ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป093

เหตุให้เกิดทุกข์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ขันธ์ ๕ ๓

อุปาทานขันธ์ ๔

ทุกข์เนื่องมาจากความยึดถือ ๖

ทุกขสมุทัยสัจจะ ๗

ตัณหา ๓ ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๒๐/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๒๐/๒ ( File Tape 93 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

เหตุให้เกิดทุกข์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ได้แสดงสติปัฏฐานมาโดยลำดับ จนถึงอริยสัจจ์ ๔

และก็ได้แสดงข้อทุกขอริยสัจจ์ คืออริยสัจจ์คือทุกข์มาแล้ว

จะแสดงในข้อทุกขสมุทัยอริยสัจจ์ อริยสัจจ์คือสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

หมวดอริยสัจจ์นี้พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในพระสูตรใหญ่แห่งสติปัฏฐานทั้ง ๔

สืบต่อจากโพชฌงค์

 

และก็ได้แสดงถึงสติปัฏฐานในข้อกาย ข้อเวทนา ข้อจิต และข้อธรรม

ซึ่งมีความสัมพันธ์กันมารวมอยู่เป็น เอกายนมรรค

คือทางไปอันเอก ทางไปอันเดียว เป็นก้อนเดียวกัน

อันจะพึงกล่าวได้ว่ารวมกันอยู่เป็นอัตภาพ

คือเป็นภาวะที่สำคัญหมายยึดถือว่าตัวตน คือตัวเราของเรานี้เอง

เป็นแต่เพียงว่าในการแสดงนั้น

ก็ต้องหยิบยกเอาลักษณะใดลักษณะหนึ่งของก้อนที่รวมกันอยู่นี้ขึ้นมาแสดง

และก็ตรัสแสดงในทางที่ปฏิบัติได้ คือใช้เป็นที่ตั้งของสติได้

และแม้ว่าจะหยิบยกเอาข้อใดข้อหนึ่งขึ้นมาเป็นที่ตั้งสติกำหนด ก็โยงถึงกันหมด

ดังที่ได้แสดงมาโดยลำดับ และก็มาประมวลเข้าโดยจับหลักแห่งการปฏิบัติ

ที่จะต้องใช้สำหรับทุกข้อ ก็คือหลักปฏิบัติตามหลักของโพชฌงค์ทั้ง ๗ นั้น

และแม้ที่จับกำหนดข้อกาย ข้อเวทนา ข้อจิต ข้อธรรม

ก็เป็นการหยิบยกเอาขึ้นมาพิจารณาจำเพาะข้อดังที่กล่าวนั้น

 

เมื่อมาถึงข้อที่ ๔ คือข้อธรรมะ ซึ่งเป็นการกำหนดพิจารณาในขั้นที่ละเอียด

พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสให้กำหนดในข้อที่ละเอียดนี้

ที่ปรากฏอยู่ในจิตใจเสมอ สำหรับสามัญชนทั่วไป คือข้อนิวรณ์

และเมื่อปฏิบัติสงบนิวรณ์ได้ จิตก็ผ่องใสสงบ

 

ขันธ์ ๕

 

จึงได้ตรัสสอนให้มากำหนดอัตภาพนี้

อันเป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรานี้ แยกออกไปเป็นขันธ์ ๕

และที่ขันธ์ ๕ นี้เอง ก็ประกอบด้วยรูปและนาม อาศัยกันอยู่

ความปรากฏแห่งรูปและนาม ก็ต้องอาศัยอายตนะภายในภายนอกมาประจวบกัน

จึงเป็นรูปเป็นนามขึ้นมา จึงได้ตรัสข้ออายตนะทั้ง ๖

 

และก็ได้ตรัสถึงแนวอันเป็นหลักปฏิบัติโพชฌงค์ ๗ อันเริ่มด้วยความตั้งสติ

และเมื่อปฏิบัติตามหลักของโพฌงค์ ๗ นี้ถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์ สมาธิก็จะดี จะบริสุทธิ์

จิตก็จะสว่างแจ่มใจสงบอยู่ในภายใน เท่ากับว่าโพชฌงค์ที่ปฏิบัติมาโดยลำดับ

จนถึงขั้นสมาธิขั้นอุเบกขา เป็นเครื่องฟอกชำระจิตให้บริสุทธิ์

ทำให้จิตนี้เป็นจิตอ่อนควรแก่การงาน สมควรที่จะได้รับธรรมะ

อันเป็นทางปัญญาโดยตรง ที่ตรัสเปรียบไว้ในที่อื่นว่าเหมือนอย่างว่าผ้าที่สกปรก

จะนำมาย้อมด้วยสีต่างๆตามต้องการ สีย่อมไม่จับผ้านั้น

จะต้องซักผ้านั้นให้สะอาด แล้วจึงนำมาย้อมสี สีก็จะจับ ฉันใดก็ดี

จิตที่ชำระฟอกล้างแล้วด้วยสมาธิด้วยอุเบกขา ก็เป็นจิตที่จะรับธรรมะจนถึงอริยสัจจ์ได้

 

ฉะนั้นเมื่อทรงแสดงถึงโพชฌงค์ทั้ง ๗ อันประกอบสมาธิอุเบกขา

อันเป็นเครื่องชำระจิตอย่างยิ่ง จึงได้ทรงแสดงสัจจะปัพพะข้อว่าด้วยสัจจะทั้ง ๔

และในข้อที่ว่าด้วยสัจจะทั้ง ๔ นี้ ก็เริ่มด้วยทุกข์สัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์

อันได้แสดงมาแล้วตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ ว่าทุกข์คืออะไรบ้าง

 

ทุกข์คือสภาวทุกข์ คือปกิณกะทุกข์ทางใจ

และเมื่อย่อเข้ามาแล้ว ก็รวมอยู่ในขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ

ก็คือขันธ์ ๕ อันเป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา คือเป็นตัวอัตภาพนี้เอง

พระพุทธเจ้าทรงแสดงสติปัฏฐานทั้ง ๔ สำหรับเป็นข้อปฏิบัติมาตั้งแต่ในเบื้องต้น

ก็เหมือนเป็นการทรงแสดงอัตภาพนี้แยกออกเป็น ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม

ซึ่งเมื่อแสดงอย่างนี้ย่อมเหมาะเป็นที่ตั้งของสติ

 

อุปาทานขันธ์

 

และเมื่อมาถึงการปฏิบัติเพื่อปัญญา หรือเพื่อวิปัสสนารู้แจ้งเห็นจริง

ก็ตรัสเปลี่ยนมาเป็นขันธ์ ๕ คือแยกอัตภาพอันนี้ อันเป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา

ว่าอันที่จริงนั้นไม่ใช่เป็นอันเดียวกัน แม้จะรวมกันอยู่เป็นก้อนกายก้อนใจอันนี้ เป็นอัตภาพนี้

แต่ก็ประกอบขึ้นด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ย่อลงก็เป็นนามรูปหรือว่ารูปนาม

และขันธ์ ๕ หรือรูปนามนี้เป็นวิบากคือเป็นผลของกิเลสของกรรมในอดีต

เป็นตัวเหตุปัจจัยให้ก่อเกิดเป็นขันธ์ ๕ เป็นรูปเป็นนามขึ้นมา

เมื่อเป็นวิบากดั่งนี้ จึงไม่ใช่เป็นตัวกุศลหรืออกุศล แต่เป็นตัววิบากคือเป็นตัวผล

ก็ผลของกุศลและอกุศลนั่นแหละ ซึ่งเป็นตัวกรรมอันสืบเนื่องมาจากกิเลส

แต่วิบากคือผลนี้ไม่ใช่เป็นตัวกรรมไม่ใช่ตัวกิเลส เป็นตัวผล

เมื่อยังมีกิเลสอยู่จึงยึดถือขันธ์ ๕ อันย่อลงเป็นนามรูปนี้ ว่าเป็นตัวเราของเรา

 

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า อุปาทานขันธ์

แปลว่าขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ ซึ่งตรัสสรุปเข้าว่านี่แหละคือตัวทุกข์

คือขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ เพราะมีกิเลสจึงยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา

แต่ก่อนที่จะได้ตรัสสรุปเข้ามาดั่งนี้ ก็ได้ตรัสเริ่มมาแล้วถึงทุกข์ที่ตรัสมาตั้งแต่เบื้องต้น

ซึ่งได้ตรัสให้รู้ถึงสภาวทุกข์ก่อน แล้วก็ตรัสปกิณกะทุกข์ที่ทุกคนมีกันอยู่เป็นประจำ

คือโสกะความแห้งใจ ปริเทวะความคร่ำครวญใจ ไม่สบายใจ

พร้อมทั้งไม่สบายกาย คับแค้นใจ ซึ่งคนมีอยู่เป็นปรกติ ได้ตรัสสรุปเข้ามาในชั้นต้นก่อน

เป็นทุกข์เพราะประจวบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์เพราะพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก

ก็เป็นอันได้ทรงชี้ให้รู้จักเข้ามาว่า เพราะมีสิ่งที่เป็นที่รัก กับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก

ฉะนั้นเมื่อไปพบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักจึงเป็นทุกข์ พลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักจึงเป็นทุกข์

 

ความที่มีสิ่งเป็นที่รักไม่เป็นที่รักขึ้นนี้

ก็ตรัสชี้ให้ชัดเข้ามาต่อไปอีกว่า รวมเข้าเป็นหนึ่งก็คือปรารถนาไม่ได้สมหวัง

เพราะทุกคนนั้นต่างปรารถนาที่จะได้ประสบกับสิ่งที่เป็นที่รัก

ไม่ต้องการที่จะพบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก แต่เมื่อไปได้ประสบผลต่างจากที่ปรารถนา

คือประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ก็เป็นความปรารถนาไม่สมหวัง

ก็เป็นอันทรงชี้ให้เริ่มรู้จักต้นสายของทุกข์ เป็นสิ่งที่เป็นที่รัก สิ่งที่ไม่เป็นที่รัก

และชี้เข้ามาอีกเป็นตัวความปรารถนา

 

แล้วจึงได้ตรัสประมวลเข้าเป็นกล่าวโดยย่อว่าอุปาทานขันธ์ ขันธ์เป็นที่ยึดถือ

อันคำว่าอุปาทานยึดถือนี้ ก็รวมความปรารถนาเข้ามาด้วย

เพราะมีความปรารถนาจึงมีความยึดถือ

และความยึดถือนี้เองก็เป็นปัจจัยให้เกิดความปรารถนาต่อไปอีก

ก็เป็นอันว่าทั้งสองนี้ต่างก็สนับสนุนกัน ความปรารถนากับความยึดถือ

แต่เมื่อกล่าวตามลำดับก็ตรัสไว้ว่าความปรารถนามาก่อน แล้วจึงยึดถือ

ถ้าหากว่าไม่ปรารถนาก็ปล่อยวางได้ไม่ยึดถือ

 

ทุกข์เนื่องมาจากความยึดถือ

 

( เริ่ม ๑๒๐/๒ ) เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันได้ทรงเริ่มที่จะแนะนำให้รู้จักตัวทุกข์

ว่าเนื่องมาจากความปรารถนายึดถือ อันเป็นเหตุให้มีสิ่งที่เป็นที่รัก สิ่งที่ไม่เป็นที่รัก

สืบเนื่องกันไป แล้วก็สืบไปถึงทุกข์ต่างๆมี โสกะปริเทวะ โศกเศร้า รัญจวนใจ คร่ำครวญ

อันเป็นอาการของทุกข์ต่างๆของจิตใจ ที่ทุกๆคนมีกันอยู่

ก็สืบเนื่องมาจากความปรารถนายึดถือ และก็มาถึงประมวลเข้าทั้งหมด

ก็เข้าในขันธ์ ๕ อันเป็นที่ยึดถือว่าตัวเรานี่แหละ

 

เพราะมีความยึดถือว่าตัวเราของเราดั่งนี้ ตัวขันธ์ ๕ เอง

หรือย่อลงเป็นนามรูปนั้น ก็เป็นวิบากดังที่กล่าว และก็เป็นสิ่งที่ต้องเป็นไปตามสภาวะ

คือภาวะของตน อันได้แก่มีเกิดเป็นเบื้องต้นที่เรียกว่าชาติ

มีชราความแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ชำรุดทรุดโทรมเป็นท่ามกลาง

มาจนถึงมีมรณะคือความแตกสลายที่เรียกว่าตายเป็นที่สุด เป็นธรรมดา

เหมือนอย่างสิ่งทั้งหลายที่เป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง

 

อันรวมเรียกว่าโลกทั้งหมดนั้น ก็เป็นสิ่งที่มีเกิดคือมาประกอบกันเข้า

แล้วก็มีแปรปรวนเปลี่ยนแปลง แล้วก็มีสลายในที่สุด เหมือนกันหมด

เรียกว่าเป็นธรรมชาติเป็นธรรมดาของโลก ของสิ่งที่เรียกว่าเป็นสังขาร

คือสิ่งประสมปรุงแต่งทั้งหมด

เพราะฉะนั้น เพราะบุคคลไปยึดถือว่าตัวเราของเรา เมื่อนามรูปหรือขันธ์ ๕ นี้เกิด

ก็รู้สึกว่าตัวเราของเราเกิด แก่ก็รู้สึกว่าตัวเราของเราแก่ ตายก็รู้สึกว่าตัวเราของเราตาย

และก็มีความยึดถือต้องการปรารถนาที่จะไม่ให้แก่ ไม่ให้ตาย ซึ่งเป็นการฝืนธรรมชาติธรรมดา

ซึ่งเป็นไปไม่ได้ จึงต้องเป็นทุกข์ไปด้วยกับนามรูปหรือขันธ์ ๕ นี้

 

ทุกขสมุทัยสัจจะ

 

อันตัวขันธ์ ๕ หรือนามรูปนั้น เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา

ไม่มีตัวไม่มีตนของนามรูปหรือขันธ์ ๕ ที่จะมาเป็นทุกข์

แต่สัตว์บุคคลผู้ที่ยึดถือนี้เองเป็นทุกข์ และเป็นทุกข์ที่สร้างขึ้นเอง

เพราะความยึดถือ เหนี่ยวรั้ง ไม่ต้องการที่จะให้เป็นเช่นนั้น

เพราะไม่ปรารถนาที่จะให้แก่ ไม่ให้ตาย ตลอดถึงเจ็บ แปรปรวนเปลี่ยนแปลงต่างๆ

เพราะฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงหมวดทุกข์สัจจะนี้

เริ่มชี้ที่จะให้ทุกๆคนได้รู้จัก ว่าอะไรเป็นทุกข์ เป็นทุกข์อย่างไร

และสืบเนื่องมาถึงความที่มีที่รัก มีไม่เป็นที่รัก มีปรารถนา มียึดถือ

เป็นอันว่าได้ทรงเริ่มชี้ให้รู้จักสมุทัยสัจจะสภาพที่จริงคือสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

จึงได้ตรัสในข้อที่ ๒ คือสมุทัยสัจจะ สัจจะคือสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

ทรงยกตัณหาขึ้นแสดง ว่าคือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากในจิตใจนี้เอง

เป็นตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

 

เมื่อได้ฟังเรื่องทุกข์ และจับพิจารณามาโดยลำดับแล้ว

ก็ย่อมทำให้มีความเข้าใจขึ้นทันที ว่าเพราะตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากนี้เอง

เป็นตัวเหตุให้เกิดทุกข์ต่างๆ ที่ตรัสไว้ในข้อทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์

และก็ได้ตรัสเป็นอธิบาย เพื่อให้มีความเข้าใจยิ่งขึ้นประกอบด้วยโดยที่ทรงชี้ว่า

คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากของจิตใจ ซึ่งเป็นไปเพื่อภพใหม่ เพื่อความเป็นใหม่

แปลกันว่าเพื่อภพชาติใหม่บ้าง หรือเพื่อความเป็นนั่นเป็นนี่ใหม่บ้าง

อันประกอบไปกับความเพลินที่เรียกว่านันทิ ความติดใจที่เรียกว่าราคะ

มีอภินันท์คือความเพลิดเพลินยิ่งขึ้นๆ ในอารมณ์นั้นๆ

 

ตัณหา ๓

 

และก็ได้ตรัสจำแนกลักษณะออกไปเป็น ๓

คือ กามตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในกาม คือสิ่งที่รักใคร่ปรารถนาพอใจ

หรือกล่าวสรุปเข้ามาก็เป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะ

ที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจทั้งหลาย

ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในภพ คือความความเป็นนั่นเป็นนี่

วิภวตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากไปในวิภพ คือความไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่

หรือว่าอยากที่จะให้สิ่งที่ไม่ชอบ ภาวะที่ไม่ชอบสิ้นไปหมดไป

 

เมื่อสรุปเข้าแล้ว กามตัณหาและภวตัณหานั้น

เป็นความดิ้นรนทะยานอยากเพื่อที่จะดึงเข้ามา คือดึงเอากามเข้ามา ดึงเอาภพเข้ามา

แต่ว่าวิภวตัณหานั้น เป็นความดิ้นรนทะยานอยากที่จะผลักออกไป

ผลักสิ่งที่ไม่ชอบออกไป ภาวะที่ไม่ชอบออกไป

เพราะฉะนั้น จิตที่ถูกตัณหาครอบงำแล้ว จึงประกอบไปด้วยความดิ้นรนทะยานอยาก

เพื่อที่จะดึงเข้ามาอย่างหนึ่ง เพื่อที่จะผลักออกไปอย่างหนึ่ง

หรือเพื่อที่จะสร้างขึ้นมาอย่างหนึ่ง เพื่อที่จะทำลายอีกอย่างหนึ่ง

จิตใจของสัตว์บุคคลในโลกที่ยังมีตัณหาอยู่ ย่อมเป็นเช่นนี้


เพราะฉะนั้นในโลกนี้จึงได้มีการสร้างขึ้นบ้าง มีการทำลายกันบ้าง ทั้งสองอย่างคู่กันไป

เมื่อเป็นโลกอยู่ก็จะต้องมีการสร้าง และการทำลายดั่งนี้ คู่กันไป

คำว่าเมื่อเป็นโลกอยู่ก็หมายความเมื่อยังเป็นตัณหา ยังมีตัณหาอยู่ ก็ต้องเป็นดั่งนี้

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้รู้จักเหตุของทุกข์ว่าคือตัณหานี้เอง ไม่ใช่สิ่งอื่น

และตัณหานี้ก็บังเกิดขึ้นที่จิตใจนี้เอง

ก็ให้กำหนดที่จิตใจนี้เองของทุกๆคน คือของตนเอง

เพราะว่าเมื่อตัณหาบังเกิดขึ้นปรากฏอยู่ในจิต

ทุกคนเมื่อกำหนดพิจารณาอยู่ก็ย่อมรู้ได้ ว่าตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากเกิดขึ้น

เป็นกามตัณหาบ้าง เป็นภวตัณหาบ้าง เป็นวิภวตัณหาบ้าง

และก็ให้กำหนดให้รู้จักว่านี่แหละคือตัวทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

ไม่ใช่มีที่ไหน มีที่จิตใจนี้เอง

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

ตัณหาเหตุให้เกิดทุกข์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ตัณหาจริต ๓

ทิฏฐิจริต ๔

ขันธ์ ๕ อายตนะภายในภายนอก ๕

นามรูป ๗

ภวังคจิต ๘

อารมณ์ ๖ ๙

วิญญาณ สัมผัส เวทนา สัญญา ๙

ตัณหา วิตก วิจาร ๑๐

*

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๒๐/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๒๑/๑ ( File Tape 93 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

ตัณหาเหตุให้เกิดทุกข์

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

สวากขาโต ภควตา ธัมโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว

สันทิฏฐิโก อันผู้ปฏิบัติผู้ได้บรรลุพึงเห็นเอง อกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา

เอหิปัสสิโก ควรเรียกให้มาดู โอปนยิโก ควรน้อมเข้ามา

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ อันวิญญูคือผู้รู้พึงรู้เฉพาะตน

 

พระพุทธเจ้าผู้ทรงจำแนกแจกธรรม ได้ทรงจำแนกแจกธรรมไว้ดีแล้ว ตรัสไว้ดีแล้ว

ดังบทพระธรรมคุณว่า สวากขาโต ภควตา ธัมโม นั้น ก็ได้ทรงจำแนกตรัสบอกไว้

ในกายอันยาววาหนึ่ง มีสัญญาความจำหมาย มีใจครองของทุกๆคนนี้เอง

ได้ตรัสบอกจัดจำแนกไว้ก็ภายในกายดังที่กล่าวมานี้

เพราะฉะนั้น เมื่อฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง อันเป็นสัจจะคือความจริงซึ่งเป็นธรรมดา

ก็น้อมเข้ามาในกายมีสัญญามีใจของตนเอง หรือเรียกสั้นว่าที่กายใจนี้ ของทุกๆคนนี้เอง

ก็จะพบว่าเป็นสัจจะคือเป็นความจริงตามที่ทรงสั่งสอน

ทรงสั่งสอนว่าข้อนี้ทุกข์ ก็อยู่ที่กายใจนี้ ข้อนี้เป็นทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ก็อยู่ที่กายใจนี้

ข้อนี้ทุกขนิโรธดับทุกข์ ก็อยู่ที่กายใจนี้ ข้อนี้เป็นมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

ก็อยู่ที่กายใจนี้

 

เมื่อดูเข้ามาที่กายใจนี้ ก็จะพบว่านี้เป็นทุกข์ นี้เป็นสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

นี้เป็นนิโรธความดับทุกข์ นี้เป็นมรรคทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

เพราะฉะนั้นทุกคนจึงสามารถฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้าใจได้

เพราะธรรมที่ทรงแสดงก็คือตัวธรรมดาที่เป็นความจริง

และก็เป็นธรรมดา และความจริงที่กายใจนี้ของตนเอง

 

ตัณหาจริต

 

แต่วิธีอธิบายแสดงของพระพุทธเจ้านั้น

เรียกว่ามีปริยายคือทางที่แสดงเป็นอันมาก ตามควรแก่จริตอัธยาศัยของผู้ฟัง

ผู้ฟังที่มีปรกติรักสวยรักงามของร่างกาย ที่เรียกว่ามีตัณหาจริตอย่างหยาบ

ก็ทรงแสดงสั่งสอนให้ทำสติ หรือตั้งสติคือกำหนดใจ พิจารณากาย ให้รู้จักกาย

รวมเข้าก็คือว่าให้รู้จักว่าเป็นสิ่งที่เกิดที่ดับ เพื่อที่จะได้ละตัณหาจริตอย่างหยาบของตนได้

 

บุคคลที่มีปรกติไม่ติดในกายมากนัก

แต่ยังติดในเวทนา คือต้องการให้มีความสุขกายสุขใจเป็นสำคัญ

แม้ว่าร่างกายจะไม่สวยสดงดงาม จะไม่ตกแต่งให้สวยสดงดงามก็ไม่เป็นไร

ขอให้มีความสุขสบายกายสบายใจก็แล้วกัน เรียกว่าเป็นตัณหาจริตอย่างละเอียด

พระองค์ก็ตรัสสอนให้ทำสติกำหนดพิจารณาเวทนา สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ที่บังเกิดขึ้น

ว่าเป็นสิ่งที่เกิดดับเช่นเดียวกัน เพื่อที่จะได้ละตัณหาจริตอย่างละเอียดเสีย

 

ทิฏฐิจริต

 

บุคคลที่ไม่ติดในกายมากนัก ไม่ติดในเวทนามากนัก

แต่ว่ายังติดในจิตใจ คือต้องการที่จะให้จิตใจได้พบกับสิ่งที่ต้องการ

เพราะจิตใจนี้ย่อมมีความต้องการอย่างนั้นอย่างนี้

บางทีก็ไม่คำนึงถึงสวยงามทางร่างกาย ไม่คำนึงถึงสุขทุกข์ทางกายทางใจมากนัก

มุ่งที่จะให้สำเร็จตามที่ใจปรารถนาเป็นที่ตั้ง แม้ว่าจะต้องสกปรกทางร่างกาย

จะต้องเป็นทุกข์ทางกายทางใจอย่างไรก็ไม่ว่า มุ่งให้ได้ดังใจ เป็นที่ตั้ง

ก็ตรัสสอนให้ทำสติกำหนดพิจารณาจิต บุคคลจำพวกนี้เรียกว่าเป็นทิฏฐิจริตอย่างหยาบ

เมื่อทำสติกำหนดพิจารณาจิตให้รู้จิตที่เป็นไปอยู่ เป็นอย่างนั้นบ้างเป็นอย่างนี้บ้าง

คือปรารถนาอย่างนั้นบ้างอย่างนี้บ้าง รวมเข้าก็คือว่าเป็นสิ่งที่เกิดดับเช่นเดียวกัน

ก็จะทำให้ละทิฏฐิจริตอย่างหยาบนี้ได้

 

ส่วนบางคนนั้นก็ไม่ติดทางกายทางเวทนา

หรือทางจิตใจดังกล่าวมากนัก ก็มาติดอยู่ในเรื่องของจิต

คือต้องการให้ได้อารมณ์คือเรื่องที่ชอบที่ปรารถนาเป็นสำคัญ มุ่งเรื่องเป็นที่ตั้ง

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ตรัสสอนให้พิจารณาธรรมะคือเรื่องที่บังเกิดขึ้นในจิต

บุคคลจำพวกนี้เรียกว่ามีทิฏฐิจริตอย่างละเอียด

เมื่อทำสติกำหนดพิจารณาธรรมะคือเรื่องในจิต ก็ย่อมจะละทิฏฐิอย่างละเอียดนี้ได้

บุคคลในโลกย่อมมีจริตกันอยู่ดังที่กล่าวมานี้ และทุกคนก็อาจจะมีกันอยู่ทั้ง ๔ ข้อ

อาจจะแตกต่างกันว่ามีข้อไหนมากข้อไหนน้อย แต่ก็มีด้วยกันทั้งหมด

 

เพราะฉะนั้นเมื่อปฏิบัติตามสติปัฏฐานทั้ง ๔

คือตั้งสติกำหนดพิจารณากายเวทนาจิตธรรม ย่อมจะละจริตอัธยาศัยดังที่กล่าวนั้นได้

มาเป็นผู้ที่มีจิตปราศจากจริตที่เป็นกิเลสต่างๆ จึงเป็นจิตที่บริสุทธิ์

และพระพุทธเจ้าเมื่อได้ทรงสอนสติปัฏฐานมาโดยลำดับตามหมวดต่างๆ

ในพระสูตรใหญ่ของสติปัฏฐาน ที่เรียกว่ามหาสติปัฏฐานสูตร ที่ได้แสดงมาโดยลำดับ

มาถึงขั้นที่จิตบริสุทธิ์จากจริตต่างๆ ทั้งที่เป็นส่วนหยาบทั้งที่เป็นส่วนละอียด

สมควรที่จะ ( เริ่ม ๑๒๑/๑ ) ทรงแสดงสัจจะคือความจริง ที่เป็นความจริงอย่างยิ่ง

จึงได้ตรัสแสดงให้รู้จักทุกข์ รู้จักเหตุเกิดทุกข์ รู้จักความดับทุกข์

รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

 

ซึ่งก็รวมอยู่ในข้อสุดท้ายของหมวดสติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้นด้วย

และก็ได้ทรงแสดงอย่างชัดเจนว่าอะไรเป็นทุกข์เป็นต้น

เพราะฉะนั้น จึงได้ตรัสรวมเข้ามาในขันธ์ ๕ อายตนะ ๖

 

ขันธ์ ๕

 

ขันธ์ ๕ นั้นก็คือว่า ทรงจำแนกแยกอัตภาพ

คือภาวะที่ยึดถือกันว่าเป็นตัวเราของเรานี้ออกเป็น ๕ กอง คือรูปขันธ์ กองรูป รูปกายอันนี้

เวทนาขันธ์กองเวทนาก็คือ ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

สัญญาขันธ์กองสัญญาก็คือความรู้จำหมายต่างๆ จำรูปจำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะ

สิ่งถูกต้องทางกาย จำธรรมะคือเรื่องราวทางใจ เป็นต้น

สังขารขันธ์กองสังขารก็คือความคิดปรุงหรือปรุงคิดต่างๆไปในรูปเสียงเป็นต้นดังกล่าว

คิดดีบ้างคิดไม่ดีบ้าง คิดเป็นกลางๆบ้าง

วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ คือความรู้ที่เรียกว่าเห็น ความรู้ที่เรียกว่าได้ยิน

ความทราบที่เรียกว่าได้ทราบกลิ่น ได้ทราบรส ได้ทราบสิ่งถูกต้อง

และความรู้ที่เรียกว่าความรู้ความคิดนั่นแหละทางมโนคือใจ อันเรียกว่าวิญญาณ

 

อายตนะภายในภายนอก

 

และได้ตรัสสอนให้รู้จักอายตนะทั้ง ๖ คือตาอันหมายประสาททางตาที่เห็นรูปได้

หูอันหมายถึงประสาททางหูที่ได้ยินเสียงได้ จมูกอันหมายถึงประสาททางจมูกที่ทราบกลิ่นได้

ลิ้นที่หมายถึงประสาทลิ้นที่ทราบรสได้ กายหมายถึงประสาทกายที่ได้ทราบสิ่งถูกต้องได้

และมโนคือใจที่หมายถึงมันสมองที่เกิดกำกับไป มีกำกับไปกับตาหูจมูกลิ้นกาย

และมีลำพังที่เรียกว่าเป็นความคิดความรู้ต่างๆ

 

ตรัสสอนให้รู้จักพร้อมกับสิ่งที่คู่กัน ที่ต่อกัน

คือรูปที่ต่อกับตา เสียงที่ต่อกับหู กลิ่นที่ต่อกับจมูก รสที่ต่อกับลิ้น

สิ่งถูกต้องที่ต่อกับกาย ธรรมะคือเรื่องราวที่ต่อกับมโนคือใจ

ก็เป็นอันว่าตาหูจมูกลิ้นกายและมโนคือใจ เรียกว่าเป็นอายตนะภายใน

อายตนะแปลว่าที่ต่อ เป็นที่ต่อภายใน

ส่วนรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะและธรรมะคือเรื่องราว เรียกว่าเป็นอายตนะคือที่ต่อภายนอก

ทั้งสองนี้ย่อมต่อกันอยู่เสมอในทุกๆคน ตั้งแต่ตื่นนอนขึ้นจนถึงหลับไปใหม่

แม้ในขณะที่หลับตัวมโนที่แปลว่าใจ ที่ในปัจจุบันอันมักจะหมายเอามันสมอง

กับธรรมะคือเรื่องราวก็ยังไม่ยอมหลับ ยังต่อกันอยู่ปรากฏเป็นความฝัน

หลับสนิทคือไม่ฝันนั้นแหละจึงจะพัก คือมโนกับธรรมะคือเรื่องราวจึงจะพัก

แต่โดยปรกตินั้นมักจะไม่ค่อยพัก ยังต่อกันอยู่เป็นความฝัน

ฝันที่เป็นความฝันอย่างหยาบก็จะแจ้ง ตื่นขึ้นมาจำได้

ฝันที่เป็นความฝันอย่างละเอียดไม่จะแจ้ง ตื่นขึ้นมาก็ลืมหมดจำไม่ได้

 

พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้รู้จักขันธ์ ๕ กับอายตนะทั้ง ๖ คือ ๖ คู่

เมื่อเรียงเป็นรายข้อก็เป็น ๑๒ คือภายใน ๖ ภายนอก ๖ ก็เป็น ๑๒

ตรัสสอนให้รู้จักขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ นี้ที่ตนเอง โดยให้มีสติกำหนดดูให้รู้จักที่ตัวเองนี่แหละ

ว่านี่เป็นรูปขันธ์กองรูป นี่เป็นเวทนาขันธ์กองเวทนา นี่เป็นสัญญาขันธ์กองสัญญา

นี่เป็นสังขารขันธ์กองสังขาร นี่เป็นวิญญาณขันธ์กองวิญญาณ

นี่เป็นตานี่เป็นรูปที่มาประจวบกัน นี่เป็นหูนี่เป็นเสียงที่มาประจวบกัน

นี่เป็นจมูกนี่เป็นกลิ่นที่มาประจวบกัน นี่เป็นลิ้นนี่เป็นรสที่มาประจวบกัน

นี่เป็นกายนี่เป็นโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้องที่มาประจวบกัน

นี่เป็นมโนคือใจนี่เป็นธรรมะคือเรื่องราวที่มาประจวบกัน

 

นามรูป

 

และโดยเฉพาะขันธ์ ๕ นั้นสรุปเข้าก็เป็น ๒ คือรูปก็เป็น รูป

เวทนาสัญญาสังขารวิญญาณก็เป็นนาม คือ ๔ ข้อข้างหลังเป็น นาม

นาม นั้นก็อธิบายกันเป็น ๒ คืออธิบายว่าไม่ใช่ รูป

สักแต่ว่าเป็น นาม คือชื่อเรียก นี่เป็นอธิบายสามัญ

อีกอย่างหนึ่งอธิบายที่ลึกซึ้งเข้ามา ว่านามคืออาการที่จิตน้อมออกไป น้อมออกไปรู้

คือทุกคนนี้ประกอบด้วยกายส่วนหนึ่ง จิตส่วนหนึ่ง

กายนั้นเป็นสิ่งที่เป็นวัตถุ ประกอบขึ้นด้วยธาตุที่เป็นวัตถุทั้งหลาย คือธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม

เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ ได้ยินได้ ทราบกลิ่น ทราบรส และทราบถูกต้องได้

 

แต่ว่าจิตนี้เป็นธรรมชาติที่ไม่มีรูป

ดังที่มีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า อสรีรัง ไม่มีสรีระ คูหาสยัง มีคูหาคือถ้ำเป็นที่อาศัย

ซึ่งพระอาจารย์ได้แก้ว่าถ้ำที่เป็นที่อาศัยของจิตก็คือร่างกายทั้งหมดนี้

และก็มีความเข้าใจกันมาแต่โบราณเหมือนกันว่า จิตนี้อาศัยอยู่กับหทัยคือหัวใจที่เต้นอยู่นี้

หัวใจจึงเรียกว่า หทัยวัตถุ แปลว่าหทัยที่เป็นวัตถุคือที่ตั้งที่อาศัยของจิต

แต่มาในปัจจุบันนี้เข้าใจกันว่า จิตนี้อาศัยอยู่กับสมองที่อยู่ในกะโหลกศรีษะ

และก็สมกับพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่ามีคูหาคือถ้ำเป็นที่อาศัย

เพราะว่าถ้ำนั้นก็มีลักษณะเป็นโพรงเข้าไปในภูเขา ก็คล้ายๆกับกะโหลกศรีษะนี้

ก็มีโพรงที่มันสมองอาศัยอยู่ จิตไม่ใช่มันสมองแต่อาศัยอยู่กับมันสมอง

แต่ที่เป็นพระพุทธภาษิตเองนั้น ไม่ได้ตรัสชี้เอาไว้ว่าจิตอาศัยอยู่ที่ไหนในส่วนของร่างกายอันนี้

ตรัสไว้เพียงว่า คูหาสยัง มีคูหาคือถ้ำเป็นที่อาศัย แล้วก็มาแปลความกันเอง

มาอธิบายกันเองในภายหลัง ดั่งพระอาจารย์ในปางก่อนก็อธิบายกันว่า ร่างกายทั้งหมด

เป็นการกล่าวรวมๆ แต่ก็มีบางอาจารย์ที่เข้าใจว่าอยู่กับ หทัยที่เต้นอยู่นี้

ก็น่าพิจารณาเหมือนกัน เพราะในครั้งโบราณนั้นถือเอาสิ่งที่พอจะรู้ได้ พอที่จะเข้าใจได้

เป็นหลักในการที่จะวินิจฉัยว่าอะไรเป็นอะไร

 

เพราะหทัยที่เต้นอยู่นี้ ในเมื่อหทัยนี้ยังเต้นอยู่ก็แปลว่าจิตยังอยู่ในร่างกายอันนี้ ชีวิตยังอยู่

แต่เมื่อหัวใจหยุดเต้นก็แปลว่าจิตนี้ไม่มีอยู่ในร่างกายนี้แล้ว กายนี้ก็เป็นศพ

เพราะฉะนั้นจึงเข้าใจกันว่าหัวใจอันนี้เป็นที่ตั้งของจิต เป็นที่อาศัยของจิต

จึงเรียกว่า หทัยวัตถุ หทัยที่เป็นวัตถุคือเป็นที่ตั้งของจิต ก็วินิจฉัยกันตามที่จะพึงรู้ได้

แต่พระพุทธเจ้าเองไม่ได้ตรัสชี้เอาไว้ ทรงแสดงดังที่กล่าวมาข้างต้น

เป็นอันว่าในร่างกายอันนี้มีจิตอยู่ ประกอบกายและจิตด้วยกันจึงมีชีวิต

อันนี้เป็นหลักสำคัญ พระอาจารย์จึงได้แสดงอธิบายไว้กว้างๆว่า

คูหาอันเป็นที่อาศัยของจิตก็คือกายทั้งหมดนี้ ก็เป็นอันว่าสิ้นเรื่องไป ไม่ต้องไปชี้ว่าที่ไหน

และเมื่อกายและจิตนี้ยังอาศัยกันอยู่ ร่างกายอันนี้ก็มีชีวิต

 

ภวังคจิต

 

และจิตนี้เองในขณะที่อยู่เฉยๆไม่มีอารมณ์ก็เรียกว่า ภวังคจิต

คำว่า ภวังคะ นั้นแปลว่าองค์ของภพ ซึ่งมีความหมายว่าตัวจิตนี้เองยังเป็นตัวองค์ของภพ

คือของภพชาติ ซึ่งเป็นวัฏฏะความเวียนว่ายตายเกิด

และเมื่อจิตนี้ยังอยู่เฉยๆไม่มีอารมณ์ ก็คงอยู่เป็นองค์อวัยวะของภพชาติ

แปลว่าภพชาตินี้ยังดำรงอยู่ ยังไม่ตาย

 

ถ้าไม่มีจิตที่เป็นตัวภวังคะองค์ของภพชาติแล้ว ร่างกายอันนี้ก็ตาย กลายเป็นศพ

เมื่อยังมีภพมีชาติคือยังมีความเป็นอยู่ ยังมีความเกิด ยังไม่ดับ ยังไม่ตาย ชีวิตจึงดำรงอยู่

ก็คือจิตนี้เองยังอยู่ในร่างกายอันนี้เป็นตัว ภวังคะ องค์ของภพของชาติ

ที่ทำให้ชีวิตนี้ดำรงอยู่เป็นไปอยู่ ไม่มีอารมณ์ก็เป็นภวังคะ

อารมณ์ ๖

 

คราวนี้เมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบ

โดยที่ตากับรูปประจวบกัน หูกับเสียงประจวบกัน ดังที่กล่าวมาข้างต้นเป็นต้น

ก็แปลว่าเป็นอารมณ์ที่มากระทบ จิตก็ออกจากภวังค์คือภาวะที่อยู่เฉยๆนั้น

น้อมออกรับรู้อารมณ์

 

อารมณ์นั้นมีพระพุทธาธิบายว่าได้แก่ เรื่องที่จิต เรื่องที่จิตดำริ

เรื่องที่จิตหมกมุ่นครุ่นคิดถึง นี้คืออารมณ์ ก็มี ๖ คือ

รูปารมณ์ อารมณ์คือรูป ก็รูปที่มาประจวบกับตานั่นแหละ

สัททารมณ์ อารมณ์คือเสียง เสียงที่มาประจวบกับหูนั่นแหละ

คันธารมณ์ อารมณ์คือกลิ่น ก็คือกลิ่นที่มาประจวบกับจมูกนั่นแหละ

รสารมณ์ อารมณ์คือรส ก็คือรสที่มาประจวบกับลิ้นนั่นแหละ

โผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะ

ก็คือโผฏฐัพพะที่สิ่งถูกต้อง ที่มาถูกต้องกับกายประจวบกับกายนั่นแหละ

ธรรมารมณ์ อารมณ์คือธรรมะอันได้แก่เรื่องราว

ก็ได้แก่เรื่องราวที่มาประจวบกับมโนคือใจนั่นแหละ

 

วิญญาณ สัมผัส เวทนา สัญญา

 

เพราะฉะนั้น จึงพึงเข้าใจว่าสิ่งที่เข้าถึงจิตนั้นคืออารมณ์ดังที่กล่าวมานี้

เพราะจะเอารูปเอาเสียงจริงๆเข้าไปใส่ในจิตนั้นไม่ได้

แต่จิตรับได้ก็คืออารมณ์คือเรื่องของรูปเรื่องของเสียงเป็นต้น ดังที่กล่าวมานั้น

และจิตที่ออกรับอารมณ์นี้ขั้นที่ ๑ ก็เป็น วิญญาณ ความรู้อารมณ์ที่เรียกว่าเห็น

เรียกว่าได้ยิน เรียกว่าได้ทราบ เรียกว่าได้รู้ได้คิดดังที่กล่าวมาแล้ว

ขั้นที่ ๒ ก็เป็น สัมผัส คือความถูกต้องถึงจิต ความกระทบถึงจิต

อันหมายถึงอายตนะภายในภายนอกที่คู่กัน กับวิญญาณที่เกิดสืบเนื่องกันไป

สามอย่างนี้มาประชุมกันก็เป็นสัมผัสกระทบใจ เป็นขั้นที่ ๒

ขั้นที่ ๓ ก็เป็น เวทนา ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

ขั้นที่ ๔ ก็เป็น สัญญา ความจำหมาย คือรู้จำ

ขั้นที่ ๕ ก็เป็น สังขาร คิดปรุงหรือปรุงคิด หรือเรียกชื่อว่า สัญเจตนา ความปรุงทางใจ

 

ตัณหา วิตก วิจาร

 

ขั้นต่อไปก็เป็น ตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก

ข้อต่อไปก็เป็น วิตก คือความตรึก ขั้นต่อไปก็เป็น วิจาร คือความตรอง

ตัณหานั้นที่เป็นตัวทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ก็เกิดขึ้นอาศัยความเป็นไปดังที่กล่าวมานี้นี่แหละ

ซึ่งมีพระพุทธภาษิตตรัสเอาไว้ว่า ตัณหานั้นก็เกิดขึ้นใน ตากับรูป วิญญาณ สัมผัส เวทนา สัญญา สังขารหรือสัญเจตนา ตัณหาเองปรากฏรูปร่างชัดเป็นตัวตัณหาขึ้นเองที่ตรงขั้นนี้

แล้วก็เป็นวิตกวิจารตรึกตรองไปตามอำนาจของตัณหานั้น ก็เกิดขึ้นดังกล่าวมานี้นี่แหละ

 

เพราะฉะนั้นเมื่อได้ตรัสสอนให้กำหนดรู้จักทุกข์

ว่าตัวขันธ์อายตนะดังที่กล่าวมานั้น เป็นตัวทุกข์อย่างไรแล้ว

จึงได้ตรัสสอนให้กำหนดให้รู้จักตัวตัณหา ซึ่งเป็นตัวสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

ว่าเกิดขึ้นตามสายดังที่แสดงมา อันนี้ต้องอาศัยสติที่กำหนดให้ว่องไวให้ทัน

แล้วจึงจะได้ปัญญาที่เป็นตัวรู้เท่า จึงจะรู้จักทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์

คือตัวตัณหาในปัจจุบัน เป็นปัจจุบันธรรม ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

ต่อไปนี้ก็ให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 *

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats