- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันเสาร์, 10 พฤศจิกายน 2555 13:43
- เขียนโดย gonghoog
พระสูตรปรัชญาปารามิตาหฤทัยสูตร
จารจารึกในภาษาทิเบต
พระสูตรปรัชญาปารมิตาหฤทัย มีฉบับซึ่งจารจารึกด้วย ภาษาสันสกฤตโบราณ ภาษาฮินดี ภาษาทิเบต ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย สำหรับผู้ที่ต้องการได้ไว้ศึกษาหรือสักการะบูชา ติดต่อขอได้ที่ พระมหาเถระเย็นเมี่ยง เจ้าอาวาสวัดเทพพุทธาราม ชลบุรี
หลักการสี่ประโยคที่เป็นหัวใจของมัธยมิก
สิ่งทีใช่-ไม่ใช่,
สิ่งที่ไม่ใช่-ไม่ใช่,
ไม่ใช่สิ่งที่ใช่-ไม่ใช่,
ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ใช่-ก็ไม่ใช่
นี่คือ ศูนยตา, คือนิพพาน คือทางสายกลาง
ปรัชญาปารามิตาหฤทัยสูตร เป็นพระสูตรดั้งเดิมที่สุด กับทั้งเป็นมูลฐานของทฤษฎีศูนยตา เป็น พระสูตรสำคัญของทั้งมหายานและวัชรยาน คุรุนาคารชุนผู้ก่อตั้งนิกายมาธยมิก ราว ค.ศ.1 เป็นผู้รวบรวม อยู่ใน”มาธยมิกศาสตร์ ท่านกุมารชีพได้แปลเป็นพากษ์จีน ประ มาณพุทธศตวรรษที่ 8 แพร่หลายมากจนถึงปัจจุบันที่เรียกว่า “ซิมเก็ง”
บรรยายความปรัชญาปารามิตาหฤทัยสูตร
ปรัชญา เป็นคำสันสกตซึ่งตรงกับคำบาลีหรือที่คำไทยนำมาใช้คือคำว่าปัญญา ความหมายในที่นี้คือ หลักแห่งความรู้ชั้นสูงเพื่อให้เกิดปัญญา ปัญญานั้นแยกออกได้เป็น 2 ทาง คือ สมมุติสัจจ์ หรือปัญญาทางโลกและปรมัตถสัจจ์หรือปัญญาทางธรรม สมมุติสัจจ์ คือ ความจริง ที่เกิดขึ้นจากการรับรู้ของอายตนะเป็นความจริงจากการเปรียบเทียบ ปัญญาทางโลก นั้นนำพา ความสุข ทางกาย ใจ ในระยะสั้นชั่วครั้งชั่วคราวทำให้มนุษย์ หลงไหลในโลกียะสุข ส่วนปรมัตถสัจจ์ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเข้าใจว่าคือความจริงแท้ดั้งเดิม ซึ่งลึกลงไป เป็นธรรมชาติแท้ เป็นความสุขทางจิต เป็นความสุขอันนิรันดร์ ก็ยังหนีไม่พ้นจากความเป็นสมมุติสัจจ์ ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นสิ่งสุดของความเข้าใจปรมัตถ์สัจจ์ในโลกียะโลก ปรมัตถ์สัจจ์ คือ ศูนยตา หรือ ความว่างเปล่า
คำว่าปัญญาดังที่เราเข้าใจกันทั่วไปคือปัญญาของมนุษย์ ผู้ศึกษาเล่าเรียนจะสำเร็จปริญญาสูงที่สุดเท่าที่จะมีการคิดค้นวิชาการขึ้นมาได้ถึงว่าเป็นปัญญาที่เลิศสุดแต่ยังคงเป็นปัญญาที่วนเวียนอยู่ความโลภ โกรธ หลง ยังคงวิ่งวนอยู่ในฟากฝั่งนี้ ปัญญาของพระพุทธเจ้าเป็นปัญญา แห่งอิสระ เห็นแจ้งใน ศูนยตา เป็นความสุขอันนิรันดร ตามความหมายแห่งพระสูตรนี้ เป็นไปเพื่อ ให้เกิด ปัญญาแห่งพระพุทธเจ้า เพื่อให้ผู้ปฏิบัติได้เป็นเช่นพระพุทธเจ้า ปารามิตา แปลว่า ข้ามไป ฝั่งโน้น ในทางพุทธศาสนาได้แบ่งโลกออกเป็น 2 ฝั่ง โลกฝั่งนี้คือโลกียะโลก โลกแห่งความ หลงติด ยึดมั่น ขาดอิสระ โลกอีกฝั่งคือโลกุตระโลก คือโลกที่ประทับแห่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลาย โลกแห่งความเห็นแจ้ง อิสระ ศูนยตา( ว่างเปล่า ) หฤทัย ความหมาย ทางโลกียะ คือ ใจอัน เป็นแหล่งเก็บปัญญา เพื่อแย่งชิงความสุขทางโลก โดยยึดติด อยู่กับ ความโลภ โกรธ หลง ส่วนหฤทัยตามความหมายแห่งโลกุตระนั้น คือ จิตแหล่งเก็บ ปัญญา เพื่อไปสู่พระนิพพาน อันจะทำให้เราได้เป็นเช่นพระพุทธเจ้าในที่สุด ปรัชญาปารามิตาหฤทัย สูตร คือ คำสอนหัวใจแห่งปัญญานำพาข้ามฝากฝั่ง
พระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ เมื่อปฏิบัติซึ้งในปรัชญาปารามิตาเพ่งเห็นขันธ์ 5 เป็นความว่างเปล่า จึงข้ามพ้นทุกข์
การเห็น การได้ยินของมนุษย์เริ่มด้วยการเห็นและได้ยินในระดับตื้น เห็นผิวเผินก่อนหลัง จากนั้น ถ้าเราได้ดำเนินการต่อไปก็จะเห็นและได้ยินด้วยจิตตามมา เป็นการเห็นและ ได้ยินลึกซึ้งเข้าไป อีกระดับหนึ่ง นั่นคือการเพ่งต่อจากการเห็น เมื่อเพ่งเห็นแล้วได้ปฏิบัติต่อคือการพิจารณา ผล ที่ได้สมบูรณ์ คือเห็นลึกซึ้งถึงธรรมชาติอันแท้จริงของสรรพสิ่ง การเพ่งมองเห็นด้วยจิต คือ สมาธิ การพิจารณาต่อมาคือวิปัสสนา ทั้ง 2 วิธีคือการเรียนรู้แผนที่เพื่อใช้ใน การเดินทางเข้าสู่ ประตูแห่งความเป็นพุทธะ การปฏิบัติทั้ง 2 วิธี เพื่อให้เกิดปัญญา ปัญญาที่ว่าคือปัญญา ในการ อ่านแผนที่อย่างชำนาญและไม่หลงทาง ดังที่ท่านนาคารชุนโพธิสัตว์ได้กล่าวไว้ว่า “ปัญญา คือตา ปฏิบัติคือเท้า จะไปถึงดินแดนที่เย็นสบาย (พระนิพพาน)”ปัญญาจากตาคือทฤษฎี ทฤษฎีที่ไม่มีการปฏิบัติ ก็เปล่าประโยชน์ การปฏิบัติที่ไม่มีทฤษฎี ก็สับสนหลงทางได้ง่าย ดั่งคนตาบอดคลำทาง ดังนั้นปัญญาจากการเพ่ง(สมาธิ) ปัญญาจากการคิด(วิปัสสนา)จะให้ ผลสมบูรณ์ คือปัญญาที่ได้จากการปฏิบัติ เราเคยได้อ่าน ได้ยินเรื่องศูนยตา เราเคยได้ คิดถึง ความหมายของศูนยตา สุดท้ายเราเคยได้เข้าสู่ ศูนยตา นั่นคือผลที่สมบูรณ์ บรรลุความรู้แจ้ง แล้ว ความว่างเปล่าหรือศูนยตา คือความว่างเปล่า เอกภาพ สันติภาพอันนิรันดร ตามนัยแห่ง พระสูตรนี้ความว่างเปล่ามิใช่ความว่างเปล่าซึ่งไม่มีสิ่งใดเลยเป็นความว่าเปล่าซึ่งเกิดจาก สิ่งทีใช่-ไม่ใช่, สิ่งที่ไม่ใช่-ไม่ใช่, ไม่ใช่สิ่งที่ใช่-ไม่ใช่, ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ใช่-ก็ไม่ใช่ มิฉะนั้นความความว่างเปล่านั้นจะเป็นอุเฉกฑิกคือความสูญ(ซึ่งจัดเป็นขั้วหนึ่งของหนึ่งสี่ประโยคที่ไม่ใช่) สรรพสิ่งในโลกมิมีสิ่งใดเกิดขึ้นลอยๆ ทุกสิ่งเกิดขึ้นและสัมพันธ์กับสิ่งอื่นเป็นปรตีตยสมุตปาท ความว่างเปล่าเป็นที่เกิดของสรรพสิ่ง สรรรพสิ่งก็เป็นที่เกิด ของความว่างเปล่า วินาทีนี้เกิดมาจากการดับของวินาทีก่อน และการดับของวินาที นี้จึง ได้เกิดวินาทีหน้า เกิดดับ ดับเกิด วนเวียนตลอดไป คล้ายดังมีและคล้ายดังไม่มี ความสัมพันธ์ ที่เกี่ยวเนื่องกันนั้นมีในทุกสรรพสิ่งไม่มียกเว้น ความสัมพันธ์ของเวลา อดีต ปัจจุบัน อนาคต ความสัมพันธ์ของโลก ธรรมชาติ สังคม สรรพสัตว์ มนุษย์ ความว่างเปล่าเกิดในจิต ของมนุษย์ และก็มีแต่มนุษย์ที่เข้าถึงความว่างเปล่าได้ สิทธิพิเศษนี้มิใช่มีไว้เพื่อให้มนุษย์ อยู่เหนือสรรพ สิ่งทั้งมวล มนุษย์ไม่ใช่ผู้ได้รับสิทธิ์ในการทำลายล้างธรรมชาติ ในการทำลายชีวิตสัตว์ เพื่อ ความสนุกสนาน เพราะความหลงในอำนาจของความเป็นมนุษย์ ใช้ความเป็นมนุษย์ไปในทาง ที่ไม่ถูกต้อง ธรรมชาติโลกก็ถูกทำลาย คนก็ต้องรับภัยพิบัติต่างๆของธรรมชาติ ปฏิกิริยาเรือน กระจก วาตะภัย อุทกภัย ภัยจากเพลิงไหม้ คนทำลายสังคม เพียงเพื่อความโลภของตน เหล้า บุหรี่ ยาเสพติด ประเทศที่ร่ำรวยด้วยการส่งออกอาวุธและสารเคมีในการผลิตยาเสพติด สุดท้ายเยาวชนในประเทศของตนเองก็เป็นผู้เสพยาเสพติดมากที่สุด สงครามไม่ว่าด้วยวิธีใด สงครามด้วยกำลังพล สงครามเศรษฐกิจด้วยกำลังเงิน สงครามทางเทคโนโลยี่ ล้วนก่อทุกข์ ให้ชาวโลก เพียงเพื่อสนองกิเลสแสวงหาอำนาจความเป็นใหญ่แห่งตน หรือความชอบธรรมใน การจัดการกับผู้อื่นตามแต่ตนพอใจ การเอารัดเอาเปรียบของสังคมที่เข็มแข็ง ที่มีกำลัง และ ความคิด ที่ดีกว่า เพียงเพื่อความเหลือกินเหลือใช้ของตน สิ่งซึ่งผู้อ่อนแอกว่าได้รับ ก็คือความ ทุกข์ยากลำบาก แต่สิ่งซึ่งผู้แข็งแกร่งได้รับก็คือความเย่อหยิ่งลำพอง ความล่มสลายของความ สุขพื้นฐาน ความก้าวร้าว ความกระเสือกกระสนเพื่อหาทางเอาเปรียบผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ถ้า ชาวโลกได้เข้าสู่หนทางแห่งปรัชญาความว่างเปล่า สิ่งเลวร้ายทั้งหลายก็จะไม่เกิด การกิน เพื่ออยู่ สร้างความสมดุลของสรรพสิ่ง การอยู่เพื่อกินได้ทำลายความสมดุลของสรรพสิ่ง ผลของความเข้าใจใน ศูนยตาภาวะหรือความว่างเปล่า ที่สังคมโลกได้รับคือสันติภาพอันนิรันดร ผลความว่างเปล่าที่ปัจเจก บุคคล ได้รับคือความหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งมวล มีแต่ผู้ที่เห็นแจ้งและเข้าถึงซึ่งธรรมชาติแท้ของความ ว่าง เปล่าเท่านั้นที่อยู่เหนือความเลวร้ายทั้งมวล สามารถอยู่กับความเลวร้ายได้โดยไม่เลวร้าย ตาม สภาพแวดล้อมรอบตัว ดังเช่นบัวแม้เกิดในโคลนตม แต่บัวก็ไม่ได้ปนเปื้อนด้วย โคลนตม เลย ทรัพย์สิน เงินทอง ถ้าเราไม่สามารถเห็นถึง ธรรมชาติแท้ของมันแทนที่เราจะ เป็นผู้ใช้ ทรัพย์สิน เงินทอง เรากลับเป็นผู้ถูกทรัพย์สินใช้ เราต้องตกเป็นทาสของมัน ต้องทนทุกข์ ต้องใช้ความโลภ โกรธ หลง อย่างที่สุดเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งของมัน รักษามัน สรรพสัตว ์และสรรพสิ่ง ประกอบกันขึ้น มาจากขันธ์ 5 รูป และ จิตวิญญาณรูป(ร่างลักษณะ) เวทนา (อารมณ์) สัญญา(ความจำ) สังขาร(ความรู้สึก) วิญญาณ(จิต) กรรม(การกระทำ) ต่างๆ ทั้งหลายทั้งปวงเกิดจากขันธ์ 5 เป็นตัวควบคุม ดังเช่นการได้เห็นภาพอันสวยสดงดงาม ความ ชอบความต้องการเป็นเจ้าของ ก็บังเกิดขึ้น ต่างกันในขณะที่เห็นภาพที่น่าเกลียดน่ากลัว ความชอบความอยากได้เป็นเจ้าของก็ไม่เกิด ปรากฏการณ์ทั้ง 2 เกิดจากขันธ์ทั้ง 5 เป็นตัว กำหนด เมื่อใดเราเพ่งเห็นขันธ์ 5 คือความว่างเปล่า สิ่งปรุงแต่งทั้งหลายไม่เกิด ภาพที่เห็นด้วย ตาจะมีลักษณะใดก็ตามจะสวยสดงดงามในจิตเสมอ ดังเช่นภาพพระพุทธ องค์ในรูปดุร้าย น่าเกลียดน่ากลัวของชาวพุทธวัชระยาน การดำเนินการกับขันธ์5 ดังข้อความเดิมข้างบนเป็นการทำให้ขันธ์5บริสุทธิ์ และใช้ขันธ์5อันบริสุทธิ์เพื่อต่อสู่การเป็นขั้นธ์5เป็นมายา ซึ่งก็เพียงพอให้เกิดความหลุดพ้นแล้ว แต่ยังคงมิใช่เข้าสู่พุทธภาวะดังพระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์ พระองค์ท่านเห็นแจ้งและเข้าถึง ซึ่งศูนยตา ขันธ์5ของท่านเป็นอย่างไรก็ได้ดังที่มันจะเป็นแต่ก็เป็นศูนยตาเมื่อท่านต้องการให้เป็น ดังนั้น ท่านจึงอยู่เหนือความควบคุมของขันธ์ 5 สามารถใช้ขันธ์ 5 ตามความปารถนา ของตน จึงข้ามพ้นสรรพทุกข์ ตัวเราก็เช่นกันเห็นแจ้งในความว่างเปล่าของขันธ์ 5 เราก็เป็น เช่นดังองค์พระอวโลติเกศวรโพธิสัตว์
รูปคือความว่างเปล่า ความว่างเปล่าคือรูป รูปไม่อื่นไปจากความว่างเปล่า ความว่างเปล่าไม่อื่นไปจากรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณก็ว่างเปล่า
ประโยคทั้ง 2 นี้เป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนา เห็นแจ้งในรูปเป็นความว่างเปล่า เกิดมหาปัญญา เห็นแจ้งในความว่างเปล่าเป็นรูป เกิดมหากรุณา เมื่อเห็นแจ้งในรูปเป็นความว่างเปล่า ความ ยึดมั่นในอัตตาย่อมไม่มี ความหลงในสรรพสิ่งย่อมถูกทำลายไป ธรรมชาติแท้ของสรรพสิ่ง ก็บังเกิดขึ้นในจิต นั่นคือ มหาปัญญา ได้บังเกิดขึ้น และเมื่อได้เห็นแจ้งถึงความว่างเปล่าได้ กำเนิดรูป ความรัก ความเมตตากรุณาในสรรพสิ่งที่เป็นธรรมชาติแท้ย่อมบังเกิดขึ้น ความ เมตตากรุณาที่เกิดจากปัญญาจะไม่มืดบอด หลงไหล ความรักของพ่อและแม่ที่มีต่อลูกเป็น เช่นเดียวกัน แต่พื้นฐานของการปฏิบัตินั้นต่างกัน โดยพื้นฐานของผู้ชายจะแข็งกร้าว การ แสดงออกในความรักก็แข็งแกร่งขาดความอ่อนโยน ดุด่าเฆี่ยนตี จนบางครั้งผู้เป็นลูก ก็ เข้าใจผิดว่าสิ่งที่พ่อปฏิบัติกับตนเป็นความเกลียดชัง ส่วนผู้เป็นแม่รักลูกด้วยความอ่อนโยน ทะนุถนอมลูกส่วนใหญ่เข้าใจว่าแม่รักตนเองมากกว่าพ่อ นั่นคือความคิดของปุถุชน ที่ยังยึดติด ในอัตตา ในขันธ์ 5 ความทุกข์ทรมานใจก็เกิดขึ้น พรหมวิหารธรรมเป็นบ่อเกิดอันสำคัญ ของ มหาเมตตา เมตตา(ปารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์) กรุณา(ปารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข) มุทิตา (ยินดีในความสุขของผู้อื่น) อุเบกขา(ความมีใจเป็นกลาง วางเฉยในสิ่งที่ควรจะเฉย) การมองสภาพของสรรพสัตว์ทั้งหลายที่เกิดมาในปัจจุบัน ด้วยอุปทานในปัจจุบันว่าผู้นี้เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นญาติ เป็นคนในครอบครัว เป็นคนในชาติเดียวกัน คนนี้เป็นมิตร คนนี้เป็นศัตรู แต่ ความเป็นจริงเราไม่รู้เลยว่า ผู้ที่เป็นศัตรูของเราในอดีตชาติหลายกัปหลายกัลป์เคยเป็นพ่อ เป็นแม่ของเรามาก่อนหรือไม่ ด้วยการมองโดยโพธิจิตให้มองว่าทุกสรรพชีวิต ที่เกิดมาใน ปัจจุบันชาติ ได้เคยเป็นบุรพการีของเรามาก่อน ความรัก ความเมตตาต่อสังคมชาวโลก ก็เกิดขึ้น สันติภาพเกิดขึ้นทันที เพียงแต่เรารักชาวโลกที่อายุน้อยกว่าเหมือนน้อง เหมือนลูก ของตน รักผู้สูงวัยกว่าดังพี่ ดังพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ความสุขสันติในสังคมเกิดขึ้น ความ ขัดแย้งถึงแม้จะเกิดขึ้นก็เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยความรัก มิใช่เกิดขึ้นด้วยความเกลียดชัง ความเอารัดเอาเปรียบกัน ความมุ่งแต่จะทำลายล้างกันก็ไม่บังเกิดขึ้น สำหรับอุเบกขาธรรมนั้น ความวางเฉยความมีใจเป็นกลาง ชนส่วนใหญ่แปลความเพื่อเข้าข้างตนเอง เพียงใช้ความ หมายว่างความวางเฉย ดังเช่นคำว่าสิทธิมนุษย์ชน มนุษยธรรม 2 ประโยคนี้มีไว้เพื่อใช้บีบ บังคับสังคมที่อ่อนแอกว่าเท่านั้น ทิเบตถูกจีนยึดครองมาหลายสิบปี ไม่เคยมีมหาอำนาจ ใดในโลกนี้ใช้คำว่าสิทธิมนุษย์ชนกันชาวทิเบต สิทธิมนุษย์ชน และมนุษยธรรมจะใช้ก็ต่อเมื่อ ตนเองได้ประโยชน์ และเมื่อตนเองอาจจะต้องเสียประโยชน์ ก็ไม่ยอมพูดถึงคำว่ามนุษย์ชนเลย ไม่ว่าใครจะเรียกร้องอย่างไร สันติภาพอันนิรันดรของโลกจึงเป็นแต่เพียงความฝันเท่านั้น ใน ความเป็นจริงสันติภาพอันนิรันดร์ของโลกเกิดขึ้นได้ถ้าชาวพุทธทั่วโลก เข้าสู่หัวใจของพุทธ ศาสนาอย่างแท้จริงนั่นคือเข้าสู่ปรัชญาแห่งความว่างเปล่าเผยแพร่ และชักชวนชาวโลก ให้เข้า สู่หัวใจของพุทธศาสนาและปฏิบัติกันอย่างจริงจัง ชาวพุทธในบางส่วนก็มุ่งเน้นไปทางปัจเจก พุทธะถือเรื่องการหลุดพ้นเป็นเรื่องส่วนตน ไม่เกี่ยวข้องกับสังคมโลก ถึงแม้พระพุทธเจ้าได้สอน ทางเดินให้ชาวพุทธเดินไปสู่นิพพานมากมาย แต่เส้นทางที่พระพุทธเจ้าได้ปฏิบัติเองเป็น ตัวอย่าง คือ เส้นทางเห่งมหาเมตตาและมหาปัญญา การมุ่งแต่มหาปัญญาอย่างเดียว โดย ละทิ้งเส้นทางแห่งมหาเมตตาความสุขส่วนตนบังเกิด แต่ความสุขโดยรวมจากสันติภาพอัน นิรันดรก็ไม่สามารถบังเกิดขึ้นได้ พระนิพพานที่บังเกิดขึ้นก็เอนเอียง ดังนั้น พระปัญญา และพระเมตตาต้องควบคู่กันไป คนอยู่ สังคมต้องอยู่ ธรรมชาติต้องอยู่และโลกก็ต้องอยู่ คำสอนของพุทธศาสนาวัชระยาน พระพุทธเจ้าโปรดสรรพสัตว์ตามสภาพของ สรรพสัตว์นั้นๆ บางครั้งอ่อนโยนนุ่มนวล บางครั้งแข็งกร้าว บางครั้งดุร้ายน่ากลัว บางครั้งมาในรูปของสตรีเพศ การแสดงปาฏิหาริย์ปราบชฎิลดาบสก็ด้วยเหตุผลนี้ แต่ทั้งปวงเกิดจากมหาปัญญา ที่เห็นซึ้งใน ธรรมชาติของสรรพสัตว์นั้นๆ และความรักเมตตาในสรรพสัตว์ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทรงมอบพระมหาปัญญาไว้ให้ชาวโลกด้วยพระมหากรุณา หัวใจของพระพุทธศาสนา หัวใจ ของ การตรัสรู้ก็คือพระมหาปัญญาธิคุณและพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์นั่นเอง
รูปและความว่างเปล่า นั้นคือสิ่งใดกันแน่ ทำไมรูปคือความว่างเปล่าและความว่างเปล่าจึงคือรูป รูปคือโลกคือสังสารวัฏ ความว่างเปล่าคือพุทธะภาวะ สังสารวัฏเนื้อแท้กำเนิดมาพร้อมกันและสิ่งเดียวกับพุทธสภาวะ อันกล่าวได้เลยว่าพุทธคือสังสารวัฏ หรือสังสารวัฏก็คือพุทธะ ก็ได้ เมื่อสองสิ่งเป็นสิ่งเดียวกัน แล้วทำไมจึงแบ่งเป็นสองอย่าง สิ่งที่มากั้นกลางแบ่งมันออกก็คือความสมมุติ เมื่อเราทุบความสมมุติทิ้งทุกสิ่งก็กลับเป็นหนึ่งเดียวกัน ความสมมุติคืออะไร จึงมีพลังมหาศาลมาแยกพุทธะและวัฏออกจากกันได้ เมื่อได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัส ในขณะที่จิตยังดำรงอยู่อวิชชา(ความไม่รู้) จิตก็เสกสรรค์ปั้นแต่งให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้นตามอารมณ์ เปรียบดังคนตาบอดแต่กำเนิดคลำช้าง นี่แหละคือตัวสมมุติ ตัวสมมุติก็คือขั้วหนึ่งขั้วขั้วใดในในสี่ประโยคนี้ สิ่งทีใช่-ไม่ใช่, สิ่งที่ไม่ใช่-ไม่ใช่, ไม่ใช่สิ่งที่ใช่-ไม่ใช่, ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ใช่-ก็ไม่ใช่
โอ สารีบุตร ธรรมทั้งปวงว่างเปล่า ไม่มีรูป ไม่เกิด ไม่ดับ ไม่มัวหมอง ไม่ผ่องแผ้ว ไม่เพิ่ม ไม่ลด ในความว่างเปล่าไม่มีรูป
ธรรมในความหมายแรก คือ องค์รวมขันธ์ 5 เป็นสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวง และเป็นความว่าง เปล่าดังได้กล่าวไว้แล้ว ธรรมในอีกความหมายหนึ่ง คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าอันเป็นแนว ทางในการบรรลุความหลุดพ้น ธรรมในความหมายทั้ง 2 เกาะเกี่ยวสัมพันธ์ อิงซึ่งกัน และกัน อยู่ตลอด เมื่อเราเห็นแจ้งธรรมแรกเป็นความว่างเปล่า ธรรมที่ 2 ก็ว่างเปล่าด้วย เมื่อสรรพสิ่ง ว่างเปล่า เครื่องมือในการจัดการสรรพสิ่งก็ไม่จำเป็นต้องมีและว่างเปล่าด้วย ขณะที่ความ ว่างเปล่าบังเกิดสรรพสิ่ง ธรรมทั้งปวงก็ บังเกิดด้วย เพื่อจัดการควบคุมสรรพสิ่ง เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมชาติ แท้ของสรรพสัตว์ ในสายตาของผู้ที่ยังวนเวียนอยู่ในขันธ์ 5 การเกิด เป็นความปิติยินดี เป็นความบริสุทธิ์ ดังคำพูดที่ว่าเด็กเกิดใหม่บริสุทธิ์ปราศจากมลทิน ใดๆ การเกิดเป็นความที่ควรปิติจริงๆ แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ค่าของการเกิดที่แท้จริง ค่าที่แท้จริงของ การเกิดคือมีแต่มนุษย์เท่านั้นที่มีโอกาสได้ตรัสรู้หลุดพ้นจากบ่วงของวัฏฏะ ความตายที่คน ทั่วไปว่าเป็นความหมองมัว โศกเศร้า การตายโดยที่เรายังไม่ได้พัฒนาจิตเลย นั้นจึงเป็นความ เศร้าเสียใจ เมื่อมีชีวิตอยู่เราได้ให้อะไรแก่โลก แก่สังคมโลกบ้าง เราได้ตักตวงโอกาส ที่ได้เกิด มาโดยพัฒนาจิตวิญญาณของเรามาได้เท่าไร และเราได้มอบสิ่งซึ่งเราได้ตักตวง ไว้คืนให้แก่ ชาวโลก เป็นจำนวนเท่าไร การเข้าสู่ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แล้วกลับออกไปด้วยมือเปล่า เป็นเรื่องที่ น่าเศร้ามาก เช่นกันการเข้าภูเขาศักดิ์สิทธิ์แล้วไม่ได้อะไรเลยแถมยังร่วมกัน ทำลายภูเขา ศักดิ์สิทธิ์อีกนั่นยิ่งน่าเศร้ามากกว่า ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ คือ โลก การเกิดมาคือการเข้าสู่ภูเขา ศักดิ์สิทธิ์ ทุกๆวันเราได้เข้าร่วมขบวนการทำลายภูเขาอยู่ตลอดเวลาทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว การใช้ทรัพยากรอย่างไม่รู้คุณค่า การสร้างมลภาวะต่างๆ การกอบโกยหาประโยชน์เข้าตน โดยไม่คำนึงถึง ผลเสียที่สังคมชาวโลกจะต้องรับนั่น คือ การเข้าร่วมขบวนการทำลายภูเขา ศักดิ์สิทธิ์ ขณะเดียวกันเราได้ให้อะไรแก่ภูเขาศักดิ์สิทธิ์บ้าง เราเคยรักษาสภาวะแวดล้อม ของโลก หรือไม่ เราเคยร่วมสร้างสันติในสังคมบ้าน สังคมประเทศ สังคมโลกหรือไม่ เราเคย ชักชวนชาวโลกให้เข้าสู่หนทางแห่งความสุขอันนิรันดร์ตามแนวแห่งพระศาสนาหรือไม่ ภูเขา ศักดิ์สัทธิ์แม้วันหนึ่งข้างหน้าจะต้องสูญสลายไปด้วยกฎแห่งอนิจจัง แต่ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควร ต้องถูกทำลายลงด้วยมือของเรา หนทางที่จะยืดเวลาแห่งกฎอนิจจังของโลกคือการนำมนุษย์ เข้าสู่พระนิพพานให้มากที่สุด ก่อนที่ความตายจะมาเยือนเรา สรรพสัตว์ตนใดที่เกิดแล้วไม่ ต้องตาย เมื่อสรรพสัตว์เกิดแล้วต้องตาย ทำไมการเกิดจึงบริสุทธิ์ แล้วการตายต้องหมองมัว ความบริสุทธิ์ที่คนชอบเปรียบเทียบว่าเป็นดังเช่นกระจกเงาที่ไม่มีฝุ่นละออง จับสามารถ มองภาพของตัวเราได้ชัดเจนทุกชอกทุกมุม สภาพนั้นเราต้องมั่นคอยเช็ดคอยถู และคอยดู ตัวเองอยู่ตลอดเวลา ถ้ากระจกเงาไม่มี ตัวเราก็ไม่มี เราก็ไม่ต้องเช็ดถู เราก็ไม่ต้องคอยส่อง ดูตัว สภาพเช่นนี้ไม่ดีกว่าหรือ ดังนั้นเมื่อข้ามพ้นสิ่งปรุงแต่งเข้าสู่ความว่างเปล่า เห็นแจ้ง ในธรรมชาติแท้แล้ว สิ่งทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่บริสุทธิ์และไม่ไม่บริสุทธิ์ ไม่มัวหมองและ ไม่ไม่มัวหมอง ความไม่เพิ่มไม่ลด เมื่อเราเข้าสู่ความว่างเปล่าแล้วสรรพสิ่งก็ไม่ปรากฏในจิต เราก็ไม่จำเป็นต้องเพิ่มหรือลดสิ่งใด ขณะที่เราอยู่ในสถานที่ที่ว่างเปล่าสักแห่ง เราพอใจ และ เป็นสุขในสภาพนั้น เราก็ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนหาสิ่งใดมาเพิ่มหรือรื้อทิ้งสิ่งใด แต่ถ้าเราไม่พอใจ ไม่เป็นสุขในสภาพนั้นเราก็ต้องเหนื่อย ดิ้นรนเพื่อเพิ่มหรือลด เปลี่ยนแปลงสภาพนั้น เมื่อเรา อยู่เหนือสภาพความพอใจและไม่พอใจแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องเสาะหาธรรมวิเศษ ใดๆมาเพิ่ม หรือตัดทอนธรรมใดๆพุทธสุภาษิตที่ว่า รู้จักพอก่อสุขทุกสถานแม้เลยล่วงมา มากกว่า 2500ปี ยังคงความศักดิ์สิทธิ์เสมอ ความเดือดร้อนของมนุษย์ทั่วทั้งโลกก็มาจาก คำว่า”ไม่รู้จักพอ” ประเทศใหญ่ ไม่พอ ในอำนาจจึงพยายามทอดเงาของตนออกไปเพื่อทับเพื่อปกคลุมประเทศ ที่เล็กกว่า คนในประเทศเล็กไม่พอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่ก็รับทุกสิ่งที่ประเทศอันได้ชื่อว่าพัฒนา แล้วส่งมาให้ ไม่ว่าสิ่งที่ได้รับจะเป็นพิษหรือไม่ จะเหมาะสมกับตนหรือไม่ ด้วยความด้อย ความรู้แห่งตน เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง สุดท้ายจึงถูกช้างเหยียบตาย ดังนั้นพุทธสุภาษิตที่ว่า การ เป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลกจึงบังเกิดขึ้น จึงเป็นการเพิ่มทุกข์ในทุกข์ พระพุทธเจ้าไม่เป็นทุกข์ใด เลยเพราะพระองค์อยู่ด้วยธรรมเดียวคือว่างเปล่า
พื้นฐานของพุทธศาสนา คือศีล สมาธิ ปัญญา ดำรงศีลเพื่อเตรียมตัวให้พร้อม ดำรงสมาธิเพื่อรับธรรมปฏิบัติ และก็เดินไปที่ละก้าวเพื่อสู่ปัญญา แต่ก็มีอีกหนทางหนึ่งซึ่งผู้มีสติเป็นเลิศได้ปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลในทันที่ คือเข้าใจรู้แจ้งว่า พุทธะ,ธรรมะและวัฏฏ์ เป็นสิ่งเดียวกันนั่นคือการสร้างทรรศนะมรรคที่ถูกต้องให้เกิดขึ้นก่อนและจึงดำเนินภาวานามรรค เพื่อให้ทรรศนะมรรคเปลี่ยนจากทรรศนะเป็นความจริงที่ดำรงทุกขณะ นั่นคือ คุณคือพทธะ เมื่อดำรงอยู่ในความเป็นพุทธะแล้ว ศีลก็คือ หนวดหรือเคราซึ่งเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติโดยมิต้องบังคับ ในกรณีเช่นนี้ ความเป็นพุทธะเกิดขึ้นได้ในทันที เพียงแต่คุณรู้แจ้งเห็นจริงว่า ศูนยตา,ธรรมและวัฏฏ์เป็นสิ่งเดียวกัน เมื่อทั้งสรรพสิ่งเป็นสิ่งเดียวกัน จึงไมใช่ขั้วใดขั้วหนึ่ง ในสี่ประโยค สิ่งที่เกิด ดับ เพิ่ม ลด บริสุทธิ์ สกปรกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะสิ่งที่อยู่ในขึ้วทั้งสี่เท่านั้น เมื่อไม่มีขั้วก็ไม่มีที่ให้กระทำจนเกิดปฏิกริยาต่างๆ
ไม่มีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่มีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ไม่มีจักษุธาตุ ไม่มีมโนธาตุ
ตา หู จมูก สิ้น กาย ใจ เป็นอายตนะภายใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เป็นอายตนะ ภายนอกที่ต่อเชื่อมกัน ตาเห็น หูได้ยิน ลิ้นได้รส กายรับความรู้สึก ใจในที่นี้ในทางวิทยาศาสตร์ คือ สมองแหล่งรวมของสรรพสิ่งที่อายตนะรับเข้ามา ทุกส่วนที่ประกอบขึ้นเป็นกายเนื้อ เกิดจาก เซลล์ไข่ของแม่และเซลล์อสุจิของพ่อ เซลล์ได้แบ่งตัวเป็นอวัยวะต่างๆ และเป็นตัวมนุษย์ใน ที่สุด ในทุกขณะที่เราคงสภาพเป็น มนุษย์อยู่นั้นเซลล์ในร่างกายตายไป และเกิดใหม่ขึ้น ทดแทนตลอด เวลา การตาย การเกิดของเซลล์เมื่ออยู่ในสภาพที่สมดุลตามธรรมชาติ ของมัน ก็เกิดความ สมบูรณ์แข็งแรง แต่ถ้าเซลล์ตายมากกว่าเกิด หรือเกิดมากกว่าตาย ความสมดุล ไม่มี เราก็เจ็บไข้ ได้ป่วย ทรมาน อะไรเป็นสาเหตุหลักของการขาดสมดุลของเซลล์ อาหาร น้ำ อากาศ ยา อารมณ์ อุตสาหกรรมที่ขาดความรู้ ขาดการควบคุม เห็นแก่ได้ ปล่อยสารพิษ ลงในน้ำ ปล่อยควันพิษขึ้น ไปในอากาศ การใช้สารเคมีอย่างมหาศาลในการผลิตอาหาร การใช้ยาเคมีอย่างฟุ่มเฟือย ในการ รักษาโรค การแย่งชิงกันกิน ชิงกันอยู่ ชิงกันมี ทำให้เกิด ความเครียดอารมณ์เสียเกือบตลอดชีวิต เรากินน้ำที่เป็นพิษ กินอาหารที่เป็นพิษ หายใจเอา อากาศพิษ แถมด้วยอารมณ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นพิษ อีก ทุกสิ่งเกิดขึ้นจากการกระทำของคน ฉะนั้น คนจึงได้รับสิ่งเหล่านั้น ปลูกถั่วได้ถั่วปลูกแตงได้ แตง กฎแห่งกรรมที่หนีไม่พ้น เซลล์ตาย มากกว่าเกิดหรือเซลล์เกิดมากกว่าตายเป็นส่วนที่เกิดกับ กายแต่ความรู้สึก เจ็บปวดทรมาน เกิดในจิต ถ้าเรายังคงไม่เข้าใจใน ธรรมชาติแท้ของเซลล์เราก็จะต้องประสพ กับความ เจ็บ ปวด ทรมานครั้งแล้ว ครั้งเล่าเมื่อเรารู้ซึ้งถึงธรรมชาติแท้ของเซลล์ เราก็ปฏิบัติต่อมันได้ อย่างถูกต้อง ความสมดุลก็เกิดตลอดเวลา ความรู้ ความไม่รู้ทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้น ในจิต เท่านั้น มีเพียงจิต เท่านั้นที่เห็นหรือไม่เห็นธรรมชาติของเซลล์(ความว่างเปล่า) และจิตก็เป็น ผู้สั่งการให้สู่ การ ปฏิบัติ ดังนั้น ความสุขจากความสมบูรณ์แข็งแรง หรือความทุกข์จากการ เจ็บปวด จิตจึงเป็น ผู้รับผลนั้น ในผู้มีปัญญาเมื่อพูดถึงขันธ์ 5 เป็นศูนย์ ความบรรลุก็บังเกิด ขึ้นทันที ในระดับ รอง เมื่อยังไม่เห็นถึงความว่างเปล่าของสรรพสิ่งก็ต้องพูดให้แคบเข้า มาอีก ชี้ให้เห็นถึงร่างกายเป็นศูนย์ เมื่อซึ้งแล้วสรรพสิ่งก็คือศูนย์ จักษุธาตุ(ธรรมชาติแท้ของการเห็น) มโนธาตุ(ธรรมชาติแท้ของการรับรู้) การรู้เห็นในธรรมชาติแท้ของสรรพสิ่ง รู้เห็นในความ ว่างเปล่า ก็ว่างเปล่าเช่นกันไม่มีอวิชชา ไม่มีความสิ้นไปแห่งอวิชชา ไม่มีความแก่ ความตาย ไม่มีความสิ้นไปแห่งความแก่ ความตายอวิชชา ความหมายตามพจนานุกรม หมายถึงความ ไม่รู้ เฉพาะความไม่รู้ทางแห่งนิพพาน ไม่รู้อดีต อนาคต ไม่รู้แจ้งด้วยปัญญา มิใช่การเรียนรู้ อวิชชาเป็นหัวใจของวงล้อแห่งวัฏฏะสงสารเป็นกงกรรมกงเกวียนที่เราต้องเวียนว่าย ใครบ้างที่ ต้องอยู่ในวงล้อแห่งวัฏฏะนี้ คำตอบ คือสรรพสัตว์ใน 3 ภพ 6 ภูมิ มนุษย์ก็คือหนึ่งในสรรพสัตว์ นั้น คำถามต่อมา ทำไมจึงเกิดขึ้นหรือทำไมเราต้องเวียนว่ายในวัฏฏะสงสาร เนื่องจากมิจฉาทิฐิ ความสับสน อันเกิดจากอวิชชา อวิชชาทำให้เรามองโลกตามโลกียะวิสัย และยึดถือว่าสิ่งเหล่า นั้นเป็นตัวตน เป็นความจริงจัง แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนความฝัน เป็น อนิจจัง เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เวลาเราฝันดี เราก็มีสุข อารมณ์ของเราก็คล้อยตามสิ่งที่เราฝัน ถ้าเราฝันร้ายเราก็จะเกิดความกลัวหรือกังวล เราได้ให้ความรู้สึกนั้นในภาคความฝัน แต่เมื่อ เราตื่นขึ้นมา เราก็จะรู้ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้เป็นจริง วัฏฏะสงสารก็เหมือนกับตัวเราอยู่ในภาคฝัน สำหรับสรรพสัตว์ที่มีปัญญาอยู่ในโลกียะวิสัยจึงยังคงต้องเวียนว่ายอยู่ในกงล้อของวัฏฏะต่อไป เพราะยังคงยึดถือความฝันว่าเป็นจริงอยู่ นั้นคือหลงอยู่ในมิจฉาทิฐิ ไม่ว่าภาคของ ความฝัน หรือ ภาคของการตื่นนั้นเกิดขึ้นที่จิต ฉะนั้นผู้ปฏิบัติธรรม คือ ผู้ที่พยายามปลุกจิตให้ตื่นนั่นเอง พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสไว้ว่า ใจเป็นเอก ในช่วงที่มีการตั้งครรภ์ธาตุของพ่อ และธาตุของ แม่ผสมกันเป็นช่วงที่จิตกำลังจะเข้าสู่กาย เริ่มประกอบธาตุรวมกัน จิตของทารกยังเฉยอยู่ และต่อมาจิตก็เริ่มสั่งการให้มีการเคลื่อนไหว นั่นคือจิตได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ของมันแล้ว กาย วาจา ใจ แม้จะต้องเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน แต่ กาย วาจา จะไม่สามารถทำการใดๆได้ถ้าใจไม่สั่ง กายกรรม วจีกรรมจะไม่เกิดถ้ามโนกรรมไม่เกิด ดังนั้นสภาพและภพภูมิต่างๆ จึงเกิดขึ้นจาก ปริมาณอวิชชา ของจิต โดยธรรมชาติแล้ว จิตทุกดวงมีความเป็นพุทธะอยู่ แต่พุทธะในจิตไมสามารถส่องแสงเปล่งประกายออกมาได้เนื่องด้วยเจ้าของ ดวงจิตยังคงไม่เห็นถึงธรรมชาต ิแท้ของอวิชชา เมื่อใดที่สามารถเห็นถึงธรรมชาติแท้ของอวิชชาว่าว่างเปล่า เมื่อนั้นประกาย แสงแห่งพุทธะก็ส่องสว่างออกมาทันที บทความของ Heinrich Dumoulin ในชื่อ Buddhism in the World ที่นิวยอร์ค เมื่อปี พ.ศ. 2519 ได้กล่าวไว้ว่า
“การเป็นพุทธะหมายถึงการดำรงอยู่ที่ใดก็ได้ด้วยชีวิตที่รื่นเริง เบิกบาน นับตั้งแต่ชั่วโมงเช้าที่คุณตื่นขึ้น จนถึงชั่วโมงสุดท้ายที่เข้านอน แต่การจะเรียกชีวิตที่รื่นเริงยินดีในขณะที่ไม่มีเสื้อผ้าจะใส่ ไม่มีเงินจะใช้ หรือมีความเจ็บป่วยในบ้านเรือน และเจ้าหนี้มาเคาะประตูบ้านทวงหนี้ เป็นสิ่งที่ไร้สาระ” |
โดยความเห็นของข้าพเจ้าแล้วพุทธภาวะหมายถึงการดำรงอยู่ที่ใดก็ได้ด้วยชีวิตที่รื่นเริง เบิกบานตลอดเวลา แต่เพิ่มคำว่า โดยปราศจากทุกข์ การไม่ใส่เสื้อผ้าเพราะ ไม่ยอมใส่ หรือ ไม่หามาใส่ หรือไม่มีทางหามาใส่ มันเป็นประเด็นที่ต่างกัน การไม่มีเงินใช้ก็เช่นกัน หาไม่ได้กับ ไม่ได้หา หรือหาได้น้อยแต่ใช้มาก มันสัมพันธ์กับการที่เจ้าหนี้มาทวงหนี้ การเป็นหนี้เป็นทุกข์ ในโลกพระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ เป็นหนี้อยู่แน่นอนพุทธะภาวะไม่เกิด และเช่นกันสภาวะการเป็น หนี้เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตัวเกินพอดี พุทธภาวะเกิดขึ้นได้ในสภาพที่กายเจ็บป่วย กายป่วยจิต จิตป่วยไปด้วยพุทธะภาวะย่อมไม่บังเกิด แต่ถ้ากายป่วยจิตไม่ป่วยพุทธะภาวะก็บังเกิด การมีหรือ ไม่มีของเสื้อผ้า เงินทอง ไม่ได้แตกต่างกันเลยในพุทธภาวะ พระพุทธเจ้าอยู่ในพุทธะภาวะ ตลอดเวลาแต่พระพุทธเจ้าก็อยู่ในเพศภิกขาจารตลอดเวลาเช่นกัน เมื่ออวิชชาว่างเปล่า หนทางแห่งความสิ้นอวิชชาก็ว่างเปล่าด้วย เมื่ออวิชชาว่างเปล่าเราก็อยู่เหนือความเป็นไป ของวงล้อแห่งวัฏฏะสงสาร เมื่อเราอยู่เหนือวงล้อแห่งวัฏฏะสงสาร ความแก่ ความตายก็ไม่มี และไม่จำเป็นต้องมีหนทางแห่งความสิ้นไปของความแก่ ความตาย เพราะเมื่อพุทธะจิตบังเกิด อวิชชาว่าง การเกิดก็ว่าง การแก่ การตายก็ว่าง
ไม่มีสรรพสัตว์ใดที่ไม่มีอายตนะภายนอก6 อายตนะภายใน6 ก็มันต้องมีแล้วทำไมจึงบอกว่าให้มันไม่มี พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนผิด ดังนั้น พระสูตรจึงไม่ตกทอดมาผิด ในความมีต้องดำรงอยู่อย่างไม่มี นั่นคือ มีก็ไม่ใช่ ไม่ใช่ไม่มีก็ไม่ใช่ และก็ไม่ใช่การไปทำลายมันทิ้ง เพราะมันต้องมีอยู่และมีอยู่อย่างไม่มี นั่นคือ ไม่มีก็ไม่ใช่, ไม่ใช่ไม่มีก็ไม่ใช่ นี่จึงเป็นพุทธะภาวะที่เป็นหนึ่งเดียวกับสังสารวัฏฏ์
ไม่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ไม่มีฌาน ไม่มีการบรรลุ เพราะไม่มีอะไรให้บรรลุ
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมครั้งแรกแก่ปัจจวัคคีย์ ที่เรียกว่าธรรมจักรกัปปวัตนสูตร คือได้แสดงธรรมชาติแท้ของทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เมื่อได้เห็นธรรมชาติแท้ของอริยสัจ 4 แล้ว ปัจจวัคคีย์ ก็บรรลุความเป็นพระอรหันต์ อริยสัจข้อแรก ทุกข์ พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็น ว่าสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่ในภพภูมิใดก็หนีไม่พ้นทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นภูมิที่ต่ำ เป็นสัตว์ใน นรกภูมิ ต้องทนทุกข์กับสภาพร้อนหนาว เปรตต้องทุกข์ที่มีการหิวโหยอยู่ตลอดเวลา สัตว์ เดรัจฉานมีแต่การเอารัดเอาตัวรอดมีความโง่เป็นหลัก ในอีก3ภูมิที่เป็นภูมิที่สูง ก็ยังคงไม่พ้น จากทุกข์ เทพแม้จะไม่ต้องรับรู้ถึงความหิวโหย เจ็บปวด การแก่ แต่เทพก็ยังคงมีทุกข์ ถึงการ หมดอายุขัยของเทพ เมื่อบุญกุศลของเทพหมดก็จะตายจากภูมิของความเป็นเทพไปเกิดใหม่ ถึงแม้เทพท่านจะรู้หรือไม่รู้ว่าจะต้องไปเกิดใหม่ที่ไหนเวลาใด แต่ก็ไม่สามารถควบคุม หรือหยุดสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้นั่นคือ ทุกข์ของเทพ อสูร ก็มีทุกข์ มีความอิจฉาริษยา กร้าวร้าว การใช้ความรุนแรง ส่วนทุกข์ของมนุษย์ เกิดจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย การได้ยศเสื่อมยศ การเกิดเป็นมนุษย์โดยมีอาการครบ 32 ประการถือเป็นโชคดี เพราะมีแต่มนุษย์ เท่านั้นที่มี โอกาสปฏิบัติไปสู่ความหลุดพ้นได้ สวรรค์สะดวกสบายทุกประการ หลงติดจึงไม่แสวงหา ทางหลุดพ้น อสูร เอาแต่รบราฆ่าฟัน วางแผนการรบจนไม่มีเวลานึกถึงความหลุดพ้น เดรัจฉาน โง่จนไม่มีความคิดใดๆ เปรต ดิ้นรนหาแต่กินไม่นึกถึงเรื่องการหลุดพ้น นรก ทุกข์ทรมานมาก เกินไปจนไม่นึกถึงการหลุดพ้นเช่นกัน ถ้าแบ่งประเภททุกข์แล้วจะได้ประเภทใหญ่ๆ 3 ประเภท คือ 1 ทุกข์เกิดจากทุกข์ ดังตัวอย่างทุกข์ที่เกิดจากความเจ็บปวด ความเจ็บปวดเป็นทุกข์อยู่แล้ว ความกระวนกระวาย ความกังวล ความเศร้าโศก ความกลัว เป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นเนื่อง จากความ เจ็บปวดเป็น ทุกข์ในทุกข์ 2 ทุกข์เกิดจากความไม่เที่ยงแท้ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาทุกคนยินดีปรีดา เป็น สุขอย่างมากมีเงินทองจับจ่ายใช้สอยกัน ตามแต่ตัวเองพอใจ แต่มาในปีนี้เงินทอง ทรัพย์สิน ที่เคยมีได้อันตรธานหายไปหมด ความเสียใจ ความเศร้าโศก ความทุกข์ได้เกิดขึ้น เหตุการณ์ เช่นนี้มิใช่จะเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่นานเป็นปี แต่มันเกิดขึ้นตลอดเวลา ในวันหนึ่งๆ เกิดขึ้นได้นับ ครั้งไม่ถ้วน 3 ทุกข์จากผลแห่งกรรม ปลูกถั่วได้ถั่ว ปลูกงาได้งา ปลูกถั่วเป็นกรรม ผลของกรรม คือ ถั่ว เช่นกันสภาพความเสื่อมของร่างกายก่อนเวลาอันควร เป็นผลของกรรม ที่เราได้รับ มลพิษทั้งหลาย กรรมคือเราสร้างมลพิษให้ร่างกาย ผลคือร่างกายเสื่อมก่อนเวลา สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ 1 ความอยากได้ 2 ความอยากเป็น 3 ความไม่อยากได้ อยากเป็น 4 ความอิจฉาริษยา 5 ความเย่อหยิ่งถือตัว นิโรธ ผลของการดับทุกข์ คือ พระนิพพาน อันเป็น ผลของการปฏิบัติ อริยสัจข้อที่ 4 มรรค วิธีดับทุกข์ พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนวิธีดับทุกข์ ไว้ถึง 84000 วิธี หรือ 84000 พระธรรมขันธ์ พระพุทธองค์มิใช่ให้พุทธสาวกทั้งหลายปฏิบัติทั้ง 84000 วิธีในคนเดียว แต่ให้เลือกวิธีที่เหมาะสำหรับตนเองที่สุดแม้เพียงวิธีเดียวก็รู้แจ้งเห็น จริง ดังเช่นพระอรหันต์จุลปาฎก ก่อนการบรรลุท่านเป็นผู้ที่มีความจำน้อยที่สุด ท่านไม่สามารถ จำคำสอนของพระพุทธเจ้าได้เลยแม้แต่ข้อเดียว วันหนึ่งท่านได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ได้กราบ ทูลต่อพระพุทธองค์ว่าท่านนั้นโง่มากจำคำสอนของพระองค์ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าทรงตอบว่า คนที่รู้ว่าตนเองโง่ไม่ใช่คนโง่ แต่คำสอนทั้งหลายไม่เหมาะต่อท่าน พระพุทธเจ้าได้ให้ท่าน ปฏิบัติเพียงอย่างเดียวให้ท่านกวาดบริเวณอาราม ในขณะที่กวาดก็ให้ท่องว่ากวาดขยะออกให้ หมด ท่านได้เพียรปฏิบัติตามคำสอนเพียงข้อเดียว จนในที่สุดความรู้แจ้งก็บังเกิด กวาดขยะ ออกจากจิตจนหมด จิตท่านก็ว่างเปล่า ความสว่างในจิตก็เกิด ท่านได้เป็นพุทธสาวกที่สำคัญ ในการเผยแพร่พระธรรมของพระพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าได้ยกย่องพระอรหันต์จุลปาฎกอย่างมาก ที่รู้ตนเองว่าโง่ความจำไม่ดี) คนโง่ที่รู้ตัวเองว่าโง่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อสังคม แต่คนที่ฉลาด และยกตัวเองว่าฉลาดตลอดเวลานั้นเป็นพิษเป็นภัยอย่างมหันต์ต่อสังคมโลก คนฉลาดที่ เย่อหยิ่งจะไม่พอใจต่อทุกสิ่งและต้องการได้ในทุกสิ่ง ส่วนคนโง่ที่อวดฉลาด เป็นอันตราย ต่อตนเองและคนรอบข้าง ด้วยคนโง่แต่อวดฉลาดต้องการกระทำในทุกสิ่ง ดังที่อดีตเจ้าคณะ ใหญ่สงฆ์จีนนิกายรูปที่ 6 พระมหาคณาจารย์ธรรมสมาธิวัตรฯพระอาจารย์ ของข้าพเจ้า ได้สอนข้าพเจ้าไว้ว่า เจ็กฮวบทง บ้วนฮวบทง แจ้งธรรมหนึ่ง ธรรมทั้งหมื่นก็แจ้ง พระอริยสัจ 4 ประการสัมพันธ์ต่อเนื่องกันไปสู่ความหลุดพ้น และเช่นกัน ธรรมชาติแท้อันว่างเปล่าของ สรรพสิ่ง ไม่ยกเว้น แม้ความหลุดพ้นก็ว่างเปล่า ดังนั้นพระอริยสัจ 4 ก็ว่างเปล่า เมื่อเห็นใน ความว่างเปล่าของอริยสัจแล้วยังจะมีอะไรให้บรรลุอีก
พระอริยสัจ 4 คือหนทางแห่งการหลุดพ้น จริงหรือไม่ ตอบว่าจริง ไม่มีสิ่งใดที่พระพุทธเจ้าสอนผิด แล้วทำไมพระพุทธเจ้าจึงสอนในอีกกาลหนึ่งว่าอริยสัจ 4 อันมีทุกข์ สมุทัย นิโรจ มรรค เป็นศูนยตาเป็นความว่างเปล่า มิขัดกันหรือ เรามาพิจารณากัน เมื่อพระพุทธเจ้าสอนอริยสัจ4 เพื่อให้หลุดพ้น นั่นคือ การหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ ซึ่งก็คือการดับหายไปเฉยๆ สูญสิ้นไปหมดไม่เหลื่อใยใดไว้เลย ต่อมาพระพุทธเจ้าท่านก็สอนทางสายกลาง มาเพื่อให้สานุศิษย์ได้ดำรงความเป็นพุทธะเช่นพระองค์มิต้องสูญหายไปเฉยๆ อันใดคือทางสายกลาง ก็คือให้พิจารณาอริยสัจ4ให้เป็นปรตีตยสมุทปาท ให้เป็นศูนยตา อย่าพิจารณาอย่างแยกส่วน เมื่อพิจารณาแยกส่วน แต่ละข้อพระอริยสัจ 4 ก็จะอยู่ในขั้วใดขึ้วหนึ่งในสีประโยค การพิจารณาพระอริจสัจ4ให้เป็นความสัมพันธ์อิงอาศัยกัน เพราะมีเหตุจึงมีทุกข์ เพราะมีทุกข์จึงต้องหาทางแก้ เพราะหาทางแก้จึงมีทางแก้ เมื่อดำเนินทางแก้ทุกข์ก็สามารถเกิดอีก เมื่อพระอริยสัจเป็นปรตีตยสมุทปาทก็เป็นศูนยตาด้วย และก็เป็นทางสายกลางดัวย เพราะทางสายกลางคือภาวะที่เป็นเช่นนั้นโดยไม่ถูกจำกัดด้วยขั้วใดขั้วหนึ่งในสี่ประโยค นั่นคือเมื่อใดที่พิจารณาพระอริยสัจ 4 เป็นศูนยตา เมื่อนั้น ความเป็นพุทธะก็เกิด
พระโพธิสัตว์ ด้วยเหตุดำเนินตาม “ปรัชญาปารามิตา” จิตย่อมไม่สับสนมืดมัว เพราะจิตไม่สับสนมืดมัว จึงไม่มีความกลัว อยู่เหนือความ หลอกลวง มีพระนิพพานเป็นที่สุด
พระโพธิสัตว์ คือ ผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต พระโพธิสัตว์ คือ ผู้ที่ทรงไว้ซึ่ง มหาเมตตากรุณา ในวิมลเกรียติสูตรได้กล่าวไว้ว่า”โรคของสัตว์โลกเกิดจากกิเลส โรคของ พระโพธิสัตว์เกิดจากมหาเมตตา” พระโพธิสัตว์มุ่งรักษาโรคทั้งหลายทั้งปวง ทั้งทางกาย และใจแก่สรรพสัตว์ เหตุใดเราจึงเรียกพ่อแม่ว่าเป็นพระโพธิสัตว์ของลูก เมื่อลูกเจ็บป่วย ความเจ็บป่วยของลูกคือความเจ็บป่วยของพ่อแม่ และถ้าพ่อแม่ลูกเจ็บป่วยพร้อมกัน พ่อแม่จะ ไม่รักษาตนเองก่อนที่จะรักษาลูก ความเจ็บป่วยของพระโพธิสัตว์เกิดจากต้องการช่วยสัตว์โลก ต้องการให้สัตว์โลกได้รับความสุข พระโพธิสัตว์อยู่เหนือความทุกข์ทั้งมวล ที่เป็นทุกข์อยู่ ไม่ใช่ ทุกข์ของตนแต่เป็นทุกข์ของสัตว์โลก เพราะสัตว์โลกเจ็บป่วย ตนจึงเจ็บป่วย ในบรรดาธรรม ของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนแก่ชาวโลก ศาสตร์แห่งการแพทย์ถือว่าเป็นสุดยอด ศาสตร์แห่งการ แพทย์ คือศาสตร์ที่พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ทรงใช้อยู่ตลอดเวลา ทศบารมี 10 ประการ ทาน ศีล ขันติ วิริยะ สมาธิ ปัญญา อุบาย ปณิธาน พละ ฌาน เกิดขึ้นพร้อมกันทันที่ เมื่อได้มีการ ปฏิบัติศาสตร์แห่งการแพทย์ ดังนั้นบุคคลที่มุ่งบำบัดทุกข์ทั้งทางกาย และใจของชาวโลกโดย หวังสิ่งตอบแทน เพียงความสุขของชาวโลกบุคคลนั้นจึงเป็นพระโพธิสัตว์ที่จริงแท้ พระโพธิสัตว์ที่ปฏิบัติตนเช่นนั้นได้ ก็ด้วยเห็นแจ้งถึงธรรมชาติของสรรพสิ่งที่เป็นความว่างเปล่า แพทย์ในโลกียะวิสัยเมื่อเจ็บป่วยต้องรักษาตนเองให้หายก่อนจึงจะรักษาผู้อื่นต่อไป แต่แพทย์ โพธิสัตว์ถึงแม้ตนจะเจ็บป่วยอยู่ก็จะรักษาผู้อื่นไปเรื่อยๆ เพราะท่านทรงเห็นแจ้งในธรรมชาติ ความว่างเปล่า ของความเจ็บป่วยนั้น และด้วยมหาเมตตาที่ท่านมีอยู่ โดยปรกติแล้ว คนทั่วโลก กลัวความมืด ในความมืดไม่สามารถเห็นสิ่งใด ใจก็คอยระแวงว่าจะมีภัยอันตรายอย่างนี้ อย่างนั้นเกิดขึ้น คนที่ไม่กลัวความมืดคือคนที่นอนหลับในช่วงที่นอนหลับคือช่วงที่ใจว่างที่สุด จึงไม่กลัวความมืด เช่นกัน เมื่อใจว่างแม้อยู่ในที่มืดใจก็สว่าง พระโพธิสัตว์ จิตของท่านว่าง เปล่า ท่านจึงไม่มีความมืด ความสว่าง จิตของพระโพธิสัตว์ว่างเปล่า ท่านจึงไม่มีสิ่งใด ต้องกลัว อยู่เหนือความหลอกลวง ความหวาดระแวง มายาภาพเกิดจากการปรุงแต่งของจิต นั่นคือเท็จและจริงเกี่ยวพันกันอยู่ตลอดเวลา และนั่นก็คือธรรมชาติแท้ของสรรพสิ่งอันว่างเปล่า ดังในประวัติปรมาจารย์นิกายเซ็นองค์ที่ 6 ของประเทศจีน ท่านฮุ่ยเล้ง มีพระอาจารย์ท่านหนึ่ง ได้กล่าวว่า ร่างกายคือต้นโพธิ์ จิตใจคือกระจกเงา ต้องหมั่นเช็ดถูทุกเวลา อย่าให้ฝุ่นละออง มาเกาะติด นั่นคืออภิญญาจิตแต่มิใช่สุดยอดแห่งนิพพาน ท่านฮุ่ยเล้งได้แก้บทข้างบนว่า ต้นโพธิ์นั้นมิใช่โพธิ์ อีกทั้งกระจกเงาก็ไม่มี จะต้องเช็ดถูอะไร มีอะไรให้ฝุ่นละอองเกาะ พระนิพพานบังเกิดขึ้นในจิตนี้ ท่านฮุ่ยเล้งได้บรรลุเห็นแจ้ง และได้เป็นปรมาจารย์ นิกายเซ็น องค์ที่ 6 ได้ทำคุณประโยชน์แก่พุทธศาสนาอย่างมากมาย พระนิพพาน มีผู้นำไปแปลความ หมายว่า การดับสูญ เป็นความเข้าใจความหมายที่แคบเกินไป การดับสูญกิเลสของปัจเจก บุคคลเป็นพระนิพพานในความหมายนี้ การสูญสิ้นของกิเลสพร้อมกับ การจรรโลงโลก ธรรมชาติ สังคม ให้คงอยู่ เพื่อสรรพสัตว์ได้พบบรมสุข อยู่ในสันติภาพอันนิรันดร์ มีโอกาสเข้า สู่พุทธเกษตร นั่นจึงเป็นพระนิพพานอันแท้จริง
การมองโลกเป็นมายา แล้วพยายามหลีกหนีมัน ด้วยความกลัวว่ามันจะส่งผลกระทบมาถึงเรานั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง อีกทั้งการพยายามทำลายความความมายาทั้งปวงทิ้งก็ไม่ใช่สิ่งถูกต้องเช่นกัน เมื่อใดที่เราโลกเห็นว่า โลกเป็นเช่นนี้นี่เอง เป็นดังที่มันเป็น เป็นศุนยตาเมื่อนั้นพระนิพพานในความหมายที่แท้จริงก็ปรากฎ พระนิพพานในความความหมายที่แท้จริงไม่ใช่ความดับสูญ แต่เป็นโลกแห่งปรากฏการณ์พุทธเกษตร ที่ไม่มีมา ไม่มีไป ดำรงอยู่อย่างอิสระเบื้องหน้าตนทุกขณะจิต
พระพุทธเจ้าทั้ง 3 กาลด้วยเหตุดำเนินตาม ปรัชญาปารามิตา จึงได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาน
พระพุทธเจ้าทั้ง 3 กาล ด้วยความหมายตามตัวอักษร 3 กาลคือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต แต่ความหมาย ในทางพระสูตรนี้ หมายถึงกาลไม่สิ้นสุด พระพุทธเจ้าในความหมาย นี้มิใช่ หมายถึง พระศากยะมุนี พุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียว ในจำนวนสัตว์โลกที่นับไม่ถ้วน ตั้งแต่ ก่อนมีประวัติศาสตร์นานนับไม่ถ้วน พระพุทธเจ้าก็ได้บังเกิดขึ้นมานับไม่ถ้วนแล้วเช่นกัน ด้วยสรรพสัตว์ทั้งหลายที่มีอยู่และเคยมีอยู่ในโลกนี้ล้วนมีความเป็นพุทธะอยู่ในตัว และพร้อม ที่จะบรรลุมรรคผลได้ตลอดเวลา พระทีปังกรพุทธเจ้าในอดีต พระศากยะมุนีพุทธเจ้าในปัจจุบัน และศรีอริยเมตตรัยพุทธเจ้าในอนาคต พระอรหันต์ทั้งปวง พระปัจเจกพุทธเจ้าอีกมากมาย มนุษย์โลกในปัจจุบันในจำนวนหลายพันล้านคนย่อมมี ผู้สำเร็จมรรคผลเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นการปฏิบัติตนของชาวพุทธทั้งหลายควรวางตนให้ถูกต้องเหมาะสม และมีทัศนะคติที่ ถูกต้องต่อชาวโลก ปฏิบัติต่อผู้อื่นดังผู้อื่นเป็นพุทธะ และปฏิบัติต่อตนเอง ดังตนเองเป็น พุทธะเช่นเดียวกัน เราเชื่อมั่นในพระธรรมเช่นไรเราก็เชื่อมั่นว่าชาวโลก ทุกผู้คนเป็นผู้ให้ธรรมะ แก่เราเช่นกัน อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือความรู้แจ้งอันสูงสุด ไม่มีความรู้ใดสูงกว่า พระ พุทธเจ้าท่านหยิบก็ขึ้น ปล่อยก็วาง ไม่มีสิ่งใดสัมผัสไม่ได้ และก็ไม่มีสิ่งใดยึดติดได้ พร้อมทั้งมอบหนทางความเป็นพุทธะให้ชาวโลกทั้งหลาย จึงสำเร็จอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
จึงทราบว่า “ปรัชญาปารามิตา”เป็นมหาศักดาธารณี เป็นมหาวิทยาธารณี เป็นอนุตรธารณี เป็นอสมธารณี สามารถดับสรรพทุกข์
ธารณีหรือมนตร์หรือคาถา คือ คำศักดิ์สิทธิ์ คำสวด คำสอนของพระพุทธเจ้า ทุกคำถือเป็น คำศักดิ์สิทธิ์ มหาศักดาธารณี คือคำศักดิ์สิทธิ์ทรงฤทธิ์อำนาจในการทำลายอวิชชาทั้งมวล เข้าสู่สภาวะสูงสุด คือพระนิพพาน มหาวิทยาธารณี คือ วิชาการอันจริงแท้แน่นอน ไม่มี กาลเวลา เพราะทันสมัยอยู่เสมอไม่ว่าวิทยาศาสตร์จะนำไปสู่ดาวอังคารแล้ว วิทยาการนี้ ก็ยังคงเป็นยานพาหนะสำคัญนำพาเราไปสู่ฝั่งนิพพานตลอดเวลาตลอดกาล ไม่เคยเสื่อม สภาพหรือชำรุดใช้การไม่ได้ อนุตรธารณี คือ ธารณีนี้ทรงความศักดิ์สิทธิ์สูงสุดไม่มีธารณี ใดสูงกว่า อสมธารณี คือ ไม่มีธารณีใดเทียบเท่า
สัจจะธรรมไม่ผิดพลาด ฉะนั้นจึงประกาศ “ปรัชญาปารามิตาธารณี”ดังนี้
ตายาถา โอม คะเต คะเต ปารา คะเต ปารา สัง คะเต โบ ธิ โซ ฮา
คำสวดนี้เป็น คาถาหัวใจของปรัชญาปารามิตาสูตร เลียนคำมาจากสันสฤตโบราณ ฉะนั้นจึง ไม่ขอแปลความหมาย บทธารณีในภาษาจีนได้จบเพียงเท่านี้ แต่ในสันสฤตได้มีอีกประโยคว่า ได้กล่าวปรัชญาปารามิตาสูตรจบแล้ว ในภาษาทิเบตมีการบรรยายที่มาของพระสูตร และ บท สรุปของพระสูตรนี้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในสังยุตตนิกายว่า “ดูกรกัจจนะโลกนี้ติด อยู่กับสิ่งสองประการ คือ “ความมี”และ “ความไม่มี” ผู้ใดเห็นความเกิดขึ้นของสิ่งทั้งหลาย ในโลกตามความเป็นจริงและดัวยปัญญา “ความไม่มี”อะไรในโลกจะไม่มีแก่ผู้นั้น ดูก่อนกัจจนะ ผู้ใดเห็นความดับของสิ่งทั้งหลายในโลกตามความเป็นจริงและด้วยปัญญา “ความมี” อะไรในโลกจะไม่มีแก่ผู้นั้น” เมื่อพระอัสสชิ ได้รับคำขอร้องจากพระสารีบุตรให้ย่อคำสอน ของพระพุทธเจ้าลงในคาถาเดียว ท่านไม่กล่าวถึง อริยสัจ 4 หรือ มรรคมีองค์ 8 แต่ท่านกล่าว ถึงความว่างเปล่าของปฎิจจสมุปบาทซึ่งเป็นธรรมที่ลึกซึ้งที่สุดเช่นกันท่านนาคารชุนโพธิสัตว์ ก็ได้ใช้ธรรมนี้ฟื้นฟูพุทธศาสนาขึ้น มาอีกครั้งหลังจากถูกศาสนา อื่นโจมตีจนแทบสูญสลาย ไปจากโลก การรู้ศูนยตาเป็นปัญญาสูงสุด การบรรลุศูนยตานี้ คือ ตรัสรู้ ปัญญา คือ พ่อ เมตตากรุณา คือ แม่ โดยความรักของพ่อและแม่ บุคคลก็จะบรรลุความเป็นพุทธะโดยสมบูรณ์ ปัญญาที่ปราศจากความศรัทธา ความรู้ที่ปราศจากความรัก เหตุผลที่ปราศจากความกรุณา นำไปสู่ความสูญเปล่า ศรัทธาที่ปราศจากเหตุผล ความรักที่ปราศจากความรู้ ความกรุณา ที่ปราศจากปัญญา นำไปสู่ความยุ่งยาก เสื่อมสลาย แต่ในที่ใดที่ปัญญา กรุณา และความรัก อันลึกซึ้งรวมตัวกัน ในที่นั้นย่อมมีความสมบูรณ์และบรรลุความตรัสรู้อันสูงสุด การบำเพ็ญ เพียรตามปรัชญาปารามิตานี้ มิใช่ให้แกล้ง เห็นธรรมชาติแท้คือความว่างเปล่า เพื่อเป็นข้ออ้าง ให้ไม่ทำอะไรเลย เกียจคร้านต่อหน้าที่ การงาน โดยคิดว่าเมื่อว่างแล้ว จะต้องทำอะไรอีก ทำไปทำไม ทุกสิ่งทุกอย่างว่างหมด การคิดเช่นนั้นผิดอย่างมหันต์ การรู้แจ้งในปรัชญา ปารามิตา เพื่อให้เกิดปัญญารู้สภาพที่แท้จริงของสรรพสิ่ง เมื่อเรารู้ธาตุแท้ของเพื่อนเรา ย่อม ยินดี รักใคร่ สุขใจ ในความเป็นเพื่อนกันและเต็มใจที่จะกระทำการเพื่อเพื่อน เช่นกันการรู้แจ้ง ในธรรมชาติของสรรพสิ่ง เพื่อให้เกิดความรักต่อสรรพสิ่ง ยินดีและเต็มใจประกอบการใดๆ เพื่อสรรพสิ่งให้ยืนยงคงอยู่ สรรพสิ่งอยู่ที่ใจ ความรู้แจ้งอยู่ที่ใจ การทำการงานด้วยใจที่รู้แจ้ง ความเบื่อหน่าย ความรู้สึกถูกบังคับให้ทำย่อมไม่เกิดขึ้น เราจะทำงานด้วยความเป็นสุข
พระพุทธเจ้าหลังจากตรัสรู้แล้วก็ทำงานของพระองค์อย่างขยันขันแข็ง ไม่ยอมหยุดจน ถึงวาระสุดท้ายก่อนปรินิพพานก็ยังปฏิบัติงานอยู่โดยสอนบรรดาสาวกที่ชุมนุมกันอยู่ว่า
“ความเสื่อมมีอยู่ในสังขารทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”
แล้วจึงเข้าสู่ปรินิพพานการหลอกตัวเองว่าได้เห็นแจ้งในความว่างเปล่าแล้วไม่ทำอะไรเลยนั่นเป็น เดรัจฉานจิต อยู่รอความตาย มิใช่รู้แจ้งในนิพพานจิต ศูนยตาสภาวะ หรือ สภาวะแห่งความว่าง เปล่าจึงเป็นสภาวะแห่งเอกภาพของสังคมโลก สันติภาพอันนิรันดร บรมสุขของมนุษย์ ในสภาพ ที่จิตและกายยังคงยึดเหนี่ยวกันอยู่ และเป็นผู้ควบคุมวงล้อแห่งวัฏฏะของตน เมื่อจิต และกาย แยกจากกันแล้ว
เมื่อจิตมองเห็น เข้าใจแจ้ง ใน สิ่งที่ใช่-ไม่ใช่, สิ่งที่ไม่ใช่-ไม่ใช่, ไม่ใช่สิ่งที่ใช่-ไม่ใช่, ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ใช่-ก็ไม่ใช่ ดำรงจิตในตรงกลางของความไม่ใช่ทั้งสี่ขั้ว ภาวะนี้คือการรู้แจ้งในพระอริยสัจ4 รู้แจ้งในทางสายกลาง รู้แจ้งในปรตีตยสมุทปาท นี่คือ ศูนยตา เมื่อนั้นพุทธภาวะบังเกิด เมื่อภาวะนั้นตั้งมั่นในจิตเป็นนิสัย เป็นสันดาน คนธรรมดาเช่นท่านก็คือพระพุทธเจ้า
จากคำสอนพระมหาคณาจารย์โพธิ์แจ้งและมหาวัชราจารย์โซนัมรินโปเช่
หนังสือการพ้นทุกข์ของมหายาน
หนังสือพุทธประวัติระหว่าง2500ปี
หนังสือพุทธสันติวิธีทฤษฎีเชิงโครงสร้าง
ฤทธิชัย เอกสินิทธ์กุล เขียน ชาญชัย คูณทวีลาภ ตรวจทาน 28กุมภาพันธ์ 2541