นิกายธฺยาน หรือนิกายเซ็น

 

ความเป็นมา

 

บูรพาจารย์ ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนามหายาน นิกายเซ็น (วิปัสสนา) 33 องค์

 

 นิกายนี้ ภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า “เสี่ยมจง” ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “เซ็น” ซึ่งเป็นมูลศัพท์เดียวกัน  นิกายนี้เป็นนิกายสำคัญ ซึ่งเจริญแพร่หลายมาทุกยุคทุกสมัย คำว่าเซ็น มาจากคำว่า ธฺยาน หรือ ฌาน หมายถึงนิกายที่ปฏิบัติทางวิปัสสนา

 

ตามประวัติเล่ากันว่า ในสมัยพุทธกาล ณ ภูเขาคิชกูฎ ท่ามกลางภิกษุหมู่ใหญ่ พระศาสดา ได้ทรงชูดอกบัวขึ้น แต่มิได้มีพุทธดำรัสตรัสว่าอะไร ที่ประชุมไม่มีใครเข้าใจในพุทธประสงค์  ยกเว้นแต่พระมหากัสสปเถระที่ยิ้มน้อยอยู่ พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อน กัสสปะ ตถาคตมีธรรมจักษุครรภ์ นิพพานสิ่งที่เป็นสัจจะ ย่อมเว้นลักษณะ เป็นธรรมอันสุขุมประณีต ซึ่งตถาคตขอมอบให้แก่เธอ ณ บัดนี้ และด้วยพุทธดำรัสอันนี้ พระมหากัสสปะจึงได้รับการยกย่องเป็นปฐมาจารย์ในนิกายวิปัสสนา นิกายนี้ไม่ต้องอาศัยตัวหนังสือ หรือปริยัติธรรมใด ไม่อยู่ในกรอบแห่งคำพูดใดๆ แต่ชี้ตรงไปยังจุดของจิตใจ เพราะฉะนั้น บางที่จึงมีนามเรียกว่า “การเผยแพร่นอกคำสอน” บูรพาจารย์ในนิกายนี้ เรียงตามลำดับดังนี้

                      

1 พระมหากัสสปะเถระ ปฐมาจารย์ องค์แรก อินเดีย 

2 พระอานนท์เถระ

3 พระสันวสเถระ 

4 พระอุปคุปตเถระ

5 พระธริตกเถระ

6 พระมิฉกเถระ

7 พระวสุมิตรเถระ

8 พระพุทธนันท์เถระ ท่านเป็นเชื้อสายศากยวงศ์

9 พระพุทธมิตรเถระ มีสมญานามว่า มหาญานคุรุ 

10 พระปวสวเถระ มีสมญานามว่า ราชสุคุตรีปิฎก 

11 พระปุญญยศ ท่านเป็นเชื้อสายศากยวงศ์ 

12 พระอัศวโฆษ ท่านเป็นผู้นำปรัชญามหายานองค์สำคัญ

13 พระกปิมลเถระ มีสมญานามว่า รองผู้นำปรัชญามหายาน ในยุคนี้ยังไม่เป็นมหายาน อย่างเป็นทางการ แต่ก็แพร่หลายอย่างกว้างขวาง 

14 พระนาคารชุนเถระ เป็นที่ยอมรับว่า ท่านเป็นผู้สถาปนา มหายานอย่างเป็นทางการ ท่านได้ว่างรากฐานพุทธศาสนามหายานอย่างมั่นคง และแพร่หลายไปทั่วโลกมาจนกระทั่งปัจจุบัน

 

15 พระภาณเทพเถระ ผู้ประพันธ์ มัธยามิกศาสตร์ หรือ หลักไตรศาสตร์

16 พระราหุลลตเถระ มีชื่อเสียงเลื่องลือทางอิทธิฤทธิ์ปฏิหาริย์

17 พระสังฆนันทิเถระ มีชื่อเสียงทางวิปัสสนา

18 พระคยาสตเถระ มีชื่อเสียงทางเทศนาธรรม

19 พระกุมารตเถระ มีชื่อเสียงทางเผยแพร่ธรรม

20 พระชยตเถระ ท่านเป็นอาจารย์ของวสุพันธุ

21 พระวสุพันธุ ผู้ร่วมก่อตั้งนิกายโยคาจาร

22 พระมโนฤทธิ์เถระ ท่านได้ประพันธ์หลักวิภาสศาสตร์

23 พะหคณาเถระ ท่านมีชื่อเสียงทางเผยแพร่

24 พระอริยสิงห์เถระ ท่านประจำอยู่เมืองกัษมีระ

25 พระภาษิตเถระ ท่านมีชื่อทางเทศนา

26 พระปัญญมิตรเถระ ท่านเป็นโอรสกษัตริย์

27 พระปรัชญานารถเถระ ท่านเป็นอาจารย์ของพระโพธิธรรมเถระ

      

28 พระโพธิธรรมเถระ (ตั๊กม้อ) ท่านเป็นโอรสกษัตริย์ เมื่อบรรลุธรรมท่านได้เดินทางโดยเรือเข้าสู่ประเทศจีน ในสมัยพระเจ้าเหลียงบู๊ตี่แห่งราวชวงศ์เหลียง ในราว พ.ศ.1070 ชาวจีนเรียกท่านว่า ตั้กม้อโจ๊วซือ  ท่านได้นำนิกายเซ็นเผยแพร่ในประเทศจีนเป็นองค์แรก พุทธศาสนาอุตตรนิกายจีน ได้ยกย่องท่านเป็นปฐมบูรพาจารย์  นิกายนี้รุ่งเรืองมากไม่เพียงแต่ในประเทศจีนเท่านั้น ยังแพร่หลายเป็นที่นิยมกันในญี่ปุ่น ,เกาหลี, และขยายไปสู่ทวีปอเมริกาด้วย บูรพาจารย์ในจีนมีตามลำดับดังนี้ 

29 พระฮุ่ยค้อเถระ จีนเป็นองค์ที่ 2

30 พระเจ็งฉั่งเถระ จีนเป็นองค์ที่ 3

31 พระเต้าซิ่งเถระ จีนเป็นองค์ที่ 4 

32 พระฮ่งยิ่มเถระ จีนเป็นองค์ที่ 5 

33 พระฮุ่ยเล้ง (เว่ยหลาง) จีนเป็นองค์ที่ 6 นับจากนี้ก็ไม่มีการสืบตำแหน่งต่ออีก

 

ท่านฮุ่ยเล้งเกิดในยุคราชวงศ์ถัง เดิมเป็นชาวเมืองน่ำเฮี้ยง ต่อมาได้ย้ายมากวางตุ้ง โศลกที่ท่านแต่งขึ้น และแสดงให้เห็นถึงการบรรลุธรรมของท่าน ทั้งที่ท่านไม่รู้หนังสือเลย อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ “ต้นโพธิ์นี้เดิมมิใช่เป็นต้นโพธิ์ ไม่มีกระจกเงาอันใสบริสุทธิ์ด้วย แต่เดิมไม่มีอะไรสักอย่าง แล้วฝุ่นละอองจะจับที่ตรงไหน” ด้วยโศลกนี้ทำให้ท่านได้รับตำแหน่งสังฆนายกนิกายธฺญาน องค์ที่ 6

 

นิกายนี้ถือว่าสัจจภาวะนั้น ย่อมอยู่เหนือการพูดการเกิด เราจะค้นหาสัจธรรมในหนังสือตำรับตำราย่อมไม่พบ นอกจากเราจะต้องหันมาบำเพ็ญดูจิตของตนเอง จึงมีคำขวัญประจำนิกายว่า “ไม่ต้องอาศัยตัวหนังสือ แต่ชี้ตรงไปยังจิตของตน ให้เห็นแจ้งในภาวะที่แท้จริง แล้วบรรลุเป็นพุทธะ”

 

หลักสำคัญของนิกายเซ็น(ฌาน)

โดยเสถียร โพธินันทะ     

ปาฐกถาเรื่องนื้ ท่านผู้ปาฐกถาเป็นผู้มีความรู้แตกฉานในนิกายนี้โดยเฉพาะ ท่านเป็นกรรมการทำกายเผยแพร่พุทธธรรมของสมาคมพุทธบริษัท สยาม-จีนประชา ในปาฐกถาเรื่องนี้ในฐานะที่ข้าพเจ้าได้ทำหน้าที่เป็นล่ามแปลเป็นภาษาไทย ก็ใคร่จะแสดงความเห็นและความรู้ลึกบางประการไว้บ้าง ดังต่อไปนี้

      1 เรื่องของศาสนาเป็นเรื่องที่แปลกมากซึ่งไม่ว่าผู้ใดจะเป็นเชื้อชาติไหนก็ตาม เมื่อมีทรรศนะทางใจถูกตรงกันแล้ว ปัญหาเรื่องเชื้อชาติก็หมดสิ้นไป กลับมาปรากฏคล้ายกับว่า เราเป็นพี่น้องกันฉะนั้น

       เช่นในพุทธศาสนาของเรา ซึ่งมีหมู่ชนหลายชาติหลายภาษานับถือ ถึงแม้ว่า บางสมัยหมู่ชนชาตินั้นๆ จะได้เคยเป็นศัตรูคู่อริกัน ก็เป็นเพียงแต่ปัญหาทางชาติหรืออื่นๆ แต่พอมาถึงเรื่องของศาสนาแล้ว ความรู้สึกในด้านไม่ถูกกันนั้น ก็จักพลันดับสูญมิมีเหลือ และความรู้สึกใหม่อีกชนิดหนึ่งจะเกิดขึ้นแทน มันเป็นความรู้สึกที่เห็นอกเห็นใจ, ความเมตตากรุณา, ความอยากจะช่วยเหลือ, ความมีตนเสมอดุจดังได้เคยเป็นภารดรกันมา, เขาทั้งหลายล้วนแต่เป็นบุตรของพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน และเป็นพี่น้องกันได้เอง โดยความรู้สึกทางจิตใจอย่างแท้จริง ในระหว่างการสงคราม จีน-ญี่ปุ่น เป็นคู่อาฆาตแก่กันเพียงไรนั้น เราทั้งหลายก็ย่อมรู้ดีอยู่แล้ว แต่เมื่อถึงปัญหาศาสนา พุทธศาสนิกชนจีนกับญี่ปุ่นกลับร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง ในการที่จะเผยแผ่พุทธธรรมให้แพร่หลาย เพียงเท่านี้ก็แสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาของเรานั้น มีอิทธิพลเพียงไร ในการที่จะสามารถเปลี่ยนใจของบุคคลมาให้เป็นผู้สมัครสมานรักใคร่กัน และถ้าเราไม่ลืมว่า ในพระสุตตันตปิฎกมีพุทธพจน์อยู่ตอนหนึ่งที่น่าจับใจ และควรที่เราทั้งหลายจะประพฤติตาม มีปรากฎในอัคคัญญสูตรแห่งทีฆนิกายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับวาเสฏฐะดังนี้ "ดูก่อนวาเสฏฐะ พวกเธอแล มีชาติต่างๆกัน มีนามต่างๆกัน มีโคตรต่างๆกัน มีสกุลต่างๆกัน ออกบวชละจากคฤหสถานแล้ว ถูกเขาถามว่า "พวกท่านเป็นใคร" ดังนี้ จงตอบว่า "เป็นสมณศากยบุตร" ดังนี้เถิด. วาเสฏฐะเอ๋ย ก็ผู้ใดมีความเชื่อมั่นฝังลงแล้วตั้งใจไว้แล้วอย่งแน่นหนา อันพราหมณ์ หรือเทพยดา หรือมาร หรือพรหม หรือใครๆในโลกพึงนำไปไม่ได้, ผู้นั้นควรกล่าวอย่างนี้ว่า "ข้าพเจ้าเป็นบุตร เป็นโอรส ประสูติแล้วจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า มีธรรมเป็นธงชัย อันธรรมสร้างแล้วเป็นทายาทแห่งธรรม" พุทธวจนะนี้ถึงแม้กล่าวแก่ผู้เป็นสมณะ แต่แม้พวกเราผู้เป็นพุทธบริษัททั้งหลายก็อาจสงเคราะห์รวมลงไปได้ และด้วยอมตพจน์อันงดงามนี้เอง ที่ได้ก่อให้เกิดมีมหาสามัคคีขึ้นในระหว่างพุทธมามะกะทั้งหลาย และข้าพเจ้าเชื่อว่า ถ้าโลกทั้งหมดจะถือเอาคติจากพระพุทธพจน์นี้แล้ว ศานติอันชาวโลกปรารถนานักนั้น ก็จักมีมาเอง.

        2 หลักธรรมะในนิกายเซ็น(ฌาน) ทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานถือสำคัญมาก ในจำนวนนิกายทั้งหมดของมหายาน นิกายนี้นับว่าเป็นนิกายหนึ่งบทที่ทรงอิทธิพลมาก เป็นนิกายฝ่ายวิปัสสนาโดยเฉพาะ ในส่วนธรรมะนั้นก็ดูเหมือนว่าไม่มีความแตกต่างอะไรมากนักกับพุทธศาสนาฝ่ายไทยของเรา เช่าในข้อที่ว่า พุทธภาวะมีอยู่ในสรรพสัตว์ เมื่อรู้กก็เป็นพุทธะ เมื่อยังโง่ก็เป็นสัตว์ ฝ่ายเราก็มีกล่าวว่า เมื่อทำลายอวิชชาเสียได้ ก็เป็นผู้ตรัสรู้เท่ากันหมด และที่ยังไม่ได้ตรัสรู้ ก็เพราะอวิชชาความหลงผิด วิธีปฏิบัติซึ่งทางนิกายเซ็นกล่าวว่าเป็นแนวบิเศษที่สามารถจะทำให้ได้ตรัสรู้อย่างฉับพลับ เป็นพุทธะในปัจจุบันทันด่วนไม่ต้องรีรอนั้น ข้อนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าธรรมปฏิบัติเช่นนี้ ไม่ใช่มีแต่ในนิกายเซ็นเท่านั้น แท้จริงเป็นหลักทั่วไปของพระพุทธศาสนา เพราะเหตุว่า ธรรมปฏิบัติเพื่อจะทำบุคคลให้ได้บรรลุเป็นพุทธะในปัจจุบันนี้นั้น เป็นสิ่งที่ถูกสอนจากสมเด็จพระบรมครูผู้ให้กำเนิดแก่พระพุทธศาสนา  จึงนับได้ว่า เป็นหลักพระพุทธศาสนาทั่วไป ไม่ใช่เป็นหลักนิกายใดนิกายหนึ่ง หลักของพระศาสนาก็มีสำคัญในการที่ว่า ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถหลุดพ้นทุกข์ได้ในปัจจุบันชาตินี้ โดยไม่ต้องไปรอความหลุดพ้นต่อเมื่อชาติหน้าหรือชาติไหนๆ เพราะว่าชาตินี้ ก็เป็นโอกาสอันเหมาะอย่างยิ่งที่เราจะทำความหลุดพ้นไห้แก่ตัวเอง ฉะนั้น จึงมีคำสรรเสริญว่าการเกิดเป็นมนุษย์เป็นของประเสริฐที่สุดเพราะเป็นเหตุให้ได้มีโอกาสทำความพ้นทุกข์ได้ในชาตินั้นๆ แม้บรรดาพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย ก็มิใช่ว่าท่านจะต้องปฏิบัติอย่างค่อยเป็นค่อยไป แล้วจึงจะได้บรรลุก็หามิได้ เพราะถ้าเช่นนั้นแล้ว เราอาจจะไม่เห็นพระอรหันต์กันก็ได้ เพราะท่านต้องไปรอเอาตรัสรู้กันในชาติต่อๆไป

        และที่ว่านิกายเซ็นเป็นนิกายย่นทางตรัสรู้ให้เร็วขึ้น คือไม่ต้องรักษาศีลก่อนแล้วจึงค่อยหัดทำสมาธิ แล้วจึงไปขื้นปัญหานั้น ถ้าจะดูตามหลักฐานต่างๆในปรกรณ์ฝ่ายไทยของเรา ก็จะพบว่า ได้มีพระอรหันต์เป็นจำนวนมากที่ไม่ได้ผ่านการรักษาศีล หรือการทำสมาธิอย่างชนิดสูงๆ แต่ว่าได้ตรัสรู้กันในขณะฟังธรรมบรรยายของพระศาสดา เช่นพระยศและเหล่ามิตรสหายเป็นต้น ท่านเหล่านี้มิใช่พวกตรัสรู้อย่างฉับพลับหรือไร? พระอรหันต์ผู้ตรัสรู้เล่า ทางพุทธศาสนา(ไม่เป็นของนิกายใดนิกายหนึ่ง) ก็ได้วางแนวไว้สองทาง ทางหนึ่งได้แก่พวกที่ได้ตรัสรู้ด้วยการบำเพ็ญเพียรทางศีล แล้วเลื่อนขึ้นมาบำเพ็ญเพียรทางสมาธิ หนักในทางจิตจนสามารถบรรลุฌานต่างๆทั้งรูปฌาน อรูปฌาน เมื่อจิตถูกอบรมฝึกฝนจนมีอำนาจแข็งแกร่งแล้ว ก็ใช้อำนาจแห่งจิตนั้น ทำลายอวิชชาเสียได้ เรียกกันว่า พวก "เจโตวิมุติ" แปลว่า หลุดพ้นด้วยอำนาจจิต พระอริยเจ้าเหล่านี้ เพราะเหตุที่บรรลุฌานมาก่อน จึงสามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ต่างๆได้ อีกทางหนึ่งได้แก่ท่านที่ใช้อำนาจปัญญา พิจารณาสภาวธรรมทั้งหลายตามเป็นจริง จนสามารถหลุดพ้นทุกข์ได้ พวกนี้ไม่จำเป็นต้องได้ฌานสมาบัติ เพียงแต่มีสมาธิขั้นต่ำๆ คือขณิกแล้วยกจิตขึ้นสู่ปัญญาเท่านั้น เรียกว่าพวก "ปัญญาวิมุติ" แปละว่า หลุดพ้นด้วยอำนาจปัญญา แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อะไรไม่ได้

        พระอริยเจ้าทั้งสองพวกนี้  ถ้าเราจะพิจารณาดูก้นแล้ว หลักธรรมในนิกายเซ็น ก็คือการปฏิบัติเอาทางปัญญากันโดยเฉพาะ อันได้แก่พวกหลังนี้เอง คำสอนทางฝ่ายเรา ก็มีกล่าวเป็นไปอย่างทำนองนี้หลายแห่ง เช่นพุทธภาษิตในติลักขณาทิคาถา ว่า

       "เมื่อใดมาเห็นสังขารทั้งหลายว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน, เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ อันนี้เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์หมดจด" ในพุทธภาษิตนี้ไม่ได้บอกว่า ต้องรักษาศีลแล้วทำสมาธิจึงจะเกิดมีปัญญาหลุดพ้นทุกข์ได้ แต่ว่าเมื่อมีปัญญาเห็นแจ้งในพระไตรลักษณ์แล้ว ก็เป็นเหตุให้หลุดพ้นได้ นี่เป็นการแสดงถึงความสำคัญของปัญญาไปในตัว เพราะเหตุว่า ขณะใดมีปัญญา ขณะนั้นก็มีสมาธิและศีลไปในตัว ,ขณะใดมีสมาธิ ขณะนั้นก็มีศีล. พระเถระผู้ทรงคุณธรรมของฝ่ายเรา ก็เคยเทศนาย้ำกล่าวเสมอ เช่น ท่านเจ้าคุณอุบาลี(สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาส กล่าวว่า "ศีลใดบรรลุเป็นพุทธะแล้วเหตุที่ไม่มีอิทธิปาฏิหาริย์ หรือไม่มีคุณลักษณะอย่างพระศาสดานั้นก็เป็นอั้นเฉลยด้วย คือว่าพวกปัญญาวิมุตินั้น แสดงฤทธิ์ไม่ได้ และเพราะเหตุที่ไม่ใช่เป็นสัมมาสัมพุทธะ แต่เป็นเพียงสุตพุทธะ หรืออนุพุทธะเท่านั้น จึงไม่มีมหาปุริสลักษณะอย่างพระบรมครู นี้เป็นความเห็นของข้าพเจ้า

        3  เมื่อเรารู้ว่า นิกายเซ็น ก็คือ นิกายแห่งปัญญาวิมุติเช่นนี้แล้วก็ย่อมเป็นธรรมดาที่ข้อปฏิบัติต้องหนักไปในทางปัญญา เพราะฉะนั้น จึงเกิดมีปริศนาธรรม หรือกงอั้นไว้สำหรับให้ขบคิด วิธีปฏิบัติและกงอั้น นอกจากจะดำเนินตามคำสอนของพระศาสดาแล้ว ยังมีวิธีการปฏิบัติและกงอั้นที่ถูกตั้งขึ้น โดยท่านสมาธยาจารย์แห่งนิกายเซ็นอีกด้วย เรียกว่า "จู่ซือสัน" คือ "แบบสมาธิของท่านบูรพาจารย์" ซึ่งมีอยู่มากมาย แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการปฏิบัติและกงออั้นเหล่านั้น ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมะที่ลึกซึ้งชวนขบคิดทั้งสิ้น ข้าพเจ้าจักอธิบายกงอั้นบางอันตามมติของตนเอง พอเป็นเครื่องชี้แนะให้เห็นความลึกซึ้งของนิกายเซ็น

        กงอั้นที่สมเด็จพระภควาตรัสแก่พระมัญชูศรีโพธิสัตว์ และท่านมัญชูศรีได้ทูลตอบว่า "ข้าพระองค์ไม่เห็นธรรม แม้หนึ่งอยู่ภายนอกประตู, เหตุไรจึงทองสอนให้ข้าพระองค์เข้าประตูเล่า"? ตอนนี้แสดงให้รู้ถึงธรรมชาติหนึ่ง อันเรียกว่า "พระนิพพาน" พระนิพพานเป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วๆไปไม่จำกัดที่ทาง ไม่มีการเข้าการออก เพราะนิพพานภาวะเป็นของคงที่ และก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าจะต้องออก เพราะนิพพานภาวะมีอยู่ทั่วไปทุกซอกทุกมุม หรืออีกนัยหนึ่ง คือว่า พระมัญชูศรีโพธิสัตว์ได้บรรลุความเห็นแจ้งแล้ว ไม่มีการที่จะต้องกลับกลาย เช่นเข้า-ออกต่อธรรมอีก เพราะธรรมทั้งหลาย ท่านละวางได้ขาดแล้วมีปัญญาอันไพบูลย์เห็นสรรพสิ่งมีภาวะว่างเปล่านั่นเอง และที่พระพุทธองค์ทรงนิ่งไม่ตอบพาหิรชน ก็เพราะพระองค์ ต้องการแสดงนิพพานภาวะอันลึกซึ้งให้เห็น พาหิรชนผู้นั้นเป็นผู้มีปัญญาได้รู้แจ้งจึงเลื่อมใส และที่ว่าพระสังฆปรินายกองค์ที่สองหาจิตไม่พบนั้น เพราะเหตุที่จิตนี้เกิดดับอยู่เป็นนิตย์ไม่มีตัวตนอันใด

        ข้อที่ธรรมาจารย์ผู้หนึ่งว่าขี่โคไปหาโคนั้น อธิบายว่าตัวเรานั้นก็เป็นพุทธะอยู่แล้ว ยังจะไปหาพุทธะที่ไหน คือหมายว่า พุทธะก็อยู่ที่เราๆจะไปค้นหาพุทธะข้างนอกนั้นไม่พบหรอก เพราะเหตุที่พุทธะนั้น ก็คือ ภาวะในตัวเรานี้เอง อนึ่ง ข้อที่ให้คอยระวังโคนั้น ความตรงนี้ดูจะมีความหมายกระไรชอบกลอยู่ คือ ถ้าหากว่าเราสามารถค้นพบและเห็นแจ้งพุทธภาวะในตัวเราแล้ว ก็หมายความว่าเราได้ตรัสรู้พระนิพพานแล้ว เหตุไรจึงยังต้องคอยระวังรักษาอีกเล่า? เพราะฉะนั้น ความตอนนี้ส่อให้เห็นว่า ที่กล่าวมาแต่เบื้องแรกว่าผู้ได้ตรัสรู้ (อันข้าพเจ้าแปลตรงกับความหมายทางภาษาจีน) แล้วยังต้องคอยทะนุถนอมภาวะอันนั้นอยู่ หมายความว่าการได้ผลจากการเห็นแจ้งในธรรมะที่ยังเป็นขั้นต่ำๆ ชนิดยังเป็นสังขตะอยู่ เช่นการได้สมาธิจิตเป็นต้น ถ้าเราปล่อยปละละเลยไม่นำพา สมาธิจิตก็อาจจะเสื่อมได้ แม้พวกฌานชั้นสูงๆ เช่น อรูปฌาน ก็เช่นกัน เพราะฉะนั้น จึงสรุปความได้ว่า ความหมาย ณ ที่นี้ ไม่ได้หมายเอาว่า ได้ พระนิพพาน แต่หมายเอาว่า เริ่มที่จะได้สูดกลิ่นไอน้อยๆของพระนิพพาน เช่น การที่จิตใจสงบจากกิเลสขั่วคราวอะไรเหล่านี้

        4 ลังกาวตารสูตร หรือจีนเรียกว่า "ลางเจียงจิง" เป็นสูตรชนิดหัวใจของนิกายเซ็น พระภควาแสดงสูตรนี้ ณ ภูเขาบนเกาะลังกาแก่ท่านพระมหาปัญญาโพธิสัตว์ ภายในกล่าวถึงข้อธรรมอันลึกซึ้ง อันเป็นอภิปรัชญาของพุทธธรรมมีข้อธรรมที่ชวนให้ขบคิดมาก (พระพุทธศาสนาไทยเราก็มาจากเกาะลังกา)

        ศูรางคมสมาธิสูตรนั้น เป็นสูตรที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่พระอานนท์ กล่าวถึงอายตนะภายในภายนอก และการปฏิบัติธรรม มีการทำสมาธิไว้อย่างพิศดาร พุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานนับถือสูตรนี้มาก กล่าวกันว่า ถ้าผู้ใดได้รู้แจ้งหรือได้อ่านพระสูตรนี้แล้ว เวลาทำสมาธิจักไม่เกิดนิมิตอันจะชวนให้ใจเขว หรือหวั่นไหวเลย เพราะในพระสูตรนั้นสอนให้รู้เท่าถึงนิมิตต่างๆ และพระสูตรนี้ปรากฏตามตำนานว่าเป็นสูตรสำคัญของพุทธศาสนามหายาน และเป็นกุญแจสำคัญของนิกายเซ็นด้วย

        วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร เป็นสูตรสำคัญในการปฏิบัติธรรมอีกสูตรหนึ่งปกติจัดเป็นสูตรสำหรับสวดเหมือนทำวัตรของเรา พุทธศาสนิกชนฝ่ายเหนือ รู้จักสูตรนี้ดีมา และสวดกันอย่างแพร่หลาย ในนั้นกล่าวถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมะที่เป็นปรมัตถ์ล้วนๆแก่ท่านสุภูติมหาเถระ,ปฏิเสธขันธ์ 5 ว่าไม่เป็นตัวตน และปฏิเสธความเป็นอยู่แห่งอาตมัน ผู้ทีได้อ่านย่อมได้ปัญญาความรู้แจ้ง มีเรื่องเล่าว่า ในประเทศจีนสมัยราชวงศ์หมิง มีศิษย์ผู้หนึ่งของท่านธรรมาจารย์ เหลียนฉือ ได้บำเพ็ญสมาธิปรากฏเห็นนิมิตต่างๆ จึงได้มีจดหมายมาถามท่านธรรมาจารย์, ธรรมาจารย์องค์นั้นมีจดหมายตอบโต้ไปโดยยกอาข้อความในวัชรปรัชญาปารมิตาสูตรมาอ้างว่า "วัชรปรัชญาปารมิตาสูตรกล่าวว่า สิ่งที่มีลักษณะทั้งหลายล้วนแต่เป็นของว่างเปล่า และมายา," ศิษย์ผู้นั้นได้รับจดหมายนั้นแล้ว ก็เห็นแจ้ง

        อนึ่ง ที่ทางฝ่ายเหนือถือว่าท้าวมหาราชมีอยู่ 5 พระองค์นั้น คือนอกจากที่ประจำทิศทั้ง 4 อันเรียกว่า จาตุมหาราชแล้ว ยังมีตรงกลางอีกองค์หนึ่งรวมกันเป็น 5 องค์

เสถียร   โพธินันทะ

6 กันยายน 2490

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats