ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป141

สชาติปัญญา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

สุตามยปัญญา ๓

จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา ๓

การถึงสรณะ ๔

การศึกษาในพุทธศาสนา ๕

ศีลในเบื้องต้น ๖

สมาธิในเบื้องต้น ๗

ปัญญาในเบื้องต้น ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๘๑/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๘๒/๑ ( File Tape 141 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สชาติปัญญา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ปัญญานั้นคือความรู้ทั่วถึงตามสัจจะคือความจริง ตามเหตุตามผล

ทุกคนผู้เกิดมาย่อมมีปัญญาที่เป็น สชาติปัญญา

คือปัญญาที่เกิดมาพร้อมกับชาติคือความเกิดอยู่ด้วยกันทุกคน

ดังที่ในปัจจุบันเรียกว่ามีมันสมอง และมันสมองของมนุษย์นั้นย่อมดีเป็นพิเศษ

ยิ่งกว่ามันสมองของสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย ทางพระพุทธศาสนานั้นเรียกว่า สชาติปัญญา

ปัญญาที่ได้มาพร้อมกับชาติคือความเกิด

 

เพราะฉะนั้น มนุษย์เรานี้จึงสามารถพัฒนาความรู้ที่เป็นตัวปัญญา

เป็นวิชชาต่างๆ ยิ่งๆขึ้นได้เป็นอันมาก อันรวมเรียกว่าปัญญาเหมือนกัน

และก็สามารถใช้ปัญญานี้พัฒนาทุกๆอย่างให้เจริญมากยิ่งขึ้น

เป็นความเจริญทั้งทางด้านความรู้ และทั้งในด้านวัตถุทั้งหลายที่สร้างขึ้นมาดังที่ปรากฏ

และการพัฒนาดังที่กล่าวมานี้ก็ต้องอาศัยการศึกษานั้นเอง

สุตามยปัญญา

 

การศึกษานั้นก็ใช้ สุตะ คือการสดับฟัง การอ่าน หรือจะกล่าวโดยสรุป

ก็คือการใช้ตาหูจมูกลิ้นและกายของตนนี้เอง เป็นเครื่องมือในการศึกษา

ให้เจริญปัญญายิ่งขึ้น เราทุกคนย่อมมีตาหูจมูกลิ้นและกาย อยู่ด้วยกันทุกๆคนแล้ว

อันเป็นอายตนะภายใน คือที่ต่อภายใน ๕ ข้อข้างต้น

ในบรรดาทั้ง ๕ ข้อนี้ ( เริ่ม ๑๘๒/๑ ) แต่เก่าก่อนมาที่จะมีตัวอักษรหรือหนังสือ

ก็ใช้ทางหู คือสดับฟังคำสั่งสอน คำบรรยายต่างๆ เป็นส่วนใหญ่

เพราะฉะนั้น จึงได้ยกเอาหูขึ้นเป็นที่หนึ่ง อันเป็นทางให้เกิดปัญญา

อันเรียกว่า สุตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการสดับตรับฟัง

แต่ต่อมาเมื่อมีตัวอักษรมีหนังสือ ก็ใช้หนังสือสำหรับอ่านด้วยตาแทนหูอีกส่วนหนึ่ง

จึงใช้ตาอ่านหนังสือเป็นการศึกษาให้เกิดปัญญา

 

จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา

 

และใช้มโนคือใจอันเป็นอายตนะภายในข้อที่ ๖ สำหรับตรึกนึกคิดพิจารณาให้เกิดความรู้

อันเรียกว่า จินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิดนึกพิจารณา

และนอกจากนี้ก็ศึกษาด้วยการปฏิบัติทดสอบประกอบกระทำทางทวารทั้ง ๓

คือ ทางกาย ทางวาจา ทางใจ เป็นทางให้เกิดความรู้ อันเรียกว่า ภาวนามยปัญญา

ปัญญาที่เกิดจากการประกอบกระทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น

เพราะฉะนั้น การศึกษาเพื่อให้เกิดปัญญาจึงทำได้ด้วยการฟังหรือการอ่าน

หรือกล่าวโดยสรุปก็ด้วยตาหูจมูกลิ้นกาย และด้วยจินตาคือความคิดนึกพิจารณา

และด้วยภาวนาคือการอบรมทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น

 

ฉะนั้น การศึกษานี้จึงเป็นข้อสำคัญ ทุกคนจะต้องศึกษาด้วยการฟัง ด้วยการอ่าน

ด้วยการคิดนึกพิจารณา และด้วยการปฏิบัติกระทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น

ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาในฝ่ายคฤหัสถ์ ก็เป็นอุบาสกเป็นอุบาสิกา

หรือพุทธมามกะ พุมธมามิกา ในฝ่ายบรรพชิตก็เป็นภิกษุเป็นสามเณร

ก็ต้องประกอบด้วยการศึกษา ด้วยการฟังธรรม การอ่านธรรม ที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

ต้องศึกษาด้วยการคิดนึกพิจารณาให้มีความเข้าใจในธรรม หรือธรรมะที่ได้ฟังหรืออ่านนั้น

 

การถึงสรณะ

 

และต้องศึกษาด้วยการปฏิบัติ

ดังที่ได้ปฏิบัติเริ่มด้วยการรับสรณาคมณ์คือการถึงสรณะ

ได้แก่ถึงพระพุทธเจ้า ถึงพระธรรม ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะว่า

พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะคือที่พึ่ง

ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระธรรมเป็นสรณะคือที่พึ่ง

สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระสงฆ์เป็นสรณะคือที่พึ่ง

แม้วาระที่ ๒ ก็เช่นเดียวกัน แม้วาระที่ ๓ ก็เช่นเดียวกัน

ให้เป็นผู้มีสรณะขึ้นในตน ก็เรียกว่าเป็นภาวนา

คือปฏิบัติทำสรณะคือที่พึ่งทั้ง ๓ นี้ให้มีขึ้นในตน ให้เป็นสรณะคือที่พึ่งขึ้นในตน

ยิ่งขึ้นไปก็ปฏิบัติในศีล ในศีล ๕ ในศีล ๘ ในศีล ๑๐ สำหรับสามเณร

ในศีล ๒๒๗ และยิ่งขึ้นไปกว่าสำหรับภิกษุ ก็เป็นการภาวนา

คือการปฏิบัติทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น คือให้เป็นศีลขึ้นในตน

 

และนอกจากนี้ก็ปฏิบัติทำสมาธิ

คือความตั้งใจหรือทำใจให้ตั้งมั่นในกรรมฐานที่เป็นฝ่ายสมถะกรรมฐาน

คือกรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ ให้จิตใจเป็นสมาธิขึ้น ดั่งนี้ก็เป็นภาวนา

คือการทำสมาธิให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ให้จิตใจนี้เป็นสมาธิขึ้นมา ได้สมาธิขึ้นมา

และก็ศึกษาด้วยการปฏิบัติอบรมทางวิปัสสนากรรมฐาน ให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงขึ้น

ก็เป็นการภาวนา คือการทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น คือให้เป็นปัญญา

หรือให้จิตใจนี้เป็นปัญญาขึ้นมา ให้รู้แจ้งเห็นจริง ดั่งนี้ก็เป็นการศึกษาทั้งหมด

ก็การศึกษาดังกล่าวมานี้เองที่เรียกว่าสิกขา

 

การศึกษาในพุทธศาสนา

 

คำว่า สิกขา นั้นเป็นบาลี เป็นภาษาบาลี

ส่วนคำว่าศึกษานั้นเป็นภาษาสันสกฤตว่า ศิกฺษา มาใช้เป็นภาษาไทยว่า ศึกษา

เพราะฉะนั้น คำว่าสิกขาหรือศึกษาจึงเป็นคำเดียวกัน

ฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้ว การพัฒนาด้วยการศึกษาในพระพุทธศาสนานั้น

จึงจัดไว้ ๓ เรียกว่า ไตรสิกขา คือสีลสิกขาศึกษาศีล จิตสิกขาศึกษาจิตใจ

และปัญญาสิกขาศึกษาปัญญา

 

อันศีลจิตและปัญญานี้

ล้วนเป็นคุณสมบัติที่ทุกคนมีติดมาจากกำเนิดน้อยบ้างมากบ้าง

อันกล่าวได้ว่าเป็น สชาติศีล ศีลที่มีมาตั้งแต่ชาติคือความเกิด

สชาติจิต หรือ สชาติสมาธิ จิตใจหรือสมาธิที่ได้มาแต่ชาติคือความเกิด

และ สชาติปัญญา ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คือไม่ใช่แต่เฉพาะสชาติปัญญาเท่านั้น

แม้แต่ศีลก็เป็นสชาติศีล จิตหรือสมาธิก็เป็นสชาติจิตหรือสมาธิ

ทั้งหมดนี้แหละเป็นกุศลที่แปลว่ากิจของคนฉลาด หรือภาวะความเป็นของคนฉลาด

เพราะว่าผู้ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ทุกคน ท่านแสดงว่าเกิดมาด้วยอำนาจของกุศล

กุศลนำให้เกิดมาเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นจึงมีสชาติปัญญา

พร้อมทั้งสชาติศีล และสชาติจิตหรือสมาธิ ติดตัวมาเช่นเดียวกัน

 

นี่แหละคือตัวกุศลที่ติดมากับมนุษย์ทุกคน

ดังจะพึงเห็นได้ว่า ปรกติของทุกคนที่เกิดมานั้นก็คือปรกติกาย ปรกติวาจา ปรกติใจ

ดังจะพึงเห็นได้ว่าทุกคนที่เกิดมาก็ไม่ได้ฆ่าอะไรใคร ไม่ได้ลักทรัพย์ของใคร

ไม่ได้ประพฤติในกามอะไร ไม่ได้พูดเท็จอะไร ไม่ได้ดื่มน้ำเมาอะไร

และก็ทำบาปอกุศลกรรมทั้งหลายเหล่านี้ไม่เป็นทั้งนั้น

นี้คือความปรกติที่เป็นตัวศีลที่มีอยู่

 

และแม้ว่าเมื่อเติบใหญ่ขึ้นแล้ว กิเลสที่เป็นอาสวะอนุสัยในจิตใจ

ซึ่งมีมาพร้อมกับเกิดเหมือนกัน เป็นต้นว่ากิเลสกองราคะโทสะโมหะ

ราคะความติดใจยินดี โทสะความโกรธแค้นขัดเคือง โมหะความหลง

หรือว่าโลภะโทสะโมหะ โลภโทสะหรือโกรธและหลง

หรือว่าตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากต่างๆ เจริญขึ้นมากขึ้น

พร้อมกับความเจริญของชีวิตของร่างกาย จากเด็กเล็กเป็นเด็กใหญ่

จากเด็กใหญ่ก็เป็นหนุ่มเป็นสาว เป็นผู้ใหญ่ แก่ จนถึงตาย

เมื่อเติบโตขึ้นอาสวะอนุสัยซึ่งมีติดมากับจิตใจ ก็ก่อให้เกิดเป็นกิเลสตัณหาเหล่านี้ขึ้นมา

จึงบันดาลใจให้เกิดอกุศลเจตนา เจตนาเป็นอกุศลต่างๆ

จึงทำการฆ่าเขาบ้าง ลักของเขาบ้างเป็นต้น

 

ศีลในเบื้องต้น

 

แต่ว่าจะทำเช่นนั้นก็ในเวลาที่ลุอำนาจของกิเลสเท่านั้น

แต่เวลาปรกติที่ไม่ลุอำนาจของกิเลสก็ไม่ทำอะไร คือไม่ได้ฆ่าใคร ลักของใคร

เพราะฉะนั้น โดยปรกติของทุกคนแล้วจึงไม่ได้ทำบาปอะไร ไม่ได้ผิดศีลอะไร

แต่เวลาที่จิตใจวิกฤตด้วยอำนาจของกิเลสตัณหา จึงได้ประกอบกระทำ

บาปอกุศลกรรมผิดศีลต่างๆ

 

จึงกล่าวได้ว่าศีลนั้นนอกจากจะมีความหมายว่า

หมายถึงความปรกติกายวาจาใจแล้ว ยังมีความหมายว่าเป็นปรกติของคนอีกด้วย

แต่ว่าคนเรานั้นไม่ใช่มีจำเพาะอาสวะอนุสัย

คือกิเลสที่นอนจมหมักหมมอยู่ในจิตสันดานเท่านั้น ยังมีส่วนดีอันเป็นบารมี

คือความดีที่เก็บเอาไว้อยู่ในจิตใจส่วนลึกด้วยเช่นเดียวกัน อันเป็นฝ่ายกุศลดังที่กล่าวมาแล้ว

กล่าวคือสชาติศีล สชาติจิตหรือสมาธิ สชาติปัญญา ก็เป็นส่วนบารมีคือส่วนดีที่มีอยู่

เพราะฉะนั้น จึงได้มีความสำนึกรู้ผิดชอบชั่วดี ด้วยอาศัยอาจารย์คนแรกของตน

คือพ่อแม่สั่งสอนอบรมมาในเบื้องต้น และเมื่อมาศึกษากับครูบาอาจารย์ต่อมา

จนถึงได้พบพระพุทธศาสนา ได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จึ่งได้เพิ่มศีล เพิ่มสมาธิ

และเพิ่มปัญญาให้มากขึ้นโดยลำดับ เพราะมีพื้นดีอยู่แล้ว ก็รับดีได้สะดวก

 

สมาธิในเบื้องต้น

 

แม้จิตหรือสมาธิก็เช่นเดียวกัน คนเราก็รู้จักมีสมาธิมาตั้งแต่ต้นแล้ว

คือมีความตั้งใจนั้นเอง เด็กเล็กๆก็รู้จักตั้งใจฟังคำสอนอบรมของพ่อแม่เป็นต้น

ถ้าหากว่าไม่รู้จักตั้งใจฟังแล้ว จะได้ปัญญาเพิ่มพูนขึ้นมาไม่ได้

จะได้ปัญญาขึ้นมาก็ต้องมีความตั้งใจ ถ้าไม่ตั้งใจแล้วจะไม่ได้อะไรเลย

และเมื่อโตขึ้นก็ได้ที่ความตั้งใจฟังครูบาอาจารย์สั่งสอน

ถ้าหากว่าไม่มีความตั้งใจเลยแล้ว จะไม่รู้ จะไม่ได้ความรู้จากครูบาอาจารย์เลย

แม้เมื่อมาพบพระพุทธศาสนา ก็รู้จักตั้งใจฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

รู้จักตั้งใจฟังคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์

ถ้าหากว่าไม่รู้จักตั้งใจฟังแล้ว ก็จะไม่ได้ความรู้อะไรเลย

เพราะว่าปัญญาคือความรู้นี้ย่อมได้จากความตั้งใจฟังตั้งใจอ่านเป็นต้น

ดังเช่นที่กำลังฟังธรรมบรรยายอยู่นี้ ถ้าหากว่าไม่มีความตั้งใจฟัง

คือหลับเสียก็ดี ส่งใจไปในที่อื่นก็ดี หูก็จะดับฟังไม่ได้ยิน ไม่รู้เรื่องว่าพูดอะไร

ต่อเมื่อมีความตั้งใจฟัง หูจึงจะไม่ดับฟังได้ยิน และรู้เรื่องว่าพูดอะไร

เพราะฉะนั้น ความตั้งใจจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ต้องมีจึงจะเกิดปัญญา

และทุกคนก็ได้ความตั้งใจมาตั้งแต่กำเนิดแล้ว คือรู้จักมีความตั้งใจ

เป็นแต่เพียงว่ายังตั้งใจไม่มั่นเท่านั้น

ปัญญาในเบื้องต้น

 

และแม้ปัญญาเองก็ได้กล่าวแล้วว่ามีมาแต่กำเนิด

เพราะฉะนั้นจึงรับรู้ได้ รับรู้ความเป็นไปของโลกได้

ตั้งต้นแต่รับรู้ธรรมชาติธรรมดาของโลกทั่วๆไป เหมือนอย่างสัตว์โลกทั้งหลาย

และรู้จักยิ่งขึ้นไปกว่านั้น คือสามารถที่จะมีความตั้งใจ แล้วก็รับรู้ในศิลปวิทยาต่างๆ

ในสัจจะคือความจริงต่างๆ ยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ

 

ต่างจากสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายที่รับรู้ได้จำเพาะที่เป็นธรรมชาติธรรมดาทั่วไป

แต่ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดีที่ยิ่งๆขึ้นไปอย่างมนุษย์ อาจจะรู้จักผิดชอบชั่วดีชั้นธรรมดาสามัญ

แต่ไม่ยิ่งๆขึ้นไปเหมือนอย่างมนุษย์ เข้าถึงสัจจะที่เป็นความจริงเหมือนมนุษย์ไม่ได้

และจะพัฒนาความรู้และการกระทำต่างๆด้วยปัญญาเหมือนอย่างมนุษย์ไม่ได้

มนุษย์เรามีพื้นปัญญามาดี และก็สามารถรับเพิ่มพูนปัญญาให้ทวีขึ้นไปได้

จนถึงที่สุดดั่งยอดมนุษย์คือพระพุทธเจ้า ก็ได้ทรงพัฒนาคือความรู้ให้ยิ่งๆขึ้นไป

ทั้งที่เป็นส่วนโลกิยะ และที่เป็นส่วนโลกุตระคือพ้นโลก

( เริ่ม ๑๘๒/๒ ) ด้วยมีพระปัญญาตรัสรู้พระธรรมอันสูงสุดเป็นพระพุทธเจ้า

 

เพราะฉะนั้น ศีลสมาธิปัญญาดังที่กล่าวมานี้ จึงเป็นธรรมชาติธรรมดาของบุคคลทุกคน

แต่ว่าพัฒนาให้มากยิ่งขึ้น พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรมสั่งสอน

ธรรมะที่ทรงสั่งสอนนั้น จึงเป็นธรรมชาติธรรมดาของบุคคลนี้เอง ที่มีมูลฐานอยู่ในบุคคลนี้เอง

ตรัสสอนให้พัฒนาคุณสมบัติที่เป็นมูลฐานนี้ของตนเองทุกๆคนนี้ ให้เป็นศีล ให้เป็นสมาธิ

และให้เป็นปัญญาที่ยิ่งขึ้น จนถึงให้ได้ประสบประโยชน์ที่เป็นปัจจุบันบ้าง

ประสบประโยชน์ที่เป็นภายหน้าบ้าง ประสบประโยชน์ที่เป็นอย่างยิ่งยอดบ้าง

เป็นอันว่าเพื่อสุขประโยชน์ของทุกๆคนนี้เอง ตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงที่สุด

เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสสอนให้ทุกคน ตั้งใจสมาทานศีล

ตั้งจิตวิรัติงดเว้นจากเวรภัยทั้งหลาย จากอกุศลกรรมบาปทุจริตทั้งหลาย

ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ดังศีลที่ทุกคนได้รับได้สมาทานได้ปฏิบัติกันอยู่นี้

และให้ปฏิบัติทำสมาธิ คือทำจิตใจนี้เองที่มีความตั้งอยู่แล้ว ให้ตั้งมั่นอย่างมาก

และเพียงพอที่จะนำไปเพ่งพินิจให้เกิดปัญญาที่ละเอียดสุขุม และลุ่มลึกยิ่งขึ้น

และให้พัฒนาปัญญาที่เป็นตัวความรู้ที่มีมาแต่กำเนิดนี้ให้เจริญยิ่งขึ้น

ให้รู้จักประโยชน์ปัจจุบัน ให้รู้จักประโยชน์ภายหน้า ให้รู้จักประโยชน์อย่างยอด

 

เพราะฉะนั้น การที่มาพัฒนาสิ่งที่เป็น สชาติ

ที่มีอยู่ได้มาตั้งแต่กำเนิดนี้ ให้เจริญยิ่งขึ้นนี้ จึงเป็นการศึกษานั้นเอง

อันได้แก่การฟังหรือการอ่าน หรือการใช้อายตนะภายนอก ๕ เบื้องต้น

อันยกขึ้นมาข้อหนึ่งเป็นหัวหน้า คือ สุตะ การสดับตรับฟัง

และ จินตา คือการคิดนึกพิจารณาให้มีความเข้าใจ

และ ภาวนา คือการปฏิบัติทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น ให้เป็นศีลที่ยิ่งๆขึ้นไป

ให้เป็นจิตที่ยิ่งๆขึ้นไป หรือสมาธิยิ่งๆขึ้นไป ให้เป็นปัญญาที่ยิ่งๆขึ้นไป

ก็จะทำให้เป็นผู้รู้จักประโยชน์ปัจจุบัน รู้จักประโยชน์ภายหน้า รู้จักประโยชน์อย่างยอด

และสามารถบรรลุถึงประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ภายหน้า

และประโยชน์อย่างยิ่งยอดได้ไปโดยลำดับ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

ปัญญาเห็นธรรม

ความเวียนเกิดเวียนตาย

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

บารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี ๓

วิชชา ๓ ๔

ความเวียนว่ายตายเกิด ๕

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๘๒/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๘๓/๑ ( File Tape 141 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

ปัญญาเห็นธรรม ความเวียนเกิดเวียนตาย

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

การได้ปัญญาในธรรมนั้นก็เป็นการได้ปัญญาในธรรมตามพระพุทธเจ้า

เพราะพระพุทธเจ้าแสดงตามพุทธประวัติ พระองค์ทรงได้ปัญญาในธรรมด้วยพระองค์เอง

ดั่งที่เรียกว่าได้ตรัสรู้พระธรรม จึงได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้า ดังที่มีแสดงไว้ในพุทธประวัติว่า

ในราตรีที่พระโพธิสัตว์ คือพระสิทธัตถะราชกุมาร ซึ่งได้เสด็จออกทรงผนวช

และจะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้านั้น ได้ทรงชนะมารพร้อมทั้งเสนามาร

ตั้งแต่ในเวลาก่อนพระอาทิตย์ตกหรืออัสดง

 

ดังที่เราทั้งหลายคงจะได้เคยเห็นภาพพระพุทธเจ้าผจญมาร

ที่เขียนเป็นภาพพระพุทธเจ้า ประทับอยู่บนที่ประทับตรงกลาง

และเป็นภาพมารบนช้าง ตรีเมฆละ พร้อมทั้งเสนามาร ยกเข้ามาผจญพระพุทธเจ้า

ด้วยศัตราวุธเป็นอันมากด้านหนึ่ง และเป็นภาพแม่ธรณีบิดมวยผมน้ำท่วมพระยามารและเสนา

ต้องจมน้ำพ่ายแพ้ไปอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นภาพแสดงพระพุทธเจ้าผจญมารเป็นรูปธรรม

บารมี อุปบารมี ปรมัตถบารมี

 

พระอาจารย์ได้แสดงโดยเป็นธรรมาธิษฐาน คือยกธรรมะขึ้นเป็นที่ตั้ง

ว่าพระองค์ทรงผจญกิเลสมาร มารคือกิเลสในพระทัยของพระองค์เอง

ด้วยพระบารมีทั้ง ๑๐ ที่ทรงได้บำเพ็ญมาแล้ว คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ

ขันติ สัจจะ อฐิษฐานะ เมตตา อุเบกขา พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีเหล่านี้มา

เป็นพระบารมีธรรมดา เป็นพระอุปบารมี คือบารมีที่มากยิ่งขึ้นจนใกล้จะสมบูรณ์

และปรมัตถบารมี พระบารมีที่สมบูรณ์ ทรงเสี่ยงพระบารมีทั้ง ๑๐

ที่ทรงบำเพ็ญมาอย่างสมบูรณ์นี้สู้กับกิเลสมารในพระทัย

 

ส่วนที่แสดงเป็นแม่ธรณีบิดมวยผมนั้น ก็แสดงโดยปุคลาธิษฐาน

ยกบุคคลเป็นที่ตั้งเป็นรูปธรรมดังกล่าว แต่ก็มีนัยยะที่ท่านชี้แจงว่า

พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์นั้น ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีทั้ง ๑๐ นี้มานานนักหนา

โดยเฉพาะข้อหนึ่งคือทานบารมีนั้น น้ำที่หลั่งลงจากพระเต้าทักษิโณทก ในขณะที่บริจาคทาน

อันแสดงถึงการให้ เช่น เมื่อทรงเป็นพระเวสสันดรได้ประทานช้างแก่พราหมณ์ที่มาขอ

ด้วยทรงหลั่งน้ำลงบนแผ่นดินแสดงว่าประทานให้ เพราะว่าช้างเป็นสัตว์ใหญ่โต

จะยกให้ด้วยมือไม่ได้ ก็ต้องเทน้ำให้ คือแสดงว่าให้ด้วยการเทน้ำลงบนแผ่นดิน

หรือแม้การให้ส่วนกุศลที่ไม่ใช่เป็นวัตถุ ก็มีธรรมเนียมเทน้ำลงเหมือนกัน

 

ดังที่เราทั้งหลายเมื่อบำเพ็ญกุศลแล้ว ก็กรวดน้ำแผ่ส่วนกุศลดังที่ปฏิบัติกันอยู่

น้ำที่พระโพธิสัตว์เทลงบนแผ่นดินในการให้ทานนั้นมากมาย

เพราะได้ทรงให้ทานมากับนับครั้งไม่ถ้วน ก็ตั้งเป็นข้อแสดงขึ้นว่า

น้ำเหล่านั้นเองที่ตกลงบนแผ่นดิน ก็เหมือนตกลงบนมวยผมของแม่ธรณี ซึ่งหมายถึงแผ่นดิน

เมื่อทรงเสี่ยงบารมี น้ำที่หลั่งลงบนแผ่นดิน เหมือนอย่างหลั่งลงบนมวยผมของแม่ธรณีนี้เอง

จึงไหลมาท่วมมาร พร้อมทั้งเสนาให้พ่ายแพ้ไป ก็พึงอาศัยพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญมา

ตั้งอยู่ในพระทัย จึงทรงชนะกิเลสมารทั้งหมด ตั้งแต่ก่อนพระอาทิตย์ตกคืออัสดง

วิชชา ๓

 

จึ่งได้ทรงปฏิบัติทางสมถะภาวนา

ทำพระทัยให้สงบ สงบจากกาม สงบจากอกุศลธรรมทั้งหลาย

ทรงได้ฌานความเพ่งคือสมาธิอย่างสูง ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ไปโดยลำดับ

แล้วทรงน้อมจิตที่เป็นสมาธิ จิตที่สงบ พิจารณาธรรม ก็ทรงเห็นธรรม

ด้วยปัญญาที่เรียกว่าญาณคือความหยั่งรู้ ในปฐมยามของราตรีนั้น

ทรงได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณที่ระลึกถึงขันธ์เป็นที่อยู่อาศัยในกาลก่อนได้

ที่เรียกว่าระลึกชาติได้ ถอยหลังไป ๑ ชาติ ๒ ชาติ ๓ ชาติ โดยลำดับ มากมาย

ได้ทรงระลึกชาติได้ว่า จากชาตินั้นก็มาสู่ชาติโน้น จากชาติโน้นก็มาสู่ชาตินั้นโดยลำดับ

หรือว่าถอยหลังไปเป็นชาติที่หนึ่งที่สอง ทรงระลึกได้ดั่งนี้ในปฐมยามของราตรีนั้น

ทรงเห็นธรรมะด้วยพระปัญญา คือด้วยพระญาณระลึกชาติหนหลังได้ดั่งนี้

 

และในมัชฌิมยามทรงได้จุตูปปาตญาณ

พระญาณที่หยั่งรู้จุติคือความเคลื่อน อุปบัติคือความเข้าถึงชาตินั้นๆของสัตว์ทั้งหลาย

ว่าดีที่เรียกว่าประณีต หรือว่าเลวต่างๆกัน เป็นไปตามกรรม

จึงทรงเห็นธรรมด้วยปัญญา คือความเคลื่อน ความเข้าถึงชาตินั้นๆ

ซึ่งดีหรือเลว เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ว่าเป็นไปตามกรรม

 

ครั้นถึงยามที่ ๓ ของราตรี ก็ทรงได้อาสวักขยญาณ

ญาณเป็นเหตุสิ้นอาสวะทั้งหลาย ได้ทรงได้ญาณหรือปัญญาตรัสรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔

คือ ในทุกข์ ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ในอาสวะ ในเหตุเกิดอาสวะ ในความดับอาสวะ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ

จึงตรัสเป็นพระพุทธเจ้า

 

พระพุทธเจ้าเมื่อทรงเป็นพระโพธิสัตว์ก็ทรงได้ปัญญาในธรรม

คือได้ทรงระลึก ทรงรู้ระลึกชาติหนหลังได้

ทรงรู้ว่าการเคลื่อนและการเข้าถึงชาตินั้นๆ เป็นไปตามกรรม

และได้ปัญญาหยั่งรู้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เป็นที่สุด

เหล่านี้ก็คือว่าเป็นปัญญาเห็นธรรมของพระองค์

 

ความเวียนว่ายตายเกิด

 

ฉะนั้น คำว่าปัญญาเห็นธรรม จึงมีความหมายถึงสัจจธรรมะ

ธรรมะเป็นสัจจะคือเป็นตัวความจริง ได้ทรงรู้สัจจะธรรม ธรรมะที่เป็นตัวความจริง

ในความเกิดตาย ในชาติทั้งหลายเป็นอันมาก ทำให้พระองค์ทรงจับได้ว่า

ได้ทรงมีอยู่สองส่วน คือส่วนที่เกิดตายอยู่เรื่อยไปนั้นส่วนหนึ่ง

และส่วนที่ต้องเป็นผู้เกิดตายในชาตินั้นๆอีกส่วนหนึ่ง ...

( ข้อความน่าจะขาดไปเล็กน้อย )

( เริ่ม ๑๘๓/๑ ) ...ต้องเกิดตายในชาตินั้นๆ ก็เรียกตามสมมติบัญญัติว่าเราเอง

ดั่งที่ทรงใช้เรียกพระองค์เองว่าเราเอง คือพระองค์เอง ซึ่งมีขันธ์อันเป็นส่วนที่ต้องเกิดตาย

เราเองหรือพระองค์เองนั้นเหมือนอย่างมีผู้เดียว หรือมีคนเดียวไม่ใช่หลายคน

ซึ่งต้องท่องเที่ยวเกิดตายไปในชาตินั้นๆ แล้วสิ่งที่เกิดตายนั้นก็คือขันธ์

 

พระองค์จึงจับได้ว่าในตัวบุคคลทุกๆคนนี้ มีส่วนที่เรียกว่าขันธ์ซึ่งต้องเกิดตาย

แต่ว่าเรียกสมมติบัญญัติว่า ตัวเรา ของเรา ของทุกๆคนนั้นไม่เกิดตายไปตามขันธ์

แต่เป็นตัวที่ต้องท่องเที่ยวไปจากขันธ์หนึ่งไปสู่ขันธ์หนึ่ง

จากขันธ์หนึ่งไปสู่ขันธ์หนึ่ง มากมาย และทุกๆคนก็ต้องเป็นเช่นนั้น

เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันว่าได้ทรงจับรู้ว่าขันธ์ทั้งหลายต้องเกิดต้องตาย

หรือว่าต้องเกิดต้องดับคือแตกสลาย

 

และขันธ์นั้นก็ได้ตรัสแสดงต่อมาว่าคือขันธ์ ๕

รูปขันธ์ กองรูปก็คือว่ารูปกายอันนี้ของทุกๆคน อันประกอบขึ้นด้วยธาตุดินน้ำไฟลม

เวทนาขันธ์ กองเวทนาคือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

สัญญาขันธ์ กองสัญญาคือความจำได้หมายรู้ จำนั่นจำนี่ได้

สังขารขันธ์ กองสังขารคือความคิดต่างๆ คิดไปในรูปบ้าง ในเสียงบ้าง

ในสิ่งนั้น ในสิ่งนี้ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เป็นกลางๆบ้าง

และความรู้ทางอายตนะคือรู้ที่เรียกว่าเห็นเมื่อตากับรูปประจวบกัน

ที่เรียกว่าได้ยินเมื่อหูกับเสียงประจวบกัน

ที่เรียกว่าได้ทราบเมื่อจมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กายและโผฏฐัพพะ ได้ประจวบกัน

ตลอดจนถึงรู้หรือคิดเรื่องราวในเมื่อมโนคือใจกับธรรมะคือเรื่องราวได้มาประจวบกัน

ความรู้ดังกล่าวมานี้เรียกว่า วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ

รูปก็เป็นรูป เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็เป็นนาม

จึงทรงแสดงในเวลาต่อมาว่าย่อลงเป็นนามรูป แต่แยกออกไปก็เป็นขันธ์ ๕

ก็คือขันธ์ดังที่แสดงว่า ญาณคือความหยั่งรู้ขันธ์เป็นที่อาศัยอยู่ในปางก่อนได้คือรู้ระลึกชาติได้

 

เพราะฉนั้น ความเวียนเกิดเวียนตายอยู่เป็นอันมาก

พระองค์จึงได้ทรงรู้ และทรงรู้ว่าขันธ์เป็นตัวที่ต้องเกิดต้องแตกดับหรือตาย

แต่ว่าพระองค์เอง หรือตัวเราของทุกๆคน ดังที่เรียกกันตามสมมติบัญญัติ

ต้องท่องเที่ยวไปจากขันธ์นี้ไปสู่ขันธ์โน้นมากมายนับไม่ถ้วน

จึงทรงสัจจะคือความจริงได้ด้วยพระญาณนี้

และก็ได้ทรงแสดงสั่งสอนให้ทุกคนรู้จักพิจารณาจับให้รู้จักขันธ์ทั้ง ๕

และให้รู้จักว่าตัวเราของเราตามที่เรียกกันตามสมมติบัญญัติ

ต้องท่องเที่ยวไปเกิดตายดังกล่าวมากมาย

 

เมื่อรู้สัจจะคือความจริงหรือสัจจะธรรม

ธรรมะคือความจริงอันเป็นขั้นพื้นฐานดั่งนี้ชั้นหนึ่งแล้ว

พระองค์ก็ได้ตรัสรู้ว่า ความเคลื่อนคือความออกไปจากชาติขันธ์อันหนึ่ง

ไปอุปบัติคือเข้าถึงชาติขันธ์อีกอันหนึ่งนั้นเป็นไปตามกรรม

คือการงานที่บุคคลทุกๆคนได้กระทำเอาไว้

กระทำกรรมชั่วก็ต้องไปสู่ภพชาติที่ชั่วมีความทุกข์ กระทำดีก็ไปสู่ชาติภพที่ดีมีความสุข

ก็เป็นอันว่าพระองค์ได้ตรัสรู้เรื่องกรรมและเรื่องผลของกรรม และได้ทรงแสดงสั่งสอน

 

ดังที่ได้ทรงสั่งสอนให้เราทั้งหลายพิจารณาเนืองๆว่า

เรามีกรรมเป็นของๆตน เราเป็นทายาทรับผลของกรรม

เรามีกรรมเป็นกำเนิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธ์ เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย

เราจักกระทำกรรมใดไว้ดีหรือชั่ว เราก็จักต้องเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น ดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้น หลักของกรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเอาไว้

พระองค์เองได้ตรัสรู้ด้วยพระญาณที่ ๒ นี้

แต่ว่าแม้จะกระทำกรรมดีสักเท่าไร ก็จะต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่นั่นเอง

ตามที่ทรงได้พระญาณในปฐมยามของราตรี และก็ต้องเป็นไปตามกรรมที่กระทำ

เพราะว่ายังมีคติที่ไม่เที่ยง ไม่ใช่ว่าจะทำดีแต่เพียงอย่างเดียว

อาจจะทำชั่วในบางครั้งบางคราวก็ได้ จึงจะต้องพบชาติที่เป็นทุกข์บ้าง ชาติที่เป็นสุขบ้าง

แม้ในชาติเดียวกันก็ต้องมีสุขบ้างมีทุกข์บ้าง จึงเป็นของไม่แน่นอน

ต้องเป็นไปดั่งนี้เรื่อยไป ในเมื่อยังมีเวียนเกิดเวียนตาย

 

ฉะนั้น เมื่อพระองค์ทรงพิจารณาธรรมะเรื่อยขึ้นไปก็ทรงจับได้ ว่าทั้งหมดนั้น

เพราะเหตุที่ต้องเวียนเกิดเวียนตาย จะมีสุขหรือมีทุกข์ก็ต้องเวียนเกิดเวียนตาย

จะเป็นภพชาติที่ดีหรือที่เลวอย่างไรก็ต้องเวียนเกิดเวียนตาย จึงเป็นทุกข์ทั้งนั้น

ทำไมจะต้องเป็นทุกข์ ก็เพราะยังมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากอันเป็นตัวกิเลส

เพราะยังมีอนุสัยคือกิเลสที่นอนจมอยู่ในจิตสันดาน ทรงพิจารณาจับเหตุจับผลละเอียดยิ่งขึ้น

ตามนัยยะที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น

จึงทรงได้พระญาณที่ ๓ คือได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ ดังที่กล่าวแล้ว

จึงทรงพ้นจากกิเลส พ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง ไม่ต้องเวียนเกิดเวียนตาย

ไม่ต้องเสวยผลของกรรม ที่เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง ที่ดีบ้างที่เลวบ้าง

เพราะไม่มีตัวเราของเราอันเป็นตัณหาอุปาทาน

ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเหลืออยู่เป็นธาตุรู้ที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง จึงได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

และก็ได้ทรงแสดงอริยสัจจ์สั่งสอนเพื่อให้ทุกคนได้รู้ตาม

 

พระพุทธเจ้าทรงเห็นธรรมด้วยพระองค์เอง

ทรงบริสุทธิ์ผุดผ่องจากกิเลสและกองทุกข์ด้วยประการทั้งปวง

จึงเรียกว่า อรหัง พระองค์ได้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง

เห็นธรรมด้วยพระองค์เองโดยไม่มีครูอาจารย์ จึงได้พระนามว่า สัมมาสัมพุทโธ

คำว่า อรหัง สัมมาสัมพุทโธ นี้จึงเป็นพระพุทธคุณบทสำคัญ

 

ฉะนั้น เราทั้งหลายจึงควรศึกษาให้รู้ธรรมะที่ทรงสั่งสอน

เพื่อจะได้ปัญญาเห็นธรรมตามพระองค์ตามที่ทรงสั่งสอน

แม้ด้วยศรัทธาคือความเชื่อตามที่ทรงสั่งสอน และด้วยปัญญาคือความรู้ความเข้าใจ

ด้วยการหมั่นปฏิบัติสดับตรับฟัง หมั่นเพ่งพินิจพิจารณาไปโดยลำดับ

ให้รู้จักสัจจะธรรมตามที่ทรงสั่งสอน น้อมเข้ามาที่ตนเองดังที่ทรงปฏิบัติมา

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็ย่อมจะได้ปัญญาเห็นธรรมโดยลำดับ ตามควรแก่การศึกษาปฏิบัติ

ต่อไปนี้ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป 

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats