ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป088

หลักปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗

พรหมวิหารธรรมข้อเมตตา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

องค์ของความรู้พร้อม ๓

หลักปฏิบัติในกรรมฐานทุกข้อ ๔

สติสัมโพชฌงค์ ๔

ธัมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยะสัมโพชฌงค์ ๕

ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ๕

สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ๖

กรรมฐานเริ่มด้วยการตั้งสติ ๖

บทแผ่เมตตาโดยไม่เจาะจง ๗

เมตตาภาวนา ๗

โยนิโสมนสิการ ๘

การปฏิบัติตามหลักโพชฌงค์ ๗ ๙

 

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๑๓/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๑๔/๑ ( File Tape 88 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

หลักปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗

พรหมวิหารธรรมข้อเมตตา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ธรรมะคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น

สวากขาโต ภควตาธัมโม เป็นธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน

ธรรมะทุกบทย่อมประกอบด้วยพระธรรมคุณทั้งหมดนี้

แต่การแสดงได้แสดงมาทีละบท และยกเอาธรรมะเข้ามาประกอบ

เพื่อเน้นในข้อว่าอันผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน ในข้ออื่นก็เช่นเดียวกัน

และได้แสดงมาถึงหมวดโพชฌงค์ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ถัดจากหมวดอายตนะ

ในหมวดธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติกำหนดตามดูตามรู้ตามเห็นธรรมะ

องค์ของความรู้พร้อม

 

อันโพชฌงค์เป็นคำเรียกสั้นๆ

เรียกเต็มว่าสัมโพชฌงค์ที่แปลว่าองค์ของความรู้พร้อม

เป็นธรรมะหมวดสำคัญที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนไว้ในฐานะ ๒ อย่าง

คืออย่างหนึ่งในฐานะที่ต่อเนื่อง โดยมากก็ตรัสแสดงไว้ต่อเนื่องจากสติปัฏฐาน

คือสติปัฏฐาน โพชฌงค์ วิชชาวิมุติ ต่อเนื่องกันไป

อีกฐานะหนึ่งตรัสสอนโพชฌงค์ไว้โดยเอกเทศเป็นหลักปฏิบัติทั้งหมด

ดังเช่นเป็นหลักปฏิบัติในกรรมฐาน แม้ที่เป็นสมถกรรมฐานทุกข้อ

ก็ปฏิบัติตามหลักในโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้

 

ดั่งเช่น เจริญพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็ตรัสว่าตั้งสติ

ก็ตรัสว่าอบรมสติสัมโพชฌงค์ ประกอบด้วยเมตตา

อบรมธัมวิจยสัมโพชฌงค์ ประกอบด้วยเมตตา

อบรมวิริยสัมโพชฌงค์ ประกอบด้วยเมตตา

อบรมปีติสัมโพชฌงค์ ประกอบด้วยเมตตา

อบรมปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ประกอบด้วยเมตตา

อบรมสมาธิสัมโพชฌงค์ ประกอบด้วยเมตตา

อบรมอุเบกขาสัมโพชฌงค์ ประกอบด้วยเมตตา

ข้อกรุณาก็เหมือนกัน มุทิตาก็เหมือนกัน อุเบกขาก็เหมือนกัน

 

แม้ในกรรมฐานหมวดอื่นเช่น อสุภกรรมฐาน ๑๐ แต่ละข้อก็คืออบรมสติสัมโพชฌงค์เป็นต้น ประกอบด้วยกรรมฐานข้อนั้นๆ แต่ละข้อก็ด้วยวิธีที่อบรมโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้

คืออบรมโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ ประกอบด้วยกรรมฐานข้อนั้นๆไปทุกข้อ

 

เพราะฉะนั้นจึงหมายความว่าในการที่จะปฏิบัติทำกรรมฐานทุกข้อ

เช่นทำอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ก็ปฏิบัติด้วยวิธีของโพชฌงค์

คือปฏิบัติสติสัมโพชฌงค์เป็นต้น อันประกอบด้วยลมหายใจเข้าออก

ประกอบด้วยสติกำหนด ลมหายใจเข้าออก

 

หลักปฏิบัติในกรรมฐานทุกข้อ

 

ตามฐานะดังที่กล่าวมานี้โพชฌงค์จึงเป็นหลักปฏิบัติในกรรมฐานทุกข้อ

การปฏิบัติในกรรมฐานทุกข้อก็พึงปฏิบัติตามหลักของโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้

เช่นจะทำอานาปานสติก็ด้วยวิธีที่ทำสติสัมโพชฌงค์

ให้ประกอบด้วยสติกำหนดลมหายใจเข้าออก

ธัมวิจยสัมโพชฌงค์เป็นต้นก็ให้ประกอบด้วยอานาปานสติ

จนถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์ก็ให้ประกอบด้วยอานาปานสติ

คือปฏิบัติอานาปานสติด้วยโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้

เพราะฉะนั้นโพชฌงค์จึงเป็นธรรมะหมวดสำคัญ

ที่จะต้องปฏิบัติทั้งนั้นในการปฏิบัติธรรมะทั้งปวงดังที่กล่าวมา

เพราะฉะนั้นก็ควรทำความเข้าใจไปแต่ละบทก่อน

 

สติสัมโพชฌงค์

 

สติสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือสตินั้น ก็ได้แก่สติความระลึก ความกำหนด

และสติดังกล่าวนี้คือที่เป็นสัมโพชฌงค์ ก็เป็นสติเพื่อรู้

คือเพื่อปัญญาความรู้ทั่วถึง เพื่อญาณความหยั่งรู้

เพื่อสัมโพธะหรือสัมโพธิ ความรู้พร้อม หรือความตรัสรู้พร้อม

 

และสติดังที่กล่าวมานี้ก็จะต้องมีอาหารของสติ

เหมือนอย่างร่างกายต้องมีอาหารสำหรับบำรุงร่างกาย

อาหารของสติสัมโพชฌงค์ก็ตรัสว่าได้แก่ธรรมะซึ่งเป็นที่ตั้งของสติ

และโยนิโสมนสิการ ความทำไว้ในใจโดยแยบคาย ก็คือพิจารณาจับเหตุจับผล

เมื่อมีธรรมะอันเป็นที่ตั้งของสติ และมีโยนิโสมนสิการ

ก็ย่อมปฏิบัติทำสติสัมโพชฌงค์ให้บังเกิดขึ้นได้

 

ธัมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยะสัมโพชฌงค์

 

ธัมวิจยสัมโพชฌงค์ โพชฌงค์คือความเลือกเฟ้นธรรม หรือวิจัยธรรม

ก็เพื่อรู้นั้นเอง และก็ต้องมีอาหารเช่นเดียวกัน

อาหารของข้อนี้ก็คือธรรมะที่เป็นกุศล และเป็นอกุศล ธรรมะที่มีโทษ และไม่มีโทษ

ธรรมะที่เลวและประณีต ธรรมะที่เทียบกับขาวและดำ

กับโยนิโสมนสิการ ความพิจารณาโดยแยบคายคือจับเหตุจับผล

 

วิริยสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือวิริยะความเพียร ก็ต้องมีอาหารเช่นเดียวกัน

อาหารของข้อนี้ก็คือ อารัมภะธาตุ ทำความเพียรให้ทรงตัวขึ้นด้วยอารัมภะคือความริเริ่ม

นิคมะธาตุ ทำความเพียรให้ทรงตัว ด้วยความดำเนินไป

ปรกมะธาตุ ทำความเพียรให้ทรงตัว ด้วยปฏิบัติให้ก้าวหน้าไปจนบรรลุถึงความสำเร็จ

กับโยนิโสมนสิการพิจารณาโดยแยบคายจับเหตุจับผล

 

ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

 

ปีติสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือปีติ ก็ต้องมีอาหารเช่นเดียวกัน

อาหารของข้อนี้ก็คือธรรมะอันเป็นที่ตั้งของปีติ กับโยนิโสมนสิการ

ความพิจารณาโดยแยบคายจับเหตุจับผล

 

ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือปัสสัทธิความสงบ ก็ต้องมีอาหารเช่นเดียวกัน

อาหารของข้อนี้ก็คือ กายปัสสัทธิ ความสงบกาย จิตปัสสัทธิ ความสงบใจ

กับโยนิโสมนสิการ ความพิจารณาโดยแยบคายจับเหตุจับผล

สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์

 

สมาธิสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือสมาธิ ก็ต้องมีอาหารเช่นเดียวกัน

อาหารของข้อนี้คือธรรมะอันเป็นที่ตั้งของสมาธิ ก็ได้แก่สมาธินิมิตที่กำหนดหมายแห่งสมาธิ

อัพยคะนิมิต นิมิตที่มียอดไม่แตกคือมียอดเป็นอันเดียวกัน ที่เรียกว่าเอกัคคตา

คือความที่จิตมียอดเป็นอันเดียว อันหมายความว่ามีอารมณ์เป็นอันเดียว

กับโยนิโสมนสิการพิจารณาโดยแยบคายจับเหตุจับผล

 

อุเบกขาสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คืออุเบกขา ก็ได้แก่ธรรมะอันเป็นที่ตั้งของอุเบกขา

กับโยนิโสมนสิการพิจารณาโดยแยบคายจับเหตุจับผล ดั่งนี้

 

กรรมฐานเริ่มด้วยการตั้งสติ

 

ในข้อแรกสัมโพชฌงค์คือสติต้องมีอาหารคือธรรมะที่เป็นที่ตั้งของสติ

ก็หมายความว่าจะตั้งสติคือความกำหนดในธรรมะข้อไหน ทั้งนี้ก็สุดแต่ผู้ปฏิบัติ

ผู้ปฏิบัติจะตั้งสติกำหนดอยู่ในธรรมะคือกรรมฐานเช่นข้ออานาปานสติก็ได้

หรือในพรหมวิหารคือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็ได้

ในกรรมฐานข้ออื่นก็ได้

 

เพราะว่าในการปฏิบัติกรรมฐานข้อนั้นๆ

ก็จะต้องเริ่มด้วยการตั้งสติไว้ทั้งนั้น จะขาดสติไม่ได้ ดั่งเช่นจะเจริญเมตตา

อันเรียกว่าเมตตาภาวนา ก็จะต้องตั้งสติไว้ในธรรมที่เป็นที่ตั้งของเมตตา

คือในการที่เจริญเมตตานั้นก็จะต้องปรารภบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเจาะจง

เช่นปรารภมารดาบิดา ปรารภบุตรหลาน ปรารภผู้ทรงพระคุณต่างๆ

เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชีนี พระโอรสพระธิดา เป็นต้น

หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งซึ่งเป็นผู้ทรงคุณ นี้โดยเจาะจง

บทแผ่เมตตาโดยไม่เจาะจง

 

เมื่อไม่เจาะจงก็ปรารภสัตว์ทั้งหลายทุกถ้วนหน้า

ดังที่ ( เริ่ม ๑๑๔/๑ ) เราตั้งใจกันโดยไม่เจาะจง แผ่เมตตาไปว่า

สัพเพ สัตตา สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง สัพเพภูตา ภูตะคือผู้ที่เป็นขึ้นแล้วทั้งปวง

สัพเพบุคคลา บุคคลทั้งปวง สัพเพ อัตตปริยาปันนา สัตว์ทั้งหลายที่เนื่องด้วยอัตภาพทั้งปวง

นี้เป็นการที่ปรารภโดยไม่เจาะจง และก็ต้องตั้งใจแผ่ที่เป็นตัวเมตตา เป็นไปในบุคคลและสัตว์

ทั้งที่เจาะจงและไม่เจาะจงนั้นว่า อเวราโหนตุ จงเป็นผู้ไม่มีเวรเถิด

อนีฆาโหนตุ จงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนกันเถิด สุขิตาโหนตุ จงเป็นผู้บรรลุถึงความสุขเถิด

สุขี อัตารัง ปริหรันตุ จงเป็นผู้มีสุขรักษาตนเถิด ดั่งนี้

 

เมตตาภาวนา

 

การทำใจดั่งนี้เรียกว่าเป็นการแผ่เมตตา

เพราะฉะนั้นจึงต้องตั้งสติ คือความกำหนดไปในบุคคลโดยเจาะจง

หรือในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า แล้วก็ตั้งสติ ทำเมตตา

ให้เป็นไปในบุคคลและสัตว์เหล่านั้น ว่าจงเป็นผู้ไม่มีเวรเถิด ดั่งนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น บุคคลและสัตว์ทั้งปวง กับภาวะของจิตที่แผ่เมตตาออกไปดังกล่าว

จึงชื่อว่าเป็นธรรมะอันเป็นที่ตั้งของสติ จะต้องมีสติกำหนดตั้งไปดังที่กล่าว

และก็เป็นการเจริญเมตตาภาวนา เป็นการเจริญเมตตา

ซึ่งเมตตาภาวนาจะบังเกิดขึ้นได้ ก็ต้องอาศัยสติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งความรู้คือสติ

ดั่งนี้ จึงจะเป็นเมตตาภาวนาขึ้นมา

 

และก็จะต้องมีโยนิโสมนสิการ คือจะต้องมีปัญญาที่เป็นตัวความรู้ประกอบไปด้วย

คือต้องจับเหตุจับผล ต้องรู้เหตุรู้ผลว่าในการทำสตินี้จะต้องมีการตั้งสติ

คือตั้งใจนี้เองกำหนด กำหนดพิจารณาในอะไรก็ต้องรู้ว่า

เมื่อจะทำเมตตาภาวนาก็ต้องตั้งกำหนดไปในสัตว์ทั้งหลาย ในบุคคลทั้งหลาย

กำหนดว่าอย่างไร ก็คือกำหนดว่า จงเป็นผู้ที่ไม่มีเวร มีสุข

และก็ต้องรู้ว่าในการที่ตั้งสติกำหนดนี้จิตเป็นอย่างไร จิตกำหนดอยู่ไหม หรือไม่อยู่

และกิเลสอะไรดับไปบ้าง เช่นโทสะพยาบาท ดับไปไหมในเมื่อตั้งสติกำหนดจิตดั่งนี้ในเมตตา ถ้ายังมีโทสะพยาบาทบังเกิดขึ้นอยู่ในจิต ก็แปลว่ายังเป็นเมตตาไม่ได้

ต่อเมื่อโทสะพยาบาทต่างๆ ความกระทบกระทั่งใจต่างๆ

ความหงุดหงิดต่างๆ สงบ หายไปนั่นแหละ

และก็จิตมีความมุ่งดีปรารถนาดีแต่เพียงอย่างเดียว จึงจะเป็นเมตตาที่บริสุทธิ์

 

โยนิโสมนสิการ

 

ซึ่งเมตตาที่บริสุทธิ์นี้ นอกจากจะสงบโทสะพยาบาทแล้ว

ยังต้องสงบสิเนหาคือความรักความผูกพันในทางกามด้วย

ถ้าเป็นความรักเป็นความผูกพันในทางกาม ก็เรียกว่าเป็นสิเนหา เป็นราคะ เป็นกาม

เพราะฉะนั้นทั้งโทสะพยาบาทก็เป็นศัตรู เป็นอันตรายของเมตตา

แม้สิเนหาราคะหรือกามก็เป็นศัตรู เป็นอันตรายของเมตตา

เพราะฉะนั้นจะต้องมีโยนิโสมนสิการ คือตัวรู้ รู้ความเป็นไปของสติ

ของจิต ของผล ที่เป็นตัวกิเลส หรือที่สงบกิเลสไปด้วยกัน

 

และก็ต้องรู้วิธีที่จะสงบ

ถ้าเป็นกิเลสบังเกิดแทรกแซงขึ้นมา ต้องรู้วิธีที่จะเจริญสติให้ตั้งมั่นขึ้น

ดั่งนี้เป็นโยนิโสมนสิการทั้งนั้น คือต้องมีตัวรู้กำกับอยู่ด้วยตลอดเวลา

และรู้นี้ก็ต้องหมายถึงว่ารู้ความเป็นไปของจิต ของสติ และก็ต้องรู้วิธีที่จะแก้ไข

ให้เป็นสติที่บริสุทธิ์ และเมื่อมีสติบริสุทธิ์ก็ทำให้เมตตาที่บังเกิดขึ้นเป็นเมตตาที่บริสุทธิ์

คือเป็นความรักความปรารถนาดี ที่ปราศจากทั้งโทสะพยาบาท

ปราศจากทั้งสิเนหาราคะ ทั้งสองอย่าง

การปฏิบัติตามหลักโพชฌงค์ ๗

 

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติเจริญเมตตาก็ต้องอาศัยสติสัมโพชฌงค์ดั่งนี้

และเมื่อมีสติสัมโพชฌงค์ดั่งนี้เป็นไปได้ ก็เป็นอันว่าเป็นวิสัยของปัญญาที่จะเจริญยิ่งขึ้น

คือเลื่อนขึ้นเป็นธัมวิจยสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือธัมวิจยะความเลือกเฟ้นธรรม

ก็เลือกเฟ้นธรรมในใจนี้เอง ในการเจริญเมตตานั่นแหละ รู้ว่าเมตตาเป็นกุศลธรรม

เมตตาในใจ ไม่ใช่เมตตาที่ไหน เป็นกุศลธรรม

 

ส่วนโทสะพยาบาท หรือราคะสิเนหา เป็นอกุศลธรรม

ฝ่ายราคะสิเนหามีโทษ แต่ว่าฝ่ายเมตตาไม่มีโทษ

ฝ่ายราคะสิเนหาเป็นของเลว ของต่ำ ของทราม แต่ฝ่ายเมตตาเป็นของประณีต

ฝ่ายราคะสิเนหาเท่ากับเป็นสีดำ ส่วนฝ่ายเมตตาเท่ากับเป็นสีขาว

คือรู้จักธรรมะในจิตใจของตนนี้เองที่ผุดขึ้นทันที

เมื่อเมตตาผุดขึ้นก็รู้ว่านี่เป็นกุศล ไม่มีโทษ ประณีต ขาว

เมื่อโทสะพยาบาทหรือราคะสิเนหาบังเกิดขึ้นก็ให้รู้ว่านี่เป็นอกุศล มีโทษ เลว และดำ

คืออะไรผุดขึ้นในใจในการเจริญเมตตานี้ก็รู้ทันที ดั่งนี้เรียกว่าธรรมวิจัย

 

เพราะฉะนั้นในการที่ปฏิบัติเจริญเมตตาก็ต้องมีธรรมวิจัยดั่งนี้ประกอบกันไปด้วย

และก็จะต้องมีธรรมะอันเป็นที่ตั้งของธรรมวิจัย ก็คือที่ให้รู้ว่าธรรมะที่บังเกิดผุดขึ้นในใจนี้

อะไรเป็นกุศล อะไรไม่เป็นกุศลเป็นต้นดังที่กล่าว

และก็จะต้องมีโยนิโสมนสิการ ตัวปัญญาตัวรู้ที่กำกับไปด้วยดังเช่นที่กล่าวแล้วในข้อสติ

และเมื่อวิจัยธรรมได้ถูกต้องดั่งนี้แล้วก็เลื่อนขึ้นไปเป็นวิริยสัมโพชฌงค์

สัมโพชฌงค์คือวิริยะความเพียร คือว่าเพียรละฝ่ายอกุศล เพียรอบรมแต่ฝ่ายกุศลให้บังเกิดขึ้น

คือว่าเพียรละฝ่ายที่เป็นโทสะพยาบาท หรือที่เป็นราคะสิเนหา

แต่เพียรทำฝ่ายที่เป็นเมตตานี้ให้บังเกิดขึ้นและให้ตั้งอยู่ ดั่งนี้เป็นวิริยะคือความเพียร

ซึ่งจะต้องมีความทรงตัวขึ้นได้ของความเพียร อันได้แก่ริเริ่ม

เพราะว่าจะตั้งความเพียรขึ้นได้ ก็ตั้งต้นด้วยความริเริ่ม

เมื่อริเริ่ม เช่นริเริ่มละฝ่ายที่เป็นอกุศล ริเริ่มทำฝ่ายที่เป็นกุศล

ก็เป็นอันว่าได้เริ่มตั้งความเพียรขึ้น เป็นความทรงตัวขึ้นได้ของความเพียร

ที่ใช้คำว่าธาตุ หรือ ธาตุ ซึ่งแปลว่าความทรงอยู่ คือความทรงตัวขึ้นได้ของความเพียร

และเมื่อริเริ่มขึ้น ทำให้เป็นความทรงตัวขึ้นได้ของความเพียรทีแรกแล้ว

ก็ต้องดำเนินเพียรต่อไป เพียรละต่อไป เพียรอบรมต่อไปให้ความเพียรตั้งอยู่ได้

 

และก็ต้องมีการปฏิบัติให้ก้าวหน้าต่อไปจนกว่าจะสำเร็จ

ไม่ล้มเลิกเสียในระหว่างๆ ให้ความเพียรตั้งอยู่ตลอดไป ดังเช่นว่าเมื่อมีโทสะพยาบาท

หรือราคะสิเนหาบังเกิดขึ้นในระหว่างที่เจริญเมตตา ก็ต้องเริ่มตั้งความเพียรที่จะละ

ดำเนินการละต่อไปจนถึงละได้ คือทำให้สงบโทสะพยาบาท หรือราคะสิเนหาที่บังเกิดขึ้นนั้นได้

และก็ตั้งความเพียรทำเมตตานี้ให้บังเกิดขึ้นในจิต ให้เป็นเมตตาที่บริสุทธิ์

ดำเนินเพียรต่อไปเพื่อให้เมตตาเจริญขึ้น ตั้งอยู่เจริญขึ้น และให้ก้าวหน้าต่อไป

จนถึงเมตตานั้น สำเร็จเป็นเมตตาภาวนาอย่างเต็มที่ เป็นเมตตาบริสุทธิ์ที่ผุดขึ้นในใจ

ปราศจากโทสะพยาบาทหรือราคะสิเนหาสิ้นเชิง เป็นเมตตาที่บริสุทธิ์ ดั่งนี้

ดั่งนี้ก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์ในเมตตา

 

และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้วก็จะเลื่อนขึ้นเป็นปีติสัมโพชฌงค์

สัมโพชฌงค์คือปีติ คือความอิ่มใจ ความดูดดื่มใจ

ก็เพราะว่าจิตนี้เมื่อได้ปฏิบัติขัดเกลาให้บริสุทธิ์สะอาดจากเครื่องเศร้าหมองจิต

เมื่อเจริญเมตตา เมตตาก็เป็นเครื่องขัดเกลาจิตให้บริสุทธิ์จากโทสะพยาบาท จากราคะสิเนหา

ปรากฏเป็นเมตตาที่บริสุทธิ์แจ่มใส จิตใจดั่งนี้ก็เป็นจิตใจที่แจ่มใสสะอาด

จึงบังเกิดปีติความอิ่มใจ ความดูดดื่มใจขึ้นในเมตตาที่บริสุทธิ์นี้ขึ้นเอง

เป็นปีติความอิ่มใจ ก็เป็นปีติสัมโพชฌงค์ในเมตตา

 

และเมื่อเป็นดั่งก็เลื่อนขึ้นอีกเป็นปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คือปัสสัทธิความสงบ

๑๐

คือกายที่ประกอบด้วยเมตตาดังกล่าวก็สงบ จิตก็สงบ และเมื่อกายและจิตสงบดั่งนี้

ก็เป็นกายและจิตที่มีสุข จึงเลื่อนขึ้นเป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ องค์ของสัมโพชฌงค์คือสมาธิ

คือจิตจะสงบตั้งมั่นจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายด้วยเมตตา

จิตที่เป็นสมาธิดั่งนี้ย่อมตั้งอยู่บนพื้นฐานคือความสงบกายสงบใจ ซึ่งเป็นตัวความสุข

จิตที่มีความสงบความสุขเป็นพื้นฐานดั่งนี้ ก็ตั้งมั่นเป็นสมาธิได้

สงบจากกาม สงบจากอกุศลธรรมทั้งหลายด้วยอำนาจของเมตตา

 

เพราะฉะนั้น การทำจิตตภาวนาอบรมกรรมฐานข้อเมตตา

เมื่อได้ถึงขั้นนี้ ก็ได้สมาธิที่สืบเนื่องมาจากเมตตา และเมื่อได้สมาธิดั่งนี้

ก็เลื่อนชั้นขึ้นไปเป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สัมโพชฌงค์คืออุเบกขา

อันได้แก่ความที่จิตนี้เข้าเพ่งเฉยอยู่ในจิตที่เป็นสมาธินั้น

มีลักษณะเป็นจิตที่วางกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นจิตที่เฉยคือไม่วุ่นวาย สงบ

ดังที่เรียกว่าวางเฉย วางเฉยอยู่ในภายใน แต่วางด้วยความรู้

แต่เป็นความรู้ที่สงบอยู่ในภายใน ไม่ยึดถืออะไร ไม่วุ่นวายอะไร

ความที่ไม่ยึดถืออะไร ไม่วุ่นวายอะไร อันเป็นตัวอุเบกขานี้ จะมากหรือน้อยเพียงไร

ก็อยู่ที่ขั้นของการปฏิบัติอันสืบมาจากสมาธิ และสมาธินี่ที่เป็นสมาธิชั้นสูง

ก็ต้องเป็นสมาธิที่ประกอบด้วยอุเบกขา และเมื่อสูงมากก็ปรากฏเป็นอุเบกขาและเอกัคคตา

คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว เป็นอันว่าสมาธิกับอุเบกขานั้นรวมกันเป็นสมาธิอย่างสูงได้

ดังที่แสดงถึงจตุตถฌาน ฌานที่ ๔ ของรูปฌาน ก็แสดงว่ามีองค์ ๒

คือเอกัคคตาความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว และอุเบกขา

ดั่งนี้ก็เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์ในเมตตา

 

เพราะฉะนั้นการทำกรรมฐานเจริญเมตตา

ก็ต้องอาศัยปฏิบัติตามหลักของโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้นั้นเอง

และเมื่อปฏิบัติตามหลักของโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ ก็จะได้สมาธิ ได้อุเบกขา

อันเป็นสมาธิชั้นสูง แต่ก็อาจแยกออกได้เป็น ๒ เป็นสมาธิ เป็นอุเบกขา

๑๑

เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติทำเมตตาภาวนานั้น

ก็ได้ปฏิบัติทำเมตตาภาวนาด้วย ได้ปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗ ด้วย

พระพุทธเจ้าได้ตรัสโพชฌงค์ทั้ง ๗ ไว้ในฐานะที่เป็นหลักปฏิบัติของธรรมะทั้งปวง

ของกรรมฐานทั้งปวง ดังเช่นที่ยกมาเป็นตัวอย่างนี้

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

หลักปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗

พรหมวิหารธรรมข้อกรุณา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

กรุณาตามหลักโพชฌงค์ ๗ ๓

กรุณา โทมนัส ๔

ภัยที่พ่อแม่ลูกช่วยกันไม่ได้ ๕

เมตตากับสิเนหามีที่ตั้งเป็นอันเดียวกัน ๖

การปฏิบัติเริ่มด้วยสติสัมโพชฌงค์ ๗

 

 

 

 

 

 

 

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๑๔/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๑๔/๒ - ๑๑๕/๑ ( File Tape 88 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

หลักปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗

พรหมวิหารธรรมข้อกรุณา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ธรรมะคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น

สวากขาโต ภควตา ธัมโม เป็นธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน

ได้ยกพระธรรมคุณทั้งหมดนี้ เป็นหัวข้อแสดงธรรมกถามาโดยลำดับจนถึงข้อที่ ๖

และก็ได้กล่าวแล้วว่า ธรรมะทุกข้อทั้งหมด ทุกข้อทุกบท

ย่อมประกอบด้วยพระธรรมคุณทั้งหมดนี้ทั้งสิ้น

ฉะนั้น การที่ยกเอาข้อใดข้อหนึ่งขึ้นแสดง สำหรับพระธรรมคุณบทใดบทหนึ่ง

จึงเป็นเพียงยกขึ้นสาธกเท่านั้น

และก็ได้แสดงอิงหลักสติปัฏฐานทั้ง ๔

คือกายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธรรมานุปัสสนา

ตั้งสติกำหนดตามดู กาย เวทนา จิต ธรรม

และในข้อธรรมก็แสดงไปโดยลำดับข้อในสติปัฏฐาน จนถึงโพชฌงค์

และก็ได้แสดงแล้วว่าโพชฌงค์นี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงร่วมกับธรรมะหมวดอื่น

ดังเช่นในโพธิปักขิยธรรม และในมหาสติปัฏฐานสูตรเอง

ถึงตรัสแสดงไว้ในหมวดธรรมานุปัสสนา ก็ทรงแสดงตั้งต้นด้วยข้อที่ว่าด้วยนิวรณ์

ข้อที่ว่าด้วยขันธ์ ๕ ข้อที่ว่าด้วยอายตนะ ๖ และจนถึงโพชฌงค์ ๗

 

อีกอย่างหนึ่งตรัสแสดงโดยเอกเทศคือจำเพาะหมวดโพชฌงค์เท่านั้น

และก็ได้ตรัสไว้ด้วยว่าเป็นหลักปฏิบัติในการเจริญกรรมฐานทุกอย่าง

( เริ่ม ๑๑๔/๒ ) แม้สมถกรรมฐานก็ปฏิบัติเจริญสมถกรรมฐานตามหลักของโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้

และก็ได้แสดงยกมาเป็นนิทัศนะ ตัวอย่างในหมวดพรหมวิหารธรรม

ซึ่งได้แสดงมาแล้วในข้อเมตตา การปฏิบัติเจริญเมตตา หรือทำเมตตาให้บังเกิดขึ้น

ก็ปฏิบัติตามหลักของโพชฌงค์ทั้ง ๗

 

กรุณาตามหลักโพชฌงค์ ๗

 

ในวันนี้จะแสดงต่อในข้อกรุณา ซึ่งปฏิบัติตามหลักโพชฌงค์ ๗ เช่นเดียวกัน

กรุณานั้นพระอาจารย์ได้ให้เป็นคำไทยไว้เช่นว่า ความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์

เป็นข้อปฏิบัติที่ใช้ในเมื่อต้องการอบรมจิตให้มีความสงสาร

ปรารถนาให้ผู้ที่ประสบความทุกข์ พ้นจากความทุกข์ที่ประสบอยู่นั้น

และใช้ในเมื่อประสบผู้ที่ประสบความทุกข์ ก็คิดช่วยให้พ้นทุกข์

และเมื่อช่วยได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ช่วย

 

แต่เมื่อช่วยไม่ได้ก็คิดแผ่จิตออกไป ตั้งปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์

กรุณาดังที่กล่าวมานี้แสดงว่าเป็นเครื่องดับ วิหิงสา คือความคิดเบียดเบียน

การกระทำเบียดเบียนต่างๆ ที่จะให้บุคคลหรือสัตว์ทั้งหลายต้องเป็นทุกข์เดือดร้อน

และอีกอย่างหนึ่งแสดงว่าในการทำคือปฏิบัติอบรมกรุณาให้บังเกิดขึ้นในจิตใจนั้น

ก็อาจจะเกิดโทมนัสคือความเสียใจในเพราะความทุกข์ร้อนของผู้อื่น

ได้คิดถึงความทุกข์ร้อนของผู้อื่น ได้เห็นความทุกข์ร้อนของผู้อื่น

 

กรุณา โทมนัส

 

เพราะว่าการปฏิบัติในกรุณานี้ก็ดี ความโทมนัสเสียใจที่บังเกิดขึ้นก็ดี

ย่อมมีที่ตั้งคล้ายคลึงกัน คือปรารภถึงความทุกข์ร้อนของผู้อื่นเช่นเดียวกัน

เช่นปรารภถึงความที่ผู้อื่นต้องหมดสิ้นจากสิ่งทั้งหลาย ที่ร่วมเข้าเป็น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมะคือเรื่องราวที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ

บางคนได้มาแล้วก็สิ้นไป บางคนก็ไม่สามารถจะได้ จึงทำให้เขาต้องทุกข์ร้อน

เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติอบรมกรุณาให้บังเกิดขึ้น ก็คิดถึงความทุกข์ร้อนของเขาดั่งนี้

โทมนัสที่บังเกิดขึ้นก็ปรารภถึงความทุกข์ร้อนของเขาดั่งนี้

และโดยเฉพาะเมื่อบุคคลซึ่งเป็นที่รักต้องประสบความทุกข์ร้อน

ก็ย่อมจะบังเกิดความโทมนัสเสียใจ

 

เพราะฉะนั้นกรุณากับโทมนัสจึงมีที่ตั้งแห่งความบังเกิดขึ้นเป็นอย่างเดียวกัน

ฉะนั้นในการปฏิบัติทำกรุณาให้บังเกิดขึ้น ซึ่งปรารภถึงความทุกข์ร้อนของผู้อื่น

ทำใจให้เกิดความสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ หรือว่าปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ดังที่กล่าวมา

ถ้าสัตว์บุคคลที่คิดถึงนั้นๆเป็นที่รักก็อาจจะเกิดโทมนัสขึ้นด้วย

หรือว่าเมื่อทราบถึงความทุกข์ร้อนของบุคคลซึ่งเป็นที่รัก ก็เกิดโทมนัสขึ้นมาเสียก่อนกรุณา

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติในกรุณานั้นนอกจากที่จะเพื่อดับวิหิงสา

ความคิดเบียดเบียนและการเบียดเบียนดังกล่าว ก็ต้องระวังมิให้เกิดโทมนัสขึ้นด้วย

และโดยเฉพาะเมื่อทราบถึงความทุกข์เดือดร้อนของคนซึ่งเป็นที่รัก โทมนัสก็อาจเข้ามาก่อน

ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมจึงสมควรที่จะกำหนดให้รู้จิตของตน

ว่าโทมนัสที่บังเกิดขึ้นนี้ไม่เป็นประโยชน์ เขาต้องเป็นทุกข์

ตนเองก็ต้องเป็นทุกข์ตามเขาไปด้วย แล้วก็ช่วยอะไรกันไม่ได้

เป็นอันว่าติดความทุกข์กันเหมือนอย่างติดเชื้อโรคกัน แล้วต่างก็ช่วยกันไม่ได้

สมควรที่จะมาคิดช่วยดีกว่า ช่วยให้เขาพ้นทุกข์นั้น เท่าที่สามารถจะทำได้ในทางต่างๆ

 

ภัยที่พ่อแม่ลูกช่วยกันไม่ได้

 

แต่เมื่อช่วยไม่ได้แล้วก็เป็นอันว่าไม่ได้

ตัวอย่างที่ช่วยไม่ได้นั้นมีอยู่เป็นอันมาก ว่าถึงที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้

ซึ่งตรัสแสดงไว้ว่าภัยที่ พ่อ แม่ ญาติ ซึ่งเป็นที่รัก ลูก ก็ช่วยกันไม่ได้ ก็คือแก่เจ็บตาย

เป็น อมาตาปุตติกภัย เป็นภัยที่พ่อแม่ที่ลูกช่วยกันไม่ได้

เพราะว่าแก่เจ็บตายนั้นเป็นสภาวทุกข์ ทุกข์ซึ่งมีอยู่ตามสภาพของร่างกาย ชีวิต

แต่ว่าภัยอย่างอื่นนั้นเช่นว่าอัคคีภัย โจรภัย เป็นต้น ก็อาจช่วยกันได้บ้าง ช่วยกันไม่ได้บ้าง

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดั่งนี้

 

แม้ตัวอย่างอื่นก็เป็นต้นว่าผู้ที่ทำความผิด ถูกเจ้าหน้าที่จับได้ ถูกศาลตัดสินลงโทษ

เช่นต้องถูกจองจำ พ่อแม่ญาติมิตรทั้งหลายก็อาจที่จะขวนขวายช่วยในทางที่พึงทำ

เช่นว่าขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ว่าเมื่อได้ทำอย่างเต็มที่แล้วไม่สำเร็จ ก็เป็นอันว่าช่วยไม่ได้

การที่จะไปช่วยอย่างอื่นด้วยวิธีที่ผิด เช่นยุยงให้ผู้ที่ต้องโทษนั้นแหกคุกหนี

หรือแย่งตัวหนีดั่งนี้เป็นต้น ก็เป็นกิจที่ผิดกฏหมาย เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เป็นการช่วยในทางที่ผิด

การที่ช่วยนั้นจึงต้องเป็นข้อที่พึงช่วยได้ในทางที่ถูกต้อง

แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องแก่เจ็บตายแล้ว พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าพ่อแม่ลูกก็ช่วยกันไม่ได้

เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติทำกรุณาจึงต้องมีวิธีปฏิบัติดังที่กล่าวมานี้

สรุปเข้ามาก็คือว่า ใช้กรุณานี้เองเป็นเครื่องดับโทมนัสด้วย

และเป็นเครื่องดับวิหิงสาด้วย

พระอาจารย์ได้แสดงไว้ว่าโทมนัสนั้นเป็นศัตรูที่ใกล้ของกรุณา

เพราะมีที่ตั้งเป็นอันอันเดียวกัน ส่วนวิหิงสานั้นเป็นศัตรูที่ไกล

และเมื่อได้ปฏิบัติกรุณาให้บังเกิดขึ้น โดยที่ดับวิหิงสาได้ด้วย ดับโทมนัสได้ด้วย

ก็เป็นการปฏิบัติทำกรุณาที่บริสุทธิ์ให้บังเกิดขึ้น

 

เมตตากับสิเนหามีที่ตั้งเป็นอันเดียวกัน

 

ในข้อเมตตาที่แสดงไปนั้นก็เช่นเดียวกัน ซึ่งได้แสดงไปแล้วว่าเป็นเครื่องดับพยาบาท

และเป็นเครื่องดับสิเนหาราคะ สำหรับเมตตานั้นกับสิเนหาราคะก็มีที่ตั้งเป็นอันเดียวกัน

คือว่าสัตว์บุคคลทั้งหลายซึ่งเป็นที่ตั้งของเมตตานั้น ก็คือสัตว์บุคคลที่ได้มีจิตใจมุ่งให้เขาเป็นสุข

มีความสุขความเจริญ มีความสวัสดี ก็เรียกว่ามี สุภะ คือความดีงามเป็นที่ตั้ง

สิเนหาราคะก็เช่นเดียวกัน ย่อมเกิดขึ้นในสัตว์บุคคล

ซึ่งมีความดีงามเป็นที่ตั้ง เห็นยึดถือว่าดีงามก็เกิดสิเนหาราคะ

และเมื่อจิตใจเห็นดีงามก็เกิดเมตตา หรือเป็นที่ตั้งของเมตตา

 

เพราะฉะนั้นการเจริญเมตตาจึงต้องทำใจให้เห็นดีงาม

ในสัตว์บุคคลซึ่งแผ่เมตตาไป คือสงบความเกลียด เมตตาจึงจะบังเกิดขึ้นแทน

ถ้าความเกลียดหรือพยาบาทยังตั้งอยู่ เมตตาก็เกิดขึ้นไม่ได้

แต่ว่าในการที่เริ่มปฏิบัตินั้นจิตยังไม่อ่อนโยนพอ ก็ต้องพยายามพิจารณาไป

ในทางที่จะดับโทสะพยาบาท ดับความเกลียด บางทีก็แผ่ไปดื้อๆ ถึงเกลียดก็แผ่ไปละ

ก็แผ่ไปให้เขาที่เกลียดนั้นเป็นสุข ก็ได้ผลเหมือนกัน ก็จะทำให้ความเกลียดจางลงไปๆ จนสงบ

ก็แปลว่าเห็นผู้นั้นว่าดีงาม หรือเทียบกับบุคคลที่ดีงามได้

 

เมื่อจิตสงบโทสะพยาบาท เมตตาก็ตั้งขึ้นได้

แต่ในขณะเดียวกันนั้น ราคะสิเนหาก็อาจตั้งขึ้นได้เหมือนกัน

อาจจะราคะสิเนหาออกหน้าไปเลย หรือว่าเมตตาออกหน้า

และมีราคะสิเนหาตาม ไปด้วยกันได้

เพราะฉะนั้น ในการทำเมตตาจึงต้องระวังราคะสิเนหา บางทีเมื่อเห็นสัตว์บุคคลนั้นนี้ว่าดีงาม

หรือสวยงาม ราคะสิเนหาก็บังเกิดขึ้นนำหน้า เมตตายังไม่มา ราคะสิเนหามาก่อน

เมื่อเป็นดั่งนี้ผู้ปฏิบัติธรรมก็ให้ทำความรู้สึกในจิตของตน

และก็ตั้งเมตตาขึ้นมาแทน คือขอให้เขาเป็นสุขโดยที่ละหรือดับราคะสิเนหา

และก็ดับโทสะพยาบาท หรือกันโทสะพยาบาทไม่ให้บังเกิดขึ้นด้วย

 

เพราะฉะนั้น พระอาจารย์จึงได้แสดงว่าราคะสิเนหานั้นเป็นศัตรูที่ใกล้ของเมตตา

เพราะมีที่ตั้งเป็นอันเดียวกัน ส่วนโทสะพยาบาทนั้นเป็นศัตรูที่ไกล

และเมื่อปฏิบัติเมตตาให้ถูกต้อง ละได้ทั้งสองอย่าง ทั้งโทสะพยาบาท และทั้งราคะสิเนหา

ก็เป็นเมตตาที่บริสุทธิ์ เรื่องเมตตานี้เป็นการที่มากล่าวซ้ำเข้า เพื่อให้คู่กับกรุณา

 

การปฏิบัติเริ่มด้วยสติสัมโพชฌงค์

 

ตามที่แสดงมานี้ก็จะพึงเห็นได้ว่า ในการปฏิบัติทำกรุณาให้บังเกิดขึ้น

หรือทั้งเมตตาทั้งกรุณาดังที่กล่าวมา ก็จะต้องเริ่มด้วยสติสัมโพชฌงค์ องค์คือความรู้คือสติ

สติที่ตั้งกำหนด ตั้งกำหนดสัตว์บุคคลที่จะแผ่กรุณาให้ หรือที่จะอบรมกรุณาให้บังเกิดขึ้น

เพราะว่าจะต้องมีสัตว์บุคคลเป็นที่ตั้ง จะต้องกำหนดถึงคนนั้นคนนี้โดยเจาะจง

หรือกำหนดถึงโดยไม่เจาะจง

 

เช่นดังที่มีแสดงว่ากำหนดโดยเจาะจง ก็เช่นกำหนดว่าสตรีทั้งปวง บุรุษทั้งปวง

อริยบุคคลทั้งปวง บุคคลที่มิใช่อริยะทั้งปวง เทพทั้งปวง มนุษย์ทั้งปวง

สัตว์ที่ตกต่ำทั้งปวง คือพวกตกอบายภูมิ พวกอบายภูมิกำเนิด

หรือว่าจำเพาะเจาะจงเข้าไปอีกว่าสัตว์บุคคลนั้นนี้ ดั่งนี้ก็เป็นการที่ตั้งสติกำหนดถึงโดยเจาะจง

โดยไม่เจาะจงก็คือสัตว์ทั้งปวง ปราณทั้งปวงคือสัตว์ที่มีชีวิตหายใจทั้งปวง

ภูตะคือสัตว์ที่เป็นมาแล้ว คือเกิดแล้วทั้งปวง บุคคลทั้งปวง ผู้ที่มีเนื่องด้วยอัตภาพทั้งปวง

ทุกกำเนิดไม่ว่าเพศชนิดดังที่เรียกสั้นๆว่าสรรพสัตว์ ที่ทั่วถึงก็คือไม่มีประมาณคือทั้งหมด

สำหรับข้อกรุณานี้ก็คือว่าจงพ้นจากความทุกข์ที่ประสบอยู่ ที่บังเกิดขึ้นอยู่

ดั่งนี้เป็นสติสัมโพชฌงค์ที่ใช้ในการปฏิบัติอบรมกรุณา

 

ในที่นี้แสดงข้อกรุณาก็ยกข้อกรุณาขึ้นมา แต่อันที่จริงนั้นก็ทุกข้อ

และก็ต้องคอยมีธรรมวิจัยจำแนกเลือกเฟ้นธรรมที่บังเกิดขึ้นในการปฏิบัติอบรมกรุณานี้

เมื่อมีวิหิงสาบังเกิดขึ้นจิตยังผูกโกรธใครต่อใครอยู่ ก็คิดเบียดเบียน

ก็ให้รู้ว่าเป็นอกุศล มีโทษ เป็นของเลว เป็นธรรมะที่เทียบด้วยสีดำ

หรือว่าเกิดโทมนัสขึ้นก็ให้รู้ว่าเป็นของที่ไม่ถูกต้อง

เพราะไม่ควรจะไปเกิดโทมนัส ไม่ได้ประโยชน์อะไร ไม่มีประโยชน์

 

ในเมื่อกรุณาบังเกิดขึ้นก็ให้รู้ว่ากรุณาบังเกิดขึ้น

คือเป็นความคิดช่วยให้พ้นทุกข์ปรารถนาให้พ้นทุกข์อย่างบริสุทธิ์

ซึ่งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าโยนิโสมนสิการ ทำไว้ในใจโดยแยบคาย

คือพิจารณาจับเหตุจับผลให้ถูกต้อง ดั่งนี้เป็นธรรมวิจัยซึ่งต้องมีอยู่เป็นประจำ

และเมื่อวิจัยออกไปได้ว่านี่ถูกนี่ผิด ก็เพียรละสิ่งที่ผิดไม่ให้บังเกิดขึ้นครอบงำใจ ให้ดับไป

เพียรปฏิบัติให้บังเกิดขึ้นแต่สิ่งที่ถูก หรือกรุณาที่ถูกต้อง ก็เป็นวิริยสัมโพชฌงค์

โดยจะต้องมีธัมวิจยสัมโพชฌงค์เป็นผู้ที่เลือกเฟ้นก่อน ใจของตัวเองนี่แหละเลือกเฟ้น

( เริ่ม ๑๑๕/๑ ) แล้วใจของตัวเองนี่แหละรู้ ซึ่งสืบมาจากสติดังที่กล่าวมา

 

ฉะนั้นเมื่อเป็นสติสัมโพฌงค์ ธัมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ขึ้นดังนี้

ในการปฏิบัติอบรมกรุณา ก็ย่อมจะบังเกิดปีติสัมโพชฌงค์คือความอิ่มใจ

ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ความสงบกายสงบใจมีสุข และจะได้สมาธิเป็นสมาธิสัมโพชฌงค์

ได้อุเบกขาของใจ เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์

ก็เป็นอันว่าได้ปฏิบัติทำข้อกรุณานี้ให้บังเกิดขึ้นโดยถูกต้องอย่างสมบูรณ์

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats