ถอดเทปพระธรรมเทศนา

  • พิมพ์

เทป022

การปฏิบัติเพื่อให้พ้นวัฏฏทุกข์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ๓

ทุกข์ปัจจุบัน ทุกข์ภายหน้า ๔

สุขปัจจุบัน สุขภายหน้า ๕

เอกะวิหารี ๕

นันทิ ความเพลินติดใจยินดี ๖

หลักปฏิบัติที่มุ่งถึงจิตใจ ๗

ข้อปฏิบัติให้มองเห็นทุกข์ ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความขาดนิดหน่อย ไม่เสียความ

ม้วนที่ ๒๕/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๒๖/๑ ( File Tape 22 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

การปฏิบัติเพื่อให้พ้นวัฏฏทุกข์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงสั่งสอนก็เพื่อให้พ้นทุกข์

ตั้งต้นแต่ให้พ้นจากทุกข์ในโลกเช่นภัยเวรต่างๆ ตลอดจนถึงความเป็นผู้ไม่มีหนี้สินเป็นต้น

ด้วยทรงสั่งสอนให้ถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียรเล่าเรียนศึกษา

ประกอบอาชีพการงาน เพื่อให้ได้ทรัพย์มาเป็นเครื่องทะนุบำรุงชีวิตให้มีความผาสุข

ให้ถึงพร้อมด้วยการรักษาทรัพย์สมบัติที่หามาได้ ตลอดจนถึงการงานที่ประกอบกระทำ

ให้ตั้งมั่นเป็นสมบัติคือเป็นความถึงพร้อม ให้คบเพื่อนมิตรที่ดีงาม

และให้ใช้จ่ายตามกำลังแห่งทุนทรัพย์ที่หามาได้ มิให้เบียดกรอนัก มิให้ฟูมฟายนัก

เป็นอันว่าได้พ้นจากความทุกข์ อันเกิดจากความไม่มีทรัพย์ที่ควรจะมี

ไม่ขัดข้องในการที่จะบริโภคใช้สอย ไม่ประกอบการงานที่มีโทษ ไม่มีหนี้สิน

ก็เป็นอันว่าได้ประสบความสุขในโลกปัจจุบัน

และทรงสั่งสอนให้พ้นจากความทุกข์ในอบาย คือในภพหรือในภาวะที่ไม่เจริญ

ที่ตกต่ำประกอบด้วยทุกข์ ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในภายหน้า

ความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ

ด้วยทรงสั่งสอนให้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ความเชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ

ประกอบด้วยปัญญาพิจารณา ไม่เชื่องมงาย โดยตรงก็คือเชื่อในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

อันรวมถึงเชื่อในคำสั่งสอนของพระองค์ จึงเชื่อในกรรม เชื่อในวิบากคือผลของกรรม

และเชื่อในความที่สัตว์มีกรรมเป็นของๆตน

ทรงสั่งสอนให้ประกอบด้วยศีล เว้นจากความประพฤติที่เป็นภัยเป็นเวรทั้งหลาย

ทรงสั่งสอนให้ถึงพร้อมด้วยจาคะคือการสละบริจาคช่วยเหลือเกื้อกูล

ทรงสั่งสอนให้ถึงพร้อมด้วยปัญญาคือความรู้จักบาปบุญคุณโทษประโยชน์มิใช่ประโยชน์

เมื่อปฏิบัติดั่งนี้ก็ทำให้บรรลุถึงความเจริญทางกายทางวาจาทางใจ

ไม่ตกต่ำ ไม่เป็นทุกข์ เพราะภัยเวรบาปอกุศลต่างๆ

จึงมีความสุขทั้งในปัจจุบัน และสืบต่อไปในภายหน้า ทั้งในโลกนี้ทั้งในโลกอื่น

อนึ่ง ทรงสั่งสอนให้พ้นจากวัฏฏทุกข์ ทุกข์คือความเวียนว่ายตายเกิด

ดังที่ได้ตรัสแสดงถึงทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์

ตั้งต้นแต่ทุกข์คือชาติความเกิด ทุกข์คือชราความแก่ ทุกข์คือมรณะความตาย

อันเป็นสภาวะทุกข์ ทุกข์ตามสภาพ ตลอดจนถึงทุกข์ทางจิตใจ

ซึ่งทุกข์ทั้งปวงนี้ก็เกิดจากตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากไปต่างๆ

การปฏิบัติเพื่อให้พ้นวัฏฏทุกข์นี้

ก็เป็นข้อที่ผู้ปฏิบัติธรรมะจะพึงปฏิบัติตั้งแต่ในเบื้องต้น

แม้ว่าจะยังต้องการดำรงชีวิตอยู่ในโลก ก็ควรต้องปฏิบัติในทางดับวัฏฏทุกข์ด้วย

จึงจะพบความสุขของจิตใจอย่างแท้จริง แม้ว่าจะยังดับตัวทุกข์สมุทัยคือตัณหามิได้

ก็สามารถที่จะเป็นนายของตัณหาได้ ไม่เป็นทาสของตัณหา

ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ตัณหาทาโส เป็นทาสของตัณหา

หรือ ตัณหาทาสี เป็นทาสของตัณหา

ทุกข์ปัจจุบัน ทุกข์ภายหน้า

บุคคลที่เป็นทาสของตัณหานั้น ย่อมมีความทุกข์อย่างยิ่ง

เพราะจะถูกตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากในจิตใจของตนเอง

มาบังคับขับไสให้ประกอบกรรมต่างๆ เพื่อสนองตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงไม่อาจที่จะละบาปอกุศลทุจริต ประกอบบุญกุศลสุจริตต่างๆ

ได้อย่างตามสมควร หรือว่าได้อย่างมาก

เพราะการปฏิบัติที่จะสนองตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากนั้น

ถ้าเป็นตัณหาอย่างแรงอันแสดงออกมาเป็นโลภโกรธหลงอย่างแรง

ก็จะต้องฆ่าเขาบ้าง ลักของเขาบ้าง ประพฤติผิดในกามบ้าง พูดเท็จหลอกลวงเขาบ้าง

ตลอดจนถึงดื่มสุรายาเมาอันเป็นทางที่ตั้งของความประมาทต่างๆ

จึงเป็นเหตุทำลายความสุขที่จะพึงได้ทั้งในปัจจุบัน และทั้งในภายหน้า

ไม่สามารถที่จะพ้นจากทุกข์ในปัจจุบัน ไม่สามารถที่จะพ้นจากอบายทุกข์ได้

เพราะฉะนั้นคนเป็นอันมาก... ( จบ ๒๕/๒ )

( เริ่ม ๒๖/๑ ) และแม้ว่า จะไม่ใช้ประกอบกรรมที่ชั่วอะไรมากนัก

แต่ก็ไม่พบความสุขทั้งทางจิตใจ ทั้งทางกายในปัจจุบัน

เพราะอำนาจของความดิ้นรนทะยานอยาก ยึดถือต่างๆ

แผดเผาจิตใจ กลุ้มรุมจิตใจให้มีความทุกข์

และเมื่อประกอบกรรมที่ชั่วที่ผิดต่างๆ ก็ยิ่งจะได้รับผลเป็นอบาย

คือความตกต่ำเสื่อมทรามสืบต่อไปในภายหน้า อันเป็นตัวอบายทุกข์ด้วย

สุขปัจจุบัน สุขภายหน้า

เพราะฉะนั้นแม้จะรู้สึกตนเองว่า ยังมีตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก

และพอใจที่จะอยู่กับตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก

เป็นโลกิยะคือเกี่ยวข้องอยู่กับโลก ก็ไม่ควรที่จะเป็นทาสของตัณหา

เมื่อมีตัณหาอยู่ ก็ให้เป็นนายของตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก

และเมื่อนายของตัณหาคือตนเอง

ประกอบด้วยศรัทธาปัญญาในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

ก็จะได้อาศัยตัณหาประกอบกรรมที่ดีที่ชอบ คือให้อยากประกอบกรรมที่ดีที่ชอบ

ขวนขวายประกอบกรรมที่ดีที่ชอบต่างๆยิ่งๆขึ้นไป

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะสามารถบรรลุถึงความสุขทั้งในปัจจุบัน และทั้งในภายหน้า

และเมื่อศรัทธาปัญญาเจริญเติบโตขึ้นมาก็จะละตัณหาได้ในที่สุด

ได้ในข้อที่ว่าอาศัยตัณหาละตัณหาเสีย ดั่งนี้

เอกะวิหารี

การที่จะปฏิบัติดั่งนี้ได้ ก็ต้องอาศัยการปฏิบัติในทางละวัฏฏทุกข์

คือละตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากนั้นเอง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้

จึงจะทำตนให้เป็นนายของตัณหาได้ ไม่ต้องเป็นทาสของตัณหา

การที่ปฏิบัติดั่งนี้วิธีหนึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้แก่พระภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่า มิคะชาละ

ท่านมิคะชาละได้กราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า บุคคลที่ได้ชื่อว่า เอกะวิหารี

คือเป็นผู้อยู่ผู้เดียว มิใช่อยู่โดยมีเพื่อนสอง ด้วยการปฏิบัติอย่างไร

พระพุทธองค์ได้ตรัสตอบมีความว่า บุคคลที่จะชื่อว่าเอกะวิหารีอยู่ผู้เดียว

มิใช่อยู่ด้วยมีเพื่อนสองนั้น ก็จะต้องปฏิบัติให้ตรงกันข้ามกับบุคคลที่ชื่อว่า

มิใช่อยู่ผู้เดียว แต่ว่าอยู่ด้วยมีเพื่อนสอง

นันทิ ความเพลินติดใจยินดี

จึงได้ทรงแสดงถึงบุคคลที่มิใช่อยู่ผู้เดียว แต่อยู่ด้วยมีเพื่อนสองก่อน มีใจความว่า

อันรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง และธรรมะคือเรื่องราวที่น่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจ

เป็นปิยะรูปคือเป็นสิ่งที่น่ารักใคร่ เป็นสิ่งที่ชวนให้ปรารถนา เป็นที่ตั้งแห่งความติดใจยินดีมีอยู่

ถ้าว่าภิกษุอภินันท์คือพอใจชมเชยหรือว่าชมชื่น ก็ย่อมจะมีนันทิคือความเพลิน

เมื่อมีนันทิคือความเพลินก็ย่อมมีความติดใจ เมื่อมีความติดใจก็ย่อมจะมีความผูกพัน

และเมื่อเป็นไปอยู่ดั่งนี้ แม้ว่าภิกษุนั้นจะอยู่ในป่าในสุมทุมพุ่มไม้อันเป็นที่สงบสงัด

เป็นที่อันเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความสงบสงัด ก็ไม่ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ผู้เดียว

อันเรียกว่าเอกะวิหารี แต่ว่าชื่อว่าอยู่ด้วยมีเพื่อนสอง เพื่อนสองนั้นก็คือตัณหา

ความดิ้นรนทะยานอยาก อันหมายถึงอาการที่มีความเพลิน มีความติดใจ มีความผูกพัน

อยู่ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมะคือเรื่องราวดังกล่าวนั้นๆเอง ยังละตัณหามิได้

ต่อจากนี้จึงทรงแสดงถึงผู้ที่อยู่ผู้เดียว มิใช่อยู่ด้วยมีเพื่อสองในทางตรงกันข้าม

ซึ่งมีใจความว่ารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมะคือเรื่องราว ซึ่งน่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ

เป็นสิ่งที่เป็นที่รักอันเรียกว่าปิยะรูป ชวนให้ต้องการปรารถนา เป็นที่ตั้งของความติดใจมีอยู่

ถ้าภิกษุไม่อภินันท์ คือไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ไม่ชมชื่น ก็ย่อมจะไม่มีนันทิคือความเพลิน

เมื่อไม่มีนันทิคือความเพลิน ก็ไม่มีความติดใจรักใคร่ปรารถนา

เมื่อไม่มีความติดใจก็ย่อมไม่มีความผูกพัน ดั่งนี้แหละชื่อว่าเป็นผู้ที่อยู่ผู้เดียว

มิใช่อยู่ด้วยเพื่อนสอง ก็เพราะว่าละตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากเสียได้ ดั่งนี้

และก็ได้ตรัสต่อไปว่าภิกษุที่ชื่อว่าอยู่ผู้เดียวมิใช่อยู่ด้วยมีเพื่อนสอง ดั่งนั้น

แม้ว่าจะอยู่ในที่สุดบ้าน ดังที่เรียกว่าเป็น คามวาสี ยังเกลื่อนกล่นไปด้วยบุคคลทั้งหลาย

และยังมีเสียงที่ไม่สงบเหมือนอย่างถิ่นที่เป็นบ้านเป็นเมือง

แม้เช่นนั้น ก็ชื่อว่าเป็นผู้อยู่ผู้เดียว มิใช่อยู่ด้วยมีเพื่อนสอง

เพราะละตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากเสียได้ ดั่งนี้

หลักปฏิบัติที่มุ่งถึงจิตใจ

ตามพระพุทธภาษิตนี้ เป็นคำสั่งสอนที่ทำให้มองเห็นหลักปฏิบัติทางพุทธศาสนา

ที่มุ่งเข้ามาโดยตรงถึงการปฏิบัติทำจิตใจนี้เอง ให้สงบสงัดเป็นประการสำคัญ

และในการปฏิบัติทำจิตใจให้สงบสงัดนั้น ก็คือเป็นการปฏิบัติทำจิตใจให้พ้นทุกข์ ไม่อยู่กับทุกข์

ถ้าจิตใจยังไม่พ้นทุกข์ ยังอยู่กับทุกข์ จะอยู่ในป่าหรืออยู่ในบ้านก็ยังเป็นทุกข์อยู่นั้นเอง

อันจิตใจที่อยู่กับทุกข์ไม่พ้นทุกข์นั้น

ก็คือจิตใจที่ยังมีความพอใจชมชื่น เพลิดเพลิน ติดใจรักใคร่ยินดี

ผูกพันอยู่ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง และธรรมะคือเรื่องราว

ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลายซึ่งได้ประสบพบพานทางตาหูจมูกลิ้นกายและใจนี้เอง

แม้ว่าจะหลบไปอยู่ในป่าอันเป็นที่สงบสงัดไม่มีผู้คนพลุกพล่าน

ตาหูจมูกลิ้นกายก็ดูเหมือนสงบสงัด คือตาก็ไม่เห็นอะไรที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ

เห็นแต่ต้นไม้ภูเขา หูก็ไม่ได้ยินเสียงอะไรที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ

แต่ว่าอายตนะข้อที่ ๖ คือมโนใจนี้ยังมีความพอใจชื่นชมเพลิดเพลินติดใจผูกพัน

อยู่ในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมะคือเรื่องราวต่างๆ

ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย โดยที่ยังหน่วงคิดไปถึงสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว

ก็เป็นอันว่ายังอยู่กับทุกข์ ยังไม่พ้นทุกข์

อันสิ่งเหล่านี้ยังไม่มองเห็นว่าเป็นตัวทุกข์

แต่ยังมองเห็นว่าเป็นตัวสุข หรือเป็นตัวเหตุให้เกิดสุขอยู่

เมื่อเป็นดั่งนี้จึงเท่ากับว่ายังชื่นชมยินดีอยู่ในตัวทุกข์ หรือในสิ่งที่เป็นทุกข์

ยังไม่มองเห็นทุกข์ เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ชื่อว่ายังเป็นทาสของตัณหา ยังอยู่กับตัณหา

ยังมีตัณหานี้เป็นตัวเพื่อนอยู่ด้วยกัน ยังไม่พรากออกไปได้ ยังไม่ใช่ตัวคนเดียว

ยังมีตัณหาเป็นเพื่อนอยู่อีกหนึ่ง คือยังมีเพื่อนสอง เมื่อเป็นดั่งนี้จึงไม่พ้นทุกข์ ยังอยู่กับทุกข์

จะอยู่ในป่าหรืออยู่ในบ้าน ก็อยู่กับทุกข์เหมือนกัน

ข้อปฏิบัติให้มองเห็นทุกข์

เพราะฉะนั้น จึงต้องการที่จะปฏิบัติให้มองเห็นสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นตัวทุกข์

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะธรรมะคือเรื่องราวเหล่านี้นี่แหละ ให้มองเห็นว่าเป็นตัวทุกข์

เป็นตัวเหตุเกิดทุกข์ ไม่ใช่เป็นตัวสุข เป็นตัวเหตุให้เกิดสุข

ทั้งนี้ก็ด้วยใช้ปัญญาพิจารณาให้มองเห็นว่าสิ่งเหล่านี้

เป็นตัวทุกข์ที่ทำให้เกิดทุกข์ต่างๆได้สถานหนึ่ง

ให้เห็นว่าเป็นตัวสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง ซึ่งต้องเกิดต้องดับ

ก็คือไตรลักษณ์นั้นเอง อย่างหนึ่ง

ให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปอีกอย่างหนึ่ง ดั่งนี้

เมื่อมองเห็นดั่งนี้จึงจะเห็นทุกข์

และเมื่อเห็นว่าเป็นทุกข์แล้วก็จะไม่ต้องการ ใจก็จะไม่ยินดีพอใจ ไม่ชมชื่น

ไม่เพลิดเพลิน ไม่ติดใจ ไม่ผูกพัน เพราะเมื่อเห็นว่าเป็นตัวทุกข์แล้วก็ย่อมจะไม่ผูกพัน

จะไปผูกพันไปต้องการทำไมเมื่อเห็นว่าเป็นตัวทุกข์

ที่ยังผูกพันยังพอใจอยู่ก็เพราะเห็นว่าเป็นตัวสุข ก็คือเป็นที่น่ารักใครปรารถนาพอใจ

แต่ถ้าเห็นว่าเป็นตัวทุกข์แล้ว ก็จะเห็นว่าไม่ใช่เป็นที่น่ารัก น่าใคร่ น่าปรารถนาพอใจ

ไม่ใช่เป็นสิ่งซึ่งจะพึงเป็นที่รัก ไม่ใช่สิ่งที่จะพึงปรารถนาต้องการ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะพึงติดใจยินดี

อันนี้แหละเป็นข้อปฏิบัติอันสำคัญ หากว่าทำได้

เห็นทุกข์ในสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ในสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นสุขเหล่านี้ได้แล้ว

จึงจะพ้นทุกข์ได้ คือจะเป็นนายของตัณหาได้ ดับตัณหาได้ตามภูมิตามชั้น

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

ทุกข์ ๒ ชั้น

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ทุกขสัจจะ ๓

ความหมายของคำว่าทุกขสมุทัย ๔

ความหมายของคำว่าโลก ๕

ความยึดถือว่าตัวเราของเรา ๖

มานานุสัย อหังการ มมังการ

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๒๖/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๒๖/๒ ( File Tape 22 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

ทุกข์ ๒ ชั้น

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงธรรมะ

อันเป็นสัจจะคือความจริงของจริงของแท้ รวมเข้าในอริยสัจจ์ทั้ง ๔

คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ทุกข์และเหตุเกิดทุกข์ เป็นสัจจะคือความจริงในด้านทุกข์

ความดับทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เป็นสัจจะคือความจริงในด้านดับทุกข์

พุทธศาสนาย่อมรวมลงในสัจจะทั้ง ๔ นี้

และพระบรมศาสดาก็ทรงพยากรณ์ปัญหาทั้งหลายในอริยสัจจ์นี้

ไม่ทรงพยากรณ์ปัญหานอกอริยสัจจ์ ซึ่งไม่อาจจะรู้เห็นได้

ที่ว่าไม่อาจจะรู้เห็นได้นั้น ก็คือบุคคลผู้ฟังไม่สามารถจะรู้เห็นได้

แต่อริยสัจจ์ผู้ฟังอาจรู้เห็นได้ ก็เพราะเป็นสัจจะคือความจริง

ในกายอันยาววาหนึ่งมีสัญญามีใจนี้นั้นเอง

ทรงแสดงอริยสัจจ์ในภายในขอบเขตแห่งกายที่ยาววาหนึ่งมีสัญญามีใจนี้ของทุกๆคน

เพราะฉะนั้นจึงอาจที่จะรู้เห็นได้ด้วยตนเอง

ทุกขสัจจะ

และ พหุลานุสาสนี คำสั่งสอนเป็นอันมากของพระองค์

ก็ทรงแสดงชี้ให้รู้จักทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ อันประกอบอยู่ด้วยทุกขสมุทัย

คือเหตุให้เกิดทุกข์ กายอันยาววาหนึ่งมีสัญญามีใจนี้ก็คือขันธ์ อายตนะ ธาตุ ของทุกๆคน

อันรวมเข้าเป็นนามและรูป หรือกายและใจที่หมายถึงนามและรูปนี้เอง

และสิ่งนี้เองที่เป็นตัว ทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ คือกายที่ยาววาหนึ่งมีสัญญามีใจ

หรือนามรูป หรือกายและใจนี้ เป็นตัวทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์

ประกอบอยู่ด้วยสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์

และตัวทุกข์นั้นก็จะพึงกล่าวได้ว่าเป็นทุกข์ ๒ ชั้น ที่ประกอบกันอยู่

คือเป็นตัวสภาวะทุกข์ ทุกข์ตามสภาพคือเกิดแก่เจ็บตาย

ซึ่งเป็นตัวสภาวะทุกข์ ทุกข์ตามสภาพ มีแก่ขันธ์อายตนะธาตุ หรือกายใจหรือนามรูป

หรือที่กล่าวว่ากายที่ยาววาหนึ่งมีสัญญามีใจนี้ของบุคคลทุกๆคน

ไม่ว่าจะเป็นนามรูปของใครก็ต้องประกอบด้วยสภาวะทุกข์อยู่ดั่งนี้ นี่เป็นทุกข์ชั้นหนึ่ง

และทุกข์อีกชั้นหนึ่งก็คือทุกข์ทางจิตใจ เพราะมีตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากประกอบอยู่

ก็ทำให้เกิดโสกะปริเทวะเป็นต้น อันเป็นทุกข์ทางจิตใจ หรือที่เรียกว่าปกิณกะทุกข์

ทุกข์เบ็ดเตล็ดทางใจต่างๆ อีกชั้นหนึ่งประกอบกันอยู่

ถ้าหากว่าจะเปรียบนามรูปนี้ หรือกายที่ยาววามีสัญญามีใจนี้ ก็เทียบได้กับก้อนถ่านไฟ...

( เริ่ม ๒๖/๒ ) และตัวสภาวะทุกข์ก็เทียบได้กับไฟที่ติดอยู่กับก้อนถ่านไฟ

นามรูปหรือกายใจ หรือกายที่ยาววามีสัญญามีใจนี้ จึงเป็นเหมือนอย่างก้อนถ่านไฟ

ที่มีไฟติดอยู่แล้ว ก็คือไฟชาติ ไฟชรา ไฟมรณะ

ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ชาติปิทุกขา ชราปิทุกขา มรณัมปิทุกขัง

ชาติความเกิดเป็นทุกข์ ชราความแก่เป็นทุกข์ มรณะเป็นทุกข์

ซึ่งติดเผาก้อนถ่านไฟคือกายใจนี้ มาพร้อมกับชาติคือความเกิด

และก็เผาให้บุบสลายเรื่อยไปจนเป็นเถ้าในที่สุด ก็คือมรณะคือความตาย

นี้เป็นตัว ขันธ์ อายตนะ ธาตุ กับสภาวะทุกข์ที่ประกอบกันอยู่เป็นทุกข์ชั้นหนึ่ง

ความหมายของคำว่าทุกขสมุทัย

คราวนี้ถ้าถ่านไฟที่ประกอบด้วยไฟซึ่งเป็นตัวสภาวะทุกข์เผาอยู่นี้

วางอยู่โดยบุคคลไม่ยึดถือ บุคคลก็ไม่ร้อน แต่คราวนี้บุคคลไปยึดถือเอาก้อนถ่านไฟที่มีไฟนี้

เหมือนอย่างหยิบเอาก้อนถ่านไฟนี้มากำเอาไว้ในกำมือ

ไฟก็ไหม้มือให้เกิดทุกขเวทนา เป็นความร้อนขึ้นอีกเพราะความยึดถือ

นี่เป็นความทุกข์อีกชั้นหนึ่ง ที่บังเกิดทางจิตใจตลอดถึงกาย

เพราะตัณหาอุปาทานของบุคคล ซึ่งเป็นตัวทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

และอันที่จริงนั้นตามคติทางพุทธศาสนา

ตัณหา อุปาทาน ตัวทุกขสมุทัยนี้ย่อมเป็นตัวเหตุก่อชาติภพ คือเกิดก่อธาตุขันธ์

ซึ่งเป็นตัวทุกข์ เป็นไปตามสภาพดังกล่าวนั้นด้วย จึงชื่อว่าเป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

เพราะก่อเกิดธาตุขันธ์ซึ่งเป็นตัวสภาวะทุกข์ และทั้งยังยึดถือเอาตัวธาตุขันธ์

ซึ่งประกอบด้วยสภาวะทุกข์นี้ เหมือนอย่างกำก้อนถ่านไฟนั้นไว้ในมือ

ให้เกิดความร้อน ไม่ปล่อยเสีย เป็นความทุกข์ขึ้นอีกขั้นหนึ่ง

เพราะฉะนั้น ทุกขสมุทัยจึงประกอบอยู่ด้วยกันในธาตุขันธ์ และในบุคคลทุกๆคน

และเพราะความยึดถือไว้ดั่งนี้ จึงเรียกว่ามีธาตุขันธ์เป็นที่ยึดถือไว้เป็นตัวเราเป็นของเรา

ตัณหาอุปาทานพร้อมกับอวิชชาชื่อว่าเป็นมาร หรือบัญญัติว่าเป็นมารในพุทธศาสนา

และผู้ที่มีอยู่คือมีอวิชชาตัณหาอุปาทานดั่งนี้ก็ชื่อว่าเป็นสัตว์

และบัญญัติว่าเป็นสัตว์ที่แปลว่าผู้ข้อง

และเพราะเหตุนี้จึงชื่อว่าเป็นทุกข์ และบัญญัติว่าเป็นทุกข์

ชื่อว่าเป็นโลก และบัญญัติว่าเป็นโลก

ความหมายของคำว่าโลก

คำว่าโลกๆนี้ตามศัพท์ก็แปลว่าสิ่งที่ต้องชำรุด สิ่งใดต้องชำรุดสิ่งนั้นชื่อว่าโลก

เพราะฉะนั้น โลกหรือบัญญัติว่าโลกจึงยังต้องประกอบด้วยทุกข์

และผู้ที่ยังยึดถือโลกไม่พ้นโลกจึงชื่อว่าเป็นสัตว์ สมมติบัญญัติว่าเป็นสัตว์

และก็ได้ชื่อว่ามาร สมมติบัญญัติว่าเป็นมาร คือยังมีมาร

และยังมีสมมติบัญญัติว่าเป็นมารผู้ฆ่าผู้ทำลายอยู่ในตน

ฉะนั้น พระบรมศาสดาจึงได้ทรงตรัสวิสัชนาแก่ท่านพระสมิตธิ

ผู้ซึ่งมากราบทูลถามว่าชื่อว่าเป็นมารบัญญัติว่าเป็นมาร

ชื่อว่าเป็นสัตว์บัญญัติว่าเป็นสัตว์ ที่แปลว่าผู้ข้องผู้ติด

ได้ชื่อว่าเป็นทุกข์ บัญญัติว่าเป็นทุกข์ ได้ชื่อว่าเป็นโลกบัญญัติว่าเป็นโลก

ด้วยเหตุอย่างไร

ได้ตรัสแสดงมีความว่า

ตากับรูป และจักษุวิญญาณกับธรรมคือสิ่งทั้งหลายที่จะพึงรู้ได้ด้วยจักษุวิญญาณ

หูกับเสียง และโสตวิญญาณกับธรรมคือสิ่งทั้งหลายที่จะพึงรู้ได้ด้วยโสตะวิญญาณ

จมูกกับกลิ่น และฆานะวิญญาณกับธรรมคือสิ่งทั้งหลายที่จะพึงรู้ได้ด้วยฆานะวิญญาณ

ลิ้นกับรส และชิวหาวิญญาณกับธรรมคือสิ่งทั้งหลายที่จะพึงรู้ได้ด้วยชิวหาวิญญาณ

กายกับโผฏฐัพพะสิ่งที่กายถูกต้อง

และกายวิญญาณกับธรรมคือสิ่งทั้งหลายที่จะพึงรู้ได้ด้วยกายวิญญาณ

มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราว

และมโนวิญญาณกับธรรมะคือสิ่งทั้งหลายที่จะพึงรู้ได้ด้วยมโนวิญญาณ

มีอยู่ในที่ใด มารบัญญัติว่ามาร สัตว์บัญญัติว่าสัตว์คือผู้ติดผู้ข้อง

ทุกข์บัญญัติว่าทุกข์ โลกบัญญัติว่าโลกก็มีอยู่ในที่นั้น

แต่สิ่งทั้งหมดเหล่านี้ไม่มีอยู่ในที่ใด มารบัญญัติว่ามารเป็นต้น ก็ไม่มีอยู่ในที่นั้น ดั่งนี้

ความยึดถือว่าตัวเราของเรา

คำว่า มีอยู่นี้ จึงหมายถึงมีอยู่เป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรานั้นเอง

และที่ว่าไม่มีอยู่นั้นก็คือไม่มีอยู่เป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา

ความที่มีอยู่โดยเป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรานี้

จึงเหมือนอย่างที่มีก่อนถ่านไฟนี้อยู่ในมือ มือกำเอาไว้ไม่ปล่อย

ไม่มีก็คือว่าไม่กำเอาไว้แต่ปล่อย

และเมื่อปล่อยสิ่งทั้งหมดเหล่านี้ก็ไม่มีอยู่แก่บุคคล เพราะไม่ได้ยึดถือเอาไว้

เมื่อไฟที่เป็นตัวสภาวะทุกข์ คือไฟที่ติดอยู่ที่ก้อนถ่านไฟนี้ยังลุกติดเป็นไฟอยู่

ก็แปลว่าชาติชรามรณะที่เป็นตัวไฟที่เผาอยู่นั้นยังเผาไม่หมด

อันนี้ก็ได้แก่ธาตุขันธ์ของท่านผู้ที่ถอนความยึดถือว่าตัวเราของเราในธาตุขันธ์เสียได้

คือพระพุทธเจ้าและพระพุทธสาวกทั้งหลาย ท่านเป็นพุทธะคือเป็นผู้รู้ เป็นผู้รู้พ้น

ไม่ใช่เป็นผู้รู้ยึด เป็นผู้รู้พ้นคือไม่ยึด ก้อนถ่านไปที่ติดไฟอยู่ท่านไม่ได้กำเอาไว้ ท่านจึงไม่ร้อน

ก้อนถ่านไฟนั้นก็ถูกไฟคือชาติชรามรณะเผาไป จนกว่าจะเป็นเถ้าไปหมดก็ดับ

ก็คือดับขันธปรินิพพาน

 แต่ว่าพระพุทธะ ท่านไม่ยึดท่านปล่อยท่านก็ไม่ร้อน

สิ่งที่ต้องถูกไฟชาติชรามรณะเผาไปหมดนั้น ก็ไม่ใช่เป็นของท่านเพราะไม่ยึด

ท่านจึงเป็นผู้พ้น และเป็นผู้ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย

แก่เจ็บตายนั้นเป็นตัวไฟที่เผาก้อนถ่านไฟนั้นที่ท่านวางแล้ว

ก้อนถ่านไฟนั้นเองต่างหากที่แก่ที่เจ็บ ..ที่เกิดที่แก่ที่เจ็บที่ตาย

เมื่อท่านปล่อยเสียท่านก็ไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย เป็นอมตะคือเป็นผู้ที่ไม่ตาย

เพราะว่าท่านถอนความยึดถือเสียได้

 มานานุสัย อหังการ มมังการ

 อันความยึดถือดังกล่าวนี้เรียกอีกคำหนึ่งว่า มานานุสัย อนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดาน

อันได้แก่มานะคือความสำคัญหมายว่าตัวเราของเรา อันเรียกว่า อหังการ มมังการ

อหังการนั้นแปลว่าสร้างให้เป็นตัวเรา ทำให้เป็นตัวเรา ปรุงแต่งให้เป็นตัวเรา

มมังการนั้นแปลว่าสร้างกระทำหรือปรุงแต่งให้เป็นของเรา

คือทำหรือปรุงให้เป็นตัวเราให้เป็นของเราขึ้นมา

ให้เป็นตัวเราก็เรียกว่าอหังการ ให้เป็นของเราก็เรียกว่ามมังการ

เป็นมานานุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในจิตสันดานคือตัวมานะ

ความสำคัญหมายว่าตัวเราของเรา หรือเรียกว่า อัสมิมานะ ความสำคัญหมายว่าเรามีเราเป็น

อันเป็นกิเลสละเอียดที่มีอยู่ในบุคคลทุกๆคน เมื่อมีมานานุสัยที่เป็นตัวอหังการมมังการนี้อยู่

ย่อมจะมีความยึดถือว่าเป็นตัวเราของเราอยู่ในขันธ์อายตนะธาตุทั้งหลาย

 ดังเช่นที่ได้มีแสดงถึงท่านพระอุปเสนะ

ซึ่งท่านพักอยู่กับท่านพระสารีบุตร กับพระเถระภิกษุทั้งหลายใน สีตวัน

อันมีงูพิษอยู่เป็นอันมาก งูพิษร้ายได้ตกต้องท่านพระอุปเสนะเถระ

ท่านจึงได้บอกภิกษุทั้งหลายขอให้ยกท่านขึ้นนอนบนเตียง

และรีบนำออกไปให้พ้นจากบริเวณกุฏิ ออกไปตั้งไว้ข้างนอก

ก่อนที่ร่างกายของท่านจะถูกพิษของงูเผาไหม้เป็นขี้เถ้า กระจัดกระจายไป

 ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวแก่ท่านว่า

เราทั้งหลายยังไม่เห็นความเป็นไปอย่างอื่นของกายของท่าน

ความแปรปรวนแห่งอินทรีย์ทั้งหลายของท่าน

ไฉนท่านจึงได้กล่าวว่าให้รีบนำท่านออกไปให้พ้นจากบริเวณ

ก่อนที่ร่างกายของท่านจะถูกเผาไหม้เป็นเถ้าธุลีไป

 ท่านพระอุปเสนะจึงได้ตอบว่า

ความสำคัญหมายยึดถืออันเรียกว่ามานานุสัยดังกล่าว

ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดอหังการมมังการดังกล่าวนั้นมีอยู่ในผู้ใดว่า

ตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายและสิ่งที่กายถูกต้อง

มโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราว เป็นตัวเราเป็นของเรา

ความเป็นไปอย่างอื่นของกาย ความแปรปรวนปรวนไปของอินทรีย์ย่อมมีแก่ผู้นั้น

แต่มานานุสัยอันเป็นตัวอหังการมมังการดังกล่าวไม่มีแก่ผู้ใด

ความเป็นอย่างอื่นของกาย ความแปรปรวนของอินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่ผู้นั้น

ก็จริงอย่างนั้น ท่านพระอุปเสนะได้ถอนมานานุสัย

ซึ่งทำให้เป็นอหังการมมังการ ในขันธ์อายตนะธาตุทั้งหลายขึ้นได้หมดสิ้นแล้ว

ความเป็นอย่างอื่นของกาย ความแปรปรวนของอินทรีย์ทั้งหลายจึงไม่ปรากฏ

ภิกษุทั้งหลายได้หามท่านออกไปตั้งไว้ในภายนอก

ร่างกายของท่านก็ถูกพิษร้ายของงูเผาทำลายเป็นเถ้าธุลีไป ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น ทุกขสมุทัยของสามัญชนทั้งหลายจึงประกอบอยู่ด้วยกัน

และก็ต้องเป็นทุกข์กัน ๒ ชั้น คือขันธ์อายตนะธาตุก็เป็นตัวสภาวะทุกข์

เหมือนอย่างเป็นก้อนถ่านไฟที่มีไฟติด คือไฟชาติชรามรณะเผาอยู่

ทุกข์อีกชั้นหนึ่งก็คือว่า บุคคลยังกำเอาก้อนถ่านไฟนี้ไว้ในกำมือ ให้ไหม้มือ

ให้เป็นทุกข์ขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ก็เป็นทุกข์กันอยู่ดั่งนี้

พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงสั่งสอนชี้ให้บุคคลมองเห็นตัวทุกข์ กับทุกข์สมุทัยไว้เป็นอันมาก

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป