ถอดเทปพระธรรมเทศนา

  • พิมพ์

เทป031

เทวธาวิตักกสูตร

วิธีที่พระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐาน (๒)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร
*

ปฏิปทาที่ทรงปฏิบัติ ๓

มิจฉามรรค สัมมามรรค ๕

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ข้อความสมบูรณ์ ม้วนที่ ๓๗/๑ ครึ่งแรก ต่อ ๓๗/๒ ( File Tape 31 )

เทวธาวิตักกสูตร วิธีที่พระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐาน (๒)
*
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ในเบื้องต้นได้แสดงอธิบาย

พระพุทธเจ้าทรงสอนกรรมฐาน ตามนัยยะที่มีแสดงไว้ใน

เทวธาวิตักกสูตร

และเมื่อพระองค์ได้ทรงแสดงถึงการปฏิบัติกรรมฐานของพระองค์เอง

เมื่อยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้

ว่าทรงปฏิบัติแยกวิตกออกให้เป็นสองส่วน ที่เป็นอกุศลวิตกส่วนหนึ่ง ที่เป็นกุศลวิตกส่วนหนึ่ง

เมื่อรวมความเข้ามาแล้วก็คือทรงพิจารณากำหนดวิตกคือความตรึกนึกคิดนี้เอง

ให้รู้ว่าความตรึกนึกคิดที่บังเกิดขึ้นในพระหทัยแห่งพระองค์นั้น

ถ้าเป็นอกุศลก็ทรงกำหนดพิจารณาให้รู้ พร้อมทั้งโทษ

และทรงรักษาจิตคุ้มครองจิตของพระองค์มิให้ตรึกไป นึกคิดไปในทางอกุศล

แต่ทรงปฏิบัติฝึกจิตอบรมจิตให้ตรึกไปในฝ่ายกุศล

ซึ่งก็ทรงทำได้  และเมื่อทรงได้กุศลวิตกไว้มากแล้ว

ก็ได้ทรงกำหนดพิจารณาเห็นขึ้นอีกขั้นหนึ่งว่า

แม้จะเป็นกุศลวิตก

แต่เมื่อตรึกนึกคิดนานเกินไป กายก็จะเหน็ดเหนื่อย

จิตก็จะฟุ้งซ่าน ไม่เป็นสมาธิขึ้นได้

จึ่งได้ทรงละวิตกคือความตรึกนึกคิดแม้ที่เป็นกุศลนั้น

ตั้งจิตให้สงบอยู่ในภายใน เหมือนอย่างนั่ง เข้ามานั่งอยู่ในภายในจิต

ให้จิตนั่งอยู่ในภายใน สงบอยู่ในภายใน

ทำความรู้อยู่แต่เพียงว่าธรรมเหล่านี้มีอยู่เท่านั้น

ปฏิปทาที่ทรงปฏิบัติ

พระพุทธองค์เมื่อได้ตรัสสอนวิธีปฏิบัติกรรมฐานมาถึงขั้นนี้

ว่าพระองค์ทรงปฏิบัติได้ และพระองค์ได้ทรงปฏิบัติสงบแม้ที่เป็นกุศลวิตก

ตั้งจิตให้กำหนดอยู่ในภายในดังกล่าว

สมาธิของพระองค์จึงบังเกิดขึ้น มากขึ้น แนบแน่นขึ้น

จึงทรงบรรลุถึงฌาน คือสมาธิที่แนบแน่น

เข้าขั้นฌานที่ ๑ ฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔

จึงทรงมีจิตที่บริสุทธิ์ขาวคือสะอาดผ่องแผ้ว อ่อนควรแก่การงาน

 จึงทรงน้อมจิตไปเพื่อรู้ ก็ทรงได้พระญาณ ๓

ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้ระลึกถึงขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้

จุตูปปาตญาณ ความหยั่งรู้จุติคือความเคลื่อน อุปบัติคือความเข้าถึงชาตินั้นๆของสัตว์ทั้งหลาย ว่าเป็นไปตามกรรม และ

อาสวักขยญาณ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ ตรัสรู้อริยสัจจ์ ๔ จึงทรงสิ้นชาติสิ้นภพ

และมีพระญาณหยั่งรู้ว่าชาติสิ้นแล้ว

เสร็จกิจที่จะพึงกระทำเหมือนอย่างนี้แล้ว

ไม่มีกิจอื่นที่จะพึงกระทำเพื่อเป็นอย่างนี้ต่อไปอีก

ดั่งนี้ ก็คือตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์ได้ทรงเล่าถึงปฏิปทาที่ทรงปฏิบัติมาเองโดยความย่อดั่งนี้

และในตอนท้ายของพระสูตรได้ทรงแสดงธรรมะสั่งสอนมีอุปมาสาธกธรรม ๓

โดยที่ได้ตรัสอุปมาไว้ว่าเหมือนอย่างว่า

มีที่ลุ่มน้ำมากไปด้วยโคลนตม และมีหมู่เนื้อใหญ่อาศัยอยู่

ได้มีบุรุษที่มุ่งร้ายได้เปิดทางให้เนื้อออกมา อันเป็นทางทำลาย

และใช้เนื้อต่อตัวผู้ เนื้อต่อตัวเมีย

สำหรับที่จะล่อหมู่เนื้อใหญ่ให้ออกมาจากที่อาศัย

มาตามทางที่ต้องการจะทำลายเนื้อ

ฝ่ายฝูงเนื้อใหญ่ก็ถูกล่อออกมา

โดยเนื้อต่อตัวผู้เนื้อต่อตัวเมีย

มาตามทางที่นายพรานเปิดให้ออกนั้น

จึงถูกทำลายให้ลดน้อยลงไปโดยลำดับ

แต่ก็ได้มีบุรุษผู้มุ่งดีได้เปิดทางอันเกษมสำหรับให้เนื้อออก

และเมื่อเนื้อได้ออกตามทางอันเกษมที่บุรุษผู้มุ่งดีเปิดเอาไว้

หมู่เนื้อก็มีความเจริญขึ้น นันทิราคะ อวิชชา

เมื่อได้ตรัสเป็นนิทานขึ้นมาดั่งนี้ ก็ได้ทรงสาธกด้วยธรรมะ

ทรงชี้ว่าที่ลุ่มน้ำอันมีเปือกตมเป็นอันมากนั้นก็ได้แก่กามคุณารมณ์

คืออารมณ์ที่ประกอบไปด้วยกามคุณ อันได้แก่รูป เสียง กลิ่นรส โผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย

เทียบกับที่ลุ่มน้ำอันประกอบด้วยเปือกตมเป็นอันมาก

ฝูงเนื้อใหญ่ที่อาศัยอยู่ในที่ลุ่มน้ำนั้น

ก็ได้แก่หมู่สัตว์คือหมู่ชนเป็นอันมากในโลกนี้

และบุรุษผู้มุ่งร้ายคือพรานที่ต้องการทำลายเนื้อก็ได้แก่มารผู้มุ่งร้าย

เนื้อต่อตัวผู้ก็ได้แก่ นันทิราคะ ความติดใจกำหนัดยินดี

ด้วยอำนาจของความเพลิดเพลินในกามคุณารมณ์นั้น

เนื้อต่อตัวเมียก็ได้แก่ อวิชชา คือความไม่รู้ในสัจจธรรม

ธรรมะที่เป็นตัวความจริง

หนทางที่ผิดซึ่งนายพรานต้องการให้เนื้อออกมาเพื่อทำลายนั้น

ก็ได้แก่มิจฉามรรค มรรคคือทางที่ผิด มีองค์ ๘ อันได้แก่

มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด มิจฉาสังกัปปะ ความดำริผิด มิจฉาวาจา เจรจาผิด

มิจฉากัมมันตะ การงานผิด ๔ มิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตผิด มิจฉาวายามะ เพียรพยายามผิด

มิจฉาสติ ระลึกผิด มิจฉาสมาธิ ตั้งใจผิด

ส่วนบุรุษผู้มุ่งดีซึ่งเปิดทางอันเกษมสำหรับช่วยเนื้อหมู่ใหญ่ทั้งหลาย

ก็คือตถาคต ก็คือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และหนทางอันเกษมที่บุรุษผู้มุ่งดีเปิดให้หมู่เนื้อออกมานี้

ก็ได้แก่สัมมามรรคคือทางอันชอบมีองค์ ๘ อันได้แก่

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ สัมมาวาจา เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การงานชอบ

สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะ เพียรพยายามชอบ สัมมาสติ ระลึกชอบ สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ

ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นจึงได้ทรงสั่งสอนแนะนำให้ผู้มุ่งปฏิบัติธรรมะทั้งหลาย

ได้ตั้งใจปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน

ดำเนินในสัมมามรรคคือทางถูกชอบที่ได้ทรงแสดงไว้

เพื่อประสบความสุขสวัสดี

ดั่งนี้ มิจฉามรรค สัมมามรรค เพราะฉะนั้น นิทานสาธกธรรมที่ทรงแสดงนี้

จึงเป็นข้อเตือนใจผู้มุ่งปฏิบัติธรรมทุกๆคน

ให้พิจารณากำหนดดูให้รู้จัก

ว่าอะไรเป็นมิจฉามรรคคือทางผิด อะไรเป็นสัมมามรรคคือทางชอบ

และให้พิจารณาดูว่าเมื่อยังมิได้อบรมจิต จิตนี้ก็ย่อมมีที่อยู่อาศัย

โดยมากก็คือกามคุณารมณ์ในโลก

หรือที่เรียกกันว่าโลกก็คือกามคุณารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย

จิตมีนันทิราคะคือความติดใจยินดีเพลิดเพลินอยู่ในโลก

ก็คือยู่ในกามคุณารมณ์ อาศัยอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง

ว่านั่นเป็นตัวทุกข์ เป็นตัวเหตุเกิดทุกข์

เพราะฉะนั้น นันทิราคะความติดใจยินดีเพลิดเพลินอยู่ในโลก

หรือในกามคุณารมณ์ทั้งหลาย ๕ จึงเท่ากับเป็นเนื้อต่อ เท่ากับเป็นเนื้อต่อตัวผู้

อวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง เท่ากับเป็นเนื้อต่อตัวเมีย

ซึ่งล่อใจสัตวโลกนี้ให้ติดใจยินดีอยู่ในที่ลุ่มน้ำ

อันประกอบด้วยเปือกตม และดำเนินไปในทางที่ผิด อันเป็นมิจฉามรรค

เพราะฉะนั้น จึงเป็นการดำเนินไปในทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

จึงต้องประสบความทุกข์ต่างๆ ไม่พ้นทุกข์ทุกข์ไปได้

ต่อเมื่อได้มากำหนดให้รู้จักตัวนันทิราคะในจิตใจนี้ คือความติดใจยินดีเพลิดเพลิน

กับทั้งอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง

ว่าเป็นเหมือนอย่างเนื้อต่อ ซึ่งล่อจิตใจอันนี้ให้ติดให้เพลิดเพลิน อยู่ในห้วงของความทุกข์ต่างๆ

ไม่ให้สลัดออกได้ และให้ดำเนินไปในทางที่ผิด อันเป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ จึงต้องประสบความทุกข์

เพราะฉะนั้น ก็ให้กำหนดรู้ว่านี่ก็คือเครื่องมือของมารอันเป็นผู้มุ่งร้าย

และมารนั้นโดยตรงก็ได้แก่กิเลสมาร มารคือตัวกิเลสนี้เอง

ซึ่งเป็นเครื่องส่งนันทิราคะกับอวิชชาเข้ามากำกับจิตใจ ล่อจิตใจอันนี้ให้หลงติดยินดีเพลิดเพลิน

ดำเนินไปในทางแห่งความทุกข์ ในเหตุแห่งทุกข์ ให้ต้องประสบทุกข์

ส่วนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกอบด้วยความมุ่งดี

มุ่งที่จะช่วยปลดเปลื้องหมู่เนื้อหมู่ใหญ่คือสัตวโลกนี้ให้พ้นจากความทุกข์

จึงได้ทรงเปิดทางที่ดีไว้สำหรับให้ดำเนิน คือมรรคมีองค์ ๘

เพราะฉะนั้นก็ให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติในทางมรรคมีองค์ ๘ ที่ได้ตรัสแสดงไว้

และก็ปฏิบัติตามที่ได้ทรงปฏิบัติมาแล้วที่ตรัสสั่งสอนเอาไว้

การปฏิบัติน้อมไปในกุศลวิตก

การปฏิบัติในสติปัฏฐานก็เป็นการหัดปฏิบัติส่งจิตน้อมไปในกุศลวิตก

คือความตรึกนึกคิดที่เป็นกุศลนั้นเอง

ดังที่ได้กล่าวแล้ว  ซึ่งในเบื้องต้นก็จะต้องคอยปรามจิต อุดหนุนจิต

ที่ให้ดำเนินวิตกคือความตรึกวิจารคือความตรอง

ไปในสติปัฏฐานที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

กำหนดลมหายใจเข้าออก ทำความรู้ในอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน

ทำความรู้ในอิริยาบถปลีกย่อย มีก้าวไปข้างหน้า ถอยไปข้างหลังเป็นต้น

ให้วิตกคือตรึก วิจารคือตรองไปในกุศลวิตกเหล่านี้

และเมื่อทำได้ดีแล้วก็สงบเข้ามากำหนดจิตอยู่ในภายใน

ให้รู้ว่าธรรมเหล่านี้มีอยู่ เมื่อเป็นกายก็กายมีอยู่ เวทนาก็เวทนามีอยู่ จิตก็จิตมีอยู่ ธรรมะก็ธรรมะมีอยู่

นั่งสงบอยู่ในภายใน ด้วยความรู้อยู่ในภายใน เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว

สมาธิก็จะเจริญขึ้นเป็นทางแห่งปัญญาสืบต่อไป

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 สุภนิมิต อสุภนิมิต ๓

อาลัยของจิต ๔

อุปการปฏิบัติเหมือนอย่างเป็นไม้ฆ้อน ๗

วิตักกสันฐานสูตร

พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน

*
     บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

 พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จักแสดง วิตักกสันฐานสูตร

พระสูตรที่แสดงสันฐานทรวดทรงของวิตกคือความตรึกนึกคิด

เป็นการแสดงพระพุทธเจ้าสอนกรรมฐานนำสติปัฏฐาน

พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสอนเอาไว้ตามพระสูตรดังกล่าวมีใจความว่า

ภิกษุผู้ปฏิบัติประกอบอธิจิต จิตที่ยิ่งคือสมาธิ

พึงมนสิการกำหนดใส่ใจนิมิต ๕ ประการ จึงจะอธิบายคำว่านิมิตก่อน นิมิต ๕

( เริ่ม ๓๗/๒ )

นิมิตดังกล่าวนี้มี ๒ อย่าง คือนิมิตของสมาธิอันเป็นฝ่าย กุศลนิมิต  กับนิมิตของกิเลสอันเป็นฝ่าย อกุศลนิมิต

สุดแต่ว่าสิ่งที่กำหนดนั้นนำให้เกิดสมาธิ หรือสิ่งที่กำหนดนั้นนำให้เกิดกิเลส สุภนิมิต อสุภนิมิต

สิ่งที่กำหนดให้เกิดกิเลสก็ดังเช่นที่เรียกว่า สุภนิมิต สิ่งที่กำหนดหมายว่างดงาม

คือเมื่อจิตกำหนดลงไปในสิ่งใดว่างดงาม สิ่งนั้นก็เรียกว่าสุภนิมิต

สิ่งที่กำหนดหมายว่างดงาม ซึ่งนำให้เกิดกามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกาม หรือทางกาม

อันหมายถึงสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ หรือความรักใคร่ปรารถนาพอใจ

ดังเช่นเมื่อตาเห็นรูปอะไร หูได้ยินเสียงอะไร จมูกได้กลิ่นอะไร ลิ้นได้รสอะไร กายได้ถูกต้องอะไร

ถ้าจิตกำหนดลงไปว่ารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนั้นเป็น สุภะ คืองดงาม

ก็นำให้เกิดกาม หรือกามฉันท์ ความรักใคร่พอใจ

และสิ่งที่กำหนดนั้นก็เรียกว่ากามเหมือนกัน คือกามคุณารมณ์ หรือวัตถุกาม

แต่ถ้าหากว่าจิตกำหนดลงไปว่ารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนั้นเป็น อสุภะ

 คือไม่งดงาม เป็นสิ่งปฏิกูลน่าเกลียดต่างๆ จิตก็จะสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้

ไม่กวัดแกว่งไปในอารมณ์มีรูปเป็นต้นเหล่านั้น อสุภนิมิต

คือกำหนดหมายว่าไม่งดงามจึงนำให้จิตได้สมาธิ จึงเป็นนิมิตฝ่ายกุศล อธิจิต จิตยิ่ง นี้คือนิมิต

พระพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้ยกภิกษุเป็นที่ตั้ง

แต่ก็เป็นคำสอนสำหรับผู้ปฏิบัติกรรมฐานทั้งปวง

ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ ก็พึงต้องปฏิบัติตามที่ตรัสสอนเอาไว้นี้

และที่ตรัสว่าปฏิบัติประกอบ อธิจิต ก็หมายถึงสมาธิ เพราะสมาธินั้นชื่อว่าอธิจิต เพราะเป็นจิตที่ยิ่ง

อันหมายความว่าเป็นจิตใจที่ยิ่งไปกว่าจิตสามัญทั้งปวง

เพราะจิตสามัญทั้งปวงนั้นเป็นจิตที่เป็นไปตามความใคร่ปรารถนา  

ตกไปตามใคร่ตามปรารถนาตามพอใจ ซึ่งมีปรกติดำเนินไปในทางกามเป็นพื้น

ที่เรียกว่า กามาพจร ทางอภิธรรม คือเที่ยวไปในกาม หรือหยั่งลงในกาม เป็น กามาวจรจิต อยู่เป็นพื้น อาลัยของจิต

เพราะฉะนั้น กามคุณารมณ์จึงเรียกว่า อาลัย คือเป็นที่พัวพันอาศัยของกามาวจรจิตทั้งหลาย

เหมือนอย่างน้ำชื่อว่าอาลัยโดยที่เป็นที่อาศัยของปลา

ปลาอาศัยอยู่ในน้ำฉันใด

กามาวจรจิตก็อาศัยอยู่ในอาลัยคือกามคุณารมณ์ฉันนั้น นี้เป็นจิตสามัญ

ส่วนอธิจิตแปลว่าจิตยิ่ง คือจิตที่ยิ่งไปกว่าจิตสามัญดังกล่าว

เพราะมาปฏิบัติให้จิตตั้งอาศัยอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน ซึ่งสูงกว่ากาม

 อารมณ์กรรมฐานทั้งปวงนั้นเป็นที่อาศัยของจิตที่สูงกว่ากามคุณารมณ์ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจึงต้องยกจิตขึ้นจากกามคุณารมณ์

อันเป็นที่อาศัยโดยปรกติของกามาวจรจิตของตน

ขึ้นมาสู่อารมณ์ของกรรมฐาน

จะเป็นกรรมฐานข้อไหนก็เป็นอารมณ์ที่สูงกว่ากามาวจรจิตทั้งนั้น

ดังในสติปัฏฐาน

ตั้งแต่ข้อว่าด้วยลมหายใจเข้าออก

ตั้งจิตกำหนดลมหายใจเข้าออก

ก็เป็นการยกจิตขึ้นจากกามคุณารมณ์

มากำหนดในอารมณ์กรรมฐานคือลมหายใจเข้าออก

ในข้อว่าด้วยอิริยาบถใหญ่ทั้งสี่

ว่าด้วยอิริยาบถน้อย

และต่อไปว่าด้วยสติที่ไปในกาย

คือพิจารณากายแยกออกเป็นอาการ ๓๑,๓๒

ก็เป็นนิมิตที่สูงขึ้นไปกว่านิมิตทางกามทั้งนั้น

หรือเป็นอารมณ์ที่สูงกว่ากามคุณารมณ์ทั้งนั้น

ทุกข้อทุกบท เพราะฉะนั้น ข้อ ๑

จึงได้ตรัสสอนไว้มีความว่า

เมื่อกำหนดนิมิตอันใด อกุศลธรรมทั้งหลาย อันประกอบด้วยฉันทะคือความพอใจในกาม

ประกอบด้วยโทสะความขัดเคืองโกรธแค้น

ประกอบด้วยโมหะความหลงบังเกิดขึ้น ๔

ก็พึงทำไว้ในใจ กำหนดนิมิตอื่น

จากนิมิตนั้น เมื่อกำหนดนิมิตอื่นจากนิมิตนั้นได้

อกุศลธรรมทั้งหลาย หรืออกุศลวิตก

ความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลทั้งหลาย

อันประกอบด้วยความพอใจในกามบ้าง

ประกอบด้วยความขัดเคืองโกรธแค้นบ้าง

ประกอบด้วยความหลงบ้าง

ก็ย่อมจะสงบไป เปรียบเหมือนอย่างช่างไม้ หรือศิษย์ของช่างไม้

ตอกลิ่มสลักอันเก่าออก ด้วยลิ่มสลักอันใหม่ที่ดี

ดั่งนี้ หลักปฏิบัติเริ่มต้นของกรรมฐานทั้งปวง

ในข้อ ๑ นี้ ก็เป็นหลักปฏิบัติเริ่มต้นของผู้ปฏิบัติกรรมฐานทั้งปวง

คือเมื่อยังมิได้ปฏิบัตินั้นจิตย่อมอาศัยคลุกเคล้าอยู่กับกามคุณารมณ์เป็นประจำ

ฉะนั้นจิตนี้เองจึงประกอบด้วย กามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในทางกามบ้าง

โทสะความโกรธแค้นขัดเคืองบ้าง โมหะความหลงบ้าง

ฉะนั้น เมื่อมาปฏิบัติกรรมฐาน

จึงยกจิตขึ้นจากอารมณ์อันเป็นที่ท่องเที่ยวไปอาศัยของจิตนั้น

ขึ้นสู่อารมณ์ของกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่ง

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

เมื่อเป็นดั่งนี้ อกุศลธรรม อกุศลวิตก ทั้งหลายดังกล่าวก็จะสงบลง

และการปฏิบัติดั่งนี้ ก็เป็นเหมือนอย่างว่าไม้กระดานที่มีลิ่มสลักอันเก่าตอกติดอยู่แล้ว

เมื่อต้องการที่จะนำเอาลิ่มสลักอันเก่านั้นออก

ก็นำเอาลิ่มสลักอันใหม่ที่ดีมาตอกลงไปตรงนั้น เมื่อเป็นดั่งนี้ลิ่มสลักอันใหม่ที่ตอกลงไปนั้น แข็งแรงกว่า ดีกว่า

จึงตอกเอาลิ่มสลักอันเก่าหลุดลงไปได้

และไปตั้งอยู่แทนที่ลิ่มสลักอันเก่าที่หลุดออกไปนั้น

ฉะนั้นผู้ปฏิบัติกรรมฐานจึงต้องตั้งต้นด้วยข้อนี้ อธิบายประกอบต่อไปว่า

อันกามคุณารมณ์เป็นต้น ซึ่งเป็นที่อาศัยท่องเที่ยวไปของจิตสามัญ

แม้ว่าจะยกเอากามขึ้นมาเป็นที่ตั้งเพียงข้อเดียว ๕ ก็พึงทราบว่า

เมื่อมีกามก็ต้องมีโทสะ และต้องมีโมหะ

ก็เป็นอันว่าที่เรียกว่ากามคุณารมณ์นั้นก็รวมทั้งกิเลสกองโทสะโมหะ

ก็เป็นอันว่ากิเลส ๓ กอง

คือราคะ โทสะ โมหะ หรือว่ากามฉันท์ โทสะ โมหะ หรือ พยาบาท โมหะ

ซึ่งรวมเข้าเป็นกิเลสกองราคะ โทสะ โมหะ ๓ กองนี้

ย่อมสัมพันธ์กันอยู่ มีข้อราคะนำ หรือกามฉันท์นำ ก็จะต้องมีโทสะ มีโมหะ

และข้อใดข้อหนึ่งก็อาจจะนำด้วยกันได้ทั้งนั้น

และโดยเฉพาะโมหะนั้นอยู่ลึกซึ้งสักหน่อยหนึ่ง

เรียกว่าเป็นมูลของทั้งหมดก็ได้

แต่ว่าที่ปรากฏอาการออกมาแจ่มชัดอยู่บ่อยๆก็เป็นราคะ

หรือกามฉันท์ หรือโทสะ และโมหะที่แสดงอาการหยาบๆออกมาก็เป็นความง่วงงุน

ความเคลิบเคลิ้ม ความฟุ้งซ่าน ความรำคาญ ความเคลือบแคลงสงสัยต่างๆ

แล้วยังมีโมหะที่ลึกซึ้งลงไปอีก ก็เป็นอันว่าจิตนั้นท่องเที่ยวไปอยู่ ประกอบอยู่ กับบรรดากิเลสเหล่านี้

ยกขึ้นพูดคำเดียวว่า กามาวจรจิต หรือจิตที่เป็นไปกับกามคุณารมณ์

เพราะฉะนั้น จึงเหมือนอย่างว่าเป็นลิ่มสลักที่เสียบจิตอยู่เป็นประจำ

และจิตนี้เองก็มีความพอใจในสิ่งที่เสียบจิตอยู่นี้ด้วย

เรียกว่ามีความติด ติดอยู่ในกิเลสที่เสียบจิตนี้ ไม่พยายามที่จะสลัดออก

เพราะฉะนั้นเมื่อยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่ง

ดังที่ตรัสสอนไว้ในสติปัฏฐาน

ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติกรรมฐานทุกข้อ อารมณ์ของกรรมฐานที่ยกจิตขึ้นสู่นี้

ก็เหมือนอย่างลิ่มสลักอันใหม่ การที่จะให้ลิ่มสลักอันใหม่ลงไปสู่จิต หรือเข้ามาสู่จิตได้นั้น

ก็จะต้องถอนเอาลิ่มสลักอันเก่าออกเสียให้ได้

และในการที่จะถอนลิ่มสลักอันเก่าออกเสียให้ได้นั้น

ก็จะต้องมีลิ่มสลักอันใหม่ที่แข็งแรงกว่าที่ดีกว่า

และจะต้องมีกำลังตอก ในการตอกนั้นที่ช่างไม้ตอกลิ่มสลัก

ปรกติจะต้องมีไม้ฆ้อน ทำไมจะต้องมีไม้ฆ้อนก็เพราะว่า 

ลำพังกำลังมือจะเอามือตอก หรือเอามือไปดันๆไม่สำเร็จ จะต้องมีไม้ฆ้อน และจะต้องออกกำลังตอก

ทั้งลิ่มสลักอันใหม่นั้นก็จะต้องแข็งแรง ไม่ใช่ไม้ผุ ต้องเป็นไม้ที่แข็งแรงที่ดียิ่งไปกว่าลิ่มสลักอันเก่า

และก็มีกำลังตอกที่แรงพอ

จึงจะดันเอาลิ่มสลักอันเก่าที่เสียบไม้กระดานอยู่เก่านั้นหลุดลงไปได้

อุปการปฏิบัติเหมือนอย่างเป็นไม้ฆ้อน

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนอุปการปฏิบัติ

ที่เหมือนอย่างเป็นไม้ฆ้อน เป็นพลังเรี่ยวแรงในการตอกไว้คือ อาตาปี

ความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน คือความเพียรที่เป็นเพียรอันแข็งแรง ที่จะระงับกิเลสลงได้

ไม่ใช่ทำเล่นๆคือต้องทำจริง เป็นความเพียรที่แข็งแรง สัมปชาโณ

รู้พร้อมหรือรู้ตัว คือรู้ที่อยู่กับตัวไม่ทิ้งตัว รู้เข้ามาภายใน

สโต สติกำหนด วินัยโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง กำจัดอภิชฌาคือความยินดี

โทมนัสคือความยินร้ายในโลกเสีย

ดั่งนี้ ๔ ข้อนี้เป็นอุปการะปฏิบัติในการที่จะตอกลิ่มสลักอันใหม่ลงไป

ดังเช่นจะทำอานาปานสติ จะกำหนดอิริยาบถ จะทำกายคตาสติพิจารณากาย เป็นต้น

กรรมฐานเหล่านี้ก็เป็นเหมือนอย่างลิ่มสลักอันใหม่

ซึ่งแต่ละข้อก็เป็นกรรมฐานที่แข็งแรง เป็นลิ่มสลักที่แข็งแรง ที่ดีทั้งนั้น

จึงอยู่ที่กำลังตอกของผู้ปฏิบัติ ที่จะต้องมีทั้ง ๔ ข้อนี้แข็งแรงพอ

และตอกเอากรรมฐานข้อที่ตั้งปฏิบัติไว้ลงไปในจิตใจ

ต้องมีความเพียรที่มีเรี่ยวแรงจริงๆ แล้วก็มีสัมปชาณะความรู้ตัว

รู้ไม่ทิ้งตัว มีสติกำหนดกำจัดยินดียินร้าย เอากันจริงๆ

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะตอกเอาลิ่มสลักอันเก่าให้หลุดไปได้

และเมื่อตอกให้หลุดไปได้แล้วจิตก็ได้สมาธิ

ฉะนั้นผู้ปฏิบัติกรรมฐานที่ทำสมาธิ ไม่ได้สมาธิ ดังที่บ่นๆกันอยู่นั้นก็เพราะว่า

กำลังที่จะตอกลิ่มสลักอันใหม่ลงไปให้ลิ่มสลักอันเก่าหลุดนั้นไม่พอ 

ลิ่มสลักอันเก่ายังติดอยู่อย่างแน่นหนา

ไปคิดๆเอาว่าเป็นอานาปานสติ ไปคิดๆเอาว่าเป็นกรรมฐานข้อนี้ข้อนั้น

แล้วก็บ่นว่าไม่ได้สมาธิ เท่าๆกับว่าไปคลำๆดูลิ่มสลักอันเก่าเท่านั้น

ไม่ได้ตอกอะไรกันลงไป จะต้องตอกกันลงไปจริงๆต้องมีธรรมะทั้ง ๔ ข้อดังกล่าวมานั่น

เป็นกำลังเรี่ยวแรงในการตอกลงไป

และเมื่อเอาจริงแล้วก็ตอกได้

เมื่อตอกหลุดได้เมื่อใดก็เป็นสมาธิได้เมื่อนั้น

และอีกข้อหนึ่งนั้น ไม่ใช่ว่าไม่ตอกกันจริงๆอย่างเดียว

ยังรักษาลิ่มสลักอันเก่าไว้เสียด้วย หรือว่า ...

( เริ่ม ๓๘/๑ ) เพราะฉะนั้น การที่ผู้ปฏิบัตินั้นแม้ว่าจะตอกได้บ้าง

แต่ว่าก็ยังนำเอาสลักอันเก่านั้นกลับเข้าที่เดิมไปอีก กลับไปกลับมากันอยู่ดั่งนี้

การปฏิบัติจึงเจริญไปไม่ได้มาก

ฉะนั้นการที่จะปฏิบัติให้เจริญขึ้นได้มากนั้น

จึงต้องพยายามที่จะตอกกันจริงๆ และพยายามที่จะไม่นำเอาลิ่มสลักอันเก่ากลับเข้ามาอีก

เมื่อเป็นได้ดั่งนี้แล้วกรรมฐานถึงจะเจริญ สมาธิปัญญาก็จะเจริญขึ้นไป

พิจารณาโทษของอกุศลวิตก

ข้อ ๒

ได้ตรัสสอนไว้ต่อไปว่า

แม้เมื่อปฏิบัติทำไว้ในใจ กำหนดนิมิตอื่นจากนิมิตที่ก่อให้เกิดกิเลสนั้น

แต่ว่าอกุศลธรรมอกุศลวิตกทั้งหลายก็ยังเกิดขึ้น

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ให้พิจารณาโทษของอกุศลวิตก

ของอกุศลธรรมเหล่านั้น

ว่าความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลทั้งหลาย

เป็นอกุศลคือเป็นกิจของคนที่ไม่ฉลาด เป็นสิ่งที่มีโทษอย่างนี้ๆ

และเมื่อพิจารณาดั่งนี้จนจิตใจนี้เห็นโทษของอกุศลวิตก ของอกุศลธรรมทั้งหลาย

อกุศลวิตก อกุศลธรรมทั้งหลายเหล่านั้นก็จักสงบไป

ได้ตรัสเปรียบเป็นข้ออุปมาไว้ว่า

เหมือนอย่างชายหนุ่มหญิงสาวที่กำลังรักสวยรักงาม

ย่อมอึดอัด ย่อมรังเกียจระอาไม่ต้องการ

ในเมื่อเห็นทรากศพของงู ของสุนัข หรือทรากศพของคน

คล้องอยู่ที่คอของตน ย่อมสลัดออกทิ้งไปเสียโดยเร็ว

ฉันใดก็ดี ผู้ปฏิบัติเมื่อพิจารณาเห็นโทษของอกุศลวิตกทั้งหลาย

ของบาปอกุศลทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจอยู่

เมื่อจิตรับรู้มองเห็นโทษ

ก็ย่อมจะสลัดอกุศลวิตกอกุศลธรรมเหล่านั้นออกไปจากจิต

ไม่รักษาเอาไว้

อกุศลธรรมทั้งหลาย อกุศลวิตกทั้งหลายก็จะสงบไปได้

ในข้อนี้ได้ตรัสสอนว่าเมื่อใช้ข้อ ๑

ยังไม่สำเร็จก็ให้มาใช้ข้อ ๒

พิจารณาดูว่าทำไมจึงไม่สำเร็จ

ตามที่ตรัสสอนไว้ในข้อ ๒

นี้ก็ชี้แล้วว่า เพราะยังมองเห็นคุณของอกุศลวิตกทั้งหลายอยู่

ของนิมิตแห่งกิเลสทั้งหลายอยู่

จึงยังมีนันทิความเพลิน ราคะความติดใจยินดี อยู่ในนิมิตเหล่านั้น

ก็แปลว่ายังพอใจอยู่ในลิ่มสลักอันเก่า

ยังมีราคะติดใจยินดี มีนันทิความเพลินอยู่ในลิ่มสลักอันเก่า

ยังไม่ยอมที่จะให้ถอนออกไป

จึงยังรักษาเอาไว้ ยังต้องการอยู่

ในบางคราวก็ว่าจะปฏิบัติ

และเมื่อปฏิบัติทำกรรมฐานเช่นทำอานาปานสติก็ทำไป

แต่ว่าไม่ได้มุ่งที่จะให้ถอนลิ่มสลักอันเก่าดังกล่าวนี้ออก

บางทีเมื่อจิตได้สมาธิบ้าง

สมาธินั้นก็เท่ากับว่าลิ่มสลักอันใหม่

ลงไปดันเอาลิ่มสลักอันเก่าหลวมหรือว่าโยกคลอน

หรือว่าหลุดออกไปได้บ้างแล้ว แต่ยังไม่จริงจังอะไรนัก

เพราะยังพอใจ ยังติดอยู่ในลิ่มสลักอันเก่า คือเมื่อว่ายังไม่เห็นโทษ

เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันว่าไม่สำเร็จ

เพราะว่าจิตนี้เองยังมีราคะติดใจ นันทิเพลินอยู่ในลิ่มสลักอันเก่า

ยังไม่ต้องการที่จะถอนจริง

ฉะนั้น จึงต้องพิจารณาให้เห็นโทษที่ตรัสสอนไว้ในข้อที่ ๒

ว่าลิ่มสลักอันเก่านั้นมีโทษ

คือกามคุณารมณ์ทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งที่มีโทษไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีคุณ ๙

หรือว่ามีคุณก็มีคุณน้อย แต่ว่ามีโทษมาก ให้มองเห็นดั่งนี้

จนถึงให้มองเห็นเหมือนอย่างว่าเป็นทรากศพของงู

ของสุนัข ของคน แขวนอยู่ที่คอ

เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นว่าเป็นทรากศพดังกล่าวแขวนอยู่ที่คอ

คนที่รักสวยรักงามก็จะต้องสลัดออกทิ้งทันที ไม่ต้องการ

ฉะนั้น เมื่อพิจารณาเห็นโทษของอกุศลวิตกทั้งหลาย ของอกุศลธรรมทั้งหลาย

ที่ข้องติดอยู่ในจิต

จิตก็ย่อมต้องการที่จะสลัดออก ไม่ติดใจไม่ยินดี

เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็จะตอกลิ่มสลักอันใหม่ลงกันไปอย่างจริงจัง

มีความเพียรอย่างจริงจัง มีความรู้ตัว ไม่ทิ้งตัวอย่างจริงจัง

มีสติกำหนดจริงจัง ละอภิชฌายินดีโทมนัสยินร้ายกันอย่างจริงจัง

ก็จะตอกให้หลุดไปได้ เมื่อตอกหลุดไปได้ก็เป็นอันว่าอกุศลวิตกทั้งหลาย

อกุศลธรรมทั้งหลายตกลง สงบลงไป

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*