- รายละเอียด
- เผยแพร่เมื่อ วันเสาร์, 16 มกราคม 2559 06:58
- เขียนโดย gonghoog
สุวรรณประภาสสูตร คณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย
ความเป็นมาของสุวรรณประภาสสูตร เป็นพระสูตรหนึ่งในหมวดไวปุลยสูตร 9 สูตร และนับเป็นพระสูตรสำคัญยิ่งสูตรหนึ่งของพระพุทธศาสนามหายาน มีชื่อเต็มว่า “ศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร” (พระสูตเรนทรราชราชาผู้มีรัศมีสีทอง) พระสูตรนี้ยังปรากฏหลายชื่อเช่น สุวรฺณปฺรภาส, สุวรรณปฺรภาโสตฺตม, สวรฺณปฺรภาโสตฺตม, สุวรฺปฺรภาโสตฺตมา, ศรีสุวรฺณปฺรภาโสตฺตมสูตเรนทรราชสูตร ซึ่งมีความหมายโดยรวมตรงกันว่า ความรุ่งโรจน์แห่งสุวรรณ หรือพระสูตรว่าด้วย “รัศมีดั่งทอง”
ต้นฉบับสันสกฤต
ต้นฉบับพระสูตรนี้น่าเชื่อได้ว่าคงมีอายุเก่าแก่ไม่น้อยกว่าคริสต์ศตวรรษที่ 5 (ราวพ.ศ.943-1043) อ้างอิงจากฉบับที่แปลเป็นภาษาจีนครั้งแรกในยุคสมัยต่อมาคงมีการเพิ่มเติมเนื้อหาจนมีจำนวนบทเพิ่มขึ้นโดยลำดับในปัจจุบันมีฉบับ 21 บท และ 29 บท
สุวรรณประภาสสูตรฉบับดั้งเดิมในภาษาสันสกฤตพิมพ์ครั้งแรกในปีพ.ศ.2441 (ค.ศ.1898) โดย Sarat Ghandra Das และ Satis Chandra Sastri ตรวจชำระ จัดพิมพ์โดย Buddhist Text Society of India, Calcutta ประเทศอินเดีย ฉบับนี้ใช้ต้นฉบับสันสกฤตจากเอเชียกลางและเนปาล
ต่อมาปี พ.ศ.2475 (ค.ศ.1931) Bunyiu Nanjio และ Hokei Idzumi ได้ตรวจชำระและพิมพ์ใหม่ ในชื่อ Suvarnaprabhasa Sutra : a Mahayana text called “The Golden Splendour” จัดพิมพ์โดย The Easem Buddhist Society, Kyoto ประเทศญี่ปุน
ต่อมาปี พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937 Johannes Nobel ได้พิมพ์ใหม่ในชื่อ Suvarnaprabhottamasutra Mahayana Goldglanz Ein Sanskit-Text des Mahayana-Buddhismus. Nach den tibetischen und Chinesischen จัดพิมพ์โดย Ubertragungen เมืองไลพ์ซิก ประเทศเยอรมณี ฉบับนี้ เป็นฉบับอักษรทิเบตร่วมด้วย
ต่อมาปี พ.ศ. 2418 (ค.ศ.1979) ได้พิมพ์ขึ้นอีกครั้งโดย REEmmerick ในชื่อ The Sdtra of golden light : being a Ttranslation of the Suvarnaprasottamasutra จัดพิมพ์โดย สมาคมบาลีปกรณ์ (The Pali Text Society) นครลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ต่อมา Dr.s.(Sitansusekhar) Bagchi ได้ตรวจชำระฉบับสันสกฤตของ Bunyiu Nanjio and Hokei Idzumi ในหนังสือ The Suvarnaprabhasa sutra : a Mahayana text called “The Golden Splendour” และจัดพิมพ์ในหนังสือ Buddhist Sanskrit. Text No.8 สุวรฺณปฺรภาสสูตร โดยสถาบันมิถิลา เมืองทรภังคะ แคว้นพิหาร ประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2510 (A.D.1967) The Mithila Institute of Post-Graduate Studies and Research in Sansrik Learning Darbhanga, India.
ในการแปลครั้งนี้ ได้ถือตามต้นฉบับอักษรเทวนาครีที่ Dr. S. Bagchi ตรวจชำระและจัดพิมพ์โดยสถาบันมิถิลาดังกล่าว เพื่อรักษาต้นฉบับพระธรรมฝ่ายมหายานได้สืบทอดต่อไปยังชนรุ่นหลังมิให้สูญหายไป
การแปลสุวรรณประภาสสูตรเป็นภาษาจีน
สารบัญรายชื่อคัมภีร์พระพุทธศาสนาสมัยราชวงศ์ถัง-ราชวงศ์ซ่งระบุว่ามีการแปลพระสูตรนี้จากภาษาสันสกฤตสู่ภาษาจีนทั้งสิ้น 6 ฉบับ แต่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันเพียง 3 ฉบับ ดังนี้
ฉบับที่1 แปลในระหว่างปี พ.ศ. 955-970 (ค.ศ.412-427) ในสมัยราชวงศ์เหลียงฝ่ายเหนือ(北涼)โดยท่านธรรมเกษมหรือธรรมรักษ์(曇無讖) ใช้ชื่อในภาษาจีนว่า “กิมกวงเม้งเก็ง” (金光明經) มีความยาว 4 ผูก นับเป็นฉบับแรกที่แปลสู่ภาษาจีน ฉบับนี้เป็นที่นิยมใช้มากที่สุดมีเนื้อหาแบ่งเป็น 19 บท มีความใกล้เคียงกับต้นฉบับสันสกฤต ฉบับ 21 บท แต่การแบ่งบทต่างกันเล็กน้อย และบางบทในส่วนโศลกขาดไป
ฉบับที่2 แปลในระหว่างปี พ.ศ.1095-1100(ค.ศ.553-557) ในสมัยราชวงศ์เหลียงฝ่ายใต้ (梁) โดยท่านปรมารถ (真諦) และสานุศิษย์ใช้ชื่อในภาษาจีนว่า “กิมกวงเม้งเก็ง”( 金光明經) มีความยาว 6 หรือ 7 ผูกปัจจุบันฉบับนี้เนื้อหาส่วนใหญ่สูญหาย เหลือเพียงบางบท รวมอยู่ในฉบับของท่านเป่ากุ้ยเท่านั้น
ฉบับที่3 แปลในระหว่างปี พ.ศ. 1104-1121 (ค.ศ.561-578) ในสมัยราชวงศ์โฮ่วโจว(後周) โดยท่านยโศคุปต์(耶舍崛多) ใช้ชื่อในภาษาจีนว่า “กิมกวงเม้งเก็งเก็งก้วงสิ่วเหลียงไต่เปี๋ยงถ่อหล่อนี้” (金光明經更廣壽量大辯陀羅尼) มีความยาว 5 ผูก 20บท ปัจจุบันฉบับนี้เนื้อหาส่วนใหญ่สูญหาย เหลือเพียงบางบท รวมอยู่ในฉบับของท่านเป่ากุ้ยเท่านั้น
ฉบับที่4 แปลในระหว่างช่วงราชวงศ์สุย(隋) โดยท่านชญานคุปต์(闍那崛多) ใช้ชื่อในภาษาจีนว่า “กิมกวงเม้งเก็งจกลุ่ยปิ้งงี่งจู้ปิ้ง”(金光明經囑累品銀主品) ปัจจุบันฉบับนี้เนื้อหาส่วนใหญ่สูญหายเหลือเพียงบางบท รวมอยู่ในฉบับของท่านเป่ากุ้ยเช่นกัน
ฉบับที่5 แปลเมื่อปี พ.ศ. 1140 (ค.ศ.597) ในสมัยราชวงศ์สุย(隋) โดยท่านเป่ากุ้ย(寶貴) ใช้ชื่อในภาษาจีนว่า “หะโป๋วกิมกวงเม้งเก็ง”( 合部金光明經) มีความยาว 8 ผูก เนื้อหา 24 บท ฉบับนี้เป็นการรวบรวมฉบับแปลของหลายท่านเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีฉบับของท่านธรรมเกษมเป็นหลัก เสริมด้วยฉบับของท่านปรมารถ, ท่านยโศคุปต์ และท่านชญานคุปต์ รวมทั้งท่านเป่ากุ้ยแปลเพิ่มเติม
(หน้า35)
ฉบับที่6 แปลเมื่อปี พ.ศ.1250 (ค.ศ.703) ในสมัยราชวงศ์ถัง (唐) โดยท่านอี้จิง(義淨) ใบชื่อในภาษาจีนว่า “กิมกวงเม้งจ้วยเส่งอ่วงเก็ง”(金光明最勝王經) มีความยาว 10 ผูก 31บท ฉบับนี้มีจำนวนบทมากที่สุด เนื้อหาตรงกับฉบับ 29 บทของสันสกฤต
แต่ในสังฆมณฑลของจีน ส่วนใหญ่นิยมฉบับแปลของท่านธรรมเกษมมากที่สุด
นอกจากฉบับแปลภาษาจีนแล้ว ในปัจจุบันพบต้นฉบับอักษรโขตาน, ทิเบต ซีเซี่ย, อุยกูร์, มองโกล, ซอกเตียน เป็นต้น
เนื้อหาของพระสูตร
เนื้อเรื่องของสุวรรณประภาสสูตร เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่ามีความกระจัดกระจายไม่เป็นหมวดหมู่และไม่มีเอกภาพ นักวิชาการสังเกตจากแนวการเขียนที่เป็นการรวบรวมสารัตถะในหลายๆเรื่องเข้าด้วยกัน ทั้งที่เนื้อความไม่สอดคล้องกันนัก
พระสูตรนี้มีเนื้อความบางตอนแสดงแนวความคิดทางปรัชญาและบางตอนก็เกี่ยวกับจริยศาสตร์ แต่ประกอบด้วยตำนานเป็นจำนวนมาก ข้อความบางตอนตรงกับที่มีในพระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกายของฝ่ายบาลี ซึ่งเป็นคัมภีร์พุทธศาสนารุ่นเก่ากว่า พระสูตรนี้จึงมีความสำคัญในแง่ประวัติของการศึกษาพระสูตรมหายานอย่างยิ่ง มีเนื้อหาสังเขปดังนี้
บทที่ 1 นิทานปริวรรต 序品ว่าด้วยบุรพเหตุ
กล่าวถึง สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏพร้อมด้วยพระโพธิสัตว์ รวมทั้งเทพ นาค ยักษ์ รากษส คนธรรพ์ อสูร ครุฑ กันนร มโหรคะ มนุษย์ และอมนุษย์จำนวนมาก ครั้งนั้น พระอานนท์ได้ทูลถามปัญหากับพระพุทธเจ้าว่า พระธรรมวินัยจักมีแก่มหาเทวดาเหล่านั้นได้อย่างไร พระพุทธองค์จึงทรงแสดงธรรม ชื่อ สุวรรณประภาสสูตรอันเป็นราชะแห่งสูตรทั้งหลาย และเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าในทิศทั้งสี่ทรงสรรเสริญ
บทที่ 2 ตถาตายุประมาณนิรเทศปริวรรต壽量品 ว่าด้วยการแสดงประมาณอายุของพระตถาคต
กล่าวถึง พระโพธิสัตว์รุจิรเกตุ ได้ระลึกถึงคำสอนของพระศากยมุนีพุทธเจ้า เรื่องเหตุปัจจัยในการมีอายุยืนยาว และใคร่ครวญถึงพระชนมายุของพระศากยมุนี เมื่อท่านรุจิรเกตุน้อมนำจิตถึงพุทธานุสติแล้ว ก็บังเกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้น พระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ได้ปรากฏขึ้นในคฤหาสน์ของท่านรุจิรเกตุด้วยพุทธานุภาพ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ได้ทรงแสดงให้เห็นว่า “ไม่เห็นผู้ใดในโลก รวมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ประชาชน รวมทั้งสมณะพราหมณ์รวมทั้งเทวดา มนุษย์ อสูร ที่สามารถสำเร็จการนับที่สุดประมาณอายุของพระศากยมุนีได้เลย”
จากนั้นพราหมณ์เกาฑิณยะ ได้กล่าวกับลิจฉวีกุมาร นามว่า สรรพสัตว์ปริยทรรศนะ ผู้ได้ถามสาเหตุแก่พราหมณ์ ที่ทูลขอพระสารีริกธาตุขนาดเมล็ดพรรณผักกาดจากพระพุทธองค์ พราหมณ์เกาฑิณยะ ได้สรรเสริญพระสุวรรณประภาโสตตมสูตร และได้กล่าวสรรเสริญพระกายของพระพุทธเจ้าอันได้แก่ ธรรมกายคือธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว นิรมิตกาย เป็นกายที่แสดงถึงการถูกนิรมิตขึ้นมา สัตตวานามปริปากกาย เป็นกายเพื่อความสำเร็จของสัตว์ทั้งหลาย เป็นการริเริ่มแนวคิดเกี่ยวกับ “ตรีกาย”ของมหายานไว้อย่างชัดเจน อาจกล่าวได้ว่าเป็นพระสูตรที่มีคำสอนเกี่ยวกับแนวคิดตรีกายที่เก่าแก่ที่สุดพระสูตรหนึ่ง
บทที่ 3 สวัปนปริวรรต懺悔品 ว่าด้วยเรื่องความฝัน
กล่าวถึงพระโพธิสัตว์รุจิรเกตุ ได้ฝันเห็นกลองทองคำ และมีพราหมณ์ผู้หนึ่งกำลังตีกลองนั้น เสียงกลองที่เปล่งออกมาเป็นธรรมเทศนา พระโพธิสัตว์รุจิรเกตุจึงได้เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าที่ภูเขาคิชฌกูฏ เพื่อทูลถามเกี่ยวกับความฝันนั้น
บทที่ 4 เทศนาปริวรรต 懺悔品ว่าด้วยเรื่องเทศนา
กล่าวถึงบทโศลก ที่เปล่งออกมาจากกลองทองคำ ที่พระโพธิสัตว์รุจิรเกตุได้ยินในฝัน สาระสำคัญเป็นคล้ายกับคำอธิษฐานตั้งปณิธานความปรารถนาดีประการต่างๆแก่สรรพสัตว์ มีคำกล่าวสรรเสริญพระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญพระธรรมอันลึกซึ้ง และสรรเสริญสุวรรณประภาโสตตมสูตร บางตอนจะเป็นการขมากรรมแสดงบาปทั้งหลายของตน แทรกด้วยการสรรเสริญความกรุณาที่มีต่อสรรพสัตว์
บทที่ 5 กมลากรสรวตถาคตวปริวรรต 讚歎品ว่าด้วยเรื่องการสดุดีพระตถาคตทุกพระองค์ที่เป็นบ่อเกิดของดอกบัว
ในบทนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับพระโพธิสัตว์ผู้ติดตาม (ในฉบับจีนระบุเป็นพระปฤถิวีเทวี) กล่าวถึง พระราชานามว่า สุวรรณภุเชนทระ ผู้กล่าวสดุดีสรรเสริญพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต พรรรณาการตั้งปณิธานต่างๆย่อมสำเร็จด้วยพุทธบารมีของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
บทที่ 6 ศูนยตาปริวรรต 讚歎品ว่าด้วยเรื่องศูนยตา
กล่าวถึงพระพุทธเจ้าทรงแสดงศูนยตาธรรม อันเป็นธรรมประเสริฐสุดด้วยการพรรณนาสรรเสริญพระสูตรนี้ และอานิสงส์ที่จะได้รับจากการสาธยายพระสูตรนี้ ในโศลกมีการอุปมา เปรียบกายเป็นบ้านว่างเปล่า อินทรีย์ทั้งหกเปรียบเหมือนโจร และเปรียบจิตเป็นดังภาพมายา มหาภูตรูปทั้งสี่เป็นดังอสรพิษ และมีคำอุปมาต่างๆ เพื่อลดการยึดมั่นในตัวตนลง และเข้าใจถึงศูนยตา ซึ่งเป็นปรัชญาสำคัญของมหายาน
บทที่ 7 จตุรมหาราชปริวรรต 四天王品ว่าด้วยพระมหาราชสี่พระองค์
กล่าวถึง ท้าวจาตุมหาราช (ท้าวโลกบาลทั้ง 4 ) คือพระมหาราชาไวศรวณะ (เวสสุวรรณ) พระมหาราชาธฤตราษฏร์(ธตรัฐ) พระมหาราชาวิรูฒกะ(วิรุฬหก) และพระมหาราชาวิรูปากษะ(วิรูปักข์) ซึ่งผู้ที่นับถือพระสูตรนี้ จะได้รับความคุ้มครองจากท้าวจาตุมหาราช และเทพเจ้าอื่นๆผู้มีกรุณา และสอนว่าถ้าพระราชามีความเลื่อมใสในพระสัทธรรม แว่นแคว้นของพระองค์ก็จะได้รับความคุ้มครองจากเทพเจ้าทั้งหลายเหล่านี้ อีกนัยหนึ่งถ้าพระราชาไม่รักษาพระสัทธรรม เทพเจ้าผู้กรุณาก็จะละทิ้งแว่นแคว้น และมหาภัย 3 และหายนะ 47 ก็จะตกต้องแว่นแคว้นนั้น
บทที่ 8 สรัสวตีเทวีปริวรรต 大辯天品ว่าด้วยพระเทวีสรัสวดี
กล่าวถึง มหาเทวีสรัสวดี ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า พระนางจะมอบความเป็นเลิศด้านปฏิภาณปัญญาแก่พระภิกษุผู้แสดงธรรม รวมทั้งสรรพสัตว์ผู้ได้ฟัง สุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ จะเป็นผู้มีปัญญาที่เฉียบแหลมจะได้รับปัญญาที่ไม่อาจจินตนาภาพได้ เป็นผู้ไม่เสื่อมจากอายุ จะได้รับสมบัติและกองบุญที่ดียิ่งจนมิอาจคณานับได้ ผู้ได้ฟังจะเป็นผู้ฉลาดในสรรพศาสตร์และศิลปะนานาชนิด ตอนท้ายได้กล่าวถึงพิธีสนานกรรม (อาบน้ำ) และมนตร์ที่สวดบูชา
บทที่ 9 ศรีมหาเทวีปริวรรต 功德品ว่าด้วยพระศรีมหาเทวี
กล่าวถึง ศรีเทวี (ลักษมี) ผู้ได้สร้างกุศลมูลไว้กับพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านามว่า รัตนกุสุมคุณสาครไวฑูรยกนกคิริสุวรรณกาญจนประภาสศรี พระนางกราบทูลกับพระพุทธเจ้าว่า พระนางจักเอาใจใส่พระภิกษุผู้แสดงธรรมนั้น (สุวรรณประภาสสูตร) ด้วยการบริการจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง คิลานเภสัช และอุปกรณ์อื่นๆพระภิกษุผู้แสดงธรรมนั้น จะอุดมสมบูรณ์ด้วยอุปกรณ์ทุกอย่าง
สรรพสัตว์ทั้งหลายที่ยังดำรงอยู่ ที่ได้ฟังสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร จะได้เสวยสุขที่เป็นของมนุษย์ทิพย์ ที่ไม่อาจจินตนาการได้ตลอดหลายโกฏิหมื่นแสนกัลป์ การขาดแคลนภิกษาหารจะไม่มี ตรงกันข้าม ภิกษาหารจะเกิดขึ้นอย่างอุดมสมบูรณ์ สัตว์ทั้งหลายก็จะมีความสุข โดยดำรงอยู่ในความสุขของมนุษย์ จะเข้าถึงภาวะที่น้อมลงสู่ความเป็นตถาคต ในอนาคตกาลจะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และจะตัดขาดจากแดนนรก กำเนิดเดรัจฉานและความทุกข์ในยมโลก รวมถึงมีมนตร์บูชา ด้วยอานุภาพสุวรรณประภาสสูตร เมื่อผู้ใดสวดท่องมนตร์นี้ ศรีเทวีก็จะคุ้มครอง และประทานพรแก่ผู้นั้น
บทที่ 10 สรวพุทธโพธิสัตตวนามสันธารณิปริวรรต 功德品ว่าด้วยการยึดถือนามของพระสรรวพุทธโพธิสัตว์
เป็นบทนอบน้อมแด่พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์แห่งสุวรรณประภาสสูตร ได้แก่ พระรัตนะศิขินะตถาคต, พระสุวรรณรัตนากรัจฉัตรกูฏตถาคต, พระสุวรรณปุษปชวลรัศมิเกตุตถาคต, พระมหาประทีปตถาคต, พระอักโษภยตถาคต ในทิศบูรพา, พระรัตนเกตุตถาคต ในทิศทักษิณ, พระอมิตายุตถาคต ในทิศปัจฉิม, พระทุนทุภิสวรตถาคต ในทิศอุดร, พระรุจิรเกตุโพธิสัตว์, พระสุวรรณประภาโสตตมโพธิสัตว์, พระสุวรรณคันธโพธิสัตว์, พระสทาประรุทิตโพธิสัตว์ และพระธรรโมทคตโพธิสัตว์
บทที่ 11 ทฤฒาปฤถิวีเทวตาปริวรรต堅牢地神品ว่าด้วยเทวดาผู้ใหญ่ในแผ่นดิน
กล่าวถึงปฤถิวีเทวดาแห่งแผ่นดิน ได้กราบทูลต่อพระพุทธเจ้าว่า ตนจะประจำในทุกภูมิประเทศที่ประดิษฐานสุวรรณประภาสสูตร และเทิดทูนผู้แสดงธรรมสุวรรณประภาสสูตร และได้ทูลว่า แผ่นดินใดที่ประดิษฐานสุวรรณประภาสสูตร ข้าพระองค์จักทำให้แผ่นดินนั้นรุ่งเรืองขึ้นกว่าเดิม ในชมพูทวีปนี้จะมีความสมบูรณ์เกิดขึ้นแก่หญ้า พุ่มไม้ สมุนไพร และต้นไม้ทั่วไปนานาชนิด อุทยาน ป่า ต้นไม้ และธัญพืชทั้งปวง ซึ่งมีชนิดต่างๆ ก็จักอุดมสมบูรณ์
บทที่ 12 สัญชเญยมหายักษเสนาปติปริวรรต 散脂鬼神品ว่าด้วยมหาเสนาบดียักษ์ชื่อสัญชเญยะ
กล่าวถึง หมายักษ์เสนาบดีนามว่า สัญชเญยะ พร้อมด้วยเสนาบดียักษ์อีก 28 ตน ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ตนและเสนาบดียักษ์ทั้ง 28 ตน จะรักษาผู้แสดงธรรมและฟังธรรมสุวรรณประภาสสูตร “จะทำการอารักขาพระภิกษุผู้แสดงธรรมนั้น ข้าพระองค์จักคุ้มครอง ป้องกัน รักษา จักกระทำที่พักอาศัยให้สงบสุขด้วยการใช้อาชญาและอาวุธ จะเป็นสตรี บุรุษ เด็กชาย เด็กหญิงก็ตาม ถ้าได้ฟังสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ เพียงคาถาหนึ่งซึ่งมี 4 บาท หรือเพียงบทหนึ่ง หรือได้ฟังแม้เพียงชื่อของพระโพธิสัตว์จากสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ ข้าพระองค์ก็จักคุ้มครอง รักษาชนเหล่านั้นทุกคน ข้าพระองค์จักทำการคุ้มครอง ป้องกัน รักษาที่พักอาศัยให้สงบสุข ด้วยการใช้อาชญาและอาวุธ ข้าพระองค์จักให้การอารักขาแก่สกุลบ้าน เมือง หมู่บ้าน นิคม ป่า และพระราชวังเหล่านั้นทั้งหมด ข้าพระองค์จะทำการคุ้มครอง ป้องกัน รักษาที่พักอาศัยให้สงบด้วยการใช้อาชญาและอาวุธ”
บทที่ 13 เทเวนทรสมยราชศาสตรปริวรรต 正論品ว่าด้วยราชธรรมนูญโองการของท้าวศักรเทวราช
บทนี้กล่าวถึง ราชธรรมนูญ ที่เรียกว่า เทเวนฺทฺรสมย ซึ่งพระราชาพลทเกตุ ได้ให้โอวาทแก่ราชบุตรรุจิรเกตุ พระโอรส เมื่อได้รับราชาภิเษก ขณะนั้นท้าวโลกบาลจึงได้ถามพระพรหมาผู้เป็นครูของเทพทั้งหลายถึงความเป็นมาของพระราชา การจุติจากสวรรค์ของเทพบุตรเพื่อมาครองราชสมบัติเป็นพระราชาในโลกมนุษย์ ท้าวศักรเทวราชผู้เป็นจอมเทพ ได้มีโองการแก่พระราชาผู้เป็นเทพบุตร ให้ปกครองอาณาจักรด้วยธรรม และตรัสถึงผลร้ายของการที่พระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม
บทที่ 14 สุสัมภวปริวรรต 善集品ว่าแหล่งกำเนิดที่ดี
เป็นบทที่มีเนื้อหาสืบต่อจากบทที่แล้ว กล่าวถึง พระเจ้าจักรพรรดิสุสัมภวะราชา ระหว่างบรรทมอยู่ในราชธานีได้สุบินถึงพระรัตโนจจยะภิกษุแสดงธรรมสุวรรณประภาสสูตรแก่พระองค์ ด้วยอานิสงส์ในการฟังธรรมนี้ พระราชาสุสัมภวะได้เกิดเป็นพระเจ้าจักรพรรดิอีก 99 ล้านกัลป์ เป็นท้าวสักกะเทวราชอีกหลายกัลป์ สุดท้ายได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระศากยมุนีพุทธเจ้า ส่วนพระรัตโนจจยะภิกษุผู้แสดงธรรมนั้นคือพระอักโษภยะพุทธเจ้า
บทที่ 15 ยักษาศรยรักษาปริวรรต 鬼神品ว่าด้วยการรักษาที่อาศัยของยักษ์
บทนี้ พระพุทธเจ้าตรัสถึงผู้เผยแผ่ และผู้ฟังสุวรรณประภาสสูตรจะได้รับการอารักขาจากเทวดาและยักษ์ต่างๆ อาทิ พระมหาพรหม พระอินทร์ มหาเทพในไตรตรึงส์ ท้าวมหาราชทั้ง 4 พระสรัสวดี พระศรี จอมยักษ์สัญชเญยะ หาริตียักษิณี พญานาคคอนวตัปตะในมหาสมุทร พญากินนร มหาเทพ และพญาครุฑ รวมทั้งเทพทั้งหลาย เทวดาประจำภาคพื้นดิน เทวดาประจำพืชผล เทวดาประจำอาราม เทวดาประจำต้นไม้ เทวดาประจำเจดีย์ และเทวดาประจำแม่น้ำ เป็นต้น
บทที่ 16 ทศเทวปุตรสหัสรวยากรณปริวรรต 授記品ว่าด้วยการพยากรณ์หมื่นเทพบุตร
ในบทนี้ พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์แก่สัตบุรุษทั้งสาม คือ สัตบุรุษรุจิรเกตุ จักตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระนามว่า สุวรรณรัตนากรัจฉัตรกูฏตถาคต สัตบุรุษรูปยเกตุ จักตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระนามว่า สุวรรณชมพุธวัชกาญจนาภะตถาคต, สัตบุรุษรูปยประภะ จักตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระนามว่า สุวรรณศตรัศมิประภาสครรภะ
จากนั้นทรงพยากรณ์ หมื่นเทพบุตรที่มีชวลนานตรเตโชราชเป็นหัวหน้าจักตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระพุทธเจ้าทั้งหมื่นองค์ พระนามว่า ประสันนวทโนตปลคันธกูฏะ ด้วยอานิสงส์ในการฟังธรรม สุวรรณประภาสสูตร
บทที่ 17 วยาธิประศมนปริวรรต 除病品ว่าด้วยการทำให้โรคสงบ
บทนี้พระพุทธเจ้าตรัสถึงเรื่องในอดีต สมัยพระพุทธเจ้ารัตนศิขี มีธรรมราชา พระนามว่า สุเรศวรประภะ มีเศรษฐีนามว่า ชฏินธร เป็นแพทย์ เศรษฐีมีบุตรนามว่า ชลวาหนะ เป็นผู้มีความกรุณาต่อสรรพสัตว์ จึงได้เรียนวิชาแพทย์อายุรเวชทั้ง 4 จากบิดาแล้ว ได้เข้าไปในแว่นแคว้นของพระราชา สุเรศวรประภะได้เดินทางไปยังทุกเมือง ทุกหมุ่บ้านเพื่อประกาศจะช่วยรักษาสรรพสัตว์ทั้งหลาย ได้ช่วยรักษาให้สรรพสัตว์ทั้งหลายโกฏิหมื่นแสนคน ได้มีความสุขใจและได้รักษาให้กายจากโรคทั้งสิ้น
บทที่ 18 ชลวาหนัสยมัตสยไวเนยปริวรรต 流水長者子品 ว่าด้วยปลาที่ควรแนะนำของชลวาหนะ
บทนี้พระพุทธเจ้าตรัสเล่าถึง ครั้งหนึ่งเศรษฐีบุตรชายชลวาหนะได้เข้าไปยังป่าที่กันดาร ได้พบสระใหญ่ชื่อ อฏวีสัมภวะ ภายในสระมีปลา 10,000ตัวกำลังขาดน้ำ ชลวาหนะบังเกิดกรุณาจิตแก่ปลาเหล่านั้น เทวดาจึงแนะนำให้ชลวาหนะให้น้ำแก่ปลา ด้วยกรุณาจิตของชลวาหนะจึงมีน้ำในสระขึ้นอีกครั้ง แต่เพราะคนบาปจำนวนมากต้องการปลา จึงพากันทดน้ำจากแม่น้ำ ให้สระน้ำมีน้ำไม่พอแก่ปลา ด้วยความอุปถัมภ์จากพระราชา ชลวาหนะจึงนำน้ำมาสู่สระได้สำเร็จ และได้ให้อาหารแก่ปลา และยังได้แสดงธรรมแก่ปลาทั้งหมี่นตัวโดยสอนให้นอบน้อมต่อพระรัตนศิขีพุทธเจ้า ผู้ตั้งปณิธานเมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ว่า เมื่อใกล้จะตาย สัตว์เหล่าใดในสิบทิศได้ฟังชื่อของเราแล้วสัตว์เหล่านั้นครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว จะไปยังเกิดในสภาของเทวดาชั้นไตรตรึงส์ และได้แสดงธรรมแก่ปลาทั้งหลาย ด้วยอานิสงส์ในการเจริญพุทธานุสติและการฟังธรรม ปลาทั้งหมื่นตัวจึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรหมื่นองค์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ก็คือหมื่นเทพบุตรที่มีชวลนานตรเตโชราช เป็นหัวหน้าที่ทรงพยากรณ์นั่นเอง
บทที่ 19 วยาฆรีปริวรรต舍身品 ว่าด้วยแม่เสือ
บทนี้กล่าวถึงชาดกสำคัญเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องของพระโพธิสัตว์ เมื่อเสวยพระชาติเป็นเจ้าชายหนุ่ม ทรงสละชีวิตบริจาคเป็นอาหารแก่แม่เสือลูกอ่อนที่หิวโหย เพราะขาดอาหารเป็นเวลานาน ด้วยความกรุณาของพระองค์แม่เสือและลูกอ่อนจึงมีชีวิตรอดต่อไป หลังการสิ้นชีวิตของเจ้าชาย พระบิดาได้สร้างสถูปเพื่อเป็นที่ระลึก(เนื้อเรื่องตรงกับชาดกเรื่องเสือแม่ลูกอ่อน ในชาดกมาลาของอารยศูรอันเป็นชาดกสำคัญของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
บทที่ 20 สรวตถาคตัสตวปริวรรต 贊佛品ว่าด้วยการสดุดีพระตถาคตทั้งปวง
กล่าวถึง พระโพธิสัตว์หลายแสนองค์ ได้เข้าไปเฝ้าพระตถาคตสุวรรณรัตนากรัจฉัตรกูฏะ ครั้นเข้าไปหาแล้ว ได้น้อมกายถวายบังคมที่พระบาททั้งสองของพระตถาคตสุวรรณรัตนากรัจฉัตรกูฏะนั้น แล้วยืนประคองอัญชลีอยู่ที่หนึ่ง ได้กล่าวสดุดีพระตถาคตสุวรรณรัตนากรัจฉัตรกูฏะ
พระโพธิสัตว์รุจิรเกตุ ได้กล่าวโศลกสดุดีสรรเสริญพระตถาคตสุวรรณรัตนากรัจฉัตรกูฏะด้วย
บทที่ 21 นิคมปริวรรต 囑累品 ว่าด้วยบทลงท้าย
เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมจบลง พระกุลเทวดาโพธิสัตวสมมุจจยา ได้กล่าวโศลกสดุดีพระพุทธเจ้า พระองค์ได้ประทานสาธุแก่พระกุลเทวดาโพธิสัตวสมมุจจยาอีกครั้ง
ครั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสอย่างนี้แล้ว พระโพธิสัตว์ทั้งหลายในที่ประชุมนั้น อันมีพระกุลเทวดาโพธิสัตวสมมุจจยา พระสรัรสวดีมหาเทวี รวมทั้งเทวดา มนุษย์ อสูร ครุฑ กินนร และโหรคะ เป็นต้น ต่างก็เอิบอิ่มใจ มีความยินดีกับพระดำรัสของพระพุทธเจ้าโดยทั่วกัน
อิทธิพลสุวรรณประภาสสูตร
นับตั้งแต่สุวรรณประภาสสูตรได้รับการแปลสู่ภาษาจีนครั้งแรกก็ได้รับความนิยมศึกษา และสังวัธยายกันแพร่หลายในประเทศจีน ก่อให้เกิดอิทธิพลหลายด้าน
ด้านคำสอน
เนื้อหาคำสอนในสุวรรณประภาสสูตร ความสนใจในเนื้อหาของพระสูตรทำให้เกิดมีการแต่งอรรถกถาอธิบายหลายเล่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยราชวงศ์สุย-ถัง ท่านตี่เจี้ย คณาจารย์รูปสำคัญในนิกายเทียนไท้ได้แต่งอรรถกถาไว้ และได้รับการขยายความโดยสานุศิษย์ จนถึงยุคราชวงศ์ซ่งในคริสศตวรรษที่ 7 พระสูตรนี้เป็นที่เคารพเชื่อถือว่าเป็นหนึ่งในสามพระสูตร สำหรับการใช้สวดเพื่อคุ้มครองประเทศชาติ พร้อมด้วยสัทธรรมปุณฑริกสูตร และไมตรีราชาโลกปาลสูตร
คำสอนในสุวรรณประภาสสูตร ก่อให้เกิดการปฏิบัติตามกันอย่างแพร่หลาย คำสอนเรื่อศูนยตาในบทศูนยตาปริวรรต ยังเป็นที่นิยมสาธยายกันทั่วไป
คำสอนเรื่องความกรุณาต่อสัตว์ก็เป็นที่ซาบซึ้งจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวจีนอย่างมาก
การอุปมาธรรมะในบทต่างๆก็เป็นตัวอย่างที่ชาวพุทธจีนยังคงใช้สอนกันอยู่เสมอ
ด้านศาสนพิธี
พิธีกรรมที่สืบเนื่องมาจากสุวรรณประภาสสูตร มีหลายพิธี เริ่มจากบทสวดธารณีที่ปรากฏในพระสูตร (ศรีเทวี) ก็ยังเป็นบทหนึ่งในการสวดมนต์ทำวัตร และพิธีกรรมอื่นๆ
คำสอนเกี่ยวกับมนุษยราช พระราชาผู้รักษาธรรม มีเนื้อหาเกี่ยวกับการจุดธูปเครื่องหอม ถวายบูชาพระพุทธเจ้า ดังพระสูตรกล่าวว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ พระมนุษยราชนั้น ได้จุดธูปที่มีกลิ่นหอม...ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ เมื่อของหอมต่างๆถูกจุดขึ้น เพื่อบูชาสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนั้น กลุ่มควันธูปที่มีกลิ่นหอมต่างๆก็แผ่กระจายไป ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เพียงครู่หนึ่งเท่านั้น ฉัตรพุ่มจากธูปหอมนานาชนิด ก็ปรากฏบนท้องฟ้า”
สำนวน”เมฆควันฉัตรพุ่มจากธูปหอมนานาชนิด”(อักษร)นี้เอง ยังปรากฏเป็นคำในบทสวดทำนองบูชา ในการเริ่มพิธีกรรมทุกพิธีแม้จนทุกวันนี้
การช่วยชีวิตปลาหมื่นตัวของชลวาหนะ ก่อให้เกิดพิธีปล่อยชีวิตสัตว์(ปั้งแซ) จนแต่โบราณ ถือว่าชลวาหนะเป็นบูรพาจารย์ต้นวงศ์ของการปล่อยชีวิตสัตว์เป็นทาน นับถือกันว่าเป็นกุศลพิธีอย่างยิ่ง ในวันธรรมสวนะตามปฏิทินจีน หรือในพิธีกรรมสำคัญต่างๆ จะละเว้นพิธีการปล่อยชีวิตสัตว์ไม่ได้เลย
ในสมัยราชวงศ์สุย ท่านตี่เจี้ย คณาจารย์นิกายเทียนไท้ได้เริ่มให้มีการบูชาพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และเทวดาผู้รักษาธรรมที่ปรากฏในพระสูตรนี้ ต่อมาพัฒนาเป็นพิธีขมากรรมในสมัยราชวงศ์ซ่ง และเป็นพิธีบูชาอย่างสมบูรณ์ในสมัยราชวงศ์หมิง เรียกว่าพิธีบูชาธรรมบาลโพธิสัตว์ (ก้งจูเทียน) มีการนำรายนามพระโพธิสัตว์และเทวดาที่ปรากฏในพระสูตร อาทิ มหาพรหมา ท้าวสักกะมหาเทพในไตรตรึงส์ ศรีเทวี สรัสวดี ท้าวมหาราชทั้ง 4 วัชรเทพปฤถิวี สกันทะ มเหศวร สูรยะ จันทร์ ยมราช หาริตียักษิณี สัญชเญยะยักษ์ และเสนาบดียักษ์ทั้ง 28 หมู่เทพชั้นไตรตรึงส์ จนถึงภพเทพ นาค ยักษ์ คนธรรพ์ อสูร ครุฑ กินนร และมโหรคะทั้งปวง และเทวดาอื่นๆ ไปบูชากันอย่างกว้างขวาง จัดเป็นพิธีกรรมสำคัญของพุทธศาสนาฝ่ายจีนจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้การบูชาเทวดาตามแบบสุวรรณประภาสสตรนั้น ไม่เน้นอามิสบูชา คำสอนในพระสูตรระบุเพียให้สาธยานสุวรรณประภาสสูตร และเผยแผ่ให้กว้างขวางก็ย่อมเป็นที่พอใจยินดีแก่เหล่าธรรมบาลทั้งหลาย
ด้านศิลปกรรม-สถาปัตยกรรม
ความเชื่อเรื่องจตุโลกบาลก่อให้เกิดการสร้างรูปท้าวมหาราชทั้ง 4 และวิหารประดิษฐานขึ้นในอารามทั่วประเทศจีนและส่งอิทธิพลแก่ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น รวมทั้งทิเบต
การสร้างรูปธรรมบาล เทวดา เสนายักษ์ หาริตียักษิณี ก็แพร่หลายขึ้นพร้อมพิธีกรรมบูชาธรรมบาลโพธิสัตว์ ทั้งจิตรกรรมในเรื่อง จตุโลกบาล เทวดา เสนายักษ์ต่างๆแวดล้อมอารักขาพระพุทธเจ้าก็ปรากฏแพร่หลายมาก
การสร้างสระน้ำเพื่อปล่อยชีวิตสัตว์ ก็เป็นที่นิยมให้มีประจำในอารามขนาดใหญ่ และสระน้ำไม่เคยถูกปล่อยให้เหือดแห้งเลย
ที่บรรยายมาเป็นแต่กล่าวโดยสังเขป นับได้ว่าสุวรรณประภาสสูตรนั้นมีอิทธิพลกว้างขวางเกินกว่าจะบรรยายได้หมดสิ้นทีเดียว
คณะกรรมการโครงการตำราและวิชาการมหายาน
ศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร
พระสูตเรนทรราชาผู้มีรัศมีสีทอง
ปริเฉท 1
นิทานปริวรรต ว่าด้วยบุรพเหตุ
โอม ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์
โอม ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระอารยปรัชญาปารมิตา ผู้เป็นดุจดวงจินดามณี
โอม ขอการบูชาบวงสรวงจงมีเพื่อชัยชนะตามแห่งคติธรรมศาสตร์และพระเวท
พระพุทธเจ้า (สรฺวชฺเญน) ได้ตรัสแสดงปารมิตาอันเป็นคุณธรรมสูงสุดสิบประการไว้โดยนัยต่างๆ เพื่อให้สรรพสัตว์ได้ดำเนินไปถึงฝั่ง ตรัสถึงภูมิทั้งสิบไว้เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ และได้ตรัสถึงวิธีดำเนินชีวิตที่บริสุทธิ์และเป็นกลาง เว้นจากความเชื่อว่าขาดสูญ (อุจเฉททิฏฐิ) และความเชื่อเรื่องความเที่ยงในพระสูตรใด ขอให้ผู้ที่ปราราถนาพระโพธิญาณ จงสดับฟังซึ่งพระสูตรนั้นที่พรรณนาถึงรัศมีสีทองเถิด
1 ข้าพเจ้าได้ฟังมาว่า ในสมัยหนึ่ง พระตถาคตได้ประทับอยู่ในฌานอันเป็นพุทธโคจรที่ลึกซึ้ง ณ ภูเขาคิชฌกูฎ
พร้อมด้วยพระโพธิสัตว์สมุจจยา มหากุลเทวดา , พระสรัสวดี มหาเทวดา, พระศรีมหาเทวดา, พระทฤฒามหาปฤถิวีเทวดา, และพระหารีตี มหาเทวดา, และมหาเทวดา ผู้เป็นประมุขทั้งหลาย รวมทั้งเทพ นาค ยักษ์ รากษส คนธรรพ์ อสูร ครุฑ กินนร มโหรค มนุษย์ และอมนุษย์จำนวนมาก ครั้งนั้น พระอานนท์ผู้มีอายุ ได้ทูลถามปัญหานี้กันพระพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระผ้มีพระภาค พระธรรมวินัยจักบังเกิดแก่พระโพธิสัตว์และมหาเทวดาเหล่านั้นได้อย่างไร
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบด้วยคาถาทั้งหลายว่า เพราะว่า ภาวนา ปัญญา สมาธิอันหมดจด และสาระแห่งธรรม จะไม่บังเกิดด้วยคำถามที่ไร้ประโยชน์
2 พระสูตรราเชนทรราชะนี้ อุดมไปด้วยรัศมีสีทอง ที่เป็นบุรพเหตุในพระโพธิสัตว์ผู้ประเสริฐ ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์และปราศจากมลทิน
3 เพราะการได้ฟังอย่างลึกซึ้ง การได้พิจารณาอย่างลึกซึ้งจากพระสูตรนั้น พระพุทธเจ้าทั้งสี่ทิศ จึงได้ประสาทพร
4 คือพรจากพระอักโษภยราชะ ในทิศบูรพา จากพระรัตนเกตุในทิศทักษิณ จากพระอมิตาภะ ในทิศปัจฉิม และจากพระทุนทุภิสวระ ในทิศอุดร
5 ข้าพเจ้าจักกล่าวคำอธิษฐานนั้น อันแสดงถึงความเป็นมงคลสูงสุดเป็นประโยชน์ต่อการยังบาปกรรมทั้งปวงให้พินาศ เพราะทำให้บาปกรรมทั้งปวงสิ้นไป
6 เป็นมูลเหตุแห่งการรู้ความจริงทุกประการ ที่ประดับด้วยความสง่างามทุกอย่าง จึงให้ทั้งความสุข และขจัดความทุกข์ทั้งปวง
7 เพราะสัตว์เหล่านั้น แม้มีอินทรีย์บกพร่อง มีอายุเดินสู่ความตายย่อมหม่นหมอง เพราะขาดโชคลาภ และเทวดาทั้งหลายก็เป็นปฏิปักษ์
8 ส่วนคนทั้งหลายที่คนรักก็เกลียดชัง ทั้งญาติพงศ์พวกพ้องก็กีดกันและขัดแย้งกับคนอื่นๆกับกำลังเจ็บปวดเพราะกำลังเสื่อมจากโภคทรัพย์
9 พวกเขาเป็นอยู๋ด้วยความหดหู่และเหนื่อยอ่อน ตกอยู่ในความกลัวและความขัดสนจนยาก เหมือนกำลังถูกดาวพระเคราะห์เบียดเบียน ด้วยการเข้าแทรกอย่างโหดร้ายทารุณยิ่งของยักษ์มาร
10 ใครก็ตามย่อมฝันร้ายอันน่ากลัว ติดตามมาด้วยความโศกเศร้าและความหดหู่อ่อนล้า ฉะนั้น ผู้ที่ชำระร่างกายสะอาดแล้ว จึงควรได้ฟังพระสูตรอันประเสริฐนี้
11 ชนทั้งหลาย ผู้มีจิตเลื่อมใสและมีใจสะอาด เมื่อประดับร่างกายด้วยเสื้อผ้าที่สะอาดแล้ว จักได้ฟังพระสูตรนี้ ซึ่งเป็นพุทธโคจรที่ลึกซึ้ง
12 อุปสรรคและสิ่งอันน่ากลัวทั้งปวงที่มีอยู่เป็นนิตย์ ของสรรพสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น ก็จะสงบลงด้วยอำนาจของพระสูตรนี้
13 เพราะว่า ท้าวโลกบาล อำมาตย์ และพระคเณศวรเหล่านั้น พร้อมด้วยยักษ์อีกจำนวนหลายโกฏิ จักทำการคุ้มครองรักษาชนเหล่านั้น ด้วนตนเอง
14 แม้มหาเทวีสรัสวดี เทวดผู้สิงอยู่ที่แม่น้ำเนรัญชรา หาริตีเทวดผู้เป็นมารดาของภูติ เทวดาประจำแผ่นดินชื่อว่าทฤฒา จะคุ้มครองรักษาพวกเขา
15 ท้าวมหาพรหม มหาเทพทั้ง 33 องค์ พญากินนรผู้มีฤทธิ์มาก พญาครุฑ รวมทั้งยักษ์ คนธรรพ์ และนาค คุ้มครองรักษาคนเหล่านั้นเช่นเดียวกัน
16 เทพเหล่านั้นพร้อมด้วยพลเสนาและพาหนะ มาชุมนุมร่วมกัน เข้าไปรักษาชนเหล่านั้น ทั้งกลางวันและกลางคืน ในที่นั้น
17 (ด้วยตั้งใจว่า) เราจักประกาศพระสูตรนี้ ซึ่งเป็นพุทธโคจรที่ลึกซึ้งเป็นความลึกลับที่หาได้ยากของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์มาหลายโกฏิกัลป์
18 ชนอื่นใด ที่ได้ฟังพระสูตรนี้และช่วยให้คนทั้งหลายได้ฟังพระสูตรนี้ บางพวกก็มีความยินดี อนุโมทนาบางพวกก็ได้บูชา ยกย่องเทิดทูน
19 ชนเหล่านั้น จะได้รับการบูชานับถือตอบจากเทพ นาค มนุษย์ กินนร อสูร เป็นเวลาหลายโกฏิกัลป์
20 กองบุญใหญ่จักเพิ่มพูนอย่างไม่มีที่สุด อย่างนับไม่ได้ และอย่างคิดไม่ถึงแก่พวกมนุษย์ซึ่งไม่เคยทำบุญ (ไม่มีบุญมาก่อน)
21 พวกเขาจักได้รับการคุ้มครองจากพระพุทธเจ้าทุกพระองค์จากทั้งสิบทิศ และจากพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีความประพฤติที่สุขุม
22 บุคคลที่สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ชำระกายให้บริสุทธิ์ด้วยน้ำหอมมีใจไม่ให้ไขว้เขว สร้างไมตรีจิตให้เกิดขึ้น แล้วควรบูชา (พระสูตรนี้)
23 บุคคลควรทำใจของตนให้กว้างใหญ่ และให้สะอาดหมดจด ทำใจให้เลื่อมใส แล้วท่านจงตั้งใจฟังพระสูตรนี้
24 ชนที่ได้ฟังพระสูตรนี้แล้ว จะได้รับการต้อนรับอย่างกระตืนรือร้น (ด้วย) ความยกย่องสรรเสริญในหมู่มนุษย์ เข้าถึงความเป็นมนุษย์ที่เลิศและดำรงชีวิตด้วยความสุข
25 พระสูตรที่แสดงแล้วนี้ ได้เข้าไปสู่ช่องหูของชนเหล่าใด ชนเหล่านั้น ชื่อว่าได้สร้างกุศลมูลแล้ว และพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ยกย่องสรรเสริญพวกเขาแล้ว
ปริเฉทที่1 ชื่อว่า นิทานปริวรรต ในศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร มีเพียงเท่านี้
ปริเฉท 2
ตถาคตยุประมาณนิรเทศปริวรรต ว่าด้วยการแสดงประมาณอายุของพระตถาคต
ได้ยินว่า โดยกาลสมัยนั้น พระมหาโพธิสัตว์นามว่า รุจิรเกตุ ผู้เคยสร้างบุญญาธิการไว้กับพระชินเจ้าองค์ก่อนๆ เคยสร้างกุศลมูลไว้ เคยรับใช้อย่างใกล้ชิดต่อพระพุทธเจ้าหลายหมื่นล้านพระองค์ ท่านมีความคิดว่า อะไรเป็นเหตุอะไรเป็นปัจจัย ทำให้พระชนมายุของพระผู้มีพระภาคศากยมุนีจึงมีประมาณเพียง 80 ปีเท่านั้น
ท่านได้คิดต่อไปอีกว่า พระผู้มีพระภาคเคยตรัสไว้ว่า ในการทำให้อายุยืนยาวนั้น มีเหตุ 2 อย่าง มีปัจจัย 2 อย่าง ที่ว่า เหตุและปัจจัย 2 อย่าง คืออะไร? สองอย่างคือ การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ และการให้โภชนาหาร ก็พระผู้มีพระภาคศากยมุนี ได้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์มาแล้วหลายโกฏิหมื่นล้านกัลป์จนนับไม่ได้ พระองค์ได้สมาทานกุศลกรรมบท 10 ตลอดจนได้บริจาควัตถุที่เป็นภายในและภายนอกร่างกาย ให้เป็นอาหารแก่สัตว์ทั้งหลาย แม้กระทั่งเนื้อ โลหิต กระดูก เยื่อในกระดูก ให้แก่สัตว์ทั้งหลายที่มีความต้องการ ได้บริโภคแทนอาหารอื่นๆมาก่อนแล้ว
ครั้งนั้น เมื่อบุรุษนั้นเจริญพุทธานุสติอยู่ในใจ ได้ทำจิตเห็นปานนี้ให้จินตนาการอยู่ บ้านของเขาก็ได้เปลี่ยนเป็นคฤหาสน์ที่ใหญ่และกว้างออก เป็นคฤหาสน์ที่ทำจากแก้ไพฑูรย์ ประดับด้วยรัตนะอันเป็นทิพย์จำนวนมากสะพรั่งไปด้วยกลิ่นหอมทิพย์ที่กระจากไปทั่ว ก็ในคฤหาสน์นั้น ทั้ง 4 ทิศ ได้มีอาสน์ที่ทำด้วยรัตนสี่อันเป็นทิพย์ ที่รัตนบัลลังก์เหล่านั้น ได้มีดอกอุบลที่สัมพันธ์กาบพระตถาคต ประดาบด้วยรัตนอันเป็นทิพย์มิใช่น้อย ที่ดอกอุบลเหล่านั้น มีพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าปรากฏอยู่ 4 พระองค์ คือในทิศบูรพามีพระอักโษภยตถาคต ปรากฏอยู่ ในทิศทักษิณมีพระรัตนะเกตุตถาคต ปรากฏอยู่ ในทิศปัจฉิม มีพระอมิตายุสตถาคต ปรากฏอยู่ ในทิศอุดร มีพระทุนทุภิสวรตถาคตปรากฏอยู่ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น ได้ปรากฏที่สิงหาสน์เหล่านั้น อย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ
ครั้งนั้น กรุงราชคฤห์ซึ่งเป็นมหานครใหญ่ถึงเพียงนั้น ได้แผ่โชติช่วงชัชวาลไปด้วยแสงสว่างจำนวนมาก ตลอดถึงตริสาหัสรมหาสาหัสรโลกธาตุ(โลกธาตุหลายพันคูณด้วยสามพันเท่า) และโลกธาตุทั้งหลาย ที่มีมากประมาณไม่ได้เหมือนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาทั้งสิบทิศโดยรอบ ก็ปกคลุมไปด้วยแสงสว่างเหล่านั้น ดอกไม้ทิพย์ทั้งหลายก็โปรยลง ดุริยางค์ทิพย์ก็ประโคมขึ้น สรรพสัตว์ทั้งหลายในตริสาหัสรมหาสาหัสรโลกธาตุนี้ ล้วนมีความสุขอันเป็นทิพย์ เพราะพุทธานุภาพนั้น สัตว์ทั้งหลายที่มืดบอดโดยกำเนิด ก็กลับได้เห็นรูปสัตว์ทั้งหลายที่หูหนวก ก็กลับได้ยินเสียงของสัตว์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่เสียจริต ก็กลับได้สติ ที่มีจิตฟุ้งซ่าน ก็กลับเป็นผู้มีสติ สัตว์ทั้งหลายที่เปลือยก็ได้ครองเสื้อผ้า สัตว์ทั้งหลายที่ถูกความหิวครอบงำ ก็กลับได้กินสมบูรณ์จนเต็มท้อง สัตว์ทั้งหลายที่ถูกความกระหายครอบงำ ก็ปราศจากความกระหาย สัตว์ทั้งหลายที่มีโรค ก็กลายเป็นผู้ปราศจากโรค สัตว์ทั้งหลายผู้มีร่างกายบกพร่องพิการ ก็กลายเป็นผู้มีอินทรีย์สมบูรณ์ ได้ปรากฏการณ์อันน่าอัศจรรย์และน่าพิศวงจำนวนมากอย่างกว้างขวางแก่ชาวโลก
ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระมหาสัตว์โพธิสัตว์รุจิเกตุ ได้เห็นพระพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น และได้ประสบกาบความอัศจรรย์ที่ปรากฏจากพระตถาคต พระโพธิสัตว์นั้น ได้มีความยินดี มีใจฟูขึ้น เกิดความยินดีว่า เหตุอย่างนี้มีได้อย่างไร ได้เกิดปีติโสมนัส แล้วประคอบอัญชลี ทำความเคารพไปในทิศที่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ระลึกถึงพระพุทธเจ้าเหล่านั้น ถัดจากพระผู้มีพระภาค ก็ระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาคศากยมุนี จึงได้ถึงความสิ้นสงสัยในเรื่องประมาณอายุของพระผู้มีพระภาคศากยมุนี และกำลังทำจิตให้คิดพิจารณาอยู่ก็ได้เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว นี้คือเหตุที่ว่า อย่างไรและทำไม ที่พระผู้มีพระภาคศากยมุนี จึมีประมาณพระชนมายุสั้น คือเพียง 80 พรรษาเท่านั้น
ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น ทรงรู้และระลึกถึงกันอยู่จึงได้ตรัสกับพระโพธิสัตว์รุจิรเกตุนั้นว่า ดูก่อนกุลบุตร ท่านอย่าคิดเลยว่าอายุของพระผู้มีพระภาคศากยมุนีมีประมาณเท่านี้ เหตุใดจึงกล่าวเช่นนั้น ดูก่อนกุลบุตร เรายังไม่เห็นผู้ใดในโลก รวมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกประชาชนรวมทั้งสมณพราหมณ์ รวมทั้งเทวดา มนุษย์ และอสูร ที่สามารถสำเร็จการนับที่สุดประมาณอายุของพระผู้มีพระภาคศากยมุนีได้ ตลอดโกฏิปีแล้วโกฏิปีเล่า นอกจากพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น ได้ตรัสไว้อย่างน่อเนื่อง ในการแสดงประมาณอายุของพระตถาคตเจ้า
ครั้งนั้น ด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้า เทวบุตรทั้งหลาย ชั้นกามาวจรและชั้นรูปาวจร แม้นาค ยักษ์ คนธรรพ์ อสูร ครุฑ กินนร มโหรคะ พร้อมทั้งพระโพธิสัตว์จำนวนโกฏิหมื่นล้านองค์มิใช่น้อย ได้มาประชุมพร้อมกันที่คฤหาสน์ของพระโพธิสัตว์รุจิรเกตนั้น ครั้งนั้น พระตถาคตทั้งหลาย ได้ตรัสแสดงประมาณอายุของพระผู้มีพระภาคศากยมุนีแก่บริษัททั้งปวง เป็นคาถาทั้งหลายว่า
1 ชนทั้งหลายสามารถคำนาณนับหยดน้ำในมหาสมุทรทั้งปวงได้ แต่ไม่สามารถคำนวณนับอายุของพระศากยมุนีได้แม้ในกาลไหนๆ
2 ใครๆ สามารถคำนวณนับละอองปรมาณูของเขาพระสุเมรุได้ แต่ไม่สามารถคำนวณนับพระชนมายุของพระศากยมุนีได้
3 ปรมาณูเป็นส่วนเล็กที่สุดที่มีบนแผ่นดินนี้ ยังสามารถคำนวณนับได้ แต่ประมาณอายุของพระตถาคต ใครๆก็ไม่สามารถนับได้.
4 ถ้าใครต้องการ ก็สามารถกำหนดนับอากาศได้ด้วยเครื่องมือบางอย่างแต่อายุของพระศากยมุนี ใครๆก็ไม่สามารถนับได้ ตั้งแต่กาลไหนๆ.
5 ตลอดกัลป์ และตลอดหลายร้อยโกฏิกัลป์ ที่ได้กล่าวกันมาอย่างนี้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ยังดำรงอยู่ แต่ใครๆก็ไม่สามารถกำหนดนับพระชนมายุของพระองค์ได้
6 เหตุและปัจจัยทั้งสองของพระองค์เป็นอย่างนั้น เพราะพระองค์เป็นผู้ปราศจากการเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น และได้บริจาคโภชนาหารจำนวนมาก.
7 เหตุว่าการนับอายุของผู้เป็นใหญ่สูงสุดที่แสดงว่าพระองค์จะทรงพระชนม์อยู่กี่กัลป์ย่อมไม่มี เพราะว่ากัลป์ทั้งหลายย่อมนับไม่ถ้วนนั้น เพียงแต่กล่าวกันว่า เท่านี้กัลป์ จึงไม่มีการนับ
8 เพราะฉะนั้น ผู้เจริญทั้งหลาย อย่ามีความสงสัยเลย และความสงสัยแม้เล็กน้อยใดๆ ก็ไม่ควรมี เพราะอายุของพระชินเจ้านั้น ไม่มีที่สิ้นสุด จึงไม่มีการนับใดๆ
ได้ยินว่า สมัยนั้น ในท่ามกลางบริษัท พราหมณ์ชื่อว่า เกาฑิณยะ ผู้เป็นอาจารย์และเชี่ยวชาญการพยากรณ์ ได้บูชาพระผู้มีพระภาค พร้อมกับพราหมณ์อีกหลายพันคน เมื่อได้ยินคำว่า มหาปรินิวาณะของพระตถาคตแล้ว ก็ได้ลุกขึ้นโดยเร็ว แล้วหมอบลงที่พระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ได้ยินว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้มีความอนุเคราะห์ต่อสรรพสัตว์ เป็นผู้มีความกรุณาเป็นอย่างมาก และมีความปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นดุจบิดามารดาของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน เป็นผู้ให้แสงสว่างดุจพระจันทร์ และเป็นผู้มีปัญญา มีความรู้มากดุจพระอาทิตย์ที่ขึ้นแล้ว. ถ้าพระองค์ทรงเห็นสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นเสมือนพระราหุลราชโอรสของพระองค์แล้วไซร้ ขอให้พระองค์โปรดประทานพรอย่างหนึ่งแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด.” พระผู้มีพระภาคเจ้าได้เป็นผู้ดุษฎีภาพแล้ว.
ครั้งนั้น ด้วยพุทธานุภาพ ในท่ามกลางบริษัทนั้น ได้มีลิจฉวีกุมารพระองค์หนึ่ง นามว่า สรรพสัตวปริยทรรศนะ. เชาวน์ปัญญาคิดคำโต้ตอบได้ทันท่วงที (ปฏิภาณ) ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พระลิจฉวีกุมารนั้น. พระกุมารลิจฉวีนั้นได้ถามเกาฑิณยะพราหมณ์ ผู้เป็นอาจารย์และเชี่ยวชาญการพยากรณ์ว่า “ข้าแต่มหาพรามณ์ ทำไมหนอ ท่านจึงได้ขอพรข้อหนึ่งกับพระผู้มีพระภาคเจ้า. แล้วพระองค์ก็ตรัสว่าเราจักให้พรท่าน” พราหมณ์กล่าวว่า “ดูก่อนลิจฉวีกุมารในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาพระบรมธาตุเพียงเท่าผลสรษปะ (เมล็ดพันธุ์ผักกาด)จากพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อโปรยพระธาตุที่เป็นจุรณ์ลงในอากาศ เพื่อบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างใกล้ชิด ครั้นบูชาพระบรมธาตุเท่าผลสรษปะนี้แล้วก็จักได้ความเป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นไตรตรึงศ์(ตรีทศ=ไตรตรึงส์) ขอท่านจงรับทราบว่า สาเหตุนั้นเป็นดังนี้. ดูก่อนลิจฉวีกุมาร ท่านจงฟังสุวรรณประภาโสตตมสูตร ซึ่งเป็นสูตรที่พระสาวกและพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายรู้ได้ยาก, ได้ยินว่า เมื่อเจริญสุวรรณประภาโสตตมสูตร ที่ประกอบด้วยคุณลักษณะเช่นนี้จักเป็นผู้เจริญ. ดูก่อนลิจฉวีกุมารผู้เจริญ สุวรรณประภาโสตตมสูตร เป็นสูตรที่รู้ได้ยาก รุ้ตามได้ยาก อย่างนี้แล. พวกเราเอง เป็นพราหมณ์ชาวเกาะไกลสุดจึงได้เก็บรวบรวมพระบรมธาตุเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดไว้ในตะกร้า. ข้าพเจ้าจึงขอพรต่อพระองค์ เพื่อให้สัตว์ทั้งหลายได้ถึงความเป็นใหญ่ในสวรรค์โดยพลัน. ดูก่อนลิจฉวีกุมารผู้เจริญ ได้ยินว่า ท่านเองก็ปรารถนาขอพระบรมธาตุเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากพระตถาคตเช่นกัน. ท่านปรารถนาลาภอันประเสริฐคือความเป็นใหญ่ในสวรรค์ให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย จากการที่เก็บพระบรมธาตุใส่ไว้ในกรัณฑกะอย่างนี้. ดูก่อนลิจฉวีกุมาร เราเอก็ปรารถนาพรประเภทนี้.
ครั้งนั้น ลิจฉวีกุมารนามว่า สรรพสัตวปริยทรรศนะ ได้กล่าวกับเกาฑิณยะพราหมณ์ ผู้เป็นอาจารย์และเชี่ยวชาญการพยากรณ์ ด้วยคาถาทั้งหลายว่า.
9 ในกาลใด ดอกโกมุท พึงงอกขึ้นในแม่น้ำคงคาที่มีกระแสเชี่ยว กาสีแดงและนกดุเหว่าที่มีสีดุจสังข์ ก็จักมีในกาลนั้น
10 ในกาลใด ต้นชมพู่ ผลิดอกเป็นผลตาล และต้นอินทผลัมผลิตออกเป็นก้านดอกมะม่วง พระบรมธาตุอันวิเศษเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด ก็จักมีในกาลนั้น
11 เมื่อใดความหนาวเย็นในฤดูเหมันต์มาถึง บุคคลพึงห่มด้วยเสื้อผ้าที่ทอจากขนเต่า เมื่อนั้น พระบรมธาตุจักมี.
12 เมื่อใดพึงมีหอคอย ที่สร้างไว้อย่างแข็งแรง ไม่สั่นไหว เพื่อให้เป็นที่ห้อยโหนของริ้น เมื่อนั้น พระบรมธาตุจักมี
13 เมื่อใดปลิงทั้งปวง มีฟันสีขาวใหญ่และแหลมคม เมื่อนั้นพระบรมธาตุจักมี
14 เมื่อใด มีบันไดที่มั่นคง แข็งแรง ทำด้วยเขากระต่าย เพื่อประโยชน์แก่การก้าวขึ้นสู่สวรรค์ เมื่อนั้น พระธาตุจักมี
15 เมื่อใดหนุขึ้นไปตามบันไดนั้น แล้วกินพระจันทร์ และขับไล่พระราหูให้วิ่งหนีไปโดยเร็ว เมื่อนั้น พระบรมธาตุจักมี
16 เมื่อใด แมลงวัน ดื่มน้ำเมาในหม้อ บินหึ่งอยู่ในหมู่บ้าน แล้วไปอาศัยอยู่ในบ้าน เมื่อนั้นพระบรมธาตุจักมี
17 เมื่อใด ฝูงลา มีริมฝีปากแดงดุจลูกตำลึง มีความสุขรื่นเริงชำนาญในการเต้นรำขับร้อง เมื่อนั้น พระบรมธาตุจักมี
18 เมื่อใด นกเค้าแมว และกา มารวมฝูงและรื่นเริงร่วมกัน ด้วยความเป็นมิตรกันและกัน เมื่อนั้น พระบรมธาตุจักมี
19 เมื่อใด มีร่มใหญ่ทำด้วยใบทองกวาวเพื่อป้องกันฝน เมื่อนั้น พระบรมธาตุจักมี
20 เมื่อใด เรือท่องสมุทร ซึ่งมีทั้งเครื่องยนต์และใบเรือ พึงขึ้นไปแล่นบนบก เมื่อนั้น พระบรมธาตุจักมี
21 เมื่อใด นกเค้าแมว พึงคาบภูเขาคันธมาทนะ ไปด้วยจะงอยปาก เมื่อนั้น พระบรมธาตุจักมี
พราหมณ์เกาฑิณยะ ผู้เป็นอาจารย์และเชี่ยวชาญการพยากรณ์ ได้ฟังคาถาเหล่านี้แล้ว จึงได้กล่าวกับลิจฉวีกุมารสรรพสัตวปริยทรรศน์ เป็นคาถาว่า.
22 ดีละ ดีแล้ว กุมารผู้ประเสริฐ ผู้เป็นชินบุตร ผู้เป็นนักพูดที่ยิ่งใหญ่ พระกุมาร เป็นผู้กล้า เป็นผู้ฉลาดในอุบาย และเป็นผู้ได้รับคำพยากรณ์สูงสุดแล้ว.
23 ดูก่อนกุมาร ท่านจงฟังคำของเราที่ว่า ความมีใจโอบอ้อมอารีของพระตถาคต ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ ผู้เป็นที่พึ่งของชาวโลก ไม่อยู่พ้นความคิดธรรมดา(ของชาวโลก)
24 พุทธวิสัย ย่อมเป็นอจินไตย เพราะพระตถาคตทั้งหลาย ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ มีความรุ่งเรือง พระพุทธเจ้าทุกพระองค์มีความประพฤติที่สม่ำเสมอ.
25 พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ มีพระสุรเสียงที่สม่ำเสมอ ข้อนี้เป็นธรรมดาในพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระตถาคตนั้นมิได้ถูกสร้างขึ้น พระตถาคตมิได้เกิดขึ้นเอง
26 พระสรีรกาย(ของพระองค์) แข็งดุจเพชร พระกายที่ปรากฏเป็นกายที่ถูกนิรมิตขึ้นมา (นิรฺมิตกาย) ฉะนั้น ขึ้นชื่อว่าพระบรมธาตุของพระมหาฤษีแม้เท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดก็ไม่มี
27 ในพระวรกายที่ไม่มีกระดูกและโลหิต จักหาพระบรมธาตุได้จากที่ไหน การปรากฏมีพระบรมธาตุเป็นเพียงอุบายที่ชาญฉลาด เพื่อให้เกิดประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย
28 จริงอยู่ ธรรมกายคือพระสัมพุทธะ ธรรมธาตุคือองค์พระตถาคต ฉะนั้น พระกายของพระผู้มีพระภาค เป็นเช่นนี้ ธรรมเทศนาก็เป็นเช่นนี้
29 ข้าพเจ้าได้ฟังมาอย่างนี้ ครั้นทราบแล้ว จึงได้ขอพร ข้าพเจ้าได้ขอพรอันประเสริฐจากพระมุนี ก็เพื่อประโยชน์แก่การกระทำความจริงให้แจ่มแจ้ง
ได้ยินว่า ครั้งนั้น เทวบุตร32,000 องค์ ได้ฟังการแสดงประมาณอายุของพระตถาคตอย่างลึกซึ้ง ทุกองค์ได้ยังจิตให้เกิดขึ้นในอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเทวบุตรเหล่านั้น มีใจยินดีเป็นที่รื่นเริงโดยทั่วกัน ได้กล่าวคาถาด้วยสำเนียงอันไพเราะพร้อมเพียงกันว่า
30 พระพุทธเจ้ายังไม่ปรินิพพาน พระธรรมยังไม่เสื่อม ขอพระพุทธองค์ พึงแสดงการปรินิพพาน เป็นกายเพื่อความสำเร็จของสัตว์ทั้งหลาย
31 ขอพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ผู้เป็นอจินไตย พระตถาคตผู้มีกายทรงอยู่เป็นนิตย์ จงแสดงกระบวนวิธีต่างๆ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย
ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระรุจิรเกตุโพธิสัตว์ ได้สดับการแสดงประมาณอายุของพระผู้มีพระภาคศากยมุนี จากสำนักของสัตบุรุษสองสามคนของพระศากยมุนีผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเหล่านั้น ได้มีใจยินดีฟูขึ้น มีความปราโมทย์ เกิดปีติโสมนัส แผ่ซ่านไปด้วยความปราโมทย์ที่ท่วมท้น. ขณะที่กำลังแสดงประมาณอายุของพระตถาคตอยู่นี้ สัตว์ทั้งหลายอันประมาณมิได้ นับมิได้ ได้น้อมจิตไปในอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว. และพระตถาคตเหล่านั้นก็ได้อันตรธานไป.
ปริเฉท 2 ว่าด้วยการแสดงประมาณอายุของพระตถาคต ในศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร มีเพียงเท่านี้
ปริเฉท 3
สวัปนปริวรรต ว่าด้วยเรื่องความฝัน
ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระรุจิรเกตุโพธิสัตว์นอนหลับอยู่ ได้ฝันเห็นกลองทองคำมีสีทองเปล่งปลั่งจากความฝัน ได้เห็นพระตถาคตพุทธเจ้าหลายพระองค์จนประมาณมิได้ นับไม่ได้ ในทิศทั้งปวง ที่ส่องแสงสว่างไสวไปโดยรอบดุจสริยมณฑล ได้ประทับนั่งบนสิงหาสน์แก้วไพฑูรย์ ณ โคนรัตนพฤกษ์ กำลังแสดงธรรมอยู่ แวดล้อมด้วยบริษัทหลายแสนคน ณ ที่นั้น พระรุจิรเกตุโพธิสัตว์ได้เห็นบุรุษคนหนึ่ง มีรูปร่างเป็นพรามหณ์ กำลังตีกลองนั้นอยู่ ในความฝันนั้นท่านได้ยินคาถานี้ เห็นปานนี้ ซึ่งแสดงหลักธรรมเปล่งออกมาจากเสียงกลอง.
ได้เห็นว่า ครั้งนั้น พระรุจิรเกตุโพธิสัตว์ เมื่อตื่นจากหลับแล้ว ได้ระลึกถึงคาถาจากธรรมที่แสดงนั้นอย่างต่อเนื่อง พระรุจิรเกตุ เมื่อระลึกถึงอยู่ จวบจนสิ้นราตรีนั้น จึงได้ออกจากมหานครราชคฤห์พร้อมด้วยสรรพสัตว์หลายพัน ได้เข้าไปหาพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ณ ภูเขาหลวงคิชฌกูฏ ครั้นไปถึงแล้ว ได้ถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรเกล้า กระทำประทักษิณสามครั้ง แล้วนั่งที่ปลายสุดข้างหนึ่ง
ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระรุจิรเกตุโพธิสัตว์ ได้ประคองอัญชลีไปยังทิศที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วกราบทูลว่า ในระหว่างที่ฝัน ข้าพระองค์ได้ยินคาถาเทศนาเหล่านี้จากเสียงกลอง
ปริเฉท 3 สวัปนาปริวรรต ในศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร มีเพียงเท่านี้
ปริเฉท 4
เทศนาปริวรรต ว่าด้วยเรื่องเทศนา
1 คืนหนึ่ง ข้าพเจ้าได้นอนหลับและฝัน ในความฝันด้วยความตื่นเต้นเพราะข้าพเจ้าได้ฝันเห็นกลองที่งดงาม มีแสงเป็นสีทองล้วนๆ
2 กลองนั้นโชติช่วง เรืองแสงไปโดยรอบเหมือนพระอาทิตย์ จนมองเห็นพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้มีแสงส่องประกายไปโดยรอบทั้งสิบทิศ
3 พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ประทับนั่งที่รัตนพฤกษ์ซึ่งเป็นแก้วไพฑูรย์ที่มีรัศมีเปล่งปลั่งงดงาม ประทับนั่งเป็นประธานหันพระพักตร์ไปทางด้านหน้าของบริษัทหลายแสนคน
4 ข้าพเจ้าได้เห็นกลอง ที่ผู้แต่งกายเหมือนพราหมณ์กำลังตีอยู่เมื่อเขาตีกลองนี้อยู่ ข้าพเจ้าจึงได้ยินโศลกเหล่านี้ว่า
5 ด้วยเสียงกลองที่อุดมไปด้วยรัศมีสีทอง ขอให้ความทุกข์ทั้งหลายในสามพันโลกจงสงบ ขอให้ความทุกข์ในอบาย ความทุกข์ในยมโลก และความทุกข์จากความยากจน ก็จงสงบเช่นกัน
6 ด้วยเสียงกลองนี้ ขอให้อวิชชาทั้งปวงในโลกจงถูกขจัดไป สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงปราศจากความกลัว และมีใจกล้าหาญเหมือนพระผู้เป็นจอมมุนี ผู้ที่ความกลัวถูกขจัดไปแล้ว
7 พระผู้เป็นจอมมุนี ผู้ประกอบด้วยคุณสมบัติอันประเสริฐทั้งปวงและทรงรู้สิ่งทั้งปวงในสังสารวัฏฉันใด ประชาชนทั้งหลายจงมีคุณสมบัติมากดุจมหาสมุทร และมีคุณสมบัติคือสมาธิอันเป็นทางสู่การตรัสรู้ฉันนั้น
8 ด้วยเสียงกึกก้องของกลองนี้ ขอให้สัตว์ทั้งปวง จงมีสำเนียงไพเราะดุจเสียงพรหม จงสัมผัสกับโพธิอันอุดมของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย แล้วยังธรรมจักรให้หมุนต่อไป
9 ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น จงดำรงอยู่ตลอดกัลป์ที่เป็นอจินไตย จงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย จงขจัดกิเลสจงบรรเทาทุกข์ และจงทำให้ราคะ โทสะ โมหะ สงบเถิด
10 สัตว์เหล่าใดที่ดำรงอยู่ในอบายภูมิ มีร่างกายที่ถูกเปลวไฟโชติช่วงแผดเผา สัตว์เหล่านั้นจงฟังเสียงกลองที่ประโคม และได้ยินการเปล่งวาจาว่า “นโม พุทธายะ” เถิด
11 ขอสัตว์ทั้งปวง จงเป็นผู้ระลึกชาติได้ ตลอดร้อยชาติ พันโกฏิชาติ จงระลึกถึงพระผู้เป็นจอมมุนีอย่างต่อเนื่อง แล้วจงฟังคำสอนของท่านโดยปราศจากข้อสงสัย
12 ด้วยเสียงที่กึกก้องขอกลองนี้ ขอสัตว์ทั้งหลายจงใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าทุกเมื่อ จงละเว้นจากบาปกรรม จงประพฤติสิ่งที่เป็นกุศลคือธรรมอันดีงาม
13 สัตว์ทั้งหลาย จงขอพรนั้น เพื่อประโยชน์แก่การแสดงแก่มนุษย์ เทพและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ด้วยเสียงที่กึกก้องของกลองนี้ ขอให้ความปรารถนาทั้งปวงของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น จงสำเร็จสมบูรณ์ด้วยเถิด
14 สัตว์เหล่าใดบังเกิดในนรกอันน่ากลัว มีร่างที่ถูกเปลวไฟโชติช่วงแผดเผา ไม่เผาไม่สามารถสลัดความเศร้าโศกเสียได้ ไม่มีที่พึ่ง ท่องเที่ยวอยู่เรื่อยไป จักกลัวการประหารด้วยวิธีนี้ ในนรกนั้น
15 สัตว์เหล่าใดมีความทุกข์ ได้รับความทารุณในนรกอันน่ากลัว ในเปรตวิสัยและในมนุษยโลก ความทุกข์ของสรรพสัตว์เหล่านั้น จะสงบได้ด้วยเสียงดังกึกก้องของกลองนี้
16 ชนทั้งหลายที่ถูกทอดทิ้ง ไม่มีผู้ดูแล ไม่มีผู้อุปถัมภ์ ขอให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ดูแล เป็นผู้อุปถัมภ์ และเป็นที่พึ่งอันดีเลิศขอสัตว์เหล่านั้น
17 พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้มีใจเมตตากรุณา ทรงสถิตย์อยู่ในทิศทั้งสิบ ขอจงรับคำขอร้อง แล้วทรงเอาพระทัยใส่ต่อข้าพเจ้าด้วยเถิด
18 บาปกรรมและทารุณกรรมใดๆ ที่ข้าพเจ้าเคยทำมาก่อน ขอพระพุทธเจ้าทั้งหลายผู้ทรงพระทศพลญาณ ขอทรงรับขมากรรมของปวงข้าพเจ้า
19 บาปกรรมใดๆ ที่ข้าพเจ้ากระทำแล้ว โดยไม่ได้นับถือมารดาบิดาว่าเป็นมารดาบิดา โดยไม่ได้เคารพนับถือพระพุทธเจ้าทั้งหลายว่าเป็นพระพุทธเจ้า และไม่ได้นิยมนับถือกุศลกรรม
20 บาปกรรมใดๆ ที่ข้าพเจ้าได้กระทำแล้ว ด้วยความหลงมัวเมาในอิสริยยศทรัพย์ศฤงคาร ด้วยความมัวเมาในวัยและความเป็นหนุ่มสาว และด้วยความหลงมัวเมาด้วยมานะทิฏฐิชาติวรรณะ
21 บาปกรรมใดๆ ที่ข้าพเจ้าเคยทำด้วยการคิดผิด การพูดผิด การกระทำผิดและกรรมโหดร้ายที่ได้กระทำลงแล้วก็ดี เพราะไม่เคยเห็นโทษของการกระทำดังนั้น
22 บาปกรรมใดๆ ที่ข้าได้ประพฤติเพราะความเขลารู้น้อย มีใจเอนเอียงไปเพราะความไม่รู้ มีใจอากูลด้วยกิเลส ตามความปรารถนาของมิตรชั่ว
23 ได้กระทำลงไปแล้ว ด้วยอำนาจของโรคคือความโศกเศร้า ด้วยความผิดที่ไม่ยินดีในทรัพย์ เพราะอำนาจขอความยินดีเพลิดเพลินในการเล่นเท่านั้น
24 บาปกรรมใดๆ ที่ข้าพเจ้าได้กระทำแล้ว ด้วยเหตุแห่งความตระหนี่ ริษยา ที่เกิดจากการสมาคมกับคนเลว เป็นต้น เพราะโทษของนิสัยที่เลวทรามและความยากจน
25 เมื่อถึงคราวที่ยากจนนั้น ข้าพเจ้าได้กระทำกรรมใดๆ เพราะกลัวว่าจะเสื่อมจากสิ่งที่ปรารถนารักใคร่ และเพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับความเป็นใหญ่
26 บาปกรรมใดๆ ที่ข้าพเจ้าผู้ถูกความหิวกระหายเบียดเบียนได้กระทำลงไป ด้วยอำนาจของจิตที่หวั่นไหว ด้วยอำนาจของความโลภและความโกรธ
27 บาปกรรมใดๆ ที่ข้าพเจ้าได้กระทำลงไป เพราะต้องการน้ำ อาหาร เสื้อผ้า ละสัมผัสของสตรีเป็นเหตุ เพราะถูกกิเลสต่างๆเผาไหม้
28 บาปกรรมที่ข้าพเจ้าได้ประพฤติทั้งสามทาง คือ ทางกาย ทางวาจา และทางใจ หรือบาปกรรมใดๆ ที่ข้าพเจ้าได้กระทำด้วยลักษณะเช่นนี้ข้าพเจ้าจักขอขมากรรมต่อบาปกรรมนั้นทั้งหมด
29 บาปกรรมใดๆ ที่ข้าพเจ้าได้กระทำด้วยความไม่เคารพในพระพุทธ พระธรรม และพระสาวก พึงมีอยู่ ข้าพเจ้าก็จักขอขมากรรมนั้นทั้งหมด
30 หากบาปกรรมใดๆ ที่ข้าพเจ้าได้กระทำด้วยความไม่เคารพในพระปัจเจกพุทธเจ้า และพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ข้าพเจ้าจักขอขมากรรมนั้นทั้งหมด
31 หากข้าพเจ้านั้น ซึ่งเป็นผู้ไม่รู้อยู่ พึงมีการล่วงละเมิดพระสัทธรรม ด้วยความไม่เคารพในบิดามารดาตลอดเวลา ข้าพเจ้าก็จักขอขมากรรมนั้นทั้งหมด
32 บาปกรรมใดที่ข้าพเจ้าผู้ลุ่มหลงด้วยความเป็นคนพาล ถือตัว และหยิ่งผยอง กระทำลงไปด้วยความโง่เขลา ด้วยอำนาจของราคะ โทสะ และโมหะ ข้าพเจ้าก็จักขอขมากรรมนั้นทั้งหมด
33 ข้าพเจ้าได้บูชาพระทศพลชินพุทธเจ้าทั้งหลายในโลกทั้งสิบทิศแล้วจักยกสัตว์ทั้งหลายในสิบทิศให้ออกจากทุกข์ทั้งปวง
34 ข้าพเจ้าจักให้สัตว์ทั้งหลาย ซึ่งมีจำนวนที่คำนวณมิได้อยู่ภูมิทั้งสิบขอให้สัตว์เหล่านั้น ที่อยู่ในภูมิทั้งสิบ จงได้เป็นพระตถาคตโดยทั่วกัน
35 ข้าพเจ้าพึงได้เที่ยวไป เพื่อสัตว์แต่ละคน เป็นเวลาหลายโกฏิกัลป์จนสามารถปลดเปลื้องสรรพสัตว์เหล่านั้น ออกจากมหาสมุทรคือความทุกข์ได้
36 ข้าพเจ้าจึงแสดงพระสูตร(เทศนา)อันลึกซึ้งนี้ ชื่อสุวรรณประภาโสตตมสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่ลบล้างบาปกรรมทั้งปวง แก่สัตว์เหล่านั้น
37 ผู้ใดได้กระทำบาปกรรมที่โหดร้าย เป็นเวลาพันกัลป์ ถ้าพวกเขาได้ประกาศพระสูตรนี้เพียงครั้งเดียว ทุกคนก็จะพ้นจากความหายนะ
38 ข้าพเจ้าจักแสดงพระสูตรนี้ ซึ่งมีรัศมีสีทองที่ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่าสัตว์เหล่าใดได้ฟังพระสูตรอันงดงามนี้ บาปกรรมของสัตว์เหล่านั้นจะถึงความเสื่อมสิ้นไป
39 ข้าพเจ้าจักให้สัตว์เหล่านั้นอยู่ในภูมิทั้งสิบ อันเป็นภูมิที่ประเสริฐเป็นแหล่งรัตนะทั้งสิบ เมื่อข้าพเจ้าเปล่งประกายอยู่ จะช่วยให้สรรพสัตว์พ้นจากมหาสมุทรคือภพ ด้วยพุทธคุณทั้งหลาย
40 ข้าพเจ้าจะบรรจุความรู้ทั้งปวง ให้เต็มห้วงน้ำมหาสมุทรคือองค์พุทธะทะเลคือคุณอันลึกซึ้ง ให้เต็มด้วยคุณคือความรู้ที่ไม่สามารถคิดคำนวณได้
41 ข้าพเจ้าพึงเป็นพระทศพลผู้สูงสุด ด้วยสมาธิร้อยพัน ด้วยมนต์ที่เป็นอจินไตย และด้วยองค์แห่งอินทรียพละและพระโพธิญาณ
42 ข้าแต่พระพุทธเจ้า ขอพระองค์จงพิจารณาข้าพเจ้าด้วยใจที่คำนึงถึงความเสมอภาค ขอพระองค์งจงรับเอาซึ่งความทุกข์และปลดเปลื้องข้าพเจ้าให้พ้นจากภัยด้วยเถิด
43 บุพกรรมใดๆ ที่ข้าพเจ้าเคยกระทำในร้อยกัลป์ที่แล้ว เพราะผลของกรรมนั้น ข้าพเจ้าจึงมีจิตโศกเศร้า เป็นคนอนาถา ถูกความหิวกระหายเบียดเบียน
44 ข้าพเจ้ารู้สึกกลัวมาก เพราะเป็นคนมีบาปกรรม มีจิตเสื่อมถอยอย่างต่อเนื่อง ข้าพเจ้าไปในที่ใดๆ ก็จะไม่เป็นมงคลในที่นั้นๆ
45 พระชินพุทธเจ้าทั้งปวง ทรงเป็นผู้มีความกรุณา ทรงเป็นผู้ขจัดภัยของสรรพสัตว์ ขอจงรับเอาความทุกข์ไป และขอจงปลดเปลื้องข้าพเจ้าให้พ้นจากภัยด้วยเถิด
46 ขอพระตถาคตทั้งหลาย จงรับผลกรรมจากกิเลสของข้าพเจ้าไปและขอให้พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จงให้ข้าพเจ้าได้อาบน้ำที่ปราศจากมลทินคือความกรุณาด้วยเถิด
47 ข้าพเจ้าเคยทำบาปกรรมใดๆ ไว้ ข้าพเจ้าจักแสดงบาปกรรมนั้นทั้งหมด บาปกรรมใดของข้าพเจ้าที่มีอยู่ในขณะนี้ ข้าพเจ้าจักแสดงบาปกรรมนั้นทั้งหมด
48 เพราะยศศักดิ์ ข้าพเจ้าจึงยังบาปกรรมทั้งปวงให้เกิดขึ้น ด้วยการกระทำผิดทุกอย่าง กรรมใดที่ข้าพเจ้าเคยกระทำผิดแล้ว ข้าพเจ้าก็จะไม่ปกปิดบาปกรรมนั้นอีกต่อไป
49 กายกรรมมีสามประการ วจีกรรมมีสี่ประการ และมโนกรรมมีสามประการ ข้าพเจ้าจักแสดงกรรมนั้นทั้งหมด
50 คือกรรมที่กระทำทางกาย ทางวาจา และความคิดทางใจ รวมกรรมที่กระทำแล้วนั้นมีสิบอย่าง ข้าพเจ้าแสดงกรรมนั้นทั้งหมด
51 ข้าพเจ้าได้งดเว้นอกุศลกรรมบถ 10 สมาทานกุศลกรรมบถ 10 จักดำรงอยู่ในภูมิทั้ง 10 และจักได้พบกับพระทศพลผู้สูงสุด
52 บาปกรรมใดๆที่ข้าพเจ้าได้กระทำแล้ว จักนำผลอันไม่พึงปรารถนามาให้ ข้าพเจ้าจักยืนอยู่เบื้องหน้าพระพุทธเจ้า แล้วจักแสดงบาปกรรมนั้นทั้งหมด
53 สัตว์ทั้งหลายที่ได้กระทำกุศลกรรมไว้ในชมพูทวีป และผู้ที่ได้กระทำกุศลกรรมในโลกธาตุอื่น ข้าพเจ้าขออนุโมทนากุศลทั้งหมดของสัตว์เหล่านั้น
54 บุญใดที่ข้าพเจ้าได้กระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ เพราะผลที่เป็นกุศลมูลนั้น ขอให้ข้าพเจ้าได้รับพระโพธิญาณที่ประเสริฐสุด
55 บาปกรรมใดอันโหดร้ายทารุณที่ข้าพเจ้าได้กระทำแล้ว เพราะความรู้น้อย ที่ได้รับมาจากคติภพ ข้าพเจ้าผู้ยืนอยู่เบื้องพระพักตร์ของพระทศพล จักแสดงบาปกรรมนั้นทั้งหมด
56 รวมทั้งบาปกรรมที่ข้าพเจ้าได้กระทำสะสมมาแต่กำเนิด สะสมมาจากการประพฤติในกามต่างๆ ที่ได้สะสมมาจากมนุษย์โลก ที่ได้สะสมมาแต่ภพที่กระทำสะสมไว้ด้วยความเขลาทุกอย่าง และที่กระทำสะสมไว้เพราะกิเลส
57 รวมทั้งบาปกรรมที่กระทำเพราะจิตหวั่นไหวและมัวเมา ที่กระทำเพราะสมาคมกับบาปมิตร ที่กระทำไว้ในสังสารวัฏ ที่กระทำเพราะราคะ แม้ที่กระทำเพราะความมืดมนของโทสะและโมหะ
58 บาปกรรมที่กระทำโดยไม่รู้จักเสื่อมสิ้น บาปกรรมที่กระทบางเวลาแม้ที่กระทำเพราะการละเลยบุญกุศล ข้าพเจ้าผู้อยู่เบื้องหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้า ผู้ไม่มีใครเสมอเหมือน จักแสดงบาปกรรมนั้นทั้งหมด
59 ข้าพเจ้าขอไหว้พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้มีวรรณะสีทอง มีมณฑลเปล่งประกาย ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าเหล่านั้นเป็นที่พึ่ง ข้าพเจ้าขอนมัสการพระชินพุทธเจ้าเหล่านั้น ด้วยเศียรเกล้า
60 ผู้มีวรรณะสีทอง. มีรัศมีสีทอง มีพระเนตรบริสุทธิ์ดุจไพฑูรย์ที่ปราศจากมลทิน ผู้เป็นพุทธสูรย์อันเป็นบ่อเกิดแห่งความรุ่งเรืองด้วยศรี เดชและเกียรติ ผู้เปล่งประกายด้วยความกรุณา อันขจัดเสียซึ่งความมืดมนอนธการทั้งหลาย
61 ผู้มีรูปองค์ที่เปล่งประกายงดงาม ปราศจากมลทิน มีพระวรกายที่แผ่ซ่านไปด้วยสีทอง ที่ปราศจากมลทินของพุทธสูรย์ ผู้เป็นดุจไฟที่โชติช่วง คือ พระมุนีผู้มีลำแสงรัศมีดุจดวงจันทร์ ที่เป็นประโยชน์แก่ชนทั้งหลาย ที่มีใจถูกไฟ คือกิเลสเผาไหม้อยู่
62 ผู้มีองค์แห่งอินทรีย์ที่งดงาม มีลักษณะ 32 ประการ ลักษณะอื่นๆ คือองค์ที่เปล่งประกายงดงามยิ่งนัก ลำรัศมีกลมกลืนด้วยความโชติช่วงของบุญราศรีและเดช พระองค์ดำรงอยู่ในไตรโลก ดุจพระอาทิตย์ที่สว่างไสวในดินแดนที่มืดมิด ฉะนั้น
63 พระองค์มีวรรณะที่วิจิตรอย่างไพศาล ปราศจากมลทินดุจแก้วไพฑูรย์ มีพระวรกายสีเงิน แก้วผลึก และแดงดุจสีแดงของแสงอรุณ มีลำรัศมีที่ประดับด้วยความวิจิตรนานาชนิด ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์โชติช่วงดุจพระอาทิตย์ยิ่งนัก
64 ในท่ามกลางห้วงน้ำคืออกุศลที่ตกลงสู่มหานทีคือสงสาร น้ำคือมรณะและคลื่นคือความชรา ที่เคลื่อนไปด้วยความโศก ในทะเลคือความทุกข์ที่ปั่นป่วนและดุร้ายยิ่งนัก พระองค์ก็ยังสว่างไสวด้วยลำรัศมีที่เปล่งปลั่งของพระสุคต
65 ข้าพเจ้าขอนมัสการพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้พระวรกายที่โชติช่วงด้วยสีทอง ผู้มีวรรณะสีทองที่เปล่งประกายยิ่งนัก ผู้เป็นบ่อเกิดของความรู้ผู้ประเสริฐในไตรโลกทั้งปวง ผู้มีรูปอันวิจิตร และมีลักษณะพระวรกายงดงามยิ่งนัก
66 น้ำในมหาสมุทรประมาณไม่ได้ ฉันใด พสุธามีละอองของอณูไม่สิ้นสุดฉันใด ก้อนกรวดเปรียบไม่ได้กับยอดเขาพระสุเมรุฉันใด อากาศไม่มีขอบเขตจำกัดฉันใด
67 คุณของพระพุทธเจ้าก็ไม่มีที่สิ้นสุด ฉันนั้น สัตว์ทั้งปวงไม่สามารถจะกำหนดรู้ได้ แม้คิดอยู่ตลอดหลายกัปกัลป์ ก็ไม่สามารถจะกำหนดรู้คุณอันไม่มีที่สิ้นสุดนั้นได้
68 แม้บุคคลจะกำหนดรู้การนับด้วยกัปกัลป์ว่า พสุธามีศิลา มีภูเขา มีมหาสมุทร และหยดน้ำมีประมาณเท่าปลายผม แต่ไม่สามารถกำหนดรู้ที่สุดแห่งคุณของพระพุทธเจ้าาได้
69 สัตว์ทั้งปวงย่อมเป็นเช่นนี้คือ มีคุณ วรรณะ ยศ และความดี แต่พระองค์มีพระวรกายที่มีลักษณะงดงาม ประกอบด้วยลักษณะ 80 ประการ
70 ด้วยกุศลกรรมนี้ ขอให้ข้าพเจ้าพึงได้เป็นพระพุทธเจ้าในโลกโดยเร็ว พึงได้แสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก และขอให้ข้าพเจ้าได้ปลดเปลื้องสัตว์ทั้งหลาย ผู้ที่ถูกความทุกข์เบียดเบียนอยู่
71 ขอให้ข้าพเจ้าพึงชนะมาร พร้อมทั้งพลมารและเสนามาร ขอให้ข้าพเจ้าได้หมุนธรรมจักร อันเป็นสิริมงคล ขอให้ข้าพเจ้าพึงดำรงอยู่ตลอดกัลป์ที่คิดคำนาณมิได้ ขอให้ข้าพเจ้าได้ยังสัตว์ทั้งหลายให้เอิบอิ่มด้วยน้ำคืออมฤตธรรม
72 ขอให้ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญบารมี 6 อันประเสริฐให้สมบูรณ์ เหมือนความสมบูรณ์ของพระชินพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ขอให้ข้าพเจ้าพึงทำลายกิเลสทั้งหลาย พึงขจัดความทุกข์ทั้งหลาย พึงทำราคะทั้งหลายให้สงบ แม้โทสะและโมหะ ก็เช่นเดียวกัน
73 ขอให้ข้าพเจ้าพึงระลึกชาติได้เป็นนิตย์ตลอดร้อยชาติและพันโกฏิชาติ ข้าพเจ้าจะระลึกถึงพระจอมมุนีอย่างต่อเนื่อง ข้าพเจ้าจะฟังวจนะอันสุภาพของพระมุนีเหล่านั้น
74 ด้วยกุศลกรรมนี้ ขอให้ข้าพเจ้าพึงได้สมาคมกับพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ ข้าพเจ้าจะงดเง้นบาปกรรม จะประพฤติบุญกรรมคือการกระทำความดีเท่านั้น
75 ขอให้บาปกรรมทั้งหมดของสัตว์ทั้งหลาย ทุกพุทธเกษตรในโลกจงสงบระงับ สัตว์เหล่าใดมีอินทรีย์พิการ มีร่างกายทรุดโทรม ขอให้สรรพสัตว์เหล่านั้น จงมีอินทรีย์ที่งดงามโดยเร็ว
76 สัตว์เหล่าใดมีโรค ร่างกายเสื่อมทุพพลภาพ ปราศจากอาหารในสิบทิศ ขอให้สัตว์เหล่านั้นทั้งหมด จงพ้นจากโดยเร็ว จงได้รับอินทรีย์ที่แข็งแรงปราศจากโรค
77 สัตว์เหล่าใดที่ได้รับการจองจำ ซึ่งได้รับจากทรราชและโจร ได้รับโทษภัยร้อยอย่างด้วยวิธีต่างๆ ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมด ผู้มีความทุกข์ เมื่อโทษมาถึง จงหลุดพ้นจากภัยจำนวนร้ยที่น่ากลัวเหล่านั้น
78 สัตว์เหล่าใดที่ถูกเบียดเบียน ถูกบีบคั้น ถูกจองจำด้วยเครื่องพันธนาการ ต้องอยู่ในโทษต่างๆ เกลือกกลั้วอยู่ด้วยความเหนื่อยยากลำบากหลายพันประการ ประสบกับความโศกเศร้า จากทารุณกรรมอันน่ากลัวต่างๆ
79 ขอสัตว์เหล่านั้นทั้งหมด จงหลุดพ้นจากเครื่องจองจำ ผู้ที่ถูกโบยตีก็รอดพ้นจากการโบยตี ผู้ที่จะถูกฆ่า ก็ขอให้รอดพ้นจากการเสียชีวิต ขอให้สัตว์เหล่านั้นทั้งหมด ที่ต้องโทษ จงปลอดภัย
80 สัตว์เหล่าใดที่ถูกความหิวกระหายเบียดเบียนจนตัวสั่น ขอสัตว์เหล่านั้น จงได้รับข้าวน้ำต่างๆ คนตาบอด จงได้มองเห็นรูปอันงดงามทั้งหลายของพญามารทั้งหลายจงได้ฟังสำเนียงอันไพเราะนี้เถิด
81 ขอสัตว์ทั้งหลายที่เปลือยกาย จงได้ผ้าอันงดงาม ที่ยากจน จงได้ทรัพย์ทั้งหลาย สัตว์ทั้งหมดผู้มีทรัพย์ มีธัญญาหาร และมีรัตนะอันงดงามจำนวนมาก จงเป็นผู้มีความสุข
82 ขอความทุกขเวทนา จงอย่าเข้ามาหาผู้ใด ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง จงเป็นผู้งดงาม คือมีรูปงดงาม มีรูปเป็นที่น่าเลื่อมใสยิ่ง จงเป็นผู้สะสมบุญให้มากอยู่เนืองนิตย์
83 ชาวเมืองผู้มีใจสงบแล้ว ผู้ที่บุญให้ผลแล้ว ขอให้พิณ กลอง และกลองหน้าเดียวที่เสียงดี น้ำพุ สระเล็ก สระใหญ่ บ่อน้ำ พร้อมด้วยสระบัวที่อุดมด้วยบัวสีทองและบั
วเขียว จงมีแก่ชาวเมืองเหล่านั้น
84 ขอให้ข้าว น้ำ เสื้อผ้า ทรัพย์ เงิน มณี มุกดา เครื่องประดับ ทอง ไพฑูรย์ และรัตนะอันวิจิตร จงมีแก่ชาวเมืองเหล่านั้น ในขณะจิตที่คิด
85 คำว่า ความทุกข์ จงอย่ามีในที่ไหนๆในโลก สัตว์บางพวกผู้มีรูปงาม แต่มีความเห็นวิปริต ขอให้สัตว์เหล่านั้นทั้งหมด จงงดงามด้วยความสุจริต จงให้แสงสว่างแก่กันและกัน
86 สมบัติใดๆที่มีในมนุษย์โลก ขอสมบัตินั้นๆจงบังเกิดแก่ชนเหล่านั้นในขณะที่จิตคิดเท่านั้น ขอสัตว์ทั้งปวง ซึ่งมีจำนวนมากยิ่ง จงบริบูรณ์ด้วยผลบุญในขณะที่จิตคิดเท่านั้น
87 ของหอม มาลัย เครื่องลูบไล้ ธูป แป้งจุรณ์ และดอกไม้ที่บริบูรณ์ จงโปรยลงจากต้นไม้ทั้งสามเวลา ขอสัตวย์ทั้งหลายผู้มีความยินดี จงรับเอาซึ่งดอกไม้เหล่านั้น
88 ขอสัตว์ทั้งหลาย จงทำการบูชาพระตถาคตทั้งปวง ซึ่งมีมากจนไม่อาจคำนวณได้ พร้อมกับพระโพธิสัตว์ พระสาวก พระธรรม และผู้ดำรงอยู่ในพระโพธิญาณ ในทิศทั้งสิบ
89 สัตว์ทั้งปวงผู้ดำรงอยู่ในปีติสุขที่มีองค์แปด ได้ประดิษฐานรูปพระชินราชไว้ จงเลี่ยงและข้ามพ้นคติชั้นต่ำเสียได้ ขอให้สัตว์เหล่านั้น จงสมาคมกับพระพุทธเจ้าทุกเมื่อ
90 สรรพสัตว์ที่มีสกุลสูงทั้งหลาย จงมีเรือนคลังที่เต็มไปด้วยทรัพย์และธัญญาหารจำนวนมากอยู่เป็นนิตย์ จงประกอบด้วยรูป ความกล้า ยศ และเกียรติ ตลอดหลายกัปกัลป์
91 ขอให้สตรีทั้งปวง จงเป็นบุรุษที่มีความกล้า มีความเข็มแข็ง เป็นบัณฑิตที่คงแก่เรียนเนืองนิตย์ ขอให้บุรุษเหล่านั้นทั้งหมด จงประพฤติเพื่อความรู้อยู่เป็นนิตย์ และจงประพฤติในบารมีทั้งหก
92 ขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย จงได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้เข้าถึงความสุขที่ต้นไม้อันประเสริฐด้วยรัตนะ ผู้ประทับนั่งอยู่บนไพฑูรย์สิงหาสน์ทั้งสิบทิศและขอให้ได้สดับธรรมที่พระองค์ทรงประกาศอยู่
93 ข้าพเจ้าได้ชนะบาปกรรมที่กระทำไว้ปางก่อน คือที่กระทำไว้ในภพใดๆก็ตาม ส่วนบาปกรรมใดที่น่ายินดี ซึ่งติดตามตัวไป ขอให้บาปกรรมเหล่านั้นทั้งหมด จงดับสูญโดยไม่มีอะไรเหลือ
94 สัตว์ทั้งปวงเหล่านั้น ซึ่งดำรงอยู่ด้วยเครื่องพันธนาการในภพ ถูกผูกไว้ด้วยเครื่องพันธนาการที่มั่นคง คือบ่วงในสงสาร ขอให้สัตว์เหล่านั้นจงสว่างด้วยพระโพธิญาณ จงหลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการ จงห่างไกลจากความทุกข์
95 สัตว์เหล่าใดในชมพูทวีปนี้ และในโลกธาตุอื่นๆ สัตว์เหล่านั้น จงกระทำบุญที่ลึกซึ้งและวิจิต ข้าพเจ้าจะอนุโมทนาบุญนั้นทั้งหมด
96 ขอให้ปณิธานของข้าพเจ้าจงสำเร็จผล เพราะการอนุโมทนาบุญนั้น ซึ่งข้าพเจ้าได้กระทำทั้งทางกาย วาจา และใจ ขอให้ข้าพเจ้าได้ประสบกับพระโพธิญาณอันประเสริฐที่ปราศจากมลทิน
97 ผู้ใดไหว้และกระทำพระทศพลทรงยินดีทุกเมื่อ ด้วยใจที่เลื่อมใสบริสุทธิ์ไม่มีมลทิน ขอให้ผู้นั้นจงปราศจากอบายตลอด 60 กัลป์ เพราะการแสดงความนอบน้อมนี้
98 บรรดาบุรุษ สตรี พราหมณ์และกษัตริย์ ผู้ที่ดำรงอยู่ด้วยการประคองอัญชลี กระทำให้พระมุนีทรงยินดี ด้วยโศลกที่สวดสรรเสริญเหล่านี้ ผู้นั้นพึงระลึกชาติได้ถึงร้อยชาติ ในภพทั้งปวง
99 ร่างกายและอินทรีย์ทั้งปวงของเขา เป็นร่างกายที่งดงาม ถึงพร้อมด้วยคุณที่วิจิตรบริบูรณ์ แม้พระราชาที่เป็นใหญ่กว่านรชน ก็จะบูชาเขาทุกเมื่อ เขาจะเป็นเช่นนี้ในภพนั้นๆ
100 – 101 เทศนานี้ จักเข้าสู่ช่องหูของชนทั้งหลาย ผู้มิได้ทำกุศลไว้ในสำนักของพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง สององค์ สามองค์ ห้าองค์ แม้กระทั่งสิบองค์ รวมทั้งผู้ที่ได้ทำกุศลไว้ในสำนักของพระพุทธเจ้าพันพระองค์
ปริเฉท 4 ชื่อว่าเทศนาปริวรรต ในศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร มีเพียงเท่านี้
ปริเฉท 5
กมลากรสรวตถาคตัสตวปริวรรต ว่าด้วยเรื่องการสดุดีพระตถาคตทุกพระองค์ที่เป็นบ่อเกิดของดอกบัว
ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกับพระโพธิสัตว์สมุจจยากุล เทวดานั้นว่า ดูก่อนกุลเทวดา ก็โดยกาลสมัยนั้น ยังมีพระราชาอีกพระองค์หนึ่งนามว่า สุวรรณภุเชนทระ เพราะการะสดุดีพระตถาคตทุกพระองค์ ที่เป็นบ่อเกิดของดอกบัวนี้ พระองค์จึงได้สดุดีพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่มีในอดีต อนาคต และปัจจุบัน.
1 พระชินพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่าใด ที่มีอยู่ในอดีต และพระพุทธเจ้าเหล่าใด ที่มีอยู่ในโลกปัจจุบันทั้งสิบทิศ ข้าพเจ้าขอทำความนอบน้อมพระชินพุทธเจ้าเหล่านั้น ข้าพเจ้าจักเข้าไปใกล้ชิดกับหมู่คณะพระชินพุทธเจ้าเหล่านั้น
2 ผู้เป็นจอมมุนีที่สงบ สงัดและบริสุทธิ์ ผู้มีพระวรกายที่เปล่งรัศมีเป็นสีทอง เป็นพุทธะที่สง่างามของเทพและอสูรทั้งปวง ผู้มีพระสุรเสียงที่ไพเราะกึกก้องดุจเสียงคำรามของพระพรหม
3 ผู้มีพระเกศาดุจต้นไม้อันเป็นที่รองรับตัวผึ้ง (มีพระเกศาขมวดเป็นทักษิณาวรรค) ผู้มีสายพระเนตรเป็นประกายคล้ายสีคราม มีพระทนต์สีขาวเหลืองดุจสังข์ มีพระนาภีเปล่งประกายคล้ายทองคำ
4 ผู้มีพระเนตรกว้างเป็นสีครามและบริสุทธิ์ เหมือนแสงสดใสของสีครามที่หยดลงบนดอกบัว ผู้มีพระชิวหากว้างดุจกลีบบัวทองคำ ซึ่งเป็นดอกบัวที่มีแสงเปล่งประกาย เป็นดอกบัวที่ให้แสงแห่งความสุข
5 เส้นพระเกศาที่พระนลาฏ คล้ายใยก้านบัว งดงามด้วยการขมวดเป็นทักษิณาวรรต พระพาหาบอบบางดุจพระจันทร์แรม พระนาภีของพระมุนีเปล่งประกายดุจภมร
6 พระนาสิกอวบโด่งอยู่บนพระพักตร์ที่แข็งแกร่ง มีปลายเป็นสีทองงดงามด้วยความสดใส เป็นพระนาสิกที่วิเศษยิ่ง คือทรงไว้ซึ่งความเป็นเลิศนี้คือส่วนรวมนิรันดรของพระชินพุทธเจ้า ผู้อ่อนโยนทุกพระองค์
7 เช่นเดียวกับพระเกศาที่ขมวดเป็นช่องอยู่ข้างพระพักตร์ ได้ม้วนเป็นทักษิณาวรรต เกิดเป็นกุณฑลที่เปล่งปลั่งคล้ายสีนิล ทำให้พระศองดงามด้วยเมาลีที่เปล่งประกายเป็นสีนิล
8 ผู้มีพระวรกายเปล่งปลั่ง เสมือนหนึ่งแสงที่เกิดขึ้นเอง เป็นผู้ที่ชนบูชาทั้งสิบทิศ ในโลกทั้งปวง ผู้ยังสรรพทุกข์ในโลกทั้งสามให้สงบ ผู้ยังสรรพสัตว์ให้เอิบอิ่มด้วยความสุขทั้งปวง
9 แม้คติภพของสัตว์นรก คติภพของสัตว์เดรัจฉาน คติภพของเปรต เทพ อสูรและมนุษย์ ผู้ยังสรรพสัตว์ในภพเหล่านั้นให้ได้รับความสุขทุกอย่างผู้ยังสรรพสัตว์ในคติภพของอบายให้สงบ
10 ผู้มีพระฉวีวรรณดุจทองคำที่เปล่งรัศมีเป็นสีทอง ผู้มีพระวรกายที่เปล่งประกายคล้ายกับทองคำที่ถูกเผา ผู้มีพระพักตร์ที่ปราศจากมลทิน เปล่งประกายด้วยรอยยิ้มอันละไม ดุจพระจันทร์ที่งดงามมีมณฑลปราศจากมลทิน
11 ผู้มีพระวรกายที่อ่อนโยนดุจเกิดจากร่างของผู้เยาว์วัย แต่เลิศด้วยการย่างกรายไปมาดุจสิงหะ ผู้มีพระหัตถ์ยาว พระพาหาแกว่งทอดลงดุจกิ่งสาละถูกลมพัดฉะนั้น
12 ผู้เป็นจอมมุนีที่มีพระวรกายปราศจากมลทิน ยังดินแดนทั้งปวงให้สว่างไสวไม่มีที่สิ้นสุด ดุจพระอาทิตย์พันดวงเผาไหม้ให้รัศมีสว่างโชติช่วงในท้องฟ้า
13 ดินแดนในหลายพื้นที่มีกลุ่มแสงสว่างของพระจันทร์ดุจมุกดาสีแดงแสงสว่างเหล่านั้นได้ประดับไปในทุกพื้นที่ เพราะความประกายแสงสดใสของพระพุทธเจ้า
14 พระอาทิตย์คือองค์พุทธะที่เป็นแสงสว่างของชาวโลก องค์พุทธะคือพระอาทิตย์นั้นมีจำนวนร้อยดวง พันดวง ขอสรรพสัตว์จงมองดูพระสูรยะ คือ พระตถาคตในแสนโลกอันไม่มีที่สิ้นสุดเถิด
15 กายและจิตของพระองค์มีความบริสุทธิ์เป็นร้อยเท่า พระวรกายประดับด้วยคุณทั้งปวง พระพาหาของพระชินพุทธะดุจงวงพญาช้าง พระหัตถ์ประดับด้วยลักษณะอันงดงามที่ปราศจากมลทิน
16 การเปรียบด้วยธุลีซึ่งมีมากที่สุดบนพื้นโลกนั้น พระพุทธเจ้าในอดีตมีมากเปรียบด้วยธุลีของปรมาณู พระพุทธเจ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันก็มีมากเปรียบด้วยธุลีของปรมาณู พระพุทธเจ้าที่จักมีในอนาคตก็มีมากเปรียบได้กับธุลีของปรมาณู
17 ข้าพเจ้าผู้เลื่อมใสด้วยกาย วาจาและใจ ขอนอบน้อมพระชินพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยใจบริสุทธิ์ ด้วยการถวายเครื่องหอม และดอกไม้ร้อยสี
18 คุณของพระพุทธเจ้านั้น แม้คนมีร้อยลิ้น ก็ไม่สามารถพรรณนาได้หมดตลอดพันร้อยกัลป์ ความสำเร็จแห่งคุณความดีของพระชินพุทธเจ้านั้นเป็นสิ่งประเสริฐ เลิศและวิจิตรโดยอเนกประการ
19 ใครๆแม้มีชิวหาเป็นร้อย ก็ไม่สามารถพรรณนาคุณของพระชินพุทธเจ้าองค์หนึ่งได้ จะป่วยกล่าวไปไย จะพรรณนาคุณอย่างหนึ่งของพระชินพุทธเจ้าทั้งปวงโดยพิสดารเล่า
20 ใครๆ สามารถประมาณจำนวนโลกทั้งหมด รวมทั้งที่อยู่ของเทพและที่กลายเป็นน้ำในภพน้อยใหญ่ ด้วยหยดน้ำที่จับปลายผม แต่ไม่สามารถประมาณคุณเพียงอย่างหนึ่งของพระสุคตทั้งหลายได้
21 ข้าพเจ้าได้พรรณนาสดุดีพระชินพุทธะทั้งปวง ด้วยกาย วาจา และจิต ที่เลื่อมใส ด้วยผลบุญอันเลิศที่ข้าพเจ้าได้สะสมมา ขอให้สัตว์ทั้งหลายจงเข้าถึงความเป็นพระชินพุทธะด้วยเถิด
22 ขอพระราชาจงสดุดีพระพุทธอย่างนี้ ขอพระราชาจงตั้งประณิธานว่า ตลอดกัลป์ในอนาคตอันไม่มีที่สิ้นสุด เกิดภพใดๆ ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นใหญ่ทุกชาติ
23 ในชาตินั้นๆ ขอให้ข้าพเจ้าได้เห็นกลองเช่นนี้ ขอให้ได้ฟังเทศนาเช่นนี้ เหมือนในความฝัน ข้าพเจ้าได้ทำการสดุดีพระชินพุทธเจ้าเช่นนี้ ด้วยใจขอให้ระลึกชาติได้ในภพนั้นๆ
24 ขอให้ข้าพพึงได้ฟังพุทธคุณของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้เป็นอนันตะ ผู้ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน เป็นผู้ที่หาได้ยากตลอดพันกัลป์ จากความฝัน เมื่อตื่นขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าจักบรรยายเรื่องนั้นในทุกชาติ
25 ขอให้ข้าพเจ้าได้ปลดเปลื้องสตว์ทั้งหลายออกจากมหาสมุทรคือความทุกข์ ข้าพเจ้าจักยังบารมี 6 ให้สมบูรณ์ แล้วพึงได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในภายหลัง ขอให้ข้าพเจ้ามีปัญญาที่ไม่มีผู้ใดเสมอเหมือนในพุทธเกษตรนั้น
26 ด้วยผลกรรมที่ได้ถวายกลองและเพราะเหตที่ได้สดุดีพระชินพุทธเจ้าทั้งปวง ขอให้ข้าพเจ้าได้พบพระศากยจอมมุนีในที่เฉพาะพระพักตร์แล้วพึงได้รับการพยากรณ์ ที่พระองค์ตรัส ณ ที่นั้น
27 ทารกทั้งสองเหล่านี้คือ กนเกนทระ และกนกประภาสวระ ซึ่งเป็นบุตรของข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้าได้พบทารกทั้งสองเหล่านั้น พร้อมทั้งคำพยากรณ์ที่เกี่ยวกับอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
28 สัตว์เหล่าใดที่ไม่มีผู้รักษา ไม่มีผู้คุ้มครอง ขาดที่พึ่ง ไม่มีที่อาศัยในอนาคต ขอให้สัตว์เหล่านั้นทั้งหมด จงมีผู้คุ้มครอง มีที่พักอาศัย และมีที่พึ่ง
29 ข้าพเจ้าจะกระทำเหตุที่เป็นบ่อเกิดของความทุกข์ให้สูญสิ้นไปและจะสร้างบ่อเกิดของความสุขทั้งปวง ในอนาคตข้าพเจ้าจะประพฤติพระโพธิญาณ ให้มากพอกับกัลป์ที่มีมาแล้วในอดีต
30 ด้วยการแสดงรัศมีสีทองที่ประเสริฐสุดนี้ ขอให้มหาสมุทรคือบาปกรรมของข้าพเจ้าจงเหือดแห้งไป ขอให้มหาสมุทรคือกรรมของข้าพเจ้าจงกระจายไปทั่ว ขอให้มหาสมุทรคือกิเลสของข้าพเจ้าจงถูกตัดขาด
31 ขอมหาสมุทรคือบุญของข้าพเจ้าจงบริบูรณ์ ขอให้มหาสมุทรคือความรู้ของข้าพเจ้าจงบริสุทธิ์ ด้วยพลังของรัศมีความรู้ที่ปราศจากมลทิน ขอให้มหาสมุทรคือคุณทั้งปวงจงมีแก่ข้าพเจ้า
32 ด้วยพลังรัศมีสีทองที่แสดง ขอให้รัตนะคือคุณนั้นจงบริบูรณ์ด้วยคุณแห่งพระโพธิญาณ ขอให้แสงสว่างคือบุญจงมีแก่ข้าพเจ้า ขอให้แสงสว่างคือพระโพธิญาณของข้าพเจ้าจงบริสุทธิ์
33 เพราะความสว่างของแสงบุญ ขอให้ข้าพเจ้ามีรัศมีสีกายที่โชติช่วง ข้าพเจ้าผู้ประกอบด้วยกำลังแห่งบุญ พึงเป็นผู้ประเสริฐเป็นนิตย์ในไตรโลกทั้งปวง
34 ข้าพเจ้าจะช่วยสัตว์ให้ข้ามพ้นมหาสมุทรคือความทุกข์ และให้ดำรงอยู่ในทะเลแห่งความสุขทั้งปวง ข้าพเจ้าจะประพฤติพระโพธิญาณตลอดกัลป์ในอนาคต ให้มากพอกับกัลป์ที่มีมาแล้วในอดีต
35 คุณไม่มีที่สิ้นสุดของพระชินพุทธเจ้าทั้งปวง ในไตรโลกที่เลิศด้วยพุทธเกษตรเช่นใด คุณอันไม่มีที่สิ้นสุดในพุทธเกษตรเช่นนั้น จักมีแก่ข้าพเจ้าตลอดกาลทั้งปวงในอนาคต
ปริเฉท 5 ชื่อว่า กมลากรสรวตถาคตัสตวปริวรรต ในศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูต มีเพียงเท่านี้
ปริเฉท 6
ศูนยตาปริวรรต ว่าด้วยเรื่องศูนยตา
ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถาเหล่านี้ ในขณะนั้นว่า
1 ธรรมที่เป็นศูนยตา ตถาคตได้แสดงไว้โดยละเอียดพิสดารกว้างขวางในพระสูตรที่เป็นอจินไตยอื่นๆจำนวนมาก เพราะฉะนั้น ในที่นี้ตถาคตจึงแสดงศูนยตาธรรม ในพระสูตรที่ประเสริฐสุดเหล่านี้ แก่ท่านทั้งหลายโดยสังเขปเท่านั้น
2 จงดูเถิด สัตว์ที่มีความรู้น้อยก็ดีและที่ยังโง่เขลาก็ดี ไม่สามารถเข้าใจธรรมทั้งหมดนั้นได้ ฉะนั้น ในที่นี้ ตถาคตจะแสดงศูนยตาธรรมด้วยสูตเรนทรสูตร อันเป็นพระสูตรที่ประเสริฐสูงสุด โดยสังเขปเท่านั้น
3 เพื่อให้สรรพสัตว์ทั้งหลายเข้าใจสูตเรนทรสูตรนี้ ด้วยบังเกิดความกรุณาแก่สัตว์ทั้งหลาย พระตถาคตจึงประกาศพระสูตรนี้ ด้วยอุบายด้วยแนวทางและเหตุอื่นแก่สัตว์ทั้งหลายว่า
4 กายนี้ก็เหมือนบ้านที่ว่างเปล่า อินทรีย์ทั้งหก เปรียบเหมือนโจรภายในบ้าน ถึงแม้พวกเขาอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน แต่พวกเขาไม่รู้จัก(หน้าที่)ของกันและกัน
5 บรรดาอินทรีย์เหล่านั้น อินทรีย์คือจักษุ ก็วิ่งหาแต่จะดูรูป อินทรีย์คือโสต ก็มุ่งแต่จะพิจารณาเสียง อินทรียคือฆานะ ก็มุ่งแส่หาจะดมกลิ่น อินทรีย์คือชิวหา ก็มุ่งแต่จะชิมรสอยู่เป็นนิตย์
6 อินทรีย์คือกาย ก็มุ่งแต่จะวิ่งหาสัมผัส อินทรีย์คือใจ ก็จดจ่อที่จะพิจารณาธรรม ฉะนั้น อินทรีย์ทั้งหก จึงไม่รู้จักกัน แต่ละอินทรีย์ก็มุ่งไปสู่วิสัย(หน้าที่)ของตนเองเท่านั้น
7 จิตเป็นธรรมชาติที่ดิ้นรนกวัดแกว่งเหมือนภาพมายา อินทรีย์หกเป็นธรรมชาติที่แสวงหาอารมณ์ เหมือนนรชนวิ่งเข้าไปสู่บ้านที่ว่างเปล่า แต่เข้าไปอาศัยในบ้านรวมกันกับโจร
8 เช่นเดียวกัน จิตก็มีที่อาศัย รู้อารมณ์ 6ทาง คือรู้ที่โคจรของอินทรีย์ ได้แก่ การรู้ใน รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์
9 จิตย่อมเคลื่อนไหวไปในอินทรีย์ 6 ทุกชนิด เข้าไปสู่อินทรีย์เหมือนนกบิน เข้าไปอาศัยในอินทรีย์ใดๆ ก็ช่วยให้อินทรีย์นั้น (เช่นตา) ทำหน้าที่รู้อารมณ์คือเห็นรูป
10 ก็กายที่ไม่มีความเคลื่อนไหว ไม่มีการขยับเขยื้อน เป็นเพียงกายแต่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง แต่ไม่มีสาระแก่นสาร เกิดจากความคิดที่ไม่มีอยู่จริง จึงเป็นเหมือนเครื่องยนต์ที่ตั้งอยู่ในบ้านที่ว่างเปล่าเท่านั้น
11 ดิน น้ำ ไฟ ลม แยกเป็นส่วนธาตุของตนๆ ก็เหมือนอยู่ในบ้านโจร หรือเหมือนงูพิษ เมื่ออยู่ในสถานที่อยู่ที่เดียวกัน ย่อมต่อสู้ซึ่งกันและกัน
12 งูคือธาตุทั้ง 4 เหล่านั้น สองตัวเลื้อยขึ้นบน อีกสองตัวเลื้อยลงล่าง งูแต่ละคู่ย่อมเลื้อยไปสู่ทิศน้อยใหญ่ ในที่สุด งูคือธาตุเหล่านั้นก็วิบัติ
13 งูคือธาตุดิน และงูคือธาตุน้ำ ทั้งสองนี้ เลื้อยมลายไปภายใต้พื้นดิน งูคือธาตุไพและงูคือธาตุลมหรืออากาศ เคลื่อนไปสู่เบื้องบนท้องฟ้า
14 จิตที่ตั้งอยู่ในท่ามกลางวิญญาณ ก็จะเคลื่อนไปตามกรรมที่ทำไว้คือกลับไปเกิดในสวรรค์ มนุษย์ หรืออบาย ทั้งสามตามกรรมทีได้กระทำไว้ในภพก่อน
15 กายทิ่สิ้นเสมหะ ลม และน้ำดีแล้ว ก็จะเต้มไปด้วยมูตรและคูถที่เน่าเหม็นไม่น่ายินดี เต็มด้วยหนอนและแมลงวัน ถูกทิ้งไว้ในป่าช้าเหมือนท่อนไม้
16 ดูก่อนเทวดา ท่านจงดูเถิด เพราะสภาวธรรมเหล่านี้ สัตว์หรือบุคคลใดๆก็ตามจึงเป็นอย่างนี้ เพราะสรรพธรรมเหล่านี้เป็นสภาวธรรมที่ว่างเปล่า เกิดมีขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ปรุงแต่งเพราะมีอวิชชาเป็นเหตุ
17 มหาภูตรูปทั้งหมดเหล่านี้ แท้จริงแล้วไม่มี มีแต่ภาพรวมของมหาภูตรูปเท่านั้น เพราะในกาลไหนๆก็ตาม เมื่อไม่มีอวิชชา มหาภูตรูปก็ไม่เกิด
18 อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิด คำว่า อวิชชา ก็คือความไม่รู้นั่นเอง เพราะฉะนั้น สังขาร วิญญาณ รวมทั้งนามและรูปนั้นเอง เราจึงเรียกว่า อวิชชาเป็นแดนเกิด
19 รวมทั้งอายตนะ 6 ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ ความโศก โรคภัย ทุกข์ และสังขารทั้งหลาย จึงเป็นอจินไตย
20 รูปและอรูปที่ดำรงอยู่ในสังสารวัฏนั้น มิใช่เกิดขึ้นเอง วิจารณญาณแห่งจิตต่างหากเป็นแดนให้เกิด ท่านทั้งหลายจงตัดทิฏฐิที่มีอยู่ในตนเถิด
21 ท่านจงตัดตาข่ายแห่งกิเลสด้วยดาบคือปัญญา จงมองดูที่อาศัยคือร่างกายว่าเป็นของว่างเปล่า จงสัมผัสพระโพธิญาณอันโอฬารนั้น แล้วจงเปิดประตูแห่งอมฤตบุรีของเราเถิด
22 จงดูยานที่จะพาไปสู่อมฤตบุรี จงเข้าไปสู่ที่อาศัยในอมฤตบุรีอันงามนั้น จงทำตนให้พอใจกับอมตรส เราได้ประโคมกลองคือธรรมอันประเสริฐนั้นขึ้นแล้ว
23 เราได้เป่าสังข์คือธรรมอันประเสริฐแล้ว ได้จุดไฟคือธรรมอันประเสริฐขึ้นแล้ว ได้โปรยฝนคือธรรมอันประเสริฐแล้ว และได้ชนะศัตรูคือกิเลสแล้ว
24 เราได้ชูธงคือธรรมอันประเสริฐขึ้นแล้ว เรายังสัตว์ให้ข้ามมหาสมุทรคือภพได้แล้ว เราได้ปิดกั้นทางแห่งอบายทั้งสามแล้ว ฉะนั้น เราจึงยังสัตว์ทั้งหลาให้สงบจากไฟคือกิเลสได้
25 เราเคยบูชาพระผู้ประเสริฐที่เป็นอจินไตยตลอดหลายกัปกัลป์ ได้ประพฤติพรตเพื่อพระโพธิญาณย่างเข้มงวด บำรุงรักษากายคือพระสัทธรรมให้คงอยู่ตลอดหลายกัป
26 เราได้สละมือทั้งสอง เท้าทั้งสอง ทรัพย์ เงิน แก้วมณี มุกดา เครื่องประดับ นัยน์ตา ศีรษะ ภรรยาและบุตรที่รัก รวมทั้งทอง ไพฑูรย์และรัตนะอันวิจิตรทั้งหลาย
27 บุคคลควรตัดต้นไม้ใหญ่ทั้งปวงในสามพันโลก พึงบดทั้งหมดให้เป็นจุรณ์ แล้วกระทำไม้ทั้งหมดนั้นให้เป็นเสมือนฝุ่นเล็กๆ
28 แล้วทำผงจุรณ์นั้น ให้เป็นเหมือนกับละอองธรณีที่แหลกละเอียดจนไม่สามารถแยกได้อีก แล้วปล่อยให้ลอยขึ้นไปสู่อากาศ
29 สรรพสัตว์ทั้งหลายผู้มีปัญญามิใช่น้อย ก็ควรเข้าใจอย่างนี้ แต่ใครๆ ไม่สามารถนับความรู้ทั้งหมดของพระชินพุทธเจ้าได้
30 ในกาลไหนๆ ตลอดหลายโกฏิกัลป์ ใครๆก็ไม่สามารถนับปัญญาที่ประพฤติในขณะหนึ่งของพระมหามุนีได้
ปริเฉท 6 ศูนยตาปริวรรต ในศรีสุรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร มีเพียงเท่านี้
ปริเฉท 7
จตุรมหาราชปริวรรต ว่าด้วยพระมหาราชสี่องค์
ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระมหาราชาไวศรวณะ พระมหาราชาธฤตราษฎร์ พระมหาราชาวิรูฒกะ และพระมหาราชาวิรูปากษะ ได้ลุกจากอาสนะแล้วจัดผ้าห่มไว้ที่ไหล่ข้างหนึ่ง คุกเข่าข้างขวาลงบนพื้นดิน ประคองอัญชลีไปยังพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลกับพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชานี้ พระตถาคตทุกพระองค์ได้ตรัสแสดงแล้ว พระตถาคตทุกพระองค์ได้พิจารณาแล้ว พระตถาคตทั้งปวงได้มาประชุมพร้อมกันคณะพระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ได้นมัสการแล้ว หมู่เทพทั้งปวงก็ได้บูชาแล้วหมู่จอมเทพทั้งปวงก็ได้ชื่นชมแล้ว ท้าวโลกบาลทั้งปวงก็ได้สดุดี ยกย่อง พรรณนาสรรเสริญแล้ว ได้เป็นที่กล่าวถึงกันในภพของเทพทั้งปวง ได้เป็นพระสูตรที่ประทานความสุขอย่างยิ่งแก่สรรพสัตว์ ช่วยชำระความทุกข์ของสัตว์นรก เดรัจฉาน และยมโลกทั้งปวง อันทำให้ภัยของสรรพสัตว์สงบ ทั้งหยุดยั้งความเดือดร้อนจากโรค ทำให้แสงปัญญาได้สว่าง ทำให้เกิดความสงบอย่างยิ่ง ทำให้ความเหนื่อยอ่อนจากความโศกเศร้าสงบลงได้ ทำให้อุปัทวันตรายต่างๆสงบ ทั้งยังทำให้อุปัทวันตรายหลายร้อยอย่างสูญสิ้นไป. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญเมื่อประกาศสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ในท่ามกลางบริษัทโดยพิสดารแล้ว พระตถาคตปรารถนาจะทำให้พวกข้าพระองค์ทั้งหลายคือ มหาราชทั้ง 4 พร้อมด้วยพลบริวาร ให้เจริญด้วยการฟังธรรมนี้ ด้วยอมตรสแห่งธรรมและด้วยมหาเดชาแห่งอัตภาพที่เป็นทิพย์นี้. พวกข้าพระองค์ทั้งหลาย จะได้มีกายที่มีความเพียร มีพลังและมีอำนาจ และเดชก็จะแผ่ซ่านเข้าไปสู่ศรี ลักษมีในกายของข้าพระองค์ทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์คือมหาราชทั้ง 4 จักเป็นพระธรรมราชาที่ประกอบด้วยธรรม เป็นผู้มีวาจาที่ประกอบด้วยธรรม. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลาย จักสร้างความเป็นพระราชาให้แก่เทพ นาค ยักษ์ คนธรรพ์ อสูร ครุฑ กินนร และมโหรคะทั้งหลาย. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคพวกข้าพระองค์คือมหาราชทั้ง 4 เหล่านั้น พร้อมกับยักษ์และเสนาบดียักษ์อีก 28 ล้านตน จักดูแล อารักขา และบำรุงชาวชมพูทวีปทั้งปวงอย่างต่อเนื่องด้วยจักษุทิพย์อันบริสุทธิ์เกินที่มนุษย์ธรรมดาจะมี. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ สมัญญานามของข้าพระองค์ทั้งหลาย ผู้เป็นมหาราชทั้ง 4 คือ “ท้าวโลกบาล”
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ชนเหล่าใดในชมพูทวีปนี้ ได้ประสบความวิบัติ ถูกอาณาจักรอื่นเบียดเบียน หรือถูกเบียดเบียนด้วยความกันดาร ทุพภิกขภัย ภัยอันตรายต่างๆ ด้วยภัยอันตรายเป็นร้อย เป็นพัน และเป็นแสน ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ข้าพระองค์ซึ่งเป็นมหาราชทั้ง 4 เหล่านี้จักส่งเสริมให้พระภิกษุผู้ทรงเจ้าพระสูตร ได้สังวัธยายสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้แก่ชนเหล่านั้น. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ด้วยการสนับสนุนของเหล่าข้าพระองค์ ผู้เป็นมหาราชทั้ง 4 พระภิกษุผู้แสดงธรรมเหล่านี้พึงไปในท้องถิ่นใด เพื่อประกาศสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรรราชสูตรนี้โดยพิสดาร ด้วยพุทธาธิษฐาน. ร้อยภัยอันตราย พันภัยอันตราย และแสนภัยอันตราย ชนิดต่างๆเห็นปานนี้ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้น ก็จะสงบ
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ พระภิกษุผู้ทรงจำสูตเรนทรราชสูตรเหล่านั้น จักไปแสดงธรรมในแคว้นของพระมนุษยราช. และพระมนุษยราชนี้ก็จะได้สดับสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ ครั้นได้สดับแล้วจะทำการอารักขา ป้องกัน สงเคราะห์ ดูแลพระภิกษุผู้ทรงจำสูตเรนทรราชสูตรเหล่านั้น เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งปวง. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพระองค์มหาราชทั้ง 4 จักให้การอารักขา ป้องกัน สงเคราะห์ ดูแลและสร้างสันติสุข ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย ที่อยู่ในท้องถิ่นของพระมนุษยราชนั้นทั้งหมด. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ในกาลใด พระมนุษยราชทั้งปวงพึงสร้างความสุข ด้วยการส่งเสริมความสุขทุกอย่างให้แก่พระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสกและอุบาสิกา ผู้ทรงจำสูตเรนทรสูตร. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพระองค์มหาราชทั้ง 4 จักทำการสักการะ เคารพ นับถือ ยกย่ององค์พระมนุษยราชนั้น ให้มากกว่าพระราชาทั้งปวง ในทุกสถานที่.
ได้ยินว่า ขณะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ประทานสาธุการแก่มหาราชทั้ง 4 ว่า สาธุ สาธุ มหาราช ดีละ เป็นความดีของท่านมหาราชทั้งหลายท่านทั้งหลายได้สร้างบุญญาธิการไว้กับพระพุทธเจ้าในกาลก่อน ได้สร้างกุศลมูล ได้เข้าใกล้พระพุทธเจ้าจำนวนมาก จำนวนโกฏิหมื่นแสนองค์ ได้เป็นผู้ประกอบด้วยธรรม เป็นผู้ชี้ทางธรรม สร้างความเป็นพระราชาโดยธรรมให้แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย. ตลอดราตรีที่ยาวนานในกาลก่อน ท่านทั้งหลายเป็นผู้มีจิตที่ตั้งมั่น มีจิตที่ประกอบด้วยความสุขและไมตรี ได้เป็นที่อาศัยอันมีประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวง ได้ปฏิเสธสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ทุกชนิด เป็นผู้จัดของถวายที่เป็นประโยชน์ทั้งปวง. ท่านมหาราชทั้ง 4 เหล่านั้น ได้ทำการอารักขา ป้องกัน สงเคราะห์ ดูแลความสงบสวัสดีให้แก่ชนเหล่านั้น ผู้ประกอบการสักการบูชาแก่พระมนุษยราชและสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร
ด้วยเหตุนั้น ท่านมหาราชทั้ง 4 พร้อมด้วยบริวารและยักษ์หลายร้อยพันตน จักได้ทำการอารักขา ป้องกัน สงเคราะห์ ผู้นำทางธรรมของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบันมาแล้ว. เพราะฉะนั้น ท่านมหาราชทั้ง 4 พร้อมด้วยบริวาร และยักษ์หลายร้อยหลายพันตน ในสงครามเทพกับอสูร ความมีชัยจึงเป็นของเทพทั้งหลาย ความปราชัยจึงเป็นของอสูรทั้งหลาย. ท่านทั้งหลายได้ทำการอารักขา ป้องกัน สงเคราะห์ ดูแล และสร้างความสงบสวัสดี ให้แก่พระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาเหล่านั้น ผู้ทรงจำสูตเรนทรราชสูตร เพื่อประโยชน์ของสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรที่สามารถทำลายอาณาจักรอื่นได้ทั้งหมด
ครั้งนั้น พระไวศรณะมหาราช พระธฤตราษฎร์มหาราช พระวิรูฒกะมหาราช และพระวิรูปากษะมหาราช ได้ลุกจากอาสนะ พาดผ้าห่มที่ไหล่ข้างหนึ่งคุกเข่าขวาลงบนพื้นดิน ประคองอัญชลีไปยังพระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูลกับพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญในอนาคตกาลสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ จักแพร่หลายไปสู่หมู่บ้าน นคร นิคม ชนบท รัฐ และราชธานีทั้งหลาย จักเข้าไปถึงราชมณเฑียรและราชอาณาจักรของพระมนุษยราช. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ผู้ใดเป็นมนุษย์ที่จะสร้างความเป็นราชาธิปตัย ด้วยราชศาสตร์ในสมัยของจอมเทพนี้ เมื่อเขาได้ฟังสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้แล้ว จักทำการสักการะ เคารพ นับถือบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาเหล่านั้น ที่ทรงจำสูตเรนทรสูต และจักฟังสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรต่อไปอย่างต่อเนื่อง. ด้วยการฟังธรรมนั้น ข้าพระองค์มหาราชทั้ง 4 ผู้มีบุญเป็นของตนเพราะได้เผยแพร่น้ำอมฤตคือพระธรรม พร้อมกับริวารทั้งปวง รวมทั้งยักษ์และรากษสะอีกแสนตน จักมีอัตภาพเป็นทิพย์ และมีเดชอำนาจใหญ่ ร่างกายของข้าพระองค์ จะมีความเพียร ความเข้มแข็งและพลังอำนาจอย่างมากทั้งเดช ศรี และลักษมีจะเพิ่มพูนในตัวของพวกข้าพระองค์
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์มหาราชทั้ง 4 พร้อมด้วยบริวารยักษ์หลายแสนตน มีร่างกายที่ไม่แลเห็น จักเข้าไปสู่หมู่บ้าน นคร นิคม ชนบท รัฐ และราชธานี ที่มีการปฏิบัติตามสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ ผู้ที่กำลังฟังสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ และผู้ที่บูชามารดาบิดา. ข้าพระองค์ทั้งหลาย จักทำการสงเคราะห์ ดูแลการบริหารด้วยอาชญา การบริหารด้วยอาวุธ และความสงบศานติและสัสดีให้แก่ผู้ป้องกันพระสูตรนี้. ข้าพระองค์ทั้งหลาย จะปลดเปลื้องดินแดนเหล่านั้นจากภัยและความทุกข์ยากทั้งปวง จะขับไล่อาณาจักรอื่นให้ถอยไป.
ถ้าพระมนุษยราชนั้น ได้ฟังและบูชาสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้แล้ว พึงมีพระราชาประเทศใกล้เคียงเป็นศัตรู. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ถ้าพระราชาประเทศใกล้เคียงที่เป็นศัตรูนั้น เกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราพร้อมด้วยกำลังพลจตุรงคเสนา จะบุกเข้าไปสร้างความหายนะให้แก่แคว้นของพระมนุษยราชนั้น. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ได้ยินว่า โดยกาลสมัยนั้นด้วยเดชานุภาพของสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ พระราชาประเทศใกล้เคียงที่เป็นศัตรูก็จะเกิดสงครามกับประเทศอื่นๆ บางพวกก็จะถอยกลับเข้าสู่แคว้นของตน บางพวกก็จะทำลายแคว้นของกันและกัน. ผู้มีความโหดร้ายทารุณเหล่านั้น จะสร้างความปั่นป่วนให้กับพระราชาอื่นๆ. ครานั้น ดาวพระเคราะห์คือโรคก็จะเกิดขึ้นในแว่นแคว้นของพวกเขา. การก่อความไม่สงบต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นภายในแว่นแคว้น. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ในกาลใด พระราชาผู้เป็นศัตรูนั้น มีภัยอันตรายหลายร้อยชนิด มีการก่อความไม่สงบหลายร้อยวิธีเห็นปานนี้ เกิดขึ้นภายในแว่นแคว้นของตน. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญถ้าพระราชาในแคว้นใกล้เคียงที่เป็นศัตรู จัดทัพจตุรงคเสนาเคลื่อนออกจากแคว้นของตน เพื่อไปสู่อาณาจักรของพระราชาองค์อื่น. ถ้าพระราชาผู้เป็นศัตรูพร้อมด้วยกำลังพลจตุรงคเสนา ประสงค์จะเข้าไปสร้างความหายนะให้แก่แคว้นของสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรไซร้. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญข้าพระองค์มหาราชทั้ง 4 เหล่านี้ พร้อมด้วยพลบริวารยักษ์และรากษสหลายแสนตน จักเข้าไปในที่นั้น ด้วยอัตภาพที่ไม่มีใครเห็น จักทำให้พระราชาผู้เป็นศัตรูที่มาถึงเพียงกึ่งทางของอาณาจักรอื่น ถอยกลับไป จักสังหาร ทำลายให้แตกสลายไปด้วยยุทธวิธีหลายร้อยรูปแบบ. เมื่อกองทัพของอาณาจักรอื่นไม่สามารถเข้าไปสู่แคว้นนั้นได้. พวกเขาจะสร้างความหายนะได้อย่างไร.
ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ได้ประทานสาธุการ แก่มหาราชทั้ง 4 เหล่านั้นว่า สาธุ สาธุ มหาราช เป็นความดีของท่านมหาราชทั้งหลาย. ท่านทั้งหลาย ได้ทำการอารักขาพระมนุษยราชเหล่านั้น ผู้ได้ฟังสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ สืบต่อกันมาสิ้นโกฏิหมื่นแสนกัลป์อสงไขยแล้ว. ท่านได้กระทำการป้องกัน สงเคราะห์ ดูแลบ้านเรือนของชนเหล่านั้นให้สงบสวัสดีเสมอมา. ท่านได้กระทำการอารักขา ราชวัง พระนคร รัฐ และแว่นแคว้นเหล่านั้น. ท่านได้ทำการป้องกัน สงเคราะห์ ดูแลการบริหารด้วยอาชญา การบริหารด้วยศาสตรา และบ้านเรือนให้สงบสวัสดีอย่างต่อเนื่อง. ท่านได้ปลดเปลื้องแคว้นเหล่านั้นจากภัยอันตราย อุปสรรค และความคับแค้นใจทั้งปวง. ท่านได้ทำให้อาณาจักรอื่นๆล่าถอยไป. ท่านทำให้ชนทั้งหลายที่อยู่ในชมพูทวีปทั้งหมดและพระมนุษยราชนั้น ได้ประสบความสำเร็จ ด้วยการไม่ทะเลาะกันไม่แบ่งพวกัน ไม่ต่อสู้กัน ไม่วิวาทกัน. ท่านมหาราชทั้ง 4 พร้อมด้วยพลบริวาร ความปรามมิให้พระราชาทั้งหลาย 84,000 นคร ซึ่งมี 4,000นครของชมพูทวีปที่ยังยินดีอยู่ในแคว้นนั้นๆ และยังยินดีด้วยราชสมบัติจึงเบียดเบียนซึ่งกันและกัน เพราะเหตุของทรัพย์สมบัตินั้น. ท่านมหาราชทั้ง 4 ไม่ควรให้เกิดการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ควรให้ได้รับความเป็นพระราชา ด้วยกรรมของตนเองที่สั่งสมไว้ในอดีตชาติ. ควรให้ยินดีกับราชสมบัติของตนเท่านั้น. ไม่ควรให้สร้างความหายนะแก่กันและกัน. ไม่ควรให้ล่วงล้ำเข้าไปทำลายแว่นแคว้นอื่น.
ในทำนองเดียวกัน ถ้าพระราชา 84000 องค์ใน 84000 แคว้นนครในชมพูทวีปนี้ แต่ละองค์มีจิตที่เป็นมิตร เป็นไมตรีต่อกัน มีจิตที่สุขสบายไม่ทะเลาะ ไม่แบ่งพวก ไม่ต่อสู้กัน ไม่วิวาทต่อกันและกัน ยินดีอยู่ในแคว้นของตนๆด้วยคุณความดีนี้ มหาราชทั้ง 4 พร้อมด้วยพลบริวาร จะช่วยให้ชมพูทวีปแผ่ออกไปอย่างกว้างขวาง. เป็นชมพูทวีปที่มีภิกษาหารอุดมสมบูรณ์ น่ารื่นรมย์มีประชาชนจำนวนมาก และกึ่งหนึ่งของประชาชนจะมีชีวิตที่ดียิ่งขึ้น. ทุกๆฤดูกึ่งเดือน เดือนหนึ่ง และปีหนึ่ง ประชาชนจะมีความเป็นอยู่ที่สงบ. ดาวนพเคราะห์ พระจันทร์ และพระอาทิตย์ จะดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอทั้งกลางวันและกลางคืน. ฝนก็จะตกบนพื้นโลกตามฤดูกาล. สภาพของสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในชมพูทวีปจะอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์และธัญญาหารทุกอย่าง. พวกเขาจะมีทรัพย์สินจำนวนมาก และไม่มีความริษยาแก่กันและกัน. พวกเขาจะเป็นผู้มีเมตตาธรรมและประกอบกุศลกรรมบถ 10 ส่วนมาก พวกเขาจะไปอุบัติในสวรรค์. แดนสวรรค์จึงเต็มไปด้วยเทพธิดาและเทพบุตรทั้งหลาย.
ผู้ใดเป็นมหาราช จึงควรได้ฟัง ได้บูชาสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ ความสักการะ เคารพ นับถือ บูชาด้วยความปรารถนาดีต่อภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาเหล่านั้น ผู้ทรงจำพระสูตร. ท่านผู้เป็นมหาราชทั้ง 4 พร้อมด้วยพลบริวารยักษ์หลายแสนตน จึงควรฟังสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรอย่างต่อเนื่อง อัตภาพของท่านจะเอิบอิ่มด้วยน้ำคือการฟังธรรมนี้. สรีระของท่านจะเจริญด้วยรูปที่ใหญ่โต. ร่างกายของท่านก็จะเกิดความเพียร อำนาจและพลังอย่างมหาศาล. ท่านก็จะเจริญด้วยศรีและลักษมี. ครั้นแล้ว พระมนุษยราชนั้น จักทำการบูชาอย่างยิ่งใหญ่ไพศาลจนไม่อาจจะจินตนาการได้ แก่เราผู้เป็นพระศากยมุนีตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า. พระมนุษยราชนั้น ได้ทำการบูชาอย่างยิ่งใหญ่ไพศาลสุดที่จะคณานับ ด้วยอุปกรณ์ทั้งปวงของเขาเอง แก่พระพุทธเจ้าและพระตถาคตหลายโกฏิหมื่นแสนองค์ ที่มีทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน. พระมนุษยราชนั้น ได้ทำการอารักขาเป็นอย่างดี. เขาได้ทำการอารักขา ป้องกัน สงเคราะห์ ดูแลการบริหารด้วยอาชญา การบริหารด้วยศาสตรา จนกระทำให้ที่ประทับอาศัยของพระราชานั้นสงบสวัสดี. เขาได้ทำการอารักขาอย่างยิ่งใหญ่ แก่พระอัครมเหสี พระราชกุมาร บุคคลภานในราชสำนักและพระราชวังทั้งปวง. เขาได้ทำที่อยู่อาศัยนั้น ให้มีการคุ้มครอง ป้องกัน รักษาและมีความสงบสวัสดี. เทวดาทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในภฤหาสน์ของพระราชวัง เป็นผู้เปล่งปลั่ง มีจิตเป็นสุขโสมนัสและมีความยินดี. รัฐและแว่นแคว้นทั้งหลายได้รับการอารักขาเป็นอย่างดี. แว่นแคว้นที่ได้รับการบำรุงดีแล้ว จักไม่ถูกเบียดเบียน ไม่มีข้าศึก. อาณาจักรอื่นๆทั้งหมด ก็จะไม่ถูกย่ำยี ไม่มีอุปสรรค และไม่มีความกดดัน.
ครั้นกราบทูลอย่างนี้แล้ว มหาราชไวศวณะ มหาราชธฤตราษฎร์ มหาราชวิรูฒกะ และมหาราชรูปากษะ ทุกองค์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระมนุษยราชนั้น ควรมีกายที่สรงสนานแล้ว ทรงเครื่องปรุงที่มีกลิ่นหอม ทรงภูษาที่ใหม่และสวยงาม ประดับด้วยเครื่องอลังการต่างๆ. แล้วพึงเลือกอาสนะที่ต่ำกว่าสำหรับตนเอง พึงพระทับนั่นบนอาสนะนั้น โดยไม่หลงมัวเมาในความเป็นพระราชา ไม่ควรให้ใตรรู้ว่าตนเองเป็นพระราชาผู้สูงส่ง พึงมีจิตที่ปราศจากทุจริต ความถือตัว ความหลงมัวเมา และความหยิ่งผยอง แล้วฟังสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร พระองค์จะเกิดความรู้ของความเป็นพระศาสดา ในสำนักของพระภิกษุผู้แสดงธรรมนั้น. ในกาลสมัยนั้น พระมนุษยราชนั้น ได้ประจักษ์ถึงคามเป็นมิตรรัก จากพระอัครมเหสี พระราชบุตร พระราชธิดา และกลุ่มบุคคลภายในราชสำนักทุกคน พระองค์ก็จะปฏิสันถารด้วยปิยวาจากับพระมเหสี พระราชบุตร พระราชธิดา และกลุ่มบุคคลภายในราชสำนักทุกคน. พระองค์จะรับสั่งให้จัดเครื่องบูชาที่วิจิตรต่างๆเพื่อฟังะรรม. พระองค์ได้รู้สึกตนว่า เอิบอิ่ม ปีติด้วยเครื่องบูชาที่หาสิ่งใดเปรียบมิได้ จนไม่สามารถจินตนาการได้. พระองค์ได้ทำให้ตนเองมีความยินดี ด้วยปีติสุขที่ไม่สามารถจินตนาการได้. มีอินทรีย์ที่เป็นสุขง กำลังของพระองค์ก็เพิ่มมากขึ้น. ทำให้ตนเองมีความรื่นรมย์เป็นอย่างมาก. พระองค์ได้เชิดชูผู้แสดงธรรมด้วยการอารักขาเป็นอย่างดี.
เมื่อมหาราชทั้ง 4 กราบทูลอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับมหาราชทั้ง 4 เหล่านั้นว่า ยังมีอีกมหาราช ก็ในกาลสมัยนั้น พระมนุษยราชทรงพัสตราภรณ์ที่ใหม่และงดงามสีขาวเหลืองล้วน พระองค์ได้ประดับตนด้วยเครื่องอลังการนานาชนิด ด้วยอานุภาพอันยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงรัตนะอันวิจิตรต่างๆ ได้เสด็จออกจากพระราชวัง ด้วยขบวนแห่สำหรับพระราชา ตราบใดที่พระมนุษยราชได้เจริญภาวนาบทในพระสูตรนั้น พระองค์ก็จะหลุดพ้นจากสังสารวัฏตลอดโกฏิหมื่นแสนกัลป์ไปตราบนั้น. พระองค์จักได้ครองพระราชวังสำหรับพระจักรพรรดิตลอดโกฏิหมื่นแสนชาติเช่นกัน ถ้าพระองค์เจริญภาวนาบทในพระสูตรนั้นได้เพิ่มขึ้น พระองค์ซึ่งเป็นผู้ทรงธรรมที่ประจักษ์ ก็จักเจริญด้วยราชสมบัติที่ยิ่งใหญ่ จนไม่สามารถคิดคำนวณได้ ตราบนั้น. พระองค์จักได้วิมานทิพย์ที่สำเร็จจากรัตนะทั้ง 7 เป็นที่อาศัยอันกว้างใหญ่ตลอดหลายโกฏิหมื่นแสนกัลป์. พระองค์จักได้เป็นพระโอรสของราชสกุลพระมนุษยราชที่ประเสริฐและยิ่งใหญ่ ตลอดหลายแสนชาติ ทุกชาติที่ถือกำเนิด พระองค์จักได้ เสวยราชสมบัติ จักมีพระชนมายุยืนยาว จักดำรงชีพที่ยั่งยืน พระองค์จักเป็นผู้มีปฏิภาณ มีวาจาเป็นที่น่าเชื่อถือ มียศและเกียรติแผ่ไพศาล พระองค์จักเป็นผู้ประทานความสุขแก่ชาวโลก รวมทั้งเทวดา มนุษย์และอสูร พระองค์จักได้รับความเป็นมนุษย์ทิพย์ที่ยิ่งใหญ่และมีความสุข พระองค์เป็นผู้มีกำลังมาก มีพลังทางกวี มีรูปงาม น่าเลื่อมใส น่าชื่นชม มีพระกรที่งดงามยิ่ง ทุกชาติพระองค์มีความตั้งใจที่จะไปเฝ้าพระสุคตอยู่เสมอ พระองค์จักได้สนทนากับกัลยณมิตรทั้งปวง พระองค์จักได้รับกองบุญที่มิอาจจะนับได้.
พระราชานั้น เมื่อได้เห็นการสรรเสริฐคุณของมหาราชถึงเพียงนี้ จึงได้ลุกขึ้นทำความเคารพพระภิกษุผู้แสดงธรรมตั้งแต่ระยะทางหนึ่งโยชน์ พระองค์ได้รับรู้ความเป็นพระศาสดาในสำนักของพระภิกษุผู้แสดงธรรมนั้น พระองค์จึงเกิดความคิดอย่างนี้ว่า วันนี้ พระศากยมุนีตถาคตอรหัตตสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา จักเสด็จเข้าไปในพระราชวัง วันนี้ พระศากยมุนีตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา จะสอนประชาชนของพระองค์ในพระราชวังนี้ เราจักได้ฟังธรรมที่น่าอัศจรรย์ที่สุดในโลกทั้งปวง ด้วยการฟังธรรมในวันนี้ เราจะกลับคืนไปสู่อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ. พรุ่งนี้ เราจะสร้างความยินดีให้กับพระตถาคตโกฏหมื่นแสนพระองค์. พรุ่งนี้ เราจักระทำการอันยิ่งใหญ่ไพศาลจนไม่สามารถจะจินตนาการได้ ให้กับพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งในอดีต อนาคต และปัจจบัน. วันนี้ เราจะปลดเปลื้องความทุกข์ของสรรพสัตว์ที่อยู่ในนรก กำเนิดเดรัจฉานและยมโลกให้หมดสิ้น. วันนี้ เราจะปลูกพืชคือกุศลมูลเพื่อรองรับอัตภาพที่เป็นเจ้าแห่งพรหม ตลอดหลายโกฏิหมื่นแสนชาติ. วันนี้เราจะปลกพืชคือกุศลมูล เพื่อรองรับอัตภาพความเป็นพระอินทร์ ตลอดหลายโกฏหมื่นแสนชาติ วันนี้ เราจะปลูกพืชคือกุศล เพื่อรองรับอัตภาพความเป็นพระเจ้าจักรพรรดิตลอดหลายโกฏิหมื่นแสนชาติ. วันนี้ เราจะปลดเปลื้องสรรพสัตว์หลายโกฏิหมื่นแสนคนออกจากสังสารวัฏ. วันนี้ เราจะได้รับกองบุญที่ทำให้ถึงฝั่งอันกว้างใหญ่ไพศาล จนไม่สามารถจินตนาการได้. วันนี้เราจะทำการอารักขาครั้งใหญ่ภายในเมืองทั้งหมด. วันนี้ เราจะทำที่อยู่อาศัยภายในพระราชวังของเรา ให้สงบสุขสวัสดีที่ยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ ที่ไม่มีสิ่งใดเปรียบได้. วันนี้ เราจะอารักขาแว่นแคว้นทั้งหมด เราจะรักษาแว่นแคว้นทั้งปวงให้มีอิสระไม่ให้ถูกเบียดเบียน ไม่ให้ถูกย่ำยีจากอาณาจักรอื่นทั้งหมด ไม่ให้มีอุปสรรคและไม่ให้มีความคับแค้นใจใดๆ.
ดูก่อนมหาราชทั้งหลาย เมื่อใด พระมนุษยราชนั้นได้สักการะ เคารพ นับถือพระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาผู้ทรจำสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร ด้วยความเคารพในพระสัทธรรมเห็นปานนี้ พึงประทานองค์ธรรมที่ประจักษ์และยิ่งใหญ่ ให้แก่ท่านมหาราชทั้ง 4 พร้อมกับพลบริวารแก่หมู่เทวดาและยักษ์หลายแสนตน พระมนุษยราชองค์นี้ จักเจริญด้วยบุญญาธิการ กุสลาภิสังขาร มีอัตภาพที่ประกอบด้วยธรรมอันประจักษ์ และราชสมบัติจำนวนมาก จนไม่สามารถคิดคำนวณได้ พระองค์เป็นผู้ประกอบด้วยราชเดชทรงธรรมอันประจักษ์และยิ่งใหญ่จนไม่สามารถจินตนาการได้ พระองค์จักประกอบด้วยศรี เดช และลักษมี. พระองค์จักกำจัดศัตรูผู้เป็นปฏิปักษ์ด้วยคุณธรรม.
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว มหาราชทั้ง 4 ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ผู้ใดได้เป็นพระมนุษยราช ผู้นั้นควรได้สดับฟังสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ ด้วยความเคารพเห็นปานนี้ และควรสักการะ เคารพ นับถือ บูชาพระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย ผู้ทรงจำสูตเรนทรราชสูตร. พระองค์จักทำให้พระราชวยังบริสุทธิ์ เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระองค์มหาราชทั้ง 4 พระองค์จักพรมน้ำหอมนานาชนิด พระองค์จักทำให้คนทั่วไปพร้อมกับข้าพระองค์มหาราชทั้ง 4 ได้ฟังเสียงธรรมนั้น เป็นการทำกุศลเพียงเล็กน้อย แต่มีผลประจักษ์ เพื่อประโยชน์ของตนและของเทวดาทั้งปวง ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ พระมนุษยราชนั้นได้จุดธูปที่มีกลิ่นหอม เพื่อประโยชน์แก่พระภิกษุนั้น ผู้นั่งชิดกันบนอาสนะควันและเพื่อประโยชน์แก่พวกข้าพระองค์มหาราชทั้ง 4 ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ เมื่อของหอมต่างๆ ถูกจุดขึ้นเพื่อบูชาสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนั้น กลุ่มควันธูปที่มีกลิ่นหอมต่างๆ ก็แผ่กระจากไป. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เพียงครู่หนึ่งเท่านั้น ฉัตรพุ่มจากธูปหอมนานาชนิด ก็ปรากฏบนท้องฟ้า เหนือพวกเรามหาราชทั้ง 4 ที่ได้รับกลิ่นหอมจำนวนมาก และได้ปรากฏแสงสว่างดุจแสงทอง ภพของข้าพระองค์ทั้งหลายก็สว่างไสวไปด้วยแสงนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ แสงนั้นได้สว่างไปถึงภพทั้งปวงรวมทั้งภพของพระพรหม ของพระอินทร์ผู้เป็นจอมเทพ ของมหาเทวีสรัสวดี ของมหาเทวีทฤฒา ของมหาเทวีศรี ของเสนาบดีสัญชัยมหายักษ์ ของเสนาบดีมหายักษ์ทั้ง 18 ของเทวบุตรมเหศวร ของพระวัชรปาณี ของเสนาบดีมหายักษ์มาณิภัทร ของเสนาบดีมหายักษ์ของหารีติ พร้อมกับบุตรบริวารอีก 500 ตน และขออนวตัปตะนาคราช ซึ่งเทพเหล่านั้นอยู่ในภพของตนๆ เพียงครู่เดียวเท่านั้น พุ่มฉัตรของธูปหอมได้กระจายไปทั่วท้องฟ้า ทุกภพได้รับกลิ่นหอมชนิดต่างๆ จำนวนมาก แสงสว่างสีทองก็ปรากฏทั่วไป ทุกภพจักสว่างไสวไปด้วยแสงนี้.
เมื่อมหาราชทั้ง 4 กราบทูลอย่านี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสกับมหาราชทั้ง 4 ว่า ควันพุ่มฉัตรธูปหอมนานาชนิด มิใช่แผ่ไปทั่วท้องฟ้า จนถึงภพของท่านมหาราชทั้ง 4 แต่ละองค์เพียงอย่างเดียว เหตุใดจึงกล่าวอย่างนั้น เพราะว่า พระมนุษยราชนั้น ได้จุดธูปกับของหอมนานาชนิด เพื่อตั้งบูชาสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนั้น กลุ่มควันธูปหอมนานาชนิดก็กระจายออกจากก้านธูปที่ถืออยู่ในมือนั่นเอง เพียงครู่เดียวเท่านั้น กลุ่มควันธูปหอมนานาชนิดก็ได้กระจายไปทั่ว ในตริสาหัสรมหาสาหัสรโลกธาตุทั้งหมดซึ่งมีโกฏิร้อยพระจันทร์ โกฏิร้อยทวีปทั้ง 4 โกฏิร้อยเทพชั้นจตุราชกายิกาโกฏิร้อยเทพชั้นไตรตรึงษ์ จนถึงโกฏิร้อยเทพทั้งหลายที่อยู่ในเนวสัญญานาสัญญายตนะ พุ่มฉัตรธูปหอมนานาชนิด ได้แผ่กระจายไปทั่วท้องฟ้า โกฏิร้อยตริสาหัสรมหาสาหัสรโลกธาตุเหล่านั้นทั้งหมด แม้ในหมู่เทพชั้นไตรตรึงษ์จนถึงภพเทพ นาค ยักษ์ คนธรรพ์ อสูร ครุฑ กินนร และมโหรคะทั้งปวง สรรพสัตว์ทั้งหลาย ย่อมได้รับกลิ่นหอมอันโอฬารนานาชนิดนั้น แสงสว่างดุจสีทองก็ปรากฏ ภพทั้งปวงก็จะสว่างไปด้วยแสงเหล่านั้น รัตนะฉัตรก็จักทรงอยู่ สรรพสัตว์ย่อมได้รับกลิ่นหอมอันโอฬารยิ่ง แสงสว่างสีทองก็จักปรากฏในเทวภพทั้งปวง เทวภพทั้งปวงก็จักสว่างไปด้วยแสงนั้น ตรบใดที่พุ่มฉัตรธูปหอมนานาชนิดเหล่านั้นยังดำรงอยู่ในท้องฟ้าเบื้องบนของเทวภพทั้งปวงในตริสาหัสรมหาสาหัสรโลกธาตุ ดูก่อนมหาราช ด้วยเดชของสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนั้น ของหอมนานาชนิดที่พระมนุษยราชจุดที่ก้านธูปเพื่อบูชาสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ ควันพุ่มฉัตรจากธูปหอมนานาชนิดก็จักดำรงอยู่ตราบนั้น.
เพียงครู่เดียวเท่านั้น ควันพุ่มฉัตรธูปหอมนานาชนิดเหล่านั้น ก็ได้ประดิษฐานอยู่ในท้องฟ้าเบื้องบนพระตถาคตโกฏิหมื่นแสนองค์ เปรียบได้กับทรายมิใช่น้อยในแม่น้ำคงคาในโกฏิหมื่นแสนพุทธเกษตร เปรียบได้กับทรายมิใช่น้อยในแม่น้ำคงคาทั้งสิบทิศโดยรอบ ธูปหอมนานาชนิดอันโอฬารยิ่งนี้ ได้ส่งกลิ่นไปถึงพระพุทธเจ้าโกฏิหมื่นแสนองค์เหล่านั้น ซึ่งเปรียบได้กับทราย แสงสว่างที่เป็นสีทองได้ปรากฏทั่วไป จนทำให้โกฏิหมื่นแสนพุทธเกษตรที่เปรียบได้กับทรายมิใช่น้อยในแม่น้ำคงคาเหล่านั้น สว่างไสวไปด้วยแสงทองนั้น ดูก่อนมหาราช ในทันทีที่ปาฏิหาริย์อันยิ่งใหญ่เห็นปานนี้ปรากฏ พระตถาคตทั้งหลายที่ดำรงอยู่ในโกฏิหมื่นแสนพุทธเกษตรซึ่งเปรียบได้กับเม็ดทรายมิใช่น้อยเหล่านั้นในแม่น้ำคงคา จักนำผู้แสดงธรรมนั้นมา พระตถาคตทั้งหลาย ได้ประทานสาธุการว่า ดีละ ดีแล้วสัตบุรุษ ดีละสัตบุรุษ ก็ท่านนั่นเอง ท่านเท่านั้นที่ประสงค์จะประกาศสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร ที่ลึกซึ้งปานนี้ ที่ลึกซึ้งอย่างนี้ ที่มีอรรถลึกซึ้งอย่างนี้ ที่มีแสงลึกซึ้งอย่างนี้ ที่ประกอบด้วยคุณธรรมอันเป็นอจินไตยอย่างนี้ ให้พิสดารได้ สัตว์ทั้งหลาย จะไม่มีกุศลมูลอื่นอีกเลย ถ้าได้ทำให้สุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้บริสุทธิ์ แม้ด้วยการเรียน ทรงจำ เขียน ให้เขียน ท่องจำ แล้วเผยแพร่ไป ด้วยการประกาศแสดง ชี้แจงสาธยาย ในท่ามกลางบริษัทโดยพิสดาร และเจริญภาวนาในใจโดยแยบคาย. เหตุใด จึงเป็นเช่นนั้น เพราะการได้ฟังสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรของบุรุษนั้น พระโพธิสัตว์โกฏิหมื่นแสนองค์มิใช่น้อยที่ดำรงอยู่ในอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จักไม่หวนกลับมาเกิดอีก
ได้ยินว่า ลำดับนั้น พระตถาคตโกฏิหมื่นแสนองค์ มิใช่น้อย ในโกฏิหมื่นแสนพุทธเกษตร อันเปรียบได้กับเม็ดทรายในแม่น้ำคงคา ทั้งสิบทิศโดยรอบที่ประทับอยู่ในพุทธเกษตรของตน ณ กาลสมัยนั้น ได้ตรัสกาบพระภิกษุผู้แสดงธรรมนั้น ซึ่งมานั่งที่ธรรมาสน์ ด้วยเสียงอันก้องครั้งหนึ่ง ด้วยบทหนึ่งและคำหนึ่งว่า ดูก่อนสัตบุรุษ ในอนาคตกาล ท่านจักเข้าไปสู่โพธิมณฑล ดูก่อนสัตบุรุษ ท่านเมื่อไปสู่โพธิมณฑลอันประเสริฐแล้ว จักเข้าไปสู่โคนราชพฤกษ์ แล้วจักได้รับพลังจากการประพฤติพรตตบะ ที่อธิษฐานแล้ว อธิษฐานอีกตลอดสามเวลาเพื่อสัตว์ทั้งปวง ดูก่อนสัตบุรุษ ท่านจักประดับโพธิมณฑลให้เพียงพอ ตลอดโกฏิหมื่นแสนกัลป์ที่ทำได้ยากยิ่ง ดูก่อนสัตบุรุษ ท่านจัก
(หน้า56)
ป้องกันตริสาหัสรมหาสาหัสรโลกธาตุทั้งปวง ดูก่อนสัตบุรุษ ท่านเมื่อเข้าไปสู่โคนราชพฤกษ์ จักทำให้มารปและเสนามารที่มีจำนวนจนไม่อาจนับได้ ที่มีรูปแปลกประหลาดต่างๆ ทั้งรูปที่ดุร้ายและรูปที่เห็นแล้วน่าขยะแขยงเป็นอย่างยิ่งให้พ่ายแพ้. ดูก่อนสัตบุรุษ เมื่อท่านเข้าไปสู่โพธิมณฑลอันประเสริฐนั้นจักได้เสวยอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณที่ลึกซึ้ง ปราศจากกิเลสและสงบอย่างไม่มีที่เปรียบ. ดูก่อนสัตบุรุษ ท่านเมื่อเข้าไปสู่วัชรอาสน์ที่มั่นคงด้วยสาระอันเลิศก็จักได้หมุนธรรมจักรอันประเสริฐ มีอาการ 12 ซึ่งลึกซึ้งอย่างยิ่ง ที่ชนทั้งปวงสรรเสริญแล้ว. ดูก่อนสัตบุรุษ ท่านจักได้ประโคมดนตรีเสียงธรรมที่ประเสริฐยิ่ง. ดูก่อนสัตบุรุษ ท่านจักได้ทำเสียงธรรมที่ประเสริฐให้ยิ่งใหญ่โดยสมบูรณ์. ดูก่อนสัตบุรุษ ท่านจักยกธงคือธรรมอันยิ่งใหญ่ให้สูงขึ้น. ดูก่อนสัตบุรุษท่านจักทำเปลวไฟคือธรรมอันประเสริฐให้โชติช่วงขึ้นอีกครั้ง. ดูก่อนสัตบุรุษ ท่านจักทำฝนห่าใหญ่คือธรรมอันประเสริฐให้ตกลงมาอีกครั้ง. ดูก่อนสัตบุรุษ ท่านจักทำให้กิเลสหลายแสนอย่างต้องพ่ายแพ้. ดูก่อนสัตบุรุษ ท่านจักทำให้สัตว์หลายโกฏิหมื่อนแสนคน ได้ข้ามพ้นจากมหาสมุทรคือภัยอันยิ่งใหญ่ที่น่ากลัว. ดูก่อนสัตบุรุษ ท่านจักได้ปลดเปลื้องสตว์หลายโกฏิหมื่นแสนคนให้หลุดพ้นจากสังสารวัฏ. ดูก่อนสัตบุรุษ ท่านจักทำให้พระตถาคตหลายโกฏิหมื่นแสนองค์ได้มีความยินดี.
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ มหาราชทั้ง 4 ได้กราบทูลกับพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ด้วความอนุเคราะห์ของพระมนุษยราช ผู้ได้สร้างกุศลมูลไว้กับพระพุทธเจ้าถึง1,000พระองค์ ได้มองเห็นคุณของสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรถึงปานนี้ ที่ประกอบด้วยความน่ายินดีและที่สามารถปราบมารได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พวกข้าพระองค์มหาราชทั้ง 4 เหล่านี้ พร้อมกับพลบริวาร ซึ่งมีอยู่ในภพของตน รวมทั้งยักษ์หลายแสนตนได้เห็นการตอบสนองของผลบุญจนคำนวณมิได้ ที่พุ่มฉัตรธูปหอมนานาชนิดแผ่ไปถึง ซึ่งมีอัตภาพที่มองไม่เห็น จึได้เข้าไปสู่พระราชวังอันเป็นที่ประทับที่จัดแจงอย่างดีและสะอาด พรมด้วยน้ำหอมชนิดต่างๆ ประดับด้วยเครื่องอลังการนานาชนิด ของพระมนุษยราชนั้น เพื่อฟังธรรม ท้าวสหัมบดีพรหม ท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพ พระมหาเทวีสรัสวดี พระมหาเทวีศรี เทพทฤฒาถวี สัญชัยมหาเสนาบดียักษ์ และมหาเสนาบดียักษ์อีก 28 ตน พระมเหศวรเทพบุตร พระวัชรปาณี พระคุหยกาธิบดี เทพมาณิภัทระ และหารีติมหาเสนาบดียักษ์พร้อมด้วยเทพบุตรบริวารอีก 500 องค์ อนวตัปตนาคราช และสาครนาคราช เทพอีกหลายโกฏิหมื่นแสนองค์ ที่ไม่ปรากฏกาย จักเข้าไปประจำอยู่ในพระราชวังที่ประดับด้วยเครื่องอลังการนานาชนิดของพระมนุษยราชนั้น รวมทั้งที่ธรรมาสน์ที่ตกแต่งสะอาด ประดับด้วยเครื่องอลังการนานาชนิด ซึ่งประดิษฐานอยู่บนธรณีที่เต็มไปด้วยบุญของภิกษุผู้แสดงธรรมนั้น เพื่อฟังธรรม.
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ข้าพระองค์มหาราชทั้ง 4 ทุกองค์รวมทั้งยักษ์หลายแสนตน จะถวายรสเลิศอันยิ่งใหญ่ ซึ่งไม่มีสิ่งใดจะเปรียบได้ แก่พระมนุษยราชนั้น ผู้มีสหายเป็นกัลญาณมิตร ผู้ได้รับแต่สิ่งที่ดีงาม ให้เอิบอิ่มด้วยอมตรสของพระธรรมนี้ และจักทำการอารักขาแก่พระมนุษยราชผู้เอิบเอิ่มนั้น. พวกข้าพระองค์จักทำการคุ้มครอง ป้องกัน รักษาสถานที่ประทับให้สงบสุขสวัสดี. พวกข้าพระองค์จักทำการอารักขา พระราชวัง พระนคร และแว่นแคว้นของพระมนุษยราชนั้น. พวกข้าพระองค์จักทำการคุ้มครอง ป้องกัน รักษาสถานที่ประทับให้สงบสุขสวัสดี. พวกข้าพระองค์จักปลดเปลื้องแว่นแคว้นนั้นให้รอดพ้นจากภัยอันตราย อุปสรรคและความคับแค้นใจทั้งปวง ดังนี้แล
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ใครก็ตามที่ได้เป็นพระมนุษยราช. สูตเรนทรราชสูตนี้ ก็จะแผ่ไปทั่วแว่นแคว้นของพระมนุษยราชนั้น. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ในกาลใด พระมนุษยราชนั้น ไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชาพระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้ทรงจำสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร. เขาจักไม่ทำให้ยักษ์หลายโกฏิหมื่นแสนตนของข้าพระองค์มหาราชทั้ง 4 ให้พอใจ และไม่ทำให้นับถือด้วยการได้ฟังธรรมนี้ และด้วยอมตรสคือธรรม. อัตภาพอันเป็นทิพย์เหล่านี้ ก็จักไม่เจริญด้วยเดชจำนวนมาก ความเพียร ความมั่นคง และพลังก็จะไม่บังเกิดแก่พวกข้าพระองค์. เดช ศรี และลักษมีก็จะไม่มีในกายของพวกข้าพระองค์. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ พวกข้าพรองค์มหาราชทั้ง 4 พร้อมด้วยพลบริวาร มียักษ์หลายโกฏิหมื่นแสนตน จะไม่ทำการอารักขาในแว่นแคว้นของพระมนุษยราชนั้น. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ เมื่อหมู่เทวดา ซึ่งเป็นคณะของพวกข้าพระองค์ทั้งหมด ที่อยู่ในแว่นแคว้นไม่สนใจ ก็จะปล่อยปละละเลยแว่นแคว้นนั้น. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พวกเขาก็จะสละแว่นแคว้นนั้นไป. ช่องว่างต่างๆระหว่าแคว้นก็จะเกิดขึ้นในแว่นแคว้นนั้น. จักมีความบาดหมางอย่างร้ายแรงระหว่างพระราชาด้วยกัน. สรรพสัตว์ทั้งหลายที่อยู่แคว้นทั้งปวง ก็จะเกิดการทะเลาะกัน. มัณฑนชาติ(อัญมณี)ทั้งหลายก็จะถูกแย่งชิงกัน ในที่สุดก็จะทะเลาะกัน แล้วโรคระบาดชนิดต่างๆ ก็จะเกิดขึ้นในแว่นแคว้น. และลูกอุกาบาตก็จะตกลงในทิศต่างๆ. ดาวเคราะห์ทั้งหลายก็จะโคจรมากระทบกัน. พระจันทร์ก็จะปรากฏที่ดวงอาทิตย์. จะบังเกิดเป็นจันทรคราส. แม้สุริยคราสก็เข้าไปอยู่ระหว่างอากาศมืดอย่างต่อเนื่อง พระอาทิตย์และพระจันทร์ยังไม่พ้นออกไปตามช่อง. รัศมีทรงกลดมีสีเหมือนอุกกาบาต จะปรากฏบนท้องฟ้าครั้งแล้วครั้งเล่า. แผ่นดินจะสั่นไหว. บ่อน้ำบนพื้นดินที่ใช้อยู่ก็จะแห้งขอด. ลมก็จะพัดเข้าสู่แว่นแคว้นอย่างรุนแรงฝนก็จะตกภายในแว่นแคว้นอย่างหนัก. ความกันดารทางทุพภิกขภัยก็จะบังเกิดในทุกแคว้น. อาณาจักรอื่นๆก็จะขยายกำลังเข้าสู่แคว้นนั้น. ความลำบากอย่างยิ่งก็จะเกิดมีขึ้น. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ เมื่อพวกข้าพระองค์มหาราชทั้ง 4 พร้อมด้วยพลบริวารมียักษ์หลายแสนตน รวมทั้งเทพและนาคที่อยู่ในแคว้นนั้น ได้ปล่อยปละละเลยแว่นแคว้นนั้น ภัยอันตรายหลายร้อยหลายพันนานาชนิด เห็นปานนี้ ก็จักมีภายในแว่นแคว้นนั้น.
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ใครที่ได้เป็นพระมนุษยราช. พระมนุษยราชพระองค์ใดปรารถนาความปลอดภัยแก่ตน. และประสงค์จะเสวยสุขในราชสมบัติต่างๆ อย่างยั่งยืน. พระมนุษยราชองค์นั้นควรประทานความสุขให้แก่ทุกคนไม่ความปรารถนาการครองความเป็นพระราชานานนัก. ควรปรารถนาให้สรรพสัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในแว่นแคว้นได้มีความสุข. และปรารถนาให้อาณาจักรอื่นๆประสบความปราชัย. เขาประสงค์จะรักษาแว่นแคว้นให้มีความสุขทุกอย่าง. เขาต้องการครองราชสมบัติโดยธรรม. เขาต้องการจะปลดเปลื้องแว่นแคว้นของตนให้พ้นจากอันตราย อุปสรรคและความลำบากทั้งปวง
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ พระมนุษยราชนั้น ควรได้สดับฟังสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ ครั้นฟังแล้ว ควรสักกะ เคารพ นับถือ บูชาพระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ผู้ทรงจำพระสูตรนั้น. ข้าพระองค์มหาราชทั้ง 4 พร้อมกาบพลบริวาร จักเอิบอิ่มด้วยธรรมอมตรสนี้ ด้วยการสั่งสมกุศลมูล เพราะการฟังธรรมนั่นเอง. อัตภาพที่เป็นทิพย์เหล่านี้ของพวกข้าพระองค์จักมีเดชเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก. เพราะเหตุไรจึงเป็นเช่นนั้น. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ สุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ เป็นสิ่งจำเป็นที่พระมนุษยราชนั้นควรได้ฟัง.
ตราบใดที่พระพรหเมนทร ยังแสดงศาสตร์ชนิดต่างๆ ทีเป็นโลกุตรของชาวโลก ตรบใดที่ท้าวสักกะ ผู้เป็นเทเวนทร ยังแสดงศาสตร์ต่างๆ ตราใดที่ฤษีผู้บรรลุอภิญญา 5 ยังแสดงศาสตร์ชนิดต่างๆ ที่เป้นโลกุตรของชาวโลกเพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ พระตถาคตผู้เลิศกว่า ประเสริฐกว่าแสนพรหเมนทรเหล่านั้น กว่าท้าวสักกะหลายโกฏิหมื่นแสนองค์ กว่าโกฏิหมื่นแสนฤษีผู้ได้อภิญญา 5 ทุกองค์ ได้ประกาศสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้โดยพิสดาร เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย.
เมื่อพระมนุษยราชที่อยู่ในชมพูทวีปทั้งปวง ได้สถาปนาความเป็นพระราชา. เมื่อสรรพสัตว์ได้รับความสุข. เมื่อแว่นแคว้นทั้งปวงไม่ถูกเบียดเบียนและไม่มีการแตกแยก. และเมื่ออาณาจักรอื่นถูกปราบ. ได้เบือนหน้าหนีหายไป.แว่นแคว้นเหล่านั้นก็จะไม่มีความลำบากใดๆ. เมื่อแว่นแคว้นทั้งปวงมีธรรมะก็จักไม่มีความลำบากใดๆ ไม่มีภัยอันตรายใดๆ พระมนุษยราชเหล่านั้นก็ได้จุดคบเพลิงคือธรรมให้สว่างไสวโชติช่วงในแคว้นทั้งปวง. ภพของเทวดาทั้งปวงจึงได้ต้อนรับเทพธิดาและเทพบุตรทั้งหลาย. ข้าพระองค์มหาราชทั้ง 4 พร้อมด้วยพลบริวารยักษ์หลายแสนตน และหมู่เทวดาที่อยู่ในชมพูทวีปทั้งหมดจักเอิบอิ่ม ผ่องใส ความเพียร พลังและความมั่นคงจำนวนมาก จักเกิดขึ้นภายในร่างกายของเหล่าพระองค์ เดช ศรี และลักษมีจำนวนมาก จักเข้าอาศัยอยู่ภายในร่างกายของเหล่าข้าพระองค์ ชมพูทวีปทั้งปวงก็จักสมบูรณ์ด้วยภิกษาหาร น่ารื่นรมย์ ชาวมนุษย์จะเกลื่อนไปด้วยพหุชน. สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในชมพูทวีป จักบริโภคอย่างอุดมสมบูรณ์. จักได้รับความยินดีต่างๆ. สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในชมพูทวีป จักบริโภคอย่างอุดมสมบูรณ์. จักได้รับความยินดีต่างๆ สัตว์ทั้งหลายจักได้รับความสุขมากมายมหาศาล จนไม่สามารถจะจินตนาการได้ตลอดหลายโกฏิหมื่นแสนกัลป์ พวกเขาจะถึงความตั้งมั่นต่อพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งหลาย. ครั้นแล้วตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในอานาคตกาล. ณ กาลบัดนี้ พระผู้มีพระภาคตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประกาศตบะพรตที่สูงยิ่งแก่ท้าวสักกะโกฏิหมื่นแสนองค์ ให้ดำรงอยู่ในอนุตตรตถาคตญาณที่เลิศยิ่งกว่าสิ่งที่เป็นทิพย์ ด้วยการุณยพลาธิษฐานที่ใหญ่ยิ่ง แก่หมู่ฤษี ผู้บรรลุอภิญญา 5 หลายโกฏิหมื่นแสนตน ด้วยสัมมาสัมโพธิญาณที่ยิ่งกว่า แก่พระพรหเมนทรโกฏิหมื่นแสนองค์ ด้วยการอธิษฐาน และพระผู้มีพระภาคตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประกาศสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้โดยพิสดาร ในชมพูทวีปนี้ เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย.
ราชการ ราชกฤษฎีกา มราชกรณียกิจใดๆก็ตาม ที่เป็นโลกุตตรของชาวโลก ซึ่งมีอยู่ในชมพูทวีปทั้งหมด ที่พระมนุษยราชนั้นใช้ ก็เพื่อให้สรรพสัตว์เหล่านี้มีความสุข. พระผู้มีพระภาคตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้แสดง ได้จุดประกาย และได้ประกาศสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้แล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ด้วยเหตุปัจจัยนี้ พระมนุษยราชจึงจำเป็นต้องฟัง นับถือ บูชาสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ ด้วยความเคารพ.
เมื่อมหาราชทั้ง 4 กราบทูลเช่นนี้ พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับมหาราชทั้ง 4 ว่า ถ้าอย่างนั้น ท่านมหาราชทั้ง 4 พร้อมด้วยพลบริวารมากมาย จำเป็นต้องสร้างความห่วงใยให้มากขึ้น เพื่ออารักขาพระมนุษยราชเหล่านั้น ผู้ที่ได้ฟัง ได้บูชาสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ ท่านมหาราชทั้ง 4ควรแนะนำพุทธเกษตรให้พระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้ทรงจำพระสูตรให้เข้าใจด้วยตนเอง ควรแนะนำพุทธจริยาให้แก่เทพ มนุษย์ อสูร และชาวโลกทั้งหลาย. ความประกาศสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ ให้พิสดารยิ่งขึ้น. ท่านมหาราชทั้ง 4 จำเป็นต้องอารักขาพระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาเหล่านั้น ที่ทรงจำสูตเรนทรราชสูตรนี้. พึงทำการคุ้มครอง ป้องกัน รักษาการบริหารด้วยอาชญา การบริหารด้วยอาวุธ คุ้มครองที่อยู่อาศัยให้สงบสุขสวัสดี. เมื่อพระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาผู้ทรงจำสูตเรนทรสูตรได้รับการอารักขา ไม่ถูกเบียดเบียน ไม่มีอุปสรรคที่ทำให้คับแค้นใจ ก็จะมีจิตสุขสบาย. จึงเหมาะสมที่จะประกาศสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย โดยพิสดาร.
(หน้า63)
ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระมหาราชไวศรวณะ พระมหาราชธฤตราษฎร์ พระมหาราชวิรูฒกะ และพระมหาราชวิรูปากษะ ได้ลุกจากอาสนะ พาดผ้าไว้ที่ไหล่ข้างหนึ่ง จัดผ้าอุตตราสงค์ให้เรียบร้อย แล้วคุกเข่าลงบนพื้น ประคองอัญชลีไปในทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้กล่าวสดุดีพระผู้มีพระภาค ด้วยคาถาอย่างเดียวกัน ในที่เฉพาะพระพักตร์ ขณะนั้นว่า
1 สรีระของพระชินเจ้า ดุจพระจันทร์ที่ปราศจากมลทิน รัศมีที่สว่างของพระชินเจ้า ดุจพระอาทิตย์พันดวง พระเนตรของพระชินเจ้า ดุจดอกบัวที่ไร้มลทิน พระนต์ของพระชินเจ้า งามเลิศดุดอกโกมุทที่ปราศจากละอองหิมะ
2 คุณของพระชินะเปรียบได้กับมหาสมุทรที่เป็นบ่อเกิดของรัตนะทั้งหลาย มหาสมุทรของพระชินะเต็มไปด้วยน้ำคือปัญญา
3 ฝ่าพระบาทขอพระชินะวิจิตรด้วยจักรที่มีกำโดยรอบดุจรัศมีจำนวนพัน ฝ่าพระหัตถ์และพระบาทวิจิตรด้วยตาข่ายที่เท้าของพญาหงส์
4 ข้าพระองค์ทั้งหลาย จักนมัสการพระชินพุทธเจ้าผู้เป็นดุจภูเขาหลวง(สุเมรุ) (มีแสงสว่างดุจภูเขาทอง ภูเขาหลวงคือพระชินะที่ปราศจากมลทิน ดุจทองแท่ง ผู้มีคุณทั้งปวงดุจเขาพระสุเมรุ
5 พวกเราทั้งหลายจักนมัสการพระจันทร์คือพระตถาคต ซึ่งเป็นพระจันทร์ในอากาศเหมือนพระจันทร์ในน้ำ พระชินะผู้ไร้มลทินเปรียบได้กับพยับแดดที่เป็นภาพลวงตา
ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับมหาราชทั้ง 4 เป็นคาถาว่า
6 ท่านผู้เป็นท้าวโลกบาล ซึ่งรักษาสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ ขอพระทศพลทั้งหลาย......ชำรุด.....
7 พระสูตรนี้ เป็นรัตนะสูตรที่ลึกซึ้งสามารถให้ความสุขแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ควรให้แพร่หลายไปในชมพูทวีปนี้ตลอดกาลนาน เพื่อประโยชน์สุขแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย
8 สรรพสัตว์ทั้งหลายในตรีสาหัสรมหาสาหัสรโลกธาตุ ผู้มีความทุกข์ในอบาย สามารถระงับความทุกข์ในนรกลงได้
9 พระราชาทั้งปวงที่อยู่ในชมพูทวีปนี้ เป็นผู้ที่มีความริ่นเริงเป็นอันมาก จึงปกครองแว่นแคว้นด้วยธรรม เพื่อให้ชมพูทวีปนี้สุขเกษม
10 เมื่อสรรพสัตว์ในชมพูทวีปมีภิกษาอุดมสมบูรณ์ มีความรื่นเริง มีความสุข แล้วในแคว้นของพระราชาองค์ใดเล่า จะไม่มีความสุขอันเป็นที่รัก ส่วนตนและราชสมบัติอันเป็นที่รัก
11 พระราชานั้น จึงควรฟังราชสูตรนี้ ที่ให้ความเป็นใหญ่และเป็นที่รักเป็นเครื่องทำลายศัตรูได้เป็นอย่างดี สูตเรนทรราชสูตรนี้ จักนำภัยพิบัติมาให้อาณาจักรอื่นเกิดการเปลี่ยนแปลง และเป็นเครื่องสร้างความดีได้เป็นอย่างมาก
12 รัตนพฤกษ์ที่งดงามยิ่ง เป็นบ่อเกิดของคุณทั้งปวง เป็นที่พักอาศัยได้เป็นอย่างดี ยังดำรงอยู่อย่างมั่นคง ฉันใด สูตเรนทรราชสูตรนี้ จะเป็นคุณแก่พระราชาเป็นต้น ฉันนั้น
13 น้ำแข็งที่เย็นคือธรรมะ สามารถขจัดความร้อนได้ ฉันใด สูตเรนทรราชสูตรก็จะให้คุณคือความสุขแก่พระราชาทั้งหลายได้ ฉันนั้น
14 กล่องรัตนะที่ตั้งอยู่ในฝ่ามือ ย่อมให้รัตนะทั้งปวงได้ ฉันใด สุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ ก็เป็นบ่อเกิดแห่งคุณแก่พระราชาทั้งหลายได้ ฉันนั้น
15 สูตรเรนทรสูตรนี้ หมู่เทวดาก็บูชา จอมเทพก็นมัสการ ท้าวโลกบาลทั้ง 4 ผู้มีฤทธิ์มาก ก็ให้การคุ้มครอง
16 พระพุทธเจ้าที่ดำรงอยู่ในทิศทั้ง 10 ได้นำสูตเรนทรสูตรสืบต่อกันมาทุกสมัย เมื่อมีการแสดงพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายจึงให้สาธุการ
17 ยักษ์แสนตน จะทำการคุ้มครองทั้ง 10 ทิศ ฉะนั้น ผู้มีจิตยินดี หรรษา จึงควรฟังสูตเรนทรราชสูตรนี้
18 หมู่เทวดาทั้งหลาย ผู้รักษาความสงบที่พักอาศัยในชมพูทวีป หมุ่เทพเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้มีจิตปราโมทย์ เมื่อได้ฟังพระสูตรนี้
19 เทพเหล่านั้น จะได้รับพลังอำนาจและพลังความเพียร ก็เพราะการได้ฟังธรรมนั้น เทพทั้งหลายจะมีรัศมีมากขึ้น จะทำให้ร่างกายเจริญผ่องใสขึ้น
ได้ยินว่า ครั้งนั้น มหาราชทั้ง 4 เมื่อได้คาถาเห็นปานนี้จากสำนักของพระผู้มีพระภาค ก็ได้พบกับความประหลาด อัศจรรย์ใจ มีอาการฟูขึ้น ได้หลั่งน้ำตาเหมือนกับร้องไห้อยู่ครู่หนึ่ง เพราะ (ความซาบซึ้ง) ในกระแสธรรมนั้น เทพเหล่านั้น มีร่างกายที่ปกติ มีอวัยวะน้อยใหญ่เอิบอิ่ม มีปีติสุขในโสมนัสจนไม่สามารถจะจินตนาการได้ ได้โปรยดอกมณฑารพอันเป็นทิพย์แด่พระผู้มีพระภาค. ครั้นโปรยดอกไม้ไปทั่วแล้วได้ลุกออกจากอาสนะ คลุมผ้าไว้ที่ไหล่ข้างหนึ่ง คุกเข่าขวาลงบนพื้น ประคองอัญชลีไปในทิศที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ แม้พวกข้าพระองค์เป็นมหาราชทั้ง 4 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป พวกข้าพระองค์มหาราชทั้ง 4 แต่ละองค์ ซึ่งมียักษ์ 500 ตนเป็นบริวาร จักติดตามพระภิกษุผู้แสดงธรรมตลอดไป เพื่อคุ้มครองพระภิกษุผู้แสดงธรรมนั้น ด้วยความเคารพ.
ปริเฉท 7 ชื่อจตุรมหาราชปริวรรต ในศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร มีเพียงเท่านี้.
ปริเฉท 8
สรัสวตีเทวีปริวรรต ว่าด้วยพระเทวีสรัสวดี
ครั้งนั้น พระมหาเทวีสรัสวดี ได้พาดผ้ไว้ที่ไหล่ข้างหนึ่ง คุกเข่าขวาลงบนพื้น ประคองอัญชลีไปในทางที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วกราบทูลว่า. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ข้าพระองค์คือมหาเทวีสรัสวดี จะมอบความมีปฏิภาณแก่พระภิกษุผู้แสดงธรรมนั้น เพื่อเป็นเครื่องประดับคำพูด จะมอบบทธารณีให้ จะอบรมภาวะความเป็นนักพูดที่ดีให้ จะให้แสงสว่างคือปัญญาที่เลิศแก่พระภิกษุผู้แสดงธรรมนั้น. บทหรือพยัญชนะใดๆ ที่เคยจำได้แล้วเลือนหายไปจากสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ ข้าพระองค์จะทำให้บทพยัญชนะที่เคยท่องจำทั้งหมดกลับคืนมาแก่พระภิกษุผู้แสดงธรรมนั้น. โดยจะมอบบทธารณีให้ เพื่อดึงความทรงจำกลับคืนมา. เพื่อให้สุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ แพร่หลายไปในชมพูทวีปตลอดกาลนาน เพื่อประโยชน์ของสรรพสัตว์เหล่านั้น ผู้สร้างกุศลไว้กับพระพุทธเจ้าถึง 3,000 องค์ พระสูตรนี้จะไม่อันตรธานไปโดยเร็ว. สัตว์จำนวนมากที่ได้ฟังสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ จะมีปัญญาเฉียบแหลมที่ใครๆ ก็คิดไม่ถึง. สัตว์เหล่านั้นจะได้รับปริมาณปัญญาที่อาจจินตนาการได้ และอายุก็ไม่รู้จักเสื่อมสิ้น. จะได้สมบัติ. จะได้รับการสงเคราะห์และกองบุญที่ดียิ่งจนไม่อาจะนับได้. จะเป็นผู้ฉลาดในศาสตร์ทั้งปวง และเป็นผู้รอบรู้ศิลปะวิธีนานาชนิด.
ข้าพเจ้าจักบรรยาย พิธีสนานกรรม ที่นิยมประกอบกัน ให้แก่พระภิกษุผู้แสดงธรรมนั้น เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายที่ได้ฟังธรรมนั้น. พิธีสนานกรรมนั้น จะทำให้การเบียดเบียนจากดาวเคราะห์ การเกิด ความตาย การเบียดเบียนด้วยการทะเลาะวิวาท การโกรธแค้นกัน การทำร้ายร่างกายกัน การโห่ร้องขับไล่กัน การฝันร้าย การทำลายด้วยยาพิษ และปีศาจที่หลอกหลอนทั้งปวงสงบไป.
บัณฑิตทั้งหลายควรประกอบพิธีสนานกรรมด้วยมนต์โอษธว่า
1 วจา โคโรจน สฺปฺฤกา ศิรีษํ ศฺยาภฺยกํ ศมี.
อินฺทฺรหสฺตา มหาภาคา วฺยามกมคระ ตฺวจมฺ .
2 นีเวษฺฏกํ สรฺชรสํ สิหฺลกํ คุลฺคุลูรสมํ.
ตครํ ปตฺรไศเลยํ จนฺทนํ จ มนะศิลา.
3 สโมจกํ ตุรุษฺกํ จ กุงฺกุมํ มุสฺต สรฺษปาะ.
นรทํ จวฺยํ สูกฺษเมลา อุศีรํ นาคเกศรมฺ.
4 แล้วใช้นักษัตรที่ 8 ขยี้ส่วนที่เท่ากันให้ละเอียดเป็นจุรณ์ ด้วยบทมนต์เหล่านี้ ให้ท่องมนต์ 100 จบว่า
“ตทฺยถา สุกฺฤเต กรชาตภาเค หํสรณฺเฑ อินฺทฺรชาลมลิลเก อุปสเท อวาสิเก กุตฺร กุกลวิมลมติ ศีลมติ สํธิพุทธมติ ศิศิริ สตฺยสฺถิต สฺวาหา.”
5 จงสร้างมณฑลด้วยมูลโค แล้วทำระย้าดอกไม้ ตั้งของหวานในภาชนะทอง ภาชนะเงิน
6 พึงให้บุรุษ 4 คนที่สวมเสื้อเกราะอยู่ประจำในที่นั้น แล้วให้สตรี 4 คนที่มีเครื่องประดับสวยงาม ยืนถือหม้อน้ำ
7 จุดธูปให้หอมอยู่เสมอ พึงประโคมดนตรี 5 ชนิด ประดับเครื่องอลังการองค์พระเทวีด้วยฉัตรและธงปฏัก
8 พึงเตรียมกระจกแหลม ลูกศรและหอกไว้ จากนั้นจึงทำเส้นเขตให้ต่อเนื่องกัน ต่อมาจึงเริ่มพิธีกรรม ขณะที่ทำเส้นเขตให้ต่อเนื่อง ทุกย่างก้าวให้ท่องมนต์บทนี้ว่า
“สฺยาทฺยเถทมฺ. อเน นยเน หิลิ หิลิ คิลิ สฺวิเล สฺวาหา”.
เมื่ออาบน้ำที่ด้านหลังของพระผู้มีพระภาค (พระพุทธรูป) เสร็จแล้วจึงประกอบพิธีสนานศานติ ด้วยมนต์ขับไล่บทนี้ว่า
ตทฺยถา สุคเต วิคเต วิคตาวติ สฺวาหา.
9 เยปฺรสฺถิตา นกษตฺรา อายุ ปาลยนฺตุ จตุรฺทิศ.
นกฺษตฺรชนฺมปีฑา วา ราศิกรฺมภยาวหมฺ.
ธาตุสํกฺโษภสํภูตา ศามฺยนฺตุ ภยทารุณา.
สเม วิษเม สฺวาหา. สุคเต สฺวาหา สาครสํภูตาย สฺวาหา. สฺกนฺธมารุตาย สฺวาหา. นีลกณฺฐาย สฺวาหา. อปราชิตวีรฺยาย สฺวาหา. หิมวตฺสํภูตาย สฺวาหา. อนิมิษ จกฺราย สฺวาหา. นโม ภควตฺไย พฺราหฺมณฺไย มนะ สรสฺวตฺไย เทวฺไย สิธฺยนฺตุ มนฺตฺรปทาสฺตำ พฺรหฺม นมสฺยนฺตุ สฺวาหา”.
ด้วยกรรมวิธีสนานนี้ ข้าพระองค์ พร้อมด้วยหมู่ยักษ์และเทพที่อยู่ในอากาศ จักทำให้โรคในหมู่บ้าน นคร วิหาร หรือสถานที่ทั้งปวงสงบ เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่พระภิกษุผู้แสดงธรรม และเพิ่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังธรรม เขียนธรรมเหล่านั้น. ข้าพระองค์จักทำให้การเบียดเบียนที่เกิดจากดาวเคราะห์ การทะเลาะวิวาท การเบียดเบียนจากฝันร้าย อุปสรรคต่างๆ และปีศาจที่หลอกหลอนทั้งปวง ในสงบระงับ. จะมีการสงเคราะห์แก่พระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาเหล่านั้นผู้ทรงจำสูตเรนทรราชสูตร. พวกเขาพึงได้รับการดับสนิทจากสังสารวัฏ. พวกเขาจะไม่ห่างไกลจากอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ประทานสาธุการแก่พระมหาเทวีสรัสวดีว่า สาธุ สาธุ มหาเทวีสรัสวดี ที่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชน ท่านได้บอกวิธีประกอบมนต์ที่เป็นโอสถเหล่านี้. ครั้นแล้ว พระมหาเทวีสรัสวดี ได้อภิวาทที่พระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคแล้วนั่งที่มุมข้างหนึ่ง.
ครั้งนั้น มหาพราหมณ์เกาฑิณยะ ที่ได้รับการพยากรณ์จากพระบรมครู ได้กล่าวกับพระมหาเทวีสรัสวดีนั้นว่า
10 พระมหาเทวีสรัสวดี มีตบะมาก มีคุณมาก ควรแก่การบูชา เป็นผู้ให้พรที่ลือนามในโลกทั้งปวง
11 พระมหาเทวีผู้มีความงาม ครองผ้าที่ทำด้วยหญ้ายัชญา อาศัยอยู่บนยอดภูเขา ครองผ้าที่งดงาม ประทับยืนด้วยเท้าข้างเดียว
12 เทพทั้งปวงได้มหาพระเทวีพร้อมกันแล้วกล่าวว่า นี้คือสูตรพจน์ ขอให้ปลายลิ้นของสัตว์ทั้งหลาย จงกล่าวคำอันเป็นมงคลว่า
“สฺยาทฺยเถทมฺ. สุเร วิเร อรเช หิ คุเล ปิงฺคเล ปิงฺคเล ติมุเข.มรีจิสุมติ ทิศมติ อคฺรามคฺรีตลวิตเล จ วฑิวิจรี มริณิปาณเย โลกชฺยษฺฐเก ปฺริยสิทฺธิวฺรเต ภีมมุขศจิวรี อปฺรติหเต อปฺรติหตพุทฺธิ นมุจิ นมุจิ มหาเทวิ ปฺรติ คฤหฺณนมสฺการ. สฺรวสตฺวานำ พุทฺธิรปฺรติหตา ภวตุ วิทฺยา เม สิทฺธฺยตุ ศาสฺตฺรโลกตนฺตฺรปิฎกกาวฺยาทิษุ. ตทฺยถา มหาปฺรภาเว หิลิ หิลิ มิลิ มิลิ. วิจรตุ มม.วิจรตุ เม มายา. สรฺวสติวานำ จ ภควตฺยา เทวฺยาะ สรสฺวตฺยา อนุภาเวน กทรเก ยุวติ หิลิ มิลิ อาวาหยามิ มหาเทวิ พุทฺธสตฺเยน ธรฺมสตฺเยน สํฆสตฺเยน อินฺทฺรสตฺเยน วรุณสตฺเยน เย โลเก สตฺวาทินะ สนฺติ. เตน เตษำ สตฺยาวเจน อาวาหยามิ มหาเทวิ. หิลิ หิลิ มิลิ วิจรนฺติ มม มนฺตฺริโน มายา สรฺวสตฺตฺวานามฺ. มโน ภควตฺโย สรสฺวตฺไย สิทฺธฺยนฺตุ มนฺตรปทาะ สฺวาหา”.
ครั้งนั้น มหาพราหมณ์เกาฑิณยะผู้ได้รับการพยากรณ์จากพระบรมครู ได้กล่าวกับพระมหาเทวีสรัสวดี เป็นคาถาเหล่านี้ว่า
13 หมู่ภูตทั้งหลาย จงฟังข้าพเจ้าเถิด ข้าพเจ้าได้ยกย่องพระเทวีผู้มีพระพักตร์อันงดงาม ผู้ประเสริฐที่สุดว่าบรรดาหญิงทั้งหลาย รวมทั้งโลกของเทพ คนธรรพ์ และจอมเทพ พระเทวีเป็นผู้ประเสริฐที่สุด
14 พระเทวีมีพระวรกายประดับด้วยเครื่องอลังการอันวิจิตรนานาชนิด มีพระเนตรกว้าง จึงมีนามว่า สรัสวดี เป็นผู้เบิกบานด้วยบุญ มากด้วยปัญญาคุณเป็นผู้ที่น่ามอง เพราะเลิศด้วยความวิจิตรนานาชนิด
15 ข้าพเจ้าได้สดุดีพระเทวีองค์นี้ ผู้มีวจีที่เป็นคุณประเสริฐ ผู้ประทานความสำเร็จที่เป็นเลิศ ผู้เป็นบ่อเกิดของคุณที่ประเสริฐ ผู้มีพระทัยเบิกบานสูงสุดเพราะเป็นผู้ปราศจากมลทิน
16 ผู้มีจักษุที่งดงาม เป็นนัยนาที่ประเสริฐสุด ผู้มีที่ประทับอันงดงาม ผู้มีสถานที่บรรยายอันสวยงาม ผู้ประดับด้วยคุณที่ไม่อาจพรรณนาได้ ผู้มีรัศมีที่ปราศจากมลทิน เปรียบได้กับดวงจันทร์
17 ผู้เป็นบ่อเกิดของปัญญา ผู้มีความจำเป็นเลิศ เป็นดุจสิงหะที่ประเสริฐ เป็นพาหนะที่ขนส่งมวลชน ผู้มีพระพาหาประดับด้วยรัตนะมณี เป็นผู้ที่น่ามองดุจพระจันทร์เพ็ญ
18 ผู้มีวาจาที่ไพเราะ มีสำเนียงที่อ่อนหวาน ประกอบด้วยปัญญาที่ลึกซึ้ง ผู้ประทานความสำเร็จทางการงานที่เป็นเลิศ ผู้เป็นที่วันทาและเป็นที่บูชาของเทวดาและอสูรทั้งหลาย ผู้มีที่ประทับอันหมู่เทพและอสูรทั้งหลายวันทาแล้วแม้หมู่ภูตทั้งหลายก็บูชาอยู่เสมอว่า “นมะ สฺวาหา”
73
19 ข้าแต่พระเทวี ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน ขอให้พระนางจงประทานกองคุณให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด ขอจงประทานความสำเร็จที่ประเสริฐในการงานทุกอย่างให้แก่สัตว์ทั้งปวงด้วย ขอจงคุ้มครองข้าพเจ้าและสัตว์ทั้งปวงในท่ามกลางศัตรู อย่างต่อเนื่อง
20 ชนผู้มีความเพียร พึงเตรียมให้พร้อมทุกอย่าง แล้วพึงอ่านคำที่มีอักษรสำเร็จสมบูรณ์แล้วเหล่านี้ ก็จะได้รับทรัพย์และธัญญาผลทั้งหลาย ในการอภิปรายทุกอย่าง จะประสบความสำเร็จและความสุขเป็นอย่างมาก
ปริเฉท 8 ชื่อว่าสรัสวดีปริวรรต ในศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร มีเพียงเท่านี้
ปริเฉท 9
ศรีมหาเทวีปริวรรต ว่าด้วยพระศรีมหาเทวี
ครั้งนั้น พระศรีมหาเทวี ไดทำความนอบน้อมพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลว่า. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ข้าพระองค์คือศรีมหาเทวีภควตี จักเอาใจใส่พระภิกษุผู้แสดงธรรมนั้น ด้วยการบริการจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่ง คิลานเภสัช และอุปกรณ์อื่นๆ พระภิกษุผู้แสดงธรรมนั้น จะอุดมสมบูรณ์ด้วยอุปกรณ์ทุกอย่าง และจักได้รับตลอดไป จักเป็นผู้มีจิตที่ตั้งมั่น เป็นผู้มีจิตที่สุขสบาย จักให้ประชาชนนอบน้อมทั้งกลางวันและกลางคืน ถัดจากนั้นก็จักให้ประชาชนนอบน้อมบทและพยัญชนะต่างๆ จากสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร จักให้พิจารณาอย่างแจ่มแจ้ง โดยประการที่สุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ จักแพร่หลายไปในชมพูทวีปตลอดกาลนานเพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ผู้สร้างกุศลมูลไว้กับพระพุทธเจ้าถึง1,000พระองค์ และพระสูตรนี้ก็จักไม่อันตรธานไปโดยเร็ว สัตว์ทั้งหลายที่ยังดำรงอยู่ จึงควรได้ฟังสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร. จะได้เสวยสุขที่เป็นของมนุษยทิพย์ ที่ไม่อาจจินตนาการได้ ตลอดหลายโกฏิหมื่นแสนกัลป์ การขาดแคลนภิกษาหารจะไม่มี ตรงกันข้าม ภิกษาหารจะเกิดขึ้นอย่างอุดมสมบูรณ์ สัตว์ทั้งหลายก็จะมีความสุข โดยดำรงอยู่ในความสุขของมนุษย์จะเจ้าถึงภาวะที่น้อมลงสู่ความเป็นพระตถาคต ในอนาคตกลา จะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และจะตัดขาดจากแดนนรก กำเนิดเดรัจฉาน และความทุกข์ในยมโลก
ข้าพเจ้าศรีมหาเทวี ได้สร้างกุศลมูลไว้กับพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านามว่า รัตนกุสุมคุณสาครไวฑูรยกนกคิริสุวรรณกาญจนประภาสศรี ขณะนี้ พระองค์ได้พิจารณาสรรพสัตว์ในทิศที่พระองค์ประทับอยุ่ สรรพสัตว์หลายโกฏิหมื่นแสนคนที่ได้เห็นพระองค์ที่เสด็จไปในทิศนั้นๆ ได้มีความสุข ได้ตั้งมั่นในความสุขทั้งปวง จักได้รัรบความสุขที่ไม่เปลี่ยนแปลง สัตว์ทั้งหลายจักมีข้าว น้ำ ทรัพย์ ธัญญาหาร และอุปกรณ์ทั้งหลาย มีหรัณยะ สุวรรณ มณี มุกดา ไพฑูรย์ สังข์ ศิลา ประพาฬ ทอง และเงินเป็นต้น จักเป็นผู้มีอุปกรณ์ทุกอย่างสมบูรณ์ เพราะอำนาจบันดาลของพระศรีมหาเทวี ฉะนั้น บุคคลควรทำการบูชาองค์พระตถาคตนั้น ควรถวายของหอม ดอกไม้ ธูป และประทีปทั้งหลาย ผู้ใดเอ่ยนามพระศรีมหาเทวีถึง 3 ครั้ง และพึงถวายของหอม ดอกไม้ ธูป ประทีป แก่พระนาง ความสมบูรณ์แห่งอาหารรสดีจะหลั่งไหลมา กองทรัพย์ของผู้นั้น ก็จะเพิ่มพูนขึ้น เพียงแต่เขากล่าวคำนี้ในที่นั้นๆ ว่า
1 “วิวรฺธต ธรณี รโส ธรณฺยา ปฺรหรฺษิตา.
โภนฺติ จ เทวตา สทา ผลศสฺยจิโตปมมฺ.
วฺฤกฺษเทวตา โรหนฺติ ศสฺยานิ สุจิตฺรภาวาะ”.
สรรพสัตว์เหล่าใดที่เอ่ยนามสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ พระศรีมหาเทวีจักคุ้มครองสัตว์เหล่านั้น จะส่งเสริมให้พวกเขามีศรีมากขึ้น
พระศรีมหาเทวีประทับอยู่ในปุณยกุสุมประภาวโนทยาน มีนามว่า สุวรรณธวชะที่ประดับด้วยรัตนะทั้ง 7 ในอลกาวดีราชธานี บุรุษใดประสงค์จะให้กองธัญพิชเจริญงอกงาม ควรชำระบ้านเรือนของตนให้สะอาด ควรครองผ้าขาวที่สะอาดและครองเสื้อผ้าที่มีกลิ่นหอม พึงทำความนอบน้อมพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พึงเอ่ยนามพระรัตนกุสุมคุณสาครไวฑูรย์ยกนกคิริสุวรรณกาญจนประภาสศรี ตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสัก 3 ครั้ง เพราะการได้รับความช่วยเหลือจากพระศรีมหาเทวี เขาต้องทำการบูชาพระตถาคตนั้น. ด้วยการถวายดอกไม้ ธูปและของหอม พึงนำอาหารรสดีต่างๆมาถวาย ด้วยอานุภาพของสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ ณ เวลานั้น พระศรีมหาเทวีก็จะคุ้มครองเรือนของเขา จักทำให้ธัญญาหารของเขาเพิ่มขึ้นจำนวนมาก
ผู้ประสงค์จะให้พระศรีมหาเทวีช่วยเหลือ พึงท่องจำวิทยามนต์เหล่านี้ว่า
“ตทฺยถา. นมธ สรฺวพุทฺธานามตีตานาคตปฺรตฺยุปนฺนามฺ นมะสรฺวพุทฺโธธิสตฺตฺวานมฺ. มโม ไม่เตรยปฺรภฺฤตีนำ โพธิสตฺตฺวานามฺ เตษำ นมสฺกฺฤตฺย วิทยำ ปฺรโยชยามิ. อิยำ เม วิทฺยาสมฺฤธฺยตุ. สฺยาทฺยเถทมฺ.ปฺรติปูรฺณวเร สมนฺตคเต. มหาการฺยปฺรติปฺราปเณ สตฺตฺวารฺถสมตานุปฺรปุเร.อายานธรฺมิตา มหาภาคิน มหาเตโชปมํ หิเต. ฤษิสัคฺฤหีเต. สมยานุปาลเน”
มนต์เหล่านี้เป็นกฎของการมูรธาภิเษก มนต์ทั้งหลาย แม้คำหนึ่งก็ไม่ควรท่องผิด บุรุษนั้น ได้สร้างกุศลมูลไว้ด้วยความตั้งใจ ขณะที่ครองผ้าอยู่(นักบวช) ได้อาศัยในที่ 5 แห่ง จนปีที่ 7 จึงเข้าถึงมรรคมีองค์ 8 ณ เวลาประถมภาค. กาลต่อมา ได้ทำการบูชาพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทั้งปวง ด้วยดอกไม้ ธูป และของหอม เพื่อทำให้สรรพสัตว์ของตนได้สมบูรณ์ด้วยพระสัพพัญญุตาญาณ ด้วยการบูชานี้ ขอให้ความตั้งใจทั้งหมดของข้าพเจ้า จงสำเร็จ. ขอให้สำเร็จโดยพลัน ส่วนที่ประทับนั้น เขาได้ชำระร่างกายแล้ว ได้สร้างที่อยู่หรือที่พักในป่า ให้เป็นมณฑล ด้วยมูลโค แล้วถวายของหอม ดอกไม้ ธูป. เมื่อรู้ว่าได้ชำระอาสนะเรียบร้อยแล้ว ดอกไม้ก็ได้โปรยลง เมื่อเขาเข้านั่ง ต่อมา พระศรีมหาเทวี ได้เข้าไปหา และยืนอยู่ ณ ที่นั้น. แล้วได้เข้าไปสู่เรียน หมู่บ้าน เมือง นิคม วิหาร และที่พักในป่า เพื่อห้ามมิให้ผู้ใดทำความสกปรก สรรพสัตว์ทั้งหลาย จักมีความสุขด้วยเงิน ทอง รัตนะหรือวัตถุทั้งหลายที่ผลิตจากอุปกรณ์ทั้งปวง มีธัญพืช เป็นต้น ด้วยความตั้งมั่นในความสุขทั้งปวง พวกเขาได้สร้างกุศลไว้ เพราะเหตุนั้น พระศรีมหาเทวีจึงส่งความสุขทุกอย่างไปให้ตราบเท่าที่พวกเขายังดำรงชีพอยู่ และยังไม่เสื่อมคลายในภพนั้นๆ. พระมหาเทวีจักทำความตั้งใจของสัตว์เหล่านั้นให้สำเร็จ.
ปริเฉท 9 ชื่อศรีมหาเทวีปริวรรต ใน ศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร มีเพียงเท่านี้
ปริเฉท 10
สรวพุทธโพธิสัตตวนามสันธารณิปริวรรต
ว่าด้วยการยึดถือนามของพระสรวพุทธโพธิสัตว์
โอม
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระผู้มีพระภาครัตนะศิขินตถาคต
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระสุวรรณรัตนากรัจฉัตรกูฎตถาคต.
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระสุวรรณปุษปชวลรัศมีเกตุตถาคต
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระมหาประทีปตถาคต
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรุจิเกตุโพธิสัตว์
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระสุวรรณประภาโสตตมโพธิสัตว์
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระสุวรรณคันธโพธิสัตว์
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระสทาประรุทิตโพธิสัตว์
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระพระธรรโมคตโพธิสตว์
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระอักโษภยตถาคต ในทิศบูรพา
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระรัตนเกตุตถาคต ในทิศทักษิณ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระอมิตายุตถาคต ในทิศปัจฉิม
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระทุนทุภิสวรตถาคต ในทิศอุดร
สัตว์เหล่าใด ท่องจำชื่อพระโพธิสัตว์เหล่านี้ ในศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย จะทำให้ชนเหล่านั้น ระลึกชาติกำเนิดได้อยู่เป็นนิตย์
ปริเฉท 10 ชื่อว่า โพธิสัตว์นามสันธารณีปริวรรต ในศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร มีเพียงเท่านี้
ปริเฉท 11
ทฤฒาปฤถิวีเทวตาปริวรรต ว่าด้วยเทวดาผู้ใหญ่ในแผ่นดิน
ได้ยินว่า ทฤฒาปฤถิวีเทวดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ทั้งปัจจุบันและอนาคต ข้าพระองค์จักเข้าไปสู่หมู่บ้าน เมือง นิคม ชนบท ภูมิประเทศที่เป็นป่า ซอกเขา แม้พระราชวังที่มีศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรอยู่ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคทุกภูมิประเทศที่มีการเผยแพร่ศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ โดยพิสดาร ข้าพระองค์จักจัดธรรมาสน์ให้พระภิกษุผู้แสดงธรรมนั้นนั่งเพื่อให้กายตรง เพื่อให้พระภิกษุผู้แสดงธรรมที่นั่งบนธรรมาสน์ ได้ประกาศสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้โดยพิสดาร ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ณ ที่นั้นข้าพระองค์ทฤฒาปฤถิวีเทวดา จะมาประจำอยู่ทุกภูมิประเทศ. ข้าพระองค์มีอัตภาพที่ใครๆ มองไม่เห็น เมื่อไปถึงธีรรมาสน์นั้นแล้ว จักใช้ศีรษะเทินฝ่าเท้าทั้งสองของพระภิกษุผู้แสดงธรรมนั้นไว้ ข้าพระองค์จะทำให้ตนเองได้เอิบอิ่มกับการได้ฟังอมตรสของพระธรรมนั้นด้วย ข้าพระองค์จักได้เคารพบูชาด้วย ครั้นนับถือ รื่นเริง ทำตนให้เอิบอิ่มแล้ว ข้าพระองค์จักได้กลับคืนสู่พื้นดินที่นุ่มตลอดจนถึงแข็งที่สุด ตลอด 68 พันโยชน์ ได้อยู่ภายในพื้นดินนั้น ได้เจริญด้วยรสของดิน ได้เคารพนับถือบูชาอมตรสของพระสัทธรรม ก็เพราะได้ฟังธรรมนี้ ข้าพระองค์จักเข้าไปสู่ภาคพื้นดินทั้งที่อยู่บนสุดและภายใต้มหาสมุทร จักทำให้มณฑลของพื้นดินเอิบอาบด้วยรสดินที่อ่อนนุ่ม ข้าพระองค์จักทำให้แผ่นดินใหญ่นี้รุ่งเรืองขึ้นกว่าเดิม ในชมพูทวีปนี้ จะมีความสมบูรณ์เกิดขึ้นแก่หญ้า พุ่มไม้ สมุนไพร และต้นไม้ทั่วไปนานาชนิด อุทยาน ป่า ต้นไม้ และธัญญาพืชทั้งปวง ซึ่งมีชนิดต่างๆ ก็จักอุดมสมบูรณ์ ธัญพืชเหล่านั้น จักมีกลิ่นหอมยิ่งขึ้นมีเนื้อนุ่มยิ่งขึ้น มีรสอร่อยยิ่งขึ้น มีรูปสวยยิ่งขึ้น และมีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้น สัตว์เหล่านั้น ครั้นได้บริโภคน้ำและอาหารชนิดต่างๆ เหล่านั้น จักทำให้อายุ กำลังผิวพรรณ และอินทรีย์ เจริญผ่องในยิ่งขึ้น สัตว์เหล่านั้น ซึ่งเป็นผู้สมบูรณ์ด้วย เดช กำลัง ผิวพรรณ รูป จักทำงาน จักขยัน จักต่อสู้กับงานต่างๆ หลายแสนชนิดที่มีอยู่บนพื้นดิน จักทำงานที่ใช้กำลังให้สำเร็จได้.
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ด้วยเหตุนี้ ชาวชมพูทวีปทั้งหมดจักมีความสุขเกษม จักมีภิกษาหารสมบูรณ์อย่างกว้างขวาง มีฐานะร่ำรวย เป็นผู้รื่นรมย์ จะมีมนุษย์หมู่มากเคลื่อนย้ายไปอยู่อาศัย สัตว์ในชมพูทวีปทั้งหมดจักมีความสุข จักได้รับสิ่งที่ยินดีอันวิจิตรชนิดต่างๆ สัตว์เหล่านั้นจักสมบูรณ์ด้วยเดช กำลัง ผิวพรรณและรูปร่าง สัตว์เหล่านั้นจักไปสู่สำนักของพระภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาเหล่านั้น ผู้ทรงจำสูตเรนทรสูต ซึ่งอยู่บนธรรมาสน์เพื่อประโยชน์แก่สุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ ครั้นเข้าไปหาแล้วสัตว์เหล่านั้น ผู้มีจิตเลื่อมใส จักขอร้องให้ผู้แสดงธรรม แสดงสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ ตามความต้องการ เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ ข้าพระองค์ทฤฒาปฤถวีเทวดา จักมีความรุ่งเรืองมากกว่าบริวาร ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ เพราะเหตุนั้น กายของข้าพระองค์จึงเกิดมีกำลัง มีความเพียรและมีอำนาจมาก. เดช ศรี และลักษมีจึงแย่งมาสู่ร่างกายของข้าพระองค์ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ ทฤฒาปฤถิวีเทวดาเอิบอิ่มด้วยมอตรสแห่งพระธรรมนี้ ก็จะได้รับเดช กำลัง ความเพียร อำนาจ และคติศักดิ์จำนวนมาก ทำให้ชมพูทวีปอันเป็นแผ่นดินใหญ่นี้ เจริญด้วยปถวีรสมากมายใน 7,000 โยชน์ จึงเป็นแผ่นดินใหญ่ที่รุ่งเรืองมาก ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ สรรพสัตว์เหล่านี้ที่อาศัยอยู่ปฤพี จะมีความสุขเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลสัตว์เหล่านั้นก็จักมีเพิ่มมากขึ้น เมื่อสรรพสัตว์ที่อยู่บนภาคพื้นมีมากขึ้นก็จะมีความสุขด้วยการใช้เครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ เมื่อสรรพสัตว์ที่อยู่บนภาคพื้นเหล่านั้น มีความสุขด้วยการใช้อุปกรณ์ชนิดต่างๆ เห็นปานนี้ มีข้าว น้ำ โภชนะ ผ้า ที่นอน ที่นั่ง ที่อยู่อาศัย ราชวัง อุทยาน แม่น้ำ สระใหญ่ สระเล็ก และถังน้ำเป็นต้น จะใช้สอยสิ่งที่มีอยู่บนพื้นดินนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เพราะเหตุนั้น สรรพสัตว์จึงควรตอบแทนคุณแก่ข้าพระองค์ จึงสมควรที่สัตว์ทั้งหลายจะสดุดี ฟัง สักการะ เคารพ นับถือ และบูชาสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ สรรพสัตว์ครวออกจากพระราชวัง บ้านเรือนเพื่อเข้าไปหาพระภิกษุผู้แสดงธรรมเหล่านั้น ครั้นเข้าไปหาแล้ว ก็ควรจะได้ฟังสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ ครั้นได้ฟังแล้ว สัตว์เหล่านั้นก็ควรเข้าไปสู่เรือน หมู่บ้าน เมือง นิคม ที่เป็นสายสกุลต่างๆ ของแต่ละท่านเมื่อไปถึงเรือนของตนแล้ว ก็ควรขอกต่อๆกันไปอย่างนี้ว่า วันนี้ พวกเราได้ฟังธรรมอันลึกซึ้งแล้ว วันนี้พวกเราได้รับกองบุญจำนวนมาก สัตว์นรกทั้งหลาย ได้รับอิสระก็เพราะได้ฟังธรรมนี้ วันนี้ พวกเราได้รอดพ้นจากกำเนิดเดรัจฉาน ยมโลก และวิษัยของเปรต ในอนาคตกาล พวกเราจักถือกำเนิดของเทพและมนุษย์ไปอีกหลายพันชาติ เพราะได้ฟังธรรมนี้ เพราะฉะนั้นสัตว์ทั้งหลาย เมื่อไปถึงเรือนต่างๆ พึงบอกกล่าว อย่างน้อยที่สุดเพียงหนึ่งตัวอย่าง จากสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ แก่สัตว์เหล่านั้น หรืออย่างน้อยที่สุดเพียงหนึ่งปริเฉท หรืออย่างน้อยที่สุดเพียงประโยคแรกหนึ่งประโยค หรืออย่างน้อยที่สุดหนึ่งคาถาซี่งมี 4 บาท หรืออย่างน้อยที่สุดแม้เพียงหนึ่งบท ควรให้สัตว์เหล่านั้นได้ฟังจากสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร หรืออย่างน้อยที่สุดให้สัตว์เหล่าอื่นได้ฟัง แม้เพียงชื่อของสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร.
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ เมื่อสัตว์เหล่านั้นได้บอกเหตุต่างๆ ที่มีอยู่ภายในสูตรเห็นปานนี้ และให้ฟังต่อๆ กันไปในตำบลต่างๆ ทั่วพื้นดิน ถ้าทำได้อย่างนี้อย่างต่อเนื่อง ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ทุกตำบลที่มีอยู่ในภาคพื้นก็จะรุ่งเรืองยิ่งขึ้น จะเป็นที่น่ารักยิ่งขึ้น ปถวีรสชนิดต่างๆ อันเป็นอุปกรณ์ทุกอย่าง จักอุบัติขึ้น จักเพิ่มพูนขึ้นในทุกตำบลของสัตว์เหล่านั้น ปถวีรสมีอย่างกว้างขวาง สรรพสัตว์เหล่านั้น จักมีทรัพย์มาก มีโภคะมาก จักน้อมเอียงไปในการให้ทาน และจักเป็นผู้เลื่อมใสในพระรัรตนตรัย
ครั้นทฤฒาปฤถิวีเทวดาได้กราบทูลอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับทฤฒาปฤถิวีเทวดาว่า ดูก่อนปถวีเทวดา สัตว์บางจำพวก ได้ฟังสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ แม้เพียงบทเดียว เมื่อพวกเขาได้ละจากมนุษย์โลกนี้แล้ว ก็จักบังเกิดในหมู่เทพหนึ่งในบรรดาหมู่เทพทั้งหลายชั้นไตรตรึงษ์ ดูก่อนปถวีเทวดา สัตว์บางจำพวกได้ประดับสถานที่ เพื่อประโยชน์แก่สุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ อย่างน้อยฉัตรคันหนึ่ง หรือผ้าผืนหนึ่ง เทวสถานของพวกเขาจะได้รับการประดับอย่างดี วิมานทิพย์ประดับด้วยรัตนะ 7 ในหมู่เทพชั้นกามาวจร 7 เหล่านั้น จะประดับด้วยเครื่องอลังการทั้งปวง รอสัตว์เหล่านั้นที่ละจากมนุษย์โลกนี้แล้ว จักไปบังเกิดในวิมานทิพย์ที่ประดับด้วยรัตนะเหล่านั้น ดูก่อนปถวีเทวดา สัตว์เหล่านั้นแต่ละคน มิใช่ไปบังเกิดในวิมานทิพย์ที่ประดับด้วยรัตนะเพียง 7 เท่านั้น พวกเขาจักได้เสวยทิพยสุขตลอดกาลนานด้วย
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ทฤฒาปฤถิวีเทวดา จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญข้าพระองค์ทฤฒาปฤถิวีเทวดา จะอยู่ทุกตำบลในแผ่นดินที่พระภิกษุผู้แสดงธรรมนั้นนั่งบนธรรมาสน์ ข้าพระองค์มีอัตภาพที่ใครๆมองไม่เห็น จะใช้ศีรษะเทินฝ่าเท้าทั้งอสงของพระภิกษุผู้แสดงธรรมนั้น จนกว่าสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ จักแพร่หลายในชมพูทวีปตลอดจีรังกาล เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ที่ได้สร้างกุศลมูลไว้กับพระพุทธเจ้าถึง 1,000 พระองค์ และพระสูตรนี้จะไม่อันตรธานไปโดยเร็ว สัตว์ทั้งหลายก็จะได้ฟังสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ ในอนาคตกาลสัตว์เหล่านั้น จักได้เสวยความสุขอย่างยิ่ง ที่เป็นมนุษย์ทิพย์ตลอดหลายโกฏิหมื่นแสนกัลป์ และจะโน้มเอียงไปสู่ความเป็นพระตถาคต และจักตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในอนาคต จะตัดขาดจากความทุกข์ในนรก กำเนิดเดรัจฉาน และยมโลกได้อย่างสิ้นเชิง
ปริเฉท 11 ชือทฤฒาปฤถิวีเทวดาปริวรรต ในศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร มีเพียงเท่านี้
ปริเฉท 12
สัญชเญยมหายักษเสนาปริวรรต
ว่าด้วยมหาเสนาบดียักษ์ชื่อสัญชเญยะ
ได้ยินว่า ครั้งนั้น มหายักษ์เสนาบดีนามว่า สัยชเญยะ พร้อมด้วยเสนาบดียักษ์อีก 28 ตน ได้ลุกจากที่นั่ง จัดผ้าพาดที่ไหล่ข้างหนึ่ง คุกเข่าขวาลงที่พื้นดิน ประคองอัญชลีไปยังทิศที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ แล้วกราบทูลกับพระผู้มีพระภาคว่า. ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญทั้งในกาลปัจจุบันและอนาคต เมื่อสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ ได้แพร่หลายเข้าไปสู่หมู่บ้าน เมือง นิคม ชนบท ตำบล ที่อยู่ในป่า ซอกเขา ราชวัง แม้กระทั่งบ้านเรือนใดๆ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ข้าพระองค์มหายักษ์เสนาบดีสัญชเญยะ พร้อมด้วยมหายักษ์เสนาบดีอีก 28 ตน จักเข้าไปสู่หมู่บ้าน เมือง นิคม ชนบท ป่า ซอกเขา และราชวังนั้นๆ ข้าพระองค์มีอัตภาพที่ที่ใครๆ มองไม่เห็น จะทำการอารักขาพระภิกษุผู้แสดงธรรมนั้น ข้าพระองค์จักคุ้มครอง ป้องกัน รักษา จักกระทำที่พักอาศัยให้สงบสุขด้วยการใช้อาชญาและอาวุธ จเป็นสตรี บุรุษ เด็กชาย เด็กหญิงก็ตาม ถ้าได้ฟังสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ เพียงคาถาหนึ่งซึ่งมี 4 บาท หรือเพียงบทหนึ่ง หรือได้ฟังแม้เพียงชื่อของพระโพธิสัตว์จากสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ ข้าพระองค์ก็จักคุ้มครองรักษาชนเหล่านั้นทุกคน ข้าพระองค์จักทำการคุ้มครอง ป้องกัน รักษาที่พักอาศัยให้สงบสุข ด้วยการใช้อาชญาและอาวุธ. ข้าพระองค์จักให้การอารักขาแก่สกุล บ้าน เมือง หมู่บ้าน นิคม ป่าและราชวังเหล่านั้นทั้งหมด ข้าพระองค์จะทำการคุ้มครอง ป้องกัน รักษาที่พักอาศัยให้สงบด้วยการใช้อาชญาและอาวุธ
เหตุใดจึงเป็นอย่างนั้น เพราะข้าพระองคืรู้และเข้าใจธรรมทั้งปวง เท่านที่ธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ ข้าพระองค์เข้าใจธรรมทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้เห็นประจักษ์ในธรรมทั้งปวง ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ แสงสว่างแห่งความรู้ของข้าพระองค์ สุดที่จะคิดประมาณได้ แสงสว่างแห่งความรู้ของข้าพระองค์ สุดที่จะจินตนาการได้ ความรู้ที่กว้างขวางไม่สามารถจะประมาณได้ มวลความรู้มีมากมายมหาศาลยิ่งนัก ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ วิษัยความรู้ในธรรมทั้งปวงของข้าพระองค์ที่ไม่สามารถจินตนาการได้ยิงมีอีกมาก ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ เมื่อข้าพระองค์ได้รู้ธรรมทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง ข้าพระองค์จึงได้เห็นธรรมอย่างแจ่มแจ้ง เข้าใจธรรมอย่างลึกซึ้ง ได้เห็นอย่างประจักษ์และเข้าใจแจ่มแจ้ง ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ เพราะเหตุนั้น นามว่า สัญชเญยะ จึงบังเกิดแก่ข้าพระองค์ว่าสัญชเญยะมหายักษ์เสนาบดี.
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์จักมอบไหวพริบปฏิภาณ ให้แก่พระภิกษุผู้แสดงธรรม เพื่อประโยชน์ในการตกแต่งคำพูด ข้าพระองค์จักปล่อยแสงสว่งให้แก่พระภิกษุนั้นทางช่องขุมขน ข้าพระองค์จะทำให้ร่างกายของพระภิกษุนั้นเกิดอำนาจพลังความเพียรอย่างมหันต์ ข้าพระองค์จักมอบแสงสว่างแห่งความรู้ให้แก่เขาอย่างหาที่สุดมิได้ ข้าพระองค์จะบันดาลให้เขาเกิดความทรงจำ และจักบันดาลพลังความอุตสาหะเป้นอย่างมากให้แก่พระภิกษุผู้แสดงธรรมที่อ่อนเพลีย เขาจะมีกายและอินทรีย์ที่มีความสุข จะเป็นผู้ร่าเริง ครั้งแล้ว สุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ จักแพร่หลายไปในชมพูทวีปตลอดกาลนาน เพื่อประโยชน์ของสรรพสัตว์ ผู้สร้างกุศลมูลไว้กับพระพุทธเจ้าถึง1,000พระองค์ และจะไม่อันตรธานไปโดยเร็ว ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลาย จึงควรฟังสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรนี้ จะได้มีปัญญาหาที่สุดมิได้ จะเป็นผู้มีปัญญา จะได้รับกองบุญที่ไม่อาจคำนวณได้ ในอนาคต สัตว์เหล่านั้นจะได้เสวยสุขจำนวนมาก จนไม่อาจนับได้ ที่เป็นของมนุษย์ทิพย์ ตลอหลายโกฏิหมื่นแสนกัลป์ พวกเขาจะหยั่งลงสู่ความเป็นพระตถาคต และจะบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในอนาคต พวกเขาจะตัดขาดจากความทุกข์ในนรก กำเนิดเดรัจฉาน และยมโลกโดยสิ้นเชิง
ปริเฉท 12 ชื่อว่า สัญชเญยะมหายักษ์เสนาบดีปริวรรต ในศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร มีเพียงเท่านี้
ปริเฉท 13
เทเวนทรสมยราชศาสตรปริวรรต
ว่าด้วยราชธรรมนูญโองการของมหาเทพ
ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระผู้มีพระภาคตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น ผู้มีนามว่า รัตนกุสุมคุณสารโพฑูรยกนกคิริสุวรรณกาญจนประภาสศรี ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระศากยมุนีตถาคต ผู้มีสรีระประดับด้วยคุณจำนวนมากมายหลายโกฏิหมื่นแสน ผู้มีเปลวไฟคือธรรมที่โชติช่วงขอความนอบน้อมจงมีแด่พระศรีมหาเทวี ผู้ถึงพร้อมด้วยธัญพืชอันเป็นมงคลคือบุญที่ไม่สามารถจะนับจำนวนได้ ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระสรัสวดีเทวีผู้เป็นบ่อเกิดแห่งปัญญาคุณที่ไม่สามารถจะคำนวณนับได้
ได้ยินว่า ณ กาลสมัยครั้งนั้น พระราชาพลทเกตุ ได้ตรัสกับราชบุตรรุจิรเกตุ ผู้จะได้รับการอภิเษกให้ครองราชสมบัติ ในอีกไม่นานนักว่า นี่แนะลูก ยังมีราชธรรมนูญอย่างหนึ่งชื่อว่า เทเวนทรสมยะ ในอดีตกาลนานมาแล้วเมื่อพ่อได้รับการอภิเษกให้ครองราชสมบัติ ก็ได้เรียนรู้สืบต่อกันมาจากพระเจ้าพเลนทรเกตุ ผู้เป็นบิดา พ่อได้ครองราชสมบัติด้วยราชธรรมนูญชื่อเทเวนทรสมยะนั้นมา 20,000ปี พร้อมไม่ได้คำนึงถึงอดีตของสรรพสัตว์ทีไม่ได้ตั้งอยู่ในธรรม แม้แต่คิดเพียงขณะจิตหนึ่ง ในเรื่องนี้ ราชธรรมนูญที่ชื่อว่า เทเวนทรสมยะ เป็นอย่างไร
ดูก่อนเทวดา ได้ยินว่า ณ ครั้งนั้น พระราชพลทเกตุ ได้แสดงราชธรรมนูญเทเวนทรสมยะ แก่ราชบุตรรุจิรเกตุ โดยพิสดาร เป็นคาถาเหล่านี้ว่า
1 ข้าพเจ้าจะทำประโยชน์แก่สรรพสัตว์ จึงจะอธิบายราชธรรมนูญที่เป็นเครื่องตัดความสงสัยทั้งปวง เป็นเครื่องทำลายความชั่วทุกชนิด
2 ไม่เว้นพระนฤบดีทุกพระองค์ จงทำจิตให้สุขสบาย ประนมมือขึ้นแล้วจงฟังราชธรรมนูญเทเวนทรสมยะให้จบ
3 ณ สมาคมของเทพน้อยใหญ่ที่เขาพระสุเมรุ ซึ่งวัชรปรากฏโดยรอบท้าวโลกบาลทั้งหลาย ได้ลุกขึ้นถามท่านท้าวมหาพรหมว่า
4 ข้าแต่ท่านพรหมา ท่านเป็นเทพ เป็นครูของพวกเราทั้งหลาย ท่านเป็นใหญ่กว่าเทพทั้งหลาย ท่านเป็นผู้แก้ความสงสัยทั้งหลาย ฉะนั้น ขอให้ ท่านช่วยแก้ความสงสัยของพวกเราด้วยเถิด
5 พระราชาองค์หนึ่งเกิดเป็นมนุษย์ ทำไมจึงเรียกว่า เทพ ทั้งที่ท่านเป็นพระราชาเกิดในโลกมนุษย์นี้อย่างแท้จริง
6 ทำไมจึงใช้คำว่า ครองราชสมบัติในมนุษย์เทพ ท้าวโลกบาลทั้งหลายได้ถามท่านท้าวมหาพรหมอย่างนี้
7 ท่านมหาพรหมผู้เป็นครูของเทพทั้งปวง ได้กล่าวตอบท้าวโลกบาลทั้งหลายว่า ณ กาลบัดนี้ เมื่อท่านท้าวโลกบาลทั้งหลาย ได้ถามอย่างนี้ เราจะอธิบายธรรมนูญสูงสุด เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย
8 ข้าพเจ้าจะอธิบายถึงกำเนิดของพระราชา ผู้ถือกำเนิดในดินแดนมนุษย์ว่า ทำไม เขาจึงได้เป็นพระราชาในแคว้นทั้งหลาย
9 เขาถูกขอร้องให้ถือกำเนิดในท้องของมารดา เพราะแรงอธิษฐานของมหาเทพทั้งหลาย เมื่อได้รับแรงอธิษฐานจากมหาเทพเป็นเบื้องต้นแล้ว หลังจากนั้น เขาจึงได้ถือกำเนิดในครรภ์
10 เมื่อเขาเกิดในโลกมนุษย์ เขาจึงได้รับการสถาปนาให้เป็นพระราชาแต่เขาเป็นเทพมาก่อน จึงถูกเรียกว่า “เทพบุตร”
11 จอมเทวราชในไตรตรึงษ์ ได้มอบความเป็นพระราชาให้แก่เขาว่า ท่านเป็นทั้งบุตรของเทพ และเทพทั้งหลายบันดาลให้มาเกิด จึงควรเป็นใหญ่กว่าผู้เกิดในมนุษย์ทั้งหลาย
12 เขาจะขัดขวางผู้กระทำความชั่วทั้งหลาย เพื่อระงับความไม่เป็นธรรม จะส่งเสริมให้สัตว์ทั้งหลายทำความดี เพื่อส่งให้เขาไปสู่สวรรค์
13-14 ณ กาลครั้งนั้น มนุษย์ เทวดา คนธรรพ์ พระราชา รากษส จัณฑาล มารดาบิดา และพระราชาทั้งหลาย ได้ร่วมกันต่อต้านผู้กระทำความชั่ว ส่งเสริมผู้กระทำความดี ท่านเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากเทวราชทั้งหลาย ให้เป็นผู้แสดงผลของวิบากกรรม
15 ท่านเป็นผู้ทรงธรรมอย่างชัดเจน เมื่อได้รับมอบหมายจากเทวราชแล้ว ควรแสดงผลของวิบากกรรมทั้งดีและชั่ว
16 พระราชา เมื่อมองข้ามผู้กระทำความชั่วที่มีอยู่ในแว่นแคว้นไม่กระทำโทษในรูปแบบต่างๆ แก่คนชั่ว ความไม่เป็นธรรมก็จะเพิ่มมากขึ้น เพราะปล่อยปละละเลยให้คนกระทำความชั่วได้อย่างต่อเนื่อง
17 การเบียดเบียน การทะเลาะซึ่งกันและกันภายในประเทศ ก็จะมีเพิ่มมากขึ้น มหาเทพทั้งหลายในสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ก็จะโกรธแค้น
18 เมื่อใด พระราชาละเลยให้กระทำความชั่วกันอยู่ภายในประเทศ เมื่อนั้นประเทศก็จะปั่นป่วน ด้วยการฆ่ากันอย่างโหดร้ายทารุณที่สุด
19 ถ้าประเทศนั้น พินาศเพราะการเข้ามารุกรานขออาณาจักรอื่น โภคะ กำลังพล และทรัพย์ทั้งหลายที่สะสมไว้ก็ยังมีอยู่
20 เมื่อการทำร้ายกันในรูปแบบต่างๆ ยายไปทั่ว ความเป็นพระราชาก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ได้
21 สมและฝนก็ไม่เป็นไปตามปกติ ดาวนพเคราะห์ พระจันทร์และพระอาทิตย์ก็ไม่เป็นไปตามปกติ
22 ข้าว ดอกไม้ ผลไม้ พืช ก็จะขาดแคลน ทุพภิกขภัยจะมีทุกแห่งหนในประเทศที่พระราชาไม่เอาใจใส่ แม้เทพในภพทั้งหลายก็ไม่มีใจเบิกบาน
23 เมื่อพระราชาปล่อยปละละเลยให้กระทำความชั่วต่อไปเรื่อยๆ พระเทวราชทั้งปวงจะพูดต่อๆกันไปว่า
24 พระราชาไม่มีธรรมะ อิงอาศัยฝ่ายที่ไม่มีธรรมะ อีกไม่ช้า พระราชาองค์นี้จะทำให้เทวดาทั้งหลายโกรธแค้น
25 เพราะความโกรธแค้นของเทวดา ประเทศของเขาก็จะประสบกับความหายนะด้วยอาวุธ ครั้นแล้วความไม่เป็นธรรมก็จักมีในประเทศนั้น
26 อันจะเป็นบ่อเกิดของการทะเลาะวิวาท และเป็นบ่อเกิดของโรคทั้งหลาย มหาเทพก็จะพิโรธ เทพทั้งหลายก็จะไม่สนใจดูแล
27 พระราชาของประเทศที่ถูกแย่งชิงอำนาจ จะโศกเศร้า ประสบกับการพลัดพรากจากผู้เป็นที่รัก ทั้งญาติพี่น้องและบุตร
28 รวมทั้งการพลัดพรากจากภรรยาหรือธิดาอันเป็นที่รัก จะเป็นเหมือนถูกลูกอุกกาบาต หรือพระอาทิตย์หล่นทับ ฉะนั้น
29 ภัยจากอาณาจักรอื่น หรือทุพภิกขภัยจะมีความรุนแรงยิ่งขึ้น อำมาตย์อันเป็นที่รักก็จะเสียชีวิตลง ถ้อยคำที่เคยอ่อนหวานจะกลายเป็นคำพูดที่คุกคาม
30 ธิดาอันเป็นที่รักยิ่ง ผลงานใดๆบุตร และภรรยาอันเป็นที่รักก็จะกลายเป็นฝ่ายตรงกันข้าม เขาจะยึดโภคะ ทรัพย์ประจำสกุลและสิ่งอื่นๆไป
31 ศัตรูจะใช้อาวุธทำลายต่อไปเรื่อยๆ ในประเทศที่มีการทะเลาะวิวาทและมีการทำลายล้างกัน
32 ความมีเคราะห์ร้ายอย่างรุนแรง ก็จะเข้ามาครอบงำในประเทศผู้ไร้คุณธรรมก็จะเพิ่มขึ้นทุกแห่งหนภายในประเทศ
33 เมื่ออำมาตย์และบริวารของพระราชา ไม่ประกอบด้วยธรรม พวกเขาก็จะเป็นที่บูชากันในระหว่างชนที่ไร้คุณธรรมเหล่านั้น
34 การกลั่นแกล้งชนที่ทรงคุณธรรม จะมีปรากฏอย่างกว้างขวาง จะมีการเคารพนับถือชนที่ไร้คุณธรรม จะมีการจับกุมผู้ที่ทรงคุณธรรม เมื่อมีครบ 3 อย่างนี้ ดาว น้ำ และลม จะกำเริบในประเทศนั้น
35 เมื่อชนที่ไร้คุณธรรมได้รับการอุ้มชู ภาวะทั้ง 3 คือ โอชะแห่งการลิ้มรสพระธรรม สาระของความเป็นสัตว์ (คน) ความรู้สึกต้องการแผ่นดินย่อมสูญหายสิ้น
36 การเคารพนับถือชนที่ไร้สัจจะ การดูหมิ่นชนที่รักษาสัจจะ และทุพภิกขภัย ทั้ง 3 อย่างนี้ จักมีในประเทศนั้นอย่างรุนแรง โอชะแห่งรสผลไม้และธัญญาหาร จักไม่มีในประเทศนั้น
37 สัตว์ (ชน) จำนวนมากในประเทศนั้น ก็จะมีการเจ็บป่วย ผลไม้ทั้งหลายในประเทศนั้น ที่มีรสหวานและมีผลใหญ่ จะกลายเป็นผลไม้ที่มีรสร้อนขมเหมือนพริก
38 ความยินดีด้วยการเล่นสนุกสนานเป็นภาวะที่น่ารื่นเริง และสภาอันน่ารื่นเริงในกาลก่อน ต้องอากูลไปด้วยความยุ่งยากหลายร้อยชนิด
39 รสที่มีความอ่อนนุ่มกลมกล่อมของธัญญาหารและผลไม้ ได้สูญหายไปสิ้น ธาตุแห่งอินทรีย์ในร่างกาย ก็ไม่ก่อให้เกิดความเอิบอิ่มใจ
40 สัตว์ (ชน) ทั้งหลายเหล่านั้น จักมีผิวพรรณเศร้าหมอง ไร้ความสามารถ ไร้พละกำลัง บริโภคอาหารมาก แต่ไม่ก่อให้เกิดความพึงพอใจ
41 ในระหว่างนั้น พวกเขาจะไม่ได้รับกำลัง ความสามารถ และความเพียร สัตว์ที่ไร้ความเพียรจำนวนมากจะมีอยู่ในทุกพื้นที่
42 สัตว์ทั้งหลายก็จะมีโรค และถูกเบียดเบียนด้วยโรคนานาชนิด นักษัตรคราส ซึ่งเป็นบ่อเกิดของรากษสนานาชนิด ก็จะปรากฏ
43 เมื่อพระราชาเป็นผู้ไร้คุณธรรม สมคบกับคนฝ่ายอธรรม มณฑลของไตรโลกที่มีอยู่ในไตรโลกธาตุ ก็จะผิดปกติ โทษทั้งหลายที่เป็นเช่นนี้ก็จะมีในภูมิประเทศทั้งหลาย
44 พระราชา เมื่อสมคบกับฝ่ายที่ไร้คุณธรรม จึงปล่อยปละละเลยให้กระทำความชั่ว ข้อที่จอมเทพทั้งหลายได้มอบหมายความเป็นพระราชาให้ด้วยงานใด เมื่อเขาปล่อยปละละเลยให้กระทำความชั่ว ชื่อว่ายังไม่ได้สร้างความเป็นพระราชาให้ตนเองเลย
45 สัตว์ทั้งหลายที่กระทำความดีจะไปบังเกิดในแดนสวรรค์ของเทพทั้งปวง ผู้ที่กระทำความชั่วจะไปบังเกิดในวิษัยของเปรต เดรัจฉาน และนรก เทพทั้งหลายในเทวสถานไตรตรึงษ์ ก็จะได้รับโทษจากการกระทำความชั่วเช่นกัน
46 เมื่อพระราชาปล่อยปละละเลยให้ผู้กระทำความชั่วอยู่ในประเทศ ชื่อว่าเป็นผู้กระทำความผิดต่อเทวราชบิดร ฉะนั้น ความเป็น (เทว) บุตรของเขาจึงไม่มี การดำรงตำแหน่งความเป็นพระราชาก็จักไม่มีเช่นกัน
47 เพราะการทำงานล้มเหลว ด้วยการทำร้ายกันอย่างโหดเหี้ยมทารุณ ฉะนั้น จอมเทพทั้งหลาย จึงยอมให้มีพระราชาในแดนมนุษย์
48 พระราชาที่มีคุณธรรมอันประจักษ์ เป็นผู้ที่ก่อให้เกิดผลดีต่อสัตว์ทั้งหลาย คือกระตุ้นให้สัตว์ทั้งหลายกระทำความดี เพื่อยับยั้งผู้กระทำความชั่ว
49 ผู้ที่ทำประโยชน์ด้วยการชี้แจงผลของวิบากกรรม ไม่เว้นทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว ได้ชื่อว่า เป็นพระราชา ที่หมู่เทพและจอมเทพทั้งหลายได้มอบหมาย และยินดีด้วย
50-51 เขาพึงสละประโยชน์ส่วนตัว เพื่อประโยชน์ผู้อื่นและเพื่อความเป็นธรรมของประเทศ พึงสละชีวิตและราชสมบัติ เพื่อปราบปรามคนชั่ว คนทุจริต คนฉ้อโกงภายในประเทศ และเพื่อความเป็นธรรมภายในประเทศ ไม่ควรคบหากาบผู้ที่ไร้คุณธรรม แต่อย่าเพิกเฉยกับนักปราชญ์
52 แล้วความหายนะอื่นที่โหดร้ายทารุณเช่นนั้น จะไม่มีในแว่นแคว้นนี้ ยกเว้น ผู้ทำหน้าที่ปราบปรามคนคดโกง คนทุจริต ทำการทุจริตเสียเอง
53 การคดโกงทุจริตอย่างรุนแรง ที่เกิดขึ้นในแว่นแคว้นเช่นนี้ ชื่อว่าเป็นการทำลายประเทศ เหมือนช้างทำลายสระใหญ่ ฉะนั้น
54 เมื่อมหาเทพทั้งหลายวิวาทกัน ที่อยู่ของเทพก็จะถูกทำลายความมีอยู่ของสิ่งทั้งปวงในแว่นแคว้นก็จะขัดสน
55 เพราะฉะนั้น ควรลงโทษผู้กระทำความชั่ว ให้เหมาะสมกับโทษของตน ควรคุ้มครองราษฎรด้วยความเป็นธรรม ไม่ควรส่งเสริมคนไร้คุณธรรม
56 ท่านควรสละชีวิต (เพื่อรักษาความเป็นธรรม) ไม่ควรสมคบกับกลุ่มคนชั่ว พระราชาไม่ควรเห็นแก่คนกลุ่มเดียว ที่เป็นเครือญาติก็ดี คนอื่นก็ดีและชนในรัฐทั้งหมดก็ดี ไม่ควรเข้ากลุ่มเป็นฝ่าย (ใดๆ)
57 พระราชาที่มีคุณธรรมเป็นผู้มีเกียรติ ชื่อว่าเป็นผู้ทำให้ไตรโลกบริบูรณ์ มหาเทพทั้งหลายในสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ก็จักพลอยยินดีด้วยว่า
58 บุตรของเราในชมพูทวีป เป็นพระราชาที่มีธรรมะประจำตน ปกครองราษฎรโดยธรรม แต่งตั้งบุคคลไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสม
59 พระราชาทำให้บุคคลนั้นมีความยินดีในตำแหน่ง (ที่แต่งตั้ง) นี้ ด้วยการกระทำความดี ชื่อว่าทำสวรรค์ให้เต็มไปด้วยเทพบุตรและเทพธิดาทั้งหลาย
60 เมื่อพระราชาปกครองราษฎรโดยธรรม จะเป็นที่ยินดีของพวกเราทั้งหลาย มหาเทพทั้งหลายก็มีความยินดี แล้วจะคอยปกป้องพระราชาเหล่านั้น
61 ดวงดาว พระจันทร์ และพระอาทิตย์ ก็จะปรากฏตามปกติลมพัดตามฤดูกาล และฝนก็ตกตามฤดูกาล
62 เมื่อพระราชาทำให้รัฐมีภิกษาหารอุดมสมบูรณ์ เหมือนแดนสวรรค์ของเทพ แดนสวรรค์ก็บริบูรณ์ไปด้วยเทพบุตรและเทพธิดาทั้งหลาย
63 เพราะฉะนั้น พระราชาควรสละชีวิต อันเป็นที่รักของตน แล้วใช้ธรรมรัตน์ เพื่อให้ชาวโลกมีความสุข
64 พระราชาควรไปเสวนากับผู้ทรงธรรมที่ประกอบด้วยคุณทั้งหลาย งดเว้นจากความชั่ว แล้วยินดีรับใช้ผู้ทรงธรรมนั้นเป็นนิตย์
65 พระราชาพึงปกครองรัฐโดยธรรม พึงอบรมราษฎรให้ตั้งอยู่ในธรรม พึงแต่งตั้งผู้กระทำความดีให้ทำงาน ควรหลีกเลี่ยงการแต่งตั้งคนชั่ว
66 เมื่อมีภิกษาหารสมบูรณ์ พระราชาก็จะเป็นผู้มีอำนาจในรัฐ พระราชาผู้มีเกียรติยศ ควรลงโทษคนชั่วตามความเหมาะสม และคุ้มครองประชาชนให้มีความสุขอย่างนี้แล.
ปริเฉท 13 ว่าด้วยราชธรรมนูญชื่อว่า เทเวนทรสมยะ ในศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร มีเพียงเท่านี้
ปริเฉท 14
สุสัมภวปริวรรต ว่าด้วยแหล่งกำเนิดที่ดี
1 เมื่อได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ข้าพเจ้าจักบริจาคแผ่นดิน มหาสมุทรและทวีปทั้ 4 รวมทั้งแหล่งที่สมบูรณ์ด้วยรัตนะให้แก่พระชินพุทธเจ้าในอดีตทั้งหลาย
2 ข้าพเจ้าไม่เคยบริจาควัตถุอันเป็นที่รัก เป็นที่พอใจมาก่อน ข้าพเจ้าต้องการชำระธรรมกายให้บริสุทธิ์ จึงยอมสละชีวิตอันเป็นที่รักมาตลอดหลายกัลป์
3 เช่น ในศาสนาของพระรัตนศิขิสุคต ในหลายกัลป์ก่อนจนนับมิได้ เมื่อสุคตนั้น ได้เสด็จปรินิพพานแล้ว ได้มีพระราชาองค์หนึ่ง นามว่า สุสัมภวะ
4 พระองค์เป็นพระจักรพรรดิ ได้เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง 4 ปกครองแผ่นดินกว้างไกลไปจดมหาสมุทร ณ ครั้งนั้น พระราชาผู้มีอำนาจสูงสุดได้บรรทมในราชธานีชิเนนทรโฆษะ
5 ในระหว่างที่สุบินนิมิต พระองค์ได้ยินเสียงสรรเสริญพุทธคุณได้เห็นพระรัตโนจจะ ผู้แสดงธรรม ที่ประทับยืนเปล่งประกายอยู่ในท่ามกลางดวงอาทิตย์ กำลังประกาศพระสูตรนี้
6 เมื่อพระราชาได้ตื่นจากบรรทม ความปลื้มปีติได้แผ่ซ่านไปทั่วสรีระของพระองค์ พระองค์ได้เสด็จออกไปตรวจดูพระราชวัง ได้พบพระสงฆ์สาวกผู้ประเสริฐองค์หนึ่ง
7 พระองค์ได้ทำการบูชาพระสาวกของพระชินพุทธเจ้า แล้วถามถึงพระรัตโนจจยะ ผู้แสดงธรรมว่า ข้าแต่พระอริยสงฆ์ พระภิกษุผู้ประกอบด้วยคุณนามว่ารัตโนจจยะนั้นอยู่ที่ไหน
8 ระหว่างนั้น พระรัตโนจจยะ ได้นั่งอยู่ภายในถ้ำอีกแห่งหนึ่ง กำลังสังวัธยายพระราชสูตรอันรัตนวิจิตรนี้อย่างมีความสุข
9 ขณะนั่นเอง พระภิกษุรัตโนจจยะ ผู้แสดงธรรม ที่นั่งภายในถ้ำอีกแห่งหนึ่ง ได้เปล่งประกายความงาม จนรัศมีได้ปรากฏมาถึงพระราชา
10 ณ ที่นั้น พระรัตโนจจยะ ผู้แสดงธรรมนี้ ได้เข้าใจวิษัยของพระชินพุทธเจ้าอย่างลึกซึ้ง จึงได้แสดงสุวรรณประภาโสตตมสูตรรัตนะ ที่ว่าด้วยเทพราชาในพระสูตร อย่างต่อเนื่อง
11 ครั้นสุสัมภวราชา ได้นมัสการบาททั้งสองของพระรัตโนจจยะแล้วได้กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้มีความเปล่งปลั่งดุจจันทร์เพ็ญ ขอท่านจงแสดงธรรมจักรคือสุวรรณประภาโสตตสูตรรัตนะแก่โยมด้วยเถิด
12 ทันทีที่พระรัตโนจจยะนั้น ได้รับคำขอร้องจากพระราชาสุสัมภวะนั้นแล้ว เทวดาทั้งหลายในตริสาหัสรคไตรโลกธาตุ ก็ได้ความยินดีกัน
13 ณ ครั้งนั้น พระราชาได้จัดแผ่นดินทั่วประเทศให้ดีที่สุด พรมด้วยน้ำใสสะอาดดุจรัตนะและมีกลิ่นหอม โปรยดอกไม้ไปทั่วธรณี แล้วเสด็จไปสู่อาสนะ ณ พื้นที่นั้น
14 พระราชา ประดับอาสนะด้วยฉัตร ธง และระฆังจำนวนหลายพันแล้วจึงโปรยดอกไม้ การบูรอย่างดี ที่วิจิตรต่างๆ ลงสู่อาสนะนั้น
15 เทพ นาค อสูร กินนร ยักษ์ จอมยักษ์ และมโหรคะทั้งหลาย ก็ได้โปรยฝนดอกมณฑารพทิพย์ลงสู่อาสนะนั้นด้วย
16 เทพหลายพันโกฏิจนไม่สามารถจะคำนวณได้ ผุ้ประสงค์ความเป็นเลิศในเทวภพ ได้ออกมาโปรยดอกสาละแก่พระรัตโนจจยะ เช่นกัน
17 พระรัตโนจจยะผู้แสดงธรรมนั้น มีกายเปล่งปลั่งงดงาม ครองผ้าที่สะอาด เข้าสุ่อาสนะนั้น ประนมมือนมัสการแล้ว
18 เทพ และมหาเทพทั้งหลาย ที่ยืนอยู่ในเบื้องบนท้องฟ้าได้โปรยดอกมณฑารพและประโคมดนตรีจำนวนหลายพัน จนไม่อาจนับได้
19 พระรัตโนจจยะ ภิกษุผู้แสดงธรรมนั้น ลุกขึ้นไปนั่ง แล้วรำลึกถึงพระพุทธเจ้าหลายพันโกฏิองค์ทั้ง 10 ทิศ
20 ท่านได้บังเกิดจิตเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์อย่างเนืองนิตย์ในระหว่างนั้น จึงได้ประกาศพระสูตรนี้แก่พระราชาสุสัมภวะนั้น
21 พระราชายืนขึ้นประนมมือ ด้วยกาย วาจาที่ยินดียิ่ง มีพระเนตรนองด้วยน้ำตา เพราะความเอิบอิ่มในพระสัทธรรม มีกายแผ่ซ่านด้วยปีติ
22 เพื่อบูชาพระสูตรนี้ ในระหว่างนั้น พระสุสัมภวราชา ได้จับจินดามณีอันเป็นรัตนะสำหรับพระราชา แล้วตั้งประณิธานให้เป็นเหตุของประโยชน์ทั้งปวงว่า
23 ขอให้เครื่องประดับพร้อมด้วยรัตะ 7 จงเป็นฝนตกลงในชมพูทวีปนี้ ในขณะนี้ สัตว์เหล่าใดในชมพูทวีป ที่ยังหวาดผวา ขอให้สัตว์เหล่านั้นจงมีความสุขและมีทรัพย์มหาศาล
24 ในขณะนั้น รัตะ 7 มีกำไลแขน สร้อยมุกดา ตุ้มหูอย่างดี ข้าว น้ำ และเสื้อผ้า ก็ได้ตกลงในทวีปทั้ 4
25 พระราชาสุสัมภาวะ ได้เห็นฝนรัตนะที่ตกลงสู่ชมพูทวีปแล้ว ทำให้ทวีปทั้ง 4 เต็มไปด้วยรัตนะ เลยไปถึงศาสนาของพระตถาคตพุทธเจ้ารัตนศิขี
26 และพระศากยมุนีตถาคตก็คือข้าพเจ้า ที่เคยถือกำเนิดเป็นพระราชาสุสัมภวะ ข้าพเจ้าเคยบริจาคที่ดินเป็นทวีปทั้ง 4 ซึ่งมีรัตนะบริบูรณ์
27 พระตถาคตอักโษภยะนั้นก็คือพระรัตโนจจยะภิกษุ ผู้แสดงธรรมในขณะที่ประกาศพระสูตรนี้แก่พระราชาสุสัมภาวะนั้น
28 ในระหว่างที่ฟังพระสูตรนี้ ข้าพเจ้าได้อนุโมทนาด้วยวาจาที่เลิศอย่างหนึ่งว่า ด้วยกุศลกรรมของข้าพเจ้า ที่ได้ฟังพระสูตรนี้ ด้วยความยินดี
29 ขอให้ข้าพเจ้าได้มีกายเป็นสีทอง มีบุณยลักษณะรัอยประการ เป็นกายที่น่ารักและน่าชมทุกเมื่อ เป็นที่ยินดีของนัยน์ตา เป็นปิยทัศน์ของประชาชน เป็นที่สร้างความยินดีให้แก่เทพจำนวนพันโกฏิ
30 ข้าพเจ้าได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิมาแล้วตลอด 99 ล้านกัลป์ได้ครองราชสมบัติในไตรโลกมาแล้วหลายพันโกฏิ
31 ข้าพเจ้าได้เป็นท้าวสักกะมาแล้วหลายล้านโกฏิจนไม่อาจนับได้เช่นเดียวกับที่ได้เป็นท้าวมหาพรหม ผู้มีจิตใจอันสงบ ในกาลไหนๆ ใครก็ไม่สามารถกำหนดรู้ประมาณกำลังที่ไม่อาจวัดได้ของข้าพเจ้า ผู้ไม่มีความรักใคร่
32 เช่นเดียวกับกองบุญจำนวนมาก ก็ไม่สามารถกำหนดรู้ประมาณได้ข้าพเจ้าได้ฟัง ได้อนุโมทนากับพระสูตรนี้ ข้าพเจ้าจึงได้บรรลุพระโพธิญาณ ได้รับพระสัทธรรมกาย ตามความตั้งใจ
ปริเฉท 14 ชื่อสุสัมภาวะปริวรรต ในศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร มีเพียงเท่านี้
ปริเฉท 15
ยักษาศรยรักษาปริวรรต ว่าด้วยการรักษาที่อาศัยของยักษ์
โอ ศรีมหาเทวี. กุลบุตรหรือกุลธิดาคนใด ที่มีศรัทธาปรารถนาจะทำการบูชาที่ยิ่งใหญ่ไพศาล จนไม่อาจจินตนาการได้ ด้วยเครื่องอุปกรณืทุกอย่างแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายที่มีอยู่ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน เขาควรจะทราบพุทธวิษัยอันลึกซึ้งของพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลายที่มีในอดีต อนาคนและปัจจุบัน จึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เขาพึงเผยแผ่สุวรรณประภาโสตตสูตเรนทรราชสูตรนี้ โดยกว้างขวางทั้งภายในประเทศ วิหารและภูมิประเทศที่เป็นป่าทั่วไป ฉะนั้น ผู้ที่มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน มีโสตประสาทที่ไม่หวั่นไหว จึงควรฟังสุวรรณประภาโสตตสูตเรนทรราชสูตรนี้
ณ กาลครั้งนั้น เพื่อประโยชน์นี้ พระผู้มีพระภาค จึงได้ตรัสคาถาเหล่านี้ ที่เปล่งประกายด้วยคุณค่าเป็นอย่างยิ่งว่า
1 ผู้ใดประสงค์จะทำการบูชาพระพุทธเจ้าทั้งปวง ที่มีจำนวนมากมายจนนับมิได้ และประสงค์จะทราบวิษัยอันลึกซึ้งของพระพุทธเจ้าทั้งปวง
2 เขาพึงไปในสถานที่ทั้งปวง แม้จะเป็นวิหาร หรือบ้านเรือน ที่มีการเทศนาสุวรรณประภาโสตตสูตเรนทรราชสูตรนี้
3 พระสูตรนี้คือมหาสมุทรที่มีคุณอนันต์จนไม่อาจคำนวณได้ เป็นที่ปลดเปลื้องสรรพสัตว์จำนวนมากออกจากมหาสมุทรคือทุกข์
4 ข้าพเจ้าได้เห็นเบื้องต้น ท่ามกลาง และความไม่มีที่สิ้นสุดของพระสูตรนี้ จึงไม่สามารถกำหนดรู้วิธีการเปรียบเทียบสูตเรนทรสูตรอันลึกซึ้งยิ่งนี้อย่างไรได้
5 แม้ละอองธุลีในแม่น้ำคงคา ในแผ่นดิน ในมหาสมุทร และที่ลอยอยู่ในท้องฟ้า ก็ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบได้กับคุณอันน้อยนิดของพระสูตรนี้
6 ผู้ที่เข้าไปสู่ธรรมธาตุควรสร้างธรรมสถูปไว้สำหรับตนอย่างแน่นหนา แล้วจึงเข้าไปอยู่ในสถูปนั้น
7 ในท่ามกลางสถูปนั้น เขาจะได้พบพระชินศากยมุนี ที่กำลังประกาศพระสูตรนี้ ด้วยพระสุรเสียงที่น่าประทับใจยิ่ง
8 จนกระทั่ง เขาได้เสวยสุข ที่เป็นของมนุษย์ทิพย์ตลอดหลายอสงไขยโกฏิกัลป์จนประมาณมิได้
9 เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เขาควรฟังพระสูตรนี้ ณ ที่นั้น เขาจะได้รับกองบุญอันประมาณมิได้ถึงเพียงนี้ จากข้าพเจ้า
10 ผู้ใดเข้าไปสู่ที่ตั้งกระทะไฟนรก ที่กว้างใหญ่ถึงร้อยโยชน์ เป็นเหตุให้ได้รับทุกขเวทนาเป็นอย่างมาก จึงควรฟังพระสูตรนี้สักครั้งหนึ่ง
11 เช่นเดียวกับผู้ที่เข้าไปสู่ที่พำนักของสมณะ จะเป็นวิหาร หรือที่พักอาศัยก็ดี บาปกรรมและลักษณะฝันร้ายทุกชนิดจะหมดหายไป
12 การเบียดเบียนของดาวเคราะห์ การเข้าสิงอันน่ากลัวของปีศาจทุกอย่างจะบ่ายหน้าหนีไปจากผู้ที่เข้าไปสู่พำนักของพระสมณะ
13 เขาได้สร้างที่ประทับเหมือนดอกบัก เช่นเดียวกับที่พระตถาคตได้แสดงแก่เขา ในระหว่างที่ฝัน
14 เมื่อเข้าไปสู่อาสนะนั้นแล้ว เขาพึงประกาศพระสูตรนี้ และพึงเที่ยวไป เพื่อบอกกล่าวตามต้นฉบับให้ทั่วถึงกัน
15 เมื่อออกจากที่นั่งนั้นแล้ว เขาควรไปสู่สถานที่อื่นๆ เมื่อนั่งบนอาสนะในสถานที่นั้น ก็ควรบรรยายถึงอภินิหารต่างๆ
16 ณ ที่นั้น บางครั้ง ปรากฏรูปของพระภิกษุผู้แสดงธรรม บางครั้งปรากฏเป็นรูปพระพุทธเจ้า บางครั้งปรากฏเป็นรูปพระโพธิสัตว์
17 บางครั้งเป็นรูปพระตถาคตมัญชุศรี บางครั้งปรากฏเป็นรูปพระศรีอริยเมตไตรย รูปที่ประเสริฐทั้งหมด ได้ปรากฏบนอาสนะนั้น
18 บางครั้ง ปรากฏเป็นแสงสว่างเพียงอย่างเดียว บางครั้งปรากฏเป็นเทพเพียงครู่เดียว แล้วจะปรากฏอยู่ในสภาพที่ว่างเปล่าอีก
19 คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งประเสริฐ ที่ให้ความสำเร็จในสถานที่ทั้งปวง ถึงพร้อมด้วยมงคลที่ดีเลิศ ย่อมนำมาซึ่งชัยชนะในสงคราม
20 เขาจักทำให้ชมพูทวีปทั้งปวงเจริญด้วยเกียรติยศ และจักทำให้ศัตรูทั้งปวงได้รับความพ่ายแพ้ทุกประการ
21 เมื่อกำจัดศัตรูได้แล้ว เขาจะงดเว้นจากบาปกรรมทั้งปวง เมื่อพิชิตสงครามได้แล้ว เขาจะยินดีกับความสง่างาม
22 แม้พระมหาพรหม มหาเทพในไตรตรึงษ์ ท้าวโลกบาล พระอินทร์ จอมยักษ์สัญชเญยะ และพระเจ้าแผ่นดินทั้งหลาย
23 พญานาคคอนวตัปตะในมหาสมุทร พญากินนร มหาเทพ และพญาครุฑ รวมทั้งเทพทั้งหลาย ได้แต่งตั้งเขาให้เป็นหัวหน้า
24 สัตว์ทั้งหลายที่มีใจเคารพ ครั้นได้เห็นเทพเหล่านั้น บูชาธรรมสถูปอันยิ่งใหญ่นั้นเนืองนิตย์ ก็จักมีความยินดี
25 มหาเทพผู้ประเสริฐเหล่านั้น ได้คิดกันอย่างนี้ เทพทั้งหมดได้พูดต่อๆกันไปว่า
26 ท่านทั้งหลาย จงดูสัตว์เหล่านั้นผู้ที่ได้สะสมเดช ศรี และบุญไว้ ชนเหล่านั้นมาที่นี่ได้ เพราะกุศลมูลที่เคยสร้างไว้
27 ชนเหล่านั้น มีความเคารพในธรรมสถูปด้วยความเลื่อมใสอย่างยิ่ง พวกเขาพากันมาที่นี่ เพื่อฟังพระสูตรอันลึกซึ้งนี้
28 ชนเหล่านั้น เป็นผู้มีความกรุณาต่อชาวโลก พวกเขาจึงได้สร้างสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่สรรพสัตวย์ทั้งหลาย คือเครื่องบริโภคที่เป็นสัทธรรมรสจากธรรมอันลึกซึ้งทั้งหลาย
29 ชนเหล่าใด ต้องการจะฟัง หรือต้องการให้คนอื่นฟังพระสูตรนี้ ชนเหล่านั้น ควรเข้าไปทางประตูธรรมธาตุ
30 ชนเหล่านั้นเคนได้บูชาพระพุทธเจ้าถึงแสนองค์ เพราะกุศลมูลนั้น พวกเขาจึงได้ฟังพระสูตรนี้
31 จอมเทวราชทั้งหมดเหล่านั้น รวมทั้งพระสรัสวดี พระศรี พระไวศรวณะ และท้าวมหาราชทั้ง 4
32 พร้อมกับยักษ์อีกแสนตน ผู้มีฤทธิ์มาก มีกำลังมาก จะไม่หลับนอนทั้งกลางวันและกลางคืน จะทำการอารักขาชนเหล่านั้น
33 พระนารายณ์ พระมเหศวร(ศิวะ) พร้อมกับยักษ์ทั้งหลายผู้มีกำลังมาก และยักษ์อื่นๆ อีก 28 ตน ซึ่งมีสัญชเญยะยักษ์เป็นหัวหน้า
34 พร้อมกับยักษ์แสนตน ที่มีฤทธิ์มาก มีกำลังมาก จักทำการอารักขาชนเหล่านั้น ในที่มีภัยทุกหนทุกแห่ง
35 พระอินทร์ และมหายักษ์ที่มีบริวารยักษ์อีก 500 ตน พร้อมกับพระโพธิสัตว์ทั้งปวง จักทำการอารักขาชนเหล่านั้น
36 มณิภัทรยักษ์ ปูรณภัทรยักษ์ กุมภีรยักษ์ อฏาวกยักษ์ และปิงคลยักษ์ ผู้มีกำลังมาก
37 พญายักษ์แต่ละตน มียักษ์บริวารอีก 500 ตน จักทำการอารักขาชนเหล่านั้น ผู้ได้ฟังพระสูตรนี้
38 คนธรรพ์จิตรเสน ชินรษภะ ผู้เป็นพระชินราช มณิกัณฐะ(พญานาค) พระนีลกัณฐะ(พระศิวะ) และพระวรษาธิปติ(พระวรุณเทพ)
39 มหาคราสะ และมหากาละ พร้อมทั้งสุวรรณเกศี ปัญจิกะและฉคลปาทะ รวมทั้งมหาภาคะ
40 ประณาลี มหาปาละ มรกฏะ และวาลิ สูจิโรมะ สูรยมิตระ รวมทั้งรัตนะเกศะ
41 มหาประณาลี นกุละ กามเศรษฐะ และจันทนะ นาคายนะ ไหมวตะ รวมทั้งสาตาคิริยักษ์
42 ผู้ประเสริฐเหล่านั้นทั้งหมด เป็นผู้ที่มีมนต์ขลัง สามารถขจัดศัตรูผู้มีกำลังมากได้ จักทำการอารักขาประชาชนผู้พอใจในพระสูตรนี้
43 พญานาคอนวตัปตะ ผู้เป็นเจ้าแห่งมหาสมุทร พญานาคมุจิลิน พญานาคเอลาปัตร พญานาคนันทะและพญานาคอุปนันทะทั้งสอง
44 พร้อมกับนาคบริวารอีกแสนตน ที่มีฤทธิ์มาก มีกำลังมาก จักทำการอารักขาชนเหล่านั้น จากภัยอันน่ากลัวทุกอย่าง
45 เทพอสูรวลี ราหุ นมุจิ เวมจิตร สังวร ประหาทะ ขรัสกันธะ และเทพอสูรอื่นๆ
46 พร้อมด้วยอสูร 100,000 ตนที่มีฤทธิ์มาก มีกำลังมาก จักคุ้มครองชนเหล่านั้น จากภัยอันน่ากลัวที่เกิดขึ้น
47 หารีติ ผู้เป็นมารดาของภูติ พร้อมกับบุตรอีก 500 ตน ที่ยืนอยู่ใกล้มารดาทั้ง 7 จักทำการอารักขาชนเหล่านั้น
48 จัณฑา จัณฑาลิกา และยักษิณีจัณฑิกา พร้อมกับทันตี กูฏทันตี ผู้นำความรุ่งเรืองมาสู่สัตว์ทั้งหลาย
49 เขาเหล่านั้นทั้งหมดมีฤทธิ์มาก สามารถก้าวล่วงข้าศึกที่มีกำลังมากได้ จักทำการอารักขาชนเหล่านั้น ทั้ง 4 ทิศโดยรอบ
50 รวมทั้งเทวดาอีกจำนวนมาก ที่มีพระสรัสวดีผู้เป็นประมุข เช่นเดียวกับเทวดาทั้งปวงที่มีพระศรีเป็นประมุข
51 เทวดาประจำภาคพื้นดิน เทวดาประจำพืชผล เทวดาประจำอาราม เทวดาประจำต้นไม้ เทวดาประจำเจดีย์ และเทวดาประจำแม่น้ำ
52 หมู่เทวดาเหล่านั้นทั้งหมด มีใจยินดีที่จะทำการอารักขาชนเหล่านั้น ผู้พอใจในพระสูตรนี้
53 สัตว์ (ชน) เหล่านั้นจะเจริญด้วยอายุ วรรณะ และพละ พวกเขาจะประดับด้วยศรี บุญ เดช และลักษมีเป็นนิตย์
54 การเบียดเบียนจากดาวเคราะห์ทั้งหมดจะสงบไป พวกเขาทั้งหมดจะทำให้บาปที่ไม่เป็นสิริมงคลและการฝันร้ายสูญหายสิ้นไป
55 เทวดาประจำภาคพื้น เป็นผู้ที่มีความสุขุมและมีกำลังมาก จักเอิบอิ่มด้วยรสของสุวรรณประภาโสตตสูตเรนทรสูตร
56 รสของปถวีได้แผ่กระจายไปถึง 6,800,000 โยชน์ จนถึงที่ตั้งของวัชรดล
57 ปถวีรสนั้นได้ตกลงมาจากบุรพทิศจนปกคลุมไปถึงร้อยโยชน์ทั้งสูงและใหญ่น่าเสน่หายิ่งนัก เพราะพลังของการได้ฟังพระสูตรนี้
58 เทวดทั้งปวงที่ประจำอยู่ทั้ง 10 ทิศ ต่างก็เอิบอิ่มด้วยรสของสุวรรณประภาโสตตสูตเรนทรสูตรนี้
59 เทพเหล่านั้นเป็นผู้ประเสริฐ มีความโชติช่วง ประกอบด้วยความงาม ความเพียร และพลัง พอใจด้วยความสุข ยินดีด้วยรสนานาชนิด
60 เทพประจำพืชผลและป่า ทั้งหมดในชมพูทวีปนี้ จักยินดีกับการประกาศพระสูตรนี้
61 พืช หญ้า และดอกไม้อันวิจิตร ต้นไม้ ผลไม้อันวิจิตร ก็เจริญเติบโตโดยทั่วไป
62 ต้นไม้ผล อุทยาน และป่าทั้งปวง ก็จะผลิดอกที่มีกลิ่นหอมนานาชนิดซึ่งน่ายินดียิ่งนัก
63 หญ้าและต้นไม้ทั่วไปทุกชนิดในพื้นพสุธา ที่มีดอกอันวิจิตร มีผลอันวิจิตร ก็ได้เจริญงอกงามขึ้น
64 นาคกันยาจำนวนมากในทุกถิ่นของชมพูทวีป ต่างก็มีจิตเบิกบาน เข้าไปสู่สระบัว
65 ในสระบัวทุกแห่ง มีบัว โกมุท อุบล และบุณฑริกขึ้นทั่วไป
66 ท้องฟ้าโปร่งใส ปราศจากเมฆหมอก ปราศจากความมืดและฝุ่นละออง ทุกทิศมีแสงสว่างผ่องใส
67 พระอาทิตย์มีแสงสว่างเป็นพัน สว่างสดใสด้วยลำแสงของรัศมี แสงสว่างมหัศจรรย์นี้ เป็นที่โจษขานด้วยความยินดีกันทั่วไป
68 สูรเยนทรเทพบุตรทั้งหลาย ที่สถิตอยู่ในวิมานสุวรรณชมพูนท ก็พลอยเอิบอิ่มใจกับพระสูตรนี้
69 โอ สูตเรนทร ที่น่ายินดีทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นในชมพูทวีป ได้เปล่งประกายด้วยลำแสงรัศมีโดยรอบ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
70 เพียงครุ่หนึ่งของความรู้สึกที่ลำแสงรัศมีเกิดขึ้น ปลุกให้บัวทั้งหลายตื่นขึ้น จนกระจากปกคลุมสระบัวต่างๆ
71 พืชและผลสมุนไพรนานาชนิด ที่มีอยู่ทั่วไปในชมพูทวีป(ลำแสงรัศมี) ทำให้พื้นพสุธารัอนและทำให้ผลไม้สุกด้วย
72 พระจันทร์และพระอาทิตย์ส่องแสงสว่างอย่างเหมาะสมโดยไม่ขาดตอนดวงดาว ลม และฝนก็มาตามฤดูกาล
73 รอบชมพูทวีปทั้งหมด ซึ่งเป็นที่รองรับพระสูตรนี้ จะมีภิกษาหารอุดมสมบูรณ์อย่างดีเลิศ
ปริเฉท 15 รักษาปริวรรตชื่อว่า ยักษาศรัย ในศรีสุวรรณประภาโสตตสูตเรนทรราชสูตร มีเพียงเท่านี้
ปริเฉท 16
ทศเทวปุตรสหัสรวยากรณปริวรรต
ว่าด้วยการพยากรณ์หมื่นเทพบุตร
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ กุลเทวพาโพธิสัตวสมุจจยา ได้กราบทูลกาบพระผู้มีพระภาควา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ เพราะเหตุไร หรือเทพบุตรทั้งหลาย ซึ่งมีชวลนานตรเตโชราช เป็นหัวหน้า ได้สร้างกุศลมูลมากมายเพียงไรจึงได้มาจากสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ เพื่อเข้าฟังธรรมในสำนักของพระผู้มีพระภาค ณ บัดนี้
ครั้นได้ฟังพระโพธิสัตว์พยากรณ์ สัตบุรุษทั้งสามเหล่านั้น ก็เกิดจิตที่มีความรู้แจ้ง ในอนาคตกาล เมื่อล่วงเลยหลายอสงไขยโกฏิหมื่นแสนกัลป์สุดที่จะนับได้ สัตบุรุษรุจิรเกตุนี้ จักตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลกธาตุที่เปล่งประกายด้วยสีทอง พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ผู้เสด็จไปดี ผู้รู้แจ้งโลก ผู้เป็นสารถีที่ฝึกบุรุษได้อย่างประเสริฐ เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า จะเกิดขึ้นในโลกเมื่อพระผู้มีพระภาคสุวรรณรัตนากรรัจฉัตรกูฏตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์นั้น ปรินิพพานแล้ว พระสัทธรรมทั้งหมดก็จะสูญสิ้นไปโดยประการทั้งปวง เมื่อคำสอนทั้งหมดของพระองค์ได้เสื่อมสิ้นไปโดยประการทั้งปวงแล้ว ก็ได้มีทารกผู้นี้คือรูปยเกตุนี้ จะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณต่อจากพระตถาคตพระองค์นั้น ในวิรชธวัชโลกธาตุนั้นเอง เป็นพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านามว่า สุวรรณชมพูธวัชกาญจนาภะ ก็จะบังเกิดขึ้นในโลก เมื่อพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านามว่าสุวรรณชมพูธวัชกาญจนาภะนิพพานแล้ว เมื่อคำสอนทั้งหมดของพระองค์ ได้อันตรธานไปแล้วโดยสิ้นเชิงในที่ทั้งปวง ก็จะบังเกิดมีทารกนี้นามว่ารูปยประภะ จะได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณต่อจากพระตถาคตพระองค์นั้น ในวิรชธวัชโลกธาตุนั่นเอง พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านามว่า สุวรรณศตรัศมีประภาสครภะ ผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ผู้เสด็จไปดี ผู้รู้แจ้งโลก ผู้เป็นสารถีที่ฝึกบุรุษได้อย่างประเสริฐ เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า จะเกิดขึ้นในโลก เพียงเท่านี้ก็ได้ชื่อว่า พระผู้มีพระภาคได้พยากรณ์ชนเหล่านั้นทั้งหมดไว้ในอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ หมื่นเทพบุตรที่มีชวลนานตรเตโชราชเป็นหัวหน้า ไม่ได้มีโพธิสัตวจรรยามากนัก พวกเขาไม่เคยประพฤติ ไม่เคยฟังแม้บารมี 6 ไม่เคยได้ยินว่า พวกเขาได้บริจาคดวงตา เท้า ศีรษะ บุตร ภรรยาและธิดาอันเป็นที่รัก ไม่เคยได้ยินว่า พวกเขาได้บริจาคทรัพย์ ธัญญาหาร หิรัณยะ สุวรรณ มณี มุกดา เพชร ไพฑูรย์ สังข์ ศิลา ประพาฬ เงิน ทอง มรกต ยานพาหนะ ที่นอน ที่นั่ง ที่อยู่อาศัย วัง สวน สระน้ำ และบ่อน้ำ ไม่เคยได้ยินว่า พวกเขาเคยบริจาคช้าง โค ม้าผู้ ม้าเมีย ทาสหญิง ทาสชายเหมือนอย่างที่พระโพธิสัตว์หลายโกฏิหมื่นแสนองค์ ได้ทำการบูชาพระตถาคตหลายอสงไขยโกฏิหมื่นแสนองค์ ด้วยอุปกรณ์เครื่องบูชาที่วิจิตรหลายแสนอย่าง เมื่ออสงไขยโกฏิหมื่นแสนกัลป์ล่วงแล้ว พวกเขาได้ทำการบริจาครัตนะทุกอย่างได้บริจาคมือ เท้า ดวงตา ศีรษะ บุตร ภรรยา และธิดาอันเป็นที่รัก พวกเขาได้บริจาคทรัพย์ ธัญญาหาร หิรัณยะ สุวรรณะ มณี มุกดา ไพฑูรย์ สังข์ ศิลา ประพาฬ เงินและทอง พวกเขาได้บริจาคข้าว น้ำ ผ้า ที่นอน ที่นั่ง ที่อยู่อาศัย วัง วัด อุทยาน สระน้ำ ช้าง โค ม้าผู้ ม้าเมีย ทาสหญิง ทาสชาย พวกเขาได้บำเพ็ญบารมี 6 ให้สมบูรณ์ตามลำดับ ครั้นบำเพ็ญบารมี 6 สมบูรณ์ตามลำดับแล้ว จึงได้เสวยความสุขหลายแสนอย่าง จนได้รับการพยากรณ์นามว่า ตถาคต จากพระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้เจริญ เพราะเหตุอะไร เพราะสร้างกุศลเช่นไรหมื่นเทพบุตรที่มีชวลนานตรเตโชราชเป็นหัวหน้า จึงได้ไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาคเพื่อฟังธรรม. ณ บัดนี้ พวกเขาได้รับการพยากรณ์จากพระผู้มีพระภาคไว้ในอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุใดเล่าในอนาคต เมื่อล่วเลยหลายอสงไขยโกฏิหมื่นแสนกัลป์ พวกเขาจักได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณที่มีชื่อและโคตรเป็นอย่างเดียวกัน ในศาเลนทรธวชครวดีโลกธาตุนั้นนั่งเอง ทั้ง 10 ทิศจะมีพระพุทธเจ้าหมื่นองค์ มีนามว่า ประสันนวทโนตปลคันธกูฏะ ผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ผู้เสด็จไปดี ผู้รู้แจ้งโลก ผู้เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์เป็นพระผู้มีพระภาค จักเกิดขึ้นในโลก
เมื่อพระโพธิสัตว์กล่าวอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับกุลเทวดาโพธิสัตวสมุจจยานั้นว่า ดูก่อนกุลเทวดา ข้อนั้นมีสาเหตุอยู่ เพราะกุศลมูลที่หมื่นเทพบุตรซึ่งมีชวลนานตรเตโชราชเป็นหัวหน้านั้นได้สร้างสมไว้ มาบัดนี้จึงได้ออกจากสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์มาเพื่อฟังธรรม ดูก่อนกุลเทวดา ครั้นได้ฟังโพธิพยากรณ์ของสัตวบุรุษทั้งสามเหล่านี้ พร้อมกับการได้ฟังนั่นเอง พวกเขาได้เกิดความรู้สึกปีติซาบซ่านไปทั่ว ในสำนักของสุวรรณประภาโสตตสูตเรนทรราชสูตรนี้ จนกระทั่งพวกเขามีจิตบริสุทธิ์เช่นเดียวกับไพฑูรย์ที่ปราศจากมลทิน พวกเขามีจิตที่เลื่อมใสอย่างลึกซึ้งดุจท้องฟ้าอันกว้างใหญ่ไพศาลที่ปราศจากมลทิน ดูก่อนไจตยะเทวดา พวกเขาได้รับกองบุญที่ไม่อาจจะคำนวณได้ จึงทำให้หมื่นเทพบุตรที่มีชวลนานตรเตโชราชเป็นหัวหน้า ได้รับความรู้สึกที่ซาบซ่าน ในสำนักของสูตเรนทรราช จนเข้าถึงภูมิของการพยากรณ์ ดูก่อนกุลเทวดา เพราะได้สั่งสมกุศลมูลด้วยการฟังนี้ ด้วยอำนาจขอประณิธาน ที่ตั้งไว้ปางก่อน จึงทำให้หมื่นเทพบุตรที่มีชวลนานตรเตโชราชเป็นหัวหน้า ได้รับการพยากรณ์ไว้ในอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ กาลบัดนี้ ดูก่อนกุลเทวดา เหล่านี้คือผลของการตั้งประณิธานไว้ในปางก่อน
ปริเฉท 16 ว่าด้วยการพยากรณ์หมื่นเทพบุตร ในศรีสุวรรณประภาโสตตสูตเรนทรราชสูตร มีเพียงเท่านี้
ปริเฉท 17
วยาธิประศมนปริวรรต ว่าด้วยการทำให้โรคสงบ
ดูก่อนกุลเทวดา เรื่องเคยมีมาแล้วในอดีตกาล เรื่องได้มีมาหลายอสงไขยยาวไกลจนไม่อาจจะจินตนาการได้ ในกาลสมัยนั้น พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านามว่า รัตนศิขี เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้เสด็จไปดีเป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ไม่มีผู้ใดยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์เป็นพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า ได้อุบัติขึ้นในโลก ดูก่อนกุลเทวดา ก็ในกาลสมัยนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาครัตนศิขีตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น นิพพานแล้ว พระสัทธรรมก็เสื่อมอันตรธานไป มีการปฏิรูปพระสัทธรรมให้เปลี่ยนไปจนกระทั่งได้มีพระราชาองค์หนึ่งนามว่า สุเรศวรประภะ เป็นธรรมราชาที่ประกอบด้วยธรรม แต่ครองราชสมบัติด้วยความเป็นธรรมบ้าง ด้วยความไม่เป็นธรรมบ้าง เหมือนบิดามารดาของสรรพสัตว์ภายในแว่นแคว้น
ยังมีต่อ กุลเทวดา ก็ ณ กาลสมัยนั้น ในแคว้นของพระราชาสุเรศวรประภะนั้น ได้มีเศรษฐีคนหนึ่ง นามว่ ชฏินธร
เขาเป็นแพทย์รักษาโรค ที่รอบรู้เรื่องธาตุอย่างยิ่ง มีความรอบรู้เรื่องอายุรแพทยศาสตร์ถึง 8 สาขา ยังมีอีก กุลเทวดา ก็โดยกาลสมัยนั้นชฏินธรเศรษฐีมีบุตรคนหนึ่ง นามว่า ชลวาหนะ เศรษฐีบุตร เป็นผู้ที่มีรูปงามน่าเลื่อมใสศรัทธา มีผิวพรรณงดงามยิ่ง มีความรอบรู้ในศาสตร์ต่างๆ ได้เข้าใจถึงกระบวกศาสตร์ทั้งปวง ฉลาดในการเขียนและการคำนวณตัวเลข เป็นผู้มีศิลปะทุกชนิด เพราะฉะนั้นและ กุลเทวดา เมื่อสัตว์ทั้งหลายหลายแสนในสมัยนั้น ในแดนของพระเจ้าสุเรศประภะ เป็นผู้ประสบโรคนานาชนิดเบียดเบียน ได้รับความทุกขเวทนา ไม่สบายใจ ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส.
ยังมีต่อ กุลเทวดา ก็โดยกาลสมัยนั้น เศรษฐีบุตร ชลวาหนะนั้น ได้เกิดเมตตาจิตคิดสงสารสรรพสัตว์หลายแสนคนที่ถูกพยาธิโรคต่างๆ เบียดเบียนว่า สรรพสัตว์หลายแสนคนที่ถูกพยาธิโรคเบียดเบียน ได้รับทุกขเวทนา มีความทุกข์ใอย่างแสนสาหัส เศรษฐีชฏินธร บิดาของเรานี้ก็เป็นหมดรักษาโรคเชี่ยวชาญเรื่องธาตุเป็นอย่างมาก มีความรอบรู้ทางอายุรแพทยศาสตร์ถึง 8 สาขาเป็นผู้เฒ่า ที่แก่ชรา ง่อนแง่น สูงอายุ อยู่ในฐานะเป็นผู้ชรา กายก็สั่น ต้องใช้ไม้เท้า แต่ต้องเดินทางไปทุกหนแห่งที่เป็นหมู่บ้าน นิคม รัฐ และราชธานี เพื่อช่วยสรรพสัตว์หลายแสนคนเหล่านี้ ที่ถูกพยาธิโรคต่างๆ เบียดเบียนให้หายจากโรคต่างๆ เราจึงควรเข้าไปหาบิดาชฏินธร แล้วถามถึงภูมิปัญญานั้น. ครั้นแล้ว เราจะเข้าไปทุกหนทุกแห่งที่เป็นหมู่บ้าน เมือง นิคม ชนบท รัฐ และราชธานี ด้วยภูมิปัญญาเรื่องธาตุที่ถามมานั้น ครั้นเข้าไปสู่ถิ่นใดๆ เราจะช่วยเหลือสรรพสัตว์หลายแสนคนเหล่านั้น ที่ถูกพยาธิโรคเบียดเบียนให้หายจากโรคต่างๆ
ยังมีอีก กุลเทวดา ก็โดยกาลสมัยนั้น เศรษฐีบุตรชลวาหนะ ก็ได้เข้าไปหาเศรษฐีชฏินธร บิดาของตน ครั้นเข้าไปถึงแล้ว ได้น้อมศีรษะลงวันทาที่เท้าของเศรษฐีชฏินธร ผู้เป็นบิดาของตน แล้วยืนพนมมือในที่เดียวกันนั่นเอง เศรษฐีบุตรชลวาหนะ ผู้ยืนอยู่ในที่เดิม ได้ถามถึงภูมิปัญญาเรื่องธาตุกับชฏินธรเศรษฐีบิดาของตน เป็นคาถาเหล่านี้ว่า
1 เมื่อใด ธาตุที่ครองอินทรีย์จึงจะวิปโยค เป็นเหตุให้เกิดโรคแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย
2 บริโภคอาหารอย่างไร จึงจะให้ความสุขตลอดเวลา และทำอย่างไร ไฟธาตุในร่างกายจึงไม่กำเริบ
3 จะทำการรักษาโรคลม โรคดี โรคเสลดได้อย่างไร เมื่อเกิดโรคระคนพร้อมกัน จะรักษาให้หายได้อย่างไร
4 เมื่อใด คนทั้งหลาย จึงจะมีโรคลมกำเริบ เมื่อใด จะมีโรคดีกำเริบ และเมื่อใด จะมีโรคเสลดกำเริบ
ครั้งนั้น ชฏินธรเศรษฐี เมื่อทราบวัตถุประสงค์แล้ว จึงได้อธิบายภูมิปัญญาเรื่องธาตุ แก่เศรษฐีบุตรชลวาหนะ เป็นคาถาเหล่านี้ว่า
5 สามเดือน เป็นฤดูฝน อีกสามเดือนเรียกว่า ฤดูใบไม้ร่วง สามเดือนเช่นกันเป็นฤดูหนาว อีกสามเดือนเป็นฤดูร้อน
6 การหมุนเวียนของเดือนอย่างนี้ จึงเป็นหกฤดู จึงมี 12 เดือนเรียกว่า 1 ปี ข้าว และน้ำ ย่อมเปลี่ยนไปตามฤดูกาล แพทย์ทั้งหลายจึงได้อธิบายภูมิปัญญาไว้
7 ธาตุอินทรีย์ก็จะเปลี่ยนไปตามฤดูกาลของปี เมื่ออินทรีย์เปลี่ยน โรคต่างๆก็จะเกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย
8 ในการเปลี่ยนฤดูทุก 3 เดือน รวม 4 ครั้ง แพทย์ได้จัดเป็นฤดูเพื่อกำหนดภูมิปัญญาเรื่องธาตุ 6 แล้วจึงกำหนดรู้อาหารและยาตามธาตุที่เปลี่ยนแปลง
9 ธาตุลมมีมากจะกำเริบในฤดูฝน ดีจะกำเริบในฤดูใบไม้ร่วงที่อากาศโปร่ง ทั้งลมและดีระคนกัน จะกำเริบในฤดูหนาว เสมหะมีมากจะกำเริบในฤดูร้อน
10 รสมัน รสเผ็ดร้อน รสเค็ม รสเปรี้ยว เหมาะกับฤดูฝน
รสเผ็ดร้อน รสหวาน รสเย็น เหมาะกับฤดูใบไม้ผลิ
รสหวาน รสเปรี้ยว รสเผ็ดร้อน เหมาะกับฤดูหนาว
รสหยาบ (รสที่ไม่ความเป็นมัน) รสร้อน รสเผ็ด เหมาะกับฤดูร้อน
11 เพียงครู่หนึ่งที่บริโภคเข้าไป เสมหะที่มีอยู่มากก็จะกำเริบ เมื่อเสมหะเปลี่ยนไป น้ำดีที่มีอยู่มากก็จะกำเริบ เมื่อน้ำดีเปลี่ยนไป ลมที่มีอยู่มากก็จะกำเริบ ความกำเริบของธาตุมีองค์ประกอบ 3 อย่างนี้แล
12 ควรบำรุงด้วยอาหารแก่คนที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ ควรทำการถ่ายท้องแก่ผู้ที่มีดีบวม ถ้าระคนกับเสมหะ ควรให้ยาระงับที่เป็นคุณแก่โรคทั้งสาม
13 เมื่อธาตุลมระคนกับน้ำดี ก็จะเกิดเสมหะรวมอยู่ด้วย แพทย์ควรประกอบข้าว น้ำ และยา ตามกาล ธาตุ และภูมิประเทศที่อยู่อาศัย
ได้ยินว่า ครั้งนั้น เศรษฐีบุตร ชลวาหนะ ได้จบการศึกษาอายุรแพทย์ทั้ง 8 สาขาโดยสมบูรณ์ จากการถามถึงภูมิปัญญาเรื่องธาตุที่มีลักษณะอย่างนี้ ยังมีต่อ กุลเทวดา ก็โดยกาลสมัยนั้น เศรษฐีบุตรชลวหนะ ได้เข้าไปในแคว้นของพระราชสุเรศวรประภะ ทุกหมู่บ้าน เมือง นิคม ชนบท รัฐ และราชธานี ได้ทำให้สัตว์หลายแสนคน ที่ถูกพยาธิโรคเบียดเบียน หายเป็นปกติ มีสุขภาพดี เขาได้ประกาศตนเองว่า ท่านทั้งหลายอย่ากลัว ข้าพเจ้าเป็นแพทย์ ข้าพเจ้าจะรักษาท่านทั้งหลายให้หายจากโรคต่างๆ ดูก่อนกุลเทวดา เมื่อได้ฟังคำประกาศอย่างนี้ของเศรษฐีบุตรชลวาหนะนั้น สรรพสัตว์หลายโกฏิหมื่นแสนคนได้เกิดความยินดีเป็นอย่างมาก พวกเขาได้รับความสุขกาย จึงมีปีติโสมนัสอย่างหาที่สุดมิได้ ก็โดยกาลสมัยนั้น สัตว์หลายโกฏิหมื่นแสนคนที่ถูกพยาธิโรคเบียดเบียน ได้รับความรื่นเริงหายจากโรคต่างๆ ทุกคนจึงกลายเป็นผู้ไม่มีโรคและไม่มีความเดือดร้อนใจ พวกเขาจึงกลายเป็นผู้มีพละกำลังและมีความเพียรเหมือนแต่ก่อน ยังมีต่อ กุลเทวดา ก็โดยกาลสมัยนั้น สรรพสัตว์หลายโกฏิหมื่นแสนคน ได้ถูกพยาธิโรคเบียดเบียนที่รุนแรงกว่า ชนเหล่านั้นทั้งหมด ได้เข้าไปหาเศรษฐีบุตรชลวาหนะ เขาได้บอกยาสมุนไพรต่างๆ ให้แก่สัตว์โกฏิหมื่นแสนคนเหล่านั้นที่ถูกพยาธิโรคต่างๆ เบียดเบียน เศรษฐีบุตรชลวาหนะ ได้ช่วยสัตว์หลายโกฏิหมื่นแสนคนที่ถูกพยาธิโรคเบียดเบียนในราชธานีของพระสุเรศวรประภะราชา ให้หายจากโรคนานาชนิด ด้วยประการฉะนี้แล
ปริเฉท 17 ชื่อพยาธิประศมนปริวรรต ในศรีสุวรรณประภาโสตตสูตเรนทรราชสูตร มีเพียงเท่านี้
ปริเฉท 18
ชลวาหนัสยมัตสยไวเนยปริวรรต
ว่าด้วยปลาที่ควรแนะนำของชลวาหนะ
ดูก่อนกุลเทวดา สรรพสัตว์ในแคว้นของพระสุเรศวรประภะราชา ที่ได้รับการช่วยเหลือจากเศรษฐีบุตรชลวาหนะ ได้หายจากโรค เป็นผู้โรคน้อย จนร่างกายมีกำลังเพิ่มขึ้นเหมือนเดิม ทั้งหมดจึงมีความยินดี มีความสุขเป็นอย่างมาก ได้เล่น ได้เที่ยว ได้ให้ทาน ได้ทำบุญ เศรษฐีบุตรชลวาหนะ เป็นผู้รักษาโรค เป็นผู้ให้ความรู้และความสุขเป็นจำนวนมาก ท่านจะได้เป็นพระโพธิสัตว์อย่างแน่นอน ท่านได้จบการศึกษาอายุรแพทย์ถึง 8 สาขาอย่างสมบูรณ์ เศรษฐีบุตรมีภรรยาคนหนึ่งนามว่า ชลามพุชครภา ดูก่อนกุลเทวดา ชลามพุชครภา ภรรยาของชลวาหนะนั้นมีบุตร 2 คน คนหนึ่งชื่อ ชลามพร คนที่สอง ชื่อชลครภะ
ดูก่อนกุลเทวดา ก็ครั้งนั้น เศรษฐีบุตร ชลวาหนะ พร้อมกับบุตรทั้งสองคน ได้เข้าไปสู่หมู่บ้าน เมือง นิคม ชนบท รัฐ และราชธานีเหมือนที่เคยปฏิบัติ
ดูก่อนกุลเทวดา ต่อมาอีกกาลสมัยหนึ่ง เศรษฐีบุตรชลวาหนะ ได้เข้าไปสู่ป่าที่กันดารแห่งหนึ่ง ในท่ามกลางป่านั้น เขาได้เห็นสุนัขป่า สุนัขจิ้งจอก กา และนกอื่นๆ ที่กินเนื้อ ได้วิ่งไปตามทิศทางนั้น ซึ่งมีสระน้ำชื่อว่า อฏวีสัมภวา ในป่าที่กันดารนั้น ครั้นเห็นแล้ว จึงเกิดความสงสัยว่า สุนัขป่า สุนัขจิ้งจอก กา และนกทั้งหลายวิ่งไปสู่ทิศทางนั้น เพื่ออะไร เขาจึงเกิดความคิดว่า ทำอย่างไรหนอ? เราจึงจะเข้าไปสู่ทิศทางที่สุนัขป่า สุนัขจิ้งจอก กา และนกอื่นๆ ที่กินเนื้อเป็นอาหารวิ่งเข้าไป
ดูก่อนกุลเทวดา ครั้งนั้น เศรษฐีบุตรชลวาหนะ ได้เดินไปโดยรอบตามลำดับ จนมาถึงสระใหญ่ชื่อ อฏวีสัมภวะ ในป่านั้น ในสระใหญ่นั้นมีปลาอยู่หมื่นตัว เขาได้เห็นปลาหลายร้อยตัวในสระนั้นกำลังจะขาดน้ำ เขาจึงเกิดการุณย์จิตต่อปลานั้น ณ ที่สระนั้น เขาได้เห็นเทวดาได้ปรากฏกายออกมาครึ่งหนึ่ง และเทวดานั้นได้กล่าวกับเศรษฐีบุตรชลวาหนะว่า ดีละ ดีแล้วกุลบุตร ท่านชื่อว่าเป็นผู้นำน้ำมา (ชลวาหนะ) ก็จงให้น้ำแก่ปลาเถิด เพียงแต่ท่านกล่าวคำว่า ชลวาหนะ 2 ครั้งเท่านั้น น้ำก็จะมา ต่อจากนั้น ท่านจงทำตามสมควรแก่ตนเถิด ชลวาหนะจึงถามว่า ข้าแต่เทวดา ปลาเหล่านี้มีจำนวนเท่าใด เทวดาตอบว่า ปลามี 10,000 ถ้วน
ดูก่อนกุลเทวดา ครั้งนั้น เศรษฐีบุตรชลวาหนะได้เกิดการุณย์จิตเป็นอย่างยิ่ง ดูก่อนกุลเทวดา ก็สมัยนั้น น้ำใสสะอาดก็ได้บังเกิดขึ้นในสระใหญ่อฏวีสัมภวะนั้น ปลาหมื่นตัวที่กำลังขาดน้ำใกล้ตายก็ได้ว่ายไปตามน้ำนั้น ดูก่อนกุลเทวดา ครั้งนั้น เศรษฐีบุตรชลวาหนะ ได้เดินสำรวจไปในทิศทั้ง 4 ในทิศทางที่เศรษฐีบุตรชลวาหนะเดินไปนั้น ปลาหมื่นตัวได้เพ่งมองชลวาหนะด้วยความห่วงใยยิ่ง.
ดูก่อนกุลเทวดา เศรษฐีบุตรชลวาหนะ ได้เที่ยวสำรวจไปทั้ง 4 ทิศ เขาได้เดินหาน้ำ แต่ก็ไม่พบน้ำในป่านั้น เขาได้เดินสำรวจไปทั่วทั้ง 4 ทิศ เขาได้เห็นกลุ่มต้นไม้ใหญ่ในที่ไม่ไกลนัก จึงได้ปีนขึ้นไปตัดกิ่งไม้ นำไปที่สระน้ำ เมื่อไปถึงสระแล้ว จึงได้จัดทำกิ่งไม้เป็นที่บังเงาให้ปลา 10,000 ตัวนั้น ดูก่อนกุลเทวดา ครั้งนั้น เศรษฐีบุตรชลวาหนะ ได้เพียรพยายามหาแหล่งที่มาของน้ำในสระว่า น้ำไหลออกมาจากจุดใด เขาได้แสวงหาไปทั่วทั้ง 4 ทิศ ก็ไม่พบแหล่งกำเนิดของน้ำ เขาได้เดินตามกระแสน้ำไหลนั้นไปเรื่อยๆ ดูก่อนกุลเทวดา ได้ยินว่า แหล่งกำเนิดของน้ำนั้น ก็คือมหานทีที่ชื่อว่า ชลาคมาจากสระใหญ่ในป่าอฏวีสัมภวะนั่นเอง ก็โดยกาลสมัยนั้น ก็โดยกาลสมัยนั้น คนชั่วกลุ่มหนึ่งมีความต้องการปลาหมื่นตัวนั้น จึงได้ผันแม่น้ำนั้นให้ไหลลงสู่เหวลึก จนน้ำจำนวนมากไม่อาจไหลมาสู่ปลาเหล่านั้นได้ เศรษฐีบุตร ครั้นเห็นดังนั้นจึงคิดว่า สายน้ำนี้ แม้ใช้คนถึง 1,000 คน ก็ไม่สามารถปิดกั้นให้เหมือนเดิมได้ป่วยกล่าวไปไยถึงเราเพียงคนเดียวที่จะกั้นได้เล่า เขาถึงได้กลับไป
ดูก่อนกุลเทวดา ครั้งนั้น เศรษฐีบุตรชลวาหนะได้รีบเดินทางโดยด่วนได้เข้าไปหาพระสุเรศวรประภะราชา ครั้นเข้าไปถึงแล้ว ได้น้อมศีรษะลงถวายบังคมที่พระบาททั้งสองของพระสุเรศวรประภะราชา แล้วนั่งอีกที่หนึ่ง แล้วทูลถามขึ้นว่า ข้าพระองค์ทราบว่า ในแคว้นของพระองค์ เทพและสรรพสัตว์ทั้งหลายในหมู่บ้าน เมือง นิคม ชนบท รัฐและราชธานี ทุกสถานที่ได้สงบจากโรคแล้ว ในป่า ณ สถานที่โน้น มีสระใหญ่ชื่อว่า อฏวีสัมภวะ ในสระนั้นมีปลาอยู่ 10,000 ตัว ได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์และกำลังจะขาดน้ำ ดังนั้น ขอให้องค์เทวะ โปรดประทานช้าง 20 เชือก แก่ข้าพระองค์เพื่อให้ข้าพระองค์ได้คืนชีวิตแก่สัตว์เดรัจฉานเหล่านั้น พระสุเรศวรประภะราชา ทรงมอบให้ทำทุกอย่างเหมือนที่ทำกับมนุษย์ จึงรับสั่งอำมาตย์ว่า จงจัดช้าง 20 เชือกให้แก่ราชแพทย์ผู้ยิ่งใหญ่นี้เถิด อำมาตย์กล่าวว่า ข้าแต่ท่านมหาสัตว์ ขอท่านจงไปรับช้าง 20 เชือกได้ที่โรงช้าง แล้วทำความสุขให้บังเกิดแก่สัตว์ทั้งหลายเถิด
ดูก่อนกุลเทวดา เมื่อชลวาหนะนำช้าง 20 เชือก พร้อมกับบุตรของตนคือ ชลามพร และชลครภะกลับไปสู่ป่านั้น ได้นำถุงใส่น้ำไปด้วย 100 ถุงพร้อมกับไฟสำหรับต้มสุราไปด้วย ได้เดินทางไปที่แม่น้ำ ชลาคมา เอาน้ำบรรจุใส่ถุงจนเต็ม บรรทุกบนหลังช้าง แล้วเดินทางต่อไปที่สระใหญ่ อฏวีสัมภวะ โดยด่วน ครั้นไปถึงแล้ว ได้เทน้ำลงจากหลังช้าง ทำให้สระนั้นมีน้ำมากขึ้นทั้ง 4 ด้าน แล้วจึงไปสู่ด้านอื่นๆอีก ทั้ง 4 ทิศ ชลวาหนะได้หมุนเวียนไปทุกทิศเพื่อให้ปลา 10,000 ตัวนั้น ว่ายน้ำได้.
ดูก่อนกลุเทวดา ครั้งนั้น ชลวาหนะได้มีความคิดว่า เพราะความต้องการอะไร ปลา 10,000 ตัวเหล่านี้จึงว่ายตามเรา เขาจึงเกิดความคิดอีกว่า ปลาเหล่านี้คงถูกไฟคือความหิวเบียดเบียน จึงต้องการอาหารที่เรามีอยู่ เราจึงควรให้อาหารด้วย ดูก่อนกุลเทวดา ครั้งนั้น ชลวาหนะ ได้กล่าวกับ ชลามพร บุตรขอตนว่า ดูก่อนบุตร เจ้าจงไปสุ่บ้านของตนโดยเร็ว พึงไปโดยด่วนที่สุดไปบอกแก่เศรษฐีผู้เป็นปู่ว่า ข้าแต่ปู่ผู้เจริญ บิดาชลวาหนะสั่งมาว่า “โภชนะใดๆ ที่มีอยู่ในบ้านนี้ ขอให้บิดา มารดา ภรรยา พี่ชาย น้องสาว คนใช้ชายหญิงและคนงานทุกคน ช่วยกันรวบรวมทุกอย่างให้เป็นกองเดียวกัน แล้วนำขึ้นหลังช้างของชลามพร ไปส่งให้แก่ชลวาหนะโดยด่วน.”
ครั้งนั้น ชลามพร ผู้เป็นบุตรได้ขึ้นสู่หลังช้าง แล้วรีบนำสิ่งของไปโดยเร็ว เขาได้เข้าไปสู่ที่อยู่ของตน ครั้นเข้าไปแล้ว ได้รู้สึกยินดีกับภารกิจที่สำเร็จแล้ว ในเรือนของปู่ ได้เล่ารายละเอียดทุกอย่างที่ปู่จัดสิ่งของให้แก่ชลามพร. ครั้งนั้น เศรษฐีบุตร ชลามพร ได้นำโภชนะนั้นขึ้นหลังช้าง ครั้นอยู่บนหลังช้างเรียบร้อยแล้ว ก็เข้าไปสู่สระใหญ่ อฏวีสัมภวะ.
เมื่อชลวาหนะได้เห็นชลามพร ผู้เป็นบุตรของตนมา ก็มีความยินดียิ่งนักไปรับโภชนะจากบุตรถึงที่เนินสูง จัดแยกแล้วโปรยลงสระน้ำนั้น ปลา 10,000 ตัวต่างก็อิ่มเอมด้วยอาหารนั้น. เศรษฐีบุตรได้มีความคิดอีกว่า สมัยหนึ่ง เราได้ยินพระภิกษุพูดที่สำนักในป่าว่า เมื่อใกล้จะตาย ผู้ใดได้ฟังพระนามของพระรัตนะศิขีตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้นั้นจะไปบังเกิดในโลกสวรรค์ ทำอย่างหนอ? เราะจะให้ปลาเหล่านี้ได้ฟังพระนามของ พระรัตนะศิขีตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็โดยสมัยนั้น สัตว์ทั้งหลายในชมพูทวีปได้มีความเห็นแตกแยกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งศรัทธาต่อมหายาน อีกฝ่ายหนึ่งรังเกียจ
ได้ยินว่า ณ เวลานั้น เศรษฐีบุตรชลวาหนะ ได้หย่อนเท้าลงไปยืนในสระใหญ่แค่เข่า แล้วเปล่งคำอ้อนวอนว่า ขอความนอบน้อมจงบมีแด่พระผู้มีพระภาครัตนะศิขีตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ประพฤติโพธิสัตวจรรยา ในกาลก่อน ได้ตั้งประณิธานว่า เมื่อใกล้จะตาย หากสัตว์เหล่าใดในสิบทิศได้ฟังชื่อของข้าพเจ้าแล้ว สัตว์เหล่านั้นครั้นจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว จะไปบังเกิดในสภาของเทวดาชั้นไตรตรึงษ์.
ครั้งนั้น เศรษฐีบุตรชลวาหนะ ได้แสดงธรรมนี้แก่ปลาเหล่านั้น ซึ่งอยู่ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉานว่า เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนั้นจึงเกิด เพราะสั่งนี้เป็นเหตุให้เกิดเพราะอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดกรรม กรรมเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจับให้เกิดนามรูป นามรูปเป็นปัจจัยให้เกิดอายตนะ 6 อายตนะ 6 เป็นปัจจัยให้เกิดผัสสะ ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา ตัณหาเป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน อุปาทานเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ภพเป็นปัจจัยให้เกิดชาติ ชาติเป็นปัจจัยให้เกิดชรา มรณะ โศกปริเทวทุกข โทมนัสและอุปายาสะ เหตุเกิดของกองทุกข์มีเกี่ยวเนื่องกันอย่างนี้.
เพราะอวิชชาดับ กรรมก็ดับ เมื่อกรรมดับ วิญญาณก็ดับ เมื่อวิญญาณดับ นามรูปก็ดับ เมื่อนามรูปดับ อายตนะ 6 ก็ดับ เมื่ออยาตนะ 6 ดับ ผัสสะก็ดับ เมื่อผัสสะดับ เวทนาก็ดับ เมื่อเวทนาดับ ตัณหาก็ดับ เมื่อตัณหาดับ อุปาทานก็ดับ เมื่ออุปาทานดับ ภพก็ดับ เมื่อภพดับชาติก็ดับ เมื่อชาติดับ ชรามรณะโศกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสะก็ดับกองทุกข์ใหญ่ที่เกี่ยวเนื่องถึงกันก็ดับ
ดูก่อนกุลเทวดา ในกาลสมัยนั้น เศรษฐีบุตรชลวาหนะ ได้แสดงธรรมิกถานี้ แก่สัตว์เดรัจฉาน (ปลา) เหล่านั้นอย่างนี้ แล้วกลับไปสู่เรือนของตน พร้อมกับบุตรทั้งสองคืน ชลามพรและชลครภะ
ต่อมาอีกกาลสมัยหนึ่ง เศรษฐีบุตรชลวาหนะ ได้จัดงานฉลองความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ เมื่อเสร็จงานพิธีฉลอง จึงได้นอนพักบนที่นอน ณ กาลครั้งนั้น เขาได้ปรากฏมหานิมิตขึ้นว่า ได้ล่วงเลยไปเพียงราตรีเดียวเท่านั้น ปลา 10,000 ตัวเหล่านั้นก็ได้ตายลง แล้วไปยังเกิดในสภาของเทพชั้นไตรตรึงษ์ ทันทีที่บังเกิด พวกเขาได้มีจิตคิดกังวลว่า กุศลกรรมอะไร เป็นมูลเหตุให้พวกเรามาเกิดในเทพสภาชั้นไตรตรึงษ์ พวกเขาได้ปรากฏความจริงว่า พวกเราได้เกิดเป็นปลา 10,000 ตัวในชมพูทวีปนี้ แต่เศรษฐีบุตรชลวาหนะได้ทำให้พวกเราซึ่งเป็นสัตว์เดรัจฉาน ได้เอิบอิ่มด้วยน้ำที่สะอาดและอาหารที่ดีเลิศ ทั้งได้แสดงธรรมที่ซาบซึ้ง ทำให้พวกเราได้รับความเอิบอิ่มเป็นอย่างมาก ทำให้พวกเราได้ฟังพระนามของพระรัตนะศิขีตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า. ด้วยกุศลกรรมนั้น ที่เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พวกเราได้มาเกิดในสวรรค์ ทำอย่างไรหนอ? พวกเราจึงจะเข้าไปหาเศรษฐีบุตรชลวาหนะได้ ครั้นเข้าไปหาแล้ว จักทำการบูชาแก่เขา.
ครั้งนั้น หมื่นเทพบุตรเหล่านั้น ได้อันตรธานจากสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ ไปปรากฏตนที่บ้านของเศรษฐีชลวาหนะ ณ กาลเวลานั้น เศรษฐีชลวาหนะได้นอนอยู่บนที่นอน เทพบุตรเหล่านั้นได้นำอัญมณี มุกดาหารอีกหนึ่งหมื่นไปวางไว้เหนือศีรษะของเศรษฐีนั้น อัญมณี มุกดาหารอีกหนึ่งหมื่นวางไว้ที่ปลายเท้าของเขา อัญมณีมุกดาหารอีกหนึ่งหมื่น วางไว้ที่ด้านขวาของเขา อัญมณี มุกดาหารอีกหนึ่งหมื่น วางไว้ด้าซ้ายของเขาฝนดอกมณฑารพได้โปรยลงในท่ามกลางบ้าน สูงประมาณเข่า กลองทิพย์ก็ได้ประโคมขึ้น เศรษฐีชลวาหนะจึงได้ตื่นขึ้น เช่นเดียวกับชาวชมพูทวีปทั้งปวงก็ได้ตื่นขึ้น ครั้งนั้น หมื่นเทพบุตรเหล่านั้น ได้หายเข้าไปในท้องฟ้า เทพบุตรเหล่านั้น ได้โปรยดอกมณฑารพลงสู่ที่ว่างต่างๆ ในแคว้นของพระสุเรศวรประภะราชา แล้วเข้าไปสู่ทิศที่มีสระใหญ่อฏวีสัมภวะ แล้วโปรยฝนดอกมณฑารพลงในสระนั้น แล้วอันตรธานจากสระนั้นไปปรากฏในเทวสถานอีกครั้ง พวกเขาได้อิ่มเอิบกับกามคุณ 5 ในสวรรค์นั้น ได้เล่นสนุกสนาน ได้สัญจรไปโดยรอบ ได้เสวยศรีเสาวภาคย์ที่ยิ่งใหญ่ ในที่สุด ยามรุ่งอรุณในชมพูทวีป ได้ปรากฏขึ้นอีกครั้ง
ครั้งนั้น พระสุเรศวรประภะราชา ได้ตรัสถามประมุขของอำมาตย์ว่าพราะอะไร เมื่อคืนจึงได้ปรากฏนิมิตเหล่านี้ ประมุขอำมาตย์ได้กราบทูลว่าเป็นเพราะเทพบันดาล ฝนมุกดาหาร 40,000 ได้โปรยลง และดอกมณฑารพที่เป็นทิพย์ก็ได้โปรยลง เพื่อชลวาหนะเศรษฐีบุตร พระราชาตรัสว่า สาธุชนทั้งหลาย ควรส่งเสียงสดุดีเศรษฐีบุตรชลวาหนะ ด้วยถ้อยคำที่เป็นมงคล
ครั้งนั้น คณะมหาอำมาตย์ทั้งหลายได้ไปที่บ้านของชลวาหนะ ครั้นไปถึงแล้ว ได้กล่าวกับเศรษฐีชลวาหนะว่า พระสุเรศวรประภะราชา ให้มาเชิญท่าน ครั้งนั้น เศรษฐีชลวาหนะ พร้อมด้วยมหาอำมาตย์ได้เข้าไปเฝ้า พระสุเรศวรประภะราชา ครั้นเข้าไปแล้ว ได้นั่งในที่เหมาะสมด้านหนึ่ง พระราชาตรัสถามว่า ดูก่อนเศรษฐีชลวาหนะ ท่านทราบหรือไม่ว่า ศุภนิมิตเช่นนี้ที่ปรากฏขึ้นเมื่อคืน เกิดขึ้นได้อย่างไร ลำดับนั้น เศรษฐีชลวาหนะได้กราบทูลพระสุเรศวรประภะราชาว่า ข้าแต่เทวะ ข้าพระองค์รู้ว่า ปลาหมื่นตัวตายแล้วแน่ พระราชาตรัสว่า ท่านรู้ได้อย่างไร ชลวาหนะเศรษฐีจึงกราบทูลว่า ข้าแต่เทวะ ขอให้ชลามพรไปดูที่สระใหญ่นั้นเถิดว่า ปลาหมื่นตัวเหล่านั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือว่าตายแล้ว. พระราชาตรัสว่า อย่างนั้นก็ได้
ครั้งนั้น เศรษฐีบุตรชลวาหนะ ได้กล่าวกับชลามพรผู้เป็นบุตรว่า ดูก่อนกุลบุตร เจ้าจงไปดูที่สระอฏวีสัมภวะซิว่า ปลา 10,000 ตัว ยังมีชีวิตอยู่หรือตายแล้ว สำดับนั้น เศรษฐีบุตรชลามพรได้มุ่งหน้าไปที่อฏวีสัมภวะโดยด่วน ครั้นไปถึงแล้ว ได้เดินดูโดยรอบ พบว่าปลา 10,000 ตัว ตายหมดแล้ว และมีดอกมณฑารพจำนวนมากที่โปรยลง จึงกลับไปเล่าเรื่องที่เห็นมานั้นแก่บิดาว่า ปลาได้ตายหมดแล้ว ครั้งนั้น เศรษฐีบุตรชลวาหนะ เมื่อได้ฟางคำบอกเล่าจากชลามพรผู้เป็นบุตร จึงเข้าไปเฝ้าพระสุเรศวรประภะราชา แล้วกราบทูลเรื่องทั้งหมดตามที่ปรากฏว่า ขอองค์เทวะพึงทราบเถิดว่า ปลาทั้งหมด 10,000 ตัวที่ตายแล้วนั้น ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นไตรตรึงษ์ศุภนิมิตเช่นนั้นจึงปรากฏในราตรีที่แล้ว ก็เพราะอานุภาพของเทพบุตรเหล่านั้น พวกเขาได้โปรยอัญมณี มุกดาหาร 40,000 และดอกมณฑารพจำนวนมากลงที่บ้านของข้าพระองค์ ขณะนั้น พระราชาได้รู้สึกยินดีปรีดายิ่งนัก.
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกับกุลเทวดาโพธิสัตว์สมุจจยานั้นว่า ดูก่อนกุลเทวดา ท่านคิดว่า พระสุเรศวรประภะราชา ในสมัยนั้นเป็นบุคคลอื่นหรือ? ท่านไม่ควรคิดเห็นอย่างนั้น เพราะอะไรจึงกล่าวอย่างนั้น? เพราะว่าพระศากยะผู้มีอาชญาในมือ(พระยม) ได้เกิดเป็นพระสุเรศวรประภะราชา ในสมัยนั้น ดูก่อนกุลเทวดา ท่านคิด่วาเศรษฐีชฏินธรในสมัยนั้นเป็นบุคคลอื่นหรือ? เช่นกัน ท่านไม่ควรคิดเห็นอย่างนั้น เหตุใดจึงกล่าวอย่างนั้น เพราะว่า พระเจ้าสุทโธทนะได้เกิดเป็นเศรษฐีชฏินธรในสมัยนั้น.
ดูก่อนกุลเทวดา ท่านยังคิดว่า เศรษฐีชลวาหนะในสมัยนั้น เป็นบุคคลอื่นอยู่อีกหรือ? ท่านไม่ควรคิดเห็นอย่างนั้น เหตุใดจึงกล่าวอย่างนี้ก็เพราะว่า เศรษฐีชลวาหนะในสมัยนั้นก็คือเรานี่เอง.
ดูก่อนกุลเทวดา ท่านคิดว่า ชลาพุชครภา ภรรยาของเศรษฐีบุตรชลวาหนะในสมัยนั้น เป็นบุคคลอื่นหรือ? ท่านไม่ครคิดเห็นอย่างนั้น. เหตุใดจึงกล่าวอย่างนี้ ก็เพราะว่า ชลาพุชครภา ภรรยาของเศรษฐีบุตรชลวาหนะในสมัยนั้น ก็คือนางศากยกันยานามว่า โคปา บุตรที่มีนามว่าชลามพร ของเศรษฐีในสมัยนั้น ก็คือพระราหุผู้เจริญนี่เอง บุตรนามว่าชลครภะ ของเศรษฐีในสมัยนั้น ก็คือพระอานนท์ ดูก่อนกุลเทวดา ท่านคิดว่าปลา 10,000 ตัวในสมัยนั้นเป็นคนอื่นหรือ? ท่านไม่ควรคิดเห็นอย่างนั้น เหตุใดจึงกล่าวอย่างนี้ ก็เพราะว่า หมื่นเทพบุตรที่มีชวลนานตรเชโชราชเป็นหัวหน้านั้น ก็คือปลา 10,000 ตัวในสมัยนั้น ที่เราให้เอิบอิ่มด้วยน้ำและอาหารอย่างดี ที่เราแสดงธรรมให้ซาบซึ้งจนเกิดความยินดี ที่เราให้ได้ฟังชื่อของพระรัตนะศิขีตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะกุศลกรรมนั้นเป็นเหตุ พวกเขาจึงได้มาสู่สำนักของเรา ณ ที่นี้ แล้วได้รับการพยากรณ์ในอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ กาลบัดนี้ ยิ่งกว่านั้น พวกเขามีความเคารพในพระธรรมคำสอน ด้วยความปีติ เลื่อมใสยินดี จึงได้รับการพยากรณ์ทั้งปวง
ดูก่อนกุลเทวดา ท่านยังคิดว่า พฤกษาเทวดาในสมัยนั้น เป็นคนอื่นอยู่อีกหรือ? ท่านไม่ควรคิดเห็นอย่างนั้น เหตุใดจึงกล่าวอย่างนี้ ดูก่อนกุลเทวดา เพราะพฤกษาเทวดาในสมัยนั้น ก็คือท่านนี่เอง ดูก่อนกุลเทวดาท่านควรทราบตามนัยที่บรรยายมานี้เถิด เราได้อบรมสัตว์ทั้งหลายจำนวนมากที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ ให้ตั้งอยู่ในพระโพธิญาณ สรรพสัตว์เหล่านั้นจักได้รับภูมิการพยากรณ์ไว้ในอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ดังนี้แล.
ปริเฉท 18 ชื่อว่า ชลวาหนัสยมัตสยไวเนยปริวรรต ในศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร มีเพียงเท่านี้
ปริเฉท 19
วยาฆรีปริวรรต ว่าด้วยแม่เสือ
ยังมีอีก กุลเทวดา พระโพธิสัตวภูตะ ได้สละร่างกายของตนเองให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร พระผู้มีพระภาค ผู้มีรัศมีแห่งคุณต่างๆ จำนวนมากที่บริสุทธิ์แผ่กว้างไพศาล ได้บรรลุพลญาณทัศนะที่ไม่มีใครทำลายได้ มีพระภิกษุ 100,000 รูปแวดล้อม ได้พบกับสิ่งที่สะดุดตา 5 ประการ เมื่อคราวเสด็จจารึกไปตามชนบทปัญจาละ ได้เสด็จถึงป่าดึกดำบรรพ์แห่งหนึ่ง ณ ที่ป่านั้น มีแผ่นดินตำบลหนึ่ง อุดมไปด้วยพื้นหญ้าเหลืองเขียวอ่อนและดอกไม้นานาชนิด ครั้นเห็นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรียกพระอานนท์ผู้มีอายุว่า อานนท์ พื้นดินตำบลนี้งดงามมาก เธอจงกำหนดที่พักของเรา ณ ที่นี่เถิด และจงจัดอาสนะสำหรับตถาคตไว้ ณ ที่นี้ด้วย พระอานนท์ได้จัดอาสนะตามที่พระผู้มีพระภาครับสั่งทุกประการ ครั้นจัดเสร็จแล้ว พระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคอาสนะได้จัดเรียบร้อยแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ผู้ประเสริฐ ผู้เลิศที่สุด ผู้ประทานพรแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ผู้เป็นอริยะ ผู้นำความหลุดพ้นมาให้ ผู้สร้างอมตกถาที่ประเสริฐยิ่ง ขอพระองค์จงประทับนั่ง ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระองค์ได้สถาปนาวงศ์ขึ้นเพื่อให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลาย ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ประทับนั่งบนอาสนะนั้น แล้วตรัสกับพระภิกษุทั้งหลายว่า. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ขอให้เธอทั้งหลายจงตั้งความปรารถนาเพื่อขอพบพระสรีระของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีภารกิจที่กระทำได้ยากยิ่ง
ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกาบพระภิกษุทั้งหลายว่า
1 ข้าแต่พระฤษี บัดนี้ได้เวลาที่เหมาะสมแล้ว ที่ท่านะแสดงอัฐิธาตุของผู้ดำรงอยู่ด้วยคุณธรรม ที่พวกเราไม่สามารถประมาณได้ เพื่อความยินดีปรีดาในสารประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ขอท่านจงอธิบายถึงความดีของอัฐิธาตุนั้น
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงใช้ฝ่าพระหัตถ์ที่อ่อนนุ่มเหมือนกลีบบัวที่บานใหม่ๆ เมื่อฝ่าพระหัตถ์อันมีจารึกเป็นซี่ล้อนับพันตบลงที่พื้นปถพี แผ่นดินก็สั่นไหวแยกออกเป็น 6 ส่วน สถูปที่ประดับด้วยแก้วมณี ก็โผล่ขึ้นจากพื้นแผ่นดินนั้น ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรียกพระอานนท์ผู้มีอายุว่า. ดูก่อนอานนท์ เธอจงเปิดสถูปนี้เถิด ลำดับนั้น พระอานนท์ผู้มีอายุ เมื่อได้รับคำสั่งจากพระผู้มีพระภาค จึงได้เปิดสถูปออกแล้ว ภายในสถูปนั้น พระอานนท์ได้เห็นผอบเงินฝังมุกดาประดับด้วยทอง ครั้นเห็นแล้ว จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค มีผอบเงินอยู่ภายใน พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า เธอควรเปิดผอบให้หมดทั้ง 7 ใบ พระอานนท์ที่ได้เปิดผอบนั้นแล้ว ภายในผอบนั้น พระอานนท์ได้เห็นอัฐิธาตุเป็นเหมือนบัวหิมะ ครั้นเห็นแล้ว จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาค มีอัฐิธาตุที่สวยงามน่าชมยิ่งนัก พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงนำอัฐิธาตุของมหาบุรุษมาเถิด
ลำดับนั้น พระอานนท์ผู้มีอายุ ได้นำพระอัฐิธาตุเหล่านั้น เข้าไปถวายแด่พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคทรงรับพระธาตุทั้งหลายไปประดิษฐานที่เบื้องหน้าพระสงฆ์ แล้วตรัสว่า นี้คืออัฐิธาตุของผู้ได้วิมุตที่ประกอบด้วยคุณประเสริฐยิ่ง ผู้ประกอบด้วยการระงับอินทรีย์ ปัญญา ความอดทน ยศและความอุตสาหะที่ประเสริฐยิ่ง ผู้มีความฉลาด มีความเพียรมาก มีความสันโดษและยินดีในการบริจาคอยู่เสมอ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงไหว้สรีระของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ผู้มีศีลและคุณธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ยากยิ่งและเป็นบุญเขต ลำดับนั้น พระภิกษุทั้งหลาย ต่างก็พอใจประนมมือไว้ที่ศีรษะวันทาสรีระเหล่านั้น
ลำดับนั้น พระอานนท์ผู้มีอายุ ได้ประนมมือกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระผู้มีพระภาคที่บังเกิดขึ้นในโลกทั้งปวง ทั้งในอดีต อนาคตและปัจจุบัน จะเป็นผู้ที่สรรพสัตว์ต้องทำความเคารพ เหตุใดพระตถาคตเอง จึงทำความเคารพอัฐิธาตุเหล่านี้ ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสกับพระอานนท์ผู้มีอายุว่า ดูก่อนอานนท์ พระอัฐิธาตุเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ควรไหว้ ควรเคารพ เหตุใดจึงกล่าวอย่างนั้น ดูก่อนอานนท์ เพราะเราจะให้เจ้าของอัฐิธาตุเหล่านี้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณโดยเร็วพลัน
ดูก่อนอานนท์ เรื่องเคยมีมาแล้ว ในอดีตกาล มีพระราชาองค์หนึ่งนามว่ามหารถะ มีทรัพย์ ธัญญาหาร พาหนะและกำลังพลจำนวนมาก ได้เคลื่อนกำลังพลไป โดยไม่มีใครต่อต้านได้ พระองค์มีโอรส 3 องค์คือ มหาประณาทะ มหาเทวะ และมหาสัตวะ ซึ่งเปรียบได้กับเทพกุมาร ณ ครั้งนั้น พระราชาได้เสด็จไปสู่อุทยานเพื่อทรกีฬา พระกุมารเหล่านั้น ได้เที่ยวไปด้านนี้บ้างด้านโน่นบ้าง ด้วยความยินดี หลงใหลในความงามของดอกไม้ตามธรรมชาติ ในอุทยานนั้น จึงเพลิดเพลินเดินหลงเข้าไปสู่หมุ่ไม้ใหญ่ 12 หมุ่ เมื่อพระกุมารหลงเข้าไปสู่ท่ามกลางป่าเหล่านั้น ก็พลัดพรากจากคนอื่นๆ พระกุมารผู้อยู่ในท่ามกลาป่า ก็เข้าไปสู่หมู่ไม้ใหญ่ทั้ง 12 นั้น ซึ่งเป็นป่าใหญ่ของอุทยาน ที่ไม่สามารถจะมองเห็นสิ่งอื่นใดได้เลย ลำดับนั้น พระมหาประณาทะได้กล่าวกับอนุชาทั้งสองว่า ใจเรารู้สึกหวั่นไหวอย่างไรชอบกลอยู่ จงตามมาเถิด หวังว่าพวกเราคงไม่ถึงฆาตเพราะสัตว์ มหาเทวะจึงกล่าวว่า หม่อมฉันไม่รู้สึกกลัวแต่หม่อมฉันรู้สึกหวั่นใจ ที่ต้องพลัดพรากจากพระชนนีผู้เป็นที่รัก พระมหาสัตว์จึงกล่าวว่า
2 ข้าพเจ้าไม่มีความกลัว และไม่มีความโศกเศร้า สำหรับป่าใหญ่ที่วิเวก ซึ่งมุนีชนชื่นชอบนัก เพราะเหตุนี้ หัวใจของข้าพเจ้าจึงเบิกบาน เพื่อจะได้ประโยชน์อันไพสาลยิ่ง
ลำดับนั้น พระกุมารเหล่านั้น ได้เดินวนเวียนไปถึงโพรงพุ่มไม้ทวาทศะนั้นได้พบแม่เสือตัวหนึ่ง มีลูก 5 ตัว ซึ่งเพิ่งคลอดได้ 7 วันห้อมล้อมอยู่ แม่เสือกำลังกระวนกระวายด้วยความหิวกระหาย มีร่างกายซูบผอมมาก ครั้นเห็นแล้วพระมหาประณาทะจึงกล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ แม่เสือคงคลอดได้เพียง 6 หรือ 7 วัน กำลังเดือดร้อนด้วยความหิว ณ บัดนี้ แม่เสือเมื่อให้อาหารเลี้ยงลูกของตนแล้ว ก็จะตายเพราะความหิว พระมหาสัตว์จึงกล่าวว่า อะไรจะเป็นอาหารสำหรับสัตว์ที่เดือดร้อนอย่างนี้ พระมหาประณาทะ จึงกล่าว
3 เขากล่าวกันว่า ในป่านี้ อาหารอันโอชะของเสือ สุนัขป่า และราชสีห์ทั้งหลาย ก็คือเนื้อที่มีโลหิตสดๆ
พระมหาเทวะกล่าวว่า สัตว์ที่มีความอดอยากเช่นนี้ ร่างกายจะทรมานด้วยความหิวกระหาย กำลังจะอ่อนแอ แทบจะหมดลมหายใจ ไม่สามารถไปแสวงหาอาหารในที่อื่นได้ ใครเล่า จะสละชีวิตของตน เพื่อต้องการรักษาชีวิตสัตว์ มันเป็นสิ่งที่ทำได้ยากยิ่ง พระมหาสัตว์จึงกล่าวว่า
4 ความหมายนี้ สำหรับผู้ยึดติดในร่างกายอย่างเช่นเรานั้น ทำได้ยากยิ่ง แต่สำหรับสัตบุรุษ ผู้หวังจะทำประโยชน์ต่อผู้อื่นแล้ว ไม่ใช่เรื่องยากเลย
อีกอย่างหนึ่ง
5 ในโลกนี้ สัตว์ผู้มีความเมตตากรุณานั้น มีใจยินดีที่จะแบ่งร่างกายของตน ออกเป็นร้อยส่วน เพื่อชีวิตและร่างกายของผู้อื่น เขาจะได้กำเนิดในสวรรค์
ลำดับนั้น พระราชกุมารเหล่านั้น ได้เกิดความกังวลใจอย่างยิ่งว่า นี้คือเสือ จึงเข้าไปเพ่งดูใกล้ๆ อย่างไม่กะพริบตา แต่พระมหาสัตว์เกิดความคิดว่า ณ บัดนี้คือกาลเวลา ที่เราควรทำการบริจาคตนเอง ตั้งแต่ไหนมา
6 ข้าพเจ้าได้ดูแลร่างกายอันเปื่อยเน่านี้มาตลอดกาลนาน ด้วยที่นอน ที่อยู่ ข้าว โภชนะ และพาหนะอย่างดี ร่างกายที่ไม่รู้ภาวะของตนเองมาตามลำดับก็ไม่พ้นจุดจบด้วยการเสื่อมแตกสลายไปตามธรรมชาติ
อีกอย่างหนึ่ง
7 ร่างกายนี้เป็นของส่วนกลาง ไม่สามารถใช้ดำรงชีวิตให้ตลอดไปได้ ข้าพเจ้าจะใช้ร่างกายนี้ให้เป็นเรือ เพื่อข้ามมหาสมุทรคือความชราและมรณะนั้น
อีกอย่างหนึ่ง
8 ข้าพเจ้าจะสละร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ย่อยสลาย เป็นที่เลี้ยงดูพยาธินับร้อย ที่เคลื่อนไหวเต็มอยู่ภายใน การสละร่างกายซึ่งเปรียบได้กับฟองน้ำที่ไม่คงทนถาวร และเป็นที่เลี้ยงดูพยาธินับร้อยนี้ เป็นกิจที่ควรทำอย่างยิ่ง
9 ข้าพเจ้าจักเข้าถึงแดนบริสุทธิ์ ที่ไม่มีความโศกเศร้า ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่มีความสงสัย ไม่มีมลทิน บริบูรณ์ด้วยคุณ มีปัญญาและสมาธิ เป็นต้น ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยคุณของธรรมกายจำนวนร้อย
ได้ยินว่า เมื่อพระมหาสัตว์มีความตั้งใจอย่างนี้ มีจิตที่เปี่ยมด้วยความกรุณา จะสละชีวิตเพื่อพระเชษฐาทั้งสอง จึงกล่าวว่า ท่านพี่ทั้งสอง จงไปเถิด ข้าพเจ้าจะเข้าไปสู่พุ่มไม้ทวาทศะ โดยลำพังแต่ผุ้เดียวเท่านั้น ลำดับนั้น พระกุมารมหาสัตว์ ได้ออกมาจากป่า ณ จุดนั้น เข้าไปสู่ที่อยู่ของแม่เสือแขวนเครื่องนุ่งห่มไว้ที่เถาวัลย์ชายป่า แล้วตั้งประณิธานว่า ขอให้ข้าพเจ้า ผู้มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะสละร่างกาย ซึ่งบุคคลอื่นจะทำได้ยาก ให้เป็นประโยชน์ต่อสัตว์ด้วยความกรุณา ขอให้ข้าพเจ้าได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณอันเป็นบรมสุขด้วยเถิด ขอให้พระโพธิญาณที่ปราศจากโรค ปราศจากความร้อนที่พระชินบุตรบูชาแล้ว จงช่วยให้ข้าพเจ้าได้ผ่านพ้นภัยในมหาสมุทรคือภพทั้งไตรโลก แล้วต่อมา พระมหาสัตว์ได้หมอบลงด้านหน้าของนางเสือ แต่นางเสือเกิดไมตรีจิตไม่คิดจะทำอะไรกับพระโพธิสัตว์ ขณะนั้นพระโพธิสัตว์คิดว่า โอ พยัคฆ์ ช่างมีกำลังอ่อนแอมากจนไม่สามารถลุกขึ้นได้ จึงเดินเข้าไปที่ปากของแม่เสือ พระมหาสัตว์ผู้มีจิตเมตตาก็ไม่ได้รับอันตรายใดๆ พระมหาสัตว์จึงได้จับไม้ไผ่ ซึ่งมีอายุร้อยปี ที่แข็งมาก มาตัดศีรษะของตนเองให้ตกลงที่ใกล้แม่เสือ ทันทีที่ร่างของพระโพธิสัตว์ตกลงสู่พื้น แผ่นดินก็สั่นไหวแยกออกเป็น6 ส่วน เหมือนเรือที่อยู่ในท่ามกลางแม่น้ำ วิ่งไปตามเส้นทาง ฉะนั้น เหมือนรัศมีพระอาทิตย์ที่ถูกราหูจับ ย่อมไม่มีแสงสว่าง ฉะนั้น ฝนดอกไม้ผสมด้วยของหอมที่เป็นทิพย์ ก็ได้โปรยลงมา ครั้งนั้นเทวดาบางกลุ่มไม่อาจจะหักห้ามจิตได้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงได้กล่าวสดุดีพระโพธิสัตว์ว่า
10 ข้าแต่ท่าน ผู้มีจิตอันประเสริฐ ท่านได้โปรยความกรุณาให้แก่สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ข้าแต่ท่านวีรชน ท่านยินดีสละร่างกายของตน อีกไม่นานนัก ท่านจักได้พบกับสถานที่อันประเสริฐ มั่นคง ปราศจากการเกิดและการตาย ปราศจากความลำบาก มีแต่ความสงบสุข
เมื่อแม่เสือได้บริโภคพระโพธิสัตว์ซึ่งสรีระยังซึมซับด้วยโลหิต ก็ได้สิ้นสุดการขาดเนื้อ โลหิตและกระดูก เมื่อแผ่นดินที่ไหวสงบแล้ว พระมหาประณาทะ ได้กล่าวกับพระมหาเทวะว่า
11 เมื่อทะเลและมหาสมุทรสั่นไหว รัศมีพระอาทิตย์ก็อับแสงทั้ง 10 ทิศในโลก ฝนดอกไม้ก็โปรยลง จิตใจของข้าพเจ้ารู้สึกสเท่ห์มาก ขณะที่น้องชายของเราได้สละร่างกายของตน
พระมหาเทวะ กล่าวว่า
12 เมื่อพิจารณาถึงถ้อยคำที่เขายกขึ้นพูดด้วยความกรุณา เพื่อให้เสือที่กำลังหิวอ่อนแรง ซึ่งพร้อมที่จะก่อให้เกิดโทษได้หลายร้อยอย่าง ได้บริโภคร่างกายของตน ข้าพเจ้ารู้สึกสนเท่ห์ใจอย่างยิ่ง
ครั้งนั้น พระราชกุมารทั้งสอง ทรงโศกเศร้าอย่างยิ่ง มีนัยน์ตานองด้วยน้ำตา กำลังเดินไปตามทางที่เข้าใกล้แม่เสือนั่นเอง เขาได้เห็นเสื้อผ้า แขวนอยู่ที่ลำไม้ไผ่ กระดูก เนื้อ โลหิต สีเข้มบ้าง จางบ้าง นับร้อยจุด กระจากยอยู่ทั่วไป ครั้นได้เห็นเส้นผมกระจากไปทั่วทุกทิศ ก็รู้สึกหน้ามืดเป็นลมล้มลงบนพื้นนั่นเอง เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งสองจึงได้รู้สึกตัว ชูแขนขึ้น เปล่งเสียงร้องด้วยความเศร้าโศกว่า
13 โอ น้องชายที่รัก พระชนกและพระชนนีมีความห่วงใยบุตรมากเพียงไหน พระชนนีเมื่อเห็นความกังวลใจของบุตรชายทั้งสอง ก็จะถามว่า บุตรคนที่สามอยู่ไหน
14 โอ เราไม่ควรมีชีวิตอยู่เลย การตายเสียในป่านั้นจะดีกว่า เราทิ้ง พระมหาสัตว์ไว้ แล้วจะให้บิดามารดาพบหน้าได้อย่างไร?
ลำดับนั้น พระราชกุมารทั้งสอง ได้เดินคร่ำครวญด้วยความสลดใจเป็นอย่างมาก ข้ารับใช้ภายในวังได้วิ่งออกมาจากทิศต่างๆ เพื่อจะพบพระกุมาร เมื่อพบแต่พระกุมารผู้พี่ทั้งสอง จึงพากันถามว่า พระกุมารน้อยอยู่ไหน? พระกุมารน้อยอยู่ไหน? ณ ขณะนั้น พระเทวีกำลังบรรทม ได้ปรากฏนิมิตบอกข่าวการพลัดพรากจากของอันเป็นที่รักว่า พระนางถูกตัดถันทั้งสองข้าง ถูกถอนฟัน แต่ได้ลูกนก 3 ตัว ซึ่งลูกนกเหล่านั้นถูกเหยี่ยวจิกอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก เมื่อพระเทวีสะดุ้งพระทัยเพราะแผ่นดินไหว จึงตื่นบรรทมพร้อมกับความคิดที่สับสนว่า
15 ทำไมแผ่นดินจึงสั่นไหวอย่างแรง สะเทือนไปถึงมหาสมุทร มหาเทพสุริยะก็อับแสง ฟันของเราก็ถูกถอน ร่างกายของเราก็ได้รับความทุกข์มากนัยน์ตาก็พร่ามัว ถันก็ถูกตัด ขอให้ความสุขสวัสดีจงมีแก่บุตรของเราที่กำลังเที่ยวป่า ด้วยความเพลิดเพลินเถิด
ลำดับนั้น สาวใช้ได้เข้าไปกราบทูลพระเทวีที่กำลังมีพระทัยหวั่นไหวกับความคิดที่ตกต่ำว่า ข้าแต่พระเทวี คนติดตามพระกุมาร ได้ค้นหาพระกุมารน้อยได้ข่าวว่า พระกุมารน้อยสิ้นพระชนม์แล้ว เมื่อได้ยินว่า พระโอรสสิ้นพระชนม์แล้ว พระเทวีมีพระทัยหวั่นไหว พระพักตร์มีนัยน์เนตรที่นองด้วยน้ำตา เข้าไปกราบทูลพระราชาว่า ข้าแต่เทวะ ได้ข่าวว่า บุตรสุดที่รักของหม่อมฉันสิ้นพระชนม์แล้ว แม้พระราชาก็มีพระทัยหวั่นไหว อุทานด้วยความตกพระทัยว่า คุณพระช่วย เราต้องพลัดพรากจากบุตรสุดที่รักหรือ? ลำดับนั้น พระราชาได้ปลอบพระเทวีว่า อย่าเศร้าโศกไปเลย พระเทวี เพื่อบุตร เราจะเข้าไปค้นหาพระกุมารเอง เมื่อประชาชนเริ่มออกเดินทางไปค้นพระกุมารนั้น ไม่นานนัก พระราชาได้พบ พระกุมารทั้งสองพระองค์ที่กำลังเดินอยู่ในที่ไกล ครั้นได้พบแล้ว พระราชาได้ตรัสถามว่า พระกุมารที่มีอยู่ขณะนี้ เพียงสององค์เท่านั้น ยังไม่ครบทุกองค์ คุณพระช่วย เราได้ชื่อว่าเป็นผู้พลัดพรากจากบุตรแล้วหรือ?
16 เกียรติยศและความยินดี ย่อมไม่มีแก่คนไร้ปัญญา ความโทมนัสและความยินดี ย่อมไม่มีแก่คนที่ไม่เคยมีบุตร เขาจึงไม่รู้ว่า การพลัดพรากจากบุตรเป็นโทมมันขนาดไหน คนที่พลัดพรากจากบุตร หรือบุตรเสียชีวิตแทบจะสิ้นใจตามไปด้วย แล้วจะมีความสุขที่ดีเลิศได้อย่างไร?
ลำดับนั้น พระเทวีที่กำลังเศร้าโศกอย่างมหันต์ ได้เปล่งเสียงด้วยความคับแค้นใจ เหมือนลูกช้างที่ร้องในขณะตกใจว่า
17 เมื่อบุตรทั้งสามมีกลุ่มคนใช้อยู่ด้วย ได้เข้าไปสู่ป่าใหญ่ที่เกลื่อนไปด้วยดอกไม้ บุตรคนเล็กที่สุดยังไม่กลับมา เขาอยู่ไหน? เขาเป็นบุตรคนที่สามเปรียบเหมือนดวงใจของฉัน
เมื่อบุตรทั้งสองมาถึงแล้ว พระราชาได้ตรัสถามราชบุตรนั้น และได้ตรัสถามพระกุมารทั้งสองอย่างจริงจังว่า พระกุมารองค์เล็กอยู่ไหน? ลำดับนั้น พระกุมารทั้งสองโศกเศร้ายิ่งนัก มีนัยน์ตานองไปด้วยน้ำตา มีเพดานปาก ริมฝีปาก ตาและใบหน้าซีด ไม่สามารถกล่าวคำใดๆได้ พระเทวี จึงกล่าวว่า
18 ความทรงจำในการพูดก็หลงๆ ลืมๆ ร่างกายก็ได้รับการทรมานอย่างแสนสาหัส จิตใจก็แทบสลายสิ้นสติ ลูกคนเล็กของแม่อยู่ไหน?
ลำดับนั้น พระกุมารทั้งสองจึงได้เล่าเรื่องความเป็นไปโดยพิสดารเมื่อได้ฟังดังนั้น พระราชา พระเทวี และคนที่ใกล้ชิด ต่างเป็นลมหมดสติ เมื่อพวกเขาได้ฟื้นคืนสติ ก็ร้องไห้ด้วยเสียงที่น่าสงสารยิ่งนัก แล้วได้เดินทางไปสู่ป่านั้น ลำดับนั้น พระราชาและพระเทวี ได้เห็นกระดูกที่ปราศจากเนื้อและโลหิต และได้เห็นเส้นผมที่กระจากไปสู่ทิศต่างๆ ก็หน้ามืดเป็นลมล้มลงบนพื้นดิน เหมือนต้นไม้ถูกลมพัดล้มลง ฉะนั้น ขณะนั้น ปุโรหิตได้สังเกตเห็นอาการนั้นมาก่อนแล้ว จึงได้ปฐมพยาบาลสรีระของพระราชาและพระเทวีด้วยน้ำหอมผงจันทน์มลยะ. ลำดับนั้น พระราชาเมื่อได้สติรู้สึกตัว ก็ลุกึ้นพร่ำเพ้ออย่างน่าเวทนาว่า
19 โอ บุตรที่น่ารักน่าชมของเราอยู่ไหน ทำไมเจ้าจึงตกไปสู่อำนาจของมฤตยูเร็วนัก เมื่อมฤตยูมาก็ควรงดเว้นเจ้า ความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ใดๆควรมีแก่เราเท่านั้น
ส่วนพระเทวี ฟื้นคืนสติ ก็ใช้แขนทุบตีที่อก ร่ำไห้อย่างน่าเวทนายิ่งนัก เหมือนปลาที่กระโดดจากภาชนะที่มีน้ำขังลงมายังพื้นดินแห้ง แล้วดิ้นอยู่หรือเหมือนแม่กระบือที่ลูกตายเสียแล้ว หรือเหมือนช้างที่ลูกตายเสียแล้ว ฉะนั้น (พร่ำเพ้อ) ว่า
20 โอ บุตรที่น่ารักของเรา เจ้าได้เป็นเหมือนดอกบัวที่ใครทิ้งลงที่คอกโค จึงเรี่ยราดอยู่บนพื้นธรณี ศัตรูคนไหนที่เข้ามาสร้างความหายนะบนแผ่นดินของเรา ในวันนี้ บุตรคือดวงจันทร์ที่งดงาม เป็นนัยน์ตาของเรา ในวันนี้ บุตรคือดวงจันทร์ที่งดงาม เป็นนัยน์ตาของเรา โอ แม้ในวันนี้ ร่างกายของเจ้าก็ยังไม่สลาย เราได้พบบุตรสุดที่รัก ซึ่งนอนอยู่บนพื้นดินเท่านั้น
21 หัวใจของเรายังแข็งแกร่ง ดุจทำด้วยเหล็ก จะไม่สลาย เพราะได้เห็นความวิบัติที่ร้ายแรงนี้ โอ ผลของความฝันที่เลวร้ายได้ปรากฏแล้วในความฝันที่ว่า ถันทั้งสองถูกตัดด้วยดาบ และฟันกรามถูกถอน บุตรสุดที่รักของเรา ได้ประสบกับความหายนะจนสิ้นชีพเร็วเหลือเกิน
22 เหมือนในความฝันที่ว่า เราได้ลูกนกสามตัว ตัวหนึ่งถูกเหยี่ยวจิกทำร้าย ในวันนี้ บรรดากุมารทั้งสามของฉันที่ไปด้วยกัน คนหนึ่งได้ถูกมฤตยูจับไปแล้ว
ครั้งนั้น พระราชาและพระเทวีได้คร่ำครวญอย่างน่าเวทนานัก ทั้งสององค์ได้ปลดเครื่องอาภรณ์ทั้งหมด พร้อมกับหมู่มหาชน ได้ทำการบูชาสรีระของบุตร ด้วยการบรรจุสรีระเหล่านั้นในเจดีย์ทอง ที่แผ่นดินตำบลนั่นเอง
ดูก่อนอานนท์ เธอคิดว่า พระราชบุตรที่มีนามว่า มหาสัตว์ในสมัยนั้นเป็นคนอื่นหรือ? เธออย่าคิดอย่างนั้นเลย เหตุใดจึงกล่าวอย่างนั้น เพราะว่าพระราชกุมารที่มีนามว่า มหาสัตว์ ในกาลสมัยนั้น ก็คือเรานี่เอง ดูก่อนอานนท์ ในครั้งนั้น เราเพ่งเป็นผู้หลุดพ้นจากราคะ โทสะและโมหะ มีความกรุณาได้สงเคราะห์ช่วยเหลือสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ทั้งหลาย มีทุกข์ในนรกเป็นต้น แล้วจะป่วยกล่าวไปไยถึงเราในขณะนี้ ที่ปราศจากโทษทั้งปวง และได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้วเล่า ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้ปลดเปลื้องสัตว์ที่เกิดรวมกันอยู่ในนรกตลอดกัลป์ให้ออกจากสังสารวัฏ ก็เพื่อประโยชน์ของสัตว์แต่ละคน เราได้ช่วยเหลือสัตว์ที่ทำบาปกรรมด้วยวิธีละเอียดอ่อนต่างๆ ตามความเหมาะสมแก่สัตว์นั้นๆ.
ณ กาลครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคาถาเหล่านี้ว่า
23 เมื่อครั้งแสวงหาพระโพธิญาณอันประเสริฐ เราก็ได้สละร่างกายมาแล้วหลายกัลป์ แม้เมื่อครั้งเป็นราชบุตรของพระราชา เราก็ได้สละอัตภาพแล้วเช่นกัน
24 เมื่อเราได้ระลึกถึงอดีตชาติว่า เคยเป็นพระราชานามว่า มหารถะ มีพระโอรสที่เสียสละมากคนหนึ่ง นามว่า พระมหาสัตว์ผู้ประเสริฐ
25 พระมหาสัตว์นั้น มีพี่ชายสองคนนามว่า มหาเทวะ กับมหาประณาทะ ได้เข้าไปสู่บริเวณป่า พร้อมกับเครือญาติ แล้วได้พบแม่เสือที่กำลังหิวจัด
26 พระมหาสัตว์ผู้ประเสริฐ ได้เกิดความกรุณาว่า แม่เสือกำลังหิวกระหายมาก มันอาจจะกินลูกของตนเอง เราควรสละตนเองให้เป็นอาหาร
27 ครั้งนั้น พระมหาสัตว์ โอรสของพระมหารถะ เมื่อได้เห็นแม่เสือที่กำลังหิว เพื่อจะช่วยแม่เสือและลูกเสือ จึงได้ล้มตัวลง
28 เมื่อพระผู้มีความกรุณาล้มตัวลง ณ ที่นั้น แผ่นดิน รวมทั้งภูเขาก็สั่นไหว ฝูงนกต่างๆ ก็บินกระจายไป หมู่มฤคก็สะดุ้งตกใจ ณ ครั้งนั้น โลกนี้จึงดำรงอยู่ด้วยความวุ่ยวาย
29 พี่ชายทั้งสองของเขาคือมหาประณาทะและมหาเทวะ เมื่อไม่พบพระมหาสัตว์ ก็ได้เดินเข้าไปในเขตป่าใหญ่นั้น
30 เขาเจ็บปวดหัวใจด้วยความโศก วิ่งไปในป่าโดยไม่รู้สึกตัว เพื่อตามหาน้องชาย เดินเข้าไปท่ามกลางป่า ด้วยใบหน้าที่นองด้วยน้ำตา
31 พระราชกุมารทั้งสอง คือ มหาประณาทะและมหาเทวะ ได้เข้าไปในป่าที่แม่เสือผอมโซและลูกเสือนอนอยู่
32 ครั้นได้เห็นร่างที่ติดโลหิต ส่วนที่เป็นเส้นผม กระดูกและหนังตกกระจายอยู่บนพื้นดิน และได้เห็นส่วนอื่นๆ ของร่างนั้นตกอยู่บนพื้นดิน
33 พระราชกุมารทั้งสองก็เป็นลมล้มลงบนพื้นดิน เป็นผู้ที่มีจิตใจแตกสลายแล้ว อวัยวะทุกส่วนซีด ร่างกายเปื้อนฝุ่น ความจำและอินทรีย์เสื่อม มีจิตเลอะเลือน
34 บริวารทั้งหลายของเจ้าชายต่างก็พากันโศกเศร้า มีความทุกข์ร้องไห้ ด้วยเสียงที่น่าเวทนายิ่งนัก พวกเขาร้องไห้หลั่งน้ำตามากจนใบหน้าชุ่มไปด้วยน้ำตา
35 ส่วนพระอัครมเหสี ผู้เป็นที่รัก ก็เกิดอาการคลื่นเหียนอาเจียนเกือบจะล้มลง ณ ที่นั้น ได้กลับไปสู่พระราชวังพร้อมกับสตรี 500 นาง เมื่อได้พักผ่อน พระวรกายจึงค่อยสบายขึ้น
36ได้มีกระแสน้ำนมหลั่งพุ่งออกจากถันทั้งสองของพระนาง พระนางรู้สึกเจ็บปวดไปทั่วพระวรกาย ดุจถูกแทงด้วยเข็มจำนวนมาก
37 พระนางกลัดกลุ้มโศกเศร้าพระทัยยิ่งนัก เพราะถูกทิ่มแทงด้วยลูกศรคือความทุกข์โศกเศร้าที่พลัดพรากจากบุตร จึงเข้าไปเฝ้าพระราชา พระนางเดือดร้อน เพราะความเศร้าโศก มีจิตใจหวาดผวา ร้องไห้อย่างน่าเวทนา ได้กราบทูลพระราชมหารถะว่า
38 ข้าแต่จอมกษัตริย์ ผู้เป็นนฤบดีของหม่อมฉัน ขอพระองค์จงฟังเถิด พระวรกายของหม่อมฉัน ถูกไฟคือความเศร้าโศกเผาไหม้ น้ำนมได้ไหลออกจากถันทั้งสองของหม่อมในทันทีทันใด
39 เหตุการณ์เหล่านี้ได้เสียดแทงร่างกายและสมองของหม่อมฉันดุจทิ่มแทงด้วยเข็ม จิตใจของหม่อมฉันก็เช่นเดียวกัน ถ้าหม่อมฉันได้เห็นหน้าบุตรสุดที่รัก นิมิตเช่นนี้คงไม่มี
40 พระองค์ผู้มีอำนาจสูงสุด ที่จะประทานชีวิตให้แก่บุตรชายของหม่อมฉัน ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งของหม่อมฉันด้วยเถิด หม่อมฉันได้ฝันเห็นลูกนกสามตัว บรรดาลูกนกในความฝันของหม่อมฉัน ลูกนกตัวเล็กคือบุตรคนเล็กที่น่ารักของหม่อมฉัน
41 ในความฝันนั้นว่า ลูกนกตัวเล็กได้เข้าไปพบเหยี่ยวในป่านั้น แล้วถูกเหยี่ยวจิก ความโศกเช่นนี้ ได้เสียดแทงใจของหม่อมฉันเป็นอย่างยิ่ง
42 หม่อมฉันถูกความโศกเผาไหม้จิตใจ อีกไม่นานนักก็จะตายพระองค์ผู้มีความกรุณา ผู้มีอำนาจเหนือบุตรของหม่อมฉัน จงประทานชีวิตให้แก่หม่อมฉันด้วยเถิด
43 พระอัครมเหสี ครั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ก็เป็นลมล้มลงบนพื้นนั้นมีชีพจรอ่อน ปราศจากความทรงจำ ไม่รู้สึกตัว หมู่ชนภายในราชสำนักทั้งหมดก็ส่งเสียงร้องไห้อย่างน่าเวทนายิ่ง
44 จอมกษัตริย์ ผู้พลัดพรากจากบุตร มีความโศกเศร้าอยู่เสมออำมาตย์และผู้ติดตามอำมาตย์ ได้เห็นพระอัครมเหสีเป็นลมล้มลงบนพื้นนั้นก็พากันถามถึงเรื่องทั้งหมด จึงรวมกันออกไปตามหาพระกุมาร
45 ชนภายในพระนครทั้งหมด ลุกขึ้นจับอาวุธนานาชนิด ต่างร้องไห้มีใบหน้านองด้วยน้ำตา ได้ออกมาถามหาพระมหาสัตว์ ตามหนทางทั้งหลายว่า
46 ท่านมีชีวิตอยู่หรือ? ขณะนี้พระมหาสัตว์อยู่ที่ไหน? บัดนี้พวกเราจะพบท่านได้อย่างไร? ถ้าได้พบพระมหาสัตว์ทำให้พวกเรามีใจเอิบอิ่มเป็นที่น่ายินดียิ่งนัก อีกไม่นาน ความอดทนของพวกเราจะสิ้นสุดแล้ว
47 พระราชามหารถะ ได้ลุกขึ้นด้วยพระพักตร์ที่โศกเศร้า เต็มไปด้วยความทุกข์ อย่างแสนสาหัส กันแสงด้วยเสียงที่อัดแน่นด้วยความเหนื่อยอ่อนอยู่ภายใน ได้เสด็จไปที่บริเวณนั้น
48 พระราชาผู้ประสบกับความโศก ได้ใช้สายน้ำพรมพระอัครมเหสีที่ล้มลงบนพื้น พระองค์ใช้น้ำพรมจนพระมเหสีได้สติลุกขึ้นมาถาม ด้วยหัวใจที่หวาดผวาว่า
49 บุตรของหม่อมฉันสิ้นพระชนม์แล้ว หรือมีชีวิตอยู่ พระราชามหารถะได้ตรัสกับพระอัครมเหสีว่า อำมาตย์และบริวารทั้งหลาย กำลังค้นหาอยู่ในทิศต่างๆ
50 เธอจงอย่ากังวลเรื่องพระกุมารเลย จะทำให้อ่อนเพลียและเป็นทุกข์ใจพระราชามหารถะ ครั้นได้ปลอบใจพระอัครมเหสีอย่างนี้แล้ว ก็ได้เสด็จออกไปด้วยพระทัยที่หวั่นไหว
51 พระราชาผู้มีความทุกข์โศก กันแสงมีพระพักตร์นองด้วยน้ำตาเสด็จออกจากพระราชวังพร้อมด้วยหมู่อำมาตย์ มีจิตใจที่หวาดผวา มีนัยน์ตาที่เศร้าหมอง ออกไปค้นหาในที่ห่างไกลจากพระนคร
52 ประชาชนที่เป็นบริวารของพระราชบุตรจำนวนมาก เมื่อได้เห็นพระราชาที่กันแสง มีพระพักตร์นองด้วยน้ำตา กำลังเสด็จมา ก็ได้ออกติดตามเสด็จกันอย่างใกล้ชิด
53 พระราชามหารถะนั้น ได้เสด็จออกไปค้นหาราชบุตรอันเป็นที่รักทุกหนทุกแห่ง ณ ทิศหนึ่ง พระองค์ได้พบบุรุษผู้หนึ่ง มีศีรษะโล้น แต่มีนัยน์ตาสีแดงอ่อนๆ
54 มีร่างกายเปื้อนเลือด เปื้อนฝุ่น ใบหน้านองด้วยน้ำตา เดินร้องไห้มาทำให้จิตใจของพระมหาะรถะที่กำลังกันแสง มีพระพักตร์ที่นองด้วยน้ำตา ยิ่งมีความทุกข์โศกมากขึ้น
55 ขณะนั้น อำมาตย์ได้พุ่งเข้ามาโดยเร็ว เข้ารองรับน้ำหนักของพระราชา โดยใช้แขนหนุนพระราชาที่กันแสงให้ยืนขึ้น แล้วได้กล่าวแก่พระราชามหารถะ
56 ข้าแต่พระราชา ขอพระองค์อย่าทำพระทัยให้เศร้าโศกเลย ราชบุตรอันเป็นที่รักยิ่งของพระองค์ยังมีพระชนม์อยู่ อีกไม่นาน พวกเขาจะมาหาพระองค์ ณ ที่นี่ พระองค์จักได้พบบุตรผู้เป็นที่รักยิ่งนั้น
57 เมื่อพระราชาเดินทางต่อไปได้เพียงครู่หนึ่ง อำมาตย์คนที่สองก็ได้เข้ามาหา เขามีเสื้อผ้าที่แต่งกายเปื้อนฝุ่นเต็มไปหมด ใบหน้านองด้วยน้ำตาได้กราบทูลแด่พระราชาว่า
58 ข้าแต่พระมหาราชเจ้า บุตรทั้งสองของพระองค์ยังมีพระชนม์อยู่ แต่กำลังถูกไฟคือความโศกเผาผลาญ ส่วนบุตรผู้ประเสริฐของท่านอีกองค์หนึ่งยังค้นหาไม่พบ ข้าแต่พระราชา ไม่แน่นัก พระมหาสัตว์อาจจะถูกฆ่าเสียแล้ว
59 เพราะได้พบนางเสือตัวหนึ่งที่เพิ่งคลอดลูกได้ไม่นาน กำลังจะกินลูกของตน พระมหาสัตว์ ซึ่งเป็นพระกุมารผู้ประเสริฐ ได้เกิดความเมตตาสงสารเป็นกำลังต่อสัตว์เหล่านั้น
60 พระองค์จึงได้ตั้งประณิธานอันยิ่งใหญ่ในพระโพธิญาณว่า “จะช่วยสัตว์ทั้งหมดในโลกนี้ให้ตรัสรู้ ข้าพเจ้าปรารถนาพระโพธิญาณอันประเสริฐ ขอให้สำเร็จผลในอนาคตกาลนั้นเทอญ
61 พระมหาสัตว์นั้น ยืนอยู่ที่ปากเหว ได้กระโดดให้ตกลงจากภูเขาเสือทั้งหลายที่กำลังหิว ได้จัดการกับพระราชบุตร ทั้งเนื้อ ร่างกายและกระดูกไม่มีส่วนใดเหลือ เพียงครู่เดียวเท่านั้น”
62 พระราชามหารถะ เมื่อได้ฟังถ้อยคำที่น่าหวาดเสียวอย่างนั้น พระหทัยก็แตกสลาย ไฟคือความโศกก็ลุกโพลงขึ้นอย่างแรง จนเป็นลมล้มลงบนพื้นดินอีกครั้ง
63 อำมาตย์และบริวารทั้งหลาย ที่กำลังไห้ด้วยความเวทนาได้ใช้น้ำพรมพระราชาที่กำลังทุกข์โศก ทุกคนช่วยกันใช้แขนหนุนพระราชาที่กำลังกันแสงให้ยืนขึ้น อำมาตย์คนที่ 3 จึงได้กราบทูลกับพระราชาว่า
64 “วันนี้ พวกข้าพระองค์ได้พบพระกุมารทั้งสอง กำลังสลบอยู่ในป่าใหญ่พวกเขามีจิตที่แตกสลาย เป็นลมล้มลงบนพื้นดิน พวกข้าพระองค์ได้ใช้น้ำประพรมให้
65 จนกระทั่งได้สติ ลุกขึ้นยืนได้อีกครั้ง พวกเขากระวนกระวายมองหาทั้ง 4 ทิศ เพียงครู่เดียวที่ยืนขึ้นก็ล้มลงบนพื้นดินอีกครั้ง ต่างคร่ำครวญด้วยเสียงที่น่าเวทนายิ่ง
66 เจ้าชายทั้งสองคน ใช้แขนพยุงกายให้ยืนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ร้องไห้พรรณนาถึงน้องคนที่สาม” พระราชาซึ่งมีจิตอ่อนไหวหวาดผวาอยู่แล้ว ยิ่งคลุ้มคลั่ง ถึงการพลัดพรากจากบุตรมากขึ้น
67 พระราชาผู้มีความโศกเศร้าเสียดแทง ได้คร่ำครวญแล้ว คร่ำครวญอีกว่า บุตรคนหนึ่งของข้าพเจ้า เป็นบุตรคนเล็กที่น่ารัก เป็นที่ปลาบปลื้นใจมาก ได้ถูกรากษสในป่าจับกินเสียแล้ว
68 ขออย่าให้บุตรอีกสองคนของข้าพเจ้าถึงชีพิตักษัย เพราะไฟคือความเศร้าโศกอีกเลย ทำอย่างไรหนอ? ข้าพเจ้าจึงจะไปถึงที่นั่นโดยเร็ว เพื่อพบบุตรที่น่ารักเหล่านั้น
69 จงจัดยานพาหนะที่มีความเร็ว ออกจากพระราชวังไปสู่ราชธานีโดยเร็ว จงอย่าให้เรื่องนี้กระจายไปถึงมารดาที่กำลังทุกข์ทวีด้วยไฟคือความโศก
70 เมื่อพบบุตรทั้งสอง พระนางก็คงจะมีความสงบลง จะไม่ได้รับการพลัดพรากจากชีวิตอีก ดังนั้น พระราชาพร้อมด้วยหมู่อำมาตย์ ได้ขึ้นช้างมุ่งหน้าไป เพื่อพบบุตรในป่านั้น
71 ครั้นพบแล้ว พระราชาได้ร้องเรียกบุตรทั้งหลาย ที่กำลังนั่งใจลอยร้องไห้ด้วยเสียงที่น่าสงสารยิ่ง ทั้งๆที่กำลังกันแสง พระราชได้เข้าไปโอบราชบุตรทั้งสอง แล้วนำไปสู่ภายในเมือง ฝ่ายพระมารดารีบมาหาบุตรโดยเร็ว พระราชาจึงให้พระเทวีได้พบกับบุตรอันเป็นที่รักตามความประสงค์
72 เราพระตถาคตศากยมุนี ได้เป็นพระมหาสัตว์ โอรสของพระราชามหารถะ ที่ได้มอบความสุขให้แก่นางเสือในกาลก่อน
73 พระเจ้าสุทโธทนะ พระเจ้าแผ่นดินผู้ประเสริฐ ก็คือพระราชามหารถะในกาลก่อน พระมเหสีก็คือพระมหาเทวีผู้ประเสริฐ ส่วนพระมหาประณาทะในกาลนั้นก็คือพระไมตรี
74 พระมหาเทวะ ผู้เป็นวีรกุมารราชบุตรก็คือพระมัญชุศรี นางเสือก็คือพระนางมหาปชาบดี ลูกของนางเสือก็คือภิกษุปัญจวัคคีย์ของเราเอง
ครั้งนั้น พระมหาราชา พระมหาเทวี ได้คร่ำครวญอย่างน่าเวทนายิ่งได้เปลื้องอาภรณ์ ออกทำการบูชาสรีระของบุตร พร้อมๆ กับหมู่ชนอีกจำนวนมาก ได้สร้างสถูปประดับด้วยรัตนะทั้ง 7 บรรจุสรีระของพระมหาสัตว์นั้นไว้ในภูมิประเทศนั่นเอง เมื่อองค์เทวะมหาสัตว์ ได้สละอัตภาพให้แก่นางเสือ ณ ครั้งนั้น เพราะมีจิตเป็นกุศล จึงได้ตั้งประณิธานไว้อย่างนี้ว่า ด้วยการอุทิศร่างกายนี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้รับพุทธกาย เพื่อประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายตลอดหลายกัลป์จนนับไม่ได้ ในอนาคตกาลโน้นเทอญ เมื่อพระมหาสัตว์ได้ประกาศประณิธานดังนั้นแล้ว สรรพสัตว์ทั้งหลาย ที่มิอาจประมาณได้ รวมทั้งเทวดา มนุษย์ ประชาชน ได้บังเกิดความเลื่อมใสในอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนี้คือเหตุผล ที่ต้องสร้างสถูปไว้ในที่นี้ และสถูปนั้นได้อันตรธานไปจากที่นี่ก็เพราะพุทธาธาฐาน ดังนี้แล
ปริเฉท 19 ชื่อวยาฆรีปริวรรต ในศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร มีเพียงเท่านี้
ปริเฉท 20
สรวตถาคตัสตวปริวรรต ว่าด้วยการสดุดีพระตถาคตทั้งปวง
ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์หลายแสนองค์ ได้เข้าไปเฝ้าพระตาถคตสุวรรณรัตนากรัจฉัตรกูฏะ ครั้นเข้าไปหาแล้ว ได้น้อมกายถวายบังคมที่พระบาททั้งสองของพระตถาคตสุวรรณรัตนากรัจฉัตรกูฏนั้น แล้วยืนประคองอัญชลีอยู่ที่หนึ่ง ได้กล่าวสดุดีพระตถาคตสุวรรณรัตนากรัจฉัตรกูฏะนั้นว่า
1 ข้าแต่พระมหามุนี วรกายของพระชินะเปล่งปลั่งดุจสีทอง อวัยวะต่างๆ ผ่องใสดุจสีทอง เหมือนภูเขาสีทอง พระมุนีมีผิวพรรณขาว แต่ผ่องใสดุจสีทอง
2 พระวรกายของพระองค์ประกอบด้วยลักษณะที่ประเสริฐยิ่งอวัยวะที่วิจิตรประดับด้วยลักษณะอันวิจิตร เปล่งปลั่งส่องประกายเป็นสีทอง ดุจเขาพระสุเมรุที่ปราศจากมลทิน ช่างงดงามยิ่งนัก
3 พระองค์ทรงเป็นมหาพรมห แต่เสียงกึกก้องยิ่งกว่าเสียงพรหม ทรงเป็นดุจพญาราชสีห์ ที่มีเสียงกึกก้องยิ่งกว่าเสียงฟ้าคำราม เสียงอันไพเราะของพระองค์สามารถสะท้อนกลับได้ถึง 60 ครั้ง เสียงอันไพเราะของพระองค์สามารถกลบเสียงที่ไพเราะของนกยูงและนกการเวกเสียได้
4 พระองค์ทรงเป็นพระชินะ ที่มีบุญจำนวนร้อยเป็นเครื่องประดับ ทรงเป็นผู้ไม่มีมลทิน เดชและรัศมีก็ไม่มีมลทิน พระองค์ทรงเป็นพระชินะที่ปราศจากมลทิน ดุจมหาสมุทรที่ปราศจากมลทิน พระองค์เป็นพระชินะที่มีจิต ประกอบด้วยคุณทั้งปวง ดุจเขาพระสุเมรุ
5 พระองค์ทรงเป็นผู้อนุเคราะห์ประโยชน์อย่างยิ่งแก่สรรพสัตว์ ทรงเป็นผู้ประทานความสุขอย่างยิ่งแก่ชาวโลก พระองค์คือพระชินะที่ชี้แจงเพื่อประโยชน์สูงสุด ได้ทรงแสดงความสุขอย่างยิ่งคือพระนิพพาน
6 พระองค์เป็นผู้ประทานความสุขอันเป็นอมตะ ทรงเป็นผู้มีไมตรีมีกำลัง มีความเพียร มีอุบาย ใครๆ ก็ไม่สามารถประกาศทะเลและมหาสมุทร คือคุณความดีแต่ละอย่างของพระองค์ได้ ตลอดหลายพันโกฏิกัลป์
7 กำเนิดของหยาดน้ำและมหาสุมทรคือคุณใดๆ รวมทั้งการสั่งสมบุญใดๆ ที่ข้าพเจ้าได้สะสมไว้แล้ว แม้เพียงเล็กน้อยที่ข้าพเจ้าได้ประกาศแล้ว ด้วยบุญกุศลนั้นขอให้สรรพสัตว์ทั้งหลาย จงบรรลุพระโพธิญาณอันสูงสุด
ได้ยินว่า ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์รุจิรเกตุ ได้ลุกจากอาสนะ พาดผ้าอุตราสงค์ไว้ที่ไหล่ข้างหนึ่ง คุกเข่าลงที่พื้น ประนมมือกระทำประทักษิณไปยังพระผู้มีพระภาค ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ ในขณะนั้นว่า
8 ข้าแต่พระมหามุนี พระองค์ประกอบด้วยคุณอันงดงาม มีลักษณะงามหลายรัอยพัน ได้เปล่งปลั่งดุจรัศมีเป็นพัน
9 พระองค์มีแสงสว่างสมบูรณ์ด้วยความโชติช่วงแห่งรัศมีมิใช่น้อย พระองค์เปรียบเหมือนเรือนแก้วที่ประดับไปด้วยรัตนะอันวิจิตร ทรงมีรัศมี สีเขียว ขาว และสีทอง ทรงมีรัศมีเป็นสีไพฑูรย์ ทองแดง ทองเหลือง และแก้วผลึก
10 เพชรบนเขาพระสุเมรุ ไม่สามารถส่องแสงเปล่งประกายที่งดงามไปได้ในพื้นที่หลายโกฏิ ฉะนั้น ขอให้พระองค์จงได้ประทานพรแก่ข้าพระองค์ ให้มีรัศมีที่มีความร้อนแรงกว่าเทพ ให้บำเพ็ญเพียรเพื่อความมั่นคงของสรรพสัตว์ทั้งหลาย
11 พระองค์มีพระฉวีวรรณและอินทรีย์ผ่องใสน่าชมยิ่งนัก พระวรกายก็สละสลวยก่อให้เกิดความพึงพอใจอย่างยิ่ง ผิวพรรณปราศจากธุลีอย่างไม่เคยมีมาก่อน ส่องแสงเปล่งปลั่ง ดุจภมรปล่อยแสงสว่างออกมาจำนวนมาก ฉะนั้น
12 พระองค์ทรงเป็นผู้ประกอบด้วยคุณคือความกรุณาที่บริสุทธิ์ได้สะสมไมตรี พลังและบุญอย่างสม่ำเสมอกัน ลักษณะปลีกย่อย (อนุพญัชนะ)ของพระองค์ ได้รับการยกย่องว่าวิจิตรสมบูรณ์ยิ่งนัก พระองค์ทรงเป็นผู้ประกอบด้วยคุณแห่งองค์สมาธิโพธิญาณ
13 พระองค์เป็นผู้ให้ความปีติปราโมทย์ ความสุข ความงดงาม เป็นบ่อเกิดของความสุขทั้งมวล พระองค์ได้เปล่งประกายไปถึงพันโกฏิเกษตร
14 พระองค์ทรงเจิดจ้าเหมือนแสงพระอาทิตย์ ทรงโชติช่วงดุจมณฑลพระอาทิตย์ในท้องฟ้า พระองค์ประกอบด้วยคุณทั้งปวง เสมือนหนึ่งเขาพระสุเมรุ พระองค์ได้ปรากฏในทุกไตรโลกธาตุ
15 พระทนต์ทั้งแถวของพระองค์ขาวเหมือนน้ำนมโค เหมือนสังข์ เหมือนบัวขาวและพระจันทร์ ที่มีสีและแสงขาวเหลือง เหมือนแสงดอกบัวที่ปกคลุมด้วยหิมะได้เปล่งประกายออกจากพระโอษฐ์ของพระองค์ ผู้เหมือนพญาหงส์ที่บินอยู่ในท้องฟ้า ฉะนั้น
16 เส้นพระเกศาริมพระพักตร์ ได้ขมวดเป็นทักษิณวรรต งดงามยิ่งนัก ดุจพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว ส่องประกายเป็นรัศมีดุจเกิดจากแก้วมณี แต่เป็นสีของแก้วไพฑูรย์ ลอยเด่นดุจพระอาทิตย์ลอยอยู่บนท้องฟ้า ฉะนั้น
ปริเฉท 20 ชื่อสวรตถาคตัสตวปริวรรต ในศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร มีเพียงเท่านี้
ปริเฉท 21
นิคมปริวรรต ว่าด้วยบทลงท้าย
ครั้งนั้น กุลเทวดาโพธิสัตว์สัมมุจจยา มีความยินดีปรีดายิ่งนัก ได้กล่าวยกย่องพระผู้มีพระภาค ในขณะนั้น เป็นคาถาเหล่านี้ว่า
1 ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระพุทธเจ้า ผู้มีพระโพธิญาณที่บริสุทธิ์สดใส มีธรรมที่บริสุทธิ์ มีพระโพธิญาณที่ถึงพร้อมด้วยบุญและพระสัทธรรมซึ่งเป็นพระโพธิญาณที่บริสุทธิ์ด้วยศูนยตาที่ประเสริฐในภพ
2 โอ พระพุทธเจ้า ผู้มีรัศมีที่ไม่มีขอบเขตสิ้นสุด โอ พระพุทธเจ้าผู้เปรียบได้กับมหาสมุทรและเขาพระสุเมรุ โอ พระพุทธเจ้า ผู้มีโคจรไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนดอกอุทุมพร (มะเดื่อ) ที่หาดูได้ยากยิ่ง
3 โอ พระตถาคต ผู้มีความกรุณา พระองค์ทรงเป็นสูรยะคือนรเทพที่เป็นธงชัยของตระกูลศากยะ พระองค์ทรงเป็นผู้แสดงพระสูตรนี้ให้ปรากฏ เพื่ออนุเคราะห์แก่สัตว์ทั้งหลายในโลกทั้งปวง
4 พระองค์คือพระศากยมุนีตถาคตที่ยิ่งใหญ่ในความบริสุทธิ์ ทรงเป็นผู้ประเสริฐสูงสุด ดำรงอยู่ในบุรีที่สงบ มีสมาธิที่ปราศจากมลทิน มีคำสอนที่ลึกซึ้ง ทรงดำรงอยู่ในโคจรของพระชินพุทธเจ้า
5 พระองค์ทรงมีกายเป็นศูนย์รวมของสาวกทั้งหลาย ทรงเป็นศูนย์รวมที่พักอาศัยของสัตว์ผู้ประเสริฐทั้งหลาย สรรพสัตว์ผู้มีธรรมจะว่างเปล่าโดยธรรมชาติ จะไม่มีร่างที่เกิดใหม่อีกต่อไป
6 ข้าพระองค์จะรำลึกถึงพระชินพุทธเจ้าอยู่เนืองนิตย์ ข้าพระองค์มีความกังวลใจเพื่อให้ได้พบพระชินพุทธเจ้าอยู่เนืองนิตย์ ข้าพระองค์ได้ตั้งประณิธานไว้เป็นนิตย์ เพื่อให้ได้พบสูรยะคือองค์พระพุทธเจ้า
7 ข้าพระองค์มีความโศกเศร้าเป็นอย่างยิ่ง จะคุกเข่าลงบนพื้นธรณีเป็นนิตย์ เพื่อให้ได้พบพระชินพุทธเจ้า ข้าพระองค์คร่ำครวญถึงองค์พระพุทธเจ้า ผู้มีความกรุณา ข้าพระองค์กระวนกระวายที่จะได้พบพระสุคตอยู่เสมอ
8 ไฟคือความเศร้าโศกได้เผาไหม้ข้าพระองค์โดยรอบอยู่เนืองนิตย์ ขอพระองค์จงประทานน้ำเย็น คือการได้พบพระองค์ให้แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด ขอพระองค์ได้โปรดประทานน้ำคือความกรุณาให้ข้าพระองค์ ซึ่งก็เหมือนสรรพสัตว์ทั้งหลายที่กระหายใคร่จะได้เห็นรูปของพระองค์ด้วยเถิด
9 ขอพระพุทธเจ้าจงประทานความกรุณาแก่พวกข้าพระองค์ ขอให้พวกข้าพระองค์ได้เห็นรูปอันงดงามนั้น ขอพระองค์ได้แสดงศูนยกาย อันเป็นที่พึ่งของพระสาวกทั้งหลาย ให้แก่มนุษย์และเทพทั้งหลายด้วยเถิด
10 พระองค์เปรียบได้กับอากาศที่มีภาวะเป็นท้องฟ้า เปรียบได้กับพระจันทร์ที่ให้น้ำ มิใช่พยับแดดที่เป็นภาพลวงตา สัตว์ทั้งปวงมีภาวะเป็นความฝันคือความว่างอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้เสด็จลุกจากอาสนะ ได้ตรัสด้วยสำเนียงที่ไพเราะดุจเสียงพรหมว่า สาธุ สาธุ กุลเทวดา พระศาสดาจะประทานแก่เธอ สาธุ กุลเทวดา ขอประทานสาธุแก่เธออีกครั้ง
ครั้นพระผู้มีพระภาคได้ตรัสอย่างนี้แล้ว พระโพธิสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นมีพระกุลเทวดาโพธิสัตวสัมมุจจยา พระสรัสวดีมหาเทวีเป็นประมุข และที่ประชุมทั้งหมด ซึ่งมีพระสรวาวดีเป็นประมุข รวมทั้งเทวดา มนุษย์ อสูร ครุฑ กินนร และโหรคะ เป็นต้น ต่างก็เอิบอิ่มใจ มีความยินดีกับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล.
ปริเฉท 21 ชื่อนิคมปริวรรต ในศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตร มีเพียงเท่านี้
ศรีสุวรรณประภาโสตตมสูตเรนทรราชสูตรอันประเสริฐ ได้จบเพียงเท่านี้
เย ธรฺมา เหตุ ปฺรภวา เหตุ เตษำ ตถาคโต หฺยวทตฺ
เตษำ จ โย นิโรโธ เอวํวาที หาศฺรมณะ.