• พิมพ์

กงเต็ก 功德

กง功 คือ การกระทำในสิ่งที่ถูกที่ชอบที่เป็นประโยชน์

เต็ก德 คือ กุศลกรรมอันเกิดจากกรรมดีงามที่อำนวยประโยชน์จากการเกื้อกูล

ท่านที่เคยไปร่วมพิธีบุญทั้งปวงในคณะสงฆ์ที่ใช้ภาษาจีน จะได้ยินคำนี้บ่อยๆหลังจากที่กระทำการบุญเสร็จสิ้น  กงเต็กอี่มั้ว功德圓滿 การกระทำบุญกุศลสำเร็จโดยสมบูรณ์ และอีกความเข้าใจหนึ่งคือพิธีกรรมเพื่ออุทิศบุญกุศแต่วิญญาณผู้วายชนม์ ที่เรียกว่า “ประกอบพิธีกงเต็ก”

อรรถกถาเรื่องพิธีกงเต็ก โดยเสถียร โพธินันทะ

            พิธีกงเต็กนั้น ตามอนุศาสน์ของพระบรมศาสดาในลัทธิมหายานแห่งพระพุทธศาสนา เป็นพิธีกรรมบำเพ็ญกุศลอุทิศแก่ผู้ที่ล่วงลับไป

 กง ในพระพุทธศาสนามหายาน มีอรรถ หมายถึง “การกระทำในสิ่งที่ถูกที่ชอบที่เป็นประโยชน์”แทนวิญญาณผู้มรณะเพื่อประสบความสุขความสบาย และผลแห่งศีลที่วิญญาณได้รับต่อหน้าพระพุทธปฏิมากร กับผลแห่งการถวายพระพุทธบริโภคทั้งผลแห่งไทยทานที่ได้บริจาคแก่ปวงภูต ปีศาจ เปรต อสุรกายใหญ่น้อย และมนุษย์อันไร้ที่พึ่งเหล่านี้ จะบังเกิดบุญราศีกับทางสุคติแก่วิญญาณผู้มรณะ

เต็ก มีอรรถธิบายว่า กุศลกรรมอันเกิดจากกรรมดีงาม อำนวยหิตานุหิตประโยชน์ (ประโยชน์จากการเกื้อกูลใหญ่น้อย) น้อมอุทิศให้แก่วิญญาณผู้มรณะบรรลุถึงปัตตานุโมทนา (การโมทนาส่วนบุญที่ผู้อื่นให้) และด้วยเดชะอำนาจกับบารมีแห่งคุณพระรัตนตรัย และอานุภาพแห่งทวยเทพเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ จะดลบันดาลให้บรรลุถึงความสุขสังคโยคกับบุญญาภาพแก่วิญญาณผู้มรณะ

            เบื้องต้นแห่งการมีพิธีกงเต็กขึ้นนั้น ในพระคัมภีร์สุตรมีกล่าวไว้มากเรื่องด้วยกัน ดังจะยกมาบรรยายเป็นอุทาหรณ์เพียงสองเรื่อง ดังต่อไปนี้

เรื่องที่หนึ่ง

            ในสมัยพระพุทธกาล มีบุตรเศรษฐีคนหนึ่ง ในกรุงสาวัตถี ได้กระทำมาตุฆาต ในขณะโทษะจริตครอบงำ ครั้นแล้วรู้สึกตัวเกรงกลัวต่อบาปกรรมจึงได้ ไปอุปสมบทเป็นพระภิกษุเพื่อล้างบาป ในระหว่างบวชเป็นพระภิกษุอยู่นั้น ได้หมั่นสวดมนตร์ภาวนาขอลุแก่โทษตลอดเวลา ต่อมาไม่ช้าพระภิกษุรูปนั้นก็ถึงแก่มรณภาพลงกรรมชั่วที่ได้ประกอบไว้แต่หนหลังได้นำวิญญาณของเขาไปทนทุกข์ทรมานอยู่ในนรก

            ภายหลังยังมีพระภิกษุอีกรูปหนึ่ง ผู้เป็นศิษย์ของพระภิกษุที่ตายไปตกนรกอยู่นั้นเมื่อได้ฌานสมาบัติแล้วเล็งฌานไปเห็นอาจารย์ของตนกำลังทนทุกข์เวทนาอยู่ในอเวจีชั้นลึกก็เกิดความสงสาร จึงประกอบพิธีกงเต็กขึ้น อัญเชิญวิญญาณของอาจารย์มายังมณฑลพิธี ขอขมากรรมต่อพระศรีรัตนตรัย กับทำบุญถวายแก่พระพุทธะ พระสงฆ์ ทำทานแก่มนุษย์ไร้ที่พึ่ง แก่สัตว์ใหญ่น้อยต่างๆ อุทิศไทยทานแก่บรรดาภูต ปีศาจ และเปรตในนรก แล้วแผ่กุศลแก่วิญญาณอาจารย์

            การบำเพ็ญกุศลใน พิธีกงเต็กนี้ ได้บังเกิดผลแก่วิญญาณของอาจารย์หลุดพ้นจากกองทุกข์ในอเวจีไปสู่สุคติ

เรื่องที่สอง

            ในสมัยราชวงศ์เหลียง อันมี พระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ ครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 1450 นี้เอง พระองค์ทรงนับถือพระพุทธศาสนามาก ทรงปฏิสังขรณ์และทนุบำรุงวัดวาอารามทั่วแผ่นดิน ทรงเจริญพระพุทธมนตร์ทั้งเช้าและค่ำเป็นกิจวัตร

            ส่วนพระนางฮูฮองเฮา ทรงเกลียดชังพระพุทธศาสนา ถึงกับครั้งหนึ่งได้นำเอาพระคัมภีร์ของพระสวามีไปเผาทิ้ง ครั้นพระนางสิ้นพระชนม์ลง กรรมชั่วนั้นไห้ผลแก่วิญญาณพระงนางไปเป็นงูอยู่ในอบายภูมิ

            วันหนึ่งงูตัวนี้ ได้ปมาปรากฏตัวในสุบิน ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ พรรรณาเล่าถึงความชั่วที่ได้กระทำไปเมื่อยังมีชีวิตอยู่ บัดนี้ได้รับการทรมานอยู่ในนรกและรู้สึกตัวแล้ว จึงทูลขอพระกรุณาต่อพระสวามีช่วยเธอให้พ้นจากกองทุกข์ครั้งนี้ด้วย

            พระเจ้าเหลียงบู๊ตี้ จึงนิมนต์ ท่านพระอาจารย์จิกง ผู้เป็นพระภิกษุอาวุโสและเคร่งครัดมาทำพิธี กงเต็ก อุทิศบุญกุศลให้แก่พระนางไป ต่อมาไม่ช้าพระนางได้มาเข้าฝันพระสวามีและกราบทูลว่า เธอได้หลุดพ้นจากการเป็นงูไปสู่สุคติแล้ว

            ในพระสูตรมีอรรถอธิบายดังนี้ ฉะนั้น การกระทำพิธีกงเต็ก บำเพ็ญกุศลแก่วิญญาณผู้ที่ล่วงลับไป จึงได้ปฏิบัติกันต่อๆมาทั่วประเทศจีนจนตราบเท่าทุกวันนี้

            พิธีจัดกงเต็กในกาลเวลาถัดจากวันตายเป็นต้นไปและระบุนามผู้เป็นเจ้าภาพไว้ มีดังนี้

ในสัตตวารแรก(7วันแรก) บรรดาทายาทเป็นเจ้าภาพ

ในสัตตวารที่3(ครบ7วัน ครั้งที่3) บรรดาบุตรเขยเป็นเจ้าภาพ

ในสัตตวารที่5(ครบ7วัน ครั้งที่5)บรรดาญาติฝ่ายเกี่ยวดอก หรือมิตรสหายเป็นเจ้าภาพ

ในสัตตวารที่7(ครบ7วัน ครั้งที่7หรือเรียกว่า50วัน) บรรดาทายาทวงศ์ญาติเป็นเจ้าภาพ

ในสัตตวารที่14(ครบ7วันครั้งที่14 หรือเรียกว่า100วัน) บรรดาทายาทวงศ์ญาติเป็นเจ้าภาพ

            เฉพาะในวัตตวารที่3 กับที่ 5 ในระยะปรากฏว่า ผู้เป็นเจ้าภาพมีธุระกิจจำเป็นไม่สามารถจะทำได้ตามกำหนด ก็เลื่อนวันไปประกอบพิธีเอาในวันเลื่อนขึ้นมาหรือถัดลงไปแล้วแต่โอกาสจะอำนวย และถือปฏิบัติกันในปัจจุบัน

            พิธีกงเต็ ประกอบขึ้นโดยเจ้าภาพนิมนต์พระภิกษุมาเจริญพระพุทธมนต์ อัญเชิญวิญญาณผู้มรณะ มาขอขมากรรมพระศรีรัตนตรัย พร พร้อมด้วยมีการบริจาคไทยทานต่างๆอุทิศแก่บรรดา ภูต ปีศาจ ปรทัตตูปชีวี(เปรต) ตลอดจนมนุษย์ผู้มีร่างกายทุพลภาพต้องอาศัยผู้อื่น และยาจก เป็นบุญกุศลเพื่อช่วยวิญญาณของผู้มรณะจะได้หลุดพ้นจากกองทุกข์ไปสู่สุคติ และถือว่าเป็นพิธีกรรมที่บรรดาทายาท วงศ์ญาติ ญาติเกี่ยวดอง มิตร และสหายแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้ที่ล่วงลับไปให้ประสบความสบายต่างๆในแดนสุขภูมิ

การประกอบพิธีกงเต็ก

            การประกอบพิธีกงเต็กนั้น จะต้องจัดเป็นโรงพิธี หรือห้องพิธี สมมติเป็นมณเฑียรเสมาพระพุทธจักร มีโต๊ะประดิษฐานรูปกพระพุทธปฏิมา รูปพระพุทธอมิตาภะเจ้า พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า พระมัญชุศีโพธิสัตว์เจ้า พระสมันตภัทรโพธิสัตว์เจ้า พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์เจ้า พระมหาภัสธานปรพตโพธิสัตว์เจ้า พระกษิติครรภโพธิสัตว์เจ้า ประดับด้วยเครื่องสักการบูชาพร้อมมูล มีพระภิกษุ(อย่างน้อย 3 รูป)เข้าประจำพิธีและพิธีเริ่มเป็นอันดับๆ ดังนี้ต่อไปนี้

อันดับที่ 1 พิธีอัญเชิญสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับ

            พระสงฆ์เริ่มเจริญพระพุทธมนต์เสกปริมณฑลที่บูชาให้สะอาดบริสุทธิ์ โดยประพรมด้วยน้ำพระพุทธมนต์ เสร็จแล้วชุมนุมเทวดา และเจริญพระพุทธมนต์อัญเชิญสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์กับเทพยเจ้าทศทิศมาประทับรับการบูชา ณ ที่นี้

อันดับที่ 2 พิธีอัญเชิญดวงวิญาณผู้ที่ล่วงลับมายังโรงพิธี

            พระสงฆ์สวดมนต์ ขอพระบารมีอภินิหารของพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ส่งพระวิสุทธิรัศมีไปทั่วปรโลก นำดวงวิญญาณผู้มรณะมายังมณฑลพิธี

            (อนึ่ง ได้จัดทำรูปสมมติด้วยกระดาษ เขียนนาม และนามสกุล ของผู้มรณะไว้ชัดแจ้ง รูปกระดาษนี้ทางจีนเรียก ถ่งพวง สันสกฤตเรียกว่า ธวัชปฎก หรือเกตุปฏก แปลว่า ธงรูปภาพ หรือเครื่องหมายรูปภาพผู้มรระ)

อันดับ 3 พิธีอาบน้ำดวงวิญญาณ

            พระสงฆ์สวดมนต์ นำดวงวิญญาณผู้มรณะเมื่อมาถึงแล้ว เพื่อได้ไปชำระไตรทวาร(คือ ทางทั้ง3 ได้แก่ กาย วาจา ใจ) ด้วยน้ำพระพุทธมนต์เพื่อให้ดวงวิญญาณนี้มีความสะอาดหมดจดบริสุทธิ์ผ่องใสเบิกบานปราศจากความสะทกสะท้าน

อันดับที่ 4 พิธีข้ามสะพาน

            พระสงฆ์สวดมนต์นำดวงวิญญาณผู้มรณะข้ามสะบานไปมอบเงินทองไว้แก่นายคลัง (สมมติ) เพื่อชำระหนี้สินต่างๆ ที่ชาติก่อนๆได้กระทำไวในมนุษย์โลกและยมโลก (หมายถึงว่าทุกๆคนเมื่อยังมีการเวียนเกิดเวียนตายย่อมจะมีหนี้สินติดค้าง และบรรดาทายาท พี่น้อง และบุตรหลานนำเงินทองมาชำระ ณ บัดนี้) ให้เป็นการเสร็จสิ้นกันไป เพื่อวิญญาณผู้มรณะจะได้เป็นวิญญาณบริสุทธิ์ ปราศจากพันธณะใดๆพัวพัน และเป็นวิญญาณที่ไม่หวั่นไหว

            สะพานที่ข้ามนี้มีนามว่า “สะพานโอฆสงสาร” ซึ่งสัตว์โลกทั้งผองจะต้องข้ามกันในเมื่อยังมีการเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในโลกไม่มีทางหลีกพ้น  ส่วนการทิ้งสตางค์ลงในอ่างหัวสะพานนั้น เป็นการโปรยทานแก่สัตว์โลกที่ตกทุกข์ได้ยากเป็นประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งนั้นหมายถึงว่า เมื่อสัตว์โลกถึงแก่มรณะแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างตลอดจนของที่รับกับทรัพย์สมบัติที่ได้สะสมไว้ จะต้องสละทิ้งหมด ไม่สามารถจะนำติดตัวไปได้ ทั้งนี้เป็นเครื่องหมายเตือนสติแก่ผู้อยู่หลังๆสังวรไว้อย่าได้ประมาท (คือความอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา) สะพานนี้ทางภาษจีนเรียกว่า ไน๊ห่อเกี๊ยว และแม่น้ำนี้เรียกว่า ไน๊ห่อโคย

อันดับที่ 5 พิธีเปิดประตูนรก

            พิธีนี้น้องเอาทรายมาทำเป็นรูปเมือง (สมมติ) มีกำแพงล้อมรอบ มีประใหญ่สีด้าน นัยว่าเป็นเมืองนรก

            พระสงฆ์สวดมนต์ เมื่อเดินมาถึงประตูขุมนรก ก็เอาคฑาธุดงค์(ด้ามคฑา) กดกับดินทุกๆประตูไป (ซึ่งสมมติว่าพระสงฆ์ไปยืนสวดมนต์หน้าประตูเมือง เอาด้ามคฑาธุดงค์กดลงกับดิน ประตูใดนั้นก็เปิดออกไป)

            เบื้องต้นแห่งการมีพิธีเปิดประตูนรกนี้ พระอุลลัมพนสูตร มีอรรถว่า”ในสมัยพระพุทธกาล มารดาพระมหาโมคคัลลานเถระ ไม่นับถือในพระพุทธศาสนา ประกอบปาณาติบาตโหดร้ายต่อสัตว์ต่างๆมากมาย ชอบกินเนื้อเต่า ตะพาบน้ำ งู ฯลฯ ค รั้นตายไปวิญญาณก็ไปเป็นเปรตอยู่ในอเวจี

            พระมหาโมคคัลลานเถระเล็งทิพย์ญาณ ไปเห็นมารดาทุกข์ทรมานอดอยากมีแต่หนังหุ้มกระดู จึงมีความสงสารมารดาเป็นกำลัง ก็เข้าฌานนำอาหารใส่ในบาตร์ลงไปยังเมืองนรกเพื่อโปรดให้มารดาบริโภค แต่เมื่อพระมหาโมคคัลลานเถระมาถึง ปรากฏว่า ประตูเมืองนรกปิดเสียแล้ว ก็น้อยใจเอาด้ามคฑาธุงดงค์กดลงกับพื้นดิน (คฑานี้ด้ามยาวทำด้วยไม้ จีนเรียก ฮุกเสียะเจี๋ยง ส่วยยอดคฑาทำด้วยตะกั่ว ลวดลายโปร่งสี่แฉกมีรูปคล้ามเสมาธรรมจักรมีล้อกลมรวม 12 ล้อ เป็นอย่างน้อยแบ่งคล้องติดอยู่กับแฉก เมื่อพระภิกษุเดินธุดงค์อยู่ในป่าเขย่าคฑานี้เสมอ เกิดมีเสียงดังเพื่อให้สัตว์เล็กสัตว์น้อยได้ยินจะได้หลบหลีกพ้นไปจากทางเดิน พระมหาโมคคัลลนเถระถือคฑาธุดงค์นี้เสมอ) ทันใดนั้นเองก็เกิดมีแสงสว่างรุ่งโรจน์ออกจากยอดคฑาพุ่งตรงไปยังประตูเมือง และประตูเมืองก็เปิดออกไป เป็นโอกาสให้พระมหาโมคคัลลนเถระได้พบกับมารดาด้วยประการเช่นนี้

            พิธีนี้มีเกจิอาจารย์ตั้งชื่อว่า “พิธีเปิดประตูเมืองนรก” พระสงฆ์สวดมนต์อาศัยคุณพระศรีรัตนตรัยไปเปิดประตูนรกทั้ง 18 ขุม เพื่อโปรดสัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยากเหล่านั้นมีโอกาสบันเทาทุกข์ เมื่อได้ยินระฆังและเสียงสวดพระพุทธมนต์จากพิธีกงเต็ก

อันดับ 6 พิธีโปรดดอกไม้

            ในพิธีนี้ต้องจัดดอกไม้ต่างๆหลายสี ใส่พานถวายแก่พระสงฆ์ พระสงฆ์สวดมนต์พลางหยิบดอกไม้โปรยไปรอบด้าน

            เบื้องต้นแห่งการมีพิธีโปรยดอกไม้มีอรรถว่า “บรรดาบุตรหลานและญาติได้น้อมมอบดอกไม้สีต่างๆเหล่านั้นแก่ดวงวิญญาณผู้มรณะ เพื่อน้อมถวายแก่บรรดาทวยเทพยเจ้าทั้ง 10 ทิศ ไว้เป็นที่สักการพระศรีรัตนตรัยในการมาเฝ้าพระพุทธเจ้าสดับฟังพระพุทธมนต์ ณ พิธีนี้ กุศลที่ได้โปรยดอกไม้ถวายนี้ วิญญาณผู้มรณะได้รับพรจากเทพยเจ้าเหล่านั้นเป็นศิริมงคลทั้งได้บุญอานิสงส์เพิ่มอีกด้วย”

อันดับ 7 พิธีบอกประกาศทั่วพรหมโลก เทวโล และยมโลก

            ในพิธินี่ ทำธงยาวรวม 2 ธง แขวน 2 ด้านโรงพิธี

            ธงคันที่ 1 ประกาศอัญเชิญพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และเทพยเจ้าทั้ง10ทิศมาประทับเป็นองค์พยาน

            ธงคันที่ 2  ประกาศแก่บรรดาภูต ปีศาจ เปรต และอสุรกายน้อยใหญ่ทั่ว10ทิศ ให้มารับส่วนบุญและไทยทาน

            พระสงฆ์สวดมนต์อัญเชิญเทพยเจ้าทั่วพรหมโลก เทวโลก 10 ทิศ มาสัดบฟังพระพุทธมนต์ กับสวดมนต์ประกาศบอกกล่าวแก่ ภูต ปีศาจ เปรต และอสุรกาย ทั่วยมโลกให้ตั้งสติฟังพระอภิธรรม อันมีสัญญาณระฆังตามพระพุทธมนต์เป็นระยะๆ

อันดับที่8 พิธีลอยกระทง

            ในพิธีนี้ทำกระทง (ใบตอง หรือกระดาษก็ได้) ปักธูปเทียน ดอกไม้ จุดปล่อยลอยไปตามน้ำในแม่น้ำ หรือ ลำคลอง

            พระสงฆ์สวดอัญเชิญพญานาค เทวาต่างๆในบาดาลพิภพ ตลอดทั้งทะเล แม้น้ำ คลอง บึง หนองน้ำทั่วโลก และพญานาคได้อัญเชิญส่วนหนึ่งของพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้ ณ นาคพิภพในบาดาล และฝูงเทวาทั่วสาคเรศไปน้อมนมัสการพระบรมสารีริกธาตุตามฤดูกาลเสมอ

            อีกทั้งยังกล่าวว่า ณ ริมฝั่งแม่น้ำ “นัมนที” ในชมพูทวีปมีรอยพระพุทธบาท ซึ่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประทับไว้แต่ครั้งโน้นยังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

            พิธีลอยกระทงนี้ เป็นพิธีที่ดวงวิญญาณผู้มรณะได้แผ่กุศลทานแก่ปวงภูตปีศาจในแม่น้ำและทะเลส่วนหนึ่ง  กับยังให้วิญญาณผู้มรณะได้ส่งเครื่องสักการบูชาลอยกระทงตามน้ำไปน้อมกราบนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ณ บาดาลพิภพกับพระพุทธบาท ณ แม่น้ำนัมนที (เข้าใจว่าเป็นแม่น้ำ นิมมทา) แห่งชมพูทวีปด้วย ทั้งนี้เป็นการเพิ่มบุญกุศลแก่วิญญาณผู้มรณะอีกส่วนหนึ่ง จึงได้ถือเป็นประเพณีสืบมาจนทุกวันนี้

            อนึ่ง พิธีลอยกระทงนี้ ชาวจีนถือเป็นประเพณีบำเพ็ญกุศลประจำปี ให้แก่บรรดาวิญญาณทั้งหลายทั้งปวงที่ไม่มีญาติ เช่นไหว้ทั่วไป และกำหนดกระทำกันในคือนวันขึ้น8ค่ำเดือน9 ตามปฏิทินจันทรคติจีนประกอบพิธี เก้าอ๊วงเจ ทุกปี ทั้งในและนอกประเทศจีน

อันดับที่ 9 พิธีเวียนเทียนสวดพระพุทธมนต์

            พิธีนี้พระสงฆ์จะเริ่มสวดพระธรรมคาถาเป็นจบๆ และตีหรือสั่นระฆังเป็นระยะๆ จุดเทียนเดินเวียเทียนรอบบริเวณ 3 เที่ยว แล้วสวดมนต์เป็นจบๆเรื่อยๆไปจนจบ

            ในพระธรรมาธิษฐานนี้มีใจความยกเอาคุณพระศรีรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแก่ปวงสัตว์โลกทั้งมวล พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้และโปรดสัตว์ทั้งใน พรหมโลก เทวโลก มนุษย์โลก และยมโลก โดยประทานพระธรรมของพระองค์ไว้ พระธรรมเจ้า เป็นคำสั่งสอนของพระองค์ประดุจดังแสงประทีปอันไพโรจน์นำทางให้ปวงสัตว์โลกไปสู่สุคติ พระสงฆ์เจ้าเป็ผู้ปฏิบัติดำรงพระธรรมไว้ให้ยั่งยืน

            สัตว์ทั้งหลาย ที่ไปสู่สุคติแล้วก็ดี ที่ยังมีชีวิตเวียนเกิดเวียนตายอยู่ก็ดี ที่กำลังทนทุกข์อยู่ในอเวจีก็ดี ให้อุตส่าห์ประกอบกรรมอันดีงาม จะได้เป็นที่พึ่งของตนเอง ทั้งขอพึ่งบารมีแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย จะได้หลุดพ้นจากกองทุกข์ภัยทั้งปวงและขออานิสงส์ในการสดับฟังพระอภิธรรมวิเศษคราวนี้จงบังเกิดศานติกทั่วกัน

อันดับ 10 พิธีถวายสังฆภัต์แก่พระสงฆ์จากสิบทิศ

            พิธีนี้ให้พระสงฆ์มาประชมรับถวายสังฆภัตต์ เมื่อพระสงฆ์เหล่านั้นฉันเสร็จแล้วสวดมนต์รับอามิสบูชาแผ่บุญกุศลให้แก่วิญญาณผู้มรณะ

อันดับที่ 11 พิธีทิ้งกะจาด

            พิธีทิ้งกะจาดในงานกงเต็กนี้ ถือว่าเป็นการจำเริญเมตตาธรรมแก่ดวงวิญญาณ คือนำเอาสิ่งขอต่างๆของผู้ตายใช้สอย เช่น เสื้อผ้าและของใช้จำเป็นต่างๆมาแจกจ่ายเป็นทานให้แก่ผู้ยากจนเข็นใจ (ส่วนของบางอย่างของผู้ตายก็จัดแบ่งปันแก่บรรดาญาติ ลูกหลาน และมิตรสหายไว้เป็นที่ระลึกต่างหน้า) พระสงฆ์สวดมนต์อนุโมทนาแผ่กุศลแก่วิญญาณผู้มรณะ

            พิธีสวดพระพุทธมนต์ตอนนี้ยาวที่สุด ที่เรียกว่าพิธีเอี่ยมเค่า พระภิกษุที่เป็นประธานสวมหมวกนั่งอยู่บนธรรมาสน์สูงกว่าพระภิกษุรูปอื่นๆ มีพระภิกษุรองประธาน 2 รูป นั่งซ้ายขวา ส่วนพระภิกษุนอกนั้นนั่งเรียงเป็นสองแถวซ้ายขวา พระภิกษุผู้เป็นประธานสวดพระพุทธมนต์เป็นระยะๆกระเซ็นสาด ทิพยธัญญสาร (ข้าวสารทิพย์) ดีดโปรย ทิพยวารีพินธุ (หยาดน้ำทิพย์) ทำหัตถมุททา(นิ้วมือตราเครื่องหมายเป็นทิพยปรภาพ) โปรดสัตว์นรกทั้ง 18 ขุม ส่วนพระภิกษุรูปอื่นที่เป็นพระอันดับนั่งซ้าย ขวา สวดพระพุทธมนต์เป็นบทๆเป็นระยะๆโดยเคร่งครัด ทางอุตตรนิกายนับถือว่ามนต์ที่สวดในพิธีนี้ วิญญาณผู้มรณะจะได้รับกุศลอย่างใหญ่ไพศาล เป็นทิษณิณาทานแก่สัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยาก ในนรกอเวจีทุกขุมได้รับความร่มเย็นทั่วถึงกัน

            พิธีทิ้งกะจาดมีอรรถในพระสูตรดังนี้ คือ สมัยหนึ่งพระพุทธเสด็จประทับอยู่ ณ นิโครธารามวิหาร เมืองกบิลพัสดุ ครั้งนั้นพระอานนท์ได้หลีกออกไปเข้าญาณสมาบัติอยูที่โคนต้นไม้ใหญ่ ขณะบำเพ็ญญาณอยู่นั้น ได้มีอสูรกายตนหนึ่งปรากฏขึ้นเบื้องหน้า รูปร่างสูงใหญ่ หน้าเขียว แสยะเขี้ยว ตามตัวมีแต่หนังหุ้มกระดูก ลำคอเล็กเท่ารูเข็ม เกิดเปลวไฟโชติช่วงออกจากปากเป็นนิจ กล่าวกับพระอานนท์ว่า ท่านอานนท์ เราได้รับความทุกข์เวทนาอย่างแสนสาหัส ท่านผู้เป็นสาวกของพระพุทธองค์ อุดมด้วยความเมตตากรุณาต่อสัตว์ ขอพระเถระท่านโปรดประทานสิ่งอุปโภค บริโภค เป็นไทยทาน เพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ด้วยเถิด ถ้าท่านไม่กระทำ ในกาลอีก 3 วันก็จะถึงซึ่งกาลมรณะ ว่าแล้วอสูรตนนั้นก็หายไป พระอานนท์สะดุ้งกลัว ได้ไปเข้าเผ้าพระพุทธองค์ กราบทูลให้ทรงทราบและขอพระพุทธองค์เป็นที่พึ่ง พระพุทธองค์ทรงตรัสบอกพิธีประกอบโยคะตันตระนี้ ประทานแก่พระอานนท์ เพื่อโปรดสัตว์ไตรภูมิเป็นปฐม และสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้

            ในพิธีทิ้งกะจาด ได้จัดทำรูปพญายม เรียกว่า ไต้ซือเอี๊ย (บนเศียรมีรูปพระกวนอิมเล็ก) หมายถึงว่า เป็นพระกวนอิมแบ่งภาคมา สำหรับดูแลมิให้พวกปีศาจแย่งชิงเครื่องเซ่นกัน (อนึ่ง การทำพิธีทิ้งกะจาดนี้ ชนจีนถือเอาเป็นพิธีประกอบเมตตากรรมประจำปีและกำหนดวาระทำกันในเดือน7 ของทุกปี

อันดับ 12 พิธีอัญเชิญสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับ

            พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ อัญเชิญสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จกลับสู่พระรัตนวิมาน พร้อมั้งอัญเชิญพระโพธิสัตว์ กับทวยเทพยเจ้าทั้งสิบทิศกลับสู่มณเฑียรนิเวศน์

อันดับ13 พิธีส่งวิญญาณกลับ

            พิธีนี้เป็นอันดับสุดท้าย พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์พึ่งอำนาจพระบารมีอภินิหารแห่งพระรัตนตรัย อำนวยอานิสงส์อันเกิดจากพิธีกรรมกงเต็กครั้งนี้  ทั้งสิ้นให้แก่วิญญาณผู้มรณะรับไปสติดสถาน ณ แดนสุขภูมิ และเจริญพระพุทธมนต์อวยพรให้แก่เจ้าภาพได้รับความเจริญทั้งสุขจิตสุขภาพตลอดทั่วถึงกัน

            ด้วยพิธีกงเต็กซึ่งได้บรรยายมาแล้ว เป็นศาสนพิธีนำดวงวิญญาณผู้มรณะมาประกอบกุศลกัมมปติฏฐาน (กุศลกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย) นับว่าเป็นมหากุศลทานบังเกิดผลกุศลอย่างใหญ่ไพศาลแก่วิญญาณผู้ล่วงลับไปสู่สุคติ (หมายถึงว่าวิญญาณหมดมลทินเมื่อได้รับอุทิศบุญเหล่านี้แล้ว ก็มีโอกาสบรรเทาจากโทษทัณฑ์ได้ไปจุติเพื่อใช้วิบากกรรมให้เป็นการเสร็จสิ้นไป และจะได้มีโอกาสบำเพ็ญบารมีบรรลุพระโพธิญาณในคั่นสุดท้าย)

            ส่วนวิญญาณผู้บริสุทธิ์อยู่แล้ว ก็จะได้รับปัตติบุญญ์ ขุมทรัพย์คือ บุญ กุศลปฏิการอีกส่วนหนึ่งที่ผู้อื่นให้ เป็นอุดมอลังการบรรลุศุภกุศลบุญญานุภาพเสริมสู่โมกขวิถีมรรค ด้วยประกาเช่นนี้

เป็นการจบพิธีกงเต็กเพียงเท่านี้