ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป138

ทุกขอริยสัจจ์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ทำไมพระพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์ ๓

อุปาทานขันธ์ ๕

พระไตรลักษณ์ ๖

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๗๘/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๗๘/๒ ( File Tape 138 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

ทุกขอริยสัจจ์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ

พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมะสั่งสอนเป็นนิยานิกธรรมเครื่องนำออกจากทุกข์

เป็นไปเพื่อความสงบรำงับ เป็นไปเพื่อความดับโดยรอบ เป็นไปเพื่อความตรัสรู้พร้อม

เราทั้งหลายได้ฟังธรรมนั้นแล้ว จึ่งได้รู้ดั่งนี้ว่า แม้ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์

ความตายเป็นทุกข์ โสกะความแห้งใจ ปริเทวะความคร่ำครวญรัญจวนใจ

ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจความคับแค้นใจ เป็นทุกข์

ความประจวบกับด้วยสิ่งสัตว์สังขารทั้งหลายซึ่งไม่เป็นที่รักเป็นทุกข์

ความพลัดพรากจากสิ่งสัตว์สังขารทั้งหลายซึ่งเป็นที่รักเป็นทุกข์

ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นสมประสงค์เป็นทุกข์

( เริ่ม ๑๗๘/๒ ) กล่าวโดยย่อขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์

ก็คือ รูปขันธ์กองรูป เวทนาขันธ์กองเวทนา สัญญาขันธ์กองสัญญา

สังขารขันธ์กองสังขาร วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ

และอนุสาสนีพระวาจาที่พร่ำสอนเป็นอันมาก

ของพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้านั้นย่อมมีอย่างนี้ว่า รูปเป็นอนิจจะไม่เที่ยง

เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทุกข้อเป็นอนิจจะไม่เที่ยง

รูปเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาญ ทุกข้อเป็นอนัตตามิใช่ตัวตน

เราทั้งหลายเป็นผู้อันชาติความเกิดหยั่งลงแล้ว อันชราความแก่ มรณะความตายหยั่งลงแล้ว

อันความโศกความคร่ำครวญรัญจวนใจ ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ

ความคับแค้นใจหยั่งลงแล้ว เราทั้งหลายจึ่งพากันปฏิบัติธรรม คือทานศีลภาวนา

หรือศีลสมาธิปัญญาตามสามารถ เพื่อว่าทำไฉนจะพึงพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้

และก็ต่างปรารถนาเพื่อให้การปฏิบัติธรรม อันพึงเรียกรวมได้ว่าการประพฤติพรหมจรรย์

เป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบในที่สุด ดั่งนี้

 

นี้เป็นใจความของบทสวดที่เราทั้งหลายผู้สวดบททำวัตรเช้าได้สวดกันอยู่เป็นประจำทุกวัน

อันเป็นพระราชนิพนธ์แห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระเถรมหาราช

เพราะฉะนั้นท่านผู้ใดได้เคยสวดแล้ว หรือแม้ว่าท่านผู้ใดไม่เคยสวด

เมื่อได้ฟังดั่งนี้แล้วก็พึงตั้งใจกำหนด รับรองว่าเราทั้งหลายทุกคนต่างก็เป็นไป

และต่างก็ปฏิบัติอยู่ดังกล่าว ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนให้เราทั้งหลายได้รู้จักทุกข์

และให้รู้จักด้วยว่า เราทุกคนต่างก็เป็นผู้อันทุกข์หยั่งลงแล้ว มีทุกข์เป็นไปในเบื้องหน้า

และการปฏิบัติพรหมจรรย์ การปฏิบัติธรรมทั้งปวงก็มุ่งผลที่สุด ก็คือสุดทุกข์สิ้นทุกข์

ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอน ก็ล้วนแต่สั่งสอนให้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ

 

ทำไมพระพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์

 

และในการสอนนี้ บางคนผู้ได้ฟังอาจจะมีความคิดว่า

ทำไมพระพุทธศาสนา หรือพระพุทธเจ้าจึงสอนให้มองเห็นทุกข์เต็มไปหมด

ทำให้รู้สึกหวาดเสียวต่อทุกข์ บางทีก็ไม่พอใจที่จะฟังเรื่องทุกข์ เพราะฟังแล้วไม่เกิดความสุข

ในข้อนี้ทุกคนจึงควรพิจารณาว่า คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นเป็นสัจจะคือความจริง

และที่ตระสอนเรื่องทุกข์ก็เพื่อให้รู้จักทุกข์ และเพื่อปฏิบัติให้พ้นทุกข์ ไม่เป็นทุกข์

ดังที่ตรัสถึงพระนิพพานว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานคือธรรมะเป็นที่สิ้นกิเลสและกองทุกข์

ไม่มีกิเลสและกองทุกข์ร้อยรัด เป็นบรมสุข ดั่งนี้

ฉะนั้น ทรงแสดงเรื่องทุกข์ ก็เพื่อให้รู้จักทุกข์ และเพื่อพ้นทุกข์

 

ตามนัยยะที่ตรัสไว้ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือทุกข์ ทุกขสมุทัยเหตุเกิดทุกข์

ทุกขนิโรธความดับทุกข์ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

อริยสัจจ์ ๔ นี้ เป็นสัจจะธรรมที่สมบูรณ์ ทั้งด้านทุกข์ และทั้งด้านดับทุกข์

ตรัสสอนให้รู้จักทุกข์พร้อมทั้งเหตุ ตรัสสอนให้รู้จักความดับทุกข์พร้อมทั้งเหตุ

และเมื่อได้รู้จักอันเป็นจักขุคือดวงตา ญาณะหรือญาณคือความหยั่งรู้

ปัญญาคือความรู้ทั่วถึง วิชชาคือความรู้จริงแจ้ง

อาโลกะคือแสงสว่างอันได้แก่ความรู้ เป็นดวงตา เป็นญาณ เป็นปัญญา เป็นวิชชา

เหมือนอย่างเป็นแสงสว่างที่ทำให้มองเห็น มองเห็นอะไร ก็คือมองเห็นทุกข์

มองเห็นเหตุเกิดทุกข์ มองเห็นความดับทุกข์ มองเห็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็จะบรรลุถึงนิพพานอันเป็นบรมสุขได้

 

ฉะนั้น พระพุทธศาสนาหรือพระพุทธเจ้า

จึ่งมิได้สอนว่าทุกอย่างเป็นทุกข์ไปหมด และทุกคนจะต้องจมอยู่ในทุกข์

แต่ว่าตรัสสอนให้รู้จักทุกข์เพื่อที่จะได้พ้นทุกข์ คือจะได้ประสบบรมสุขในที่สุด

ฉะนั้น พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่สมบูรณ์ไม่มีบกพร่อง

เราทั้งหลายจึ่งสมควรที่จะอบรมศีล อบรมสมาธิ อบรมปัญญา

เพื่อให้มองเห็นทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ดังกล่าว

 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้พิจารณาให้มองเห็นทุกข์เป็นข้อแรก

ก็เพราะทุกคนกำลังเป็นผู้อันทุกข์หยั่งลง หยั่งลงแล้ว หยั่งลงอยู่ และหยั่งลงต่อไป

หรือว่าครอบงำแล้ว ครอบงำอยู่ ครอบงำต่อไป

เป็นผู้อันทุกข์เป็นไปในเบื้องหน้า ก็คือ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณะทุกข์

และโสกะปริเทวะเป็นต้นดังกล่าว

 

อุปาทานขันธ์

 

และเมื่อกล่าวโดยย่อ พระพุทธเจ้าก็ตรัสสรุปเข้าในขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ

คือ รูปขันธ์กองรูป เวทนาขันธ์กองเวทนา สัญญาขันธ์กองสัญญา

สังขารขันธ์กองสังขาร วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ อันเป็นที่ยึดถือ

ก็คือทุกคนต่างก็มีขันธ์ ๕ อยู่ด้วยกัน และต่างก็ยึดถือในขันธ์ ๕ ที่มีอยู่

ว่า เอตัง มม นี่เป็นของเรา เอโส ห มัสมิ เราเป็นนี่

เอโส เม อัตตา นี่เป็นอัตาตัวตนของเรา

ต่างก็มีความยึดถือกันอยู่ดั่งนี้ จึงเรียกว่า อุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ

 

เมื่อมีความยึดถือดั่งนี้ ทุกคนจึงต้องเป็นทุกข์ไปตามขันธ์

เพราะว่าเมื่อยึดถือขันธ์ ๕ ว่าเป็นของเรา เราเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวตนของเรา

เมื่อขันธ์ ๕ เกิดจึงรู้สึกว่าเราเกิด เมื่อขันธ์แก่จึงรู้สึกว่าเราแก่ เมื่อขันธ์ ๕ ตายจึงรู้สึกว่าเราตาย

หรือรู้สึกว่าของเราแก่ ของเราเกิด ของเราตาย ย่อมมีความรู้สึกดั่งนี้

ก็เพราะยึดถือว่าขันธ์ ๕ เป็นของเรา เราเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เป็นอัตตาตัวตนของเรา

 

พระพุทเจ้าจึงได้ตรัสสอนเป็นพหุลานุสาสนีเนืองๆ

ว่ารูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นอนิจจะไม่เที่ยง

รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ตามบทที่สวดกันดังกล่าว

แต่ว่าในที่นี้อาจจะมีสงสัยว่าเคยได้ยินได้ฟังโดยมากว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

อนิจจังคือไม่เที่ยง ทุกขังเป็นทุกข์ อนัตตามิใช่อัตตาตัวตน ๓ ข้อ

อันเรียกว่าไตรลักษณ์ ลักษณะเป็นเครื่องกำหนดหมาย ๓ ข้อ

แต่ว่าในบทที่สวดนั้นมีเพียง ๒ ข้อ คือ อนิจจะ กับ อนัตตา

ในข้อนี้พึงทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงลักษณะเครื่องกำหนดหมาย

ของสังขารทั้งหลายไว้ ๒ นัยยะ นัยยะหนึ่ง อนิจจะ ทุกขะ อนัตตา ๓ ข้อ

อีกนัยยะหนึ่ง อนิจจะ กับ อนัตตา ๒ ข้อ

 

พระไตรลักษณ์

 

พึงทราบอธิบายโดยย่อของ ๓ ข้อก่อนว่า

ข้อแรก อนิจจะไม่เที่ยง เพราะต้องเกิดขึ้นดับไปเป็นต้น

ข้อสอง ทุกขะเป็นทุกข์ อันได้แก่ทนอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

โดยต้องถูกความเกิดความดับบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา

และอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน ก็เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้

บังคับว่าอย่าเกิดแก่เจ็บตายก็บังคับมิได้ เมื่อเกิดมาก็ต้องแก่ต้องเจ็บต้องตายไปตามธรรมดา

เมื่อบังคับมิได้เช่นนี้จึงมิใช่เป็นอัตตาตัวตน หากเป็นอัตตาตัวตนแล้วก็ควรจะบังคับได้

อนิจจะ ทุกขะ อนัตตา มีอธิบายโดยย่อดั่งนี้

 

ส่วนที่มี ๒ คือ อนิจจะกับอนัตตานั้น แสดงในบางคราว

ในเมื่อยกทุกข์ขึ้นมาเป็นประธาน ดังในอริยสัจจ์ยกทุกข์หรือทุกขะขึ้นมาเป็นประธาน

หรือตามบทที่สวดนั้นก็ยกเอาทุกขะขึ้นมาเป็นประธาน ตามนัยยะในทุกขอริยสัจจ์

ที่ว่าเราทั้งหลายได้ฟังธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล้ว

ย่อมรู้ว่า ชาติปิทุกขา แม้ความเกิดเป็นทุกข์ ชราปิทุกขา แม้ความแก่เป็นทุกข์

มรณัมปิทุกขัง แม้ความตายเป็นทุกข์ เป็นต้น

ตามนัยยะทุกขอริยสัจจ์ยกทุกข์ขึ้นมาเป็นประธานตลอดบทที่สวดนั้น

ตลอดจนถึงว่าเราทั้งหลายเป็นผู้อันทุกข์หยั่งลงแล้วครอบงำแล้ว

คือเป็นผู้อันชาติทุกข์ชราทุกข์มรณะทุกข์เป็นต้น หยั่งลงแล้วครอบงำแล้ว

 

ฉะนั้นเมื่อยกทุกข์ขึ้นมาเป็นประธานดั่งนี้แล้ว

พหุลานุสาสนีคำสั่งสอนโดยมากจึงได้จำแนกออกว่า

ขันธ์ ๕ เป็นอนิจจะไม่เที่ยง ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน

 

และพระอาจารย์ก็สอนกันมาว่า

แม้ว่าจะไม่แสดงทุกขะให้ครบ ๓ แต่ว่าทุกขะนั้นก็รวมอยู่ในอนิจจะด้วยแล้ว

ทั้งเมื่อพิจารณาดูซึ่งอรรถของอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน ก็อาจกล่าวเพิ่มเติมได้อีกว่า

รวมอยู่ในบทว่าอนัตตาด้วยแล้ว เพราะว่าจะแสดงเป็น ๓ ก็ตาม แสดงเป็น ๒ ก็ตาม

ทั้ง ๓ นี้ หรือทั้ง ๒ นี้ ย่อมเนื่องเป็นอันเดียวกัน

( เริ่ม ๑๗๙/๑ ) จึงได้มีพระพุทธภาษิตแสดงไว้ด้วยว่า สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์

สิ่งใดไม่เที่ยงเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตนดั่งนี้

เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นอนิจจะก็ย่อมเป็นทุกข์ และก็ย่อมเป็นอนัตตาเนื่องกันไป

ฉะนั้น แม้จะแสดงไว้เพียง ๒ ก็รวมทุกข์อยู่ด้วยแล้ว

 

และอีกอย่างหนึ่งตามนัยยะอริยสัจจ์ ยกทุกข์ขึ้นเป็นประธาน

เมื่อเป็นทุกข์ก็ย่อมบ่งถึงว่าเป็นอนิจจะและเป็นอนัตตาประกอบกันไป

ผู้ปฏิบัติธรรมเมื่อพิจารณาเห็นความแล้วจึงไม่สงสัย

จะแสดงโดย ๒ ข้อหรือ ๓ ข้อก็มีครบทั้งหมด โดยเหตุนัยยะดังที่ได้กล่าวมา

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

สังขาร วิสังขาร

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

สังขตธรรม อสังขตธรรม ๓

อุปาทินนกสังขาร อนุปาทินนกสังขาร ๔

เรื่องพระอานนทเถระ ๕

ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ๖

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๗๙/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๗๙/๒ ( File Tape 138 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สังขาร วิสังขาร

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

พหุลานุสาสนีคือคำพร่ำสอนเป็นอันมากของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น

ดังได้แสดงแล้วว่ามีอย่างนี้คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อนิจจะไม่เที่ยง

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน

และในตอนท้ายยังได้ตรัสไว้ต่อไปว่า สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งปวงเป็นอนิจจะไม่เที่ยง

สัพเพ ธรรมา อนัตตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา มิใช่อัตตาตัวตน ดั่งนี้

จึงมีปัญหาว่าไฉนในบท อนัตตา จึงได้ตรัสยกเอาว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

ไม่ตรัสว่าสังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา

 

ในข้อนี้พระอาจารย์ได้อธิบายสั่งสอนกันมาว่า

เพราะในข้ออนัตตานี้มีแก่ทั้ง สังขตธรรม และ อสังขตธรรม หรือแก่ทั้งสังขารและวิสังขาร

คำว่า สังขตธรรม นั้นแปลว่าธรรมะที่มีปัจจัยปรุงแต่ง

ตรงกับคำว่า สังขาร สิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่ง

ส่วน อสังขตธรรม แปลว่าธรรมะที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง

ตรงกับคำว่า วิสังขาร คือธรรมะที่ปราศจากปัจจัยปรุงแต่ง

 

สังขตธรรม อสังขตธรรม

 

ฉะนั้น จึงพึงเข้าใจเรื่องสังขตธรรมและอสังขตธรรม หรือสังขารและวิสังขารต่อไปอีกว่า

สังขตธรรม ธรรมะที่มีปัจจัยปรุงแต่ง หรือสังขารสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งนั้น

ก็หมายถึงสิ่งที่เรียกว่าสังขารกันโดยทั่วไปนั้นเอง เพราะมีปัจจัยคือเหตุต่างๆปรุงแต่ง

ดั่งเช่น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นขันธ์ ๕ ซึ่งสรุปเข้าก็เป็นนามรูป

คือรูปก็คงเป็นรูป เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็เป็นนาม

รูป นาม แต่เรียกกลับกันว่า นาม รูป

 

ขันธ์ ๕ หรือนามรูปนี้มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นมา

สามัญปัจจัย ปัจจัยทั่วไปก็ได้แก่ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน และกรรม

อวิชชาก็ได้แก่ความไม่รู้จักสัจจะที่เป็นความจริง

ตัณหาก็ได้แก่ความดิ้นรนทะยานอยาก อุปาทานก็ได้แก่ความยึดถือ

กรรมก็ได้แก่การงานที่ทำทางกายทางวาจาทางใจ ด้วยความจงใจ

นี้เป็นสามัญปัจจัย คือเหตุปัจจัยทั่วไปของขันธ์ ๕ หรือของนามรูป

และยังมีเหตุปัจจัยจำเพาะ เช่น เหตุปัจจัยของรูปก็คืออาหาร

เหตุปัจจัยของนามธรรมทั้งหลาย ก็ได้แก่อายตนะภายใน อายตนะภายนอกที่มาประจวบกัน

หรือยกเอาวิญญาณเป็นปัจจัยของ เวทนา สัญญา สังขาร

ขันธ์ ๕ หรือนามรูป มีปัจจัยคือเหตุให้เกิดขึ้น ดั่งนี้

 

เหตุปัจจัยเหล่านี้เองเป็นเครื่องปรุงแต่งขันธ์ ๕ หรือนามรูปให้บังเกิดขึ้น

และเมื่อปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ก็มีความเกิดปรากฏ มีความเสื่อมไปปรากฏ

เมื่อยังตั้งอยู่ก็มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปปรากฏ

เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสแสดงสังขตลักษณะ

คือลักษณะทั่วไปของสังขตธรรม ธรรมะหรือสิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งไว้ว่า

อุปาโท ปัญญายติ ความเกิดขึ้นปรากฏ วโย ปัญญายติ ความเสื่อมสิ้นไปปรากฏ

ฐิตัสสะ อัญญะถัตตัง ปัญญายติ

เมื่อยังตั้งอยู่ความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่นปรากฏ ดั่งนี้

 

อุปาทินนกสังขาร อนุปาทินนกสังขาร

 

และสังขารนี้เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วท่านก็แสดงไว้ ๒ อย่าง

คือ อุปาทินกะสังขาร สังขารที่มีใจครอง อนุปาทินกะสังขาร สังขารที่ไม่มีใจครอง

สังขารที่มีใจครองนั้นก็ได้แก่ร่างกายของมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายที่ยังดำรงชีวิตอยู่

อนุปาทินกะสังขาร สังขารที่ไม่มีใจครองก็เช่น ต้นไม้ ภูเขา วัตถุต่างๆ เช่นตึกรามบ้านเรือน

ตลอดจนถึงสังขารของมนุษย์และสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายที่สิ้นชีวิตแล้ว

ไม่มีใจครองแล้ว ก็กลายเป็นอนุปาทินกะสังขาร

 

อีกอย่างหนึ่ง นักปฏิบัติธรรมได้มีความเห็นว่า

อุปาทินกะสังขารคือสังขารที่ยังมีอุปาทานครอง

ส่วนอนุปาทินกะสังขารคือสังขารที่ไม่มีอุปาทานครอง

อุปาทานได้แก่ความยึดถือ ดังที่มีคำเรียกขันธ์ว่าขันธ์ ๕ ว่าขันธ์ที่มีความยึดถือ

ดังพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า กล่าวโดยย่อ สังขิตเตนะ ปันจุปาทานะ ขันธา ทุกขา

กล่าวโดยย่อคือขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ

ถ้าหากว่าละอุปาทานได้แล้ว ขันธ์ทั้ง ๕ ก็ไม่เป็นขันธ์ที่มีอุปาทานยึด คือความยึดถือ

เป็นขันธ์ ๕ เฉยๆ เหมือนอย่างขันธ์ ๕ ของพระพุทธเจ้า

และพระอรหันตขีณาสพ ซึ่งยังดำรงชีวิตอยู่ทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น ที่แยกออกเป็น อุปาทินกะสังขาร อนุปาทินกะสังขาร จึงมุ่งถึงอุปาทาน

ยังมีอุปาทานก็เป็นอุปาทินกะ ไม่ว่าจะเป็นสังขารที่ยังมีจิตใจครองอยู่ หรือไม่ก็ตาม

แต่เมื่อละอุปาทานได้แล้ว สังขารทั้งหมดทั้งที่เป็นมีใจครอง ทั้งที่ไม่มีใจครอง

ก็เป็นอนุปาทินกะสังขาร

 

แต่แม้ว่าจะอธิบายต่างกัน แต่ก็รวมเข้าว่าที่เรียกว่าสังขาร

ก็เพราะประกอบด้วยสังขตลักษณะ ๓ ประการดังที่กล่าวมา

และทั้งสังขารหรือสังขตธรรม ทั้งวิสังขารหรืออสังขตธรรม ล้วนเป็นอนัตตาทั้งนั้น

แต่ว่าวิสังขารหรืออสังขตธรรมนั้นไม่เข้าลักษณะเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง ทุกขะเป็นทุกข์

เข้าลักษณะเป็นอนัตตาแต่เพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างนิพพานเป็นวิสังขาร เป็นอสังขตธรรม

ก็เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน ถ้าหากว่ายังมีความยึดถืออยู่ ก็บรรลุนิพพานไม่ได้

ต่อเมื่อละความยึดถือแม้ในนิพพานเอง จึงบรรลุนิพพานได้

 

เรื่องพระอานนทเถระ

 

ดังที่มีเรื่องแสดงถึงพระอานนทเถระ

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ท่านยังเป็นพระเสขะบุคคล

คือเป็นพระโสดาบัน ยังไม่บรรลุมรรคผลยิ่งขึ้นไปจนถึงอรหัตตมรรคอรหัตตผล

ท่านเป็นผู้ทรงธรรมทรงวินัยทั้งหมดของพระพุทธเจ้าไว้ได้

ฉะนั้น ในสมัยสังคายนาครั้งที่ ๑ ซึ่งพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน

ก็ได้เลือกพระสงฆ์เข้าร่วมเป็นสังคีติการกะ คือผู้กระทำการสังคายนาพระธรรมวินัย

ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ๔๙๙ รูป เว้นไว้ ๑ รูป ก็เพื่อเลือกพระอานนทเถระ

ซึ่งเป็นผู้ทรงจำพระธรรมวินัยไว้ได้อย่างยอดเยี่ยม จำเป็นจะต้องเลือกท่านเข้า

พระเถระทั้งหลายจึงได้มีฉันทานุมัติให้เลือกท่านเข้าอีกรูปหนึ่ง

จึงมีพระอรหันต์ทั้งหมด ๔๙๙ รูป มีพระอานนท์เพียงรูปเดียวซึ่งเป็นพระโสดาบัน

 

ท่านพระมหากัสสปะเถระจึงได้เตือนท่านพระอานนท์

ให้เร่งกระทำความเพียรเพื่อให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ท่านพระอานนท์ก็เร่งกระทำความเพียร

จนถึงราตรีสุดท้ายของราตรีแห่งวันรุ่งขึ้น ก็จะทำสังคายนา

ท่านพระอานนท์ก็เร่งทำความเพียรในคืนนั้นอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่ได้มรรคผลนิพพาน

ท่านจึงดำริว่าจะพัก จึงได้เอนกายลงเพื่อที่จะพัก

ในขณะที่เอนกายลงยังไม่ถึงอิริยาบถที่เรียกว่านอน ท่านก็ได้บรรลุอรหัตตมรรคอรหัตตผล

คือบรรลุมรรคผลนิพพานในเวลานั้น ก็เป็นอันว่าท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์

ทันวันเข้าประชุมสงฆ์วันแรกแห่งสังคายนาครั้งที่ ๑

 

พระอาจารย์ได้อธิบายกันมาว่า

ทั้งนี้เพราะว่าในขณะที่ท่านยังเร่งความเพียรมากอยู่นั้น

จิตใจท่านก็ยังมีความต้องการ ต้องการจะบรรลุอรหัตตมรรคอรหัตตผล

หรือมรรคผลนิพพาน ยังมีความยึดถืออยู่ในมรรคผลนิพพานที่จะบรรลุ

ต้องการจะให้มรรคผลนิพพานสำเร็จเป็นของเรา ว่าเราบรรลุมรรคผลนิพพาน

อันนี้ยังเป็นอุปาทานอันเกิดจากตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก ความต้องการ

จึงกล่าวว่ายังมีตัณหาอุปาทานทั้ง ๒ ข้อก็ได้

หรือจะยกเอาอุปาทานข้อเดียวก็ได้ ยกเอาตัณหาขึ้นกล่าวข้อเดียวก็ได้

แต่เมื่อครั้นท่านคิดว่าจะพัก ท่านก็ปล่อยวางตัณหาอุปาทานในขณะนั้น

ท่านจึงบรรลุทันทีในขณะที่กำลังเอนกายลง อันเรียกว่าอยู่ในระหว่างอิริยาบถทั้ง ๔

ไม่ใช่เดิน ไม่ใช่ยืน ไม่ใช่นั่ง ไม่ใช่นอน

 

ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา

 

พระอาจารย์ก็อธิบายกันมาดั่งนี้ เป็นเครื่องแสดงว่า

ตราบเท่าที่ยังมีตัณหาอุปาทานอยู่ก็บรรลุไม่ได้ จะบรรลุได้ในเมื่อวาง

อันแสดงว่าทางพระพุทธศาสนานั้นแสดงอนัตตาเป็นยอด

คือแสดงว่า สัพเพ ธรรมา อนัตตา ธรรมทั้งปวงมิใช่อัตตาตัวตน

จะบรรลุถึงมรรคผลนิพพานได้ก็จะต้องวางตัณหาอุปาทานให้ได้

แม้ในมรรคผลนิพพานเอง จึงจะบรรลุได้

เพราะฉะนั้นคำว่า สัพเพ ธรรมา อนัตตา นี้จึงมีความหมายอันสำคัญในพระพุทธศาสนา

แสดงว่าพระพุทธศาสนานั้นแสดงยอดธรรมะเป็นอนัตตา

และธรรมะทั้งปวงที่ไม่ใช่ยอดธรรมะก็อนัตตาทั้งหมด

แต่ว่าในข้อว่าอนิจจะไม่เที่ยง ทุกขะเป็นทุกข์นั้น เป็นไปจำเพาะสังขาร

ในส่วนมรรคผลนิพพานนั้น มิใช่อนิจจะ มิใช่ทุกขะ

เพราะฉะนั้น ธรรมะในพุทธศาสนานั้นจึงเป็นอนัตตาทั้งหมด ทั้งสังขารและวิสังขาร

 

ก็เป็นอันว่าแม้จะตรัสสรุปไว้ข้างท้ายดั่งนี้ก็ตาม

แต่ก็อาจจะอธิบายแยกได้ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา

หรือหากจะแสดงโดยไตรลักษณ์ ก็แสดงได้ว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง

สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ สังขารทั้งปวงเป็นอนัตตา

 

( เริ่ม ๑๗๙/๒ ) และวิสังขารก็เป็นอนัตตา

แต่ว่าเพื่อที่จะแสดงอย่างรวบรัดรวมกันทั้งสังขารทั้งวิสังขารเป็นอนัตตาด้วยกัน

จึงใช้คำว่าธรรมแทนซึ่งเป็นคำกลางๆ มีความหมายรวมทั้งที่เป็นสังขตธรรมคือสังขาร

ทั้งที่เป็นอสังขตธรรมคือวิสังขาร

 

นี้เป็นอธิบายธรรมะในบทที่เราทั้งหลายสวดกันอยู่

อันผู้ปฏิบัติธรรมควรจะมีความเข้าใจ เพื่อที่จะได้ไม่สงสัย และเพื่อที่จะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats