ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป117

โพชฌงค์ ๗

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

ข้อปฏิบัติข้อแรกในกายานุปัสสนา ๓

นิมิตของสมาธิ ๔

ความเพียร ๕

โพชฌงค์ ๖

สัญโญชน์ ๘

นิวรณ์ ๙

สุขเป็นที่ตั้งของสมาธิ ๑๐

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๕๒/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๕๓/๑ ( File Tape 117 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

โพชฌงค์ ๗

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ได้แสดงโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ซึ่งประกอบด้วยธรรมะ ๗ หมวด

และได้แสดงมาแล้วโดยลำดับคือสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔

อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ จึงมาถึงหมวดโพชฌงค์ ๗

และหมวดโพชฌงค์ ๗ นี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสรวมไว้

ในหมวดธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในมหาสติปัฏฐานทั้ง ๔

ในหมวดธรรมานุปัสสนานี้ ทรงแสดงเริ่มด้วยนิวรณ์ ๕ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖

และจึงแสดงโพชฌงค์ ๗

 

โพชฌงค์ ๗ นี้ทรงแสดงในหมวดธรรมานุปัสสนาดังกล่าว

และก็ทรงแสดงในหมวดโพธิปักขิยธรรมนี้ด้วย ต่อจากพละ ๕

ในหมวดโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการอันประกอบด้วยธรรมะ ๗ หมวดเหล่านี้

สติปัฏฐาน ๔ ซึ่งทรงแสดงไว้เป็นหมวดแรก เป็นข้อปฏิบัติที่เป็นหลักยืนในเบื้องต้น

และในการปฏิบัติในสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ก็ต้องอาศัย สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔

อินทรีย์ ๕ พละ ๕ และเมื่อสติปัฏฐานได้อาศัยธรรมะเหล่านี้

สติซึ่งเป็นสติปัฏฐานนั้น ก็เลื่อนขึ้นเป็นโพชฌงค์ ๗

 

ข้อปฏิบัติข้อแรกในกายานุปัสสนา

 

หากว่าจะแสดงแต่ชื่อของหมวดธรรม โดยไม่จำแนกออกไปโดยละเอียดทุกข้อ

ก็กล่าวได้ว่าในการปฏิบัติตั้งสติกำหนดพิจารณา กาย เวทนา จิต และธรรมะในจิต

ก็เป็นการปฏิบัติอาศัยคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้รู้ผู้เห็น

และทรงแสดงแนะนำไว้ จับเริ่มตั้งแต่อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

( เริ่ม ๑๕๓/๑ ) อันเป็นข้อแรกในหมวดกายานุปัสสนา

 

ผู้ปฏิบัติเมื่อไม่ประสงค์จะจดจำหัวข้อธรรมะไว้ให้มาก

เมื่อได้ฟังข้อที่ทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติในการกำหนดลมหายใจเข้าออก

ก็น้อมเข้ามากำหนดดูลมหายใจเข้าออกที่ตนเอง

เพราะทุกคนต้องหายใจเข้าต้องหายใจออกอยู่โดยปรกติ แต่มิได้ตั้งสติกำหนดให้รู้

เพื่อให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ และเพื่อให้เกิดญาณปัญญา ความหยั่งรู้ซึ่งเป็นตัวปัญญา

หรือปัญญาที่เป็นตัวความหยั่งรู้

 

ในการทำสติ และการทำญาณปัญญาดังกล่าว เมื่อปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอนก็ไม่ยาก

คือไม่ปล่อยจิตให้ฟุ้งซ่านไปในที่อื่น ให้กำหนดเข้ามาดู กำหนดที่ลมหายใจของตนเอง

ซึ่งเมื่อกำหนดก็ย่อมจะรู้ว่าเราหายใจเข้าออกอยู่ เราหายใจเข้าอยู่ เราหายใจออกอยู่

ย่อมจะรู้ที่ตนเอง และเมื่อกำหนดให้จิตตั้งรู้อยู่ดั่งนี้ ก็ย่อมจะรู้ว่าเมื่อหายใจเข้านั้น

ลมก็มาสัมผัสกระทบที่ริมฝีปากเบื้องบน หรือที่ปลายกระพุ้งจมูก เข้าไป

ร่างกายก็ปรากฏว่าอุทรคือท้องพองขึ้น

ก็ทำความกำหนดเหมือนอย่างว่า ลมหายใจผ่านจากปลายจมูกเข้าไปสู่อุทรที่พองขึ้น

และเมื่อออก อุทรคือท้องก็ยุบลงแล้วก็ผ่านออกมาถึงปลายจมูก ก็มากระทบปลายจมูก

เป็นวิธีกำหนดที่พระอาจารย์ได้สอนไว้ โดยที่ไม่ต้องคำนึงถึงทางกายวิภาควิทยา

ที่ว่าหายใจเข้าไปสู่ปอดและออกจากปอด เพราะว่าไม่สามารถจะกำหนดให้รู้ได้

สามารถจะกำหนดให้รู้ได้ที่ผัสสะคือการกระทบ คือจุดที่ปลายจมูกและที่อุทรที่พองหรือยุบ

 

และเมื่อทำความกำหนดดั่งนี้ ก็เพื่อให้เป็นที่ตั้งของสมาธิเท่านั้น

และก็สมมติเพิ่มเอาว่าผ่านอุระคือทรวงอกอันเป็นจุดกลาง

อันจุดกลางนี้จะถือว่าเป็นปอดก็ได้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องไปนึกถึง

ให้กำหนดอยู่ที่อาการที่ลมมากระทบ และที่มีอาการของร่างกายของอุทร

คือท้องที่พองขึ้นหรือยุบลง

ตั้งสติกำหนดลมหายใจที่เข้า สมมติว่าเป็น ๓ จุดดังกล่าว

เมื่อเข้าก็เข้าที่จมูกแล้วไปสุดที่อุทร เมื่อออกก็ออกจากอุทรแล้วมาสุดที่ปลายจมูก

ก็สมมติเอาเพียงเท่านั้นสำหรับเป็นที่ตั้งของสมาธิ ให้จิตรวมดั่งนี้

 

นิมิตของสมาธิ

 

และเมื่อรวมจิตได้ดั่งนี้แล้ว เวทนาก็จะปรากฏเป็นปีติเป็นสุข

แต่ก่อนที่จะมีเป็นปีติเป็นสุข ทุกขเวทนาอาจจะปรากฏก่อนเมื่อเริ่มทำ

คืออาการที่จิตใจเหมือนดังถูกบังคับให้มากำหนด

เหมือนอย่างถูกบีบคั้นให้มากำหนด อันทำให้รู้สึกว่าไม่เป็นสุข เป็นทุกข์

เมื่อเพียรล่วงทุกข์อันนี้ได้แล้ว คือหมายความว่าไม่ยอมเลิก

แต่ว่าคงเหมือนอย่างบังคับจิตฝืนจิตให้ทำต่อไป จนจิตเชื่องเข้า จิตรวมเข้า

จะปรากฏนิมิตของสมาธิเช่นว่าแสงสว่าง

และเมื่อเริ่มได้สมาธิ ก็จะเริ่มได้ปีติได้สุขในสมาธิ

อันนำให้จิตที่ไม่ชอบนั้นกลับชอบขึ้นมา ก็ตั้งอยู่ได้

ความเพียร

 

เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติดั่งนี้ ก็ต้องอาศัยปธานะคือความเพียร

ที่ตั้งขึ้นไว้เบื้องหน้า ไม่ยอมที่จะสละความเพียร

ต้องอาศัยอิทธิบาทพยุงความเพียร ต้องอาศัยอินทรีย์คือความเป็นใหญ่

คือให้จิตที่มุ่งทำความเพียรนี้เป็นใหญ่กว่าความเกียจคร้านเป็นต้น

โดยที่มีศรัทธาคือความเชื่อตั้งมั่น ว่าการปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

เป็นสิ่งที่ทำได้และให้ผลดีจริง และก็ต้องมีพลังคือกำลังใจในการปฏิบัติ

เป็นอันว่าต้องมีสัมมัปปธาน ต้องมีอิทธิบาท ต้องมีอินทรีย์ มีพละในการปฏิบัติ

ซึ่งทั้งหมดนี้ก็รวมอยู่ที่จิตหรือใจนี้เอง คือใจต้องตั้งความเพียรไว้เบื้องหน้าให้มั่นคง

ใจต้องมีอิทธิบาทคือต้องพอใจในการปฏิบัติเป็นต้น ใจต้องเป็นใหญ่เหนือกิเลส

ใจต้องมีพละคือกำลังในอันที่จะต่อสู้กับกิเลส

และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วอานาปานสติก็จะสำเร็จเป็นสติปัฏฐานขึ้นมา

 

และเมื่อตั้งปฏิบัติเพียงข้อนี้เพียงข้อเดียว

ก็จะรู้เวทนา รู้จิตของตน รู้ธรรมะในจิตของตน ไปพร้อมกัน

เพราะกายเวทนาจิตธรรมนี้รวมกันอยู่เป็นก้อนเดียวกัน

เหมือนอย่างเก้าอี้หนึ่งตัวมีขาสี่ขา ทั้งสี่ขานี้ก็รวมเป็นเก้าอี้ตัวเดียวกัน

กายเวทนาจิตธรรมนี้ก็เนื่องเป็นอันเดียวกัน เป็นสติที่กำหนดรู้ เป็นญาณปัญญาที่หยั่งรู้

ลมหายใจเข้าออกก็จะปรากฏแก่ความรู้ที่เป็นตัวสติและปัญญานี้

เวทนาจิตธรรมที่รวมอยู่ก็จะปรากฏขึ้น

 

อันอาจที่จะรู้ได้พร้อมกันว่า นี่กาย นี่เวทนา นี่จิต นี่ธรรม

หรือว่านี่ลมหายใจ นี่เวทนาเป็นสุข นี่จิต และนี่ธรรมะคือเรื่องในจิต

ก็ได้แก่ลมหายใจนั้นเองที่เป็นเรื่องในจิต

และสติกับญาณปัญญานั้นก็เป็นเรื่องในจิตไปพร้อมกัน

โพชฌงค์

 

เพราะฉะนั้น จึงมาถึงสติสัมโพชฌงค์ ซึ่งคำว่าโพชฌงค์นั้น

แปลว่าธรรมะที่เป็นไปเพื่อความรู้ หรือธรรมะที่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้

เป็นพระพุทธาธิบายที่เมื่อภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลถามว่า ที่เรียกว่าโพชฌงค์นั้นคืออะไร

ก็ตรัสตอบว่าคือธรรมะที่เป็นไปเพื่อความรู้ หรือตรัสรู้ เรียกว่าโพชฌงค์

เพราะฉะนั้นสติที่เป็นโพชฌงค์นี้ ก็เป็นสติที่กำหนดรู้กายเวทนาจิตธรรม

รวมเข้าเป็นก้อนเดียวกัน และเป็นความกำหนดรู้ที่รู้อยู่ในภายใน ภายในจิต

ความกำหนดรู้ ที่กำหนดรู้อยู่ภายในจิตนี้ ก็คือเป็นตัวธรรมารมณ์

อารมณ์คือธรรมะเรื่องราว ไม่ใช่รูป

 

ลมหายใจเข้าออกที่เป็นธรรมารมณ์อยู่ในจิตใจนี้

จึงไม่ใช่ลมหายใจเข้าออกที่เป็นรูป คือที่มากระทบปลายจมูก

หรือที่ทำให้ร่างกายแสดงอาการหายใจ เช่นท้องพองท้องยุบ

เป็นลมหายใจที่กำหนดรู้อยู่ในจิต เป็นตัวธรรมารมณ์อยู่ในจิต

ซึ่งมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านไปสู่ที่อื่น

 

สติที่กำหนดรู้นี้ เมื่อเป็นตัวรู้ที่เป็นสติกำหนดอยู่ภายในจิต

ทุกอย่างเป็นธรรมารมณ์อยู่ในจิต เป็นตัวรู้ในกายคือลมหายใจเข้าออกเอง

ในเวทนาเอง ในตัวจิตเอง และธรรมะคือเรื่องของจิตเอง

กายเวทนาจิตธรรมที่เป็นอารมณ์เมื่อเริ่มปฏิบัตินั้นเป็นสิ่งที่ถูกรู้

สติและญาณปัญญานั้นเป็นตัวรู้ เป็นตัวรู้อยู่ในภายใน

 

เมื่อเป็นตัวรู้ที่รวมเข้ามาทั้งหมดดั่งนี้ ก็เป็นสติสัมโพชฌงค์ดังกล่าว

เป็นตัวสติที่ประกอบด้วยปัญญา คือญาณปัญญา รู้รวบยอดเข้ามาทั้งหมดเป็นอันเดียวกัน

เหมือนอย่างคนที่ยืนมองเก้าอี้ที่มีสี่ขา เห็นพร้อมกันทั้ง ๔ ขา

และเก้าอี้ที่เป็นสี่ขานั้นก็เป็นสิ่งที่ถูกตามอง

ตาซึ่งเป็นผู้มอง ก็มองเห็นทั้ง ๔ ขา ซึ่งทีแรกนั้นก็แยกมองทีละขาทีละขา

แล้วก็มารวมเห็นทั้งสี่ขาคราวเดียวกันทั้งหมด เป็นสติสัมโพชฌงค์

 

และเมื่อสติรวมเข้ามารู้ดั่งนี้ สิ่งที่ผ่านเข้ามาแทรกแซง

อันทำให้สติหวั่นไหว ไม่อาจจะกำหนดรู้รวมอยู่ได้ ก็พึงบังเกิดขึ้นได้

เพราะว่าในจิตนี้มีกิเลสที่เป็นอาสวะอนุสัยนอนจมหมักดองอยู่ อันเป็นอย่างละเอียด

ที่เปรียบเหมือนเป็นตะกอนก้นตุ่ม เทียบกับอนุสัยที่นอนเนื่องอยู่ในจิต

แล้วเปรียบเหมือนสิ่งที่ระคนอยู่ในจิตอย่างละเอียด เหมือนอย่างเครื่องทำให้เมา

ที่ระคนอยู่ในน้ำเมา ดูน้ำเมาก็เป็นน้ำใสๆ แต่ว่ามีเครื่องทำให้เมาระคนอยู่

หรือเปรียบเหมือนว่าน้ำที่เป็นสีแดงสีเขียว ก็มีตัวสีที่แดงหรือเขียวปนอยู่

แม้น้ำจะใส น้ำก็ยังเป็นสีแดงสีเขียวนั่นเอง หรือว่าแม้น้ำจะใส เหมือนอย่างน้ำขาวๆ

หรือน้ำที่บริสุทธิ์ แต่ก็เป็นน้ำเมาอยู่นั่นเองเมื่อมีความเมาปนอยู่

สิ่งที่ปนอยู่อย่างละเอียดดั่งนี้คือตัวอาสวะที่แปลว่าดองจิต

 

และยังมีอายตนะคือตาหูจมูกลิ้นกายและมนะคือใจ ที่รับอารมณ์ต่างๆ

อารมณ์คือรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่องราวทั้งหลาย

และเมื่ออายตนะที่เป็นภายในมาประจวบกับอายตนะที่เป็นภายนอก

ก็มาทำจิตให้ตกจากสติที่ตั้งไว้นั้นได้ ทำให้ฟุ้งซ่านออกไปได้

ทำให้เกิดความยินดีความยินร้ายได้

 

เพราะฉะนั้นเมื่อมีสติกำหนดดูให้รู้จัก ความที่เป็นสติที่รวมเข้ามาได้

กับความที่สติต้องสลายตัว ให้รู้จักอาการที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบันของตัวเอง

ดั่งนี้ต้องอาศัยสัมโพชฌงค์ข้อที่ ๒ คือธัมวิจยสัมโพชฌงค์

อันเนื่องมาจากสติเสนอ อาการต่างๆที่ปรากฏขึ้นในจิตอันประกอบด้วยสติ

สติก็ย่อมกำหนดรู้ได้ เมื่อรู้ได้ก็เสนอปัญญาในจิตนี้เองพิจารณา

เลือกเฟ้นธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิตนี้เอง

เมื่อกล่าวโดยสรุป ก็คือให้รู้จักว่านี่กุศล นี่อกุศล

นี่มีโทษ นี่ไม่มีโทษ นี่ละเอียด นี่หยาบ นี่มีส่วนเปรียบด้วยดำและขาว

วิจัยและเลือกเฟ้นจิตของตนเองให้รู้จัก ก็ต้องอาศัยสติเสนอสิ่งที่บังเกิดขึ้นในจิตเพื่อวิจัยด้วย

และสติก็ระลึกได้ถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ตรัสสอนไว้ในวิธีที่จะวิจัย

ทั้งในด้านกุศล ทั้งในด้านอกุศล ( เริ่ม ๑๕๓/๒ ) เป็นต้น

 

คือในด้านที่เป็นกุศล ไม่มีโทษ ละเอียด

และเทียบกับธรรมะที่ขาวนั้น คือที่ความที่ได้อาศัยปธานะคือความเพียร

อิทธิบาท อินทรีย์ พละ ตั้งสติกำหนดไว้ในกายเวทนาจิตธรรม

ดั่งที่ตั้งเอาข้อลมหายใจเข้าออกเป็นต้น ต้องๆอาศัยธรรมะเหล่านี้มาประคับประคอง

และก็ได้ปฏิบัติธรรมะเหล่านี้มาประคับประคองเป็นตัวสติที่ตั้งมั่นกำหนด

กายเวทนาจิตธรรมรวมกันอยู่เป็นก้อนเดียวกัน

เหมือนอย่างมองดูเก้าอี้สี่ขา เห็นทั้งสี่ขาพร้อมกัน

 

และในบางคราวก็มีอารมณ์อื่นมาดึง ให้หันไปมองทางโน้นทางนี้

ทิ้งสติที่มองเก้าอี้สี่ขาในบางคราว ก็ต้องกำหนดให้รู้จักว่า

เมื่อมีสติอาศัยปธานะเป็นต้น กำหนดดูตามเห็นกายเวทนาจิตธรรมเป็นไปอยู่

เมื่อมีสติกำหนดดูอยู่ได้ดั่งนี้ก็เป็นกุศล ไม่มีโทษ ประณีต และเหมือนอย่างธรรมขาว

แต่เมื่อถูกอาสวะอนุสัย ที่อาศัยอารมณ์มากระทบกับอายตนะ คือทวารทั้ง ๖

ทำให้ใจกระเพื่อม จิตไม่อยู่นิ่ง ก็หลุกหลิกไปในรูปบ้างเสียงบ้างเป็นต้น ที่เข้ามากระทบนั้น

ก็ทิ้งเก้าอี้สี่ขานั้น สติก็กำหนดให้วิจัยว่านั่นเป็นอกุศล มีโทษ หยาบ และเทียบกับธรรมะที่ดำ

 

สัญโญชน์

 

และอะไรที่มาทำให้เกิดธรรมะที่เป็นอกุศลมีโทษ ก็ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า

ในหมวดอายตนะ ว่าอาศัยตากับรูป ก็เกิดสัญโญชน์คือความผูก

ก็ใช้ปัญญาวิจัยว่าความผูกนี้เอง เป็นตัวเหตุซึ่งมากระทบจิต ทำจิตให้ว่อกแว่กไม่สงบ

ความผูกที่เป็นตัวสัญโญชน์ในเมื่อตาเห็นอะไร หูได้ยินอะไรเสียงอะไรเป็นต้น

และความผูกนี้ ก็คือผูกเอาสิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยินเป็นต้นนั้นมาเป็นอารมณ์อยู่ในใจ

เมื่อเป็นดั่งนี้อารมณ์ของสมาธิ คือสติปัฏฐานนั้นก็สลายตัวไป

อารมณ์รูปอารมณ์เสียงก็มาแทน

 

และสัญโญชน์คือตัวความผูกนี้ไม่ใช่มีความหมายว่าผูกไว้เฉยๆ

ท่านจึงมีอธิบายไว้ด้วยว่าได้แก่ ฉันทะราคะ คือความพอความติด

ด้วยอำนาจความพอใจ คือความยินดี ความรัก ความชอบ

ถ้าอารมณ์คือรูปที่ผูกไว้นั้นเป็นที่ตั้งของราคะความติดใจยินดี

แต่ถ้าอารมณ์ที่ผูกนั้นเป็นที่ตั้งของความยินร้ายไม่ชอบ ก็ให้เกิดความกระทบกระทั่ง

ความโกรธแค้นขัดเคืองความพยาบาท ซึ่งเป็นความยินร้าย

และถ้าอารมณ์ที่จิตผูกนั้นเป็นกลางๆ ไม่พอจะให้ยินดี ไม่พอจะให้ยินร้าย

ก็เป็นที่ตั้งของความหลง คือไม่สนใจที่จะมากำหนดดูแต่ว่าสยบติดอยู่ จึงไม่รู้จักโทษ

 

นิวรณ์

 

เพราะฉะนั้นเมื่อความผูก มาเป็นผูกใจยินดี ผูกใจยินร้าย ผูกใจให้หลงติด

สัญโญชน์คือตัวความผูกดั่งนี้ก็ปรากฏเป็นนิวรณ์ขึ้นมา ก็คือนิวรณ์ทั้ง ๕ นั้นเอง

เป็นกามฉันท์ความพอใจรักใคร่ในกาม คือสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย

หรือด้วยอำนาจกาม พยาบาท เป็นอันว่านิวรณ์ทั้ง ๕ นี้ก็มาทำลายสติในสติปัฏฐาน

อารมณ์ของนิวรณ์ทั้ง ๕ นี้มาตั้งอยู่แทน ก็บังเกิดเป็นความฟุ้งซ่านไม่สงบ

ทำให้จิตนี้ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย

 

เพราะฉะนั้นก็ต้องมีวิจัย คือให้รู้จักว่าอันนี้แหละเป็นตัวอันตรายของสติ

ผู้ปฏิบัติจะต้องทำสติสกัดกั้นความผูกใจ ในเวลาที่เห็นอะไรได้ยินอะไรเป็นต้น

เพราะถ้าหากว่าสกัดกั้นความผูกใจไม่ได้ก็เกิดนิวรณ์ ก็ต้องปฏิบัติเพื่อระงับนิวรณ์

ก็อาศัยกรรมฐาน ก็รวมอยู่ในหมวดกายเวทนาจิตธรรมนี้เองมาปฏิบัติเพื่อระงับนิวรณ์

ที่เคยเห็นเก้าอี้ทั้งสี่ขาก็เป็นอันว่า ต้องมาดูเป็นขาๆไปอีก เพื่อระงับนิวรณ์

ขาไหนจะระงับนิวรณ์ข้อไหน ก็ใช้ขานั้น และเมื่อระงับนิวรณ์ได้

ก็หมายความว่าระงับความผูกได้ จึงจะมาเห็นเก้าอี้รวมกันทั้งสี่ขาใหม่

และจิตที่ตุกติกดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่ายก็จะกลับสงบ

รวมอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 

เพราะฉะนั้น ความที่วิจัยธรรมะให้รู้จักธรรมะในจิตของตัวเองดั่งนี้ จึงเป็นโพชฌงค์ข้อที่ ๒

และการที่เมื่อวิจัยรู้แล้วก็ต้องปฏิบัติ อาศัยวิริยะคือความเพียรเป็นโพชฌงค์ข้อที่ ๓

คือเพียรละธรรมะที่เป็นอกุศล ที่เป็นโทษ ที่หยาบ หรือที่เปรียบเหมือนอย่างธรรมะที่ดำนั้น

เป็นปหานะ ละ ภาวนาคืออบรมธรรมะที่เป็นกุศล ที่ไม่มีโทษ ที่ประณีต

และที่เปรียบเหมือนอย่างสีขาว คือสติและญาณปัญญาที่กำลังปฏิบัติอยู่นั้นเอง

ให้มาครอบครองจิต ให้เป็นใหญ่อยู่ในจิต ให้เป็นพละเป็นกำลังอยู่ในจิต

 

สุขเป็นที่ตั้งของสมาธิ

 

เมื่อปฏิบัติดั่งนี้จิตก็จะเริ่มได้สมาธิ

มีวิตกคือความตรึกได้แก่นำจิตให้ตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิได้

มีวิจารตรองก็คือว่าประคองจิตไว้ในอารมณ์ของสมาธิได้

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็เริ่มได้ปีติได้สุขในสมาธิ และก็จะปรากฏนิมิตของสมาธิบางอย่าง

เช่นแสงสว่างเป็นต้น และจะได้ปีติได้สุขนี้ ซึ่งทำให้จิตนี้ติดได้

เพราะฉะนั้น ก็ต้องกำหนดรู้ ต้องมีสติ มีธรรมวิจัย มีวิริยะ ควบคู่กันไปทิ้งไม่ได้

 

แต่ว่า เมื่อไม่ให้ปีติสุขมาเป็นอุปกิเลสของสมาธิของปัญญา

๑๐

ก็จะได้ปัสสัทธิอาศัยปีติสุขนั้นเอง คือความสงบกายสงบจิตเป็นสุข

สุขนี้เองก็เป็นที่ตั้งของสมาธิ จะทำให้สมาธิมั่นคงขึ้น

และทำให้ได้อุเบกขาคือความที่เข้าไปเพ่งเฉยอยู่ในภายใน

ไม่ตุกติกออกไปในภายนอก สงบอยู่ในภายใน ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์

ซึ่งเป็นโพชฌงค์ ๗ ที่เป็นไปเพื่อความตรัสรู้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

มรรค ๘

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

กัลยาณมิตร ๓

อวิชชา วิชชา ๕

ความรู้หลง ๖

กิจของคนฉลาด ๗

พระพุทธเจ้าก่อนแต่ตรัสรู้ ๗

สมาธิต้องประกอบด้วยอุเบกขา ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๕๓/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๕๔/๑ ( File Tape 117 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

มรรค ๘

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ได้แสดงโพธิปักขิยธรรม ธรรมะที่เป็นไปในฝ่ายแห่งความตรัสรู้

ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงรวบรวมธรรมะหลายหมวด เข้ามาอยู่ในโพธิปักขิยธรรมนี้

คือประกอบด้วยสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔

อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘

เป็นธรรมะถึง ๗ หมวด รวมเป็น ๓๗ ข้อ

 

จึงควรทำความเข้าใจว่าธรรมะ ๗ หมวด ๓๗ ข้อนี้

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้โดยเอกเทศมาแล้วตั้งแต่ในเบื้องต้น

มรรคมีองค์ ๘ ก็ได้ตรัสแสดงไว้ตั้งแต่ในปฐมเทศนา คือเทศน์ครั้งแรก

อันเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่เป็นหนทางกลาง

ต่อมาจึ่งได้ทรงแสดงธรรมะหมวดอื่นๆโดยเอกเทศ เช่นสติปัฏฐาน ๔ อิทธิบาท ๔ เป็นต้น

และแม้ทรงแสดงไว้โดยเอกเทศ แต่ในการปฏิบัตินั้นก็ปฏิบัติได้ตั้งแต่เบื้องต้น

และรวมเข้าในทางอันเดียวกัน ซึ่งนำไปสู่ความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ด้วยกัน

และเมื่อทรงแสดงไว้โดยเอกเทศแต่ละคราวๆ คราวหนึ่งก็หมวดหนึ่งๆ

ในตอนหลังก็ได้ทรงประมวลธรรมะ ๗ หมวด ๓๗ ข้อนี้เข้ามาเป็นโพธิปักขิยธรรม

คือเป็นธรรมะที่เป็นไปในฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ดังกล่าว

 

และก็สามารถกล่าวได้ว่าในทางปฏิบัตินั้น

จับปฏิบัติแต่สติปัฏฐาน และก็มาสัมมัปปธาน อิทธิบาท อินทรีย์ พละ

ในฐานะที่ทั้ง ๔ หมวดนี้เป็นอุปการะธรรมในการปฏิบัติสติปัฏฐานให้สมบูรณ์

สติปัฏฐานจึงเลื่อนขึ้นเป็นโพชฌงค์ และโพชฌงค์จึงเลื่อนขึ้นเป็นมรรคมีองค์ ๘

หรือจะทำความเข้าใจว่าทั้ง ๗ หมวดนี้จะยกหมวดไหนขึ้นมาปฏิบัติก็ได้

และทั้งหมดนี้ก็จะเนื่องถึงกันทั้งหมด เนื่องอยู่ รวมกันอยู่เป็นอันเดียวกัน

เป็นธรรมะสามัคคีความพร้อมเพรียงกันของธรรมะ

นำไปสู่ความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ได้เช่นเดียวกันหมด

 

และเมื่อได้แสดงมาโดยลำดับ โดยนัยยะที่ว่าตั้งสติปัฏฐานทั้ง ๔ เป็นหลักปฏิบัติ

และในการปฏิบัติสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ก็ต้องอาศัยอบรมให้มีสัมมัปปธานเพียรชอบ

ให้มีอิทธิบาท ให้มีอินทรีย์ ให้มีพละ สติปัฏฐานนี้จึงจะเลื่อนขึ้นเป็นโพชฌงค์

ที่เป็นองค์ของความตรัสรู้ และเมื่อปฏิบัติในโพชฌงค์ไปจนถึงข้ออุเบกขา

คืออุเบกขาโพชฌงค์ หรืออุเบกขาสัมโพชฌงค์ ก็นำให้ได้ปฏิบัติเข้าในมรรคมีองค์ ๘

และการปฏิบัติเข้าในมรรคมีองค์ ๘ นี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรียงลำดับไว้ทั้ง ๘ ข้อนี้

โดยต่อเนื่องกันไป ดั่งที่ได้ตรัสไว้ในพระสูตรหนึ่งซึ่งแปลความว่า

 

กัลยาณมิตร

 

ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร

ความเป็นผู้คล้อยตามกัลยาณมิตร เป็นพรหมจรรย์ได้กึ่งหนึ่ง

คือเป็นความประพฤติประเสริฐในพุทธศาสนา ได้ครึ่งหนึ่งของทั้งหมด

พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า อย่าได้กล่าวอย่างนั้น

ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร ความเป็นผู้คล้อยตามกัลยาณมิตร

จักทำให้อบรมมรรคมีองค์ ๘ ให้บังเกิดขึ้น คืออบรมสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ

สัมมาสังกัปปะความดำริชอบ สัมมาวาจาเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะการงานชอบ

สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะเพียรชอบ

สัมมาสติระลึกชอบ สัมมาสมาธิตั้งใจชอบ

ฉะนั้น ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร หรือมิตรที่ดีงาม ความเป็นผู้คล้อยตามกัลยาณมิตร

จึงเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมด เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น

 

และก็ได้ตรัสไว้อีกว่า สัตว์ทั้งหลายที่มีชาติคือความเกิดเป็นธรรมดา มีชราความแก่

มรณะความตายเป็นธรรมดา มีโสกะความแห้งใจ ปริเทวะความคร่ำครวญใจ

ทุกขะความไม่สบายกาย โทมนัสสะความไม่สบายใจ อุปายาสความคับแค้นใจ เป็นธรรมดา

คือมีทุกข์เหล่านี้เป็นธรรมดา อาศัยเรา คืออาศัยพระพุทธเจ้าผู้พระตถาคตเป็นกัลยาณมิตร

ก็จะพ้นจากชาติความเกิด ชราความแก่ มรณะความตาย พ้นจากโสกะความโศกความแห้งใจ

ปริเทวะความรัญจวนคร่ำครวญใจ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจได้

คือจะพ้นทุกข์ได้ดั่งนี้ เมื่ออาศัยพระองค์เป็นกัลยาณมิตรดั่งนี้

ก็จะปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ พ้นทุกข์ได้

 

ฉะนั้นจึงตรัสว่าความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร มิตรที่ดีงามคือพระพุทธเจ้า

และเป็นผู้คล้อยตามกัลยาณมิตรคือพระพุทธเจ้า

คือปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ จึงชื่อว่าเป็นพรหมจรรย์ทั้งหมด

( เริ่ม ๑๕๔ ) และอีกคราวหนึ่งท่านพระสารีบุตรได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า

ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร ความคล้อยตามผู้เป็นกัลยาณมิตร เป็นพรหมจรรย์ทั้งหมด

พระพุทธเจ้าได้ประทานสาธุการรับรองในคำกราบทูลของท่านพระสารีบุตรนั้น

อวิชชา วิชชา

 

และก็ได้ตรัสไว้เป็นข้อหลักว่า

อวิชชาคือไม่รู้ในสัจจะที่เป็นความจริงเป็นหัวหน้า

เพื่อความบังเกิดขึ้นพร้อมสรรพแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย

ให้บังเกิด อหิริ ความไม่ละอายใจ

อโนตตัปปะ ความไม่เกรงกลัวต่อบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย

มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิดย่อมมีพร้อมแก่ผู้ที่มีอวิชชา

มิจฉาสังกัปปะ คือความดำริผิดย่อมมีแก่ผู้ที่มีมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิด

มิจฉาวาจา เจรจาผิดย่อมมีแก่ผู้ที่มีมิจฉาสังกัปปะดำริผิด

มิจฉากัมมันตะ การงานผิดย่อมมีแก่ผู้ที่มีมิจฉาวาจา วาจาผิด

มิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตผิดย่อมมีแก่ผู้ที่มีมิจฉากัมมันตะการงานผิด

สัมมาวายามะ เพียรผิดย่อมมีแก่ผู้ที่มีมิจฉาอาชีวะเลี้ยงชีวิตผิด

มิจฉาสติ ระลึกผิดย่อมมีแก่ผู้ที่มีมิจฉาวายามะเพียรผิด

มิจฉาสมาธิ ตั้งใจผิดย่อมมีแก่ผู้ที่มีมิจฉาสสติระลึกผิด ดั่งนี้

 

และก็ได้ตรัสในทางตรงกันข้ามว่า วิชชาคือความรู้ถูกต้องในสัจจะที่เป็นความจริง

เป็นหัวหน้าเพื่อความบังเกิดขึ้นพร้อมพรั่งแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย

กับทั้ง หิริ ความละอายแก่ใจ โอตตัปปะ ความเกรงต่อบาปอกุศลธรรมทั้งหลาย

สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีวิชชา

สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ

สัมมาวาจา เจรจาชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีสัมมาสังกัปปะดำริชอบ

สัมมากัมมันตะ การงานชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีสัมมาวาจาเจรจาชอบ

สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีสัมมากัมมันตะการงานชอบ

สัมมาวายามะ เพียรชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีสัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ

สัมมาสติ ระลึกชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีสัมมาวายามะเพียรชอบ

สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบย่อมมีแก่ผู้ที่มีสัมมาสติระลึกชอบ ดั่งนี้

เป็นอันได้ทรงแสดงมรรคมีองค์ ๘ นี้โยงกันไป เป็นมรรคสมังคี

คือความพร้อมเพรียงของมรรค

 

ฉะนั้น จุดอันสำคัญที่สุดจึงอยู่ที่ อวิชชา กับ วิชชา

อวิชชาคือความไม่รู้สัจจะที่เป็นตัวความจริง วิชชาคือความรู้สัจจะที่เป็นตัวความจริง

เมื่อมีอวิชชาซึ่งเป็นตัวความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นความจริง

ก็นำให้บังเกิดมิจฉามรรค คือทางปฏิบัติที่ผิดไปทุกข้อ

เมื่อมีวิชชาคือความรู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง ย่อมนำให้เกิดสัมมามรรค

คือทางปฏิบัติที่ชอบ คือมรรคมีองค์ ๘ ไปทุกข้อ ดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมะในพระพุทธศาสนานั้น

จึงกล่าวสรุปได้ว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อรู้ คือรู้จักสัจจะที่เป็นความจริง

ไม่ใช่ปฏิบัติเพื่อไม่รู้สัจจะที่เป็นตัวความจริง

และความรู้ในสัจจะที่เป็นความจริงนี้ ก็เรียกว่าวิชชานั้นเอง

เมื่อยังไม่รู้อยู่ก็เป็นอวิชชา

 

ความรู้หลง

 

และสามัญชนทั่วไปนั้นต่างก็มีอวิชชา

คือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นความจริงนี้ นอนจมหมักหมมอยู่ในจิตสันดาน

เพราะฉะนั้น ความรู้ที่แสดงออกมา ความรู้ที่บังเกิดขึ้นทางอายตนะมีตาหูเป็นต้น

ความรู้ที่บังเกิดขึ้นอันเป็นธรรมชาติของจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ จึงเป็นความรู้หลง เป็นความรู้ผิด

เพราะฉะนั้น เมื่อได้มาสดับฟังธรรมะที่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

และได้ใช้ปัญญาที่มีอยู่อันเป็นธรรมชาติของจิตของมนุษย์พิจารณา ย่อมจะทำให้ได้ปัญญา

คือความรู้ที่เป็นความรู้ถูกต้อง เป็นวิชชาคือความรู้ที่เป็นความรู้จริงขึ้นโดยลำดับ

กิจของคนฉลาด

 

และในการปฏิบัตินี้ก็กล่าวได้ว่าผู้ปฏิบัติทุกท่านทุกคน

ต่างก็ได้มีการปฏิบัติในศีล ปฏิบัติในสมาธิ ปฏิบัติในปัญญา

มาตามแนวที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ตั้งแต่ในเบื้องต้น

และก็กล่าวได้ว่าต้องมีตัววิชชาหรือปัญญา

อันมีอยู่ตามธรรมชาติธรรมดาของมนุษย์ ซึ่งมีจิตอันเป็นธาตุรู้ที่ได้อบรมมาแล้ว

เพราะฉะนั้นจึงได้เรียกว่ากุศลที่แปลว่ากิจของคนฉลาด

ได้แก่สามารถมีความรู้เปรียบเทียบขาวดำ ประณีตหรือเลว

มีโทษไม่มีโทษ ดีไม่ดี ขึ้นโดยลำดับ อันเป็นสัจจะที่เป็นความจริงอย่างหนึ่งๆ

 

พระพุทธเจ้าก่อนแต่ตรัสรู้

 

พระพุทธเจ้าเองได้ทรงอบรมพระบารมีมาก่อนแต่ตรัสรู้

ทรงเป็นบุคคลพิเศษที่เรียกว่าโพธิสัตว์ คือเป็นสัตว์ที่จะตรัสรู้ ซึ่งเป็นผู้ที่ยังข้องอยู่

เพราะสัตตะแปลว่าผู้ข้องผู้ติด แต่ข้องติดอยู่ในความรู้เพื่อที่จะรู้ยิ่งๆขึ้นไป

ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาสิ้นเวลาเป็นอันมาก แม้ในพระชาติที่เป็นสิทธัตถะราชกุมาร

ได้ทอดพระเนตรเห็นเทวทูตทั้ง ๔ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ

จึงได้ทรงสละทางโลกทุกอย่างออกทรงผนวช ในระยะเหล่านี้ก็กล่าวได้ว่า

ได้ทรงปฏิบัติพระองค์อยู่ในศีล คือความประพฤติทางกายวาจาใจ เว้นจากการก่อภัยก่อเวร

อันเกิดความเดือดร้อน และมีพระทัยตั้งมั่นอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย

 

เมื่อได้ทรงเห็นคนแก่คนเจ็บคนตาย เห็นสมณะ

จึงได้ทรงนำมาใคร่ครวญพิจารณา โดยน้อมเข้ามาถึงพระองค์เองว่า

พระองค์เองก็จะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายอย่างนั้น จะทรงเป็นอะไรอยู่ในโลก

จนถึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์พระราชาเอกในโลก ก็จะต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายไม่พ้นไปได้

จึงได้ทรงปรารถนาโมกขธรรม ธรรมะเป็นเครื่องหลุดพ้น

โดยทรงอนุมานขึ้นในพระทัยว่า เมื่อมีแก่เจ็บตาย ก็จะต้องมีไม่แก่ไม่เจ็บไม่ตาย

เหมือนอย่างมีมืดก็มีสว่าง มีกลางคืนก็มีกลางวัน คู่กัน จึงได้ทรงสลัดทางโลก

ออกเสด็จบรรพชาเที่ยวแสวงหาโมกขธรรม ธรรมะเป็นเครื่องหลุดพ้น

ในชั้นนี้ ก็ทรงมีศีลคือความประพฤติที่งดเว้นจากบาปอกุศลทุจริตทั้งหลาย

ทรงมีสมาธิคือตั้งพระทัยมั่นอยู่ในโมกขธรรม และก็ทรงแสวงหา

คือแสวงหาปัญญาความรู้นั้นเอง หรือแสวงหาวิชชาคือความรู้นั้นเองในโมกขธรรม

ทรงปฏิบัติทุกอย่าง ทรงแสวงหาทุกๆอย่าง ก็เพื่อให้พบกับปัญญาหรือวิชชา

ซึ่งเป็นตัวความรู้ถูกต้อง หรือว่าสัจจะที่เป็นความจริงนี้เอง ไม่ใช่สิ่งอื่น

 

จึงกล่าวได้ว่าได้ทรงมีศีลอยู่เป็นภาคพื้น

และได้ทรงมีสมาธิคือพระทัยที่ตั้งมั่นไม่เปลี่ยนแปลง

และก็ทรงได้ปัญญาคือความรู้ขึ้นโดยลำดับ น้อมเข้ามารู้ที่พระองค์เอง

ว่าที่ปฏิบัติไปนั้นพ้นหรือยัง ยังมีโลภโกรธหลง ยังมีราคะโทสะโมหะอยู่หรือไม่

ก็ทรงพบว่ายังไม่ทรงพบโมกขธรรม เพราะทรงปฏิบัติไปอย่างไรในสำนักของอาจารย์ก็ดี

ทรงปฏิบัติเองในทุกรกิริยาก็ดี ทำเป็นอย่างยิ่ง แต่ในพระทัยเองนั้นก็ยังไม่พ้น

ยังมีราคะโทสะโมหะ ยังมีโลภโกรธหลง ทรงน้อมเข้ามารู้พระองค์เอง

ก็ทรงทราบด้วยพระองค์เองว่าที่ปฏิบัติไปนั้นยังไม่ใช่ทาง

ยังไม่ใช่ทางก็ทรงแสวงหาเรื่อยไปตามลำดับ

 

ดั่งนี้เรียกว่าได้ทรงบำเพ็ญมาในศีลในสมาธิในปัญญาที่เบื้องต้นนี้เป็นลำดับมา

จึงทรงไม่หลงไปในข้อปฏิบัตินั้นๆ ยึดถืออยู่ในข้อปฏิบัตินั้นๆ

เมื่อยังมีกิเลสอยู่ก็แปลว่ายังไม่บรรลุโมกขธรรม

เพราะจิตใจเมื่อยังมีกิเลสอยู่นี้ ตัวเองรู้สึกเองว่ามี ถึงว่าจะปฏิบัติอย่างไร

ในศีลในสมาธิในปัญญาอย่างไร แม้ในพุทธศาสนานี้เอง

หากว่ากิเลสยังมีอยู่ กิเลสย่อมจะแสดงออกมาให้รู้ได้ที่จิตใจตนเอง ว่ายังไม่พ้น

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติของพระองค์นั้นจึงมีพื้นฐานมาเป็นอันมาก

และศีลของพระองค์ก็บริสุทธิ์ขึ้นโดยลำดับ จนถึงทรงได้สมาธิที่บริสุทธิ์

สมาธิที่ปล่อยวาง น้อมพระทัยที่เป็นสมาธิในเพื่อรู้ นี้ไปเพื่อรู้

ญาณคือความหยั่งรู้ที่เรียกว่าเป็นจักขุคือดวงตาจึงได้ผุดขึ้นในทุกข์

ในเหตุเกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

 

ดั่งนี้จึงเป็นสัมมาทิฏฐิ และเมื่อเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว

อีกข้อต่อๆไปก็เนื่องกันไป ดังที่กล่าวมาในเบื้องต้นครบทั้ง ๘

ฉะนั้นสมาธิที่บริสุทธิ์ดังกล่าวนี้ ที่จะนำไปให้บังเกิดญาณคือความหยั่งรู้

ที่ผุดขึ้นในสัจจะทั้ง ๔ ได้ จึงเป็นสมาธิที่บริสุทธิ์ อันได้แก่สมาธิสัมโพชฌงค์

อุเบกขาสัมโพชฌงค์องค์แห่งความรู้ องค์แห่งความตรัสรู้

คือสมาธิ และคืออุเบกขา อันเป็นสมาธิที่บริสุทธิ์

 

สมาธิต้องประกอบด้วยอุเบกขา

 

เพราะสมาธิที่บริสุทธิ์นั้นต้องประกอบด้วยอุเบกขา

คือความเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ วางความยึดถืออะไรทั้งหมด

ฉะนั้นจึงต้องผ่านโพชฌงค์ จนถึงสมาธิอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ซึ่งเป็นสมาธิที่บริสุทธิ์

และน้อมจิตที่เป็นสมาธินี้ไปเพื่อรู้ จักขุคือดวงตา คือญาณ คือวิชชา

คือปัญญา คือความสว่างก็ผุดขึ้นในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ เป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ

มรรค ๘ ก็บังเกิดขึ้นสมบูรณ์ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะเป็นโพธิปักขิยธรรม

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats