มหาสิทธาจารย์อัศวโฆษ

จากหนังสือสารัตถะธรรมมหายาน คณะสงฆ์จีนนิกาย

พระอัศวโฆษ เป็นชาวเมืองสาเกต แคว้นอโยธยา บุตรของนาสุวรรณเกษี ท่านเป็นบุตรพราหมณ์และรอบรู้พระเวทอย่างแตกฉาน เมื่อครั้งยังไม่ได้บวชเป็นพระภิกษุ ท่านมีความทะนงในความรู้ความสามารถของท่านมาก ได้เที่ยวท้าทายพระภิกษุให้วิสัชชนา-ปุจฉาถึงข้อธรรมในศาสนาพราหรมณ์และศาสนาพุทธว่าศาสนาใดจะลึกซึ้งกว่า ปรากฏว่าไม่มีพระภิกษุรูปใดสามารถที่จะโต้อภิปรายกันท่านได้

            ภารหลังพระปารศวเถระเจ้า ทราบข่าวนึ้จึงประกาศโต้อภิปรายกันท่าน ท่ามกลางมหาชนที่มาชุมนุมกัน และเหล่าราชาบดี อัศวโฆษทะนงความรู้ถึงกับกล่าวท้ายทายกันพระปารศวะเถระว่า หากตนแพ้จะตัดลิ้นตนทิ้งเสียหลังโต้อภิปรายแล้ว ผลปรากฏว่า อัศวโฆษได้แพ้แก่พระปารศวะเถระ แต่พระมหาเถระได้ขอร้องให้อัศวโฆษบวชเป็นพระภิกษุโดยมิต้องตัดลิ้นของตน อัศวโฆษก็ตกลง

            หลังจากบวชเรียบร้อยแล้ว ก็พยายามศึกษาพระธรรมวินัยจนแตกฉาน มีชื่อเสียงในการเทศนาว่า ไพเราะจับใจเป็นที่ประทับใจของผู้ที่ได้รับฟังยิ่งนัก เดิมทีท่านอัศวโฆษอาศัยอยู่ในกรุงปาฏลีบุตร เมื่อเกิดสงครามระหว่างปาฏลีบุตรและพระเจ้ากนิษกะมหาราชแล้ว พระเจ้าปาฏลีบุตรยอมอ่อนน้อม และถูกปรับให้ชดใช้บรรณาการเป็นจำนวนทองถึง 3 โกฎิ พระเจ้าปาฏลีบุตรได้นำของมีค่าคู่บ้านคู่เมืองมาใช้แทนทองดังกล่าวมีบาตรของพระพุทธเจ้าและของมีค่าอื่นๆอีกมาก แต่ก็ไม่พอกับจำนวนทองดังกล่าว ในที่สุดต้องยอมยกตัวอัศวโฆษรวมไปด้วย พระเจ้ากนิษกะจึงพอใจ แต่ข้าราชบริพารทั้งหลายของพระเจ้ากนิษกะต่างไม่พอใจที่รับตัวท่านอัศวโฆษมา เพราะเห็นว่าท่านมีค่าตัวสูงเกินไป เมื่อพระเจ้ากนิษกะทรงทราบเรื่องดังกล่าว พระองค์ต้องการให้ทุกคนประจักษ์ถึง คุณสมบัติของพระอัศวโฆษ จึงโปรดให้นำม้า 7 ตัว มาอดอาหาร 6 วันในวันที่ 7 ทรงอาราธนาพระอัศวโฆษแสดงธรรมต่อหน้าพระองค์และที่ประชุมข้าราชบริพารตลอดจนถึงประชาชน ทั้งให้นำมา7ตัวที่อดอาหารให้มาไว้ในที่ประชุมด้วย ท่านอัศวโฆษเริ่มแสดงธรรมเทศนาต่างๆ แล้วพระเจ้ากนิษกะทรงโปรดให้นำหญ้ามาให้ม้ากิน แต่ม้าที่อดอาหารมา 6 วันกลับไม่สนใจหญ้านั้น  คงยืนฟังธรรมจนน้ำตาไหล กิตติศัพท์ของพระอัศวโฆษจึงโด่งดังไปทั่ว เรื่องที่ท่านมีความสามารถแสดงจนสัตว์ชั้นเดรัจฉานก็ยังซาบซึ้ง และท่านก็ได้รับสมญานามว่า “พระอัศวโฆษ” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

            พระอัศวโฆษเป็นนักโต้วาทีที่มีความสามารถในการหาเหตุผลและยังเป็นนักกวีนิพนธ์ที่มีชื่อเสียง งานที่สร้างชื่อทางกวีได้แก่  พุทธจริต ซึ่งพรรณนาถึงพุทธประวัติ โดยบรรยายเป็นบทกาพย์ ซึ่งแต่งได้ไพเราะลึกซึ้งมาก ถึงกับได้รับยกย่องเป็นรัตนฯกวีชั้นเยี่ยม นอกจากนี้ยังมีกวีนิพนธ์อีกหลายต่อหลายเรื่องรงมทั้งพระสูตร และพระธรรมเทศนาของท่านอีกเป็นจำนวนมาก ในสมัยของพระอัศวโฆษ พระสูตรทางมหายานได้รับการขยายความเป็นจำนวนไม่น้อย แต่ยังปราศจากอิทธิพลเท่าที่ควร  เพราะเป็นระยะแรกของการก่อตั้งนิกายมหายานอย่างเป็นทางการ

 

 

พระอัศวโฆษ

 จากหนังสือชีวิตและผลงานของนักปราชญ์พุทธ ดร.อภิญวัฒน์  โพธิ์สาน

 พระอัศวโฆษเป็นนักปราชญ์ทางพุทธศาสนาฝ่ายนิยมภาษาสันสกฤต ซึ่งเจริญรุ่งเรืองอยู่แถบตอนเหนือของอินเดียโบราณ ขณะที่พระพุทธศาสนาฝ่ายนิยมบาลีถอยร่นจากตอนเหนือ มายึดที่มั่นอยู่แถบตอนใต้ของอินเดียเลยไปจนถึงเกาะลังกา

            พระอัศวโฆษเป็นพระภิกษุที่มาจากตระกูลพราหมณ์ มีความรู้ความสามารถหลายด้าน คือท่านเป็นนักกวีเอก นักโต้วาที (วิภาษวิธี) นักดณตรี และนักปราชญาเมธีทางพุทธศาสนานิกายสรวาสติกวาทผู้ยิ่งใหญ่ ท่านมีชื่อเสียงโดดเด่นมากๆในด้านประวัติศาสตร์แนวคิดทางพระพุทธศาสนา และในด้านกวีนิพนธ์ทางศาสนาและบทละครอิงธรรม ทั้งท่านยังเป็นอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งผู้เป็นที่รู้จักกันดีของฝ่ายเถรวาทเดิม นิกายสรวาสติวาทหรือสรวาสติวาทิน ท่านเป็นหนึ่งในบรรดาพระภิกษุนักปรัชญ์ทางพระพุทธศาสนาชาวอินเดียผู้ยิ่งใหญ่ 4 ท่าน คือ พระอัศวโฆษ พระนาคารชุน พระกุมารัพธะหรือกุมารลาตะ และพระอารยเทพ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ดวงตะวัน 4 ดวงที่ให้แสงสว่างแก่ชาวโลก”

 

ผลงาน

             พระอัศวโฆษ นักปราชญ์ชาวพุทธนิกายสรวาสติวาทผู้ยิ่งใหญ่ได้สร้างสรรค์ผลงานเป็นกวีนิพนธ์ไว้หลายชิ้น อาจแบ่งผลงานของท่านออกเป็น 3ประเภทใหญ่ๆ คือ

             1 บทกวีนิพนธ์ทางศาสนา-ปรัชญา

             2 บทกวีนิพนธ์ละครอิงธรรมะ

             3 บทกวีนิพนธ์เพลงอิงธรรมะ

 1 ผลงานประเภทบทกวีนิพนธ์ทางศาสนา-ปรัชญา

             เรื่องที่เด่นและเป็นที่รู้จักกันทั่วและจัดเป็นแบบมหากาพย์ มีอยู่ 2 เรื่องคือ

             1 พุทธจริต

                 กวีนิพนธ์ภาษาสันสกฤตเรื่องนี้เป็นงานแบบมหากาพย์ (กวีนิพนธ์เรื่องยาว) เนื้อหาบรรยายพุทธประวัติ หรืออาจจะเรียกว่าเป็น “พุทธประวัติฉบับสันสกฤต” เนื้อหาคัมภีร์แบ่งออกเป็น 28 ปริจเฉท (บท) จำนวนโศลกคาถา 2110 โศลก นับเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของพระอัศวโฆษ ผู้แต่งเขียนขึ้นอย่างระมัดระวัง แต่ก็ไพเราะ ลึกซึ้งจับใจ  น่าเสียดายที่ปัจจุบัน ต้นฉบับของกวีนิพนธ์พุทธจริตภาษาสันสกฤตขาดหายไปมา เหลือเพียง 17 ปริจเฉก 1010 โศลกเท่านั้น ที่มีอยู่ครบทั้ง 28 ปริจเฉทก็เฉพาะฉบับที่เป็นเป็นภาษาจีนโดยพระธรรมรักษ์ในราวพุทธศตวรรษที่ 9 และฉบับที่เป็นเป็นภาษาทิเบตเท่านั้น

             กวีนิพนธ์พุทธจริตนี้ เป็นงานทางศาสนาที่ได้รับความนิยมยกย่องจากชาวพุทธทั้งเถรวาทและมหายาน มีอยู่สมัยหนึ่งที่ได้นำเอากวีนิพนธ์นี้เป็นบทสวดสดุดีพระรัตนตรัยในวัดต่างๆทั้งในอินเดียและในประเทศอื่นๆ นักปราชญ์ทางวรรณคดีสันสกฤตหลายท่านได้ยกย่องพระอัศวโฆษว่าเป็น “รัตนกวี” ชั้นเยี่ยมเสมอด้วย ท่านฤาษีวาลมิกิผู้แต่งมหากาพย์รามายณะ และเสมอกับท่านกาลิทาสผู้แต่งกวีนิพนธ์เรื่อง “เมฆทูต” และ”รฆุวังศะ” และที่เดียว

            ในกวีนิพนธ์นี้ แต่งเล่าพุทธประวัติและเรื่องที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เรื่องตั้งแต่การจุติจากสวรรค์มาถือปฎิสนธิในพระครรภ์ของพระนางเจ้าสิริมหามายา  พระพุทธมารดา ประสูติ ตรัสรู้ ทรงแสดงธรรมโปรดสัตว์ เสด็จดับขันธปรินิพพาน จนจบลงด้วยกษัตริย์ชาวพุทธจากเมืองต่างๆยกทัพมาเพื่อขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ประวัติการทำสังคายนาครั้งที่ 1 และรัชสมัยการปกครองของพระเจ้าอโศกมหาราชแล้ว  ยังให้ความรู้รายละเอียดที่เกี่ยวกับนิยายโบราณที่เล่าสืบๆมาตามประเพณีนิยมของอินเดีย และระบบปรัชญาอินเดียสำนักสางขยะ ซึ่งมีอยู่ก่อนยุคพระพุทธศาสนาอีกด้วย

 2 เสนทรานันทะ

             กวีนิพนธ์ภาษาสันสกฤตเรื่องนี้เป็นแบบมหากาพย์ เรื่องที่ 2 ของพระอัศวโฆษ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 28 ปริจเฉท ต้นฉบับภาษาสันสกฤตทั้ง 28 ปริจเฉทยังอยู่ครบบริบูรณ์ เนื้อหาว่าด้วยเรื่องพุทธประวัติที่พระอัศวโฆษยังมิได้กล่าวไว้ในพุทธจริต และยังมีเรื่องเล่าที่เป็นตำนานของพราหมณ์ประกอบด้วย

             ในกวีนิพนธ์เรื่องนี้ พระอัศวโฆษแต่งบรรยายเนื้อหาของบทกวีว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้าเสด็จไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ และทรงให้นันทกุมารพระอนุชาต่างพระมารดา(โอรสของพระนางปมหาปชาบดีโคตรมี) ของพระองค์บวช ขณะที่เพิ่งแต่งงานยังไม่ทันได้ส่งตัวเข้าหอ หรือกับแสดงทัศนะของผู้แต่งเรื่องทาง ที่นำไปสู่การรู้แจ้งธรรม แม้จะไม่เต็มใจจะบวชนั้น แต่จำต้องบวชด้วยเรงใจพระเชษฐา เมื่อบวชแล้วก็ยังมีใจคิดถึงแต่นางสุนทรี ภรรยาสาวแสนสวยที่ยังไม่ทันได้ส่งตัวเข้าหอ จนในที่สุดพระพุทธเจ้าต้องจับพระหัตถ์พระนันทะเหาะไปยังสวรรค์ ระหว่างทางได้พบนางลิงรูปร่างอัปลักษณ์ตาบอดข้างหนึ่ง พระพุทธเจ้าถามพระนันทะว่านางสุนทรีสวยกว่านางลิงนี้ไหม ก็ได้รับคำตอบว่าสวยกว่า แล้วทรงเหาะต่อไปถึงสวรรค์พบเหล่านางอัปสรมากมาย พระนันทะได้เห็นนคามแตกต่างของความสวย คิดว่า นางลิงและนางสุนทรีไม่ได้ครึ่งความงามของเหล่านางอัปสรนี้เลย แล้วพระพุทธเจ้าก็พูดเป็นอุบายเป็นนายประกันพระนันนทะว่า ถ้าท่านตั้งใจปฏิบัติธรรมจะทรงของนางอัปสรนางหนึ่งเป็นภรรยาท่าน ท่านก็รับ เมื่อกลับมายังโลกมนุษย์แล้วท่านก็มิได้มีความคิดถึงนางสุนทรีแม้แต่น้อย ตั้งใจปฏิบัติธรรมไม่นานนักท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ และเมื่อบรรลุธรรมแล้วพระนันทะไปขอบคุณพระพุทธเจ้าและบอกว่าท่านไม่ต้องการนางอัปสรแล้ว

             อาจกล่าวได้ว่า พระอัศวโฆษได้ชื่อว่าเป็นผู้พัฒนาสำนวนลีลาการแต่งบทกวีนิพนธ์ภาษาสันสกฤตแบบกาพย์ขึ้นในอินเดีย จนได้ชื่อว่าเป็น “บิดาแห่งบทละคร” ท่านเป็นอาจารย์ที่ใครก็ไม่อาจโต้แย้งได้ในความสามารถด้านบทละคร และท่านมีชีวิตอยู่ก่อนกาลิทาสจะเกิดถึง 300 ปี

             นอกจากนี้ พระอัศวโฆษยังมีงานกวีนิพนธ์ทางศาสนา-ปรัชญาเรื่องอื่นๆอีกมากมาย ทั้งบทกวีสั้นๆ และบทกวียาวๆ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

             1 มหายานศรัทโธตปาทศาสตร์

             กวีนิพนธ์นี้เป็นงานแสดงหลักธรรมของฝ่ายมหายาน นักวิชาการฝ่ายมหายาน เชื่อว่าพระอัศวโฆษเป็นผู้แต่งกวินิพนธ์นี้ และกวีนิพนธ์ภาษาสันกฤตนี้เองเป็น “บ่อเกิดของมหายาน” และถือว่าพระอัศวโฆษเป็น “ปฐมาจารย์ผู้ประกาศลัทธิมหายาน” แต่ก็มีนักวิชาการหลายท่าน เห็นแย้งว่ากวีนิพนธ์นี้มิได้แต่งโดยพระอัศวโฆษ

             กวีนิพนธ์นี้ นัยว่าแต่งขึ้นเพื่อ “เปิดเผยคำสอนขั้นมูลฐานของพระพุทธเจ้าที่คนทั่วไปและพวกหินยานเข้าใจคลาดเคลื่อน” เนื้อหาสำคัญของคัมภีร์สรุปตามอาจารย์อดิศักดิ์ ทองบุญไว้ดังนี้

             1 ความจริงแท้ ได้แก่ ตถตา (ความเป็นเช่นนั้น) คำว่า “ตถตา” มีความหมายหลายนัยจึงมีชื่อเรียกหลายชื่อ คือ

                         1.1 ตถตา หมายถึง ความมีอยู่ขั้นสุดท้าย เรียกว่าภูตตถตา

                         1.2 ตถตา หมายถึง วิญญาณบริสุทธิ์ เรียกว่า โพธิปรัชญาหรืออาลยวิชญาน

                         1.3 ตถตา หมายถึง สิ่งสัมบูรณ์ คือภาวะที่เป็นศูนย์รวมของสิ่งทั้งปวง เรียกว่า ธรรมกายหรือธรรมธาตุ

                         1.4 ตถตา หมายถึง ความสุขอันไม่สิ้นสุด เรียกว่า ตถตาครรภ์

             2 ตถตา คือสังสารวัฏ (การเวียนว่ายตายเกิด) เมื่อมองจากแง่สมมุติสัจหรือสัมพัทธนัยแต่เมื่อมองจากแง่ปรมัตถสัจหรือสัมบูรณนัย ตถตาก็คือนิพพาน ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่อาจพรรณนาได้ด้วยภาษาคน (อนีรวจนียะ) เพราะปัญญาขั้นเหตุผล (พุทธิปัญญา) ไม่สามารถเข้าถึงได้ และไม่อยู่ในขอบข่ายประพจน์สำหรับทำให้เข้าใจ (ปทารถะ) 4 ประการ คือ

                         1 จะพูดว่า นิพพานเป็นสิ่งที่มี ก็ไม่ใช่

                         2 จะพูดว่า นิพพานเป็นสิ่งที่ไม่มี ก็ไม่ใช่

                         3 จะพูดว่า นิพพานเป็นสิ่งที่มีและไม่มี ก็ไม่ใช่

                         4 จะพูดว่า นิพพานไม่เป็นสิ่งที่มีและไม่มี ก็ไม่ใช่

             3 เมื่อพูดว่า “สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกไม่ใช่สิ่งจริงแท้” หมายความว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงปรากฏการณ์คือเป็นสมมุติสัจเท่านั้น ไม่ใช่เป้นความจริงแท้คือประมัตถสัจ สิ่งสมบูรณ์หรือธรรมกายเป็นความจริงขั้นสูงสุด ปรากฏการณ์ทั้งปวงเป็นเพียงสัมพัทธ์คือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกันและกัน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามกฏปฏิจจสมุปบาท มีอวิชชา เป็นต้น อวิชชาเองก็หามีอยู่จริงไม่ เพราะมันอาศัยสิ่งอื่นเป็นปัจจัยให้เกิดเช่นกัน แต่กระนั้นก็ตามจะพูดว่าอวิชชาเป็นสิ่งไม่จริงเลยก็ไม่ได้ เพราะสิ่งไม่จริงไม่อาจเป็นปัจจัยให้เกิดสิ่งใดๆได้ อวิชชานี้เป็นปัจจัยให้เกิดโลกแห่งวัตถุได้ ดังนั้น จึงอาจจัดอวิชชาว่าเป็นจริงได้ขั้นสมมุติสัจแต่ไม่ใช่เป็นจริงขั้นปรมัตถสัจ

             4 ปัญญาขั้นเหตุผล (พุทธิปัญญา) ไม่สามารถทำให้เรารู้ซึ้งถึงความจริงแท้ขั้นปรมัตถสัจได้ ท่านอัศวโฆษกล่าวไว้ว่า

 เมื่อบุคคลสามารถรู้อะไรอยู่เบื้องหลังความคิด ก็ชื่อว่าเขากำลังเดินไปสู่ปัญญาญาณของพุทธศาสนา นี่แหละคือเหตุผลที่ว่า ทำไมพระตถาคตเจ้าจึงไม่ค่อยทรงพยายามสอนโดยใช้คำพูดและการนิยามความหมาย นอกจากวิธีแนะนำให้ปฏิบัติที่เรียกว่า “อุปายโกศล” (อุบายที่ฉลาด) คือทรงใช้คำพูดและการนิยามความหายเพียงเพื่อจะนำสรรพสัตว์ไปสู่การปฏิบัติเท่านั้น เพราะจุดประสงค์อันแท้จริงของพระองค์ คือทรงทให้สรรพสัตว์ทั้งหลายเลิกละการยึดติดในเรื่องสัญลักษณ์(ทางภาษาที่เป็นสมมุติบัญญัติกันขึ้น) และให้มุ่งตรงไปสู่ความจริงแท้

             แต่อย่างไรก็ตาม พุทธิปัญญา (ปัญญาขั้นเหตุผล) อันจำกัด ก็ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์เสียโดยสิ้นเชิง ดังที่ท่านอัศวโฆษกล่าวเน้นไว้ว่า “ถ้าเราทิ้งปัญญาขั้นเหตุผลเสียเราก็ไม่สามารถบรรลุโพธิญาณได้”

             5 สิ่งสมบูรณ์ เมื่อมองผ่านอวิชชาจะเห็นเป็นโลกแห่งปรากฎการณ์มีองค์ประกอบมากมายดังที่ท่านพระอัศวโฆษอุปมาไว้ว่า น้ำอันสงบในมหาสมุทรเมื่อถูกลมพัดจะปรากฏเป็นคลื่นฉันใดวิญญาณเมื่อถูอวิชชาเข้าปรุงแต่งก็ปรากฏเป็นพุทธิปัญญาอันจำกัดฉันนั้น ดินถูกปั้นให้เป็นหม้อชนิดต่างๆ ได้ฉันใด วิญญาณดวงเดียวปรากฏออกมาให้เห็นเป็นพุทธิปัญญาได้มากมายก็ฉันนั้น ตถตาในฐานะเป็นสิ่งสัมบูรณ์ อยู่เหนือสิ่งทั้งหลายทุกๆสิ่ง แต่เมื่อถูกเปื้อนด้วยอวิชชาจะสำแดงตัวออกมาเป็นตถตาปรุงแต่ง ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดโลกแห่งปรากฎการณ์ทั้งฝ่ายที่เป็นจิตวิสัยและวัตถุวิสัย

             6 เมื่อโพธิญาณเกิดขึ้นแก่เรา เราจะรู้แจ้งว่าเราไม่ใช่ภาวะอันจำกัด แต่เราคือภูตตถตานั่นเอง ภูตตถาตานี้แหละคืออมตธรรม พร้อมกับรู้แจ้งถึงภาวะเช่นนี้เราจะมีความสุขอันเลิศ

             7 พระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงแห่งโพธิญาณได้อุบัติขึ้นในโลกนี้ เพื่อทำลายความมืดคืออวิชชา

             8 พระโพธิสัตว์นั้นแม้ท่านจะรู้แจ้งสิ่งที่ควรรู้แล้ว และไม่มีสิ่งใดที่ท่านจะต้องทำเพื่อตัวเองแล้วก็ตาม แต่ท่านก็ยังดำเนินตามพระพุทธเจ้าคือต้องรื้อสัตว์ให้หลุดพ้นจากกิเลส จึงยังไม่ยอมเข้าถึงนิพพานจนกว่าจะทำให้สรรพสัตว์เป็นอิสระจากปวงทุกข์โดยพร้อมกัน

             เชื่อกันในหมู่นักวิชาการว่า สาระสำคัญของคัมภีร์มหายานศรัทโธตปาทศาสตร์นี้ตอนที่ว่าความจริงแท้เป็นอนีรวจนียะคือพูดไม่ได้ และไม่อยู่ในขอบข่ายของประพจน์(ปทรถะ)ใดๆ ในบรรดาประพจน์ 4 ประการ (ดูข้อ2) อันเป็นที่มาของศูนยวาท โดยท่านนาคารชุนนำไปดัดแปลงเสียใหม่เป็น

                         1 จะพูดว่า นิพพานเป็นศูนยะ ก็ไม่ใช่

                        2 จะพูดว่า นิพพานเป็นอศูนยะ ก็ไม่ใช่

                         3 จะพูดว่า นิพพานเป็นทั้งศูนยะและอศูนย ก็ไม่ใช่

                        4 จะพูดว่า นิพพานไม่เป็นทั้งศูนยะและอศูนย ก็ไม่ใช่

            และยังเชื่อกันอีกด้วยว่า อาจารย์ผู้สถาปนาพุทธปรัชญาสำนักโยคาจารย์ นำเอาสาระสำคัญตอนที่ว่าด้วยความจริงแท้(ตถตา) เป็นวิญญาณบริสุทธิ์ ซึ่งเรียกว่าอาลยวิญญาณ ไปดัดแปลงเป็นวิญญาณวาท

 

            2 วัชรสูจี

             กวีนิพนธ์นี้แต่งขึ้น ว่าด้วยศิปะของการพูดโต้แย้งหรือโต้ตอบ ข้ออ้าต่างๆของพราหมณ์ จากกวีนิพนธ์นี้ จะพบว่า พระอัศวโฆษมีความรู้เกี่ยวเรื่องราวของพราหมณ์เป็นอย่างดีเลิศ ท่านวิพากษ์เรื่องระบบวรรณะพราหมณ์  โดยการพิสูจน์ทัศนะของพราหมณ์ด้วยทัศนะจากคัมภีร์ของพราหมณ์เอง ข้ออ้างของพวกพราหมณ์เรื่องวรรณะมีเหตุผลอ่อนอย่างไร โดยการอ้างอิงจากคัมภีร์พระเวท คัมภีร์มหากาพย์มหาภารตะ และคัมภีร์มนูธรรมศาสตร์ เข้าทำนองหนามยอกเอาหนามบ่ง กวีนิพนธ์นี้ได้มีการแปลสู่ภาษาจีนในระหว่างปี พ.ศ.1516-1524

 

            3 สูตราลังการหรือมหาลังการสูตรศาสตร์

            กวีนิพนธ์นี้ พระอัศวโฆษต่างเป็นเรื่องเล่ารวมดนิทานต่างๆ เกี่ยวกับกรรมตามสนอง คล้ายชาดก  ต้นฉบับสันสกฤตสูญหายไปแล้ว ที่เหลืออยู่เป็นฉบับแปลเป็นภาษาจีน ซึ่งแปลโดยกุมารชีพในราว พ.ศ.948

             4 ฉคติสังขารสูตร

            5 ทศอกุศลธรรมปฏิปทาสูตร

            6 นิครันถปุจฉาอนาคตสูตร

2 ผลงานประเภทบทกวีนิพนธ์ละครอิงธรรมะ

             เท่าที่พบบทกวีนิพนธ์ละครอิงธรรมะทางพุทธศาสนาที่อัศวโฆษแต่งไว้มี 4 เรื่องคือ

            1 ศารีปุตรประกรณะ

            บทกวีนิพนธ์นี้ พระอัศวโฆษเขียนไว้ 9 องค์ บทกวินิพนธ์นี้จัดว่าเป็นบทละครภาษาสันสกฤตที่เก่าแก่ที่สุด ในบรรดาบทละครอิงธรรม 4เรื่องที่พระอัศวโฆษเขียนขี้น เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

            ใจความสำคัญว่าด้วยเรื่องพระศารีบุตรและเพื่อนของท่านที่ชื่อเมาทคัลยยายนะ(พระโมคคัลลานะ) เปลี่ยนศาสนาจากลัทธิของศาสดาสัญชัยเวรัฏฐบุตร หลังจากฟังธรรมย่อๆจากพระภิกษุอัสสชิซึ่งเพิ่งบวชใหม่ในพระพุทธศาสนา ทั้ง 2 จึงชักชวนกันไปเฝ้าพระพุทธโคดมเจ้า หันมานับถือและบวชในพระพุทธศาสนา และกลายเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้ายที่สำคัญ

            2 บทละครอุปมาแนวพุทธศาสตร

            บทละครนี้ เป็นนิทานเปรียบเทียบ เขียนด้วยภาษาสันสกฤต เขียนบนใบลายมีเพียง 3 คาถาเท่านั้น

            3 บทละครเรื่องหนุ่มโสมทัตตะ

            บทละครนี้ พรรณนาเรื่องของหนุ่มชื่อว่าโสมทัตตะ ผู้หลงมัวเมาในกามกิเลสและความหรูหรา กักขังคนรักชื่อมคธวตีไว้ และต่อมาได้ฟังธรรมจึงเปลี่ยนศาสนาเดิมของตน มานับถือพระพุทธศาสนา

            4 บทละครเรื่องรัฐบาลหรือรัฐปาลสูตร

            บทละครนี้พรรณนาเรื่องราวของรัฐบาลที่อัศวโฆษนำเอาเนื้องเรื่องมาจากพระสูตรในมัชฌิมนิกาย มาแต่งเป็นคาถาคำฉันท์และมีคำบรรยายประกอบด้วย

            ด้วยความสามารถทางด้านดนตรีของพระอัศวโฆษ ท่านได้เคยลาสิกขา ออกไปพักหนึ่ง ได้ไปแต่งจังหวะดนตรีเพื่อใช้บรรเลงประสานเสียงเข้ากับเนื้อหาของบทละครร้องเรื่อง “รัฐปาละ” เรื่องนี้ของท่าน ซึ่งเป็นที่มาของการประกาศธรรมด้วยวิธีธรรมสังคีตขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติพระพุทธศาสนา ซึ่งวิธีการของท่านนี้ได้ผลเกิดคาด 3 อย่างในเวลาเดียวกัน คือ 1 ประชาชนได้ความบังเทิงใจในจังหวะดนตรี เสียงขับร้อง และบทบาทการแสดงที่ตัวละครแต่ละตัวแสดงออก และ 2 ประชาชนที่มละครและฟังเสียงขับร้องได้ซาบซึ้งใจในรสพระธรรมที่เสียงเพลงหรือเนื้อหาเพลงที่ตัวละครสื่อความหมายออกมา

3 ผลงานประเภทบทกวีนิพนธ์เพลงอิงธรรมะ

            งานกวีนิพนธ์เพลงอิงธรรมะทางพุทธศาสนาที่พระอัศวโฆษแต่งขึ้นมีมากมาย เป็นบทเพลงประกอบดนตรี เนื้อหาของบทเพลงส่วนใหญ่ว่าด้วยหลักศูนยตาและความว่างเปล่าแห่งโลกมายา

            บทเพลงอิงธรรมะของพระอัศวโฆษเท่าที่พบ ในปัจจุบันมีเพียงเรื่องดียวคือ คัณฑีสโดตฺรคาถา แต่งเป็นคาถา 29 คาถา ร้องทำนอง “สรัคธราฉันท์” ซึ่งเป็นชื่อของทำนองสวดทำนองหนึ่งของภาษาสันสกฤต เนื้อเพลงมีเนื้อหาสรรเสริญพระพุทธเจ้าและฆ้องประจำวัด

ข้อสังเกตของผู้เรียบเรียง

            ก่อนจบในชีวประวัติและผลงานของอัศวโฆษ ผู้เขียนขอให้ข้อสังเกตไว้บางประการ ดังนี้

            1 ชีวประวัติของพระอัศวโฆษมีปัญหาอยู่บ้าง ในเรื่องที่มีพระภิกษุชื่อว่า “อัศวโฆษ” อย่างน้อยก็มีถึง 6 รูป ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาว่าอัศวโฆษตัวจริงอยู่ฝ่ายไหน ชาวเถรวาทก็ว่าท่านเป็นพระภิกษุในสรวาสติวาท ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของนิกายเถรวาท ขณะที่ฝ่ายมหายานก็ว่า ท่านเป็น “ปฐมาจารย์” ผู้ประกาศลัทธิมหายาน ดังนั้นจึงจัดว่า พระอัศวโฆษเป็นพระภิกษุในฝ่ายเถรวาท นิกายสรวาสติวาท แต่แนวคิดทางศาสนาและปรัชญาของท่านเป็นฝ่ายมหายาน

            2 พระอัศวโฆษเป็นพระภิกษุที่เด่นดัง ในด้านการเป็น “นักกวี” มากกว่าการเป็น “พระภิกษุในพุทธศาสนา” อย่างน้อยที่สุดก็เห็นภาพที่ติดมากับงานกวีนิพนธ์แบบมหากาพย์ที่มีชื่อเสียงมากเรื่องพุทธจริต ใช่เพียงเท่านั้น ผลงานของท่านยิ่งทำให้ภาพของท่านโดดเด่นในฐานะของการเป็นนักปราชญ์เมธีพุทธ นักโต้วาที และนักดนตรี โดยเฉพาะความสามารถพิเศษทางดนตรีนี้มิได้พบในประวัติพระภิกษุในพุทธศาสนาท่านอื่น

            3 สิ่งหนึ่งที่ได้พบเสมอๆกับพุทธสาวกทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน คือท่านผู้ที่มาจากตระกูลพราหมณ์มักได้รับการศึกษาที่ดี ความรู้ ความสามารถสูงในหลายด้าน เช่น การโต้วาที การแสดงธรรม ฯลฯ พระอัศวโฆษก็เช่นกัน ท่านเป็นนักโต้วาทีทีเก่งฉกาจ แต่เมื่อพ่ายแพ้การโต้วาทีกับพระเถระในพุทธศาสนาแล้วจึงต้องรับผลมาเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา เมื่อบวชแล้วได้ศึกษาพุทธศาสตร์อย่างจริงจัง ก็บรรลุผลแตกฉานในพุทธธรรมอย่างเต็มเปี่ยม กลายเป็นนักแสดงธรรม ที่ยิ่งใหญ่ หรือนักปราชญ์ที่สร้างผลงานไว้ในพุทธศาสนาอย่างมากมาย เช่น พระอัศวโฆษ และพระพุทธโฆสาจารย์ นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ฝ่ายเถรวาท

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats