อวตังสกคัณฑวยูหสูตร

สมันตรภัทรจริยาปณิธานปริวรรต

สมหวัง  สรัสจรรยาวัฒน์ พรรธน์  วีระพละ แปลและเรียบเรียง

คำปรารมภ์

                สมันตรภัทรจริยาปณิธานปริวรรตจากอวตังสกคัณฑวยูหสูตร นั้นนับเป็นพระสูตรสำคัญในฝ่ายพระพุทธศาสนามหายานโดยในอดีตถือเป็นวัตรปฏิบัติที่จักต้องสาธยายพระสูตรนี้ แม้ในการประกอบพิธีกรรมหรือพุทธประเพณีส่วนใหญ่ก็มักอ้างอิงถึง โดยเฉพาะก็ในการถวายพุทธบูชา และสนการศึกษาพระธรรม ทั้งนี้ เพื่อขอพึ่งบารมีพระสันตรภัทรโพธิสัตว์ ผู้ทรงปณิธานและจริยาวัตรอันประเสริฐ

                สืบเนื่องถึงปัจจุบัน พระสูตรนี้จักหาผู้ที่มีศรัทธาสาธยายได้น้อยลงทุกที เนื่องด้วยเป็นพระสูตรที่ค่อนข้างยาว และใช้ภาษาที่ลุ่มลึกยากแก่การสวดท่อง แม้จะยังมีการพิมพ์เผยแพร่อยู่บ้าง ก็เห็นจะเป็นแต่ในวงแคบ มิได้กว้างขวางเช่นพระสูตรอื่นอย่างสุขาวดีสูตร หรือ สัทธรรมปุณฑริกสูตร นอกจากนี้ พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ แม้จะปรากฎพระนามเป็นพระโพธิสัตว์องค์สำคัญในฝ่ายมหายาน แต่ก็ไม่เป็นที่แพร่หลายในหมู่พุทธศาสนิกชนทั่วไป เป็นเหตุให้พระสูตรที่กล่าวถึงพระมหาโพธิสัตว์พระองค์นี้ไม่เป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง คงมีการสวดสาธยายกันในหมู่พุทธศาสนิกกลุ่มน้อย และมีแต่จะน้อยลงทุกวัน

                ในชั้นต้น ผู้แปลและผู้เรียบเรียงได้เคยสวดท่องพระสูตรนี้มาบ้าง แต่ก็เป็นไปตามรูปแบบพิธีกรรมโดยไม่ทราบความหมายอันลึกซึ้งแห่งพระสูตร ตั้งใจแต่เพียงว่า สักวันหนึ่งคงจะมีโอกาสได้ศึกษาเนื้อความแห่งพระสูตรในภาคภาษาไทยบ้าง จนเมื่อต้นปีพุทธศักราช 2540 ผู้เรียบเรียงได้มีโอกาสจารึกแสวงบุญไปยังพุทธสถาน ณ เขาง้อไป๊ (เออเหมยซาน) มณฑลเสฉวน ประเทศจีน อันเป็นที่สถิตแห่งพระสมัตรภัทรโพธิสัตว์ โดยติดตามไปพร้อมกับพระอาจารย์หลวงจีนธรรมรัตจีนประจักษ์(เย็นซิม) เจ้าอาวาสวัดเทพพุทธาราม จ.ชลบุรี ณ ที่นั้นเชื่อกันว่าเป็นธรรมมณฑลอันพระสมันตภัทรโพธิสัตว์แสดงธรรมแด่พระสุธนกุมารโพธิสัตว์ อันเป็นที่มาของพระสูตรนี้ จึงได้อธิษฐานขอพระให้ทรงแผ่พระบารมีเกื้อหนุนให้ความปรารถนาครั้งนี้บรรลุผล ครั้นเดินทางกลับมาแล้ว จึงได้ปรารภเรื่องนี้กับผู้แปล ซึ่งก็ได้ปวารณาตัวที่จะช่วยแปลจากภาคภาษาจีนเป็นภาษาไทย โดยในช่วงแรกมีอุปสรรคค่อนข้างมาก เนื่องเพราะภาษาจีนที่ใช้นั้นลุ่มลึก ต้องอาศัยการอธิบายตีความจากอรรถกถาภาษาจีนบ้าง จากการไต่ถามบ้าง จึงช่วยให้การแปลในชั้นแรกลุล่วงลง จากนั้นจึงเรียบเรียงและขัดเกลาสำนวนภาษาไทยอีกครั้งหนึ่ง

                ในความปรารถนาเริ่มแรก หมายเพียงแค่จะพิมพ์แจกจ่ายในหมู่มิตรสหายที่สนใจเท่านั้น แต่มีญาติธรรมหลายท่านเห็นว่าน่าจะได้เผยแพร่เพื่อประโยชน์แก่ผู้สนใจในวงกว้าง โดยปรารภในวาระแสดงมุทิตาเนื่องในโอกาสคล้าววันเกิดของพระอาจารย์เย็นซิม เพื่อเป็นอาจาริยบูชาโดยส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ คุณธำรง ปัทมภาส แห่งศูนย์ไทยธิเบต ได้ช่วยจัดการด้านการพิมพ์เป็นรูปเล่มดังที่ปรากฏอยู่นี้ โดยมุ่งหมายเพื่อที่จะให้เป็นการเผยแพร่พระสูตรของฝ่ายมหายานในภาคศึกษาไทย ให้พุทธศาสนิกชนชาวไทยและผู้ใฝ่รู้ ได้ใช้ศึกษาค้นคว้า อันเป็นการยังพระธรรมแห่งพระศากยมุนีพุทธเจ้าในสืบไปตราบนาน

                การถ่ายทอดพระสูตรนี้ออกสู่ภาคภาษาไทยเป็นเรื่องยากยิ่ง เนื่องด้วยความลึกซึ้งโดยอรรถของตัวพระสูตรประการหนึ่ง และด้วยความชำนาญและพื้นฐานความรู้ของผู้แปลและเรียบเรียงเป็นอีกประการหนึ่ง โดยหลายตอนที่ต้องอาศัยการสรุปความเนื่องเพราะมิอาจถ่ายทอดได้ตามพยัญชนะ ดังนั้น จึงไม่สามารถถ่ายทอดพระสูตรนี้ออกมาได้โดยสมบูรณ์ถ้วนทุกพยัญชนะได้ด้วยเหตุดังกล่าว แต่ก็พยายามรักษาอรรถและคงเนื้อความให้ถูกต้องตามต้นฉบับเดิมให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้

                คงไม่เป็นการกล่าวเกินเลยไปกระมังว่า พระสูตรนี้ที่สำเร็จลงได้ก็ด้วยวิริยะพยายามอย่างยิ่งของผู้แปล ซึ่งถือเป็นตัวจักรสำคัญในการถ่ายทอดเป็นภาคภาษาไทย นอกจากนี้ ทั้งผู้แปลและผู้เรียบเรียงก็ใคร่ขอขอบคุณท่านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ที่กรุณาอนุเคราะห์เขียนคำนำให้ ซึ่งถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ท่านอาจารย์ฉันสุมาลย์ กบิลสิงห์(ษัฏเสน)ที่กรุณาตรวจทานภาษาให้งดงามสละสลวยยิ่งขึ้น ท่านอาจารย์ปีเตอร์ สกิลลิ่ง ที่กรุณาตรวจทานความถูกต้องด้านเนื้อหาให้อีกครั้ง จึงขอกราบขอบพระคุณทุกท่านมา ณ โอกาสนี้

                ขอพุทธานุภาพแห่งพระศากยมุนีพุทธเจ้า พระผู้แม้จักดับขันธ์ปรินิพพานไปนานแล้วก็ตาม หากยังทรงปรากฏพระธรรมกายอยู่เป็นอัศจรรย์ อีกทั้งพระสมันตภัทรมหาโพธิสัตว์ ผู้ทรงปณิธานและจริยาวัตรอันประเสริฐ และพระโพธิสัตว์ผู้การุณย์ทั้งปวง ขอทรงเกื้อหนุนสรรพสัตว์ในทศทิศ ให้ประกอบด้วยโพธิจิตและภูมิปัญญา ให้ได้มั่นคงในทศปณิธานอันพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ทรงสำแดง และตามเสด็จสู่มหาโพธิสัตว์มรรคนั้น ให้บรรลุถึงพุทธภาวะอันบริสุทธิ์ยิ่งโดยทั่วกันเทอญ

สมหวัง  จรัสจรรยาวัฒน์ ผู้แปล

พรรธน์  วีระพละ ผู้เรียบเรียง

 

สมันตภัทรจริยาปณิธานปริวรรต

อวตังสกคัณฑวยูหสูตร

                เมื่อนั้น พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ได้สดับพระธรรมเทศนาอันพระผู้มีพระภาคทรงสำแดงงดงามแล้ว บังเกิดความปิติชื่นชมในพระผู้มีพระภาคและพระธรรม จึงได้ตรัสคาถาสดุดีพระพุทธบารมีแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าและตรัสแก่พระโพธิสัตว์ทั้งปวง พระสุธนกุมาร พระอริยสาวกทั้งปวง ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สามเณร ซึ่งได้สดับพระธรรมเทศนาอยู่ ณ ที่นั้น

                (ณ ที่นั้น ผู้ที่ได้สดับพระสมันตภัทรโพธิสัตว์มีมากมายมิอาจประมาณได้ มีปัญญาแตกต่างกันไป แต่ในที่นี้พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ทรงตรัสแก่พระสุธนกุมารด้วยเป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลมและมีบุญญาธิการมาก)

                พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ทรงตรัสว่า ดูกร ท่านผู้เจริญ พุทธบารมีแห่งพระพุทธเจ้านั้นมีมากมายยิ่งนัก หากว่าพระพุทธเจ้าในทศทิศตรัสสรรเสริญพระพุทธเจ้าองค์อื่นแต่ละองค์ต่อกันไป ซึ่งมีอยู่จำนวนมากมายประดุจละอองเกษตรอันมิอาจประมาณได้ เหลือที่จะพรรณนา หากผู้ใดตั้งปณิธานจักบำเพ็ญบารมีตามเสด็จพระพุทธองค์แล้ว พึงตั้งปณิธานและปฏิบัติดังนี้

ปณิธานข้อที่ 1 เคารพบูชาพระพุทธเจ้าทั้งปวง

ปณิธานข้อที่ 2 สรรเสริญพระตถาคตทั้งปวง

ปณิธานข้อที่ 3 ถวายบูชาแด่พระตถาคตทุกพระองค์

ปณิธานข้อที่ 4 ขมาอกุศลกรรมทั้งปวง

ปณิธานข้อที่  5 อนุโมทนากุศลทั้งหลาย

ปณิธานข้อที่ 6 ทูลอารธนาให้ทรงแสดงพระธรรม

ปณิธานข้อที่ 7 อารธนาให้ประทับอยู่ในโลกต่อไป

ปณิธานข้อที่ 8 ขอศึกษาพระธรรมให้เจนจบ

ปณิธานข้อที่ 9 ขออนุโลมตามสรรพสัตว์

ปณิธานข้อที่ 10 ขออุทิศกุศลทั้งมวลแก่สรรพสัตว์

                พระสุธนกุมารได้ทูลถามขึ้นว่าพระมหาอริยะจักพึงปฏิบัติอย่างไรตามมหาปณิธานทั้ง 10 ประการนั้น

                พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ทรงอธิบายว่า พึงเคารพบูชาพระพุทธเจ้าทั้งปวง การเคารพบูชาพระพุทธเจ้านั้นจะต้องเป็นการเคารพบูชา อันประกอบด้วยกาย วาจา และใจ (อันแน่วแน่และบริสุทธิ์เปี่ยมด้วยความตั้งใจ) ที่สมบูรณ์ พระพุทธเจ้าที่พึงเคารพบูชานั้นมีจำนวนมากมายมหาศาล (เกิดสติปัญญาของมนุษย์จักประมาณได้) ทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคต อาศัยปณิธานแห่งข้าพเจ้า (พระสันตภัทร) ข้าพเจ้าเชื่อโดยปราศจากข้อกังขาใดๆ ประดุจดังพระพุทธเจ้าทั้งปวงเสด็จมาปรากฏอยู่เบื้องหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักอภิวาทบูชาด้วย กาย วาจา ใจที่แน่วแน่ บริสุทธิ์ และจักเคารพบูชาเช่นนี้ตลอดไป ในแต่ละพุทธเกษตรอันมีจำนวนมากมายประมาณมิได้ จักปรากฏกายของข้าพเจ้าขึ้นในทุกสถาน และทุกกายจักอภิวาทบูชาพระพุทธเจ้าอันมีจำนวนประมาณมิได้เช่นกัน หากโลกแห่งความว่างเปล่ามีขอบเขตเมื่อใด การบูชาของข้าพเจ้าก็จักสิ้นสุด แต่หากโลกแห่งความว่างนั้นไว้ซึ่งขอบเขต การบูชาพระพุทธเจ้าก็ยักไม่มีวันสิ้นสุด หากโลกของสรรพสัตว์ กรรมของสรรพสัตว์มีที่สิ้นสุด การบูชาของข้าพเจ้าก็จักสิ้นสุด หากว่าโลกของสรรพสัตว์ กรรมของสรรพสัตว์ และทุกข์ของสรรพสัตว์ไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น การบูชาของข้าพเจ้าก็จักไม่มีวันสิ้นสุด ข้าพเจ้าจักเคารพบูชาสืบไปไม่หยุดหย่อน ด้วยกาย วาจา ใจ อย่างไม่อ่อนล้า ไม่เบื่อยหน่าย

                กุลบุตร การถวายสรรเสริญพระพุทธเจ้านั้น (สรรเสริญการบำเพ็ญบารมี พระพุทธคุณ พระมหากรุณาต่อสรรพสัตว์) ในดลกแห่งความวางเปล่าแห่งนี้ (ครอบคลุมทั้งจักรวาล) บนผืนแผ่นดินในทศทิศตลอดทั้งสามภพ มีพระพุทธเจ้าจำนวนมากมายมหาศาลประดุจดังฝุ่นธุลีและในแต่ละพุทธเกษตรจะมีพระโพธิสัตว์ประดุจดั่งท้องทะเลรายล้อมอยู่ (จำนวนพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มีมากมายมหาศาลเกินกว่ามนุษย์จะจินตนาการถึงได้ อีกทั้งสรรพสัตว์ล้วนมีอกุศลกรรมขวางกั้นมิให้ได้เห็นพระพุทธเจ้าได้สดับพระสัจธรรม)

                ข้าพเจ้าเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยในสิ่งที่ข้าพเจ้าได้เห็นน (พระพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ทรงเห็นถึงตำนวนพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ อันมิอาจประมาณได้ เกินปัญญาของสรรพสัตว์จะหยั่งรู้ได้)

                คำสรรเสริญพระพุทธเจ้านั้นเป็นคำสรรเสริญอัน (ประดุจ)ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระสุรัสวดี* (*พระสุรัสวดีเป็นเทพอยู่บนสวรรค์ชั้นที่6 ในสวรรค์ทั้ง 28 ชั้นฟ้า มีพระโอษฐ์ที่ตรัสแต่สิ่งดีงาม แต่ละเสียงที่พระองค์ตรัสไพเราะยิ่งนัก ต้องใช้เครื่องดนตรีนับร้อยนับพันชิ้นจึงจะบังเกิดเสียงนั้นได้*) อันสามารถเปล่งเสียงอันไพเราะได้นับไม่ถ้วนสรรเสริญพระพุทธคุณ พระพุทธบารมี การสรรเสริญนั้นไม่มีหยุดหย่อน ในโลกธาตุทั้งหลายก็ไม่มีที่ใดที่ไม่สามารถสรรเสริญพระพุทธเจ้าได้ การถวายสรรเสริญพระพุทธเจ้าจะไม่มีวันหยุดหย่อน

                กุลบุตร การบำเพ็ญเพื่อถวายสักการะบูชาแด่พระพุทธเจ้า(ในโลกแห่งความว่างเปล่า มีพระพุทธเจ้าอยู่มากมาย) โดยอาศัยบารมีมหาปณิธานแห่งสมันตภัทร ข้าพเจ้าเชื่อโดยปราศจากข้อกังขา ในการถวายบูชาพระพุทธเจ้านั้นต้องเลือกสิ่งที่ดีเลิศที่สุด งดงามที่สุดบริสุทธิ์ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ ดนตรี ฉัตร แพรพรรณ มาลา เครื่องสุคนธ์ ธูป ผงจันทร์ แต่ละอย่างต้องดีเลิศที่สุด และมีจำนวนมากมายมหาศาลประดุจเขาพระสุเมรุ ประดุจเมฆในท้องฟ้า เพื่อเป็นการถวายบูชาพระพุทธเจ้าซึ่งมีจำนวนมหาศาลในทศทิศตลอดทั้งสามภพบูชาด้วยประทีปสารพัด ประทีปน้ำมันเนย ประทีปน้ำมันหอม ประทีปน้ำมันธรรมดาจำนวนมหาศาล มีจำนวนมากมายประดุจเขาพระสุเมรุน้ำมันมากมายประดุจน้ำในมหาสมุทร การบูชาดังกล่าวข้างต้นจะบูชาพระพุทธเจ้าอยู่ตลอดเวลา (การบูชาดังกล่าวนั้นมนุษย์สามัญไม่อาจทำได้มีเพียงพระมหาโพธิสัตว์ทรงบารมี ทรงอานุภาพ ทรงพละ จึงจะทรงสามารถกรทำได้ถึงปานนั้น สรรพสัตว์จงอย่ามีข้อกังขาเลย)

                กุลบุตรทั้งปวง การถวายบูชาด้วยพระธรรมคำสั่งสอนคือการปฏิบัตินั้นเลิศที่สุด การปฏิบัตินั้นมีอยู่ 7 ประการคือ

                1 การบำเพ็ญเพียรตามคำสอน

                2 เมื่อปฏิบัติตามคำสอนก็จะบังเกิดกุศลและบารมี และใช้กุศลและบารมีนี้โปรดสรรพสัตว์เพื่อประโยชน์สุขแก่สรรพสัตว์

                3 จงมีเมตตาจิตต่อสรรพสัตว์ที่ต้องเผชิญความทุกข์ โดยการ ยอมรับ ช่วยเหลือ สั่งสอน

                4 ยอมรับทุกข์แทนสรรพสัตว์ ถือเป็นการเสียสละ มีเมตตาธรม

                5 บำเพ็ญเพียรโดยไม่ย่อท้อ

                6 ยังกิจแห่งพระโพธิสัตว์ให้สมบูรณ์ (กระทำตนเพื่อเป็นประโยชน์สุขแก่สรรพสัตว์อยู่เป็นนิตย์)

                7 ยังโพธิจิตให้สมบูรณ์ หมั่นบำเพ็ญเพียร อาศัยโพธิจิตนี้ สรรพสัตว์จึงจักเข้าสู่พุทธภูมิได้

                ทั้ง 7 ประการนี้คือการปฏิบัติ เพื่อถวายเปนพุทธบูชา

                กุลบุตรทั้งหลาย การบูชาด้วยอามิสบูชาถึงแม้จะได้กุศลมากมาย หากแต่เทียบมี่ได้เลยกับการบูชาด้วยการปฏิบัติ อามิสบูชานั้นเทียบได้เพียง 1 ใน 100 ใน 1,000 เท่ากับฝุ่นละอองในโลกเท่านนั้นเอง เหตุไฉนจึงเป็นเช่นนั้น ด้วยเพราะพระพุทธเจ้าทั้งปวงทรงเคารพพระสัทธรรม พระธรรมเป็นมรรคสู่พุทธภูมิ พระพุทธเจ้าทั้งปวงทรงดำเนินตามมรรคแห่งพระธรรมนั้น ดังนั้น หากสรรพสัตว์ปฏิบัติตามพระธรรมก็จะบรรลุพุทธภูมิ หากพระโพธิสัตว์ทั้งหลายปฏิบัติตามพระธรรมถวาย

เป็นพุทธบูชาแล้ว บรรลุมรรคผลก็นับเป็นพุทธบูชาอย่างหนึ่ง ดังนั้น การบูชาจึงนับเป็นการบูชาที่แท้จริง การบูชาที่เป็นมหากุศลทั้งด้วยอามิสและกระปฏิบัติจะบูชาสืบไปไม่มีหยุดหย่อน

                กุลบุตรทั้งปวง การขอขมาอกุศลกรรมทั้งปวงนั้น (การสำนึกในอกุศลกรรมที่ได้กระทำลงไป ระวังมิให้กระทำซ้ำอีก สรรพสัว์ทั้งปวงตกอยู่ในความทุกข์ เป็นเหตุให้ก่ออกุศลกรรม ผลแห่งกรรมนั้นก่อให้สรรพสัตว์ได้รับทุกข์ สืบไปเป็ฯวัฏจักรเช่นนี้ การขอขมากรรมจึงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการไม่ก่ออกุศลกรรม) พระโพธิสัตว์พึงระลึกว่า อดีตกาลที่ล่วงมา ข้าพเจ้าได้กระทำอกุศลกรรมมากมายด้วยโลภ โกรธ และหลง อันมิอาจประมาณได้ (อันเป็นเหตุแห่งการก่ออกุศลกรรม) หากผลแห่งอกุศลกรรมนั้นจักปรากฏจริงแล้ว โลกแห่งความว่างเปล่านี้ก็มิอาจรองรับอกุศลกรรมนั้นไว้ได้

                (พระสมันตภัทรเคยก่ออกุศลกรรมมามากมาย) บัดนี้ ข้าพเจ้าได้กำจัดทุกข์ กรรม และผลของกรรมได้โดยสิ้นเชิงแล้ว เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้าทั้งปวง พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้แสดงอารบัติขอขมากรรมทั้งปวง ชำระซึ่งความโลภ โกรธ หลง ความทุกข์ กรรมและผลกรรมจักไม่มีแก่ข้าพเจ้าและจักละอกุศลกรรมนั้นเสีย จักเพียรสร้างกุศลกรรมทั้งปวงสืบไป บัดนี้ข้าพเจ้าขอขมาอกุศลกรรมทั้งปวง (เป็นการตั้งปณิธานแน่วแน่ว่าจักละอกุศลกรรมทั้งปวง) ตลอดไปไม่มีหยุดหย่อน

                กุลบุตรทั้งปวง การอนุโลมกุศลทั้งปวงนั้น เพื่อเป้าหมายแห่งการสั่งสมมหากุศลกรรมอันยิ่งใหญ่ เริ่มจากการตั้งจิตที่แน่วแน่ หากเพียรบำเพ็ญตน และเลยแล้วซึ่งตนเอง หลงลืมซึ่งตนเอง แม้กาลจะผ่านมานานนักมิอาจประมาณได้ด้วยกัลป์ ในแต่ละกัลป์ได้สละ ชีวิต ตา มือ เท้า มิอาจประมาณได้ การบำเพ็ญถึงบารมีต่างๆ ได้เข้าสู่โพธิสัตว์ภูมิ บรรลุมรรคผล บรรลุอนุตรสัมามาสัมโพธิญาณ บรรลุนิพพาน บรรลุถึงธรรมธาตุทั้งปวง ข้าพเจ้าขอแสดงมุทิตาจิต และอนุโมทนาด้วย

                ทุกโลกธาตุในทศทิศ สรรพสัตว์ทั้ง 6 ภูมิ ทั้ง 4 กำเนิด กุศลกรรมทั้งปวง แม้จะเล็กน้อย ข้าพเจ้าก็ขออนุโมทนาด้วยในทศทิศ ตลอดจนทั้งสามภพ พระสาวก พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวง ข้าพเจ้าขออนุโมทนากุศลด้วย พระโพธิสัตว์ทั้งหลายที่ได้บำเพ็ญบารมีด้วยความยากลำบากเพื่อบรรลุถึงโพธิญาณมหากุศลอันใหญ่หลวงนี้ ข้าพเจ้าขออนุโมทนาด้วย

                ข้าพเจ้าจักขออนุโมทนากุศลเช่นนี้สืบไปไม่หยุดหย่อน

                กุลบุตร การขับเคลื่อนพระธรรมจักร (การทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงพระสัทธรรม ด้วยเหตุที่พระพุทธเจ้ทรงแสดงพระธรรม สรรพสัตว์จึงสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ เป็นอิสระจากสังสารวัฏอันยาวไกล ดังนั้น ผู้ที่ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงพระธรรมนั้นจึงมีอานิสงส์ยิ่งนัก)

                ด้วยกาย วาจา ใจ ข้าพเจ้าตั้งจิตทูลเชิญขอพระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรม เพื่อสรรพสัตว์ทั้งปวง (กาย:คุกเข่า นมัสการ วาจา:สรรเสริญ ทูลเชิญ  ใจ:ด้วยใจบริสุทธิ์ แน่วแน่ ไม่ย่อท้อ) ข้าพเจ้จักทูลอาราธนาขอทรงแสดงธรรมเช่นนี้สืบไปไม่มีหยุดหย่อน กุลบุตรทูลอาราธนาขอให้พระพุทธเจ้าทรงดำรงพระชนม์อยู่ในโลกนี้ต่อไป ในโลกแห่งความว่างเปล่านี้ ทั่วทศทิศตลอดจนสามภพ ที่มีพระพุทธเจ้าจำนวนมากมายกำลังจะเสด็จเข้าสู่นิพพานตลอดจนพระโพธิสัตว์ พระสาวกและผู้ทรงปัญญาทั้งปวง ข้าพเจ้าขอทูลเชิญ ข้าพเจ้าขออารธนา อย่าเพิ่งเข้าสู่นิพพาน ขอจงประทับอยู่ในโลกนี้ เพื่อประโยชน์สุขแด่สรรพสัตว์

                ข้าพเจ้าทูลอาราธนา ขอพระพุทธเจ้าทั้งปวงประทับอยู่ในโลกนี้ ต่อไป ข้าพเจ้าจักทูลอาราธนาเช่นนี้สืบไปไม่มีหยุดหย่อน

                กุลบุตร การศึกษาพระธรรมให้เจนจบ บำเพ็ญบารมีตามรอยพระพุทธบาท (พระพุทธทรงศึกษา บำเพ็ญเพียรจนบรรลุโพธิณาณ สรรพสัตว์ทั้งปวงจึงสมควรเจริญรอยตามรอยพระพุทธบาทเพื่อพ้นจากวัฏสงสาร จากทุกข์ทั้งปวง

                ดั่งในสหัสโลกธาตุนี้ พระไวโรจนพุทธเจ้าทรงตั้งจิต มีวิริยะบารมีในการบำเพ็ญเพียรอย่างไม่ท้อถอย ทรงบริจาคทานด้วยพระชนม์ชีพจนประมาณมิได้ ทรงใช้ผิวพระกายแทนกระดาษ ใช้พระอัฐิแทนพู่กัน ใช้พระโลหิตแทนน้ำหมึก จารพระธรรม ซึ่งมีมากมายประดุจเขาพระสุเมรุเหตุว่าพระธรรมนั้นสำคัญยิ่งนัก จึงมีทรงคำนึงถึงพระชนม์  ประสาอะไรกับ ราชบัลลังก์ ราชอาณาจักร ราชวัง ราชอุทยาน และสมบัติต่างๆ

                ข้าพเจ้าขอดำเนินตามรอยพระพุทธบาท ที่ทรงบำเพ็ญบารมีมาไม่ว่าจะยากลำบากสักเพียงใดก็มิได้ทรงย่อท้อ จนบรรลุถึงโพธิญาณใต้พระศรีมหาโพธิ ทรงเปี่ยมด้วยพุธบารมสีเป็นอเนกอนันต์ ทรงนิรมาณพระกายได้นับไม่ถ้วน ทรงปรากฏพระกายเป็นพระตถาคองค์ใดก็ได้ ทรงปรากฏพระกายได้ในทุกสถาน ในโพธิสัตว์สันนิบาตใดก็ย่อมได้ หรือท่ามกลางพระสาวกทั้งปวง พระปัจเจกพุทธิเจ้า พระราชาทั้งหลาย พระบรมวงศานุวงศ์ พราหมณ์ กุลบดี เทพ พญานาค มนุษย์ และอมนุษย์ พระองค์ทรงเปล่งสุรสีหนาทแห่งความสำเร็จในมรรคผล ประดุจฟ้าคำรณ เมื่อผู้ใดได้สดับก็รู้สึกชื่นชมยินดี ตั้งจิตมุ่งตรงต่อพระนิพพาน

                ข้าพเจ้าจึงขอบำเพ็ญบารมี ศึกษาพระธรรมให้เจนจบดั่งพระพุทธองค์ สืบไปไม่มีหยุดหย่อน

                กุลบุตร การอนุโลมตามสรรพสัตว์ (สรรพสัตว์นั้นมีนิสัย จริต ต่างกันไป พระพุทธเจ้าทรงมหากรุณาที่จะโปรดสรรพสัตว์ ทรงมีกุศโลบาย โปรดสรรพสัตว์ให้เหมาะสมกับอุปนิสัย)

                ในโลกแห่งความเปล่า ตลอดจนทั้งสิบทิศ มีสรรพสัตว์มากมาย ที่บังเกิดจากไข่ เกิดเป็นตัว เกิดในน้ำ เกิดจากการจำแลงกาย เกิดจากมหาภูต 4 (ดิน น้ำ ลม ไฟ) พวกที่พึ่งอากาศ พึงแมกไม้ในการเกิดกายมีวรรณะ ลักษณะ หน้าตา อายุขัย เผ่าพันธุ์ นาม จิตใจ ความกระจ่าง การแสวงหาความสุข พฤติกรรม ความเกรงขาม ความพึงใจในแพรพรรณ  อาหารต่างๆกันไป ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ในเมือง ในพระราชวังตลอดจนพวกที่อาศัยอยู่ในเทวโลก บาดาล ทั้งที่เป็นมนุษย์ อมนุษย์ ที่ไร้ขา ทวิบาท จตุบาท ทั้งมีสี ทั้งไร้สี ทั้งที่ไร้ความคิด ทั้งที่มีความคิดสรรพสัตว์ทั้งปวง ข้าพเจ้าจักยอมอนุโลม ข้าพเจ้าจักปฏิบัติต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ดุจดังข้าพเจ้าปฏิบัติต่อ บิดามารดา อาจารย์ พระอรหันต์ พระพุทธเจ้า เมื่อพบผู้ป่วย ข้าพเจ้าจักเป็นแพทย์ เมื่อพบผู้หลงทาง ข้าพเจ้าจักเป็นมัคคุเทศก์คอยนำทาง เมื่อพบผู้หลงอยู่ในความมืด ข้าพเจ้าจักเป็นดังประทีปส่องทาง เมื่อพบผู้ยากจน ข้าพเจ้าจักสละทรัพย์ให้ ดั่งพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่สรรพสัตว์ทั้งปวง

                เธอสำคัญไฉน? หากพระโพธิสัตว์สามารถยอมอนุโลมเพื่อสรรพสัตว์ ก็ประดุจดั่งการถวายบูชาพระพุทธเจ้า หากสรรพสัตว์เคารพโพธิกิจอันงดงามนี้ ก็ประดุจดังการถวายบูชาแด่พระพุทธเจ้า

                เธอสำคัญไฉน? เหตุว่าพระพุทธเจ้าทั้งปวง มีพระทัยอันเปี่ยมด้วยเมตตาแก่ปวงสรรพสัตว์อันหลงเวียนว่ายอยู่ในทุกข์ ด้วยเหตหุที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเมตตา อันนำไปสู่การบังเกิดโพธิจิต อาศัยโพธิจิตนี้ พระพุทธเจ้าทั้งปวงจึงบรรลุมรรคผล (พระพุทธเจ้าทรงปรารถนาโพธิญาณ ก็เพื่อโปรดสรรพสัตว์)

                เปรียบประดุจในผืนแผ่นดินอันอุดมไปด้วยกรวดและทราย มีไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง หากรากได้สัมผัสถึง น้ำ กิ่ง ใบ และผล ก็จะงอกงามดีฉันใด ในสังสารวัฏแห่งนี้ โพธิจิตก็ประดุจดังต้นไม้ใหญ่

                สรรพสัตว์ทั้งหลายก็คือรากของต้นไม้ พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ก็คือผล อาศัยทิพยวารีแห่งมหาเมตตากรุณาหลั่งรดลงเหนือสรรพสัตว์ ก็จะบรรลุถึงพระปัญญาอันล้ำเลิศแห่งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งปวง

                สรรพสัตว์ทั้งหลายก็คือรากของต้นไม้ พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ ก็คือผล อาศัยทิพยวารีแหงมหาเมตตากรุณาหลั่งรดลงเหนือสรรพสัตว์ ก็จะบรรลุถึงพระปัญญาอันล้ำเลิศแห่งพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งปวง

                เพราะเหตุไฉนเล่า? หากพระโพธิสัตว์ทั้งหลายเปี่ยมด้วยเมตตา โปรดสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ ก็ย่อมบรรลุสู่พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ (เป็นโพธิกิจอันต้องบำเพ็ญ)

                ด้วยเหตุนี้โพธิจึงเป็นของสรรพสัตว์ หากไม่มีสรรพสัตว์ พระโพธิสัตว์ทั้งหลายก็จะไม่สำเร็จมรรคผล เข้าสู่พุทธภูมิ

                กุลบุตร เธอทั้งหลายพึงมนสิการโดยแยบคายดังนั้น จงปฏิบัติอนุโลมสรรพสัตว์ด้วยความเสมอภาค จึงจะบรรลุเมตตาจิตโดยสมบูรณ์อาศัยเมตตาจิตนี้ จงอนุโลมตามสรรพสัตว์ทั้งปวง จึงจะเป็นการบรรลุผลอันไพบูลย์ เพื่อเป็นพุทธบูชา

                พระโพธิสัตว์ทั้งหลายทรงอนุโลมตามสรรพสัตว์เช่นนี้ ข้าพเจ้าจักอนุโลมตามสรรพสัตว์เช่นนี้สืบไป ไม่หยุดหย่อน

                กุลบุตร การอุทิศกุศลแด่สรรพสัตว์จากปฐมปณิธานคือการเคารพบูชาพระพุทธเจ้าทั้งหลายจนบรรลุถึงปณิธานแห่งการอนุโลมตามสรรพสัตว์กุศลทั้งปวงอันข้าพเจ้าได้บำเพ็ญแล้ว ขออุทิศแด่สรรพสัตว์ทั้งปวง

                ขอสรรพสัตว์ทั้งปวงจงประสบสันติ ปราศจากโรคภัย หากสรรพสัตว์เหล่าใดหลงผิดไปสู่ทางอธรรม ขอจงกลับใจ ขอสรพสัตว์ที่สั่งสมบุญจงบรรลุมรรคผลในเร็ววัน ขอกุศลนี้จงปิดทางแห่งอกุศลทั้งปวง จงเป็นปัจจัยไปสู่พระนิพพาน หากสรรพสัตว์สั่งสมอกุศลกรรมไว้ ต้องรับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส ข้าพเจ้าขอแบกรับทุกข์นั้นแทน ขอสรรพสัตว์ทั้งปวงจงหลุดพ้นจากทุกข์ บรรลุสู่โพธิญาณอันประเสริฐ

                พระโพธิสัตว์ทั้งหลายทรงบำเพ็ญมีประมาณเช่นนี้ ข้าพเจ้าขออุทิศกุศลทั้งปวงแด่สรรพสัตว์สืบไปเช่นนี้ไม่มีเปลี่ยนแปร

                กุลบุตร นี้คือมหาทศปณิธานแห่งพระสันตภัทร อันเป็นปณิธานที่เต็มเปี่ยมสมบูรณ์ หากพระโพธิสัตว์สามารถปฏิบัติตามมหาปณิธานนี้ได้ย่อมสามารถช่วยโปรดสรรพสัตว์ให้บรรลุถึงอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณสามารถปฏิบัติมหาปณิธานแห่งพระสมันภัทรได้โดยสมบูรณ์ กุลบุตรเจ้าทั้งหลายพึงมนสิกาโดยแยบคายเถิด หากมีกุลบุตร กุลธิดา ในพุทธเกษตรอันมีจำนวนมิอาจประมาณนำรัตนมณีอันมีค่าทั้ง 7 สิ่ง เช่นทอง เงิน ไพฑูรย์ แก้วผลึก บุษราคัม ทับทิม พลอยแดง หรือสิ่งมีค่าทั้งปวงอันเป็นที่ปรารถนาแห่งมนุษย์ทั้งหลาย ออกบริจาคแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายถวายเป็นพุทธบูชาแต่พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ทั้งปวง ถวายทานและกระทำบูชาเช่นนี้นับกัลป์ มิให้ขาด ย่อมบังเกิดกุศลยิ่งนัก หากผู้ใดเพียงได้สดับมหาปณิธานนี้ ย่อมบังเกิดอานิสงส์มากมายยิ่งกว่าการบริจาคทานเบื้องต้นยิ่งนัก เป็นร้อยพันเท่าทวีขึ้น หากผู้ใดมีจิตศรัทธาในมหาปณิธานนี้ ได้กระทำสาธยายจารึกหรือคัดลอกพระสูตรนี้ ก็สามารถหลุดพ้นจากอนันตริยกรรมทั้ง 5 ปราศจากโรคาพาธทั้งปวง ทุกข์ภัยทั้งหลายอกุศลกรรมทั้งหลายที่สั่งสมมา ปีศาจ อสูร รากษส กุมภัณฑ์ อันดุร้าย กระหายเลือด ภูตผีและเทวมาร ก็จักหลีกหนีไป หากมีจิตปรารถนาจักจดจำ ปฏิบัติ เข้าใจ ปกป้องรักษาพระสูตรนี้ ได้กระทำบูชาสาธยายมหาปณิธานนี้ ย่อมเป็นอิสระจากอุปสรรคทั้งหลายในโลกนี้ดุจพระจันทร์บนฟากฟ้า ที่เป็นอิสระจากเมฆหมอกราคี พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลายทรงสรรเสริญ ว่ามนุษย์ทั้งหลายพึงเคารพบูชา สรรพสัตว์ทั้งหลายถึงเคารพบูชา จักบังเกิดเป็นมนุษย์เปี่ยมด้วยบารมีประดุจดั่งพระสมันตภัทรบรรลุโพธิญาณตามเสด็จพระสมัตภัทร มีกายอันวิสุทธิ์ปรากฏมหาปุริสลักษณธทั้ง 32 ประการ หากบังเกิดเป็นมนุษย์ จักบังเกิดเป็นผู้เปี่ยมศักดิ์ บังเกิดในตระกกูลสูงส่ง อาจทำลายสิ่งชั่วร้ายอกุศลทั้งปวง จักห่างไกลจากมิตรอันเป็นทุรชน สารมารถสยบพวกเดียรถีร์ หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ประดุจพระยาราชสีห์ ผู้อาจสยบสัตว์ทั้งปวง เป็นผู้ได้รับการเคารพบูชาจากสรรพสัตว์ทั้งหลาย เมื่อใกล้กาลมรณะ แม้เหล่าญาติมิตรสหายจักละทิ้งไป อำนาจทั้งปวงจักพินาศไป ข้าบริพารทั้งหลาย ช้าง ม้า ราชรถ ทรัพย์สินมีค่าทั้งหลายต่างพินาศไป ปราศจากผู้อยู่เคียงข้าง ทว่า พระสมันตภัทรมหาโพธิสัตว์ผู้ทรงปณิธานจักไม่ละทิ้งเขา พระองค์จะเสด็จมาประทับอยู่เบื้องหน้าผู้นั้น เสด็จนำสู่สุขาวดีพุทธเกษตร ได้นมัสการพระอมิตาภพุทธเจ้า พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ พระสมัตภัทรโพธิสัตว์ พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์  พระเมตไตรยโพธิสัตว์ พระมหาโพธิสัตว์ผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระสิริสง่างาม เปี่ยมด้วยพระบารมีอันบริบูรณ์ประทับอยู่แทบบาท (พระอมิตาภพุทธเจ้า) ผู้นั้นจักบังเกิดในปทุมชาติ เมื่อได้รับพุทธพยากรณ์จากพระตถาคตเจ้าแล้ว จักดำเนินผ่านโลก  อันนับไม่ถ้วนนับด้วยกัลป์อาศัยอานุภาพแห่งปัญญาบารมี เกื้อกูลสรรพสัตว์ ได้บรรลุถึงโพธิญาณสยบมารทั้งหลาย ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เคลื่อนกงล้อพระธรรมจักร โปรดสรรพสัตว์ในพุทธเกษตรทั้งปวงให้บังเกิดโพธิจิต สั่งสอนสรรพสัตว์โดยมหากุศโลบาย ตลอดถึงกัลป์ในอนาคตกาล ก็จักทำประโยชน์เกื้อกูลสรรพสัตว์ กุลบุตร หากสรรพสัตว์ได้สดับ และบังเกิดศรัทธาในมหาปณิธานนี้ บำเพ็ญและสาธยายประกาศแด่ชนทั้งมวล จกบังเกิดกุศลจนมิอาจประมาณได้ เกินสติปัญญาสรรพสัตว์จะหยั่งรู้ เว้นแต่อาศัยพุทธปัญญาแห่งพระตถาคตเจ้าจึงอาจหยั่งรู้ กุลบุตรทั้งปวงเมื่อได้สดับพระมหาปณิธานนี้แล้ว จงอย่าบังเกิดข้อกังขา พึงน้อมรับ สาธยายแลนำไปปฏิบัติ คัดลอกประกาศแสรรพสัตว์ทั่วไป เมื่อมีการสาธยายและปฏิบัติตามมหาปณิธานนี้ จักบรรลุถึงโพธิญาณ บังเกิดอานิสงส์มิอาจประมาณสามารถโปรดสรรพสัตว์ให้ก้าวพ้นสังสารวัฏ ไปบังเกิดในสุขาวดีภพ นมัสการพระอมิตาภพุทธเจ้าผู้ทรงการุณย์

                เมื่อนั้น พระสันตภัทรมหาโพธิสัตว์ตรัสพระคาถาอันเป็นสารัตถุแห่งพระสูตรนี้ ดังนี้

            ข้าพเจ้าขอเคารพบูชาพระพุทธเจ้าอันมีประมาณมิได้ ผู้ทรงสถิตอยู่ในพุทธเกษตรทั่วทั้งทศทิศ อาศัยกาย วาจา ใจที่สะอาดบริสุทธิ์ ด้วยอานุภาพ บารมีแห่งมหาปณิธานอันพระสมัตภัทรปฏิบัติบริบูรณ์ ขอให้ข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในทศทิศ มีอุปมาดั่งละอองเกษตร ได้ถวายสักการะพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ (คาถา 4 บาท)

            พระพุทธเจ้านั้นมีมากมายมิอาจประมาณได้อุปมาดั่งละอองเกษตรแต่ละพระองค์ประทับอยู่ ณ มหาสันนิบาต อันมีพระโพธิสัตว์ประทับห้อมล้อมอยู่ ประดุจดังโลกแห่งพระธรรมอันไร้ขอบเขต พึงรำลึกถึงพระพุทธเจ้าอันมีประมาณมิได้และโลกแห่งพระธรรม พระตถาคตเจ้าแต่ละพระองค์ทรงเปล่งพระสุรเสียงได้ประดุจคลื่นทะเล ในแต่ละเสียงล้วนประกาศสรรเสริญพระพุทธคุณอันแม้กล่าวสรรเสริญสืบไปจนสิ้นกัลป์ก็ยังมิอาจสรรเสริญได้หมดสิ้น จงสรรเสริญพระพุทธคุณและพระบารมีแห่งพระพุทธองค์  (คาถา 4 บาท)

            มวลบุปผชาติที่งดงามที่สุด สังคีตต่างๆ เครื่องสุคนธ์ ฉัตร เครื่องบูชาทั้งหลายที่เลิศที่สุด ข้าพเจ้าขอถวายแด่พระพุทธเจ้าทั้งปวง ด้วยจีวรแพรพรรณ เครื่องสุคนธ์บูชาทั้งหลาย ประทีป อันเป็นเลิศที่สุด ข้าพเจ้าขอถวายแด่พระพุทธเจ้าทั้งปวง ด้วยจิตอันน้อมนมัสการและเชื่อมั่นข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าทั้งหลายในไตรภพเป็นสรณะ อาศัยอานุภาพมหาปณิธานแห่งพระสมันตภัทร ข้าพเจ้าขอถวายพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์  (คาถา 4 บาท)

            อกุศลกรรมทั้งหลาย ที่ข้าพเจ้าสั่งนสมมาด้วย กาย วาจา ใจอกุศลกรรมล้วนกำเนิดจากความโลภ ความโกรธ ความหลง บัดนี้ข้าพเจ้าสำนึกแล้วขอตั้งจิตขมากรรม  (คาถา 2 บาท)

            สรรพสัตว์ทั้งหวงในทศทิศ ที่กำลังบำเพ็ญเพียรศึกษา ทั้งที่สำเร็จแล้ว คลอดทั้งพระพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ข้าพเจ้าขออนุโทนากุศลด้วย  (คาถา 2 บาท)

            พระอริยะทั้งปวงอันบรรลุแล้ว ทั้งพระอริยะที่บรรลุโพธิญาณนานนักแล้ว พระอริยะทั้งปวง อันประดุจแสงประทีปส่องสว่าง ณ พิภพนี้ ข้าพเจ้าขอทูลเชิญขอทรงเลื่อนพระธรรมจักรเถิด  (คาถา 2 บาท)

            พระพุทธเจ้าทั้งปวงผู้ทรงกำลังเสด็จสู่พระนิพพาน ข้าพเจ้าขอทูลอาราธนาด้วยจิตอันบริสุทธิ์ ขอพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงประทับในโลกนี้ต่อไป เพื่อโปรดสรรพสัตว์ เพื่อเกื้อหนุนมวลสรรพสัตว์  (คาถา 2 บาท)

            อานิสงส์ทั้งปวงอันเนื่องด้วย การเคารพบูชา การถวายสรรเสริญการถวายอามิสบูชาแต่พระพุทธเจ้า ตลอดจนกุศลแห่งการทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าทั้งปวง ให้ทรงประทับในโลกนี้ต่อไป จากการทูลอาราธนาให้แสดงพระธรรม จากการอนุโมทนากุศล จากการขอขมากรรม กุศลทั้งสิ้นเหล่านี้ ขออุทิศแด่มวลสรรพสัตว์และพุทธวิถี (คาถา 2 บาท)

            ข้าพเจ้าขอศึกษาตามพระตถาคต บำเพ็ญเพียรตามพระสมันตภัทร ถวายเป็นพุทธบูชาแต่พระตถาคตในตรีกาล ผู้ทรงสถิตในทศทิศ ขอพระพุทธทั้งปวงผู้กำลังจะเสด็จมาในอนาคต ได้ตรัสรู้ บรรลุมรรคผลโดยสมบูรณ์ ข้าพเจ้าขอศึกษาพระธรรมให้เจนจบทั่วทั้งไตรภพ เพื่อจักได้บรรลุโพธิญาณในเร็ววัน  (คาถา 4 บาท)

            ในพุทธเกษตรทั้งทศทิศนี้ กว้างใหญ่ไพศาลนัก บริสุทธิ์และสง่างามมีมหาพุทธสันนิบาตได้พระศรีมหาโพธิสรรพสัตว์ทั้งสิบทิศตั้งจิตปรารถนาพระนิพพาน หลุดพ้นจากสังสารวัฏ ดำเนินในวิถีอันถูกต้องเพื่อปลดเปลื้องความทุกข์ทั้งปวง (คาถา 4 บาท)

            ข้าพเจ้าตั้งปณิธานบำเพ็ญเพื่อบรรลุโพธิญาณ ขอตั้งปณิธานสืบไปทุกภพทุกชาติ ให้ได้ออกบวชสู่ร่มกาสาวพัสตร์ ได้รับรักษาสิกขาบทอย่างไม่ท้อถอยไม่ละเมิดสิกขา ไม่ด่างพร้อย ขอให้สรรพเสียงทั้งปวง จักเป็นเสียงของ เทพ พญานาค อสุรกาย ยักษ์ มนุษย์ และอมนุษย์ จงเป็นเสียงประกาศพระธรรม  (คาถา 4 บาท)

            พึงมีมานะบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุถึงบารมีอันบริสุทธิ์ พึงรำลึกโพธิจิตอยู่เป็นนิตย์ จงละเว้นจากบาปมลทินทั้งหลาย พึงยังกุศลทั้งปวงให้ถึงพร้อม จงบรรลุถึงพระนิพพาน หากว่าจักไปบังเกิดในอสุรภพหรือเวียนว่ายในวัฏสงสาร ขอจงหลุดพ้น ดั่งปทุมชาติที่บังเกิดในน้ำแต่ไม่เปียกน้ำ ดั่งสุริยันจันทราซึ่งมิได้หยุดอยู่ในนภา  (คาถา 4 บาท)

            กำจัดทุกข์ทั้งปวงในอบายภูมิ ประสาทสันติแต่สรรพสัตว์ แม้จักต้องกระทำเช่นนี้ไปสักกี่กัลป์ ก็จักกระทำต่อไปเพื่อประโยชน์แด่มวลสรรพสัตว์ ข้าพเจ้าจักอนุโลมเพื่อสรรพสัตว์ จักบำเพ็ญเพียรตามมหาปณิธานแห่งพระสมันตภัทร สืบไปทุกกัลป์ เพื่อบรรลุถึงพระมหาโพธิญาณ  (คาถา 4 บาท)

            สรรพชีวิตทั้งปวงที่บำเพ็ญเพียรเช่นข้าพเจ้า ไม่ว่าจักเป็นผู้ใดจากภพใด ขอจงมาประชุม ณ มหาสันนิบาตแห่งนี้ ขอสรรพสัตว์ที่บำเพ็ญเพียรจงประกอบด้วยกาย วาจา ใจ อันแน่วแน่และบริสุทธิ์ ที่พร้อมจักบำเพ็ญไปพร้อมกัน วิชชาใดอันทรงประโยชน์ ขอจงสั่งสอนแก่ข้าพเจ้า เพื่อที่ข้าพเจ้าจักสามารถบำเพ็ญตามมหาปณิธานแห่งพระสมันตภัทรต่อไปขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงได้บำเพ็ญเพียรร่วมกัน ขอสรรพสัตว์ทั้งหลายจงเปี่ยมด้วยจิตอันเบิกบาน ปีติชื่นชมร่วมกัน  (คาถา 4 บาท)

            ขอให้ข้าพเจ้าได้แลเห็นพระพุทธเจ้าทั้งปวง ขอให้ข้าพเจ้าได้ถวายบูชาอภิวาทสืบไปไม่มีสิ้นสุด ข้าพเจ้าจักดำเนินตามพระรรมอันพระพุทธเจ้าทั้งปวงตรัสไว้ดีแล้ว ขอพระพุทธเจ้าทั้งปวงเปล่งพุทธรัศมีชี้นำมรรคาแห่งโพธิจิต ให้ข้าพเจ้าได้ดำเนินตามมหาปณิธานแห่งพระสมันตภัทรสืบไปชั่วกาล  (คาถา 4 บาท)

            ไม่ว่าข้าพเจ้าจักไปอุบัติในภพใด ในสภาวะเช่นใด จักขอบำเพ็ญกุศลสืบไป ขอบรรลุถึงสมาธิ ปัญญา มหาอุบายและหลุดพ้นจากสังสารวัฏในสหโลกธาตุอันประดุจละอองเกษตร อันมีพระพุทธเจ้าประกาศพระธรรมชี้ทางแห่งโพธิจิต

            พุทธเกษตรทั้งปวงในทศทิศอันมิอาจประมาณในแต่ละพุทธเกษตรต้องผ่านทั้งสามภพ ข้าพเจ้าขอบำเพ็ญเพียรสืบไปทั้งในพุทธเกษตรใดหรือภพใดๆพุทธวจนะแห่งพระตถาคตทั้งปวงล้วนวิสุทธิ์ประกาศก้องไปทั่วสารทิศ สรรพสัตว์ทั้งปวงสามารถเข้าใจในพุทธวจนะอันไพเราะยิ่งนักนั้นได้โดยทั่วกัน พระพุทธเจ้าทั้งไตรภพทรงแสดงพระธรรม ไม่มีที่ใดในสกลจักรวาลนี้ที่จักมิได้สดับพระธรรมนั้น ด้วยอำนาจแห่งมหาปัญญาข้าพเจ้าสามารถบรรลุได้ (คาถา 6 บาท)

            ข้าพเจ้าสามารถบรรลุถึงอนาคตภูมิใดก็ย่อมได้ กัลป์ทั้งหลายทั้งที่ล่วงมาแล้ว ในปัจจุบันและในอนาคต ข้าพเจ้าสามารถบรรลุถึงได้ดั่งจิตปรารถนา ข้าพเจ้าสามารถเห็นพระพุทธเจ้าในตรีภพได้ หากเพียงตั้งจิต ข้าพเจ้าสามารถไปเยือนพุทธเกษตร ได้สัมผัสการวิวัฒน์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ได้เห็นการหลุดพ้นจากสังสารวัฏ ได้เห็นอานุภาพอันเกื้อกูลการบรรลุมรรคผลได้  (คาถา 4 บาท)

            แม้เพียงปลายขนนก ก็อาจรองรับพุทธเกษตรมิอาจประมาณได้จากทั้งสามภพ เมื่อมีขนนกมากมาย (ฉันใด) พุทธเกษตรจักย่อมมีมากมายมิอาจประมาณไปด้วย ข้าพเจ้าจักขอไปสู่ในทุกพุทธเกษตรด้วยความศรัทธา สะอาดบริสุทธิ์ พระพุทธเจ้าทั้งปวสงเป็นดังประทีปส่องทางแด่สรรพสัตว์ เมื่อทรงบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วทรงแสดงพระธรรมเทศนาเพื่อปลุกสรรพสัตว์ทั้งหลายให้ตื่นขึ้น และเมื่อพระพุทธเจ้าทั้งปวงทรงยังพุทธกิจในพุทธเกษตรบริบูรณ์แล้วจักเสด็จเข้าสู่พระนิพพาน ข้าพเจ้าจักอยู่แทบพระบาทพระตถาคตทั้งหลายเพื่อปฏิบัติบำเพ็ญ (คาถา 4 บาท)

            พุทธานุภาพอันเป็นอจินไตยปรากฏเป็นสมันตะ อานุภาพแห่งมหายานปรากฏในทุกสถาน ผู้เปี่ยมด้วยมหาปัญญานั้นเปี่ยมด้วยกุศลมากมายยิ่งนัก ผู้แสดงเดชเดชานุภาพอันน่าเกรงขามเปี่ยมด้วยบารมีเกื้อกูลสรรพสัตว์ด้วยมหาเมตตากรุณา มหากุศลอันใหญ่หลวงสืบเนื่องจากจิตอันบริสุทธิ์ การไม่ยึดมั่นผูกพัน ละวาง นั้นคือปัญญาอันล้ำเลิศพลังแห่งสมาธิ ปัญญา อุบาย และกุศล เป็นปัจจัยเกื้อหนุนโพธิญาณ ยังกิจกุศลทั้งปวงด้วยจิตบริสุทธิ์ ปลดเปลื้องความทุกข์ทั้งหลาย ชำระอกุศลทั้งมวล เพื่อบรรลุถึงมหาปณิธานตามเสด็จพระสันตภัทรโพธิสัตว์ (คาถา 6 บาท)

            อาศัยอานุภาพนี้ อาจกระทำให้พุทธเกษตรทั้งหลายอันมิอาจประมาณ(ประดุจน้ำในมหาสมุทร) สง่างามและบริสุทธิ์ ปลดเปลื้องสรรพสัตว์ทั้งหลายให้พ้นจากทุกขเวทนา ผู้มีปัญญาย่อมสมารถจำแนกพระธรรมได้โดยพิสดาร (แยกย่อยแต่ละสาขา) ย่อมสามารถเข้าถึงพระธรรมอันล้ำลึกได้ สามารถยังกิจทั้งปวงโดยบริสุทธิ์ สามารถบรรลุถึงมหาปณิธานทั้งปวงได้  (คาถา 6 บาท)

            ข้าพเจ้าขออยู่แทบพระบาทแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ถวายอุปัฐากถวายพุทธบูชาบำเพ็ญเพียร อยู่เป็นเนืองนิตย์สืบ พระพุทธเจ้าทั้งปวงในสามภพ (ทรงสรรเสริญ) มหาปณิธานในการปฏิบัติโพธิมรรคนั้นประเสริฐที่สุด ข้าพเจ้าจักบำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุถึงมรรคผล ถวายเป็นพุทธบูชา จักตามเสด็จพระสมันตภัทรมหาโพธิสัตว์ เพื่อบรรลุถึงพุทธภาวะในจิตข้าพเจ้า (คาถา 6 บาท)

            พระพุทธเจ้าทั้งปวงทรงมีผู้สืบทอดพระธรรมอันเป็นเลิศคือ พระสมันตภัทร บัดนี้ข้าพเจ้าขอถวายกุศลทั้งปวงเป็นบูชาแด่พระสมันตภัทร ขอให้ ปัญญา บารมี จริยวัตรของข้าพเจ้าจงดำเนินตามพระองค์ ขอกายวาจาใจ จงสะอาดบริสุทธิ์ จิรยาวัตรทั้งปวง ทั้งพุทธเกษตรทั้งหลายจงสะอาด บริสุทธิ์ ปัญญาอันล้ำเลิศนั้นก็คือ พระปัญญาแห่งพระสมันตภัทร ขอข้าพเจ้าสามารถบำเพ็ญเพียรตามเสด็จพระสมันตภัทรมหาโพธิสัตว์  (คาถา 4 บาท)

            ช้าพเจ้าขอตามเสด็จพระสมันตภัทรและพระมัญชุศรีโพธิส้ตว์ด้วยใจอันบริสุทธิ์ โพธิสัตว์แห่งทั้งสองพระองค์นั้นมิอาจประมาณได้อาจดำเนินไปโดยเป็นนิรันดร์ปราศจากความเบื่อหน่ายและเมื่อยล้า (หากว่า)  การบำเพ็ญเพียรของข้าพเจ้าปราศจากขอบเขต บังเกิดมหากุศลมิอาจประมาณ ขอถวายไว้แด่การบำเพ็ญทั้งปวง (แห่งพระองค์ทั้งสอง) ข้าพเจ้าตระหนักถึงพลานุภาพ (แห่งพระองค์) อย่างถ่องแท้ พระมหาปัญญาแห่งพระมัญชุศรีโพธิสัตว์ อีกทั้งจริยาวัตรแห่งพระสมันตภัทรโพธิสัตว์นั้นประเสริฐ มิอาจประมาณได้ บัดนี้ข้าพเจ้าขอถวายกุศลทั้งปวงเป็นบูชาแด่พระมัญชุศรี และพระสมันตพภัทร ขอตามเสด็จพระมาหโพธิสัตว์ทั้งสอง  (คาถา 6 บาท)

            พระพุทธเจ้าในไตรภพ ล้วนทรงสรรเสริญมหาปณิธานอันประเสริฐยิ่งนัก บัดนี้ข้าพเจ้าขอถวายบุญกุศลทั้งปวง (เป็นพุทธบูชาแด่พระองค์) เพื่อข้าพเจ้าจักสามารถยังจริยาวัตรอันประเสริฐได้ดั่งพระสมันตพภัทรมหาโพธิสัตว์

            เมื่อข้าพเจ้าจักถึงกาลมรณะ ขออุปสรรคทั้งปวงจงปลาสนาการไปขอให้ได้แลเห็นพระอมิตาภพุทธเจ้า ขอให้ได้ไปบังเกิดในสุขาวดีพุทธเกษตรและเมื่อข้าพเจ้าได้ไปบังเกิดในวิสุทธิภูมินั้นแล้ว ขอบรรลุถึงหมาปณิธานนี้โดยบริบูรณ์ เพื่อยังประโยชน์แด่สรรพสัตว์ทั้งปวง ณ มหาปทุมสันนิบาติแห่งพระอมิตาภพุทธเจ้านั้นบริสุทธิ์ งดงาม เมื่อข้าพเจ้าได้ไปอุบัติในปทุมทิพยสถานอันประเสริฐนั้นแล้ว ได้ประจักษ์ถึงพุธรัศมีอันมีอาจประมาณได้ด้วยตาของข้าพเจ้าเอง เมื่อข้าพเจ้าได้เข้าเฝ้าพระโลเกศวร และได้รับพุทธพยากรณ์แล้ว สามารถบรรลุถึงพุทธภูมิ นิรมาณกายได้นับไม่ถ้วนทรงปัญญาอันยิ่งใหญ่ไพศาลทั้งทศทิศ (เพื่อโปรดสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ (คาถา 8 บาท)

            ตลอดจนโลกแห่งความว่างเปล่านี้หมดสิ้นลง ตลอดจนสรรพสัตว์ และบ่วงกรรมหมดสิ้นลง เมื่อสรรพสิ่งหมดสิ้นลง แต่มหาปณิธานอันข้าพเจ้าตั้งมั่นแล้วจักไม่มีสูญสิ้น (คาถา 2 บาท)

            ภพทั้งปวงในทศทิศอันมิอาจประมาณได้ มีรัตนมณีอันมีค่ามหาศาลถวายเป็นพุทธบูชา ประสงทสิ่งอันสันติแก่ทวยเทพและมวลมนุษย์ผ่านไปนับกัลป์จนมิอาจคำนวณได้ หากมีผู้ใดตั้งปณิธานดังนี้ เมื่อได้สดับแล้วบังเกิดศรัทธาเชื่อมั่น บำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุถึงโพธิญาณ ณ จักบังเกิดอานิสงส์เป้นอเนกอนันต์ (คาถา 4 บาท)

            ละเว้นจากอกุศลกรรมทั้งหลาย พ้นจากเหล่าอธรรมทั้งปวงชั่วนิรันดร์ได้ชื่นชมพระสิริแห่งพระตถาคตเจ้าอันปราศจากขอบเขตในเร็ววันนี้คือ มหาปณิธานอันยิ่งใหญ่แห่งพระสมันตภัทรมหาโพธิสัตว์ (คาถา 2 บาท)

            กุลบุตรอันสั่งสมกุศลย่อมมีอายุขัยยืนยาว ได้กลับมาบังเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง ได้บรรลุมรรคผลในเร็ววัน ได้ตามเสด็จพระมันตภัทรมหาโพธิสัตว์ (คาถา 2 บาท)

ในอดีตด้วยเหตุเพราะปราศจากปัญญา จึงได้ก่ออกุศลกรรมทั้ง 5 อันจักต้องเสวยผลกรรมนั้นตลอดไป หากได้สาธยายมหาปณิธานแห่งพระสมันตภัทรมหาโพธิสัตว์ ทุกขเวทนาทั้งหลายจักสูญสิ้นไปในพริบตา (คาถา 2 บาท)

ไม่ว่าชาติกำเนิดจะแตกต่างกันเพียงใด รูป เสียงวรรณะ จะต่างกันพียงใด แต่ปัญญานั้นบริบูรณ์ เหล่ามาร อกุศลกรรมทั้งหลายมิอาจให้ร้าย ทำลายได้ ควรแก่การรับการบูชาจากทั้งไตรภพ (คาถา 2 บาท)

ประทับทรงสมาธิอยู่เบื้องใต้พระศรีมหาโพธิ สยบหมู่กิเลสมารทั้งหลาย บรรลุพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เคลื่อนพระธรรมจักรโปรดสรรพสัตว์ทั้งปวง  (คาถา 2 บาท)

หากมีกุลบุตรใดอ่าน สาธยาย สรรเสริญ มหาปณิธานแห่งพระสมันตภัทรมหาโพธิสัตว์ ย่อมบังเกิดมหากุศลมีพระตถาคตเจ้าเท่านั้นทรงอาจประมาณได้ จักได้บรรลุถึงพุทธยานอันสูงสุด(คาถา 2 บาท)

หากมีกุลบุตรใดกระทำสาธยายมหาปณิธานแห่งพระสมันตภัทรมหาโพธิสัตว์ แม้เพียงเล็กน้อย ย่อมบรรลุถึงโพธิญาณได้ ปณิธานทั้งหลายไม่ว่าน้อยใหญ่ย่อมบรรลุผลได้ นำไปสู่ปณิธานแห่งสรรพสัตว์อันมีจิตวิสุทธิ์และผ่องใส (คาถา 2 บาท)

ด้วยมหาจริยาวัตรแห่งพระสมันตพภัทรโพธิสัตว์ อันเปี่ยมด้วยมหากุศลอันยิ่งใหญ่ไพศาล ข้าพเจ้า ขออุทิศกุศลนั้นแด่สรรพสัตว์ ขอสรรพสัตว์ที่ยังเวียนว่ายในสังสารวัฏจงบรรลุถึงพุทธภมิโยทั่วกัน (คาถา 2 บาท)

                            เมื่อพระสมันตภัทรมหาโพธิสัตว์ ตรัสคาถานี้เฉพาะพระพักตร์พระตถาคตเจ้าบริบูรณ์แล้พระสุธนกุมารรู้สึกปลาบปลื้มยิ่งนัก พระโพธิสัตว์ทั้งปวงต่างปิติโสมนัส พระผู้มีพระภาคทรงตรัสสรรเสริญสัมโมทนียกถา สาธุ สาธุ

                เมื่อนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสต่อพระอริยะ และพระโพธิสัตว์ทั้งหลายถึงพระธรรม อันเป็นเครื่องเปลื้องทุกข์ซึ่งทรงค่ายิ่งนักเกินพรรณนา พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ทรงเป็นองค์แทนแห่งพระมหาโพธิสัตว์ทั้งปวงและพระอรหันตขีณาสพผู้ละกิเลสแล้ว 6,000 รูป พระเมตไตรยโพธิสัตว์ทรงเป็นองค์แทนแห่งพระโพธิสัตว์ในภัทรกัลป์ปัจจุบันกาลนี้ พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ทรงเป็นองค์แทนแห่งโพธิสัตว์ที่จักตรัสรู้ในอนาคตกาล อันทรงควรสถานะแห่งการอภิเษก พระมหาโพธิสัตว์ทั้งปวงจากโลกธาตุทั่วทั้งทศทิศที่มาชุมนุม ณ มหาสันนิบาต และพระอริยะอันเสด็จมาจากพุทธเกษตรทั้งหลายพระสารีบุตรเถรเจ้าทรงเป็นองค์แทนแห่งพระสาวก เทพยดา มนุษย์ พญานาค ยักษ์ อสุรกาย แลอมนุษย์

                สรรพสัตว์ทั้งหลายเมื่อได้สดับพระธรรมอันพระตถาคตเจ้าตรัสแล้วล้วนปิติชื่นชมโสมนัสยิ่งนัก ล้วนบังเกิดศรัทธาโดยบริสุทธิ์ และน้อมรับไปสนองพระพุทโธวาท

ภาคผนวก

                1 อวตํสกสูตร หรือ พุทธาวตํสกมหาไพบูลยสูตร ที่ฝ่ายมหายานถือว่าพระพุทธองค์เทศนาแก่ปวงพระโพธิสัตว์มหาสัตว์ชั้นสูงมีพระมัญชุศรี พระสมันตภัทร ฯลฯ เมื่อตรัสรู้ใหม่ๆ แต่ในระยะกาลระหว่างพุทธปรินิพพานแล้ว 500 ปี พระสูตรอันลึกซึ้งยังมีถึงกาลอันจะแพร่หลายต่อมา เมื่อถึงยุคท่านอัศวโฆษได้เขียนหลักธรรมในพระสูตรนี้ออกเผยแพร่ในนามมหายานศรัทโธปาทศาสตร์ สืบมาอีกนาคารชุนได้ไปเมืองพญานาคศึกษารพระสูตรนี้ซึ่งซ่อนเร้นอยู่ในนาคมณเฑียร นาคารชุนได้ท่องพระสูตรนั้นจนจำได้คล่องแคล่ว จึงได้กลับขึ้นมายังมนุษยโลก แล้วจารพระสูตรนี้ลงสู่คัมภีร์ อวตํสกสูตร จึงได้แพร่หลายในมนุษยโลกกล่าวกันว่าพระสูตรนี้มี 3ฉบับๆที่แพร่หลายนั้นเป็นฉบับเล็ก ประกอบด้วยโศลกถึงหนึ่งแสนโศลกแบ่งเป็น 48 ปริวรรต ฉบับกลางว่ามีถึง 1,098,800 โศลก แบ่งเป็น 1,200ปริวรรต ส่วนฉบับใหญ่นั้นว่ามีโศลกอันคถานับมิได้ ราวพุทธศตวรรษที่ 9 พุทธภัทรได้แปลพระสูตรนี้ ออกสู่พากย์จีน ต่อมาในแผ่นดินถัง ศึกษานันทะได้แปลอีกฉบับหนึ่ง ถือกันว่าเป็นฉบับสมบูรณ์ ตั้งแต่พระสูตรนี้ถูกแปลออกมาเป็นจีนพากย์ ก็ถูกอุปนิสัย่ของชาวจีนมาก มีผู้ศึกษากันแพร่หลาย ในราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 คณะจารย์จีนชื่อ โต่วสุง ได้เขียนนิพนธ์เรื่อง ”ฮวบก่ายกวง” (ธรรมธาตุวิปัสสนาและ ”โหงวก่าจีกวง” (ปัญจศาสน์สมถวิปัสสนา)และสถาปนารากฐานของนิกายฮัวเงี้ยมขึ้นต่อมาคณาจารย์ฮวงจั๋งหรือ เฮี่ยงซิ้วได้เขียนอรรถกถาหลักธรรมใน อวตํสกสูตร นิกายฮัวเงี้ยมจึงเจริญรุ่งเรือง บางทีนิกายนี้ก็ชื่อว่าเฮี่ยชิ้วจงตามนามของคณาจารย์เฮี่ยงชิ้วนิกายนี้มีอิทธิพลคู่เครียงกับนิกายเทียนไท้มาตลอด(คัดจากปรัชญามหายานโดยเสถียร โพธินันทะ)

                2 อวตํสกสูตร มหายานถือว่าเป็นสูตรที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเองเป็นเวลา3สัปดาห์ ในขณะที่พระองค์เข้าสมาธิหรืออยู่ในภาพธรรมกาย อวตํสกสูตร นี้ต้นฉบับแปลที่สมบูรณ์มีอยู่ 2 ฉบับ คือ

                                2.1 ฉบับที่แปลโดย ท่านพุทธภัทร เป็นหนังสือ 60 เล่ม แปลในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก ในระหว่างปีพ.ศ. 961-1063

                                2.2 ฉบับแปลของท่านศึกษานันทะ ซึ่งได้ทำการแปลในสมัยราชวงศ์ถัง ในระหว่างปี พ.ศ. 961-1242 เป๋นหนังสือ 80 เล่มจบ ในกาลต่อมา คือในปีพ.ศ.

1439-1440 ท่านปรัชญาได้เป็นผู้แปลอีกครั้งหนึ่ง ฉบับที่ท่านปรัชญาแปลเป็นหนังสือ 40 เล่ม หนังสือ 40 เล่มนี้รวมกับทศภูมิสูตร และสูตรอื่นๆ อีก จึงเป็นอวตํสกสูตร ฉบับสมบูรณ์

                ใจความสำคัญของพระสูตรนี้ก็คือ “เมื่อเราพิจารณาโศลกในแสงจิตภาพของพระไวโรจนพุทธ พุทธที่สูงสุดหรือธรรมกาย เราเห็นโลกเต็มไปด้วยความแจ่มใส เห็นโลกแห่งแสงบริสุทธิ์แท้จริง ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนเป็นหนึ่ง หนึ่งนั้นคือสัจจะสูงสุด พุทธะ จิต สรรพสัตว์เป็นหนึ่ง

                อนึ่ง เป็นที่สังเกตว่า ผู้สั่งสอนในสูตรนี้มิใช่พระพุทธเจ้าหากแต่เป็นพระโพธิสัตว์กับเทวดา และในสูตรนี้เองยังได้อธิบายว่า เป็นการสั่งสอนตามเจตจำนงของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

                ส่วนในคัณฑวยูหสูตรนี้ เป็นสูตรที่บรรยายการจารึกแสวงหาโมกขะธรรมของชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ “สุธน” ซึ่งมีเรื่องอยู่ว่า

                สมัยหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับ ณ เชตวนาราม ของอนาถปิณฑิกเศรษฐี ท่ามกลางหมหู่พระโพธิสัตว์ 500 ซึ่งมีพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ และพระมัญชุศรีโพธิสัตว์เป็นหัวหน้า พระโพธิสัตว์เหล่านั้นกำลังคอยฟังพระรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าอยู่ แต่พระพุทธเจ้าทรงเข้าสมาธิ พร้อมกับได้ทรงเนรมิตพระเชตวนารามให้ใหญ่โตอย่างหาขอบเขตมิได้ พระโพธิสัตว์จากสิบทิศได้พร้อมกันมาเฝ้าพระองค์ และได้แต่งโศลกสรรเสริญพระองค์ พระพุทธเจ้าได้ทรงเปล่งรัศมีออกจากระหว่างขนตาพระองค์ ส่องสว่างเห็นพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย และสว่างทั้งสิบทิศ เป็นเหตุให้ดวงใจของพระโพธิสัตว์ทั้งมวลเต็มเปี่ยมไปด้วยความกรุณา เพื่อจะบำเพ็ญประโยชน์ต่อสรรพสัตว์

                พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ จึงได้ท่องเที่ยวสั่งสอนประชาชนในที่ต่างๆ สมัยหนึ่ง ในขณะที่กำลังพักสั่งสอนประชาชนอยู่ที่เมืองแห่งหนึ่ง ในแคว้นธัญยการะ มีเด็หนุ่มในตระกูลมั่งคั่งคนหนึ่งชื่อ “สุธน” นั่งฟังธรรมอยู่ในที่ชุมนุมนั้นด้วย สุธนนี้นั่งฟังด้วยความปรารถนาเพื่อศึกษา พระมัญชุศรีโพธิสัตว์จึงได้แนะนำแก่เขาว่า “ในการแสวงหาสัจธรรมนั้นเธอต้องแสวงหาเพื่อนที่แท้จริงคอยช่วยเหลือเธอ จงไปที่ภูเขาโยโฮ ประเทศโษรกุ ณ ที่นั้นเธอจะพบสครเมฆภิกษุ ท่านจะให้คำแนะนำที่ดีต่อเธอ”

                สุธนจึงได้เดินทางไปพบสครเมฆ ท่านได้สั่งสอนแก่เขาอย่างกว้างขวาง และแนะนำให้เขาไปหาเพื่อนคนอื่นๆ ต่อไปอีก โดยนัยนี้สุธนจึงได้เที่ยวไปหาสหายถึง 53 คน สุดท้ายได้ไปหาพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ อาศัยคำสั่งสอนของพระองค์ สุธนจึงได้บรรลุธรรมธาตุสัจจะสูงสุดเล่มสุดท้ายของคัณฑวยูหสูตร ได้กล่าวถึงคำปฏิญาณของสุธน และความปรารถนาของเขาในการที่ประสงค์ไปเกิดในสุขาวดีวยุหภพคำปฏิญาณของสุธนนั้นคือ

                1 ขอให้ได้สักการะพระพุทธเจ้าทุกพระองค์

                2 ขอให้ได้สรรเสริญพระตถาคต

                3 ขอให้ได้ถวายอุปัฐากแด่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์

                4 ขอขมาอกุศลกรรมในอดีต

                5 ขออนุโมทนากุศลกรรมทั้งปวง

                6 ขอมอาราธนา พระพุทธเจ้าให้ทรงแสดงพระธรรม

                7 ขอทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ทรงดำรงพระชนม์ต่อไป

                8 ขอศึกษาพระธรรมให้เจนจบ

                9 ขออนุโลมตามสรรพสัตว์

                10 ขออุทิศกุศลทั้งปวงแก่สรรพสัตว์

                ทศภุมิสูตรนี้ ต้นฉบับยังเหลอถึงปัจจุบันมี 2 ฉบับ คือฉบับที่แปลโดยท่านธรรมรักษ์ ซึ่งแปลในปี พ.ศ. 840 กับฉบับของท่านกุมารชีพ ส่วนฉบับเดิมที่เป็นภาษาสันสกฤตนั้นมีอยู่ครบบริบูรณ์ ในสูตรนี้วัชรครรภะโพธิสัตว์ ได้บรรยายถึงข้อปฏิบัติที่จะทำให้บุคคลบรรลุความเป็นโพธิสัตว์ ได้บรรยายถึงข้อปฏิบัติที่จะทำให้บุคคลบรรลุความเป็นโพธิสัตว์ 10 ประการ

                1 ปฺมุทิตา                ชั้นนี้พระโพธิสัตว์บำเพ็ญทานบารมีเพื่อประโยชน์สุขแก่สรรพสัตว์

                2 วิมลา                   ชั้นนี้พระโพธิสัตว์บำเพ็ญศีลบารมี

3 ปรฺภากรี              ชั้นนี้พระโพธิสัตว์พิจารณาถึงสภาพอันแท้จริงของสิ่งทั้งหลาย แสวงหาธรรมเพื่อช่วยสัตว์ผู้ประสบทุกข์ โดยปฏิบัติขันติบารมีธรรม

4 อริสฺมติ                ชั้นนี้พระโพธิสัตว์ขจัดความคิดอันผิดๆให้หมดสิ้นไป บำเพ็ญวิริยะบารมี

5 สุทุรยฺชย              ชั้นนี้พระโพธิสัตว์มีความรู้สมบูรณ์ ด้วยการปฏิบัติธฺยานบารมีหรือสมาธิ

6 อภิมุกฺต                อั้นนี้พระโพธิสัตว์เกิดความเข้าใจอย่างแจ่มชัดในปฏิจจสมุปบาท เป็นชั้นแห่งปรัชญาหรือปัญญาบารมี

7 ทุรงฺคม                 ชั้นนี้พระโพธิสัตว์เกิดความชำนาญในอุบายวิธีต่างๆแห่งปัญญา

8 อจล                     ชั้นนี้พระโพธิสัตว์อยู่ในสภาพที่ไม่เกิดไม่ตาย เกิดในพระพุทธศาสนา ยังภูมิแห่งพุทธของตนให้บริสุทธิปฏิบัติปรินามบารมี

9 สาทฺมติ                ชั้นนี้พระโพธิสัตว์มีปรัชญาของพระโพธิสัตว์บริบูรณ์เต็มที่ สามารถสั่งสอนธรรมและปลุกสัตว์ให้ตื่นขึ้นจากอวิชชา เป้นชั้นบำเพ็ญพลบารมี

10 ธรฺแมฆ              ชั้นนี้พระโพธิสัตว์บรรลุชั้นสุดท้าย พระโพธิสัตว์จะมีอำนาจและลักษณะของพระพุทธทุกประการเป็นชั้นที่บำเพ็ญบารมีธรรม

                                (คัดจาก พุทธศาสนามหายาน โดย อภิชัย โพธิประสิทธิ์ศาสตร์)

(3) นิกายฮั่วเงี้ยมได้จัดแบ่งการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้าออกเป็น 3 กาละ คือ

                1 ปฐมกาล พระพุทธองค์ตรัสรู้แล้วทรงแสดง อวตํสกมหาไพบูลย์สูตร อันมีอรรถลึกซึ้งสุขุมยิ่งนัก โปรดผู้ที่มีอินทรีย์ เป็นมหายานส่วนเดียว ยุคนี้มีอุปมาเหมือนพระอาทิตย์ที่เริ่มขึ้นในอรุณสมัยย่อมส่องต้องยอดภูเขา

                2 มัธยมกาล พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมที่เป็นประโยชน์แก่ผู้มีอินทรีย์ทั้ง 3 ยาน เพื่อให้บรรลุถึงพุทธภุมิโดยลำดับ คือทรงแสดงพระสูตรต่างๆของฝ่ายสาวกยาน ไวปูลยะปรัชญาปารมิตาอันเป็นของฝ่ายมหายานเป็นต้น

                3 ปัจฉิมกาล พระพุทธองค์ทรงสรุปหลักธรรมในยานทั้ง 3 เป็นยานเดียว จึงทรงแสดง สัทธรรมปุณฑริกสูตร มหาปรินิรวาณสูตร อุปมาเหมือนอาทิตย์อัสดงคต ย่อส่องแสงต้องยอดภูผาอีกวาระหนึง  (คัดจาก ปรัชญามหายาน โดยเสถียร โพธินันทะ)


 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats