พระสูตรของเว่ยหล่าง

พุทธทาสภิกขุแปล

ปาฐกถาธรรมนิกายเซ็น โดย นายแพทย์ ตันม่อเซี้ยง

สูตรอันประกาศบนมหาบัลลังก์

แห่ง  "ธรรมรถ"

หมวดที่ 1 ชีวประวัติที่ท่านเล่าเอง

หมวดที่ 2ว่าด้วยปรัชญา

หมวดที่ 3 ว่าด้วยข้อปุจฉา-แลวิสัชนา

หมวดที่ 4 ว่าด้วย สมาธิและ ปรัชญา

หมวดที่ 5 ว่าด้วย ธฺยานะ

หมวดที่ 6 ว่าด้วยการสำนึกบาป

หมวดที่ 7 ว่าด้วยคำสอนอันเหมาะแก่อุปนิสัย และสิ่งแวดล้อม

หมวดที่ 8 สำนักฉับพลัน และ สำนักเชื่องช้า

หมวดที่ 9 พระบรมราชูปถัมภ์

หมวดที่ 10 คำสอนครั้งสุดท้าย

*********************

 

พระสูตรของเว่ยหล่าง

พุทธทาสภิกขุแปล

ปาฐกถาธรรมนิกายเซ็น โดย นายแพทย์ ตันม่อเซี้ยง

สูตรอันประกาศบนมหาบัลลังก์

แห่ง  "ธรรมรถ"

หมวดที่ 1 ชีวประวัติที่ท่านเล่าเอง

หมวดที่ 2ว่าด้วยปรัชญา

หมวดที่ 3 ว่าด้วยข้อปุจฉา-แลวิสัชนา

หมวดที่ 4 ว่าด้วย สมาธิและ ปรัชญา

หมวดที่ 5 ว่าด้วย ธฺยานะ

หมวดที่ 6 ว่าด้วยการสำนึกบาป

หมวดที่ 7 ว่าด้วยคำสอนอันเหมาะแก่อุปนิสัย และสิ่งแวดล้อม

หมวดที่ 8 สำนักฉับพลัน และ สำนักเชื่องช้า

หมวดที่ 9 พระบรมราชูปถัมภ์

หมวดที่ 10 คำสอนครั้งสุดท้าย

*********************

คำชี้แจง พุทธทาส

 

คำชี้แจ้งของพุทธทาสภิกขุ

เกี่ยวกับการศึกษา-สูตรของเว่ยหล่าง

           เกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ มีเรื่องที่จะต้องทราบกันเสียก่อนในเบื้องต้นอยู่ 2 ข้อ

          ข้อแรก หนังสือเล่มนี้จะไม่เป็นที่เข้าใจได้สำหรับผู้อ่านที่ยังไม่เคยศึกษาทางพุทธศาสนามาก่อนเลย, มันไม่ใช่หนังสือเล่มแรกสำหรับผู้ริเริ่มการศึกษาพุทธศาสนา.  อย่างน้อยที่สุดผู้ที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้  แม้จะไม่เคยอ่านหนังสือของทางฝ่ายมหายานมาบ้างแล้ว  ก็ควรจะได้เคยศึกษาศึกษาหลักแห่งพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมาบ้างพอสมควรแล้ว  จนถึงกับ  จับใจความได้อย่างใดอย่างหนึ่งว่า พุทธศาสนาที่ตนศึกษาแล้วนั้นมีหลักอย่างไร หรือวิธีปฏิบัติอย่างไรจึงจะพ้นทุกข์ได้ โดยเฉพาะ.  และอีกทางหนึ่งสำหรับ.ผู้ที่เคยศึกษาแต่ฝ่ายเถรวาทมาอย่างเคร่งครัด   และยังแถมยึดถือทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่งไว้อย่างเหนียวแน่นนั้น  อาจจะมองไปเห็นว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ผิดหลักพระพุทธศาสนาเป็นมิจฉาทิฏฐิ  หรือเป็นสิ่งที่น่าอันตรายไปอย่างยิ่ง  ไปก็ได้.  ทั้งนี้ เพราะเหตุที่  หลักคิด   และ  แนวปฏิบัติ  เดินกันคนละแนว  เหมือนการเดินของคนที่เดินตามทางใหญ่ที่อ้อมค้อม  กับคนที่เดินทางลัด หรือถึงกับดำดินไปผุดขึ้นในที่ที่ตนต้องการจะให้ไปถึงเสียเลย  ฉันใดฉันนั้น.

          ข้อที่สอง  ผู้ที่อ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยความสนใจ ความทราบไว้เสียก่อนว่า หลักนิกายเซ็นและโดยเฉพาะของพระสังฆปรินายกชื่อ เว่ยหล่าง นี้ นอกจากจะเป็นวิธีการที่ลัดสั้นแล้ว  ยังเป็นวิธีปฏิบัติที่อิงหลักธรรมชาติทางจิตใจของคนทั่วไป แม้ที่ไม่รู้หนังสือ  หรือไม่เข้าใจพิธีรีตองต่างๆ  จึงเป็นเหตุให้ลัทธินี้ถูกขนานนามว่า  "ลัทธิพุทธศาสนาที่อยู่นอกพระไตรปิฎก" หรืออะไรอื่นทำนองนี้อีกมากมาย.  ที่จริง ผู้ที่จะอ่านหนังสือนี้   ควรจะได้รับการชักชวนให้ลืมอะไรต่างๆที่เคยยึดถือไว้แต่ก่อนให้หมดสิ้นเสียก่อน  จึงจะเป็นการง่ายในการอ่านและเข้าใจ;  โดยเฉพาะก็คือ  ให้ลืมพระไตรปิฎก ลืมระเบียบพิธีต่างๆทางพุทธศาสนา ลืมความคิดดิ่งๆด้านเดียว  ที่ตนเคยยึดถือ  กระทั่งลืมความเป็นพุทธบริษัทของตนเสีย   คงเอาไว้แต่ใจล้วนๆของมนุษย์  ซึ่งไม่จำกัดว่าชาติใดภาษาใด  หรือถือศาสนาไหน  เป็นใจซึ่งกำลังทำการคิดเพื่อแก้ปัญหาที่ว่า  "ทำอย่างไร จิตของมนุษย์ทุกคนในลักษณะที่เป็นสากลนี้  จักหลุดพ้นจากความบีบคั้นหุ้มห่อพัวพันได้โดยสิ้นเชิง?" เท่านั้น. การทำเช่นนี้จักเป็นประโยชน์อย่างสูงแก่ผู้อ่าน  ในการที่จะได้ทราบอย่างชัดแจ้งถึง ความแตกต่างระหว่างพุทธศาสนาในขอบเขตของคัมภีร์  กับพุทธศาสนาซึ่งอยู่เหนือคัมภีร์;  พุทธศาสนาที่อิงอยู่กับพิธีรีตองต่าง ๆ กับพุทธศาสนาที่เป็นอิสระตามธรรมชาติ  และเดินตามหลักธรรมชาติ;  พุทธศาสนาที่ให้เชื่อก่อนทำ  กับพุทธศาสนาที่ให้ลองทำก่อนเชื่อ;  พุทธศาสนาในฐานะที่เป็นวรรณคดี กับพุทธศาสนาประยุกต์;  และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ระหว่างพุทธศาสนาที่ใช้ได้แต่กับคนบางคน  กับพุทธศาสนาที่อาจใช้ให้สำเร็จประโยชน์ได้แก่บุคคลทุกคนแม้ที่ไม่รู้หนังสือ  ขอเพียงแต่ให้มีสติปัญญาตามปรกติสามัญมนุษย์เท่านั้น  ผู้ที่ได้ทราบเช่นนี้แล้วจะได้รับพุทธศาสนาชนิดที่ปฏิบัติได้จริง ตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติมาปฏิบัติอย่างเหลือเฟือ  และลัดดิ่งไปสู่สิ่งที่จะให้เกิดความอิ่ม  ความพอ  ได้โดยเร็ว  ถ้ามิฉะนั้นแล้ว  เขาก็จะเป็นตัวหนอนที่มัวแต่กัดแทะหนังสือ หรือเป็นนักก่อการทะเลาะวิวาทตามทางปรัชญา ไปตามเดิมแต่อย่างเดียว.

          ผู้อ่านจะสังเกตเห็นได้เองเมื่ออ่านในตอนแรก ๆ ว่า หนังสือเรื่องนี้ ไม่ใช่หนังสือที่บรรจุไว้ด้วยข้อความที่ง่าย ๆ หรืออ่านเขาใจได้ง่าย ๆ เพราะเหตุว่าเรื่องการทำใจให้หลุดพ้นซากทุกข์จริง ๆ นั้น  ไม่ใช่ของง่ายเลย.  แต่เป็นสิ่งที่น่าแปลกประหลาดอย่างยิ่งว่า  ถ้าอ่านไปจนเข้าใจแล้ว  จะพบว่าทั้งที่มันเข้าใจยากมาก  ก็ยังอาจเป็นที่เข้าใจได้  แม้แต่ผู้ที่ไม่รู้หนังสือ  หรือไม่เคยศึกษาพระไตรปิฎกมาก่อนอยู่นั่นเอง  และทั้งไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากสิ่งที่มนุษย์ควรรู้และอาจรู้ได้โดยไม่เหลือวิสัย  ข้อความทุกข้อชี้บทเรียนไปที่ตัวชีวิตนั่นเอง  และได้ถือเอาความพลิกแพลงแห่งกลไกในตัวชีวิต  โดยเฉพาะคือจิต  ซึ่งเป็นโจทย์เลขหรือปัญหาที่ต้องตีให้แตกกระจายไป และจบสิ้นกันเพียงเท่านั้น คือเท่าที่จำเป็นจริง ๆ ไม่มีปัญญาเหลือเฟือชนิดที่ตีปัญหาโลกแตก  ที่ชอบถกเถียงกันในหมู่บุคคล  ที่อ้างตัวว่าเป็นพุทธบริษัทอันเคร่งครัดเท่านั้นเลย.

          อย่างไรก็ตาม  หนังสือเล่มนี้มิได้เป็นหนังสือในลักษณะตำราธรรมะโดยตรง   เป็นเพียงบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นประวัติและคำสอนของเจ้าลัทธิท่านหนึ่งเท่านั้น.  เราไม่อาจจับเอาหลักธรรมะต่าง ๆ ที่จัดเป็นระเบียบเรียบร้อยจนสะดวกแก่การศึกษาไว้ก่อนแล้ว   โดยง่ายเลย.  ผู้ศึกษาจะต้องเลือกเก็บใจความที่เป็นหลักธรรมต่าง ๆ เอาจากเรื่องราวที่เป็นประวัติ   หรือบันทึกเหตุการณ์เหล่านั้น,จากข้อความที่เข้าใจได้ยาก ๆ นั่นแหละ  ผู้ศึกษาจะต้องทำการขุดเพชรในหินด้วยตนเอง.

          หนังสือเล่มนี้   แม้จะเป็นหนังสือของทางฝ่ายมหายานก็จริง   แต่หาใช่มหายานชนิดที่ชาวไทยเราได้เคยได้เห็น  ได้ยิน  ได้ฟัง  หรือเข้าใจกันอยู่โดยมากไม่; มหายานที่เราเคยได้เห็นได้ยินได้ฟังกันอยู่เป็นปรกตินั้น  ก็เป็นชนิดที่เกี่ยวเนื่องติดแน่นกันอยู่กับพระไตรปิฎกและพิธีรีตองต่าง ๆ  และไหลเลื่อนไปในทางเป็นของขลังและของศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน.  ส่วนใจความของหนังสือเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น คงเป็นไปแต่ในทางปฏิบัติธรรมทางใจโดยอาศัยปัญญาเป็นใหญ่หรือที่เราเรียกกันว่า   วิปัสสนาธุระล้วน ๆ  และทั้งเป็นแบบหนึ่งของตนเองซึ่งไม่ซ้ำใคร  เพราะมุ่งหมายจะให้เป็นวิธีลัดสั้นที่สุด  ดังกล่าวแล้ว.   เพราะฉะนั้นผู้ที่เคยตั้งข้อรังเกียจต่อฝ่ายมหายาน   และมีความยึดมั่นมาก  จนถึงกับพอเอ่ยชื่อว่า  มหายานแล้ว  ก็ส่ายหน้าดูถูกเหยียดหยาม  ไม่อยากฟังเอาเสียทีเดียวนั้น  ควรทำใจเสียใหม่ในการที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้  ซึ่งจะทำให้ท่านเกิดความรู้สึกอันตรงกันข้ามจากที่แล้ว ๆ มา  และเกิดความคิดใหม่ขึ้นมาแทนว่า  การตั้งข้อรังเกียจเดิม ๆ ของตนนั้นมันมากและโง่เกินไป.

           เมื่อกล่าวโดยหลักกว้างๆ แล้ว  ลัทธิของเว่ยหล่างนี้  เป็นวิธีลดที่พุ่งแรงบทหนึ่ง  อย่างน่าพิศวง  ถ้าจะชี้ให้เห็นกันง่ายๆ ว่า ลัทธินี้มีหลักหรือวิธีการอย่างใดแล้ว   ก็ต้องชี้ไปในทางที่จะวางหลักสั้นๆ ว่า  ก็เมื่อปุถุชนคนธรรมดาสามัญทั่วไป ย่อมเป็นผู้ที่กำลังมีความเห็นหรือความเข้าใจ  ที่ผิดจากความจริงเป็นปรกติอยู่แล้ว  สิ่งที่ตรงกันข้ามจากที่คนธรรมดาสามัญคิดเห็นหรือเข้าใจนั่นแหละ  เป็นความเห็นที่ถูก  เพราะฉะนั้นเว่ยหล่างจึงได้วางหลักให้คิดชนิดที่เรียกว่า  "กลับหน้าเป็นหลัง" เอาทีเดียว  ตัวอย่างเช่น  เมื่อผู้อื่นกล่าวว่าจงพยายามชำระใจให้สะอาดเถิด เว่ยหล่างกลับกล่าวเสียว่าใจของคนทุกคนสะอาดอยู่แล้ว จะไปชำระมันทำไมอีก  สิ่งที่ไม่สะอาดนั้นไม่ใช่ใจ จะไปยุ่งกับมันทำไม, หรือถ้าจะกล่าวให้ถูกยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็กล่าวว่า เว่ยหล่าง ถือว่า  ใจมันไม่มีตัวไม่มีตน  แล้วจะไปชำระอะไรให้แก่ใคร  การที่จะไปเห็นว่าใจเป็นใจและไม่สะอาดนั้นเป็นอวิชชาของผู้นั้นเองต่างหาก  ดังนี้เป็นต้น.   โกอานหรือปริศนาธรรมที่ลัทธินี้วางไว้ให้ขบคิด  ก็ล้วนแต่ทำให้คนสามัญทั่วไปงงงวย  เพราะแต่ละข้อมีหลักให้คิดเพื่อให้เห็นสิ่งตรงกันข้าม  จากที่คนธรรมดาคิดกันอยู่  หรือเห็นๆกันอยู่.  ตัวอย่างเช่น  ถ้าหากว่ากามีสีดำนกยางก็ต้องมีสีดำด้วย  หรือถ้าเห็นว่านกยางมีสีขาว  กาก็ต้องขาวด้วย.  และถ้าให้ถูกยิ่งไปกว่านั้นก็คือนกยางนั่นแหละสีดำ  กานั่นแหละสีขาว  สังสารวัฏกับนิพพานเป็นของสิ่งเดียวกัน  ที่ที่เย็นที่สุดนั้น   คือที่ท่ามกลางกองเพลิงแห่งเตาหลอมเหล็ก  ดังนี้เป็นต้น

          ถ้าใครมองเห็นความจริงตามแบบของเว่ยหล่างเหล่านี้แล้ว  ก็ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่า  เขาได้เห็นสิ่งต่างๆ จนลึกถึงขั้นที่มันตรงกันข้าม  จากที่คนสามัญทั่วไปเขามองเห็นกันอยู่เป็นปรกติ.  ฉะนั้น  สำหรับการสรุปใจความของลัทธินี้อย่างสั้นที่สุด  ก็สรุปได้ว่า  พยายามคิดจนเห็นตรงกันข้ามจากความคิดของคนที่ยังมีอวิชชาหุ้มห่อแล้ว  ก็เป็นอันนับได้ว่า  ได้เข้าถึงความจริงถึงที่สุด.  และวิธีการแห่งลัทธินี้ได้วางรูปปริศนาให้คิด  ชนิดที่ผิดตรงกันข้ามไปเสียตั้งแต่แรกทีเดียว  ใครคิดออก  ก็แปลว่า  คนนั้นผ่านไปได้  หรือย่างน้อยที่สุดก็เป็นวิธีที่จะทำให้ผ่านไปได้โดยเร็วที่สุด  นั่นเอง.  คิดให้ตรงข้ามจากสามัญสัตว์ทั่วไปเถิด  ก็จะเข้าถึงความคิดของพระอริยะเจ้าขึ้นมาเอง.  ฉะนั้นนิกายนี้จึงเรียกตัวเองว่า  "นิกายฉับพลัน"  ซึ่งหมายความว่า  จะทำให้ผู้ปฏิบัติตามวิธีลัดนี้ให้บรรลุธรรมได้อย่างฉับพลันโดยไม่มีพิธีรีตอง.

          ส่วนปาฐกถาอีก 3 เรื่อง ของนายแพทย์ ตันม่อเซี้ยง  ซึ่งพิมพ์ไว้ต่อท้ายเรื่องสูตรของเว่ยหล่างนั้นเล่า  ก็เป็นข้อความที่จะให้ผู้อ่านได้เข้าใจในวิธีการปฏิบัติของ  "นิกายฉับพลัน"  ได้เป็นอย่างดี.  จากข้อความทั้งหมดนั้น  ผู้ศึกษาจะได้ความรู้ที่แน่นอนข้อหนึ่งว่า  วิธีการที่  "ฉับพลัน" นั้น  ย่อมขึ้นอยู่แก่ความช่วยเหลือของอาจารย์  หรือผู้ควบคุมที่สามารถจริงๆเป็นส่วนใหญ่.  เพราะตามธรรมดาแล้ว  "การเขี่ยให้ถูกจุด"  นั่นแหละ  เป็นความสำเร็จที่ฉับพลันเหนือความสำเร็จทั้งปวง.  ถ้ามีความจำเป็นถึงขนาดที่จะต้องให้ตัวเองเป็นอาจารย์ตัวเองแล้ว  ขอจงได้พยายามศึกษาและจับใจความสำคัญแห่งข้อความนั้นๆ ให้ได้ของจริงๆ จงทุกๆคนเถิด.

          ธรรมะนั้น  ไม่มีอะไรมากไปกว่าเรื่องของคนเราๆ ทุกๆ คน. เพราะมัวไปยกขึ้นให้สูง  เป็นเรื่องคัมภีร์หรือของศักดิ์สิทธิ์ไปเสียท่าเดียว  ก็เลยกลายเป็นเรื่องพ้นวิสัยของคนไป  เว่ยหล่างมีความมุ่งหมายให้ธรรมะนั้นกลับมาเป็นเรื่องของคนธรรมดาสามัญแม้ที่ไม่รู้หนังสือ. เพื่อประโยชน์แก่คนตามความหมายของคำว่า  "มหายาน"  หวังว่าผู้ที่คิดกรุ่นอยู่ในใจเสมอว่า  ตนเป็นคนฉลาดเพราะรู้หนังสือดีนั้น จักได้ทำตนให้เป็นบุคคลที่ไม่เสียเปรียบผู้ที่ไม่รู้หนังสือได้คนหนึ่งเป็นแน่

พุทธทาส   อินทปัญโญ

โมกขพลาราม ไชยา

31 มี.ค.2496      

 

หมวดที่1 ประวัติ

 

 สูตรอันประกาศบนมหาบัลลังก์

แห่ง  "ธรรมรถ"

หมวดที่ 1

ชีวประวัติที่ท่านเล่าเอง

****************

        ครั้งหนึ่ง  เมื่อพระสังฆปริณายกองค์นี้  ได้มาที่วัดเปาลัม  ข้าหลวงไว่ แห่งเมืองชิวเจา  กับข้าราชการอีกหลายคน  ได้พากันไปที่วัดนั้น เพื่อขอให้ท่านกล่าวธรรมกถาแก่ประชาชนทั่วไป ณ ห้องโถง.แห่งวิหารไทฟัน  ในนครกวางตุ้ง.    

        ในไม่ช้า  มีผู้มาประชุมฟัง ณ โรงธรรมสภานั้น  คือข้าหลวงไว่แห่งชิวเจา, พวกข้าราชการและนักศึกษาฝ่ายขงจื้อ อย่างละประมาณ 30 คน, ภิกษุ, ภิกษุณี นักพรตแห่งลัทธิเต๋า  และคฤหัสถ์ทั่วไป  รวมเบ็ดเสร็จประมาณหนึ่งพันคน.

        ครั้นพระสังฆปริณายก  ได้ขึ้นนั่งบนอาสนะเรียบร้อยแล้ว  ที่ประชุมได้ทำการเคารพ. และอาราธนาขอให้ท่านแสดงธรรมว่าด้วยหลักสำคัญแห่งพุทธศาสนา. ในอันดับนั้น   ท่านสาธุคุณองค์นั้น  ได้เริ่มแสดงมีข้อความดังต่อไปนี้-

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  จิตเดิมแท้ (Essence of Mind) ของเราซึ่งเป็นเมล็ดพืชหรือแก่นของการตรัสรู้นั้น  เป็นของบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ (Pure by nature) และต้องอาศัย  จิตเดิมแท้ นี้เท่านั้น  มนุษย์เราจึงจะเข้าถึงความเป็นพุทธะได้โดยตรงๆ อาตมาจะเล่าให้ฟังถึงประวัติของอาตมาเองบางตอน  และเล่าถึงข้อที่ว่า อาตมาได้รับคำสอนอันเร้นลับ  แห่งนิกายธยาน(เซ็น) มาด้วยอาการอย่างไร

        บิดาของอาตมาเป็นชาวเมืองฟันยาง  ถูกถอดจากตำแหน่งราชการ  ถูกเนรเทศไปอยู่อย่างราษฎรสามัญที่ซุนเจาในมณฑลกวางตุ้ง.  อาตมาโชคร้ายโดยที่บิดาได้ถึงแก่กรรมเสียแต่ในขณะที่อาตมายังเล็กอยู่เหลือเกิน  และทิ้งมารดาไว้ในสภาพที่ยากจนทนทุกข์  เราสองคนจึงย้ายไปอยู่ทางกวางเจา และอยู่ที่นั้นด้วยความทุกข์ยากเรื่อยมา.

        วันหนึ่ง  อาตมากำลังนำฟืนไปขายอยู่ที่ตลาดเพราะเจ้าจำนำคนหนึ่งเขาสั่งให้นำไปขายให้เขาถึงร้าน  เมื่อส่งของและรับเงินเสร็จแล้ว  อาตมาก็ออกจากร้าน  ได้พบชายคนหนึ่งกำลังบริกรรมสูตรๆ หนึ่งอยู่แถวหน้าร้านนั้นเอง  พอได้ยินข้อความแห่งสูตรนั้นเท่านั้น  ใจของอาตมาก็ลุกโพลงสว่างไสวในพุทธธรรม  อาตมาจึงถามชื่อคัมภีร์ที่เขากำลังสวดอยู่  ก็ได้ความจากชายคนนั้นว่า  พระสูตรนั้นชื่อ วัชรสูตร (วชฺรจฺเฉทิกสูตร  หรือพระสูตรอันว่าด้วยเพชรสำหรับตัด) อาตมาจึงไล่เรียงต่อไปว่า  เขามาจากไหน ทำไมเขาจึงจำเพาะมาท่องบ่นแต่พระสูตรนี้.  ชายคนนั้นตอบว่าเขามาจากวัดตุงซั่น ตำบลวองมุย เมืองคีเจา เจ้าอาวาสในขณะนี้มีนามว่าหวางยั่น(ฮ่งยิ้ม) เป็นพระสังฆปริณายก แห่งนิกายเซ็น องค์ที่ 5 มีศิษย์รับการสั่งสอนอยู่ประมาณพันคน  เมื่อเขาไหว้พระสังฆปริณายกที่วัดนั้น  เขาได้ฟังเทศน์หลายครั้งเกี่ยวกับพระสูตรๆนี้  เขาเล่าต่อไปว่า ท่านสาธุคุณองค์นั้นเคยรบเร้าทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตอยู่เสมอ  ให้พากันบริกรรมพระสูตรๆนี้  เผื่อว่าเมื่อเขาพากันบริกรรมอยู่  เขาจะสามารถเห็น  จิตเดิมแท้  ของตนเอง  และจะเข้าถึงความเป็นพุทธะได้โดยตรงๆ เพราะเหตุนั้น

        คงเป็นด้วยกุศลที่อาตมาได้ทำไว้แต่ชาติก่อนๆ จึงเป็นเหตุให้อาตมาได้ทราบเรื่องราวเหล่านี้  และอาตมายังได้รับเงินอีก 10 ตำลึงจากชายผู้อารีคนหนึ่งให้มาเพื่อมอบให้มารดาไว้ใช้สอย  ในระหว่างที่อาตมาไม่อยู่  ทั้งเขาเองเป็นผู้แนะนำให้อาตมารีบไปยังตำบลวองมุย  เพื่อพบพระสังฆปริณายกองค์นั้น  เมื่อได้จัดแจงให้มีคนช่วยดูแลมารดาเสร็จแล้ว  อาตมาก็ได้ออกเดินทางไปยังวองมุย และถึงที่นั้นได้ในชั่วเวลาไม่ถึงสามสิบวัน

        ครั้นถึงตำบลวองมุยแล้ว  อาตมาได้ไปนมัสการพระสังฆปริณายก  ท่านถามว่ามาจากไหน  และต้องประสงค์อะไร  อาตมาได้ตอบว่า  "กระผมเป็นคนพื้นเมืองซุนเจา  แห่งมณฑลกวางตุ้ง  เดินทางมาแสนไกลเพื่อทำสักการะเคารพแด่หลวงพ่อท่าน  และกระผมไม่ต้องการอะไร  นอกจากธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ (Buddha-nature) อย่างเดียวเท่านั้น"

        ท่านถามอาตมาว่า  "เป็นชาวกวางตุ้งหรือ?  เป็นคนป่าคนเยิงแล้วเธอจะหวังเป็นพุทธะได้อย่างไรกัน?"

        อาตมาได้เรียนตอบท่านว่า  "แม้ว่าจะมีคนชาวเหนือและคนชาวใต้ก็จริง แต่ทิศเหนือและทิศใต้นั้น หาได้ทำให้ความเป็นพุทธะซึ่งมีอยู่ในคนนั้นๆ แตกต่างกันได้ไม่.  คนป่าคนเยิงจะแตกต่างจากหลวงพ่อ ก็แต่ในทางร่างกายเท่านั้น, แต่ไม่มีความผิดแปลกแตกต่างกันในส่วนธรรมชาติของความเป็นพุทธะของเราทั้งหลาย"  แต่เผอิญมีศิษย์ของท่านเข้ามาหลายคน  ท่านจึงหยุดชะงัก  และสั่งให้อาตมาไปสมทบทำงานกับคนงานหมู่หนึ่ง

        อาตมากล่าวขึ้นว่า  "กระผมกราบเรียนหลวงพ่อว่า "วิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้นในใจของกระผมเสมอๆ  เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งไม่ได้มีจิตเลื่อนลอยไปจาก  จิตเดิมแท้ ของตนแล้ว ก็ควรจะเรียกเขาผู้นั้นว่า  "ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก" เหมือนกัน  กระผมจึงไม่ทราบว่างานอะไร ที่หลวงพ่อให้ผมกระทำ?"

        พระสังฆปริณายกได้มีบัญชาว่า  "เจ้าคนป่านี้เฉลียวฉลาดเกินตัวไปเสียแล้ว จงไปที่โรงนั่น  แล้วอย่าพูดอะไรอีกเลย"  อาตมาจึงถอยหลีกไปทางลานข้างหลัง มีคนวัดที่ไม่ใช่บรรพชิตคนหนึ่ง มาบอกให้ผ่าฟืน และตำข้าว ต่อมาไม่น้อยกว่าแปดเดือน  วันหนึ่งพระสังฆปริณายกได้พบอาตมา และท่านกล่าวว่า  "ฉันทราบดีว่า ความรู้ในพุทธธรรมของเธอนั้นมั่นคงดีมาก  แต่ฉันต้องหลีกไม่พูดกับเธอ  มิฉะนั้นจะมีคนทุศีลบางคนทำอันตรายเธอ,  เธอเข้าใจไหม?" อาตมาตอบว่า  "ขอรับหลวงพ่อ  กระผมเข้าใจ  เพื่อไม่ให้ใครสังเกตเห็นกระผมในข้อนี้  กระผมก็ไม่กล้าเข้าไปใกล้ๆห้องของหลวงพ่อ"

        อยู่มาวันหนึ่ง  พระสังฆปริณายกเรียกประชุมบรรดาศิษย์ทั้งหมด  แล้วประกาศว่า  "ปัญหาแห่งการเวียนเกิดไม่มีที่สิ้นสุด  เป็นปัญหาเฉพาะหน้าเวลานี้  วันแล้ววันเล่า  แท่นที่จะพยายามเปลื้องตัวเองออกมาเสียจากทะเลแห่งการเกิดตายอันขื่นขม  ดูเหมือนว่าพวกเธอกลับหมกหมุ่นอยู่แต่ในบุญกุศลชนิดที่ถูกตัณหาลูบคลำเสียแล้ว  อย่างเดียวเท่านั้น (กล่าวคือบุญกุศลที่เป็นเหตุให้เกิดใหม่) ถ้า จิตเดิมแท้ ของพวกเธอยังมืดมัวอยู่  บุญกุศลทั้งหลายก็ยังจะไม่เป็นประโยชน์อะไรเลย จงตั้งหน้าค้นหาปรัชญา (ปัญญา) ในใจของเธอเอง  แล้วเขียนโศลก(คาถา) มาให้เราโศลกหนึ่ง ว่าด้วยเรื่อง จิตเดิมแท้ ผู้ใดเข้าใจได้ถูกต้องว่า จิตเดิมแท้นั้นเป็นอย่างไร  ผู้นั้นจะได้รับมอบผ้ากาสาวพัสตร์ (อันเป็นเครื่องหมายตำแหน่งพระสังฆปริณายก) พร้อมทั้งธรรมะ(อันเป็นคำสอนเร้นลับของนิกายธยาน) และฉันจะสถาปนาผู้นั้นเป็นสังฆปริณายกองค์ที่หก (แห่งนิกายนี้) จงไปโดยเร็วอย่ารีรอในการเขียนโศลก  การมัวตรึกตรองไม่จำเป็น และไม่มีประโยชน์อะไร  ผู้ที่รู้แจ้งชัดในจิตเดิมแท้  จะพูดได้ทันทีที่มีใครมาชวนพูดด้วยเรื่องนั้น  และมันจะไม่ละไปจากคลองแห่งญาณจักษุของเขา  แม้ว่าเขาจะกำลังรบพุ่งชุลมุนอยู่กลางสนามรบก็ตามที"

        เมื่อได้รับคำสั่งดังนั้น ศิษย์อื่นๆ (เว้นแต่ชินเชาหัวหน้าศิษย์)พากันถอยออกไปและกล่าวแก่กันและกันว่า "ไม่มีประโยชน์อะไรสำหรับคนชั้นพวกเราๆที่จะไปตั้งสมาธิเพ่งจิตเขียนโศลก ถวายหลวงพ่อ เพราะว่าตำแหน่งสังฆปริณายกนั้น ใดๆ ก็เห็นว่าจะไม่พ้นมือท่านชินเชา ผู้เป็นหัวหน้าศิษย์ไปได้. เมื่อเราเขียนใช้ไม่ได้ มันก็เป็นการลงแรงเสียเปล่า" เมื่อได้ปรับทุกข์กันดังนี้แล้ว ศิษย์เหล่านั้นทุกคนได้พากันเลิกล้มความตั้งใจในการเขียน และว่าแก่กันว่า "เราจะไปทำให้มันเหนื่อยทำไม? ต่อไปนี้ เราคอยติดตามหัวหน้าของเรา คือ ชินเชา เท่านั้นก็พอแล้ว  ไม่ว่าเขาจะไปข้างไหน  เราจะตามเขาในฐานะเป็นผู้นำ"

        ในขณะเดียวกันนั้น ชินเชา ผู้เป็นเชฏฐอันเตวาสิก  ก็หยั่งทราบความเรื่องนี้ได้ด้วยตนเอง, เขารำพึงว่า "เมื่อพิจารณารดูถึงข้อที่ว่า เราเป็นครูสั่งสอนเขาอยู่ คงไม่มีใครเข้ามาเป็นคู่แข่งขันในการเขียนโศลกกับเรา  แต่เป็นครูสั่งสอนเขาอยู่เราจะเขียนโศลกถวายพระสังฆปริณายกดีหรือไม่  ถ้าเราไม่เขียน พระสังฆปริณายกจะทราบได้อย่างไรว่า  ความรู้ของเราลึกซึ้งหรือผิวเผินเพียงไหน ถ้าวัตถุประสงค์ในการเขียนของเราในครั้งนี้ ได้แก่ความหวังจะได้รับธรรมจากพระสังฆปริณายก ก็แปลว่าเจตนาของเราบริสุทธิ์  แต่ถ้าเราเขียนเพราะอยากได้ตำแหน่งสังฆปริณายก  นั่นแปลว่ามันเป็นความมีเจตนาชั่ว  ในกรณีดังกล่าวจิตของเราก็เป็นจิตที่ข้องอยู่ในโลก  และการกระทำของเราก็คือ  การปล้นยื้อแย่งบัลลังก์อันศักดิ์สิทธิ์ของพระสังฆปริณายก  แต่ถ้าเราจะไม่เขียนโศลกยื่นท่านเราก็ไม่มีโอกาสจะได้รับทราบธรรมะนั้น. มันช่างยากที่จะตัดสินใจเสียจริงๆ"

        ที่หน้าหอสำนักของพระสังฆปริณายกนั้น มีช่องทางเดินตลอดสามช่อง ที่ผนังของช่องเหล่านี้ โลชูน จิตรกรเอกแห่งราชสำนักได้เขียนภาพต่างๆ  จาก "ลังกาวตารสูตร" แสดงถึงการกลับกลายร่างของผู้ที่เข้าประชุม  และเขียนภาพอันแสดงถึงชาติวงศ์  ของพระสังฆปริณายกทั้งห้าองค์  เพื่อเป็นความรู้ของประชาชน  และให้ประชาชนได้ทำสักการะบูชา

        เมื่อชินเชาแต่งโศลกเสร็จแล้ว  ได้พยายามที่จะส่งต่อพระสังฆปริณายกตั้งหลายหน  แต่เมื่อเดินเข้าไปใกล้จะถึงหอสำนักของพระสังฆปริณายกทีไรหัวใจเต้นเหงื่อกาฬแตกท่วมตัวทุกที.  เขาไม่สามารถที่จะแข็งใจเข้าไปส่งได้สำเร็จ  ชั่วเวลาเพียง 4 วัน เขาพยายามถึง 13 ครั้ง  ในที่สุดเขาก็ตกลงใจว่า "เราจะเขียนมันไว้ที่ฝาผนังช่องทางเดิน  ให้พระสังฆปริณายกท่านเห็นเองดีกว่า"  ถ้าถูกใจท่าน  เราจึงค่อยออกมานมัสการท่าน  และเรียนท่านว่าเราเป็นผู้เขียน  ถ้าท่านเห็นว่ามันผิดใช้ไม่ได้  ก็แปลว่าเราได้เสียเวลาไปหลายปีในการมาอยู่บนภูเขานี้  และทำให้ชาวบ้านหลงเคารพกราบไหว้เสียเป็นนาน  โดยไม่คู่ควรกันเลย  และเมื่อเป็นเช่นนี้  ก็แปลว่าเราไม่ได้ก้าวหน้าในการศึกษาพระธรรมเลยแม้แต่น้อยมิใช่หรือ?"  ครั้นถึงเวลาเที่ยงคืนในวันนั้น  ชินเชาถือตะเกียงลอบไปเขียนโศลกที่เขาแต่งขึ้นไว้  ที่ผนังช่องทางเดินทางทิศใต้  โดยหวังอยู่ว่า  พระสังฆปริณายกจะได้เห็นและหยั่งทราบถึงวิปัสสนาญาณที่เขาได้บรรลุ โศลกนั้นมีว่า:-

 

" กายของเราคือต้นโพธิ์ (*1)

ใจของเราคือกระจกเงาอันใส

เราเช็ดมันโดยระมัดระวังทุกๆ ชั่วโมง

และไม่ยอมให้ฝุ่นละอองจับ"

*1ต้นโพธิ์ในที่นี้  หมายถึงไม้เนื้ออ่อนไม่มีแก่น  ได้แก่ไม้ตระกูลมะเดื่อทั่วไป ข้อนี้หมายถึงความไม่มีแก่นสารของร่างกาย และเห็นความสำคัญอยู่ที่ใจ ซึ่งจะต้องคอยรักษาให้สะอาดตามสภาพเดิม อยู่เสมอ  ขอเตือนผู้อ่านและผู้ศึกษาให้กำหนดข้อความในตอนนี้ให้ดี เพราะเป็นข้อความที่ชี้ให้เห็นว่า เซ็นไม่เห็นพ้องกับมติที่ว่ามีอาตมัน ซึ่งจะทราบได้เมื่ออ่านต่อไปถึงตอนข้างหน้า  ซึ่งปฏิเสธความมีอยู่แห่งกระจก  (พุทธทาสผู้แปลไทย)

        พอเขียนเสร็จ เขาก็รีบกลับไปห้องของเขาทันที  โดยไม่มีใครทราบการกระทำของเขา  ครั้นไปถึงแล้วเขาก็วิตกต่อไปว่า  "พรุ่งนี้ถ้าพระสังฆปริณายกเห็นโศลกของเรา และพอใจ ก็แปลว่าเราพร้อมที่จะได้รับธรรมะอันลึกซึ้งของท่าน แต่ถ้าท่านติว่าใช้ไม่ได้ มันก็แปลว่าเรายังไม่สมควรที่จะได้รับธรรมะอันนั้น เนื่องจากความชั่วที่เราทำไว้แต่ชาติก่อนๆ มาหุ้มห่อใจเราอย่างหนาแน่น  มันเป็นการยากเย็นเหลือเกิน  ในการที่จะทายว่า  พระสังฆปริณายกจะมีความรู้สึกอย่างไรในโศลกอันนั้น"  เขาได้คิดทบทวนอยู่เช่นนั้นจนกระทั่งคืนยันรุ่ง  นั่งก็ไม่เป็นสุข  นอนก็ไม่เป็นสุข

        แต่พระสังฆปริณายกได้ทราบอยู่ก่อนแล้วว่า  ชินเชาผู้นี้ยังไม่ได้ก้าวเข้าไปในประตูแห่งการตรัสรู้  และเขายังไม่ซึมทราบในจิตเดิมแท้

สรรพชีวิตแรกเริ่มอุบัติขึ้นในจักรวาลนี้ สภาวะแห่งรูปและสภาวะแห่งจิต ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน เช่นกันภาวะแห่งสังสาร และ นิรวาณ ของสรรพชีวิตนี้ก็อุบัติขึ้นในสภาวะแห่งรูปและจิตด้วย ผ่านระยะเวลาอันยาวนานจนนับกัลป์ไม่ถ้วน สภาวะแห่งรูปและสภาวะแห่งจิตได้รับเอามลภาวะเข้าผสมจนเกิดความหลากหลายขึ้น ดังเช่น สายน้ำ เมื่อเริ่มเป็นน้ำจากการผสมกันของ ไฮโดเจน และออกซิเจน นั้นใสสะอาดบริสุทธิ์ เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วลงสู่ภาชนะรองรับบนแผ่นดินหรืออะไรก็ได้ สีและกลิ่นของภาชนะและน้ำก็เริ่มเปลี่ยนไป ยิ่งเมื่อน้ำนั้นได้มีการเดินทางเป็นกระแสน้ำมลภาวะต่างๆก็เข้าผสม น้ำจึงมีสี มีกลิ่นที่เปลี่ยนไป แต่เมื่อน้ำนั้นได้รับการบำบัด กรองกลั่น และอื่นๆ น้ำซึ่งใสสะอาดตามธรรมชาติดั้งเดิมก็ปรากฏขึ้นอีกครั้ง จิตเดิมแท้ ก็มีสภาพเช่นเดียวกัน เมื่อใดที่สรรพชีวิตได้รู้ เข้าใจ และดำรงอยู่ในจิตเดิมแท้ เมื่อนั้นสรรพชีวิตนั้นก็ดำรงภาวะแห่งพุทธะ

ฤทธิชัย

        รุ่งเช้า พระสังฆปริณายกให้ไปเชิญ นายโลชุน  จิตรกรแห่งราชสำนักมาแล้วเดินไปตามช่องทางเดินทางทิศใต้พร้อมกัน  เพื่อให้เขียนภาพที่ผนังเหล่านั้น  จึงเป็นการประจวบเหมาะที่ทำให้พระสังฆปริณายกได้เห็นโศลกที่ชินเชาเขียนไว้

        พระสังฆปริณายก  ได้กล่าวแก่โลชุนช่างเขียนว่า  "เสียใจที่ได้รบกวนท่านให้มาจนถึงนี่  บัดนี้เห็นว่า ผนังเหล่านี้ไม่ต้องเขียนภาพเสียแล้ว  เพราะสูตรๆนั้นได้กล่าวไว้ว่า "สรรพสิ่งที่มีรูป หรือมีความปรากฏกิริยาอาการ ย่อมเป็นอนิจจังและเป็นมายา"  ฉะนั้น ควรปล่อยโศลกนั้นไว้บนผนังอย่างนั้น เพื่อให้มหาชนได้ศึกษาและท่องบ่น  และถ้าเขาปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อความที่สอนไว้นั้น เขาก็จะพ้นทุกข์  ไม่ต้องไปเกิดในอบายภูมิ  อานิสงส์ที่ผู้ปฏิบัติตามจะพึงได้รับนั้นมีมากนัก"

        ครั้นกล่าวดังนั้นแล้ว  พระสังฆปริณายกได้สั่งให้นำเอาธูปเทียนมาจุดบูชาที่ตรงหน้าโศลกนั้น และสั่งให้ศิษย์ของท่านทุกคนทำความเคารพ  แล้วจำเอาไปท่องบ่น  เพื่อให้เขาสามารถพิจารณาเห็น  จิตเดิมแท้  เมื่อศิษย์เหล่านั้นท่องได้แล้ว ทุกคนพากันออกอุทานว่า "สาธู"

        ครั้นเวลาเที่ยงคืน  พระสังฆปริณายกได้ให้คนไปตามตัวชินเชามาที่หอแล้วถามว่าเขาเป็นผู้เขียนโศลกนั้นใช่หรือไม่  ชินเชาได้ตอบว่า  "ใช่ขอรับ  กระผมมิได้เห่อเหิมเพื่อตำแหน่งสังฆปริณายก  เพียงแต่หวังว่าหลวงพ่อจะกรุณาบอกให้ทราบว่า โศลกนั้นแสดงว่ามีแววแห่งปัญญาอยู่ในนั้นบ้างสักเล็กน้อย  หรือหาไม่"

        พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า  "โศลกของเจ้าแสดงว่าเจ้ายังไม่ได้รู้แจ้ง จิตเดิมแท้ เจ้ามาถึงประตูแห่งการบรรลุธรรมแล้วเป็นนาน  แต่เจ้ายังไม่ได้ก้าวข้ามธรณีประตูเข้าไป  การแสวงหาความตรัสรู้อันสูงสุด  ด้วยความเข้าใจอย่างของเจ้าที่มีอยู่ในขณะนี้นั้น ยากที่จะสำเร็จได้"

        "การที่ใครจะบรรลุอนุตรสัมโพธิได้นั้น ผู้นั้นจะต้องสามารถรู้แจ้งด้วยใจเอง ในธรรมชาติแท้ของตนเอง หรือที่เรียกว่า จิตเดิมแท้  อันเป็นสิ่งที่ใครสร้างขึ้นไม่ได้ หรือทำลายให้สูญหายไปก็ไม่ได้  ชั่วเวลาขณะจิตเดียวเท่านั้น  ผู้นั้นสามารถเห็นแจ้งจิตเดิมแท้  ได้โดยตลอดกาลทั้งปวง  ต่อจากนั้นทุกๆ สิ่งก็จะเป็นอิสระจากการถูกกักขัง  กล่าวคือจะเป็นวิมุติหลุดพ้นไป ตถตา (คือความเป็นแต่ที่เป็นอยู่เช่นนั้น ไม่อาจเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้, ซึ่งเป็นชื่อของจิตเดิมแท้อีกชื่อหนึ่ง) ปรากฏขึ้นเป็นครั้งเดียวหรือชั่วขณะจิตเดียว  ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระจากความหลงได้ตลอดกาลไม่มีที่สิ้นสุด  ไม่ว่าสถานการณ์รอบข้างจะเป็นเช่นไรใจของผู้นั้น  ก็จะยังคงอยู่ในสภาพแห่ง  "ความเป็นเช่นนั้น" สถานะเช่นนี้ที่จิตได้ลุถึงนั่นแหละคือตัวสัจจธรรมแท้  ถ้าเจ้าสามารถเห็นสิ่งทั้งปวง โดยลักษณะการเช่นนี้  เจ้าจะได้รู้แจ้งจิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นการตรัสรู้อันสูงสุด"

         "เจ้าไปเสียก่อน ไปคิดมันอีกสักสองวัน  แล้วเขียนโศลกอันใหม่มาให้ฉัน  ถ้าโศลกของเจ้าแสดงว่า เจ้าเข้าพ้นประตูไปแล้ว  ฉันจะมอบผ้ากาสาวพัสตร์และธรรมะ(แห่งนิกายธยาน) ให้แก่เจ้าสืบทอดไป"

        ชินเชา  กราบพระสังฆปริณายกแล้วหลีกไป  เวลาล่วงเลยมาหลายวันเขาก็ยังจนปัญญา  ในการที่จะเขียนโศลกอันใหม่  มันทำให้ใจของเขาหกหัวกลับไม่รู้บนล่างเหมือนคนถูกผีอำ  เป็นไข้ทั้งที่ตัวเย็นชืดเหมือนกับที่คนกำลังฝันร้ายจะนั่งหรือเดินอย่างไร ก็ไม่พบอาริยาบทที่ผาสุก.

                เวลาล่วงมาอีกสองวัน  บังเอิญเด็กหนุ่มคนหนึ่งเดินผ่านมาทางห้อง  ที่อาตมาตำข้าวอยู่  เด็กคนนั้น  ได้เดินท่องโศลกของชินเชา ที่จำมาจากฝาผนังอย่างดังๆ พอได้ยินโศลกนั้น  อาตมาก็ทราบได้ทันทีว่าผู้แต่งโศลกนั้น  ยังไม่ใช่ผู้เห็นแจ้งใน  จิตเดิมแท้  แม้ว่าในเวลานั้น  อาตมายังมิได้รับคำอธิบายอะไรเกี่ยวกับข้อความในโศลกนั้น  อาตมาก็ยังเข้าใจในความหมายทั่วๆไปของมันได้เป็นอย่างดี  อยู่เองแล้ว

        อาตมาถามเด็กนั้นว่า  "โศลกอะไรกันนี่?"  เด็กเขาตอบว่า "ท่านคนป่าคนเยิง, ท่านไม่ทราบเรื่องโศลกนี้ดอกหรือ? พระสังฆปริณายกได้ประกาศแก่ศิษย์ทั้งหลายว่า  ปัญหาเรื่องการเกิดใหม่ไม่รู้สิ้นสุดนั้น  เป็นปัญหาเฉพาะหน้าของคนทั้งหลาย, และว่าผู้ใดปรารถนาจะได้รับมอบผ้ากาสาวพัสตร์และธรรมะ จะต้องเขียนโศลกให้ท่านโศลกหนึ่ง  และว่าผู้ที่รู้แจ้งจิตเดิมแท้  จะได้รับมอบของเหล่านั้น  และจะถูกแต่งตั้งเป็นสังฆปริณายกองค์ที่หก ท่านชินเชาศิษย์อาวุโส ได้เขียนโศลกเรื่อง "ไม่มีรูป"  โศลกนี้ไว้ที่ผนัง  ทางเดินด้านทิศใต้  และ  พระสังฆปริณายกให้สั่งให้พวกเราท่องบ่นโศลกอันนี้ไว้  และท่านยังได้กล่าวไว้ด้วยว่า  ผู้ใดเก็บเอาคำสอนนี้ไปปฏิบัติ  ผู้นั้นจะได้รับอานิสงส์เป็นอันมาก  จะพ้นจากทุกข์แห่งการเกิดในอบายภูมิ"

        อาตมาได้บอกแก่เด็กหนุ่มคนนั้นว่า  อาตมาก็ปรารถนาที่จะท่องบ่นโศลกนั้นเหมือนกัน  เผื่อว่าในภพเบื้องหน้า  จะได้พบคำสอนเช่นนั้นอีก  อาตมาได้บอกเขาด้วยว่า  แม้อาตมาจะได้ตำข้าวอยู่ที่นี่ตั้งแปดเดือนมาแล้ว  ก็ไม่เคยเดินผ่านไปแถวช่องทางเดินเหล่านั้นเลย  เขาจะต้องนำอาตมาไปถึงที่ที่โศลกนั้นเขียนไว้บนผนัง  เพื่อให้อาตมาได้มีโอกาสทำการบูชาโศลกนั้น  ด้วยตนเอง

        เด็กหนุ่มนั้น  นำอาตมาไปยังที่นั่น  อาตมาขอร้องให้เขาช่วยอ่านให้ฟังเพราะอาตมาไม่รู้หนังสือ  เจ้าหน้าที่เสมียนพนักงานแห่งตำบลกองเจาคนหนึ่งชื่อ จางตัตยุง เผอิญมาอยู่ที่นั้นด้วย ได้ช่วยอ่านให้ฟัง  เมื่อเขาอ่านจบ อาตมาได้บอกแก่เขาว่า  อาตมาก็ได้แต่งโศลกไว้โศลกหนึ่งเหมือนกัน  และขอให้เขาช่วยเขียนให้อาตมาด้วย  เขาออกอุทานว่า  "พิลึกกึกกือเหลือเกิน  ที่ท่านก็มาแต่งโศลกกับเขาได้ด้วย"

        อาตมาได้ตอบว่า  "ถ้าท่านเป็นผู้ที่เสาะแสวงหาการบรรลุธรรมอันสูงสุดคนหนึ่งกะเขาด้วยละก็,  ท่านอย่างดูถูกคนเพิ่งเริ่มต้น  ท่านควรจะรู้ไว้ว่า  คนที่ถูกจัดเป็นคนชั้นต่ำ  ก็อาจมีปฏิภาณสูงได้เหมือนกัน  และคนชั้นสูง  ก็ปรากฏว่ายังขาดสติปัญญาอยู่บ่อยๆ  ถ้าท่านดูถูกคน  ก็ชื่อว่า  ท่านทำบาปหนัก"

        เขากล่าวว่า  "ไหนเล่า จงบอกโศลกของท่านมาชี  ฉันจะช่วยเขียนให้ท่านแต่อย่าลืมช่วยฉันนะ  ขอให้ท่านลุความสำเร็จในธรรมของท่านเถิด" โศลกของอาตมามีว่า:-

"ไม่มีต้นโพธิ์

ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสะอาด

เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว

ฝุ่นจะลงจับอะไร?"

        เมื่อเขาเขียนโศลกลงที่ผนังแล้ว  ทั้งพวกศิษย์และคนนอกทุกคนที่อยู่ที่นั่น  ต่างพากันประหลาดใจอย่างยิ่ง  จิตใจเต็มตื้นไปด้วยความชื่นชม  เขาพากันกล่าวแก่กันและกันว่า  "น่าประหลาดเหลือเกิน  ไม่ต้องสงสัยเลย  เราไม่ควรตัดสินใครว่าเป็นอย่างไร  ด้วยการเอารูปร่างภายนอกเป็นประมาณ  มันเป็นไปได้อย่างไรกันหนอ  ที่เราพากันใช้สอยโพธิสัตว์ผู้อวตาร  ให้ทำงานหนักให้แก่เรา  มานานถึงเพียงนี้?"

        พระสังฆปริณายก  เห็นคนเหล่านั้นพากันเต็มตื้น  ไปด้วยความอัศจรรย์ใจ  ท่านจึงเอารองเท้าลบโศลก  อันที่เป็นของอาตมาออกเสีย  ถ้าไม่ทำดังนั้น  พวกคนที่มักริษยาจะพากันทำร้ายอาตมา  พระสังฆปริณายก  แสดงความรู้สึกบางอย่างออกมา  ซึ่งทำให้คนเหล่านั้นพอใจที่จะคิดว่า  แม้ผู้ที่เขียนโศลกอันนี้ก็ยังไม่ใช่เป็นผู้ที่เห็นแจ้ง  จิตเดิมแท้  เหมือนกัน

         วันรุ่งขึ้น  พระสังฆปริณายกได้ลอบมาที่โรงตำข้าวอย่างเงียบๆ ครั้นเห็นอาตมาตำข้าวอยู่ด้วยสากหิน  ท่านกล่าวแก่อาตมาว่า  "ผู้ค้นหาหนทางต้องยอมเสี่ยงชีวิตของตนเพื่อธรรมะ  เขาควรทำเช่นนั้นมิใช่หรือ?"  แล้วท่านถามอาตมาต่อไปว่า  "ข้าวได้ที่แล้วหรือ?"  อาตมาตอบท่านว่า  ได้ที่นานแล้ว  ยังรอคอยอยู่ก็แต่ตะแกรงสำหรับร่อนเท่านั้น"  ท่านเคาะครกตำข้าวด้วยไม้เท้า 3 ครั้ง  แล้วก็ออกเดินไป

        อาตมาทราบดีว่าการบอกใบ้เช่นนั้น  หมายความว่ากระไร  ดังนั้นในเวลาสามยามแห่งคืนนั้น  อาตมาจึงไปที่ห้องท่าน  ท่านใช้จีวรขึ้นขึงบังมิให้ใครเห็นเราทั้งสองแล้ว  ท่านก็ได้อธิบายข้อความอันลึกซึ้งในวัชรสูตร(กิมกังเก็ง) ให้แก่อาตมา  เมื่อท่านได้อธิบายมาถึงข้อความที่ว่า  "คนเราควรจะใช้จิตของตน  ในวิถีทางที่มันจะเป็นอิสระได้จากเครื่องข้องทั้งหลาย"(*2)  ทันใดนั้นอาตมาก็ได้บรรลุการตรัสรู้ธรรมโดยสมบูรณ์  และได้เห็นแจ้งชัดว่า  "ที่แท้ทุกๆ สิ่ง

*2บันทึกของ  ออน คณาจารย์แห่งนิกายธยานผู้หนึ่งมีว่า-เป็นอิสระได้จากเครื่องข้องทั้งหลาย นั้น หมายความว่า ไม่ข้องแวะอยู่ในรูปหรือวัตถุ ไม่ข้องแวะอยู่ในเสียง ไม่ข้องแวะอยู่ในความหลง ไม่ข้องแวะอยู่ในการตรัสรู้ ไม่ข้องแวะอยู่ในสิ่งอันเป็นตัวยืนโรง  ไม่ข้องแวะอยู่ในสิ่งอันเป็นคุณลักษณะที่อาศัย(อยู่กับตัวที่ยืนโรง) คำว่า "ใช้จิต" นั้น หมายความว่า ให้ "จิตเอก" (กล่าวคือ ตัวจิตร่วมของสากลโลก) ได้ปรากฏตัวมันเองในที่ทุกแห่ง อธิบายว่า เมื่อใดจิตประกอบอยู่ด้วยเมตตา หรือโทสะก็ตาม  เมื่อนั้นตัวเมตตาหรือตัวโทสะก็ปรากฏแทนเสีย ส่วนตัว "จิตเดิมแท้" ลับหายไป  แต่เมื่อจิตของเราไม่ประกอบอยู่ด้วยอะไรเลย เราก็ย่อมเห็นได้โดยประจักษ์ว่า  โลกนี้ทั้งสิบภาค(หรือสิบทิศ) ไม่ใช่อะไรอื่นไกล  นอกไปจากความปรากฏของ "จิตเอก" นั้นเท่านั้น

คำอธิบายข้างบนนี้แน่นแฟ้นและตรงจุด นักศึกษาที่เป็นเจ้าตำรานั้น ไม่สามารถให้คำอธิบายที่น่าพอใจเช่นนี้ได้ เพราะเหตุนั้น  คณาจารย์ฝ่ายธยาน (รวมทั้งท่าน ออน อาจารย์ฝ่ายธยานมีชื่อของประเทศด้วย ผู้หนึ่ง)  จึงอยู่สูงกว่าพวกที่เทศนาสั่งสอน ตามพระไตรปิฎก  (ดิปิงเซ่ ผู้แปลเดิม)

ในสากลโลกนี้ก็คือตัว  จิตเดิมแท้  นั่นเองมิใช่อื่นไกล"

        อาตมาได้ร้องขึ้นในที่เฉพาะหน้าพระสังฆปริณายก ในที่นั้นว่า "แหม! ใครจะไปคิดว่า จิตเดิมแท้ นั้น เป็นของบริสุทธิ์อย่างบริสุทธิ์แท้จริง ใครจะไปคิดว่า จิตเดิมแท้ นั้น เป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้อำนาจ ความต้องเป็นอยู่ หรือภายใต้ความดับสูญ อย่างอิสระแท้จริง  ใครจะไปคิดว่า จิตเดิมแท้ นั้น เป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์อยู่ในตัวมันเอง อย่างสมบูรณ์แท้จริง  ใครจะไปคิดว่า  จิตเดิมแท้ นั้น เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความเปลี่ยนแปลง  อย่างนอกเหนือแท้จริง ใครจะไปคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏออกมานี้  ไหลเทออกมาจากตัว จิตเดิมแท้"

        เมื่อพระสังฆปริณายก สังเกตเห็นว่า  อาตมาได้เห็นแจ้งแล้วใน  จิตเดิมแท้  ท่านได้กล่าวว่า "สำหรับผู้ที่ไม่รู้จักจิตใจของตนเอง ว่าคืออะไร  ก็ป่วยการที่ผู้นั้นจะศึกษาพุทธศาสนา  ตรงกันข้าม  ถ้าผู้ใดรู้จักจิตใจของตนเองว่าเป็นอะไร  และเห็นด้วยปัญญาอย่างซึมซับว่า ธรรมชาติแท้ของตนเองคืออะไรด้วยแล้ว  ผู้นั้นคือวีรมนุษย์(นายโรงโลก) คือครูของเทวดาและมนุษย์  คือพุทธะ"

        ดังนั้น, ในฐานะที่ความรู้ย่อมไม่เป็นของบุคคลใดแต่ผู้เดียว  ธรรมะอันนั้นจึงถูกมอบตกทอดมายังอาตมาในเที่ยงคืนวันนั้นเอง  ผลก็คืออาตมาเป็นทายาทผู้ได้รับมอบทอดช่วง คำสั่งสอนแห่งนิกาย  "ฉับพลัน" (sudden school) พร้อมทั้งจีวรและบาตร (อันเป็นเครื่องหมายตำแหน่งสังฆปริณายกแห่งนิกายนี้สืบลงมาตั้งแต่สังฆปริณายกองค์แรก)

        พระสังฆปริณายกได้กล่าวสืบไปว่า  "บัดนี้ ท่านเป็นสังฆปริณายกองค์ที่หก  ท่านต้องคุ้มครองตัวของท่านให้ดี  จงช่วยมนุษย์ให้มากพอที่จะช่วยได้ จงทำการเผยแพร่คำสอน และสืบอายุคำสอนไว้อย่าให้ขาดตอนลงได้"  จงจำโศลกโคลงอันนี้ของเราไว้:-

                   "สัตว์ที่มีความรู้สึกนึกคิด ซึ่งเราหว่านเมล็ดพืชพันธุ์แห่งการตรัสรู้ ลงในเนื้อนาแห่งความเป็นไปตามอำนาจแห่งเหตุและผลแล้วจะเก็บเกี่ยวผลถึงพุทธภูมิ

                   วัตถุมิใช่สัตว์ที่มีความรู้สึกนึกคิด  เป็นสิ่งว่างเปล่าจากธรรมชาติแห่งพุทธะ  ย่อมไม่หว่านและไม่เก็บเกี่ยวเลย"

        ท่านได้กล่าวสืบไปว่า "เมื่อสังฆปริณายกนามว่า โพธิธรรมได้มาสู่ประเทศจีนนี้เป็นครั้งแรก  ชาวจีนส่วนมากไม่ยอมเชื่อในท่าน  ดังนั้น, ผ้ากาสาวพัสตร์นี้ จึงเกิดเป็นธรรมเนียมที่จะต้องมอบต่อๆกันไป  จากพระสังฆปริณายกองค์หนึ่งไปยังอีกองค์หนึ่ง  ในฐานะเป็นเครื่องหมาย  สำหรับธรรมะนั้นเล่า ก็มอบทอดช่วงกันไปตัวต่อตัวโดยทางใจ(จิตถึงจิต) ไม่เกี่ยวกับคัมภีร์และผู้รับมอบนั้น  ต้องเป็นผู้ที่เห็นธรรมะนั้นแล้วอย่างแจ่มแจ้ง  ด้วยความพยายามของตนเองโดยเฉพาะ  นับตั้งแต่อดีตกาลอันกำหนดนับไม่ได้เป็นต้นมา เป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันสำหรับพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง  ก็จะมอบหัวใจคำสอนของพระองค์ให้แก่ผู้จะสืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไป  แม้สำหรับพระสังฆปริณายกหัวหน้าแห่งนิกายองค์หนึ่งๆก็เหมือนกัน  ย่อมจะมอบคำสอนอันเร้นลับแห่งนิกายนั้นโดยตัวต่อตัว  ให้แก่พระสังฆปริณายกที่รองลำดับลงไปโดยความรู้ทางใจ (ไม่เกี่ยวกับตำรา) แต่สำหรับผ้ากาสาวพัสตร์และบาตรนี้อาจเป็นต้นเหตุแห่งการยื้อแย่งเถียงสิทธิกันขึ้นก็ได้  ท่านเป็นคนสุดท้ายที่ได้รับมอบในเวลานี้  ท่านควรมอบมันไปเสียแก่ผู้ที่จะรับสืบต่อจากท่านได้ ชีวิตของท่านกำลังล่อแหลมต่ออันตราย  จงเดินทางไปเสียจากที่นี่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้  มิฉะนั้นจะมีคนทำอันตรายท่าน

        อาตมาถามท่านว่า ควรจะไปทางไหน  ท่านตอบว่า "จงหยุดที่ตำบลเวย  แล้วซ่อนตัวอยู่ผู้เดียวที่ตำบลวุย"

        เมื่อได้รับผ้ากาสาวพัสตร์และบาตรในตอนเที่ยงคืนเสร็จแล้ว  อาตมาได้กล่าวกะท่านว่า  เนื่องจากตัวเป็นชาวใต้  จะรู้จักเดินทางไปตามภูเขาได้อย่างไรและไม่สามารถเดินไป(เพื่อลงเรือ) ที่ปากแม่น้ำได้  ท่านตอบว่า  "อย่าร้อนใจเราจะไปด้วย"

        ท่านได้มาเป็นเพื่อนอาตมา  จนถึงกิวเกียง, ณ ที่นั้นท่านได้บอกให้อาตมาลงเรือลำหนึ่ง  ท่านแจวเรือนั้นด้วยตนเอง  อาตมาจึงขอร้องให้ท่านนั่งลงเสียและอาตมาจะแจวเอง  ท่านตอบว่า  "มันเป็นสิทธิฝ่ายเราผู้เดียวเท่านั้นในการที่จะพาท่านข้ามไป (ในที่นี้หมายถึงทะเลแห่งการเกิดตาย  ซึ่งคนเราจะต้องข้าม ก่อนแต่จะลุถึงฝั่งคือนิพพาน) อาตมาจึงตอบท่านว่า  "เมื่อกระผมยังอยู่ภายใต้โมหะ ก็เป็นหน้าที่ที่หลวงพ่อจะต้องพากระผมข้ามไป  แต่เมื่อได้บรรลุธรรมเป็นการตรัสรู้แล้ว กระผมก็ควรจะข้ามมันด้วยตนเอง (คำว่า "ข้าม" ทั้งสองแห่งนั้น แม้เขียนเหมือนกัน แต่ความหมายต่างกัน)  โดยที่กระผมเกิดที่บ้านนอกชายแดน  แม้การพูดจาของกระผมยังแปร่งไม่ถูกต้องในการออกเสียงก็ตามแต่กระผมก็ได้รับเกียรติจากหลวงพ่อ ในการที่ได้รับมอบธรรมะอันนั้นจากหลวงพ่อ ฉะนั้นก็แปลว่ากระผมได้บรรลุธรรมแล้ว  มันควรจะเป็นสิทธิของกระผม  ในการที่จะพาตัวเองข้ามทะเลแห่งความเกิดตายไปได้ด้วยการที่ตนเห็นแจ้ง จิตเดิมแท้  ของตนเองแล้ว"

        "ถูกแล้ว  ถูกแล้ว"  ท่านรับรอง  แล้วท่านกล่าวต่อไปว่า  "นับจำเดิมแต่นี้เป็นต้นไป  เพราะอาศัยท่านเป็นเหตุ  พุทธศาสนา (หมายถึงนิกายธยาน)จะแผ่กว้างขวางไพศาล  นับตั้งแต่จากกันวันนี้แล้ว  อีกสามปีเราก็จะลาจากโลกนี้ไป  ท่านจงเริ่มต้นการจาริกของท่านตั้งแต่บัดนี้เถิด  จงลงไปทางใต้ให้เร็วเท่าที่จะเร็วได้  อย่าด่วนทำการเผยแพร่ให้เร็วเกินไป เพราะว่าพุทธธรรมนี้(หมายถึงนิกายธยาน) ไม่เป็นของที่เผยแพร่ได้โดยง่ายเลย

        เมื่อได้กล่าวคำอำลาแล้ว  อาตมาก็จากท่าน เดินทางลงมาทางทิศใต้ เป็นเวลาประมาณสองเดือน  อาตมาก็มาถึงภูเขาไต้ยู้ ณ ที่นี้ อาตมาได้สังเกตเห็นว่ามีคนหลายร้อยคนติดตามรอยอาตมา  ด้วยหวังจะยื้อแย่งผ้ากาสาวพัสตร์ และบาตร (เป็นปูชนียวัตถุของพระพุทธเจ้า)

        ในจำพวกคนที่ติดตามมานั้น  มีภิกษุอยู่ด้วยรูปหนึ่งชื่อไวมิง  เมื่อเป็นฆราวาสใช้แซ่สกุลว่า เซ็น  และมียศนายทหารเป็นนายพลจัตวา  มีกิริยาหยาบคายโทสะฉุนเฉียว  ในบรรดาคนที่ติดตามอาตมามานั้น  เขาเป็นคนที่สะกดรอยเก่งที่สุด  ครั้นเขามาใกล้จวนจะถึงตัวอาตมา  อาตมาก็วางผ้ากาสาวพัสตร์กับบาตรลงบนก้อนหิน  ประกาศว่า "ผ้านี้ไม่เป็นอะไรอื่น  นอกจากจะเป็นเครื่องหมายเท่านั้น  จะมีประโยชน์อะไร ในการที่จะยื้อแย่งเอาไปด้วยกำลัง?" (แล้วอาตมาก็หลบไปซ่อนเสีย)

        ครั้นภิกษุไวมิงมาถึงก้อนหินนั้น เขาพยายามที่จะหยิบมันขึ้น  แต่กลับปรากฏว่าเขาไม่สามารถจะทำเช่นนั้นได้  แล้วเขาได้ตะโกนว่า "พ่อน้องชาย พ่อน้องชาย  ฉันมาเพื่อหาธรรมะ  ไม่ใช่มาเพื่อเอาผ้า" (พึงทราบว่าเวลานี้  พระสังฆปริณายกองค์ที่หกนี้ยังไม่ได้รับการอุปสมบท จึงถูกเรียกว่า พ่อน้องชาย เหมือนที่ฆราวาสเขาเรียกกัน)

        ต่อจากนั้น  อาตมาก็ออกจากที่ซ่อน  นั่งลงบนก้อนหินนั้น ภิกษุไวมิงทำความเคารพ  แล้วกล่าวว่า "น้องชาย แสดงธรรมแก่ฉันเถิด ช่วยที"

        อาตมาได้กล่าวกะภิกษุไวมิงว่า  "เมื่อความประสงค์แห่งการมาเป็นความประสงค์เพื่อจะฟังธรรมแล้ว ก็จงระงับใจไม่ให้คิดถึงสิ่งใดๆ แล้วทำใจของท่านให้ว่างเปล่า  เมื่อนั้นข้าพเจ้าจึงจะสอนท่าน"  ครั้นเขาทำดังนั้นชั่วเวลาพอสมควรแล้ว   อาตมาได้กล่าวว่า  "เมื่อท่านทำในใจไม่คิดทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว(รู้จักสิ่งที่ไม่ดีและไม่ชั่ว) แล้ว ในเวลานั้นเป็นอะไร ท่านที่นับถือ นั่นคือธรรมชาติแท้ของท่าน (ตามตัวหนังสือ  เรียนหน้าตาดั้งเดิมของท่าน) มิใช่หรือ?"

        พอภิกษุไวมิงได้ฟังดังนั้น  ท่านก็บรรลุธรรมทันที  แต่ท่านได้ถามต่อไปว่า  "นอกจากคำสอนและข้อคิดอันเร้นลับ  ที่พระสังฆปริณายกท่านมอบต่อๆ กันลงไป  หลายชั่วพระสังฆปริณายกมากันแล้วนั้น ยังมีคำสอนเร้นลับอะไรอีกบ้างไหม?"  อาตมาตอบว่า "สิ่งที่ข้าพเจ้าจำนำมาสอนให้ท่านได้นั้น  ไม่ใช่ข้อเร้นลับอะไร  คือถ้าท่านมองย้อนเข้าข้างใน (*3)  ท่านจะเห็นสิ่งเร้นลับมีอยู่ในตัวท่านแล้ว"

*3 หลักสำคัญที่สุดในคำสอนของนิกายธยานนั้น คือ "การมองด้านใน" หรือ "การเฝ้าดูแต่ภายใน" หมายถึงการหมุนให้ "แสง"ของตัวเอง  ฉายกลับเข้าภายในถ้าจะเปรียบ  เราควรจะเปรียบกับตะเกียง  คือเราทราบดีว่าแสงของตะเกียงนั้น  เมื่อมีโป๊ะครอบอยู่โดยรอบ  ก็ย่อมกระท้อนกลับเข้าภายใน  พร้อมทั้งรัศมีทั้งหมดไปรวมจุดศูนย์กลางอยู่ที่ดวงไฟผิดกับตะเกียงที่ไม่มีโป๊ะครอบ  แสงก็จะพร่าจางหายไปในภายนอก  เมื่อเราคอยแต่จะวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น  ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามักเคยทำกันจนเคยตัว  ก็เป็นการยากที่จะหมุนความคิดนึกให้มาสนใจแต่ตัวเองโดยเฉพาะ  เพราะเหตุนั้น  จึงเป็นการยากที่จะทราบเรื่องต่างๆ ของตัวเอง  โดยลักษณะตรงกันข้าม  พวกนิกายธยานหมุนความสนใจส่องกลับเข้าภายในทั้งหมด  และส่องระดมลงไปที่  "ธรรมชาติแท้"  ของตัวเองซึ่งเรียกกันในระหว่างชนชาวจีนว่า  "หน้าตาดั้งเดิม" ของตัวเอง

เพื่อมิให้ผู้อ่านผ่านพ้นความสำคัญตอนนี้ไปเสีย  จึงควรบันทึกข้อความนี้ไว้เป็นเครื่องสะกิดใจว่า  ในประเทศจีนแห่งเดียวเท่านั้น  พุทธบริษัทจำนวนพันๆ ได้บรรลุธรรมถึงขั้นสูงโดยการปฏิบัติตามคำสอนอันฉลาด (ในการลัดทางตรง) ของพระสังฆปริณายกองค์ที่หกนี้ (ดิปิงเซ่ ผู้แปลเดิม)

         ภิกษุไวมิงได้กล่าวขึ้นว่า  "แม้ฉันจะอยู่ที่วองมุยมานมนาน ฉันก็ไม่ได้เห็นแจ้งตัวธรรมชาติแท้ของจิตฉันเลย  บัดนี้รู้สึกขอบคุณเหลือเกินในการชี้ทางของท่าน  ฉันรู้สิ่งนั้นชัดแจ้ง  เหมือนที่คนดื่มน้ำเขารู้แจ้งชัดว่า  น้ำที่เขาดื่มนั้นร้อนหรือเย็นอย่างไร  พ่อน้องชายเอ๋ย  บัดนี้ท่านเป็นครูของฉันแล้ว"

        อาตมาตอบว่า  "ถ้าเป็นดังนั้นจริงแล้ว  ท่านกับข้าพเจ้า ก็เป็นศิษย์ร่วมอาจารย์เดียวกัน  ของพระสังฆปริณายกองค์ที่ห้า ท่านจงคุ้มครองตัวของท่านให้ดีเถิด"  เมื่อเขาถามอาตมาว่าต่อจากนี้ไป เขาควรจะไปทางไหน  อาตมาก็ตอบแก่เขาว่า  ให้เขาหยุดที่ตำบลยีวน  แล้วตั้งพำนักอาศัยที่ตำบลม็อง  เขาก็ทำความเคารพแล้วจากกันไป"

               ต่อมาไม่นาน  อาตมาก็ไปถึงตำบลโซกาย, ณ ที่นั้น พวกใจบาปได้ตามจองล้างจองผลาญอาตมาอีก ทำให้อาตมาต้องหลบซ่อนอยู่ที่ซีวุย  อันเป็นที่ซึ่งอาตมาได้อาศัยอยู่กับพวกพรานป่าตลอดเวลานานถึง 15 ปี ในบางโอกาส อาตมาก็หาทางสั่งสอนเขาตามที่เขาพอจะเข้าใจได้บ้าง  เขาเคยใช้อาตมาให้นั่งเฝ้าข่ายดักจับสัตว์ของเขา, เมื่ออาตมาเห็นสัตว์มาติดที่ข่ายนั้น  ก็ปลดปล่อยให้รอดชีวิตไป  ในเวลาหุงต้มอาหาร  อาตมานำผักมาใส่ลงไปในหม้อที่เขากำลังต้ม  หรือแกงเนื้อ  บางคนสงสัยก็ถามอาตมา  อาตมาตอบให้ฟังว่า แม้เนื้อนั้นแกงรวมกันอยู่กับผัก อาตมาก็จะคัดเลือกรับประทานแต่ผักอย่างเดียวเท่านั้น

        วันหนึ่ง  อาตมารำพึงในใจตนเองว่า  อาตมาไม่ควรจะเก็บตัวซ่อนอยู่เช่นนี้ตลอดไป  มันถึงเวลาแล้ว  ที่อาตมาจะทำการประกาศธรรม ดังนั้นอาตมาจึงออกจากที่นั้น  และได้ไปสู่อาวาสฟัดฉิ่นในนครกวางตุ้ง

        ในขณะนั้น  ภิกษุเยนชุง  ผู้เป็นธรรมาจารย์มีชื่อเสียงองค์หนึ่ง กำลังเทศนาว่าด้วยมหาปรินิวาณสูตร  อยู่ในอาวาสนั้น  มันเป็นการบังเอิญในวันนั้น เมื่อธงริ้วกำลังถูกลมพัดสะบัดพริ้วๆ อยู่ในสายลม ภิกษุสองรูปเกิดโต้เถียงกันขึ้นว่าสิ่งที่กำลังไหวสั่นระรัวอยู่นั้น ได้แก่ลม หรือได้แก่ธงนั้นเล่า  เมื่อไม่มีทางที่จะตกลงกันได้  อาตมาจึงเสนอข้อตัดสินให้แก่ภิกษุสองรูปนั้นว่า ไม่ใช่ลมหรือธงทั้งสองอย่าง ที่แท้จริง ที่หวั่นไหวจริงๆ นั้น ได้แก่จิตของภิกษุทั้งสองรูปนั้นเองต่างหากที่ประชุมที่กำลังประชุมกันอยู่ในที่นั้น พากันตื่นตะลึง.ในถ้อยคำที่อาตมาได้กล่าวออกไป และภิกษุเยนชุง  ได้อาราธนาอาตมาให้ขึ้นนั่งบนอาสนะอันสูงแล้วได้ซักถามปัญหาที่เป็นปมยุ่งต่างๆ ในพระสูตรที่สำคัญๆ หลายพระสูตร

        เมื่อได้เห็นว่า  คำตอบของอาตมาชัดเจนแจ่มแจ้งและมั่งคง  และเห็นว่าเป็นคำตอบที่มีอะไรสูงยิ่งไปกว่าความรู้ ที่จะหาได้จากตำราแล้ว  ภิกษุเยน
ชุงได้กล่าวแก่อาตมาว่า  "น้องชาย  ท่านต้องเป็นบุคคลพิเศษเหนือธรรมดาเป็นแน่ เราได้ฟังข่าวมานานแล้วว่า  บุคคลผู้ได้รับมอบผ้ากาสาวพัสตร์ และธรรมะจากพระสังฆปรินายกองค์ที่ห้านั้น  บัดนี้ได้เดินทางลงมาทางทิศใต้แล้ว  ท่านต้องเป็นบุคคลผู้นั้น เสียแน่แล้ว"

        อาตมา  ได้แสดงกิริยายอมรับโดยอ่อนน้อม  ทันใดนั้น  ภิกษุเยนชุงได้ทำความเคารพ  และขอให้อาตมานำผ้าและบาตร ซึ่งได้รับมอบ  ออกมาให้ที่ประชุมดูด้วย  แล้วได้ถามอาตมาสืบไปว่า  เมื่อสังฆปริณายกองค์ที่ห้ามอบธรรมอันเร้นลับสำหรับสังฆปริณายก  ให้แก่อาตมานั้น  อาตมาได้รับคำสั่งสอนอะไร อย่างใดบ้าง

        อาตมาตอบว่า  "นอกจากการคุ้ยเขี่ยด้วยเรื่องการเห็นแจ้งชัดใน  จิตเดิมแท้  แล้ว ท่านไม่ได้ให้คำสอนอะไรอีกเลย  ท่านไม่ได้เอ่ยถึงแม้แต่เรื่องธยานและวิมุต"  ภิกษุเย็นชุงสงสัย  จึงถามอาตมาว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น  อาตมาตอบว่า เพราะว่ามันจะทำให้เกิดความหมายว่า มีหนทางขึ้นถึงสองทาง ก็ทางในพุทธธรรมนี้  จะมีถึงสองทางไม่ได้  มันมีแต่ทางเดียวเท่านั้น

        ภิกษุเยนชุง  ถามอาตมาต่อไปว่า  ที่ว่ามีแต่ทางเดียวนั้นคืออะไร  อาตมาตอบว่า  "ก็มหาปรินิรวาณสูตรซึ่งท่านนำออกเทศนาอยู่นั่นเอง  ย่อมชี้ให้เห็นอยู่แล้วว่า  ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ(ซึ่งมีอยู่ในคนทุกคน) นั่นแหละคือทางทางเดียว  ยกตัวอย่างตอนหนึ่งในพระสูตรนั้นมีว่า พระเจ้าโกโกวตั่ก ซึ่งเป็นโพธิสัตว์องค์หนึ่ง  ได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า บุคคลที่ล่วงปาราชิกสี่อย่างก็ดี  หรือทำอนันตริยกรรมห้าอย่างก็ดี  และพวกอิจฉันติกะ (คือมิจฉาทิฏฐินอกศาสนา) ก็ดี ฯลฯ คนเหล่านี้  จะได้ชื่อว่าถอนรากเหง้าแห่งความดี  และทำลาย  ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ ของตนเองเสียแล้ว  โดยสิ้นเชิงหรือหาไม่?  พระพุทธเจ้าได้ตรัสตอบว่า รากเหง้าของความดีนั้น  มีอยู่สองชนิดคือ ชนิดที่ถาวรตลอดอนันตกาล กับไม่ถาวร(Eternal, and Non-eternal) เพราะเหตุที่ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะนั้น จะเป็นของถาวรตลอดอนันตการก็ไม่ใช่ จะว่าไม่ถาวรก็ไม่ใช่  เพราะฉะนั้น  รากเหง้าแห่งความดีของเขา  จึงไม่ถูกถอนขึ้นโดยสิ้นเชิง"  ในบัดนี้ก็เป็นที่ปรากฏแล้วว่า  พุทธธรรมมิได้มีทางสองทาง  ที่ว่าทางฝ่ายดีก็มี  ทางฝ่ายชั่วก็มี  นั้นจริงอยู่   แต่เพราะเหตุที่ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะนั้น  เป็นของไม่ดีไม่ชั่ว  เพราะฉะนั้น พุทธธรรมจึงเป็นที่ปรากฏว่าไม่มีทางถึงสองทาง  ตามความคิดของคนธรรมดาทั่วไปนั้นเข้าใจว่า ส่วนย่อยๆของขันธ์และธาตุทั้งหลายนั้น  เป็นของที่แบ่งแยกออกได้เป็นสองอย่าง  แต่ผู้ที่ได้บรรลุธรรมแล้ว ย่อมเข้าใจว่า  สิ่งเหล่านั้นตามธรรมชาติไม่ได้เป็นของคู่เลย พุทธภาวะหรือธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธนั้นไม่ใช่เป็นของคู่"

        ภิกษุเยนชุง  พอใจในคำตอบของอาตมาเป็นอย่างสูง ได้ประนมมือทั้งสองขึ้นเป็นการแสดงความเคารพแล้ว  ท่านได้กล่าวแก่อาตมาว่า  "คำอธิบายความในพระสูตรที่ข้าพเจ้าเองอธิบายไปแล้วนั้น  ไร้มูลค่า เช่นเดียวกับกองขยะมูลฝอยอันระเกะระกะไปหมด  ส่วนคำอธิบายของท่านนั้น  เต็มไปด้วยคุณค่าเปรียบเหมือนทองคำเนื้อบริสุทธิ์" ครั้นแล้วท่านได้ช่วยจัดการให้อาตมาได้รับการ ประกอบพิธีปลงผม และรับการบรรพชาอุปสมบท  เป็นภิกษุในพุทธศาสนา และได้ขอร้องให้อาตมา รับท่านไว้ในฐานะเป็นศิษย์คนหนึ่งด้วย

        จำเดิมแต่นั้นมา  อาตมาก็ได้ทำการเผยแพร่คำสอนแห่งสำนักตุงซั่น (คือ สำนักแห่งพระสังฆปริณายกองค์ที่สี่และองค์ที่ห้า ซึ่งอยู่ในวัดตุงซั่น) ตลอดมาภายใต้ร่มเงาของต้นโพธิ์(*4)

*4 คำว่าต้นโพธิ์ในที่นี้ เข้าใจว่าหมายถึงบารมีของพระพุทธเจ้า  หรือมิฉะนั้นก็หมายถึงพุทธภาวะหรือธรรมชาติแห่งพุทธะ  ซึ่งถือเป็นของสำคัญเพียงอย่างเดียวในนิกายนี้ (พุทธทาส ผู้แปลไทย)

          นับตั้งแต่อาตมาได้รับมอบพระธรรมมาจากสำนักตุงซั่นแล้ว  อาตมาต้องตกระกำลำบากหลายครั้งหลายหน  ชีวิตปริ่มจะออกจากร่างอยู่บ่อยๆ  วันนี้อาตมาได้มีเกียรติมาพบกับท่านทั้งหลาย  ในที่ประชุมนี้  ทั้งนี้ อาตมาต้องถือว่าเป็นเพราะเราได้เคยติดต่อสัมพันธ์กันมาเป็นอย่างดีแล้วแต่ในกัลป์ก่อนๆ รวมทั้งอานิสงส์แห่งบุญกุศล  ที่เราได้สะสมกันไว้  ในการถวายไทยธรรมร่วมกันมาแต่พระพุทธเจ้าหลายพระองค์ในชาติก่อนๆของเรานั่นเอง  มิฉะนั้นแล้วไฉนเราจะมีโอกาสได้ยินได้ฟังคำสอนแห่ง  "สำนักบรรลุฉับพลัน" อันเป็นรากฐานที่ทำให้เราเข้าใจพระธรรมได้แจ่มแจ้ง ในอนาคตนั้นเล่า

        คำสอนอันนี้  เป็นคำสอนที่  "ได้มอบสืบทอดต่อๆ กันลงมาจากพระสังฆปริณายกองค์ก่อนๆ หาใช่เป็นคำสอนที่อาตมาประดิษฐ์คิดขึ้นด้วยตนเองไม่  ผู้ที่ปรารถนาจะสดับพระธรรมนั้น  ในขั้นแรกควรจะชำระใจของตนให้ ครั้นได้ฟังแล้ว ก็ควรจะชะล้างความสงสัยของตน  ให้เกลี้ยงเกลาไปเฉพาะตนๆ โดยทำนองที่พระมุนีทั้งหลายในกาลก่อนได้เคยกระทำกันมา จงทุกคนเถิด"

        ครั้นจบพระธรรมเทศนา  ผู้ฟังพากันปลาบปลื้มด้วยปิติ  ทำความเคารพแล้วลาไป

จากประวัติการรับมอบธรรมะของพระสังฆปริณายกเว่ยหล่าง จะพบว่ามีสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นข้อบ่งชึ้ว่า พระสังฆปริณายกเว่ยหล่างท่านเกิดมาพร้อมด้วยการบรรลุธรรมแล้ว ท่านเกิดมาเพื่อทำหน้าที่ในการอบรมสั่งสอน ช่วยเหลือสรรพสัตว์ การรู้ซึ้ง เข้าใจ ในธรรมะชั้นสูงสุด จนเขียนโศลกว่า "ไม่มีต้นโพธิ์  ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใส สะอาด   เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว  ฝุ่นจะลงจับอะไร?" แม้แต่นักปราชญ์ราชบัณฑิต ก็ยังไม่สามารถที่เข้าใจได้ ชินเชา ศิษย์พี่ แม้ฝึกฝนปฏิบัติมามากกว่าสิบปี ก็ยังไม่สามารถเข้าใจได้ แต่ท่านซึ่งไม่รู้หนังสือไม่เคยได้รู้ได้เห็น เพียงได้ฟังโศลกของศิษย์ผู้พี่เท่านั้นก็รู้แจ้งแทงตลอดแล้ว อีกทั้งคำตอบโต้กับพระสังฆปริณายกองค์ที่ห้า ว่าตนแม้จะแตกต่างกับท่านก็เพียงความเป็นคนหนือกับคนใต้ คนป่ากับสังฆปริณายกผู้รู้ธรรมแล้วเท่านั้น แต่ธรรมชาติของการรู้ธรรมมิใช่จะต่างกัน จึงมิต้องสงสัยว่า ท่านเป็นผู้บรรลุพุทธภาวะแล้วกลับมาเกิดใหม่เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ จากการที่ท่านเข้าพบและรับมอบธรรมะจากพระสังฆปริณายกองค์ที่ห้า จะเห็นว่าสิ่งที่ได้รับ เป็นเพียง ธรรมะเพื่อยืนยันในสิ่งที่ท่านได้รู้แล้ว หรืออาจเสริมเติมบางสิ่งที่เลือนหายไปบ้างจากการเดินทางข้ามชาติข้ามภพเท่านั้น พระสังฆปริณายกเว่ยหล่าง ก็ไม่ต่างจาก พระสังฆปริณายกองค์ที่ 1 ของจีน คือท่านโพธิธรรม หรือตั๊กม้อ ซึ่งท่านก็คือ ผู้กลับชาติมาเกิดของพระโพธิสัตว์วัชรปาณีนั่นเอง ท่านถือกำเนิดเป็นองค์ชายแห่งอาณาปัลลวะ และต่อมาจึงเป็นโพธิธรรม นำพระพุทธศาสนานิกายเซ็นหรือธยานเข้าสู่ประเทศจีน ในราวพุทธศตวรรษที่ 10 หลักการปฏิบัติเพื่อการบรรลุของเซ็นจัดได้เป็นสองสายคือสายสูงถ่ายทอดธรรมด้วยจิตถึงจิต ไม่ยึดถือพระสูตรหรือพระคัมภีร์ใด เพียงรู้แจ้ง เห็นแจ้งใน ศูนยตา  ก็บรรลุ แต่ก็ไม่หนีไปจากปรัชญาแห่งนิกาย โยคาจารย์และวิชญาวาท เพื่อบรรลุศูนยตา แห่งปรัชญาแห่งมัธยมิก อีกสายหนึ่งคือสายสามัญ เน้นการฝึกฝนวิปัสสนา โดยเน้นหนักที่จิต ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งประกอบอื่นใด อีกทั้งไม่มีตัวช่วย ผู้ต้องการบรรลุต้องช่วยตนเอง โดยการตีปริศนาศูนยตา ให้แตก เมื่อนั้นก็จะได้บรรลุมรรคผลดังต้องการ  เวปมาสเตอร์ฤทธิชัย

 

หมวดที่ 2 ปรัชญา

 

หมวดที่ 2

ว่าด้วย-ปรัชญา

***********

                วันต่อมา  ข้าหลวงไว่  ได้นิมนต์ขอให้พระสังฆปริณายกแสดงธรรมอีก  เมื่อพระสังฆปริณายกได้ขึ้นธรรมาสน์  และได้ขอร้องให้ที่ประชุมทั้งสิ้นทำจิตให้ผ่องใสและสวดข้อความแห่งมหาปรัชญาปารมิตาสูตรดัง ๆ พร้อมกันจบลงแล้ว  ท่านได้แสดงธรรมด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้:-

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  ปัญญาทำสัตว์ให้ลุถึงการตรัสรู้นั้น มีอยู่ในตัวเราทุกๆ คนแล้ว  แต่เป็นเพราะมีอวิชชาความมืดบอดที่ครอบงำใจของเราไว้  เราจึงไม่มองเห็นมันด้วยตนเอง จนเราต้องเที่ยวเสาะแสวงคำแนะนำตักเตือนจากผู้อื่น  ที่เขาได้เห็นแจ้งแล้วก่อนหน้าที่เราจะรู้จัก  จิตเดิมแท้  ของเราเอง  ท่านทั้งหลายควรจะทราบเอาไว้ว่า  ถ้าธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ  ยังถูกห่อหุ้มเกี่ยวพันอยู่เพียงใดแล้ว  มันไม่มีความแตกต่างอะไรกันระหว่างผู้ที่เห็นแจ้งกับผู้ที่มืดบอด  ข้อที่แตกต่างกันนั้น  มันอยู่ที่คนหนึ่งได้ตรัสรู้แจ่มแจ้ง (เพราะพุทธสภาวะอันเกี่ยวกับผู้นั้นถูกเพิกถอนเครื่องห่อหุ้มได้หมดจดแล้ว) ส่วนอีกคนหนึ่งยังมืดมิดอยู่  เอาละ  บัดนี้อาตมาจะได้กล่าวถึงเรื่อง  มหาปรัชญาปารมิตากะท่านทั้งหลาย  เพราะท่านทุกๆ คนสามารถบรรลุถึงปัญญาอันนั้น.

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  บรรดาพวกคนที่สวดร้องถึงคำว่า "ปรัชญาๆ" (*5) อยู่ตลอดทั้งๆ วัน ก็ดูเหมือนว่าเขาเหล่านั้นไม่ได้ทราบเลยว่าปรัชญานั้น

*5 คำว่าปรัชญา  เป็นคำสันสกฤต ตรงกับคำว่า ปัญญา ในภาษาบาลี หรือภาษาไทย แต่ในภาษาไทยนำคำนี้ไปใช้มีความหมายเป็นอย่างอื่นจากคำว่าปัญญา  ตามที่ใช้กันอยู่โดยมากใช้หมายถึงหลักความคิด  ที่แสดงภูมิแห่งปัญญาอันสูงสุดสายใดสายหนึ่ง แล้วแต่เรียกว่าปรัชญาอะไร  หรือปรัชญาของใคร  แต่ในสูตรนี้ใช้คำนี้  หมายถึงปัญญาชนิดที่เพียงพอในการที่จะช่วยตัวให้พ้นทุกข์ทั้งปวง และถือว่าปรัชญานั้น มีตามธรรมชาติติดมาในคนทุกๆ คนแล้วแต่ดั้งเดิม หากแต่ว่ามีโมหะมาปกคลุมเสีย คนจึงไม่รู้จักปัญญาชนิดนี้ของตนเอง  ทั้งที่มีอยู่แล้ว  กลับไปหลงหาปัญญาจากภายนอก  ซึ่งเปรียบกับปัญญานี้ไม่ได้ (ผู้แปลไทย พุทธทาส)

มันมีอยู่ในธรรมชาติเดิมของเขาเองแล้ว  ก็การที่เพียงแต่พูดกันถึงอาหาร  ย่อมไม่อาจบำบัดความหิวได้ฉันใด  ในกรณีของบุคคลผู้เอ่ยถึงปรัชญาแต่ปาก  ก็ไม่อาจขจัดความมืดบอดได้ฉันนั้น  เราอาจพูดกันถึงเรื่องศูนยตา(ความว่าง) เป็นเวลาตั้งแสนกัลป์ก็ได้  แต่ว่าลำพังการพูดอย่างเดียว  ไม่สามารถทำให้เราเห็นแจ่มแจ้งในจิตเดิมแท้ได้  และในที่สุดก็ไม่ได้อะไร  ตามที่ตนประสงค์เลย

        คำว่า  "มหาปรัชญาปารมิตา" นี้ เป็นคำสันสกฤต  มีความหมายว่า "ปัญญาอันใหญ่หลวง  เพื่อให้ลุถึงฝั่งฟากโน้น (แห่งทะเลสังสารวัฏ) สิ่งที่เราต้องทำนั้น คือต้องปฏิบัติมันด้วยใจของเรา  จะท่องบ่นมันหรือไม่นั้นไม่ใช่ข้อสำคัญ การท่องบ่นกันเฉยๆ โดยปราศจากการปฏิบัติด้วยใจนั้น  จะได้ผลเหมือนกะเราไปเล่นกับอสูรกาย  หรือเหมือนกับหยาดน้ำค้างตามใบหญ้า  แต่อีกทางหนึ่งนั้น ถ้าเราทำทั้งสองอย่าง(คือทั้งท่องบ่นและปฏิบัติด้วยใจ) แล้วใจของเราก็จะประเสริฐสมคล้อยกับสิ่งที่ปากของเรากำลังท่อง  ธรรมชาติแท้ของเรานั้น คือธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ  และนอกไปจากธรรมชาติอันนี้แล้วหามีพุทธะที่ไหนอีกไม่เลย

        คำว่า  "มหา"  หมายความว่าอะไร?  หมายความว่า  "ใหญ่หลวง" ขนาดใจนั้นใหญ่หลวงเหมือนกันกับอวกาศ(*6) มันเป็นสิ่งบัญญัติไม่ได้คือมันไม่ใช่

*6 อวกาศ (space) ในสูตรนี้  หมายถึงเนื้อที่ทั้งหมด  ที่สกลจักรวาลนี้ไปบรรจุอยู่  และรวมทั้งที่ยังมีเหลือเป็นที่ว่างเปล่า  เช่นท้องฟ้าระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวทั้งหลายเป็นต้น  หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง  เท่ากับเนื้อที่ของพาหิรากาศ(Ether) ทั้งหมดนั่นเอง (ผู้แปลไทย พุทธทาส)

ของกลมหรือของเป็นเหลี่ยม    ไม่ใช่ของซึ่งมีบนมีล่าง  ไม่ใช่ของสั้นหรือยาว  ไม่ใช่ความชังหรือความชื่น  ไม่ใช่ความถูกหรือความผิด  ไม่ใช่ของดีหรือของชั่ว ไม่ใช่ของอันแรกหรือของอันสุดท้าย  พุทธเกษตร(คือขอบเขตของพุทธะหนึ่งๆ) ทุกๆเกษตรนั้น  ว่างเหมือนกันกับอวกาศ  อย่างที่จะเป็นอื่นไปไม่ได้เลย  แม้ธรรมชาติ (แห่งความเป็นพุทธะ) อันประเสริฐของเรา ก็ว่างเช่นเดียวกัน และไม่ใช่เป็นภูมิธรรมอันเดียวเรื่องเดียวนี้เท่านั้น  ที่เราลุถึงด้วยการตรัสรู้ (เพราะว่าธรรมชาติอันนั้น)  มันเป็นของสิ่งเดียวกันกับจิตเดิมแท้  ซึ่งเป็นภาวะแห่ง  "ความว่างเด็ดขาด" (กล่าวคือความว่างของสิ่งซึ่งมีอยู่แท้ๆ)

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  เมื่อท่านทั้งหลายได้ฟังอาตมากล่าวถึงความว่างอันนั้น  ขอท่านทั้งหลายอย่าเข้าใจดิ่งไปจับเอาลัทธิที่ว่าขาดสูญไม่มีอะไรขึ้นมาว่าเป็นอันเดียวกัน  (เพราะว่าความเห็นว่า ขาดสูญเช่นนั้น  รวมอยู่ในมิจฉาทิฏฐิ พวกอุจเฉททิฏฐิ)  มันเป็นสิ่งสำคัญอย่างที่สุด  ที่เราจะต้องไม่ตกดิ่งลงไปในมิจฉาทิฏฐิอันนี้  เพราะว่าเมื่อคนเรานั่งอยู่เงียบๆ ทำใจของเขาให้ว่างๆ เขาก็จะตั้งอยู่ในภาวะแห่ง  "ความว่างเพราะว่างเฉย"  ได้เหมือนกัน

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  ความว่างอันไม่มีขอบเขตจำกัดของสกลจักรวาล  เป็นสิ่งที่มีความจุมากพอที่จะรวมเอาสิ่งต่างๆ ตั้งแสนๆ สิ่ง  ซึ่งมีรูปและสัณฐานแปลกๆ กันเข้าไว้ในตัวมันได้  สิ่งเหล่านั้น เช่น ดวงอาทิตย์  ดวงจันทร์  ดาวทั้งหลาย ภูเขา แม่น้ำ แผ่นดิน น้ำพุ ลำธาร พุ่มไม้ ป่าไม้ คนดี คนชั่ว ธรรมะฝ่ายดี  ธรรมะฝ่ายชั่ว เมืองสวรรค์ เมืองนรก  มหาสมุทร ภูเขาทั้งหลายในเทือกเขามหาเมรุ(หิมาลัย)  อวกาศนั้น  ซึมเข้าไปมีอยู่ทั่วในสิ่งต่างๆ  ที่กล่าวนามมาแล้วทั้งหมดนี้  และ "ความว่าง" แห่งธรรมชาติแท้ของเรา ก็เข้าไปมีอยู่ในสิ่งต่างๆ อย่างเดียวกัน  เรากล่าว  จิตเดิมแท้  ว่าเป็นใหญ่หลวง  ก็เพราะว่ามันรวมสิ่งต่างๆเข้าไว้หมด  โดยที่สิ่งทุกสิ่งนั้นมันอยู่ในตัวธรรมชาติแท้ของเรา  เมื่อเราพบเห็นความดี  หรือความชั่วก็ตามของบุคคลอื่น  เราไม่ถูกดึงดูดให้ชอบ  หรือไม่ถูกมันผลักดันให้ชัง  หรือเราไม่เกาะเกี่ยวกับมัน  เมื่อนั้นลักษณะแห่งจิตใจของเราเป็นของว่างเท่ากันกับอวกาศ  ด้วยเหตุนี้เราจึงกล่าวว่า  ใจของเราใหญ่หลวง (ไม่มีขอบเขตเหมือนอวกาศ)  เพราะฉะนั้น  เราจึงเรียกมันว่า  "มหา"

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  สิ่งใดที่พวกคนเขลาพากันเพียงแต่พูดถึง เปล่าๆ ปลี้ๆ  สิ่งนั้นคนมีปัญญาได้นำเอามาปฏิบัติด้วยจิตใจของเขาเกิดมรรคเกิดผลจนได้  ยังแถมมีคนเขลาอีกพวกหนึ่ง  ซึ่งนั่งนิ่งๆเงียบๆและพยายามที่จะทำจิตให้ว่าง  เขาเว้นการคิดถึงสิ่งใดๆหมด  แล้วก็เรียกตัวเขาเองว่า  "มหา"  เมื่อเขามีความเห็นนอกลู่นอกทางเช่นนี้  ก็เป็นการยากที่เราจะกล่าวถึงเขาว่าอย่างไรให้ถูกตรงได้

         ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  ท่านควรจะทราบไว้ว่า  ใจนั้นมีขนาดแห่งความจุอันใหญ่หลวง  โดยเหตุที่ใจนั้นสิงซึม (*7) (ติดเนื่องเป็นอันเดียวกันอยู่

*7 คำว่าใจในสูตรนี้  หมายถึงวิญญาณธาตุที่ประจำอยู่ในที่ทั่วไป  มีอยู่ทั่วไปทำนองเดียวกับที่ฝ่ายรูปธาตุ ย่อมถือว่า มีอีเธ่อร์อยู่ในที่ทั่วไป ไม่ว่าในที่นั้นกำลังมีแต่อวกาศหรือมีวัตถุอื่นใดตั้งอยู่ด้วย  โดยถือว่าสรรพสิ่งตั้งอยู่ในอีเธ่อร์อีกทีหนึ่ง ใจในสูตรนี้ทำหน้าที่เหมือนกับอีเธ่อร์โดยเปรียบเทียบ (ผู้แปลไทย พุทธทาส)

ทั่วไป) ตลอดสากลธรรมธาตุ (คือวงแห่งธรรมาณาจักร  กล่าวคือสกลจักรวาล) เมื่อเรานำมันมาใช้  เราก็สามารถจะทราบอะไรได้หลายสิ่งจากบรรดาสิ่งที่มีอยู่ทั้งหมด  แต่เมื่อใดเราใช้มันเต็มขนาดของมัน เมื่อนั้นเราก็ทราบได้สารพัดสิ่งไม่มีอะไรเหลือ  รู้ทุกๆ สิ่งภายในสิ่งหนึ่ง และหนึ่งสิ่งภายในทุกๆสิ่ง  เมื่อใดใจของเราทำหน้าที่ของมันโดยไม่ติดขัด  และเป็นอิสระที่จะ  "ไป"  หรือ "มา"  เมื่อนั้นชื่อว่ามันอยู่ภาวะแห่ง "ปรัชญา"

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  ปรัชญาทั้งสิ้นย่อมมาจากจิตเดิมแท้  และมิได้มาจากวิถีภายนอกเลย  ท่านทั้งหลายจงอย่างได้มีความเข้าใจผิดในเรื่องนี้  ข้อนี้เรียกว่า  "การใช้ประโยชน์ในตัวมันเอง"  ของสิ่งที่เป็นตัวธรรมชาติเดิมแท้"  ตถตา (ความเป็นแต่อย่างนั้นอย่างเดียวเท่านั้น  เป็นอย่างอื่นไม่ได้  กล่าวคือจิตเดิมแท้)  ปรากฏขึ้นครั้งเดียวเท่านั้น  แก่ผู้นั้นแล้วเขาก็เป็นอิสระจากโมหะ ไปชั่วนิรันดร.

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  เพราะเหตุที่ใจนั้นมีรัศมีทำงานกว้างขวางใหญ่หลวง  เราจึงไม่ควรใช้มันทำงานกะจิริดไร้เดียงสา (เช่นการนั่งเงียบๆ ทำใจว่างๆเฉย) อย่างพูดกันถึง  "ความว่าง" เป็นวันๆ  โดยไม่ได้ทำจิตให้พบกับความว่างนั้น  คนที่ (พร่ำแต่ปากว่าว่างๆ แต่จิตไม่ได้สัมผัสความว่างจริงๆ เลย)  ทำเช่นนี้  ควรถูกเปรียบกันกับคนที่ประกาศตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์ด้วยปากของเขา  แต่ที่จริงเขาก็เป็นราษฎรธรรมดา  โดยวิถีทางปฏิบัติเช่นนี้จะไม่ได้ลุถึงปรัชญาเลย  และผู้ที่ปฏิบัติทำนองนี้  จะเรียกว่าเป็นศิษย์ของอาตมาไม่ได้.

         ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  คำว่า ปรัชญา หมายความว่าอะไร? คำนี้หมายถึง  "ปัญญาความรู้รอบแจ้งชัด"  คือเมื่อใดเราสามารถรักษาจิตของเรา  ไม่ให้ถูกพัวพันด้วยความทะเยอทะยานอันโง่เขลาได้ทุกกาละเทศะ  ทำอะไรด้วยความฉลาดไปทุกโอกาส  เมื่อนั้นชื่อว่าเรา  กำลังประพฤติอบรมปรัชญาอยู่ ทีเดียว  ความรู้สึกที่โง่เขลาข้อเดียวเท่านั้น  ก็สามารถผลักปรัชญาให้หายวับไป  แต่ความคิดที่ปรีชาฉลาด  เป็นสิ่งที่อาจดึงเอาปรัชญากลับมาได้อีก  บุคคลพวกที่ตกอยู่ใต้อำนาจอวิชชา  หรือโมหะ ย่อมไม่มองเห็นปรัชญา  เขาพูดถึงปรัชญาด้วยลิ้น (ไม่ใช่พูดด้วยใจ)  ส่วนในใจของเขานั้นยังคงงมงายอยู่ตามเดิม  เขาพูดเสมอไปว่า  เขาประพฤติปรัชญา  และพูดถึง  "ความบาดสูญ(อุจเฉทะ) ไม่หยุดปาก  แต่เขาไม่ได้ทราบถึง  "ความว่างเปล่าเด็ดขาด" (ศูนยตา) เลย "หฤทัยแห่งความรอบรู้ชัดแจ้ง" นั้นแหละคือตัวปรัชญาอันเป็นสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง  ไม่มีท่าทางเครื่องให้สังเกตเสียเลย  ถ้าเราตีความหมายของคำว่าปรัชญากันโดยทำนองนี้ เมื่อนั้นชื่อว่าพูดกันถึงความรอบรู้แจ้งชัดของปรัชญาตัวจริง. อย่างถูกแท้

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  คำว่า ปารมิตา หมายความว่าอะไร? คำนี้เป็นสันสกฤต  มีความหมายว่า  "สู่ฝั่งข้างโน้น" โดยกิริยาจริงมันหมายถึง  "พ้นการเกิดและการดับ"  โดยอุปทานการยึดถือในขันธ์ทั้งหลาย  อันเป็นวัตถุที่ตั้งของความรู้สึกทางวิญญาณ  เมื่อนั้นย่อมมีความเกิด และมีความดับผลุบโผล่เหมือนทะเลที่มีคลื่น  ภาวะเช่นนี้  เราเรียกโดยอุปมาว่า  "ฝั่งข้างนี้"  แต่เมื่อใดตัดอุปทานเสียได้เด็ดขาด  และลุถึงภาวะที่พ้นจากการเกิดและการตาย สงบเงียบเหมือนน้ำไหลนิ่ง นั่นแหละเรียกว่า  "ฝั่งโน้น"  การพ้นจากการเกิดและการดับนี้แหละ  ที่ทำให้ปรัชญานี้ได้นามว่า  "ปารมิตา"

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  คนเป็นอันมาก  ซึ่งอยู่ภายใต้โมหะ พากันท่องบ่น  "มหาปรัชญาปารมิตา"  ด้วยลิ้นเท่านั้น  และเมื่อเขากำลังท่องอยู่นั้นความคิดที่งมงายเป็นอกุศลกลับเกิดขึ้นแก่เขา  แต่ถ้าเขาจะได้ปฏิบัติมันด้วยใจโดยไม่หยุดหย่อน  ดังกล่าวจริงๆ เขาย่อมเห็นประจักษ์ชัดซึ่ง  "ตัวจริง"  ของมหาปรัชญาปารมิตา  การรู้ธรรมะอันนี้  ก็คือการรู้ธรรมชาติของปรัชญา  การปฏิบัติธรรมะอันนี้  ก็คือการปฏิบัติปรัชญา  ผู้ที่ไม่ประพฤติธรรมะอันนี้  คือปุถุชน  บุคคลผู้ตั้งจิตจดจ่อเพื่อปฏิบัติธรรมะอันนี้ แม้เพียงชั่วขณะหนึ่ง เขาเป็นผู้เทียบเท่ากับพุทธะ

        คนสามัญนี้เอง  คือพระพุทธเจ้า  และกิเลส ก็คือโพธิ (ปัญญาสำหรับการตรัสรู้) (*8) ความคิดที่โง่เขลา  ที่ผ่านเข้าออกทางจิตนั้น  ทำให้คนเป็นคน

*8 คนธรรมดาคือพุทธะ  กิเลสคือโพธิ  เช่นนี้ เป็นอภิโวหารของนิกายนี้  ซึ่งพยายามอธิบายว่าความเป็นพระพุทธเจ้านั้น  มีอยู่แล้วในทุกๆคน  หากแต่ว่าของคนส่วนมากนั้น ถูกความมืดห่อหุ้มเสีย  หรือยังไม่ได้เจียรนัยออกมา  ทำนองเพชรทุกเม็ดมีน้ำเพชรมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น  แต่บางเม็ดไม่มีโอกาสได้เจียระไน เพชรทุกเม็ดทั้งที่เจียระไนแล้ว และยังไม่ได้เจียระไนแล้วก็ตาม  ล้วนแต่เป็นเป็นเพชรเหมือนกัน ทำนองเดียวกับที่คนทุกคนเป็นพระพุทธเจ้าได้ด้วยกันทั้งสิ้น  เป็นแต่บางคน  เจ้าตัวไม่มีโอกาสทำให้ปรากฏออกมาได้ในเวลานี้ (ผู้แปลไทย พุทธทาส)

ธรรมดาสามัญ  แต่ความคิดที่หายโง่  ประกอบด้วยความแจ่มแจ้งที่ตามมาทีหลัง  ทำให้คนเป็นพระพุทธเจ้า  ความคิดที่ผ่านเข้าออก  ที่ทำจิตให้ติดในอารมณ์นั้นคือกิเลส  แต่ความคิดที่มาเปลื้องจิตเสียจากความติดแน่น  อันเป็นความคิดซึ่งเกิดทีหลัง  นั้นคือโพธิ.

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  มหาปรัชญาปารมิตา (กล่าวคือปัญญาอันใหญ่หลวง ที่ทำสัตว์ ให้ข้ามถึงฝั่งโน้น) นั้นเป็นของสูงสุด ใหญ่ยิ่ง  และเด่นดวง  มันไม่หยุด  ไม่ไป  และไม่มา  โดยอำนาจของปัญญา  อันชื่อว่า มหาปรัชญาปารมิตานี้เอง  ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายในปัจจุบัน  ในอดีต  และในอนาคต  ได้บรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้า เราควรใช้ปัญญาอันสูงสุดดวงนี้  เพื่อทำลาย (ความยึดถือใน) ขันธ์ทั้งห้าเสีย (*9) เพราะเหตุว่าการทำเช่นนี้ย่อมช่วยให้การ

*9คำว่า ใช้ปัญญาทำลายความยึดถือในขันธ์ทั้งห้าเสีย  ประโยคนี้ มักพูดกันสั้นๆ  แต่เพียงว่า  ทำลายขันธ์ทั้งห้าเสีย  แม้ในต้นฉบับเดิมของสูตรนี้ก็ใช้สั้นๆ เช่นนั้นเหมือนกัน จงเติมเข้าให้ความชัด  กันความเข้าใจผิดสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับคำประเภทนี้ (ผู้แปลไทย พุทธทาส)

ได้บรรลุถึงพุทธภูมิ  เป็นสิ่งที่แน่นอน แล้วอกุศลมูลทั้งสาม (โลภะ โทสะ โมหะ)  ก็จะกลายเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา ไปเอง

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  ตามวิถีปฏิบัติแบบของอาตมานี้  ปัญญาดวงเดียวเท่านั้น  จะสร้างความรอบรู้ขึ้นถึงแปดหมื่นสี่พันวิถี  คือเท่ากับจำนวนของกิเลสที่เราจะต้องผจญ  แต่ว่าเมื่อผู้ใดพ้นจากอำนาจของกิเลส.  ปัญญาย่อมแสดงตัวปรากฏให้เห็นเอง  ที่ตัว จิตเดิมแท้ ไม่แยกจากกันได้  ผู้ใดเข้าใจหลักธรรมปฏิบัติอันนี้  ผู้นั้นจะมีจิตปราศจากความคิดอันท้อแท้  เฉื่อยชาการเป็นอิสระ  จากการหลงรักเพราะความคิดหมกมุ่น สยบจากการยึดติดในอารมณ์อันเร้าจิตให้ทะเยอทะยาน  และจากสิ่งอันเป็นของหลอกลวงมายา  การให้ตัวตถตา (ความคงที่แต่อย่างนั้น  เท่านั้น  เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้) ทำหน้าที่ของมัน   การใช้ปัญญาพิจารณาหาความจริงในสิ่งทั้งปวง   และการมีท่าทีที่ (อันสงบ) ซึ่งไม่เป็นทั้งการผลักดัน หรือดึงดูดต่อสรรพสิ่งทั้งมวล  เหล่านี้  คือการรู้แจ้งแทงตลอดซึ่งตัว  จิตเดิมแท้  เพื่อ  การบรรลุถึงพุทธภูมิ (ความเป็นพุทธะ)

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  ถ้าท่านปรารถนาจะแทงตลอดความลึกซึ้งของธรรมธาตุ  และสมาธิที่เป็นฝ่ายปัญญา  ท่านจะต้องอบรมปรัชญาโดยการท่องบ่น  และศึกษาไตร่ตรองในวัชรัจเฉทิกสูตร อันเป็นพระสูตรที่สามารถทำให้รู้แจ้งแทงตลอดซึ่งจิตเดิมแท้  ท่านควรจะทราบไว้ว่า  กุศลผลความดีอันเกิดจากการศึกษาพระสูตรนี้  ตามที่ปรากฏชัดเจนอยู่ในพระบาลีนั้นมีมากเหลือประมาณ  ไม่มีขอบเขตจำกัด  ไม่สามารถพรรณาให้ละเอียด  พระสูตรๆนี้เป็นของฝ่ายนิกายสุงสุดในพุทธศาสนา  พระพุทธเจ้าตรัสพระสูตรนี้  เฉพาะแก่บุคคลที่มีปัญญาแก่กล้า  และสามารถเข้าใจอรรถอันลึกได้ในทันที (*10)  ถ้า

*10 ทางฝ่ายมหายาน ยึดเป็นหลักอันแน่นแฟ้นว่า พระสูตรบางพระสูตร ตรัสเฉพาะแก่บุคคลพวกอุคคติตัญญู คืออาจเข้าใจได้ในทันทีทันใดนั้น  แม้ในฝ่ายเถรวาท หรือหินยาน ก็ยอมรับหลักอันนี้ เช่นอนุปุพพิกถา  ตรัสเฉพาะผู้จะบรรลุโสดาในที่นั่งอันนั้นเอง ไม่ตรัสแก่คนที่ยังหนาเป็นปุถุชนเกินไปเป็นต้น  ด้วยเหตุนี้เอง นิกายบางนิกายจึงยืนยันหลักธรรมของตน  ว่าเป็นคำที่ตรัสเฉพาะคนพวกหนึ่งประเภทหนึ่ง (ผู้แปลไทย พุทธทาส)

หากว่าคนมีปัญญาน้อย และทึบต่อการเข้าใจอรรถอันลึก  เผอิญมาได้ฟังพระสูตรชนิดนี้เข้า   เขาจะเกิดความสงสัยไม่เชื่อข้อความในพระสูตรนั้น  ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?  ข้อนี้อุปมาได้ว่า  ถ้าหากว่าเกิดฝนตกหนักในชมพูทวีปนี้ ด้วยอำนาจพญานาคในสวรรค์แล้ว นคร เมือง และหมู่บ้าน จะพากันไหลลอยไปตามกระแสน้ำ  เช่นเดียวกับใบของต้นอินทผลัม  แต่ถ้าหากว่า  ฝนนั้นไปตกในมหาสมุทร  โดยทั่วๆ ไป ก็เหมือนกับไม่ได้รับความกระทบกระเทือนอะไรเลย  เมื่อนักศึกษาฝ่ายมหายาน  ได้ฟังพระสูตรชื่อวัชรัจเฉทิกนี้แล้ว ใจของเขาจะใสสว่าง  เขาทราบได้ว่าปัญญา (ที่จะทำให้สัตว์ลุถึงฝั่งโน้น) นั้น มีอยู่ใน จิตเดิมแท้ ของเขาแล้ว  และเชื่อตัวเองว่า  เขาไม่ต้องอาศัยพระไตรปิฎก  เพราะว่าเขาสามารถใช้ปัญญาในตัวเขาเอง ให้เป็นประโยชน์ โดยการเจริญวิปัสสนาภาวนาเป็นนิจ  นั่นเอง

        ปรัชญาซึ่งมีประจำอยู่ใน  จิตเดิมแท้  ของทุกๆ คนนั้นแล้ว  อาจจะเปรียบกันได้กับฝน  ซึ่งความชุ่มชื่นของมัน  ย่อมทำความสดชื่นให้แก่สิ่งที่มีชีวิตทุกๆสิ่ง  รวมทั้งต้นไม้และพืชพันธุ์ธัญญาหาร   ตลอดถึงสัตว์ทุกชนิด  เมื่อแม่น้ำและลำธารไหลไปถึงทะเล  น้ำฝนที่มันพาไป ย่อมผสมเป็นอันเดียวกันกับน้ำในมหาสมุทร  นี่คือข้ออุปมาอีกข้อหนึ่ง  ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  ที่นี้หากว่าฝน (ที่ทำความสดชื่นให้แก่สิ่งมีชีวิตนั่นเอง) ได้ตกกระหน่ำลงมาขนาดใหญ่ต้นไม้ซึ่งมีรากไม้ลึกพอ  ก็จะถูกน้ำพัดชะถอนรากขึ้นลอยตามน้ำ  และสูญหายไปในที่สุดไม่มีเหลือ  ข้อนี้เปรียบกันได้กับคนที่มีปัญญาทึบเข้าใจอะไรได้ยาก ที่ได้ฟังคำสอนของชั้น  "นิกายฉับพลัน"  แท้ที่จริง  ปรัชญาซึ่งมีอยู่ในบุคคลจำนวนนี้  ก็เป็นอย่างเดียวกันกับที่มีอยู่ในบุคคลจำพวกปัญญาไว  หากแต่ว่าเขาไม่สามารถทำตนให้ตรัสรู้ได้  ในขณะที่มีผู้สอนเขาด้วยธรรมะนั้น  เพราะเหตุใด? เพราะว่าเขาถูกปกคลุมเสียหนาแน่น  ด้วยความคิดเห็นผิด  และกิเลสซึ่งได้ลงรากลึกแล้ว  ทำนองเดียวกับดวงอาทิตย์ถูกบดบังด้วยเมฆ  ไม่สามารถส่องแสงของตนลงมา (ทั้งที่แสงนั้นมีอยู่)  จนกว่าจะมีลมมากวาดเอาเมฆนั้นไปเสีย  ฉันใดก็ฉันนั้น

        ปรัชญานั้น  ไม่แตกต่างกัน แม้ว่าตัวบุคคลจะแตกต่างกัน ข้อที่แตกต่างกันนั้น  อยู่ตรงที่ว่าใจของเขาสว่างไสว  หรือมืดมนเท่านั้นเอง  คนที่ไม่รู้จักจิตเดิมแท้  ของตนเอง  และยังแถมมีความเขลาไปว่า  การบรรลุพุทธธรรมนั้น  มีได้ด้วยศาสนาพิธีต่างๆ ที่กระทำกันทางภายนอก (ไม่เกี่ยวกับจิต) นี้แหละ คือคนจำพวกที่เข้าใจอะไรได้ยาก  คนจำพวกที่เข้าใจคำสอนของ "นิกายฉับพลัน" ไม่รู้ลึกว่าพิธีรีตองต่างๆ เป็นของสำคัญ และใจของเขาก็ทำหน้าที่พิจารณาอยู่ด้วยสัมมาทิฏฐิอย่างเดียว จนกระทั่งเขาหลุดพ้นเด็ดขาดจากกิเลสหรือมลทินต่างๆ คนชนิดนี้แหละกล่าวว่า  เป็นผู้ทีได้รู้จัก  จิตเดิมแท้  ของตนเองแล้ว

       ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  ขึ้นชื่อว่าใจ  เป็นสิ่งที่ควรได้รับการจัดวางไว้ในกรอบของการปฏิบัติ  ชนิดที่มันจะเป็นอิสระจากอารมณ์  ทั้งที่เป็นภายนอกและภายใน  ให้มีอิสระที่จะมาหรือจะไป  ไม่ถูกพัวพัน  และใสสว่างโดยทั่วถึงปราศจากสิ่งบดบังแม้แต่นิดเดียว  บุคคลที่สามารถทำได้เช่นนี้  ถือว่าดีถึงขนาดที่บัญญัติไว้ในสูตรทั้งหลายของนิกายมหาปรัชญาปารมิตา

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  สูตรและปิฎกทั้งสิ้น  ทั้งฝ่ายมหายานและหินยาน  รวมทั้งคัมภีร์อรรถกถาทั้งสิบสองภาค  ทั้งหมดถูกจำแนกไว้เป็นชั้นๆ  ก็เพื่อให้เหมาะกับความต้องการและอุปนิสัย  ของบุคคลผู้มีอินทรีย์ยิ่งหย่อนกว่ากันเป็นชั้นๆนั่นเอง  โอวาทต่างๆ มีสอนที่อยู่ในพระคัมภีร์เหล่านั้น  บัญญัติขึ้นมาโดยยึดหลักใหญ่ว่า  ตัวปรัชญามีแฝงอยู่ภายในบุคคลทุกคนแล้ว  ถ้าไม่มีคน  ก็ไม่จำเป็นต้องมีธรรมะ  เหตุนั้น  เราจึงทราบได้ว่าธรรมะนั้นๆ บัญญัติขึ้นสำหรับคนโดยตรง  และสูตรต่างๆ นั้น  เกิดขึ้นเพราะศาสดาผู้ประกาศสูตรนั้นๆ นั่นเอง  เพราะเหตุที่คนบางพวกเป็นคนฉลาด  ซึ่งเราเรียกกันว่า คนเด่น และคนบางพวกเป็นคนโง่เขลา  ในเมื่อคนเขลาประสงค์จะให้สอนด้วยการทำเช่นนี้  คนเขลาก็อาจลุถึงความสว่างไสวชนิดรวดเร็วได้ และใจของเขาก็แจ่มแจ้งได้ด้วยเหตุนั้น  แล้วคนเขลาเหล่านั้น  ก็ไม่มีอะไรแตกต่างจากคนฉลาดอีกต่อไป

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  ถ้าเอาการตรัสรู้ออกเสียแล้ว  ก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันระหว่างพระพุทธเจ้ากับคนสามัญอื่นๆ  ความสว่างไสววาบเดียวเท่านั้น  ก็เพียงพอแล้ว  ที่จะทำใครก็ได้ให้กลายเป็นคนเสมอกันกับพระพุทธเจ้า  เพราะเหตุที่ธรรมะทั้งหลาย  เป็นของมีประจำอยู่ในใจของเราแล้ว  จึงไม่มีเหตุผลในข้อที่ว่า เราไม่สามารถเห็นซึมซาบแจ้งชัด  ในสภาวะแท้ของ  ตถตา  (สภาพที่มีแต่ความเป็นเช่นนั้น จะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ) มีข้อความกล่าวไว้ในสูตรชื่อ  โพธิสัตว์ศีลสูตร  ว่า  "จิตเดิมแท้ของเรา  เป็นของบริสุทธิ์โดยเด็ดขาด  และถ้าเราได้รู้จักใจของเราเอง  และรู้แจ้งชัดว่าตัวธรรมชาติแท้ของเราคืออะไรแล้ว  เราจะลุถึงพุทธภาวะได้ทุกๆคน (ที่มีความรู้เช่นนั้น)" ข้อความในสูตรชื่อ วิมลกิรตินิเทศสูตร  ก็ได้กล่าวว่า  "ทันใดนั้น  เขาตรัสรู้แจ่มแจ้งสว่างไสว  และได้รับใจของเขาเองกลับคืนมา" (*11)

*11 คำว่าได้รับใจของเขาเองกลับคืนมา นี้หมายความว่า ใจเดิมที่บริสุทธิ์และสว่างไสว ไม่ได้ถูกกิเลสหุ้มห่อ  นั้นเรียกว่าใจของเขาแท้  ในปัจจุบันนี้ กิเลสหุ้มห่อจนไม่เป็นใจของเขาเสียแล้ว  เขาสู้รบกับกิเลส กันเอากิเลสออกไปเสีย  และเอาใจของเขาแท้กลับคืนมาได้ (ผู้แปลไทย พุทธทาส)

       ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  เมื่อพระสังฆปริณายกองค์ที่ห้า  ได้เทศน์ให้อาตมาฟัง  อาตมาได้เกิดความรู้แจ้งสว่างไสว  ตรัสรู้ข้อธรรมะนั้น  ในทันทีที่ท่านพูดจบ  และทันใดนั้นเอง  ได้เห็นแจ้งประจักษ์ชัดในตัวธรรมชาติแท้ของ  ตถตา  ด้วยเหตุนี้เอง  อาตมาจึงมีความมุ่งหมายโดยเฉพาะ  ในการที่จะประกาศคำสอนแห่ง  "นิกายฉับพลัน"  นี้ต่อไป  เพื่อว่าผู้ศึกษาจะได้ประสบกับโพธิ  และเห็นแจ้งชัดในตัวธรรมชาติแท้ของตนเอง  ด้วยการอบรมจิตในวิปัสสนาภาวนา

       ถ้าหากว่า  เขาไม่สามารถช่วยตัวเองให้เกิดความสว่างไสวได้  เขาก็จะได้ขอร้องต่อเพื่อนพุทธบริษัทผู้คงแก่เรียนและใจอารี  ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจคำสั่งสอนของสำนักชั้นสูง  ให้ช่วยชี้หนทางถูกให้แก่เขา  สำนักหลักแหล่งของพุทธบริษัทผู้คงแก่เรียนและมีใจอารี  ทำหน้าที่นำจูงผู้อื่นให้เห็นแจ้งในจิตเดิมแท้นั้น  เป็นสำนักซึ่งอยู่ในตำแหน่งสูงสุด  ด้วยความช่วยเหลือของบุคคลชนิดนี้ผู้อื่นจะถูกชักจูงเข้ามาสู่ธรรมะอันเป็นฝ่ายกุศลทุก ๆ ประการ  บรรดาปัญญาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย  ทั้งในอดีต  ปัจจุบัน  และอนาคต  รวมทั้งความรู้ที่เป็นหลักคำสอน  ในพระคัมภีร์ทั้งสิบสองหมวดนั้น  ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ในใจของเรามาแต่เดิมแล้ว  ในกรณีที่เราเองไม่สามารถปลุกให้สว่างไสวขึ้นมาได้ด้วยตนเองนั้น   เราจำต้องแสวงคำแนะนำจากบุคคลผู้คงแก่เรียน  และมีใจอารีเหล่านั้น  แต่ในทางที่ตรงกันข้าม  พวกที่ทำความสว่างไสวให้แก่ตนเองได้โดยลำพังนั้น  ย่อมไม่ต้องการความช่วยเหลือจากภายนอก  มันเป็นของผิดในการที่จะไปถือคติว่า  ถ้าปราศจากคำแนะนำของผู้คงแก่เรียน  และมีใจอารีแล้ว  เราไม่สามารถจะลุถึงวิมุติ  เพราะเหตุไร?  เพราะเหตุว่า มันเป็นเพราะปัญญาภายในของเราเองต่างหาก  ที่ทำให้เราเกิดความสว่างไสวได้   ถึงแม้ความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอก  และคำพร่ำสอนของเพื่อนผู้คงแก่เรียน  และใจอารี  ก็ยังอาจเป็นหมันไร้ประโยชน์ได้เหมือนกัน  ถ้าหากว่าเราทำถูกหลงงมงายเสียแล้วโดยคำสอนที่ผิดและความเห็นผิด  เราควรเพ่งจิตของเราด้วยปัญญาตัวจริง  ความเห็นผิดทั้งมวลก็จะถูกเพิกถอนไปในขณะนั้น   และในทันทีทันใดที่เราได้รู้จักตัว  จิตเดิมแท้  เราย่อมลุถึงสถานะแห่งความเป็นพุทธะในทันใดนั้น

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  เมื่อเราใช้ปรัชญา  (ปัญญาดั้งเดิม)  ของเราในการเพ่งพิจารณาในภายใน  เราย่อมมีความสว่างแจ่มแจ้ง  ทั้งภายในและภายนอก  และเราอยู่ในฐานะที่จะรู้จักใจของเราเอง  การรู้จักใจของเราเองคือการลุถึงวิมุติ (การหลุดเป็นอิสระ)  การลุถึงวิมุติ  ก็คือการลุถึงสมาธิฝ่ายปรัชญา  ซึ่งเป็น  "ความไม่ต้องคิด"  "ความไม่ต้องคิด" คืออะไร?  "ความไม่ต้องคิด"  คือการเห็นและการรู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวง (ตามที่เห็นจริง) ด้วยใจที่ไม่มีอะไรห่อหุ้มพัวพัน  เมื่อเราใช้มัน  มันแทรกเข้าไปได้ในทุกสิ่งแต่ไม่ติดแจอยู่ในสิ่งใดเลย  สิ่งที่เราจะต้องทำนั้น  มีเพียงการชำระจิตให้ใสกระจ่าง  เพื่อว่าวิญญาณทั้งหกเมื่อแล่นไปตามอายตนะทั้งหก (*12) จะไม่ถูกทำให้เศร้าหมองโดยอารมณ์ทั้งหก  เมื่อใดใจของเราทำหน้าที่ของมันได้โดยอิสระ

*12 วิญญาณทั้งหกคือ  จักขุวิญญาณ  โสตวิญญาณ  ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ  มโนวิญญาณ  ได้แก่จิตส่วนที่ไมทำหน้าที่รู้สึกตามทวารต่างๆ  คือ ตา หู  เป็นต้น
อายตนะหก  หมายถึง  ตา หู จมูก ลิ้น  กาย  มโน  ที่ยังมีประสิทธิภาพ  คือให้วิญญาณทำหน้าที่ได้  เป็นสื่อระหว่างวิญญาณกับอารมณ์ 
อารมณ์หก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ได้แก่ของข้างนอก  ที่จะเข้าไปพบของข้างใน  คือวิญญาณโดยอาศัยอายตนะเป็นสนาม  (ผู้แปลไทย พุทธทาส)

ปราศจากอุปสรรค  และอยู่ในสถานะที่จะ  "มา"  หรือ  "ไป"  ได้โดยอิสระเมื่อนั้น ชื่อว่าเราได้บรรลุ  สมาธิฝ่ายปรัชญา  หรืออิสรภาพ  สถานะเช่นนี้มีนามว่า  การทำหน้าที่ของ "ความไม่ต้องคิด"  แต่ว่า  การหักห้ามความคิดถึงสิ่งใดๆ ให้ความคิดทั้งหมดถูกกดเอาไว้  ย่อมเป็นการกดธรรมะไว้  (ไม่ให้ปรากฏหรือเป็นไปตามที่ควรจะเป็นไป) และข้อนี้ย่อมเป็นความเห็นผิด

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  บรรดาบุคคลผู้เข้าใจในวิถีทางแห่ง  "ความไม่ต้องคิด" เหล่านั้น  จะรู้แจ้งสิ่งทั้งหลายทั้งปวงทุกสิ่ง  จะได้ดื่มรสที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ได้เคยดื่มมาแล้ว  และย่อมบรรลุถึงความเป็นพระพุทธเจ้า  ในกาลข้างหน้าต่อไป  ถ้าหากผู้ที่ได้รับคำสอนจากสำนักของอาตมาคนใด  จะให้สัจจปฏิญาณในท่ามกลางหมู่เพื่อนศิษย์ด้วยกันว่าจะอุทิศชีวิตของตนทั้งหมดเพื่อปฏิบัติตามคำสอนแห่ง  "สำนักฉับพลัน"  นี้  โดยไม่ย่อท้อถอยหลัง  ตั้งใจขนาดเดียวกันกับความตั้งใจที่จะปรนนิบัติรับใช้พระพุทธเจ้าแล้วไซร้  เขาก็จักลุถึงวิสุทธิมรรคา  โดยไม่มีการล้มเหลวเป็นแน่แท้  เขาจักถ่ายทอดคำสอนที่พระสังฆปริณายกองค์หนึ่ง  ได้มอบหมายลงมายังพระสังฆปริณายกองค์ต่อๆ มา  ออกจากดวงใจของเขา  แล้วส่งลงไปยังดวงใจของบุคคลอื่น  ซึ่งสมควรแก่การนี้เป็นช่วงๆ กันไป  และพยายามที่จะไม่ปิดบังซ่อนเร้นคำสอนที่ถูกต้องไว้แม้แต่น้อย  สำหรับบุคคลพวกที่อยู่ในสำนักอื่นในนิกายอื่น  ซึ่งความเห็นและจุดมุ่งหมายของเขาผิดไปจากของพวกเรานั้น  ไม่ความจะถ่ายทอดหลักธรรมะอันนี้ไปให้เลยเพราะจะมีแต่ผลร้ายโดยประการต่างๆ ไม่มีผลดี การที่มีข้อยกเว้นไว้ดังนี้ ก็โดยเกรงว่า  พวกคนเขลาซึ่งไม่สามารถเข้าใจหลักคำสอนอย่างของเรา  จะมีคำกล่าวตู่ป้ายร้ายให้แก่คำสอนระบอบนี้  และข้อนั้นเองจะเป็นการทำลายเมล็ดพืชแห่งความเป็นพุทธะ  ซึ่งมีอยู่ในคนพวกนั้นให้เหือดแห้งเป็นหมันไป  ตลอดเวลาหลายร้อยกัลป์พันชาติ

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  อาตมามีโศลกอันกล่าวถึง "นิรรูป"(*13)อยู่หมวดหนึ่ง  สำหรับท่านทั้งหลายท่องบ่นกัน  ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตควรปฏิบัติตามคำสอนซึ่งมีอยู่ในโศลกนั้น  ซึ่งถ้าปราศจากการปฏิบัติเสียแล้วมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร  ในการที่จะจำเอาถ้วยคำของอาตมาไปเปล่าๆ ท่านทั้งหลายจงคอยฟังโศลก ดังต่อไปนี้:-

"อาจารย์ผู้บัญญัติคัมภีร์พุทธธรรม  รวมทั้งคำสอนในสำนักนิกายธยานนี้ด้วย

อาจเปรียบกันได้กาบดวงอาทิตย์  ซึ่งกำลังแผดแสงจ้า อยู่ ณ กึ่งกลางนภากาศ

บุคคลเช่นนี้จักไม่สอนอะไร  นอกจากธรรมะเพื่อให้เห็นแจ้ง  จิตเดิมแท้  อย่างเดียว

และความมุ่งหมายในการที่ท่านมาสู่โลกนี้ ก็เพื่อขจัดพรรคมิจฉาทิฏฐิฯ

เราจะแบ่งแยกธรรมปฏิบัติ  ออกเป็นชนิด "ฉับพลัน" และชนิด "เชื่องช้า" ได้โดยยากก็จริง

แต่ก็ยังมีคนบางพวก ที่จะรู้แจ้งได้เร็วกว่าคนพวกอื่นมากฯ

ตัวอย่างเช่นธรรมปฏิบัติระบอบนี้  ที่สอนมุ่งให้เห็นแจ้งจิตเดิมแท้เป็นระบอบที่คนโฉดเขลา  จะเข้าใจไม่ได้ฯ

เราอาจจะอธิบายหลักธรรมะระบอบนี้ได้โดยวิธีต่างๆ ตั้ง 10,000วิธี

แต่ว่าคำอธิบายทั้งหมดนั้น  อาจจะลากให้หวนกลับมาสู่หลักดุจเดียวกันได้ฯ

การที่จะจุดไฟให้สว่างขึ้น ในดวงหฤทัยอันมืดมัว  เพราะเกรอะกรังไปด้วยกิเลสนั้น

เราจักต้องดำรงแสงสว่างแห่งปรัชญา  ไว้เนืองนิจฯ

มิจฉาทิฏฐิ  ย่อมทำเราให้ติดจมอยู่ในห้วงกิเลสฯ

ส่วนสัมมาทิฏฐิ  ย่อมเปลื้องเราออกจากกองกิเลสนั้นฯ

แต่เมื่อใด  เราอยู่ในฐานะมี่เหนือไปกว่าทิฏฐิทั้งสองอย่างนี้

เมื่อนั้น  เราย่อมบริสุทธิ์  โดยเด็ดขาดฯ

โพธิ  เป็นสิ่งมีประจำอยู่แล้วภายใน  จิตเดิมแท้  ของเรา

การพยายามมองหาโพธิจากที่อื่นนั้น  เป็นความเขลาฯ

จิตที่บริสุทธิ์นั้น จะหาพบได้ภายในจิตอันไม่บริสุทธิ์ของเรา นั่นเอง

ในทันใดที่เราดำรงจิตถูกต้อง  เราย่อมเป็นอิสระจากสิ่งบดบัง 3 ประการ

( คือ กิเลส  บาปกรรม  และการต้องทนใช้บาปอยู่ในนรก)

ถ้าเราเดินอยู่ในมรรคาแห่งการตรัสรู้

เราไม่จำต้องกลุ้มใจด้วยสิ่งที่จะทำให้เราสะดุดล้มฯ

ถ้าเราคอยสอดส่ายตา  ระวังความผิดของเราเองอยู่เสมอ

เราก็เดินไถลออกไปนอกหนทางที่ถูกไม่ได้ฯ

เพราะเหตุที่ชีวิตทุกๆแบบ ย่อมมีวิถีทางแห่งความรอดพ้นเฉพาะของมันเอง ทุกแบบ

ฉะนั้น ชีวิตทั้งหลายจะไม่ก้าวก่าย หรือกระทบกระทั่งซึ่งกันและกันฯ

แต่ถ้าเราผละไปจากทางชนิดที่เป็นของเรา  ไปแสวงหาทางอื่นเพื่อจะรอดพ้น

เราจะไม่พบความรอดพ้นได้เลย

แม้ว่าเราจะหาเรื่อยไป จนกระทั่งความตายมาถึงเราก็ดี

ในที่สุด  เราจะพบแต่ความรู้สึกเสียใจภายหลังว่า  เราทำพลาดไปแล้วฯ

ถ้าท่านปรารถนาจะค้นหางทางที่ถูกต้อง

การทำให้ถูกวิธีจริงๆ เท่านั้น  ที่จะนำท่านดิ่งไปถึงได้

แต่ถ้าท่านไม่มีการดิ้นรนเพื่อลุถึงพุทธภูมิ

ท่านก็จะมัวคลำคว้าอยู่ในที่มืด  และไม่มีโอกาสพบเลยฯ

ผู้ที่ด่วนเดินมุ่งแน่วไปตามทางที่ถูกต้องนั้น

ย่อมไม่มองเห็นความผิดต่างๆ ในโลกนี้

ถ้าเราพบความผิดในบุคคลอื่น

เราเองก็ตกอยู่ในความผิดนั้นด้วยเหมือนกันฯ

เมื่อผู้อื่นทำผิด  เราไม่จำต้องเอาใจใส่

เพราะมันจะเกิดความผิดขึ้นแก่เราเอง  ในการที่จะไปรื้อหาความผิดฯ

โดยการสลัดนิสัยที่ชอบค้นหาความผิดของคนอื่น  ออกไปเสียจากสันดาน

เราย่อมตัดวิถีทางการมาของกิเลส   ได้เป็นอย่างดีฯ

เมื่อใดความชัง (คนเกลียด) และความรัก (คนรัก)  ไม่กล้ำกรายใจของเรา

เราหลับสบายฯ

บุคคลใด  ตั้งใจจะเป็นครูสอนคนอื่น

เขาเองควรจะมีความคล่องแคล่วในวิธีเหมาะสมนานาประการ  ที่จะนำผู้อื่นเข้าถึงความสว่างฯ

เมื่อศิษย์พ้นจากความสงสัยสนเท่ห์  โดยประการทั้งปวง

มันย่อมแสดงว่า  เขาได้พบ  จิตเดิมแท้  ของเขาแล้วฯ

จักรวรรดิของพระพุทธเจ้า(*13) อยู่ในโลกนี้

*13 จักรวรรดิของพระพุทธเจ้า หรือ Kingdom of the Buddha หมายถึงพุทธเกษตร หรือเขตที่อยู่ในอำนาจของพระพุทธเจ้า  ในการที่สิ่งทั้งหลายจะได้เป็นไปตามกฎแห่งธรรมะ  เช่นปฏิบัติเช่นนี้ ได้ผลเช่นนี้  ปฏิบัติถึงนิพพาน  ได้ผลถึงนิพพานเป็นต้น  ซึ่งเป็นเครื่องรับประกันให้หายห่วง ในการที่จะเกิดกลัวไปว่ากรรมจะไม่ให้ผลเป็นต้น  หรือคำสอนของพระองค์ใช้ไม่ได้ในที่นี้ (ทำนองกฏหมายในเมืองไทย ใช้บังคับที่เมืองจีนไม่ได้เป็นต้น) แม้ว่าจะมีคำกล่าวในที่อื่น  ว่าพุทธเกษตรมีหลายเกษตรเพราะพระพุทธเจ้ามีหลายองค์  แต่ในที่นี้พิจารณากันแต่ในแง่ว่า  พระพุทธเจ้าทุกองค์มีปัญญาอย่างเดียวกัน ตรัสรู้และสอนอย่างเดียวกัน  หรือเป็นองค์เดียวกัน  นั่นเอง  การแบ่งเป็นองค์ๆ เป็นความเข้าใจผิด  หรือมิฉะนั้นก็เป็นการกล่าวอย่างสามัญตามสมมุติ ผู้แปลไทยพุทธทาส)

ซึ่งเราจะพบความสว่างไสวได้  ในเขตนั้นฯ

การเสาะแสวงหาความสว่างไสว  ในที่อื่นจากโลกนี้

เป็นของพิลึกกึกกือ  เหมือนการเที่ยวหาเขากระต่ายฯ

สัมมาทิฏฐิ  เป็นสิ่งที่ถูกขนานนามว่า  "เลิศเหนือโลก"

มิจฉาทิฏฐิ  เป็นสิ่งที่ถูกขนานนามว่า "ข้องอยู่ในโลก"

เมื่อใดทิฏฐิทั้งสองอย่าง ไม่ว่าสัมมาหรือมิจฉา  ถูกสลัดพ้นออกไป

เมื่อนั้นโพธิแท้   ย่อมปรากฏ ฯ

โศลกนี้มีไว้สำหรับพวก  "นิกายฉับพลัน"

และโศลกนี้ ยังถูกขนานนามว่า  "มหาธรรมนาวา" (เพื่อแล่นข้ามฝั่งสังสารวัฏ)

กัลป์แล้วก็กัลป์เล่า  คงตกอยู่ภายใต้ความมืดบอด

แต่ครั้นถึงคราวตรัสรู้ มันกินเวลาแวบเดียวเท่านั้น เขาก็เข้าถึงพุทธภูมิฯ

        ก่อนจบเทศนา  พระสังฆปริณายกได้กล่าวเพิ่มเติมว่า  "บัดนี้ในวิหารแห่งไทฟันนี้  อาตมาได้แสดงธรรมให้ท่านฟัง  ถึงคำสอนแห่ง  "นิกายฉับพลัน" แล้ว ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงซึ่งล้วนแต่มีธรรมธาตุอันนั้นประจำอยู่  ในตัวทุกคนแล้วจงเข้าใจธรรมะนี้  และลุถึงความเป็นพุทธะเถิด"

        เมื่อได้ฟังธรรมกถาที่พระสังฆปริณายากล่าวจบลงแล้ว  ข้าหลวงไว่ แห่งชิวเจา  พวกข้าราชการ  นักศึกษาฝ่ายเต๋า  และชาวบ้านเหล่านั้นได้เข้าถึงความสว่างไสว ทั่วถึงกัน  เขาเหล่านั้น  พร้อมกันทำความเคารพและออกอุทานเป็นเสียงเดียวกันว่า "สาธู สาธุ  ใครจะนึกไปถึงว่า  พระพุทธเจ้าได้มาอุบัติขึ้นในนครกวางตุ้ง"

 

หมวดที่ 3 ปุจฉาวิสัชชนา

 

หมวดที่ 3

ว่าด้วยข้อปุจฉา-แลวิสัชนา

********************

        วันหนึ่ง ท่านข้าหลวงไว่ ได้จัดให้มีการประชุมกันถวายภัตตาหารเจแด่ พระสังฆปริณายก  และขอร้องให้ท่านแสดงธรรมแก่ประชุมชนที่กำลังประชุมกันคับคั่ง เมื่อเสร็จจากการฉันแล้ว ท่านข้าหลวงไว่ได้อาราธนาให้ท่านขึ้นธรรมมาสน์ (ซึ่งท่านได้ตกลงรับ) เมื่อได้โค้งคำนับด้วยความเคารพ 2 ครั้ง 2 ครา  พร้อมๆกับบรรดาข้าราชการ  นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่ได้มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั่นแล้ว  ข้าหลวงไว่ได้กล่าวขึ้นว่า  กระผมได้ฟังบทธรรมที่พระคุณเจ้าแสดงแล้ว รู้สึกว่าเป็นของลึกซึ้งเกินกว่ากำลังความคิดและถ้อยคำของกระผมจะบรรยายได้  และกระผมมีปัญหาอยู่บางประการ ซึ่งหวังว่าพระคุณเจ้าคงจะกรุณาชี้แจงให้เห็นกระจ่าง

        พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า ถ้าท่านมีความสงสัยอย่างหนึ่งอย่างใดอยู่ก็ขอให้ท่านถามมา อาตมาจะได้ชี้แจง

        ข้าหลวงไว่ได้ถามขึ้นว่า หลักธรรมต่างๆ ที่พระคุณเจ้าได้แสดงไปแล้วนี้ เป็นหลักที่ประสังฆปริณายกโพธิธรรม ได้วางไว้บัญญัติไว้มิใช่หรือ?       

        พระสังฆปริณายก ตอบว่า ใช่

        กระผมได้สดับตรับฟังมาว่า เมื่อพระโพธิธรรมได้พบปะและสังสนทนากันเป็นครั้งแรกกับ พระจักรพรรดิวู่แห่งราชวงศ์เหลียง นั้น ท่านสาธุคุณองค์นั้นได้ถูกพระจักรพรรดิถามถึงข้อที่ว่า พระองค์จะได้รับกุศล (Merits) อะไรบ้าง ในการที่พระองค์ได้กระทำการก่อสร้างพระวิหาร การอนุญาตให้คนบวช(ซึ่งในสมัยนั้นพระบรมราชานุญาตเป็นของจำเป็นมาก) การโปรยทานและการถวายภัตตาหารเจแด่พระภิกษุสง์ในราชกาลของพระองค์ และท่านสาธุคุณองค์นั้น ได้ถวายพระพรว่า การกระทำเช่นว่านั้น ไม่เป็นทางนำมาซึ่งกุศลแต่อย่างใดเลย  ในเรื่องนี้ กระผมไม่เข้าใจเลยว่า  ทำไมพระสังฆปริณายกโพธิธรรม จึงได้ถวายพระพร เช่นนั้น ของพระคุณเจ้าโปรดชี้แจงด้วยเถิด

        พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า ถูกแล้ว  การกระทำเช่นว่านั้น ไม่เป็นทางนำมาซึ่งกุศลแต่อย่างใด  ท่านอย่างได้มีความสงสัยในถ้อยคำของพระมุนีองค์นั้นเลย พระจักรพรรดิเองต่างหาก มีความเข้าพระทัยผิด และพระองค์ไม่ได้ทรงทราบถึงคำสอนอันถูกต้อง  ตามแบบแผน  ก็การกระทำเช่นสร้างวิหาร การอนุญาตให้คนบวช การโปรยทาน การถวายภัตตาหารเจ เช่นกล่าวนี้จะนำมาให้ได้ก็แต่เพียงความปิติอิ่มใจต่างๆ เท่านั้น ซึ่งไม่สมควรจะถือว่าเป็นกุศล กุศลจะมีได้ก็แต่ในธรรมกาย ไม่มีส่วนใดเกี่ยวข้องกันกับการทำเพื่อความปิติอิ่มใจ ดังกล่าวมานั้นเลย (*14)

*14 เราจะเห็นได้ว่า แม้ในสมัยโบราณ นิกายเซ็นแห่งประเทศจีน ก็ยังคงมีการถือคำว่ากุศลกันอย่างถูกต้องตามความหมายเดิมของคำว่า "กุศล"(กุศล-ตัดความชั่วสิ่งห่อหุ้ม สันดานเหมือนหญ้ารก) ซึ่งในที่นี้ หมายความถึงสิ่งที่จะช่วยขจัดเครื่องกางกั้น มิให้ลุถึงความรอดพ้นจากอำนาจกิเลส หรือกล่าวโดยตรง กุศล ก็ได้แก่เครื่องช่วยให้จิตหลุดรอดไปจากสิ่งครอบคลุมห่อหุ้ม จนไม่เห็นโพธินั่นเอง ฉะนั้น จึงไม่หมายความไปถึงวัตถุภายนอก เช่น การให้ทาน หรือการสร้างวิหารเป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ควรจะเรียกว่า "บุญ" มากกว่าที่จะเรียกว่า "กุศล" (ปุญญ-เครื่องให้ฟูใจ) ครั้นตกมาถึงสมัยพวกเรานี้ คำว่ากุศล ใช้ปนเปไปกับคำว่าบุญ จนอ่านข้อความตอนนี้เข้าใจได้ยาก (ผู้แปลไทย พุทธทาส)

        พระสังฆปริณายกได้กล่าวต่อไปว่า การเห็นแจ้งชัดในจิตเดิมแท้ นั้น เรียกว่า กุง (กุศลวิบาก) และความคงที่สม่ำเสมอ นั้น เรียกว่า แต๊ก (กุศลสมบัติ) และเมื่อใด ความเป็นไปทางฝ่ายจิตของเรา มีการเคลื่อนไหวคล่องแคล่วไม่มีติดขัด จนทำให้เราทราบไม่ขาดสาย ถึงภาวะที่แท้จริง พร้อมทั้งการทำหน้าที่อย่างประหลาดลึ้ลับของใจของเราเอง  เมื่อนั้น เรียกว่าเราเข้าถึงแล้วซึ่ง กุงแต๊ก (กุศล)

        ที่เป็นภายใน  การระวังจิตของตนไว้ ให้คงอยู่ในภาวะที่ปราศจากความเผยอผยองพองตัวเรียกว่า กุง ที่เป็นภายนอก  การวางตัวไว้ในสภาพที่เหมาะสมทุกวิถีทาง เรียกว่า แต๊ก  รู้ว่าทุก ๆสิ่ง คือการแสดงออกของจิตเดิมแท้ เรียกว่า กุง  และรู้ว่าส่วนที่เป็นประธานของจิต เป็นอิสระแล้วจากความคิดอันเป็นเครื่องถ่วงทั้งหลาย นี้เรียกว่า แต๊ก  การไม่แล่นเพริดเตลิดไปจากจิตเดิมแท้ เรียกว่า กุง และการที่เมื่อใช้จิตนั้นทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่เผลอทำจิตนั้นให้มืดมัวเลียรูปไป นี้เรียกว่า แต๊ก  ถ้าท่านแสวงหากุศลภายในธรรมกาย  และทำตามที่อาตมาได้กล่าวนี้จริงๆแล้ว กุศลที่ท่านได้รับ  จะต้องเป็นกุศลจริง ผู้ปฏิบัติเพื่อกุศล จะไม่หมิ่นผู้อื่น และในที่ทุกโอกาสเข้าปฏิบัติต่อทุกๆ คนด้วยความยำเกรงนับถือ ผู้ซึ่งมีการดูหมิ่นผู้อื่นเป็นปรกตินิสัย ย่อมไม่สามารถขจัดมานะอหังการออกไปเสียได้  ซึ่งส่อว่าเขา ยังขาดกุง เพราะความถือตัว และความดุหมิ่นผู้อื่นเป็นปรกตินิสัยเขาย่อมไม่เห็นแจ้งต่อจิตเดิมแท้  และนี่ส่อว่าเขา ยังขาดแต๊ก

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  เมื่อโดความเป็นไปทางฝ่ายจิตทำหน้าที่ของมันได้โดยไม่มีที่ติดขัด เมื่อนั้นเรียกว่า มีกุง เมื่อใดใจของเราทำหน้าที่ของมันในลักษณะที่ตรงแน่ว  เมื่อนั้นเรียกว่า มีแต๊ก การฝึก การฝึกทางจิต จัดเป็น กุง กามฝึกทางที่เกี่ยวกับกาย จัดเป็น แต๊ก

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  กุศลนั้นเป็นสิ่งที่ต้องแสวงหาภายในจิตเดิมแท้ และเป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากาการโปรยทาน การถวายภัตตาหาร ฯลฯ และอื่นๆ เหตุฉะนั้น  เราต้องรู้จักแยกให้เห็นความแตกต่างระหว่างความปิติอิ่มใจกับตัวกุศลแท้  คำที่พระสังฆปริณายกของเรากล่าวไปนั้นไม่มีอะไรผิด  พระจักรพรรดิวู่เองต่างหาก  ที่ไม่เข้าใจในหนทางอันแท้จริง

                ข้าหลวงไว่  ได้เรียนถามปัญหาข้อต่อไปอีกว่า  กระผมได้สังเกตเห็นขาทำกันทั่วไป ไม่ว่าคฤหัสถ์หรือบรรพชิต  ในการออกนามพระอมิตาภะและตั้งอธิษฐานจิตขอให้ไปบังเกิดในดินแดนอันบริสุทธิ์  ทางทิศตะวันตก เพื่อขจัดความสงสัยของกระผม  ของพระคุณเจ้าจงกรุณาตอบให้แจ้งชัด  ว่ามันจะเป็นได้หรือไม่  ที่เขาเหล่านั้นจะพากันไปเกิดที่นั้น

        พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า  ท่านทั้งหลายจงฟังอาตมาอย่างระมัดระวังสักหน่อย  แล้วอาตมาจะได้อธิบาย เมื่อกล่าวตามสูตรที่สมเด็จพระภควันต์ได้ตรัสไว้ที่นครสาวัตถี เพื่อนำประชาสัตว์ไปสู่แดนบริสุทธิ์ทางทิศตะวันตกนั้น มันก็เป็นที่กระจ่างชัดแล้วว่า  แดนบริสุทธิ์นั้นอยู่ไม่ไกลไปจากที่นี่เลย  เพราะตามระยะทางคิดเป็นไมล์ ก็ได้108,000ไมล์เท่านั้น  ซึ่งโดยแท้จริงแล้วระยะทางนี้ หมายถึงอกุศล 10 และมิจฉัตตะ 8 ภายในตัวเรานั่นเอง (*15)  สำหรับ

*15 อกุศล 10 อย่าง (ซึ่งหมายถึงอกุศลกรรมบท) คงกำหนดให้อย่างละหมื่นไมล์ ส่วนมิจฉัตตะ 8 อย่างนั้น คงกำหนดให้อย่างละพันไมล์ จึงได้แสนแปดหมื่นไมล์
มิจฉัตตะนั้น คือความผิดตรงกันข้ามกับมรรคมีองค์แปด (ผู้แปลไทย พุทธทาส)

คนพวกที่ยังมีใจต่ำ มันก็ต้องอยู่ไกลอย่างแน่นอน  แต่สำหรับพวกที่มีใจสูงแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า มันอยู่ใกล้นิดเดียว

        แม้ว่าพระธรรมจะเป็นของคงเส้นคงวารูปเดียวกันทั้งนั้น  แต่คนนั้นๆย่อมแตกต่างกันโดยจิตใจ  เพราะขนาดแห่งความฉลาดและความเขลาของมนุษย์มีอยู่แตกต่างกันนี่เอง  จึงมีคนบางคนเข้าใจในพระธรรมได้ก่อนคนเหล่าอื่น เมื่อพวกคนไร้ปัญญากำลังพากันท่องนามของพระอมิตาภะ และอ้อนวอนของให้ได้เกิดในแดนบริสุทธิ์อยู่นั้น  คนฉลาดก็พากันชำระใจของเขาให้สะอาดแทน  เพราะเหตุว่า  ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้นั้นมีอยู่ว่า "เมื่อใจบริสุทธิ์  แดนแห่งพระพุทธเจ้า ก็บริสุทธิ์พร้อมกัน

        แม้ว่าพวกท่านทั้งหลายจะเป็นชาวตะวันออก  ถ้าใจของท่านบริสุทธิ์ท่านก็เป็นคนไม่มีบาป  อีกทางหนึ่งตรงกันข้าม  ต่อให้ท่านเป็นชาวตะวันตกเสียเอง  ใจที่โสมมของท่าน  หาอาจช่วยให้ท่านเป็นคนหมดบาปได้ไม่  เมื่อคนชาวตะวันออกทำบาปเข้าแล้ว  เขาออกนามอมิตาภะ  แล้วอ้อนวอนเพื่อไปเกิดทางทิศตะวันตก  ที่นี้ถ้าในกรณีที่คนบาปนั้นเป็นชาวตะวันตกเสียเองแล้ว เขาจะอ้อนวอนให้ไปเกิดที่ไหนเล่า? คนสามัญและคนเขลา ไม่เข้าใจในจิตเดิมแท้และไม่รู้จักแดนบริสุทธิ์อันมีอยู่พร้อมแล้วในตัวของตัว  ดังนั้นเขาจึงปรารถนาที่จะไปเกิดทางทิศตะวันออกบ้าง  ทางทิศตะวันตกบ้าง  แต่สำหรับคนที่มีปัญญาแล้วที่ไหนๆก็ไม่สำคัญ  เขาคงเป็นสุข และบันเทิงเริงรื่นอยู่เสมอ

        ท่านทั้งหลาย  เมื่อใจของท่านบริสุทธิ์จากบาปแล้ว ทิศตะวันตกก็อยู่ไม่ไกลจากที่ตรงนี้ มันลำบากนักก็อยู่ตรงที่ว่า คนใจโสมมต้องการจะไปเกิดที่นั่นด้วยการตะโกนร้องเรียกหาพระอมิตาภะเท่านั้น

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  ในเรื่องนี้  สิ่งที่จะต้องทำเป็นข้อแรกก็คือจัดการกับอกุศล 10 ประการเสียให้หมดสิ้นไป เมื่อนั้นก็เป็นอันว่าเราได้เดินทางเข้าไปแล้ว 100.000ไมล์  ขั้นต่อไป เราจัดการกับมิจฉัตตะ 8 เสียให้สิ้นสุดก็เป็นอันว่าหนทางอีก 8.000ไมล์นั้น เราเดินผ่านทะลุไปแล้ว (เมื่อเป็นดังนี้แดนบริสุทธิ์จะหนีไปข้างไหน)  ก็ถ้าเราสามารถเห็นแจ้งขัดในจิตเดิมแท้อยู่เสมอและดำเนินตนตรงแน่วอยู่ทุกขณะแล้ว  พริบตาเดียวเท่านั้นเราก็ไปถึงแดนบริสุทธิ์ได้และพบพระอมิตาภะอยู่ที่นั่น (นะโมอมิตาพุทธ)

        ถ้าท่านทั้งหลายเพียงแต่ประพฤติกุศล 10 ประการเท่านั้น  ท่านก็หมดความจำเป็นที่จะต้องไปเกิดที่นั่น ในฝ่ายตรงกันข้าม ถ้าท่านไม่จัดการกับอกุศล 10 ประการให้เสร็จสิ้นไปแล้ว พระพุทธเจ้าองค์ไหนเล่าที่จะพาท่านไปยังที่นั่น? ถ้าท่านเข้าใจในหลักธรรม  อันกล่าวถึงธรรมชาติที่ไม่มีการเกิด (ซึ่งหักเสียซึ่งวงกลมแห่งการเกิดและการตาย) ของนิกาย "ฉับพลัน" แล้ว มันจะพาท่านไปให้เห็นทิศตะวันตกได้ในอึดใจเดียว  แต่ถ้าท่านไม่เข้าใจ ท่านจะไปถึงที่นั้นด้วยลำพังการออกนามอมิตาภะได้อย่างไรกันหนอ  เพราะหนทาง 108,000ไมล์นั้นมันไกลไม่ใช่เล่น เอาละท่านทั้งหลายจะพอใจไหม ถ้าอาตมาจะยกเอกแดนบริสุทธิ์มาวางไว้ตรงหน้าท่านในเดี๋ยวนี้?

        ที่ประชุมได้ทำความเคารพ แล้วตอบพระสังฆปริณายกว่า ถ้าเราทั้งหลายอาจเห็นแดนบริสุทธิ์ได้ ณ ที่ตรงนี้แล้ว เราก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรารถนาไปเกิดที่โน่น ขอพระคุณเจ้าจงได้กรุณาให้เราทั้งหลายได้เห็นแดนบริสุทธิ์นั้น โดยยกมาวางที่นี่เถิด

        พระสังฆปริณายกได้กล่าวตอบว่า ท่านทั้งหลาย  เนื้อกายของเรานี้เป็นนครแห่งหนึ่ง  ตา หู จมูก ลิ้นของเราเป็นประตูเมือง  ประตูนอกมี 4 ประตู ประตูในมีหนึ่งประตู ได้แก่อำนาจปรุงแต่งสำหรับคิดนึก ใจนั้นเป็นแผ่นดิน จิตเดิมแท้เป็นเจ้าแผ่นดิน ซึ่งอาศัยอยู่ในมณฑลแห่งใจ  ถ้าจิตเดิมแท้อยู่ข้างใน ก็แปลว่าเจ้าแผ่นดินยังอยู่  แล้วกายและใจของเราก็ชื่อว่ายังมีอยู่  เมื่อจิตเดิมแท้ออกไปเสียแล้ว  ก็ชื่อว่าเจ้าแผ่นดินไม่อยู่  กายและใจของเราก็ชื่อว่าสาบสูญไปแล้ว  เราต้องปฏิบัติเพื่อความเป็นพุทธะในภายในจิตเดิมแท้  และต้องไม่เสาะหาจิตเดิมแท้ในที่อื่นนอกจากตัวเราเอง ผู้ที่ถูกความเขลาครอบงำมองไม่เห็นจิตเดิมแท้นั้น  จัดเป็นคนสามัญ  ผู้ที่มีความสว่างมองเห็นจิตเดิมแท้ของตนเอง  จัดเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง  ความเป็นคนมีเมตตากรุณา  เป็นพระอวโลกิเตศวร (คือพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งในจำนวนโพธิสัตว์สององค์ในแดนบริสุทธิ์ทางทิศตะวันตก)  การเพลินในการโปรยทาน คือพระมหาสถมะ (พระโพธิสัตว์อีองค์หนึ่ง ซึ่งคู่กัน  ความสามารถทำให้ชีวิตบริสุทธิ์ คือ องค์พระศากยมุนี (พระนามอีกพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้)  ความสม่ำเสมอคงที่และความตรงแน่ว คือ พระอมิตาภะ  ความคิดเรื่องตัวตนหรือเรื่องความมีความเป็น คือเขาพระสุเมรุ  ใจที่สามานย์ ได้แก่มหาสมุทร กิเลส คือละลอกคลื่น ความชั่วคือมังกรร้าย ความเท็จคือฝีห่า  อารมณ์ภายนอกอันน่าเวียนหัว คือสัตว์น้ำต่างๆ  ความโลภและความโกรธ คือโลกันตนรก  อวิชชาและความมัวเมา คือสัตว์เดรัจฉานทั่วไป

 

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  ถ้าท่านประพฤติในกุศล 10 ประการอย่างมั่นคง  แดนสุขาวดีก็จะปรากฏแก่ท่านในทันที  เมื่อใดท่านขจัดความเห็นว่าตัวตนและความเห็นว่าเป็นนั่นเป็นนี่ออกไปเสียได้  เขาพระสุเมรุก็จะหัวคะมำพังทลายลงมา  เมื่อใดจิตไม่ย้อมด้วยความชั่วอีกต่อไป  เมื่อนั้นน้ำในมหาสมุทร (แห่งสังสาระ)  ก็เหือดแห้งไปสิ้น  เมื่อท่านเป็นอิสระอยู่เหนือกิเลส  เมื่อนั้นลูกคลื่นและละลอกทั้งหลายก็สงบเงียบลง  เมื่อใดความชั่วร้ายไม่กล้าเผชิญหน้าท่าน  เมื่อนั้นปลาร้ายและมังกรร้ายก็ตายสิ้น

        ภายในมณฑลแห่งจิตนั้น  มีองค์ตถาคตแห่งความตรัสรู้  ซึ่งสองแสงอันแรงกล้าออกมาทำความสว่างที่ประตูภายนอกทั้งหกประตู  และควบคุมมันให้บริสุทธิ์  แสงนี้แรงมากพอที่จะทะลุผ่านสวรรค์ชั้นกามาวจรทั้งหก  และเมื่อมันย้อนกลับเข้าภายในไปยังจิตเดิมแท้  มันจะขับธาตุอันเป็นพิษทั้ง 3 อย่างให้หมดไป  และชำระล้างบาปชนิดที่จะทำให้เราตกนรก  หรืออบายอย่างอื่น  แล้วจะทำความสว่างไสวให้เกิดแก่เราทั้งภายในและภายนอก  จนกระทั่งเราไม่มีอะไรแตกต่างจากพวกที่เกิดในแดนบริสุทธิ์  ทางทิศตะวันตก  ที่นี้ถ้าเราไม่ฝึกตัวเราให้สูงถึงขนาดนี้แล้ว  เราจะบรรลุถึงแดนบริสุทธิ์นั้นได้อย่างไรกัน?

        เมื่อที่ประชุมได้ฟังเทศนาของพระสังฆปริณายกจบลงแล้ว  ต่างพากันทราบถึงจิตเดิมแท้ของตนๆอย่างแจ้งชัด  ทุกคนพากันทำความเคารพ  และอุทานออกมาเป็นเสียงเดียวกันว่า "สาธุ" เขายังได้พากันสวดมนต์ภาวนา  ขอสรรพสัตว์ในสากลจักรวาลนี้  เมื่อได้ยินธรรมเทศนานี้แล้ว  จงเข้าใจได้อย่างซึมซาบในทันทีทันใดเถิด

        พระสังฆปริณายกได้กล่าวเพิ่มเติมว่า  ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  ผู้ใดอยากทำการปฏิบัติ (ทางจิต)  จะทำที่บ้านก็ได้  ไม่มีความจำเป็นสำหรับคนเหล่านั้น ที่จะต้องอยู่ในสังฆราม  พวกที่ปฏิบัติตนอยู่กับบ้านนั้น  อาจเปรียบกันได้กับชาวบ้านทางทิศตะวันออกที่ใจบุญ  พวกที่อยู่ในสังฆราม  แต่ละเลย ต่อการปฏิบัตินั้น  ไม่แตกต่างอะไรกันกับชาวบ้านที่อยู่ทางทิศตะวันตก  แต่ใจบาป  จิตบริสุทธิ์ได้เพียงใด  มันก็เป็น  "แดนบริสุทธิ์ทางทิศตะวันตก  กล่าวคือ จิตเดิมแท้ของบุคคลนั้นเอง" เพียงนั้น

        ข้าหลวงไว่ได้เรียนถามขึ้นว่า  เราทั้งหลายควรฝึกตัวอย่างไรเมื่ออยู่ที่บ้าน ขอพระคุณเจ้าโปรดสั่งสอนเถิด

        พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า  อาตมาจะสอนโศลกว่าด้วยนิรรูปให้สักหมวดหนึ่ง  ถ้าท่านทั้งหลายเก็บเอาข้อความออกมาปฏิบัติตามแล้ว  ท่านก็จะอยู่ในสภาพเช่นเดียวกันกับพวกที่อาศัยอยู่กับอาตมาเนืองนิจเหมือนกัน  ในทางตรงข้าม  ถ้าท่านทั้งหลายไม่ปฏิบัติมัน  ท่านก็จะหาความเจริญในทางจิตไม่ได้  แม้ว่าท่านจะโกนหัว  และสละบ้านเรือนออกแสวงบุญ (คือบวชเป็นพระ  โศลกนั้น  มีดังต่อไปนี้

ผู้มีใจเที่ยงธรรม  การรักษาศีลไม่เป็นของจำเป็น

ผู้มีความประพฤติตรงแน่ว  การปฏิบัติในทางฌานมันจะมีมาเอง (แม้จะไม่ตั้งใจทำ)

สำหรับหลักแห่งการกตัญญูกตเวทีนั้น  เราอุปัฏฐากบิดามารดา รับใช้ท่านอย่างฐานลูก

สำหรับหลักแห่งความเป็นธรรมนั้น  ผู้ยิ่งใหญ่กับผู้ต่ำต้อยยืนเคียงข้างอาศัยกันและกัน (ในคราวคับขัน)

สำหรับหลักแห่งความปรารถนาดีต่อกันนั้น  ผู้อาวุโสกับผู้อ่อนอาวุโส ต้องสมัครสมานกัน

สำหรับหลักแห่งขันตินั้น  เราไม่ให้มีการทะเลาะเบาะแว้ง  แม้จะตอกอยู่ในท่ามกลางของหมู่อมิตรอันกักขฬะ

ถ้าเรามีความเพียร  รอคอยจนได้ไฟอันเกิดจากการเอาไม้มาสีกัน

  เมื่อนั้น บัวสีแดง(พุทธภาวะ)  ก็จะโผล่ออกมาเองจากตมสีดำ(ความมืดมนก่อนตรัสรู้)

 สิ่งที่มีรสขม ย่อมถูกใช้เป็นยาดี

สิ่งที่ฟังแล้วไม่ไพเราะหู นั้นคือคำตักเตือนอันจริงใจของผู้เตือนที่แท้จริง

จากการแก้ไขความผิดให้กลับเป็นความถูก  เราย่อมได้รับสติปัญญา

โดยการต่อสู้เพื่อรักษาความผิดของตัวไว้  เราแสดงนิมิตแห่งความมีจิตผิดปรกติออกมา

ในวันหนึ่งๆที่ชีวิตล่วงไปเราควรปฏิบัติความไม่เห็นแก่ตัวอยู่ตลอดเวลา

แต่ว่าพุทธภาวะนั้น  ไม่มีหวังที่จะได้มาจากการให้เงินเป็นทาน

โพธิปัญญานั้น หาพบได้เฉพาะจากภายในใจของเราเอง

และไม่มีความจำเป็นที่จะเสาะหาความจริง  อันเด็ดขาดของพระศาสนาจากภายนอก

ผู้ซึ่งได้ฟังโศลกนี้แล้ว นำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง

จะประสบแดนสุขาวดีอยู่ตรงเบื้องหน้าเขา นั่นแล.

        พระสังฆปริณายกได้กล่าวเพิ่มเติมว่า  ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  ท่านทุกคนจงปฏิบัติตามคำสอนที่กล่าวไว้ในโศลกนี้เถิด  เพื่อว่าท่านจะได้เห็นแจ้งจิตเดิมแท้  และลุถึงพุทธภาวะได้โดยตรงๆ พระธรรมไม่คอยใคร  อาตมาก็กำลังจะกลับไปโซกายเดี๋ยวนี้  ท่านทั้งหลายจงเลิกประชุมเถิด ถ้าท่านยังมีปัญหาใดๆ  ท่านจงไปถามที่นั่นเถิด

        ในการได้สมาคมกันคราวนี้  ท่านข้าหลวงไว่  ข้าราชการ คนใจบุญและสุภาพสตรีผู้อุทิศเคร่งครัดทั้งหลาย  ผู้ได้มาร่วมประชุม ณ ที่นั้น ได้เกิดความสว่างไสวทุกคน  เขารับคำสอนไปปฏิบัติด้วยความซื่อตรงแน่วแน่.

 

หมวดที่ 4 สมาธิ-ปัญญา

 

หมวดที่ 4

ว่าด้วย สมาธิ และปรัชญา*16

******************

*16 คำว่าปรัชญา ท่างฝ่ายมหายานนั้น ตรงกับคำว่าปัญญา ในฝ่ายเถรวาท  แต่คำปรัชญาในที่นี้มิได้เป็นคำเดียวกับปรัชญาในภาษาไทย  ซึ่งใช้เป็นคำแปลของคำว่าคิดกัน Philosophy  ในมหายานใช้รูปศัพท์สันสกฤตเช่นนั้นเอง (ผู้แปลไทย พุทธทาส)

        ในสมัยอื่นอีก  พระสังฆปริณายกได้แสดงธรรมแก่ผู้มาชุมนุมฟัง  ด้วยข้อความดังต่อไปนี้:-

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  ในระบบคำสอนของอาตมานั้น  สมาธิ และปรัชญา นับว่าเป็นหลักสำคัญ  แต่ท่านทั้งหลายอย่าได้เข้าใจผิดไปว่า  ธรรมะข้อนี้แยกจากกันได้เป็นอิสระ  เพราะเหตุว่ามันเป็นของรวมอยู่ด้วยกันอย่างที่จะแยกกันไม่ได้  และมิใช่เป็นของสองอย่าง  ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีความเป็นของตัวเอง  สมาธินั่นแหละคือตัวจริงของปรัชญา  ในเมื่อปรัชญาเป็นแต่เพียงอาการไหวตัวของสมาธิ  ในขณะที่เราได้ปรัชญา  สมาธิก็มีพร้อมอยู่ในนั้นแล้ว หรือจะกล่าวกลับกันว่า  เมื่อมีสมาธิ  เมื่อนั้นก็มีปรัชญา  ดังนี้ก็ได้  ถ้าท่านทั้งหลายเข้าใจหลักอันนี้  ก็แปลว่าท่านเข้าใจความสัมพันธ์อันมีส่วนเสมอกันระหว่างสมาธิกับปรัชญา  ผู้ศึกษาไม่ควรจะไปคิดว่า  มันมีอะไรแตกต่างกันในระหว่างคำว่า  "สมาธิให้เกิดปรัชญา"  กับคำว่า  "ปรัชญาให้เกิดสมาธิ"  การถือความเห็นว่าแยกกันได้นั้น  ย่อมส่อว่ามันมีอะไรที่เด่นๆ  อยู่ถึงสองฝักสองฝ่าย  ในธรรมะนี้

        สำหรับบุคคลที่ลิ้นของเขาพูดได้ไพเราะ  แต่ใจของเขาไม่สะอาดนั้น สมาธิและปรัชญาไม่มีประโยชน์อะไรแก่เขา  เพราะสมาธิและปรัชญาของเขาไม่ทางจะสมส่วนสัมพันธ์กันได้เลย  อีกทางหนึ่งซึ่งตรงกันข้าม  คือถ้าทั้งใจและดีทั้งถ้อยคำที่พูด  ทั้งกิริยาอาการภายนอกกับความรู้สึกในใจก็ประสานกลมกลืนกันแล้ว  นั่นแหละคือกรณีสมาธิและปรัชญา ได้สัมพันธ์กันอย่างสมส่วน

        การโต้แย้งกันนั้น  ไม่จำเป็นต้องเกิดแก่นักศึกษา  ที่มีความสว่างไสวแล้ว  การมัวเถียงกันว่าปรัชญาเกิดก่อน  หรือสมาธิเกิดก่อนนั่นแหละ  จะทำให้ผู้นั้นตกอยู่ในภาวะเช่นเดียวกับคนที่ถูกอวิชชาครอบงำทั้งหลาย  การเถียงกันย่อมหมายถึงความดิ้นรนจะเป็นฝ่ายชนะ  ย่อมเสริมกำลังให้แก่ความยัดมั่น  ถือมั่นว่าตัวตน  และย่อมจะผูกพันเราไว้กับความยึดถือ  ด้วยความสำคัญว่าตัวตน ว่าสัตว์  ว่าชีวะ  ว่าบุคคล

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  สมาธิและปรัชญานั้น  ควรจะเปรียบกับอะไรเล่า?  ธรรมะสองชื่อนี้  ควรจะเปรียบกันกับตะเกียง  และแสงของมนเอง  มีตะเกียง ก็มีแสง  ไม่มีตะเกียงมันก็มืด  ตะเกียงนั่นแหละคือตัวการแท้ของแสงสว่าง  และแสงสว่างเป็นแต่สิ่งซึ่งแสดงออกของตะเกียง  โดยชื่อ ฟังดูเป็นสองอย่าง  แต่โดยเนื้อแท้แล้ว  มันเป็นของอย่างเดียว  และทั้งเป็นของอันเดียวกันด้วย  กรณีเช่นนี้แหละ ได้กับสมาธิและปรัชญา

        ในสมัยอื่นอีก  พระสังฆปริณายกได้แสดงธรรมแก่ผู้มาชุมนุมฟัง  ด้วยข้อความดังต่อไปนี้:-

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  การบำเพ็ญ  "สมาธิที่ถุกวิธี" นั้น ได้แก่การทำให้เป็นระเบียบตายตัว  เพื่อให้เราเป็นคนตรงแน่วในทุกโอกาส  ไม่ว่าคราวเดิน ยืน นั่ง หรือนอน  วิมลกีรฺตินิเทศสูตร  มีข้อความว่า  "ความเป็นผู้ตรงแน่วนั่นแหละคือเมืองอริยะ  "แดนบริสุทธิ์" ท่านทั้งหลายจงอย่าปล่อยใจให้คตเคี้ยวไปมา และอย่าประพฤติความตรงแน่ว  เพียงสักว่าที่ริมฝีปาก  เราต้องบำเพ็ญให้ตรงแน่วจริงๆ  และไม่ผูกพันตัวเองไว้กับสิ่งใดๆ คนพวกที่งมงายอยู่ภายใต้อวิชชา  ย่อมเชื่ออย่างดื้อดึงไปตามตัวหนังสือ(*17) ฉะนั้นเขาจึงรั้นที่จะแปล  เอาตามชอบใจของตัวเอง ในการแปลคำว่า  "สมาธิที่ถูกวิธี"

*17คำนี้ไม่สามารถแปลไปตามต้นฉบับซึ่งมีอยู่ว่า ".....ย่อมเชื่ออย่าดื้อดึงในธรรมลักษณะ...." เพราะจะไม่ทำให้ผู้อ่านจับใจความอย่างใดได้เลย  จึงถอดใจความอย่างง่ายเสียทีเดียว  และแปลว่าเชื่อตามตัวหนังสือ  คำว่า "ธรรมลักษณะ"นี้ หาคำแปลยากที่สุดแม้ นายว่อง มูล่ำ  เองก็ถึงกับแปลแตกต่างกันทุกแห่ง  ทั้งสามแห่ง  แต่ข้าพเจ้าได้พยายาม ทบทวนดูแล้ว  จึงแปลอย่างนี้โดยอาศัยหลักคู่แรกของ  ธรรมลักษณะ  คือคำพูด  กับตัวธรรมจริง  นายว่องมูล่ำ ไม่แปล ใช้ทับศัพท์เอาแล้ววงเล็บไว้ว่า (Thing and Form) ซึ่งไม่ทำความเข้าใจให้แก่ผู้อ่านทั่วไปได้เลย (ผู้แปลไทย พุทธทาส)

ซึ่งเขาเหล่านั้นพากันแปลว่า  "นั่งอย่างเงียบติดต่อกันไป  โดยไม่ยอมให้ความคิดอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นในจิต"  การแปลความหมายเช่นนี้  เป็นการจัดตัวเราเองให้ลงไปอยู่ในชั้นเดียวกับวัตถุที่ไร้ชีวิตวิญญาณทั้งหลาย  และยังจะกลายเป็นสิ่งสะดุดเกะกะกีดขวางหนทางตรง  อันเราพึงทำให้เปิดโล่งอยู่เสมอ  ถ้าเราทำใจของเราให้พ้นจากการข้องแวะในสิ่งทั้งหลายทุกสิ่งได้แล้ว  ทางนั้นก็จะเตียนโล่ง  ถ้าไม่อย่างนั้น  ชื่อว่าขัง(*18) ตัวเราเอง  ถ้าหากว่าคำแปลที่ว่า

*18ภิกษุรูปหนึ่ง ได้เรียนถามพระอาจารย์ในนิกายธยาน ชื่อเช็กตาว ผู้สืบต่อมาจากศิษย์องค์หนึ่งของพระสังฆปริณายกองค์ที่หก  ว่า  "อะไรเป็นความหลุดรอด?"  พระอาจารย์รูปนั้นได้ย้อนถามว่า "ใครเล่าที่จับท่านใส่กรงขัง?"  ความเหมาะสมของคำตอบนี้เป็นอย่างเดียวกันแท้กับข้อความในตัวบทข้างบนนี้ อีกอย่างหนึ่ง เมื่อสังฆประณายกองค์ที่หกได้เล่าว่า  พระสังฆปริณายกองค์ที่ห้าไม่ยอมถกด้วยเรื่อง ธยาน และ วิมุติ จะยอมถกเฉพาะเรื่องจิตเดิมแท้เท่านั้น (ในหมวดที่1) นั่นก็คือ  ท่านได้แสดงแง่คิดอย่างเดียวกันกับอุทาหรณ์ข้างบน (ผู้แปลเดิม ดิปิงเซ่)

"นั่งอย่างเงียบติดต่อกันไป ฯลฯ" เป็นคำแปลที่ถูกต้อง  แล้วทำไมในคราวหนึ่งท่านสารีบุตรจึงถูกท่านวิมลกีรติขนาบเอาเนื่องจากนั่งเงียบๆ ในป่านั้นเอง(*19)

*19 ท่านวิมลกีรติ  กล่าวแก่ท่านสารีบุตรว่า เมื่อกล่าวถึงการนั่งเงียบๆ แล้ว มันควรจะหมายถึงว่า  เขาไม่เกิดในโลกทั้งสามอีกต่อไป (คือความรู้สึกของเขามีระดับอยู่เหนือกามโลก  รูปโลก และอรูปโลก) มันควารจะหมายถึงว่า ขณะที่อยู่ในนิโรธสมาบัติ (ฌานขั้นที่ดับสัมปฤตีได้)  นั้นเขาก็สามารถทำการเคลื่อนไหวต่างๆทางกายได้  เช่น  การเดิน การยืน การนั่ง การนอน ฯลฯ มันควรจะหมายถึงว่า  โดยไม่ต้องหันเหออกจากทางแห่งบัญญัติ  เขาสามารถทำกิจการต่างๆทางวิสัยโลกได้ มันควรจะหมายถึงว่า เขาคอยอยู่ข้างในก็หามิได้  ข้างนอกก็หามิได้  มันควรจะหมายถึงว่า เขาบำเพ็ญโพธิปักขิยธรรมสามสิบเจ็ดประการอยู่  โดยปราศจากความหวั่นไหวด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ  มันความจะหมายถึงว่า โดยไม่ต้องมีการทำลายล้างกิเลสอีกต่อไป เขาก็สามารถเข้า ถึงนิพพาน ผู้ที่สามารถนั่งได้เช่นนี้แหละจะได้รับความรับรองจากพระพุทธเจ้า"  วิมลกีรฺติ. นิเทศ.สูตร

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  อาจารย์สอนกัมมัฏฐานบางคน  สอนศิษย์ของตัวให้เฝ้าระวังจิตของในให้นิ่งเงียบ  ถึงกับว่าหมดความเคลื่อนไหวเป็นไปของจิตเอาเสียงที่เดียว  เมื่อเป็นดังนั้น  พวกศิษย์ก็พากันเลิกถอนการระดมกำลังจิตเสียสิ้นเชิง  คนหลงผิดเหล่านี้ก็พากันฟั่นเฟือน  เนื่องจากมีความเชื่อถือในคำแนะนำนั้นเกินไป  กรณีเช่นว่านี้มีอยู่ทั่วไป   ใช่ว่าจะมีนานๆครั้งก็หามิได้ และนับว่าเป็นความผิดอย่างใหญ่หลวงที่สอนผู้อื่นให้ทำเช่นนั้น

        ในสมัยอื่นอีก  พระสังฆปริณายกได้แสดงธรรมแก่ผู้มาชุมนุมฟัง  ด้วยข้อความดังต่อไปนี้:-

        ในพุทธศาสนาชนิดที่เป็นไปตามคัมภีร์นั้น ความแตกต่างระหว่างนิกาย "ฉับพลับ" กับ "นิกายเชื่องช้า"  มิได้มีอยู่อย่างชัดแจ้ง ความแตกต่างเท่าที่เห็นกันอยู่ก็มีแต่เพียงว่า  ตามธรรมชิตที่เกิดมา  คนบางพวกรู้อะไรได้เร็วในเมื่อคนอีกบางพวกที่ทึบต่อการที่จะเข้าใจสิ่งต่างๆ  พวกที่สว่างไสว  ก็สามารถเห็นแจ้งสัจจธรรม  ได้ทันที  ในเมื่อพวกที่อยู่ภายใต้อวิชชาจะต้องค่อยๆฝึกตัวเองต่อไป  แต่ความแตกต่างเช่นกล่าวนี้  จะไม่ปรากฏเลย  ถ้าหากว่าเรามารู้จักใจของตนเอง  และรู้แจ้งต่อสภาพแท้ของเราเอง  เพราะฉะนั้น คำว่า "เชื่องช้า" กับคำว่า "ฉับพลัน" สองคำนี้ เป็นเพียงภาพเลือนๆมากกว่าที่จะเป็นของจริง

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  มันเป็นจารีตในนิกายของเรา  ในการที่จะถือเอา  "ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก"  ว่าเป็นผลที่เราจำนงหวังถือเอา  "ความไม่ตกอยู่ภายใต้วิสัยของอารมณ์"  ว่าเป็นมูลรากอันสำคัญและถือเอา  "ความไม่ข้องติด" ว่าเป็นหลักหรือต้นตอ  อันเป็นประธานสำคัญ  "ความไม่ตกอยู่ภายใต้วิสัยของอารมณ์" นั้น  หมายถึงความไม่ถูกอารมณ์ดึงดูดเอาไป  ในเมื่อได้สัมผัสกกันเข้ากับอารมณ์  "ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก" นั้น  หมายถึงความไม่ถูกลากเอาไปโดยความคิดอันแตกแยกแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง  ในขณะที่กำลังบำเพ็ญภาวนาทางจิต  "ความไม่ข้องติด"  นั้น หมายถึงลักษณะเฉพาะแห่ง  จิตเดิมแท้  ของเรานั่นเอง

        สิ่งทุกสิ่ง  ไม่ว่าดีหรือเลว  สวยงามหรือน่าเกลียด  ควรจัดเป็นของว่างอย่างเดียวกัน  แม้ในขณะที่โต้เถียงและทะเลาะวิวาท  เราควรประพฤติต่อเพื่อนและต่อศัตรูของเราอย่างเดียวกัน  และไม่มีการนึกถึงการแก้เผ็ด  ในการฝึกความนึกคิดของตนเอง จะปล่อยให้อดีตเป็นอดีต  ถ้าเราเผลอให้ความคิดของเรา  ที่เป็นอดีต  ปัจจุบัน  และอนาคต  มาจับติดต่อกัน เป็นห่วงโซ่  แล้วก็หมายว่าเราจับตัวเองใส่กรงขัง  ในฝ่ายตรงกันข้าม  ถ้าเราไม่ยอมให้ใจของเราข้องติดอยู่  ในสิ่งใดๆ เราจะลุถึงความหลุดพ้น  เพื่อผลอันนี้  เราจึงถือเอา  "ความไม่ข้องติด"  ว่าเป็นหลักหรือต้นตอ  อันเป็นประธานสำคัญ

         การทำตัวเราเอง  ให้เป็นอิสระ  จาการถูกดูดดึงไปตามอารมณ์ภายนอกนี้เรียกว่า  "ความไม่ตกอยู่ภายใต้วิสัยของอารมณ์"  เมื่ออยู่ในฐานะที่จะทำได้ดั้งนั้น  สภาพธรรม(ที่มีในเรา)  ก็จะบริสุทธิ์  เพื่อผลอันนี้ เราจึงถือเอา  "ความไม่ตกอยู่ภายใต้วิสัยของอารมณ์"  ว่าเป็นมูลรากอันสำคัญ

        การดำรงใจไว้ให้เป็นอิสระจากอำนาจของกิเลส  ในทุกๆลักษณะของสิ่งที่แวดล้อมรอบตัวเรา  นี้เรียกว่า  "ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก"  ใจของเราลอยอยู่สูงเหนือสิ่งต่างๆ  ที่แวดล้อมเรา  และในทุกกรณี  เราไม่ยอมให้สิ่งเหล่านั้นมามีอิทธิพลครอบงำ  ในการที่ใจของเราของเราจะทำหน้าที่ของมัน  แต่ว่ามันเป็นความผิดอย่างใหญ่หลวง  ในการบีบบังคับใจไม่ให้คิดอะไรเสียหมด  เพราะว่าแม้เราจะทำได้สำเร็จในการบังคับเช่นนั้น  และเราดับจิตลงไปในขณะนั้น  เราก็ยังคงต้องเกิดใหม่  ในภพใดภพหนึ่งอยู่ดี  จงกำหนดความข้อนี้ไว้เถิดบรรดาท่านผู้เดินทางทั้งหลาย  มันเป็นความชั่วอย่างพอตัวทีเดียว  สำหรับคนที่ทำอย่างผิดพลาด  เนื่องมาจากไม่เข้าใจความหมายของธรรมบัญญัติข้อนั้น  แล้วมันจะเป็นความชั่วมากขึ้นไปเพียงใดอีก  ในการเร้าใจให้ผู้อื่นพากันทำตามเป็นบริวารของตน  เมื่อหลงเสียแล้ว  เขาก็มองไม่เห็นอะไร  และยิ่งกว่านั้นเขายังแถมเป็นผู้กล่าวตู่พระพุทธวจนะ  ยู่ตลอดกาลเป็นนิจด้วย  เหตุฉะนั้นแหละ  เราจึงถือเอา  "ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก"  ว่าเป็นผลที่จำนงหวังของเรา

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  อาตมาจะอธิบายให้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก  ว่าทำไมเราจึงถือเอา  "ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก"  มาเป็นผลที่จำนงหวังของเรา  เพราะเหตุว่ามีคนเขลาบางประเภท  ได้โอ้อวดว่าเห็นแจ้ง  จิตเดิมแท้  แต่ก็กำลังถูกอารมณ์ที่แวดล้อมลากเอาตัวไป  วิตกต่างๆ เกิดขึ้นในใจของเขา  ถูกแวดล้อมอยู่ด้วยมิจฉาทิฏฐิ  อันเป็นกระแสแห่งความหลงและกิเลสทุกๆชนิด  ก็ใน จิตเดิมแท้ (ซึ่งเป็นตัวสำแดงแห่งความว่าง) นั้น ไม่มีอะไรสำหรับให้ใครลุถึงเสียเลย  ฉะนั้น  การที่มาเอ่ยอ้างว่ามีการลุถึง  และกล่าวพล่อยๆถึงความดีหรือความชั่ว  เหล่านั้นล้วนแต่เป็นมิจฉาทิฎฐิและกิเลส  เพื่อผลอันนี้เอง  เราจึงได้ถือเอา  "ความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตก" ว่าเป็นผลที่จำนงหวังในนิกายของเรา

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  (ก็ในเรื่องความไม่เป็นไปตามอำนาจของวิตกนั้น)  อะไรเล่าเป็นสิ่งที่เราควรสลัดเสียให้สิ้นเชิง  และอะไรเล่า  ที่เราควรปักใจของเราลงไป  เราควรสลัด  "ของที่เป็นคู่ๆอย่างตรงกันข้ามต่อกัน"(*20) เสียให้สิ้นเชิง  พร้อมทั้งอกุศลเจตสิกทุกๆอย่าง  และเราควรปักใจของเรา

*20 ของคู่ในที่นี้  คือของที่เป็นสุดโต่งฝ่ายข้างหนึ่ง  ก็สุดโต่งฝ่ายข้างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น  บวก-ลบ โง่-ฉลาด ร้อน-เย็น  นรก-สวรรค์ ฯลฯ (พุทธทาส)

ลงไปที่ภาวะแท้จริงของ  ตถตา (ความเป็นแตกอย่างนั้นอย่างเดียว  เป็นอย่างอื่นอีกไม่ได้)  เพราะเหตุว่า  ตถตา นั่นแหละ  เป็ฯตัวการแท้ของวิตก  และวิตกเป็นผลแห่งการไหวตัวของ ตถตา

        ตัวแท้ของตถตา  ซึ่งเบ่งบานขึ้นถึงระดับเด่นชัดนั้นต่างหาก  ที่ทำให้วิตกนั้นเกิดขึ้น  หาใช่เพราะอวัยวะสำหรับรู้สีกอารมณ์นั้นๆไม่  ตถตา ย่อมทรงไว้ซึ่งคุณลักษณะของตัวมันเอง  ฉะนั้น มันจึงสามารถให้กำเนิดแก่วิตก  ปราศจาก ตถตา เสียแล้ว อวัยวะสำหรับรู้สึกอารมณ์  และอารมณ์นั้น (*21) ย่อม

*21 อวัยวะสำหรับรู้สึกอารมณ์ หรือ Sense Organs ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย ใจ อารมณ์  หรือ Sense objects ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมมารมณ์ คำเหล่านี้เป็นคำบัญญัติเฉพาะในพุทธศาสนา อาจไม่ตรงกับที่บัญญัติเฉพาะวิชาแขนงอื่นก็ได้ (พุทธทาส)

สลายลงทันที. ผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  เพราะเหตุที่คุณลักษณะของ ตถตา  ต่างหากที่ให้กำเนิดแก่วิตก  ฉะนั้น  อวัยวะสำหรับรู้สึกอารมณ์ต่างๆ  ของเราไม่จำเป็นจะต้องพลอยด่างพร้อยหรือเศร้าหมองไปด้วย  ในทุกๆเหตุการณ์  แม้ว่ามันจะเป็นผู้ทำหน้าที่ในการดู  การฟัง การสัมผัส การรู้ฯลฯ ก็ตาม,  และตัวภาวะแท้ของเรา  ก็อาจยัง  "แสดงตัวเองให้ปรากฏได้"  ทุกเวลา  เพราะเหตุฉะนั้น  พระสูตรนั้นจึงกล่าวว่า  ผู้ทีคล่องแคล่วในการแยกแยะธรรมลักษณะนานาประการ  เพื่อความเข้าใจอันถูกต้องได้  จักเป็นผู้ตั้งอยู่อย่างไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน  ใน "ธรรมอันเอก" (กล่าวคือถิ่นอันสงบเย็นของพระอริยะหรือนิพพาน)

 

หมวดที่ 5 ธฺยาน

 

หมวดที่ 5

ว่าด้วย ธฺยานะ

**********

        วันหนึ่ง  พระสังฆปริณายกได้แสดงธรรมแก่ผู้มาชุมนุมฟัง  ด้วยข้อความดังต่อไปนี้:-

        ในระบบการเจริญกัมมัฏฐานภาวนาของเรานั้น  เรามิได้กำหนดลงไปที่จิต (จิตปัจจุบัน ซึ่งแตกต่างอย่างตรงกันข้าม กับจิตเดิมแท้)  หรือกำหนดลงไปที่ความบริสุทธิ์  หรือว่าเราจะไปจับเอาตัวความหยุดนิ่ง  ปราศจากความเคลื่อนไหวทุกประการ  ก็หามิได้  สำหรับการกำหนดจดจ่อลงไปที่จิตนั้น  ไม่ควรทำ  เพราะจิตเป็นของมืดมัวมาเสียก่อนแล้ว  เมื่อเรามองเห็นชัดว่ามันเป็นเพียงตัวมายาตัวหนึ่งเท่านั้นแล้ว  ก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะไปจดจ่อกับมัน  สำหรับการกำหนดลงไปที่ตัวความบริสุทธิ์นั้นเล่า  ตัวธรรมชาติแท้ของเราก็บริสุทธิ์อย่างแท้จริงอยู่แล้ว  และตลอดเวลาที่เราขับไล่อกุศลวิตกออกไปเสียให้สิ้นเชิง  มันก็ไม่มีอะไรเหลืออยู่ในตัวเรา  นอกจากความบริสุทธิ์ย่างเดียวเพราะว่ามันเป็นด้วยอกุศลวิตก  กำหนดลงไปที่ความบริสุทธิ์  เราก็มีแต่จะสร้าง  อวิชชาอันใหม่ขึ้นมาอีกอันหนึ่ง  เท่านั้น  คืออวิชชาแห่งความบริสุทธิ์  เพราะเหตุที่อวิชชาเป็นสิ่งที่ไม่มีที่ตั้งอาศัย  จึงเป็นความเขลาที่เราจะไปอิงอาศัยมัน,  ตัวความบริสุทธิ์นั้นไม่มีสัณฐาน  ไม่มีรูปร่าง  แต่มีคนบางคนที่อุตริถึงกับประดิษฐ์  "รูปร่างของความบริสุทธิ์" ขึ้นมา  แล้วก็กุลีกุจออยู่กับมันในฐานะเป็นปัญหาสำคัญของความหลุดพ้น  เมื่อถือหลักความคิดเช่นนี้  คนเหล่านั้นก็กลายเป็น ผู้ขับไล่ไสส่งความบริสุทธิ์ เสียเองแล้ว  จิตเดิมแท้ของเขา  ก็ถูกทำให้เศร้าหมองไปเพราะเหตุนั้น

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  พวกที่ฝึกตัวอยู่ใน  "ความแน่วไม่หวั่นไหว"  นั้น  แม้จะได้เผชิญกับคนทุกชนิด  เขาก็ยังไม่รู้ไม่เห็นความผิดของผู้อื่นอยู่เสมอ  เขาไม่มีอะไรวิปริตผิดแปลกไปจากเดิม  เมื่อประสบบุญหรือบาป  ความดีหรือความชั่ว ของผู้อื่น  เพราะลักษณะเช่นนี้  ย่อมอนุโลมต่อ  "ความแน่วไม่หวั่นไหว" ของจิตเดิมแท้ ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  คนทีมีจิตยังมืดนั้นอาจสงบเฉพาะทางร่างกายภายนอก  แต่พอเผยอริมฝีปากเท่านั้น  เขาก็ติชมวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นด้วยเรื่องบุญบาป  ความสามารถ  ความอ่อนแอ  ความดีหรือความชั่ว  ของคนเหล่านั้นๆ  นี่แหละ  เขาเฉออกไปนอกทางแห่งสัมมาปฏิบัติอย่างนี้เอง  อีกฝ่ายหนึ่ง  การที่จดจ่อง่วนอยู่ ที่จิตของตนเอง  หรือที่ความบริสุทธิ์  ก็กลายเป็นสิ่งสะดุดกีดขวางในหนทาง  ด้วยเหมือนกัน

        ในสมัยอื่นอีก  พระสังฆปริณายก ได้แสดงธรรมแก่ผู้มาชุมนุมฟัง ด้วยข้อความดังต่อไปนี้:-

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  อย่างไรเรียกว่า  การนั่ง  เพื่อการกัมมัฏฐานภาวนา?  ในนิกายของเรานี้  การนั่ง  หมายถึงการได้รับอิสรภาพอันเด็ดขาด  และมีจิตสงบได้ในทุกๆ กรณีที่แวดล้อมเข้ามาจากภายนอก  ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายข้างดี หรือเป็นอย่างใดมา  การกัมมัฏฐานภาวนา  นั้น  หมายถึงการเห็นชัดแจ้งในภายใน  ต่อ  "ความแน่วไม่หวั่นไหว"  ของจิตเดิมแท้

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  อะไรเรียกว่า ธฺยาน (ฌาน) และสมาธิ? ธฺยาน  หมายถึงการหลุดจากความพัวพันด้วยอารมณ์ภายนอก(*22) ทุกประการ

*22 อารมณ์ภายนอก  หมายถึงสิ่งทุกสิ่งนอกจากจิต  ฉะนั้นแม้แต่ความคิดในจิตหรือของจิตก็เรียกว่าอารมณ์ภายนอกในที่นี้เหมือนกัน ไม่ต้องกล่าวถึง รูป เสียง กลิ่น ฯลฯ ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นของภายนอกชัดๆ (ผู้แปลไทย พุทธทาส)

และ สมาธิ หมายถึงการได้รับศานติในภายใน  ถ้าเราพัวพันอยู่กับอารมณ์ภายนอก  จิตภายในก็จะปั่นป่วน  เมื่อเราหลุดจากการพัวพันด้วยอารมณ์ภายนอกทุกอย่างแล้ว  จิตก็จะตั้งอยู่ในศานติ  จิตเดิมแท้ของเราเป็นของบริสุทธิ์อยู่แล้วอย่างแท้จริง  แล้วเหตุผลที่ว่า  ทำไมเราจึงปั่นป่วนนั้น  ก็เพราะเรายอมตัวให้อารมณ์ซึ่งแวดล้อมเราอยู่  ลากเอาตัวเราไป  ผู้ที่สามารถรักษาจิตของตนไว้ไม่ให้ปั่นป่วนได้  ไม่ว่าจะอยู่ในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมชนิดไหนหมด  นั่นแหละ ชื่อว่าได้บรรลุถึงสมาธิ

        การเป็นอิสระไม่พัวพันด้วยอารมณ์ภายนอกทุกอย่าง  ชื่อว่า  ธฺยาน  การลุถึงศานติในภายใน  ชื่อว่า สมาธิ  เมื่อใดเราอยู่ในฐานะที่จะเล่นฌาน และดำรงจิตในภายในให้ตั้งอยู่ในสมาธิ  เมื่อนั้น  จึงชื่อว่าเราได้ลุถึง  ธฺยานและสมาธิ  ข้อความในโพธิสัตวสีลสูตร  มีอยู่ว่า  "จิตเดิมแท้ของเรานั้น เป็นของบริสุทธิ์แท้จริง" ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  เราจงเห็นชัดความข้อนี้เพื่อตนเองทุกเมื่อเถิด  เราจงฝึกตัวเอง  ฝึกฝนมันด้วยตัวเอง  และลุถึงพุทธภาวะ  ด้วยความพยายามของตนเองเถิด

 

หมวดที่ 6 สำนึกบาป

 

หมวดที่ 6

ว่าด้วยบาปสำนึก (การสำนึกบาป)

************************

          ครั้งหนึ่ง  พวกที่ใฝ่ใจในการศึกษา  และพวกชาวบ้าน  จากกวางเจา ชิวเจา และที่อื่นๆ ได้มาประชุมกันอย่างคับคั่ง  เพื่อฟังคำเทศนาของพระสังฆปริณายก  เมื่อพระสังฆปริณายกเห็นดั่งนั้น  ก็ได้ขึ้นธรรมมาสน์  และแสดงธรรมเป็นข้อความดังต่อไปนี้:-

        การปฏิบัติในพระพุทธศาสนานั้น เราควรตั้งต้นที่  จิตเดิมแท้  ของเราตลอดเวลา  เราต้องชำระจิตของเราติดต่อกันทุกขณะจิต  ไต่ไปตามมรรคปฎิปทาด้วยน้ำพักน้ำแรง  ของเราเอง  ให้เห็นประจักษ์ชัดแจ้งในธรรมกายของเรา  ให้เห็นประจักษ์ชัดแจ้งต่อองค์พระพุทธเจ้าในใจของเรา  รื้อขนเองด้วยต่างคนต่างสมาทานศีล  แล้วการมาสู่ที่นี่ของพวกท่านทั้งหลาย  ก็จะมิเป็นการมาเปล่า  เนื่องจากท่านทั้งหลายมาจากที่ไกล  ด้วยกันทุกคน   ข้อที่เราได้มาพบกันที่นี่  ย่อมแสดงว่าเป็นการได้มีการสมาคมกันอย่างประเสริฐ  ฉะนั้นพวกเราทั้งหมดจงนั่งลงตามท่านั่งชาวอินเดีย  อาตมาจะได้แสดงเรื่องวิธีการ สำนึกบาป(*23) (อันเป็นทางใจล้วน  ไม่เกี่ยวกับรูปธรรม (เช่นกิริยาท่าทางเป็นต้น) แก่ท่านทั้งหลาย

*23 คำว่า Formless Repentence ในที่นี้แปลว่า  วิธีการสำนึกบาป (อันเป็นทางใจล้วน) ไม่เกี่ยวกับรูปธรรม (เช่นกิริยาท่าทางเป็นต้น) นี้หมายถึงการซักล้างหรือเปลี่ยนกลับที่เกี่ยวกับใจภายในใตล้วนๆ  ด้วยอำนาจของปัญญาเป็นต้น  ไม่เกี่ยวกับกิริยา  เช่น  ประกอบพิธี  ขอขมาในโบสถ์หรือเกี่ยวกับวัตถุ  เช่นไถ่ตัวด้วยของทำบุญเป็นต้น  หรือเกี่ยวกับบุคคล  เช่น  อ้อนวอนผู้มีอำนาจเบื้องบนเป็นต้น  ท่านเรียกของท่านว่า Formless ซึ่งตามตัวว่า  "ไม่มีรูป"  นับว่าเป็นคำที่แปลยากที่สุดในหนังสือเล่มนี้  และมีอยู่ทั่วไปแทบทุกบท  ต่อไปนี้จะแปลเพียงสั้นๆ ว่า  "ไม่เกี่ยวกับรูปธรรม"  มีอธิบายดังที่กล่าวมาแล้ว  ให้ผู้อ่านถือเป็นหลักใหญ่ๆ  ไว้อย่างหนึ่งว่าสังฆปริณายกเว่ยหล่างที่กล่าวถึงองค์นี้  ท่านมุ่งจะสอนทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นธรรมาธิษฐาน คือเรื่องจิต หรือตัวจริงไปหมด  ไม่ให้เป็นรูปบุคคลาธิฐาน  ซึ่งสมมุติขึ้นเป็นบุคคล หรืออิงอยู่กับวัตถุ  (ผู้แปลไทย  พุทธทาส)

        เมื่อทุกคนนั่งเรียบร้อยแล้ว  พระสังฆปริณายกได้กล่าวต่อไปว่า:-

        คันธสาระ(*24) ข้อต้นนั้น คือ ศีล  ซึ่งหมายถึงการที่จิตของเรา  ปราศจากรอยด่างๆของทุจริต  ความชั่ว ความริษยา ความตระหนี่ ความโกรธ

*24 คันธสาระ ในที่นี้หมายถึงสิ่งที่มีกลิ่นหอมทั่วไป  ใช้จุดเพื่อให้อากาศหอม ผู้อ่านที่สังเกตจะเห็นได้ว่า คันธสาระห้าอย่างนี้  โดยชื่อ ก็คือที่เรียกกันในฝ่ายเถรวาทว่าธรรมสาระห้านั่นเอง ได้แก่ ศีล. สมาธิ ปัญญา. วิมุต  และวิมุติญาณทัสสะ แต่คำอธิบายเดินคนละชั้นคนละแนว (ผู้แปลไทย พุทธทาส)

การใช้กำลังข่มขู่  และการผูกเวร คันธสาระ  ข้อที่สองนั้นคือ สมาธิ  ซึ่งหมายถึงการที่จิตของเรา  ไม่มีอาการหวั่นไหวในทุกเหตุการณ์  ที่เข้ามาแวดล้อมเรา  ไม่ว่ามาดีหรือมาร้าย  คันธสาระ ข้อที่สาม คือปัญญา ซึ่งหมายถึงการที่จิตของเราเป็นอิสระจากเครื่องหุ้มห่อรึงรัด  หมายถึงการที่เราส่องปัญญาของเราอยู่เนืองนิจ  ลงที่จิตเดิมแท้ของเรา  หมายถึงความที่เราเป็นผู้พ้นเด็ดขาดจากการที่จะทำความชั่วทุกประเภท  หมายถึงความที่แม้ว่า เราจะทำความดีทุกสิ่งทุกอย่าง  ถึงกระนั้นเราก็ไม่ปล่อยให้ใจของเราเกี่ยวเกาะอยู่ที่ผลของความดีนั้นๆ  และหมายถึงวาเรายอมเคารพนับถือผู้ทีสูงกว่าเรา  อ่อนน้อมต่อผู้ที่ต่ำต้อยกว่าเรา  เห็นอกเห็นใจคนที่หมดวาสนาและคนยากจน  คันธสาระ ข้อที่สี่ คือความหลุดพ้น(วิมุติ) ซึ่งหมายถึงความที่ใจของเราขึ้นถึงขั้นเป็นอิสระเด็ดขาด  ไม่เกี่ยวเกาะอยู่กับสิ่งใด  ไมผูกพันตัวเองอยู่กับความดีและความชั่ว  คันธสาระข้อที่ห้า คือความรู้ อันเราได้รับในขณะที่ลุถึงความหลุดพ้น เมื่อจิตของเราไม่เกี่ยวเกาะกับความดีและความชั่วแล้วเรายังจะต้องระวังไม่ปล่อยให้จิตนั้นอิงอยู่กับความว่างเปล่า  หรือตงลงไปสู่ความเฉื่อย  ยิ่งกว่านั้นเรายังจะต้องเพิ่มพูนการศึกษา  และขยายความรู้ของเราให้กว้างออกไป  จนกระทั่งเราสามารถรู้จักจิตของเราเอง  สามารถเข้าใจโดยทั่วถึงในหลักแห่งพุทธธรรม  ทำตนเป็นญาติมิตรกับสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายที่เราเกี่ยวข้องด้วย  บำบัดความรูสึกว่า  "ตัวตน" และความรู้สึกว่ามีว่าเป็นเสียให้หมดสิ้น และเห็นแจ้งชัดว่า  จำเดิมแต่ต้นมาจนกระทั่งถึงเวลาที่เราได้บรรลุโพธินั้น  "ธรรมชาติที่แท้จริง" (หรือจิตเดิมแท้) ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดั่งนี้ ชื่อว่าคันธสาระแห่ง  "ความรู้อันเราได้รับในขณะที่ลุถึงความหลุดพ้น" คันธสาระอันประกอบไปด้วยองค์ห้าประการนี้  ย่อมอบกลิ่นออกมาจากภายใน  และเราไม่ควรแสวงหามันจากภายนอก

        ที่นี้อาตมาจะได้แสดงแก่ท่านทั้งหลาย ถึงเรื่อง  "บาปสำนึก*25 อันไม่เกี่ยวกับรูปธรรม" อันเป็นวิธีที่จะไถ่ถอนเสียได้ซึ่งปวงบาป  อันเราทั้ง

*25 คำว่า บาปสำนึก  หรือการสำนึกบาปนี้  หมายถึงความสลดสังเวชในบาปที่ทำมาแล้ว ถึงขนาดที่จะทำใจให้เปลี่ยนกลับตัวเป็นคนๆ ใหม่ แต่ท่านหมายความสูงถึงการทำใจให้พ้นจาการถือในบาปในบุญเอาเสียทีเดียว จงพยายามชี้ให้เห็นว่า ใจต้องข้ามพ้นจากบาปและบุญ  จึงจะสามารถทำใจ ให้เกลี้ยงเกลาจากบาปได้  ซึ่งในที่อื่นข้างหน้า ท่านชี้ให้เห็นว่า บุญกับบาปนั้นเป็นของอย่างเดียวกัน  คือเป็นเพียงสังขาร  และออกมาจากอวิชชาด้วยกันทั้งสองอย่าง ผู้แปลไทย พุทธทาส

หลายได้กระทำกันในชาติเป็นปัจจุบัน  ชาติอดีต  และอนาคต  และจะชำระมโนกรรม วจีกรรม กายกรรม ของเราให้หมดจด

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย, จงทำตามอาตมา  และว่าดังๆ พร้อมกันทุกคนเหมือนที่อาตมาจะว่านำ:-

        ขอให้เราทั้งหลาย บรรดาสาวกที่ไม่ได้ระบุนามเหล่านี้ จงเป็นผู้เป็นอิสระตลอดกลา จากรอยด่างของความไม่รู้และรู้ผิด  เราได้สำนึกแล้วในบาปและกรรมชั่วทั้งหลายของเรา อันเราได้ประกอบแล้ว เพราะอำนาจแห่งความรู้ผิด หรือความไม่รู้ ขอให้บาปทั้งปวงนั้นจงเป็นสิ่งไถ่ถอนหมดสิ้นแล้วในทันทีนี้  และขอย่าให้กลับเกิดมีมาอีกเลย

        ขอให้เราทั้งหลาย  จงเป็นผู้เป็นอิสระตลอดกาล จากรอยด่างของความเย่อหยิ่งและความอวดดี  เราสำนึกได้แล้วในจริตอันเย่อหยิ่งและโอ่อวด  อันเราทั้งหลายได้ประพฤติมาแล้วในอดีต  ขอให้บาปทั้งมวลนั้น  จงเป็นสิ่งที่ไถ่ถอนหมดสิ้นแล้วในทันทีนี้ และขออย่าให้กลับเกิดมีมาอีกเลย

        ขอให้เราทั้งหลาย  จงเป็นผู้เป็นอิสระตลอดกาล  จากรอยด่างของความริษยา และความเคียดแค้น  เราสำนึกได้แล้วในบาป  และกรรมชั่วทั้งหลายของเรา  อันเราได้ประกอบขึ้นแล้วด้วยใจอันเต็มไปด้วยความริษยาและความเคียดแค้น  ขอให้บาปทั้งมวลนั้น จงเป็นสิ่งที่ไถ่ถอนหมดสิ้นแล้วในทันทีนี้  และขออย่าให้กลับเกิดมีมาอีกเลย

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  นี่แหละที่เราเรียกว่า  "เซ็น-ฝู่ อันไม่เกี่ยวกับรูปธรรม" อะไรเล่าเป็นความหมายของ  เซ็น และ ฝู่ (กฺษมยติ) ในที่นี้? เซ็น นั้นถึงความสำนึกบาปอันเป็นอดีต  การสำนึกถึงตัวบาปและกรรมชั่วทั้งปวงในอดีต  อันเราได้ประกอบขึ้นแล้ว  ด้วยอำนาจความรู้ผิด ความไม่รู้  ความเย่อหยิ่ง  ความอวดดี  ความเคียดแค้น  หรือความริษยาและอื่นๆ ได้ ฯลฯ  จนถึงกับทำความสิ้นสุดให้แก่บาปเหล่านี้ได้เรียกว่า เซ็น.  ฝู่ นั้นเล็งถึงการสำนึกบาปส่วนที่จะเกิดขึ้นด้วยการกระทำในอนาคตของเรา  เมื่อเห็นแจ้งชัดถึงธรรมชาติอันเราอาจล่วงละเมิดได้ (ในอนาคต)  เราย่อมตั้งปฏิญาณว่าแต่นี้ต่อไป  เราขอทำความสุดสิ้นแก่กรรมชั่วทุกประเภท  อันเกิดขึ้นมาจากความรู้ผิด  ความไม่รู้ ความเย่อหยิ่ง  ความอวดดี  ความเคียดแค้น หรือความริษยา  และว่า เราจะไม่ก่อบาปขึ้นอีกต่อไป  นี้เรียกว่า ฝู่

        เนื่องจากความไม่รู้และรู้ผิดเป็นเหตุ คนทั้งหลายย่อมไม่เห็นชัดแจ้งว่าในการทำความสำนึกบาปนั้น  เขาไม่ควรจะเพียงแต่รู้สึกเสียใจ  เพราะบาปกรรมที่ทำมาแล้วอย่างเดียว  แต่เขาควรจะละเว้นเด็ดขาดจากการทำบาปใหม่ในอนาคตด้วย  เนื่องจากเขาไม่ใส่ใจสำรวมถึงการกระทำในอนาคตนั่นเอง  เขาประกอบบาปขึ้นใหม่ ก่อนแต่ที่จะไถ่ถอนบาปเก่าให้สิ้นไป  เราจะเรียกการกระทำเช่นนั้นว่า  "การสำนึกบาป"  ได้อย่างไรกันเล่า?

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  เมื่อได้มีการสำนึกบาปชำระตัวแล้ว  เราควรจะตั้งไว้ซึ่ง ปฏิญาณรวบยอด 4 ประการ*26 ดังต่อไปนี้

*26 ปฏิญาณรวบยอด 4 ประการ นั้น คำว่ารวบยอดหมายความว่า กินหมดถึงหลักทุกๆ หลักในการปฏิบัติ หรือตัวศาสนาก็ตาม

        เราขอปฏิญาณที่จะปลดปล่อยสัตว์มีวิญญาณ  มีปริมาณไม่จำกัดอันเป็นของแห่งใจของเราเอง.

        เราขอปฏิญาณที่จะเพิกเสียซึ่งกิเลสมีปริมาณคณานาไม่ได้  ในใจของเราเอง

        เราขอปฏิญาณที่จะศึกษาระบอบธรรม อันนับไม่ถ้วนแห่งจิตเดิมแท้ของเรา

        เราขอปฏิญาณที่จะเข้าให้ถึงพุทธภาวะ  อันสูงสุดแห่งจิตเดิมแท้ของเรา

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  บัดนี้เราทั้งหมดได้ประกาศออกไปแล้วว่าเราปฏิญาณในอันที่จะปลดปล่อยสัตว์มีวิญญาณ  อันมีประมาณไม่จำกัด  แต่นั้นหมายความว่าอย่างไรเล่า? มันมิได้หมายความว่า อาตมา,เว่ยหล่าง  กำลังจะปลดปล่อยสัตว์นั้น. และอะไรเล่าคือสัตว์มีวิญญาณเหล่านั้น  อันมีอยู่ในใจของเรา?สัตว์เหล่านั้นคือ  ใจที่หลงผิด ใจที่เป็นมายา ใจชั่วร้ายและใจอื่นๆ ทำนองนั้น เหล่านี้ทั้งหมด  เรียกว่าสัตว์ที่มีวิญญาณ *27  สัตว์เหล่านี้แต่ละตัว

*27 การที่เรียกใจที่ชั่วร้ายนานาชนิด  ว่าสัตว์มีวิญญาณในที่นี้  เป็นสำนวนศาสนาชนิดหนึ่งซึ่งถือว่าสิ่งทั้งปวงสำคัญอยู่ที่ใจ สำเร็จอยู่ที่ใจ หรือออกไปจากใจ และเป็นสิ่งที่น่าสงสารที่สุดสำหรับผู้ที่ไม่มีปัญญา พิจารณาเห็น  ผู้แปลไทย พุทธทาส

จำจะต้องปลดปล่อยตัวมันเอง  โดยอาศัยอำนาจแห่งจิตเดิมแท้ของมัน แล้วการปลดปล่อยนั้น  ก็จะเป็นการปลดปล่อยอันเลิศแท้.

        ในเรื่องนี้  การปลดปล่อยตัวเองโดยอาศัยจิตเดิมแท้ของตัวเองนั้น  หมายความว่าอย่างไรเล่า? มันหมายถึงการหลุดรอดของสัตว์ที่โง่เขลา ที่หลงผิด ที่หลงทรมาน อันมีอยู่ในใจเรา  ออกไปได้โดยอาศัยสัมมาทิฏฐิ  โดยได้อาศัยสัมมาทิฏฐิและปัญญา  สิ่งกางกั้นต่างๆที่สัตว์ผู้ไร้ความรู้และรู้ผิดเหล่านั้นแต่ละตัว จะอยู่ในฐานะปลดปล่อยตัวเองออกไปได้  ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัว ผู้ผิดจงปลดปล่อยตัวเองได้  ด้วยอาศัยความถูก ผู้รู้ผิดจงปลดปล่อยตัวเองได้ ด้วยอาศัยความรู้แจ้ง  ผู้ไม่รู้  ด้วยอาศัยปัญญา  และผู้เต็มอยู่ด้วยโทษ  ด้วยการอาศัยคุณนี้คือการปลดปล่อยอันเลิศแท้.

        สำหรับข้อปฏิญาณที่ว่า  "เราขอปฏิญาณที่จะเพิกเสียซึ่งกิเลสอันชั่วร้ายภายในใจ  อันมีปริมาณคณานับไม่ได้"  นั้น ย่อมเล็งถึงการปลดออกเสียซึ่งกลุ่มของความคิดอันเชื่อถือไม่ได้  และเป็นมายาหลอกลวง  โดยนำเอาปัญญาแห่งจิตเดิมแท้เข้ามาใส่แทนที่.

        สำหรับข้อปฏิญาณที่ว่า "เราขอปฏิญาณที่จะศึกษาระบบธรรม อันนับไม่ถ้วน"  นั้น  ควรจะวางหลักลงไปว่า  การศึกษาที่แท้จริงจะยังมีไม่ได้  จนกว่าเราจะได้เผชิญหน้ากับจิตเดิมแท้ของเราเสียก่อน.  และจนกว่าเราจะมีความเป็นไปของเรากลมเกลียวกันได้กับธรรมะอันถูกต้อง ในทุกโอกาสเสียก่อน

        สำหรับข้อปฏิญาณที่ว่า  "เราขอปฏิญาณที่จะเข้าให้ถึงพุทธภาวะอันสูงสุด" นั้น อาตมาปรารถนาที่จะชี้ ให้ท่านทั้งหลายเห็นชัดว่า เมื่อเราสามารถน้อมจิตของเรา ไปตามทางแห่งธรรมะอันแท้  และถูกตรงในทุกโอกาส  และเมื่อปัญญาแจ่มแจ้งอยู่ในใจของเราไม่ขาดสาย  จนกระทั่งเราสามารถตีตัวออกห่างเสียได้ทั้งจากความรู้แจ้งและความไม่รู้ ไม่ข้องแวะด้วยกับทั้งความจริงและความเท็จ เมื่อนั้นแหละ  เราอาจจะถือว่าตัวเราได้รู้แจ่มชัดแล้วในธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ *28 หรืออีกนัยหนึ่ง  ได้ลุถึงแล้วซึ่งพุทธภาวะ

*28ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ หรือพุทธภาวะ ซึ่งมีประจำอยู่ที่จิตเดิมแท้  สองคำนี้ เป็นคำที่อธิบายยาก  ท่านจึงต้องชี้ไว้ด้วยลักษณะอาการ ทำนองการอนุมานว่า เมื่อใดจิตสะอาดและฉลาดและสงบ ถึงขนาดที่มองเห็นว่า  ความจริงกับความเท็จก็เป็นของไม่น่ายึดถือ  เท่ากัน ความตรัสรู้  กับความโง่เขลาก็เป็นของไม่น่ายึดถือ เท่ากัน  เมื่อนั้น ใจนั้นชื่อว่า อยู่ในมาตรฐานที่รู้จักพุทธภาวะ อันมีอยู่เองแล้ว  ในจิตเดิมแท้ของคนทุกคน ผู้แปลไทย พุทธทาส

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  เราควรจะสำเหนียกอยู่ในใจให้ได้เสมอไปว่า  เรากำลังไต่ไปเรื่อยๆตามทางแห่งมรรคปฏิปทา  เพราะว่าการทำในใจเช่นนั้นย่อมเพิ่มกำลังให้แก่ปฏิญาณของเรา  บัดนี้  เนื่องจากเราได้ตั้งไว้ ซึ่งปฏิญาณรวมยอด 4 ประการ  เหล่านี้แล้ว  อาตมาจะได้แสดงแก่ท่านทั้งหลาย ถึง "เครื่องส่องทาง *29 มีองค์สามประการอันไม่เกี่ยวกับรูปธรรม*30" สืบต่อไป

*29 เครื่องส่องทาง Guidance ในที่นี้โดยความหมายก็ตรงกับคำว่า สรณะ เพราะสรณะก็คือเครื่องสำหรับให้ใจหน่วงไป หรือดึงดูดใจไปหา.  แต่ข้าพเจ้าคงแปลว่า "เครื่องส่องทาง" อนุโลมตามรูปศัพท์ในภาษาอังกฤษ ทั้งๆ ที่เชื่อว่าต้นฉบับเดิมในภาษาจีนใช้คำที่ตรงกับคำว่า สรณะ  ผู้แปลไทย พุทธทาส

*30 "ไม่เกี่ยวกับรูปธรรม"  ในตอนนี้มีอธิบายชัดอยู่ในตัวแล้ว  คือคำว่าพระพุทธเจ้า ก็ไม่หมายเอาองค์หรือร่างกายพระพุทธเจ้า  แต่หมายเอาตัวความรู้  พระธรรม ก็ไม่ได้หมายเอาคัมภีร์หรือเสียง หรือภาพ แต่หมายเอาตัวความถูกต้อง  พระสงฆ์ไม่ไม่หมายเอาผ้าเหลืองหรือตัวคน  แต่หมายเอาตัวความบริสุทธิ์ เช่นนี้ทำให้เราเข้าใจความหมายของคำว่า "Formless" หรือ "ไม่เกี่ยวกับรูปธรรม"  ตามความหมายของพระสังฆปริณายก นั้นได้ง่ายขึ้น ผู้แปลไทย พุทธทาส

        เราถือเอา "การรู้แจ้ง(ตรัสรู้) ว่าเป็นเครื่องนำทางของเรา เพราะว่านั่นแหละ คือยอดสุดทั้งของบุญและปัญญา

        เราถือเอา "ความถูกต้องตามธรรมแท้"  ว่าเป็นเครื่องนำทางของเรา เพราะว่านั่นแหละ คือหนทางที่ดีที่สุดแล้ว ของการรื้อถอนตัณหา.

        เราถือเอา  "ความบริสุทธิ์" ว่าเป็นเครื่องนำทางของเรา  เพราะว่านั่นแหละ คือคุณชาติอันประเสริฐที่สุดของการได้เกิดเป็นมนุษย์

        ต่อไปนี้จงถือเอาท่านที่ตรัสรู้แล้ว  เป็นครูของเรา  ในทุกกรณี  เราไม่ควรรับเอาพญามาร  (บุคคลาธิษฐานแห่งความชั่ว) หรือมิจฉาทิฏฐิบุคคลอื่นใดว่าเป็นผู้นำของเรา  ข้อนี้เราอาจน้อมนำเข้ามาสู่ใจเราได้  โดยการน้อมระลึกถึงอยู่เนืองนิจใน "รัตนะทั้งสาม"  แห่งจิตเดิมแท้ของเรา  ซึ่งในรัตนะเหล่านี้เอง  ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  อาตมาแนะนำให้ท่านทั้งหลายถือเอาเป็นที่พึ่ง รัตนะเหล่านั้นคือ:-

        พระพุทธเจ้า  ซึ่งเป็นตัวแทนของ  "ความรู้แจ้ง(ตรัสรู้)"

         พระธรรม  ซึ่งเป็นตัวแทนของ "ความถูกต้องตามธรรมแท้"

        พระสงฆ์  ซึ่งเป็นตัวแทนของ  "ความบริสุทธิ์"

        การน้อมใจของเราให้ถือเอา  "ความรู้แจ้ง" เป็นที่พึ่งได้ จนถึงกับความรู้สึกที่ชั่วร้าย  และผิดธรรมไม่อาจเกิดขึ้นได้  ตัณหาห่างจากไป  ความตึงเครียดไม่ปรากฏ  ราคะและโลภะไม่รึงรัดอีกต่อไป  นั่นแหละคือยอดสุด ทั้งของบุญและปัญญา

        การน้อมใจของเราให้ถือเอา  "ความถูกต้องตามธรรมแท้"  เป็นที่พึ่งได้  จนถึงกับเราเป็นอิสระอยู่เสมอ  จากความเห็นผิด  (ซึ่งถ้าปราศจากความเป็นผิดแล้ว  ก็ไม่อาจจะเกิดความยึดถือตัวตน  ความเย่อหยิ่ง  หรือความทะเยอทะยานขึ้นมาได้) นั่นแหละ คือหนทางอันประเสริฐที่จะถอนเสียได้ซึ่งตัณหา.

        การน้อมใจของเรา  ให้ถือเอา  "ความบริสุทธิ์" เป็นที่พึ่งได้  จนถึงกับไม่ว่าสถานะการณ์อันใดจะเข้ามาแวดล้อมใจ ก็ไม่ถูกทำให้เปื้อนด้วยวัตถุอารมณ์  อันน่าขยะแขยง  ด้วยควาททะเยอทะยานและตัณหา  นั่นแหละ  คือคุณชาติอันประเสริฐสุดของการได้เกิดมาเป็นคน

        การปฏิบัติใน  "เครื่องส่องทางมีองค์สาม" ตามวิธีที่กล่าวมาแล้วนี้ ย่อมหมายถึงการทำที่พึ่งในตัวของตัวเอง (คือในจิตเดิมแท้ของผู้นั้นเอง)*31

*31 พระสังฆปริณายกต้องการจะชี้ให้เห็นว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ชนิดที่เป็นรูปธรรมนั้น คนละอย่างต่างจากตัวพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์  ที่เป็นลักษณะของจิตเดิมแท้  และท่านสอนสาวกของท่านให้ถือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างนัยหลัง จึงขัดกัน  อย่างที่จะเข้ากันไม่ได้  หรือฟังกันไม่ถูกกับพวกที่ถือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ชนิดที่เป็นรูปธรรม และด้วยเหตุนี้เอง  ท่านจึงต้องใช้คำว่า "Formless" กำกับอยู่เสมอทุกแห่งในหัวข้อคำสอนของท่าน ผู้แปลไทย พุทธทาส

พวกคนเขลาพากันถือสรณะ  "เครื่องส่องทางมีองค์สาม"  ทั้งกลางวันและกลางคืน  แต่เขาหาเข้าใจในสิ่งนี้ไม่ ถ้าเขากล่าวว่า เขาถือที่พึ่งในพระพุทธเจ้า เขาทราบหรือว่า พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน? ถ้าเขาไม่สามารถเห็นพระพุทธเจ้าได้ แล้วเขาจะสามารถถือที่พึ่งในพระองค์ได้อย่างไร?  การที่เขายืนยันเชื่นนั้นมิกลายเป็นเท็จไปหรือ?

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  ท่านทั้งหลายแต่ละคนควรจะพิจารณา และสอบสวนข้อเท็จจิรงในแง่นี้ให้แจ้งชัด  เพื่อตัวท่านเอง  และอย่างปล่อยให้กำลังกายและกำลังความคิดของท่าน  ถูกใช้ไปผิดทาง  พระสูตรได้กล่าวไว้ชัดแล้วว่า*31 เราควรจะถือที่พึ่งในพระพุทธเจ้าภายในตัวเราเอง  ไม่ได้กล่าว

*31 พระสูตร ในที่นี้หมายถึงสูตรฝ่ายมหายาน  และโดยเฉพาะหมายถึงวัชรเฉทิกสูตรซึ่งข้าพเจ้าจะได้หาโอกาสสอบดูต่อไป พระสูตรเล่มจีน เรียก กิมกังเก็ง ผู้แปลไทย พุทธทาส

สอนไว้เลยว่าให้ถือพระพุทธเจ้าอื่นๆ นอกจากนี้เป็นที่พึ่ง ยิ่งกว่านั้น  ถ้าหากว่าเราไม่ถือที่พึ่งในพระพุทธเจ้าภายในตัวเราเองแล้ว  ก็ไม่มีที่อื่นใดอีก  ที่จะถือเอาเป็นที่พึ่งที่ต้านทานแก่เราได้

        เมื่อได้พิจารณาเห็นความจริงในข้อนี้  โดยกระจ่างแล้วเราทั้งหลายแต่ละคนจงถือเอาที่พึ่งใน "รัตนะทั้งสาม" ภายในตัวเราเองเถิด ในภายในเราบังคับใจของเราเอง ภายนอก  เรานอบน้อมต่อผู้อื่น นี่แหละ  คือวิถีทางแห่งการถือที่พึ่งภายในตัวเราเอง

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  เมื่อท่านทุกคนได้ถือเอา  "เครื่องส่องทางมีองค์สาม"  นี้แล้ว  อาตมาก็จะได้กล่าวแก่ท่านทั้งหลาย  ถึงเรื่อง ตรีกาย (กายสามอย่าง) ของพระพุทธเจ้าแห่งจิตเดิมแท้ สืบไป  เพื่อว่าท่านทั้งหลายจะสามารถเห็นกายทั้งสามนี้ แล้วจะเห็นแจ้งในจิตเดิมแท้อย่างชัดเจนด้วย จงตั้งใจฟังให้ดี  และว่าตามดังๆ พร้อมกันทุกคน  เหมือนที่อาตมาจะว่านำ:-

        ด้วยกายเนื้อของเรานี้  เราขอถือที่พึ่งในธรรมกายอันบริสุทธิ์ (คือกายแก่น) ของพระพุทธเจ้า

        ด้วยกายเนื้อของเรานี้  เราขอถือที่พึ่งในสัมโภคกายอันสมบูรณ์(คือการแสดงออก) ของพระพุทธเจ้า

        ด้วยกายเนื้อของเรานี้  เราขอถือที่พึ่งในนิรมานกายอันมากมายตั้งหมื่นแสน(กายเปลี่ยนรูปต่างๆ) ของพระพุทธเจ้า

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  กายเนื้อของเรานี้  อาจเปรียบกันได้กับโรงพักแรก (คือที่อาศัยชั่วคราว)  ดั่งนั้นเราจึงไม่สามารถยึดเอาเป็นที่พึ่ง ในภายในจิตเดิมแท้ของเรา  เราอาจหาพบกายทั้งสามนี้ และเป็นของสาธารณะทั่วไปสำหรับทุกคน  แต่เนื่องจากใจ(ของคนธรรมดาสามัญ) ทำกิจอยู่ด้วยความรู้ผิดเขาจึงไม่ทราบถึงธรรมชาติแท้ในภายในกายของเขา  ผลจึงเกิดมีว่าเขาไม่รู้จักตรีกาย ภายในตัวของเขาเอง (มิหนำซ้ำยังเชื่อผิดๆ อีก) ว่าตรีกายนั้นเป็นสิ่งที่ต้องแสวงหาจากภายนอก  ท่านจงตั้งใจฟังเถิด อาตมาจะแสดงให้ท่านเห็นว่าในตัวท่านเอง  ท่านจะหาพบตรีกายเป็นปรากฏการณ์  อันแสดงออกของจิตเดิมแท้  อันเป็นสิ่งที่ไม่อาจหาพบได้จากภายนอก

        ในที่นี้  อะไรเล่าชื่อว่าธรรมกายอันบริสุทธิ์? จิตเดิมแท้ของเราเป็นของบริสุทธิ์จริงแท้  ทุกสิ่งทุกอย่าง  เป็นเพียงอาการแสดงออกของจิตนี้กรรมดีกรรมชั่ว  เป็นเพียงผลของความคิดดีและคิดชั่วตามลำดับ  ฉะนั้น ภายในจิตเดิมแท้ สิ่งทุกสิ่ง (ย่อมบริสุทธิ์จริงแท้) เหมือนกับสีของท้องฟ้ากับดวงอาทิตย์และดวงจันทร์  ซึ่งเมื่อเมฆผ่านมาบังความแจ่มนั้นดูประหนึ่งว่าถูกทำให้มัวไป  แต่เมื่อเมฆผ่านไปแล้ว  ความแจ่มกลับปรากฏอีก และสิ่งต่างๆก็ได้รับแสงที่ส่องมาเต็มที่อย่างเดิม  ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  จิตชั่วของเราเปรียบเหมือนกับเมฆ  ความรู้แจ้งแทงตลอด  และปัญญาของเราเปรียบเหมือนดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ตามลำดับ  เมื่อเราพัวพันอยู่กับอารมณ์ภายนอก

จิตเดิมแท้ของเรา  ก็ถูกบดบังไว้ด้วยความรู้สึกที่ติดรสของอารมณ์  ซึ่งย่อมเป็นการปิดกั้นความรู้แจ้งแทงตลอด และปัญญาของเราไว้  มิให้ส่องแสงออกมาภายนอกได้ แต่เผอิญเป็นโชคดีแก่เราอย่างเพียงพอ ที่ได้พบกันกับครูผู้รอบรู้และอารีที่ได้นำธรรมะอันถูกต้องตามธรรมมาให้เราทราบ  เราจึงสามารถกำจัดอวิชชาและความรู้ผิดเสียได้  ด้วยน้ำพักน้ำแรงของเรา  จนถึงกับเราเป็นผู้รู้แจ้งสว่างไสว  ทั้งภายในและภายนอก  และธรรมชาติแท้ของสิ่งทั้งปวง  ปรากฏ ตัวมันเองอยู่ภายในจิตเดิมแท้ของเรา  นี่แหละคือสิ่งซึ่งบังเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ได้เผชิญหน้ากันกับจิตเดิมแท้  และนี่แหละ  คือสิ่งซึ่งเรียกว่า  ธรรมกายอันบริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  การถือที่พึ่งในพระพุทธเจ้าที่จริงแท้นั้น ก็คือการถือที่พึ่งในจิตเดิมแท้  ของเราเอง ผู้ที่ถือที่พึ่งเช่นนี้ ย่อมจะพรากสิ่งต่อไปนี้ออกเสียจากจิตเดิมแท้ ของตน คือจิตชั่วต่ำ จิตริษยา จิตสอพลอ คดๆ งอๆ ความยึดถือตัว ความคดโกงและมดเท็จ  ความดูถูก ดูแคลน ความโอหัง ความเห็นผิด  ความเย่อหยิ่งจองหอง  และความต่ำทรามอื่นๆ อันจะมีเกิดขึ้นใจจิตไม่ว่าในเวลาใดๆ  การถือที่พึ่งในตัวเราเองนั้น  คือการระวังระไวอยู่ตลอดเวลาในการที่จะไม่ทำชั่วทำผิด  และงดขาดจากการวิพากษ์วิจารณ์ความดี  หรือความผิดของบุคคลอื่น  ผู้ที่อ่อนน้อมถ่อมตัวอยู่เสมอทุกโอกาส มีอัธยาศัยสุภาพต่อคนทุกๆคน ย่อมเป็นผู้ที่ได้เห็นจิตเดิมแท้ของเขาอย่างทั่วถึงแล้ว ทั่วถึงจริงๆ  จนถึงกับหนทางข้างหน้าของเขาจะปราศจากอุปสรรคทุกประการ  นี่แหละคือวิถีทางที่จะทำที่พึ่ง ในตนเอง

        อะไรเล่า  ชื่อว่าสัมโภคกายอันสมบูรณ์  ในที่นี้ของให้เรานึกถึงตะเกียงเป็นภาพเปรียบ  แม้แต่แสงตะเกียงเพียงดวงเดียว ก็ยงสามารถทำลายความมืด ที่มืดมานับพันๆปีได้ ฉะนั้น ประกายแห่งปัญญาย่อมสามารถทำลายอวิชชาที่มืดมาเป็นยุคๆ ได้เช่นกัน  เราไม่ต้องวิตกกังวลถึงอดีต  เพราะอดีตเป็นสิ่งที่ล่วงพ้นมาแล้ว  และไม่สามารถเอากลับคืนมาได้ สิ่งที่ต้องการความสนใจจากเราคืออนาคต ฉะนั้น จงให้ความคิดของเราเป็นสิ่งที่กระจ่าง และกลมกล่อมอยู่ทุกขณะจิตเถิด  และให้เห็นอย่างเผชิญหน้าอยู่กับจิตเดิมแท้ทุกเมื่อเถิด  ความดีกับความชั่วเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามต่อกันและกันอยู่ก็จริง  แต่ว่าตัวเนื้อแท้ส่วนลึกของมันนั้น  ไม่สามารถจะแยกออกเป็นสองฝ่าย*32 ธรรมชาติชั้นที่เราไม่สามารถแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่ายนี่เอง  คือตัวธรรมชาติแท้ (กล่าวคือความจริงแท้อันเด็ดขาด) ซึ่งไม่สามารถถูกทำให้เปื้อนด้วยความชั่ว หรือวิปริตไปอย่างใดอย่างหนึ่ง  ด้วยอำนาจของความดี นี่แหละคือสิ่งซึ่ง

*32 ข้อความวรรคนี้  คงจะเข้าใจยากยิ่งสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นกับธรรมประเภทนี้  ว่ามีความดีกับความชั่ว  เป็นของที่เห็นชัดว่าผิดตรงข้าม  แต่ส่วนเนื้อแท้ส่วนลึกของมันเป็นอันเดียวกัน ไม่สามารถแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่ายนั้น  คือว่า ปรากฏการณ์ข้างนอกของความดีความชั่ว  หรือผลอันจะเกิดจากความดีความชั่วแก่เรา  หรือลักษณะอื่นๆ ก็ตามล้วนแต่ตรงกันข้าม จนคนทั่วไปเรียกว่าเป็นของคู่  คือคนละอย่างตรงกันข้าม แต่เมื่อปัญญาแทงตลอดลงไปถึงตัวจริงส่วนลึก(Quintessence)ของมันแล้ว  การกลับปรากฏไปเสียว่ามาจากตัณหาด้วยกัน  เป็นสังขารด้วยกัน  อวิชชาปรุงแต่งขึ้นด้วยกัน ไม่อาจแบ่งแยกเป็นสองฝ่ายในขั้นนี้ซึ่งเป็นขั้นรากเง้าของมัน  ใครเห็นชัดความจริงในส่วนนี้ ชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้าแห่งจิตเดิมแท้  ในส่วนสัมโภคกายของพระองค์ คำว่า Quintessence นั้น ตามตัวอักษรแปลว่า  อายตนะที่ห้า  หรือมูลธาตุที่ห้า ดิน น้ำ ลม ไฟ คือสี่ธาตุ ธาตุที่ห้า คือใจ  เมื่อใช้กับวัตถุ หมายถึงส่วนที่เป็นตัวแท้ของมัน  ที่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ข้างนอก  ในที่นี้ใช้กับความดี ความชั่ว คำนี้จึงหมายถึง "ตัวแท้ชั้นในหรือชั้นลึก"ของสิ่งนี้ ผู้แปลไทย พุทธทาส

เรียกว่า สัมโภคกายของพระพุทธเจ้า

        ความคิดชั่วร้ายเพียงดวงเดียว  จากจิตเดิมแท้ของเรา  อาจจะทำลายความดีที่เราสร้างสม  อบรมมานาน  นับเป็นสมัยๆ ให้เสื่อมเสียไปหมดได้ทำนองเดียวกับความคิดอันดีงานจากจิตเดิมแท้นั่นอีกเหมือนกัน อาจจะชำระชะล้างบาปอกุศลของเรา  ซึ่งแม้จะมากมายเหมือนเมล็ดทรายในแม่น้ำคงคา ได้ดุจกันการเห็นประจักษ์ชัดต่อจิตเดิมแท้ของเราเองอยู่ทุกขณะจิต  ปราศจากการแทรกแซงจนกระทั่งลุถึงการตรัสรู้ขั้นสูงสุด ถึงงกับอยู่ในภาวะแห่งความเต็มเปี่ยมด้วยความรู้ อันถูกต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นั่นแหละ คือสัมโภคกาย

        ทีนี้ อะไรเล่า ชื่อว่านิรมานกายอันมากมายนับด้วยหมื่นแสน? เมื่อใดเราทำตัวเรา ให้เข้ามาอยู่ในฝักฝ่ายของความรู้จักแบ่งแยกว่า อะไรเป็นฝ่ายไหน และระบุออกไปว่า อะไรเป็นสิ่งที่ควรต้องการ  ได้แม้แต่เพียงนิดเดียวเท่านั้น  เมื่อนั้นความเปลี่ยนรูปแปลงร่างก็จะเกิดขึ้น (แก่

*33 ข้อความนี้ คงฟังยากสำหรับบางคน จึงขออธิบายเสียด้วยว่า พอปัญญาแท้จริงเกิดขึ้นแม้นิดเดียว ในขณะนั้นก็เกิดการเปลี่ยนรูปขึ้นภายในจิต  เช่นเปลี่ยนจากความมืด มายังความสว่าง จากความเปื้อน มาเป็นความสะอาด  จากความร้อนมาเป็นความเย็น เป็นต้น  เป็นของใหม่ขึ้นมา มากน้อยตามสมควรแก่ความรู้จักแยก (discrimination) และความรู้จักระบุของที่ควรต้องการ (particularization) ของตนเอง หมายความสั้นๆว่า พอปัญญาเกิด ก็ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในภายในด้วยเสมอไป ถ้าผิดไปจากนี้ ก็คือยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผู้แปลไทย พุทธทาส

ตัวเราเอง)*33 ถ้าผิดไปจากนี้  สิ่งทุกสิ่งจะยังคงว่างเปล่า เหมือนกับอวกาศ  ดังเช่นที่มันเป็นอยู่ในตัวมันเองมาแต่เดิม  โดยการเอนอิงจิตของเราลงไปบนสิ่งชั่ว  นรกก็เกิดขึ้น โดยการเอนอิงจิตของเราลงไปบนการกระทำกรรมดี  สวรรค์ก็ปรากฏ มังกรและงูร้าย คือการแปลงร่างมาเกิดของเวรภัยอันมีพิษ  เช่นเดียวกับพระโพธิสัตว์ก็คือตัวตน ของความเมตตากรุณา  จับกลุ่มกันมาเกิด ซีกบนคือปัญญาซึ่งจับตัวกันเป็นผลึก ส่องแสงจ้าอยู่  ในขณะที่โลกซึกล่างเป็นเพียงอีกรูปหนึ่งของสิ่งที่ก่อรูปมาจากอวิชชา  และความมัวเมา การเปลี่ยนรูปแปลงร่างของจิตเดิมแท้ช่างมีมากมายเสียจริงๆ พวกที่ตกอยู่ภายใต้ความหลงก็ไม่มีวันตื่น  และไม่มีวันเข้าใจ  จึงน้อมใจลงสู่ความชั่วเสมอและประพฤติความชั่วนั้นเป็นปกตินิสัย  แต่ถ้าเขาจะน้อมจิตเลี้ยวจากความชั่ว มายังความดีงาม แม้แต่เพียงสักขณะจิตเดียวเท่านั้น ปัญญาก็จะเกิดขึ้นทันที  นี่แหละ คือสิ่งซึ่งเรียกว่านิรมานกายของพระพุทธเจ้าแห่งจิตเดิมแท้

       ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  ธรรมกาย คือ สิ่งซึ่งมีความเต็มเปี่ยมอยู่ในตัวเอง  อย่างแท้จริง  การเห็นกันอยู่อย่างเผชิญหน้ากับจิตเดิมแท้ของคนทุกๆขณะจิต  นั้นคือ สัมโภคกาย ของพระพุทธเจ้า การเอนอิงจิตของเราลงที่สัมโภคกายนั้น (จนถึงกับเกิดความสว่างหรือปัญญา) นั่นคือนิรมานกาย การปฏิบัติให้ลุถึงการตรัสรู้  ด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราเอง และการที่ตนเองปฏิบัติความดีงาม ตามที่มีอยู่ในจิตเดิมแท้ของตนเอง นั่นแหละ คือกรณีชั้นเลิศของ "การถือที่พึ่ง" กายเนื้อของเรานี้ประกอบอยู่ด้วยเนื้อและหนัง ฯลฯ มันไม่มากอะไรยิ่งไปกว่าเป็นที่พักแรม (สำหรับอาศัยเพียงชั่วคราว)  ดังนั้นเราจึงไม่ถือที่พึ่งในกายเนื้อนั้น แต่เราจงพยายามให้เห็นแจ้งในตรีกายแห่งจิตเดิมแท้ของเราเถิด และเราจะรู้จักพระพุทธเจ้าแห่งจิตเดิมแท้ของเราเอง

        อาตมามีโศลกโคลง *34 อันไม่เกี่ยวกับรูปธรรม" อยู่บทหนึ่งซึ่งการท่องและการปฏิบัติตามโศลกโคลงนี้ จะสามารถเพิกอวิชชาให้สูญไป และชำระ

*34 โคลงโศลก ในที่นี้คือคำที่ผูกเข้าเป็นคำประพันธ์ชนิดกาพย์ หรือโคลงในภาษาบาลีเรียกคำชนิดนี้ว่า "คาถา" หรือคำสำหรับขับ  "ไม่เกี่ยวกับรูปธรรม" ในที่นี้  ก็เช่นเดียวกับที่อื่นนั่นเอง คือสอนวิธีปฏิบัติไม่เกี่ยวกับรูปธรรม  หรือพึ่งพาอาศัยรูปธรรม  ผู้แปลไทย พุทธทาส

ชะล้างบาป อันได้สะสมอบรมมานานนับด้วยกัลป์ๆได้ โดยสิ้นเชิง โศลกโคลงนั้นมีดังนี้:-

         พวกที่จมอยู่ความเขลา ย่อมมัวแต่สะสมบุญอันแปดเปื้อน (ด้วยการลูบคลำของตัณหาและทิฏฐิ)*35  ไม่ไต่ไปตามมรรคปฏิปทา

*35 บุญเป็นสิ่งที่แปดเปื้อนหรือมีราคี  เพราะบุญทุกอย่างต้องอาศัยตัณหาและทิฏฐิ หรือย่างใดอย่างหนึ่ง จึงเกิดขึ้นได้  ที่เป็นชั้นสูง  เช่นทิฏฐิที่ยังสำคัญว่าตัวตนบังคับให้ทำดีอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อตัวเช่นนี้ บุญนี้ ชื่อว่ายังถูกทิฏฐิ หรืออุปทานลูบคลำอยู่ ถ้าสูงพ้นนี้ไป คือมีความรู้สึกในความไม่มีตัวตน  ทำอะไรก็พ้นจากความเป็นบุญเสียแล้ว จึงมีหลักตายตัวว่า  บุญทุกชนิดต้องแปดเปื้อนแต่เป็นความแปดเปื้อนชนิดที่ถือกันว่าสวยเช่น การเขียนปาก เขียนคิ้ว  ของคนในสมัยนี้ เป็นตัวอย่าง  บุญย่อมนำหรือส่งเสริมให้เกิดในภพใดภพหนึ่งเสมอไป ซึ่งทำให้มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ทางพุทธศาสนาจึงถือว่า  แม้บุญก็มีพิษร้ายเท่ากับบาป  แต่ว่าลึกซึ้งเกินกว่าที่คนธรรมดาจะมองเห็น  และเมื่อเขายังไม่สามารถทำอะไรให้สูงไปกว่านั้นได้  จึงให้ทำบุญกันไปก่อนดีกว่าทำบาป แต่เมื่อใดความเห็นจริง  เมื่อนั้น จะเบื่อบุญเทากับเบื่อบาป และหลุดพ้นเป็นพระอรหันต์  ผู้แปลไทย พุทธทาส

        พวกนี้ตกอยู่ภายใต้ความรู้สึก ว่าการสะสมบุญ กับการไต่ไปตามมรรคปฏิปทานั้น เป็นของสิ่งเดียวและอย่าเดียวกัน

        แม้ว่าบุญของคนพวกนี้ อันเกิดจากการให้ทานและการบูชา จะมีมากหาประมาณมิได้

        เขาก็ไม่เห็นแจ้งว่า  วิถีทางมาอันเฉียบขาดของบาปนั้น เนื่องอยู่กับมูลธาตุ อันมีพิษร้ายสามประการ(โลภ โกรธ หลง)อันมีอยู่ในใจของตนเอง

        เขาคิดว่าเขาจะเปลื้องบาปของเขาได้ ด้วยการสะสมบุญ 

        โดยหารู้ไม่ว่าความสุขที่เขาจะได้รับในชาติข้างหน้านั้น ไม่มีอะไรเกี่ยวกับการเปลื้องบาปนั้นเลย

        ทำไมจึงไม่เปลื้องบาป (ด้วยวิธีที่ทำกัน) ภายในใจของตนเอง เพราะนั่นแหละเป็นการชำระบาป (ภายในจิตเดิมแท้ของเรา) อย่างแท้จริง

        คนบาปที่ได้มีความเห็นแจ้งขึ้นในทันทีทันใด ว่าอะไรจะนำมาซึ่งการสำนึกบาป อย่างแท้จริง ตามวิธีของนิกายมหายาน

        และได้เลิกละเด็ดขาดจากการทำบาป ทำแต่ความดีงาม นี่แหละ คือ ผู้หมดบาป

        ผู้ที่ไต่ไปตามมรรคปฏิปทา ซึ่งกำหนดในจิตเดิมแท้อยู่เนืองนิจนั้น

        ควรถูกจัดเข้าในระดับชั้นเดียวกันกับ พุทธบุคคลอันมีประเภทต่างๆ

        พระสังฆปริณายกของเราที่แล้วๆมา  ไม่ค่อยสอนระบบธรรมอย่างอื่นเลย นอกจากระบบ "ฉับพลัน"*36 นี้เท่านั้น

*36 ระบบฉับพลัน  หมายถึงระบบลัดตามวิธีนี้  เพื่อตัดขาดจากการมัวข้องแวะกับรูปธรรม นับตั้งแต่ตำราไปจนถึงบุญกุศลหรือสวรรค์ อ้นเป็นหลักสำคัญของท่านผู้นี้ ผู้แปลไทย พุทธทาส

        ขอให้ ผู้ปฏิบัติตามระบบนี้ทุกคน  จงเห็นอย่างเผชิญหน้าต่อ จิตเดิมแท้ของตน และอยู่กับพระพุทธเจ้าเหล่านั้นได้ในทันที

        ถ้าท่านกำลังแสวงหาธรรมกาย

        ก็จงมองให้สูง  เหนือขึ้นไปจากลักษณะธรรมดา *37 (ปรากฏการณ์ต่างๆ) แล้วจิตเดิมแท้ของท่านก็จะบริสุทธิ์

*37 คำนี้ของเดิมว่า "ธรรมลักษณะ" หมายถึงลักษณะธรรมดาของสิ่งทั้งปวงทั่วไป ข้าพเจ้าไม่ทับศัพท์เพราะอาจเกิดความสับสนแก่ท่านผู้อ่านได้ ผู้แปลไทย พุทธทาส

        จงตั้งตัวมั่น  ในความมุ่งหมายที่เห็นจิตเดิมแท้อย่างเผชิญหน้า อย่าถอยหลัง

        เพราะความตายอาจมาถึงโดยปัจจุบัน และทำชีวิตในโลกนี้ของท่าน  ให้สิ้นสุดลงโดยทันที

        ผู้ที่เข้าใจคำสอนตามหลักแห่งมหายาน และอยู่ในฐานะที่จะมองเห็นจิตเดิมแท้เช่นนี้

        ควรจะกระพุ่มมือทั้งสองเข้าด้วยกันอย่างนอบน้อม (ด้วยอาการแห่งความเคารพ) แล้วแสวงหาธรรมกาย ด้วยความกระตือรือร้นเถิด

        พระสังฆปริณายกได้กล่าวเสริมอีกว่า:-

        ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย  ท่านทั้งหลาย ควรสาธยายโศลกนี้และปฏิบัติตาม ถ้าท่านมองเห็นจิตเดิมแท้ของท่านหลังจากที่สาธยายแล้ว ท่านก็จะเห็นได้เองว่า ท่านได้อยู่ในที่เฉพาะหน้าของอาตมาตลอดไป แม้ว่าตามที่แท้ท่านอยู่ห่างออกไปตั้งพันๆไมล์ แต่ถ้าท่านไม่สามารถทำได้  แม้เราจะอยู่จ่อหน้ากันอย่างนี้  โดยทีแท้ก็คือเราอยู่ห่างกันตั้งพันๆ ไมล์นั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนั้น  จะมีประโยชน์อะไรในการที่ท่านทนทรมานเดินทางจนมาถึงที่นี่ จากที่อันไกลแสนไกล จงระวังตัวของท่านให้ดี อาตมาลาก่อน

       บรรดาผู้มาประชุมกันนั้น เมื่อได้ฟังพระสังฆปริณายกกล่าวจบแล้ว ได้พากันรู้แจ้งเห็นจริง ด้วยอาการอันปลื้มปิติ เขาพากันร้บเอาคำสอน และนำไปปฏิบัติ

 

 

หมวดที่ 7 อุปนิสัย-สิ่งแวดล้อม

หมวดที่ 7

ว่าด้วยคำสอนอันเหมาะแก่อุปนิสัย และสิ่งแวดล้อม

***********************************

        แม้ว่าพระสังฆปริณายก  จะได้กลับมายังตำบลโซฮัวแห่งเมืองชิวเจา จากวองมุยอันเป็นที่ซึ่งท่านได้รับมอบพระธรรม (แห่งนิกายธยานะจากพระสังฆปริณายกองค์ก่อน)  อีกก็ตาม  ท่านก็ยังเป็นคนแปลกหน้า ที่ไม่มีใครรู้จักในหมู่คนทั้งหลายอยู่นั่นเอง  และผู้ทีให้การต้อนรับเลี้ยงดูอย่างครบครันแก่ท่านนั้น ได้แก่นักศึกษาแห่งลัทธิขงจื้อผู้หนึ่ง  ซึ่งมีนามว่าหลิวชีลั่ก เผอิญหลิวชีลั่กผู้นี้  มีน้าผู้หญิงอยู่คนหนึ่ง ชื่อวูจูจอง  ได้บวชเป็นบรรพชิตในพุทธศาสนา  และโดยปรกติสวดสาธยายมหาปรินิวาณสูตรอยู่เป็นนิจ  เมื่อพระสังฆปริณายกได้ฟังการสาธยาย  ของสตรีผู้นี้เพียงชั่วเวลาหน่อยเดียวเท่านั้น ก็สามารถจับฉวยเอาใจความอันลึกซึ้งของพระสูตรนั้นได้  และได้เริ่มอธิบายแก่เธอ  เมื่อเป็นดังนั้น  สตรีผู้นี้ได้หยิบคัมภีร์ขึ้นมาถามถึงความหมายของข้อความตอนหนึ่งแก่ท่าน

        พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า  อาตมาไม่รู้หนังสือ  แต่ถ้าท่านประสงค์จะทราบใจความ  แห่งพระคัมภีร์เรื่องนี้  ก็จงถามเถิด  นักบวชสตรีผู้นั้นจึงถามต่อไปว่า  เมื่อท่านไม่รู้จักแม้แต่จะอ่านถ้อยคำเหล่านั้นแล้ว  ท่านจะสามารถทราบถึงความหมายแห่งตัวสูตรได้อย่างไรเล่า?   พระสังฆปริณายกได้ตอบคำถามนี้ว่า  ความลึกซึ้งแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่เกี่ยวอะไรกันเลยกับภาษาที่เขียนด้วยตัวหนังสือ

        คำตอบนี้  ได้ทำให้สตรีผู้นั้นรู้สึกประหลาดใจเป็นอันมาก  และเมื่อได้เล็งเห็นว่า  ท่านผู้นี้มิได้เป็นพระภิกษุอย่างธรรมดาสามัญแล้ว ก็ได้บอกกล่าวให้เป็นที่ทราบกันทั่วไป  ในบรรดาผู้ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือในหมู่บ้านนั้น  เธอได้บอกกล่าวว่า  ท่านผู้นี้เป็นอริยะบุคคล  เราทั้งหลายควรขอร้องท่านให้พักอยู่ที่นี่  และขออนุญาตจากท่านเพื่อถวายอาหารและที่พักอาศัย

        ต่อมา  มีเชื้อสายแห่งท่านขุนนางชั้นสูง  คือท่าน หวู่ แห่งราชวงศ์อาย ผู้หนึ่ง มีนามว่า  โซชุกเหลียง  พร้อมด้วยชาวบ้านจำนวนมาก ได้พากันมาในเวลาบ่ายวันหนึ่ง  เพื่อถวายความเคารพแด่พระสังฆปริณายก  วัดเปาลัมอัน เป็นวัดเก่าแก่ในประวัติศาสตร์  ซึ่งร้างไปเพราะภัยสงครามในปรายราชวงศ์ชิว  ในบัดนี้หักพังเหลือแต่เศษสิ่งของเป็นกองๆ นั้น  มหาชนได้พากันบูรณะขึ้นใหม่ตรงที่เดิมนั่นเอง  และได้ของร้องให้พระสังฆปริณายกอยู่อาศัยประจำที่นั่น ไม่นานนักก็กลายเป็นวัดที่มีชื่อเสียงมาก

        เมื่อได้อยู่ที่นั่นมาประมาณเก้าเดือนเศษ  ศัตรูผู้ปองร้ายท่าน  ก็ได้ติดตามมา  และคอยพยายามจองล้างจองผลาญท่านอีก  เนื่องด้วยเหตุนี้ท่านได้ไปหลบซ่อนยังภูเขาใกล้ๆกัน คนโหดร้ายเหล่านั้นได้จุดไฟเผาป่าซึ่งท่านได้ไปหลบซ่อนอยู่  แต่ท่านหนีรอดไปได้ด้วยหลบไปซ่อนอยู่บนชะง่อนฝา  ชะง่อนผาแห่งนี้  ซึ่งต่อมาเรียกว่า  "ภูเขาแห่งความปลอด"  นั้น  ยังมีรอยคุกเข่าของพระสังฆปริณายกปรากฏอยู่  และยังมีรอยเป็นลายเนื้อผ้าแห่งเครื่องนุ่งห่มของท่านปรากฏติดอยู่บนแผ่นหินนั้นด้วย

        เมื่อท่านระลึกได้ถึงคำเตือน  ของพระสังฆปริณายกองค์ที่ห้า  ผู้เป็นครูของท่าน ที่ได้เคยสั่งไว้ว่า  "จงหยุดที่ตำบลเวย  แล้วซ่อนอยู่ผู้เดียวที่ตำบลวุย"  ดังนี้  ท่านจึงได้เอาตำบลทั้งสองนี้ เป็นที่หนีร้อน  และเวียนไปเวียนมา

        ภิกษุฟัตห่อย  ช่าวบ้านฮุกกองแห่งชิวเจา  เมื่อทำการสนทนากับพระสังฆปริณายกเป็นครั้งแรก  ได้ถามถึงความหมายของกระทู้ธรรมที่คนทุกคนสนใจบทหนึ่งที่ว่า "ใจคือสิ่งใด  พุทธะคือสิ่งนั้น"  พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า การไม่ปล่อยให้ความคิดที่ผ่านไปแล้วกลับเกิดขึ้นมาอีก นี่คือ  "ใจ" การไม่ปล่อยให้ความคิดที่กำลังจะเกิด ถูกทำลายไปเสีย  นี่คือ  "พุทธะ"  การแสดงออกซึ่งปรากฏการณ์ทุกชนิด นี่คือ  "ใจ"  การเป็นอิสระจากรูปธรรมทั้งปวง(คือการู้เท่าถึงความลวงตาของปรากฏการณ์ทั้งหลาย) นี่คือ  "พุทธะ" แต่ถ้าข้าพเจ้าจะต้องอธิบายแก่ท่านให้ครบถ้วนทุกกระบวนความ  เรื่องที่จะต้องนำมาพูดก็จะไม่จบสิ้นลงไปได้  แม้ว่าข้าพเจ้าจะใช้เวลาอธิบายสักกัลป์หนึ่ง  ดังนั้น จงฟังโศลกของข้าพเจ้าจะดีกว่า:-

ปรัชญา (ปัญญา) คือ  "สิ่งที่ใจเป็น"

สมาธิ คือ  "สิ่งที่พุทธะเป็น"

ในการบำเพ็ญปรัชญาและสมาธิ  ต้อให้แต่ละอย่างลงจังหวะกันและกัน

แล้วความคิดของเราก็จะบริสุทธิ์

คำสอนข้อนี้เข้าใจได้

ก็แต่โดยการ  "ประพฤติดูจนช่ำชอง"

ที่ว่าสมาธิตั้งมั่นนั้น   ที่จริงมิใช่สมาธิอะไรเลย

คำสอนที่ถูกต้องนั้นคือ ให้บำเพ็ญปัญญา คู่กันไปกับสมาธิโดยไม่แยกกัน

        เมื่อได้ฟังดังนั้น  ภิกษุฟัตห่อยมีความส่ว่างไสวในธรรมในขณะนั้นเอง เธอได้กล่าวสรรเสริญคุณพระสังฆปริณายกด้วยโศลกดังต่อไปนี้:-

ใจคือสิ่งใด  พุทธะคือสิ่งนั้น นี่เป็นความจริงเสียจริงๆ

แต่ข้าพเจ้ามัวไปปราบพยศของตัวเอง ทั้งที่ไม่เข้าใจในมัน

บัดนี้ข้าพเจ้ารู้จักเหตุอันเป็นประธานของปรัชญาและสมาธิ

ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ ข้าพเจ้าจักบำเพ็ญเพื่อเปลื้องตัวเสียจากรูปธรรมทั้งหลาย

        พระภิกษุฟัตตัต  ชาวเมืองฮุงเจา  ผู้เข้ามาบรรพชาในพระศาสนา  ตั้งแต่อายุพึ่งได้ 7 ปี  มีปรกติสาธยายสัทธรรมปุณฑริกสูตรอยู่เป็นนิจ  เมื่อท่านผู้นี้มาแสดงความเคารพต่อพระสังฆปริณายก  ท่านไม่ได้กราบให้ศีรษะจรดพื้น ท่านทำความเคารพอย่างขอไปที  พระสังฆปริณายกได้ตำหนิว่า ถ้าท่านรังเกียจที่จะทำความเคารพให้ศีรษะจรดพื้นแล้ว  การไม่ทำความเคารพเสียเลยจะมิดีกว่าหรือ  ต้องมีอะไรอยู่ในใจของท่านสักอย่างหนึ่ง  ซึ่งทำให้ท่านมีความทะนงเช่นนั้น  ขอถามว่า ท่านทำอะไรประจำหรือวัน?

        ภิกษุฟัตตัตได้ตอบว่า  กระผมสาธยายสัทธรรมปุณทริกสูตร  กระผมท่องตลอดทั้งสูตร สามพันครั้งแล้ว

พระสังฆปริณายก ได้เตือนว่า ถ้าท่านจับใจความของพระสูตรนี้ได้ ท่านจะไม่มีการถือตัวเช่นเลย  แม้ท่านจะถึงกับเคยท่องพระสูตรนี้มาถึงสามพันครั้งแล้ว ถ้าท่านจับความหมายของพระสูตรนี้ได้จริงๆ ท่านก็จะต้องได้เดินอยู่ในทางๆ เดียวกันกับข้าพเจ้า  สิ่งที่ท่านเรียนสำเร็จ ได้ทำให้ท่านกลายเป็นคนหยิ่งไปเสียแล้ว  และหยิ่งกว่านั้น  ดูเหมือนท่านไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำไป  ว่าการที่เป็นเช่นนี้เป็นของผิด  ท่านจงฟังโศลกของข้าพเจ้าเถิด:-

ก็เมื่อความมุ่งหมายของระเบียบวินัยต่างๆเป็นไปเพื่อปราบปรามความทะลึ่งแล้ว

ทำไมท่าไม่กราบให้ศีรษะจดพื้น?

"การยึดถือในตัวตน" เป็นมายาแห่งบาป

แต่  "การถือว่าการได้บรรลุธรรมหรือผลใดๆ ก็ตาม เป็นเพียงของลมๆแล้งๆ" นี้เป็นทางมาแห่งกุศลอันใหญ่หลวง

        จบแล้ว  พระสังฆปริณายกได้ไต่ถามถึงชื่อของท่านผู้นี้  เมื่อได้ฟังว่าชื่อฟัตตัต (ซึ่งแปลว่าผู้เข้าใจในธรรม)  พระสังฆปริณายกจึงได้กล่าวต่อไปว่า ท่านชื่อฟัตตัตก็จริง แต่ท่านยังไม่เข้าใจในธรรมเลย  แล้วท่านได้สรุปความด้วยโศลกต่อไปอีกว่า:-

ชื่อของท่านว่า ฟัตตัด

ท่านสาธยายพระสูตรอย่างพากเพียรไม่ท้อถอย

การท่องพระสูตรด้วยปาก เป็นแต่การออกเสียงล้วนๆ

ส่วนผู้ที่มีใจสว่างไสวเพราะจับใจความได้  นั่นคือโพธิสัตว์แท้

เพราะเป็นเรื่องปัจจยาการ  อันอาจสืบสาวไปถึงภพก่อนๆ

ข้าพเจ้าจะอธิบายความข้อนี้แก่ท่าน

ถ้าท่านเพียงแต่เชื่อว่า  พระพุทธเจ้าไม่ตรัสอะไร  แม้แต่คำเดียว

เมื่อนั้น  ดอกบัวจะบานขึ้นในปากของท่านเอง

        เมื่อได้ฟังโศลกนี้  ภิกษุฟัตตัตรู้สึกสลดใจ  และขออภัยต่อพระสังฆปริณายก เธอได้กล่าวต่อไปว่า แต่นี้ต่อไป กระผมจะเป็นคนสุภาพและถ่อมตนในทุกโอกาส  เนื่องจากกระผมไม่มีความเข้าใจในความหมายของพระสูตรที่ท่องนั้นอย่างถูกต้อง  กระผมก็ฉงนในการตีความหมายอันแท้จริงของพระสูตรนั้น ใต้เท้ามีความรู้และปัญญาอันลึกซึ้งที่สุด ขอได้โปรดอธิบายโดยสรุปแก่กระผมเถิด

        พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า  ฟัตตัตเอ๋ย  พระธรรมเป็นของกระจ่าง เต็มที่อยู่เสมอ  ใจของท่านต่างหากซึ่งไม่กระจ่าง  พระสูตรนั้นไม่มีข้อความที่น่าฉงนเลย แต่ใจของท่านต่างหาก  ที่ทำให้พระสูตรนั้น เป็นของชวนฉงนไป  ในการสาธยายพระสูตรนั้น  ท่านทราบถึงความมุ่งหมายอันสำคัญ  ของพระสูตรนั้นหรือเปล่า?

        ภิกษุฟัตตัดได้ตอบว่า  กระผมจะทราบได้อย่างไร  ในเมื่อกระผมมีแต่ความมืดมัวทึบอยู่เช่นนี้  เท่าที่กระผมทราบก็คือท่องอย่างไรจึงจะว่าปากเปล่าต่อกันไปได้เท่านั้น

        พระสังฆปริณายกได้กล่าวต่อไปว่า  ท่านจงสาธยายพระสูตรออกมาเถิด ฉันอ่านเองไม่ได้  แล้วฉันจะอธิบายความหมายให้ฟัง

        ภิกษุฟัตตัตได้สาธยายพระสูตรนั้นขึ้น  ครั้นมาถึงบทอันมีชื่อว่า "นิยายเป็นเครื่องอุปมา"*38 พระสังฆปริณายกได้บอกให้หยุด  แล้วกล่าวว่า ความ

*38 คือบทที่3 ของพระสูตร ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 27 บท นิยานนั้นมีว่า พ่อเอาตุ๊กตาเครื่องเล่นล่อลูกเล็กๆ ให้วิ่งออกมาเสียจากเรือนที่กำลังถูกไฟไหม้ จนปลอดภัย  เปรียบกับพระพุทธองค์ในข้อที่พระพุทธองค์มียานต่างชนิดต่างขนาด สำหรับขนสัตว์ข้ามสังสารวัฏ. ผู้แปลไทย พุทธทาส

หมายของพระสูตรๆ นี้ ก็คือเพื่อแสดงให้ปรากฏถึงความมุ่งหมายและวัตถุประสงค์  ของการที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จมาบังเกิดขึ้นในโลกนี้นั่นเอง  แม้ว่านิยายและภาพความหมายจะมีมาก  ในข้อความแห่งพระสูตรนี้  ก็ไม่มีเรื่องใดหรือภาพใดที่มุ่งหมายจะแสดงอะไรขึ้น  นอกไปจากจุดประสงค์อันสำคัญนี้  ทีนี้อะไรเล่า คือ วัตถุประสงค์?  อะไรเล่า คือ ความมุ่งหมายดังที่กล่าวมานั้น?  ข้อความในพระสูตรกล่าวว่า  "เพื่อวัตถุประสงค์เพียงอย่างเดียว  เพื่อความมุ่งหมายเพียงอย่างเดียว  เป็นวัตถุประสงค์อันสูงสุดจริงๆ เป็นความมุ่งหมายอันสูงสุดจริงๆ  ที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาบังเกิดขึ้นในโลกนี้"  ในเรื่องนี้ วัตถุประสงค์เพียงอย่างเดียว  ความมุ่งหมายเพียงอย่างเดียว  อันเป็นวัตถุประสงค์อันสูงสุด เป็นความมุ่งหมายที่สูงสุด  ที่กล่าวถึงในพระสูตร ก็คือ "การเห็น" ซึ่พุทธธรรม*39

*39เอาใจความว่า  พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นในโลกนี้ ก็เพื่อทำให้เกิดมี "การเห็น ธรรมชนิดที่ทำผู้เห็นให้เป็นพุทธะ" ขึ้นได้ในโลกนั่นเอง  คือช่วยทำให้เกิดโอกาสแก่ "พุทธภาวะ"  ที่มีอยู่ในทุกๆคน แสดงตัวปรากฏออกมา ผู้แปลไทย พุทธทาส

        คนธรรมดาสามัญทั่วไป  ทำตัวให้ติดพันอยู่กับวัตถุในภายนอก, ส่วนภายในก็จมอยู่ในความเป็นผิดเรื่อง "ความว่างเปล่า" เมื่อใดเขาสามารถเปลื้องตนเองออกมาเสีย  จากความผูกพันอยู่กับวัตถุต่างๆ ที่เขาได้ประสบ  และเปลื้องตัวเองออกมาเสียจากความเห็นผิด  เรื่องความขาดสูญ  อันเกี่ยวกับคำสอน เรื่อง "ศูนยตา"  เมื่อนั้น เขาจะเป็นคนอิสระจากอวิชชาความหลงผิดในภายใน  และจากสิ่งอันเป็นมายาในภายนอก  บุคคลที่เข้าใจแจ่มแจ้งในความจริงอันนี้  และใจของเขาสว่างไสวออกไปในทันที  นี่แหละควรเรียกว่า  ผู้ทีได้เปิดตาของเขาแล้ว  เพื่อการเห็นแจ้งซึ่งพุทธธรรม

        คำว่า "พุทธภาวะ"  นี้ มีความหมายเท่ากับคำว่า "การตรัสรู้" ซึ่งควรจะถูกกำหนดไว้ภายใต้หัวข้อ (ดังที่กำหนดไว้ในสูตร) 4 หัวข้อ  ดังต่อไปนี้

เปิดตาขึ้นเพื่อการเห็นแจ้ง  "ธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้"

แสดงความเห็นแจ้งใน "ธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้

นั้น  ให้ปรากฏ

ตื่นขึ้นเพื่อการเห็นแจ้งใน  "ธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้"

เป็นผู้ตั้งมั่นใน  "ธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้"

        เมื่อได้รับการสั่งสอนแล้ว  ถ้าเราสามารถจับฉวย  และเข้าใจโดยทั่วถึง  ในคำสอนอันว่าด้วย  "ธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้"  เมื่อนั้นแหละคุณสมบัติอันประจำอยู่ภายใน  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมชาติอันแท้จริง อันได้แก่ "ธรรมอันเป็นเหตุให้ตรัสรู้"  นั้นก็จะมีโอกาสแสดงตัวออกมาให้ปรากฏ  ท่านไม่ความตีความหมายในตัวพระสุตรอย่างผิดๆ แล้วลงมติเสียในที่สุดว่า  พุทธธรรมน้นเป็นสิ่งทีมีไว้สำหรับพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ  ไม่เป็นของทั่วไปสำหรับเราทั้งหลายด้วย  โดยที่เผอิญไปพบข้อความในสูตรที่กล่าวไว้ว่า  "เปิดตาขึ้นเพื่อการแจ้งในพุทธธรรม  แสดงความเห็นแจ้งในพุทธธรรมให้ปรากฏ ฯลฯ" ดังนี้  การตีความหมายผิดเช่นนี้  จะถึงกับเป็นการป้ายร้ายให้แก่พระพุทธเจ้าและเป็นการแช่งด่าพระสูตรนั้นเอง ทุกๆคำที่ตนพูด เพราะเขาก็เป็นพุทธะด้วยคนหนึ่ง เขาจึงมีโพธิธรรมอันนี้มาด้วยพร้อมแล้ว  แต่ไม่มีโอกาสสำหรับเขาเอง  ที่จะเปิดตาออกดูสิ่งอันนั้น  เพราะฉะนั้น  ท่านควรจะรับเอาการตีความหมายที่ว่า พุทธธรรม (ธรรมที่ทำให้เป็นพุทธะ) นั้น คือ พุทธธรรมของใจเราเอง  หาใช่ของพระพุทธเจ้าอื่นใดที่ไหนไม่

        เมื่อถูกทำให้หลงรักโดยอารมณ์อันยั่วยวน  และปิดกั้นตัวเองเสียจากแสงสว่างของตัวเอง  ด้วยเหตุอันนั้น  สัตว์ทั้งปวงซึ่งระทมทุกข์อยู่เพราะอารมณ์ภายนอก  และความเร่าร้อนภายในจึงได้ตกเป็นเหมือนทาสแห่งตัณหาของตนเองโดยหมดสิ้น  เมื่อทรงเห็นเหตุการณ์อันนี้  พระพุทธองค์ของเรา  จึงได้ทรงลุกออกจากสมาธิ  เพื่อเร้าใจสัตว์เหล่านั้นด้วยพระโอวาทอันเป็นเครื่องกระตุ้นมีประการต่างๆ ให้ย่ำยีตัณหาของตนเอง  และเว้นขาดเสียจากการแสวงสุขจากอารมณ์ภายนอก  เพื่อว่าเขาจะได้เป็นผู้เสมอกันกับพระพุทธเจ้า เพราะเหตุอันนี้เอง  ข้อความในตัวสูตรจึงมีว่า "เปิดตาขึ้น  เพื่อเห็นแจ้งพุทธธรรม ฯลฯ"

        ข้าพเจ้าได้ตักเตือนคนทั่วไปอยู่เสมอ ให้เปิดตาของตนเอง  เพื่อเห็นแจ้งพุทธธรรมในภายในใจของตนเอง  แต่ด้วยอำนาจความผิดปรกติของคนเหล่านั้นเขาพากันทำบาปภายใต้อวิชชาอและความโง่เขลา  ปากของเขาว่ากรุณา  แต่ใจของเขาโหดร้าย  เขาเป็นคนตะกละ มุ่งร้าย ริษยา คดโกง สอพลอ เข้าข้างตัว  รุกรานคนอื่น  เป็นผู้ทำลายกระทั่งสิ่งที่ไม่มีชีวิต  ดั่งนั้น  จึงชื่อว่าเขาปิดตาของเขาขึ้นเพื่อ "ปุถุชนธรรม"  ถ้าเขากลับใจของเขาเสีย ในลักษณะที่ปัญญาปรากฏตัวอยู่ตลอดกาล  ใจก็จะมีความเห็นแจ้งในภายในอยู่เป็นปกติ  การทำชั่วก็จะมีการทำดีเข้ามาแทนที่  แล้วเขาก็จะลากตัวเองเข้ามาในทางแห่งพุทธธรรมได้ด้วยเหตุนั้น

        เพราะฉะนั้น  ท่านควรจะเปิดตาของท่านอยู่ทุกๆ ขณะมิใช่เพื่อปุถุชนธรรม  แต่เพื่อพุทธธรรม ซึ่งเป็นสิ่งอยู่เหนือวิสัยโลก  ในเมื่อปุถุชนธรรมเป็นของอย่างโลกๆ  อีกอย่างหนึ่งถ้าหากท่านติดแน่นอยู่แต่ในความคิดเห็นของตนเอง  ว่าเพียงแต่สาธยายพระสูตรเป็นประจำวันอย่างเดียว ก็เป็นการดีเพียงพอเสียแล้วดังนี้  ท่านจะหลงรักมันเหมือนจามรีหลงรักพวงหางของมันเอง (จามรีนั้น  เป็นสัตว์ที่รู้กันอยู่แล้วว่ามีความหวงแหนอย่างแรงกล้าในหางของมัน)

       ในขณะนั้น  ภิกษุฟัตตัดได้ถามขึ้นว่า  ถ้าเป็นดังนั้น  เราเพียงแต่รู้ความหมายของพระสูตรก็พอแล้ว  ไม่มีความจำเป็นที่เราต้องสาธยายขอ้ความนั้นๆถูกไหมขอรับ?

       พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า  ไม่มีอะไรเป็นของผิดอยู่ในพระสูตร  จนถึงท่านจะต้องเลิกการสาธยายเสียเลย  การสาธยายพระสูตร จะช่วยให้ท่านตรัสรู้ธรรมได้หรือไม่ จะเป็นคุณประโยชน์แก่ท่านหรือไม่ ข้อนั้นทั้งหมด มันเนื่องอยู่ที่ตัวท่านเอง  ผู้ที่ท่องพระสูตรอยู่ด้วยปาก และเอาข้อความไปปฏิบัติอยู่เสมอด้วยใจ  คนนั้นชื่อว่า "พลิก" พระสูตร  ส่วนผู้ที่ท่องพระสูตรด้วยปาก  ปราศจากการปฏิบัติแต่อย่างใด ผู้ใดชื่อว่า  "ถูกพลิกเสียแล้ว" โดยพระสูตรที่เขาท่องนั้นเอง ท่านจงฟังโศลกโคลงของข้าพเจ้าดังต่อไปนี้:-

เมื่อใจของเราตกอยู่ภายใต้อวิชชา  สัทธรรมปุณฑริกสูตร "พลิกเรา"

เมื่อมีใจสว่างไสวในธรรม  เมื่อนั้นเรากลับ  "พลิก" สัทธรรมปุณฑริกสูตร

การสาธยายสูตรนับไม่ถ้วนคร้ง  โดยไม่ทราบความหมาย นั้น

ย่อมแสดงว่า ท่านเป็นแขกแปลกหน้าต่อใจคามของพระสูตร

วิธีที่ถูกต้องสำหรับการสาธยายสูตรก็คือ อย่างยึดถือตามความเห็นของตัว

มิฉะนั้นแล้ว มันจะต้องพลาด

ผู้ที่อยู่เหนือ  "การรับ" และ  "การปฏิเสธ"

ย่อมนั่งอยู่เนืองนิจ บนเกวียนวัวขาว (กล่าวคือพุทธยาน)

       เมื่อได้ฟังโศลกนี้จบลงแล้ว  ภิกษุฟัตตัต  เกิดความสว่างไสวในธรรมและมีน้ำตาไหล ได้ร้องขึ้นว่า  เป็นความจริง  ที่ก่อนหน้านี้  ข้าพเจ้าไม่สามารถจะ "พลิก" พระสูตร  แต่เป็นข้างพระสูตรเสียเองมากกว่า ที่ "พลิก" ข้าพเจ้า

        ลำดับนั้น  ภิกษุฟัตตัต  ได้ยกเรื่องอื่นขึ้นมาถามต่อไปว่า พระสูตรได้กล่าวว่า "นับตั้งแต่พระสาวกขึ้นไปจนถึงพระโพธิสัตว์  แม้ท่านเหล่านี้จะได้พยายามจนสุดกำลัง  ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจทั่วถึงในพุทธธรรม" ดังนี้ แต่ใต้เท้า  ได้ทำให้กระผลเข้าใจว่า แม้คนธรรมดาเราถ้าเข้าใจแจ่มแจ้งถึงใจของตนเอง เขาก็ได้ชื่อว่าลุถึงพุทธธรรมแล้ว  ดังนี้  กระผมเกรงไปว่า  ยกเว้นพวกที่เฉียบแหลมอย่างยิ่งเสียแล้ว  คนนอกนั้นจะสงสัยไม่เชื่อคำสอนของใต้เท้า ยิ่งกว่านั้น  ในสูตรมีกล่าวถึงยาน 3 ชนิด คือเกวียนเทียมด้วยแพะ (สาวกยาน)เกวียนเทียมด้วยกวาง (ปัจเจกพุทธยาน)  และเกวียนเทียมด้วยวัว (โพธิสัตว์ยาน) แล้วก็ยานทั้งสามนี้ ผิดแปลกแตกต่างไปจากเกวียนวัวขาวได้อย่างไรเล่า?

       พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า ในข้อนี้  พระสูตรได้แสดงไว้ชัดเจนแล้ว ท่านเองต่างหากที่เข้าใจผิด เหตุผลที่ว่า  ทำไมพระสาวก พระปัจเจกพุทธะและพระโพธิสัตว์  ไม่สามารถเข้าใจในพุทธธรรมได้ ก็เพราะท่านเหล่านั้นเพ่งจ้องต่อพุทธธรรม  ท่านเหล่านั้นสามารถประมวลกำลังความเพียรทั้งหมดเพื่อเพ่งก็จริง แต่เขายิ่งเพ่งหนังเข้าเท่าไร  เขาก็ยิ่งห่างออกไปจากธรรมนั้นมากขึ้นเพียงนั้น  พระโคตมะพุทธเจ้าได้ตรัสพระสูตรนี้  แก่คนธรรมดาทั่วไป  มิใช่ตรัสแก่พระพุทธเจ้าองค์อื่นๆด้วยกัน  แต่สำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับเอาคำสอนที่พระองค์ทรงแนะให้  พระองค์ก็ปล่อยให้เขาหลุดไปจากหมู่  ดูเหมือนท่านจะยังไม่ทราบว่า  เพราะเราได้นั่งอยู่บนเกวียนวัวขาวเรียบร้อยแล้ว  เราก็ไม่มีความจำเป็น  ที่จะออกเที่ยวแสวงหางเกวียนอื่นอีกสามชนิดเหล่านั้น ยิ่งกว่านั้น  พระสูตรก็ได้บอกแก่ท่านอย่างแจ่มแจ้งแล้วว่า มีพุทธยานเท่านั้น ไม่มียานอื่นที่ไหนอีก  ในฐานะเป็นยานที่สองที่สาม  เพราะเหตุที่จะให้เราเข้าใจในยานอันเอกอันนี้เอง พระพุทธองค์จึงได้ทรงสั่งสอนเรา  ด้วยวิธีที่พระองค์ทรงซ่ำชองมาแล้ว  มีปริยายต่างๆ ทรงใช้เหตุผลและข้อถกเถียง มีปริยายต่างๆ พร้อมทั้งนิทานเปรียบและภาพเปรียบ  และอื่นๆ ทำไมท่านจึงไม่อาจเข้าใจได้ว่ายานทั้งสามเหล่านั้น  เป็นของสมมุติให้เด็กเล่น  สำหรับใช้กับเรื่องที่ล่วงไปแล้ว ส่วนยานอันเองคือพุทธยานนั้น เป็นของชั้นยอดเยี่ยม  และเพื่อใช้กับเรื่องในปัจจุบันๆ

        พระสูตรได้สอนให้ท่านตั้งหน้าบำเพ็ญไปโดยไม่ต้องเป็นห่วงถึงของสมมุติให้เด็กเล่นเหล่านั้น  และให้เพ่งตรงไปยังของชั้นสูงสุดอย่างเดียว  เมื่อถึงขั้นสูงสุดแล้ว  ท่านก็จะพบว่า  สิ่งที่เรียกกันว่า "ชั้นสูงสุด" นี้ ก็มิได้มีอยู่เลย  ท่านจะรูสึกเห็นด้วยในข้อที่ว่า ท่านเองผู้เดียว  เป็นเจ้าของสิ่งอันสูงค่าเหล่านี้  และสิ่งเหล่านี้ มันขึ้นอยู่กับการจัดการทำของท่านเองล้วนๆ*40 เมื่อใดท่านเปลื้องตัวออกมาเสียได้จากการนึกเดาเอาเองว่า  สิ่ง

*40การที่อ้างถึงบท "นิยายอุปมา"  ในพระสูตร เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นในข้อที่ว่าพุทธธรรมมีอยู่ในคนทุกคนแล้ว ผู้แปลไทย พุทธทาส

เหล่านี้เป็นของพ่อหรือเป็นของลูกๆ หรือว่ามันอยู่ที่การจัดการทำของคนนั้นคนนี้  เมื่อนั้นแหละท่านจะได้ชื่อว่าดำเนินการสาธยายพระสูตรไปโดยถูกทาง  เมื่อทำได้ดังนี้ พระสูตรก็จะชื่อว่า  อยู่ในกำมือของท่านทุกกัปป์ทุกกัลป์  และท่านก็จะชื่อว่าสาธยายพระสูตรทุกเช้าเย็น  ตลอดทุกเวลาทีเดียว

       เมื่อภิกษุฟัตตัตได้รับคำสั่งสอนจนเห็นแจ้งเช่นนั้น  ได้กล่าวสรรเสริญพระสังฆปริณายก  ด้วยความปลาบปลื้มใจเป็นล้นพ้น  ด้วยโศลกเหล่านี้ว่า:-

ความสำคัญผิดว่าเราได้รับกุศลเป็นอันมากในการสาธยายพระสูตร มากกว่าสามพันครั้ง

ได้ถูกขับไล่ไปหมดด้วยคำพูดคำเดียว ของ ท่านอาจารย์แห่งสำนักโซกาย*41

*41 อาจารย์แห่งสำนักโซกาย  ก็คือ พระสังฆปริณายก ผู้แปลไทย พุทธทาส

ผู้ที่ไม่เข้าใจในความมุ่งหมายของการที่  พระพุทธบังเกิดขึ้นในโลกนี้

ย่อมเป็นผู้ไม่สามารถข่มขี่กิเลสร้าย อันตนได้สะสมมา เป็นชาติๆ

ยานสามชนิด ซึ่งเทียมด้วยแพะ กวาง และวัว ตามลำดับ นั้นจะเป็นเพียงของเด็กเล่นไปเอง

ในเมื่อระดับทั้งสาม คือ ชั้นต้น ชั้นกลาง ชั้นสุด อ้นเป็นของที่อธิบายกันอยู่ในชั้นที่เรียนธรรมะไปตามแบบแผน ได้ถูกจัดทำไปจนถึงที่สุดแล้ว จริงๆ

น้อยคนเหลือเกิน ที่จะยอมเห็นด้วย ว่า ในเรือนที่ไฟกำลังจะไหม้นั่นเอง มีพระธรรมราชา ซึ่งเราจะหาพบได้

        พระสังฆปริณายก  ได้กล่าวแก่ภิกษุฟัตตัตต่อไปว่า  ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปภิกษุฟัตตัตควรจะเรียกตัวเองว่า  "ภิกษุผู้สาธยายพระสูตร" ได้แล้ว หลังจากการสนทนากันครั้งนี้ ภิกษุฟัตตัตก็สามารถจับฉวยเอาใจความอันลึกซึ้งของพระพุทธศาสนาได้ และเธอยังคงสาธยายพระสูตรไปดังเช่นก่อน

        ภิกษุชิท็อง  เป็นชาวบ้านชูเจาแห่งอานฟุง ได้อ่านลังกาวตารสูตรมาเกือบพันครั้ง  แต่ก็ไม่สามารถเข้าใจความหมายของตรีกาย  และปรัชญาทั้งสี่  เหตุนั้น จึงได้ไปหาพระสังฆปริณายก ให้ช่วยอธิบายความ

        พระสังฆปริณายกได้ให้คำอธิบายว่า ในกายทั้งสามนั้น  ธรรมกายอันบริสุทธิ์  ก็คือ ตัวธรรมชาติตัวแท้ของท่าน  นั่นเอง  สัมโภคกายอันสมบูรณ์ ก็คือ ตัวปรีชาญาณของท่าน  ส่วนนิรมานกายนับด้วยหมื่นแสน ก็คือ การกระทำกรรมต่างๆของท่าน  ถ้าท่านจะให้กายทั้งสามนี้  เป็นของต่างหากจากจิตเดิมแท้  มันก็เกิดมี  "กายซึ่งปราศจากปัญญา"  ขึ้นมาเท่านั้นเอง  ถ้าท่านเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า  กายทั้งสามนี้ ไม่มีตัวตนแท้จริงของมันเองอะไรที่ไหนอีก (เพราะมันเป็นแต่เพียงสมบัติของจิตเดิมแท้) ดั่งนี้แล้ว  ท่านก็จะลุถึงโพธิของปรัชญาสี่ประการโดยแน่นอน จงฟังโศลกของฉัน ดังต่อไปนี้:-

กายทั้งสามมีอยู่แล้ว ในจิตเดิมแท้ของเรา

ซึ่งโดยการงอกงามของจิตเดิมแท้  นั่นเอง ปรัชญาทั้งสี่ก็ปรากฏตัว

เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านไม่ต้องหลับตาหรืออุดหูของท่าน เพื่อหลีกเลี่ยงอารมณ์ภายนอก

ท่านก็สามารถเข้าถึงพุทธภาวะได้โดยจังๆหน้ากับอารมณ์

เมื่อข้าพเจ้าได้อธิบายแก่ท่านอย่างเปิดเผย (จนเห็นเอง) เช่นนี้แล้ว

จงเชื่ออย่างแน่วแน่เถิด  ท่านจะหลุดพ้น จากความหลงตลอดไป

อย่าไปตามคน พวกที่แสวงหา  "การตรัสรู้" จากภายนอก

คนพวกนี้ พูดถึงโพธิ อย่างพร่ำเพรื่อ (แต่ตัวยังไม่เคยรู้เห็นเสียเลย)

        ภิกษุชิท็อง  ได้ขอร้องต่อไปว่า  "ขอใต้เท้าได้กรุณาให้กระผมทราบข้อความ  อันเกี่ยวกับปรัชญาทั้งสี่นั้นบ้างเถิด" พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า ถ้าท่านเข้าใจในเรื่องกายสามนี้แล้ว  ท่านก็จะเข้าใจในเรื่องปรัชญาทั้งสี่ได้เอง  ฉะนั้น  คำถามของท่านเป็นของไม่จำเป็น  ถ้าท่านทำให้ปรัชญาทั้งสี่อยู่ต่างหาก จากกายทั้งสามเสียแล้ว  ก็จะเกิดมี ปรัชญาซึ่งปราศจากกายขึ้นโดยแน่นอน ซึ่งเมื่อเป็นดังนี้ มันหาใช่เป็นปรัชญาไม่

        พระสังฆปริณายก ได้กล่าวโศลกอื่นต่อไปอีกว่า:-

        "ปัญญาอันเปรียบด้วยกระจกส่อง"  นั้นบริสุทธิ์อยู่เองโดยธรรมชาติ

"ปัญญาเห็นความเสมอภาค"  นั้น ย่อมเปลื้องจิต เสียจากเครื่องกั้นทั้งปวง

"ปัญญาเครื่องเห็นสิ่งทั้งปวง"  นั้น  เห็นสิ่งทั้งปวงแจ่มแจ้ง โดยไม่ต้องอาศัยแนวแห่งเหตุและผล

"ปัญญาเครื่องกระทำสิ่งทั้งปวง"  นั้น  มีลักษณะอย่างเดียวกันกับ "ปัญญาอันเปรียบด้วยกระจกส่อง"

        วิญญาณทั้งห้าข้างตน*42 และอาลยวิญญาณ*43  ย่อม  "แปรรูป" เป็นปรัชญาในขั้นที่ตรัสรู้เป็นพุทธะ  อย่างเดียวกับที่  กลิษตมโนวิญญาณ*44

และ มโนวิญญาณ*45  แปรรูปเป็นปรัชญาในขั้นที่เป็นโพธิสัตว์*46

*42 วิญญาณห้า คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ฯลฯ  ผู้อธิบายจีน

*43 วิญญาณคลังใหญ่ หรือวิญญาณโลก  ผู้อธิบายจีน

*44 วิญญาณเฉพาะตน  ผู้อธิบายจีน

*45 วิญญาณคิดนึก  ผู้อธิบายจีน

*46 ในระยะที่หนึ่ง คือระยะ "มุทิตา"  อันเป็นระยะที่โพธิสัตว์พิจารณาเห็นความว่างเปล่าของตัวตน  และของสิ่งทั้งปวงอย่างแจ่มแจ้ง นั่นเองที่ท่าน  "แปรรูป" กลิษตมโนวิญญาณ ไปเป็น  "ปัญญาเครื่องรู้สิ่งทั้งปวง"  เมื่อมีการบรรลุ  พุทธภาวะวิญญาณห้าข้างตน  จะถูก  "แปรรูป" ไปเป็น  ปัญญาเครื่องกระทำสิ่งทั้งปวง และอาลยวิญญาณ  เป็น "ปัญญาเปรียบด้วยกระจกส่อง"  ผู้อธิบายจีน

        คำที่เรียกว่า  "การแปรรูปของวิญญาณ"  ดังที่กล่าวนี้ เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อที่ใช้เรียกเท่านั้น  ส่วนตัวจริงหามีอะไรเปลี่ยนไม่*47

 *47 ในจิตเดิมแท้  ไม่อาจมีสิ่งที่เรียกกันว่า  "การแปรรูป"  เมื่อคนตรัสรู้ธรรมก็ใช้คำว่า "ปัญญา"  เมื่อยังไม่ตรัสรู้ใช้คำว่า  "วิญญาณ"  หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คำว่า  "การแปรรูป"  คำนี้ใช้เป็นเครื่องเปรียบ  หรือภาพพจน์ เท่านั้น  ผู้อธิบายจีน

        เมื่อใดท่านสามารถเปลื้องตัวเองให้หมดจด  จากความผูกพันของโลกิยารมณ์ในคณะที่มี "การแปรรูปของวิญญาณ"  ดังกล่าวมาแล้ว  เมื่อนั้นท่านชื่อว่าตั้งอยู่ใน นาคสมาธิ อันทยอยกันเกิดขึ้นติดต่อกันไป  ตลอดกาลเนืองนิจ

        ภิกษุชิท็อง  ได้ฟังคำอธิบายนี้  ได้มีความเห็นแจ้งในปรัชญาแห่งจิตเดิมแท้ในขณะนั้นเอง  และได้กล่าวโศลกแก่พระสังฆปริณายกดังต่อไปนี้:-

แน่นอนเหลือเกิน  กายทั้งสามมีอยู่ในจิตเดิมแท้

เมื่อใจเรารู้ธรรมสว่างไสว  ปรัชญาทั้งสี่ ก็ปรากฏเด่นอยู่ในนั้น

เมื่อใดกายและปรัชญาเหล่านั้น  เกิดความรู้แจ้งซึ่งกันและกันว่าเป็นของอันเดียวกัน

เมื่อนั่นเราก็สามารถตอบสนองคำขอร้องของสัตว์ทั้งปวง (โดยเหมาะสมแก่อุปนิสัยและอารมณ์ของสัตว์นั้น) ไม่ว่าสัตว์นั้นๆจะอยู่ในรูปร่างใด

การเริ่มต้นปฏิบัติ  ด้วยการแสวงหากายสามและปรัชญาสี่  นั้นเป็น การถือเอาทางที่ผิด  โดยสิ้นเชิง  (เพราะเมื่อสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในเราเองแล้ว  เรื่องของมัน--ก็คือทำให้เห็นแจ้งออกมาไม่ใช่เที่ยววิ่งแสวงหา                                                                                                                                     

การพยายามจะ  "จับฉวย"  หรือ "กุมตัว" สิ่งเหล่านี้  เป็นการกระทำ ที่ขัดขวางต่อธรรมชิตแท้ของมันอย่างตรงกันข้าม

เพราะได้อาศัยใต้เท้าแหละขอรับ  บัดนี้กระผมจึงสามารถจับใจความอันลึกซึ้งของมันได้.

และตั้งแต่นี้ต่อไป กระผมสามารถสลัดทิ้งความเท็จเทียมและชื่อต่างๆที่หลงตั้งขึ้นเรียกตามโมหะของตนๆตลอดนิจกาล*48

*48 บันทึก  เมื่อจับใจความของคำสอนได้แล้ว  ผู้ปฏิบัติก็ตั้งหน้าบำเพ็ญไปได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงชื่อที่ใช้เรียกสิ่งนั้นๆ เพราะว่าชื่อทั้งหมดเป็นเพียงของสมมุติให้เด็กเล่นเท่านั้นเอง (แม้สุดแต่ชื่อว่า มรรค ผล นิพพาน ฯลฯ) ผู้คัดลอกจีน

**********

        พระภิกษุ ชิซ็วง  เป็นชาวบ้านตำบลไกวกายแห่งชุนเจา  เข้ามาบวชตั้งแต่เป็นเด็ก  และเข็งข้อในการพากเพียรเพื่อการเห็นแจ้งจิตเดิมแท้  วันหนึ่งภิกษุรูปนี้ได้มานมัสการพระสังฆปริณายก  และถูกปริณายกถามว่า มาแต่ไหน และมาทำไม

        ภิกษุ ชิช็วง ได้ตอบว่า  "เมื่อไม่นานมานี้  กระผมได้ไปที่ภูเขาผาขาวในเขตฮุงเจา เพื่อสนทนากับพระอาจารย์ต้าตุง  ผู้ที่สามารถพอจะสอนกระผมได้เห็นแจ้งจิตเดิมแท้  และลูถึงพุทธภาวะด้วยเหตุนั้น  แต่เพราะเหตุที่กระผมยังคงมีความสงสัยอยู่หลายประการ  จึงอุตส่าห์เดินทางมาไกลถึงที่นี่เพื่อนมัสการพระอาจารย์  ขอได้โปรดอธิบายข้อสงสัยเหล่านั้น  แต่กระผมด้วยเถิด

        พระสังฆปริณายกได้ถามขึ้นว่า  เขาได้แนะนำท่านว่าอย่างบ้างเล่า?

        ภิกษุ ชิช็วง เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่ได้พักอยู่ที่นั่นจนถึงสามเดือนแล้วโดยมิได้รับคำแนะนำอย่างใดเลย   และมีความกระหายในธรรมแรงกล้าขึ้นทุกที  คืนวันหนึ่งกระผมลำพังผู้เดียว  ได้เขาไปในห้องของท่านอาจารย์ต้าตุงนั้น  และถามท่านว่าจิตเดิมแท้ของผมคืออะไร  ท่านถามว่า  "เธอมองเห็นความว่างอันไม่มีขอบเขตจำกัดไหม?"  กระผมตอบท่านว่า "มองเห็น"  ท่านถาม ต่อไปว่า  ความว่างที่ว่านั้น มีรูปร่างเฉพาะของมันเองหรือไม่?  ครั้นกระผมตอบว่า  ความว่างย่อมไม่มีรูปร่าง  ฉะนั้น  จึงไม่มีรูปร่างโดยเฉพาะของมันเอง  ดังนี้แล้ว  ท่านกล่าวต่อไปว่า  "จิตเดิมแท้ของเธอ"  เป็นเหมือนกับความว่างอย่างตรงเผ็งที่เดียวละ  การเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า  ไม่มีสิ่งใดเลย  ที่เราอาจมองพบตัวมัน  นี่คือ "ทิฏฐิอันถูกต้อง"  การเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า  ไม่มีสิ่งใดเลยที่เราอาจรู้จักมัน (ให้ถูกต้อง) ได้ นี่แหละคือ "ความรู้อันถูกต้อง" การเห็นอย่าแจ่มแจ้งว่า มันไม่ใช่เขียว  มันไม่ใช่เหลือง  มันไม่ใช่สั้น มันไม่ใช่ยาว ว่ามันเป็นของบริสุทธิ์อยู่โดยธรรมชาติ  และว่าเนื้อแท้ของมันนั้น  สมบูรณ์และสดใส  นี่แหละคือการเห็นแจ้งจิตเดิมแท้  และลุถึงพุทธภาวะได้ด้วยเหตุนั้น  ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  "ธรรมะที่ทำให้คนเป็นพระพุทธะ" แต่กระผมไม่เข้าใจคำสอนของท่านอาจารย์ต้าตุงเสียเลย ขอใต้เท้ากรุณาทำความแจ่มแจ้งให้แก่กระผมด้วยเถิดขอรับ

        พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า  คำสอนของท่านผู้นั้นชี้ชัดอยู่แล้วว่าเขายังมีความรู้สึกที่นึกเอาเอง  ในเรื่องอันเกี่ยวกับ  "ทิฏฐิ" และ  "ความรู้" เหลืออยู่  และอันนี้เอง  ที่ส่อให้เห็นว่า  ทำไมเขาจึงไม่สามารถทำความกระจ่างให้แก่ท่านได้  จงฟังโศลกของฉันดังต่อไปนี้:-

การเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า  ไม่มีสิ่งใดเลย  ที่เราอาจมองพบตัวมัน  แต่แล้วก็ยังคงเก็บเอาความรู้สึกว่า  "ความไม่อาจจะมองเห็นได้"  ไว้อีก

ข้อนี้  เปรียบเหมือนกับดวงอาทิตย์  ที่ถูกบังคับอยู่ด้วยเมฆที่ลอยมาขวางหน้า

การเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า ไม่มีสิ่งใดเลย  ที่เราอาจจะรู้จักมันได้  แต่แล้วก็เก็บเอาความรู้สึกว่า  "ความที่ไม่อาจจะรู้ได้"  ได้อีก

ข้อนี้ อาจเปรียบกันได้กับท้องฟ้าแจ่มแจ้ง แต่เสียรูปไปเพราะสายฟ้าแลบ

การปล่อยให้ความรู้สึก นึกเอาเองเช่นนี้  เกิดขึ้นตามสบายในใจของท่าน

ย่อมแสดงว่า  ท่านไม่รู้จักจิตเดิมแท้อย่างถูกต้องด้วย  ทั้งไม่มีเครื่องมืออะไร  ที่มีประสิทธิภาพพอที่จะทำให้ท่านรู้ได้ด้วย

ถ้าท่านรู้อย่างแจ้งฉาน  แม้เพียงขณะเดียวเท่านั้นว่า ความรู้สึกที่นึกเอาเองเช่นนี้  เป็นความผิดใช้ไม่ได้แล้ว

แสงสว่างภายในจิตของท่านเอง  จะลุกโพลงออกมาอย่างถาวร

        เมื่อได้ฟังดังนั้น ภิกษุ ชิช็วง  รู้สึกว่า  ใจของตนได้สว่างไสวในขณะนั้นเอง  เพราะเหตุนั้น  เธอจึงกล่าวโศลกแก่พระสังฆปริณายก ดังต่อไปนี้:-

การยอมให้ความรู้สึกว่า  "ความไม่อาจจะมองเห็นได้"  และ  "ความไม่อาจจะรู้ได้"  เกิดขึ้นในใจ ตามความพอใจของตัวนั้น

เป็นการแสวงหาโพธิ  โดยไม่ต้องเปลื้องตัวเองไห้อิสระจากความคิดต่างๆ ที่ตนเดาเอาเอง  ในเรื่องอันเกี่ยวกับสิ่งทั้งปวง

ผู้ที่ผยองพองตัว ด้วยความรู้สึกอันเบาเต็งว่า "บัดนี้เรารู้แจ้งแล้ว" นั้น

ก็ยังไม่ดีไปกว่าเมื่อเขายังไม่รู้สึกอะไรเลย

ถ้าหากข้าพเจ้าไม่ได้มาหมอบอยู่แทบเท้าของพระสังฆปริณายก

ข้าพเจ้าก็ยังคงงงงัน  ไม่รู้จะเดินทางไหนถูกอยู่นั่นเอง

        ในวันหนึ่ง  ภิกษุ ชิช็วง  ได้ถามพระสังฆปริณายกว่า  พระพุทธองค์ได้ประกาศคำสอนเรื่อง "ยานสามชนิด"  และเรื่อง  "ยานชั้นสูงสุด" ไว้ด้วย  แต่กระผมไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้  ขอให้ใต้เท้าจงกรุณาอธิบายเถิด"

        พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า  ในการพยายามเพื่อเข้าใจเรื่องเหล่านี้ ท่านควรจะส่องดูที่ใจของท่านเอง  และทำตัวต่อสิ่งทั้งปวงในภายนอกอย่างมีอิสระ  ความแตกต่างระหว่างยานทั้งสี่ชนิด มิได้อยู่ที่ตัวธรรมะ  แต่อยู่ที่ความแตกต่างของใจคนที่จะปฏิบัติธรรมะ การดู การฟัง  การท่องพระสูตร  เป็นยานขนาดเล็ก  การรู้ธรรมและเข้าถึงความหมายเป็นยานขนาดกลาง การเอาธรรมะที่รู้นั้นมาปฏิบัติจนเป็นปกติวิสัย นี่คือยานขนาดใหญ่  การเข้าใจธรรมทั้งปวงอย่างปรุโปร่ง ได้ดื่มรสธรรมะนั้นอย่างสมบูรณ์  เป็นอิสระจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง มีใจอยู่เหนือสิ่งทั้งปวง และไม่ถืออะไรไว้โดยความเป็นของของตน นี่แหละคือยานอันสูงสุด

        เนื่องจากคำว่า "ยาน" (พาหนะ)  คำนี้ หมายถึง  "เครื่องเคลื่อน" (กล่าวคือ การน้อมนำมาปฏิบัติ)  ดังนั้น  ข้อโต้แย้งในเรื่องนี้  ไม่มีความจำเป็นเสียเลย ทั้งหมดทั้งสิ้น มันขึ้นอยู่กับการฝึกฝนตัวเอง ดังนั้น ท่านไม่จำเป็นจะต้องถามปัญหาใดๆอีกเลย แต่ฉันขอเตือนท่านให้ระลึกไว้ว่า  ตลอดทุกกาลเวลา   จิตเดิมแท้นั้นคงดำรงอยู่ในภาวะแห่ง  "ความเป็นเช่นนั้น" อยู่เสมอ

        ภิกษุ ชิช็วง  แสดงความเคารพและขอบคุณพระสังฆปริณายก จำเดิมแต่นั้นมา ท่านได้ทำตนเป็นผู้ปรนนิบัติพระสังฆปริณายก  จนตลอดชีวิตพระสังฆปริณายก

***********

        ภิกษุ ฉิต่าว เป็นชาวเมืองน่ำหอยแห่งกวางตุ้ง  ได้มาหาพระสังฆปริณายก  เพื่อขอคำแนะนำตักเตือน  ได้กล่าวแก่พระสังฆปริณายกว่า "นับแต่กระผมได้บวชมานี้ กระผมได้อ่านมหาปรินิวาณสูตรมากว่า 10 ปีแล้ว แต่กระผมก็ยังไม่สามารถจับฉวยเอาใจความสำคัญของสูตรนั้นได้  ขอใต้เท้าได้โปรดสอนแก่กระผมด้วยเถิด

        พระสังฆปริณายกได้ถามว่า  พระสูตรตอนไหนเล่า ที่ท่านยังไม่เข้าใจ?

        ภิกษุ ฉิฉ่าว จึงกล่าวตอบว่า  "ข้อความในพระสุตรตอนที่กระผมไม่เข้าใจนั้นมีว่า "สิ่งทุกสิ่งไม่คงตัวอยู่อย่างถาวร  ดังนั้น  สิ่งทั้งปวงจึงตกอยู่ใต้อำนาจ ของธรรมที่เป็นความเกิดขึ้น และความแตกดับ(กล่าวคือสังขตธรรม) เมื่อความเกิดขึ้นและความแตกดับมาสิ้นสุดลงด้วยกัน  ศานติสุขแห่งความหยุดได้โดยสมบูรณ์*49 และความสิ้นสุด ของการเปลี่ยนแปลง (กล่าวคือนิพพาน) ย่อมปรากฏขึ้นมา

*49ความหยุดได้โดยสมบูรณ์ หมายถึงความที่หลุดพ้นจากเครื่องปรุงแต่ง  คือ พ้นอำนาจของอวิชชา  ตัณหา นั่นเอง และหมายถึง นิพพาน ผู้แปลไทย พุทธทาส

        พระสังฆปริณายกได้ถามว่า  อะไรเล่าที่ทำให้ท่านสงสัย?

        ภิกษุ ฉิต่าว ได้ตอบว่า  สิ่งที่มีชีวิตทั้งปวงย่อมมีกาย 2 กาย กล่าวคือ กายเนื้อและกายธรรม กายเนื้อไม่คงตัวอยู่อย่างถาวร  มันมีอยู่  และตายไป. ส่วนกายธรรมนั้น ตั้งอยู่อย่างถาวร, ไม่รู้อะไร ไม่มีความรู้สึกอะไร. ทีนี้ ในพระสูตรกล่าวว่า "เมื่อความเกิดขึ้น" และความแตกดับ สิ้นสุดลงด้วยกัน ศานติสุขแห่งความหยุดได้โดยสมบูรณ์ และความสิ้นสุดของการเปลี่ยนแปลง (กล่าวคือนิพพาน) ย่อมปรากฏขึ้นมา"  ดังนี้ กระผมไม่เข้าใจได้เลยว่า  กายไหนสิ้นสุดลง  และกายไหนยังอยู่เพื่อดื่มรสแห่งศานตินั้น. มันเป็นไปไม่ได้ที่กายเนื้อจะดื่มรสแห่งศานติ  เพราะว่าเมื่อมันตาย  มหาภูตะทั้งสี่ (วัตถุธาตุ กล่าวคือ ดิน น้ำ ลม ไฟ) จะกระจัดกระจายจากกัน และการกระจัดกระจายจากกันนั้น  เป็นความทุกข์ล้วนๆ และตรงกันข้ามจากศานติสุขโดยสิ้นเชิง ถ้าหากว่าเป็นธรรมกายที่สิ้นสุดลงไป  แล้วมันก็จะตกอยู่ในลักษณะเช่นเดียวกันกับสิ่งที่ "มิใช่สัตว์" ซึ่งได้แก่ ผักหญ้า ต้นไม้ ก้อนหิน และอื่นๆ ฯลฯ  เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว  ใครเล่าจะเป็นผู้ดื่มรสแห่งศานตินั้น

       ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ สภาวะธรรมดา ย่อมเป็นหัวใจหรือตัวการ ของความเกิดขึ้น และความแตกดับ.  อันแสดงตัวออกมาในรูปของขันธ์ทั้งห้า (คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) หรือถ้าจะกล่าวกันอย่างง่ายๆ ก็คือว่า มีตัวการแต่ตัวเดียว  แต่อาการของมันมีถึงห้าอย่างนั่นเอง  กระแสแห่งการเกิดขึ้นและการแตกดับนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุด  เมื่ออาการหรือการทำตามหน้าที่ยัง  "มีออกมา" จากตัวการนั้นแล้ว  กระแสนั้นก็ไหลไปเรื่อย, เมื่อการปฏิบัติงานหรืออาการนั้น ถูก "ดูด" กลับคืนไปยังตัวการ  กระแสก็หยุดไหล  เมื่อการถือกำเนิดใหม่ยังมีได้อยู่เพียงใด  ก็ย่อมไม่มี  "การสิ้นสุดแห่งความเปลี่ยนแปลง"  อยู่เพียงนั้น  ดังจะเห็นได้ไนกรณีของสัตว์มีชีวิตทั่วไป.  ถ้าการถือกำเนิดใหม่  ไม่เข้ามาแทรกแซงแล้ว, สิ่งต่างๆก็จะอยู่ในสภาพของสิ่งที่ไร้ชีวิต  ดังเช่นวัตถุต่างๆ  ที่ไม่มีชีวิตทั้งหลาย  เมื่อเป็นดังนี้แล้ว, ภายในขอบเขตอันจำกัดเฉียบขาดของนิพพานนั้น  ย่อมมีไม่ได้แม้แต่ความมีอยู่ ของสัตว์  เช่นนี้แล้ว  จะมีความเปรมปรีดิ์ (ในการดื่มรสของนิพพาน) อะไรกันได้เล่า?

        พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า  ท่านก็เป็นบุตรคนหนึ่งของพระชินะพุทธ (คือเป็นภิกษุ)  ทำไมจึงมารับเอกความเห็นผิดแห่งสัสตทิฏฐิ  และอุจเฉททิฏฐิ ของพวกเห็นผิดนอกพุทธศาสนา,  และทั้งกล้าตำหนิคำสอนของลัทธิอุตตรยาน?

        ข้อแย้งของท่านยืนยันว่า มีกายธรรมอยู่ต่างหากจากกายเนื้อ,  และว่า "ความหยุดได้โดยสมบูรณ์"  และ "ความสิ้นสุดของความเปลี่ยนแปลง"  นั้นต้องแสวงหาจากที่อื่นนอกไปจาก  "ความเกิดขึ้นและความแตกดับ"  ยิ่งกว่านั้น  จากข้อที่กล่าวว่า  "นิพพานเป็นความเปรมปรีดิ์ไม่มีที่สิ้นสุด" นั่นเอง ท่านเชื่อโดยการพิสูจน์เอาว่า ต้องมีใครคนใดคนหนึ่ง  ที่ทำหน้าที่เป็นผู้เปรมปรีดิ์.

        ความเห็นผิดเหล่านี้เอง มิใช่อื่น ที่ทำให้คนทั้งปวงทะเยอทะยานอยากเกิดเป็นสัตว์ชนิดที่มีอวัยวะรู้รสของอารมณ์. และปรนปรือตัวเองด้วยความเพลิดเพลินอย่างวิสัยโลก.  และเพื่อคนเหล่านี้. ซึ่งเป็นเหยื่อของอวิชชา; ซึ่งถือว่าการประชุมของข้นธ์ทั้งห้า เป็นตัวตน และถือสิ่งนอกนั้นว่ามิใช่ตัวตน; ซึ่งหลงรักการเกิดของตัว  และเกลียดชังความตาย  อย่างสุดจิตสุดใจ; ซึ่งลอยไปมาอยู่  ในวังวนของความเกิด  และความตาย  โดยไม่มีการสำนึกถึงความว่างกลวงไร้แก่นสารของโลกียภพ ซึ่งเป็นแต่เพียงความฝันหรือมายา; ซึ่งทำความทุกข์ขึ้นใส่ตัวเองโดยไม่จำเป็น  ด้วยการพ่วงตัวเองเข้ากับสังสารวัฏแห่งการเวียนเกิด; ซึ่งเข้าใจผิดต่อภาวะแห่งความแปรมปรีดิ์ ไม่มีที่สิ้นสุดของนิพพาน  ในฐานะเป็นความทุกข์อีกแบบหนึ่ง; และซึ่งแล่นตามหาความเพลิดเพลินจากอารมณ์อยู่เนืองนิจ.  เหล่านี้เองแท้ๆ ที่พระพุทธองค์ผู้ทรงพระมหากรุณา  ได้ทรงแสดงศานติอันแท้จริงของนิพพานไว้ให้เขาโดยจำเพาะเจาะจง.

        ไม่ว่าในขณะใดหมด  นิพพานย่อมไม่มีปรากฏการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลง, หรือแห่งการแตกดับ.  ไม่มีแม้กระทั่งความสิ้นสุดของการทำหน้าที่ ของความเกิดขึ้นและความแตกดับ.  นิพพานเป็นการแสดงออกของ "ความหยุดได้โดยสมบูรณ์  และความสิ้นสุดของความเปลี่ยนแปลง"  แต่แม้ในขณะแห่งการแสดงออกนั้น  ก็ไม่มี  "ความเห็น"  ว่าเป็นการแสดงออก, ดั่งนั้นจึงถูกเรียกว่า  "ความเปรมปรีดิ์อันไม่รู้จักหมดสิ้น"  ซึ่งไม่ต้องมีตัวผู้เปรมปรีดิ์หรือผู้ไม่เปรมปรีดิ์  แต่อย่างใด.

        ไม่มีสิ่งใดที่จะกล่าวได้ว่า  "มีตัวการอยู่ตัวหนึ่ง  แล้วมีอาการของมันห้าอย่าง"  เหมือนที่ท่านยืนยัน, ท่านกำลังกล่าวป้ายร้ายพระพุทธองค์ และกำลังใส่ร้ายพระธรรม  โดยที่ท่านไปไกลจนถึงกับกล่าวว่า  ภายใต้ขอบเขตอันจำกัดเฉียบขาดของนิพพาน  ย่อมมีไม่ได้  แม้แต่ความมีอยู่ของสัตว์ทุกชนิด.  จงฟังโศลกของฉันดังต่อไปนี้:-

มหาปรินิพพานอันสูงสุดนั้น

เป็นสิ่งที่เต็มเปี่ยม  ถาวร  สงบ  และรุ่งเรืองสว่างไสว

คนสามัญและคนเขลา  หลงเรียกนิพพานนั้นว่าความตาย

ฝ่ายพวกมิจฉาทิฏฐิก็ถือเอกตามขอบใจว่า นิพพานนั้น เป็นความขาดสูญ

พวกที่เป็นฝ่ายสาวกยาน  และปัจเจกพุทธยาน

เห็นพระนิพพานว่าเป็นสิ่งที่  "ไม่มีการกระทำ"

ทั้งหมดนี้  เป็นเพียงการคำนวนเอาด้วยสติปัญญาของคนสามัญ

และย่อมจะสร้างรากฐาน  แห่งมิจฉาทิฏฐิ  62 ประการขึ้นมา.

ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงชื่อต่างๆ ที่คิดเดาเอาเอง ประดิษฐ์ขึ้นเองในขณะ

ที่เขาไม่รู้จะทำอย่างไรต่อสัจจธรรมอันสูงสุดนั้น

เฉพาะพวกที่มีใจสูงเหนือสิ่งทั้งหลายเท่านั้น

ที่อาจจะเข้าใจได้ถูกต้องว่า  นิพพานนั้นคืออะไรกันแน่.และวางตนไว้  ในลักษณะที่เข้าพัวพันด้วยก็ไม่ใช่ เฉยเมยก็มิใช่ทั้งสองอย่าง*50

*50 ข้อนี้ท่านดิปิเซ่ ให้อรรถธิบายไว้ว่า เมื่อคนสามัยหลงอยู่ในวังวนของการเวียนเกิด  เวียนตาย, พวกสาวกและพวกปัจเจกพุทธะ  แสดงทีท่าเกลียดชัง อาการอันนี้. ทำเช่นนี้ไม่ถูกทั้งสองพวก ผู้ทำเนินไปในมรรคปฏิปทา  ย่อมไม่ติดใจ  ในการเกิดเป็นสัตว์เพื่อเสวยอารมณ์  แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมีการจงเกลียดจงชังอะไรแก่สิ่งนี้.  เพราะความถือว่ "ตัวตน" หรือว่า "สัตว์บุคคล" ย่อมไม่มีแก่ผู้นี้ และเพราะว่า ท่านผู้นี้เสียสละได้ทั้งท่าทีแห่งการอยากได้  และท่าทีแห่งการเฉยเมยต่อสิ่งทั้งปวง. วิมุติ จึงอยู่ในกำมือของท่านตลอดเวลา,  และท่านอยู่เป็นผาสุขได้ในทุกๆ สถานการณ์ที่แวดล้อม. ท่านอาจผ่านไปในกระแสของการเกิดตาย แต่กระแสนั้น ไม่อาจพัวพันท่าน และสำหรับท่าน ปัญหาเรื่องเกิดตายไม่เป็นปัญหาอะไรเลย.  คนชนิดนี้แหละที่ควรเรียกว่ามีใจสูงเหนือสิ่งทั้งปวง (ได้พบพระนิพพานแล้ว)  ดิปิงเซ่ ผุ้บรรยายจีน

ท่านเหล่านั้น  ย่อมรู้ว่า ขันธ์ทั้งห้า

และสิ่งที่เรียกกันว่า  "ตัวตน"  อันเกิดขึ้นจากการประชุมพร้อมของขันธ์ทั้งห้านั้น

รวมทั้งวัตถุและรูปธรรมภายนอกทุกชนิด

และทั้งปรากฏการณ์ต่างๆ ของศัพท์และสำเนียง

ล้วนแต่ของเทียม  ดั่งเช่นความฝันและภาพมายา เสมอกันหมด

ท่านเหล่านั้นไม่เห็นว่ามีอะไรแตกต่างกัน  ระหว่างพระมุนีกับคนธรรมดา

หรือจะมีความคิดเดาเอาเอง ในเรื่องนิพพาน  ก็หาไม่.

ท่านเหล่านี้  ย่อมอยู่เหนือ "การรับ"  และ  "การปฏิเสธ"

และท่านเหล่านี้  ทำลายเครื่องกีดขวาง ทั้งที่เป็นอดีต  ปัจจุบัน และอนาคต

ท่านเหล่านี้ ย่อมใช้อวัยวะเครื่องทำความรู้สึก  ของท่านในเมื่อมีเรื่องต้องใช้

แต่ว่าความรู้สึกยึดถือใน  "การใช" นั้น มิได้เกิดขึ้นเลย

ท่านเหล่านั้น อาจระบุเจาะจงสิ่งต่างๆ ได้ทุกชนิด.

แต่ว่าความรู้สึกยึดถือใน "การระบุเจาะจง" นั้น มิได้เกิดขึ้นเลย

ขณะที่ไฟประลัยกัลป์ล้างโลก ในที่สุดของกัลป์, เมื่อท้องมหาสมุทรแห้งไป

หรือขณะที่ลมหมาประลัยพัดทำลายโลก  จนภูเขาล้มชนกันระเกะระกะ

ศานติสุขอันแท้จริงและยั่งยืน ของ "ความหยุดได้โดยสมบูรณ์" และความสุดสิ้นองความเปลี่ยนแปลง"

แห่งนิพพาน, ย่อมยังคงอยู่ในสภาพเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย.

นี่ฉันได้พยายามอธิบายแก่ท่าน ถึงสิ่งบางสิ่ง ที่เหลือที่จะพูดออกมาได้

เพื่อให้ท่านสามารถกำจัดความเห็นผิดของท่านเสีย.

แต่ถ้าท่านไม่ตีความแห่งคำพูดของฉันให้ตรง ตามความหมายแล้ว

ท่านอาจเรียนรู้ความหมายของนิพพาน  แต่เพียงกะจิริด นิดหนึ่งเท่านั้น

        เมื่อได้ฟังโศลกนี้แล้ว  ภิกษุ ฉิต่าว  ได้มีความสว่างไสวในธรรมอย่างสูงเธอรับฟังคำสอนด้วยใจอันปราโมทย์ และลาจากไป

***********

        ภิกษุ ฮังฉิ อาจารย์องค์หนึ่งในนิกายธยานนี้ เกิดที่อันเซ้งแห่งกัตเจา ในตระกูลหลิว.  เมื่อได้ยินข่าวเล่าลือว่า  คำสอนของพระสังฆปริณายก ได้ทำให้คนจำนวนมากมีความสว่างไสวในธรรม  ท่านจึงได้ตรงมายังตำบลโซกายทันที  เมื่อทำความเคารพแล้ว  ได้ตั้งคำถามขึ้นว่า  "ผู้ปฏิบัติควรส่งจิตของตนพุ่งไปยังสิ่งใด  อันจะทำให้การบรรลุธรรมของเขาเป็นสิ่งที่ไม่สามารถวัดได้ด้วย  "เครื่องวัดคุณวิเศษ" ตามที่คนทั่วไปเขารู้กัน?"

        พระสังฆปริณายกถามว่า  ก็ท่านกำลังปฏิบัติอยู่อย่างไรเล่า?

        ภิกษุ ฮังฉิ ตอบว่า แม้ธรรมคืออริยสัจทั้งหลาย ที่พระพุทธเจ้าทุกๆองค์สอนไว้  ข้าพเจ้าก็ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องเข้าไปแตะต้องด้วย

        พระสังฆปริณายกถามต่อไปว่า แล้วก็เดี๋ยวนี้ท่านอยู่ใน "ชั้นแห่งคุณวิเศษ" ชั้นไหนเล่า?

        ภิกษุ ฮังฉิ ย้อนว่า จะมี "ชั้นคุณวิเศษ" อะไรที่ไหนเล่า ในเมื่อข้าพเจ้าปฏิเสธไม่เข้าเกี่ยวข้องด้วย  แม้กับอริยสัจที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้สอนไว้?

        การตอบโต้อย่างทันควันของภิกษุฮังฉิ ได้ทำให้พระสังฆปริณายกเกิดความนับถือ ถึงกับยกเธอขึ้นเป็นหัวหน้าคณะ.

        วันหนึ่ง พระสังฆปริณายกได้กล่าวแก่ท่านผู้นี้  ว่าท่านควรจะไปประกาศธรรมในท้องถิ่นของท่านเอง  เพื่อว่าคำสอนจะไม่ลับหายสิ้นสุดไป  เพราะเหตุนั้น ภิกษุฮังฉิ ได้กลับไปภูเขาชิงอัน อันเป็นภูมิลำเนาของเท่าน. พระธรรม (แห่งนิกายนี้) ถูกมอบหมายทอดช่วงไปยังท่าน. ท่านได้เผยแพร่ไปอย่างกว้างขวาง และเป็นการทำให้คำสอนแห่งครูอาจารย์ของท่านลงรากอย่างมั่นคง เพราะเหตุนั้น  เมื่อท่านมรณภาพแล้ว เขาพากันยกสมัญญาให้แก่ท่านว่า "ฮุงไซ่ ผู้เป็นอาจารย์แห่งนิกายธยาน"

**********

       ภิกษุ เว่ยยาง  อาจารย์ในนิกายธยานอีกองค์หนึ่ง เกิดในตระกูลเต๋า ในกิมเจา เมื่อไปเยี่ยมท่านเว่ยออนแห่งภูเขาซุงซาน   ซึ่งเป็น "อาจารย์ประจำเมือง"  ได้ถูกท่านผู้บังคับให้มายังตำบลโซกาย  เพื่อสนทนากับพระสังฆปริณายก

        ครั้นมาถึง และได้ทำความรพตามธรรมเนียมแล้ว ก็ถูกพระสังฆปริณายก ถามว่า มาจากไหน  ตอบว่า  มาจากซุงซาน

        ถามว่า  สิ่งที่มานั้นเป็นอะไร มาได้อย่างไร           ตอบว่า  จะว่ามันเหมือนกับอะไร ก็เป็นการผิดทั้งนั้น

        ถามว่า  เป็นสิ่งที่ลุถึงได้ด้วยการฝึกฝนปฏิบัติตนหรือ       ตอบว่า  มิใช่เป็นการสุดวิสัยที่จะลุถึงได้ด้วยการฝึกฝนปฏิบัติตน  แต่ว่าเป็นการสุดวิสัยจริงๆ ที่จะทำสิ่งนี้ไห้เศร้าหมองมีมลทิน

        เมี่อได้ฟังดังนั้น  พระสังฆปริณายกได้เปล่งเสียงขึ้นดังๆว่า มันได้แก่สิ่งที่ไม่รู้จักเศร้าหมองนี้จริงๆ ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์เอาพระทัยใส่ ถึงท่านก็ต้องเป็นอย่างเดียวกัน ถึงแม้ข้าพเจ้าก็ต้องเป็นอย่างเดียวกัน พระสังฆปริณายกชื่อ  ปรัชญาตาระ แห่งอินเดีย ได้ทำนายไว้ว่า ลูกม้า*51ตัวหนึ่งจะออกมา

*51ข้อนี้หมายถึงศิษย์อันมีชื่อเสียงของภิกษุเว่ยยาง ที่ชื่อว่า "ม้า โซ่" อันเป็นผู้ที่ได้แผ่คำสอนของนิกายธยานไปจนทั่วประเทศจีน ผู้คัดลอกจีนว่องมูล่ำ

จากใต้ฝ่าเท้าของเท้า และจะกระโจนเหยียบย่ำมหาชนไปทั่วโลก  ข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องพยากรณ์ความข้อนี้เร็วเกินไป  เพราะว่าคำพยากรณ์นั้น ท่านหาดูได้ในใจของท่าน

        ภิกษุ เว่ยยาง  มีความเข้าใจปรุโปร่งในคำพูดของพระสังฆปริณายก ได้เข้าใจซึมทราบแจ่มแจ้งว่าพระสังฆปริณายกพูดหมายถึงอะไร  ตั้งแต่วันนั้นมา ได้เป็นศิษย์ติดสอยห้อยตามพระสังฆปริณายกอยู่เป็นเวลา 15 ปี มีความรู้ในทางพระพุทธศาสนาลึกซึ้งยิ่งขึ้นๆ ทุกๆวัน  ต่อมาได้ตั้งสำนักขึ้นที่เฮ็งชาน ทำการเผยแพร่คำสอนของพระสังฆปริณายกออกไปอย่างกว้างขวาง  เมื่อถึงมรณภาพแล้ว  ทางการแห่งราชสำนักของพระเจ้าจักรพรรดิ์  ได้ถวายสมัญญาแก่ท่านว่า "ไถ่ไหว่ ผู้เป็นอาจารย์แห่งนิกายธยาน"

**********

       อาจารย์นิกายธยาน  ชื่อ หยวนกว็อก แห่งวิงกา  เกิดในตระกูลไต๋  ในเว็นเจา  เมื่อยังหนุ่มได้ศึกษาในสูตรและศาสตร์เป็นอันมาก เป็นผู้แตกฉานในหลักสมถะ  และวิปัสสนาแห่งนิกายเท็นดาย  โดยที่ได้อ่านวิมลกีรตินิเทศสูตร  ท่านได้ทราบถึงข้อลี้ลับ  แห่งใจของท่านเองอย่างปรุโปร่ง

        มีภิกษุรูปหนึ่ง มีนามว่า อันแช็ก เป็นศิษย์ของพระสังฆปริณายกเผอิญได้ไปเยี่ยมมนัสการท่านอาจารย์ผู้นั้น เมื่อได้มีธรรมสากัจฉากันเป็นเวลานานแล้ว ภิกษุอันแช็กได้สังเกตเห็นว่า  ถ้อยคำของคู่สนทนานั้นลงกันได้ดีกับคำสอนต่างๆ ของพระสังฆปริณายก  จึงถามขึ้นว่า "ผมใคร่จะทราบนามอาจารย์ของท่าน ซึ่งได้สั่งสอนธรรมให้แก่ท่าน"

        หยวนกว็อกได้ตอบว่า  ผมมีอาจารย์มากมายที่สอนผม ในขณะที่ผมศึกษาสูตรและศาสตร์ต่างๆ แห่งสำนักไวปูลยะ, แต่หลังจากนั้นมาเป็นเพราะได้อ่านวิมลกีรตินิเทศสูตร  ผมจึงมองเห็นแจ่มแจ้งถึงความสำคัญของนิกายพุทธจิตตะ (คือนิกายธยาน)  แล้วในตอนนี้  ผมยังไม่มีอาจารย์คนใดที่จะพิสูจน์และยืนยันความรู้ของผม

        ภิกษุอันแช็กกล่าวขึ้นว่า ถ้าในยุคก่อนหน้าพระภิสมครรชิตศวร พระพุทธเจ้าองค์แรก ก็พอจะเป็นไปได้  ที่ใครๆจะรู้ธรรมได้โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับอายจารย์  แต่หลังจากนั้นมาแล้ว  ผู้ที่บรรลุธรรมโดยไม่อาศัยความช่วยเหลือและยืนยันของอาจารย์คนใดคนหนึ่งแล้ว (ดูเหมือนจะ) ใช้ไม่ได้เป็นธรรมดา

        หยวนกว็อกได้ถามว่า ถ้าดังนั้นท่านช่วยเป็นผู้พิสูจน์การรู้ธรรมของผมได้ไหมเล่า?

        ภิกษุอันแช็กตอบว่า  คำพูดของผมไม่มีน้ำหนัก  ที่ตำบลโซกาย มีพระสังฆปริณายกองค์ที่หก อยู่ที่นั่น  คนจำนวนมากมาหาท่านจากทิศต่างๆ ด้วยความประสงค์อย่างเดียวกัน คือเพื่อรับเอาธรรม ถ้าท่านใคร่จะไปที่นั่น ผมยินดีที่จะไปเป็นเพื่อน

        ในเวลาอันสมควร  ภิกษุทั้งสองก็ได้ไปถึงโซกาย  และพบปะกับพระสังฆปริณายก  สำหรับท่านหยวนกว็อกนั้น  เมื่อได้เดินเวียนรอบๆ พระสังฆปริณายกสามครั้งแล้ว ก็หยุดยืนถือไม้เท้านิ่งอยู่ (ปราศจากการแสดงความเคารพแต่อย่างใด)

        พระสังฆปริณายกเห็นเช่นนั้น  จึงกล่าวขึ้นว่า  ก็ภิกษุย่อมเป็นที่เกาะอาศัยของศีลสิกขาพทสามพันข้อ  และสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ อีกแปดพันข้อ  ผมสงสัยเหลือเกินว่าท่านมาจากสำนักไหน และมีอะไรที่ทำให้ท่านถือตัวถึงเพียงนี้

        ท่านหยวนกว็อกได้ตอบว่า  ปัญหาเกี่ยวกับการเวียนเกิดไม่รู้สิ้นสุด เป็นปัญหาด่วนจี๋ และความตายอาจจู่มาถึงขณะจิตใดก็ได้ (ผมจึงไม่มีเวลามากพอที่จะเสียไปในการทำพิธีรีตองเช่นนั้น)

        พระสังฆปริณายกถามไปว่า  แล้วทำไมท่านไม่ทำความแจ่มแจ้งในหลักธรรมเรื่อง  "ความไม่เกิด" และแก้ไขความยุ่งยากแห่งความไม่เที่ยงแท้ของชีวิตให้หมดไปด้วยธรรมนั้นเล่า?

        ท่านหยวนกว็อกเสนอว่า  การเห็นแจ้งจิตเดิมแท้เป็นการทำตนให้เป็นอิสระจากการเวียนเกิด จัดการกับปัญหาข้อนี้ให้ลุล่วงไปเพียงข้อเดียว ปัญหาเรื่องความไม่เที่ยง ก็จะไม่มีเหลืออีกต่อไป

        พระสังฆณายกได้ตอบรับว่า ถูกแล้ว ถูกแล้ว

        ในตอนนี้ หยวนกว็อกได้ยอมทำความเคารพอย่างเต็มที่ตามธรรมเนียม  ไม่กี่อืดใจก็กล่าวคำอำลาพระสังฆปริณายก

        พะรสังฆปริณายกถามว่า  ท่านกำลังจะกลับเร็วเกินไปเสียแล้ว ใช่ไหมล่ะ?

        หยวนกว็อกย้อนว่า  "ความเร็ว" จะมีได้อย่างไรกัน  ในเมื่อความเคลื่อนไหวเอง ก็มิได้มีเสียแล้ว

        ย้อนกลับไปว่า ใครเล่า ที่จะรู้ว่าการเคลื่อนไหวก็มิได้มี?

        สวนมาว่า  ท่านขอรับ กระผมหวังว่าท่านจะไม่ชี้ระบุตัวตนอะไรที่ไหน

        พระสังฆปริณายกได้กล่าวสรรเสริญท่านหยวนกว็อก ว่าสามารถมีความเข้าใจในเรื่อง "ความไม่เกิด" (คือพระนิพพาน) ได้อย่างกว้างขวางปรุโปร่ง  แต่ท่านหยวนกว็อกได้ตั้งข้อสังเกตขึ้นมาอีกว่า ก็ใน "ความไม่เกิด" นั้น มี "ความเข้าใจ" อยู่ด้วยหรือ?

        พระสังฆปริณายกย้อนตอบไปว่า ไม่มี "ความเข้าใจ"แล้ว ใครเล่าที่สามารถชี้ระบุตัวตน?

        ท่านหยวนกว็อกตอบว่า สิ่งที่ชี้ระบุตัวตนนั้น หาใช่ "ความเข้าใจ" ไม่

        พระสังฆปริณายกร้องขึ้นว่า สาธู แล้วได้ขอร้องให้ท่านหยวนกว็องยับยั้งการกลับไว้ก่อน  และค้างคืนด้วยกันสักคืนหนึ่ง เพราะเหตุนี้เอง ท่านหยวนกว็อก.จึงเป็นผู้ที่พวกเพื่อนๆ ในสมัยเดียวกันขนานนามว่า "ผู้รู้ ซึ่งเคยค้างคืนกับพระสังฆปริณายก"

        ต่อมาภายหลัง ท่านหยวนกว็อกได้ประพันธ์วรรณกรรมอันมีชื่อเสียงเรื่อง "บทขับเกี่ยวกับการบรรลุทางฝ่ายใจ"  ซึ่งแพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง เมื่อมรณภาพแล้ว ท่านได้รับสมัญญาว่า  "ปรมาจารย์ วู่เช็ง (ซึ่งแปลว่าผู้อยู่เหนือสิ่งต่างๆ ในโลก) พวกเพื่อนๆสมัยเดียวกันกับท่าน พากันเรียกท่านอีกว่า
ธยานาจารย์ ชุนกว็อก (ซึ่งแปลว่า ท่านที่รู้จริงๆ)

************

        ภิกษุ จิหว่าง เป็นนักศึกษาผู้หนึ่งในนิกายธยาน  หลังจากได้สอบถามพระสังฆปริณายกองค์ที่ห้า (เกี่ยวกับการก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของตน)  แล้วก็เข้าใจเอกเองว่าตนได้บรรลุสมาธิ  ดังนั้น ท่านผู้นี้จึงเก็บตัวอยู่ในวิหารเล็กๆ แห่งหนึ่ง  เป็นเวลาถึงยี่สิบปี และเฝ้าแต่นั่งขัดสมาธิอยู่ตลอดเวลา

        มีศิษย์ของพระสังฆปริณายกองค์ที่หกผู้หนึ่งชื่อ ภิกษุอันแช็ก จาริกไปทางฝั่งเหนือของแม่น้ำฮวงโห  ได้ยินเรื่องราวของท่านผู้นี้ จึงเข้าไปเยี่ยมถึงที่วัดนั้น

        ภิกษุอันแช็กได้ถามว่า "ท่านทำอะไรอยู่ที่นี่"

        ภิกษุจิหว่างได้ตอบว่า "ข้าพเจ้ากำลังเข้าสมาธิอยู่"

        ภิกษุอันแช็กกล่าวขึ้นว่า "ท่านว่าท่านกำลังเข้าสมาธิอยู่อย่างนั้นหรือ? ข้าพเจ้าอยากทราบว่า ท่านทำสมาธิอยู่ด้วยความรู้สึก  หรือว่าปราศจากความรู้สึก เพราะว่าถ้าท่านทำสมาธิอยู่  โดยไม่มีความรู้สึก มันก็หมายความว่าสิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งปวง เช่น เครื่องกระเบื้อง, ก้อนหิน, ต้นไม้, และผักหญ้าทั้งหลาย ก็ลุถึงสมาธิได้เหมือนกัน. หรือไม่อย่างนั้น ถ้าท่านทำสมาธิอยู่โดยมีความรู้สึก, แล้วตัวสัตว์ที่มีชีวิตหรือมนุษย์ก็ตาม ทั้งหมดนั้น ก็จะพลอยเป็นผู้อยู่ในสมาธิไปด้วยทั้งสิ้น."

        ภิกษุจิหว่างได้กล่าวขึ้นว่า  "เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในสมาธินั้น ข้าพเจ้าไม่รู้สึกเลยว่า  มีความรู้สึกหรือไม่มีความรู้สึก"

        ภิกษุอันแช็กจึงพูดว่า  "ถ้าเอาอย่างที่ท่านว่า มันต้องเป็นความสงบตลอดกาล, ซึ่งในภาวะเช่นนั้นไม่มีทั้งการเข้าอยู่และการออกมา.อาการที่ท่านยังเข้าๆ ออกๆ ได้อยู่นั้น ยังไม่ใช่สมาธิชั้นเยี่ยม"

        ภิกษุจิหว่างรู้สึกงง หลังจากที่นิ่งอึ้งไปขณะหนึ่ง, แล้วท่านจึงได้ถามขึ้นว่า "ข้าพเจ้าขอทราบว่าใครเป็นอาจารย์ของท่าน"

        ภิกษุอันแช็กตอบว่า "อาจารย์ของข้าพเจ้า คือพระสังฆปริณายกองค์ที่หกแห่งโซกาย"

        ภิกษุจิหว่างถามต่อไปว่า "อาจารย์ของท่าน ได้กล่าวสรูปความในเรื่องธยาน และ สมาธิ ไว้อย่างไรเล่า"

        ภิกษุอันแช็กกล่าวตอบว่า  "คำสอนของอาจารย์มีว่า ธรรมกายเป็นสิ่งที่เต็มเปี่ยมและสงบ. ตัวแท้และการทำหน้าที่ของธรรมกาย ย่อมอยู่ในภาวะแห่ง "ความคงที่เสมอ"  ขันธ์ทั้งห้า เป็นของว่างโดยแท้จริง  และอายตนะภายนอกทั้งหก เป็นของไม่มีอยู่ ในสมาธิไม่มีทั้งการเข้า และไม่มีทั้งการออก ไม่มีทั้งความเงียบ และไม่มีทั้งความวุ่นวาย. ธรรมชาติของธยานไม่ใช่เป็นความเข้าอยู่ ดังนั้น  เราควรจะขึ้นไปให้เหนือภาวะแห่ง "การเข้าอยู่ในความสงบแห่งธยาน" ธรรมชาติของธยานนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครจะสร้างขึ้นได้, ดังนั้น เราควรจะขึ้นไปให้เหนือความคิดแห่ง "การสร้างภาวะของธยาน" ภาวะของจิตนั้นเอาจเปรียบได้กับอวกาศ, แต่มันเป็นสิ่งที่ไม่มีขอบเขตจำกัด, ดังนั้น จิตจึงมีอยู่โดยปราศจากการจำกัดเขตของอวกาศ.

        เมื่อได้ฟังดังนั้น ภิกษุจิหว่างจึงออกเดินทางไปยังโซกาย เพื่อไต่ถามพระสังฆปริณายก เมื่อสังฆปริณายกถามว่า มาแต่ไหนแล้ว, ภิกษุจิหว่าง ก็ได้เล่าเรื่องราวที่ตนได้สนทนากับภิกษุอันแช็ก ให้พระสังฆปริณายกฟังโดยละเอียด

        พระสังฆปริณายกได้กล่าวว่า ข้อความที่อันแช็กพูดนั้น ถูกต้องทีเดียว.  จงทำใจของท่าน ให้อยู่ภาพเหมือนกับความว่าอันหาขอบเขตไม่ได้, แต่อย่าให้มันเข้าไปติดในทิฏฐิว่า "ดับสูญ" จงให้ใจทำหน้าที่ของมันอย่างอิสระ. ไม่ว่าท่านจะกำลังทำงานหรือหยุดพัก จงอย่างให้ใจของท่านเกาะเกี่ยวในสิ่งใด.  จงอย่าไปรู้สึกว่า มีความแตกต่างระหว่างอริยบุคคล กับบุคคลธรรมดา อย่าไปคิดว่ามีความแตกต่างระหว่าตัวผู้กระทำ กับสิ่งที่ถูกกระทำ. จงปล่อยจิตเดิมแท้และสิ่งทั้งปวง ไว้ในสภาพแห่ง "ความเป็นเช่นนั้น"*52 แล้วท่านก็จะอยู่ในสมาธิตลอดเวลา

*52 "ความเป็นเช่นนั้น" หรือ "ตถตา" นั้น คือความที่ถ้าเป็นสังขาร ก็ปรุงแต่งหรือเกิดดับกันไป ถ้าเป็นวิสังขาร ก็ไม่มีการปรุงแต่ง ไม่มีการเกิดดับ ผู้แปลไทย พุทธทาส

        เมื่อได้ฟังดังนั้น จิหว่างก็มีความสว่างไสวในใจถึงที่สุด ความคิดที่ว่าตนได้บรรลุสมาธิมาแล้วตั้งยี่สิบปีแล้วนั้น บัดนี้ ได้สูญสิ้นไป. ในคืนวันนั้นเองพวกชาวบ้านโฮเป่ย (ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำเหลือง) ได้ยินเสียงอัศจรรย์ในท้องฟ้า ซึ่งแสดงว่าท่านอาจารย์จิหว่างแห่งนิกายธยาน ได้รู้ธรรมในวันนั้น

        ต่อมาอีกไม่นาน ภิกษุจิหว่างได้อำลาพระสังฆปริณายกกลับไปโฮเป่ย อันเป็นที่ซึ่งท่านได้สั่งสอนมหาชนหญิงชาย เป็นจำนวนมากทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์สืบมา

ความเห็นผู้เวปมาสเตอร์ ฤทธิชัย ภิกษุจิหว่างควรจะบรรลุธรรมหลังจากได้สนทนากับภิกษุอันแช็กแล้วแต่ทำไมถึงไม่บรรลุต้องรอจนได้พบพระสังฆปริณายกองค์ที่หกและได้ฟังคำพูดของท่านซึ่งก็มีความหมายเช่นเดียวกัน แล้วจึงบรรลุธรรม เนื่องด้วยภาวะจิตของภิกษุจิหว่างในขณะที่ฟังภิกษุอันแช็กพูดแม้เข้าใจในความหมายแต่ภาวะจิตของเขาก็ยังไม่เปิดเต็มที่ ด้วยความรู้สึกแบ่งแยกว่าคำพูดของศิษย์อย่างไรก็ไม่กระจ่างแจ้งเท่าอาจารย์ ที่จริงธรรมะที่ออกจากปากไม่ว่าศิษย์หรืออาจารย์ที่บรรลุไม่ต่างกันเลยในการสร้างพุทธภาวะให้เกิดขึ้น

***********

        ครั้งหนึ่ง มี ภิกษุองค์หนึ่ง ถามพระสังฆปริณายกว่า บุคคลประเภทไหนที่สามารถรับเอาใจความสำคัญของคำสอน แห่งว่องมุ่ย คือ พระสังฆปริณายกที่ห้าได้

        พระสังฆปริณายกได้ตอบว่า "ผู้ที่สามารถเข้าใจธรรมะของพระพุทธเจ้านั่นแหละ คือผู้ที่จะสามารถรับเอาได้

        ภิกษุนั้นถามอีกว่า  "ก็ใต้เท้าเล่า ได้รับแล้วหรือเปล่า?"

        ท่านได้ตอบว่า "ฉันไม่รู้ (สึกว่ามี) ธรรมะของพระพุทธเจ้าเลย"

**********

        วันหนึ่ง พระสังฆปริณายกต้องการจะซักจีวร ที่ได้รับมอบเป็นมรดกตกทอดมานั้น แต่ท่านไม่สามารถหาลำธารที่เหมาะๆ ได้ในที่นั้น ดังนั้น ท่านจึงได้เดินไปยังที่แห่งหนึ่ง ทางหลังวัดประมาณห้าไมล์, ที่นั่น ท่านได้สังเกตเห็นว่า  ผักหญ้า และต้นไม้งอกงามหนาแน่น และสิ่งแวดล้อมได้ทำให้เกิดความรู้สึกว่า เป็นที่อันเหมาะสม. ท่านได้สั่นไม้เท้าประจำตัวของท่าน (ซึ่งทำให้เกิดเสียงดัง  กริ่ง กริ่ง เพราะมีลูกพรวนจำนวนหนึ่งผูกอยู่ที่ด้ามไม้เท้านั้น) แล้วปักมันลงที่แผ่นดิน. ทันใดนั้น ก็มีน้ำพุ่งขึ้นมา ไม่นานก็กลายเป็นสระน้ำ

        ขณะที่ท่านคุกเข่าลงบนก้อนหิน เพื่อจะซักจีวร, ในทันใดนั้น ภิกษุรูปหนึ่งมาปรากฏขึ้นตรงหน้าของท่าน  และทำความเคารพท่าน.

        ภิกษุองค์นั้นได้กล่าวว่า "กระผมชื่อ ฟองปิน เป็นชาวเสฉวน เมื่อครั้งกระผมอยู่ที่ประเทศอินเดียตอนใต้, กระผมได้พบ พระสังฆปริณายกโพธิธรรม, ท่านได้แนะนำให้กระผมกลับมายังประเทศจีน. ท่านได้บอกแก่กระผมว่า  "ธรรมหฤทัยอันถูกต้อง พร้อมทั้งจีวรบาตร (อันเป็นเครื่องหมายแห่งนิกายธยาน) อันเราได้รับมอบต่อๆลงมาจากพระมหากัสสปะเถระนั้น บัดนี้ ได้ตกทอดไปถึงพระสังฆปริณายกองค์ที่หก ซึ่งบัดนี้อยู่ที่ตำบลโซกาย แห่งชิวเจา. ท่านจงไปที่นั่นเพื่อจะได้ดูสิ่งเหล่านั้น และได้ถวายความเคารพแก่พระสังฆปริณายกองค์นั้น" กระผมเดินทางเป็นเวลานานจนมาถึงที่นี่ ขอให้กระผมได้เห็นจีวรและบาตรที่ใต้เท้าได้รับมอบเป็นทอดๆ ลงมานั้นเถิด?"

        เมื่อได้ให้ดูเจดีย์วัตถุทั้งสองอย่างนั้นแล้ว พระสังฆปริณายกได้ถามภิกษุฟองปินว่า เขามีความเชี่ยวชาญในงานชนิดไหนบ้าง. ภิกษุฟองปินได้ตอบว่า "กระผมถนัดมือในทางงานแกะสลัก ขอรับ" พระสังฆปริณายก ได้ระบุความต้องการของท่านออกไปว่า "ถ้าอย่างนั้น จงทำอะไรให้ฉันดูสักอย่างหนึ่ง"

        ภิกษุฟองปินรู้สึกหัวหมุนในขณะนั้น แต่ต่อมา 2-3 วัน ท่านก็สามารถและสลักรูปพระสังฆปริณายกอย่างประณีต เหมือนกับมีชีวิตอยู่จริงๆ ขึ้นได้สำเร็จรูปหนึ่ง สูงประมาณเจ็ดนิ้ว เป็นงานชิ้นเอกชิ้นหนึ่งของการแกะสลัก

        เมื่อได้เห็นรูปสลักรูปนั้น พระสังฆปริณายกได้หัวเราะ และกล่าวแก่ฟองปินว่า "เธอมีความรู้เชี่ยวชาญในด้านหนึ่งของวิชาการแกะสลักจริงๆ แต่ดูเหมือนว่า เธอไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวอันลึกซึ้งของพระพุทธเจ้าเสียเลย" แล้วพระสังฆปริณายกได้เอื้อมมือไปลูบศีรษะของภิกษุฟองปิน (เป็นวิธีให้พรตามแบบของพุทธบริษัท) และได้ประกาศขึ้นว่า "เธอจงเป็นเนื้อนาบุญของมนุษย์ และเทวดาทั้งหลาย ตลอดกาลนานเป็นนิจเถิด"

        นอกไปจากนั้น พระสังฆปริณายกได้ตอบแทนงานชิ้นของภิกษุฟองปินนั้น ด้วยการมอบจีวรผืนหนึ่งเป็นรางวัล ซึ่งภิกษุฟองปินได้ตัดแบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งได้ตบแต่งรูปสลักนั้น, ส่วนหนึ่งสำหรับใช้เอง และอีกส่วนหนึ่งท่านได้ห่อมันด้วยใบลาน แล้วฝังลงในดิน. ขณะที่ทำการฝังลงไป ท่านได้ประกาศคำอธิษฐานออกมาว่า เมื่อใดผ้านี้ถูกขุดขึ้น  เมื่อนั้นขอให้ท่านได้เกิดใหม่ มาเป็นเจ้าอาวาสวัดนั้น และให้ได้รับภาระซ่อมแซมพระเจดีย์และโบสถ์วิหารทั้งปวง

************

        ภิกษุรูปหนึ่งนำโศลกซึ่งแต่งขึ้น  โดยธยานาจารย์รูปหนึ่ง ชื่อ ออหลุน มาท่องบ่นอยู่ว่า:-

 ออหลุน มีวิธีและเครื่องมือ

ที่จะกั้นจิตเสียจาก ความนึกคิดทั้งปวง

เมื่ออารมณ์ต่างๆ มิได้กลุ้มรุมจิต

ต้นโพธิ(เครื่องหมายแห่งปัญญา) ก็จะงอกงามอย่างเป็นล่ำสัน

        พระสังฆปริณายก ได้ยินโศลกนี้ จึงพูดว่า "โศลกนี้ ย่อมแสดงว่า ผู้แต่งยังไม่เห็นจิตเดิมแท้อย่างเต็มที่ ถ้าใครรับเอาข้อความนี้มาถือปฏิบัติ ก็จะไม่ได้รับความหลุดพ้น แต่จักกลับผูกรัดตัวเองแน่นหนายิ่งขึ้น" แล้วพระสังฆปริณายก ได้บอกโศลกบทหนึ่งให้แก่ภิกษุรูปนั้นไว้ท่องบ่น  ว่าดังนี้:-

เว่ยหล่าง ไม่มีวิธี และเครื่องมือ

ที่จะกั้นจิตเสียจากความนึกคิดทั้งปวง

อารมณ์ต่างๆย่อมกลุ้มรุมจิตของข้าพเจ้าอยู่เสมอ

และข้าพเจ้าสงสัยว่าต้นโพธิจะงอกงามได้อย่างไรกัน

          นี่คือข้อแตกต่างระหว่างนิกายเซ็นและวัชรยาน ภิกษุฟองปินบุญกุศลยังเต็มเปี่ยมถึงขั้นได้บรรลุธรรม แม้ได้พบพระสังฆปริณายกทีบรรลุธรรมแล้วถึง 2 ท่าน ก็ยังไม่ได้บรรลุธรรมแต่สามารถตั้งจิตอธิษฐานเพื่อมาเกิดใหม่ให้ได้เกิดใหม่เพื่อรับมอบภาระหน้าที่ตามที่ พระสังฆปริณายากองค์ที่หกท่านมอบให้ แต่ในวัชรยานโดยเฉพาะอนุตรตันตระ หรือทิโยคะตันตระนั้น แม้ผู้ใดได้รับมอบภาระเช่นนี้ คุรุผู้บรรลุซึ่งมอบภาระเช่นนี้มีวิธีที่จะให้ผู้รับมอบภาระนั้นได้บรรลุพุทธภาวะและเกิดใหม่พร้อมพุทธภาวะอันมีปัญญาเต็มเปี่ยมในการปฏิบัติหน้าที่

          เครื่องมือและวิธีการ อีกทั้งโศลกทั้งสี่แถวพระสังฆปริณายกเว่ยหลางท่านกล่าวนั้น เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติตนให้บรรลุพุทธภาวะเท่านั้นที่ต้องเข้าใจและรู้แจ้งให้ได้ นี่คือปรัชญา "ศูนยตา" ที่คุรุนาคารชุนท่านได้อรรถกถา คำสอนของพระศากยมุนีพุทธเจ้า ที่ว่าด้วยทางสายกลาง หรือปรตีตยสมุทปาท หรือ อริยสัจจ์สี่ แต่นั่นมิใช่หมายความว่า ผู้บรรลุพุทธะแล้วทั้งหลายจะไม่มีเครื่องมือ หรือตัวช่วยเพื่อให้ผู้อื่นได้บรรลุพุทธภาวะได้ เบื้องหน้าพระพุทธเจ้ามิมีผู้ใดที่ไม่บรรลุมรรคผล เพราะว่าพระพุทธเจ้า ท่านเป็นตัวช่วย และเป็นตัวช่วยที่ทรงประสิทธิภาพสูงสุดในการทำให้บรรลุผลสำเร็จ พระพุทธองค์มีทั้งเครื่องมือ และวิธีการแต่ละชนิดแต่ละวิธี สำหรับบุคคลแต่ละชนิด แต่ละประเภทเพื่อให้บรรลุพุทธภาวะได้ เครื่องมือ และวิธีการที่กล่าวถึงนี้ได้ถูกนำมาใช้โดย คุรุแห่งอนุตรโยคะ เพื่อให้ศิษย์ได้รับผลสำเร็จในเวลาอันสั้นไม่เกินสามชาติ โดยเฉพาะที่พิเศษอย่างยิ่งคือ อทิโยคะ คุรุสามารถช่วยให้ศิษย์ได้บรรลุในชาตินี้ชาติเดียวหรือในบัดดลนั้น นี่คือเครื่องมือที่ผมได้กล่าวไว้ข้างบน  ความเห็นเวปมาสเตอร์ ฤทธิชัย

 

หมวดที่ 8 ฉับพลัน-เชื่องช้า

 

หมวดที่ 8

สำนักฉับพลัน และ สำนักเชื่องช้า

หมายเหตุ หมวดที่8-10 เป็นคำแปลไทยของประวิทย์ รัตนเรืองศรี โดยได้รับความเห็นชอบ จาก ท่านพุทธทาสแล้ว

         ขณะที่พระสังฆนายกพำนักอยู่ที่วัดโปลัมนั้น  อาจารย์ชินเชาก็สั่งสอนธรรมอยู่ที่วัดยุกชวน ในเมืองกิ่งหนำ ขณะนั้นสำนักทั้งสอง คือสำนักของท่านเว่ยหล่างซึ่งอยู่ทางใต้ และสำนักของท่านชินเชาซึ่งอยู่ทางเหนือ ต่างก็รุ่งโรจน์ทัดเทียมกัน เนื่องจากสำนักทั้งสองนี้มีชื่อต่างกันคือ "ฉับพลัน"(ฝ่ายใต้) และ "เชื่องช้า"(ฝ่ายเหนือ) จึงเกิดปัญหาขึ้นแก่พุทธศาสนิกชนสมัยนั้นว่า ตนจะเป็นสานุศิษย์สำนักไหนดี

         เมื่อเห็นเช่นนั้น พระสังฆนายจึงกล่าวในที่ประชุมว่า:-

         "ในส่วนที่เกี่ยวกับธรรม ย่อมมีเพียงสำนักเดียว ถ้าจะมีต่างสำนักกันขึ้นก็ตรงที่ ผู้สถาปนาสำนักหนึ่งเป็นชาวเมืองเหนือ และผู้สถาปนาอีกสำนักหนึ่งเป็นชาวใต้ แม้มีหลักธรรมอยู่เพียงอย่างเดียว  แต่สานุศิษย์บางท่านก็เข้าใจธรรมได้ดีกว่าผู้อื่น เหตุที่มีคำว่า "ฉับพลัน" และ เชื่องช้า" ก็เพราะสานุศิษย์บางคนมีสติปัญญาเฉียบแหลมกว่ากันเท่านั้น  สำหรับธรรมแล้วความแตกต่างกันระหว่าง "ฉับพลัน" กับ "เชื่องช้า" ย่อมไม่มี

       ทั้งๆที่พระสังฆนายกได้กล่าวไปเช่นนั้น สานุศิษย์ของชินเชาก็ยังกล่าว ตำหนิพระสังฆนายกอยู่เสมอ พวกนี้กล่าวดูหมิ่นท่านว่า เป็นคนไร้การศึกษาไม่อาจดำรงตนให้คู่ควรแก่การเคารพใดๆได้.

        ตรงกันข้าม สำหรับชินเชาเองนั้น ท่านยอมรับว่า ท่านมีภูมิปัญญาต่ำกว่าพระสังนายก ยอมรับว่า พระสังฆนายกได้บรรลุปัญญา โดยไม่ต้องมีอาจารย์แนะนำช่วยเหลือ  และยังเข้าใจถึงคำสอนของสำนักมหายานอย่างปรุโปร่ง  ท่านชินเชายังได้กล่าวเสริมต่อไปอีกว่า "อาจารย์ของเรา พระสังฆนายกองค์ที่ห้า คงไม่มอบจีวร และบาตรแก่ท่านผู้นี้ อย่างปราศจากเหตุผลอันควร เราเสียใจที่เราเองไม่คู่ควรแก่พระบรมราชูปถัมภ์ของพระมหาจักรพรรดิ์ และเราก็ไม่สามารถเดินทางได้ไกล เพื่อไปรับคำสอนจากท่านผู้นี้ด้วยตนเอง พวกท่านทั้งหลายควรไป เพื่อไต่ถามธรรมจากท่านที่โซกาย"

        วันหนึ่ง ชินเชา กล่าวแก่ศิษย์คนหนึ่ง ชื่อ ชีชิง ว่า "เธอเป็นคนรอบรู้และปัญญาเฉียบแหลม ฉันขอให้เธอไปโซกายเพื่อฟังคำสอนที่นั่น  เมื่อได้เรียนอะไรแล้ว  ขอให้พยายามจำไว้ให้มากที่สุด และกลับมาเล่าให้ฉันฟัง"

        ชีชิงได้ไปยังโซกายตามคำสั่งของอาจารย์ตน เขาปะปนเข้าไปกับฝุงชน เพื่อฟังธรรม โดยไม่ได้บอกกล่าวว่าเขามาจากไหน.

        พระสังฆนายกกล่าวขึ้นในที่ประชุม "มีคนซ่อนตัวเข้ามาในนี้เพื่อเลียนแบบคำสอนของเรา" ทันโดนั้นชีชิงก็ก้าวออกมาข้างนอก ทำความเคารพพระสังฆนายก และบอกกับท่านว่า เขามาจากสำนักไหน.

        พระสังฆนายกถามว่า  "ท่านมาจากวัดยุกชวนใช่ไหม? ถ้าอย่างนั้น ท่านต้องเป็นคนสอดแนม"

        ชีชิงตอบว่า "เปล่าครับ ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นคนสอดแนม"

        พระสังฆนายกถามว่า "ทำไมไม่ใช่"

        ชีชิงตอบว่า "ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้บอกอะไรกับท่าน นั่นสิ ข้าพเจ้าจึงจะเป็นคนสอดแนม แต่นี่ข้าพเจ้าก็ได้บอกกับท่านหมด จึงไม่ใช่"

        พระสังฆนายกถามว่า "อาจารย์ของท่าน สอนลูกศิษย์ว่าอย่างไรบ้าง?"

        ชีชิงตอบว่า "ท่านอาจารย์สอนให้พวกข้าพเจ้าทำสมาธิในความบริสุทธิ์ ให้นั่งขัดสมาธิอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้นอน"

        พระสังฆนายกกล่าวว่า "การทำสมาธิ ในความบริสุทธิ์นั้น ไม่แน่วแน่ และไม่ใช่สมาธิ  การกักตัวเองให้นั่งสมาธิอยู่ตลอดเวลานั้น ตามหลักแห่งเหตุและผลแล้วไม่เกิดผลดีอะไรขึ้นมา  จงฟังโศลกของฉัน:-

 คนเป็นย่อมจะนั่ง และไม่นอนตลอดเวลา

ส่วนคนตายนั้น นอนและไม่

สำหรับร่างกายอันเป็นเนื้อหนังของเรานี้

ทำไมเราจะต้องคอยนั่งขัดสมาธิ

        เมื่อได้ทำความเคารพพระสังฆนายกอีกเป็นครั้งที่สอง ชีชิงจึงกล่าวว่า "แม้ว่า ข้าพเจ้าจะได้ศึกษาพระพุทธศาสนาจากท่านอาจารย์ชินเชา มาเป็นเวลา 9 ปีแล้ว ข้าพเจ้าก็ยังไม่เคยบรรลุธรรมเลย  แต่พอได้ฟังคำพูดของท่านเท่านั้น ดวงจิตของข้าพเจ้าก็สว่างไสว และเนื่องจากปัญหาแห่งการเวียนเกิดโดยไม่จบสิ้น เป็นปัญหาเฉพาะหน้า  ฉะนั้นของท่านได้โปรดเมตตาข้าพเจ้า โดยสั่งสอน ข้าพเจ้าต่อไปด้วย"

        พระสังฆนายกกล่าวว่า "ฉันรู้ว่าอาจารย์ของท่าน สอนพวกลูกศิษย์ทาง ศีล สมาธิ และปรัชญา ลองบอกทีซิว่า เขาอธิบายความหมายของคำเหล่านี้ไว้ว่าอย่างไร"

        ชิชิงตอบว่า "ตามคำสอนของท่านอาจารย์นั้น การละเว้นจากการกระทำชั่วทั้งปวง เรียกว่า ศีล การปฏิบัติแต่ความดี เรียกว่า ปรัชญา และการชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ เรียกว่า สมาธิ ท่านอาจารย์สอนพวกข้าพเจ้าในแนวนี้แหละครับ ขอท่านได้โปรดให้ข้าพเจ้าได้ทราบหลักการสอนของท่านบ้าง"

        พระสังฆนายกกล่าวว่า "ถ้าฉันบอกท่านว่าฉันมีหลักการในเรื่องธรรมสำหรับ สอนผู้อื่นแล้ว ก็เท่ากับว่าฉันหลอกลวงท่าน  วิธีที่ฉันสอนลูกศิษย์ของฉัน ก็ปลดปล่อยเขาให้พ้นจากความเป็นทาษของตัวเขาเองด้วยวิธีต่างๆ แล้วแต่จะเห็นควร การเรียกชื่อเป็นอย่างนี้ อย่างนั้น ไม่เกิดอะไรดีขึ้นมา นอกจากเป็นเพียงเครื่องมือที่นำมาใช้แทนเพียงชั่วคราวเท่านั้น ภาวะแห่งการหลุดพ้นนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นสมาธิ  วิธีที่อาจารย์ของท่านสอน ศีล สมาธิ และปรัชญา เป็นวิธีที่ดีวิเศษ แต่วิธีของฉันเป็นคนละอย่าง"

       ชีชิงถามว่า "มันจะต่างกันได้อย่างไรครับ พระคุณท่าน ในเมื่อศีล สมาธิ และปรัชญา ต่างก็มีอยู่แบบเดียวเท่านั้น?"

       พระสังฆนายกตอบว่า  "คำสอนของอาจารย์ท่าน ใช้สำหรับสั่งสอนแนะนำสานุศิษย์แห่งสำนักมหายาน ส่วนคำสอนของฉันใช้สำหรับสอนสานุศิษย์แห่งสำนักสูงเลิศ ความจริงนั้นก็อยู่ที่ว่า  บางคนรู้แจ้งพระธรรมได้รวดเร็วและลึกซึ้งกว่าผู้อื่น  ทั้งนี้ก็เนื่องจากเราตีความหมายในพระธรรมนั้นต่างกัน  ท่านคงเคยได้ยินและเคยทราบแล้วว่า คำสอนของฉันเหมือนกับของอาจารย์ของท่านหรือไม่ ในการอธิบายธรรม ฉันไม่เคยเหออกไปจากภาวะที่แท้แห่งจิต  ฉันพูดในสิ่งที่ฉันตระหนักรู้ได้ด้วยปัญญาญาณ หากพูดเป็นอย่างอื่นแล้ว ก็แสดงว่า ภาวะที่แท้แห่งจิตของผู้อธิบายยังมืดมัว และแสดงว่า เขาสามารถแตะต้องได้เพียงเปลือกนอกของธรรมเท่านั้น คำสอนที่แท้สำหรับศีล สมาธิ และปรัชญานั้น ควรจะยึดหลักที่ว่า อาการของสิ่งทั้งหลายได้แรงกระตุ้นมาจากภาวะที่แท้แห่งจิต จงฟังโศลกของฉันดังนี้:-

การทำจิตให้เป็นอิสระจากมลทินทั้งปวง คือ ศีลของภาวะที่แท้แห่งจิต

การทำจิตให้เป็นอิสระจากความกระวนกระวายทั้งหลาย คือ สมาธิของภาวะที่แท้แห่งจิต

สิ่งที่ไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลง นั้นแหละคือ วัชร (วัชร หมายถึงภาวะที่แท้แห่งจิต)

การมา และการไป เป็นสมาธิในขั้นต่างๆ

        เมื่อได้ฟังเช่นนี้ ชีชิงจึงกล่าวขออภัยที่ได้ถามปัญหาโง่ๆออกไป และกล่าวขอบคุณในคำสอนของพระสังฆนายก พร้อมกับกล่าวโศลกต่อไปว่า:-

ความเป็นตัวตนนั้นไม่ใช่อะไร นอกจากเป็นภาพลวง อันเกิดจากการประชุมกันของขันธ์ห้า

และ ภาพลวงนี้ก็ไม่มีอะไรที่จะเกี่ยวข้องกับความจริงแท้

การยึดมั่นว่า มีตถคาสำหรับเราที่จะยึดหมาย หรือมุ่งไปสู่  ย่อมเป็นธรรมที่ไม่บริสุทธิ์อย่างหนึ่ง

        เมื่อได้กล่าวรับรองโศลกของชีชิงแล้ว พระสังฆนายกจึงกล่าวต่อไปว่า "คำสอนของอาจารย์ท่านในเรื่อง ศีล สมาธิ ปรัชญา นั้นใช้กับคนฉลาดในประมาณด้อย ส่วนของฉันนั้นใช้สำหรับคนฉลาดในประเภทเด่น ใครที่ตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิต ก็อาจเลิกใช้ล้ทธิเหล่านี้ได้ เช่น โพธิ นิพพาน และวิชาแห่งความหลุดพ้น ผู้ที่ไม่ได้รับมอบหลักธรรมหรือไม่มีหลักธรรมสักอย่างเดี่ยวเท่านั้น  ที่สามารถวางหลักเกณฑ์ในธรรมทั้งปวงได้  และผู้ที่เข้าใจความหมายของคำที่ชัดกันเองเหล่านี้เท่านั้น จึงอาจใช้คำเหล่านี้ได้ ผู้ที่ได้ตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิตแล้ว ย่อมไม่มีอะไร ที่เห็นว่าแตกต่างกัน ไม่ว่าเขาจะวางหลักเกณฑ์ในธรรมทั้งปวงหรือไม่ก็ตาม เขาย่อมเป็นอิสระที่จะมาหรือไป (เขาอาจอยู่ในโลกนี้หรือจากโลกนี้ไปได้ตามประสงค์) และเป็นอิสระจากอุปสรรคหรือเครื่องข้องทั้งมวล เขาจะปฏิบัติการตามความเหมาะสมกับเหตุ การที่ควรเป็น เขาจะตอบคำถามตามอัธยาศัยของผู้ถาม เพียงแต่ชำเลืองดูเท่านั้น เขาก็จะเข้าใจดีว่า นิรมานกายทั้งหมดเป็นส่วนเดียวกับภาวะที่แท้แห่งจิต เขาบรรลุความเป็นอิสระ อภิญญา และสมาธิ ซึ่งทำให้เขาสามารถช่วยเหลือมนุษย์ชาติอันเป็นงานแสนลำบากได้อย่างง่ายดาย เสมือนกับว่าเป็นการเล่นสนุกของเขา บุคคลเหล่านี้ล้วนเป็นคนที่ได้ตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิตมาทั้งนั้น"

        ชีชิงถามต่อไปว่า "พวกข้าพเจ้าจะใช้หลักการอะไร สำหรับยกเลิกหลักธรรมทั้งปวง"

        พระสังฆนายกตอบว่า "เมื่อภาวะที่แท้แห่งจิตของเราปราศจากมลทิน ปราศจากความโง่ และปราศจากความกระวนกระวาย เมื่อเราตรวจตราภายในจิตของเราด้วยปรัชญาอยู่ทุกขณะโดยไม่ว่างเว้น เมื่อเราไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งทั้งหลาย และไม่ยึดติดอยู่กับวัตถุที่ปรากฏ เราก็เป็นอิสระและเสรี เราจะวางหลักเกณฑ์ในธรรมไปทำไม เมื่อเราอาจบรรลุจุดประสงค์ได้โดยไม่มีปัญหา ไม่ว่าเราจะเหลียวซ้ายหรือแลขวา ทั้งนี้ เนื่องจากความพยายามของเราเองที่เราตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิต  และเนื่องจากตระหนักชัดกับการปฏิบัติธรรมนั้น เป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติพร้อมกันไป ไม่ใช่ค่อยทำค่อยไปทีละขั้น การวางหลักเกณฑ์ในธรรมจึงไม่จำเป็น เพราะธรรมทั้งหลาย ย่อมมีลักษณะเป็นนิพพานอยู่แล้วในเนื้อหา เราจะสามารถไปกำหนดเป็นขีดขั้นได้อย่างไร?"

        ชีชิงได้ทำความเคารพ และขอฝากตัวเป็นศิษย์ของพระสังฆนายก ในหน้าที่นั้น เขาได้ปรนนิบัติท่านทั้งกลางวันและกลางคืน

***********

        ภิกษุซีไซ เมื่อยังเป็นฆราวาส  มีนามว่า จางฮางจง เป็นชาวเมื่องเกียงสี ในวัยหนุ่มเขาชอบการผจญภัย

        เนื่องจาก สำนักปฏิบัติธรรมสองสำนักนี้ต่างรุ่งโรจน์ทัดเทียมกัน คือ ท่านเว่ยหล่างแห่งสำนักฝ่ายใต้ และชินเชาสำนักฝ่ายเหนือ พวกสานุศิษย์บางคนที่หัวรุนแรงในทางถือพวกถือคณะ ทั้งๆที่ อาจารย์ทั้งสองเอง ต่างก็มีใจโอนอ่อนผ่อนตามกัน  ไม่ได้ยึดถือเป็นเขาเป็นเรา แต่พวกสานุศิษย์เหล่านี้กลับเรียกอาจารย์ของตนนั้น คือท่านชินเชาว่า เป็นพระสังฆนายกที่หก ทั้งๆที่อาจารย์ตนนั้น ไม่มีสิทธิอะไรมากไปกว่าพวกเขาเอง พวกสานุศิษย์สำนักฝ่ายเหนือ ปกติชอบอิจฉาพระสังฆนายก ซึ่งท่านเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์โดยสมบูรณ์ในตำแหน่งนั้น อันใครจะปฏิเสธไม่ได้  เพราะท่านเป็นผู้ได้รับมอบบาตรและจีวร ดังนั้นเพื่อที่จะกำจัดพระสังฆนายกเสีย พวกนี้จึงจ้างจางอางจง ซึ่งในครั้งนั้นยังเป็นฆราวาส ให้มาฆ่พระสังฆนายกเสีย

        ด้วยอำนาจอภิญญา ที่สามารถอ่านกระแสจิตของผู้อื่นได้ พระสังฆนายกจึงทราบแผนการต่างๆ ล่วงหน้า ท่านเตรียมตัวไว้พร้อม  ที่จะรับการฆาตกรรมครั้งนี้แล้ว ท่านก็นำเงินสิบตำลึงมาเป็นไว้ข้างๆ อาสนะ จางอางจงเมื่อมาถึงวัด ในเย็นวันหนึ่ง ก็ย่องเข้าไปในห้องของพระสังฆนายกเพื่อทำฆาตกรรม พระสังฆนายกจึงยื่นคอออกไปให้ฟังถึงสามครั้ง แต่ฟันไม่เข้า ท่านจึงกล่าวว่า

ดาบที่ตรง ย่อมไม่คด

แต่ดาบคต ย่อมไม่ตรง

ฉันเป็นหนี้ท่าน ก็เพียงเงินเท่านั้น

แต่ชีวิต ฉันไม่ได้เป็นหนี้ท่านเลย

        จากฮางจง ตกใจสุดขีด เขาเป็นลมสลบไปเป็นเวลานายจึงฟื้น เขาเสียใจมากและสำนึกผิด จึงอ้อนวอนขอความเมตตาต่อพระสังฆนายก และ ขอบวชทันที พระสังฆนายกมอบเงินสิบตำลึงให้เขา และกล่าวว่า "ท่านอย่าอยู่ที่นี่เลย เพราะลูกศิษย์ของฉันคงจะทำร้ายท่าน  ไปเสียก่อน แล้วเวลาอื่นค่อยปลอมตัวมาหาฉันใหม่ ฉันจะดูแลความปลอดภัยให้ท่าน"

        เมื่อได้รับคำสังเช่นนั้น เขาก็หนีไปในคืนวันนั้น ภายหลังต่อมาได้บวชเป็นพระภิกษุ ครั้นได้รับการอุปสมบทโดยสมบูรณ์แล้ว เขาก็ปฏิบัติตนเป็นพระที่มีความเพียรยิ่ง

        วันหนึ่งเมื่อระลึกถึงคำกล่าวของพระสังฆนายกได้ เขาจึงเดินทางรอนแรมมาเป็นระยะทางไกล  เพื่อเข้าพบและนมัสการพระสังฆนายก  พระสังฆนายกกล่าวว่า "ทำไมจึงได้มาจนล่าช้าเช่นนี้? ฉันคิดถึงท่านตลอดเวลา"

        จางกล่าวว่า "เนื่องจากวันนั้น ท่านได้อภัยความผิดของข้าพเจ้าด้วยความเมตตาอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ ข้าพเจ้าจึงได้บวชเป็นภิกษุและศึกษาพระพุทธสาสนาเรื่อยมาด้วยความพากเพียร แม้กระนั้น ก็ยังรู้สึกว่ายากที่จะตอบแทนพระคุณท่านได้เพียงพอ นอกจากข้าพเจ้าจะสามารถแสดงความกตัญญูได้ด้วยการเผยแพร่ธรรมเพื่อความหลุดพ้นแก่สามัญสัตว์ทั้งหลายเท่านั้น  ในการศึกษามหาปรินิพพานสูตรนั้น  ข้าพเจ้าพยายามอ่านอยู่เสมอ แต่ก็ไม่เข้าใจถึงความหมายของคำว่า "ถาวร" และ "ไม่ถาวร" ขอพระคุณท่าน ได้โปรดกรุณาอธิบายย่อๆ ให้ข้าพเจ้าด้วย

        พระสังฆนายกตอบว่า  "สิ่งที่ไม่ถาวรก็คือธรรมชาติแห่งพุทธะ สิ่งที่ถาวรก็คือจิตใจที่มีลักษณะต่างๆไป ตลอดจนธรรมที่เป็นกุศล และธรรมที่เป็นอกุศลด้วย"

         จางกล่าวว่า "ท่านครับ พระคุณท่านอธิบายค้านกับพระสูตรเสียแล้ว"

        พระสังฆนายกตอบว่า ฉันไม่กล้าทำเช่นนั้นดอก เพราะฉันได้รับมอบหัวใจแห่งธรรมของสมเด็ยพระพุทธองค์"

        จางกล่าวว่า "ตามความในพระสูตรนั้น ธรรมชาติแห่งพุทธะย่อมถาวร  ส่วนธรรมที่เป็นกุศลและอกุศลทั้งมวลรวมทั้งโพธิจิต (จิตแห่งปัญญา) ไม่ถาวร แต่ท่านกล่าวเป็นอย่างอื่นเช่นนี้ จะไม่เป็นการค้านหรือ? คำอธิบายของท่านยิ่งสร้างความสงสัยและสับสนให้แก่ข้าพเจ้ายิ่งขึ้น"

        พระสังฆนายกตอบว่า "ครั้งหนึ่ง ฉันได้ให้ภิกษุณีชื่อวูจุงจอง อ่านมหาปรินิพพานสูตรให้ฉันฟังตลอดทั้งเล่ม  เพื่อฉันจะได้อธิบายให้เธอฟันได้ ทุกๆคำพูดและทุกๆความหมายที่ฉันได้อธิบายไปในครั้งนั้น ก็ตรงกับคัมภีร์ทั้งสิ้น และที่ฉันกำลังอธิบายให้ฟังขณะนี้ ก็อย่างเดียวกัน ไม่มีอะไรแตกต่างไปจากคัมภีร์เลย"

        จางกล่าวว่า "เนื่องจากปัญญาของข้าพเจ้าทึบ ท่านกรุณาอธิบายอย่างอะเอียดและพิสดาร ให้ข้าพเจ้าฟังด้วย"

        พระสังฆนายกกล่าวว่า  "ท่านไม่เข้าใจดอกหรือว่า ถ้าธรรมชาติแห่งพุทธะเป็นสิ่งถาวร ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะมาพูดถึงธรรมที่เป็นกุศลและธรรมที่เป็นอกุศล  และตราบจนกระทั้งสิ้นกัลป์ ก็คงไม่มีใครจะปลุกโพธิจิตได้ เพราะฉะนั้น   เมื่อฉันพูดว่า ไม่ถาวร ก็ตรงกับสิ่งที่สมเด็จพระพุทธองค์ตรัสว่า สิ่งต่างๆหรือวัตถุต่างๆ ก็ย่อมมีธรรมชาติของมันเองที่จะเกิดหรือดับ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ย่อมหมายความว่า ภาวะที่แท้แห่งจิตอันเป็นสิ่งที่ถาวรโดยแท้จริงย่อมไม่แผ่ซ่านไปทั่วทุกแห่ง เพราะฉะนั้น เมื่อฉันพูดว่า ถาวร ก็ตรงกับสิ่งที่สมเด็จพระพุทธองค์ตรัสว่า ไม่ถาวร โดยแท้จริง"

        เพราะว่า สามัญชนและพวกมิจฉาทิฏฐิ เชื่อในความถาวรที่ผิด คือเชื่อในความเที่ยงแท้ของวิญญาณและโลก ส่วนพวกสาวกก็เข้าใจผิดว่า ความเที่ยงแท้ของนิพพานเป็นสิ่งที่ไม่ถาวร จึงเกิดความเห็นที่กลับกันอยู่แปดประการ  เพื่อที่จะชี้ให้เห็นผิดของการมองด้วยเดียวเช่นนี้  สมเด็จพระพุทธองค์จึงตรัสสอนให้เข้าใจง่ายๆในมหาปรินิพพานสูตร ซึ่งอธิบายถึงหลักธรรมอันสูงสุดของคำสอนในพระพุทธศาสนา คือความถาวรที่แท้จริง ความสุขที่แท้จริง อัตตะที่แท้จริง และความบริสุทธิ์ที่แท้จริง

        การอ่านไปตามตัวหนังสือในพระสูตรโดยไม่รู้เรื่องอะไร ท่านจึงไม่เข้าใจถึงหัวใจแห่งพระสูตร  ในการถือเอาว่า สิ่งใดที่แตกทำลายสิ่งนั้นไม่ถาวร และสิ่งใดที่คงทนไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งนั้นถาวร  ท่านจึงแปลความหมายในคำสอนครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระพุทธองค์ผิด  คำสอนนี้เป็นคำสอนที่สมบูรณ์ลึกซึ้งและครบถ้วน   ท่านอาจอ่านพระสูตรนี้สักพันครั้ง  แต่ท่านจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากพระสูตรเลย

       ทันใดนั้น จางก็บรรลุธรรมโดยสมบูรณ์ และกล่าวโศลกแก่พระสังฆนายกว่า:-

เพื่อที่จะชี้ข้อผิดแก่ผู้ยึดมั่นใน "ความไม่ถาวร"

สมเด็จพระพุทธองค์ตรัสสอน "ธรรมชาติที่ถาวร"

ผู้ไม่เข้าใจว่า คำสอนนี้เป็นเพียง วิธีการอันชาญฉลาด

ก็เหมือนกับเด็กที่หยิบก้อนกรวด แล้วบอกว่าเป็นเพชร

โดยไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ ในตัวข้าพเจ้าเลย

ธรรมชาติแห่งพุทธะก็ปรากฏอยู่แล้ว

สิ่งนี้ไม่ใช่เนื่องมาจากการบรรลุของข้าพเจ้า

        พระสังฆนายกชมเชยว่า "เดี๋ยวนี้ท่านได้ตระหนักชัดโดยตลอดแล้วจากนี้ไปท่านควรได้ชื่อว่า ซีไซ (ผู้ตระหนักชัดโดยตลอด) ซีไซกล่าวขอบคุณพระสังฆนายก และนมัสการจากไป

***********

        ชินวุย อายุสามสิบปี เกิดในตระกูลโก แห่งเมืองเช็งยาง เดินทางมาจากวัดยุกชวน เพื่อนมัสการพระสังฆนายก

        พระสังฆนายกกล่าวว่า "สหายผู้คงแก่เรียน ท่านคงต้องลำบากมาก ที่เดินทางไกลเช่นนี้ แต่ท่านบอกฉันได้ไหมว่า อะไรเป็นหลักเบื้องต้น? ถ้าท่านบอกได้ ท่านก็รู้จักเจ้าของ ลองพูดมาซิ"

        "ความไม่ยึดติด เป็นหลักเบื้องต้น การรู้จักเจ้าของ ก็คือความตระหนักชัด" ชินวุยตอบ

        พระสังฆนายกตำหนิว่า "สามเณรนี้พูดเปล่าเปลือย ไม่มีคุณค่าอะไรเลย"

        ทันใดนั้น ชินวุยได้ถามพระสังฆนายกว่า "ในการทำสมาธิ พระคุณท่านรู้หรือไม่"

        พระสังฆนายกเอกไม้ที่ถือตีชินวุยสามที  แล้วถามชินวุยว่า "รู้สึกเจ็บหรือไม่" ชินวุยตอบว่า "เจ็บและไม่เจ็บ" พระสังฆนายกก็ตอบว่า "ฉันรู้และไม่รู้"

        ชินวุยถามว่า "เป็นไปได้อย่างไร ที่ท่านรู้และไม่รู้"

        พระสังฆนายกตอบว่า "สิ่งที่ฉันรู้และรู้อยู่เสมอ ก็คือความผิดของฉันเอง สิ่งที่ฉันไม่รู้ ก็คือความดี  ความชั่ว ความเป็นกุศล และความเป็นอกุศลของผู้อื่น นี่แหละ ฉันจึงรู้และไม่รู้  เอาละ ลองบอทีซิว่า เจ็บและไมเจ็บ นั้นท่านหมายถึงอะไร ถ้าท่านไม่เจ็บ ท่านก็ไม่มีความรู้สึกเหมือนท่อนไม้หรือก้อนหินอีกประการหนึ่ง ถ้าท่านรู้สึกเจ็บและเกิดความโกรธหรือความเกลียด ท่านก็อยู่ในฐานะสามัญชน.

        คำว่า รู้และไม่รู้ ที่ท่านอ้าง เป็นคำคู่ประเภทตรงข้าม ส่วนคำว่า เจ็บและไม่เจ็บ นั้น เป็นประเภทธรรมซึ่งเกิดขึ้นและดับไป ท่านกล้าหลอกลวงผู้อื่น โดยที่ท่านไม่เคยตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิตของท่านเอง"

        ชินวุยกล่าวขอขมา และกราบนมัสการขอบคุณในคำสอนของพระสังฆนายก

        พระสังฆนายกได้กล่าวต่อไปว่า "ถ้าท่านยังมีความหลงผิด และไม่สามารถตระหนักชัดภาวะที่แท้แห่งจิตได้ ท่านควรขอคำแนะนำจากสหายผู้คงแก่เรียนและใจบุญ เมื่อจิตของท่านสว่างไสวแล้ว ท่านย่อมรู้จักภาวะที่แท้แห่งจิต เมื่อนั้นท่านจะเดินอยู่ในทางที่ถูก ขณะนี้ ท่านยังหลงผิด ไม่รู้จักภาวะที่แท้แห่งจิต แต่ท่านยังกล้าถามฉันว่า รู้จักภาวะที่แท้แห่งจิตหรือไม่ ถ้าฉันรู้ ฉันก็ตระหนักของฉัน และความจริงที่ฉันรู้ก็ไม่อาจช่วยท่านให้พ้นจากความหลงผิดได้ โดยทำนองเดียวกัน ถ้าท่านรู้ ความรู้ของท่านก็ไม่เป็นประโยชน์แก่ฉัน แทนที่จะถามผู้อื่น ทำไมจึงไม่หาด้วยตนเอง ไม่รู้ด้วยตนเองเล่า?"

        ชินวุยได้กราบนมัสการพระสังฆนายกอีกร้อยกว่าครั้ง กล่าวคำแสดงความเสียใจและขออภัยพระสังฆนายก จากนั้นมา ชินวุยกลายเป็นผู้ปรนนิบัติพระสังฆนายกอย่างแข็งขัน

        วันหนึ่งพระสังฆนายกกล่าวในที่ประชุมว่า "ฉันมีของอย่างหนึ่ง ไม่มีหัว ไม่มีชื่อ ไม่มีข้างหน้า และไม่มีข้างหลัง ใครรู้จักบ้าง?"

        ชินวุยก้าวออกมาข้างนอก และตอบว่า "สิ่งนั้นคือ ที่มาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และคือ ที่มาของธรรมชาติแห่งพุทธะของชินวุย"

        พระสังฆนายกตำหนิว่า "ฉันได้บอกท่านแล้วว่า  ไม่มีชื่อ ไม่มีฉายา ท่านก็ยังเรียกว่าที่มาของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย และที่มาของธรรมชาติแห่งพุทธะ แม้ว่าท่านจะเฝ้าเรียนอยู่แต่ในโรงธรรมต่อไป ท่านก็คงเป็นนักศึกษาประเภทจำเอาความรู้ของผู้อื่นมาทั้งสิ้น (ความรู้จากตำรา และคำสอน ไม่ใช่ความรู้ที่ได้จากปัญญาญาน)

        หลังจากที่พระสังนายกได้เข้าปรินิพพานแล้ว ชินวุยได้เดินทางไปเมืองโลยาง เผยแพร่คำสอนของสำนักฉับพลันออกไปอย่างแพร่หลาย ท่านผู้นี้ได้เขียนนังสือชื่อ  "ตำราอย่างง่ายเกี่ยวกับคำสอนทางธยาน" เป็นหนังสือที่แพร่หลายมาก ท่านชินวุยนี้ คนทั่วไปเรียกกันว่า ท่านอาจารย์โฮแช็ก(เป็นชื่อของวัด)

        เมื่อเห็นว่า บรรดาสานุศิษย์จากสำนักต่างๆ พากันมารุมล้อมถามปัญหาอย่างมากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นเจตนาอันไม่สุจริตทั้งนั้น พระสังฆนายกจึงกล่าวแก่พวกนั้น ด้วยความสงสารว่า:-

         "ผู้เดินทาง ควรกำจัดความคิดทั้งมวลเสีย ความดีก็เช่นเดียวกับความชั่ว สิ่งนี้ย่อมเป็นเพียงหนทางที่เรียกกันว่า "ภาวะที่แท้แห่งจิต" เท่านั้น โดยแท้จริงแล้ว ย่อมไม่อาจเรียกเป็นชื่อใดๆ ได้ "ธรรมชาติอันไม่เป็นของคู่" นี้ คือ "ธรรมชาติที่แท้จริง" และหลักคำสอนทั้งหลาย ก็อาศัยมูลฐานจากสิ่งนี้ คนเราควรจะตระหนักถึงภาวะที่แท้แห่งจิตในทันทีที่เขามาถึง"

        เมื่อได้ฟังเช่นนั้น ทุกๆคนที่มารุมล้อมถาม ก็ทำความเคารพและขอฝากตัวเป็นสานุศิษย์ของพระสังฆนายก

 

หมวดที่ 9 พระบรมราชูปถัมภ์

 

 

หมวดที่ 9

พระบรมราชูปถัมภ์

         พระบรมราชโองการของพระมหาจักพรรดินีพระพันปีหลวงเช็คทิน และ พระมหาจักรพรรรดิจุงจุง ประกาศเมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย ปีที่ 1 แห่งรัชกาลชินลุง ดังนี้:-

         "เนื่องจากข้าพเจ้าทั้งสอง ได้เชิญท่านพระอาจารย์เว่ยออนและท่านพระอาจารย์ชินเชา ให้พำนักอยู่ในพระราชวังเพื่อรับของถวาย ข้าพเจ้าได้ศึกษาทางพุทธยานจากท่านพระอาจารย์ทั้งสอนี้ ทุกโอกาสที่ว่างจากพระราชกรณียกิจ แต่ด้วยความถ่อมตนอย่างบริสุทธิใจ ท่านพระอาจารย์ทั้งสองนี้ได้แนะนำให้ข้าพเจ้าขอคำแนะนำจากท่านพระอาจารย์เว่ยหล่าง  แห่งสำนักใต้ ซึ่งเป็นผู้ได้รับเลือกสำหรับรับมอบพระธรรมและบาตรจีวรจากพระสังฆนายกที่ห้า เช่นเดียวกับได้รับหัวใจแห่งธรรมของสมเด็จพระพุทธองค์

        พร้อมนี้ ข้าพเจ้าทั้งสองได้ส่งขันที ซิตกัน เป็นผู้ถือพระบรมราชโองการมานิมนต์พระคุณท่านไปเมืองหลวง และมั่นใจว่า พระคุณท่านคงเมตตาอนุเคราะห์ข้าพเจ้าทั้งสอง  ด้วยการไปเยี่ยมเมืองหลวงโดยด่วน ฯลฯ

        เนื่องจากสุขภาพไม่สมบูรณ์ พระสังฆนายกได้ตอบปฏิเสธการนิมนต์พระมหาจักรพรรดิ และขอพระบรมราชานุญาตที่จะใช้ชีวิตอยู่ในป่า.

        เมื่อเข้าไปนมัสการสนทนากับพระสังฆนายก ซิตกัน ได้กล่าวว่า "บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางธยานในเมืองหลวง ต่างได้แนะนำประชาชนเป็นอย่างเดียวกัน ให้นั่งขัดสมาธิเข้าสมาธิ ท่านเหล่านั้นบอกว่า เป็นทางเดียวเท่านั้น  ที่ตระหนักชัดถึงหลักธรรมได้ ขอให้ข้าพเจ้าได้ทราบถึงแนวคำสอนของพระพุทธคุณท่านบ้างได้ไหมครับ?"

        "หลักธรรมนั้น จะตระหนักชัดได้ด้วยจิต"  พระสังฆนายกตอบ "และไม่ได้ขึ้นอยู่กับการนั่งขัดสมาธิ"  ในวัชรัจเฉทิกสูตรกล่าวว่า เป็นการผิด ที่ใครๆจะยืนยันว่า ตถาคตมาหรือไปและนั่งหรือนอน เพราะเหตุใดหรือ? เพราะว่า สมาธิแห่งความบริสุทธิ์ ของตถาคต ไม่ได้หมายความว่า มาจากแห่งใดหรือไปที่แห่งใด ไม่ได้หมายความว่ามีการเกิดหรือการตับ ธรรมทั้งหลายย่อมสงบและว่างเปล่า โดยทำนองเดียวกัน บัลลังก์แห่งความบริสุทธิ์ของตถาคตก็เป็นเช่นนั้น พูดอย่างตรงๆแล้ว ไม่มีแม้แต่สิ่งเหล่านี้ที่จะบรรลุได้ ด้วยเหตุนี้ทำไมเราจะต้องทรมานตัวเอง ด้วยการนั่งขัดสมาธิ?"

        ซิตกันกล่าวว่า "เมื่อเดินทางกลับ พระมหาจักรพรรดิทั้งสองต้องให้ข้าพเจ้ากราบทูลรายงานเป็นแน่ พระคุณท่านจะโปรดกรุณาให้คำเตือน ที่เป็นหลักสำคัญในการสอนของพระคุณท่านแก่ข้าพเจ้าบ้างได้ไหมครับ? เพื่อข้าพเจ้าจะได้สามารถกราบทูลให้พระมหาจักรพรรดิทรงทราบ และยังจะได้ชี้แจงแก่พุทธศาสนิกชนทั่วไปในเมืองหลวงอีกด้วย เสมือนกับว่าแสงเพลิงจากประทีปดวงหนึ่งที่อาจจุดต่อให้แก่ประทีปอื่นๆ อีกหลายร้อยหลายพันดวง บรรดาคนโง่ทั้งหลายจะได้เกิดปัญญา และแสงสว่างย่อมก่อให้เกิดแสงสว่าง ต่อไปโดยไม่สิ้นสุด"

        พระสังฆนายกตอบว่า "หลักธรรมนั้นไม่ได้หมายถึงแสงสว่างหรือความมืด แสงสว่างและความมืดนั้น หมายถึงความคิดที่อาจสับเปลี่ยนกันได้ ฉะนั้นการกล่าวว่า แสงสว่างก่อให้เกิดแสงสว่างต่อไปไม่สิ้นสุด จึงผิด เพราะว่ามันมีความจบสิ้น เนื่องจากความสว่างและความมืดเป็นคำคู่ตรงข้าม ในวิมลกีรตินิเทศสูตร กล่าวว่า หลักธรรมนั้นไม่มีข้ออุปมา เพราะว่าไมใช่เป็นคำที่อาจเทียบเคียงกันได้"

        ซิตกันแย้งว่า "แสงสว่างหมายถึงปัญญา และความมืดก็มหายถึงกิเลส ถ้าผู้เดินทางไม่ได้ทำลายกิเลส ด้วยอำนาจแห่งปัญญาแล้ว เขาจะพาตัวให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏอันไม่มีเบื้องต้นได้อย่างไร?"

        พระสังฆนายกตอบว่า "กิเลสคือโพธิ สองอย่างนี้เหมือนกัน ไม่ต่างกัน การทำลายกิเลสด้วยปัญญา เป็นคำสอนของสำนักสาวกภูมิและสำนักปัจเจกพุทธภูมิ ซึ่งสานุศิษย์ของสำนักเหล่านั้น ใช้ยานเทียมด้วยแพะและใช้ยานเทียมด้วยกวาง สำหรับผู้มีความเฉียบแหลมและปัญญาสูง คำสอนดังกล่าวคงจะไร้ประโยชน์ทั้งสิ้น"

        ซิตกันถามว่า "ถ้ากระนั้น คำสอนของสำนักมหายานได้แก่อะไร?"

        พระสังฆนายกตอบว่า "ในทรรศนะของสามัญชน ปัญญาและอวิชชาเป็นของสองสิ่งแยกจากัน ส่วนคนฉลาด ผู้ได้ตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้จริงแห่งจิต โดย ย่อมรู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีธรรมชาติเป็นอย่างเดียวกัน ธรรมชาติอันเป็นอย่างเดียวกัน หรือธรรมชาติอันเป็นของคู่นี้ คือสิ่งที่เรียกว่า ธรรมชาติที่แท้จริง ซึ่งในกรณีของสามัญชนและคนโง่ก็ไม่ได้มีน้อยลง และในกรณีของปราชญ์ผู้บรรลุความรู้แจ้งแล้วก็ไม่ได้มีมากขึ้น เป็นสิ่งที่ไมได้ไหวสะเทือนในสภาพทีมีความวุ่นวาย และก็ไม่ได้สงบนิ่งในสภาพที่มีสมาธิ ไม่ใช่เป็นสิ่งถาวร และก้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไม่ถาวร ไม่ได้ไปหรือไม่ได้มา ไม่อาจพบได้จากภายนอก และก็ไม่อาจพบได้จากภายใน หรือไม่อาจพบได้ในอวกาศ ซึ่งอยู่ในระหว่างสิ่งทั้งสองนี้ เป็นสิ่งที่อยู่เหนือความมีอยู่และความไม่มีอยู่ เป็นสิ่งที่มีธรรมชาติและปรากฏการณ์อยู่ในสภาพ ความเป็นเช่นนั้น ตลอดไป เป็นสิ่งที่ถาวรและไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งนี้แหละคือหลักธรรม"

        ซิตกันถามว่า "ท่านกล่าวว่า เป็นสิ่งที่มีอยู่เหนือความมีอยู่ และความไม่มีอยู่ ถ้าเช่นนั้นท่านจะอ้างว่า ต่างกับคำสอนของพวกมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งสอนอย่างเดียวกันนี้ได้อย่างไร?"

        พระสังฆนายกตอบว่า "ในคำสอนพวกมิจฉาทิฏฐิ คำว่า ไม่มีอยู่" หมายถึงการสิ้นสุดของคำว่า "มีอยู่" ส่วนคำว่า "มีอยู่" ก็ใช้เปรียบเทียบในทางตรงกันข้ามกับคำว่า "ไม่มีอยู่" สิ่งที่เขาหมายถึงความไม่มีอยู่ ไม่ใช่หมายถึงการทำลายล้างโดยแท้จริง และสิ่งที่เขาเรียกว่า "มีอยู่" ก็ไม่ได้หมายถึงความมีอยู่อย่างแท้จริง สิ่งที่ฉันหมายถึงเหนือความมีอยู่และความไม่มีอยู่ ก็คือโดยเนื้อแท้แล้วย่อมไม่มีอยู่ แต่ในปัจจุบันขณะก็ไม่ได้ถูกทำลายล้างไป นี่แหละเป็นความต่างกัน ระหว่างคำสอนของฉันคับคำสอนของพวกมิจฉาทิฏฐิ.

        ถ้าท่านปรารถนาจะทราบถึงประเด็นสำคัญในคำสอนของฉัน ท่านควรสลัดตัวของท่าน ให้ปลอดจากความคิดทั้งปวง ไม่ว่าดีหรือเลว เมื่อนั้น จิตของท่านจะอยู่ในภาวะอันบริสุทธิ์ สงบ และสันติตลอดเวลา  ทั้งคุณประโยชนที่จะได้รับจากการนี้ ก็มีมากมายหลายเท่าดุจเมล็ดทรายในแม่น้ำคงคา."

        คำสอนของพระสังฆนายก ทำให้ซิตกันบรรลุธรรมโดยสมบูรณ์ในทันใดเขากราบนมัสการและอำลาพระสังฆนายกกลับเมืองหลวง เมื่อถึงพระราชวัแล้วก็กราบทูลรายงานต่อพระมหาจักรพรรดิ ตามที่พระสังฆนายกได้กล่าว

        ครั้นถึงวันขึ้นสามค่ำเดือนเก้า ปีเดียวกันนั้น พระมหาจักรพรรดิมีพระบรมราชโองการ ประกาศชมเชยพระสังฆนายกตามความดังนี้:-

        "ด้วยเหตุชราภาพและสุขภาพไม่สมบูรณ์ พระสังฆนายกได้ปฏิเสธการนิมนต์มาเมืองหลวง ท่านขอสละชีวิตปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อคุณประโยชน์ของพวกเรา ท่านเป็นเนื้อนาบุญแห่งชาติโดยแท้จริง ท่านได้ปฏิบัติตามอย่างท่านวิมลกีรติ ซึ่งพักฟื้นอยู่ในเมืองไวสาลี ทำการเผยแพร่คำสอนของมหายานให้ไพศาล ด้วยการถ่ายทอดหลักธรรมของสำนักธยานและด้วยการอธิบายหลักธรรมแห่งการไม่เป็นของคู่

        จากการถ่ายทอดธรรมของซิตกัน ผู้ซึ่งได้รับส่วนแบ่งในความรู้ทางพุทธะจากสังฆนายก ข้าพเจ้าทั้งสองจึงได้มีโอกาสเข้าใจถึงคำสอนชั้นสูงของพระพุทธศาสนา นี่จะต้องเนื่องมาจากกุศลและรากเง่าแห่งความดี ที่ข้าพเจ้าได้สร้างสมมาแต่ชาติปางก่อน มิฉะนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็คงไม่ได้เกิดมาทันพระคุณท่าน.

        ในการน้อมสักการะต่อพระคุณของพระสังฆนายก ข้าพเจ้าสุดวิสัยที่จะกล่าวคำใดๆ ให้ทัดเทียมได้ ฉะนั้น เพื่อเป็นสัญญลักษณ์แห่งความคารวะอันสูงที่มีต่อพระคุณท่าน ข้าพเจ้าทั้งสอง ขอถวายจีวรโลมาและบาตรผลึกมาพร้อมนี้ และโดยคำสั่งนี้ ให้เป็นหน้าที่ของข้าหลวงชิวเจา ที่จะปฏิสังขรณ์พระอารามของพระคุณท่าน และดัดแปลงบ้านเดิมของพระคุณท่าน ให้เป็นวิหารทั้งให้ชื่อว่า กว็อกเยน(นาบุญแห่งรัฐ)

ในพระปรมาภิไธย......ฯลฯ

 

หมวดที่ 10 คำสอนสุดท้าย

 

หมวดที่ 10

คำสอนสุดท้าย

        วันหนึ่งพระสังฆนายกสังให้ตามตัวสานุศิษย์ของท่าน คือ ฟัตห่อย, ชีชิง, ฟัตตัด, ชินวุย, ชิชว, ชิตุง, ชิโช, ชิต่าว, ฟัตจุน, ฟัตอู, ฯลฯ และได้กล่าวกับท่านเหล่านั้นว่า

        ท่านทั้งหลาย ผิดกับคนอื่นๆ ที่เหลือ เมื่อฉันเข้าปรินิพพานไปแล้วพวกท่านแต่ละคนจะได้เป็นอาจารย์ธยานคนละเมือง ฉะนั้นฉันจะให้คำเตือนแก่พวกท่านในเรื่องการสั่งสอน เพื่อท่านจะได้รักษาธรรมเนียมแห่งสำนักของเรา

        ครั้งแรกจงกล่าวธรรมสามประเภท ต่อไปก็กล่าวถึงสิ่งที่เป็นของคู่ประเภทตรงข้าม 36 คู่ อันเป็นอาการไหวตัวของภาวะที่แท้แห่งจิต จากนั้นก็สอนวิธีหลีกเลี่ยงความสุดโต่งทั้งสองข้าง ในการเข้ามา หรือการออกไป การสอนทุกคราว อย่าเบนออกไปจากภาวะที่แท้แห่งจิต  เมื่อใครถามปัญหาท่านจงตอบเขาไปในลักษณะตรงข้าม เพื่อให้เกิดเป็นคำคูประเภทตรงข้าม เช่นการมาและการไป ก็เป็นเหตุเป็นผลต่อกันและกัน เมื่อเพิกถอนการอ้างอิงต่อกันและกันของคู่คำนี้โดยสิ้นเชิงแล้ว ก็จะเหลือเป็นความหมายอันเฉียบขาดคือ ไมใช่การมา และไม่ใช่การไป

ธรรม 3 ประเภทนั่นคือ ขันธ์       (กองหรือหมวดหมู่)
                               อายตนะ  (ที่ประชุมกันหรือที่พบกัน)
                               ธาตุ       (ตัวประกอบของวิญญาณ)

        ขันธ์ 5 ได้แก่  รูป (สสารหรือวัตถุ)  เวทนา (การรับอารมณ์หรือการเสวยอารมณ์)  สัญญา  (ความจำได้หรือความสำเนียกรู้ในอารมณ์)   สังขาร (ความเจตนนาของจิต) และวิญญาณ (ความรู้ในอารมณ์)

        อายตนะ 12 ได้แก่ อายตนะภายนอก (วัตถุแห่งอารมณ์ 6 ประการ คือ วัตถุทางรูป (รูปายตนะ) วัตถุทางเสียง (สัททายตนะ) วัตถุทางกลิ่น (คันธายตนนะ  วัตถุทางรส วัตถุทางรสายตนะ)  วัตถุทางสัมผัส (โผฏฐัพพาตยตนะ)  วัตถุทางความคิด (ธัมมายตนะ)

                                อายตนะภายใน (อวัยวะรับอารมณ์) 6 ประการ อวัยวะทางตา (จักขวายตนะ) อวัยวะหู (โสตายตนะ) อวัยวะจมูก (ฆานายตนะ) อวัยวะลิ้น (ชิวหายตนะ) อวัยวะกาย (กายายตนะ)  อวัยวะใจ (มนายตนะ)

        ธาตุ 18 ได้แก่  วัตถุแห่งอารมณ์ 6 อวัยวะรับอารมณ์ 6 และ วิญญาณซึ่งรู้ในอารมณ์ 6

        "เนื่องจาก ภาวะที่แท้แห่งจิต" เป็นสิ่งก่อกำเนิดธรรมทั้งหลาย จึงเรียกว่าวิญญาณคลัง (อาลยะ) ในทันทีที่เริ่มวิถีแห่งความคิดนึก หรือวิถีแห่งการหาเหตุผล ภาวะที่แท้แห่งจิตก็กลายรูปเป็นวิญญาณประเภทต่างๆ เมื่อวิญญาณซึ่งรับรู้ในอารมณ์ทั้ง6 เกิดขึ้น ก็จะสำเหนียกรู้ในวัตถุแห่งอารมณ์ทั้ง 6 นั้นจากทวารทั้ง 6  ดังนั้น กิจของธาตุ 18 จึงเนื่องมาจากแรงกระตุ้นของภาวะที่แท้แห่งจิต  ไม่ว่าบุคคลนั้นจะปฏิบัติกิจในทางชั่ว หรือปฏิบัติกิจในทางดี ก็แล้วแต่ว่าภาวะที่แท้แห่งจิต จะอยู่ในอารมณ์ใด  อารมณ์ชั่วหรืออารมณ์ดี กิจอันชั่วก็เป็นลักษณะของสามัญชน  กิจอันดีเป็นลักษณะของพุทธะ เพราะมีความรู้สึกที่เป็นของคู่ประเภทตรงกันข้าม  ฝังติดเป็นนิสัยอยู่ในภาวะที่แท้แห่งจิต

        สิ่งที่เป็นของคู่ประเภทตรงข้าม 36 ประการ ได้แก่

        วัตถุภายนอก 5 ประการ คือ ฟ้าและดิน อาทิตย์และจันทร์ แสงสว่างและความมืด ธาตุบวกและธาตุลบ ไฟฟ้าและน้ำ

        ธรรมลักษณะ 12 ประการ คือ คำพูดและธรรม การรับและการปฏิเสธ  สาระและไม่เป็นสาระ  รูปและปราศจากรูป  ความแปดเปื้อนและความไม่แปดเปื้อน  ความมีอยู่และความว่างเปล่า  ความเคลื่อนไหวและความสงบนิ่ง ความบริสุทธิ์และมลทิน สามัญชนและปราชญ์ พระสงฆ์และฆราวาส คนแก่และคนหนุ่ม ความใหญ่และความเล็ก

        กิจของภาวะที่แท้แห่งจิต 19 คู่ คือ ยาวและสั้น ดีและชั่ว อวิชชาและปัญญา  โง่และฉลาด กระวนกระวายและสงบนิ่ง กรุณาและชั่วช้า ศีลและไม่มีศีล  ตรงและคต เต็มและว่าง  ชันและระดับ กิเลสและโพธิ  ถาวรและไม่ถาวร  เมตตาและโหดร้าย  สุขและโกรธ อ่อนโยนและหยาบช้า ไปข้างหน้าและถอยหลัง มีอยู่และไม่มีอยู่ ธรรมกายและกายเนื้อ สัมโภคกายและนิรมานกาย

        "ผู้รู้จักวิธีใช้สิ่งทั้ง 36 คู่เหล่านี้ ย่อมตระหนักชัดถึง หลักการที่แผ่ซ่านไปในทุกสิ่ง ซึ่งกล่าวไว้ทั่วไปในพระสูตรทั้งหลาย  ไม่ว่าเขาจะเข้ามาหรือออกไป เขาย่อมสามารถหลีกเลี่ยงความสุดโต่งทั้งสองข้างนี้ได้

        "ในการปฏิบัติกิจของภาวะที่แท้แห่งจิต และ ในการสนทนากับผู้อื่น ทางภายนอกเราควรเปลื้องตัวเสียจากการยึดติดอยู่กับวัตถุ เมื่อจะต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุนั้นๆ ส่วนภายในตามคำสอนถึงความว่างเปล่า  เราควรเปลื้องตนออกจากความคิดที่ว่าขาดสูญ การเชื่อว่า วัตถุทั้งหลายมีความจริงแท้ หรือเชื่อว่าขาดสูญ ย่อมก่อให้เกิดมิจฉาทิฏฐิอย่างฝังรากลึก หรือพอกพูนอวิชชาให้หนาแน่นยิ่งขึ้น"

        "ผู้ที่เชื่ออย่างยึดมั่นในลัทธิขาดสูญ ย่อมดูหมิ่นพระสูตรทั้งหลาย ในแง่ที่ว่าภาษานั้นไม่จำเป็น ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว พวกเราก็ผิดในการที่พูด เพราะคำพูดย่อมก่อให้เกิดเนื้อหาทางภาษา  และเขาก็อาจแย้งได้อีกว่า สำหรับวิธีตรงนั้นภาษาเป็นอันยกเลิกได้  แต่เขาจะพอใจกับคำว่า ยกเลิก  ซึ่งก็เป็นภาษาเช่นกัน ฉะนั้นหรือ?  เมื่อได้ยินผู้อื่นกล่าวถึงพระสูตร คนเช่นนี้จะตำหนิผู้พูดในทำนองว่า ติดอยู่กับตำรา มันเป็นความชั่วอย่างพอตัวทีเดียว ที่ยึดถือความคิดเห็นผิดๆเช่นนี้ไว้กับตน พวกท่านควรรู้ว่า การกล่าวร้ายต่อพระสูตร เป็นความผิดอย่างมหันต์ เพราะผลลัพธ์ที่จะได้นั้นหนักมากทีเดียว

        "ผู้ที่เชื่อในความจริงแท้ของวัตถุภายนอก ก็พยายามค้นหารูปนั้นด้วยการปฏิบัติในลัทธิบางอย่าง เขาอาจจัดห้องบรรยายไว้อย่างกว้างขวาง เพื่อถกเถียงกันถึงลัทธิเที่ยงแท้และลัทธิขาดสูญ แต่คนเช่นนี้ แม้อีกมากมายหลายกัลป์ ก็ไม่อาจตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิตได้"

        "เราควรเดินทางไปตามคำสอนของพระธรรม อย่าปล่อยใจให้เฉื่อยชาเพราะจะเกิดอุปสรรคแก่ความเข้าใจในหลักธรรมได้  การสอนหรือการฟังพระธรรมโดยไม่ได้ปฏิบัติตามย่อมเป็นการเปิดช่องให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ ฉะนั้น เราควรเดินทางไปตามคำสอนของพระธรรม และในการเผยแพร่ธรรม ก็ไม่ควรให้ความคิดเห็นถึงคามจริงแท้แห่งวัตถุ มาชักน้ำเราไป"

        "ถ้าท่านเข้าใจสิ่งที่ฉันพูด และนำไปใช้ในการสั่งสอน ในการปฏิบัติและในชีวิตประจำวัน ท่านจะสามารถจับความสำคัญของสำนักเราได้"

        เมื่อมีปัญหาถามมา จงตอบไปในทำนองปฏิเสธ ถ้าเป็นปัญหากล่าวปฏิเสธ จงตอบในทำนองบอกรับ ถ้าถูกถามถึงสามัญชน จงตอบเรื่องของปราชญ์จากการเปรียบเทียบกันหรืออ้างอิงก้นระหว่างสิ่งตรงข้ามทั้งคู่ จะทำให้ผู้ฟังเข้าใจใน ทางสายกลาง ได้ถ้าปัญหาต่างๆ ถามมาในทำนองนี้ ท่านจงอย่าตอบให้ผิดไปจากสัจจะ"

        "สมมุติมีคนถามท่านว่า ความมืดคืออะไร ท่านก็ตอบเขาไปว่า ความสว่างเป็นเหตุ ความมืดเป็นปัจจัย เมื่อความสว่างหายไป ความมืดก็ตามมาสองสิ่งนี้อยู่ในลักษณะเปรียบเทียบต่อกันและกัน  จากการเปรียบเทียบกันหรือ อ้างอิงกัน ระหว่างสิ่งตรงข้ามทั้งคู่ ก็จะเกิด ทางสายกลาง ขึ้น

        จงตอบปัญหาอื่นๆ ทั้งปวงในทำนองเดียวกันนี้ ในการถ่ายทอดธรรมให้สานุศิษย์ของท่าน ท่านควรมอบคำสอนนี้ต่อๆกันไป ตามอนุชนแต่ละชั้นเพื่อเป็นเครื่องประกันความถาวรแห่งเป้าหมายและจุดประสงค์ของสำนักเรา"

       ในเดือนเจ็ด แห่งปีเยนซี อันเป็นปีที่หนึ่ง แห่งรัชสมัยไตกิ๊กหรือเยนโว พระสังฆนายกได้สั่งให้ศิษย์บางท่านไปสร้างสถูปไว้แห่งหนึ่ง ในวัดกว็อกเยน ที่ชุนเจา  และกำชับให้แล้วเสร็จโดยด่วน พอจวนสิ้นฤดูร้อนในปีต่อมา สถูปนั้นก็แล้วเสร็จเรียบร้อย

        ครั้นถึง วันขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนเจ็ด พระสังฆนายก ประชุมสานุศิษย์ของท่าน และกล่าวว่า:-

        "ฉันจะจากโลกนี้ไปในเดือนแปด  หากใครยังมีข้อสงสัยอันใด เกี่ยวกับหลักธรรมแล้ว จงถามเสียให้ทันเวลา เพื่อท่านจะได้เข้าใจให้กระจ่าง เพราะท่านอาจไม่พบใครที่จะสอนท่านอีก  เมื่อฉันจากไปแล้ว"

        ข่าวร้าย ทำให้ท่านฟัตห่อยและสานุศิษย์อื่นๆ น้ำตาไหล ส่วนท่านชินวุยนั้น ตรงกันข้าม คงสงบนิ่ง พระสังฆนายกกล่าวชมเชยท่านชินวุยว่า "อาจารย์หนุ่มชินวุยคนเดียวเท่านั้นในที่นี้ ที่ได้บรรลุถึงฐานะของจิต ที่ไม่ยินดีหรือยินร้ายต่อความดีหรือความชั่ว ไม่รู้จักความดีใจหรือเสียใจ และไม่ไหวสะเทือนต่อคำเยินยอหรือติฉิน แต่ท่านอบรมอยู่ในภูเขานี้ก็หลายปีแล้ว  ท่านได้รับความก้าวหน้าบ้าง ขณะนี้ท่านร้องไห้ทำไม ท่านกังวลต่อฉัน  เพราะฉันไม่รู้ว่าฉันจะไปที่ไหนกระนั้นหรือ? แต่ฉันรู้ มิฉะนั้น ฉันคงบอกท่านล่วงหน้าไม่ได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้น  เรื่องที่ทำให้ท่านร้องไห้ก็คือ ท่านไม่รู้ว่าฉันจะไปที่ไหน ถ้าท่านร้องไห้เพราะเหตุนั้นก็ไม่น่าจะร้อง ในสภาพแห่งความเป็นเช่นนั้น โดยเนื้อแท้แล้ว ย่อมไม่มีการมาหรือการไป ไม่มีการเกิดหรือการดับ นั่งลงเถิดทุกๆท่าน ฉันจะกล่าวโศลกว่าด้วย ความจริงแท้และความลวง กับโศลกว่าด้วย ความเคลื่อนไหวและความสงบนิ่ง ให้ท่านฟัง จงนำไปศึกษา แล้วความเห็นของท่านก็จะอยู่ในแนวเดียวกับความเห็นของฉัน จงนำไปปฏิบัติ แล้วท่านจะทราบถึงเป้าหมายและจุดประสงค์แห่งสำนักของเรา"

        ที่ประชุมต่างทำความเคารพและขอฟังโศลกนั้น:-

ในสรรพสิ่งทั้งหลายย่อมไม่มีอะไรจริงแท้

ดังนั้นเราควรเปลื้องตน ออกเสียจากความคิดเห็น ถึงความจริงแท้แห่งวัตถุเหล่านั้น

ใครที่เชื่อ ในความจริงแท้ของวัตถุ

ย่อมถูกพันธนาการอยู่ด้วยความคิดเห็นเช่นนั้นซึ่งล้วนเป็นสิ่งลวง

ใครที่ตระหนักชัดถึงความจริงแท้ในตัวเขาเอง

ย่อมรู้ว่า จิตที่แท้ต้องค้นหาต่างที่กับปรากฏการณ์ที่ผิด

ถ้าจิตของใครถูกพันธนาการไว้ด้วยปรากฏการณ์ที่เป็นความลวงแล้ว

จะไปหาความจริงแท้ได้ที่ไหน ในเมื่อปรากฏการณ์ทั้งหลายไม่ใช่ความจริงแท้

สัตว์ทั้งหลายย่อมเคลื่อนไหว

วัตถุทั้งปวงย่อมหยุดนิ่ง

ใครฝึกตนให้เป็นผู้ไร้ความเคลื่อนไหว ย่อมไม่ได้ประโยชน์อะไร นอกจากทำตนให้แน่นิ่งอย่างวัตถุ

ถ้าท่านจะหาความสงบนิ่งที่ถูกแบบ ก็ควรสงบนิ่งภายในการเคลื่อนไหว

ความสงบนิ่ง (เหมือนอย่างวัตถุ) ก็เป็นเพียงความสงบนิ่ง (ไม่ใช่ธยาน)

ในสรรพวัตถูทั้งหลายนั้น ท่านจะไม่พบเมล็ดพืชแห่งความเป็นพุทธะ

ท่านผู้เชี่ยวชาญในการจำแนกธรรมลักษณะต่างๆ ย่อมพำนักอยู่อย่างสงบนิ่งในหลักธรรมลักษณะต่างๆ

ย่อมพำนักอยู่อย่างสงบนิ่งในหลักธรรมเบื้องแรก

ด้วยเหตุนี้ท่านจึงสำเหนียกรู้ในสิ่งทั้งหลาย นี่แหละคือหน้าที่ของตถตา  บรรดาผู้ที่ดำเนินไปตามมรรค

จงกระตุ้นเตือนตนเอง และคอยหมั่นระวัง

ในฐานะที่เป็นสานุศิษย์ของสำนักมหายาน จงอย่ารวบรัดเอาความรู้ ประเภทที่จะผูกพันท่านไว้กับกงจักร แห่งการเกิดและตาย

สำหรับบุคคลที่มีความรู้สึกสอดคล้องกัน จงอธิบายกันในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา

ส่วนบุคคลที่มีทัศนะต่างจากเรา

จงปฏิบัติต่อเขาอย่างสุภาพ  ซึ่งเป็นการอำนวยความสุขให้กับเขา

เรื่องการโต้เถียงไม่ใช่วิธีการของสำนักเรา

เพราะเป็นการขัดแย้งกับหลักธรรม

การยึดมั่นหรือขัดแย้งกับสิ่งอื่น โดยไม่คำนึงถึงหลักข้อนี้

ย่อมเป็นการผลักไสให้ภาวะที่แท้แห่งจิตของตน ตกไปสู่ความขมขื่นแห่งโลกียภูมิ

        เมื่อได้ฟังโศลกบทนี้ ที่ประชุมต่างกราบนมัสการพระสังฆนายกพร้อมกันทุกคนต่างสำรวมใจปฏิบัติตามโศลกอย่างจริงจัง และละเว้นการขัดแย้งก้นในทางศาสนา

        เมื่อเห็นว่าพระสังฆนายกจะจากไปในไม่ช้า ท่านฟัตห่อย ผู้อาวุโส ได้หมอบกราบพระสังฆนายกสองครั้งแล้วถามว่า "เมื่อพระคุณท่านเข้าปรินิพพานแล้วใครจะเป็นผู้ได้รับมอบบาตรจีวรและธรรมต่อไป"

        พระสังฆนายกตอบว่า "สำหรับคำสอนของฉันทั้งหมด นับแต่ได้กล่าวเทศนาในวัดไทฟันตราบจนบัดนี้ จงคัดลอกเป็นเล่มแล้วแจกกจ่ายกันไปก็ได้ แต่ให้ชื่อว่า สูตรอันประกาศบนมหาบัลลังก์แห่งธรรมรถ จงทะนุถนอม ไว้ให้ดี แล้วมอบต่อกันไปตามอนุชนแต่ละรุ่น เพื่อช่วยเหลือสัตว์ทั้งปวง บุคคลที่สั่งสอนตามคำสอนนี้ เป็นผู้ที่สั่งสอนตามธรรมแท้

        พอแล้วสำหรับธรรม ส่วนการรับช่วงจีวรนั้น ถือว่าเป็นการสิ้นสุดกัน เพราะเหตุใดหรือ? เพราะว่าท่านทั้งหลายต่างบก็ศรัทธาต่อคำสอนของฉันโดยพร้อมมูล ทั้งท่านก็ปราศจากความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ แล้ว ท่านย่อมสามารถสืบต่อจุดประสงค์อันสูงยิ่งของสำนักเราให้ลุล่วงไปได้ นอกจากนั้นตามความหมายในโศลกของท่านโพธิธรรม พระสังฆนายกองค์แรกผู้ถ่ายทอดพระธรรมและบาตรจีวรท่านก็ไม่ประสงค์จะให้มอบแก่ใครต่อไปอีก โศลกนั้นคือ:-

จุดประสงในการมาดินแดนนี้

ก็เพื่อถ่ายทอดพระธรรม สำหรับปลดปล่อยสัตว์ที่ถูกครอบงำไว้

ด้วยความหลงผิด

เมื่อมีกลีบครบห้ากลีบ ดอกไม้นั้นก็สมบูรณ์

หลังจากนั้นไป ผลจะปรากฏขึ้นเองตามธรรมชาติ

        พระสังฆนายกกล่าวเสริมต่อไปว่า "ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย จงชำระจิตของท่านให้บริสุทธิ์และฟังฉันพูด ใครที่ปรารถนาจะบรรลุปัญญาของพุทธะ ซึ่งรู้ไปในทุกๆสิ่ง เขาก็ควรรู้จัก สมาธิเฉพาะวัตถุประสงค์ และ สมาธิเฉพาะแบบ ในทุกๆกรณี เราควรเปลื้องตนออกเสียจากความผูกพันในวัตถุทั้งหลาย และวางท่าทีต่อสิ่งเหล่านั้นให้เป็นกลาง ไม่ยินดียินร้าย อย่าปล่อยให้ชัยชนะหรือความปราชัย และการได้มาหรือการสูญเสียก่อความกังวลแก่เราได้ จงสงบและเยือกเย็น จงสุภาพและอารีอารอบ จงซื่อตรงและเที่ยงธรรมสิ่งเหล่านั้นคือ สมาธิเฉพาะวัตถุประสงค์ ในทุกๆ โอกาส ไม่ว่าเราจะยืน เดิน นั่งหรือนอน จงเป็นคนตรงแน่ว เราก็จะดำรงอยู่ในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์และไม่ต้องเคลื่อนไหวแม้สักน้อย เราก็เสมือนกับอยู่ในอาณาจักรแห่งดินแดนอันบริสุทธิ์ สิ่งเหล่านี้คือ สมาธิเฉพาะแบบ.

        ผู้ที่ปฏิบัติตามสมาธิทั้งสองอย่างนี้ ได้ครบถ้วนแล้ว ก็เสมือนกันเนื้อนาที่ได้หว่านเมล็ดพืชลงไป แล้วกลบไว้ด้วยโคลน เมล็ดพืชจึงได้รับการบำรุงและเจริญเติบโต ตราบจนกระทั่งผลิผล."

        คำสอนของฉันขณะนี้ ไม่ผิดอะไรกับฝนตกตามฤดูกาล ซึ่งจะนำความชุ่มชื่นมาสู่ผื่นแผ่นดินอันกว้างใหญ่ ธรรมชาติแห่งพุทธะซึ่งมีอยู่ภายใน เหมือนกับเมล็ดพืชที่ได้รับความชุ่มชื่นจากสายฝน ย่อมจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ใครที่ปฏิบัติตามคำสอนของฉัน ย่อมจะได้บรรลุถึงโพธิอย่างแน่นอน ใครที่ดำเนินตามคำสอนของฉัน ย่อมจะได้รับผลอันสูงเลิศเป็นแน่แท้ จงฟังโศลกดังนี้:-

"เมล็ดพันแห่งพุทธะ แฝงอยู่ในจิตของเรา

ย่อมงอกตามสายฝน ที่ซึมซาบไปในทุกสิ่ง

ดอกไม้แห่งหลักธรรม เมื่อได้ผลิออกมาด้วยปัญญาญาณ

ผู้นั้นย่อมแน่แท้ ที่จะเก็บเกี่ยวผลแห่งการตรัสรู้

        จากนั้นพระสังฆนายกได้เสริมต่อไปว่า "ธรรมนั้นไม่เป็นของคู่ และจิตก็ฉันนั้น มรรคนั้นบริสุทธ์ และอยู่เหนือรูปทั้งมวล ฉันขอเตือนท่าน อย่าปฏิบัติสมาธิในเรื่องความเงียบสงบ หรืออย่าทำจิตให้ว่างเปล่า จิตนั้นบริสุทธิ์อยู่แล้ว โดยธรรมชาติ ดังนั้น จึงไม่มีอะไร ที่เราจะต้องไปใฝ่หา หรือ ยกเลิก แต่ละท่านจงปฏิบัติให้ดีที่สุด และไปในที่ทุกแห่งตามแต่เหตุการณ์จะนำไป"

        จากนั้นสานุศิษย์ทั้งหลายต่างกราบนมัสการและเลิกประชุม

        ครั้นถึงวันขึ้นแปดค่ำ เดือนเจ็ด พระสังฆนายกสั่งให้สานุศิษย์ของท่านจัดเรือโดยด่วน เพื่อท่านจะกลับไปชุนเจา เมืองเกิดของท่าน บรรดาสานุศิษย์ทั้งหลายโดยพร้อมกันวิงวอนท่านอย่างร้อนรนและน่าสังเวช ขอให้ท่านอยู่ต่อไป

        พระสังฆนายกกล่าวว่า "เป็นธรรมดาเหลือเกิน ที่ฉันควรจะไป เพราะความตาย เป็นผลอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นของความเกิด แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายซึ่งพระองค์เสด็จมาในโลกนี้ ก็ต้องผ่านการตายทางโลกีย์ ก่อนที่จะเสด็จเข้าสู่พระมหาปรินิพพาน เรื่องนี้ก็ไม่มีข้อยกเว้น สำหรับกายอันเป็นเนื้อหนังของฉันซึ่งจะต้องเหยียดยาวลง ณ ที่ใดที่เหนึ่ง"

        ที่ประชุมต่างวิงวอนว่า "เมื่อท่านได้เยี่ยมชุนเจาแล้ว จะเร็วหรือช้าก็ตามขอได้โปรดกลับมาที่นี่เถิด"

        พระสังฆนายกตอบว่า "ใบไม้ที่หล่นจากต้นแล้ว ย่อมกลับคืนไปสู่รากเมื่อฉันมาที่นี่ครั้งแรก ฉันก็ไม่ได้บอกใคร"

        ที่ประชุมถามว่า "ใครครับ พระคุณท่าน ที่ท่านได้ถ่ายทอดขุมกำเนิดแห่งดวงตาของธรรมแท้?"

        พระสังฆนายกตอบว่า "มนุษย์ในหลักธรรมย่อมได้รับ และบรรดาผู้ซึ่งหลุดพ้นแล้วจากความคิดเห็นอันเฉียบขาด ย่อมเข้าใจ"

        ที่ประชุมถามต่อไปว่า "จะมีเหตุวิบัติเกิดขึ้นแก่ท่านบ้างหรือไม่ หลังจากนั้น?"

        พระสังฆนายกตอบว่า "ห้าหรือหกปีหลังจากที่ฉันได้จากไปแล้ว จะมีคนผู้หนึ่งมาตัดศีรษะฉัน ฉันได้กำหนดคำทำนายไว้แล้วดังนี้:-

สิ่งสักการะ ได้เทอดทูนไว้เหนือศีรษะของบิดามารดา

เพื่อเป็นการเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง

เมื่อเหตุวิบัติได้บังเกิดขึ้นแก่มุนี

ยังและหลิวจะได้เป็นขุนนาง"

        จากนั้น ท่านกล่าวเสริมต่อไปว่า "เมื่อฉันจากไปแล้วเจ็ดสิบปี จะมีพระโพธิสัตว์สององค์มาจากทางตะวันออก องค์หนึ่งเป็นฆราวาส อีกองค์หนึ่งเป็นพระภิกษุ มาสั่งสอนธรรมในเวลาเดียวกัน จะเผยแพร่พระธรรมออกไปอย่างกว้างขวาง จะเสริมสร้างสำนักของเราให้มีรากฐานมั่นคง ปฏิสังขรณ์วัดของเรา และถ่ายทอดหลักธรรมให้แก่ผู้สืบทอดที่มีชื่อเสียงอีกมากมาย

        สานุศิษย์ทั้งหลายถามว่า "ท่านจะให้พวกข้าพเจ้าทราบได้ไหมว่า ธรรมนี้ได้ถ่ายทอดกันมากี่ชั่วคนแล้ว นับจากพระพุทธเจ้าพระองค์แรกเป็นต้นมา?"

        พระสังฆนายกตอบว่า "พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาในโลกนี้ มีจำนวนมากมายจนนับไม่ถ้วยพระองค์ ขอให้เรากล่าวนามของพระองค์ เพียงเจ็ดพระองค์หลังเถิด คือ

พระพุทธเจ้า  วิปัสสิน      กัปป์ที่แล้ว(อาลัมกรกัลป์)

พระพุทธเจ้า  สิขิน          กัปป์ที่แล้ว(อาลัมกรกัลป์)

พระพุทธเจ้า  เวสสภู      กัปป์ที่แล้ว(อาลัมกรกัลป์)

พระพุทธเจ้า  กกุสันธ      กัลป์ปัจจุบัน (ภัทรกัลป์)

พระพุทธเจ้า  โกนาคมน  กัลป์ปัจจุบัน (ภัทรกัลป์)

พระพุทธเจ้า  กัสสป       กัลป์ปัจจุบัน (ภัทรกัลป์)

พระพุทธเจ้า  โคตม       กัลป์ปัจจุบัน (ภัทรกัลป์)     จากพระพุทธเจ้าโคตม พระธรรมได้ถ่ายทอดมาสู่

พระสังฆนายกที่ 1           พระอารยะ  มหากัสสปะ

พระสังฆนายกที่ 2           พระอารยะ  อานนท์

พระสังฆนายกที่ 3           พระอารยะ  สันวส

พระสังฆนายกที่ 4           พระอารยะ  อุปคุปต

พระสังฆนายกที่ 5           พระอารยะ  ธริตก

พระสังฆนายกที่ 6           พระอารยะ  มิฉก

พระสังฆนายกที่ 7           พระอารยะ  วสุมิตร

พระสังฆนายกที่ 8           พระอารยะ  พุทธนันทิ

พระสังฆนายกที่ 9           พระอารยะ  พุทธมิตร

พระสังฆนายกที่ 10           พระอารยะ  ปาสว

พระสังฆนายกที่ 11           พระอารยะ  ปุนยยสัส

พระสังฆนายกที่ 12           พระโพธิสัต์  อัศวโฆษ 

พระสังฆนายกที่ 13           พระอารยะ  กปิมล

พระสังฆนายกที่ 14           พระโพธิสัตว์  นาคารชุน 

พระสังฆนายกที่ 15           พระอารยะ  คนเทว

พระสังฆนายกที่ 16           พระอารยะ  ราหุลต

พระสังฆนายกที่ 17           พระอารยะ  สังฆนันทิ

พระสังฆนายกที่ 18           พระอารยะ  สังฆยสัส

พระสังฆนายกที่ 19           พระอารยะ  กุมารต

พระสังฆนายกที่ 20           พระอารยะ  ขยต

พระสังฆนายกที่ 21           พระอารยะ  วสุพันธุ

พระสังฆนายกที่ 22           พระอารยะ  มนูร

พระสังฆนายกที่ 23           พระอารยะ  อักเลนยสัส

พระสังฆนายกที่ 24           พระอารยะ  สินห

พระสังฆนายกที่ 25           พระอารยะ  วิสอสิต

พระสังฆนายกที่ 26           พระอารยะ  ปุนยมิตร

พระสังฆนายกที่ 27           พระอารยะ  ปรัชญาตาระ

พระสังฆนายกที่ 28           พระอารยะ  โพธิธรรม (พระสังฆนายกองค์ที่ 1ของจีน (ตั้กม้อ)

พระสังฆนายกที่ 29           พระอาจารย์  เว่ยโห

พระสังฆนายกที่ 30           พระอาจารย์  ซังซาน

พระสังฆนายกที่ 31           พระอาจารย์  ตูชุน

พระสังฆนายกที่ 32           พระอาจารย์  ฮวางยาน

และฉันเป็นพระสังฆนายกที่ 33 จากการสืบต่อทางสานุศิษย์ ที่พระธรรมได้ถ่ายทอดจากพระสังฆนายกองค์หนึ่งไปยังอีกองค์หนึ่ง นับจากนี้ไป ท่านทั้งหลายควรถ่ายทอดต่อไปให้คนรุ่นหลัง จากอนุชนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง เพื่อเป็นการรักษาประเพณีเอาไว้.

        ในวันขึ้นสามค่ำ เดือนแปด แห่งปีไกวเซา นับเป็นปีที่สองในรัชสมัย ซินติน หลังจากฉันอาหารที่วัดกว๊อกเยนแล้ว พระสังฆนายกได้กล่าวแก่สานุศิษย์ว่า "โปรดนั่งลงตามลำดับอาวุโส เพราะฉันกำลังจะกล่าวลาท่าน"

        ทันใดนั้น ท่านฟัตห่อยได้กล่าวกับพระสังฆนายกว่า "พระคุณท่านได้โปรดกรุณาให้คำสอนที่กำจัดความไว้อย่างแน่นอนแก่คนรุ่นหลังๆ  เพื่อมหาชน ผู้หลงผิด จะได้ตระหนักชัดถึงธรรมชาติแห่งพุทธะ"

        พระสังฆนายกตอบว่า "ไม่ใช่ว่า จะเป็นการเหลือวิสัยสำหรับคนเหล่านี้ที่จะตระหนักชัดถึงธรรมชาติแห่งพุทธะ ถ้าหากว่าเขาจะทำตนให้เคยชินกับธรรมชาติของสามัญสัตว์ แต่ว่าการค้นหาความเป็นพุทธะโดยปราศจากความรู้ ดังกล่าว ย่อมเป็นการไร้ผล แม้เขาจะใช้เวลาเป็นกัลป์ๆเที่ยวค้นหาก็ตาม"

        เอาละ ฉันจะบอกให้ท่านทราบ ถึงวิธีที่จะทำตนให้เคยชินกับธรรมชาติของสัตว์ภายในจิตของท่านเอง และโดยวิธีนี้ ท่านจะตระหนักชัดถึงธรรมชาติแห่งพุทธะซึ่งแฝงอยู่ในนั้น  การรู้จักพุทธะ ไม่ได้หมายถึงอะไรนอกไปจากรู้จักสัตว์ทั้งหลาย  เพราะสัตว์ทั้งหลายไม่รู้ว่าตนเป็นพุทธะโดยอานุภาพ  ส่วนผู้ที่เป็นพุทธะ ย่อมไม่เล็งเห็นความแตกต่างระหว่างท่านเองกับสัตว์ทั้งหลายอื่น เมื่อสัตว์ทั้งหลายตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิต เขาก็เป็นพุทธะ ถ้าพุทธะถูกครอบงำด้วยความหลงผิดอยู่ในภาวะที่แท้แห่งจิต เขาก็เป็นสามัญสัตว์ ความบริสุทธิ์ในภาวะที่แท้แห่งจิต ทำให้สามัญสัตว์เป็นพุทธะ ความไม่บริสุทธิ์ในภาวะที่แท้แห่งจิต ย่อมเปลี่ยนพุทธะให้เป็นสามัญสัตว์ เมื่อจิตของท่านคิดหรือเศร้าหมอง ท่านก็เป็นสามัญสัตว์ซึ่งมีธรรมชาติแห่งพุทธะแฝงอยู่ภายใน ตรงกันข้าม ถ้าท่านทำจิตให้บริสุทธิ์และตรงแน่ว แม้เพียงชั่วขณะเดียว ท่านก็เป็นพุทธะ"

        ภายในจิตของเรามีพุทธะ และพุทธที่อยู่ภายในนั้น เป็นพุทธะที่แท้จริงได้จากไหน? อย่าสงสัยเลย เรื่องพุทธะภายในจิตของท่าน นอกจากที่นั่นแล้วไม่มีอะไรจะปรากฏขึ้นได้ เนื่องจากปรากฏการณ์หรือสรรพสิ่งทั้งหลาย เป็นผลิตผลมาจากจิตของเรา ในพระสูตรจึงกล่าวว่า เมื่ออาการของจิตเริ่มขึ้น สิ่งต่างๆ ก็ปรากฏ เมื่ออาการของจิตดับลง สรรพสิ่งทั้งหลายก็ดับ ก่อนที่จะจากท่าน ฉันจะกล่าวโศลกให้ท่านฟัง ชื่อว่า พุทธะอันแท้จริงของภาวะที่แท้แห่งจิต อนุชนรุ่นต่อไปในอนาคต ผู้เข้าใจในความหมายนี้ จะได้ตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิต และบรรลุความเป็นพุทธะตามนัยนี้?

ภาวะที่แท้แห่งจิต หรือตถตา เป็นพุทธะอันแท้จริง

ส่วนมิจฉาทิฏฐิและธาตุอันเป็นพิษร้าย 3 ประการเป็นพญามาร

การบรรลุธรรมด้วยสัมมาทิฏฐิ เรามุ่งไปสู่พุทธะภายในตัวเรา

เมื่อธรรมชาติของเราถูกครอบงำด้วยธาตุอันเป็นพิษร้าย สามประการ อันเป็นผลมาจากมิจฉาทิฏฐิ

เราก็มีชื่อว่า อยู่ภายใต้อำนาจพญามาร

เมื่อสัมมาทิฏฐิได้ขจัดธาตุอันเป็นพิษร้ายเหล่านี้ ไปจากจิตของเรา

พญามารก็กลายร่างเป็นพุทธะอันแท้จริง

ธรรมกาย สัมโภคกาย และนิรมานกาย

กายทั้งสามนี้ย่อมกำเนิดมาจากสิ่งหนึ่ง คือภาวะที่แท้แห่งจิต

ใครที่สามารถตระหนักชัดถึงความจริงข้อนี้ได้ด้วยปัญญาญาณ

ย่อมหว่านเมล็ดพืช และจะเก็บเกี่ยวผลถึงการตรัสรู้

จากนิรมานกายนี้แหละ ที่ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของเราได้ถือกำเนิภายในนิรมานกายนั้นแหละ

จะพบธรรมชาติอันบริสุทธิ์และภายใต้การนำของธรรมชาติอันบริสุทธิ์นั่นเอง นิรมานกายจะดำเนินไปตามมรรคอันถูกต้อง

ซึ่งวันหนึ่งจะได้บรรลุถึงสัมโภคกายอย่างสมบูรณ์และไพศาล

ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ก็ถือกำเนิดมาจากสันดานในทางกามคุณ

เมื่อกำจัดความปรารถนาในทางกามคุณเสียได้ เราก็บรรลุธรรมกายอันบริสุทธิ์

เมื่ออารมณ์ของเราไม่เป็นทาษของวัตถุแห่งกามทั้งห้าอีกต่อไป

และเมื่อเราได้ตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิตแม้เพียงขณะเดียว

เมื่อนั้นเราก็แจ้งในสัจจะ

เมื่อเรามีโชคที่ได้ มาเป็นสานุศิษย์ของสำนักฉับพลันในชาตินี้

เราย่อมพบพระภควาของภาวะที่แท้แห่งจิตได้ในทันใด

ใครที่ค้นหาพุทธะ ด้วยการปฏิบัติตามลัทธิอื่น

ย่อมไม่ทราบว่าจะพบพุทธะที่แท้จริงได้ที่ไหน

ใครที่สามารถตระหนักชัดถึงสัจจะ ภายในจิตเขาเอง

ย่อมเป็นผู้หว่านเมล็ดพืชแห่งพุทธะ

ใครที่ไม่ตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิต และค้นหาพุทธะจากภายนอก

ย่อมเป็นคนโง่ที่มีความปรารถนาผิดเป็นเครื่องกระตุ้น

โดยนัยนี้ ฉันได้มอบคำสอนขอสำนักฉับพลัน ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังแล้ว

เพื่อเป็นการช่วยเหลือมวลสัตว์ ที่สนใจจะปฏิบัติธรรม

โปรดฟังฉัน บรรดาสานุศิษย์ในอนาคต

เวลาของท่านจะสิ้นไปอย่างเปลือยเปล่า ถ้าท่านเพิกเฉยไม่นำคำสอนนี้ไปปฏิบัติ

        เมื่อโศลกจบลงแล้ว พระสังฆนายกกล่าวต่อไปว่า "จงรักษาตัวให้ดีเมื่อฉันเข้าปรินิพพานแล้วจงอย่างเอาอย่างธรรมเนียมโลก อย่าร้องไห้ หรือโศกเศร้า ไม่ควรปล่อยให้เกิดความเสียใจหรือคร่ำครวญ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องตรงข้ามกับคำสอนที่แท้ ใครที่ทำเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่ศิษย์ของฉัน สิ่งที่ควรทำก็คือ จงรู้จักจิตของท่านเอง และตระหนักชัดถึงธรรมชาติแห่งพุทธะของท่าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สงบนิ่งและไม่เคลื่อนไหว เป็นสิ่งที่ไม่เกิดและไม่ดับ เป็นสิ่งที่ไม่มาและไม่ไป เป็นสิ่งที่ไม่รับและไม่ปฏิเสธ เป็นที่สิ่งที่ไม่คงอยู่และไม่จากไปมิฉะนั้นแล้วจิตของท่านจะถูกครอบงำด้วยความหลงผิด ทำให้ไม่อาจเข้าใจความหมายได้ ฉันทบทวนเรื่องนี้กับท่าน เพื่อทำตามคำสอนขอฉันและนำไปปฏิบัติ  การที่ฉันจากไปก็ไม่เป้นข้อประหลาดอย่างใดตรงกันข้าม ถ้าท่านฝ่าฝืนคำสอนของฉัน แม้ฉันจะอยู่ต่อไปก็ไม่เกิดคุณประโยชน์อันใด แล้วพระสังฆนายกก็กล่าวโศลกต่อไปว่า:-

ด้วยความเยือกเย็นและไม่กระวนกระวาย บุคคลชั้นเลิศไม่ต้องปฏิบัติความดี

ด้วยความเที่ยงธรรมเป็นตัวของตัวเอง ท่านไม่ต้องกระทำบาป

ด้วยความสงบและสงัด ท่านเพิกเฉยการดูและการฟัง

ด้วยความเสมอภาคและเที่ยงตรง จิตของท่านไม่ได้พำนัก ณ ที่ใด"

        เมื่อจบโศลกแล้ว พระสังฆนายกก็นั่งสงบนิ่งจนกระทั่งยามสามของคืนนั้น ทันใดนั้น ท่านกล่าวแก่สานุศิษย์อย่างสั้นๆ ว่า "ฉันจะไปเดี๋ยวนี้" แล้วท่านก็เข้านปรินิพพานไปในขณะนั้น กลิ่นหอมอันประหลาดคลุ้ไปทั่วห้ง รุ้งจากแสงจันทร์ผุดขึ้นประดุจเชื่อมฟ้ากับดิน พรรณไม้ในป่ากลายเป็นสีขาว นกและสัตว์จตุบาทส่งเสียงระงม

        ครั้นถึงเดือนสิบเอ็ด ในปีเดียวกันนั้น ปัญหาว่า จะเก็บพระสรีรร่างของพระสังฆนายกไว้ที่ไหน กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างข้าราชการแห่งเมืองกวางเจา ชิวเจาและชุนเจา  ต่างฝ่ายต่างต้องการให้เก็บไวในเมืองของตน แม้สานุศิษย์ของพระสังฆนายก รวมทั้งภิกษุและฆราวาสอื่นๆ ก็เข้าร่วมโต้แย้งในการนี้ด้วย เมื่อไม่อาจปรองดองกันได้ จึงพร้อมใจกันจุดเครื่องหอมและอธิษฐานขอให้พระสังฆนายกบอกทิศทาง โดยการถือเอาการลอยของควันเป็นเกณฑ์ คว้นนั้นลอยไปทางโซกาย ฉะนั้นในวันขึ้นสิบสามค่ำ เดือนสิบเอ็ดจึงได้อัญเชิญพระสรีรร่างพ้อมด้วยบาตรและจีวรของท่านไปยังโซกาย

        ในปีรุ่งขึ้น วันแรมสิบค่ำ เดือนเจ็ด มีการอัญเชิญพระศพของท่านออกจากสถูป ท่านฟองปิน สานุศิษย์องค์หนึ่งของพระสังฆนายก ได้หุ้มร่างของท่านไว้ด้วยดินหอม เมี่อระลึกถึงคำทำนายของท่านว่า จะมีคนนำพระเศียรของท่านไปบรรดาสานุศิษย์จึงพร้อมใจกันเอาแผ่นเหล็กมาหุ้มคอของท่านไว้และพันร่างท่านด้วยผ้าอาบน้ำยา ก่อนจะอัญเชิญเข้าไว้ในสถูปตามเดิม ทันใดนั้นเกิดเป็นแสงสว่างสีขาวพวยพุ่งขึ้นจากสถูปสู่ท้องฟ้า เป็นเวลาสามวันจึงหายไป บรรดาข้าราชการ แห่งเมือชิวเจา จึงได้กราบทูลรายงาต่อพระมหาจักรพรรดิ พระมหาจักรพรรดิมีพระบรมราชโองการ ให้สร้างแผ่นจารึกบันทึกชีวประวัติของพระสังฆนายก

        พระสังฆนายกได้รับมอบจีวรและบาตรเมื่ออายุ 24  ได้อุปสมบทเมื่ออายุ 39 และเข้าปรินิพพานเมื่ออายุ 76 ท่านได้เทศนาธรรม เพื่อประโยชน์แก่มวลสัตว์เป็นเวลา 37 ปี สานุศิษย์ของท่าน 43 องค์ ได้รับมอบธรรมและได้เป็นผู้สืบทอดจากท่านด้วยกรรมวาจา ส่วนผู้ที่เห็นแจ้งในธรรมจนละฆราวาสวิสัยนั้นมากมายเหลือคณานับ

        จีวรและบาตรอันเป็นเสมือนสัญญลักษณ์แห่งความเป็นพระสังฆนายก ซึ่งพระโพธิธรรมท่านได้มอบตกทอดมา ตลอดจนจีวรโมลาและบาตรผลึก ซึ่งพระมหาจักรพรรดิจุงจุงได้ส่งมาถวาย ภาพสลักของพระสังฆนายกโดยท่านฟองปินและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆนั้น อยู่ความพิทักษ์รักษาของผู้เฝ้าสถูป เป็นสิ่งซึ่งจะต้องรักษาไว้ในวัดโปลัมชั่วกาลนาน เพื่อเป็นสวัสติมงคลแก่วัด พระสูตรที่ท่านได้เทศนา ก็นำมาพิมพ์และแจกจ่ายทั่วกัน เพื่อให้ประชาชนได้ทราบถึงหลักการและจุดประสงค์ของสำนักธรรม งานต่างๆเหล่านี้ ได้จัดทำไป ก็เพื่อความรุ่งเรืองสถาพรของพระรัตนตรัย และเพื่อสวัสติมงคลทั่วไปแก่มวลสัตว์

จบพระสูตร

 

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats