ถอดเทปพระธรรมเทศนา

 

 

 

 

เทป099

สังฆานุสสติ

ญายะปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

อริยะธรรม ญายะธรรม ๓

ปฏิบัติอย่างไรชื่อว่ารักษาตน ๕

ข้อว่าปฏิบัติในทางปัญญา ๖

การปฏิบัติเข้าทางที่งดงาม ๘

สาวกภูมิต้องอาศัยศรัทธาปัญญา ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๒๗/๑ ครึ่งแรก ต่อ ๑๒๗/๒ ( File Tape 99 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สังฆานุสสติ

ญายะปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

จะแสดงพระสังฆคุณบทว่า ญายะปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ

หมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ญายะปฏิปันโน ปฏิบัติเป็นญายะแล้ว

พระสังฆคุณบทนี้สืบเนื่องมาจาก อุชุปฏิปันโน และ สุปฏิปันโน

บทแรก สุปฏิปันโน ปฏิบัติดีแล้ว บทที่สอง อุชุปฏิปันโน ปฏิบัติตรงแล้ว

ญายะปฏิปันโน เป็นที่สาม ปฏิบัติญายะที่มักจะแปลกันว่าเป็นธรรม หรือว่าถูก

คือปฏิบัติเป็นธรรมแล้ว ปฏิบัติถูกแล้ว

 

พระสังฆคุณแม้สามบทนี้ก็ย่อมมีความสัมพันธ์กัน

ดังจะพึงกล่าวได้ว่า ชื่อว่าปฏิบัติดีก็จะต้องตรง เป็นอุชุปฏิปันโน

ต้องเป็นธรรมหรือต้องถูก เป็นญายะปฏิปันโนด้วย

และที่ชื่อว่าอุชุปฏิปันโนปฏิบัติตรง ก็ต้องดี ต้องเป็นธรรม หรือต้องถูกด้วย

แม้ในข้อนี้เองจะชื่อว่าญายะปฏิปันโน ปฏิบัติเป็นธรรมหรือปฏิบัติถูก

ก็ต้องดีด้วย ตรงด้วย และจะต้องประกอบกับบทต่อไปอีกด้วย

 

แต่ว่าเมื่อแยกแสดงออกเป็นบทๆ ก็ย่อมมีพยัญชนะคือถ้อยคำจำเพาะบทนั้นๆ

คือยกเอาคุณลักษณะข้อดีขึ้นแสดง ก็เป็นสุปฏิปันโน

ยกเอาคุณลักษณะข้อตรงขึ้นแสดง ก็เป็นอุชุปฏิปันโน

ยกเอาคุณลักษณะข้อที่ว่าเป็นธรรมหรือถูกขึ้นแสดง ก็เป็นญายะปฏิปันโน

แม้ข้ออื่นก็เช่นเดียวกัน

 

และการอธิบายนั้นก็อธิบายอาศัยถ้อยคำหรือพยัญชนะที่เป็นแม่บทเป็นที่ตั้ง

และเมื่อมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ก็กล่าวแสดงไว้ด้วย

เพราะทั้งหมดก็ย่อมจะเนื่องเป็นอันเดียวกัน ไม่อาจจะแยกออกจากกันได้

แต่เมื่อแยกออกแสดงด้วยยกถ้อยคำที่มุ่งจะยกเอาคุณลักษณะพิเศษเป็นบทๆไป

การแสดงก็ต้องแสดงไปตามถ้อยคำหรือพยัญชนะที่เป็นแม่บทนั้นเป็นแนวแสดง

แต่ว่าบทว่าญายะปฏิปันโนนี้ว่าถึงถ้อยคำย่อมมีข้อที่พึงพูดมากกว่าสองข้อข้างต้นนั้น

และเป็นคำที่ไม่ได้ใช้พูดกันในภาษาไทย เหมือนอย่างคำว่าดี หรือคำว่าตรงซึ่งพูดกันอยู่

และในการแสดงถ้อยคำนี้ก็ย่อมประกอบด้วยเนื้อความของถ้อยคำ

ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ในด้านปฏิบัติที่ควรทราบ

 

อริยะธรรม ญายะธรรม

 

พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้คำนี้ไว้ในพระสูตรหลายแห่ง

เช่น ในที่แห่งหนึ่งได้ตรัสแสดงไว้โดยความว่า

พระองค์ทรงบัญญัติบุคคลว่าเป็นผู้มีปัญญามาก เป็นมหาบุรุษ ด้วยธรรมะเหล่านี้คือ

ผู้ที่ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่คนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่คนเป็นอันมาก

ตั้งคนเป็นอันมากไว้ใน อริยะ ญายะ คือกัลยาณธรรม ธรรมะที่งาม

กุศลธรรม ธรรมะที่เป็นกุศล และยังตรัสต่อไปอีกว่า

 

บุคคลผู้ที่หวังจะตรึก ความตรึกอันใด ก็ย่อมตรึกความตรึกอันนั้นได้ทันที

ไม่หวังที่จะตรึกความตรึกอันใด ก็ไม่ตรึกความตรึกอันนั้นได้ทันที

หวังที่จะดำริความดำริอันใด ก็ดำริความดำริอันนั้นได้ทันที

ไม่หวังที่จะดำริความดำริอันใด ก็ไม่ดำริความดำริอันนั้นได้ทันที

เป็นผู้ที่มีอำนาจใจ มีความเชี่ยวชาญทางใจ มีความคล่องแคล่วทางใจ

ในวิถีทางแห่งวิตกคือความตรึกนึกคิดทั้งหลายดังกล่าว

 

อนึ่ง เมื่อใคร่ที่จะได้ฌานทั้ง ๔ ก็ได้โดยง่าย ได้โดยไม่ยากลำบาก

และอย่างสูงสุดก็เป็นผู้ที่กระทำให้แจ้งด้วยความรู้ยิ่งเอง

เข้าถึงเจโตวิมุติความพ้นทางใจ ปัญญาวิมุติความพ้นทางปัญญา ที่ไม่มีอาสวะ

เพราะละอาสวะทั้งหลายได้ อยู่ในปัจจุบันได้ทีเดียว

 

บุคคลผู้ประกอบด้วยคุณธรรมดังกล่าวนี้

พระองค์จึงทรงบัญญัติว่าเป็นผู้มีปัญญามากเป็นมหาบุรุษ

และโดยเฉพาะในข้อแรกที่ตรัสเอาไว้ว่า ผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแห่งชนเป็นอันมาก

เพื่อความสุขแห่งชนเป็นอันมาก ตั้งชนเป็นอันมากไว้ได้ ในอริยะญายะ

คือกัลยาณธรรม กุศลธรรมดั่งนี้

 

ทรงไขความแห่งคำว่าอริยะญายะธรรมไว้เองว่าคือกุศลธรรมกัลยาณธรรม

เพราะฉะนั้น ญายะปฏิปันโนจึงมีความหมายตามพระพุทธาธิบายนี้ว่า

ปฏิบัติเป็นกัลยาณธรรม คือเป็นธรรมะที่งาม เป็นกุศลธรรม เป็นธรรมะที่เป็นกุศล

คือเป็นกิจของคนฉลาด อันหมายถึงธรรมะที่เป็นส่วนดีนั้นเอง

เมื่อกล่าวอย่างไทยๆก็กล่าวได้ว่าปฏิบัติถูก

หรือแม้กล่าวว่าปฏิบัติเป็นธรรม อย่างที่ชอบแปลกันก็ใช้ได้

เพราะก็หมายความว่าปฏิบัติเป็นกุศลธรรม หรือเป็นกัลยาณธรรม

ตามพระพุทธาธิบายนั้นเอง

 

ปฏิบัติอย่างไรชื่อว่ารักษาตน

 

และนอกจากนี้ยังได้ทรงใช้คำว่าญายะนี้ในความหมายรับรองว่าถูกต้อง

ดังที่ได้มีปัญหาว่าปฏิบัติอย่างไรชื่อว่ารักษาตน และรักษาผู้อื่นด้วย

ก็ได้ทรงยกเอาเรื่องของการเล่นแสดงอย่างหนี่ง

ที่ในครั้งนั้นถือว่าเป็นการเล่นแสดงที่เป็นวงของจัณฑาลคือบุคคลชั้นต่ำ

คือการเล่นของบุคคลสองคนที่ต่อตัวกันขึ้นไป โดยคนหนึ่งยืนอยู่บนพื้นดิน

อีกคนหนึ่งขึ้นไปยืนอยู่บนบ่า และก็แสดงท่าทางต่างๆ ให้คนดู

ในสองนี้คนหนึ่งเป็นอาจารย์ คนหนึ่งเป็นลูกศิษย์

 

ก่อนที่จะแสดงอาจารย์ก็บอกแนะลูกศิษย์ว่า

ให้ลูกศิษย์รักษาอาจารย์ อาจารย์ก็จะรักษาลูกศิษย์ในขณะที่กำลังแสดง

ฝ่ายลูกศิษย์ก็แย้งว่าไม่น่าจะเป็นอย่างนั้นไปได้ อาจารย์ก็รักษาอาจารย์เอง

ลูกศิษย์ก็รักษาตัวลูกศิษย์เอง และเมื่อต่างรักษาตัวของตัวเองอยู่ในการแสดงดั่งนี้

ก็เป็นอันว่ารักษาซึ่งกันและกัน จะทำให้การแสดงสำเร็จได้ลาภตามประสงค์

 

พระพุทธเจ้าก็ตรัสรับรองว่านั่นเป็นญายะคือถูกต้องในข้อนี้

ผู้รักษาตนซึ่งชื่อว่ารักษาผู้อื่น และผู้รักษาผู้อื่นซึ่งชื่อว่ารักษาตนด้วยนั้น

ก็ให้ส้องเสพย์ในสติปัฏฐานทั้ง ๔ พูดสั้นๆก็คือว่าให้ตั้งสติ ให้มีสติความระลึกได้ กำหนดอยู่

และเมื่อมาปฏิบัติส้องเสพย์สติปัฏฐาน ๔ ตั้งสติในสติปัฏฐาน ๔ ดั่งนี้

ก็ชื่อว่ารักษาตนเองด้วย รักษาผู้อื่นด้วย หรือว่าชื่อว่ารักษาผู้อื่นด้วย รักษาตนเองด้วย

และก็ได้ตรัสในทางปฏิบัติต่อไปอีกด้วยว่า เมื่อจะรักษาตน และชื่อว่ารักษาผู้อื่นด้วยนั้น

ก็ให้ปฏิบัติส้องเสพย์สติปัฏฐานทั้ง ๔ ดังกล่าว

และให้ประกอบด้วยเมตตา ประกอบด้วยขันติ ประกอบด้วยความเอ็นดู

เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็ชื่อว่ารักษาตนและรักษาผู้อื่นด้วย รักษาผู้อื่นและรักษาตนด้วยดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้น คำว่าญายะที่ทรงใช้ในที่นี้จึงหมายถึงถูกต้อง

คือถูกต้องอย่างที่ลูกศิษย์พูดแย้งอาจารย์ ในการแสดงนั้นแต่ละคนก็ต้องรักษาตนเอง

เพื่อทำการแสดงให้ถูกต้อง โดยมีสติปัญญากำกับอยู่กับตน เป็นการรักษาตนเอง

แล้วก็ชื่อว่าเป็นอันรักษาคนอื่นด้วยที่ร่วมกันแสดง

คำที่ลูกศิษย์พูดนั้นถูกต้อง แต่คำที่อาจารย์แนะนั้นไม่ถูก

เพราะฉะนั้น ญายะปฏิปันโน จึงแปลได้ว่าปฏิบัติถูก ปฏิบัติถูกต้องไม่ผิด

 

ข้อว่าปฏิบัติในทางปัญญา

 

อีกอย่างหนึ่งได้ทรงใช้คำว่าญายะนี้ในทางปัญญา คือว่าปฏิบัติอย่างไรจึงจะชื่อว่าเป็นญายะ

ก็ทรงสอนว่าคือให้ปฏิบัติใช้ปัญญาจับเหตุจับผล ให้รู้ว่าเมื่อสิ่งนี้มี ก็ย่อมมีสิ่งนี้

เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี ก็ไม่มีสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่มีสิ่งนี้เกิด ก็ไม่มีสิ่งนี้เกิด

อันหมายความว่าที่ใช้คำว่า สิ่งนี้ ด้วยกันนั้นไม่ใช่หมายความว่าสิ่งเดียวกัน

คือเป็นสองสิ่งหรือหลายสิ่ง ถ้าพูดอย่างสามัญก็พูดกันว่า เมื่อมีสิ่งนี้สิ่งนั้นก็มี

เมื่อสิ่งนี้ดับสิ่งนั้นก็ดับ เมื่อไม่มีสิ่งนี้ก็ไม่มีสิ่งนั้น

เพราะฉะนั้นคำว่า นี้ ที่ใช้ซ้ำกันสองทีนี้จึงหมายถึงว่าสองสิ่ง พูดง่ายๆคือว่า นี้ กับ นั้น

 

และเมื่อตรัสนำขึ้นดั่งนี้แล้ว ก็ตรัสชักเข้าปฏิจจสมุปบาท คือธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น

ว่าเพราะมีอวิชชาจึงมีสังขาร ดั่งนี้เป็นต้น และเพราะอวิชชาดับสังขารก็ดับดั่งนี้เป็นต้น

หรือหากว่าจะจับเข้าในเหตุผลทางกรรมก็จับได้ เหตุผลทางอริยสัจจ์ก็จับได้

อันหมายความว่าจะทำความเข้าใจในพระพุทธภาษิตที่ตรัสสอนว่าให้ใช้ปัญญาดังกล่าวนี้

และชักเข้าปฏิจจสมุปบาทนั้น ทำความเข้าใจยกเอาเหตุผลทางกรรม

และเหตุผลทางอริยสัจจ์เพื่อให้เข้าใจชัดขึ้นก็อาจใช้อธิบายได้

ว่าเมื่อมีอกุศลมูลคือโลภโกรธหลง ก็ย่อมมีกรรมซึ่งเป็นบาปอกุศลทุจริต

และเมื่อมีกรรมที่เป็นบาปอกุศลทุจริต ก็ย่อมมีทุกข์เป็นผลต่อไป

เมื่อไม่มีอกุศลมูลคือโลภโกรธหลง ก็ย่อมไม่มีบาปอกุศลทุจริต

และเมื่อไม่มีบาปอกุศลทุจริต ก็ย่อมไม่มีทุกข์เป็นผลต่อไป

 

ในทางตรงกันข้าม เมื่อมีกุศลมูลคือความไม่โลภความไม่โกรธความไม่หลง

เช่นมีกุศลเจตนาต่างๆ มีเมตตากรุณาเป็นต้น ก็ย่อมมีกรรมที่เป็นกุศลเป็นสุจริตเป็นบุญ

เมื่อมีกรรมที่เป็นกุศลเป็นสุจริตเป็นบุญ ก็ย่อมมีสุขเป็นผลต่อไป

แต่เมื่อไม่มีกุศลมูล กุศลธรรมต่างๆก็ย่อมไม่มี สุขที่เป็นผลต่างๆก็ย่อมไม่มี

ย่อมเป็นไปตามเหตุตามผลดั่งนี้ เป็นกฏของกรรมทางพระพุทธศาสนา

หรือยกเอากฏทางอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ก็ได้ คือเมื่อมีทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์ ก็ย่อมมีทุกข์

เมื่อมีมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็ย่อมมีนิโรธความดับทุกข์

นี้เป็นเหตุเป็นผลทางอริยสัจจ์

( เริ่ม ๑๒๗/๒ )

การใช้ปัญญาจับเหตุจับผลให้ถูกต้องได้ดั่งนี้ชื่อว่าได้รู้ญายะธรรม หรือรู้ญายะ

เพราะฉะนั้น ตามที่อ้างเอาพระพุทธภาษิตที่ทรงใช้คำว่าญายะมาแสดงนี้

ก็ย่อมรวมความเข้าด้วยว่า ญายะปฏิปันโนนั้นอาจแปลได้เป็น ๓ อย่าง

คือปฏิบัติเป็นกุศลธรรม เป็นกัลยาณธรรม จะแปลว่าปฏิบัติถูกก็ได้ ปฏิบัติเป็นธรรมเฉยๆก็ได้

ก็มีความหมายถึงว่าปฏิบัติเป็นกัลยาณธรรม เป็นกุศลธรรมนั้นเอง

แปลว่าปฏิบัติเห็นธรรมก็ได้ คือเห็นสัจะที่เป็นตัวความจริงตามเหตุและผล

อีกอย่างหนึ่งนั้นแปลว่าปฏิบัติบรรลุถึงธรรม ปฏิบัติให้สำเร็จธรรมะที่พึงบรรลุ

ในประการที่ ๓ นี้มีนิทัศนะที่พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้มาแล้ว ดังที่ได้ตรัสไว้ในพระสูตรหนึ่ง

มีความว่า ผู้ที่ปฏิบัติผิดย่อมไม่ให้สำเร็จญายะ คือไม่ให้สำเร็จถึงธรรมะที่พึงบรรลุได้

ส่วนผู้ที่ปฏิบัติชอบปฏิบัติถูกต้อง จึงจะให้สำเร็จญายะธรรม

คือให้บรรลุถึงธรรมะที่พึงบรรลุได้

การปฏิบัติเข้าทางที่งดงาม

 

เพราะฉะนั้น คำว่าญายะนี้จึงมีความหมายที่ใช้กันดั่งนี้

ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงใช้ตรัสแสดงไว้เอง

และแต่ละความหมายนั้นย่อมมีความสำคัญในด้านปฏิบัติทั้งนั้น

ประการแรกญายะปฏิปันโน ปฏิบัติเป็นกุศลธรรม เป็นกัลยาณธรรม

หรือพูดสั้นๆว่าปฏิบัติเป็นธรรม หรือพูดเป็นไทยๆว่าปฏิบัติถูก

ก็มีความหมายว่าญายะนั้นก็คือว่า เป็นการปฏิบัติเข้าทาง

นำเข้าทางที่งดงามที่เป็นกุศล คือที่ถูกต้อง

 

ตามศัพท์ของคำว่าญายะก็แปลว่าเข้าทางได้ หรือว่านำเข้า แปลว่านำเข้าคือนำเข้าทาง

ส่วนที่แปลว่าปฏิบัติเห็นธรรมนั้น คำว่าญายะก็แปลได้ว่าสัจจะที่พึงรู้ หรือธรรมะที่พึงรู้

คือคำว่าญายะนี้แปลว่ารู้ได้ ส่วนที่แปลว่าปฏิบัติให้สำเร็จญายะธรรม คือธรรมะที่พึงบรรลุ

คำว่าญายะนั้นเองก็แปลว่าธรรมะที่พึงบรรลุได้ คือที่พึงเข้าถึง

จึงแปลว่านำเข้าทาง นำเข้าอันหมายถึงนำเข้าทางอย่างหนึ่ง

แปลว่าที่พึงรู้อย่างหนึ่ง แปลว่าเข้าถึงคือที่พึงบรรลุถึงอีกอย่างหนึ่ง

คำว่าญายะจึงมีความหมายอันสำคัญ

 

ประการแรกการปฏิบัตินั้น ก็ต้องเป็นการปฏิบัติที่เป็นกุศลธรรม เป็นกัลยาณธรรม

ก็ต้องปฏิบัตินำเข้าคือนำตนผู้ปฏิบัตินั้นเองเข้า หมายถึงเข้าทาง

เข้าทางที่เป็นกุศล ที่เป็นกัลยาณะคืองาม ที่เป็นทางชอบถูกต้อง อันนี้เป็นส่วนเหตุ

แต่ในการที่จะปฏิบัตินำเข้าคือนำเข้าสู่ทางที่ชอบ ที่เป็นกุศลที่เป็นกัลยาณะดังกล่าวนั้นได้

ก็ต้องอาศัยมีปัญญารู้สัจจะคือความจริงตามเหตุและผล หรือรู้เหตุผลตามเป็นจริง

ตามที่เป็นแล้ว คือตามที่เป็นจริงแล้ว จับเหตุจับผลได้ว่าเมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ก็เกิด

หรือว่าเมื่อสิ่งนี้เกิด สิ่งนั้นก็เกิด เมื่อสิ่งนี้ไม่เกิด สิ่งนี้ก็ไม่เกิด หรือเมื่อสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ

จับเหตุจับผลได้ดั่งนี้ตามหลักของกรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้

และตามหลักของอริยสัจจ์ อันเป็นธรรมะที่ประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้

เพราะว่าสัจจะคือความจริงตามเหตุและผล ด้วยเหตุผลตามเป็นจริง ดั่งนี้

เป็นญายะคือเป็นข้อที่พึงรู้ ที่พึงเข้ารู้ ที่พึงรู้ เมื่อรู้แล้วจึงจะปฏิบัติได้ถูกต้อง

 

สาวกภูมิต้องอาศัยศรัทธาปัญญา

 

แต่สำหรับผู้ที่เป็นภูมิสาวกต้องมีพระศาสดา

ดังเราทั้งหลายมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดา

ยังไม่มีปัญญาที่จะจับเหตุจับผลได้ถูกต้องตามหลักกรรมและตามหลักอริยสัจจ์

ก็อาศัยศรัทธาคือฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้

และสิ่งใดที่รู้เองได้ก็อาจที่จะรับรองได้ด้วยปัญญาของตน

แต่สิ่งใดที่ไม่อาจรู้เองได้ก็ต้องอาศัยศรัทธาคือความเชื่อตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเอาไว้

แต่แม้เช่นนั้นก็ใช้ ญาณปรีชา คือความพิจารณาจับเหตุจับผลไปตามก็ย่อมจะพอรู้ได้เข้าใจได้

และอาจจะตัดสินได้ว่าเป็นจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

 

การที่อาศัยศรัทธาคือความเชื่อนี้ทุกคนก็ต้องอาศัยศรัทธากันอยู่แล้วเป็นอันมาก

เช่นทุกคนที่เกิดมาก็ไม่รู้ว่าตัวเองเกิดมาเมื่อไหร่ ไม่รู้ว่าใครเป็นพ่อเป็นแม่

ต้องอาศัยพ่อแม่ท่านบอก จึงทราบว่าเกิดมาเมื่อนั่นเมื่อนี่ อันนี้ก็ต้องเชื่อตามที่ท่านบอก

เพราะตัวเองไม่รู้ และรู้จักพ่อรู้จักแม่ก็ด้วยอาศัยความที่ท่านได้เลี้ยงดูมาตั้งแต่ต้น

ให้ความรักความเมตตามาตั้งแต่ต้น

 

และแม้แต่ในเรื่องอื่นก็ต้องอาศัยศรัทธาอันประกอบด้วยวิจารณญาณอยู่เป็นอันมาก

โดยที่ตนเองนั้นไม่อาจจะไปรู้ไปเห็นด้วยตาตัวเองได้ หรือไม่อาจที่จะรู้ด้วยปัญญาได้

เช่นผู้พิพากษาตัดสินคดี ผู้พิพากษาเองนั้นก็ไม่ได้ไปเห็นเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นเอง

ต้องอาศัยหลักฐานสำนวนต่างๆ และมาพิจารณาตามเหตุและผล

แล้วก็ตัดสินไปตามที่มีหลักฐานพยาน เป็นต้น

นี้ก็ต้องใช้ศรัทธา แต่เป็นศรัทธาที่ประกอบด้วยญาณคือความหยั่งรู้

อันหมายความว่าใคร่ครวญไปตามเหตุผลหลักฐาน เท่าที่สามารถจะทำได้

การสอบความรู้ต่างๆของคนก็เหมือนกัน ไม่มีใครไปรู้ว่าใครมีปัญญาคือความรู้เท่าไหร่

จึงต้องอาศัยการสอบไล่ ออกข้อสอบมาให้เขียนให้ตอบ หรือสัมภาษณ์ ฟัง

แล้วก็ตัดสินเอาตามกฏเกณฑ์ว่าให้สำเร็จการศึกษาขั้นนั้นขั้นนี้

ก็อาศัยศรัทธาอันประกอบด้วยปัญญา ประกอบด้วยญาณคือความที่พินิจพิจารณาให้หยั่งรู้

 

เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่ยังไม่สามารถจะรู้เองได้ก็ต้องอาศัยศรัทธา

และก็พิจารณาไปตามเหตุผล ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

เพราะว่าได้ทรงชี้แจงถึงเหตุผลประกอบไปด้วยในคำสั่งสอนทั้งปวง

ตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ๓ ข้อ ว่าทรงสั่งสอนเพื่อให้รู้ให้เห็นในธรรมะที่ควรรู้ควรเห็น

มีนิทาน เหตุผลหลักฐานที่พึงตรองตามไปเห็นจริงได้ และมีปาฏิหาริย์คือปฏิบัติให้ได้ผลได้ ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น ญายะปฏิปันโนนั้นจึงปฏิบัติใช้ปัญญาให้เห็นธรรมที่พึงรู้พึงเห็น

จึงจะปฏิบัติให้ถูกต้องเป็นกัลยาณธรรม เป็นกุศลธรรม หรือเป็นธรรม หรือว่าถูกต้องได้

อันเป็นส่วนเหตุ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะได้บรรลุญายะธรรม ธรรมะที่พึงบรรลุ

ที่พึงเข้าถึงอันเป็นส่วนผล ตามสมควรแก่ความปฏิบัติ

 

เพราะฉะนั้น คำว่าญายะปฏิปันโนนี้

จึงประกอบด้วยความหมายที่สมบูรณ์มากอยู่ในคำเดียว

คือปฏิบัติเป็นกัลยาณธรรม เป็นกุศลธรรม หรือเป็นธรรม หรือว่าถูก

ปฏิบัติเห็นธรรมคือสัจจะที่เป็นตัวความจริง ตามเหตุและผล

คือปฏิบัติให้รู้ถึงธรรมะที่พึงรู้ ถึงข้อที่ควรรู้ ที่พึงรู้ จับเหตุจับผลได้ตามเป็นจริง

และปฏิบัติให้สำเร็จผลได้ คือให้บรรลุถึงธรรมที่พึงบรรลุได้ ถึงผลที่พึงบรรลุได้

ตามควรแก่ความปฏิบัติ ทั้งหมดนี้รวมอยู่ในคำว่า ญายะปฏิปันโน

ซึ่งเรามักจะแปลกันง่ายๆในความหมายว่าแรกว่าปฏิบัติเป็นธรรม หรือปฏิบัติถูก

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจปฏิบัติสืบต่อไป

๑๐

สังฆานุสสติ

สามีจิปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

โกศล ความฉลาด ๓ ประการ ๓

การปฏิบัติชอบยิ่ง ๔

สามีจิกรรม ๕ 

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๒๗/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๒๘/๑ ( File Tape 99 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สังฆานุสสติ

สามีจิปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

จะแสดงพระสังฆคุณบทว่า สามีจิปฏิปันโน ภควโต สาวกสังโฆ

หมู่แห่งสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นปฏิบัติชอบยิ่งแล้ว

อันเป็นพระสังฆคุณบทที่ ๔ นำสติปัฏฐาน

 

คำว่า สามีจิ ในพระสังฆคุณบทนี้แปลกันโดยมากว่าชอบยิ่ง

แต่จะแปลอย่างอื่นเช่นว่าชอบ หรือเหมาะ หรือรวมกันว่าชอบเหมาะ จะแปลว่าสมควรก็ใช้ได้

และคำนี้มีใช้แสดงการปฏิบัติธรรมของพุทธศาสนิกชนทั่วไปทั้งบรรพชิต ทั้งคฤหัสถ์

ทั้งบุรุษทั้งสตรี ดังพระบาลีที่ว่า ธรรมานุธรรมะปฏิปันโน ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติเป็นสามีจิคือชอบยิ่ง อนุธรรมจารี ปฏิบัติตามธรรมดั่งนี้

และคำว่า ธรรมานุธรรมะปฏิปันะ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมนั้น

ก็มีความหมายโดยสรุปว่า ปฏิบัติธรรม คือปฏิบัติถูกชอบดังที่เรียกกันว่าปฏิบัติธรรมทั่วไป

สมควรแก่ธรรม คือสมควรแก่ธรรมะที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

และสมควรแก่ธรรมะที่เป็นสัจจะคือความจริงตามที่ทรงสั่งสอนนั้น

 

พร้อมทั้งสมควรแก่ผลตามเป้าประสงค์ที่ทรงสั่งสอน

เช่นว่า เป้าประสงค์ก็คือประโยชน์ที่เป็นปัจจุบัน ก็ปฏิบัติธรรมะอันเป็นส่วนเหตุ

ก็ตามที่ทรงสั่งสอนนั่นแหละ ให้ตรงต่อผลที่เป็นประโยชน์ปัจจุบันที่ต้องการ

เป้าประสงค์คือประโยชน์ภายหน้า ก็ปฏิบัติธรรมะที่เป็นส่วนเหตุ

ให้ตรงต่อผลที่ประสงค์คือประโยชน์ภายหน้า

เป้าที่ประสงค์คือประโยชน์อย่างยิ่งอันได้แก่มรรคผลนิพพาน

ก็ปฏิบัติธรรมะที่เป็นส่วนเหตุให้ตรงกับเป้าที่ประสงค์คือมรรคผลนิพพาน

และสำหรับในเป้าประสงค์สูงสุดคือมรรคผลนิพพานนี้ ได้มีพระพุทธาธิบาย

และพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรไว้ว่า คือปฏิบัติเพื่อนิพพิทาคือความหน่าย

วิราคะคือความสิ้นติดใจยินดี นิโรธะคือเพื่อความดับ ดับนันทิความเพลิดเพลิน

ดับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก เพื่อนิพพาน ดั่งนี้

ปฏิบัติดั่งนี้ชื่อว่าเป็นการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

 

โกศลความฉลาด ๓ ประการ

 

สามีจิปฏิปันนะ ปฏิบัติชอบยิ่งก็คือปฏิบัติให้เหมาะที่จะบรรลุได้ถึงผลที่เป้าหมายนั้น

ดังที่ได้มีแสดงถึงโกศลคือความฉลาดไว้สามอย่าง คือ อายะโกศล ความฉลาดในทางเจริญ

อปายะโกศล ความฉลาดในทางเสื่อม อุปายะโกศล ฉลาดในอุบาย

คือในวิธีที่จะปฏิบัติเพื่อละทางเสื่อมเข้าสู่ทางเจริญ เพื่อผลคือความเจริญตามที่ต้องการ

การที่จะปฏิบัติได้ดังกล่าวนี้ก็ต้องปฏิบัติให้เหมาะ จึงจะเป็นอุบายที่จะนำเข้าสู่ความสำเร็จได้

ดังที่บัดนี้เรียกกันว่านโยบาย นัยยะก็แปลว่าเป็นเครื่องนำไป

อุบายก็คือว่าวิธีที่จะเข้าถึงความเจริญ

เพราะฉะนั้น สามีจิปฏิปันนะ ปฏิบัติชอบยิ่งหรือเหมาะนี้

จึงเป็นข้อสำคัญที่จะต้องมีอยู่อีกข้อหนึ่ง ประกอบเข้ากับสามข้อข้างต้น

คือปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม หรือเพื่อธรรมที่บรรลุ

จะต้องมีข้อ ๔ คือปฏิบัติชอบยิ่ง คือเหมาะเข้าประกอบด้วย

 

การปฏิบัติชอบยิ่ง

 

การปฏิบัติที่เป็นสามีจินี้ได้มีใช้ในพระวินัยบัญญัติหลายข้อ

เป็นต้นว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัย ห้ามไม่ให้หยิบจับรูปิยะคือเงินทอง

เว้นไว้แต่เงินทองที่ตกอยู่ในวัดในที่อาศัย ถ้าหยิบจับเงินทองที่ตกอยู่ในที่อื่นปรับเป็นอาบัติ

แต่ถ้าพบเงินทองที่ตกอยู่ในวัดก็หยิบจับได้ และรักษาไว้เพื่อว่าใครเป็นเจ้าของจะได้มารับเอาไป

ปฏิบัติเช่นนี้เรียกว่าสามีจิคือชอบยิ่ง

 

( เริ่ม ๑๒๘/๑ ) ได้มีบัญญัติไว้ในพระวินัยบัญญัติหลายข้อ

ดังอีกข้อหนึ่งเมื่อมีพระราชาก็ดี อำมาตย์ของพระราชาก็ดี คฤหบดีก็ดี

ได้ส่งคนนำเอามูลค่าจีวรเพื่อไปซื้อจีวรแล้วมาถวายภิกษุรูปหนึ่ง

แต่ว่าบุคคลที่ท่านผู้บริจาคทรัพย์ใช้มานั้น เขาเอาเงินมาถวายพระรูปนั้นโดยตรง

ก็ให้พระรูปนั้นตอบว่า เงินทองที่เป็นค่าจีวรนี้ไม่สมควรที่จะรับไว้ได้

 

และถ้าบุคคลผู้นั้นเขาถามว่า ท่านมีไวยาวัจกร

คือคฤหัสถ์ที่เป็นอุบาสกก็ดี เป็นผู้อาศัยอยู่ในวัดก็ดี อยู่หรือไม่

ถ้าบุคคลเช่นนั้นมีอยู่ และภิกษุก็ต้องการจีวร ก็ให้ตอบเขาว่ามี คนนั้นคนนี้

ผู้ที่รับใช้มานั้นก็นำเอามูลค่าของจีวรที่เป็นเงินไปมอบแก่อุบาสก

หรือบุคคลที่อาศัยอยู่ในวัด แล้วกลับมาบอกภิกษุว่าได้ตกลงมอบแก่ผู้นั้นๆไว้แล้ว

เมื่อท่านต้องการจีวรก็ให้ไปเรียกร้องเอาจากเขา ตามที่ต้องการ

ต่อมาเมื่อภิกษุนั้นต้องการจีวรก็ให้ไปหาอุบาสก หรือหา อารามิกะ คือผู้ที่อาศัยอยู่ในวัดนั้น

และบอกความประสงค์ว่าต้องการจีวร

ก็มีบัญญัติพระวินัยว่าให้ไปทวงได้ดังนี้ ๓ ครั้ง ให้ไปยืนนิ่งๆ ๖ ครั้ง

ถ้าได้มาก็เป็นการดี ถ้าไม่ได้มา ถ้าไปทวงเกินกว่านั้นก็ปรับเป็นอาบัติ

และเมื่อไม่ได้ก็ให้ไปบอกแก่เจ้าของทรัพย์เขาว่า ทรัพย์ที่ส่งมาเพื่อให้เป็นมูลค่าจีวรนั้น

ไม่สำเร็จประโยชน์ ให้เจ้าของทวงทรัพย์ของเขาคืนไปเสีย จะไปเองหรือจะส่งทูตไปก็ได้

การปฏิบัติดังนี้เป็นสามีจิคือชอบยิ่ง นี้เป็นไปในทางวินัย

 

สามีจิกรรม

 

ในทางคารวะนั้นก็มีแสดงไว้ถึงวัตถุหรือบุคคล

ที่พึงเคารพด้วยวิธีต่างๆ มีการกราบไหว้กระทำอัญชลีลุกขึ้นยืนรับ

จนถึงข้อสุดท้ายก็คือสามีจิกรรม กระทำอาการที่สมควรที่เหมาะสม

และสามีจิที่แสดงไว้ในหลักคารวะนี้ ย่อมเป็นหลักปฏิบัติได้กว้างๆ

ภิกษุพึงทำสามีจิกรรมต่อภิกษุด้วยกัน ที่มีพรรษาแก่กว่า ที่มีพรรษาเสมอกัน

ที่มีพรรษาอ่อนกว่าก็ได้ เช่นว่าเวลาที่จะปฏิบัติกรรมทางพระวินัยต่อกัน

เช่นนั่งคุกเข่าสองรูปหันหน้าเข้าหากัน แล้วกลับผ้า เป็นต้น

ภิกษุทั้งแก่ทั้งอ่อนก็นั่งพนมมือด้วยกัน การพนมมือนั้นเรียกว่าเป็นสามีจิกรรม

การกระทำที่ชอบยิ่ง

 

แม้ในเวลาที่สวดมนต์ก็พนมมือ รับศีลก็พนมมือ นี่เป็นสามีจิกรรมกรรมะที่ชอบยิ่ง

แม้การที่จะลากัน ภิกษุที่อาวุโสกว่าจะเป็นอุปัชฌาย์อาจารย์จะลาสัทธิวิหาริก

เช่นลาเข้าบ้านในเวลาวิกาลก็ใช้พนมมือกล่าวคำลาเป็นสามีจิกรรม

ตลอดจนถึงเช่นว่าสัทธิวิหาริกป่วยไข้อุปัชฌาย์อาจารย์ก็ไปปฏิบัติสัทธิวิหาริก

เหมือนอย่างเป็นบุรุษพยาบาลก็ทำได้ ดั่งนี้เรียกว่าเป็นสามีจิกรรม กรรมะที่ชอบยิ่ง

 

และนอกจากนี้ก็ยังมีข้อที่ภิกษุควรปฏิบัติ เช่นว่าเวลาที่กำลังเดินบิณฑบาต

ถึงเวลาที่เขายกธงชาติ เขามีบัญญัติธรรมเนียมให้ทุกคนเมื่อเดินอยู่ก็หยุดยืน

ดั่งนี้ทางคณะสงฆ์ก็เคยใช้ปฏิบัติกัน ว่าแม้ภิกษุเองก็ควรจะหยุดยืน

ในเมื่อเขาหยุดยืนกันหมด พระจะไปเดินอยู่องค์เดียวก็ไม่งาม

ก็เป็นสามีจิกรรมเหมือนกัน ในเมื่อที่จะยืนได้ แต่ถ้าในโอกาสที่จะยืนไม่ได้

เช่นกำลังเดินอยู่กลางถนนก็ไม่ได้อยู่เอง ต้องเดินข้ามมาให้พ้น ดังนี้เป็นต้น

 

และก็ได้มีท่านผู้หลักผู้ใหญ่ที่เล่ากันมา

เช่นสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส

ขณะที่ทรงดำเนินอยู่ในถนน เมื่อเขามีการแห่ศพผ่าน หรือว่านำศพผ่านก็ทรงหยุดยืน

ก็เป็นการที่แสดงสามีจิกรรม กรรมะที่ชอบยิ่ง

หรือแม้ว่ามีพระต่างวัดมาต้องการจะมาหาพระรูปหนึ่ง

เมื่อพบเข้าทราบความประสงค์ก็นำไปชี้กุฏิให้ ก็เป็นสามีจิกรรมอันหนึ่ง

ในเรื่องนี้ก็ได้มีเล่าถึงสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้นอีกเหมือนกัน

ว่าวันหนึ่งได้เสด็จทรงพระดำเนินอยู่ในวัด ได้มีพระต่างวัดรูปหนึ่งเข้ามา

เห็นกำลังทรงดำเนินอยู่ก็เข้าไปถวายความเคารพ โดยรับสั่งถามว่าจะมาหาใคร

พระรูปนั้นก็ตอบว่าจะมาหาพระเถระต่างจังหวัดรูปหนึ่งซึ่งมาพักอยู่ในวัดนี้

พระองค์ก็รับสั่งว่าโน่นเขาพักอยู่กุฏิโน้น แล้วก็เสด็จนำไปเอง

จนถึงกุฏิของพระเถระต่างจังหวัดรูปนั้น ว่านั่นอยู่กุฏินั้นแล้วก็เสด็จกลับ

พระต่างวัดรูปนั้นต่อมาก็เป็นพระผู้ใหญ่ขึ้นก็ได้เล่าเรื่องนี้

ทราบซึ้งในพระมหากรุณาของสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้นเป็นอย่างที่สุด

มีความเคารพอย่างที่สุดในการที่ได้ทรงปฏิบัติเอื้อเฟื้อต่อพระอาคัณตุกะต่างวัดที่เข้ามา

ดั่งนี้ก็เป็นสามีจิกรรม คือเป็นกรรมะที่ชอบยิ่ง

 

พระพุทธเจ้าเองก็ได้ทรงปฏิบัติกิจที่เรียกว่าเป็นสามีจิกรรมไว้ตลอด

เรื่องที่เป็นเรื่องปลีกย่อยก็เช่นครั้งหนึ่งประทับอยู่ในกรุงโกสัมพี

นางมาคันทิยาซึ่งเป็นมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าอุเทนแห่งกรุงโกสัมพี

ได้ผูกโกรธต่อพระพุทธเจ้า ได้จ้างให้คนตามด่าพระพุทธเจ้า

ในขณะที่เสด็จออกบิณฑบาต ทุกวัน หลายวัน

พระอานนท์ก็กราบทูลว่าขอให้เสด็จย้ายออกไปจากเมืองนี้ ไปอยู่เมืองโน้น

ก็รับสั่งว่าถ้าเมืองโน้นเขาด่าอีกจะไปไหน

พระอานนท์ก็กราบทูลว่าก็ให้ออกจากเมืองโน้นไปอีกเมืองหนึ่ง

พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าปฏิบัติอย่างนั้นไม่ชอบ เมื่ออธิกรณ์บังเกิดขึ้นในที่ใด

เมื่ออธิกรณ์นั้นสงบลงไปแล้วจึงค่อยย้ายไปจากที่นั้น

และความจริงก็เป็นดั่งนั้น พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ที่บริสุทธิ์อย่างยิ่ง

เหตุที่บังเกิดขึ้นแก่พระองค์นั้นเป็นไปอยู่ไม่เกิน ๗ วัน แล้วก็สงบไป

การที่ทรงปฏิบัติดั่งนี้เรียกว่าเป็นสามีจิคือเป็นการปฏิบัติชอบยิ่ง

 

และพระอานนท์เองนั้นก็ได้เป็นผู้มีการปฏิบัติดั่งนี้มากครั้ง

เช่นครั้งหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทรงมีศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา

ได้ทรงนิมนต์ให้พระสงฆ์เข้าไปรับบาตรในพระราชสำนัก

แต่ไม่ได้ทรงสั่งข้าราชสำนักให้เป็นผู้นิมนต์พระและถวายอาหารแก่พระ

เมื่อพระไปแล้วไปไม่มีใครถวาย ไม่มีใครใส่บาตรก็กลับ

 

เมื่อเป็นดั่งนี้เข้าสองสามวันก็ไม่มีพระเข้าไป ยังเหลือแต่พระอานนท์องค์เดียว

ซึ่งได้รักษาพระพุทธเจ้าที่ตรัสสั่งไว้ว่าให้เข้าไปรับบาตรในวัง ท่านก็ยังคงเข้าไปอยู่ทุกวัน

จนถึงวันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงระลึกขึ้นมาได้ ก็รับสั่งให้เตรียมเครื่องอาหารออกทรงบาตร

เห็นพระอานนท์รูปเดียวก็ไต่ถามว่าทำไมพระไม่มี พระอื่นไม่มีอีก

ข้าราชสำนักก็ได้กราบทูลให้ทรงทราบ ก็ทรงมีศรัทธาปสาทะในท่านพระอานนท์เป็นอย่างยิ่ง

พระพุทธเจ้าก็ทรงชมเชยว่าท่านพระอานนท์เป็น การณวสิกะ

คือเป็นผู้ที่ปฏิบัติไปตามอำนาจแห่งเหตุการณ์

เมื่อควรจะปฏิบัติอย่างไรในเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นนั้นก็ปฏิบัติด้วยความอดทนไม่ย่อท้อ

ดั่งนี้ก็เป็นสามีจิปฏิบัติ ปฏิบัติชอบยิ่ง

แม้เป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆของบุคคลทั่วไป การปฏิบัติที่เป็นสามีจิที่ชอบยิ่งนี้ก็จำเป็นจะต้องมี

ดังเช่นเรื่องของโฆสกะเศรษฐี เมื่อบิดาของโฆสกะเศรษฐีถึงแก่กรรม

พระเจ้าแผ่นดินก็รับสั่งให้บุตรที่ชื่อว่าโฆสกะเข้าไปเฝ้า

โฆสกะนั้นถือว่าเป็นเด็ก เมื่อเข้าไปเฝ้านั้นพอดีฝนตกมาก

ทางที่เดินที่จะเข้าไปเฝ้าในพระตำหนักนั้นก็เป็นหลุมเป็นบ่อน้ำขัง

โฆสกะกุมารนั้นก็เดินไปบ้างกระโดดไปบ้าง ข้ามน้ำที่เป็นหลุมเป็นบ่อ

เมื่อเข้าไปเฝ้าแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็รับสั่งว่าจะตั้งให้เป็นเศรษฐีสืบต่อบิดา

โฆสกะก็ออกมา แต่เมื่อขาออกกลับนั้นเดินไปโดยเรียบร้อย

ไม่กระโดดข้ามหลุมข้ามบ่อเหมือนอย่างเมื่อขาเข้าเฝ้า

 

พระเจ้าแผ่นดินทอดพระเนตรทางพระแกล

ทอดพระเนตรเห็นสังเกตุในอากัปกิริยาก็เรียก ตรัสเรียกให้เข้าไปเฝ้าใหม่

ก็ตรัสถามว่าทำไมเมื่อขาเข้ามากระโดดข้ามหลุมข้ามบ่อเข้ามา

แต่ขากลับเดินไปโดยเรียบร้อย โฆสกะก็กราบทูลว่าได้ทรงจะตั้งให้เป็นเศรษฐี

ให้มีฐานันดรเป็นเศรษฐีขึ้นแล้ว จึงต้องรักษาความเรียบร้อย พระเจ้าแผ่นดินก็โปรดปราน

ก็โปรดตั้งให้เป็นเศรษฐีในวันนั้นในเวลานั้นทีเดียวสืบต่อจากบิดา

 

และก็มีเล่าถึงเรื่องนางวิสาขา ซึ่งเรียกว่าเป็นมหาอุบาสิกา

ในครั้งพุทธกาล เมื่อนางวิสาขายังเป็นกุมาริกายังไม่ได้แต่งงาน

ก็ได้มีทูตของเศรษฐีเมืองอื่น หรือคณะบุคคลของเศรษฐีเมืองอื่นที่ส่งเข้ามาเพื่อพิจารณาดู

เพื่อจะได้สู่ขอนางวิสาขาไปแต่งกับบุตรชายของเศรษฐีอีกเมืองหนึ่งซึ่งมีฐานะที่เสมอกัน

คณะผู้ที่มาคอยดูนั้นก็คอยตามดู คณะของนางวิสาขาวันหนึ่งที่ออกจากบ้าน

พร้อมกับพวกมิตรสหายทั้งหลายจะไปสู่ท่าน้ำ ฝนก็ตกลงมา

บรรดามิตรสหายทั้งหลายก็วิ่งเข้าศาลา

 

นางวิสาขาซึ่งเป็นกุมาริกาผู้หนึ่งนั้นก็เดินเข้าไปโดยปรกติ

พวกคณะบุคคลต่างเมืองเหล่านั้นก็พูดเปรยๆให้ได้ยินว่าเป็นหญิงที่เฉื่อยช้าไม่ว่องไว

นางวิสาขาก็ตอบว่าการที่เดินเข้ามานั้นก็เพราะว่าบุคคล ๔ จำพวกนั้นวิ่งไม่งาม

ก็คือหนึ่งพระราชาที่ทรงเครื่องอย่างเต็มที่ เมื่อทรงวิ่งก็ไม่งาม

ช้างพระที่นั่งที่ทรงเครื่องอย่างเต็มที่วิ่งก็ไม่งาม ภิกษุวิ่งก็ไม่งามก็จะถูกหาว่าเหมือนอย่างคฤหัสถ์

กุมาริกาวิ่งก็ไม่งดงามจะถูกหาว่าเหมือนบุรุษ ดั่งนี้

บรรดาคณะที่มาสืบนั้นก็พอใจว่าเป็นสตรีที่มีความฉลาด

 

พระพุทธเจ้าเองนั้นได้ทรงแสดงธรรม ตั้งพระพุทธศาสนาขึ้น

คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกข้อทุกบท ก็เป็นสามีจิคือชอบยิ่งทั้งนั้น

เพราะอะไร ก็เพราะว่าวาจาที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นไม่ใช่ว่าเป็นความจริงอย่างเดียว

พระพุทธเจ้านั้นจะต้องตรัสความจริง และเมื่อตรัสความจริงแล้วก็ไม่เป็นความเท็จ

คนทั่วไปเมื่อพูดความจริงก็ไม่ผิดศีลข้อ ๔ แต่ว่าจริงอย่างเดียวนั้นไม่พอ

พระพุทธเจ้าจะตรัสพระวาจาอันใดต้องเป็นความจริงด้วย

ต้องเป็นประโยชน์ด้วย และต้องถูกต้องด้วยกาละเทศะด้วย

เมื่อประกอบด้วยองค์ทั้งสามนี้พระพุทธเจ้าจึงจะตรัส

 

เพราะฉะนั้นธรรมะทุกบทที่ทรงสั่งสอนนั้น จึงเป็นสัจจะคือความจริงด้วย

และเป็นประโยชน์ด้วย และเป็นข้อที่ต้องด้วยกาละเทศะด้วย

และเมื่อกล่าวคลุมโดยทั่วไปแล้วเป็นอกาลิโกไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ใช้ได้ทุกสมัย

แต่ว่าที่ว่าต้องด้วยกาละเทศะนั้นก็หมายความว่าเหมาะที่จะพูดในเวลานั้นในเวลานี้เท่านั้น

 

เพราะฉะนั้นความที่คำสั่งสอนที่เป็นสัจจะคือความจริงนั้นเป็นประโยชน์

และต้องด้วยกาลเวลานั้น จึงเป็นสามีจินั้นเองคือชอบยิ่ง

ถ้าหากว่าขาดสองข้อนี้แล้วมีแต่ความจริงอย่างเดียวก็ไม่ชอบยิ่ง

เพราะความจริงบางอย่างนั้นควรพูด บางอย่างนั้นไม่ควรพูด

พระพุทธเจ้าเองนั้นก็ยังมีเล่าไว้ในเรื่องว่าเมื่อมีผู้มาตรัสถามเรื่องบางอย่าง

เป็นเวลาที่พระองค์ไม่ควรจะตรัสตอบ ผู้นั้นพอมาเข้าเฝ้าแล้วก็ลืมไปทุกที

ต่อเมื่อถึงเวลาที่ควรจะตรัสตอบ ผู้นั้นก็มาเฝ้าอีก

คือเมื่อเขากลับไปแล้วเขานึกขึ้นมาได้ว่าจะมาทูลถามเรื่องนี้

แต่ว่าลืมไปเสียก็จึงกลับไปเฝ้าอีก แล้วก็ลืมอีก กลับไปเฝ้าอีก แล้วก็ลืมอีก

จนถึงเวลาที่ควรจะตรัสตอบ เขาก็ไม่ลืมก็กราบทูลถาม ก็ตรัสตอบ ก็ได้ประโยชน์

เพราะฉะนั้น การพูดความจริงนั้นจึงต้องให้เหมาะแก่เวลา ดั่งนี้ จึงเป็นสามีจิคือชอบยิ่ง

 

ในการปฏิบัติธรรมก็เป็นเช่นนั้น

การปฏิบัติธรรมนั้นต้องปฏิบัติดี ต้องปฏิบัติตรง

ต้องปฏิบัติเป็นญายะคือเป็นธรรม หรือเพื่อผลที่พึงบรรลุ

และต้องปฏิบัติเป็นสามีจิคือชอบยิ่งเข้าอีกข้อหนึ่งจึงจะสำเร็จผล

ความสำเร็จผลที่เป็นผลสามัญ ที่สามัญชนจะพึงบรรลุก็ดี

ความสำเร็จผลที่เป็นมรรคเป็นผลเป็นนิพพานก็ดี

จะต้องประกอบด้วยสามีจิคือชอบยิ่ง ดั่งนี้

 

และทางอธิบายนั้นก็มีได้โดยตัวอย่างอันหนึ่ง

คือท่านพระอานนท์เถระเอง ซึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น

ท่านเป็นพระโสดาบัน ยังไม่สำเร็จเป็นพระอรหันต์

เพราะท่านมีกิจที่จะต้องทรงถวายอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า

และจะต้องพยายามที่จะจดจำธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ทั้งหมด

จนถึงขั้นขอพรพระพุทธเจ้าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมในที่ที่ไม่มีท่านอยู่ด้วย

และก็เมื่อกลับจากนั้นแล้ว ก็ขอให้มาทรงแสดงธรรมนั้นให้ท่านฟัง

เพื่อท่านจะได้จำเอาไว้ แล้วก็เพื่อกันครหาว่าเมื่อมีผู้มาถามท่านก็จะตอบได้

ถ้าท่านตอบไม่ได้เขาก็จะติว่าเป็นพุทธอุปัฏฐากอยู่ใกล้ชิดทำไมจึงไม่รู้ ดั่งนี้

ท่านจึงขอพรข้อนี้ต่อพระพุทธเจ้าไว้ ท่านจึงมีภาระที่จะต้องปฏิบัติพระพุทธเจ้า

มีภาระที่จะต้องคอยจดจำทบทวนพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว

๑๐

ทรงบัญญัติไว้แล้ว ไม่มีเวลาที่จะปฏิบัติให้สำเร็จมรรคผลนิพพานที่สูงขึ้นถึงที่สุด

แต่ว่าท่านก็ได้พยายามปฏิบัติ จนถึงได้รับเลือกเข้าเป็นพระเถระรูปหนึ่งในการทำปฐมสังคายนาซึ่งมีจำนวน ๕๐๐ ในจำนวนนั้นพระเถระรูปอื่นเป็นพระอรหันต์ทั้งนั้น

มีแต่พระอานนท์รูปเดียวยังเป็นเสขะบุคคล คือเป็นโสดาบัน ซึ่งจำจะต้องเลือกท่าน

เพราะท่านจำทรงพระธรรมวินัยไว้ได้ทั้งหมด

แต่ว่าพระกัสสปซึ่งเป็นประธานท่านก็กำชับว่าให้พยายามปฏิบัติ

ให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ก่อนที่จะเปิดสังคายนา ทำสังคายนา

 

เพราะฉะนั้น ในคืนวันรุ่งขึ้นที่จะทำสังคายนานั้น

ท่านจึงได้พยายามปฏิบัติอย่างเต็มที่เพื่อที่จะให้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

แต่อันที่จริงนั้นก็นับว่าท่านเป็นผู้ที่มีบารมีที่สั่งสมมาปฏิบัติมาอย่างเต็มเปี่ยมแล้ว

แต่ก็ไม่สำเร็จอยู่นั่นเอง จนท่านคิดว่าจะพักก็เอนองค์ลงเพื่อพัก

ยังไม่ทันที่จะถึงอิริยาบถนอน ท่านก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นในขณะนั้น

ที่แสดงว่าสำเร็จในระหว่างอิริยาบถทั้ง ๔

 

ในข้อนี้นักธรรมะได้วิจารณ์ว่า

การที่ท่านไม่สำเร็จก่อนแต่นั้น ท่านมีตัณหาคือความอยากจะสำเร็จ

เมื่อมีตัณหาอยู่ตัณหานี้เองเป็นเครื่องกั้นไม่ให้บรรลุมรรคผลชั้นสูงสุดได้

( เริ่ม ๑๒๘/๒ ) แต่ครั้นเมื่อท่านเอนองค์ลงเพื่อพักก็แปลว่าท่านวางตัณหา

คือความอยากสำเร็จ เมื่อวางลงก็สำเร็จทันที สิ้นกิเลสทันที

เพราะว่าที่ยังติดอยู่ก็คือตัณหาคืออยากสำเร็จนี่แหละ

ครั้นวางความอยากสำเร็จได้แล้วก็สำเร็จทันที

อันนี้แหละเป็นสามีจิคือปฏิบัติเหมาะ คือต้องวาง

 

เหมือนอย่างว่าลูกบอล หรือลูกโป่งที่เป่าลมเข้าไป ก็เต็มแล้ว

แต่ยังเอามือจับอยู่ ลูกโป่งนั้นก็ยังพร่องอยู่หน่อยหนึ่งก็ไอ้ตรงที่มือจับ ไม่ๆๆ เต็มที่

๑๑

แต่เมื่อปล่อยมือที่จับออกแล้วลูกโป่งนั้นก็กลมเต็มที่

ฉันใดก็ดี ท่านพระอานนท์ก็ฉันนั้น ตัณหานั้นเองเป็นเครื่องที่กั้นเอาไว้ไม่ให้ท่านสำเร็จ

เมื่อท่านวางตัณหาก็สำเร็จทันทีในขณะที่วางตัณหานั้น

เพราะท่านบำเพ็ญธรรมปฏิบัติหรือบารมีมาอย่างเต็มเปี่ยมแล้ว

 

เพราะฉะนั้นความเป็นสามีจิชอบยิ่งนี้จึงมีความหมายว่า

ความเป็นมรรคสมังคี ความพร้อมเพียงกันของมรรคมีองค์ ๘

หรือความพร้อมเพรียงกันของศีลสมาธิปัญญา ไตรสิกขา เป็นมรรคสมังคีไม่บกพร่อง

เพราะฉะนั้น ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม หรือปฏิบัติเพื่อผลที่พึงบรรลุ

จึงต้องมีสามีจิปฏิปันนะปฏิบัติชอบยิ่งประกอบเข้าอีกข้อหนึ่ง

จึงจะให้บังเกิดผลกำจัดกิเลสได้บางส่วนจนถึงสิ้นเชิง เป็นอริยะบุคคล

อันนับเข้าเป็นสาวกสังฆะ คือเป็นสังฆรัตนะ ในไตรรัตนะ ในพุทธศาสนา

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

 

 

 

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats