ถอดเทปพระธรรมเทศนา

  • พิมพ์

 

 

 

 

เทป043

สัมมาทิฏฐิ ๑๐ ความรู้จักอุปาทาน (ต่อ)

*

 สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 *

วิภัชวาทะ ๓
พุทธศาสนาไม่แสดงว่าตายสูญ ๔
ความเห็นที่ไม่เป็นประโยชน์ ๗
อธิปไตย ๓ ๘
สีลสามัญญตา ทิฏฐิสามัญญตา ๑๐
 เหตุที่พระสงฆ์แตกแยกเป็นนิกายต่างๆ ๑๑
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ ม้วนที่ ๕๓/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๕๓/๒ - ๕๔/๑ ( File Tape 42 )

อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ

สัมมาทิฏฐิ ๑๐ ความรู้จักอุปาทาน (ต่อ)

*

 สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 *

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงเรื่องสัมมาทิฏฐิตามเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ มาถึงข้ออุปาทาน และข้ออุปาทานนี้ก็กำลังอธิบายทิฏฐุปาทาน ความยึดถือทิฏฐิคือความเห็น และก็ได้แสดงถึงทิฏฐิคือความเห็นผิดต่างๆ ที่เป็นอย่างรุนแรง เป็นนิยตะมิจฉาทิฏฐิที่ดิ่งลง คืออกิริยะทิฏฐิความเห็นว่าไม่เป็นอันกระทำ คือไม่มีบุญไม่มีบาป อเหตุกะทิฏฐิความเห็นว่าไม่มีเหตุ คือผลที่ได้ต่างบังเกิดขึ้นตามคราวแห่งโชคเราะห์ นัตถิกะทิฏฐิความเห็นว่าไม่มี เป็นการปฏิเสธสมมติสัจจะความจริงโดยสมมติ ปฏิเสธคติธรรมดาเช่นคติกรรมและผลของกรรม เป็นความเห็นที่ผิดหลักพุทธศาสนาสิ้นเชิง เพราะฉะนั้น พระอาจารย์จึงแสดงว่าความเห็นผิดทั้ง ๓ นี้ ห้ามทั้งสุคติคือคติที่ดี ห้ามทั้งมรรคผลนิพพาน และได้แสดงต่อไปถึงทิฏฐิคือความเห็น ๒ อย่าง ๒ คือสัสสตทิฏฐิความเห็นว่าเที่ยง อุจเฉททิฏฐิความเห็นว่าขาดสูญ กล่าวสั้นง่ายๆ คือเห็นว่าตายเกิด กับเห็นว่าตายสูญ แต่ต้องเข้าใจว่าเห็นว่าตายเกิดที่เป็นสัสสตทิฏฐินั้น คือต้องเกิดกันร่ำไปไม่มีสิ้นสุด แต่กล่าวสั้นว่า เห็นว่าตายเกิด กับเห็นว่าตายสูญ วิภัชวาทะ อันความเห็นดั่งนี้เป็นความเห็นที่ผิดจากสัมมาทิฏฐิในอริยสัจจ์ คือสัมมาทิฏฐิในองค์มรรค สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบในองค์มรรคในอริยสัจจ์นี้ แสดงเป็นวิภัชวาทะ คือกล่าวจำแนกตามเหตุและผล ทุกข์เป็นผล สมุทัยเป็นเหตุ นิโรธเป็นผล มรรคเป็นเหตุ ( เริ่ม ๕๓/๒ ) ทุกข์กับสมุทัยเป็นผลและเหตุ ในด้านก่อทุกข์ นิโรธกับมรรคเป็นผลและเหตุ ในด้านดับทุกข์ สำหรับในด้านก่อทุกข์นั้น คือทุกข์กับสมุทัย ทุกข์นั้นก็ดังที่ได้สวดได้ทราบกันอยู่แล้วเนืองๆ เริ่มต้นด้วย ชาติปิทุกขา แม้ความเกิดเป็นทุกข์ คือชาติเป็นทุกข์ และสมุทัยนั้นก็ได้แก่ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ฉะนั้น เมื่อยังมีตัณหาเป็นสมุทัยอยู่ ก็จะต้องมีทุกข์ มีชาติความเกิดเป็นต้น กล่าวสั้นเมื่อยังมีตัณหาอยู่ก็ต้องเกิด ส่วนนิโรธและมรรคนั้น เป็นผลและเหตุในด้านดับทุกข์ นิโรธคือดับตัณหาได้ ก็ดับทุกข์ได้ กล่าวโดยตรงก็คือเมื่อดับตัณหาได้ ก็ดับทุกข์ ตั้งต้นแต่ชาติคือความเกิดได้ ฉะนั้นเมื่อดับตัณหาได้ ก็ไม่เกิดอีก แต่ทั้งนี้จะต้องปฏิบัติในเหตุคือมรรคมีองค์ ๘ ฉะนั้นตามหลักพุทธศาสนาจึงไม่ยืนยันตายตัวว่าตายเกิด และไม่แสดงว่าตายสูญ แต่แสดงไปตามเหตุผล เมื่อยังมีตัณหาอยู่ก็ยังต้องเกิด เมื่อดับตัณหาได้ สิ้นตัณหาเสียได้ ก็สิ้นชาติคือความเกิด คือไม่เกิดอีก ๓ พุทธศาสนาไม่แสดงว่าตายสูญ ฉะนั้น ตามหลักพุทธศาสนาจึงตายเกิดกันตลอดเวลาที่ยังมีตัณหา แต่เมื่อดับตัณหาได้ จึงจะไม่เกิดอีก แต่แม้ไม่เกิดอีกก็ไม่แสดงว่าตายสูญ ดังได้มีเรื่องเล่าว่ามีพระรูปหนึ่งในสมัยพุทธกาล ได้เที่ยวกล่าวว่าพระอรหันต์ตายสูญ ท่านพระสารีบุตรได้เรียกเอาพระรูปนั้นมา และก็ได้ถามว่าเธอเที่ยวพูดดั่งนั้นจริงหรือ พระรูปนั้นก็ตอบรับว่าจริง เที่ยวพูดไปอย่างนั้นจริงว่าพระอรหันต์ตายสูญ ท่านพระสารีบุตรก็ถามว่าอะไรเป็นพระอรหันต์ รูปเป็นพระอรหันต์หรือ พระรูปนั้นก็ตอบว่าไม่ใช่ ท่านก็ถามไปโดยลำดับ และพระรูปนั้นก็ตอบไปโดยลำดับดั่งนี้ เวทนาเป็นอรหันต์หรือ ไม่ใช่ สัญญาเป็นพระอรหันต์หรือ ไม่ใช่ สังขารเป็นพระอรหันต์หรือ ไม่ใช่ วิญญาณเป็นพระอรหันต์หรือ ไม่ใช่ ท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวว่า ก็เมื่อเธอได้ตอบว่า รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ มิใช่เป็นพระอรหันต์ ทำไมจึงกล่าวว่าพระอรหันต์ตายสูญ พระรูปนั้นจึงได้ยอมรับว่าที่กล่าวไปนั้น เป็นการกล่าวไปด้วยความไม่รู้ และมิได้เฉลี่ยวคิดตามที่ท่านพระสารีบุตรได้ถาม และตนก็ได้ตอบไปนั้น พิจารณาดูตามคำถามและคำตอบนี้ก็จับความได้ว่า ที่เรียกว่าตายนั้นก็คือขันธ์ ๕ แตกทำลาย แต่เมื่อขันธ์ ๕ ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ ครั้นขันธ์ ๕ แตกทำลาย ทำไมจึงกล่าวว่าพระอรหันต์ตายสูญ แต่ว่าท่านก็ไม่ได้เฉลยว่า เมื่อไม่ตายสูญแล้วเป็นอย่างไร แต่ว่าได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้โดยอุปมา ว่าเหมือนอย่างไฟที่ต้องลมพัดดับไป หรือว่าไฟที่สิ้นเชื้อดับไป อันไฟนั้นเมื่อมีเชื้อก็ติดขึ้นมาอีก และเมื่อสิ้นเชื้อก็ดับ ๔ และเมื่อไม่มีเชื้อที่จะก่อให้เกิดไฟขึ้นอีก ไฟก็ไม่เกิด แต่ว่าไฟนั้นก็ไม่ควรจะกล่าวว่าสูญ เพราะเมื่อมีเชื้อไฟก็เกิดขึ้นอีก หากไม่มีเชื้อ ไฟจึงจะไม่เกิดขึ้นมาอีก พระอรหันต์นั้นสิ้นกิเลสซึ่งเป็นเชื้อให้เกิดแล้ว ยกตัณหาขึ้นมาเป็นข้อแสดง ก็คือสิ้นตัณหาแล้ว สิ้นเชื้อที่ให้เกิดแล้ว เพราะฉะนั้นท่านจึงไม่เกิดอีก แต่ก็ไม่สูญ พิจารณาดูเทียบกับธาตุไฟ เทียบกับไฟดังที่กล่าวมานั้น ตัวธาตุไฟนั้นไม่สูญ คือหมายถึงตัวธาตุที่เป็นธาตุแท้ เมื่อไม่มีเชื้อก็ไม่ติดเป็นไฟขึ้นอีก แต่ว่าธาตุที่เป็นธาตุแท้นั้นก็ไม่ปรากฏ เมื่อเป็นดั่งนี้ พระอรหันต์จึงไม่มีวิญญาณ เมื่อท่านดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว ไม่มีวิญญาณที่จะท่องเที่ยวอยู่ เมื่อมีวิญญาณที่ยังท่องเที่ยวอยู่ ก็แสดงว่ายังไม่เป็นพระอรหันต์ ยังต้องถือภพถือชาติ คือเกิดในภพชาติอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ ดังได้มีเรื่องที่เล่าว่า เมื่อพระอรหันต์บางรูปท่านดับขันธ์ปรินิพพาน มารได้ค้นหาวิญญาณของท่าน ว่าวิญญาณของท่านไปในที่ไหน แต่ก็ไม่สามารถจะพบวิญญาณของพระอรหันต์ได้ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสว่ามารไม่สามารถจะพบวิญญาณของพระอรหันต์ได้ ก็เช่นเดียวกับไม่สามารถที่จะพบรอยต่างๆ เช่นรอยมือรอยเท้าในอากาศได้ เพราะท่านไม่เกิดเป็นอะไรอีก และก็มีแสดงว่า เมื่อดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ก็พ้นสมมติบัญญัติ พ้นทางของถ้อยคำ ที่จะพูดถึงอีกต่อไปว่าเป็นอะไร เพราะเมื่อพูดถึงได้ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ ก็ต้องแสดงว่าต้องมีภพ มีชาติ จึงยังเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ เมื่อไม่มีภพมีชาติ ไม่เป็นโน่นเป็นนี่อะไรทั้งหมดแล้ว ก็ไม่มีที่ตั้งของถ้อยคำอะไรที่จะยกขึ้นมาพูดได้ เรียกว่าวิญญาณก็ไม่ได้ จิตก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น ๕ เพราะฉะนั้น บรรดาผู้ที่ยังมีความคิดเห็น ว่ายังสามารถจะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ไปเฝ้าพระอรหันต์ได้ในที่นั้นที่นี้ จึงไม่ตรงกับหลักแห่งพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ดังที่ได้กล่าวมานี้ ท่านไม่มีภพมีชาติเป็นนั่นเป็นนี่ ที่จะไปเฝ้าได้ มีทางเดียวก็คือเห็นธรรมะ ดังที่มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเราผู้นั้นเห็นธรรม ก็คือเห็นธรรมะด้วยปัญญา เห็นสัจจะคือความจริงด้วยปัญญา ดังที่ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม ได้บังเกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา เห็นเกิดเห็นดับ ของสิ่งที่เกิดดับทั้งหลาย เห็นสัจจะคือความจริงดั่งนี้ชื่อว่าเห็นธรรม และเมื่อเห็นธรรมดั่งนี้ก็เห็นพระพุทธเจ้า คือย่อมรู้ย่อมเห็นว่าพระพุทธเจ้า ผู้ตรัสแสดงธรรมะข้อนี้ไว้เป็นพุทโธ คือเป็นผู้ตรัสรู้จริง ดั่งนี้ คือเห็นพระพุทธเจ้า เห็นพระพุทธเจ้าก็คือเห็นธรรม เห็นธรรมก็คือเห็นพระพุทธเจ้า เห็นดั่งนี้ก็คือเป็นการเห็นสัจจะธรรม สัจจะธรรมนั้นเองที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และที่สาวกของพระพุทธเจ้าได้รู้ตาม รู้ตามได้จริงเมื่อใดก็รับรองว่าผู้ที่ตรัสข้อนี้ไว้ เป็นพุทธะจริง เป็นพุทโธ เป็นพุทโธจริงๆ ฉะนั้น ความเห็นทั้งสองดังกล่าว คือความเห็นว่าเที่ยง และความเห็นว่าขาดสูญ จึงผิดต่อสัมมาทิฏฐิในอริยสัจจ์ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ ใครก็ตามที่ยึดถือความเห็นผิดดั่งนี้ จึงไม่อาจที่จะบรรลุมรรคผลนิพานได้ เพราะว่าขัดต่อสัมมาทิฏฐิในอริยสัจจ์ ต่อเมื่อละความเห็นนี้ได้ แต่ว่าเห็นในเหตุผลตามสัจจะทั้งที่ ๔ ที่เป็นอริยสัจจ์นั่นแหละ จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิในอริยสัจจ์ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอน ฉะนั้น ก็จะต้องละอุปาทานคือความยึดถือความเห็นดังกล่าวนั้น หากมี และฝึกอบรมให้มีความเห็นชอบตามหลักสัมมาทิฏฐิในอริยสัจจ์ดังที่กล่าว ๖ ความเห็นที่ไม่เป็นประโยชน์ อนึ่ง ยังมีความเห็นที่ไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อความทุ่มเถียงกันอยู่อีกเป็นอันมาก เป็นต้นว่าความเห็นที่ว่า โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด เป็นต้น เมื่อมีผู้มากราบทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ตรัสพยากรณ์ ตรัสว่าไม่เป็นประโยชน์ แต่เมื่อมีผู้กราบทูลถามปัญหาในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ พระพุทธเจ้าจึงตรัสพยากรณ์ คือตรัสแก้อธิบาย เพราะเป็นปัญหาที่เป็นประโยชน์ ฉะนั้น แม้ความเห็นที่ไม่เป็นประโยชน์ต่างๆ เมื่อไปยึดถือความเห็นนั้นๆ ก็เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และไม่เข้าทางแห่งสัมมาทิฏฐิในอริยสัจจ์ดังที่กล่าวมา เมื่อไปยึดถือเข้าแล้วก็เป็นเครื่องป้องกันมิให้ขวนขวายเพื่อได้ความเห็นที่ชอบถูกต้อง อันเป็นประโยชน์เป็นไปเพื่อความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ แม้ความเห็นต่างๆในเรื่องต่างๆ ซึ่งทุกๆคนมีอยู่ในเรื่องนั้นบ้างในเรื่องนี้บ้าง ถ้าหากว่าไปยึดถือในความเห็นของตนนั้นๆ ก็เป็นทิฏฐุปาทานเหมือนกัน ทำให้ดื้อรั้นยืนยันไม่ยอมที่จะเปลี่ยนความเห็นของตน และเป็นเหตุให้โต้เถียงวิวาทกับผู้ที่มีความเห็นต่างกัน ฉะนั้น ทางปฏิบัติเกี่ยวกับความเห็นนี้จึงควรที่จะยุติด้วยเหตุผล คือแม้ใครจะมีความเห็นของตนอย่างไรก็มีไป แต่ก็ฟังเหตุผลของผู้อื่นด้วย และมาไตร่ตรองพิจารณาว่าความเห็นของผู้ใดถูกต้อง ก็รับเอาซึ่งความเห็นอันถูกต้องนั้น ไม่ยืนยันในความเห็นของตัว แม้ว่าผิดก็ไม่ยอมผิด บางทีรู้ว่าผิดแต่ก็ไม่ยอมที่จะแก้ไข ดั่งนี้ก็แสดงว่ามีความยึดถืออยู่ในความเห็นของตนอย่างรุนแรง และก็ถือรั้นอยู่ในความเห็นของตนนั้น ได้มีคำว่า นานา จิตตัง อันแสดงถึงว่าทุกคนนั้นต่างจิตต่างใจกัน จึงย่อมมีความคิดเห็นที่ต่างๆกัน ๗ เพราะฉะนั้นจึงได้มีทางที่จะยุติความเห็นให้เหลืออย่างหนึ่ง สำหรับที่จะถือเอาเป็นทางปฏิบัติ เช่นในที่ประชุมของคนเป็นอันมาก ก็ถือเอามติของเสียงข้างมาก เมื่อเสียงข้างมากลงว่าอย่างไร ก็ถือเอามตินั้นเป็นทางปฏิบัติ แต่ว่าคติในทางพุทธศาสนานั้น ในพระวินัยบัญญัติก็มีอยู่ข้อหนึ่ง สำหรับที่จะระงับอธิกรณ์ ใช้วิธี เยภุยฺยสิกา คือว่าเสียงข้างมากเป็นประมาณ เป็นข้อหนึ่งใน ๗ ข้อ อันแสดงว่าทางพุทธศาสนานั้น มิได้ถือหลักของเสียงข้างมากเพียงประการเดียว แต่มีหลักอื่นๆอีกถึง ๖ ข้อ ๗ ทั้งข้อที่ถือเอาเสียงข้างมาก และเมื่อกล่าวตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน อันเป็นหลักธรรมะที่พึงถือปฏิบัติ เพื่อความถูกต้องจริงๆแล้ว ต้องการให้ถือเอาธรรมะคือความถูกต้องนั่นแหละเป็นหลัก อธิปไตย ๓ ดังที่ได้มีแสดงอธิปไตย ๓ คือ โลกาธิปไตยโลกเป็นใหญ่ อัตตาธิปไตยตนเป็นใหญ่ ธรรมาธิปไตยธรรมะเป็นใหญ่ โลกาธิไตยโลกเป็นใหญ่นั้นก็คือ ชาวโลกก็หมายถึงคนส่วนมาก เมื่อคนส่วนมากว่าอย่างใด ก็ถือเอาตามคนส่วนมากนั้น ดั่งนี้เรียกว่าโลกเป็นใหญ่ ตนเป็นใหญ่นั้นก็คือว่าถือเอาความเห็นของตนเท่านั้นป็นประมาณ ไม่ฟังเสียงใคร ดั่งนี้ตนเป็นใหญ่ ธรรมะเป็นใหญ่ก็คือเอาความถูกต้องนั่นแหละเป็นสำคัญ ไม่ถือเอาโลกเป็นใหญ่ ไม่ถือเอาตนเป็นใหญ่ เพราะว่าแม้โลกคือคนเป็นอันมากจะมีความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มิใช่หมายความว่าถูกต้องไปทั้งหมด คนส่วนใหญ่มีความเห็นผิดก็มีอยู่เป็นอันมาก แม้ตนเองก็เหมือนกัน มีส่วนผิดอยู่เป็นอันมาก มิใช่ว่าตนเองเห็นอะไรแล้วจะถูกต้องไปหมด ๘ เพราะฉะนั้น หลักอันถูกต้องจริงๆแล้วต้องเป็นหลักธรรมาธิปไตยคือธรรมะเป็นใหญ่ ทั้ง ๓ นี้ได้ตรัสย่อเข้าอีกเป็น ๒ คือเป็นตัณหาธิปไตย กับเป็นธรรมาธิปไตย ตัณหาธิปไตยนั้นก็คือตัณหาเป็นใหญ่ ตัณหาเป็นความดิ้นรนทะยานอยาก เมื่อตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากเป็นใหญ่ ก็ย่อมจะยุ่งยากเดือดร้อน แต่เมื่อมีธรรมะคือความถูกต้องเป็นใหญ่ จึงจะมีความสงบสุข เพราะเป็นความถูกต้อง เป็นไปเพื่อเกื้อกูลจริงๆ ฉะนั้นแม้จะเป็นโลกก็ตามเป็นตนก็ตาม เมื่อยังประกอบด้วยตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากอยู่ และใช้ตัณหานั้นในการลงความเห็น ในการปฏิบัติอะไรต่างๆอยู่แล้ว ก็เรียกว่าตัณหาธิปไตย เมื่อเป็นตัณหาธิปไตยแล้ว ก็จะไม่พบกับความสงบความเรียบร้อย และผลดีต่างๆที่แท้จริง ต่อเมื่อธรรมะเป็นใหญ่คือถูกต้อง เมื่อคนส่วนมากถือธรรมะคือความถูกต้องเป็นใหญ่ คนส่วนมากนั้นก็ใช้ได้ มติของคนส่วนมากนั้นก็ใช้ได้ หรือเมื่อตนเองถือเอาธรรมะคือความถูกต้องเป็นใหญ่ ความคิดเห็นของตนเองนั้น ก็ใช้ได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น หากว่ามาปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ไม่ยึดถือในความเห็นที่มีตัณหาเป็นใหญ่ จะเป็นความเห็นของคนส่วนมากก็ตาม ของตัวเองก็ตาม แต่ว่ายึดเอาความเห็นที่มีธรรมะเป็นใหญ่ ที่ถูกต้อง จะเป็นความเห็นของคนส่วนมากก็ได้ ของใครก็ได้ ของตัวเองก็ได้ ดั่งนี้แล้ว จึงจะเป็นไปเพื่อความเรียบร้อยถูกต้อง และในการที่จะบรรลุถึงความที่จะมีธรรมะเป็นใหญ่นี้ได้ ( เริ่ม ๕๔/๑ ) พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสสอนไว้อีกว่า ให้มี สตาธิปไตย คือมีสติเป็นใหญ่ ๙ จะเป็นคนอื่นก็ตาม เป็นตัวเองก็ตาม ให้ใช้สติเป็นใหญ่ คือความระลึกได้ ความระลึกรู้อันถูกต้อง ประกอบด้วยปัญญา อันถูกต้อง ดั่งนี้เรียกว่าสตาธิปไตย มีสติเป็นใหญ่ เมื่อได้สตาธิปไตยคือมีสติเป็นใหญ่ด้วยกันดั่งนี้แล้ว ก็ย่อมจะพบธรรมาธิปไตย คือธรรมะเป็นใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นผู้อื่นก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นตนเองก็ตาม พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงพระองค์เองว่าได้ทรงเป็นธรรมาธิปไตย คือทรงมีธรรมะเป็นใหญ่ ในการที่ทรงแสดงธรรมะสั่งสอน ในการที่ทรงปกครองหมู่สงฆ์ ทรงมีธรรมะเป็นใหญ่ ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น ทิฏฐุปาทานคือความยึดถือทิฏฐิคือความเห็นนั้น จึงต้องพิจารณาดู หากไปยึดถือทิฏฐิคือความเห็นที่มีตัณหาเป็นใหญ่แล้ว ก็เป็นอันว่าเป็นไปในทางผิด มากกว่าเป็นไปในทางถูก ต่อเมื่อได้มีทิฏฐิคือความเห็นที่มีธรรมะเป็นใหญ่นั่นแหละ จึงจะเป็นไปในทางที่ถูกต้อง สีลสามัญญตา ทิฏฐิสามัญญตา ทางพุทธศาสนาได้แสดงให้ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่จะมีสังฆสามัคคี คือมีความพร้อมเพรียงกันของสงฆ์ ไม่แตกแยก ด้วยอาศัยหลักสำคัญ ๒ ข้อ คือ ๑ สีลสามัญญตา ความเป็นผู้ที่มีศีลเสมอกัน ๒ ทิฏฐิสามัญญตา ความเป็นผู้ที่มีทิฏฐิคือความเห็นเสมอกัน มีศีลเสมอกันนั้น ก็มีความประพฤติปฏิบัติทางกายทางวาจา ตลอดจนถึงทางใจ ตามหลักแห่งพระพุทธบัญญัติของพระพุทธเจ้า ร่วมกันเสมอกัน ทิฏฐิสามัญญตามีความเห็นเสมอกันนั้น ก็คือมีความเห็นชอบถูกต้อง ตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ ได้ทรงบัญญัติไว้ สรุปเข้ามา ความเห็นที่เป็นความเห็นอันถูกต้องนั้น ก็ได้แก่ความเห็นที่เป็นอริยะ คือความเห็นที่พระพุทธเจ้าผู้เป็นอริยะได้ตรัสแสดงเอาไว้ ความเห็นที่เป็นตัวอริยะเอง ๑๐ คือเป็นความเห็นที่ประเสริฐที่ถูกต้อง อันเป็นความเห็นที่เป็นไปเพื่อออกจากทุกข์ เป็นความเห็นที่นำผู้ที่ประกอบด้วยความเห็นนั้น ที่ปฏิบัติกระทำความเห็นนั้น ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบได้ ดั่งนี้แหละ คือเป็นความเห็นที่ผู้อยู่ร่วมเป็นสังฆสามัคคี จะพึงมีความเห็นร่วมกัน เมื่อหมู่แห่งภิกษุมีสีลสามัญญตา มีทิฏฐิสามัญญตา ดั่งนี้ ก็ย่อมมีความสามัคคีพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ถ้าหากว่ามีศีลไม่เสมอกัน มีความเห็นไม่เสมอกัน คือแตกต่างกัน ก็ย่อมเป็นเหตุแตกแยก เหตุที่พระสงฆ์แตกแยกเป็นนิกายต่างๆ ฉะนั้น การที่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา แตกแยกออกเป็นยานต่างๆ เป็นนิกายต่างๆ ตั้งแต่ครั้งเก่าก่อน มาจนถึงในสมัยหลังๆนี้ ก็เพราะเหตุที่มีศีลไม่เสมอกัน มีความเห็นไม่เสมอกัน ดังที่กล่าวมานี้ เมื่อมีศีลเสมอกัน มีความเห็นเสมอกันอยู่แล้ว ก็ย่อมจะมีความสามัคคีพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่มีความแตกแยกกัน ในข้อนี้เมื่อพิจารณาดูแล้ว แม้ในทางฝ่ายคฤหัสถชนก็เช่นเดียวกัน ที่รวมกันอยู่เป็นหมู่เป็นคณะ ตั้งแต่ครอบครัวหนึ่งขึ้นไปจนถึงประเทศชาติ เมื่อมีความประพฤติเสมอกันอยู่ และมีความเห็นเสมอกันอยู่ในสิ่งต่างๆ ก็ย่อมจะมีความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน แต่ถ้าหากว่า แตกแยกความประพฤติกัน และแตกแยกความเห็นกัน ก็ย่อมเป็นเหตุแตกแยก เป็นไปเพื่อหายนะคือความเสื่อม เพราะฉะนั้น เรื่องทิฏฐิคือความเห็นจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก นำความประพฤติ ความประพฤติต่างๆนั้นย่อมสืบเนื่องมาจากความเห็น ๑๑ เมื่อเป็นความเห็นที่ถูกต้อง ก็ประพฤติถูกต้อง เมื่อเป็นความเห็นที่ไม่ถูกต้อง ความประพฤติก็ไม่ถูกต้อง ฉะนั้น เรื่องทิฏฐิคือความเห็นจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก และทิฏฐุปาทานความยึดถือความเห็น คือทิฏฐินี้ ก็มุ่งหมายถึงยึดถือความเห็นที่ผิดต่างๆนั่นแหละ เพราะฉะนั้น หากไม่ทราบในข้อนี้ดีแล้ว และปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน อันเกี่ยวกับเรื่องความเห็น คือระมัดระวังที่จะไม่ยึดถือความเห็น จะเป็นของโลก ของใครก็ตาม ของตนเองก็ตาม แต่ว่ามุ่งพิจารณาจับเหตุจับผล ถือเอาธรรมะคือความถูกต้องเป็นประมาณ จะเป็นความเห็นของตนก็ตาม ของผู้อื่นก็ตาม เมื่อไม่ถูกต้องคือไม่เป็นไปตามคลองธรรม ดั่งนี้แล้ว ก็ไม่ยึดมั่นถือรั้นอยู่ในความเห็นนั้น แต่ว่าละเสีย แก้ไขเสีย แต่ถ้าหากว่าเป็นความเห็นอันเป็นธรรมะคือถูกต้อง จึงจับปฏิบัติรับเอาความเห็นนั้น และในการที่จะพิจารณาดั่งนี้ ก็พิจารณาได้ตามเหตุผล ตามความเป็นจริง คือรับไว้พิจารณา และก็ต้องอาศัยให้มีสตาธิปไตย มีสติเป็นใหญ่อยู่ด้วยกัน พร้อมทั้งปัญญาดั่งนี้แล้ว ก็จะนำให้สามารถได้พบความเห็นอันถูกต้อง นำการปฏิบัติอันถูกต้องให้บังเกิดขึ้นได้ เป็นความสวัสดีในที่ทั้งปวง ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*
สัมมาทิฏฐิ ๑๑ ความรู้จักสีลัพพตุปาทาน

*

 สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 *

 ศีลวัตรในพุทธศาสนา ๒
ศีลวัตรนอกพุทธศาสนา ๓
โควัตร สุนัขวัตร ๔
ศีลวัตรที่พระพุทธเจ้าทรงทดลองปฏิบัติ ๔
ข้อปฏิบัติที่พึงนึกถึง ๖
แม้ศีลวัตรในพุทธศาสนาก็เป็นสีลัพพตุปาทาน ๘
สีลัพพตปรามาส ๘
เหตุให้ต้องสมาทานศีล ๙
ศีลของพระโสดาบัน ๑๐
ทางปฏิบัตติอันถูกชอบ ๑๑
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ม้วนที่ ๕๔/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๕๔/๒ ( File Tape 43 )

อณิศร โพธิทองคำ
บรรณาธิการ

สัมมาทิฏฐิ ๑๑ ความรู้จักสีลัพพตุปาทาน

*

 สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 *

 บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงพระเถราธิบายแห่งพระสารีบุตรเรื่องสัมมาทิฏฐิ ซึ่งถึงข้อที่ท่านพระสารีบุตรเถระได้แสดงอธิบายสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ ว่าคือ รู้จักอุปาทาน รู้จักเหตุเกิดขึ้นแห่งอุปาทาน รู้จักความดับอุปาทาน รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับอุปาทาน และข้อแรกรู้จักอุปาทานนั้น ท่านได้แสดงยกเอาอุปาทาน ๔ ขึ้นมา ได้แสดงไปแล้ว ๒ ข้อ จะแสดงข้อที่ ๓ คือสีลัพพัตตุปาทาน ความยึดถือศีลและวัตร หรือศีลและพรต ศีลวัตรในพุทธศาสนา คำว่าศีลวัตรประกอบด้วยคำ ๒ คำ คือศีลคำหนึ่ง และวัตรอีกคำหนึ่ง ศีลนั้นก็ได้แก่ความประพฤติ หรือข้อที่ประพฤติ วัตรนั้นก็ได้แก่ข้อที่ปฏิบัติ บางทีเรียกว่าพรต ๒ ดังคำว่าบำเพ็ญพรต พรตก็มาจากวัตรข้อที่ปฏิบัตินี้เอง ทั้งสองคำนี้เป็นคำที่ใช้คู่กัน ศีลความประพฤติ หรือข้อที่ประพฤตินั้น ถ้าเป็นศีลในทางพุทธศาสนาก็แสดงเป็นข้อที่พึงเว้น ดังศีล ๕ ก็ได้แก่เว้นจากภัยเวร ๕ ข้อ ดั่งนี้เป็นต้น และเมื่อมาถึงปาติโมกขสังวรศีล ศีลในพระปาติโมกข์สำหรับภิกษุ ก็มีทั้งข้อห้าม และข้อที่อนุญาต ข้อห้ามก็คือข้อที่บัญญัติห้ามมิให้กระทำ ห้ามการกระทำ เมื่อไปล่วงละเมิดกระทำเข้าก็ต้องอาบัติ หนัก ปานกลาง หรือเบา ตามพระบัญญัตินั้นๆ และก็มีข้อที่ทรงอนุญาตให้ทำ ที่เรียกว่าข้ออนุญาต คือที่ทรงสั่งให้กระทำ หากไม่ทำตามทรงสั่งให้ทำ ก็ต้องอาบัติอีกเหมือนกัน แต่ว่าศีลทั่วไป ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ก็แสดงในทางเป็นข้อห้าม คือให้งดเว้น วัตรนั้นได้แก่การปฏิบัติ ความปฏิบัติ หรือข้อที่ปฏิบัติ ดังเช่นข้อที่เกี่ยวแก่ข้อที่พึงปฏิบัติต่างๆ ยกตัวอย่างสำหรับภิกษุบริษัท ก็เช่น อุปัชฌายวัตร อาจาริยวัตร ข้อที่ สัทธิวิหาริก อันเตวาสิก พึงปฏิบัติต่อพระอุปัชฌาย์อาจารย์ และข้อที่พึงปฏิบัติต่างๆ เหล่านี้เรียกว่าวัตร ศีลวัตรนอกพุทธศาสนา ศีลและวัตรนี้ได้มีมาแก่บุคคลผู้ยึดถืออยู่ในศีลและวัตรทั้งหลาย ตั้งแต่เก่าก่อนพุทธกาล ดังเช่นศีลและวัตรของผู้บวชเป็นฤาษีดาบส เมื่อถือลัทธิบูชาไฟ ก็ทำการบูชาไฟ คือก่อกองไฟขึ้น ฤาษีดาบสทั้งปวงก็มีศีลคือข้อที่ประพฤติ หรือความประพฤติ ที่งดเว้นจากการกระทำบางอย่าง และมีวัตรคือข้อที่พึงปฏิบัติ ดังเช่นบูชาไฟดังกล่าวนั้น ดั่งนี้ก็เป็นศีลและวัตรของฤาษีดาบสทั้งหลาย นอกจากนี้ยังมีศีลและวัตรของศาสดาทั้งหลายภายนอกพุทธศาสนา ดังเช่นที่แสดงไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนา ถึงศาสดาภายนอกพุทธศาสนา ที่เรียกว่าศาสดา ๖ จำพวก ซึ่งต่างก็ได้สั่งสอนศีลและวัตร แก่สาวกทั้งหลายของตน ในทางต่างๆกัน ๓ แม้ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงทางสุดโต่ง ๒ ทาง ที่บรรพชิตผู้มุ่งจะตรัสรู้ไม่ควรที่จะส้องเสพปฏิบัติ คือกามสุขัลลิกานุโยคความประกอบตนด้วยความสุขสดชื่นในทางกาม และอัตตกิลมถานุโยคความปฏิบัติทรมาณตนให้ลำบาก คือทำทุกรกิริยาต่างๆ เหล่านี้ก็ชื่อว่าเป็นศีลและวัตร ซึ่งศาสดาในภายนอกพุทธศาสนาสั่งสอนกัน โควัตร สุนัขวัตร และนอกจากนี้ ก็ยังมีผู้ที่ยึดถือปฏิบัติในศีลและวัตร ที่แปลกๆไปจากนี้ ดังที่มีแสดงเล่าไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนา อันเรียกว่า โควัตร สุนัขวัตร โควัตรก็คือว่าถือปฏิบัติอย่างโค สุนัขวัตรก็คือว่าถือปฏิบัติอย่างสุนัข เป็นต้นว่า ผู้ที่ยึดถือปฏิบัติในโควัตรสุนัขวัตร ก็ใช้เดินสี่ขาแบบสุนัขแบบโค ทำกิริยาอาการ ทำเสียง และบริโภคแบบสุนัขแบบโค เหล่านี้เรียกว่าโควัตรสุนัขวัตร ในครั้งพุทธกาลถือศีลและวัตรกันแบบนี้ก็ยังมี แล้วก็มีแสดงเล่าว่า บางคนที่ถือโควัตรสุนัขวัตร ได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้า ว่าเมื่อปฏิบัติในศีลและวัตรแบบสุนัขแบบโค สิ้นชีวิตไปจะไปเกิดเป็นอะไร พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบว่า ก็ไปเกิดเป็นสุนัข ไปเกิดเป็นโค นั่นแหละ ดั่งนี้ เหล่านี้เป็นศีลและวัตรในภายนอกพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่มากมาย ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงเว้นมาโดยลำดับ สำหรับศีลวัตรที่เป็นชั้นหยาบ ก็ได้ทรงเว้นเสียทีเดียวไม่ทรงทดลอง ศีลวัตรที่พระพุทธเจ้าทรงทดลองปฏิบัติ แต่ในบางอย่างได้ทรงทดลองปฏิบัติ ดังเช่นที่ทรงเข้าศึกษาในสำนักของพระดาบสทั้งสอง คืออาฬารดาบสและอุทกดาบส ซึ่งสั่งสอนศีลและวัตรเพื่อสมาบัติ ๗ สมาบัติ ๘ ซึ่งก็นับว่าเป็นศีลและวัตรทางสมาธิอันละเอียดปราณีต ๔ แต่ว่าก็ยังประกอบด้วยอุปาทานคือความยึดถือในศีลและวัตรที่ปฏิบัติ คือในสมาบัติ ๗ ในสมาบัติ ๘ เพื่อไปเกิดเป็นพรหม ก็คือว่าเพื่อภพเพื่อชาติ ยังไม่พ้นจากภพจากชาติ จึงยังไม่พ้นจากทุกข์ เพราะฉะนั้น จึงได้ทรงลาออกจากสำนักของท่านอาจารย์ทั้งสอง ก็ไปทรงทดลองประพฤติปฏิบัติศีลและวัตรที่เป็นทุกรกิริยาทรมาณพระกาย ให้ลำบากด้วยวิธีต่างๆ จนถึงอย่างยิ่งยวด แล้วในที่สุดก็ทรงเห็นว่าไม่เป็นประโยชน์ ไม่ให้เกิดปัญญาที่จะตรัสรู้ธรรมะได้ จึงได้ทรงเลิก และได้ทรงหวนถึงสมาธิจิตที่ทรงได้เมื่อเป็นพระกุมารเล็กๆ ตามเสด็จพระพุทธบิดาไปในพระราชพิธีแรกนาขวัญ พระกุมารน้อยได้ประทับพักอยู่ที่ใต้ร่มไม้ ในขณะที่ราชบิดาทรงประกอบพระราชพิธี จิตของพระองค์ก็รวมเข้า ที่ท่านแสดงว่ากำหนดลมหายใจเข้าออก ทรงได้ปฐมฌาน แต่ว่าฌานที่ทรงได้ครั้งนั้นก็เสื่อมไป ทรงระลึกได้จึงทรงเห็นว่าสมาธิที่ทรงได้อย่างบริสุทธิ์เมื่อครั้งเป็นพระกุมารนั้น จะพึงเป็นทางแห่งความตรัสรู้ได้ จึงทรงจับทำสมาธิ ที่ท่านแสดงว่าทรงกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอานาปานสติ ซึ่งเป็นสมาธิอย่างบริสุทธิ์ ไม่ยึดถือเพื่ออะไร ครั้นทรงได้สมาธิจนถึงขั้นฌานแล้ว ก็ได้ทรงน้อมจิตที่เป็นสมาธินี้ไปเพื่อรู้ จึงทรงได้พระญาณทั้ง ๓ อันได้แก่บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความหยั่งรู้ระลึกชาติในปางก่อนได้ จุตูปปาตญาณ ความหยั่งรู้จุติคือความเคลื่อน และอุปบัติความเข้าถึงชาตินั้นๆ ว่าเป็นไปตามกรรม และอาสวักขยญาณ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ตามพุทธประวัติที่แสดงนี้ก็จะพึงเห็นได้ว่า ๕ ในที่สุดพระโพธิสัตว์ที่จะตรัสเป็นพระพุทธเจ้านั้น ก็ไปทรงได้พระองค์เองเป็นอาจารย์ คือพระองค์เองเมื่อเป็นพระกุมารเล็กๆ ซึ่งได้สมาธิจนถึงปฐมฌานในพระราชพิธีแรกนาขวัญ ที่เล่ามานั้น ก็พระกุมารเล็กๆคือพระองค์นั่นแหละ เป็นอาจารย์ของพระองค์เอง เมื่อทรงแสวงหาทางแห่งความตรัสรู้ ก็โดยที่จิตของพระกุมารเล็กๆนี้ เป็นจิตที่บริสุทธิ์ ยังไม่มีตัณหาคือความอยากในอะไร ทั้งที่เป็นส่วนกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา และเมื่อได้นั่งอยู่เฉยๆ ประทับนั่งอยู่เฉยๆ ( จบ ๕๔/๑ ) ( เริ่ม ๕๔/๒ ) ครั้นองค์พระกุมารเล็กๆนั่งประทับรออยู่เฉยๆ และก็ไม่ได้มีตัณหาคือความอยากในอะไร ลมหายใจเข้าออกของพระองค์จึงปรากฏแก่จิต จิตก็จับกำหนด ก็ได้ปฐมฌานอย่างบริสุทธิ์ ปราศจากตัณหาคือความอยาก ว่าจะไปเป็นพรหมเป็นเทพ หรือไปเป็นอะไร ตามวิสัยของจิตของเด็กๆเล็กๆ ซึ่งเมื่อเป็นผู้ใหญ่ขึ้นแล้ว จิตที่จะบริสุทธิ์เหมือนอย่างเด็กเล็กๆ ดั่งนี้หายากเข้า เพราะเมื่อรู้เดียงสามากขึ้น ตัณหาคือความอยากต่างๆก็มากขึ้น ข้อปฏิบัติที่พึงนึกถึง เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะมาปฏิบัติธรรมะ เช่นว่าออกบวชเป็นฤาษีชีไพร หรือออกบวชในลัทธิใดลัทธิหนึ่ง ก็ล้วนแต่ออกบวชด้วยตัณหา คือต้องการเกิดเป็นนั่นเกิดเป็นนี่ ต้องการได้นั่นได้นี่ แต่ว่ายังมิได้หวนรู้จักว่าเพื่อดับกิเลส เพื่อดับตัณหา ไม่รู้จักที่จะทำจิตให้เป็นอุเบกขาคือวางเฉย ล้วนแต่เป็นไปเพื่อผลที่ต้องการ ตามคำสอนของอาจารย์นั้นๆ หรือตามลัทธิของอาจารย์นั้นๆ ฉะนั้นจิตจึงไม่บริสุทธิ์เหมือนอย่างเด็กที่ยังไม่เดียงสาอะไรนัก เพราะฉะนั้น ภาวะของจิตที่บริสุทธิ์ อย่างจิตเด็กที่ไม่เดียงสาอะไรนักนี้ เป็นข้อที่แม้ผู้ใหญ่เองที่ต้องการปฏิบัติธรรมะ ก็พึงนึกถึง ๖ และพึงใช้ปฏิบัติ ว่าจะต้องทำจิตให้เหมือนอย่างนั้น พระพุทธเจ้าเองก็ทรงได้องค์เอง เมื่อทรงเป็นพระกุมารน้อยๆนี้เป็นอาจารย์จริงๆ และก็ทรงนำเอาวิธีของอาจารย์น้อยๆ คือพระองค์เองเมื่อเป็นเด็กนั้นมาทรงปฏิบัติต่อ โดยทรงทำจิตให้บริสุทธิ์ คือปฏิบัติทำสมาธิไป ให้จิตรวมเข้าโดยไม่ต้องการอะไร ไม่ต้องการเพื่ออยากเกิดเป็นโน่นเป็นนี่อะไร แม้ว่าจะมีความต้องการอยู่ ก็ต้องการเพื่อที่จะได้ตรัสรู้ ต้องการที่จะพ้นทุกข์ ซึ่งก็เป็นตัณหาอย่างละเอียดอย่างหนึ่งเหมือนกัน แต่แม้เช่นนั้นก็เป็นสิ่งที่ต้องอาศัย เพื่อละเสีย ดังที่ท่านพระอานนท์ได้แสดงอธิบาย คือตามหลักที่ว่า อาศัยตัณหาละตัณหาเสีย ซึ่งท่านพระอานนท์ได้แสดงอธิบายไว้ว่า ก็คือคิดว่าไฉนจึงจะได้ทำทุกข์นี้ให้สิ้นไป และปฏิบัติทำทุกข์ให้สิ้นไป ดั่งนี้เรียกว่าอาศัยตัณหาละตัณหา พูดตรงๆก็คือว่าอยากที่จะสิ้นทุกข์ จึงปฏิบัติเพื่อสิ้นทุกข์ แต่ว่าในที่สุด เวลาที่จะสิ้นทุกข์ ก็ต้องละตัณหาอย่างละเอียดนี้เสียเหมือนกัน ถ้าไม่เช่นนั้นก็ถึงความสิ้นทุกข์ไม่ได้ ดังเช่นที่ได้เคยแสดงแล้ว ก็คือองค์ของท่านพระอานนท์เอง ที่ท่านยังเป็นเสขะบุคคล คือยังเป็นพระโสดาบัน ยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์ จนถึงวันที่จะทำปฐมสังคายนา บรรดาพระเถระที่จะเข้าประชุมทำปฐมสังคายนานั้น ท่านพระมหากัสสปะเถระผู้เป็นประธาน ได้เลือกพระเถระที่เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด เว้นแต่ท่านพระอานนท์องค์เดียวที่ยังเป็นเสขะบุคคล แต่ว่าท่านพระมหากัสสปะเถระก็เลือกพระอานนท์เข้า เพราะเป็นผู้ที่ได้ทรงธรรมทรงวินัย คือจำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้เป็นอย่างดีเลิศ อันจะขาดท่านเสียมิได้ เมื่อถึงวันที่จะทำปฐมสังคายนา ท่านพระมหากัสสปะก็เตือนท่านพระอานนท์ ว่าให้บำเพ็ญสมณะธรรมด้วยความไม่ประมาท ท่านพระอานนท์ก็ได้บำเพ็ญสมณะธรรมอย่างยิ่งยวด ๗ เมื่อท่านทำไปในราตรีที่รุ่งขึ้นจะเป็นวันเริ่มทำปฐมสังคายนานั้น ท่านก็ยังไม่บรรลุถึงธรรมะสูงสุด ท่านจึงคิดว่าจะพัก จึงได้เอนองค์ลงเพื่อจะพัก ในขณะที่เอนองค์ลง ยังไม่ถึงอิริยาบถที่เรียกว่านอนอย่างเต็มที่ และก็มิใช่อิริยาบถที่นั่งอย่างเต็มที่ คือในขณะที่เอนองค์ลงนั้น จิตของท่านก็พ้นจากอาสวะทั้งสิ้น คือสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ซึ่งเรื่องนี้ท่านได้แสดงอธิบายกันมาว่า ท่านพระอานนท์นั้นท่านได้ปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ หรือที่เรียกว่าสมณะธรรมนั้นมาอย่างสมบูรณ์ แต่เพราะยังมีตัณหาคือความอยากที่จะสำเร็จ อันตัณหานี้เองเป็นเครื่องกั้นมิให้จิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเป็นพระอรหันต์ได้ จนท่านคิดว่าจะพัก จึงเอนองค์ลงเพื่อพัก ซึ่งความคิดที่จะพักนั้นเป็นความวางตัณหา พอท่านวางตัณหาเสียได้ คือตัณหาที่ต้องการสำเร็จ จิตของท่านก็พ้นจากอาสวะทันที ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น แม้ว่าจะอาศัยตัณหาเพื่อละตัณหา แต่ก็ต้องวางตัณหาจึงจะละตัณหาได้ ถ้ายังไม่วางตัณหา ก็ยังละตัณหาไม่ได้ จิตก็พ้นจากอาสวะไม่ได้ สำเร็จไม่ได้ ต้องวางตัณหา จึงจะละตัณหา จิตจึงจะพ้นจากอาสวะกิเลสได้ แม้ศีลวัตรในพุทธศาสนาก็เป็นสีลัพพตุปาทาน เพราะฉะนั้น ตามที่กล่าวมานี้ ก็ได้แสดงถึงศีลและวัตรในภายนอกพุทธศาสนา และแม้ในพุทธศาสนาก็มีศีลและวัตร คือศีลที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ประพฤติ และวัตรคือข้อปฏิบัติต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ปฏิบัติ ซึ่งแม้ศีลและวัตรในพุทธศาสนานี้เอง ถ้าหากว่ายังประพฤติปฏิบัติด้วยตัณหา ก็ชื่อว่ายังเป็นสีลัพพตุปาทาน คือความยึดถือศีลและวัตร สีลัพพตปรามาส และได้มีคำเรียกอีกคำหนึ่งว่า สีลัพตปรามาส ความยึดถือลูบคลำศีลและวัตร ๘ ในสัญโญชณ์ ๑๐ แต่ว่าสีลัพพตปรามาสนี้ ซึ่งมีอาการเป็นความยึดถือ เช่นเดียวกับสีลัพพัตตุปาทาน แต่ว่าหยาบกว่า และในการอธิบายสีลัพพตปรามาสก็อธิบายคล้ายคลึงกันกับสีลัพพัตตุปาทาน คือศีลและวัตรในคำว่าสีลัพพตปรามาสในสัญโญชน์ ๑๐ นั้น ก็หมายถึงศีลวัตรในภายนอกพุทธศาสนา ตลอดจนถึงศีลและวัตรในพุทธศาสนาเอง คือเมื่อละศีลและวัตรในภายนอกพุทธศาสนาแล้ว มาปฏิบัติศีลและวัตรในพุทธศาสนา เมื่อปฏิบัติด้วยตัณหาก็ชื่อว่ายังเป็นสีลัพพตปรามาส แต่ว่าใช้คำว่าปรามาสนี้แรงกว่าคำว่าอุปาทาน คือหมายความว่าต้องลูบคลำ คือต้องจับเอาไว้ ถ้าไม่จับเอาไว้ ศีลและวัตรก็จะขาดเป็นท่อน เป็นช่อง ด่างพร้อย ดังเช่นศีล ๕ สมาทานศีล ๕ รักษาศีล ๕ ก็จะต้องจับยึดรักษาเอาไว้ ถ้าไม่เช่นนั้นศีล ๕ ก็จะขาดเป็นท่อนเป็นช่องด่างพร้อย คือจะต้องรักษากันอย่างกวดขัน ต้องจับต้องยึดกันไว้ เหมือนอย่างการรักษาศีล ๕ ของสามัญชนทั้งหลาย เพราะยังมีสักกายทิฏฐิความเห็นยึดถือว่าตัวเราของเราเป็นอย่างแรง เพราะฉะนั้นความประพฤติจึงเป็นไปตามอำนาจของตัวเราของเรา ก็คือตามอำนาจของกิเลสตัณหาทั้งหลาย เหตุให้ต้องสมาทานศีล ฉะนั้น จึงปรากฏว่าคนสามัญทั่วไปนั้น ไม่อาจที่จะรักษาศีล ๕ ไว้โดยไม่ให้ขาดเป็นท่อน ไม่ให้ทะลุเป็นช่อง ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย กันตลอดไปได้ ต้องมีขาด ต้องมีต่อกันอยู่เรื่อยๆ ดังจะพึงเห็นได้ว่าต้องมีการสมาทานกันอยู่เสมอ ทั้งนี้ก็เพราะว่าจิตสามัญยังเป็นไปตามอำนาจของกิเลสตัณหาอยู่เป็นอันมาก จนกว่าจะละสักกายทิฏฐิด้วยการเห็นธรรมะ อันเป็นธรรมจักษุได้ จึงจะไม่ต้องคอยยึดศีลและวัตรไว้ ๙ ศีลของพระโสดาบัน เพราะฉะนั้น จึงมีแสดงว่าพระโสดาบันบุคคลนั้นมีศีล ๕ บังเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติเอง และพระโสดาบันนั้นไม่มีที่จะละเมิดที่จะล่วงศีล ๕ โดยที่พระโสดาบันไม่ต้องรักษา ไม่ต้องคอยจับคอยยึด แปลว่าปล่อยจับปล่อยยึดได้ ก็มีศีล ๕ ขึ้นมาเอง โดยที่จะไม่ละเมิดเลย เป็นธรรมชาติธรรมดาของพระโสดาบัน เพราะฉะนั้น พระโสดาบันจึงละสัญโญชน์ได้ ๓ คือสักกายทิฏฐิความเห็นยึดถือว่ากายของเรา คือเห็นยึดถือว่าตัวเราของเราซึ่งเป็นอย่างแรง ละสีลัพพตปรามาสความลูบคลำคือจับยึดศีลและวัตรเอาไว้ และวิจิกิจฉาความเคลือบแคลงสงสัยในพระรัตนตรัย เพราะเห็นธรรมะที่เป็นตัวสัมมาทิฏฐิแล้ว เพราะฉะนั้น พระโสดาบันจึงละสัญโญชน์ทั้ง ๓ ได้ดังกล่าว ก็เป็นอันว่า สำหรับสีลัพพตปรามาสนั้น ละได้ด้วยโสดาปฏิมรรค แต่แม้เช่นนั้นก็ยังมีสีลัพพตุปาทาน คือความยึดถือในศีลและวัตรอยู่ เป็นอย่างละเอียด เหมือนอย่างท่านพระอานนท์ ท่านเป็นพระโสดาบัน ท่านละสีลัพพตปรามาสได้ แต่ว่ายังมีตัณหาที่จะตรัสรู้ ก็ชื่อว่ายังมีสีลัพพัตตุปาทานอยู่ จนท่านวาง และเมื่อท่านวาง จิตของท่านก็วิมุติหลุดพ้น จากอาสวะทั้งสิ้นทันที ดั่งนี้ สีลัพพตุปาทานนี้จึงมีใจความที่คลุมอุปาทานคือความยึดถือทั้งหมด แม้ว่าเป็นพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี คือท่านละมาได้โดยลำดับ แต่ว่าก็ยังละอุปาทานที่เป็นอย่างละเอียดไม่ได้ จนกว่าจะเป็นพระอรหันต์จึงละได้หมด เพราะฉะนั้น สีลัพพตุปาทานนี้จึงมีความที่คลุมไปได้ทั้งหมด คลุมๆสีลัพพตปรามาสด้วย แต่ว่าสีลัพพตปรามาสนั้นเป็นอย่างหยาบดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่วนสีลัพพตุปาทานนี้คลุมได้หมด ๑๐ ทางปฏิบัตติอันถูกชอบ ฉะนั้น สีลัพพตุปาทานดังกล่าวมานี้ ก็มิใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนจะพากันละพากันทิ้งได้ หรือเป็นสิ่งที่เป็นของไม่ดี จำเป็นที่จะต้องแบ่งตามภูมิตามชั้น กล่าวคือถ้าเป็นศีลและวัตรในภายนอกพุทธศาสนา อันเป็นศีลและวัตรที่ผิดต่างๆ นั่นก็เป็นอันว่าผู้นับถือพุทธศาสนา ก็ต้องละต้องเว้นไปโดยลำดับ และมาถึงศีลและวัตรในพุทธศาสนาเอง ก็จะต้องละต้องเว้นเหมือนกัน แต่ว่าก่อนที่จะละจะเว้นก็ต้องสมาทาน คือต้องรับถือปฏิบัติก่อน และจะต้องอาศัยตัณหาเพื่อละตัณหาดังกล่าวมานั้น คือยังจะต้องมีสีลัพพตปรามาส สีลัพพตุปาทาน อยู่ในการปฏิบัติมาโดยลำดับ แต่ว่าก็ยึดและปล่อยไปเป็นขั้นๆ เหมือนอย่างคนเดินขึ้นบันไดซึ่งมีหลายขั้น ก็ต้องขึ้นไปทีละขั้น และขั้นที่กำลังขึ้นอยู่นั้น ก็จะต้องเหยียบอยู่บนบันไดทั้งสองเท้าในขั้นนั้น ดั่งนี้เรียกว่ายังมีสีลัพพตปรามาสสีลัพพตุปาทานอยู่ในขั้นนั้น แต่ว่าที่จะก้าวขึ้นขั้นต่อไปนั้น ก็จะต้องละขั้นที่กำลังยืนอยู่นั้น ก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง คือว่าปล่อยขั้นที่กำลังยืนอยู่ทีแรกนั้น ถ้าหากว่าไม่ปล่อยขั้นที่กำลังยืนอยู่ทีแรกนั้น ยังคงยืนอยู่ในขั้นเดิมนั่นแหละ ก็แปลว่าก้าวขึ้นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องปล่อยขั้นที่ ๑ ก้าวขึ้นไปสู่ขั้นที่ ๒ ก็จะต้องยึดขั้นที่ ๒ ทรงตัวอยู่ในขั้นที่ ๒ แล้วก็ปล่อย เดินขึ้นไปเป็นขั้นๆดั่งนี้ จึงจะขึ้นสูงขึ้นไปได้โดยลำดับ จนถึงขั้นสุดท้ายแล้วก็เป็นอันว่าปล่อยได้หมด ดั่งนี้ เพราะฉะนั้น ในทางพุทธศาสนาที่แสดงธรรมะอันละเอียดนี้ จึงไม่ใช่หมายความว่า ข้อที่แสดงนั้นเป็นสิ่งที่มีโทษ ต้องละเสียหมดตั้งแต่เบื้องต้น ถ้าละเสียหมดตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว ก็เป็นอันว่าปฏิบัติอะไรไม่ได้ เหมือนอย่างว่ามีบันได ก็เป็นอันว่าขึ้นบันไดกันไม่ได้ ๑๑ เพราะขึ้นบันไดแล้วก็จะต้องเหยียบขึ้นไปทีละขั้น ถ้าสอนว่าอย่าให้เหยียบ เหยียบแล้วไปยึด อย่างนี้ก็เป็นอันว่าไม่ต้องขึ้นบันไดกัน แล้วเป็นอันว่าก้าวขึ้นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องยึด จะต้องปล่อย ไปโดยลำดับดั่งนี้ ให้เป็นขั้นๆไป นี้กล่าวในๆข้อที่เป็นข้อที่พึงปฏิบัติ คือเป็นทางปฏิบัติอันถูกชอบ แต่ว่าถ้าเป็นทางปฏิบัติอันไม่ถูกไม่ชอบแล้วก็ต้องปล่อยเสียทีเดียว ไม่ต้องไปทดลองก่อน เช่นว่าเว้นจากการฆ่า มีเมตตากรุณา ก็ไม่ต้องไปทดลองฆ่าเสียก่อนแล้วจึงเว้น ละเสียทีเดียว แต่ในข้อที่พึงปฏิบัตินั้น ก็ให้ปฏิบัติไป แล้วก็ต้องก้าวขึ้นไปเป็นขั้นๆดังกล่าวมานี้ ดั่งนี้เป็นอธิบายในสีลัพพตุปาทาน ความยึดถือศีลและวัตร ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
*