ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป054

สัมมาทิฏฐิ ๓๒ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

สังขาร ๓

สังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง ๔

เกิดดับ ๕

วจีสังขาร จิตสังขาร ๖

สังขาร ๓ ๗

ยอดของสังขตธรรม ๘

กิจที่จะต้องทำ ๙

วิสังขาร นิพพาน ๑๐

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๖๘/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๖๙/๑ ( File Tape 54 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมมาทิฏฐิ ๓๒ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

* 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

ได้แสดงพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตร

ในข้อสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบมาโดยลำดับ ภิกษุทั้งหลายได้กราบเรียนถามท่าน

ถึงอธิบายในข้อสัมมาทิฏฐิ เมื่อท่านได้ตอบไปตอนหนึ่งแล้ว

ภิกษุทั้งหลายก็ได้กราบเรียนถามปริยายคือทางอธิบายอย่างอื่นต่อไปอีก

ซึ่งท่านก็ตอบไปโดยลำดับ ตามหลักแห่งปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น

โดยยกเอาธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นเหล่านี้ มาแสดงอธิบายทีละข้อ

จำแนกออกเป็น ๔ ตามแนวแห่งอริยสัจจ์ทั้ง ๔ ทุกข้อ

จึงเท่ากับว่าพระเถราธิบายนี้ได้แสดงอธิบายอริยสัจจ์ ๔ หลายนัยยะ

หลายปริยาย อย่างละเอียด ไปตามข้อธรรมะที่เนื่องกัน

เป็นสายแห่งปฏิจจสมุปบาท ธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น

โดยจับข้างปลายคือชรามรณะขึ้นมาจนถึงอวิชชาอาสวะ

และก็ได้แสดงอธิบายอวิชชาอาสวะนี้ว่าต่างเป็นปัจจัยของกันและกัน

พระพุทธาธิบายในปฏิจจสมุปบาทนี้จบลงแค่อวิชชาเป็นส่วนมาก

ท่านพระสารีบุตรได้จับเอาพระพุทธาธิบาย หรือพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าในที่อื่น

มาเพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่งคืออาสวะ อวิชชาเกิดเพราะอาสวะ ก็จบลงแค่อาสวะ

แต่ว่าอาสวะเกิดเพราะอะไร ก็ต้องกลับมาหาอวิชชาอีก ว่าเกิดเพราะอวิชชา

ซึ่งได้แสดงอธิบายในที่นี้แล้วว่า อวิชชาเกิดเพราะอาสวะอย่างไร

และอาสวะก็เกิดเพราะอวิชชาอย่างไร

จึงมาถึงข้อที่จะอธิบายต่อไปตามพระเถราธิบาย ว่าเพราะอวิชชาเกิดจึงเกิดสังขาร

และคำว่าสังขารนั้น ก็ได้อธิบายในที่นี้แล้วว่าได้แก่สังขาร ๓

คือ กายสังขาร ได้แก่ลมอัสสาสะปัสสาสะ ลมหายใจเข้าลมหายใจออก

วจีสังขาร ได้แก่วิตกวิจารความตรึกความตรอง จิตสังขาร ได้แก่สัญญาเวทนา

ในวันนี้จะได้อธิบายว่าอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร

หรือว่าเพราะอวิชชาเกิดสังขารจึงเกิดอย่างไร จึงจะต้องอธิบายคำว่าสังขารก่อน

 

สังขาร

คำว่าสังขารนั้นใช้ในหมวดธรรมะหลายหมวด เช่นสังขาร ๒

คือสังขารที่มีใจครองหรือมีผู้ครองเรียกว่า อุปาทินนกสังขาร

สังขารที่ไม่มีใจครองหรือไม่มีผู้ครองเรียกว่า อนุปาทินนกสังขาร

สังขารในเบ็ญจขันธ์ คือรูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ

ซึ่งหมายถึงความคิดปรุงหรือความปรุงคิดของจิตใจ

สังขารที่แสดงไว้ในโลก ๓ คือ โอกาสโลก โลกคือโอกาสอันได้แก่พื้นพิภพนี้

สังขารโลก โลกคือสังขารอันได้แก่ทุกๆสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นจากพื้นพิภพนี้

ตลอดจนถึงเป็นอุปาทินนกสังขาร อนุปาทินนกสังขารดังกล่าว

สัตวโลก โลกคือหมู่สัตว์โดยตรงก็หมายถึงจิตใจซึ่งครองสังขารอยู่ ซึ่งยังมีความข้องความติด

สังขาร ๓ คือ กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร

ที่ท่านพระสารีบุตรได้ยกมาอธิบายในข้อว่าสังขารนี้

และสังขาร ๓ อีกหมวดหนึ่ง ปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งบุญ ก็คือทำบุญ

อปุญญาภิสังขาร ปรุงแต่งกรรมที่มิใช่บุญคือบาป ก็คือทำบาป

อเนญชาภิสังชาร ปรุงแต่งธรรมะที่ไม่หวั่นไหว

หมายถึงสมาธิที่เป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น

สำหรับในข้อสังขารที่ว่าเพราะอวิชชาเป็นปัจจัยเกิดสังขาร

หรือเพราะอวิชชาเกิดสังขารเกิดนี้ ก็มีอธิบายถึงสังขาร ๓

ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร ในที่บางแห่งด้วยเหมือนกัน

จึงรวมเข้าได้ว่าท่านยกเอาสังขาร ๓ ทั้งสองหมวดนี้มาอธิบายสังขารในที่นี้

 

สังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง

แต่ในเบื้องต้นนี้จะได้อธิบายเป็นกลางๆก่อน ว่าสังขารก็คือสิ่งผสมปรุงแต่ง

หรือการผสมปรุงแต่ง ทุกๆสิ่งทุกๆอย่างที่เป็นไปทางจิตก็ตาม เป็นไปทางกาย

หรือเป็นไปอยู่ในโลกธาตุทั้งสิ้น ที่ปรากฏเป็นนั่นเป็นนี่ ทั้งที่เป็นอย่างหยาบ

ทั้งที่เป็นอย่างละเอียด ล้วนเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งสิ้น

ถ้าหากว่าไม่มีสิ่งผสมปรุงแต่ง หรือไม่มีการผสมปรุงแต่ง

ก็จะไม่ปรากฏเป็นนั่นเป็นนี่อะไรทั้งสิ้น จะไม่ปรากฏสัตว์บุคคล จะไม่ปรากฏต้นไม้ภูเขา

จะไม่ปรากฏโลกธาตุนี้ ไม่ปรากฏพื้นพิภพนี้ ไม่ปรากฏกลางวันกลางคืน

ไม่ปรากฏหนาวร้อน ลม ฝน ไม่ปรากฏดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ดวงดาว อะไรทั้งสิ้น

แต่ที่ปรากฏเป็นนั่นเป็นนี่อยู่ดังกล่าว ตลอดจนถึงสัตว์บุคคล

ดังเราทั้งหลายทุกๆคนที่มีกายมีใจ ก็เพราะมีการผสมปรุงแต่ง

จึงมีสิ่งผสมปรุงแต่งปรากฏเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้น ดังเช่นตัวอย่างที่ยกมากล่าวแล้ว

และการผสมปรุงแต่งนี้ย่อมมีอยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุด

หยุดทีหนึ่งก็คือว่าแตกสลายหรือว่าดับไปทีหนึ่ง เกิดก็คือผสมปรุงแต่งขึ้นใหม่ แล้วก็ดับ

ในระหว่างเกิดและดับซึ่งเรียกว่าตั้งอยู่ ก็ไม่หยุดผสมปรุงแต่ง

ไม่หยุดความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง

 

เกิดดับ

ดังจะพึงเห็นได้ว่าร่างกายของทุกๆคนนี้ เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่งอย่างหนึ่ง

ต้องมีความปรุงแต่งติดต่อกันอยู่ตลอดเวลา ไม่มีหยุด ดังเช่นต้องหายใจเข้าหายใจออก

ติดต่อกันอยู่ตลอดเวลาไม่มีหยุด แต่อันที่จริงนั้นไม่ใช่หมายความว่าสืบเนื่องกันเป็นอันเดียว

เพราะว่ามีเกิดมีดับต่อเนื่องกันไป คือหมายความว่าเกิดดับ แล้วก็เกิด แล้วก็ดับ

แล้วก็เกิดติดต่อกันไปอันเรียกว่าสันตติ

( เริ่ม ๖๙/๑ ) ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้เป็นตัวอย่างที่ปรากฏ พิจารณาเห็นได้

คือเอาเป็นว่าหายใจเข้านี่เป็นเกิด และหายใจออกนั้นเป็นดับ ก็สมมติเท่านั้น

แต่อันที่จริงนั้นหายใจเข้าเองก็เกิดดับๆเข้าไป เช่นทีแรกอยู่ที่ปลายจมูก

ก็แปลว่าเกิดที่ปลายจมูก แล้วก็เข้าไป ก็ดับจากปลายจมูกเข้าไป

ถึงจุดหนึ่งก็ไปเกิดที่นั่นจุดหนึ่ง ผ่านจุดนั้นไปก็ดับจากจุดนั้น ไปเกิดในจุดอื่นต่อไปอีก

หายใจออกก็เหมือนกัน ก็แปลว่าเกิดเหมือนกัน คือลมหายใจนั้นในส่วนที่นำออก

ก็เกิดตั้งแต่จุดออกทีแรก ผ่านจุดนั้นมาก็ดับจากจุดนั้น อีกจุดหนึ่งก็มาเกิดที่จุดนั้น

ผ่านแล้วก็ดับที่จุดนั้น มาสู่อีกจุดหนึ่งก็มาเกิดอีกจุดหนึ่ง เรื่อยมาดั่งนี้

จนถึงปลายจมูก ก็พ้นปลายจมูกไป ดั่งนี้คือสังขารปรุงแต่ง ไม่หยุด ชีวิตจึงดำรงอยู่ได้

นอกจากนี้อาการทั้งหลายในร่างกายนี้ ที่แบ่งเป็นอาการ ๓๑ หรืออาการ ๓๒

หรือว่าจะแบ่งตามหลักสรีระศาสตร์ในปัจจุบัน ทั้งที่เป็นส่วนภายนอก ทั้งที่เป็นส่วนภายใน

ล้วนมีการปรุงแต่งอยู่ตลอดทุกส่วนทุกสิ่ง ไม่มีหยุดการปรุงแต่ง ชีวิตจึงดำรงอยู่

เพราะฉะนั้น สังขารคือความปรุงแต่งนี้ จึงเป็นตัวชีวิตของร่างกายนี้

เมื่อหยุดการปรุงแต่ง โดยที่ไม่มีสันตติคือความสืบต่อ ก็แปลว่าชีวิตนี้ดับ

ซึ่งเรียกตามภาษาธรรมะว่ากายแตกทำลาย

กายนั้นแปลว่าประชุม ส่วนทั้งหลายที่มาประชุมกันเป็นกายนี้แตกทำลาย

จึงหยุดปรุงแต่ง ร่างกายนี้จึงเริ่มเป็นสิ่งที่เน่าเปื่อยผุพัง ต้องนำไปเผาไปฝัง

แม้จะไม่เผาก็ผุพังไปเอง ซึ่งในที่สุดก็แตกสลายไปหมด

เพราะเหตุว่าหยุดความเป็นสังขาร คือหยุดความปรุงแต่ง

เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสยกเอาลมอัสสาสะปัสสาสะขึ้นมา

ว่าเป็นตัวกายสังขารเครื่องปรุงแต่งกาย เป็นตัวอย่างให้พิจารณาเห็นได้

กายนี้ดำรงชีวิตอยู่ก็เพราะมีลมหายใจเข้าลมหายใจออก

ลมหายใจเข้าลมหายใจออกดับ ก็แปลว่าเครื่องปรุงกายนี้ดับ กายนี้ก็แตกสลาย

 

วจีสังขาร จิตสังขาร

จิตใจก็เหมือนกัน มีเครื่องปรุงแต่งคือมีวิตกมีวิจารความตรึกความตรอง หรือความคิด

ซึ่งเป็นเหตุให้พูดออกมาเป็นวาจา วาจาที่พูดนี้ก็เพราะมีวิตกวิจารคือความตรึกความตรอง

จึงเป็นอันว่าต้องมีวิตกวิจารความตรึกความตรองขึ้นก่อน วาจาจึงจะออกมา

ถ้าหากว่าไม่มีความตรึกความตรอง ก็ไม่มีวาจา

เพราะฉะนั้น ความตรึกความตรองจึงเป็นเครื่องปรุงวาจาที่เรียกว่า วจีสังขาร

วาจานี้เป็นผลที่ออกมาจากวิตกวิจารความตรึกความตรอง

และจิตที่มีความคิดไปต่างๆ ดังเช่นมีวิตกวิจารความตรึกความตรอง

ซึ่งเป็นความตรึกความตรองของจิตนั้นเอง ก็เพราะว่ามีสัญญามีเวทนา

สัญญาก็คือความจำได้หมายรู้ เวทนาก็ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

เพราะมีสัญญาเวทนานี้จิตจึงมีความคิด หรือมีวิตกมีวิจารความตรึกความตรองไปต่างๆ

ถ้าไม่มีสัญญาไม่มีเวทนา จิตก็ไม่ปรากฏ คือจะไม่มีความคิด ไม่มีความตรึกความตรองต่างๆ

เพราะฉะนั้น สัญญาเวทนานี้จึงเป็น จิตสังขาร เครื่องปรุงจิต

 อันคนที่จะตายนั้นท่านแสดงไว้ว่าดับวจีสังขาร

คือดับวิตกวิจารความตรึกความตรองก่อน วาจาจึงดับ นิ่งไม่พูด

เพราะไม่มีความตรึกความตรอง แต่ว่าเพียงนี้ยังไม่ตาย

ต่อไปก็ดับกายสังขาร คือดับลมอัสสาสะปัสสาสะ หยุดหายใจ

แต่ว่าแม้จะดับลมหายใจ ดับกายสังขาร ก็ยังไม่ตาย

จะต้องดับสัญญาเวทนาซึ่งเป็นตัวจิตสังขาร

เมื่อดับสัญญาเวทนาที่เป็นตัวจิตสังขาร นั่นแหละจึงจะตาย

ซึ่งข้อนี้ก็ตรงกับความรู้ในปัจจุบัน ที่ว่าแม้ว่าจะดับลมหายใจเข้าออก

แต่ว่าถ้าสมองยังไม่ดับคนก็ยังไม่ตาย ต้องสมองดับ

เพราะฉะนั้นจึงมาตรงกับที่ว่า จะต้องดับสัญญาเวทนาซึ่งเป็นจิตสังขาร

ดับจิตสังขาร ดับสัญญาเวทนา นั่นแหละจึงจะตาย

 

สังขาร ๓

นี้คือสังขาร ๓ และเมื่อสังขาร ๓ ดังกล่าวนี้ยังมีอยู่

คนยังมีลมหายใจเข้าออกอยู่ มีวิตกวิจารอยู่ มีสัญญาเวทนาอยู่

ร่างกายก็ยังดำรงอยู่ และเป็นไปได้ เดินยืนนั่งนอนได้ อาการต่างๆในร่างกายนี้ใช้ได้

มือเท้าใช้ได้ จักขุประสาทโสตประสาทเป็นต้นใช้ได้ และพูดได้ คิดอะไรได้

ก็เพราะว่าสังขารทั้ง ๓ นี้ยังดำรงอยู่ และเมื่อเป็นดั่งนี้ จึงทำดีได้ทำชั่วได้

ตลอดจนถึงทำสมาธิจนถึงได้อัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่นได้

เพราะฉะนั้น จึงมีปุญญาภิสังขารปรุงแต่งบุญ อปุญญาภิสังขารปรุงแต่งบาปคือทำบุญทำบาป

อเนญชาภิสังขารทำสมาธิกันได้ ดังที่มาปฏิบัติทำสมาธิกันนี้

ฉะนั้น แม้บุญ แม้บาป แม้สมาธิที่ทำกันนี้ ก็เป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง

ต้องปรุงต้องแต่งคือต้องทำ ถ้าไม่ทำ ก็ไม่เกิดเป็นบุญ ไม่เกิดเป็นบาป

ไม่เกิดเป็นสมาธิที่แนบแน่น ต้องทำคือต้องปรุงต้องแต่ง ให้เป็นบุญขึ้นมาจึงเป็นบุญ

ให้เป็นบาปขึ้นมาจึงเป็นบาป ให้เป็นสมาธิขึ้นมาจึงเป็นสมาธิ คือทำได้

 

ยอดของสังขตธรรม

แม้มรรคมีองค์ ๘ ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเอาไว้ให้ปฏิบัติ

เป็นตัวมรรคข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ทุกข้อ

ก็เป็นสังขารคือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง คือต้องปฏิบัติต้องกระทำ

ต้องปฏิบัติอบรมทิฏฐิคือความเห็นให้เห็นถูกเห็นชอบ จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ

ต้องปฏิบัติอบรมความดำริให้ถูกให้ชอบ จึงจะเป็นสัมมาสังกัปปะความดำริชอบ

ต้องปฏิบัติต้องกระทำกรรมทางกายให้ถูกให้ชอบ เว้นจากที่ไม่ถูกไม่ชอบ

จึงจะเป็นสัมมากัมมันตะ ทางวาจาก็เหมือนกันจึงจะเป็นสัมมาวาจา

ทางอาชีพก็เหมือนกันจึงจะเป็นสัมมาอาชีวะ ความเพียรก็เหมือนกันจึงจะเป็นสัมมาวายามะ

สติก็เหมือนกันจึงจะเป็นสัมมาสติ สมาธิก็เหมือนกันจึงจะเป็นสัมมาสมาธิ

คือต้องทำต้องปฏิบัติ ถ้าไม่ทำไม่ปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ก็ไม่มี

เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสเอาไว้ว่า

มรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นยอดของสังขตธรรม ธรรมะที่ปรุงแต่งขึ้น

เพราะว่ามรรคมีองค์ ๘ นี้เมื่อได้ปรุงแต่งขึ้นจนเป็นมรรคสมังคี

กำจัดกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ก็เสร็จกิจ ไม่ต้องปรุงแต่งกันอีกต่อไป จึงชื่อว่าเป็นยอด

เหมือนอย่างขึ้นไปถึงยอดไม้แล้ว ก็ไม่ต้องขึ้นต่อไป

เมื่อขึ้นไปถึงมรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นมรรคสมังคีแล้ว กำจัดกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว

ก็เป็นอันว่าหมดกิจไม่ต้องขึ้น ไม่ต้องทำกันต่อไป เสร็จกิจ

เพราะฉะนั้น จึงเป็นสังขารคือสิ่งผสมปรุงแต่ง

แต่ว่าปรุงแต่งมรรคมีองค์ ๘ ก็นับเข้าว่าเป็นปุญญาภิสังขารปรุงแต่งบุญ

และก็นับเข้าในข้ออเนญชาภิสังขาร ปรุงแต่งอเนญชาเพราะมีสมาธิอยู่ด้วย

สังขารทั้งปวงนี้ คือสิ่งผสมปรุงแต่ง การผสมปรุงแต่งทั้งปวงนี้ มีเพราะอวิชชา

เมื่อมีอวิชชาจึงมีการผสมปรุงแต่ง ดังจะพึงเห็นได้ว่าเพราะมีอวิชชา

จึงได้มีชาติความเกิดขึ้นมา เป็นสังขาร ๓ กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร

และเมื่อมีสังขาร ๓ ก็แปลว่ามีขันธ์ ๕ บริบูรณ์ มีกายใจบริบูรณ์

ก็ทำบุญทำบาปทำสมาธิกันได้ ปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ ได้

และการปฏิบัติแม้ที่เป็นบุญ ก็เพราะว่าเพื่อที่จะชำระบาป ชำระกิเลส

ซึ่งมีอวิชชานั่นแหละเป็นหัวหน้า ถ้าหากว่าไม่มีอวิชชาแล้ว คือดับอวิชชาเสียได้แล้ว

ก็ไม่ต้องทำบุญไม่ต้องทำบาปกันต่อไป เรียกว่าเสร็จกิจ

 

กิจที่จะต้องทำ

การที่ต้องทำบุญอยู่นั้นก็เพราะว่ามีบาปที่จะต้องละ

มีกิเลสที่จะต้องละ มีอวิชชาที่จะต้องละ จึงต้องทำบุญ ต้องปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘

ต้องปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญากัน และเมื่อยังมีอวิชชาก็ต้องทำบาป เพราะความไม่รู้

เพราะฉะนั้น จึงต้องทำบาปทำบุญกันอยู่ ต้องทำสมาธิกันอยู่

ทำบุญก็เพื่อละบาปละกิเลส และจะทำบาปก่อกิเลสกันอยู่ก็เพราะยังมีอวิชชา

เพราะฉะนั้นจึงแปลว่าต้องมีกิจที่จะต้องทำ

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนเอาไว้ว่า พึงอบรมศีลสมาธิปัญญา

ตราบเท่าจนถึงสิ้นความติดใจยินดี บรรลุนิพพานดับกิเลสและกองทุกข์ได้หมดสิ้น

คือแปลว่าเมื่อดับกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ดับอวิชชาได้แล้ว

อวิชชาเป็นหัวหน้าใหญ่ของกิเลสทั้งหลาย

หรือจะว่าอาสวะเป็นหัวหน้าใหญ่ของกิเลสทั้งหลายก็ได้

เมื่อดับได้แล้วก็เป็นอันว่าเสร็จกิจ ไม่ต้องปรุงไม่ต้องแต่งกันต่อไป

ดังที่ตรัสเอาไว้ว่าจิตถึง วิสังขาร คือธรรมะที่ปราศจากความปรุงแต่ง

ไม่มีความปรุงแต่ง อันหมายถึงนิพพาน เพราะสิ้นตัณหาทั้งหลาย

ก็เป็นอันว่าจิตนี้หยุดปรุงแต่ง เพราะละอวิชชาได้

จิตประกอบด้วยวิชชาคือความรู้แจ่มแจ้งถูกต้องตามความเป็นจริง

วิมุติคือความหลุดพ้น เรียกว่าเป็นจิตที่รู้พ้น

 

วิสังขาร นิพพาน

จิตนี้รู้อะไรๆทุกอย่างทางอายตนะตาหูเป็นต้น แต่รู้แล้วก็ไม่ยึด หลุดพ้นทุกอย่าง

เป็นจิตที่รู้พ้น จิตที่รู้ก็คือจิตที่มีวิชชา จิตที่พ้นก็คือจิตที่มีวิมุติ รู้พ้น

จึงเป็นจิตที่บรรลุวิสังขารที่เรียกว่านิพพาน คือธรรมะที่ไม่มีสังขารคือปรุงแต่งอะไรทั้งสิ้น

ไม่ปรุงแต่งบุญ ไม่ปรุงแต่งบาป ไม่ปรุงแต่งอเนญชาทั้งหมด

อยู่กับรู้และพ้น ในเมื่อวิบากขันธ์นี้ยังดำรงอยู่ 

เมื่อวิบากขันธ์นี้ยังดำรงอยู่ ก็คงมีกายสังขารปรุงแต่งกาย ยังหายใจเข้าหายใจออก

มีวจีสังขารคือวิตกวิจารตรึกตรองพูด มีจิตสังขารสัญญาเวทนา คิดตรึกครองเป็นต้น

ดังพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อได้ตรัสรู้แล้ว จิตของพระองค์ดับกิเลสและกองทุกข์ได้สิ้นแล้ว

ดับอวิชชาได้แล้ว จิตของพระองค์อยู่กับวิชชาวิมุติ แต่พระกายก็ยังหายใจเข้าหายใจออก

และยังทรงมีวิตกวิจาร แสดงธรรมะสั่งสอน ก็เป็นพระวาจาที่แสดงออกมา

วิตกวิจารคือวิชชา คือความรู้ วิมุติคือความพ้น จิตของพระองค์ก็ยังมีเป็นจิตสังขาร

มีสัญญาเวทนานี้ปรุงแต่งจิตให้คิด จึงทรงตรึกตรอง

ทรงพระญาณดูสัตว์ทั้งหลายในตอนเช้า เมื่อผู้ใดเข้าในข่ายของพระญาณ

ว่าเป็นเวไนยชนคือบุคคลที่พึงแนะนำอบรมได้ ก็เสด็จไปทรงแสดงธรรมะโปรด

ก็เป็นอันว่า กายสังขาร วจีสังขาร จิตสังขาร ของพระองค์นั้นเป็นวิบากขันธ์ที่เหลืออยู่

และก็ทรงใช้วิบากขันธ์ที่เหลืออยู่นี้ ด้วยพระมหากรุณา

ทรงแสดงธรรมะสั่งสอนโปรดให้เวไนยนิกรพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ตามพระองค์

ซึ่งทรงใช้อยู่ตลอดเวลาถึง ๔๕ ปี จึงดับขันธปรินิพพาน ดับกายสังขารวจีสังขารจิตสังขาร

แต่เพราะสิ้นกิเลสหมดสิ้นแล้วจึงไม่ทรงเกิดอีก ไม่ก่อเกิดกายสังขารวจีสังขารจิตสังขาร

คือขันธ์ ๕ หรือนามรูปขึ้นอีก เป็นผู้ไม่เกิด เมื่อไม่เกิดก็เป็นผู้ที่ไม่แก่ไม่ตาย

พ้นจากถ้อยคำที่จะพูดถึงว่าเป็นอะไร

เพราะเมื่อพูดถึงว่าเป็นอะไร ก็ต้องเป็นสังขารขึ้นมา

ต้องเป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมา จึงจะพูดถึงได้

แต่เมื่อไม่เป็นสังขาร ไม่เป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา ไม่เป็นนั่นเป็นนี่ขึ้นมา

ก็ไม่มีอะไรจะพูดถึง อาจจะกล่าวได้แต่เพียงว่าเป็นอมตะธรรม ธรรมะที่ไม่ตาย

ที่เป็นวิสังขาร ไม่มีการปรุงแต่ง หรือสิ่งผสมปรุงแต่งทั้งหมด

แต่ตราบใดที่ยังมีอวิชชาอยู่ ก็จะต้องมีสังขาร คือสิ่งผสมปรุงแต่ง การผสมปรุงแต่ง

ต้องทำบุญ ต้องทำบาป ต้องทำสมาธิ ตลอดจนถึงต้องปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น กันไป

เพราะฉะนั้น เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงเกิดสังขาร สิ่งผสมปรุงแต่งหรือการผสมปรุงแต่งดั่งนี้

และสิ่งผสมปรุงแต่ง หรือการผสมปรุงแต่ง อันเรียกว่าสังขารนี้ ต้องมีอยู่ตลอดเวลา

ดั่งชีวิตนี้ต้องมีการผสมปรุงแต่งกันอยู่ตลอดเวลา ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

หยุดเมื่อใดก็ดับชีวิตเมื่อนั้น

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

สัมมาทิฏฐิ ๓๓ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร (ต่อ)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

อวิชชาเป็นเหตุให้ปรุงแต่ง ๓

พระอัญญาโกณฑัญญะ ๕

ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม ๖

ความไม่รู้สัจจะ ๗

ดวงตาเห็นธรรมคือเห็นเกิดดับ ๘

เมื่อเห็นเกิดดับก็ชื่อว่าเห็นทุกข์ ๙

อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดวิชชา ๑๐

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๖๙/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๖๙/๒ ( File Tape 54 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

สัมมาทิฏฐิ ๓๓ อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร (ต่อ)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะได้แสดงขยายความอวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร

หรือเมื่ออวิชชาเกิดสังขารก็เกิด ต่อไปอีก

อันสังขารนั้นก็ได้แสดงมาแล้วถึงหมวดธรรมต่างๆที่มีคำว่าสังขาร

และได้แสดงความหมายของสังขารที่เป็นส่วนกลางๆ

อันเป็นที่มุ่งหมายว่าอวิชชาเป็นเหตุให้เกิดสังขารในที่นี้

แต่ยังมีอีกบางหมวด และลักษณะของสังขารที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

อันสมควรแสดงรวมเข้าในข้อนี้ด้วย

อวิชชาคือความไม่รู้ อันหมายถึงไม่รู้ในสัจจะที่เป็นความจริงดังที่ได้กล่าวแล้ว

และเกิดขึ้นที่จิตนี้เอง อันหมายถึงจิตที่เป็นวิญญาณธาตุ คือธาตุรู้ ซึ่งมีอยู่ในบุคคลทุกๆคน

( เริ่ม ๖๙/๒ ) บุรุษบุคคลนี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่าประกอบด้วยธาตุ ๖

คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุอากาส ทั้ง ๕ นี้เป็นธาตุที่ไม่มีความรู้ในตัว

และวิญญาณธาตุคือธาตุรู้เป็นข้อที่ ๖ เพราะฉะนั้นจึงรู้อะไรๆได้

และวิญญาณธาตุหรือธาตุรู้ หรือที่เรียกว่าจิตในที่นี้

พระพุทธเจ้าก็ตรัสเอาไว้ ว่าเป็นธรรมชาติปภัสสรคือผุดผ่อง

แต่เมื่อยังมิได้ปฏิบัติทำจิตตภาวนาคือการอบรมจิต

จิตหรือธาตุรู้นี้ก็ยังประกอบด้วยอวิชชา คือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง

อันหมายถึงว่าแม้จะเป็นธาตุรู้ แต่ก็เป็นความรู้ผิดรู้หลง ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง

เป็นอวิชชาดั่งที่ได้แสดงแล้ว

 

อวิชชาเป็นเหตุให้ปรุงแต่ง

แต่เพราะอวิชาคือไม่รู้นี้เอง จึงเป็นเหตุให้ปรุงแต่ง ปรุงแต่งเพื่ออะไร ก็เพื่อให้รู้นั้นเอง

เหมือนอย่างบุคคลที่ไม่รู้ในเรื่องอะไร เมื่อต้องการจะรู้ในเรื่องนั้น ก็ต้องปรุงแต่ง

เช่นว่า ต้องค้นคว้า ต้องไต่ถามสดับตรับฟัง ต้องสืบสวนสอบสวน

ต้องคิดพินิจพิจารณา เพื่อจะให้รู้ในเรื่องนั้น นี้คือสังขารคือปรุงแต่ง

และเมื่อรู้แล้วก็เป็นอันว่าหยุดคิดเพื่อที่จะรู้ในเรื่องนั้นได้

แต่ว่าที่ว่าคิดว่ารู้แล้วนั้น บางทีก็ไม่ใช่รู้จริงรู้ถูก เป็นความรู้ผิดรู้หลงก็มี

ก็เป็นอันว่า ก็คงเป็นอวิชชาคือไม่รู้อยู่นั่นเอง แต่สำคัญว่ารู้

เพราะฉะนั้น จึงยังมีสังขารคือปรุงแต่ง

อันหมายความว่า ความรู้ที่คิดว่ารู้นั้น ไม่ใช่เป็นตัวความรู้

แต่เป็นความปรุงแต่งขึ้นว่ารู้ คือไม่ใช่รู้จริง

เมื่อไม่ใช่รู้จริง ความรู้นั้นจึงเป็นความปรุงแต่ง ปรุงแต่งขึ้นว่ารู้ ไม่ใช่เป็นความรู้จริง

ต่อเมื่อเป็นความรู้จริง จึงจะไม่ใช่เป็นสังขารคือความปรุงแต่ง

 เพราะฉะนั้น วิชชาคือความรู้ที่บังเกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าในอริยสัจจ์ ๔

ท่านจึงได้แสดงไว้ว่า จักษุคือดวงตาผุดขึ้น ญาณคือความหยั่งรู้ผุดขึ้น

ปัญญาคือความรู้ทั่วถึงผุดขึ้น วิชชาคือความรู้ถูกต้องผุดขึ้น

อาโลกะคือความสว่างผุดขึ้น ในธรรมะทั้งหลายที่ยังมิได้เคยสดับมาก่อน

ว่านี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เป็นต้น

ความรู้ที่ผุดขึ้นดั่งนี้ ไม่ใช่เป็นความรู้ที่ปรุงแต่ง แต่เป็นความรู้จริง

ส่วนความรู้ที่ปรุงแต่งนั้นยังไม่ใช่เป็นความรู้จริง

แต่เป็นความปรุงแต่งต่างหาก อันเรียกว่าสังขาร

แม้ความรู้ที่เป็นปริยัติคือที่เล่าเรียน อันได้แก่สดับตรับฟังอ่านท่องบ่นจำทรง

ดังเช่นสดับตรับฟังอ่านท่องบ่นจำทรงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จำอริยสัจจ์ได้

นี้ก็เป็นสังขาร คือเป็นความปรุงแต่งขึ้นของผู้เรียน ไม่ใช่เป็นความรู้ของตนเอง

แต่เป็นความรู้ของพระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสสอนเอาไว้ แล้วก็มาฟัง มาจำทรง

เป็นความจำ เป็นความจำทรง ซึ่งเป็นตัวสังขารคือเป็นความปรุงแต่ง

ไม่ใช่เป็นความรู้ที่เป็นตัวปัญญาของตนเอง

จะเป็นความรู้ที่เป็นปัญญาของตัวเองนั้น ต้องเป็นความรู้ที่ผุดขึ้น

ไม่ใช่คิดขึ้น มิใช่จำเอาไว้ เป็นความรู้ที่ผุดขึ้น โดยที่ไม่ได้คิดไม่ได้แต่ง มิได้จำ

ดังจะพึงเห็นได้ว่าในปฐมเทศนา

พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาคือธรรมจักร แก่พระปัญจวัคคีย์

ได้ตรัสแสดงถึงทางที่ทรงปฏิบัติมา ทรงละทางที่เป็นสุดโต่งสองอย่าง

ทรงปฏิบัติทางที่เป็นมัชฌิมาซึ่งอยู่ในท่ามกลาง ไม่ข้องแวะด้วยทางสุดโต่งทั้งสองนั้น

อันได้แก่มรรคมีองค์ ๘ จึงได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ ก็ทรงแสดงอริยสัจจ์ทั้ง ๔

และทรงแสดงพระญาณที่มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔

และเพราะพระญาณที่มีวนรอบ ๓ มีอาการ ๑๒ ในอริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้

บริสุทธิ์บริบูรณ์แก่พระองค์ จึงได้ทรงปฏิญญาพระองค์ว่าได้ตรัสรู้แล้ว ดั่งนี้

 

พระอัญญาโกณฑัญญะ

ธรรมจักษุคือดวงตาเห็นธรรมได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะ

ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา

นี้เป็นตัวปัญญา จะเห็นได้ว่าธรรมจักษุที่บังเกิดขึ้นแก่พระโกณฑัญญะนี้

ไม่เกี่ยวแก่ถ้อยคำที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงในปฐมเทศนานั้น

แต่เมื่อท่านพระโกณฑัญญะท่านได้ฟังแล้ว ท่านเข้าใจ

ความเข้าใจของท่านนั้นก็ผุดขึ้นมาแก่ท่านว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา คือท่านเห็นเกิดดับของทุกๆสิ่งที่เกิดขึ้น

ก็แหละ อันทุกๆสิ่งที่เกิดดับนี้เป็นตัวสังขาร คือเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง

สิ่งที่มีที่เป็นขึ้นทุกอย่างในโลกนี้ เป็นสิ่งผสมปรุงแต่งทุกอย่าง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

เพราะฉะนั้นจึงต้องเกิดดับเป็นธรรมดา เห็นเกิดเห็นดับคู่กันไปในขณะเดียวกัน

นี้เป็นตัวธรรมดา หรือเป็นธรรมะของทุกๆสิ่งทุกๆอย่างในโลก ที่มีเกิดขึ้น ก็ต้องมีดับ

นี่แหละคือตัวสังขาร และเมื่อเห็นสังขาร และเห็นเกิดดับของสังขาร จึงชื่อว่าเห็นทุกข์

ซึ่งเป็นทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์ ก็คือทุกขอริยสัจจ์

ที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดงไว้ในปฐมเทศนานั้นเอง

แต่ว่าความรู้ที่ผุดขึ้นแก่ท่านนั้นไม่ได้อิงพยัญชนะถ้อยคำในปฐมเทศนา

แต่ว่าเป็นความรู้ที่ผุดขึ้น ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นอรรถรส หรือเป็นสาระคือแก่นสาร

ของเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น อันจะเปรียบได้ว่าเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง

หรือที่พระสาวกแสดงกันต่อมาก็ตาม ซึ่งทุกๆคนได้สดับตรับฟัง

ได้เล่าเรียนศึกษา ได้ท่องบ่นจำทรง ก็เหมือนอย่างอาหารที่จัดใส่ไว้ในสำรับ

และที่ทุกคนก็ตักหยิบบริโภค คือนำเข้าใส่ปาก อาหารเหล่านี้ก็ปรากฏเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้

และเมื่อนำเข้าปากเคี้ยวอาหารเหล่านี้ก็รวมกัน และกลืนลงไปสู่ท้อง

เมื่อเข้าไปสู่ท้องแล้วก็ต้องย่อยให้โอชะของอาหารนั้นแผ่ไปเลี้ยงร่างกาย

ถ้าหากว่าไม่ย่อยเอาโอชะของอาหารนั้นไปเลี้ยงร่างกาย

อาหารที่บริโภคเข้าไปนั้นไม่ย่อยก็กลายเป็นพิษ ทำให้ปวดท้อง ทำให้เป็นโรค

ต่อเมื่อย่อยเอาโอชะไปเลี้ยงร่างกาย และส่วนกากนั้นก็เป็นอาหารเก่าถ่ายทิ้งต่อไป

ใช้แต่โอชะของอาหารนั้นไปเลี้ยงร่างกายเท่านั้น

ดั่งนี้อาหารนั้นจึงจะสำเร็จประโยชน์ แผ่ไปเลี้ยงร่างกายได้

 

ธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม

ธรรมะที่ฟังก็ฉันนั้น ก็เหมือนอย่างอาหารที่ยังใส่อยู่ในสำรับ

แม้ที่หยิบใส่ปากเคี้ยว ก็เป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้

แต่ว่าที่จะเป็นธรรมะที่เป็นธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรมขึ้นนั้น จะต้องใช้ปัญญาย่อย

ย่อยให้เหลือแต่โอชะ โอชะของถ้อยคำ โอชะของปริยัติ โอชะของแบบแผน

ส่วนที่เป็นกากที่ไม่ใช่โอชะนั้นก็วางทิ้งไป ให้เหลือแต่โอชะ

ฉันใดก็ดี เมื่อท่านพระโกณฑัญญะฟังธรรม ท่านก็มิได้จับเอาพยัญชนะถ้อยคำ

มิได้จับเอาปริยัติ แต่ว่าย่อยปริยัติคือย่อยถ้อยคำนั้นด้วยปัญญาที่พิจารณา

จนได้โอชะของปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้าผุดขึ้นแก่ท่าน

คือท่านเห็นเกิดดับ สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา เป็นความเห็นเกิดดับที่ผุดขึ้นมา

เพราะฉะนั้น ข้อความในธรรมะจักษุของท่านพระโกณฑัญญะนั้น

จึงคล้ายๆกับเป็นคนละเรื่องกับปฐมเทศนา แต่อันที่จริงนั้นไม่ใช่เป็นคนละเรื่อง

แต่เป็นตัวโอชะของปฐมเทศนานั้น

อันนี้แหละเป็นสิ่งสำคัญ

ฉะนั้นที่จะเห็นธรรมะได้นั้น ก็อาศัยถ้อยคำนั่นแหละ อาศัยปริยัตินั่นแหละ

แต่ว่าจับเอาโอชะของปริยัติของถ้อยคำนั้นได้ เป็นสาระคือตัวแก่นสารจริงๆ

ให้ความรู้ดั่งนี้ผุดขึ้น นั่นแหละจึงจะเป็นธรรมจักษุคือดวงตาเห็นธรรม เป็นวิชชา

และเมื่อเป็นวิชชาแล้วก็สิ้นสงสัย ไม่ต้องคิดปรุงแต่งกันอีกต่อไป

แต่ที่ยังต้องปรุงแต่งกันอยู่นั้นก็เพราะยังมีอวิชชา คือความไม่รู้

ไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง

 

ความไม่รู้สัจจะ

ในข้อนี้เห็นได้ธรรมดาทั่วไป

ดั่งเช่นเมื่อเห็นอะไรทางตา เพราะอวิชชาคือไม่รู้ในรูปที่ตาเห็นนั้น

จึงได้ยึดถือแล้วก็ปรุงแต่งรูปนั้น ว่านี่สวยนี่งาม นี่ไม่สวยนี่ไม่งาม

นี่เป็นสังขารคือปรุงแต่งขึ้นมาแล้ว แต่งให้รูปที่ตาเห็นนั้นว่างามบ้างไม่งามบ้าง

และเมื่อแต่งให้เห็นว่างามบ้างไม่งามบ้างขึ้นแล้ว กิเลสก็เกิดขึ้นจับทันที

เมื่อแต่งให้เห็นว่างาม ราคะความติดความยินดี โลภะความโลภอยากได้ก็บังเกิดขึ้น

เมื่อเห็นว่าไม่งามก็ไม่สนใจ หรือว่าโทสะปฏิฆะความหงุดหงิดกระทบกระทั่งขัดเคือง

ก็บังเกิดขึ้น ก็เป็นความปรุงแต่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาอีก

เหล่านี้สังขารทั้งนั้น คือใจปรุงขึ้นทั้งนั้น ว่างามก็ใจปรุงขึ้น ว่าไม่งามก็ใจปรุงขึ้น

ทั้งนี้ก็เพราะว่ายังมีอวิชชาคือไม่รู้ คือไม่รู้ว่านี่คือสังขาร รูปที่ตาเห็นนี่คือสังขาร

เป็นสิ่งที่เกิดดับ เห็นรูปนั้นก็เป็นเกิด แล้วก็รูปนั้นก็ดับทันที

คือหมายความว่าการเห็นนั้นเป็นปัจจุบัน แล้วก็เป็นอดีตไปทันที

เมื่อเป็นอดีตก็คือว่าดับไปแล้ว

อันที่จริงนั้นเมื่อคนเห็นอะไรทางตา รูปที่ตาเห็นนั้นก็เกิดดับไปทันทีในขณะนั้น

แล้วรูปอื่น เห็นรูปอื่นขึ้นอีกก็เกิดดับไปทันทีในขณะนั้น

แต่คราวนี้ยังไม่ดับอยู่ในใจ เพราะว่าจิตใจนี้ยังมีอวิชชาคือไม่รู้ว่านี่คือตัวทุกข์

เป็นตัวสังขาร เป็นสิ่งที่เกิดดับ เมื่อเป็นดั่งนี้จึงยึดถือ ยึดถือเอารูปนั้นมาตั้งอยู่ในใจ

เพราะฉะนั้น รูปนั้นจึงไม่ดับอยู่ในใจ เป็นที่ตั้งของราคะบ้างของโทสะบ้าง

หรือว่าของโลภะบ้าง โทสะบ้างสืบต่อไป นี่เป็นสังขารคือปรุงแต่งทั้งนั้น

 

ดวงตาเห็นธรรมคือเห็นเกิดดับ

คราวนี้ถ้าเมื่อเห็นรูปอะไรทางตาแล้ว รู้ทันทีว่าเกิดดับ

รูปที่เห็นในบัดนี้ เกิดไปในบัดนี้ ก็ดับไปในบัดนี้แล้ว คือผ่านไปแล้วเป็นอดีตไปแล้ว

ถ้าเห็นเกิดดับทันทีดั่งนี้แล้ว จะไม่เกิดความปรุงแต่ง

คือไม่ยึดเอารูปที่ดับไปแล้วนั้นมาปรุงแต่งในใจว่างามหรือไม่งาม

แล้วก็เกิดชอบหรือเกิดชังขึ้นมา ก็เป็นสังขารคือปรุงแต่งสืบต่อไป

อวิชชาจึงเป็นปัจจัยให้เกิดสังขารคือปรุงแต่งขึ้นดั่งนี้

แต่ว่าถ้ารู้แล้วก็จะหยุดปรุงแต่งทันที ไม่ปรุงแต่ง ปล่อยให้รูปที่ตาเห็นนั้น รู้ดับไปแล้ว

เสียงที่ได้ยินก็ดับไปแล้ว จะเป็นเสียงสรรเสริญเสียงนินทาก็ดับไปแล้ว

กลิ่นรสโผฏฐัพพะเรื่องราวที่บังเกิดขึ้นในใจที่คิดที่นึก เกิดก็ดับไปแล้ว

คือเป็นอดีตไปแล้วทันที คู่กันไปกับเกิด เกิดดับ เกิดดับ เกิดดับ ไปทันที

ดั่งนี้เรียกว่าธรรมจักษุดวงตาเห็นธรรม

เมื่อเป็นวิชชาขึ้นมาดั่งนี้แล้ว ก็จะหยุดไม่ปรุงแต่งในสิ่งเหล่านี้

ว่าเป็นยังงั้นเป็นยังงี้ แล้วก็ชอบ แล้วก็ชังกันเป็นต้นต่อไป

ซึ่งเป็นยังงั้นเป็นยังงี้ ชอบหรือชังเป็นต้นต่อไปนั้นก็เป็นความปรุงความแต่งทั้งสิ้น

เป็นสังขารทั้งสิ้น คือใจนี้เองปรุงขึ้นแต่งขึ้น แต่งเอาสิ่งที่ผ่านไปแล้วว่ายังมีอยู่

อันนี้แหละเป็นสิ่งสำคัญคือไม่เห็นเกิดดับ

เพราะฉะนั้นความเห็นเกิดดับที่เป็นธรรมจักษุนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

ฟังธรรมะทุกข้อทุกบทที่จะเป็นตัวธรรมจักษุคือดวงตาเห็นธรรมนั้น ก็คือเห็นเกิดดับนี้เอง

และเมื่อเห็นเกิดดับก็ไม่ใช่หมายความว่า เห็นเกิดดับจำเพาะตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้

แต่ว่าทำให้เห็นเกิดดับในธรรมะ คือในสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ในโลกที่เป็นปัจจุบันนี้ทุกอย่าง

คือสิ่งที่มาประสบทางตาเป็นรูปที่ตาเห็น มาประสบทางหูเป็นเสียงที่หูได้ยิน

เป็นกลิ่นเป็นรสเป็นโผฏฐัพพะที่จมูกที่ลิ้นที่กายได้ทราบ

และเป็นธรรมะเรื่องราวต่างๆที่ใจได้คิดนึกที่รู้ เหล่านี้ทั้งสิ้น ที่ประสบพบผ่านอยู่ทุกขณะนี้

เมื่อประสบพบผ่านขึ้นเมื่อใดก็เกิดดับไปเมื่อนั้นทันที คู่กันไปเลยไม่มีเหลืออยู่

นี่เป็นวิชชา เมื่อเป็นวิชชาขึ้นมาดั่งนี้ได้จริงๆแล้วก็จะหยุดปรุง หยุดแต่ง หยุดยึด

ไม่ยึดให้เป็นสัญโญชน์คือข้อที่ผูกพันจิตใจอยู่ จิตใจไม่ผูกพันอยู่กับสิ่งเหล่านั้น

สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ผูกพันจิตใจอยู่ และไม่ปรุงแต่งว่าสิ่งเหล่านั้นงามหรือไม่งาม ดีหรือไม่ดี

ชอบใจหรือไม่ชอบใจ กิเลสที่เป็นกองราคะโทสะโมหะก็ไม่บังเกิดขึ้น

ซึ่งล้วนเป็นสังขารคือสิ่งปรุงแต่งทั้งสิ้น

 

เมื่อเห็นเกิดดับก็ชื่อว่าเห็นทุกข์ 

เพราะฉะนั้น ธรรมจักษุที่เป็นตัวเห็นทุกข์นั้น จึงต้องเห็นเกิดดับ

และเมื่อเห็นเกิดดับก็ชื่อว่าเห็นทุกข์ ฉะนั้นจะเห็นทุกข์ได้ก็ต้องเห็นสังขาร

คือเห็นว่าเป็นสังขารสิ่งผสมปรุงแต่ง และเมื่อเห็นสังขารก็จะเห็นเกิดดับของสังขาร

เมื่อเป็นดั่งนี้รวมกันเข้าก็ชื่อว่าเห็นทุกข์ ต้องอาศัยวิชชาจึงจะเห็นทุกข์ เห็นสังขาร เห็นเกิดดับ

และเมื่อเห็นเป็นวิชชาขึ้นดั่งนี้ก็หยุดปรุงหยุดแต่ง หยุดกิเลสได้ในสิ่งทั้งปวงเหล่านี้ในโลก

แต่ที่ทุกคนยังต้องยึดยังต้องปรุงยังต้องแต่งเป็นตัวสังขารอยู่นี้ ก็เพราะอวิชชาคือไม่รู้

คือไม่เห็นเกิดดับของสิ่งทั้งหลายในโลก ในขณะที่ประสบพบผ่านทางตาทางหูเป็นต้น

จึงต้องยึดต้องปรุงต้องแต่ง ก็ใจนี้เอง นี้เป็นสังขารคือการผสมปรุงแต่งทั้งนั้น

ที่บังเกิดขึ้นในจิตใจ อวิชชาจึงทำให้เกิดสังขารขึ้นดั่งนี้

แล้วก็กล่าวได้ว่า ก็เพราะอวิชชานี้เอง ก็จะทำให้เกิดวิชชาขึ้น

คือทำให้เกิดปรุงแต่งเพื่อที่จะรู้จะเห็นขึ้น ดังที่เมื่อได้ฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเอาไว้

ดังที่เช่นนำมาแสดงนี้ ก็ตั้งใจที่จะปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญา หรือในมรรคมีองค์ ๘

ความที่ตั้งใจปฏิบัตินี้ก็เป็นสังขารอีกเหมือนกัน คือต้องผสมต้องปรุงต้องแต่ง

ต้องทำให้เป็นศีลขึ้นมา เป็นสมาธิขึ้นมา เป็นปัญญาขึ้นมา เป็นมรรคมีองค์ ๘ ขึ้นมา

และเมื่อปฏิบัติได้ดั่งนี้ ก็จะได้วิชชาคือความรู้ ตรงกันข้ามกับอวิชชา

คืออวิชชาก็จะดับไป วิชชาก็จะบังเกิดขึ้น ก็จะทำให้หยุดปรุงหยุดแต่งในที่สุดได้

 

อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดวิชชา

เพราะฉะนั้น ก็กล่าวได้อีกว่า

ก็เพราะอวิชชานี้เอง เป็นปัจจัยให้เกิดปรุงแต่งเพื่อที่จะรู้เป็นวิชชาขึ้นมา

และเมื่อเป็นวิชชาขึ้นมา อวิชชาดับ ก็หยุดหยุดแต่ง เพราะว่ารู้แล้วก็ไม่ต้องปรุงแต่งกันทำไม

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เมื่อเห็นเกิดเห็นดับ ทุกๆอย่างที่ประสบพบผ่านทางตาทางหู

เกิดดับอยู่ในปัจจุบันทุกอย่างไม่มีอะไรเหลืออยู่ ก็ไม่มีอะไรที่จะไปยึดถือ

เพราะว่าดับไปแล้ว จึงไม่ต้องคิดปรุงคิดแต่งว่างามหรือไม่งาม ดีหรือไม่ดี

แล้วก็เกิดยินดีหรือเกิดความยินร้าย ก็เป็นอันว่าหมดเรื่องกันไป

เพราะฉะนั้น อวิชชาจึงเป็นเหตุให้เกิดสังขารคือความปรุงแต่ง

และเมื่อเป็นวิชชาขึ้นมา ก็หยุดสังขารคือความปรุงแต่งได้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats