็นความสุขจริงๆ จะมองเห็นได้เอง เทียบกันได้มากขึ้น

และเมื่อหมั่นที่จะตรวจสอบดูลักษณะของความสุขดังกล่าวนี้อยู่เสมอๆ

สุญญตาสุข หรือเนกขัมมะสุขเป็นต้นนั้นก็จะชัดขึ้น

จิตจะน้อมไปเพื่อความสุขที่ละเอียดนี้มากขึ้น

หัดพิจารณาให้รู้จักสุญญตาสุข

เพราะฉะนั้น ในขั้นนี้ก็ควรที่จะหัดพินิจดูให้รู้จักสุญญตาสุข

หลังจากที่ได้ปฏิบัติกรรมฐานทุกคราว เพราะว่าเมื่อปฏิบัติกรรมฐานทุกคราวนั้น

จิตจะต้องได้สุข น้อยหรือมาก จากศีลจากสมาธิจากปัญญาที่ปฏิบัติ ต้องได้

แม้ว่าจะมีทุกข์กลบอยู่มาก มีกิเลสกลบอยู่มากก็ตาม

หากว่าสอดส่องพิจารณาดูแล้วก็จะพบ จะพบลักษณะก่อน

อันลักษณะนั้น จะต้องมีลักษณะที่ออก จะต้องมีลักษณะที่สงัด

จะต้องมีลักษณะที่สงบ จะต้องมีลักษณะที่รู้

ลักษณะที่ออกนั้นก็คือว่าจะต้องออกได้จากเครื่องผูกพันทั้งหลาย

จากพันธนาการทั้งหลาย จากรูป จากเสียง จากกลิ่น จากรส จากโผฏฐัพพะ

อันเป็นที่ตั้งของกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นที่ตั้งของทุกข์ทั้งหลาย

ซึ่งโดยปรกตินั้นจะเป็นอาลัยที่ผูกพันจิตใจอยู่ จิตออกไม่ได้

แต่เมื่อทำให้จิตเป็นสมาธิได้จะออกได้ แม้ในขณะที่จิตเป็นสมาธินั้น และเมื่อออกได้

จิตก็จะได้สุญญตาคือว่าง ว่างจากเครื่องพันธนาการ ว่างจากที่ตั้งของทุกข์ทั้งหลาย

ในขณะดังกล่าวนี้เรียกว่าออกได้

และเมื่อออกได้แล้วก็เป็นสุขขึ้นทันที เป็นความปลอดโปร่ง

ฉะนั้นจึงเรียกว่าเนกขัมมะสุข สุขที่เกิดจากการออก

ดูที่การออก จิตออกได้มั้ย เทียบเคียงกับที่ยังเป็นทุกข์กลุ้มกลัดอยู่

เพราะอะไร ก็เพราะว่าออกไม่ได้ สิ่งนั้นๆยังผูกพันจิตใจ

ดึงจิตใจให้วุ่นวาย ให้อยู่ไม่ได้ ต้องไปโน่นไปนี่ ทำนั่นทำนี่อะไรต่างๆ

ซึ่งเป็นที่ตั้งของทุกข์ ถ้าเป็นที่ตั้งของสุขก็แล้วไป

นี่เป็นที่ตั้งของทุกข์ จิตออกไม่ได้จึงเป็นทุกข์

จิตออกได้ก็เป็นสุข เป็นความปลอดโปร่ง และนั่นแหละคือเป็นความสงัด

ที่ไม่สงัดนั้นก็คือว่า มีสิ่งต่างๆเหล่านั้นคลุกคลี คลุกเคล้า

วุ่นวายยั้วเยี้ยอยู่ในจิตใจ ดั่งนี้เรียกว่าไม่สงัด

แต่เมื่อออกได้ก็สงัด คือสิ่งที่คลุกเคล้าวุ่นวายยั้วเยี้ยอยู่นั้นหายไปหมด

เป็นความสงัด และเมื่อสงัดก็เป็นความสงบ จิตสงบไม่วุ่นวายไม่กระสับกระส่าย

ไม่มีอารมณ์และกิเลสที่จะดึงออกไปให้กระสับกระส่ายให้วุ่นวาย

จึงสงบอารมณ์ สงบกิเลสด้วย สงบความวุ่นวายต่างๆซึ่งเป็นผลด้วย ดั่งนี้เป็นสงบ

และก็ต้องประกอบกันเป็นตัวรู้ รู้พร้อม รู้ที่ไม่บกพร่อง รู้ที่ละได้ หรือว่ารู้พ้น

เพราะว่าเป็นเรื่องของรู้ทั้งนั้น

ความรู้หลง

ในขณะที่เป็นทุกข์ มีพันธนาการเครื่องผูกพัน ผูกใจอยู่ ดึงใจอยู่ กักขังจิตใจอยู่

ก็ไม่ใช่ว่าไม่รู้ รู้ ..แต่ว่าก็เป็นรู้ที่มีความชอบใจที่จะอยู่กับเครื่องผูกพันนั้น กับทุกข์นั้น

ก็รู้ ..คลุกคลีวุ่นวายยั้วเยี้ยไปในจิตหมด เรื่องนั้นเรื่องนี้อะไรต่างๆก็รู้ ไม่ใช่ไม่รู้

วุ่นว่ายก็รู้ ไม่ใช่ไม่รู้ แต่ว่ายังเป็นความรู้ที่บกพร่อง ไม่ใช่เป็นความรู้ที่พร้อม

เพราะยังมีตัวหลง ซึ่งเมื่อหลงก็เรียกว่าไม่รู้นั่นเอง

คือไม่รู้สัจจะที่เป็นตัวความจริงประกอบอยู่ ไม่รู้พร้อม เป็นความรู้หลง เป็นความรู้ผิด

เพราะฉะนั้นเมื่อมาปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ตามหลักของศีลสมาธิปัญญาวิมุติ

ก็เป็นการปฏิบัติที่จะได้ทำตัวรู้นี้เอง ให้เป็นรู้ที่สมบูรณ์ ให้เป็นรู้ที่ถูกต้องขึ้น เท่านั้นเอง

สมุทัยเหตุแห่งทุกข์

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะเริ่มรู้จักว่าที่ผูกพันจิตใจ กักขังจิตใจ ดึงจิตใจ อยู่นั้น

เป็นตัวสมุทัยที่เป็นเหตุแห่งทุกข์ ไม่ใช่เป็นของที่ทำให้เกิดสุขที่แท้จริงอะไร

และก็รู้ว่าที่คลุกเคล้ายั้วเยี้ยอยู่ในจิตใจ วุ่นวายไปหมดนั้น

ก็เป็นตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ไม่ใช่ให้เกิดสุขอะไร

ก็รู้ว่าที่วุ่นวายไม่สงบ ก็เป็นตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ คือเรียกว่ารู้จัก ...( จบ ๔/๒ )

( ข้อความน่าจะต่อกันได้ )

( เริ่ม ๕/๑ ) คลายความติดใจยินดีในสิ่งที่ยึดถือไว้นั้นๆ

เมื่อยึดถือไว้ก็เป็นอุปาทาน และสิ่งที่ยึดถือนั้นก็มาเป็นอุปาทิ ทรงใจ ครอบงำใจ

แต่ว่าเมื่อหน่ายเพราะมองเห็นว่าเป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

ก็ทำให้วางความยึดถือ วางลงเสีย และเมื่อวางลงได้ ก็ออกได้ ก็สงัดได้ ก็สงบได้

และความรู้ก็เป็นความรู้ที่ถูกต้องสมบูรณ์ ไม่ใช่เป็นความรู้หลงดังกล่าวนั้น

เพราะฉะนั้นอันนี้เองจึงเป็นตัววิมุติความหลุดพ้น ไม่ใช่อะไรอื่น

ปฏิบัติเมื่อใดก็ได้เมื่อนั้น แต่ดูให้รู้จัก เอารู้นี่แหละแก้รู้ คือเอารู้ถูกแก้รู้ผิด

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะพบตัวความสุขที่เรียกว่าเนกขัมมะสุขเป็นต้น

อันต้องอาศัยสุญญตาคือความว่างตามหลักของพระพุทธศาสนา

การปฏิบัติในสติปัฏฐานทุกข้อทุกบทก็รวมเข้าในสุญญตาคือความว่างนี้เหมือนกัน

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป