ถอดเทปพระธรรมเทศนา

  • พิมพ์

เทป019

ขันธ์ ๕

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ขั้นของสมถะและวิปัสสนา ๓

รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ๔

ลักษณะของขันธ์ ๕ ๕

ความเกิดดับของขันธ์ ๕

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดไปเล็กน้อย

ม้วนที่ ๒๒/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๒๒/๒ ( File Tape 19 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

ขันธ์ ๕

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

สติปัฏฐานในทางปฏิบัติ คือปฏิบัติตั้งสติในกายเวทนาจิตธรรม

เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ได้จริง เพื่อล่วงความโศกความรัญจวนใจได้จริง

เพื่อดับทุกข์โทมนัสได้จริง เพื่อบรรลุธรรมะอันถูกชอบได้จริง

เพื่อกระทำให้แจ้งพระนิพพานได้จริง เพียงแต่ให้มีความเพียร มีความรู้ตัว มีสติ

ปฏิบัติกำจัดความยินดีความยินร้ายต่างๆ ตามทางแห่งสติปัฏฐาน

แม้ว่าจะตั้งใจปฏิบัติทำสติตั้งสติ เมื่อสติตั้งขึ้นได้ในกายในเวทนาในจิตในธรรม

แม้เพียงชั่วครู่ชั่วขณะ ก็ทำให้ได้รับความบริสุทธิ์ ได้รับความดับทุกข์ร้อนได้ชั่วครู่ชั่วขณะจริง

และการปฏิบัตินั้นก็ดังที่ได้กล่าวแล้ว จับปฏิบัติมาตั้งแต่กำหนดลมหายใจเข้าออก

หรือจะจับปฏิบัติในข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ ปัจจุบันธรรมคือธรรมะที่เป็นปัจจุบัน

กายที่เป็นปัจจุบัน เวทนาที่เป็นปัจจุบัน จิตที่เป็นปัจจุบัน และธรรมะที่เป็นปัจจุบัน

ดั่งนี้ เป็นข้อที่พึงตั้งสติ และทั้ง ๔ นี้ก็เป็นปัจจุบันอยู่ด้วยกัน

อันไหนออกหน้า จะจับอันนั้นขึ้นมาตั้งสติเพื่อดับทุกข์ร้อน ดั่งนี้ก็ใช้ได้

ว่าถึงหมวดธรรมะพระพุทธองค์ได้ทรงยกนิวรณ์ขึ้นเป็นหมวดแรก

ก็เพราะว่าเป็นอกุศลธรรมที่บังเกิดอยู่ในจิตของบุคคลเป็นประจำ และก็ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

ข้อนั้นบ้างข้อนี้บ้าง ข้อรักบ้าง ข้อชังบ้าง ข้อง่วงบ้าง ข้อฟุ้งบ้าง ข้อสงสัยบ้าง

และนิวรณ์นี้เองที่จะพึงปฏิบัติรำงับเสียให้ได้ จึงจะตั้งสติได้ในสติปัฏฐาน

ถ้าหากว่าระงับไม่ได้ สติก็จะไปตั้งอยู่ในนิวรณ์ นิวรณ์พาสติไป

เมื่อนิวรณ์พาสติไปก็เป็นมิจฉาสติ ไม่เป็นสติปัฏฐาน

ต่อเมื่อสติระงับนิวรณ์จึงจะเป็นสติปัฏฐาน

และเมื่อระงับนิวรณ์ได้ก็จับพิจารณาขันธ์ธาตุต่อไปได้สะดวก

เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงได้ตรัสสอน ให้พิจารณาขันธ์ถัดจากที่ให้ปฏิบัติระงับนิวรณ์

ขั้นของสมถะและวิปัสสนา

ปฏิบัติระงับนิวรณ์นั้นก็กล่าวได้ว่าเป็นสมาธิหรือเป็นสมถะ

เมื่อมาจับพิจารณาขันธ์ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติทางปัญญาหรือวิปัสสนา

ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสสอนให้มากำหนดพิจารณารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

ว่ารูปเป็นอย่างนี้ เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นอย่างนี้

ความเกิดขึ้นความดับของรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นอย่างนี้

เพราะฉะนั้นจึงสมควรที่จะหัดกำหนดให้รู้จัก รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

รูปนั้นก็คือรูปกายนี้ซึ่งประกอบด้วยมหาภูตรูป และอุปาทายรูป

มหาภูตรูปนั้นแปลว่ารูปที่เป็นแล้วใหญ่ ก็คือธาตุดินธาตุน้ำธาตุไฟธาตุลม

ส่วนที่แข้นแข็งในกายนี้ก็เป็นธาตุดิน ส่วนที่เอิบอาบเหลวไหลก็เป็นธาตุน้ำ

ส่วนที่อบอุ่นก็เป็นธาตุไฟ ส่วนที่พัดไหวก็เป็นธาตุลม

เมื่อกำหนดโดยเป็นธาตุดั่งนี้ก็เป็นมหาภูตรูป รูปที่เป็นภูตะใหญ่คือที่เป็นของที่เป็นแล้วใหญ่

อุปาทายรูป รูปอาศัยก็คือรูปอันละเอียดที่อาศัยอยู่ในมหาภูตรูปนี้นั่นเอง

ก็เป็นต้นว่าประสาทตาประสาทหูประสาทจมูกประสาทลิ้นประสาทกาย

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่คู่กันเป็นต้น รวมเรียกว่ารูป

และเพราะเหตุที่เป็นสิ่งที่ต้องย่อยยับไปได้ จึงเรียกว่ารูป

รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

เพราะคำว่ารูปนั้นแปลว่าย่อยยับไปได้ ทำลายไปได้

รูปนี้จึงเป็นสิ่งที่ย่อยยับไปได้ทำลายไปได้ เมื่อเกิดก่อเป็นรูปขึ้นมา

ตั้งแต่เป็นกลละในครรภ์ของมารดา บรรดาธาตุดินน้ำไฟลมก็เข้ามาพอกพูน

เติบใหญ่ขึ้นจนถึงคลอดออกมา และก็เติบใหญ่มาโดยลำดับจนถึงปัจจุบัน

เมื่อย่อลงแล้วก็เป็นมหาภูตรูปส่วนหนึ่ง เป็นอุปาทายรูปส่วนหนึ่ง ดั่ง.

( ข้อความขาดไปเล็กน้อย )

( เริ่ม ๒๒/๒ ) ชื่อว่าเวทนาก็เพราะว่าเป็นสิ่งที่ให้รู้

อันใช้คำว่าให้เสวยหรือให้กินก็ได้ จึงมักจะใช้คำในภาษาธรรมะว่าเสวยสุขเสวยทุกข์

หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ก็คือกินสุขกินทุกข์ เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

ก็หมายถึงตัวสุขทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ทางกายทางวาจาที่ทราบอยู่

ที่ปรากฏอยู่ ที่รู้อยู่ ว่าเป็นสุขเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขอยู่นี้เอง

ซึ่งเวทนานี้ก็เป็นสิ่งที่บังเกิดผลัดเปลี่ยนกันอยู่เสมอ บางคราวก็สุข บางคราวก็ทุกข์

บางคราวก็เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ทางกายบ้างทางวาจาบ้าง เวทนาจึงเป็นอย่างนี้

สัญญาความจำหมายก็เป็นความรู้อย่างหนึ่ง เรียกว่าเป็นความรู้จำ

ที่ปรากฏเป็นจำรูปจำเสียงจำกลิ่นจำรสจำโผฏฐัพพะ จำเรื่องราวอะไรต่างๆได้

ความจำที่เป็นความรู้อย่างหนึ่งเรียกว่าความรู้จำก็คือสัญญา สัญญาก็คืออย่างนี้

สังขารความคิดปรุงหรือความปรุงคิดต่างๆที่ทุกคนก็รู้อยู่

ถึงความคิดปรุงหรือความปรุงคิดของตน ซึ่งบังเกิดขึ้นในจิตใจ

ก็ปรุงคิดรูปบ้างเสียงบ้างกลิ่นบ้างรสบ้างโผฏฐัพพะบ้างเรื่องราวต่างๆบ้าง

และก็เป็นคิดดีบ้าง คิดไม่ดีบ้าง คิดเป็นกลางๆบ้าง

ความคิดปรุงหรือความปรุงคิดนี้ก็คือสังขาร สังขารก็เป็นอย่างนี้

วิญญาณความรู้เห็นรู้ได้ยิน ก็คือเห็นรูปได้ยินเสียง

ทราบกลิ่นรสโผฏฐัพพะ คิดหรือรู้เรื่องราวทางมโนคือใจ

อันบังเกิดขึ้นในเมื่ออายตนะภายในและอายตนะภายนอกประจวบกัน

เช่นตากับรูปประจวบกันก็เห็นรูป หูกับเสียงประจวบกันก็ได้ยินเสียง

การเห็นการได้ยินเป็นต้นนี้ก็เป็นความรู้อย่างหนึ่ง รู้เห็นรู้ได้ยิน

นี้คือวิญญาณ วิญญาณก็เป็นอย่างนี้

กำหนดดูให้รู้จักรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณที่เป็นไปอยู่

กำหนดพิจารณาว่ารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนี้เป็นอย่างนี้ๆ

ตั้งแต่ถือกำเนิดเกิดก่อขึ้นในครรภ์ของมารดาจนถึงในปัจจุบัน และต่อไปจนถึงแตกดับ

ก็เป็นรูปเป็นเวทนาเป็นสัญญาเป็นสังขารเป็นวิญญาณอยู่อย่างนี้ๆ

ลักษณะของขันธ์ ๕

แม้ว่าความเป็นไปของขันธ์ ๕ จะปรากฏเป็นเด็กเล็กเป็นเด็กใหญ่ เป็นหนุ่มเป็นสาว

เป็นคนแก่หรือเป็นคนเฒ่า จนถึงแตกดับ จะปรากฏแตกต่างกันอย่างไร

แต่ก็คงอยู่ในลักษณะเป็นรูป คือเป็นมหาภูตรูป อุปาทายรูป

เป็นเวทนาสุขทุกข์ เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข เป็นสัญญาจำหมาย

เป็นสังขารคิดปรุงหรือปรุงคิด เป็นวิญญาณรู้เห็นรู้ได้ยินเป็นต้น อยู่นั้นเอง

มีลักษณะเป็นขันธ์ ๕ อยู่ดั่งนี้

และที่ชื่อว่าขันธ์ที่แปลว่ากอง

ก็เพราะว่าแต่ละข้อนั้นก็เป็นส่วนผสมปรุงแต่ง จากส่วนประกอบทั้งหลาย

รวมเข้าเป็นรูป เป็นเวทนาเป็นต้น จึงเรียกว่าเป็นขันธ์ที่แปลว่ากองหมวดหมู่

เพราะฉะนั้น ก็ให้พิจารณาให้รู้จักรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณอย่างนี้

และเมื่อได้กำหนดพิจารณาให้รู้จักอย่างนี้แล้ว

ก็ให้รู้จักความเกิดของรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ว่ารูปเกิดขึ้นอย่างนี้

คือว่าส่วนทั้งหลายที่เป็นรูปมาประชุมปรุงแต่งกันขึ้น จากเหตุปัจจัย ๒ ส่วน

คือเหตุปัจจัยที่เป็นภายใน อันได้แก่อวิชชาตัณหาอุปาทานกรรม

และที่เป็นส่วนภายนอกก็คือที่เป็นตัวธาตุทั้งหลายส่วนรูปมาประชุมปรุงแต่งกันขึ้น

เป็นก้อนเป็นกอง ตั้งแต่กลละอันเป็นจุดเริ่มต้นในครรภ์ของมารดามาจนปัจจุบัน

และอาศัยอาหารต่างๆซึ่งบุคคลบริโภค ตลอดจนถึงลมหายใจเข้าออกเป็นอาหาร

บำรุงรักษารูปนี้ให้ดำรงอยู่ ก็เป็นความเกิดขึ้นของรูป

ความเกิดขึ้นของเวทนานั้นก็มาจากเหตุปัจจัย ซึ่งมาสัมผัสกายใจนี้

เมื่อเหตุปัจจัยที่เป็นที่ตั้งของสุขก็ให้เกิดสุข เหตุปัจจัยที่เป็นที่ตั้งของทุกข์ก็ให้เกิดทุกข์

เหตุปัจจัยที่เป็นที่ตั้งของเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ก็ให้เกิดเวทนาที่เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

ก็ปรากฏเป็นความเกิดขึ้นของเวทนา เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้างเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง

สลับสับเปลี่ยนกันไป ก็เป็นความเกิดของเวทนา

สัญญาคือความจำหมายก็เช่นเดียวกัน ก็มีเหตุปัจจัยให้จำหมาย

ก็คือความสัมผัสทางอายตนะภายในภายนอก และทางตัวความรู้ซึ่งเป็นวิญญาณ

ซึ่งให้เกิดเวทนาแล้วจึงให้เกิดสัญญาคือจำหมายได้ในรูปในเสียงเป็นต้น

ที่มาสัมผัส มาประสบพบพาน ก็เป็นความเกิดขึ้นของสัญญา

สังขารความคิดปรุงหรือปรุงคิดก็เช่นเดียวกัน

ก็มีความเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยที่มาสัมผัสเป็นเวทนาเป็นสัญญา

แล้วก็นำเอาสิ่งที่จำนั่นแหละมาคิดปรุงหรือปรุงคิดขึ้นต่างๆ

เพราะว่าคนเรานั้นจะไปปรุงคิดหรือคิดปรุงในสิ่งที่ลืมไม่ได้

คิดปรุงหรือปรุงคิดได้แต่ในสิ่งที่จำได้เท่านั้น

เพราะฉะนั้นเหตุปัจจัยคือความสัมผัสที่นำให้เกิดเวทนาสัญญา

จึงสืบมาถึงสังขารความคิดปรุงหรือความปรุงคิดก็เกิดขึ้น นี้ก็คือความเกิดขึ้นของสังขาร

วิญญาณนั้นเล่าก็อาศัยเหตุปัจจัย

ก็คือนามรูปหรืออายตนะภายในภายนอกที่มาประจวบกัน

จึงได้บังเกิดความรู้เห็นหรือรู้ได้ยินเป็นต้น ที่เราเรียกว่าเห็น ที่เราเรียกว่าได้ยิน

แต่อันที่จริงนั้นก็เป็นความรู้อย่างหนึ่งๆ เห็นก็รู้ ได้ยินก็รู้

ตลอดจนถึงทราบกลิ่นรสโผฏฐัพพะก็รู้ คิดหรือรู้เรื่องราวต่างๆก็รู้

เพราะฉะนั้นเมื่อสิ่งที่ทำให้รู้ก็คืออายตนะเป็นต้นดังกล่าวนั้น

มาประจวบกันก็เป็นเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดวิญญาณ ซึ่งเป็นความรู้เห็นรู้ได้ยิน

เป็นความรู้ที่เรียกว่าทราบ หรือความรู้ที่เรียกว่ารู้หรือคิดทางใจ

ก็เป็นความเกิดของวิญญาณ

ความเกิดดับของขันธ์ ๕

พิจารณาให้รู้จักว่าความเกิดขึ้นของรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นอย่างนี้ๆ

และเมื่อได้กำหนดพิจารณาให้รู้จักความเกิดดั่งนี้แล้ว ก็พิจารณาให้รู้จักความดับ

ว่าความดับของรูป ก็คือความดับที่เป็นความสิ้นความเสื่อมไปตามธรรมดา

ความดับที่เป็นความขาดอาหารคือหากขาดเหตุปัจจัยที่จะมาก่อให้เกิด

เมื่อสิ้นเหตุสิ้นปัจจัยที่ก่อให้เกิดก็ดับ และความดับที่เป็นธรรมดาที่เป็นความเกิดความดับ

ก็เป็นความสิ้นเหตุสิ้นปัจจัยนั้นอีกเหมือนกัน ซึ่งมีอยู่เป็นธรรมดา

และความดับนี้มีอยู่เป็นประจำ เป็นปัจจุบันธรรม

แต่อาศัยสันตติคือความสืบต่อ ดังเช่นบริโภคอาหารเข้าไปบำรุงเลี้ยงรูปกาย

แล้วก็บริโภคอาหารเพิ่มเติมเข้าไปอีก ความสืบต่อชีวิตจึงดำรงอยู่จึงเป็นไปอยู่

แต่ว่าในที่สุดเมื่อถึงคราวที่จะดับในที่สุดแล้ว ก็ไม่สามารถจะใส่อาหารเข้าไปได้

ก็ต้องดับเป็นความตายในที่สุด แต่เมื่อยังเพิ่มอาหารเข้าไปได้ก็เป็นความดับที่ยังต่อได้

เพราะฉะนั้นบุคคลเราจึงต่ออายุกันอยู่เสมอด้วยอาหาร

ซึ่งความจริงนั้นอายุของรูปกายนั้นสิ้นไปหมดไปอยู่ทุกขณะ แต่ต่ออายุกันได้ด้วยอาหาร

ก็ต่อไป อาหารที่เห็นได้ชัดก็คือลมหายใจเข้าลมหายใจออก

ซึ่งต้องบริโภคกันอยู่ทุกลมหายใจเข้าทุกลมหายใจออก ดังที่ปรากฏ

ถ้าหากว่าต้องขาดอาหารคือลมหายใจแม้เพียงไม่นานนัก ชีวิตนี้ก็ดำรงอยู่ไม่ได้

แต่ชีวิตนี้ดำรงอยู่ได้ก็เพราะว่ายังหายใจเข้าหายใจออก รับเอาลมเข้าไปเป็นอาหารบำรุงเลี้ยง

ฉะนั้นช่วงของอายุของรูปกายจริงๆนั้นจึงไม่ยาว

สั้นนิดเดียวแค่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้นั่นแหละ แต่อาศัยที่ต่อได้

คือหายใจต่อกันไปได้ อายุก็จึงต่อไป ไม่สามารถหายใจได้เมื่อใด ก็เป็นอันว่ายุติกันเมื่อนั้น

แปลว่าต่อไม่ได้ เพราะเป็นความดับที่ปรากฏ เมื่อยังต่อได้อยู่ก็เป็นความดับที่ไม่ปรากฏ

แต่อันที่จริงนั้นอายุของรูปกายสิ้นอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกอยู่แล้ว แต่ต่อได้เท่านั้น

คือดับอยู่แล้วแต่ว่าต่อได้ จนถึงต่อไม่ได้จึงเป็นความดับที่ปรากฏ เป็นความตายที่ปรากฏ

นี้เป็นความดับของรูป

ความดับของเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ ก็ดับอยู่ทุกอารมณ์

เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเกิดขึ้นในอารมณ์อันหนึ่ง แล้วก็ดับไปในอารมณ์อันหนึ่งนั้น

อารมณ์ทุกอารมณ์นั้นเกิดดับเร็วมาก ทุกๆคนนั้นรับอารมณ์ทางตาที่เรียกว่ารูปารมณ์

อารมณ์ทางหูที่เรียกว่าสัทธารมณ์ ครู่หนึ่งก็มากมาย

อย่างในบัดนี้กำลังรับสัทธารมณ์อารมณ์คือเสียงที่อบรมนี้

เสียงที่อบรมนี้คำหนึ่งๆ ก็เป็นอารมณ์หนึ่งๆ คำที่หนึ่งเข้ามาก็เป็นเกิด แล้วก็ดับ

จึงถึงอารมณ์ที่สอง เข้ามาก็เกิดดับ จึงถึงอารมณ์ที่สาม

ก็คือว่าคำที่หนึ่ง คำที่สอง คำที่สามนั้นเอง คำหนึ่งก็เป็นอารมณ์หนึ่งๆ

เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็เกิดไปดับไปกับอารมณ์ที่เกิดดับไปโดยลำดับ

เพราะว่าจิตนี้รับอารมณ์ได้คราวละหนึ่งเท่านั้น

เมื่ออารมณ์ที่กำลังรับอยู่ตั้งอยู่ อารมณ์ที่สองก็เข้ามาไม่ได้

ต้องอารมณ์ที่หนึ่งดับ จึงถึงอารมณ์ที่สองเข้าได้ แล้วก็ดับอีก จึงถึงอารมณ์ที่สามเข้าได้

ฉะนั้นคำหนึ่งก็คืออารมณ์หนึ่งๆเมื่อจิตรับเข้ามา ก็เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ อยู่ทุกๆอารมณ์

อารมณ์เกิดดับ เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณในอารมณ์นั้นก็เกิดดับไปพร้อมกับอารมณ์

และอารมณ์นี้ก็เกิดดับอยู่ทุกขณะ ทุกคำดังที่ยกตัวอย่างนั้น

เพราะฉะนั้นเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณนี้จึงเกิดดับ แต่ว่าติดต่อเป็นเรื่องเดียวกัน

เมื่อไม่พิจารณาจึงไม่รู้สึกว่าเกิดดับ เมื่อพิจารณาแล้วจึงจะรู้สึกว่าเกิดดับ

แต่เพราะมีสันตติคือติดต่อกันอีกเหมือนกัน จึงรู้สึกว่าเป็นเรื่องเดียวกันไป

จนกว่าจะขาดสันตติคือความสืบต่อในที่สุด อันเรียกว่าความตายในที่สุด

ความแตกสลายในที่สุด จึงปรากฏเป็นความดับที่ไม่มีต่อ

เพราะฉะนั้นก็พิจารณาให้รู้จักว่า รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณดับอย่างนี้

อย่างละเอียดก็ดับถัดจากเกิดในปัจจุบัน แต่ยังมีสันตติ

แต่เมื่อพิจารณาอย่างหยาบก็คือว่าขาดสันตติในที่สุด ก็เป็นอันว่าดับในที่สุดไม่มีต่ออีก

เป็นความตายหรือเป็นความแตกสลายของขันธ์ที่ปรากฏอยู่

เพราะฉะนั้นก็หัดพิจารณาให้รู้จักขันธ์ ๕ ว่าเป็นอย่างนี้

ความเกิดของขันธ์ ๕ ว่าเป็นอย่างนี้ ความดับของขันธ์ ๕ ว่าเป็นอย่างนี้

ดั่งนี้ก็เป็นสติปัฏฐาน ตั้งสติในขันธ์ อันนับว่าเป็นวิปัสสนาปัญญา

อันผู้ปฏิบัติธรรมสมควรที่จะปฏิบัติหัดพิจารณาให้รู้จัก

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

อายตนะภายในภายนอก

สัญโญชน์ เกิดดับ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

สัญโญชน์คือความผูก ๓

ความไม่รู้เกิดดับ ๕

สัญโญชน์เกิดเพราะไม่รู้ตามเป็นจริง ๖

การปฏิบัติเพื่อละสัญโญชน์ ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดไปเล็กน้อย

ม้วนที่ ๒๒/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๒๓/๑ ( File Tape 19 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

อายตนะภายในภายนอก

สัญโญชน์ เกิดดับ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนให้ตั้งสติพิจารณาขันธ์ ๕

จากนั้นก็ตรัสสอนให้พิจารณาอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ ซึ่งประจวบกัน

การพิจารณาอายตนะนี้เป็นวิธีตั้งสติอย่างดียิ่ง และเป็นการตั้งสติจับปัจจุบันธรรม

ธรรมะที่เป็นปัจจุบัน อันมีอยู่เป็นไปอยู่ที่ตนเอง

และอายตนะนี้ย่อมเป็นที่ตั้งต้นของขันธ์ ซึ่งเป็นปัจจุบันธรรม

และเป็นที่อาศัยเกิดแห่งอกุศลธรรม และกุศลธรรมทั้งหลาย อีกด้วย

เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่..

(เริ่ม ๒๓/๑) อาศัยอายตนะ ตลอดจนถึงกุศลธรรม หรืออกุศลธรรมทั้งหลาย

ที่อาศัยอายตนะบังเกิดขึ้นด้วย

อันอายตนะนั้นท่านแปลว่าที่ต่อ แบ่งเป็นอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ คู่กัน

อายตนะภายในก็คือว่า จักขุหรือจักษุตา โสตะหู ฆานะจมูก ชิวหาลิ้น

กายะก็คือกาย และมโนหรือมนะก็คือใจ

ส่วนภายนอกก็ได้แก่รูป ซึ่งเราก็ใช้เรียกว่ารูป สัทธะคือเสียง คันธะคือกลิ่น รสะคือรส

โผฏฐัพพะคือสิ่งที่ถูกต้อง และธรรมะในที่นี้คือเรื่องราว

ตากับรูปนั้นก็คู่กันต่อกัน หูกับเสียงนั้นก็คู่กันต่อกัน จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส

กายและโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง และมโนหรือมนะคือใจกับธรรมะคือเรื่องราว ก็คู่กันต่อกัน

เพราะเหตุที่ทั้ง ๒ ที่เป็นคู่กันต่างต่อกัน จึงเรียกว่าอายตนะ

สัญโญชน์คือความผูก

และในข้อที่ว่าด้วยอายตนะนี้ พระบรมศาสดาได้ตรัสสอนให้พิจารณา

รวมความเข้าว่า ให้ตั้งสติกำหนดให้รู้จักตา ให้รู้จักรูป และให้รู้จักว่าตาและรูป

อาศัยตาและรูปสัญโญชน์คือความผูกแห่งใจย่อมเกิดขึ้น

อาศัยหูกับเสียง อาศัยจมูกกับกลิ่น อาศัยลิ้นกับรส อาศัยกายและโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง

อาศัยมโนคือใจและธรรมะคือเรื่องราว สัญโญชน์คือความผูกแห่งใจก็เกิดขึ้น

สัญโญชน์จะเกิดขึ้นด้วยประการใด ก็ให้รู้ประการนั้น

สัญโญน์จะละเสียได้ด้วยประการใด ก็ให้รู้ประการนั้น

สัญโญชน์ที่ละแล้วจะไม่เกิดขึ้นได้ด้วยประการใด ก็ให้รู้ประการนั้น

ตรัสสอนให้ตั้งสติกำหนดให้รู้ดั่งนี้

ในทางปฏิบัตินั้น ก็ให้ตั้งสติอยู่ที่จิตนี้เอง

อีกโวหารหนึ่งให้ตั้งสติรักษาอยู่ที่ทวารทั้ง ๖ ทวารก็แปลว่าประตู

ทวารทั้ง ๖ ในที่นี้ก็หมายถึงจักขุทวารประตูตา อันเป็นที่เข้ามาของอารมณ์คือรูป

โสตะทวารประตูหูอันเป็นที่เข้ามาของเสียง ของอารมณ์คือเสียง

ฆานะทวารประตูจมูกอันเป็นที่เข้ามาของอารมณ์คือกลิ่น

ชิวหาทวารประตูลิ้นอันเป็นที่เข้ามาของอารมณ์คือรส

กายทวารประตูกายอันเป็นที่เข้ามาของอารมณ์คือโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง

มโนทวารประตูใจอันเป็นที่เข้ามาของอารมณ์คือธรรมะอันได้แก่เรื่องราว

ให้มีสติเหมือนอย่างนายทวารบาญคือคนรักษาประตูบ้านประตูเมืองเป็นต้น

และเมื่อกล่าวโดยตรงแล้วก็คือมีสติรักษาอยู่ที่จิตนี้เอง

และเมื่อมีสติรักษาอยู่ที่จิตก็เป็นอันว่ามีสติรักษาอยู่ที่ทวารทั้ง ๖ นั้นด้วย

ทวารทั้ง ๖ อันเป็นที่เข้ามาของอารมณ์ทั้ง ๖ นั้น ก็คือเข้ามาสู่จิต

หรืออีกโวหารหนึ่งก็คือว่าจิตออกรับอารมณ์ทั้ง ๖ ทางทวารทั้ง ๖ นั้น

เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติก็ให้หัดตั้งสติกำหนดอยู่ทุกขณะ

ที่ตากับรูปประจวบกัน หูกับเสียงประจวบกัน เป็นต้น

ตลอดจนถึงมโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวประจวบกัน

พูดง่ายๆก็คือว่ามีสติกำหนดอยู่ทุกขณะที่เห็นอะไร ได้ยินอะไร ได้ทราบอะไร ได้คิดได้รู้อะไร

โดยกำหนดจำแนกให้รู้จักว่าที่เห็นนั้นก็คือตากับรูป ที่ได้ยินนั้นก็คือเสียงกับหู

ที่ได้ทราบนั้นก็คือกลิ่นกับจมูก ลิ้นกับรส สิ่งถูกต้องกับกาย และเรื่องราวกับใจ

กำหนดจำแนกให้รู้จักดั่งนี้

และเมื่อเกิดสัญโญชน์คือความผูกแห่งจิต

อันหมายความว่าเกิดความยินดีขึ้นในรูปในเสียงนั้นก็ดี

เกิดความยินร้ายไม่ชอบใจในรูปเสียงเป็นต้นนั้นก็ดี

หรือว่าเกิดความหลงใหลในรูปเสียงเป็นต้นนั้นก็ดี ก็ให้รู้จักว่านี้คือสัญโญชน์คือความผูก

อันหมายความว่าจิตนี้ผูกพัน หรือว่ารูปเสียงเป็นต้นนั้นยังผูกพันอยู่ในจิต

จึงปรากฏเป็นยินดีชอบใจ หรือยินร้ายไม่ชอบใจ หรือว่าหลงใหลสยบติดอยู่

ในรูปเสียงเป็นต้นเหล่านั้น ก็กำหนดดูให้รู้จักว่านี่เป็นตัวสัญโญชน์คือความผูก

เพราะจิตมีสัญโญชน์คือความผูกพันอยู่นี้เอง จึงยินดีชอบใจ หรือยินร้ายไม่ชอบใจ

หรือว่าหลงใหลสยบติดในรูปเสียงเป็นต้น ที่เห็นที่ได้ยินเป็นต้นทั้งหมดนั้น

กำหนดดูให้รู้จักดั่งนี้ว่านี่คือตัวสัญโญชน์คือความผูก จิตผูกแล้ว สิ่งนั้นๆผูกพันอยู่ในจิตแล้ว

หรือว่าจิตผูกพันอยู่ในสิ่งนั้นแล้ว เพราะฉะนั้นก็ตั้งสติกำหนดให้รู้จักดั่งนี้

ความไม่รู้เกิดดับ

และก็กำหนดให้รู้จักต่อไปว่าที่ผูกพันนั้นเพราะอะไร ก็เพราะว่าไม่รู้ตามเป็นจริง

ไม่รู้ตามเป็นจริงว่าอย่างไร ไม่รู้ตามเป็นจริงว่าสิ่งเหล่านั้นเกิดดับไปแล้วคือผ่านไปแล้ว

ที่ว่าผ่านไปแล้วนั้นคือว่าประสบแล้วก็ผ่าน ประสบก็เป็นเกิดผ่านก็เป็นดับ

เหมือนอย่างเมื่อตากับรูปประจวบกัน คือเห็นอะไร ขณะที่ประสบกันนั้นก็เป็นเกิด แล้วก็ผ่าน

เพราะว่าการเห็นนั้นเกิดขึ้นและก็ดับผ่านไปทันที จึงได้ประจวบกันเข้าใหม่ ก็เป็นการเห็นใหม่

การเห็นใหม่นั้นก็เกิดดับ จึงมีการเห็นใหม่ต่อไปอีก

เพราะว่าอันสิ่งที่เห็นนั้นอยู่ภายนอก รูปที่เห็นก็อยู่ภายนอก ที่เป็นรูปจริงๆ

ตาที่เห็นที่เป็นตาเนื้อถึงจะอยู่ในตัวเอง แต่ก็ชื่อว่าภายนอกอีกเหมือนกัน

เพราะว่าการเห็นนั้นเห็นที่ตาเนื้อ

คราวนี้ส่วนที่เข้าไปตั้งในจิตนั้น

รูปที่เห็นไม่ได้เข้าไปตั้งในจิต สิ่งที่เข้าไปตั้งในจิตนั้นก็คือว่าอารมณ์คือเรื่อง

เรื่องของรูปนั้นเข้าไปตั้งอยู่ในจิต ซึ่งอารมณ์คือเรื่องนั้นไม่มีตัวไม่มีตนอะไร เป็นเรื่อง

ส่วนที่เป็นรูปร่างที่เรียกว่าตัวตนนั้นตั้งอยู่ในภายนอก เห็นใคร คนที่เห็นนั้นเขาก็ยืนอยู่ข้างนอก

ต้นไม้ที่เห็นนั้นก็อยู่ข้างนอก บ้านเรือนที่เห็นนั้นก็อยู่ข้างนอกทุกอย่าง

ส่วนที่เข้าไปตั้งอยู่ในใจนั้นเป็นอารมณ์คือเรื่องเท่านั้น แล้วก็เป็นเรื่องของสิ่งที่เห็นไปแล้ว

เพราะสิ่งที่เห็นทุกๆคราวที่เห็นนั้น ก็ผ่านไป ผ่านไป ผ่านไป ดังที่ปรากฏแก่ทุกๆคน

ตากับรูปที่มาประจวบกันชั่วนาทีหนึ่ง ก็ไม่รู้ว่ากี่สิบกี่ร้อยรูป กี่สิบกี่ร้อยครั้ง

แต่คราวนี้อารมณ์คือเรื่องของรูปที่เห็นนั้นตั้งอยู่ในจิตผูกพันอยู่ในจิต เป็นตัวสัญโญชน์อยู่ในจิต

จึงเหมือนอย่างว่า เป็นบุคคล เป็นต้นไม้ เป็นบ้านเป็นเรือน

เป็นทุกๆอย่างเข้าตั้งอยู่ในจิต เหมือนอย่างมีตัวมีตน

สัญโญชน์เกิดเพราะไม่รู้ตามเป็นจริง

ความที่ปรากฏดั่งนี้ ก็ปรากฏเป็นเรื่องของขันธ์

เป็นตัวสัญญาคือความจำหมาย ซึ่งเป็นไปตามธรรมดาของขันธ์นั้นอย่างหนึ่ง

และเป็นสัญโญชน์คือความผูกพันอีกอย่างหนึ่ง คือมีความผูกพันอยู่ในอารมณ์ที่ปรากฏนั้น

อันปรากฏเป็นความยินดี ความยินร้าย ความหลงใหลดังกล่าวนั้น นั้นเอง

ดั่งนี้คือเรียกว่าเป็นสัญโญชน์ คือความผูกพัน

ชอบก็เพราะผูกพัน ถ้าไม่ผูกพันความชอบก็ไม่เกิดขึ้นตั้งอยู่

โกรธก็เพราะผูกพัน ถ้าไม่โกรธ ถ้าไม่ผูกพันความโกรธก็ไม่เกิดขึ้นตั้งอยู่

หลงใหลสยบติดก็เพราะผูกพัน ถ้าไม่ผูกพันก็ไม่หลงใหลสยบติด

เพราะฉะนั้น เพราะเหตุที่ไม่รู้ตามความเป็นจริง

ว่าอันที่จริงนั้นสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน สิ่งที่ได้ทราบ สิ่งที่ได้รู้ได้คิด ทุกอย่างเกิดดับไปแล้ว

ไม่มีตัวตนอะไรตั้งอยู่ สิ่งที่ยังตั้งอยู่นั้นก็คือตัวสัญโญชน์คือความผูกพัน

ซึ่งเป็นตัวความปรุงความแต่งขึ้นมาจากสิ่งที่ไม่มี ให้มีขึ้น

หรือปรุงแต่งเงาที่ไม่มีตัวตนให้เป็นตัวตนขึ้นมา แต่อันที่จริงนั้นทุกอย่างเกิดดับไปแล้วทุกขณะ

เพราะไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริงดั่งนี้ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเอาไว้

เราพิจารณาดูว่าจริงไหมที่ท่านสอนไว้ ก็จะต้องรับว่าจริง

เพราะไม่มีตัวตนอะไรตั้งอยู่จริงๆ เป็นความผูกพัน เป็นความปรุงแต่งของจิตทั้งนั้น

สัญโญชน์บังเกิดขึ้นก็เพราะไม่รู้ไม่เห็นตามเป็นจริงดั่งนี้

และเมื่อรู้เมื่อเห็นตามเป็นจริงสัญโญชน์ก็จะละได้

และถ้าหากว่าทำให้รู้เห็นตามเป็นจริงอยู่ได้ตลอดไป สัญโญชน์ก็จะไม่เกิดขึ้นอีก

กำหนดทำความรู้เท่าทันไว้เพียงเท่านี้ก่อน

และศึกษาปฏิบัติกำหนดให้สัจจะคือความจริงนี้ปรากฏชัดขึ้นทุกที

เมื่อชัดขึ้นได้มากเท่าไรก็จะทำให้ละสัญโญชน์ได้เท่านั้น และป้องกันสัญโญชน์ได้เท่านั้น

การปฏิบัติเพื่อละสัญโญชน์

การที่จะปฏิบัติให้รู้แจ้งเห็นจริงขึ้นได้ดั่งนี้ คือจะละสัญโญชน์ได้ ก็จะต้องฝึกหัดตั้งสติ

ขั้นต้นตั้งสติให้มีสติกำหนดอยู่ทุกขณะที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้ทราบ ที่ได้คิดได้นึกอะไร

แยกให้รู้จักว่านี่เป็นรูป นี่เป็นตา นี่เป็นเสียง นี่เป็นหู เป็นต้น และนี่เป็นสัญโญชน์

ที่เป็นสัญโญชน์ก็เพราะยังไม่รู้ตามเป็นจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

ว่าไปยึดไปผูกพันในสิ่งที่ไม่มี ไปปรุงแต่งให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นมาในจิต

ซึ่งความปรุงแต่งนั้นก็เป็นความปรุงแต่ง

เหมือนอย่างว่าวาดภาพลงไปในแผ่นกระดาษ หรือในแผ่นผ้า

ให้เป็นภาพคน เป็นภาพต้นไม้ เป็นภาพอะไรต่ออะไรตามต้องการ

แล้วก็ ก็ไปยินดียินร้าย ไปหลงใหลอยู่ในภาพที่เขียนขึ้นนั้นว่าเป็นจริง

เหมือนอย่างว่านี่เป็นต้นไม้จริง นี่เป็นคนจริง นี่เป็นสิ่งนั้นๆจริง

แต่อันที่จริงนั้นเป็นภาพทั้งนั้นไม่มีตัวจริงอยู่

หรือเหมือนอย่างดูพยับแดดที่ปรากฏเป็นภาพต่างๆ

ดูเมฆที่ลอยไปในอากาศนึกว่าเป็นภาพสัตว์เป็นภาพคน เป็นภาพอะไร

บางทีก็เห็นเป็นภาพนั้น เป็นภาพนั้น ก็เป็นภาพขึ้นในจิตใจทั้งนั้น ซึ่งอันที่จริงไม่มีอะไรอยู่

ทุกๆอย่างนั้นเกิดดับไปหมดแล้ว แต่ยังผูกพันอยู่

หมั่นตั้งสติตรวจตราพิจารณาอยู่ดั่งนี้ สัจจะคือความจริงอย่างไรก็จะปรากฏขึ้นมา

ก็จะป้องกันสัญโญชน์ จะละสัญโญชน์คือความผูกได้

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ดั่งนี้ จึงเป็นการปฏิบัติหัดตั้งสติ

ให้รู้เท่าทันปัจจุบันธรรมในตนเอง

อันเป็นทางปฏิบัติเพื่อความบริสุทธิ์ เพื่อดับทุกข์ร้อนทั้งหลาย

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป