- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันอังคาร, 13 กรกฎาคม 2564 06:10
- เขียนโดย Super User
เหตุการณ์พระพุทธศาสนาหลังพุทธปรินิพพาน
เป็นที่น่าสังเกตว่า ศาสนาใหญ่ๆ ทุกศาสนาในโลกนี้ จะดํารงอยู่ โดยไม่มีการแตกแยกเป็นนิกายย่อยๆ เห็นจะไม่มีเลย ทั้งนี้เพราะเมื่อศาสนานั้นๆ แผ่กว้างออกไปในหมู่ประชาชนต่างชาติต่างภาษา ก็ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงบ้างเป็นธรรมดา ถึงศาสนาที่มีอายุยืนๆ เช่น พุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์ และคริสต์ศาสนาเป็นต้น กาลเวลาและความผันผวนของโลกย่อม ทําให้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อาจกล่าวได้ว่าศาสนาเก่าๆ ทุกศาสนาในปัจจุบันนี้ ได้ห่างไกลหรือแปรความเป็นไปจากครั้งเมื่อปฐมกาลไม่มากก็น้อย ศาสนาใดไม่มีการเปลี่ยนแปลง ศาสนานั้นก็ไม่เจริญและแผ่กว้างออกไปได้ และในที่สุดก็ต้องดับสูญไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้หมาย ถึงการแก้ไข ตัวบทหรือหลักธรรมของศาสนา เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจะกลายเป็นการแต่งตั้งหรือประดิษฐ์ศาสนาขึ้นมาใหม่ต่างหาก แต่หมายเอาการแก้ไขวิธีการและ ปฏิบัติการบางอย่างของศาสนานั้น เพราะฉะนั้น ทุกศาสนาถึงจะมีนิกายมากมายสักเพียงใด และกาลเวลาจะผ่านมาสักเท่าใด ไม่ว่าจะนานแสนนานสักปานใด หลัก ธรรมหรือจุดมุ่งหมายของศาสนาเดิมนั้น ก็หาได้เปลี่ยนแปลง ไปด้วยไม่ พระพุทธ ศาสนาก็ตกอยู่ภายใต้คตินี้เช่นเดียวกัน
เสถียร โพธินันทะ แถลงไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาตอนหนึ่งว่า “สําหรับพระพุทธศาสนา ถ้าเราจะสอบสวนถึงต้นรากแห่งการมีนิกายแล้ว ก็ไม่อาจที่จะลืมนึกถึงหลักใหญ่ๆ สามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ นั่นคือหลักของการศึกษาเล่าเรียนให้เกิดความรู้เรียกว่าปริยัติหนึ่ง หลักของการกระทําตนให้ดําเนินตามธรรมที่ตนรู้ เรียกว่าปฏิบัติหนึ่ง และผลที่ได้รับจากการปฏิบัติที่เรียกว่าปฏิเวธอีกหนึ่ง หลักสามประการนี้มีความสําคัญเกี่ยวโยงกันอยู่ คือปริยัติเปรียบดังแผนที่ทางที่จะให้ถึงแหล่งขุมทรัพย์ ปฏิบัติเปรียบการทางออกค้นหาขุมทรัพย์นั้นตามแผนที่ปฏิเวธ เหมือนการเดินทางถึงจุด ขาดหลักใดหลักหนึ่ง ความสําเร็จผลย่อมมีหาได้ ไม่ การที่นิกายมีความเห็นแตกต่างกันออกไปนั้น ก็เป็นเพราะความบกพร่อง ขาดหลักใดหลักหนึ่งไป และที่สําคัญอย่างยิ่งคือ ได้ขาดหลักประการที่สามคือ “ปฏิเวธธรรม” ไปเสีย
ความคิด ความเห็นของคนแต่ละคนที่มีต่อคัมภีร์ อันตนได้ร่ำเรียนนั้น แตก แยกออกเป็นมติต่างคนต่างเข้าใจอย่างหนึ่ง อีกคนหนึ่งเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่งไม่ตรง กัน และต่างฝ่ายก็ยึดถือมติของตนว่าถูกตรง ของผู้อื่นผิด เพราะปถุชนเรานั้นมักจะเข้าข้างตนเองเสมอ โดยมิใคร่จะคํานึงถึงเหตุผลอะไรนัก และเมื่อตนถือมติใด ก็อดไม่ได้ที่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์เปรียบเทียบกับมติของฝ่ายอื่น จึงได้มีการโต้วาทะกันระหว่างกันและกันว่า ใครจะดีกว่าใคร หนักเข้าก็เลยแตกสามัคคี แล้วนิกายก็เป็นเงาตามเข้ามาทันที
ความจริงเรื่องการแตกสามัคคีในสังฆมณฑล ก็ได้เริ่มมีมาแล้ว แต่สมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ เช่น เรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพี และพระเทวทัตกับคณะเป็นตัวอย่าง แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อองค์พระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ เหตุเกิด ขึ้นก็ย่อมระงับลงได้ด้วยมีผู้ชี้ขาดและตัดสิน และสาวกส่วนใหญ่ก็ยังมีความเชื่อความเลื่อมใสในองค์พระศาสดายังแรงกล้าอยู่ แม้จะมีความคิดความเห็นไม่ลงรอยกันก็ยังมีความยําเกรงอยู่ ไม่กล้ากระทําการใดโดยพลการ ดังจะเห็นได้ว่า แม้พระเทวทัตมีประสงค์ จะให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบทบางข้อ ก็ยังกราบทูลขอ พุทธานุญาตอยู่ แต่เหตุการณ์ดังที่ว่ามานี้ย่อมค่อยๆ สลายลง เมื่อพระศาสดาล่วงลับ แล้ว สาวกทั้งหลายย่อมมีริษยากันในบางหมู่บางเหล่า ซ้ำอาจไม่หลงเหลือความยํา เกรงในพระเถระองค์อื่นนอกจากอุปัชฌาย์อาจารย์ของตนๆ มีการตีความพระธรรมวินัยตามความคิดของตนๆ ยิ่งเมื่อแยกย้ายกันไป ห่างเหินกันมากขึ้น ทิฐิและศีลก็วิปริตกันและกันมากขึ้น สุดท้ายก็เข้ากันไม่ได้
นิกายมหายานและสาวกยาน จึงถือกําเนิดขึ้นด้วยประการดังว่ามานี้ ซึ่งก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการแบ่งแยกออกเป็นนิกาย
เสถียร โพธินันทะ ได้แสดงปาฐกถาในเรื่อง “ลัทธิมหายานแก่นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ในหอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ วันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2505 ความตอนหนึ่งว่า “ท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่า ศาสนาทุกศาสนาในโลก จะต้องมีคณะนิกายแบ่งแยกออกมาภายหลังที่พระศาสดาของศาสนานั้นล่วงลับไปแล้ว ทั้งนี้ เพราะเมื่อศาสนานั้นแผ่ ขยายออกไปตามท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งมีขนบธรรมเนียม ประเพณีความเชื่อถือไม่เหมือนกัน ก็มีการผสมผสานกับลัทธิธรรมเนียมเหล่านั้น อีกทั้งทรรศนะการตีความในคําสอนของศาสดาของแต่ละบุคคล แต่ละคณะไม่ตรง กัน จึงเป็นเหตุให้เกิดแบ่งแยกเป็นนิกายขึ้น ศาสนาที่มีลัทธินิกายจึงเป็นสัญญลักขณ์ ของความเจริญแห่งศาสนานั้นในแง่หนึ่งเหมือนกัน ว่ากันเฉพาะในพระพุทธศาสนา ได้เริ่มแบ่งแยกนิกายขึ้นในครั้งแรกในสมัยพุทธศตวรรษที่ 1 ต่อมาถึงพุทธศตวรรษที่ 4 ปรากฏว่ามีนิกายในพระพุทธศาสนาที่เป็นนิกายใหญ่ๆ อยู่ 18 นิกาย นิกายที่สําคัญ คือนิกายมหาสังฆิกะกับนิกายเถรวาท มูลเหตุของการแตกแยกมีสมุฏฐานจากความขัดแย้งในทางปฏิบัติพระวินัย และคําอธิบายในพระพุทธวจนะไม่ตรงกัน สงฆ์ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรแก้ไข ผ่อนปรนในการปฏิบัติวินัยบางข้อ โดยอ้างพระพุทธานุ ญาตที่มีไว้กับพระอานนท์ ในสมัยจวนดับขันธปรินิพพานว่า
“ดูก่อนอานนท์ โดยการล่วงไปแห่งเรา ถ้าสงฆ์ต้องการ ก็จงถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสียบ้างได้”(มหาปรินิพานสูตร)
สงฆ์อีกฝ่ายหนึ่ง ไม่เห็นพ้องด้วย โดยอ้างเหตุผลว่า คําว่าสิขาบทเล็กน้อยไม่อาจทราบพระพุทธประสงค์ได้ว่า หมายความถึงสิกขาบทข้อไหน พระอานนท์เองก็มิได้ทูลถามให้ชัดเจนว่า ได้แก่สิกขาบทหมวดไหน ฉะนั้น อย่าเพิกถอนสิกขาบททั้งหมดเลยแหละดี ควรจะรักษาเอาไว้ทุกข้อ อย่างเคร่งครัด
อีกประการหนึ่ง การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธวจนะนั้น ย่อมอาศัยอาจารย์เป็นผู้สั่งสอนอธิบาย อาจารย์กับอาจารย์ด้วยกันเกิดมีทรรศนะอรรถาธิบายพระพุทธมติไม่ตรงกัน ก็เป็นสาเหตุอีกข้อหนึ่งที่ทําให้เกิดแบ่งแยกกันออกไป สงฆ์ฝ่ายนิกายมหาสังฆิกะเป็นพวกที่ต้องการแก้ไข ผ่อนปรนในการปฏิบัติพระวินัย และถืออรรถา ธิบายพระพุทธวจนะของพระอาจารย์เป็นใหญ่ สงฆ์ฝ่ายเถรวาทถือเคร่งครัดในการรักษาจารีตแบบแผนดั้งเดิมไม่ยอม เปลี่ยนแปลงเป็นหลักใหญ่
สรุปแล้วก็คือ 1. เพราะการปฏิบัติพระวินัย ไม่สม่ำเสมอเหมือนกัน เรียกว่า ความวิบัติแห่งศีลสามัญญตา 2. เพราะทรรศนะในหลักธรรม อธิบายไม่ตรงกันเรียก ว่าความวิบัติแห่งทิฏฐิสามัญญตา ทั้งสองประการนี้เป็นสมุฏฐานให้แบ่งเป็นนิกายขึ้น” มูลเหตุแห่งการแตกแยกนิกายในพระพุทธศาสนา จึงมีนัยดังที่ได้กล่าวมา และจะได้ลําดับเหตุการณ์มาประมวลไว้เพื่อให้เห็นชัดสืบไป
ก. การขัดแย้งทางความคิดในปฐมสังคายนา
เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานได้เพียง ๗ วันเท่านั้น รอยร้าวในสังฆมณฑลก็ได้เผยโฉมหน้าออกมาให้เห็นอย่างโจ่งแจ้ง โดยที่มีภิกษุผู้บวชเมื่อแก่รูปหนึ่ง ชื่อสุภัททะ ได้แสดงความดีใจในการปรินิพพานของพระพุทธองค์ ทั้งได้กล่าวจาบจ้วงพระธรรมวินัยโดยใจความว่า “พวกท่านทั้งหลายจะพากันพิร่ำพิไรไปทําไม พระพุทธเจ้า ผู้เป็นเจ้าของแห่งธรรมได้ปรินิพพานไปแล้ว การที่พระองค์ปรินิพพานนั้น ย่อมเป็นการดีแก่พวกเรา เพราะเมื่อพระองค์ยังทรงพระชนมอยู่ ทรงตรัสห้ามอย่างนั้นอย่างนี้ บัดนี้ พวกเราพ้นทุกข์แล้วจะทําอะไรก็ทําได้ตามใจชอบ ไม่มีใครมากล่าวห้ามปราม อีกเลย
พระมหากัสสปเถระทราบความนั้น เกิดธรรมสังเวช และดําริว่า“พระพุทธ เจ้าปรินิพพานสิ้นกาลไม่นานนัก คือเพียง 7 วันเท่านั้น ก็มีภิกษุอลัชชี ไม่มียางอาย กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัยในท่ามกลางสงฆ์เช่นนี้ ต่อไปภายภาคหน้าจะมิยิ่งร้ายกว่านี้หรือ อย่ากระนั้นเลย เราจักเรียกประชุมสงฆ์องค์อรหันต์ทั้งหลาย เพื่อหาทางป้องกันและกําจัดอลัชชีให้หมดไป ชําระพระธรรมวินัย ร้อยกรองเข้าเป็นหมวดหมู่ เพื่อความดํารงมั่นของพระพุทธศาสนา” ดังนั้น เมื่อจัดการปลงพระพุทธสรีระแล้ว พระมหากัสสปะได้ปรารภแก่ที่ประชุมสงฆ์ ณ เมืองกุสินาราถึงการร้อยกรองพระธรรมวินัยให้เป็นหลักฐานด้วยอ้างเหตุ 3 ประการคือ
1. เพราะพอปรากฏว่า ข่าวปรินิพพานของพระศาสดาแพร่หลาย ก็มีพระเฒ่ารูปหนึ่ง ชื่อสุภัททะ (ไม่ใช่องค์ที่เป็นปัจฉิมสาวก) กล่าวถ้อย คําแสดงเจตนารมณ์เป็นเสี้ยนหนามต่อพระศาสนา ทํานองว่า พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปก็ดีแล้ว พวกเราจะได้พ้นจากการปกครอง ไม่ต้องมีผู้ใดมาคอยตักเตือนบัญญัติโน่นบัญญัตินว่า ข้อนี้เธอไม่ควรทําข้อนี้เธอควรทํา
2. เพราะพระพุทธดํารัสที่รับสั่งแก่พระอานนท์เถระเจ้าว่า พระธรรมวินัยจักเป็นศาสดาแทนพระองค์ ในกาลที่พระองค์ล่วงไป
3. เพราะรําลึกถึงคุณพระศาสดาที่มีต่อท่านเอง
สําหรับเรื่องพระเฒ่าสุภัททะ กล่าววาจาเป็นเสี้ยนหนามนั้น พิเคราะห์ดูเห็นว่าจะไม่ใช่มีแต่พระสุภัททะรูปเดียวเท่านั้น คงจะมีปาปภิกษุอีกไม่ใช่น้อย ที่มีความคิดเห็นอย่างสุภัททะ ความข้อนี้เมื่อไปสอบสวน กับเรื่องราวทางฝ่ายมหายานเข้าก็ได้พบความจริงว่า นอกจากพระสุภัททะ แล้วยังมีอัชชีภิกษุที่มีทิฏฐิดังนั้นมาก และนอกจากนี้ก็ปรากฏต่อมาว่า มีพระต่างบ้านต่างเมืองอีกหลายหมู่หลายคณะต่างถือข้อปฏิบัติตามเจ้าหมู่เจ้าคณะของตน ไม่ยอมเข้าหมู่กับฝ่ายสงฆ์ที่มีพระมหากัสสปะเป็นประมุขอยู่เมื่อพระมหากัสสปะเสนอความเห็นนี้ในสภาสงฆ์เมืองกุสินารา ก็ลงมติเห็นชอบด้วย
การสังคายนาครั้งที่ 1 จึงได้กระทําขึ้น เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน แล้วได้ 3 เดือน ณ ถ้าสัตตบรรณคูหา ข้างภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีพระมหากัสสปเถระเป็นประธานและเป็นผู้สอบถาม พระอุบาลีเถระเป็นผู้ตอบข้อซักถามทางพระวินัย พระอานนท์เถระเป็นผู้ ตอบข้อซักถามทางธรรม (พระสูตรและพระอภิธรรม) มีพระอรหันต์ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมประชุมจํานวน 500 รูป กระทําอยู่ 7 เดือนจึงสําเร็จ ทั้งนี้ ได้พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นองค์อุปถัมภก
“ในปฐมสังคายนาครั้งนั้น พระอานนท์เถระเจ้าได้กล่าวต่อที่ประชุม สงฆ์ถึงพระพุทธานุญาต ข้อที่ให้สงฆ์ถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ ที่ประชุมได้ถามพระอานนท์ว่าสิกขาบทเล็กน้อยหมายความแค่ไหนเพียงไร พระอานนท์ตอบว่า ท่านมิได้ทูลถามไว้เลย ครั้งนั้นที่ประชุมต่างมีความเห็นต่างๆ พระเถระบางพวกก็ว่าเว้นปาราชิก 4 เสีย ที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย บางพวกว่ายกเว้นปาราชิก 4 สังฆาทิเลส 13 อนิยต 2 เสียที่เหลือจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อย ฯลฯ” เมื่อมติที่ประชุมแตกต่างกันเช่นนี้ พระมหากัสสปเถระจึงได้กล่าวตัดเสียว่า “ดูก่อนอาวุโส ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า สิกขาบททั้งหลายของพวกเรา ที่บ่งถึงคฤหัสถ์ก็มีอยู่ แม้พวกคฤหัสถ์ก็ย่อมรู้ว่านี้ควรแก่ท่านทั้งหลายผู้เป็นสมณศากยบุตร นี้ไม่ควรแก่ท่านทั้งหลาย ดังนี้ ถ้าพวกเราจักพร้อมกันถอนสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ ไซร้ ก็จักมีผู้กล่าวว่า พระสมณโคดมทรงบัญญัติสิกขาบทเพื่อเหล่าสาวกชั่วกาลแห่งควันไฟ พระศาสดาของสาวกเหล่านี้ดํารงอยู่แล้วเพียงใด สาวกเหล่านี้ก็ศึกษาแล้วในสิกขาบททั้งหลายเพียงนั้น เพราะพระศาสดาของสาวกเหล่านี้ปรินิพพานแล้ว บัดนี้เหล่าสาวกจึงไม่ศึกษาในสิกขาบททั้งหลาย ก็ถ้าความพรั่งพร้อมของสงฆ์ถึงที่แล้วไซร้สงฆ์ไม่พึงบัญญัติสิกขาบทที่ยังมิได้ทรงบัญญัติ พึงไม่ตัดทอนสิกขาที่ทรงบัญญัติ แล้วจึงสมาทานประพฤติในสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้ นี้เป็นญัตติ
ในที่สุด สงฆ์ทั้งปวงก็เห็นชอบอนุมัติตามนี้ ซึ่งเป็นอันยุติว่า “สงฆ์ (ฝ่ายที่เห็นด้วยกับพระมหากัสสปะ) จะไม่ถอนสิกขาบทแม้แต่เล็กน้อยเลย คณะสงฆ์คณะนี้จึงได้ปรากฏนามสืบต่อมาว่า คณะเถรวาทหรือ สถีรวาทหรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า “วินัยวาที” ก็เรียกได้ เพราะถือตามมติของพระเถรานุเถระอันมีพระมหากัสสปะเป็นประมุข”
เมื่อวิเคราะห์ดูให้ลึกซึ้งจะเห็นได้ว่า การสังคายนาครั้งนี้ มิเพียงเพื่อชําระร้อยกรองพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่ เป็นระเบียบแบบแผนเท่านั้น แต่เป็นการยืนยัน สังฆมติ ที่ระงับความคิดขัดแย้งเกี่ยวกับเรี่องสิกขาบทเล็กน้อย ที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้เพิกถอนได้ว่า มิควรเพิกถอน และควรสมาทานประพฤติในสิกขาบทตามที่ทรงบัญญัติไว้อย่างเคร่งครัดด้วย
อนึ่ง ผลจากมติสังฆสภาในครั้งนั้น ยังให้ลงโทษปรับอาบัติทุกกฏแก่พระอานนท์เถระเป็นข้อๆ ดังนี้
1. ข้อที่ไม่ได้ทูลถามถึงสิกขาบทเล็กน้อยว่าได้แก่อะไรบ้าง
2. ข้อที่เหยียบผ้าวัสสิกสาฎก (ใช้เท้าหนีบ) ของพระผู้มีพระภาคเจ้า
3. ปล่อยให้พวกสตรีถวายบังคมพระสรีระก่อน และพวกนางก็ร้องไห้น้ำตาเปียกปื้อน
พระสรีระ
4. ไม่ทูลวิงวอนพระศาสดา ให้ทรงดํารงอยู่ตลอดกัปป์ เมื่อพระองค์ทรงทํานิมิต
โอภาส
5. ขวนขวายให้สตรีได้บวชในธรรมวินัย
พระอานนท์กล่าวชี้แจงการกระทำของท่านทั้ง 5 ข้อนั้นว่า
1. เพราะมิได้ราลึกถึง
2. ที่เหยียบล่วงเกินไม่ใช่เพราะความไม่คารวะ แต่เพราะไม่มีคนช่วยจับในเวลาเย็บ
3. เพราะเห็นว่าสตรีเหล่านั้น ไม่ควรจะอยู่ในเวลาวิกาล จึงให้พวกนางถวายบังคม
ก่อน
4. เพราะถูกมารดลจิต จึงมิได้ทูลวิงวอน
5. เพราะเห็นว่า พระมหาปชาบดีโคตมีนี้ เป็นพระเจ้าน้าถวายพระขีโรทกแก่พระผู้มี
พระภาคเจ้าในเยาวกาล จึงขวนขวายให้สตรี ได้บวชในธรรมวินัย”
แต่พระอานนท์เถระท่านเป็นนักประชาธิปไตยแท้ และมีความเคารพในมติของสังฆสภา ท่านจึงไม่ขัดขืนต่อความเห็นของคนส่วนใหญ่ จึงได้กล่าวว่า “ข้าพเจ้าไม่เห็นอาบัติทุกกฏนั้น แต่เพราะเชื่อท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้าขอแสดงทุกกฏนั้น ณ บัดนี้”
ข. เค้าแห่งความแตกแยกในทางศีล
ในการประชุมสังคายนาครั้งนี้ ได้กระทําขึ้นโดยภิกษุหมู่หนึ่งเท่านั้น ยังมีภิกษุอื่นอีกเป็นจํานวนมากที่ไม่ได้เข้าประชุมด้วย ดังจะเห็นได้จาก เรื่องของ พระ ปุราณะที่กล่าวไว้ในจุลวรรคแห่งพระวินัยปิฎกว่า สมัยนั้นพระปุราณะได้พาภิกษุบริวาร 500 รูปเดินทางจาก ทักขิณาคิรีชนบท มาพักอยู่ที่พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ พวกภิกษุที่เข้าประชุมทําสังคายนาได้ แจ้งให้ท่านปุราณะทราบว่า พวกตนได้ทําการสังคายนาพระธรรมวินัยเสร็จแล้ว และได้ขอให้พระปุราณะได้รับรู้หรือรับรองการกระทําของพวกตนด้วย พระปุราณะได้พูดเป็นเชิงคัดค้าน หรือไม่ค่อยจะเห็นดีด้วยว่า “พระธรรมวินัยที่ท่านทั้งหลายได้กระทําไปก็เป็นการดีแล้ว ส่วนข้าพเจ้าเคยได้ฟัง ได้รู้ จากสํานักของพระบรมศาสดาอย่างไรก็จักรักษาไว้อย่างนั้น” ซึ่งหมายความว่า ที่ท่านได้ทําไปก็เป็นการดีสําหรับพวกท่าน ส่วนข้าพเจ้าจะถือตามที่ได้ฟังได้รู้จากพระบรมศาสดาเท่านั้น และนอกจากนั้น พระปุราณะยังได้ขอร้องให้พระมหากัสสปเถระจัดทําสังคายนาใหม่ เพราะที่ทํามาแล้วนั้นตนเองไม่เห็นด้วย พระมหากัสสปะก็ได้เรียกประชุมสงฆ์ทําสังคายนาใหม่ซึ่งก็ได้ทําเหมือนอย่างเดิม เมื่อพระอรหันต์ทั้งหลาย ได้ทําสังคายนาเสร็จแล้ว พระปุราณะได้กล่าวว่า ที่ทํามานั้นตนเห็นด้วยทุกประการ แต่มีสิกขาบทอยู่ 8 ข้อ ที่ตนไม่เห็นด้วยคือ
1. อันโตวุตถะ ของอยู่ภายในที่อยู่
2. อันโตปักกะ ให้สุกภายในที่อยู่
3. สามปักกะ ให้สุกเอง
4. อุคคหิตะ หยิบของที่ยังไม่ได้รับประเคน
5. ตโตนีหฎะ ของที่นํามาจากที่นิมนต์
6. ปุเรภัตตะ ของที่รับประเคนในกาลก่อนแห่งภัตร
7. วนัฏฐะ ของอยู่ในป่า
8. โปกขรัฏฐะ ของอยู่ในสระ
ท่านปุราณะเห็นว่า พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์สาวก ปฏิบัติได้ แต่พระมหากัสสปะ กล่าวแย้งว่า พระพุทธองค์ทรงอนุญาตจริง แต่ทรงอนุญาตให้ปฏิบัติได้ในเวลาข้าวแพงเท่านั้น เมื่อพ้นสมัยข้าวแพงแล้ว พระพุทธองค์ทรงบัญญัติขึ้นใหม่ การที่พระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตแก่ภิกษุ ในเวลาข้าวแพงนั้น ถือว่าเป็นกรณีพิเศษ ที่ทรงอนุญาตในเวลาคับขัน เพื่อมิให้ตึงเครียดจนเกินไป จะทําให้ภิกษุสงฆ์เดือดร้อนมาก แต่พระปุราณะก็ยังไม่พอใจอยู่นั่นเอง และได้กล่าวกับพระมหา กัสสปะว่า ตนจะทําตามความชอบใจของตน ครั้นแล้วก็ได้พาบริวารของตนไปทําสังคายนาใหม่ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าไปทําที่ไหน เมื่อไร และทํากันอย่างไร
จากลําดับที่แสดงมาให้เห็นนี้ จะเห็นได้ว่า เค้าแห่งความแตกแยก ในด้านความคิดระหว่างหมู่สงฆ์ได้มีอยู่ก่อนแล้ว แม้แต่ในสมัยพุทธกาล หลังพุทธปรินิพพานแล้วก็ยิ่งปรากฏชัดในหมู่คณาจารย์ใหญ่ๆ มีบริวารจํานวนมากๆ เช่นพระปุราณะ แม้จะยอมรับในหลักการใหญ่ๆ แห่งสิกขาบท ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ แต่ก็มีขัดแย้งในเรื่องสิกขาบทปลีกย่อย ดังสิกขาบท 4 ข้อ ที่ท่านปุราณะยกขึ้นมาคัดค้านพระมหากัสสปะนั้น อีกอย่างหนึ่งเล่า เป็นที่น่าเชื่อว่า นอกจากพระปุราณะแล้วคงจะยังมีพระคณาจารย์รูปอื่นๆ ที่มีความคิดเห็นแตกต่างไปจากนี้ และยึดถือปฏิบัติตามแนวทางของตนอยู่ แต่เนื่องจากพระพุทธเจ้าเพิ่งเสด็จดับขันธปรินิพพานไม่นาน ในบรรดาพระสาวกมีจํานวนมากที่เคยอุปสมบทเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า และที่เคยอุปสมบทในสํานักคณาจารย์อื่นๆ แต่ได้เคยรู้เคยเห็น ได้ศึกษาธรรมวินัยในสํานักพระผู้มีพระภาคเจ้า ยังสามารถอรรถาธิบาย และ ตัดสินความผิดถูกได้มากอยู่ อาจขัดแย้งกันในเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ก็ยังสรุปได้ว่า ความขัดแย้งกันในเรื่องศีลได้เริ่มมีขึ้นแล้วนับแต่ก่อนหรือในช่วงระยะการสังคายนาครั้งที่ 1 เกี่ยวกับความขัดแย้งแตกแยกกันในเรื่องศีลนี้ อาจเกิดเพราะเหตุสองประการคือ เพราะต่างยึดถือทิฐิว่า ตนก็ได้ยินได้ฟังมาจากสํานักของพระผู้มีพระภาคเจ้า หรือสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เช่นกับท่านคณาจารย์องค์อื่นๆ และอีกเหตุหนึ่งนั้นอาจเพราะลงมติว่า พระพุทธองค์ทรงมีพุทธานุญาตให้สาวกเพิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้ ข้อที่ตนมีความคิดเห็น เมื่อเปรียบเทียบกับศีลที่ทรงบัญญัติไว้ในพระปาฏิโมกข์ก็ดเล็กน้อย หากมีพระบัญญัติไว้เช่นนี้ เมื่อสาวถหมู่ใหญ่ลงความเห็นว่าอาจเพิกถอน ไม่สมาทานปฏิบัติตามก็ได้ ก็อาจเพิกถอนได้ แต่เมื่อนานไปความคิดเห็นและเชื่อถือเช่นนั้น ก็กลายเป็นทิฐิของแต่ละฝ่ายที่ถือเป็นข้อโจมตีกันและกันและลงรอยกันไม่ได้ อันเป็นเหตุให้ความร้าวฉานเกิดขึ้นรุนแรง และกระจายออกไปโดยลําดับ
ค. ทุติยสังคายนา
“หลังพุทธปรินิพพานได้ 100 ปี พระภิกษุชาวเมืองเวสาลี ได้แตกกันออกเป็น 2 ฝ่าย อันเนื่องมาจากความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องวัตถุ 10 ประการ โดยที่พวกหนึ่งเห็นว่า วัตถุ 10 ประการนี้ ชอบด้วยพระธรรมวินัย เกิดโต้เถียงกันอย่างรุนแรง จนเกิดแตกแยกกันออกเป็น 2 ฝ่าย และได้กลายเป็นสาเหตุที่ให้เกิดการแตกแยกกันมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ วัตถุ 10 ประการนั้น คือ
1. สิงคโลณกปฺป ภิกษุสั่งสมเกลือใส่ในกลักเขาเป็นต้น แล้วนําไปผสมกับอาหารอื่น
ฉันได้ไม่เป็นอาบัติ
2. ทวงฺคุลกปฺป ภิกษุฉันอาหารในเวลาตะวันบ่ายล่วงไปแล้ว 2 องคุลีได้ไม่เป็นอาบัติ
3. คามนฺตรกปฺป ภิกษุฉันอาหารในวัดแล้ว เข้าไปในบ้านเขา ถวายอาหารให้ฉันอีก
ในวันเดียวกันนั้น ภิกษุมิได้ทําวินัยกรรมมาก่อนก็ฉัน ได้ไม่เป็นอาบัติ
4. อาวาสกปฺป อาวาสใหญ่ กําหนดสีมาอันเดียวกัน จะทํา อุโบสถในที่ต่างๆกัน ถือ
ว่าไม่เป็นอาบัติ
4. อนุมติกปฺป ถ้ามีภิกษุที่ควรนําฉันทะมามีอยู่ แต่มิได้นํามา จะทําอุโบสถกรรม
เสียก่อนก็ควร
6. อาจิณฺณกปฺป ข้อปฏิบัติอันใดที่เคยประพฤติตามกันมาแต่พระอุปัชฌาย์อาจารย์
แม้จะประพฤติผิด ก็ควรประพฤติตามท่านได้
7. อมตฺถิตกปฺป ภิกษุฉันอาหารแล้วยังมิได้ทําวินัยกรรมก่อน ฉันนมสดที่ยังมิได้แปร
เป็นนมส้มก่อนก็ควร
8. ชโลคี ปาตุ? ภิกษุชาววัชชีเห็นว่า ภิกษุฉันเหล้าอ่อนๆ ที่ยังมิได้เป็นน้ำสุราได้
9. อทสกํ นิสีทนํ ภิกษุใช้ผ้านิสีทนะที่ไม่มีชายก็ควร
10. ชาตรูปรชตํ ภิกษุจะรับเงินและทองก็ได้
ในคัมภีร์สํสกฤตชื่อเภทธรรมมติจักรศาสตร์ ของพระวสุมิตร และ อรรถกถาแห่งคัมภีร์นั้น ซึ่งแต่งโดย คันถรจนาจารย์ “กุยกี” ยุคราชวงศ์ถัง กล่าวไว้ว่า มูลเหตุแห่งการทําสังคายนาครั้งที่ 2 นี้ มิได้มีมูลเหตุจากวัตถุ 10 ประการ แต่เกิดด้วยทิฐิ 5 ข้อของภิกษุมหาเทวะ ทิฐิ 5 ข้อ คือ
1. พระอรหันต์อาจถูกมาร รบกวนยั่วยวน ในความฝันจนอสุจิเคลื่อนได้
2. พระอรหันต์อาจมีอัญญาณได้
3. พระอรหันต์อาจมีกังขาได้
4. ผู้จะรู้ว่าตนบรรลุอรหัตตผลก็โดยการแนะนําพยากรณ์ของผู้อื่น
5. มรรคผล จะปรากฏต่อเมื่อ บุคคลผู้บําเพ็ญเปล่งคําว่าทุกข์หนอ
ครั้งนั้น พระยสกากัณฑกบุตร ได้เดินทางมาจากเมืองโกสัมพี มายังเมือง เวสาลี เมื่อได้มารู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้กล่าวห้ามปรามภิกษุ ชาววัชชี แต่ภิกษุชาววัชชีก็หาได้เชื่อฟังไม่
อนึ่ง พวกภิกษุชาววัชชีได้นําถาดทองคําสมฤทธิ์ใส่น้ำเต็มเปี่ยมไป ตั้งไว้ใน โรงอุโบสถ ให้ทายกทายิกาใส่เงินลงไปในถาดนั้นเพื่อถวายภิกษุ แล้วนําไปแจกกัน และได้แบ่งส่วนให้พระยสะด้วย แต่พระยสะไม่ยอมรับทั้ง ได้กล่าวติเตียนภิกษุชาววัชชีว่า การกระทําเช่นนี้ ขัดต่อพุทธบัญญัติ เป็นความผิดทั้งผู้รับทั้งผู้ถวาย พวกภิกษุวัชชีบุตรกลับประกาศ “ปฏิสาราณียกรรม” แก่พระยสะ โดยให้ท่านไปขอขมาโทษทายกเสีย แทนที่ท่านจะไปขอขมาโทษตามคําแนะนําของพวกภิกษุชาววัชชี แต่พระยสะกลับชี้แจงแก่ทายกว่า การที่ท่านทําไปเช่นนั้นเป็นการชอบด้วยพระธรรมวินัยแล้ว และการกระทําของภิกษุชาววัชชีเป็นฝ่ายผิดโดยได้ยกพุทธภาษิตขึ้นมาแสดงเป็นหลักฐานประกอบว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันว่าพระจันทร์และพระอาทิตย์จะมิได้ร้อนและรุ่งเรืองด้วยรัศมีนั้น ด้วยโทษมลทิน 4 อย่าง คือ หมอก1 ควัน1 ธุลี1 อสุรินทราหูเข้าบัง1 มีอุปมาฉันใด ภิกษุศากยบุตรในพระธรรมวินัยนี้จะมิได้มีตบะ มิได้รุ่งเรืองด้วยศีลนั้น ด้วยโทษมลทิน 4 อย่างปกปิดอยู่ คือ เสพสุราเมรัย1 เสพเมถุนธรรม1 ยินดีรับเงินและทอง1 เลี้ยงชีวิตโดย มิจฉาชีพ1
เมื่อทายกทายิกาเข้าใจก็มีความเสื่อมใสท่านมาก เป็นเหตุให้ภิกษุ ชาววัชชีโกธรคิดจะลงโทษพระยสะโดยวิธี “อุกเขปนียกรรม” ถึงกับพากันไปห้อมล้อมกุฏิของ พระยสะแต่ท่านทราบเสียก่อนจึงได้หลบหนีไปยัง เมืองโกสัมพี เมื่อไปถึงเมืองโกสัมพีแล้ว พระยสะได้ส่งข่าวไปให้ภิกษุชาวเมืองปาวา และภิกษุชาวเมืองอวันตี แล้วนิมนต์ท่านเหล่านั้นมาประชุมกัน เพื่อตัดสินปัญหาธรรมวินัย และเพื่อป้องกันรักษาพระวินัย จากนั้นพระยสะได้ เดินทางไปหาท่าน “สัมภูตเถระ” ที่ อโธดังค บรรพต เพื่อเรียนพฤติการณ์ทั้งหลายให้ท่านทราบ
ในเวลานั้น ได้มีภิกษุเดินทางมาจากเมืองปาวา 60 รูป และจากเมืองอวันตี 80 รูป มาร่วมประชุมที่อโธดังคบรรพต เมื่อมาประชุมพร้อมกันแล้ว ได้ปรึกษากันในเรื่องนี้ และมีความเห็นว่าควรจะนิมนต์ท่าน พระเรวตเถระ เข้าร่วมการประชุมด้วย เพราะท่านเป็นพระขีณาสพ เป็นศิษย์ของพระอานนท์เถระ เป็นผู้มีพรรษายุกาลมาก ทั้งแตกฉานในพระธรรมวินัย จึงได้จัดส่งพระภิกษุไปนิมนต์ท่านที่เมืองโสเรยยะใกล้เมืองตักกสิลา แต่ไม่พบ ทราบว่าท่านเดินทางไปยังสหชาตินครในแคว้นเจตี พระภิกษุเหล่า นั้นจึงได้ติดตามท่านไปยังสหชาตินครนั้น
ฝ่ายภิกษุชาวเมืองวัชชี ครั้นทราบข่าวความเคลื่อนไหวของภิกษุเมืองปาวาและเมืองอวันตี ก็รีบจัดส่งภิกษุฝ่ายตนให้นําสมณบริขารไปถวาย ท่านเป็นการตัดหน้า และชักจูงให้ท่านเข้ามาร่วมฝ่ายตน แต่พระเรวตะไม่เห็นดีด้วย เพราะเห็นว่าวัตถุ 10 ประการเป็นการขัดต่อพระธรรมวินัย เป็นเหตุให้ภิกษุชาววัชชีเสียใจมาก จึงกลับเมืองเวสาลีและหาทางขอความอุปถัมภ์จากทางบ้านเมือง โดยได้พระเจ้า “กาลาโศก” ถวายความคุ้มครอง
ครั้นต่อมา พระนางนันทาเถรี ซึ่งเป็นพระเจ้าน้องนางเธอองค์หนึ่งของพระเจ้ากาลาโศกทราบเรื่อง จึงเข้าไปเฝ้าถวายความจริงให้พระเจ้ากาลาโศกทรงทราบ โดยมิให้หลงเชื่อถ้อยคําของภิกษุชาววัชชี พระเจ้ากาลาโศกก็ยังมิได้วู่วามพระทัยด่วนพิจารณาความเข้าฝ่ายใด โปรดให้สงฆ์ทั้งสองฝ่ายร่วมประชุมกัน และเมื่อทราบความเป็นไปของสงฆ์ทั้งสองฝ่ายแล้ว พระองค์ทรงกลับพระทัยมาบํารุงภิกษุฝ่ายของพระยสะหรือภิกษุฝ่ายวินัยวาที
ภิกษุฝ่ายวินัยวาที ครั้งแรกคิดจะพิจารณาหาทางระงับอธิกรณ์ที่ สหชาตินครนั้น แต่พระเรวตะเสนอว่า อธิกรณ์เกิดขึ้นที่ใดควรไประงับเสียที่นั้น จึงได้เดินทางไปเมืองเวสาลี ในการร่วมประชุมครั้งแรก “ปรากฏว่า มีพระอรหันต์จํานวน 700 รูปได้รับคัดเลือกเข้าประชุมสังคายนา ที่ประชุมได้ยกพระสัพพกามีมหาเถระ ศิษย์ของพระอานนท์เถรเจ้า ซึ่งมีพรรษายุกาล 120 ปี สูงกว่าภิกษุทุกรูป ณ ที่นั้นเป็นประธานและมีพระมหาเถระชั้นผู้ใหญ่ ที่สําคัญคือ พระเรวตะ พระสาฬหะ พระสาณสัมภูต พระยศ พระอุชชโสภิตะ ทั้ง 5 รูปนี้ก็เป็นศิษย์ของพระอานนท์เถรเจ้าดุจกัน พระวาสภคามิ และพระสุมนะ เป็นศิษย์ของพระอนุรุทธเถรเจ้า ประชุมทํากันอยู่ 8 เดือนจึงสําเร็จ”
“ในตํานานฝ่ายสํสกฤตกล่าวว่า พระสัมภูตสาณวาสี หรือพระสาณสัมภูต มีความสําคัญมาก เพราะเป็นผู้ที่พระอานนท์มอบหมายให้เป็นผู้ดูแลพระศาสนาต่อจากท่านโดยตรง ในตํานานฝ่ายจีนกล่าวว่า ท่านเป็นผู้นําในการตัดสินชี้ขาดปัญหาต่างๆในสังคายนา ความทั้งนี้ก็น่าพิจารณาอยู่ ส่วนพวกภิกษุวัชชีบุตรได้เที่ยวชัก ชวนคณะภิกษุต่างๆที่มีความคิดเห็นอย่างเดียวกัน และที่มีความประสงค์จะดัดแปลงแก้ไขพระธรรมเข้าเป็นพวกด้วยจํานวนหมื่น แล้วพากันประชุมทําสังคายนากันต่างหากเรียกว่า “มหาสังคีติ” แปลว่าสังคายนาของพวกมาก และเรียกพวกของตนว่า “มหาสังฆิก” แปลว่าสงฆ์หมู่ใหญ่ พระพุทธศาสนาเลยแตกแยกเป็นนิกายใหญ่ 2 นิกายคือ ฝ่ายสงฆ์ที่เคารพนับถือมติของพระเถระครั้งปฐมสังคายนาพวกหนึ่งเรียกว่า “เถรวาท” และฝ่ายสงฆ์ที่ถือมติของเกจิอาจารย์ของตนอีกพวกหนึ่งเรียกว่า “อาจาริยวาท” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นไป
ฆ. ความแตกแยกทางศีลและทิฐิ
กล่าวกันว่าพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้วในสมัยนั้นอันเนื่องมาจากการแตกแยกกันนั่นเอง เมื่อพิจารณาถึงเหตุที่ทําให้เกิดการแตกแยกกันแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องสําคัญอะไรมากนัก ไม่น่าจะก่อให้เกิดการแตกแยกกันขนาดใหญ่ถึงเพียงนี้ วัตถุ 10 ประการที่ภิกษุชาววัชชีได้บัญญัติขึ้นนั้น ก็เป็นเพียงสิกขาบทเล็กน้อย ไม่ถึงกับเป็นครุกาบัติ ภิกษุชาววัชชีก็ถือตามพุทธมติที่ได้ตรัสกับพระอานนท์เถระก่อนที่จะปรินิพพานว่า “ดูก่อน อานนท์ โดยการล่วงไปแห่งเรา ถ้าสงฆ์ต้องการ ก็จงถอนสิกขาบทเล็กเสียบ้างได้”
ภิกษุฝ่ายวินัยวาทีก็เห็นว่าสมควรรักษาไว้เช่นเดิม แม้จะเป็นเพียงเล็กน้อยก็ไม่ควรจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอะไร อีกอย่างหนึ่ง ครั้งหลังพุทธปรินิพพานใหม่ๆ ในการสังคายนาครั้งแรกการปรารภเรื่องนี้ก็เป็นเหตุอยู่ คือแม้สงฆ์เองก็ยังเห็นไม่ตรงกันว่า สิกขาบทเล็กน้อยนั้นจํากัดแค่ไหนเพียงไร ถึงกับได้มีสังฆมติลงโทษปรับอาบัติทุกกฏแก่พระอานนท์ในข้อ ที่ไม่ทูลถามพระพุทธเจ้าให้แน่ชัดในเรื่องนี้ อนึ่งเล่า แม้ในการแตกแยกทางด้านศีลและทิฐิก็มีสืบเนื่องมาแต่ครั้งแรกแห่งการสังคายนาแล้ว ดังข้อคิดเห็น ของพระปุราณะในเรื่องสิกขาบท ข้อเป็นตัวอย่าง ที่ได้กล่าวมาแล้ว ส่วนวัตถุ 10 ประการ เมื่อนํามาพิจารณาเปรียบเทียบดูก็จะเห็นชัดยิ่งขึ้นคือ
1. สิงคิโลณกปฺป ภิกษุสั่งสมเกลือใส่ในกลักเขาเป็นต้น แล้วนําไปผสมกับอาหารอื่น
ฉันได้ไม่เป็นอาบัติ ผิดกับพุทธบัญญัติในวินัยข้อปาจิตตีย์ที่ 38 ซึ่งทรงห้ามมิให้
ภิกษุสั่งสมอาหาร
“อนึ่ง ภิกษุใดเคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ที่ทําการสั่งสมเป็นปาจิตตีย์”
2. ทวงฺคุลกปฺป ภิกษุฉันอาหารในเวลาตะวันบ่ายล่วงไปแล้ว 2 องคุลีได้ไม่เป็นอาบัติ ซึ่งขัดกับพระพุทธบัญญัติในวินัยปาจิตตีย์ข้อที่ 37 ซึ่งทรงห้ามมิให้ภิกษุฉันอาหารในเวลาวิกาลตั้งแต่เที่ยงวันแล้วไป
“อนึ่ง ภิกษุใด เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี ในเวลาวิกาล เป็นปาจิตตีย์
3. คามนฺตรกปฺป ภิกษุฉันอาหารในวัดแล้วเข้าไปในบ้าน เขาถวายอาหารให้ฉันอีกในวันเดียวกันนั้น ภิกษุมิได้ทําวินัยกรรมมาก่อนก็ฉันได้ ไม่เป็นอาบัติ ซึ่งขัดกับพุทธบัญญัติในวินัยข้อปาจิตตีย์ที่ 35 ซึ่งทรงห้ามมิให้ฉันอาหารที่เป็นอดิเรก
“อนึ่ง ภิกษุใดฉันเสร็จ ห้ามภัตแล้ว เคี้ยวก็ดี ฉันก็ดี ซึ่งของเคี้ยวก็ดี ซึ่งของฉันก็ดี เป็นปาจิตตีย์”
4. อาวาสกปฺป อาวาสใหญ่ กําหนดสีมาอันเดียวกัน จะทําอุโบสถในที่ต่างๆ กัน เป็นอาบัติ แต่ภิกษุวัชชีแสดงว่าไม่เป็นอาบัติ
5. อนุมติกปฺป ถ้ามีภิกษุที่ควรนําฉันทะมามีอยู่ แต่มิได้นํามา จะทําอุโบสถกรรมเสียก่อนไม่ควร แต่ภิกษุชาววัชชีว่าควร
6. อาจิณฺณกปฺป ข้อปฏิบัติอันใดที่เคยประพฤติตามกันมา แต่พระอุปัชฌาย์อาจารย์แม้จะประพฤติผิด ก็ควรประพฤติตามท่านได้
7. อมตฺถิตกปฺป ภิกษุฉันอาหารแล้วยังมิได้ทําวินัยกรรมก่อน ฉันนมสดที่ยังมิได้แปรเป็นนมส้มก่อนไม่ควร ภิกษุชาววัชชีว่าควรฉันได้ ข้อนี้ขัดกับพุทธบัญญัติข้อปาจิตตีย์ที่ 35
8. ชโลคี ปาตุ? ภิกษุชาววัชชีเห็นว่า ภิกษุฉันเหล้าอ่อนๆ ที่ยังมิได้เป็นน้ำสุราได้ ข้อนี้ ขัดกับพุทธบัญญัติปาจิตตีย์ข้อ 51 ซึ่งทรงห้าม มิให้ภิกษุดื่มสุราเมรัย
“เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะดื่มสุราเมรัย”
9. อทสกํ นิสีทนํ ภิกษุชาววัชชีแสดงว่า ภิกษุใช้ผ้านิสีทนะที่ ไม่มีชายก็ควร
10. ชาตรูปรชตํ ภิกษุชาววัชชีแสดงว่า ภิกษุจะรับเงินและทองก็ได้ ซึ่งข้อนี้ขัดกับพุทธบัญญัตินิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ ข้อที่ 18 ซึ่งทรงห้ามมิให้ภิกษุรับเงินและทอง”
เมื่อพิจารณาตามนัยนี้ ความเห็นของภิกษุชาววัชชีก็ยังถือว่า ไม่เป็นการนอกรีตนอกรอย เพราะต้องการจะเปลี่ยนแปลงเฉพาะสิกขาบทเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนสิกขาบทที่สําคัญก็ยังคงอยู่
แต่ถ้าจะพิจารณากันในเรื่องทิฐิคือความคิดเห็นแล้ว สาเหตุการแตกแยกคงมิใช่เพราะในด้านศีลอย่างเดียว แต่เพราะเหตุผลด้านอื่นๆด้วย กล่าวคือความไม่ลงรอยกันในระหว่างสงฆ์ชาวเมืองต่างๆ ความไม่ยอมรับระบบอาวุโสในหมู่สงฆ์และความต้องการเป็นผู้นําในหมู่สงฆ์ด้วยกันเอง จากหลักฐานจะเห็นได้ว่า มีการวิ่งเต้นเข้าหาพระผู้ใหญ่คือพระเรวตะด้วยกันทั้งสองฝ่าย มีการดําเนินการทางการเมือง คือเข้าขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าแผ่นดิน เพราะทุกฝ่ายต่างก็ต้องการฐานอํานาจเป็นเครื่องต่อรอง และกระทําการให้สําเร็จโดยมีผู้ที่มีอํานาจทั้งทางโลกและทางธรรมเป็นเครื่องสนับสนุน และในขณะเดียวกันก็ต้องการบีบบังคับอีกฝ่ายหนึ่งให้ยอมจํานนโดยปริยาย กลายเป็นเรื่องขัดแย้งอย่างอื่นโดยมีศีลเป็นสาเหตุเท่านั้น
อนึ่ง จากปรากฏการณ์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า แม้การสังคายนาจะเสร็จสิ้นไปแล้วในครั้งที่ 2 นี้ แต่ก็เป็นที่ยอมรับในสงฆ์ฝ่ายวินัยวาทีเท่านั้น อีกฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมและได้ถือโอกาสแยกตัวออกไปต่างหาก และพากันไปสังคายนาขึ้นใหม่ที่ปุปผนคร (ปาฏลีบุตร) ซึ่งจากหลักฐานปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมถึง 10,000 รูป เรียกการสังคายนาครั้งนี้ว่า “มหาสังคีติ” และถือว่ากําเนิดมหายานได้เริ่มปรากฏขึ้นแล้ว นับแต่กาลบัดนั้นเป็นต้นมา
ง. นิกายในพระพุทธศาสนา
เสถียร โพธินันทะ ได้กล่าวถึงการแยกนิกายโดยอ้างคาถาจาก ทีปวังสะว่า “คัมภีร์ทีปวังสะซึ่งเป็นปกรณ์สําคัญเล่มหนึ่ง อันนักศึกษาจักมองข้ามไม่ได้ ในคัมภีร์นี้ได้ให้ความละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์แยกนิกายของสังฆมณฑลยุคพุทธศตวรรษที่ 2 อย่างพิสดารดีมาก ได้กล่าวไว้ดังนี้
1. “ภิกษุลามกเหล่าวัชชีบุตร ถูกพระเถระขับออกจากหมู่แล้ว ได้พวกอื่นอีก รวมกันเป็นฝ่ายอธรรมวาที มีจํานวนมากมาย”
2. “ภิกษุเหล่านั้นประมาณหมื่นรูป ได้ประชุมกันทําสังคายนาพระธรรม (วินัย) ครั้งนี้ว่า “มหาสังคีติ” ”
3. “ภิกษุเหล่ามหาสังคีติก ได้ทําความขัดแย้งไว้ในพระศาสนานี้ ได้ทําลายสังคายนาเดิมเสีย แล้วจัดทําสังคายนาอื่น”
4. “ภิกษุเหล่านั้นได้แต่งพระสูตรอื่นจากที่ท่าน (พระเถระครั้งปฐมสังคายนา) ไว้อีกเล่า ได้ตัดทอนอรรถธรรมในพระวินัยและพระสูตร ทั้ง 5 นิกาย
5. “ภิกษุเหล่านั้นมิได้รู้ธรรมอัน (พระศาสดา) ทรงแสดงไว้เป็นปริยาย ทั้งธรรมอัน (พระศาสดา) ทรงแสดงไว้เป็นนิปปริยาย มิได้รู้ทั้งอรรถที่ท่านแนะไว้ชัดเจน ทั้งอรรถที่ควรอนุมานเอา”
6. “แล้วได้กําหนดอรรถอย่างอื่น ซึ่งท่านกล่าวหมายเอาอีกอย่างหนึ่งไม่ต้องกัน) ภิกษุเหล่านั้น ได้ยังอรรถให้เสียไปด้วยฉายาพยัญชนะมากหลาย
7. “ภิกษุเหล่านั้นทอดทิ้งพระสูตรบางเอกเทส และพระวินัยอันลึกซึ้งเสีย ได้แต่งพระสุตรเทียม พระวินัยเทียม พระสูตรอื่น พระวินัยอื่นไว้”
8. “คัมภีร์ปริวารที่สังเขปความก็ดี พระอภิธรรมทั้ง 6 ปกรณ์ก็ดี ปฏิสัมภิทามรรคก็ดี นิทเทสก็ดี ชาดกบางส่วนก็ดี”
9. “เหล่านี้ ล้วนถูกภิกษุเหล่านั้นจําแนกไว้ต่างๆ แล้วแต่งเป็นอย่างอื่นทั้งนาม เพศ บริขาร และอากัปปะที่สมควร”
10. “คัมภีร์) นั้นๆ อันเป็นดั้งเดิม ก็ถูกภิกษุเหล่านั้นละทิ้งเสียแล้ว ได้กระทําสิ่งที่เป็นอย่างอื่น ภิกษุเหล่ามหาสังคีตกได้มีวาทะแตกต่างเป็นตัวอย่างก่อน”
11. “และโดยการทําตามภิกษุเหล่านั้น ได้มีภิกษุที่มีวาทะแตกกันเป็นจํานวนมากมายหลังแต่นั้นมา ได้เกิดการแตกแยกขึ้นในวาทะ (มหาสังฆิกะ) นั้นคือ
12. “ภิกษุทั้งหลายแตกออกเป็น 2 ฝ่าย เป็นโคกุลิกวาทและเอกัพโยหาริกวาท ต่อมาฝ่ายโคกุลิกแตกกันเป็น 2 พวก คือ
13. “ภิกษุทั้งหลายแตกกันเป็นพหุสสุติกวาท และปัญญัติกวาท กับทั้ง เจติยวาทอีกพวกหนึ่ง ได้แตกมาแต่มหาสังคีตกวาท”
(ข้อ 14,15 ใจความคล้ายกับข้อ 9,10 เสถียร โพธินันทะ)
16. “ในระหว่างเถรวาทอันบริสุทธิ์แท้ ได้เกิดการแตกแยกกันอีกคือ ภิกษุทั้งหลายได้แตกเป็น 2 ฝ่าย เป็นมหิสาสกวาทและวัชชีปุตตกวาท”
17. “ในวัชชีปุตตกวาทได้เกิดการแตกกันอีกเป็น 4 พวกคือ ธรรมุตตริกวาท ภัทรยานกวาท ฉันนาคาริกวาท และสมิตียวาท”
18. “ในกาลต่อมา ฝ่ายมหิสาสกะแตกกันอีก 2 พวกคือ ภิกษุทั้งหลาย ในฝ่ายมหิสาสกะ) แตกออกเป็น 2 คือ สัพพัตถิกวาท กับธรรมคุตตวาท”
19. “พวกสัพพัดถิกวาทยังแตกเป็นกัสสปิกวาทอีกเล่า และจากกัสสปิกวาทได้เกิดสังกันติกวาทขึ้น จากสังกันติกวาทยังแตกออกเป็นสุตตวาทอีกโดยลำดับ
20. “วาทะ (หรือนิกาย) ทั้ง 11 นี้ แตกไปจากเถรวาท ภิกษุเหล่านั้นได้ทําลายอรรถและธรรมกับทั้งสังคหะ (ข้อที่สังคายนาครั้งปฐม) บางส่วนๆได้ทอดทิ้งคัมภีร์บางเอกเทสเสียด้วย แล้วแต่งอย่างอื่นไว้”
(คาถาข้อ 21 คล้ายข้อ 10-เสถียร โพธินันทะ)
22. “วาทะที่แตก 17 วาทะ ที่ไม่แตก 1 รวมวาทะที่ได้แตกแยกกันนั้น ทั้งหมดเป็น 18”
23. “พระศาสนาแห่งพระชินพุทธเจ้า ที่ล้วนๆ ไม่หย่อนและไม่ยิ่งของฝ่ายเถรวาทเป็นสูงสุด ดุจต้นไทรใหญ่ฉะนั้น (ข้อนี้ย่อมเป็นความจริงอย่างยิ่ง)”
24. “วาทะทั้งหลายที่เหลือ เป็นประดุจกาฝากซึ่งเกิดที่ต้นไทร ในศตวรรษแรกมิได้มีการแตกแยกกัน ในระหว่างศตวรรษที่ 2 วาทะที่แตก 17 ได้เกิดขึ้นในศาสนาแห่งพระชินเจ้าแล”
เพื่อมองเห็นเค้าโครงง่ายๆ ขอให้ดูจากผังแสดง ตามปกรณ์บาลี และปกรณ์ฝ่ายสันสกฤต ตามที่ เสถียร โพธินันทะ ได้จัดทําไว้ ซึ่งแสดง ถึงการแตกแยกของพระพุทธศาสนา 18 นิกาย และ 20 นิกาย ดังต่อไปนี้
พระพุทธศาสนาดั้งเดิม
อันที่จริงการแตกแยกของพระพุทธศาสนาอันดั้งเดิม ในการทําสังคายนาครั้งที่ 2 นี้ เมื่อกล่าวโดยส่วนใหญ่แล้ว มีเพียง 2 นิกายเท่านั้น คือ เถรวาท (สถวีรวาทิน) และอาจาริยวาท (มหาสังฆิกะ) ครั้นกาลต่อมา จึงได้แตกนิกายย่อยไปอีกเป็น 18 นิกาย คือที่แตกไปจากเถรวาท 11 นิกาย จากมหาสังฆิกะ 5 นิกาย นิกายต่างๆ ที่แตกไปจากเถรวาทนั้นได้เกิดขึ้นเมื่อ พุทธศตวรรษที่ 2 เป็นต้นไป ส่วน 5 นิกายที่แตกจากมหาสังฆิกะนั้น ได้ เกิดขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 1 เป็นต้นมาแล้ว
เสถียร โพธินันทะ ได้ให้ถ้อยวิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า “ตามปกรณ์บาลีและสํสกฤตทั้ง 2 ย่อมเป็นข้อยืนยันแน่นอนว่า สังฆมณฑลมีการแตกแยกทิฐิและปฏิปทากัน ปรากฏโดยเปิดเผยในพุทธศตวรรษที่ 2 แม้ฝ่ายสํสกฤตจะอ้างว่า เกิดขึ้นในแผ่นดินพระเจ้าอโศกมหาราชก็ดี ข้อเท็จจริงในปัญหานี้ข้าพเจ้าก็ได้วินิจฉัยแล้วในตอนต้นเรื่องอโศก-กาฬาโศก อย่างไรก็ตามเป็นอันแน่ใจว่า ในพุทธศตวรรษที่ 2 ได้มีเหตุการณ์ 2 อย่างอุบัติขึ้น คือเรื่องทุติยสังคายนาอันสืบเนื่องมาแต่วัตถุ 10 ประการของเหล่าสงฆ์ภาคตะวันออก ซึ่งสงฆ์ภาคตะวันตกไม่ยอมเห็นพ้องด้วย สําหรับวัตถุ 10 ประการนั้น ถ้าพิจารณาดูโดยเที่ยงธรรมก็จักเห็นได้ว่า มิใช่เป็นครุกาบัติเป็นด้วยภิกษุชาววัชชีปรารถนาจักเลิกสิกขาบทเล็กน้อยบางข้อ ตามพระบรมพุทธานุญาตที่ทรงมีไว้สมัยจวนใกล้ปรินิพพานนั่นเอง และท่านเหล่านี้ที่จะเป็นพวก รับเชื้อสายจากคณะสงฆ์ฝ่ายพระปุราณะ ซึ่งมิได้รับรองมติของพระเถระครั้งปฐมสังคายนา ในคัมภีร์มหาวังสะประณามว่า เป็นพวกอลัชชี ก็ดูเกินสมควรไป พวกภิกษุวัชชีบุตรคงจะได้ประชุมกันปรึกษา อ้างพระพุทธานุญาตแล้ว เลยลงมติเห็นว่าสิกขาบท 10 ประการ นั้นควรจัดเป็นสิกขาบทเล็กน้อยเพิกถอนได้ ฝ่ายสงฆ์ภาคตะวันตกก็ปรากฏว่า เป็นสัทธิวิหาริกอันเตวาสิกของพระมหาเถระครั้งปฐมสังคายนา ย่อมต้องเคารพมติของพระอรหันต์เจ้าผู้เป็นครูบาอาจารย์ ไม่ยอมให้เพิกถอนได้ จึงได้เกิดแตกแยกกันขึ้น และปรากฏว่าภิกษุที่เข้าด้วยกับฝ่ายตะวันออกมีมากกว่า”
ที่แสดงมานี้ เป็นเค้าแห่งการแตกนิกายของ พระพุทธศาสนาในยุค ต้นพุทธศตวรรษที่ 2 ส่วนวิวัฒนาการและหลักธรรม ของแต่ละนิกาย จะได้บรรยายต่อไปในบทหน้า
จ. ตติยสังคายนา และผลที่เกิดจากการสังคายนา
เมื่อพุทธศักราช 200 กว่าปี พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นใหญ่ในแคว้นมคธ มีเมืองหลวงชื่อ ปาฏลีบุตร สมัยนั้น มีพวกนักบวชนอกศาสนาเป็นจํานวนมากปลอมบวชในพระพุทธศาสนา เพราะเห็นแก่ลาภสักการะ เมื่อบวชแล้วก็คงสั่งสอนลัทธิศาสนาเก่าของตน โดยอ้างว่าเป็นคําสอนของพระพุทธศาสนา ข้อนี้ทําให้พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก เกิดความระอาใจต่อการประพฤติปฏิบัติของเหล่าภิกษุอลัชชีที่ปลอมบวชทั้งหลาย จึงได้ปลีกตัวไปอยู่ที่อโธดังคบรรพต เจริญวิเวกสมาบัติอยู่ที่นั้นอย่างเงียบๆ เป็นเวลาถึง 7 ปี
จํานวนพระอลัชชีนั้นมีมากกว่าพระภิกษุแท้ๆ ต้องหยุดการทําอุโบสถสังฆกรรมถึง 7 ปี เพราะเหตุที่พระสงฆ์ผู้มีศีลบริสุทธิ์ ไม่ยอมร่วมกับพระอลัชชีเหล่านั้น จึงทําให้พระเจ้าอโศกมหาราชไม่สบายพระทัย ในการแตกแยกของพระสงฆ์ ทรงปรารถนาจะให้พระสงฆ์เหล่านั้นสมานสามัคคีกัน จึงได้ตรัสสั่งให้อํามาตย์หาทางสมานสามัคคี
ฝ่ายอํามาตย์ฟังพระดํารัสไม่แจ้งชัด สําคัญผิดในหน้าที่ จึงได้ทําความผิดอันร้ายแรง คือได้บังคับให้ภิกษุผู้บริสุทธิ์ทําอุโบสถร่วมกับพระอลัชชี พระภิกษุผู้บริสุทธิ์ต่างปฏิเสธที่จะร่วมอุโบสถสังฆกรรม อํามาตย์จึงได้ตัดศีรษะพระภิกษุเสียหลายรูป
เมื่อพระเจ้าอโศกทรงทราบข่าวนี้ จึงเกิดสลดพระทัยมาก ได้เสด็จไปทรงขอขมาโทษต่อพระภิกษุสงฆ์ที่พระอาราม และได้ตรัสถามพระสงฆ์ว่า การที่อํามาตย์ได้ทําความผิดเช่นนี้ ความผิดจะตกมาถึงพระองค์ด้วยหรือไม่ พระสงฆ์ถวายคําตอบไม่ตรงกัน บ้างก็ว่าความผิดจะตกมาถึงพระองค์ด้วย แต่บางรูปก็ว่าไม่ถึง คำวิสัชชนาที่ขัดแย้งกันเช่นนี้ ทําให้พระเจ้าอโศกมหาราช กระวนกระวายพระทัยยิ่งขึ้น ทรงปรารถนาที่จะให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งผู้มีความ สามารถและแตกฉานในพระธรรมวินัยถวายคําวิสัชชนาอย่างแจ่มแจ้ง จึงได้ตรัสถามถึงพระภิกษุสงฆ์เช่นนั้น ก็ได้รับตอบว่า มีแต่พระโมคคัลลบุตรติสสเถระรูปเดียวเท่านั้น ที่อาจแก้ความสงสัยได้
พระเจ้าอโศกมหาราช จึงได้ส่งสาส์นไปอาราธนาท่านเดินทางมายัง เมืองปาฏลีบุตร แต่ไม่สําเร็จในที่สุดจึงได้รับสั่งให้เจ้าพนักงานออกเดินทาง โดยทางเรือไปรับท่านตามคําแนะนําของพระติสสเถระ” ผู้เป็นอาจารย์ของพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ และทําพิธีต้อนรับพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ทํานองคล้ายคลึงกับพิธีต้อนรับพระอุปคุปต์ในอโศกอวทาน พระโมคคัลลีบุตรท่านก็เดินทางมาโดยชลมรรคดุจกัน พระเถระได้ทําลายข้อกังขาและ ความวิปฏิสารของพระเจ้าอโศกว่า การฆ่าฟันภิกษุเป็นบาปเฉพาะของอํามาตย์ เท่านั้น เพราะทําเกินรับสั่ง พระเจ้าก็อโศกก็เลื่อมใสอาราธนาให้ท่านเป็นประธานสงฆ์ชําระพระศาสนาให้บริสุทธิ์ พระโมคคัลลบุตรจึงพํานักอยู่ ณ (อโศการามวิหาร แล้วพระเจ้าอโศกก็โปรดให้ประกาศชุมนุมสงฆ์จากจาตุรทิศมารวมกัน ณ อโศการาม ให้พระโมคคัลลบุตรท่านไต่ถามลัทธิธรรมกับสงฆ์ทุกรูป เช่นถามว่าพระพุทธวจนะตรัสสั่งสอนอย่างไร ภิกษุที่เป็นเดียรถีย์ปลอมบวชก็ตอบเป็นทํานองสัสสตทิฐบ้าง เป็นอุจเฉทิฐิบ้าง พระเจ้าอโศกก ใช้พระราชอํานาจบังคับให้สึกออกไป ว่าครั้งนั้นสึกภิกษุเพศออกเสีย 60,000 คน ฝ่ายภิกษุที่เป็นธรรมวาทีก็ตอบว่า พระพุทธวาทะตรัสสอนเป็น วิภัชวาที
ครั้นชําระกําจัดภิกษุลักเพศแล้ว พระเจ้าอโศกจึงอาราธนาให้สงฆ์ ทําอุโบสถสังฆกรรม และพระโมคคัลลบุตรติสสะเถรเจ้าจึงถือโอกาสทําตติยสังคายนาโดยราชูปถัมภ์ของพระเจ้าจักรพรรดิ จํานวนพระอรหันต์ที่ถูกเลือกเข้าชุมนุมทําตติยสังคายนาถ้วน 1,000 องค์ ณ อโศการามนครปาฏลีบุตร อยู่ 9 เดือนจึงสําเร็จเวลาที่ทําตติยสังคายนานั้น พระโมคคัลลีบุตรอายุ ได้ 72 พรรษา เป็นปีที่ 17 แต่พระเจ้าอโศกเสวยราชมา
เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ ในการทำสังคายนาครั้งนี้ก็คือว่าพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้ร้อยกรองคัมภีร์กถาวัตถุขึ้น เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่ยังคลุมเครือให้แจ่มแจ้ง โดยได้ตั้งคําถามและคําตอบไปในตัว กถาวัตถุได้แก่เรื่องที่กล่าวถึงบุคคลและวัตถุ (เรื่อง) กล่าวถึงธรรมหมวดใด ก็เรื่องตามชื่อของธรรมหมวดนั้นเช่นกล่าวถึงบุคคลก็เรียกว่า บุคคลกถา กล่าวถึงความเสื่อมก็เรียกว่า ปริหานิกถารวมทั้งหมดมี 219 กถา
เรื่องที่สําคัญที่สุดในการทําสังคายนาครั้งที่ 3 นี้ ก็คือ พระเจ้าอโศกมหาราช ได้ทรงส่งสมณทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาในแคว้นและประเทศต่างๆ รวมทั้ง หมดมี 9 สาย ตามรายนามสมณทูตที่ปรากฏในปกรณ์บาลีมีดังนี้
1. คณะพระมัชฌันติกเถระ ไปแคว้นแคชเมียร์และคันธาระ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ซึ่งได้แก่แคว้นแคชเมียร์ในปัจจุบัน
2. คณะพระมหาเทวะ ไปมหิสสกมณฑล ปัจจุบันได้แก่แคว้นไมซอร์และดินแดนแถบลุ่มแม่น้าโคธาวารี อยู่ทางภาคใต้ของอินเดีย
3. คณะพระรักขิตะ ไปวนวาสีประเทศ ได้แก่แว่นแคว้นกนราเหนือ ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย แคว้นบอมเบย์
4. คณะพระธรรมรักขิต ท่านผู้นี้เป็นฝรั่งชาติกรีก ไปอปรันตกชนบท อยู่ริมฝั่งทะเลอาระเบียน ทางทิศเหนือของบอมเบย์
5. คณะพระมหาธรรมรักขิต ไปเผยแพร่พระศาสนา ณ แคว้นมหาราษฎร์ ปัจจุบันเป็นดินแดนแถบตะวันออกเฉียงเหนือห่าง จากเมืองบอมเบย์
6. คณะพระมหารักขิต ไปเผยแผ่พระศาสนา ณ โยนกประเทศ ได้แก่แว่นแคว้นของพวกฝรั่งชาติกรีกในทวีปอาเซียตอนกลาง เหนือประเทศอิหร่านต่อขึ้นไปจนถึงเตอร์กีสตาน
7. คณะพระมัชฌิมและพระมหาเถระอีก 4 รูปคือ พระกัสสปโคตตะ พระมูลกเทวะ พระทุนทภิสสระ และพระเทวะ ไปเผยแผ่ ณ แคว้นดินแดนแถบภูเขาหิมาลัย ได้แก่เนปาล ซึ่งอยู่ตอนเหนือของอินเดีย
8. คณะพระโสณะและพระอุตตระ ไปเผยแผ่พระศาสนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ ได้แก่ไทย พม่า และมอญทุกวันนี้ -
9. คณะพระมหินทระ ไปเผยแผ่พระศาสนา ณ เกาะลังกา
เสถียร โพธินันทะ ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับปัญหาเรื่องตติยสังคายนา ไว้ว่า “สําหรับเรื่องตติยสังคายนาตามที่มหาวงศะว่าเกิดขึ้นหลังการชําระสะสาง พวกเดียร ถีย์ปลอมบวชนั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่า พวกเดียรถีย์ตามวาทะของท่านพวกลังกา แท้จริงคือบรรดาคณะสงฆ์นิกายอื่นๆ มีนิกายมหาสังฆิกะเป็นต้น และนักประวัติศาสตร์ส่วนมากทางตะวันตกเขาก็เข้าใจอย่างนั้น มันไม่น่าจะเป็นเหตุผลได้เลย ในข้อที่พระ พุทธศาสนากําลังรุ่งโรจน์ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ มีพระเถรานุเถระเป็นผู้นําปฏิบัติธรรมและมีธรรมมหาอํามาตย์คอยสอดส่องให้ความพิทักษ์แล้วปล่อยให้มีคนปลอมบวชตั้ง 60,000 คน โดยที่ทางบ้านเมืองหรือทางคณะสงฆ์ไม่สามารถจะหาทางป้องกันหรือกําจัดถึง 7 ปี ดูเป็นธรรมดาของนักแต่งปกรณ์ของลังกาเสียจริงๆ ที่ชอบเขียนคณะสงฆ์ฝ่ายตรงข้ามเป็นอธรรมวาทบาง เป็นเดียรถีย์บ้าง เป็นอลัชชีบ้าง หลักฐานข้อสําคัญข้อหนึ่ง คือเหตุผลที่มหาวงศะให้ไว้ว่า เพราะลาภสักการะ เกิดในหมู่สงฆ์มาก ทําให้พวกพาหรลัทธิอดอยากขาดแคลน ถึงต้องลักเพศปลอมบวชเป็นภิกษุก็ช่างขัดกับข้อความในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก ซึ่งแสดงว่ามีพวกพราหมณ์พาหรลัทธิได้รับความคุ้มครองอุปการะและเคารพจาก พระองค์ดุจกัน ตลอดจนศิลาจารึกถึงความอุดมสมบูรณ์และสันติสุขต่างๆ ซึ่งพระเจ้าอโศกอํานวยให้แก่นิกรชนจนกระทั่งสัตว์เดรัจฉาน เดียรถีย์จํานวน 60,000 รูปในปกรณ์บาลี จึงเป็นคณะสงฆ์ฝ่ายตรงกันข้ามไม่ต้องสงสัย มีความจริงอยู่ในเรื่องคณะสงฆ์ในรัชสมัยของพระองค์ไม่ปรองดองกัน ทั้งนี้เพราะต่างนิกายต่างทัศนะดังได้กล่าวมาแล้ว และพระองค์ทรงขอร้องให้ สามัคคีปรองดองกันทุกฝ่าย ตลอดจนมีพระราชกําหนดโทษแก่ผู้ที่ทําให้สงฆ์แตกกัน ดังนั้น เรื่องตติยสังคายนาจึงเป็นเรื่องจริง แต่เป็นการกระทําเฉพาะของคณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาทิน และมีชื่อใหม่ว่า วิภัชวาทิน พระเจ้าอโศก ทรงอุปถัมภ์ และนิกายอื่นๆ ก็ทรงให้การอุปถัมภ์ หากนิกายนั้นๆ จักทําสังคายนาขึ้นบ้าง เพราะเหตุดังกล่าวมา ตติยสังคายนาจึงเป็นการซักซ้อมตกลงและชําระตรวจ สอบหลักพระธรรมวินัยของคณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาทินให้แน่ชัด ลงไปอีกเท่านั้น
ฉ. จตุตถสังคายนา
ในขณะที่พระพุทธศาสนาได้หยุดชะงักไปชั่วคราวจากอินเดีย เพราะขาดผู้อุปถัมภ์ และได้รับการเบียดเบียนอยู่เสมอนั้น ดินแดนนอกอาณาจักรของพระเจ้าแผ่นดินที่นับถือศาสนาฮินดู ก็ได้ต้อนรับเอาพระพุทธศาสนาเข้าไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแคว้นบากเตรีย ซึ่งมีพระราชาชาติกรีกปกครองอยู่นั้น พระพุทธศาสนาก็ได้ตั้งลงมั่นและได้เจริญขึ้นตามลําดับ มีพระสงฆ์ปกครองกันเป็นหมวดหมู่
พระเจ้าแผ่นดินแห่งแคว้นโยนกพระองค์หนึ่ง พระนามว่า เมนันครอส หรือมิสินท์ ซึ่งเป็นกษัตริย์กรีกพระองค์แรกที่ทรงเลื่อมใสพระพุทธศาสนา ทรงสนพระทัยวิชาการต่างๆ ทรงมีความรู้แตกฉานในพระพุทธศาสนา ทรงประกาศพระพุทธศาสนาตั้งแต่ภูเขาฮินดูกูฏ จนกระทั่งลุ่มแม่น้ำสินธู สมัยนี้พระพุทธศาสนาได้เจริญขึ้นมากในกรีก รวมทั้งซีเรียด้วย ซึ่งเราทราบได้จากหลักฐานต่างๆ เช่นเหรียญตราที่ทําเป็นรูปธรรมจักร และซากปรักหักพังของวัดวาอารามทางพระพุทธ ศาสนาหลายแห่ง นับว่าเป็นสมัยที่พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองที่สุดในดินแดนแห่งนี้
เมื่อกษัตริย์วงศ์ของพระเจ้าอโศกมหาราชเสื่อมอํานาจลง อินเดียก็เริ่มปั่น ป่วน ชนชาติตาตในทวีปเอเชีย ได้ยกทัพข้ามแม่น้ำสินธเข้าไปหลายครั้ง มีการรบพุ่ง กันหลายครั้งหลายคราว พระพุทธศาสนาที่อ่อนกําลังอยู่ แล้วก็ยิ่งอ่อนกําลังลงอีก ต่อมาเกิดมีอาณาจักรขึ้นใหม่เรียกว่า กุษาณ กษัตริย์พระองค์แรกของวงศ์นี้คือ พระเจ้ากัทพิเสสหรือกุชุล กะสะ ซึ่งมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก พระองค์เป็นเผ่ากุษาณะ ซึ่งเป็นเผ่าหนึ่งของเผ่าง้วยสี (ฮั่น) ชนเผ่านี้เดิมได้อาศัยอยู่ เตอร์กีสตานของจีน (ปัจจุบันคือมณฑลซินเกียง)
พระเจ้ากัทพิเสส ทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ซึ่งจะพิสูจน์ได้จากเหรียญของพระองค์ที่ค้นพบ ณ บริเวณเมืองตักสิลา โดยมีคําจารึกปรากฏว่า “กชุล กสฺส กุสาน ยวุคส ธฺรมจิทส” ซึ่งแปลว่า “ของ พระเจ้า กุชุล กสะ ราชาแห่งกุษาณ ผู้ดํารงมั่นอยู่ในธรรม” และนอกจากนี้ยังมีเหรียญที่ค้นพบอื่นอีกที่มีคําจารึกว่า “สจฺจธมฺมจิต และ “ธมฺมจิต”
ครั้นต่อมา ก็ถึงสมัยของพระเจ้ากนิษกะ กษัตริย์ในวงศ์กษาณ ได้เสวยราชย์ในปี พ.ศ. 653 กษัตริย์พระองค์ทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก และได้แผ่เดชานุภาพไปในดินแดนตะวันตกเฉียงเหนือ โดยตลอดจนถึงแคว้นคันธาระ แคชเมียร์ สินธู และบางส่วนของมัธยมประเทศ
ในรัชสมัยของพระองค์ พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานได้แผ่เข้าสู่เอเชียกลาง และจีนอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง วรรณคดีพุทธศาสนาภาษา กันสกฤตได้เจริญขึ้นแทนภาษาบาลี มีพระภิกษุผู้ทรงความรู้เป็นจํานวนมาก เช่น ท่านปารศวะ ท่านอัศวโฆษ ท่านวสุมิตร เป็นต้น ท่านเหล่านี้ได้รจนาตําราพระพุทธศาสนาเป็นภาษาสันสกฤตเป็นจํานวนมาก ในด้านศิลปกรรมการแกะสลักแบบคันธาระซึ่งเป็นศิลปกรรมอันสวยงาม ก็ได้เจริญขึ้นอย่างสุดขีด ได้มีการสร้างพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ขึ้น พระเจ้ากนิษกะ ได้รับสั่งให้สร้างวัดวาอาราม วิหาร พระสถูป และพระเจดีย์เป็นจํานวนมาก พระเจดีย์องค์หนึ่งมีความสูง 400 ฟุต มีฐาน 5 ชั้น และฐานสูง 150 ฟิต
พระเจ้ากนิษกะทรงมีพระทัยฝักใฝ่ในการศึกษาพระธรรมวินัย ถึงกับอาราธนาพระเถระผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกมาถวายพระธรรมเทศนาใน พระราช วังวันละรูปเป็นประจํา และจากการสดับพระธรรมเทศนานั้นเอง เป็นเหตุให้พระเจ้ากนิษกะบังเกิดพระวิมติกังขาในหลักธรรมต่างๆ ขึ้น ด้วยพระคณาจารย์ต่างๆ องค์ที่ได้รับนิมนต์ให้มาแสดงธรรมนั้นมาจากต่างนิกาย ย่อมแสดงหลักธรรมตามคติของนิกายนั้นๆ ก็หลักธรรมนานานิกายย่อมมีทัศนะไม่ตรงกันบ้าง พระเจ้ากนิษกะมหาราช จึงทรงบังเกิดวิจิกิจฉาว่าจักทรงถือเอาคติใดแน่นอน ครั้งนั้นยังมีพระคณา จารย์รูปหนึ่งชื่อ พระปารศวะ เป็นภิกษุในนิกายสรวาสติวาทิน ซึ่งเป็นนิกายที่มีอิทธิพลอยู่ในอินเดียภาคเหนือ พระปารศวะเป็นที่เคารพนับถือของพระเจ้ากนิษกะมาก พระองค์จึงตรัสปรับทุกข์ในเรื่องที่ทรงกังขาอยู่ และทรงปรารภใคร่จะยกสังคายนาชําระพระธรรมวินัยให้ผ่องแผ้ว พระปารศวะถวายอนุโมทนา ฉะนั้นพิธีสังคายนาจึงบังเกิดขึ้น แต่เป็นการสังคายนาในพระธรรมวินัยของนิกายสรวาสติวาท
เสถียร โพธินันทะ กล่าวไว้ว่า “ในบันทึกของสมณะเฮี่ยงจัง กล่าวว่าสังคายนาครั้งนั้นทํากันในแคว้นกาศมีระ มีจํานวนสงฆ์ 500 รูป และมี พระปารศวะเป็นประธาน มีพระวสุมิตรเถระเป็นผู้แถลงมติ แต่ในปกรณ์ฝ่ายธิเบตกล่าวว่า มีจํานวนพระอรหันต์ 500 องค์ พระโพธิสัตว์ 500 องค์ และบัณฑิตอีก 500 คน มาร่วมชุมนุมสังคายนาด้วย ส่วนสถานที่นั้น “กุณฑลวันวิหาร” ในกาศมีระดุจกัน ในวสุพันธุนิทานเล่าว่า เมื่อพุทธปรินิพพานแล้ว 500 ปี มีพระอรหันต์ชื่อ กาตยายนบุตร ได้ชุมนุมพระ อรหันต์ 500 องค์ และพระโพธิสัตว์อีก 500 องค์ ร้อยกรองอภิธรรมปิฎกของนิกายสรวาสติวาท และได้แต่งคัมภีร์ชญาณปรัสถาน มีผู้สันนิษฐานว่า พระปารศวะจะเป็นองค์เดียวกับพระกาตยายนบุตร
แต่ตามประวัติของพระกาตยายนบุตรเล่าว่า ท่านแต่งคัมภีร์ชญาณปรัสถานที่ ตมัสวัน ณ แคว้นจีนภูติหาใช่กาศมีระไม่ จึงเป็นอันแสดงว่าท่านทั้ง 2 เป็นคนละคน พระกาตยายนบุตรมีชีวิตอยู่ก่อนพระเจ้ากนิษกะมหาราชแน่นอน นักประวัติศาสตร์มักจะนําเรื่องราวของพระเจ้ากนิษกะที่ 1 และที่ 2 มาปนกันทําให้ยากแก่การวินิจฉัย
อย่างไรก็ตาม ผลแห่งการทําสังคายนาครั้งนั้นมีดังนี้
1. ได้ใช้ภาษาสันสกฤตขึ้นสู่สังคายนา
2. มีการร้อยกรองอรรถาธิบายพระไตรปิฎกขึ้น 3 คัมภีร์ใหญ่ คือ ร้อยกรองอรรถกถาพระวินัยปิฎก ชื่อวินัยวิภาษาจํานวนแสนโศลก ร้อยกรองอรรถกถาพระสุตตันตปิฎกชื่ออุปเทศศาสตร์จํานวนแสนโศลก ร้อยกรองพระอภิธรรมวิภาษาศาสตร์อีก 1 แสนโศลก
3. มีการจดจารปกรณ์เหล่านี้ขึ้นเป็นหลักฐาน
4. นิกายสรวาสติวาทิน เป็นนิกายซึ่งทางราชการรับรอง
5.พระเจ้ากนิษกะมหาราชโปรดให้ส่งสมณทูตแผ่พระศาสนาทั่วไป ในภูมิภาคอาเซียกลาง”
จตุตถสังคายนา จึงมีนัยดังที่บรรยายมา
จากหนังสือสารัตถธรรมมหายาน
วัดมังกรกมลาวาส