ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป084

พระธรรมคุณ ๑๑ โอปนยิโก

เวทนา ๕

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

เวทนา ๕ ๓

เคหะสิตะ เวทนาที่อาศัยเรือน ๔

เนกขัมมะสิตะ การออกจากเรือน ๕

เครื่องละเวทนาอย่างหยาบ ๖

อุเบกขา ๒ อย่าง ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๐๘/๒ เริ่มต้น ต่อ ๑๐๙/๑ ( File Tape 84 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระธรรมคุณ ๑๑ โอปนยิโก

เวทนา ๕

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 *

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ธรรมเป็น สวากขาตธรรม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

สันทิฏฐิโก เป็นธรรมอันผู้ปฏิบัติได้บรรลุพึงเห็นเอง

อกาลิโก เป็นธรรมไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เอหิปัสสิโก เป็นธรรมควรเรียกให้มาดู

โอปนยิโก เป็นธรรมที่พึงน้อมเข้ามา ก็คือน้อมใจเข้ามาสู่ธรรม หรือน้อมธรรมเข้ามาสู่ใจ

เพราะจิตใจนี้เป็นธาตุรู้ และเป็นธรรมชาติปภัสสรคือผุดผ่อง

และธรรมะก็เป็นสัจจะธรรมคือธรรมะที่เป็นความจริง เป็นของจริงของแท้

และเป็นธรรมะที่บริสุทธิ์ นำให้ออกจากทุกข์ได้ ดับกิเลสได้

 

เพราะฉะนั้น ธรรมะกับจิตใจจึงเป็นธรรมชาติที่คู่ควรกัน พึงน้อมเข้ามาสู่กันได้

ได้แสดงถึงการน้อมจิตใจเข้าสู่สติปัฏฐาน ที่ตั้งสติในข้อกาย ในข้อเวทนา

และก็จะได้แสดงต่อในข้อเวทนา

พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ทำสติคือความระลึกกำหนดเวทนา ให้รู้เวทนา

ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยน้อมจิตนี้เองกำหนดเวทนา จึงเป็นสติที่ตั้งในเวทนา

และเวทนานั้นก็มีสุขบ้างทุกข์บ้าง ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขเป็นกลางๆ

หรือที่เรียกว่าอุเบกขาบ้าง มี ๓ ดังกล่าว

 

เวทนา ๕

 

แต่ในที่อื่นได้มีตรัสแสดงเวทนาไว้เป็น ๕

คือ สุขเวทนา เวทนาเป็นสุขทางกาย ทุกขเวทนา เวทนาเป็นทุกข์ทางกาย

โสมนัสเวทนา เวทนาเป็นโสมนัสคือสุขทางใจ โทมนัสเวทนา เวทนาเป็นโทมนัสคือทุกข์ทางใจ

และ อุเบกขาเวทนา คือเวทนาที่เป็นอุเบกขาอันหมายถึงเป็นกลาง

ไม่ใช่สุขกาย ไม่ใช่ทุกข์กาย ไม่ใช่โสมนัสสุขใจ ไม่ใช่โทมนัสทุกข์ใจ

ก็เป็นอันเดียวกันกับ อทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขนั้นเอง

 

และได้ตรัสสอนให้รู้จักเวทนาที่ประสบอยู่ ที่เสวยอยู่

สุขก็ให้รู้ ทุกข์ก็ให้รู้ ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ให้รู้ ทั้งทางกายทั้งทางใจ

และที่เป็นสามิสมีเครื่องล่อ คือมีอารมณ์รูปเสียงเป็นต้น

ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจเป็นเครื่องล่อ คือประกอบไปด้วย หรือว่านำให้เกิดขึ้น

จึงเกิดเวทนาเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขขึ้น

อันประกอบไปด้วยสิ่งที่เป็นเครื่องล่อให้บังเกิดขึ้นนั้น เรียกว่าสามิส

หรือเป็นนิรามิส ไม่มีสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจดังกล่าวนำให้เกิดขึ้น ก็ให้รู้

 

และได้ตรัสสอนไว้ใน สฬายตนะวิภังคสูตร ตรัสเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เคหะสิตะ อาศัยเรือน

กับ เนกขัมมะสิตะ อาศัยเนกขัมมะคือการออกจากเรือน

ที่เป็นเคหะสิตะอาศัยเรือนโดยความก็คือเป็นสามิสนั้นเอง

ส่วนที่เป็นเนกขัมมะสิตะ อาศัยเนกขัมมะการออกจากเรือน โดยความก็คือเป็นนิรามิสนั้นเอง

ซึ่งนำให้เกิดสุขหรือทุกข์ หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข ซึ่งเป็นตัวเวทนาได้

ทั้งที่เป็นไปทางกาย ทั้งที่เป็นไปทางใจ

 

เคหะสิตะ เวทนาที่อาศัยเรือน

 

และได้ตรัสอธิบายไว้อีกว่าที่เป็นสามิสหรือที่เป็นเคหะสิตะอาศัยเรือนนั้น

ก็คือคิดนึกตรึกตรองถึงรูปบ้างเสียงกลิ่นบ้างรสบ้างโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องบ้าง

เรื่องราวทั้งหลายบ้าง ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัสคือความยินดีพอใจ

ก็ได้แก่คิดนึกตรึกตรองถึงรูปเสียงเป็นต้นดังกล่าวนั้น

ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย ที่กำลังได้อยู่ หรือที่เคยได้มาแล้ว

อันเป็นฝ่ายโลกามิส คือเป็นเครื่องล่อเครื่องชักจูงใจให้ติดให้ยินดีของโลก

เมื่อเกิดโสมนัสขึ้น นี่แหละก็คือเป็นโสมนัสเวทนาหรือสุขเวทนาที่เป็นสามิส

คือมีอามิสวัตถุที่เป็นเครื่องจูงใจให้ติดให้ยินดีของโลก เป็นเครื่องชักจูงให้บังเกิดขึ้น

ล่อให้บังเกิดขึ้น ก็เป็นสุขเวทนาที่มีอามิส หรือเป็นโสมนัสเวทนาที่อาศัยเรือน

 

แต่เมื่อไปนึกตรึกตรองถึงเรื่องทั้งหลายดังกล่าวนั้น

อันเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัสคือความเสียใจความทุกข์ใจ

ก็ได้แก่คิดนึกตรึกตรองถึงเรื่องเหล่านั้นที่ไม่ได้ตามที่อยากจะได้อยู่ในปัจจุบัน

หรือที่เคยไม่ได้มาแล้วในอดีต ก็เกิดโทมนัสขึ้น นี้ก็คือเป็นโทมนัสเวทนา

หรือทุกขเวทนา ที่เป็นสามิส มีอามิสเป็นเครื่องล่อ

หรือเป็นเคหะสิตะ โทมนัสที่อาศัยเรือน

 

และเมื่อนึกคิดตรึกตรองถึงเรื่องทั้งหลายดังกล่าวมานั้น

แต่ว่าไม่พอที่จะให้เกิดสุขหรือทุกข์ โทมนัสหรือโสมนัส

ก็เกิดความรู้สึกเฉยๆเป็นอุเบกขา เหมือนอย่างอุเบกขาคือเฉยๆของสามัญชนทั่วไป

ที่เมื่อคิดนึกตรึกตรองถึงเรื่องอะไรๆที่เป็นเรื่องไม่พอที่จะให้เกิดสุขหรือทุกข์

โสมนัสหรือโทมนัสก็เฉยๆ เรื่อยๆ เป็นไปเองโดยปรกติธรรมดาของสามัญชน ดั่งนี้

ก็เป็นอทุกขมสุขเวทนาที่มีอามิสเป็นเครื่องล่อ คือให้เกิดเป็นอุเบกขาขึ้น

หรือเป็นอุเบกขาที่เป็นเคหะสิตะ คืออาศัยเรือน

 

เนกขัมมะสิตะ การออกจากเรือน

 

ส่วนเมื่อระลึกตรึกตรองถึงเรื่องดังที่กล่าวมานั้น

และก็ได้พิจารณเห็นว่าสิ่งเหล่านั้น ที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันก็ดี หรือที่ล่วงไปแล้วก็ดี

ล้วนเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา

เมื่อพิจารณาเห็นได้ดั่งนี้ เกิดโสมนัสขึ้น เกิดสุขขึ้น ก็เรียกว่าเป็นสุขที่เป็นนิรามิส

ไม่มีอามิสเป็นเครื่องล่อ หรือว่าเป็นโสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะคือการออกจากเรือน

 

แต่ว่าเมื่อพิจารณาเห็นดังกล่าวนั้นแล้วก็เกิดคิดขึ้นว่า

เมื่อไรหนอเราจึงจักพ้นจากความทุกข์ เพราะเรื่องทั้งหลายดังกล่าวนั้นได้

เหมือนอย่างพระอริยะทั้งหลาย ที่ท่านมีจิตใจพ้นแล้วจากทุกข์

มาดูตัวเองว่ายังต้องเป็นทุกข์อยู่ ต้องเดือดร้อนอยู่ ไม่เป็นสุขเหมือนท่าน

อยากจะเป็นสุขเหมือนอย่างท่าน แต่ก็ยังไม่ได้ ก็เกิดโทมนัสใจขึ้นมา ทุกข์ใจขึ้นมา

ดั่งนี้ก็เป็นทุกข์ที่เป็นนิรามิส หรือโทมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ คือการออกจากเรือน

 

แต่ว่าเมื่อพิจารณาเห็นดั่งนั้น คือเห็นว่าสิ่งทั้งหลาย

แม้ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ ซึ่งกำลังประสบอยู่ หรือว่าที่เคยประสบมาแล้ว

ล้วนเป็นอนิจจะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องมีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา

จิตใจก็วางเฉยไม่สุขไม่ทุกข์ ดั่งนี้ก็เป็นอุเบกขา อุเบกขาที่เป็นนิรามิส

หรือว่าที่เป็นเนกขัมมะสิตะ อาศัยเนกขัมมะคือการออกจากเรือน

 

จะเป็นไปดั่งนี้ได้ก็ต้องอาศัยน้อมใจนี้เองเข้ามาสู่เวทนา

ประกอบด้วยสติความระลึกกำหนด และญาณหรือปัญญาที่พิจารณาหยั่งรู้ ควบคู่กันไป

คือน้อมใจเข้ามาสู่ธรรมะ หรือว่าน้อมธรรมะเข้าสู่ใจ ในเรื่องของเวทนา

 

เครื่องละเวทนาอย่างหยาบ

 

และนอกจากนี้ยังได้ตรัสสอนถึงวิธีน้อมใจเข้าสู่สติปัญญากำหนดรู้เวทนา

เป็นปฏิบัติธรรมสำหรับที่จะใช้เวทนาอย่างละเอียดเป็นเครื่องละเวทนาอย่างหยาบไปโดยลำดับ

กล่าวคือ เมื่อประสบโสมนัสเวทนาที่อาศัยเรือน หรือสุขเวทนาที่มีอามิส

คือว่าเมื่อได้ประสบรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง

และเรื่องราวที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจอยู่ในปัจจุบัน หรือเคยได้ประสบมาแล้ว

และก็คิดนึกตรึกตรองถึงอยู่ ก็ได้โสมนัสได้สุขขึ้น ดั่งนี้ก็เป็นโลกามิสสุข

หรือสามิสสุข เป็นเคหะสิตะโสมนัส ความสุขใจยินดีพอใจที่อาศัยเรือน

อันเป็นธรรดาโลกที่เป็นไปอยู่

 

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ตรัสสอนให้มาปรารภพิจารณาสิ่งเหล่านั้นที่ทำให้เกิดสุขโสมนัสเหล่านั้น

ว่าทั้งหมดนั้นล้วนเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

ให้เห็นสัจจะคือความจริงในสิ่งเหล่านั้นว่าจะต้องเป็นเช่นนั้น ดั่งนี้ ก็จะเกิดสุขโสมนัสเวทนาขึ้น

เพราะเหตุที่มองเห็นสัจจะคือความจริงของสิ่งเหล่านั้น ว่าเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยงดังกล่าว

เมื่อเป็นดังนี้ก็ชื่อว่าได้มาปฏิบัติทำให้เกิดสุขโสมนัสที่เป็นนิรามิส ไม่มีอามิสเป็นเครื่องล่อ

หรือที่เป็นเนกขัมมะสิตะ อาศัยเนกขัมมะคือการออกจากการติดใจยินดี ออกจากเรือน

มาเป็นเครื่องละสุขโสมนัสที่เป็นสามิส ที่เป็นโลกามิส

ที่เป็นเคหะสิตะอาศัยเรือน ดังที่กล่าวมา

 

อนึ่ง เมื่อต้องประสบกับทุกข์โทมนัสที่เป็นสามิสหรือโลกามิส หรือที่เป็นเคหะสิตะอาศัยเรือน

คือไม่ได้ประสบกับรูปเสียงเป็นต้น ที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ ทั้งเคยไม่ได้มาแล้ว

คิดนึกตรึกตรองถึงก็เกิดทุกข์โทมนัสขึ้น

ก็เรียกว่าเป็นโลกามิส หรือสามิส หรือเรียกว่าเป็นทุกข์โทมนัสที่อาศัยเรือน

เมื่อเป็นดั่งนี้พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนให้พิจารณาสิ่งเหล่านั้น

ว่าบรรดารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง ธรรมะคือเรื่องราวทั้งหลาย

แม้เป็นสิ่งที่ไม่ได้มาในปัจจุบัน หรือไม่เคยได้มาแล้วในอดีตก็ตาม หรือแม้ที่ได้ก็ตาม

ทั้งหมดนั้นก็ล้วนเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

( เริ่ม ๑๐๙/๑ ) ท่านผู้ที่เห็นได้อย่างนี้เป็นผู้มีดวงตาเห็นธรรม

ย่อมเป็นผู้พ้นจากทุกข์โทมนัสทั้งหลาย ในเพราะเรื่องเหล่านี้

 

เพราะฉะนั้น ควรจะต้องมาคำนึงถึงตัวเองว่าทำไฉน เราจึงจะได้ความสุขโสมนัส

ได้ความพ้นทุกข์ เหมือนอย่างที่พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านได้

ถ้าหากว่าได้ความพ้นทุกข์เหมือนอย่างท่าน ก็จะไม่ต้องมาเป็นทุกข์โทมนัส

อันเกี่ยวกับโลกามิสทั้งหลาย เกี่ยวแก่สิ่งที่อาศัยเรือนอันหมายถึงกามทั้งหลายในโลก

ให้บังเกิดทุกข์โทมนัส เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะทำตัวให้พ้นทุกข์เหมือนอย่างพระอริยะได้

ขึ้นแทนดั่งนี้ ก็จะทำให้เกิดทุกข์โทมนัสที่เป็นนิรามิส ที่อาศัยเนกขัมมะคือการออก

เป็นเหตุให้ดับทุกข์โทมนัสที่เป็นโลกามิส หรือที่เป็นสามิส หรือที่อาศัยเรือนได้

 

อนึ่ง ก็ได้ตรัสสอนไว้อีกว่า แม้ได้อุเบกขาอย่างสามัญชนทั่วไป

เมื่อประสบกับเรื่อง เมื่อนึกคิดตรึกตรองถึงเรื่องเหล่านั้น ที่กำลังประสบอยู่

หรือที่เคยประสบมาแล้วก็ตาม อันเป็นกลางๆ ไม่พอจะให้เกิดทุกข์ ไม่พอที่จะให้เกิดสุข

ไม่พอที่จะให้เกิดโสมนัส ไม่พอที่จะให้เกิดโทมนัส เหมือนอย่างสามัญชนทั่วไป

เป็นความรู้สึกเฉยๆ เรื่อยๆ ผ่านไปๆ อันเป็นอุเบกขาชนิดที่เรียกว่าไม่ประกอบด้วยความรู้

เรียกว่าเป็นสามิสหรือเป็นโลกามิส หรือเรียกว่าเป็นเคหะสิตะอาศัยบ้านเรือน

ซึ่งมีอยู่เป็นอันมากที่ทุกคนประสบอยู่ ก็ให้จับมาพิจารณาว่าแม้เรื่องทั้งหลายเหล่านั้น

คือเรื่องรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง และเรื่องราวทางใจ ที่กำลังประสบอยู่

หรือที่ประสบมาแล้วก็ตาม อันทำจิตใจให้เป็นอุเบกขา เพราะไม่พอที่จะให้สุขโสมนัส

หรือทุกข์โทมนัส อย่างที่กำลังประสบกันอยู่โดยมากนั้น

แม้สิ่งเหล่านั้นก็เป็นอนิจจะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

ก็จะทำใจให้เป็นอุเบกขาเหมือนกัน คือวางใจเป็นกลาง

 

แต่ว่าเป็นอุเบกขาอันประกอบด้วยความรู้

ความรู้ที่พิจารณาให้รู้จักสิ่งเหล่านั้นว่าต้องเป็นเช่นนั้น

ดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าเป็นการปฏิบัติทำให้เกิดอุเบกขาที่เป็นนิรามิส หรือที่อาศัยเนกขัมมะขึ้นได้

ก็เป็นเครื่องละอุเบกขาที่เป็นโลกามิส หรือสามิส หรือที่อาศัยเรือน

อันประกอบด้วยโมหะคือความหลงไม่รู้นั้นได้

 

และแม้สุขโสมนัสหรือว่าทุกข์โทมนัสที่อาศัยเนกขัมมะคือการออก

หรือที่เป็นนิรามิสนั้นเล่า ก็ตรัสสอนให้ปฏิบัติพิจารณา

เพื่อให้บังเกิดเป็นสุขโสมนัสที่เป็นนิรามิส หรือที่อาศัยเนกขัมมะขึ้น

โดยไม่นึกมุ่งหมายเทียบเคียงตนเองกับพระอริยะ ไม่อาศัยตัณหากระหยิ่มใจอยากจะได้

อยากจะถึงความพ้นทุกข์อย่างพระอริยะในปัจจุบันทันที

พิจารณาเพียงให้รู้จักสัจจะคือความจริงของสิ่งทั้งปวงนั้น

ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

แต่ว่าไม่กระหยิ่มอยากจะได้สุขเหมือนอย่างที่พระอริยะท่านได้

เพียงให้รู้จักสัจจะคือความจริงของสิ่งทั้งหลายดังกล่าว ก็จะเกิดสุขโสมนัสที่เป็นนิรามิส

หรือที่เป็นอาศัยเนกขัมมะการออกจากเรือน คือออกจากกาม

ก็เป็นอันละทุกข์โทมนัสที่อาศัยเนกขัมมะได้

 

และแม้เป็นสุขโสมนัสที่อาศัยเนกขัมมะ หรือที่เป็นนิรามิส

ก็ยังทำใจให้ฟุ้งซ่านได้ กลายเป็นโลกามิส หรือสามิสไปได้

เพราะฉะนั้น ในทางปฏิบัติให้ละเอียดขึ้นไปอีก ก็ตรัสสอนให้พิจารณา

ให้ซึ้งลงไปในสัจจะคือความจริงของสิ่งทั้งหลายที่ประสบอยู่ หรือกำลังประสบแล้ว

ว่าล้วนเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

ให้ซึ้งลงไปในความรู้สัจจะนี้ ก็จะได้อุเบกขาคือความวางใจเป็นกลางเฉยๆ

คือวางเฉยได้โดยไม่เกิดสุขโสมนัส ก็เป็นอันว่าดับสุขโสมนัสได้

แม้เป็นสุขโสมนัสที่เป็นนิรามิส หรือที่อาศัยเนกขัมมะก็ดับได้

มาทำใจให้เป็นอุเบกขาซึ่งเป็นลักษณะที่ละเอียดกว่า ประณีตกว่า

 

อุเบกขา ๒ อย่าง

 

อนึ่งยังได้ตรัสสอนต่อขึ้นไปถึงว่าแม้อุเบกขานั้นก็มี ๒ อย่าง

คืออุเบกขาที่เป็น นานาภาวะ มีภาวะต่างๆ กับอุเบกขาที่เป็น เอกะภาวะ หรือเอกภาพ

อุเบกขาที่เป็นนานาภาวะมีภาวะต่างๆนั้น ก็คืออุเบกขาในรูปบ้าง ในเสียงบ้าง

ในกลิ่นบ้าง ในรสบ้าง ในโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้องบ้าง

ในธรรมะคือเรื่องราวที่คิดหรือที่รู้ทางใจบ้าง อันเรียกว่า ชลังคุเบกขา

อุเบกขาอันประกอบด้วยองค์ ๖ ดั่งนี้เป็นอุเบกขาที่เรียกว่านานาภาวะมีภาวะต่างๆ

แต่ก็เป็นนิรามิสด้วยกัน เป็นเนกขัมมะสิตะอาศัยเนกขัมมะด้วยกัน คือเป็นส่วนดีด้วยกัน

ส่วนที่เป็นเอกะภาวะหรือเอกภาพนั้นก็ได้แก่อุเบกขาในฌาน และที่ตรัสชี้ไว้ก็คือในอรูปฌาน

อันเป็นสมาธิอย่างสูง จึงจะเป็นอุเบกขาที่เป็นเอกะภาวะ หรือเป็นเอกภาพ

เพราะฉะนั้น เมื่อจะปฏิบัติให้สูงขึ้นยิ่ง ให้สูงยิ่งขึ้น ก็ต้องปฏิบัติให้ได้อุเบกขาที่เป็นเอกะภาวะ

หรือเอกภาพ เป็นเครื่องละอุเบกขาที่เป็นนานาภาวะ มีภาวะต่างๆ

 

และยังได้ตรัสสอนยิ่งขึ้นไปกว่านี้

ว่าแม้เป็นอุเบกขาที่เป็นเอกะภาวะหรือเอกภาพในฌาน ก็ยังไม่เสร็จสิ้น

จะต้องละตัณหาเป็นเครื่องยึดถือว่าเป็นของเราเป็นตัวเรา

เพราะฉะนั้น ขั้นปฏิบัติสูงสุดก็คือปฏิบัติเพื่อละตัณหา เป็นเครื่องยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา

โดยไม่ยึดอุเบกขาแม้ที่เป็นเอกภาพนั้น ต้องปล่อยวางสมาธิที่ให้ได้อุเบกขา

อุเบกขาที่เป็นเอกภาพนั้น ไม่ยึดถือว่าเป็นของเราเป็นตัวเรา

เป็นการปฏิบัติละตัณหาเสียให้ได้นั่นแหละ จึงจะเป็นที่สุด

ดั่งนี้เป็นอันได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติ ให้เกิดเวทนาที่ละเอียด ละเวทนาที่หยาบ

หรือว่าปฏิบัติละเวทนาที่หยาบด้วยอาศัยเวทนาที่ละเอียดขึ้นไปโดยลำดับ

ก็นับเนื่องเข้าในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานได้

ซึ่งการปฏิบัติดั่งนี้ก็ต้องอาศัยโอปนยิโกน้อมใจเข้าสู่ธรรมะ หรือน้อมธรรมะเข้ามาสู่ใจ

อาศัยสติความระลึกกำหนด ญาณปัญญาความหยั่งรู้ในเวทนา

และในการปฏิบัติอาศัยเวทนาละเวทนาขึ้นไปโดยลำดับ

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 *

พระธรรมคุณ ๑๒ โอปนยิโก

การปฏิบัติที่ถูกตรงต่อพระธรรมคุณบทนี้

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

เวทนาเป็นปัจจัยแห่งกิเลสตัณหา ๓

ภูมิพื้นแห่งจิตใจเป็นไปตามกรรมกิเลส ๓

มนุสเนริยโก มนุสเปโต มนุสเดรัจฉาโน ๔

มนุสมนุสโส มนุสเทโว มนุสอริโย ๕

ข้อที่ตรัสสอนท่านพระโมคคัลลานะ ๕

ข้อที่ตรัสสอนท่านพระสารีบุตร ๖

ข้อที่ตรัสสอนเรื่องกายเวทนา ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๐๙/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๐๙/๒ ( File Tape 84 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

โอปนยิโก

การปฏิบัติที่ถูกตรงต่อพระธรรมคุณบทนี้

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ธรรมะนั้นที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และทรงแสดงสั่งสอน

เป็น สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

สันทิฏฐิโก เป็นธรรมะอันผู้ปฏิบัติได้บรรลุพึงเห็นเอง

อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู

โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา ซึ่งได้แสดงมาโดยลำดับ

จนถึงควรน้อมเข้ามาด้วยสติระลึกกำหนด ญาณปรีชาหยั่งรู้ในเวทนา

คือความเสวยอารมณ์เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง

 

และเวทนานี้เป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสยกขึ้น

เพื่อปฏิบัติกำหนดเวทนา เพื่อหน่ายไม่ยึดถือในเวทนา

ว่าเป็นทางปฏิบัติดับตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก

เมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นได้ว่าเวทนาเป็นเรื่องสำคัญของทุกๆคน

ซึ่งนำให้เกิดตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก

ทั้งในปฏิจจสมุปบาทธรรมะที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นก็ได้ตรัสไว้ว่า เวทนา ปัจจยา ตัณหา

เพราะเวทนาเป็นปัจจัยเกิดตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ดั่งนี้

 

เวทนาเป็นปัจจัยแห่งกิเลสตัณหา

 

อันกิเลสคือตัณหาที่ตรัสว่ามีเวทนาเป็นปัจจัยโดยตรงก็ดี

หรือกิเลสกองราคะความติดใจยินดี หรือโลภะความโลภอยากได้

กองโทสะความโกรธแค้นขัดเคือง กองโมหะความหลง ก็ดี

ที่บังเกิดขึ้นในจิตใจของบุคคล ย่อมเนื่องมาจากเวทนา

โดยปรกติคือเมื่อได้สุขโสมนัสเวทนา ในอารมณ์อันใด ในสิ่งอันใด

ก็นำให้เกิดราคะหรือโลภะในอารมณ์นั้นในสิ่งนั้น

เมื่อได้ทุกขโทมนัสในอารมณ์อันใดหรือในสิ่งอันใด ก็นำให้เกิดโทสะในอารมณ์นั้นในสิ่งนั้น

เมื่อได้อุเบกขาเวทนาในอารมณ์อันใดในสิ่งอันใด และมิได้พิจารณา

ก็นำให้เกิดโมหะคือความหลง หรือว่าความไม่รู้ตามเป็นจริง ในอารมณ์นั้นในสิ่งนั้น ดั่งนี้

และเพราะกิเลสที่บังเกิดขึ้นนี้เอง จึงก่อเจตนาคือความจงใจประกอบกรรมต่างๆ

ที่เป็นบาปอกุศลทุจริตต่างๆ อย่างร้ายแรงบ้าง อย่างกลางๆบ้าง หรืออย่างเบาบ้าง

สุดแต่กำลังอำนาจของกิเลสที่บังเกิดขึ้นนั้น

 

ภูมิพื้นแห่งจิตใจเป็นไปตามกรรมกิเลส

 

เมื่อบังเกิดกิเลสก่อบาปอกุศลกรรมต่างๆขึ้นดั่งนี้

จึงทำให้ภูมิพื้นแห่งจิตใจของบุคคลแต่ละคนนั้น เป็นไปตามกิเลสและกรรม

เป็นวิบากคือผลซึ่งบังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้เอง

คือในขณะที่ยังเป็นบุรุษชายหญิงอยู่ในโลกนี้นี่แหละ

ร่างกายนั้นก็เป็นคนเป็นมนุษย์ แต่ว่าภูมิพื้นทางจิตใจนั้นไม่เป็นคนไม่เป็นมนุษย์ก็ได้

ในเมื่อปฏิบัติประกอบอกุศลกรรมต่างๆไปตามอำนาจของกิเลส

 

มนุสเนริยโก มนุสเปโต มนุสเดรัจฉาโน

 

เพราะฉะนั้นจึงมีคำเรียกกันว่า มนุสเนริยโก มนุษย์นรก

คือร่างกายเป็นคน แต่ว่าภูมิพื้นทางจิตใจนั้นเป็นนรก

เพราะประกอบกรรมที่เป็นบาปอกุศลอย่างแรง ด้วยอำนาจของกิเลสตัณหาอย่างแรง

เรียกว่า มนุสเปโต มนุษย์เปรตบ้าง ก็เพราะกิเลสและกรรมที่ประกอบกระทำ

ที่เปลี่ยนภูมิพื้นของจิตใจให้เป็นเปรต มีความหิวระหายอยู่เสมอ

หรือดังที่เรียกว่า มนุสเดรัจฉาโน มนุษย์เดรัจฉาน ก็เพราะกิเลสและกรรมที่ประกอบกระทำ

โดยปราศจากหิริโอตตัปปะ เหมือนอย่างสัตว์เดรัจฉาน

 

ถ้าหากว่าบุคคลเป็นผู้ปฏิบัติธรรมเพราะได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

รู้จักมีสติกำหนดรู้ ญาณความหยั่งรู้ในเวทนาอยู่ ดั่งที่ตรัสสอนไว้

ว่าให้พิจารณาว่าเวทนาเป็นอนิจจะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป

เมื่อได้สุขโสมนัสก็มีสติกำหนดให้รู้จักดั่งนี้ เวทนาดังกล่าวก็จะไม่นำให้เกิดราคะโลภะ

ในอารมณ์หรือในสิ่งอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขโสมนัสนั้น

เมื่อได้ทุกข์โทมนัสก็มีสติมีญาณกำหนดรู้หยั่งรู้ดั่งนั้น ก็จะทำให้ระงับใจได้อีกเช่นเดียวกัน

เวทนาดังกล่าวไม่นำให้เกิดโทสะ

 

( เริ่ม ๑๐๙/๒ ) และเมื่อประสบอุเบกขาเวทนาก็ทำสติ

และญาณกำหนดรู้หยั่งรู้ดั่งกล่าว ไม่ปล่อยให้เป็นไปโดยไม่รู้

ก็จะทำให้ทวีปัญญาคือความหยั่งรู้ ทวีสติคือความระลึกได้ดีขึ้น เป็นเครื่องรักษาจิตใจ

ให้พ้นจากความหลงถือเอาผิด และความไม่รู้ในสิ่งที่ควรจะรู้

มนุสมนุสโส มนุสเทโว มนุสอริโย

 

และเมื่อเป็นดั่งนี้เวทนาจึงไม่นำให้เกิดกิเลสตัณหา อันนำให้ประกอบอกุศลกรรม

ต้องเปลี่ยนภูมิภพของจิตใจ เป็นไปในทางทุคติ คติที่ไม่ดีต่างๆดั่งที่กล่าว

แต่เวทนานี้เองก็จะสนับสนุนใจให้มีพลังในอันที่จะละชั่วทำดี

จึงทำให้เป็นมนุษย์ที่เรียกกันว่า มนุสมนุสโส มนุษย์ที่เป็นมนุษย์

คือที่ตั้งอยู่ในศีลธรรม ซึ่งมนุษย์ควรจะตั้งอยู่

ยิ่งกว่านั้นก็เป็น มนุสเทโว มนุษย์เทวดา คือเป็นผู้มี่ที่มีศีลธรรม มีหิริมีโอตตัปปะ

มีสุกกะธรรม ธรรมะที่ขาวสะอาด ทางกาย ทางวาจา ทางใจ มีความสงบกายวาจาใจยิ่งขึ้น

หรือยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็เป็น มนุสอริโย มนุษย์ผู้เป็นอริยะ ดั่งเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

และพระอริยสาวกทั้งหลายทุกชั้น

 

ข้อที่ตรัสสอนท่านพระโมคคัลลานะ

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้เมื่อทรงสั่งสอนท่านพระอัครสาวกทั้งสอง

คือพระโมคคัลลานะ และพระสารีบุตร เมื่อก่อนที่ท่านจะได้บรรลุถึงอรหัตมรรคอรหัตผล

เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ดังที่มีแสดงไว้ว่าท่านพระโมคคัลลานะได้กราบทูลถามว่า

จะปฏิบัติอย่างไรจึงจะเป็นอันชื่อว่าน้อมไปในธรรม ที่ละตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก

พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสสอนโดยความว่า

 

อริยสาวกเมื่อได้สดับว่า ธรรมทั้งปวงไม่พึงยึดมั่น

ดั่งนี้แล้วก็ใช้ปัญญาพิจารณาให้รู้ชัดธรรมทั้งปวง และเมื่อรู้ชัดธรรมทั้งปวง

ก็กำหนดรู้ธรรมทั้งปวง เมื่อกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงได้ เมื่อได้เสวยเวทนาอะไร

จะเป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขก็ดี ก็ไม่ยึดมั่น

เมื่อไม่ยึดมั่นก็ย่อมคลายความติดใจยินดี เพราะมีความเบื่อหน่าย

หรือเมื่อกล่าวโดยลำดับ เมื่อเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง

เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขก็ตาม

ก็น้อมระลึกถึงคำสั่งสอนที่ได้สดับมาว่าธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น

จึงพิจารณาเวทนาให้เห็นว่าเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ย่อมบังเกิดความหน่าย เมื่อหน่ายก็สิ้นติดใจยินดี ไม่ยึดมั่น

เมื่อไม่ยึดมั่นก็ไม่ต้องสะดุ้ง ดับกิเลสได้เฉพาะตัว ดั่งนี้

ท่านพระโมคคัลลานะก็ได้ปฏิบัติที่ทรงสั่งสอน ก็ได้บรรลุผลสูงสุดในพุทธศาสนา

 

ข้อที่ตรัสสอนท่านพระสารีบุตร

 

แม้ท่านพระสารีบุตรก็เช่นเดียวกัน ได้ฟังธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอน

แก่ ฑีฆะนขะ อคิเวสนะโคตร ในถ้ำสุกรฆาตาบนเขาคิชฌกูฏ

พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนแก่ท่านปริพาชกผู้นั้น ซึ่งมีท่านพระสารีบุตรนั่งเฝ้าอยู่ด้วย

โดยที่ท่านปริพาชกผู้นั้นได้กราบทูลพระพุทธองค์ว่า

ทิฏฐิคือความคิดเห็นทุกอย่างตนไม่ชอบใจทั้งหมด

 

พระพุทธองค์จึงตรัสว่าถ้าเช่นนั้นทิฏฐิคือความคิดเห็นของท่าน

ตามที่ท่านได้กล่าวนั้น ก็ไม่ควรแก่ท่านเช่นเดียวกัน

จึงได้ตรัสสอนต่อไปว่า คนในโลกนี้ก็มีทิฏฐิต่างๆกันอยู่ ๓ จำพวก

คือจำพวก ๑ ก็เห็นว่าทิฏฐิความคิดเห็นทั้งหมดไม่ควรแก่ตน ตนไม่ชอบใจทั้งหมด

จำพวกที่ ๒ ก็เห็นว่าทิฏฐิคือความคิดเห็นทั้งปวงควรแก่ตน ตนชอบใจทั้งหมด

จำพวกที่ ๓ ก็เห็นว่าทิฏฐิคือความคิดเห็นทั้งปวง บางอย่างก็ควรแก่ตน ตนชอบ

บางอย่างก็ไม่ควรแก่ตน ตนไม่ชอบ

 

พระพุทธองค์ก็ตรัสว่าบรรดาทิฏฐิคือความคิดเห็นทั้ง ๓ นี้

จำพวกที่ว่าทิฏฐิคือความคิดเห็นทั้งหมด ไม่ควรแก่ตน ตนไม่ชอบใจทั้งหมด

ก็เป็นไปในข้างโทสะ ความขัดใจไม่ชอบใจ

ฝ่ายที่เห็นว่าควรแก่ตนทั้งหมดชอบใจทั้งหมด ก็เป็นไปในฝ่ายราคะความติดใจยินดี

ฝ่ายที่เห็นว่าควรแก่ตน ชอบใจตนบางอย่าง ไม่ควรแก่ตน ไม่ชอบใจตนบางอย่าง

ก็เป็นไปในด้านราคะความติดใจยินดีบ้าง โทสะความขัดใจไม่ชอบใจบ้าง

 

เพราะฉะนั้น จึงควรละทิฏฐิความคิดเห็นที่เป็นไปดั่งนั้นทั้งหมด

โดยไม่ยึดมั่นในทิฏฐิคือความคิดเห็นอันใดอันหนึ่ง

เพราะว่าเมื่อมีความยึดมั่นอยู่ย่อมเป็นไปเพื่อความวิวาท

เพื่อความพิฆาตหมายมั่น และเพื่อความเบียดเบียน

แต่เมื่อไม่ยึดถือทั้งหมดย่อมเป็นไปเพื่อความสงบ

 

ข้อที่ตรัสสอนเรื่องกายเวทนา

 

และพระพุทธองค์ก็ตรัสสอนอบรมต่อไป เพื่อความไม่ยึดมั่นถือมั่น

ทรงยกกายขึ้นแสดง ว่ากายอันประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ นี้

เป็นกายที่ต้องอบต้องรมให้หายกลิ่น ต้องขัดสีมลทินกายกันอยู่เป็นประจำ เป็นสิ่งที่เกิดดับ

เพราะฉะนั้น จึงควรพิจารณากายนี้ให้เห็นตามเป็นจริง ก็จะไม่ติดใจยินดีในกามทั้งหลาย

 

และเมื่อเสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งก็ให้พิจารณา

คือในขณะที่เสวยสุขเวทนา ก็ย่อมไม่เสวยทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา

ในขณะที่เสวยทุกขเวทนา ก็ย่อมไม่เสวยสุขเวทนา อุเบกขาเวทนา

ในขณะที่เสวยอุเบกขาเวทนา ก็ไม่เสวยสุขเวทนา ไม่เสวยทุกขเวทนา

ย่อมเสวยเวทนาในเวลาหนึ่งแต่เพียงอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สุขก็ทุกข์ ไม่ทุกข์ก็อุเบกขา

และเวทนาที่เสวยนี้ก็บังเกิดขึ้นตามปัจจัย และก็ต้องเสื่อมไปจางไปสลายไป

 

เมื่อพิจารณาให้เห็นเวทนาตามเป็นจริงดั่งนี้ก็จะเบื่อหน่าย

จะคลายความติดใจยินดี จะหลุดพ้นเพราะไม่ยึดมั่น

ท่านพระสารีบุตรได้ฟังธรรมะที่ทรงแสดงแก่ท่านปริพาชกนั้น

ก็เข้าใจในธรรมะที่ทรงแสดง ว่าตรัสสอนมิให้ยึดมั่นอะไรๆในโลก

ก็มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเป็นพระอรหันต์ขีณาสพดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้น เรื่องเวทนาจึงเป็นเรื่องสำคัญ

เมื่อหัดทำสติกำหนดเวทนาที่ประสบอยู่ให้รู้ตามเป็นจริงว่าเป็นอนิจจะไม่เที่ยง

เป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป ก็จะเป็นการกั้นมิให้กิเลสตัณหาบังเกิดขึ้น

เมื่อไม่เกิดกิเลสตัณหาขึ้นก็ไม่เกิดอกุศลกรรมต่างๆ ซึ่งบังเกิดสืบเนื่องไปจากกิเลสตัณหา

 

เพราะฉะนั้นการที่มาตั้งสติกำหนดเวทนาดั่งนี้

จึงชื่อว่าเป็นการปฏิบัติ น้อมไปเพื่อธรรมะที่สิ้นตัณหา ก็คือเป็นโอปนยิโก

น้อมไปเพื่อธรรมะที่สิ้นตัณหา อันเป็นวัตถุที่ประสงค์แห่งการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา

และเป็นการปฏิบัติที่แม้ยังไม่สิ้นตัณหาได้ ก็เป็นการสกัดกั้นมิให้ตัณหาบังเกิดขึ้น

มิให้กิเลสบังเกิดขึ้นอันสืบจากเวทนา หรือว่าบังเกิดขึ้นก็ไม่มาก

ไม่มีกำลังเต็มที่ เป็นอันว่าเป็นการปฏิบัติบันเทากิเลสไปด้วย

ฉะนั้น โอปนยิโกคือปฏิบัติน้อมจิตไปเพื่อสิ้นตัณหานี้

จึงชื่อว่าเป็นการปฏิบัติที่ถูกตรงต่อพระธรรมคุณบทนี้

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats