• พิมพ์

 ไภษัชยคุรุไวทูรยประภะราชาสูตร

ผศ.ดร.สถิตย์ ไชยปัญญา แปลจากต้นฉบับสันสกฤต โครงการตำราและวิชาการมหายาน คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย จัดพิมพ์

คำนำ

                พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า พระนามเต็มของพระองค์คือ พระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะราชะ ชาวจีนออกพระนามท่านเป็นภาษาจีนว่า หยกซือฮุก หรือ หยกซือหลิวหลีกวงฮุก แปลเป็นภาษาไทยว่าพระพุทธเจ้าผู้เป็นครูแห่งยารักษาโรค หมายความว่า พระพุทธเจ้ผู้เป็นครูแห่งยาในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

                พระนามของพระองค์มีเค้าปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายมหายานอันเก่าแก่อย่างสัทธรรมปุณฑรีกสูตร โอษธีปริวรรต กล่าวว่า

“สัตว์ทั้งหลายผู้บอดเพราะอวิชชา ดำรงตนอยู่ในโลก(สังสารวัฏ) อย่างนี้ ส่วนพระตถาคตพ้นแล้วจากโลกธาตุทั้งสาม เพราะมีความกรุณา เมหือนกับบิดาเกิดความกรุณาในบุตรคนเดียว ซึ่งเป็นที่รัก(เรา)จึงมาบังเกิดในสามโลก ได้เห็นสัตว์ทั้งหลายผู้ท่องเที่ยวไปอยู่ในวัฏสงสาร และสัตว์เหล่านั้นไม่รู้วิถีทางที่จะออกจากวัฏสงสาร ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคมองดูสัตว์ทั้งหลายด้วยปัญญาจักษุ และครั้นเห็นแล้วก็ทราบว่า ในกาลก่อนสัตว์เหล่านี้ กระทำกุศลไว้แล้ว บ้างก็มีโทสะเบาบางมีราคะกล้า บ้างก็มีราคะเบาบางโทสะกล้า บ้างก็มีปัญญาน้อย บ้างก็เป็นบัณฑิต บ้างก็มีความบริสุทธิ์ผุดผ่องและบ้างก็มีมิจฉาทิฏฐิ พระตาถคตจึงแสดงยานสามชนิดแก่สัตว์เหล่านั้น ด้วยกุศโลบาย

ณ ที่นั้น ฤาษีทั้งหลาย ผู้มีอภิญญาห้ามีจักษุหมดจดนั้นแล คือพระโพธิสัตว์ ยังโพธิจิตให้บังเกิดขึ้น จนสำเร็จขันติธรรม ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แล้วจึงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ

นายแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่ในเรื่องนี้ พึงเทียบได้กับพระตถาคตนั่นเอง ชายตาบอดแต่กำเนิดก็คือสัตว์ทั้งหลาย ที่มืดบอดเพราะโมหะ โรคลมน้ำดี และเสลดก็เหมือนกับราคะ โทสะ และโมหะ ทิฏฐิหกสิบสอง ฟังเห็นว่าเป็นเช่นนั้นเหมือนกับ ยาสี่ชนิด ฟังเทียบได้กับ ศูนยตา(ความว่างเปล่า) อนิมิตตา(ความไม่ยึดติด) อัปปณิหิตา(ความไม่ปรารถนา) และพระนิพพาน (ความดับ) การใช้ยาทั้งหลาย จนสามารถระงับโรคได้ เหมือนกับสัตว์ทั้งหลาย เจริญวิโมกข์สาม คือสุญญตาวิโมกข์(ความหลุดพ้นด้วยเห็นความว่างเปล่า) อนิมิตตวิโมกข์(หลุดพ้นด้วยการไม่ยึดติดนิมิต) อัปปณิหิตวิโมกข์(หลุดพ้นด้วยไม่ทำความปรารถนา) ก็จะดับอวิชชา(ความไม่รู้) ได้ เมื่อดับอวิชชาได้ สังขาร(การปรุงแต่ง) ก็ดับ และในที่สุดก็จะดับกองทุกข์อันยิ่งใหญ่ลงได้ แล้วจิตก็จะไม่ตั้งอยู่ทั้งในความดีและในความชั่ว (เป็นพระอริยบุคคล)...”

                นอกจากนี้ในศุภวยูหราชปูรวโยคปริวรรต ได้ปรากฏชื่อ พระโพธิสัตว์ผู้มีพระนามว่า พระไภษัชยราช กับพระไภษัชยสมุทคตะ ซึ่งตามความหมายย่อมแสดงความสืบเนื่องกับพระนามไภษัชยคุรุ อย่างชัดเจน

                ในไภษาชยคุรุไวทูรประภะราชปูรวประณิธานสูตร กล่าวว่า พระองค์ได้ประทับอยู่ในพุทธเกษตร นามว่า ไวทูรยนิรภาสาโลกธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตุวันออกของโลก เป็นที่มีความสันติสุขน่ารื่นรมย์ และเนื่องจากพระองค์ท่านทรงตั้งมหาปณิธาน 12 ประการข้อสำคัญคือขอให้สรรพสัตว์ในโลกธาตุของพระองค์ทุกรูปทุกนามจงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ดังนั้นบุคคลใดก็ดี หากสักการะบูชาพระองค์ท่านโดยสม่ำเสมอจะมีอานิสงส์ให้เป็นผู้ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ หรือถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยจักทุเลาลงหายจากโลก

                ดังปรากฏในมหาประณิธานอันสำคัญหนึ่งในสิบสองข้องของพระไภษัชยคุรไวทูรยประภาพุทธเจ้า เมื่อครั้งทรงบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์มีใจความว่า

“มหาประณิธานประการที่เจ็ดของพระองค์ คือ  กาลใดในอนาคต ข้าพเจ้าจะพึงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิ และในกาลนั้นเมื่อข้าพเจ้าได้บรรลุโพธิญาณแล้ว สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดทุกข์ทรมานด้วยโรคต่างๆ นานา ไม่มีผู้ปกป้องไร้ที่พึ่งขาดแคลนการช่วยเหลือรักษาและยา อนาถา ยากไร้ทุกข์ทรมาน หากว่าพวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นได้ยินชื่อของข้าพเจ้า ขอให้โรคทั้งปวงของพวกเขาทั้งหลายหมดสิ้นไป ขอให้พวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นปราศจากโรคและอันตรายทั้งหลายตราบจนสิ้นสุดที่การตรัสรู้...”

                การสร้างรูปพระปฏิมาของพระไภษัชยคุรุส่วนมากจะทรงหม้อยาอคทะหรือพระเจดีย์ หรือทรงบาตรยาอคทะในพระหัตถ์ เรามักจะเห็นพระปฏิมาของพระองค์ท่านรวมอยู่กันพระอมิตาภะพุทธเจ้าและพระศากยมุนีรวามเป็นสามองค์ประดิษฐานภายในพระอุโบสก หรือนิยมสร้าพระปฏิมาของพระองค์ท่านประทับพร้อมด้วย พระสุริยไวโรจนโพธิสัตว์และพระจันทรไวโรจนโพธิสัตว์ มหาสาวกของพระองค์ แห่งไวทูรยนิรภาสาโลกธาตุพุทธเกษตร เรียกกันว่าพระไภษัชยคุรุตรีอารยะ ทั้งทรงมีมหายักษ์เสนาบดี 12 ตน ชื่อกุมภีระ(ปีกุน) วัชระ(ปีจอ) มิหิระ(ปีระกา) อัณฑิระ(ปีวอก) อนิละ(ปีมะแม) คัณฑิละ(ปีมะเมีย) อินทระ(ปีมะเส็ง) ปัชระ(ปีมะโรง) มโหรคะ(ปีเถาะ) กินนระ(ปีขาล) จตุระ(ปีฉลู) วิกราละ(ปีชวด) เสนาบดีทั้ง 12 นี้จะปกป้องคุ้มครองผู้ศรัทธาในพระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า และรักษาปีนักษัตรทั้ง12ปี

                สำหรับในดินแดนเอเชียอาคเนย์ พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า ทรงเป็นที่เคารพสักการะมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่สมัยอาณาจักขอม พุทธศตวรรษที่ 18 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ผู้ทรงนับถือพุทธศาสนามหายานปัจจุบันได้พบจารึกมากกว่าสิบหลักทั้งในประไทย ลาวและกัมพูชา พระองค์โปรดให้มีการก่อสร้าง “อโรคยาศาลา” หรือสถานพยาบาลไว้กว่า 100 แห่งทั่วราชอาณาจักร ดังจารึกกล่าวว่า

“พระองค์ได้สร้างโรงพยาบาล และรูปพระไภษัชยไวทูรยประภาสุคต พร้อมด้วยรูปพระชิโนรสทั้งสอง (พระศรีสูรยไวโรจนจันทรโรจิและพระศรีจันทรโวโรจนโรหิณีศะ) โดยรอบ เพื่อความสงบแห่งโรคของประชาชนตลอดไป”

                พระไภษัชคุรุพุทธเจ้า ยังเป็นที่สักการะและรู้จักกันดีในหมู่พุทธศาสนิกชนชาวไทย แพร่หลายมาตั้แต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในรูปลักษณะพระกริ่ง เพื่อคุ้มครองให้ผู้มีจิตศรัทธาได้สักการะบูชาขจัดโรคภัยทั้งปวง

                การปฏิบัติธรรมบูชาพระองค์ท่านก็คือการสวดพระนามของพระองค์อยู่เสมอ ย่อมได้รับอานิสงส์ดังปูรวประณิธานที่ปรากฏในพระสูตรนี้ และเมื่อเวลาถึงแก่กรรม พระองค์ท่านจะมารับวิญญาณไปอุบัติ ณ ดินแดนพุทธเกษตรของพระองค์ แล้วจะไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีก

ความเป็นมาของพระสูตร

                พระสูตรนี้ มีชื่อในภาษาสันสกฤต ตามต้นฉบับคัมภีร์โบราณที่ค้นพบว่า ไภษัชยคุรุนาม มหายานสูตร ในคัมภ์ศึกษาสมุจจัย เรียกชื่อว่า ไภษัชยคุรไวทูรยปรภราชสูตร ส่วนชื่อที่ปรากฏในพระไตรปิฏกทิเบต เรียกชื่อว่าอารยภตวโตไภษชยคุรไวทูรยประภาสยปรณิธานวิเศษวิสตร นามมหายานสูตร

                การแปลพระสูตรเป็นภาษาจีน ตามที่ปรากฏหลักฐานบันทึกไว้ระบูว่า มีการแปลอยู่ 5 ฉบับ ดังนี้

1 ฉบับแรก เป็นบทที่ 12 ในพระสูตรชือ อภิเษกสูตร ใช้ชื่อว่า  灌頂拔除過罪生死得度經 กวง.เตง.ปอ.ชี.กัว.จุย.เซง.ซือ.เตก.ตู.เกง. แปลโดยพระศรีมิตร 帛尸梨蜜多羅 แปะซือ.ลี.มิก.ตอ.ลอ. ในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก แต่ยังมีข้อสงสัยในผู้ศึกษาว่า ฉบับนี้จะเป็นผลงานของท่านศรีมิตรจริงหรือไม่ เพราะในที่แห่งอื่นได้ระบุว่า อภิเษกสูตรมีเพียง 9 บทเท่านั้น แต่บันทึกที่ปรากฏอยู่ในบัญชีคัมภีร์พระพุทธศาสนารัชศกไคหยวน ได้ระบุว่าเป็นพระสูตรเรื่องที่(หรือบทที่)12 ดังนั้นอาจกล่าวได้เพียงว่า พระสูตรนี้ถูกจัดรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอภิเษกสูตร ก่อนสมัยไคหยวนในราชวงศ์ถังอย่างแน่นอน

2 ฉบับที่สองใช้ชื่อว่า 藥師琉璃光經 หยก.ซือ.ลิว.ลี.กวง.เกง.หรืออีกชื่อหนึ่ง 灌頂拔除過罪生死得度經 กวง.เตง.ปอ.ชี.กัว.จุย.เซง.ซือ.เตก.ตู.เกง.แปลโดยฮุ่ยเจี่ยน 釋慧簡เสกฮุ่ยกั้ง ในรัชกาลจักรพรรดิเซี่ยวอู่ตี้ ราชวงศ์ซ่ง ปีแรกของรัชศกต้าหมิง ราวปีพ.ศ.1000 ฉบับนี้ในหมู่ผู้ศึกษามีความเห็นกันว่าเป็นการคัดจากอภิเษกสูตร

3 ฉบับที่สามใช้ชื่อว่า 藥師如來本願經 หยก.ซือ.ยี่.ไล.ปุน.ยง.เกง.แปลโดยท่านธรรมคุปต์ชาวอุทยาน อินเดียหนือ และคณะ เมื่อปีรัชศกต้าเยี่ย ปีที่11 รชกาลจักรพรรดิหยางตี้ ราชวงศ์สุย ราว พ.ศ.1158

4 ฉบับที่สี่ ใช้ชื่อว่า 藥師琉璃光如來本願功德經หยก.ซือ.ลิว.ลี.กวง.ยี.ไล.ปุน.ยง.กง.เตก.เกง. เทียบชื่อสันสกฤตว่า ไภษัชยคุรุไวทูรยปรภาสปูรวปรณิธานสูตร แปลโดยพระเฮี่ยงจัง ในปีแรกของรัชศกย่ฮุย รัชกาลจักรพรรดิเกาจง ราชวงศ์ถัง ราวปี พ.ศ.1193

5 ฉบับที่ห้า ใช้ชื่อว่า 藥師琉璃光七佛本願功德經 หยก.ซือ.ลิว.ลี.กวง.ชี.ฟู.ปุน.ยง.กง.เตก.เกง. เทียบชื่อสันสกฤตเป็นสปตตถาคตปูรวปรณิธานวิเศษสูตร แปลโดยพระอี้จิง ในปีที่ 3 ของรัชศกเสินหลง รัชกาลจักรพรรดิจงจง ราชวงศ์ถัง ราวปี พ.ศ.1250

                ในฉบับแปลทั้งหมดนี้ สี่ฉบับแรกมีเนื้อหาสอดคล้องต้องกัน ส่วนฉบับของพระอี้จิง มีเนื้อหาต่างจากฉบับอื่น คือการกลาวถึงการตั้งปณิธานของอดีตพระพุทธเจ้าเจ็ดพระองค์ และมีธารณี ประกอบด้วย หลังยุคราชวงศ์ถัง การพิมพ์ไภษัชยคุรุไวทูรยประภะราชะสูตร นิยมใช้ฉบับของพระเฮี่ยงจังเป็นหลัก แต่มีการคัดธารณีจากฉบับของพระอี้จิง แทรกเข้าอยู่ในเนื้องเรื่องด้วย

                ในปี พ.ศ. 2474 ได้มีการค้นพบต้นฉบับคัมภีร์ทาง่พระพุทธศาสนาในสถูปใกล้เมืองกิลกิต ประเทศปากีสถาน คัมภีร์เหล่านี้มีอายุถึงราวพุทธศตวรรษที่ 11 หนึ่งในคัมภีร์ที่พบก็คือ ไภษัชยคุรุไวทูรยประภะราชะสูตร Nalinksha Dutt ได้ตรวจชำระฉบับสันสกฤตที่ค้นพบนี้ แล้วจัดพิมพ์รวมกับพระสูตรอื่นๆในหนังสือGilgit Manuscripts Vol 1 ใน พ.ศ. 2482

                ต่อมา Dr.P.L.Vaidya ได้นำมารวมจัดพิมพ์ในหนังสือ มหายานสูตรสำครหะ ปรถมะ ขณทะ โดยสถาบันมิถิลา เมืองทรภังคะ แคว้นพิหาร ประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ.2504

                ดังนั้น ในการแปล ไภษัชยคุรุไวทูรยประภะราชะสูตร ครั้งนี้ จึงได้ปริวรรตจากต้นฉบับอัษรเทวนาครีที่ Dr.P.L.Vaidya ตรวจชำและจัดพิมพ์และได้นำฉบับแปลภาษาจีนของพระเฮี่ยจังมารวมไว้ด้วย เพื่อรักษาต้นฉบับพระธรรมคัมภีร์ฝ่ายมหายานให้สืบทอดต่อไปยังอนุชนรุ่นหลังมิให้สูญหายหวังว่าพุทธศาสนิกชนทั้งหลายที่ได้ศึกษา จักได้เพิ่มพูนความเข้าใจหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามหายานให้ยื่งขึ้นไป อันจะนำมาซึ่งความพ้นทุกข์ในที่สุด

คณะกรรมการโครงการตำราและวิชาการมหายาน

คำนำ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถิตย์ ไชยปัญญา ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพมหานคร

ความเชื่อเกี่ยกับพระกริ่งสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นในบุคคลผู้ศรัทธาให้หายได้นั้น เผยแพร่อยู่ในสังคมไทยมาเป็นระยะเวลายาวนานและในปัจจุบันก็ได้มีการสร้างวัตถุมงคลที่เป็นรูปลักษณ์พระกริ่งออกมาให้สักการะบูชาอยู่มากมาย ในกลุ่มชนผู้ที่เคารพบูชาพระกริ่งต่างก็ทราบกันตามประวัติว่า พระกริ่งก็คือพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ ซึ่งเป็นความเชื่อของพระพุทธศาสนา ฝายนิกายมหายาน แต่น้อยคนนักที่จะทราบถึงประณิธานของพระองค์ท่านว่าเกี่ยวข้องกับการรักษาโรคภัยไข้เจ็บอย่างไร ประณิธานที่พิเศษและยิ่งใหญทั้งหลายของพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะดังกล่าวนั้นปรากฏอยู่ใน “ไภษัชฺยคุรุไวทูรฺยปฺรภราชสูตรมฺ”

                พระสูตรไภษัชยไวทูรยประภะราชะแม้ว่าเป็นพระสูตรที่มีขนาดไม่ยาวมากนักแต่ก็เป็นพระสูตรที่สำคัญพระสูตรหนึ่งของพระพุทธศาสนาฝ่ายนิกายมหายาน พระสูตรนี้ได้บรรยายถึงปูรวปณิธานที่พิเศษและยิ่งใหญ่ของพระไภษัชยไวทูรยประภะจำนวนสิบสองข้อ แสดงถึงประณิธานในการช่วยเหลือมนุษย์สัตว์โลกทั้งหลายให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ ความทุกข์ยากลำบาก และภัยร้ายต่างๆนานัปการ

                ในครั้งนี้ ข้าพเจ้ามีโอกาสได้รับพระสูตรไภษัชยไวทูรยประภะราชะ ฉบับภาษาสันสกฤตจากอาจารย์เศรษฐพงษ์ จงสงวน และได้ถอดความเป็นภาษาไทย โดยคิดว่าเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาพระสูตรของพระพุทธศาสนา ฝ่ายนิกายมหายานข้าพเจ้าขออนุโมทนาและกราบขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งที่ทางคณะสงฆ์จีนนิกายและชมรมมหายานได้รับเป็นเจ้าภาพจัดพิมพ์เผยแพร่พระสูตรนี้ ข้าพเจ้าหวังว่าปูรวปณิธานอันประเสริฐยิ่งของพระไภษัชยคุรไวทูรยประภะจะเผยแผ่ออกไปกว้างขวางมากยิ่งขึ้น และพระสูตรที่ได้ถอดความเป็นภาษาไทยฉบับนี้คงจะเป็นประโยชน์บ้าง ตามสมควรสำหรับบุคคลที่สนใจศึกษาพระสูตรและหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ฝ่ายนิกายมหายาน

ไภษัชยคุรุไวทูรยประภะราชะสูตร ภาษาไทย

ไภษัชฺยคุรุไวทูรฺยปฺรภราชสูตฺรมฺ

โอม ขอนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้า ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรไวทูรยประภะราชะ ผู้เป็นพระตถาคต

ข้าพเจ้าได้ยินมาดังนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคได้เสด็จจาริกไปโดยลำดับในชนบทจนถึงมหานครไวศาลี พระผู้มีพระภาคได้ประทับอยู่ในนครไวศาลีนั้น และทรงแสดงพระธรรมเทศนา ณ บริเวณใต้ต้นไม้ที่ส่งเสียงดนตรี ท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหย๋แปดพันรูป พระโพธิสัตว์สามหมี่หกพันองค์ พร้อมด้วยพระราช อำมาตย์ พราหมณ์ คฤหัสถ์ และกลุ่มของเทวดา นาค ยักษ์ คนธรรพ์ อสูร ครุฑ กินนร มโหรคะ(งูใหญ่) มนุษย์ อมนุษย์ กาลครั้งนั้นพระธรรมราชบุตรมัญชุศรีได้ลุกขึ้นจากอาสนะ ห่มผ้าเฉวียงบ่าด้านหนึ่งแล้วคุกเข่าขวาลงบนพื้นดิน ประนมมือแล้วกราบทูลต่อพระผู้มีพระภาคว่า ขอพระผู้มีพระภาคจงแสดงพระนามของพระตถาคตทั้งหลาย และการสาธยายปูรวปณิธาน(คำอธิษฐาน) ที่ยิ่งใหญ่ของพระตถาคตทั้งหลายเหล่านั้น หลังจากได้สดับแล้ว ขอให้ข้าพระองค์ทั้งหลายขจัดอุปสรรคกีดขวางคือกรรมทั้งปวง ในกาลสมัยอดีต เพื่อจุดประสงค์แห่งการอนุเคราะห์สัตว์โลกทั้งหลายในเวลาปัจจุบันที่เป็นยุคสัทธรรมปฏิรูป

                ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสสาธุการพระมัญชุศรี ผู้เป็นกุมารอยู่เสมอว่า ดีแล้ว ดีแล้ว มัญชุศรี มัญชุศรีผู้มีมหากรุณา ท่านยังความกรุณาอันประมาณมิได้ให้เกิดขึ้นแล้วได้ อาราธนาตถาคตแสดงธรรมเพื่อประโยชน์สุขของสัตว์ทั้งหลายที่มีอุปสรรคคือกรรมต่างๆ นานาแวดล้อมอยู่ และเพื่อประโยชน์สุขของเทวดาทั้งหลาย ดังนั้น มัญชุศรี ท่านจงฟัง จงตั้งใจไว้อย่างดี และเหมาะสม ตถาคตจะกล่าว พระมัญชุศรี ผู้เป็นกุมารอยู่เสมอ กราบทูลตอบ พระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ขอจงเป็นเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระมัญชุศรีว่า ดูก่อน มัญชุศรี จากที่นี่ไปทางทิศตะวันออกผ่านพุทธเกษตรจำนวนมากดุดังเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาทั้งสิบสาย มีโลกธาตุชื่อว่าไวทูรยนิรภาสา ณ ที่นั่นพระพุทธเจ้าผู้ทรงพระนามว่า พระไภษัชยคุรุไวทูรยนิรภาสา ณ ที่นั่นพระพุทธเจ้าผู้ทรงพระนามว่า พระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคต ผู้เป็นพระอรหันต์  ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ผู้ถึงพร้อมด้วยความรู้และความประพฤติ ผู้เสด็จไปดีแล้ว ผู้รู้แจ้งโลก ผู้ยอดเยี่ยม ผู้เป็นนายสารถีฝึกบุรุษ ผู้เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ประทับอยู่ นอกเหนือไปจากนี้ มัญชุศรี มหาประณิธานทั้งสิบสองเหล่านี้ของพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้น ผู้ประพฤติปฏิบัติตามแนวทางแห่งพระโพธิสัตว์แต่ก่อนได้ปรากฏขึ้น มหาปณิธานทั้งสิบสองคืออะบ้าง

                มหาประณิธานประการแรกของพระองค์ คือ กาลใดในอนาคตข้าพเจ้าจะพึงบรรลุอนุตตรสัมมารสัมโพธิในกาลนั้นขอให้โลกธาตุทั้งหลายที่ไร้ขอบเขตนับไม่ได้ และประมาณไม่ได้ สว่างไสวเปล่งประกาสดใสด้วยแสงแห่งกายของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าประกอบด้วยมหาบุรุษลักษณะทั้งสามสิบสองประการร่างกายประดับด้วยอนุพยัญชนะ (ลักษณะมหาบุรุษลักษณธที่รองลงมาแปดสิบประการฉันใด ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นฉันนั้น

                มหาประณิธานประการที่สองของพระองค์ คือ กาลใดในอนาคต ข้าพเจ้าจะพึงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิ และในกายนั้นเมื่อข้าพเจ้าบรรลุโพธิญาณแล้ว ขอให้ร่างกายประกอบด้วยแสงสว่างอันผ่องใสบริสุทธิ์ยิ่งทั้งด้านในและด้านนอกดุจดังแก้วไพฑูรย์ที่หาค่ามิได้ ในเวลานั้นขอให้กายที่ใหญ่โดนั้นประกอบด้วยศรีและเดชที่สูงสุด ขอให้กลุ่มรัศมีแห่งกายนั้นเหนือกว่ารัศมีแห่งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดและแม้แต่มนุษย์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกธาตุ เดินทางไปสู่สารทิศต่างๆในเวลากลางคืนที่มืดมน เมื่อสัมผัสกับรัศมีของข้าพเจ้าในทั่วทุกศิศทางแล้ว ขอให้กระทำกุศลกรรมทั้งหลาย

                มหาประณิธานประการที่สามของพระองค์ คือ กาลใดในอนาคตข้าพเจ้าจะพึงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิ และในกาลนั้นเมือข้าพเจ้าบรรลุโพธิญาณแล้ว ขอให้สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ดำรงชีพอยู่ด้วยการใช้กำลัง อุบาย และปัญญาที่ไม่มีขีดจำกัด เพื่อการอุปโภคบริโภคที่มีอย่างไม่สิ้นสุดแห่งโลกอขงสัตว์ที่ประมาณไม่ได้ ขอให้ความขาดแคลนใดๆก็ตามของสัตว์ทั้งหลานไม่มี

                มหาประณิธานประการที่สีของพระองค์ คือ กาลใดในอนาคตข้าพเจ้าพึงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิในกาลนั้นเมื่อข้าพเจ้าบรรลุโพธิญาณแล้ว สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดประพฤติปฏิบัติตามหนทางชั่ว ประพฤติปฏิบัตตามหนทางแห่งพระสาวก และประพฤติปฏิบัตตามหนทางแห่งพระปัจเจกพุทธะ ขอให้สัจว์ทั้งหลายเหล่านั้นตั้งอยู่ในมหายานหนทางแห่งการตรัสรู้สูงสุด

                มหาประณิธานประการที่ห้าของพระองค์ คือ กาลใดในอนาคตข้าพเจ้าพึงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิ และในกาลนั้นเมื่อข้าพเจ้าบรรลุโพธิญาณแล้ว สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดประพฤติพรหมจรรย์ในศาสนาของข้าพเจ้า ขอให้ศีลที่ไร้ขอบเขตจงล้อมรอบสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น และสัตว์ใดถูกกระทำให้ศีลเสียหายไป เมื่อได้ยินชื่อของข้าพเจ้าแล้ว ขอให้อย่าดำเนินไปในหนทางชั่วร้ายใดๆเลย

                มหาประณิธานประการที่หกของพระองค์ คือ กาลใดในอนาคตข้าพเจ้าพึงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิ และในกาลนั้นเมื่อข้าพเจ้าบรรลุโพธิญาณแล้ว สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดมีร่างกายบกพร่องอินทรีย์พิการ ต่ำต้อย หูหนวก เป็นใบ้ อ่อนปวกเปียก หลังค่อม โรคเรื้อน ปัญญาทึบ ตาบอดควบคุมสิติไม่ได้ และสัตว์อื่นทั้งหลายเหล่าใดที่มีโรคทั้งหลายอยู่ในร่างกายหลังจากได้ยินชื่อของข้าพเจ้าแล้ว ขอให้พวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นจงเป็นผู้มีร่างกายครบสมบูรณ์มีอินทรีย์ทั้งปวงครบบริบูรณ์

                มหาประณิธานประการที่เจ็ดของพระองค์ คือ กาลใดในอนาคตข้าพเจ้าพึงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิ และในกาลนั้นเมื่อข้าพเจ้าบรรลุโพธิญาณแล้ว สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดที่ทนทุกข์ทรมานด้วยโรคต่างๆนานา ไม่มีผู้ปกป้องไร้ที่พึ่ง ขาดแคลนการช่วยเหลือและยารักษา อนาถา ยากไร้ ทุกข์ทรมาน หากว่าพวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นได้ยินชื่อของข้าพเจ้าแล้ว ขอให้โรคทั้งปวงของพวกเขาทั้งหลายหมดสิ้นไป ขอให้พวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นปราศจากโรคและอันตรายทั้งหลายตราบจนสิ้นสุดที่การตรัสรู้

                มหาประณิธานประการที่แปดของพระองค์ คือ กาลใดในอนาคตข้าพเจ้าพึงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ในกาลนั้นหญิงใดๆก็ตามผู้ปรารถนาละทิ้งกายที่เป็นหญิงที่ถูกบีบคั้นด้วยโทษทั้งหลายต่างๆนานานับร้อยของผู้หญิง และที่เกลียดชังสภาวะของความเป็นหญิง ขอให้ยึดถือชื่อของข้าพเจ้าแล้ว ขอให้สตรีภาวะของหญิงนั้นไม่มีอยู่ตราบจนสิ้นสุดที่การตรัสรู้

                มหาประณิธานประการที่เก้าของพระองค์ คือ กาลใดในอนาคตข้าพเจ้าพึงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ในกาลนั้นเมื่อข้าพเจ้าบรรลุโพธิญาณแล้ว หลังจากข้าพเจ้ายังให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ที่ได้รับความลำบากจากการยึดถือความเห็นผิด ที่ถุกมัดด้วยเครื่องผูกมัดคือบ่วงแห่งมาร กลับจากหนทางแห่งมิจฉาทิฏฐิคือบ่วงแห่งมารทั้งปวง ยังให้เข้าสู่สัมมาทิฏฐิแล้ว จะพึงแสดงการประพฤติปฏิบัติของพระโพธิสัตว์ตามลำดับ

                มหาประณิธานประการที่สิบของพระองค์ คือ กาลใดในอนาคตข้าพเจ้าพึงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ในกาลนั้นเมื่อข้าพเจ้าบรรลุโพธิญาณแล้ว สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดก็ตามที่หวาดกลัวภัยจากพระราชา หรือถูกจับมัดด้วยเชือกถูกลงโทษประหารชีวิต่ถูกกลั่นแกล้งด้วยเล่ห์กลอุบายทั้งหลายต่างๆนานาไม่ได้รัรบการเคารพยกย่อง ถูกทำร้ายอย่างรุนแรงด้วยทุกข์ทรมานที่เกี่ยวพันกับร่างกาย วาจา และจิตใจ ขอให้สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นหลุดพ้นจากความหายนะและภัยทั้งหลายทั้งปวงด้วยการได้ยินชื่อขอข้าพเจ้าและด้วยอานุภาพแห่งบุญของข้าพเจ้า

                มหาประณิธานประการที่สิบเอ็ดของพระองค์ คือ กาลใดในอนาคตข้าพเจ้าพึงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ในกาลนั้นเมื่อข้าพเจ้าบรรลุโพธิญาณแล้ว สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดที่ถูกแผดเผาด้วยไฟแห่งความกระหายหิว ที่มีจิตจดจ่ออยู่ในการแสวงหาอาหารและน้ำ ต้องทำบาปเนื่องจากสาเหตุนั้น หากว่าสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นยึดถือชื่อของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะพึงทำให้ร่างกายของพวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นสดชื่นด้วยอาหารที่มีสี กลิ่นและรส

                มหาประณิธานประการที่สิบสองของพระองค์ คือ กาลใดในอนาคตข้าพเจ้าพึงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ในกาลนั้นเมื่อข้าพเจ้าบรรลุโพธิญาณแล้ว สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดก็ตามที่ละทิ้งบ้านเรือน ยากจนถูกรบกวนด้วยยุงกัดความหนาวเย็นและความร้อน ประสบกับความทุกข์ทรมานทุกวันคืน หากว่าพวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นยึดถือชื่อของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะพึงรวบรวมเก็บคนเสื้อผ้าและเครื่องใช้ของพวกเขาทั้งหลาย และเสนอวัตถุอันพึงปรารถนาที่ดึงดูดใจด้วยสีสันหลากหลาย และข้าพเจ้าจะพึงทำให้ความปรารถนาทั้งปวงสัตว์ทั้งหลานสมปรารถนา ด้วยเรื่องประดับแก้วมณมาลัยดอกไม้หอม เครื่องทาตัวที่มีกลิ่นหอม ดนตรีดุริยางค์ นางระบำ ที่หลากหลาย

                ดูก่อน มัญชุศรี พระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคต ผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้เป็นสัมมาสัมพุทธะ ผู้ประพฤติปฏิบัติตาม หนทางแห่งความรู้ก่อนหน้านี้ ได้ทรงกระทำมหาประณิธานทั้งสิบสองประการเหล่านี้

                ยิ่งไปกว่านั้น มัญชุศรี กัลป์หรือเศษเล็กเศษน้อยของกัลป์ไม่สามารถนำมาใช้คาดคำนวณประณิธาน และการปรากฏคุณอันประเสริฐแห่งพุทธเกษตรของพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะผู้เป็นพระตถาคตได้ พุทธเกษตรนั้นบริสุทธิ์ยิ่ง ไม่มีผู้หญิง ไม่มีเสียงแห่งความทุกข์และภัยพิบัติ ไม่มีโทษของกาม ไม่มีก้อนกรวดและก้อนหิน ที่พื้นดินเต็มไปด้วยแก้วไพฑูรย์ กำแพงป้อมปราการ ปราสาท โค้งซุ้มประตู ช่องลมล้วนทำด้วยแก้วมณีทั้งเจดดุจดังโลกธาตุสุขาวดี ณ ที่นั้นในโลกธาตุไวทูรยนิรภาสา มีพระโพธิสัตว์มหาสัตว์สองพระองค์ทรงเป็นประมุขของพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ทั้งหลายนับจำนวนไม่ถ้วน ประมาณมิได้นั้น พระโพธิสัตว์มหาสัตว์พระองค์หนึ่งทรงพระนามว่า สูรยไวโรจนะและพระโพธิสัตว์มหาสัตว์พระองค์ที่สองทรงพระนามว่าจันทรไวโรจนะ พระโพธิสัตว์ทั้งสองพระองค์ยึดถือสัทธรรมโกศ(แหล่งรวมสัทธรรมของพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้น มัญชุศรี ดังนั้น ในกาลนั้นประณิธานที่ควรได้รับการปฏิบัติ จึงได้บังเกิดขึ้นในพุทธเกษตรนั้นพร้อมด้วยกุลบุตร กุลธิดา ผู้มีศรัทธา

                พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระมัญชุสรี ผู้เป็นกุมารอยู่เสมอเพิ่มเติมอีกครั้งว่า มัญชุศรี ชนทั้งหลายทั่วไป สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดที่ดำรงอยู่ ไม่ทราบกรรมที่เป็นกุศลและอกุศล พวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นเป็นผู้ถูกความโลภครอบงำผู้ไม่รู้จักการให้ทานและผลที่ยิ่งใหญ่ของการให้ทาน เป็นผู้โง่เขลายิ่งเหมือนเด็ก ผู้ขาดส่วนของศรัทธา ผู้วุ่นวายทุกขณะในการรวบรวมเงินทองและจิตของพวกเขาทั้งหลายไม่ดำเนินไปในส่วนของการให้ทาน หรือเมื่อถึงเวลาแห่งการให้ทานก็เปรียบเสมือนตัดเอาเนื้อไปจากร่างกายของเขา จิตย่อมทุกข์และสัตว์ทั้งหลายจำนวนมากมายเหล่อใดไม่บริโภคแม้เพื่อตนเอง ไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะให้แก่มารดาบิดา ภรรยาและบุตรสาวทั้งหลาย ไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะให้แก่ทาสชายหญิงและผู้รับใช้ทั้งหลาย ไม่ต้องกล่าวถึงว่าจะให้แก่ผู้ยากไร้ คนอื่นทั้งหลายสัตว์ทั้งหลายที่เป็นเช่นนี้หลังจากละทิ้งโลกนี้ไปแล้ว จะเกิดในเปรตโลกหรือในท้องของสัตว์ดิรัจฉาน หากว่าก่อนหน้านี้คราที่ยังเป็นมนุษย์ทั้งหลายเหล่าใดได้ยินพระนามของพระผู้มีพระภาคพระไภษัชนคุรุไวทูรย์ประภะ ผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้น ณ ที่นั่นพระนามของพระตถาคตพระองค์นั้น จะบังเกิดขึ้นเบื้องหน้าของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นที่อยู่ในยมโลกหรือในท้องของสัตว์หลังจากละทิ้งสถานที่นั้นไปแล้วพร้อมด้วยการระลึกถึงเท่านั้น สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นจะเกิดในมนุษย์โลกอีกครั้ง และจะระลึกชาติได้พวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นผู้หวาดกลัวภัยแห่งหนทางชั่วร้าย จะไม่เป็นผู้ปรารถนากามคุณทั้งหลายอีก และจะเป็นผู้พึงพอใจในการให้ทาน และจะเป็นผู้กล่าวยกย่องสรรเสริญการให้ทาน พวกเขาทั้งหลายจะสละมือ เท้า ศีรษะ ดวงตา เลือดและเนื้อแก่ผู้ขอทั้งหลายโดยการสละสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างตามลำดับไม่ต้องกล่าวถึงทรัพย์ สมบัติอื่นๆจำนวนมาก

นอกเหนือไปจากนี้ มัญชุศรี สัตว์ทั้ง่หลายเหล่าใดมีชีวิตอยู่ ได้ยึดถือศีลที่พระตถาคตทรงแสดง หากสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นตกอยู่ในปัญหาความวิบัติแห่งศีล หรือตกอยู่ในปัญหาความวิบัติแห่งการประพฤติปฏิบัติ หรือความวิบัติแห่งทิฏฐิใดๆก็ตาม สัตว์ทั้งหลายเหล่าใดผู้สูญสิ้นศีล ย่อมกลายเป็นผู้มีศีลปกป้องรักษาคศีลอีกครั้ง จะไม่เที่ยวแสวงหาพหูสูตที่อยู่ในแนวทางตรงข้ามอีกเลย และย่อมไม่ก่อให้เกิดความหมายที่ยากจะเข้าใจได้แห่งคำสอนของพระตถาคต และสัตว์ทั้งหลายเหล่าใดเป็นพหูสูตที่อยู่ในแนวทางตรงข้าม ทั้งหลาย พวกเขาเหล่านั้นเป็นผู้เย่อหยิ่ง ผู้ยึดมั่นในความเห็น เป็นผู้มีความริษยาบุคคลอื่นทั้งหลาย ย่อมเป็นปฏิปักษ์และปฏิเสธพระสัทธรรมบุรุษทั้งหลายเหล่านั้นผู้ลุ่มหลงเช่นนี้ เป็นผหู้อยู่ฝ่ายมารร้าย เป็นผู้เขาไปสู่หนทางชั่วร้ายด้วยตนเองแล้ว และพวกเขายังให้สัตว์อื่นต่างๆจำนวนมากมายนับล้านจนประมาณมิได้ตกลงไปสู่บ่อแห่งอันตรายยิ่งใหญ่ด้วย หนทางแห่งการอาศัยอยู่ในนรกของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นที่มีรูปเช่นนั้นย่อมมีโดยมาก ณ ที่นั่นสัตว์ทั้งหลายเหล่ใดหากได้ยินพระนามของพระผู้มีพระภาคไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้น พระนามของพระตถาคตพระองค์นั้นจะปรากฏอยู่เบื้องหน้าของสัตว์ทั้งหลายผู้อยู่ในนรกนั่นด้วยพุทธานุภาพ เมื่อละจากที่นั่นแล้วพวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นจะเกิดในโลกมนุษย์อีกครั้ง พวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นจะเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยความคิดเห็นที่ถูกต้อง เป็นผู้มีความกล้าหาญ ผู้มีที่อยู่อาศัยประเสริฐ พวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นเมื่อละทิ้งบ้านเรือนแล้วออกบวชในศาสนาของพระตถาคต ย่อมกลายเป็นผู้ที่สมบูรณ์ไปด้วยการประพฤติปฏิบัติของพระโพธิสัตว์ตามลำดับ

ยิ่งกว่านั้น มัญชุศรี สัตว์ทั้งหลายเหล่าใด เมื่อมีชีวิตอยู่ได้อิจฉาริษยากล่าวสรรเสริญตนเอง กล่าวนินทาว่าร้ายบุคคลอื่น สัตว์ทั้งหลายผู้ได้รับ การเคารพยกย่องจากบุคคลอื่น ผู้ยกตนเองขึ้นและดูถูกเหยียดหยามบุคคลอื่นจะต้องประสบกับความทุกข์ทรมานในอบายทั้งสามเป็นเวลามากมายหลายพันปี พวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นได้รับความทุกข์ทรมานเป็นเวลามากมายหลายพัน เมื่อละทิ้งที่นั่นแล้วย่อมไปเกิดในท้องของสัตว์คือ วัว ม้า อูฐ ลา เป็นต้น พวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นต้องแบกสัมภาระอันหนักหน่วง มีร่างกายถูกทรมานด้วยความหิวและความกระหายถูกทุบตีโดยการเฆี่ยนด้วยไม้และเชือกบังเหียนให้เดินไปในท้องถนน แม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะได้รับโอกาสให้เกิดเป็นมนุษย์อีกก็จะไปเกิในตระกูลที่ต้อยต่ำตลอดกาล และไปสู่ใต้การปกครองของผู้อื่นภายใต้ความเป็นทาส หากว่าก่อนหน้านี้เมื่อคราที่เป็นมนุษย์ทั้งหลายเหล่าใดได้ยินพระนามของพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้น พวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นจะหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายด้วยกุศลมูลนั้น พวกเขาทั้งหลายจะเป็นผู้มีความฉลาดเฉียบแหลมและจะเป็นบัณฑิตและผู้คงแก่เรียน พวกเขาจะพบกับกัลยาณมิตรเสมอและหลังทำลายบ่วงมารแล้ว ย่อมขจัดแหล่งรวมอวิชา ยังให้แม่น้ำแห่งกิเลสเหือดแก้งไป หลุดพ้นจากความกระวนกระวายใจแห่งความทุกข์โศก โทมนัส ปริเวทนา เศร้าโศกในภัยของการเกิด แก่ เจ็บป่วย และตาย

ยิ่งไปกว่านั้น มัญชุศรี สัตว์ทั้งหลายเหล่าใด เมื่อมีชีวิตอยู่ใต้กระทำความชั่วร้าย ยังสัตว์ทั้งหลายให้ทะเลาะวิวาทกัน สัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นผู้คิดแต่การต่อสู้กัน ผู้สร้างอกุศลกรรมด้วยวิธีการต่างๆนานา ด้วยกาย วาจา ใจ ผู้ปรารถนาทำร้ายซึ่งกันและกัน ย่อมมุ่งไปเพื่อความเปล่าประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่ายเสมอ และพวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นร้องอัญเชิญเทวดาประจำป่า เทวดาประจำต้นไม้ และเทวดาประจำภูเขา พวกเขาเหล่านั้นได้แยกออกไปตามลำพังแล้วร้องอัญเชิญภูตผีปีศาจในป่าช้า และพวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นได้คร่าเอาชีวิตของสัตว์ทั้งหลายไป พวกเขาบูชายักษ์และรากษสทั้งหลาย ผู้มีภักษาหารคือเนื้อและเลือด หลังจากได้ทำชื่อหรือหุ่นร่างกายของศัตรูของเขาแล้ว พวกเขาทั้งหลายผู้ปรารถนากระทำความพินาศให้แก่ร่างกายหรือกระทำอันตรายให้ถึงแก่ชีวิตด้วยการใช้กาโขรท(วิญญาณร้ายที่คู่กับเวตาล)และเวตาล สาธยายเวทมนต์อันน่าหวาดกลัวที่นั่น หากบุคคลทั้งหลายเหล่าใดได้ยินพระนามของพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้นแล้วอะไรก็ตามจะไม่สามารถทำอันตรายพวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นได้ พวกเขาทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้นจะมีชีวิตอยู่เป็นผู้มีจิตเมตตากรุณา และไม่มีจิตมุ่งร้ายซึ่งกันและกัน เป็นผู้ปีติยินดีด้วยทรัพย์สมบัติและญาติพี่น้องมิตรสหาย

ยิ่งไปกว่านั้น มัญชุศรี หากบริษัททั้งสี่เหล่า คือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาและกุลบุตรหรือกุลธิดาทั้งหลายมีศรัทธาอื่นๆเหล่าใด ผู้ประกอบด้วยศีลอุโบสถอันประเสริฐทั้งแปดเข้าถือศีลหนึ่งปีหรือสามเดือน การตั้งประณิธานของพวกเขาทั้งหลายเหล่าใดเป็นเช่นนี้ว่า ขอพวกข้าพเจ้าไปเกิดในโลกธาตุสุขาวดีทางทิศตะวันตกด้วยกุศลมูลนี้เถิด พระอมิตายุสตถาคตประทับอยู่ที่นั่น บุคคลทั้งหลายเหล่าใดเมื่อได้ยินพระนามของพระผู้มีพระภาคไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้นแล้ว พระโพธิสัตว์ทั้งแปดผู้มาถึงด้วยฤทธิ์อำนาจย่อมปรากฏในช่วงเวลามรณะกาลของพวกเขาทั้งหลายเหล่านั้น ภายใต้สภาวะนั้น พระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมปรากฏให้เห็นในดอกบัวหลากหลายสี บางคนไปเกิดในเทวโลกอีกครั้ง ถ้าในเวลานั้นกุศลมูลก่อนหน้านี้ของพวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นที่มีอยู่ยังไม่หมดสิ้น และไม่เป็นไปในหนทางที่ชั่วพวกเขาทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อละทิ้งที่นั่นแล้ว จะเกิดในมนุษย์โลกนี้อีกครั้งพวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นจะได้เป็นพระราชา ผู้เป็นจอมจักรพรรดิของทั้งสี่ทวีปยังสัตว์ต่างๆทั้งหลายจำนวนมากมายหลายโกฏิให้ตั้งมั่นอยู่ในกุศลกรรมบถสิบในอนาคตกาลพวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นจะเกิดในตระกูลที่ยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ ตระกูลที่ยิ่งใหญ่ของพราหมณ์ และตระกูที่มั่งคั่งรุ่งเรืองด้วยทรัพย์สมบัติและคลังพืชพันธุ์ธัญญาหารจำนวนมากมายอีกครั้ง พวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นจะถึงพร้อมด้วยรูป ความยิ่งใหญ่ และบริวาร และหญิงใดเมื่อได้ยินพระนามของพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้นและยึดมั่นไว้ สตรีภาวะของหญิงนั้นพึงคาดหวังได้ว่าเป็นภาวะสุดท้าย(หญิงนั้นจะไม่ได้สภาวะที่เป็นหญิงอีก)

                ครั้งนั้น พระมัญชุศรี ผู้เป็นกุมารอยู่เสมอ ได้ทูลต่อพระผู้มีพระภาค ดังนี้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพเจ้าจะให้ได้ยินพระนามของพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้นและชื่อของกุลบุตรและกุลธิดาผู้มีศรัทธาทั้งหลายเหล่านั้นในกาลสมัยอดีต ข้าพเจ้าจะประกาศพระนามของพระพุทธเจ้าลงไปในช่องหูแม้ในขณะนอนหลังฝันมากเท่าที่จะเป็นไปได้ คนทั้งหลายเหล่าใดจะยึดถือท่องบ่น สั่งสอน ศึกษา แสดงด้วยการเผยแผ่แก่บุคคคอื่นโดยพิสดาร เขียนยังให้คัดลอกหรือหลังจากสร้างเป็นหนังสือแล้วกระทำการเคารพบูชาพระสูตรรัตนะนี้ด้วยฉัตร ธงชัย ธงปฏาก เครื่องหอม แผ่นผ้าดอกไม้ ธูป มาลัยหอมนานา หลังจากที่ห่อหุ้มพระสูตรนั้นด้วยผ้าท่ามีสี่สันห้าสีแล้ว ควรเก็บไว้ในพื้นที่สะอาดบริสุทธิ์ พระสูตรนี้เก็บไว้ ณ สถานที่ใดท้าวมหาราชทั้งสีพร้อมด้วยบริวารทั้งหลายและเทพยดาอื่นๆทั้งหลายจำนวนมากมายหลายโกฏิจะไปสู่สถานที่นั้น ดังนั้นพระสูตรนี้จะเผยแผ่ออกไป และข้าแต่พระผู้มีพระภาค พวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นจะประกาศซึ่งพระสูตรรัตนะนี้ พวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นจะยึดถือส่วนแห่งปูรวปณิธานที่วิเศษและยิ่งใหญ่ของพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรไวทูไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้นและพระนามของพระตถาคตพระองค์นั้นพวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นจะไม่ตายก่อนเวลาอันควร บุคคลใดก็ตามไม่สามารถแย่งเอาพลังชีวิตของพวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นไปได้ หรือพลังชีวิตที่ถูกเอาไปย่อมกลับคืนมาอีกครั้ง

                พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า มัญชุศรี ท่านกล่าวเช่นใด เป็นเช่นนั้นเป็นเช่นนั้น และมัญชุศรี กุลบุตรหรือกุลธิดาใด ผู้มีศรัทธาหรือผู้ปรารถนาทำการบูชาพระตถาคตพระองค์นั้น บุคคลนั้นได้ยังให้สร้างรูปปฏิมาของพระตถาคตพระองค์นั้นแล้ว บุคคลนั้นผู้ใส่ใจพิจารณาอริยมรรคทั้งแปดประการ ควรถือศีลทั้งเจ็ดวันเจ็ดคืน หลังจากรับประทานอาหารที่บริสุทธิ์ด้วยความบริสุทธิ์ การถือศีลพึงเป็นไปในพื้นที่บริสุทธิ์ (หลังจากเกลี่ยแผ่มวลดอกไม้ บนบริเวณพื้นดินนั้นจุดธูปหอมนานา ประดับตกแต่ด้วยผ้า ฉัตร ธวัช ธงต่างๆ) ด้วยส่วนของร่างกายอันชำระล้างแล้ว ด้วยการสวมใส่เครื่องนุ่งห่มสะอาดบริสุทธิ์ ด้วยจิตไม่หมองมัว ด้วยจิตไม่แปดเปื้อน ด้วยจิตไม่ผูกพยาบาท ด้วยจิตเมตตาในสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง (ด้วยจิตเป็นกลาง) ด้วยจิตมีอุเบกขาในการอยู่ใกล้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง รูปปฏิมาของพระตถาคนนี้ควรได้รับการทำประทักษิณด้วยการประโคมดุริยางค์และสังคีต ปูรวปณิธานของพระตถาคตพระองค์นั้นควรได้รับการระลึกถึงพระสูตรนี้ควรได้รับการประพฤติปฏิบัติแล้วสิ่งใดที่คิด สิ่งใดที่ปรารถนา ความปรารถนาทั้งปวงย่อมได้รับการยังให้ประสบผล หากแม้ปรารถนาอายุยืนยาว ย่อมได้เป็นผู้มีอายุยืนยาว หากแม้ปรารถนาทรัพย์สมบัติ ย่อมเป็นผฆู้มีความอุดมสมบูรณ์ในทรัพย์สมบัติ หากแม้ปรารถนาอำนาจสูงสุด ก็ย่อมได้รับอำนาจสูงสุดด้วยความยากลำบากเพียงเล็กน้อย หากแม้ปรารถนาบุตร ย่อมได้รับบุตร ในกรณีที่บุคคลทั้งหลายเหล่าใดมองเห็นความฝันเลวร้าย มีอีกามาอาศัยอยู่ที่นี้ หรือนิมิตไม่ดี หรือที่นี่ความไม่เป็นมงคลนับร้อยตั้งอยู่ บุคคลทั้งหลายเหล่านั้น ควรบูชาพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ(เป็นพระตถาคตพระองค์นั้น ภาวะทั้งหลายที่เป็นความฝันอันเป็นทุกข์ทั้งปวง นิมิตไม่ดี และความไม่เป็นมงคลทั้งปวงจะสงบลง หากว่าภัยอันตรายของบุคคลท้งหลายเหล่าใดเกิดขึ้น อาทิไฟ น้ำ ยาพิษ อาวุธ ความร้อน ช้างดุร้าย สิงโตเสือ หมี หมาป่า แมลง งูพิษ แมงป่องพิษ ตะขาบ ตัวเหลือบและริ้น  บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นพึงบูชาพระตถาคตพระองค์นั้นพวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นจะหลุดพ้นจากภัยทั้งปวง ภัยจากโจร ภัยจากขโมยของบุคคลทั้งหลายเหล่าใดเกิดขึ้น บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นก็ควรบูชาพระตถาคตพระองค์นั้น

ยิ่งไปกว่านั้น มัญชุศรี กุลบุตรหรือกุลธิดา ผู้มีศรัทธาทั้งหลายเหล่าใดยึดถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต และไม่มีเทพยดาอื่นทั้งหลาย บุคคลทั้งหลายเหล่าใดยึดถือศีลห้า และบุคคลทั้งหลายเหล่าใดยึดถือโพธิสัตว์สังวรสิขาพบสี่ร้อยข้ออันประเสริฐ ในอีทางหนึ่งภิกษุทั้งหลายเหล่าใดเป็นผู้ก้าวออกมาจากการครองเรือนยึดถือสิขาบทสองร้อยห้าสิบข้อ หรือภิกษุณีทั้งหลายยึดถือสิกขาบทห้าร้อยข้อ และบุคคลทั้งหลายเหล่าใดทางหนึ่ง แม้ว่าหวาดกลัวหนทางชั่วร้าย ขอให้ยึดถือพระนามของพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้น พวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นไม่ควรคาดหวังความทุกข์ในการไปสู่อบายทั้งสามอีก และหญิงใดรู้สึกถึงความเจ็บปวดที่แรงกล้าทุกข์ทรมานรุนแรง เสีดแทงในเวลาตั้งครรภ์ ขอให้ระลึกถึงพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะผู้เป็นตถาคตพระองค์นั้น และขอให้ทำการบูชา หญิงนั้นย่อมคลอดบุตรออกมาอย่างง่ายดาย ส่วนประกอบของร่างกายทั้งปวงครบสมบูรณ์ บุตรนั้นจะเป็นผู้มีรูปงดงามน่ารักใคร่ ควรค่าแก่การมองดู มีอินทรีย์รับรู้ได้ดี มีปัญญาและปราศจากโรคภัย หลุดพ้นจากความเจ็บปวดที่เล็กน้อย และอมนุษย์ทั้งหลายไม่สามารถแย่งเอาพลังชีวิตของเขาไปได้

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระอานนท์ผู้มีอายุว่า อานนท์เธอได้ศรัทธา เธอได้เชื่อแล้ว ที่ตถาคตได้พรรณนาคุณของพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้นหรือไม่? หรือเธอมีความไม่แน่ใจหรือความคิดเห็นหรือมีความลังเลสงสัยทั้งหลายในเรื่องพุทธโคจระ(แนวทางการประพฤติปฏิบัติของพระพุทธเจ้า)ที่ลึกซึ้ง? พระอานนท์ผู้มีอายุได้กราบทูลต่อพระผู้มีพระภาคว่า - ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ความไม่แน่ใจหรือความคิดเห็นหรือความสงสัยของข้าพระองค์ในพระสูตรนี้ที่พระตถาคตได้แสดงแล้วย่อมไม่มี นั่นเป็นเพราะเหตุใด เพราะการประพฤติปฏิบัติทางกาย วาจา ใจที่ไม่บริสุทธิ์ของพระตถาคตทั้งหลายย่อมไม่มี ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระอาทิตย์และพระจันทร์ที่มีฤทธิ์และอานุภาพยิ่งใหญ่อาจจะตกลงมาบนพื้นดิน หรือภูเขาพระสุเมรุที่เป็นราชาแห่งภูขานั้นอาจเคลื่อนจากสถานที่ตั้ง แต่ถ้อยคำของพระพุทธเจ้าจะไม่พึงเป็นไปอย่างอื่นข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่กระนั้นสัตว์ทั้งหลายที่ยังบกพร่องในพลังแห่งศรัทธา และเมื่อได้ฟังพุทธโคจระนี้แล้ว พวกเขาเหล่านั้นกล่าวว่าคุณประโยชน์มากมายจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไรด้วยปริมาณการระลึกถึงพระนามของพระตถาคตพระองค์นั้น? พวกเขาเหล่านั้นไม่ศรัทธา ไม่เชื่อ ไม่เห็นด้วยราตรีที่ยาวนานของพวกเขาเป็นไปเพื่อความเปล่าประโยชน์ ไม่เป็นปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เป็นไปเพื่อความตกต่ำ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า - อานนท์ เป็นไปไม่ได้ สัตว์ใดได้ยินพระนามของพระตถาคนพระองค์นั้นแล้ว สัตว์นั้นจะพึงเดินทางไปสู่อบายและหนทางชั่วร้าย สิ่งนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้และอานนท์ พุทธโคจระของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเชื่อได้ยาก อานนท์ ดังที่เธอมีศรัทธา เธอเชื่อ อานุภาพนี้ของพระตถาคตได้ปรากฏให้เห็นแล้ว นอกจากพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ผู้เป็นเอกชาติประติพัทธะ(ผู้ผูกพันติดอยู่กับอีกชาติหนึ่ง)แล้ว ในเรื่องนี้ก็ไม่มีสิ่งที่เหมาะสมกับพระสาวกและพระปัจเจกพุทธทั้งหลายทั้งปวง อานนท์ การเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่ยากจะได้รับ ความเคารพและศรัทธาในพระรัตนตรัยเป็นสิ่งยากจะได้รับ การได้สดับฟังพระนามของพระตถาคตก็เป็นสิ่งที่ยากยิ่งที่จะได้รับ อานนท์ การประพฤติปฏิบัติตามแนวทางของพระโพธิสัตว์ของพระผู้พระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้นย่อมประมาณไม่ได้ แม้ความชำนาญในกุศโลบายก็ประมาณไม่ได้และปูรวปณิธานที่วิเศษและยิ่งใหญ่ของพระองค์นี้ก็ประมาณไม่ได้ แม้ตถาคตปรารถนาจะแสดงการอธิบายถึงปริมาณของการประพฤติปฏิบัติ ตามแนวทางของพระโพธิสัตว์ของพระตถาคตพระองค์นั้นอยู่เป็นเวลากัลป์หรือเศษของกัลป์ก็ตาม อานนท์ กัลป์อาจมีอยู่เล็กน้อย แต่การสิ้นสุดของปูรวปณิธานที่วิเศษและยิ่งใหญ่ของพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะพระองค์นั้นเป็นสิ่งไม่สามารถไปถึงได้

กาลครั้งนั้น ระหว่างการประชุมมีพระโพธิสัตว์มหาสัตว์พระนามว่าตราณมุกตะ ผู้นั่งร่วมประชุมอยู่ได้ลุกขึ้นจากอาสนะ ห่มผ้าเสวียงบ่าด้านหนึ่งแล้วคุกเข่าขวาลงบนพื้นดิน ประนมมือแล้วทูลต่อพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ สมัยอดีตกาล สัตว์ทั้งหลายผู้ทุกข์ทรมานจากเจ็บป่วยที่ยาวนาน (ส่วนทั้งหลายของร่างกายอ่อนแอ) ผู้เจ็บปวดทรมานจากโรคนานา ปากคอแห้งผากจากความหิวกระหาย เผชิญหน้ากับความตาย ผู้รายล้อมด้วยมารดา บิดา ลูกหลาน ญาติพี่น้อง มิตรสหาย ที่กำลังร้องไห้อยู่ ผู้มองเห็นทิศทางมืดมนอันธการ และเป็นผู้ที่กำลังถูกดึงไปโดยผู้รับใช้ทั้งหลายของพระยม ขณะที่เขานอนอยู่บนเตียง วิญญาณได้ถูกนำไปอยู่เบื้องหน้าพระธรรมราชาผู้เป็นพระยม และสิ่งผูกพันใดๆก็ตามที่เกิดพร้อมกันสัตว์นั้นหรือบุรุษนั้นได้กระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม สิ่งทั้งปวงที่ถูกบันทึกไว้แล้วนั้นได้ถูกนำมาแสดงแก่พระธรรมราช ผู้เป็นยมราช ในกาลนั้น พระธรรมราชผู้เป็นยมราช ได้ตรัสถามเขาและพิจารณากุศลกรรมหรืออกุศลกรรมของเขาผู้นี้ที่ได้ถูกกระทำขึ้นแล้วฉันใด ก็สั่งลงอาญาฉันนั้น ในเวลานั้นขอให้มารดา บิดา ญาติพี่น้อง มิตรสหาย ทั้งหลายผู้ใดก็ตามพึงถึงซึ่งพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้นเป็นสรณะ และบูชาพระตถาคตพระองค์นั้น อาจเป็นไปได้ว่าวิญญาณของเขาจะกลับมาได้อีกครั้งเขาย่อมจดจำตนเองได้ราวกับเดินทางไปในระหว่างความฝัน หากว่าวิญญาณของเขากลับมาอีกครั้งในเจ็ดวันหรือ(ยี่สิบเอ็ด) หรือสามสิบห้าวันหรือสี่สิบเก้าวัน เขาอาจจะยังได้รับความทรงจำ เขาย่อมมองเห็นกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม หรือผลแห่งกรรมของเขาด้วนตนเอง เขาผู้นั้นเมื่อรู้ถึงมูลเหตุแห่งชีวิตแล้วจะไม่กระทำกรรมที่เป็นบาปและอกุศล ไม่ว่าในกาลใดก็ตาม เพราะฉะนั้นกุลบุตรหรือกุลธิดาผู้ศรัทธา พึงบูชาพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้น

ครั้งนั้น พระอานนท์ ผู้มีอายุได้กล่าวกับพระโพธิสัตว์ตรานมุกตะว่า ดูก่อนกุลบุตร การบูชาพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้น พึงกระทำอย่างไร พระโพธิสัตว์ตรานมุกตะได้ตรัสว่า -ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ บุคคลทั้งหลายเหล่าใดเป็นผู้ปรารถนาหลุดพ้นจากโรคที่ใหญ่ยิ่ง บุคคลทั้งหลายเหล่านั้นพึงถือศีลที่ประกอบด้วยศีลอุโบสถอันประเสริฐทั้งแปดเป็นเวลาเจ็ดวันเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยไข้ การทำการสักการะบูชาพระภิกษุสงฆ์ตามกำลังด้วยอุปกรณ์เครื่องอุปโภคทั้งหลายทั้งปวงและอาหารเครื่องดื่มทั้งหลาย พึงระลึกถึงพระนามของพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้นสามครั้งในเวลากลางวัน และสามครั้งในเวลากลางคืน พึงท่องพระสูตรนี้เป็นเวลาสี่สิบเก้าวัน พึงจุดประทีปขึ้นสี่สิบเก้าดวง พระปฏิมาเจ็ดองค์พึงได้รับการสร้างขึ้น ประทีปเจ็ดดวงพึงได้รับการจุดขึ้นประจำแต่ละองค์ทั้งเจ็ดองค์ พึงประทีปแต่ละดวงให้มีขนาดเท่ากับล้อเกวียน หากว่าแสงสว่างไม่ลดน้อยลงในวันที่สามสิบเก้า ขอให้รู้ว่าสำเร็จสมบูรณ์แล้ว ธงห้าสีพึงได้รับการสร้างขึ้นจำนวนมากกว่าสี่สิบเก้า

นอกจากนี้ ท่านพระอานนท์ผู้เจริญ หากความหายนะหรืออุปสรรคทั้งหลายจะพึงยังเกิดขึ้นแก่พระราชาทั้งหลายเหล่าใด ผู้ทรงประกอบพิธีมูรธาภิเษกให้เป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ มีความหายนะจากโรค หรือความหายนะจากกองทัพขจองตนเองหรือความหายนะจากกองทัพของผู้อื่น หรือความหายนะจากกดวงดาวนักษัตร หรือความหายนะจากจันทรุปราคาและสุริยุปราคา หรือความหายนะจากลมและฝนที่ไม่ถูกต้องตามฤดูกาล หรือความหายนะจาก ความแห้งแล้งได้บังเกิดขึ้น ความไม่เป็นมงคลหรือโรคภัยที่ผ่านเข้ามา หรือความวิบัติได้บังเกิดขึ้น พระราชาพระองค์นั้นผู้ทรงประกอบพิธีมูรธาภิเษกให้เป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ จะต้องทรงมีความเมตตาต่อสัตว์ทั้งหลาย และจะต้องทรงปลดปล่อยสัตว์ทั้งหลายที่ถูกจองจำอยู่ และการบูชาพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้น ควรได้รับการปฏิบัติตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น ในกาลนั้นความอุดมสมบูรณ์และความสงบสุขจะบังเกิดมีขึ้นในอาณาจักรนั้น ด้วยกุศลมูลนี้ของพระราชาพระองค์นั้น ผู้ทรงประกอบพิธีมูรธาภิเษกให้เป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ และด้วยปูรวปณิธานที่พิเศษและยิ่งใหญ่ของพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้น ความอุดมสมบูรณ์ของลมและฝนจะเป็นไปตามฤดูกาล และสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรย่อมเป็นผู้ปราศจากโรคภัย ประสบแต่ความสุข ท่วมท้นด้วยความปราโมทย์ และในอาณาจักนั้น ยักษ์ รากษส ภูตปีศาจชั่วร้ายทั้งหลายย่อมไม่ทำร้ายสัตว์ทั้งหลาย นิมิตเลวร้ายทั้งหลายทั้งปวงย่อมไม่ปรากฏให้เห็น และพระราชาพระองค์นั้น ผู้ทรงประกอบพิธีมูรธาภิเษกให้เป็นผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ จะทรงเป็นผู้มีอายุ วรรณะ กำลัง ปราศจากโรคภัย ทรัพย์สมบัติเพิ่มพูนขึ้น

ครั้งนั้น พระอานนท์ ผู้มีอายุได้กล่าวกับพระโพธิสัตว์ตราณมุกตะว่า ดูก่อน กุลบุตร อายุที่สูญสิ้นแล้วจะเพิ่มขึ้นได้อย่างไร พระโพธิสัตว์ตราณมุกตะกล่าวว่าดูก่อนท่านพระอานนท์ผู้เจริญ ท่านคงได้ยินทางส่วนของพระตถาคตแล้วมิใช่หรือว่าการตายที่ไม่ถูกต้องตามเวลาทั้งหลายมีอยู่ การต่อสู้ความตายของพวกเขาทั้งหลายกล่าวถึงการใช้ยาและมนต์คาถา สัตว์ทั้งหลายก็ยังคงเป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคอยู่ และโรคที่ไม่สนใจจะรักษาพยาบาล ที่ไม่หนักหนา หรือแม้ว่าแพทย์ทั้งหลายได้ทำการรักษาแล้ว นี่คือการตายไม่ถูกต้องตามเวลาลำดับแรก การตายด้วยราชทัณฑ์ของบุคคลใดเป็นการตายไม่ถูกต้องตามเวาลาลำดับที่สอง การตายไม่ถูกต้องตามเวลาลำดับที่สาม คือบุคคลทั้งหลายเหล่าใดมึนเมาท่องเที่ยวไปด้วยความประมาท คนทั้งหลายย่อมแย่งชิงเอาพลังชีวิตของเขาทั้งหลายเหล่านั้นไป การตายไม่ถูกต้องตามเวลาลำดับที่สี่ คือบุคคลทั้งหลายเหล่าใดตายด้วยการเผาของไฟ ไป การตายไม่ถูกต้องตามเวลาลำดับที่ห้า บุคคลทั้งหลายเหล่าใดตายด้วยน้ำ ไป การตายไม่ถูกต้องตามเวลาลำดับที่หกบุคคลทั้งหลายเหล่าใดเดินทางไปในท่ามกลางสิงห์เสือ สัตว์ป่าที่โหดร้ายแล้วสร้างที่พักอาศัยอยู่และถูกฆ่าตาย ไป การตายไม่ถูกต้องตามเวลาลำดับที่เจ็ด บุคคลทั้งหลายเหล่าใดตกลงจากภูเขา ไป การตายไม่ถูกต้องตามเวลาลำดับที่แปด บุคคลทั้งหลายเหล่าใดตายด้วยการใช้พิษ กาโขรท เวตาล ไป การตายไม่ถูกต้องตามเวลาลำดับที่เก้า บุคคลทั้งหลายเหล่าใดผู้ทุกข์ทรมานด้วยความหิวและกระหาย ผู้ไม่ได้รับอาหารและเครื่องดื่ม ผู้ทุกข์ทรมานตายไป พระตถาคตได้แสดงการตายไม่ถูกต้องตามเวลาโดยย่อทั้งหลายเหล่านี้ และการตายไม่ถูกต้อตามเวลาทั้งหลายเหล่าอื่นๆมีอยู่ประมาณมิไต้

ครั้งนั้น ณ ที่นั่น ในการประชุม มหายักษ์เสนาบดีสิบสองตนได้มาร่วมประชุม กล่าวคือ มหายักษเสนาบดีตนที่ชื่อว่ากิมภีระ มหายักษเสนาบดีตนที่ชื่อว่าวัชระ มหายักษเสนาบดีตนที่ชื่อว่าเมขิละ มหายักษเสนาบดีตนที่ชื่อว่าอันติละ มหายักษเสนาบดีตนที่ชื่อว่าอนิละ มหายักษเสนาบดีตนที่ชื่อว่าสัณฐิละ มหายักษเสนาบดีตนที่ชื่อว่าอินทละ มหายักษเสนาบดีตนที่ชื่อว่าปายิละ มหายักษเสนาบดีตนที่ชื่อว่ามหาละ มหายักษเสนาบดีตนที่ชื่อว่าจิทาละ มหายักษเสนาบดีตนที่ชื่อว่าเจานธุละ มหายักษเสนาบดีตนที่ชื่อว่าวิกละ มหายักษเสนาบดีทั้งสิบสองตนเหล่านี้ ผู้มีบริวารติดตามมาด้วยแต่ละตนได้กราบทูลต่อพระผู้มีพระภาคพร้อมกันว่า พวกข้าพเจ้าได้ยินพระนามของพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้น แล้วด้วยพุทธานุภาพของพระผู้มีพระภาค ภัยจากหนทางชั่วร้ายของพวกข้าพเจ้าทั้งหลายย่อมไม่มีอีกแล้ว

พวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นพร้อมกับพวกข้าพเจ้าทั้งหลายทั้งปวง ขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นสรณะ ขอถึงพระธรรมว่าเป็นสรณะ ขอถึงพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะตลอดชีวิต พวกข้าพเจ้าจะกระทำความรารถนาเพื่อความสุขสงบ ประโยชน์ของสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง บุคคลใดเผยแผ่พระสูตรนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่บ้านหรือเมืองหรือชนบทหรือบ้านที่อยู่ในป่าหรือบุคคลใดยึดถือพระนามพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้น และทำการสักการะบูชา ตราบนั้นพวกข้าพเจ้าจะปกป้อง จะดูแลรักษาสัตว์(บุคคล) นั้น และปลดปล่อยสัตว์(บุคคล) นั้นจากสิ่งไม่เป็นมงคลทั้งปวง พวกข้าพเจ้าจะกระทำให้ความหวังของพวกเขาทั้งหลายประสบผลบริบูรณ์ ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสสรรเสริญมหายักษ์เสนาบดีทั้งหลายเหล่านั้น ว่า ดีแล้ว ดีแล้ว มหายักษ์เสนาบดีทั้งหลาย ที่ว่าท่านกระทำความกตัญญูต่อพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้น เพื่อประโยชน์สุขของสัตว์ทั้งหลายที่ระลึกถึงพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้น

ครั้งนั้น พระอานนท์ผู้มีอายุ ได้ทูลต่อพระผู้มีพระภาคว่าข้าแต่พระผู้มีพระภาค ธรรมบรรยายนี้มีชื่อว่าอะไร และข้าพระองค์พึงยึดถือธรรมนี้อย่างไร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า เธอยงยึดถือว่า ธรรมบรรยานนี้เป็นปูรวปณิธานที่วิเศษและยิ่งใหญ่ของพระผู้มีพระภาคพระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะ ผู้เป็นพระตถาคตพระองค์นั้นและจงยึดถือว่า ธรรมบรรยานี้เป็นประณิธานของมหายักษ์เสนาบดีทั้งสิบสองตน

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสสิ่งนี้แล้ว พระมัญชุศรีผู้มีใจเคลื่นไปพร้อมด้วยความสุข ผู้เป็นกุมารอยู่เสมอ พระอานนท์ผู้มีอายุ พระโพธิสัตว์ตราณมุกตะ พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย มหาสาวกทั้งหลาย พระราชา อำมาตย์พราหมณ์ คหบดี บริษัททั้งปวง พร้อมด้วยเทวดา มนุษย์ อสูร คนธรรพ์และสัตว์โลก ก็พากันปิติยินดียิ่งในถ้อยคำของพระผู้มีพระภาค

พระสูตรมหายานชื่อว่า พระไภษัชยคุรุไวทูรยประภะราชะผู้ประเสริฐ

คาถาไภษัชยคุรุประภะราชะ สันสกฤต

นโม ภควเต ไภษชฺยคุรุไวทูรย ปฺรภราชย ตถาคตาย อรหเต สมฺยกสํพุทธาย ตทฺยถา โอมฺ ไภษชฺย ไภษชฺย ไภษชฺเย สมุทฺคเต สฺวาหา

คาถาไภษัชยคุรุประภะราชะ ภาษาจีน

南無薄伽伐帝o鞞殺社o窶嚕薜琉璃o跋喇婆o喝囉闍也o怛他

นำมอ ปอแค ฟาตีo ปีซาแซo ลิวลู เผก ลิวลีo  ปอลาพอo ฮอลาแซแยo ตันทอ

揭多也o阿囉喝帝o三藐三勃陀耶o怛姪他o唵o鞞殺逝鞞殺逝o

กิต ตอแยo  ออลา ฮอตีoซำเมียวซำ ปูทอแยo  ตันจิตทอo  งันoปีซา ซือปีซาซือo

鞞剎社o三沒揭帝娑訶oo

ปีซาแซo ซำมุก  กิตตี ซอฮอo