ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป105

อปัณณกปฏิปทา (๓)

พรหมวิหารธรรมข้อเมตตา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

ธรรมสมาธิ ๓

จิตตสมาธิ ๕

การปฏิบัติในกฏที่ไม่ผิด ๖

พรหมวิหารธรรมข้อเมตตา ๖

เมตตา สิเนหา ๗

การหัดแผ่เมตตา ๘

ภาวะของจิตที่เป็น มหัตตา มหาตมะ ๙

พลังต้านทานอารมณ์กระทบ ๑๐

อบรมเมตตาอาศัยโพชฌงค์ ๗ ๑๐

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๑๓๕/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๓๕ /๒ - ๑๓๖/๑ ( File Tape 126 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

อปัณณกปฏิปทา (๓)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติอบรม

ธรรมสมาธิ สมาธิในธรรม จิตตสมาธิ สมาธิแห่งจิต

เพื่อแก้ปัญหาอันเกิดขึ้นจากวาทะคือถ้อยคำต่างๆที่กล่าวขัดแย้งกัน

และก็ย่อมมีความหมายคลุมได้ถึงถ้อยคำที่ฟังตามกันมา ที่นำสืบกันมา

ที่เป็นข่าวลือต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น ( เริ่ม ๑๓๕/๒ ) ซึ่งทำให้ผู้รับฟังเกิดความสงสัย

ฟั้นเฝือ หรือเกิดความเชื่อถือปฏิบัติ หรือว่าพลอยคล้อยตามไป ตามถ้อยคำนั้นๆ

ซึ่งตนเองก็ไม่รู้เค้ามูล ไม่รู้ความจริง จึงเป็นเรื่องที่ผิดได้ถูกได้

แต่มักจะผิดมาก ถูกน้อย หรือไม่ถูกเลย

เพราะฉะนั้น จะปฏิบัติอย่างไร จึงจะเป็นการปฏิบัติไม่ผิด

จึงได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติในธรรมสมาธิ และในจิตสมาธิ

ธรรมสมาธิ

โดยธรรมสมาธินั้นเมื่อกล่าวโดยสรุปย่อ

ก็คือสมาธิตั้งใจไว้ให้มั่นในธรรม อันหมายถึงความถูกต้อง

และอย่างไรตนจึงจะรู้เป็นความถูกต้องที่เรียกว่าธรรม

อันธรรมคือความถูกต้องนี้ ไม่เป็นวิสัยที่บุคคลสามัญจะรู้ก็มี

เป็นวิสัยที่บุคคลสามัญจะรู้ได้ก็มี

ที่ไม่เป็นวิสัยนั้นก็คือว่า เรื่องที่แม้บังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้เอง

ที่ตนเองไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นด้วยตนเอง ตนเองก็ไม่อาจจะรู้ได้ นอกจาก จากคำ

ฟังคำบอกเล่าจากผู้อื่น แต่ผู้อื่นที่บอกเล่านั้นเล่า เขาก็อาจจะได้รู้ได้เห็น

หรือเขาไม่ได้รู้ไม่ได้เห็น แต่ว่าฟังตามๆกันมา นำสืบๆกันมา หรือเป็นข่าวลือ

ก็เป็นอันว่าทั้งคนที่พูดทั้งคนที่ฟังก็ต่างไม่รู้ด้วยกัน มักจะเป็นเช่นนี้โดยมาก

ก็เป็นอันว่า แม้เรื่องราวที่เป็นปัจจุบันนี้เอง ก็มีเป็นอันมากที่ตนเองไม่รู้

เพราะไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน คือไม่ได้เห็นไม่ได้รู้ด้วยตัวเองโดยตรง

ต้องฟังตามกันมาเป็นต้น ดังกล่าวมานั้น

และก็ไม่มีญาณคือความหยั่งรู้ที่จะรู้ได้ด้วยตัวเอง

นี้เรื่องในปัจจุบันนี้เอง ยิ่งเป็นเรื่องในอดีตที่ล่วงมาแล้วนาน

หรือในอนาคตข้างหน้า ซึ่งตนเองไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นในปัจจุบันนี้

และก็ไม่มีญาณที่จะรู้อดีตรู้อนาคต ก็เป็นอันว่าไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ความถูกต้องในเรื่องดังกล่าวนี้ ทุกคนจึงไม่สามารถที่จะเข้าถึงได้

แต่ว่าธรรมะคือความถูกต้องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

รู้ได้เห็นได้ด้วยตัวเองนั้น ก็คือตนเองนี่เอง คือจิตใจของตนเอง

กรรมคือความประพฤติที่ประกอบกระทำของตนเอง ที่ประกอบกระทำอยู่

นี้สามารถรู้ได้เห็นได้ ใจของตนจะคิดอย่างไร ตนเองก็รู้

การงานที่ตัวเองกระทำทางกาย คือทำทางกาย ทางวาจาคือพูด ตนเองก็รู้

ใจที่คิดอ่านอย่างไรตัวเองก็รู้ เป็นไปอย่างไรตัวเองก็รู้ นี้เป็นสิ่งที่รู้ได้

เพราะฉะนั้น ความประพฤติอันเกี่ยวแก่จิตใจ และการประกอบกระทำของตัวเอง

ทางกายทางวาจาใจนี้สามารถที่จะรู้ได้ ว่าอย่างไรเป็นธรรมะคือความถูกต้อง

อย่างไรเป็นอธรรมคือความไม่ถูกต้อง โดยที่อาการเหล่านี้อยู่ที่ตัวเอง ไม่ต้องไปดูที่อื่น

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนเข้ามาในธรรมะที่ปฏิบัติได้ ที่รู้เห็นได้ด้วยตัวเอง

คือให้มีความตั้งใจให้มั่นไว้ในธรรม อันได้แก่ธรรมะที่เป็นการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ให้มีใจตั้งมั่นอยู่ในอันที่จะทำดีพูดดีคิดดี

และอย่างไรเป็นการทำดีพูดดีคิดดี

พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนเอาไว้อย่างชัดเจน ดังจะพึงกล่าวซ้ำอีกว่า

ไม่ฆ่าเขา ไม่ลักของๆเขา ไม่ประพฤติผิดในกาม นี่เป็นความประพฤติดีทางกาย

ไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้อเหลวไหล

นี่เป็นความประพฤติดีทางวาจา

ไม่โลภเพ่งเล็งทรัพย์สมบัติของเขาเป็นของตน ไม่พยาบาทปองร้ายเขา

และไม่เห็นผิดจากทำนองคลองธรรม นี้เป็นความคิดดีทางใจ

เพราะฉะนั้น จึ่งให้มีสมาธิคือความตั้งใจมั่นอยู่

ในอันที่จะประพฤติดีทางกายทางวาจาทางใจ

ละความประพฤติชั่วทางกายทางวาจาทางใจอันตรงกันข้าม ดั่งนี้แหละคือตัว ธรรมสมาธิ

เพราะคนเราจะมีความละชั่วประพฤติดี ทางกายทางวาจาทางใจดังกล่าวนี้ได้

ก็จะต้องมีสมาธิคือความตั้งใจมั่น ตั้งใจมั่นว่าเราจะละชั่ว เราจะทำดี

เมื่อมีสมาธิคือความตั้งใจมั่นดั่งนี้ จึงจะเกิดการละชั่ว การทำดีได้

ทางกาย ทางวาจา ทางใจ ดังกล่าว

จิตตสมาธิ

และเมื่อได้ธรรมสมาธิดั่งนี้ ก็จะทำให้จิตใจนี้เองเกิดปราโมทย์คือความบันเทิง

เกิดปีติคือความอิ่มใจ เกิดปัสสัทธิคือความสงบกายสงบใจ เกิดสุข

และจิตก็จะเป็นสมาธิ เป็น จิตตสมาธิ คือ จิตเตกัคคตา

ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวเป็น จิตตสมาธิ

ดั่งนี้แหละเป็นการปฏิบัติต่อวาทะทั้งหลายที่กล่าวขัดแย้งกัน

หรือว่าต่อถ้อยคำที่พูดฟังตามๆกันมา นำสืบกันมา หรือข่าวลือต่างๆ

เป็นการที่ปฏิบัติตนอันเรียกว่า อปัณณกะปฏิปทา ปฏิบัติไม่ผิด

และการปฏิบัติไม่ผิดดังกล่าวมานี้ตรัสไว้ด้วยว่าเป็น กฏะคาหะ

กฏะก็คือกฏ กฏเกณฑ์ คาหะก็คือการถือเอา คือถือเอากฏเกณฑ์แห่งสัจจะคือความจริง

แห่งธรรมดา เป็นกฏธรรมดาที่เป็นดั่งนี้ และเมื่อมาปฏิบัติยึดกฏธรรมดาไว้

กฏแห่งความจริงไว้ดั่งนี้ ก็เป็นการปฏิบัติไม่ผิด แปลว่าไม่ปล่อยตัวไปตามวาทะต่างๆ

ไม่ปล่อยตัวไปตามถ้อยคำที่พูดสืบๆกันมาต่างๆ ข่าวลือต่างๆ

แต่ว่ายึดกฏธรรมดา กฏที่ไม่ผิดอันนี้ไว้

เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจะมีวาทะของสมณพราหมณ์มากล่าวขัดแย้งกันอย่างไรโดยรอบ

หรือจะมีเสียงที่พูดจาฟังสืบๆกันมาอย่างไร จะมีข่าวลืออย่างไร ก็ไม่ทำให้ตนเองต้องปฏิบัติผิด

ก็คือตนเองปฏิบัติยึดกฏธรรมดากฏที่ไม่ผิดนี้อยู่ เรียกว่า กฏะคาหะ

กฏะคือกฏ คาหะคือยึด ยึดกฏธรรมดากฏที่ไม่ผิดอันนี้ไว้ สำหรับตัวเองจะพึงปฏิบัติ

วาทะของอาจารย์ต่างๆจะว่าอย่างไรก็ตาม

ถ้อยคำที่พูดกันมาต่างๆจะเป็นอย่างไรก็ตาม ข่าวลือจะเป็นอย่างไรก็ตาม

ก็ไม่ทำให้ตัวเองล่องลอยไปตามได้ และตนเองนั้นยึดกฏธรรมดากฏที่ไม่ผิดนี้อยู่

คือธรรมสมาธิตั้งใจมุ่งมั่นอยู่ในอันที่จะละชั่วทำดีของตัวเอง

และก็จะได้จิตตสมาธิความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวคือแน่วแน่

ไม่ว่อกแว่กไปตามวาทะต่างๆ ตามถ้อยคำที่พูดฟังกันมาต่างๆ ข่าวลือต่างๆ

การปฏิบัติในกฏที่ไม่ผิด

เพราะฉะนั้น ข้อที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ยึดกฏแห่งความจริง

กฏที่ไม่ผิด กฏที่เป็นกฏธรรมดาที่ไม่ผิด ไว้ดั่งนี้แล้ว ก็จะมีความสวัสดีแก่ตัวเอง

และความสวัสดีแก่ผู้อื่น ในเมื่อได้แนะนำผู้อื่นให้ปฏิบัติยึดกฏที่ไม่ผิดดั่งนี้ไว้ด้วย

และในพระพุทธโอวาทที่ตรัสสอนให้ยึดกฏที่ไม่ผิดไว้ดั่งนี้ ก็ได้ตรัสสอนถึงธรรมะ

ที่จะเป็นเครื่องรักษาจิตใจให้เป็นสมาธิ คือตั้งมั่นอยู่ในทางที่จะละชั่วทำดีไว้ด้วย

สำหรับปฏิบัติ ก็คือพรหมวิหารธรรม ที่แปลว่าธรรมะของพรหม

หรือที่พรหมประพฤติปฏิบัติ ซึ่งพรหมนี้ รู้จักกันว่าเป็นชื่อของพระพรหมซึ่งเป็นเทพชั้นสูง

พรหมวิหารธรรมข้อเมตตา

แต่ว่าในธรรมะที่ตรัสสอนนี้หมายถึงพรหมในจิตใจของทุกๆคน

คือทุกคนอาจจะสร้างพระพรหมขึ้นในจิตใจของตนเองได้ และก็เป็นจิตใจชั้นสูง

เป็นจิตใจที่ประเสริฐ ก็คือจิตใจที่ประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา

จะได้แสดงจำเพาะข้อแรกก็คือเมตตา เมตตานั้นได้แก่ความมีจิตมุ่งดีปรารถนาดี

อันเป็นความรักใคร่ปรารถนาให้มีความสุขความเจริญ

เมตตาคือภาวะของจิตที่เป็นดั่งนี้

จึงมีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับภาวะของจิตที่ประกอบด้วยโทสะพยาบาท

และที่ประกอบด้วยสิเนหา คือความรักอันอาศัยกาม

กล่าวสั้น เมตตาเป็นความรักสนิทที่บริสุทธิ์ ส่วนสิเนหานั้นเป็นความรักที่เป็นกาม

เมตตาเป็นความรักเพื่อความสุขของผู้อื่น คือผู้ที่ตนมีเมตตา มีรัก

สิเนหาเป็นความรักเพื่อตน คือความรักที่จะได้สิ่งที่ตนรักมาเป็นของตน เพื่อให้ตนมีสุข

เมตตา สิเนหา

เพราะฉะนั้นเมตตากับสิเนหาจึงไม่ตรงกัน แต่ว่ามีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน

เมตตานั้นก็ปรากฏเป็นความเห็นดีเห็นงาม เป็นความงาม

สิเนหานั้นก็เป็นความเห็นดีเห็นงาม เป็นความงาม

แต่ว่าเมตตานั้นเป็นความเห็นดีเห็นงามเป็นความงามที่ผู้อื่น เพื่อผู้อื่น

ส่วนสิเนหานั้นเพื่อตน งามเพื่อตน เมตตางามเพื่อผู้อื่น

เพราะฉะนั้น ท่านจึงแสดงว่าสิเนหานั้นเป็นศัตรูที่ใกล้ต่อเมตตา

เพราะมีลักษณะที่เป็นความงามด้วยกัน เป็นความรักด้วยกัน

แต่มีลักษณะต่างกันดังกล่าว

ส่วนโทสะพยาบาทนั้นมีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับเมตตา

ท่านแสดงว่าเป็นศัตรูที่ห่างไกลของเมตตา เพราะมีลักษณะตรงกันข้าม

เมื่อโทสะพยาบาทเข้ามาสู่จิต ก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นโทสะพยาบาท ไม่ใช่เมตตา

แต่เมื่อสิเนหาเข้ามาสู่จิตอาจจะรู้ช้า หรือยังไม่รู้ในทีแรก ยังสำคัญว่าเป็นเมตตา

แต่เมื่อมาพิจารณาดูลักษณะของเมตตากับสิเนหาแล้วจึงจะรู้ได้

ว่านี่เป็นเมตตา นั่นเป็นสิเนหา หรือนี่เป็นสิเนหา นั่นเป็นเมตตา

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ทุกคนรู้จักลักษณะของโทสะพยาบาท

ให้รู้จักลักษณะของเมตตา ให้รู้จักลักษณะของสิเนหา ให้รู้จักที่ใจของตัวเองนี่เอง

ไม่ใช่รู้จักที่อื่น และเมื่อกำหนดให้รู้จักลักษณะที่ต่างกันดั่งนี้แล้ว

อะไรบังเกิดขึ้นแก่จิตใจก็ย่อมจะรู้ได้ ว่านี่เป็นโทสะพยาบาท นี่เป็นสิเนหา นี่เป็นเมตตา

ธรรมะที่เป็นพรหมวิหารนั้นต้องเป็นความรักสนิทใจที่เป็นเมตตา

เป็นความเห็นดีเห็นงามที่เป็นเมตตา

และข้อที่ว่าเห็นดีเห็นงามที่เป็นเมตตานั้นยกตัวอย่างได้ง่าย

เช่นว่า คนเกลียดจิ้งจก แต่เมื่อหัดแผ่เมตตาไปในจิ้งจก ให้จิ้งจกมีความสุข

ก็จะหายเกลียดจิ้งจก เคยเห็นจิ้งจกว่าน่าเกลียด ก็จะกลายเป็นงาม

ไม่เห็นว่าน่าเกลียด แต่เห็นว่างาม เห็นว่าควรที่จะทนุถนอมรักษา ไม่เบียดเบียนจิ้งจก

เพราะฉะนั้น เมตตาจึงทำให้เกิดความรู้สึกว่างาม แม้ในสิ่งที่เคยเห็นว่าไม่งาม

จะทำให้เกิดเป็นความรักใคร่ปรารถนาดี แม้ในสิ่งที่เกลียดชัง ดั่งนี้

การหัดแผ่เมตตา

และในการหัดแผ่เมตตานั้น ก็คือหัดแผ่ใจนี้ออกไปในบุคคล และแม้ในสัตว์เดรัจฉาน

แม้ในสัตว์ที่ตกอบาย แม้ในเทพในพรหม และมีลักษณะที่จะพึงปฏิบัติได้

ที่ตรัสสอนไว้ ว่าให้แผ่ไปโดยเจาะจง และแผ่ไปโดยไม่เจาะจง

แผ่ไปโดยเจาะจงนั้น เช่นในบุคคลที่เป็นที่รักเคารพ ในผู้นั้นผู้นี้

หรือแม้ในบุคคลที่เป็นกลางๆ หรือแม้ในบุคคลนั้นบุคคลนี้ที่เป็นศัตรูกัน

และท่านได้ยกเอาบทตั้งสำหรับกำหนดแผ่โดยเจาะจงไว้ว่า

สัพพาอิตถิโย สตรีทั้งปวง สัพเพปุริสา บุรุษทั้งปวง สัพเพอริยา อริยบุคคลทั้งปวง

สัพเพอนริยา ผู้ที่เป็นบุถุชนมิใช่อริยะทั้งปวง สัพเพเทวา เทพทั้งปวง สัพเพมนุสา มนุษย์ทั้งปวง

สัพเพวินิปาติกา สัตว์ที่ตกต่ำ หรือที่ตกอบายทั้งปวง

ส่วนโดยไม่เจาะจงนั้นท่านแสดงบทสำหรับแผ่ไว้ว่า

สัพเพสัตตา สัตว์ทั้งปวง สัพเพปาณา สัตว์มีปราณมีลมหายใจมีชีวิตทั้งปวง

สัพเพภูตา สัตว์ที่เป็นแล้วทั้งปวง คือถือภพถือชาติทั้งปวง สัพเพปุคคลา บุคคลทั้งปวง

สัพเพอัตภาวปริยาปันนา สัตว์ที่นับเนื่องอยู่ด้วยอัตภาพอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งปวง

และบทสำหรับที่จะพิจารณากำหนดจิตแผ่เมตตาไปนั้นก็คือ

อเวราโหนตุ จงอย่ามีภัยมีเวรต่อกัน อัพยาปชาโหนตุ จงอย่าเบียดเบียนกันและกัน

อนีฆาโหนตุ จงอย่ามีทุกข์กายทุกข์ใจ

สุขีอัตตานัง ปริหรันตุ จงมีสุขรักษาตนให้สวัสดีเทอญ ดั่งนี้

ภาวะของจิตที่เป็น มหัตตา มหาตมะ

( เริ่ม ๑๓๖/๑ ) การแผ่จิตออกไปดั่งนี้ ท่านสอนให้แผ่ไปในทิศเบื้องหน้า

ในทิศเบื้องขวา ในทิศเบื้องหลัง ในทิศเบื้องซ้าย ในทิศเบื้องบน ในทิศเบื้องล่าง

ในทิศเบื้องขวางโดยรอบ ตลอดโลกทั้งสิ้น โดยความเป็น มหัตตา ในที่ทั้งปวง

คำว่าโดยความเป็นมหัตตานั้นแปลได้ว่า โดยความเป็นทั้งหมดคือแผ่ไปทั่วก็ได้

โดยความเป็นอัตตาใหญ่ก็ได้ อัตตาใหญ่นั้นก็หมายความว่าให้ทุกๆสัตว์บุคคล

ที่แผ่เมตตาให้นี้ กับตัวผู้แผ่เมตตาเอง เหมือนอย่างรวมกันเข้าเป็นอัตตาเดียวกัน

เมื่อแผ่ไปตลอดโลกก็ให้เหมือนอย่างว่า ทั้งโลกรวมทั้งตัวผู้แผ่เมตตาด้วย

เป็นอัตตาเดียวกันทั้งหมด

และเมื่อเป็นดั่งนี้ทุกคนที่มีอัตตาย่อยๆแต่ละคนนั้น ต่างก็มีความรักสุขเกลียดทุกข์อยู่ด้วยกัน

แต่ว่าความรักสุขเกลียดทุกข์นี้ ถ้าไม่แผ่เมตตาแล้วก็เป็นความรู้สึกที่คับแคบ

เฉพาะตัวเอง เฉพาะผู้ที่ตัวรัก แม้ในฐานะเป็นความรักที่เป็นสิเนหาก็ตาม

เช่นเฉพาะสามีภริยาบุตรธิดา เช่นมิตรสหาย บิดามารดา ญาติพี่น้อง

ซึ่งได้มีความรักที่เป็นตัวสิเนหาประกอบอยู่เป็นพื้น ก็มุ่งให้เป็นสุข มักจะคับแคบดั่งนี้

แต่เมื่อหัดแผ่เมตตาออกไปแล้ว

จะทำให้ความรักที่เป็นความปรารถนาให้เป็นสุขไม่ให้เป็นทุกข์นี้ขยายกว้างออกไป

จนถึงมีความรู้สึกเหมือนอย่างว่าทุกๆสัตว์บุคคลที่ตนแผ่เมตตาไปนั้น

ก็ให้มีความสุขปราศจากทุกข์เช่นเดียวกันกับตน ปรารถนาให้ตนมีสุขไม่มีทุกข์อย่างไร

ทุกๆสัตว์บุคคลที่แผ่เมตตาไปนั้นก็ให้มีสุขไม่มีทุกข์เหมือนอย่างนั้น

เหมือนอย่างเป็นคนเดียวกันทั้งหมด ทั้งโลก ก็เรียกว่าเป็นมหัตตา อัตตาใหญ่

ที่มาเรียกทางสันสกฤตว่า มหาตตมะ หรือ มหาตมะ ตัวใหญ่อัตตาใหญ่

แต่มุ่งถึงลักษณะของจิตดังที่กล่าวมานี้ ไม่ได้มุ่งว่ายึดตัว ยึดถือตัวตนอันเป็นอุปาทาน

มุ่งถึงภาวะของจิตที่เป็นเมตตา คือเป็นเมตตาใหญ่นั้นเอง เรียกว่าเป็นเมตตาครอบโลก

พลังต้านทานอารมณ์กระทบ

การแผ่เมตตาดังกล่าวมานี้ เมื่อหัดแผ่ไปโดยลำดับแล้ว

ย่อมจะทำให้ภาวะของจิตนี้มีเมตตาดังกล่าวนี้ฝังลึกอยู่ในจิตใจ ประกอบอยู่ในจิตใจ

เป็นเมตตาที่บริสุทธิ์ จะมีพลังที่ต้านทานอารมณ์ที่มากระทบกระทั่งต่างๆ

อันจะนำให้เกิดความกระทบกระทั่ง ความขึ้งเคียด ความเคียดแค้น เกิดโทสะพยาบาทได้

และจะป้องกันสิเนหาอันเป็นความรักที่อาศัยกามได้

จะทำให้เมตตานี้ดำรงอยู่เป็นเมตตาที่บริสุทธิ์ และจะมีพลังที่เข้มแข็งขึ้นโดยลำดับ

อบรมเมตตาอาศัยโพชฌงค์ ๗

ทั้งก็ต้องอาศัยการที่มาปฏิบัติอบรมเมตตาข้อนี้ อิงโพชฌงค์ทั้ง๗

ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้

ที่ตรัสสอนไว้ว่าให้อบรมสติสัมโพชฌงค์ อันสัมปยุตด้วยเมตตา

อบรมธัมวิจยสัมโพชฌงค์ อันสัมปยุตคือประกอบด้วยเมตตา

อบรมวิริยะสัมโพชฌงค์ อันสัมปยุตคือประกอบด้วยเมตตา

อบรมปีติสัมโพชฌงค์ อันสัมปยุตคือประกอบด้วยเมตตา

อบรมปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ อันสัมปยุตคือประกอบด้วยเมตตา

อบรมอุเบกขาสัมโพชฌงค์ อันสัมปยุตคือประกอบด้วยเมตตา

อาศัยทางปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗ นี้ อบรมเมตตา

เพราะว่าในเบื้องต้นนั้นจะต้องมีสติความระลึกได้

คือจะต้องระลึกกำหนดถึงอารมณ์ของเมตตา คือสัตว์บุคคลนั้นๆ

ที่จะแผ่จิตออกไปด้วยเมตตา และก็ต้องระลึกให้เป็นตัวเมตตาออกไปสู่สัตว์บุคคลนั้นๆ

เหล่านี้เป็นสติทั้งนั้น จะต้องมีสตินำ

และมาถึงธัมวิจยสัมโพชฌงค์ ก็ต้องคอยมีตัวปัญญา

ที่เลือกเฟ้นธรรมในจิตใจของตัวเอง ให้รู้จักว่าภาวะที่บังเกิดขึ้นในจิตใจของตัวเองนี้

นี่เป็นปฏิฆะความหงุดหงิดกระทบกระทั่ง เป็นโทสะพยาบาท นี่เป็นเมตตา นี่เป็นสิเนหา

ต้องให้รู้ ว่าภาวะที่ผุดขึ้นในจิต ปรากฏขึ้นในจิตนั้นอะไรเป็นอะไร

และก็ต้องมีวิริยะคือเพียร คือเพียรละปฏิฆะความกระทบกระทั่ง ละโทสะพยาบาท

เพียรละสิเนหา เพียรอบรมรักษาไว้ซึ่งเมตตาให้คงตั้งอยู่ในจิต

ต้องมีวิริยะคือเพียรละและเพียรอบรมดั่งนี้อยู่ สืบจากธัมวิจยสัมโพชฌงค์ต่อเนื่องกัน

เพราะว่าเมื่อวิจัยธรรมเลือกเฟ้นธรรม รู้ว่านี่เป็นปฏิฆะความกระทบกระทั่ง

เป็นโทสะพยาบาท ก็ต้องเพียรละ รู้ว่าเป็นสิเนหาก็ต้องเพียรละ

รู้เป็นเมตตาก็รักษาไว้อบรมให้มีมากขึ้น เป็นฝ่ายอบรม

และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะได้ปีติคือความอิ่มใจ

เพราะการปฏิบัติละฝ่ายอกุศล อบรมฝ่ายกุศลให้บังเกิดขึ้นในจิตดั่งนี้

เมตตาเป็นตัวกุศล โทสะพยาบาทสิเนหาเป็นตัวอกุศล กุศลนี้เองก็ชำระจิตใจนี้เองให้บริสุทธิ์

จิตใจที่บริสุทธิ์นั้นย่อมเป็นจิตใจที่มีความสว่างไม่เศร้าหมอง

เมื่อมีความสว่างไม่เศร้าหมอง จิตใจนี้เองก็ดูดดื่มเมตตาเข้าไปได้มากขึ้น สะดวกขึ้น

และเมื่อดื่มเมตตาเข้าไปแล้ว ก็ปรากฏเป็นความอิ่มเอิบแจ่มใส

เหมือนอย่างบุคคลที่ดื่มน้ำที่บริสุทธิ์ มีความระหายดื่มน้ำที่บริสุทธิ์ ก็ย่อมมีความอิ่มเอิบ

เพราะว่าลักษณะของอกุศล คือโทสะพยาบาทหรือสิเนหานั้น ทำจิตใจให้หิวระหาย

ฉะนั้นเมื่อดื่มเมตตาเข้าไปดับความหิวระหาย ดับเหตุให้เกิดความหิวระหาย

คือโทสะพยาบาทสิเนหา จึงเกิดความอิ่มเอิบ ที่ร่างกายก็อิ่มเอิบ จิตใจก็อิ่มเอิบ

เพราะดื่มเมตตาเข้าไป ก็เป็นปีติ และเมื่อได้ปีติแล้วก็ย่อมได้ปัสสัทธิ

คือความสงบกายสงบใจ สุขกายสุขใจ ก็ได้สมาธิเป็นตัว จิตตสมาธิ

สำหรับในการปฏิบัติเบื้องต้นขึ้นมานั้นคือ

สติ ธัมวิจยะ วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ เป็นธรรมสมาธิ สมาธิในธรรม

และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะได้อุเบกขา คือความที่จิตสงบแน่วอยู่ เพ่งอยู่ในภายใน

อะไรบังเกิดขึ้นก็รู้ และจิตนี้ก็ไม่ออกไปวุ่นวาย สงบนิ่งอยู่ รู้อยู่ในภายใน รู้สงบอยู่ในภายใน

ละความยินดี ละความยินร้าย สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย

เรียกว่าเป็นอุเบกขาที่รู้อยู่กำหนดอยู่ในสมาธินั้นเอง เป็นอุเบกขาสัมโพชฌงค์

เพราะฉะนั้น แนวปฏิบัติอบรมเมตตานี้ ก็ต้องอาศัยแนวปฏิบัติในโพชฌงค์ทั้ง ๗ ดังแสดงมา

นี้เป็นข้อที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้เอง ให้อาศัยปฏิบัติโพชฌงค์นี้ในการที่อบรมเมตตา

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

อปัณณกปฏิปทา (๔)

พรหหมวิหารธรรมข้อกรุณา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

วิหิงสาความคิดเบียดเบียน ๓

อหิงสาความไม่เบียดเบียน ๕

โทมนัสที่อาศัยเรือน ๖

กรุณาในทางที่ชอบ ๗

เรื่องธิดาช่างทอหูก ๘

ทุกคนมีกรรมเป็นของๆตน ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต

ม้วนที่ ๑๓๖/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๓๖ /๒ ( File Tape 126 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

อปัณณกปฏิปทา (๔)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

จะแสดงพรหมวิหารข้อที่ ๒ คือกรุณา

อันเป็นหลักปฏิบัติทางจิตใจ เป็นมูลฐานแห่งการปฏิบัติที่ไม่ผิด

กรุณานี้ท่านแสดงคำแปลเป็นภาษาไทยโดยมากว่า ความสงสาร คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์

คือเมื่อได้เห็นหรือได้ยินว่าสัตว์บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งมีทุกข์ ก็มีจิตคิดช่วยให้พ้นทุกข์

ดังที่เรียกกันในภาษาไทยว่าสงสาร และกรุณาที่มีอาการดั่งนี้ จะต้องปราศจากวิหิงสา

คือความเบียดเบียนใครๆให้เป็นทุกข์ หรือคิดเบียดเบียนใครให้เป็นทุกข์

และปราศจากโทมนัส คือความเศร้าเสียใจที่อาศัยเรือน

อันหมายถึงอาศัยกิเลสที่เป็นตัวความรัก

อันจิตใจโดยปรกติของบุคคลนั้น

ในบางคราวก็มีความสงสารในเมื่อเห็นใครเป็นทุกข์ คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์

ในบางคราวก็มีใจประกอบด้วยวิหิงสาคือความเบียดเบียน ตั้งต้นแต่คิดเบียดเบียน

วิหิงสาความคิดเบียดเบียน

และอันวิหิงสาคือความเบียดเบียนดังกล่าวนี้

อาจมีเป็นพื้นใจของคนสามัญ เป็นต้นว่าเมื่อเกิดไฟไหม้บ้านเรือน ก็พอใจไปดู

และในขณะที่ดูนั้น ก็มักไม่ได้นึกถึงความทุกข์เดือดร้อนของคนที่ถูกไฟไหม้บ้านเรือน

คล้ายๆกับว่าพื้นของจิตใจมีความพอใจในด้านที่เกิดการทำลาย

และมิใช่เรื่องไฟไหม้อย่างเดียว

แม้ในเหตุการณ์อื่นๆซึ่งมีการทำร้ายกัน มีการบาดเจ็บเสียหาย

หรือแม้มีอุบัติเหตุเกิดความเสียหายแก่ชีวิตร่างกาย แก่ยวดยานพาหนะ

ก็พอใจมุงดูกัน และก็ไม่ได้คิดถึงผู้ที่เจ็บผู้ที่เสียหายหรือสิ่งที่เสียหายเท่าไร

จิตใจคนเป็นอันมากมักเป็นดั่งนี้ คล้ายกับพอใจในความวินาศเสียหายของใครๆ

แต่ในด้านสร้างเสริมความสุขต่างๆนั้น ก็มักไม่ค่อยจะสนใจเท่าไร

เช่นในการสร้างบ้านสร้างเรือน ก็ไม่สนใจจะดูกันเท่าไร

แต่เมื่อบ้านเรือนถูกไฟไหม้ ก็พามาดูกันมาก

เพราะฉะนั้น ทุกคนควรที่จะกำหนดดูใจของตัวเอง

และคอยระมัดระวังใจไม่ให้เกิดความคิดซ้ำเติม

อันจะเกิดเป็นบาปกรรมแก่ตัวเองโดยไม่จำเป็น โดยไม่ใช่เหตุที่จำเป็น

อันความคิดซ้ำเติม หรือแม้ความพอใจในความทุกข์ของผู้อื่นนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม

ควรจะแก้ใจของตัวเองไม่ให้เกิดความคิดซ้ำเติม มุ่งที่จะเห็นความเสียหายยิ่งๆขึ้น

แต่ควรที่จะทำใจของตัวเองให้เกิดความสงสาร

และนอกจากนี้ ยังมีบุคคลที่ฉวยโอกาส เช่นในขณะที่เกิดไฟไหม้บ้านเรือน

ก็ฉวยโอกาสหยิบฉวยเอาทรัพย์ของคนที่ถูกไฟไหม้บ้าน

หรือว่าประสบคนต้องอุบัติเหตุ ก็ฉวยโอกาสถอดเอาทรัพย์จากร่างกายของเขา

ซึ่งเป็นการฉวยโอกาสกระทำโจรกรรม อันเป็นการกระทำบาปที่น่าเกลียดน่าชัง

ในเมื่อคนอื่นเป็นทุกข์ ก็ยังฉวยโอกาส

ที่จะไปเพิ่มทุกข์ของเขาให้มากขึ้นอีก แสดงถึงชั้นของจิตใจที่ต่ำทราม

ควรที่จะหัดทำใจให้เกิดสงสาร คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ เท่าที่สามารถจะช่วยได้

เช่นเมื่อใครถูกไฟไหม้อยู่เป็นมิตรเป็นสหาย หรือแม้ไม่เป็นมิตรเป็นสหาย หากชอบไปดู

มีโอกาสที่พอจะช่วยเขาได้ก็ช่วยตามที่จะช่วยได้ เช่นรักษาทรัพย์ที่เขาขนออกมาได้

หรือเป็นญาติมิตรกันช่วยกันขนทรัพย์ออกมาเท่าที่จะทำได้ หาทางช่วยให้เขาพ้นอันตราย

ไม่ใช่ไปคิดซ้ำเติม และไม่ใช่ไปปฏิบัติเบียดเบียนทรัพย์ของเขาซ้ำเติม

เป็นโจรกรรมให้มากขึ้นไปอีก หัดใจให้มีความสงสาร คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์

และเมื่อช่วยได้ก็ช่วย เมื่อช่วยไม่ได้ก็ไม่สามารถจะช่วย แต่ก็ไม่คิดซ้ำเติม

อันความทุกข์ต่างๆนั้นที่ทุกคนได้รับกันอยู่

จากบุคคลด้วยกันเองก่อขึ้น ก็คือจากวิหิงสาคือการเบียดเบียนนั้นเอง

วิหิงสาคือความเบียดเบียนนี้ บุคคลก่อให้แก่กันเอง

ผู้ที่ก่อการเบียดเบียนแก่ผู้ใด ผู้ที่ถูกเบียดเบียนนั้นก็ต้องเป็นทุกข์

เพราะฉะนั้น หากความคิดเบียดเบียนบังเกิดขึ้น ก็ต้องคิดระงับความเบียดเบียนเสีย

การเบียดเบียนแม้ที่กล่าวมาข้างต้น คือความคิดซ้ำเติม หรือการฉวยโอกาสลักขะโมย

เมื่อเขาประสบภัยต่างๆ หรือแม้ว่าเป็นผู้ที่ก่อภัยแก่เขาเอง เยียดเบียนเขาเอง

ดั่งนี้คือวิหิงสา ซึ่งคนด้วยกันทำแก่กันเอง

และวิหิงสานี้ บางคราวก็ทำด้วยโมหะคือความหลง มุ่งความสนุก มุ่งการเป็นกีฬาเป็นต้น

มุ่งการสนุกหรือมุ่งการเป็นกีฬาเป็นต้น ก็เช่นเล่นยิงนกตกปลา

เห็นเป็นการสนุกเป็นการบันเทิง จากการที่ทำร้ายชีวิตและร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย

( เริ่ม ๑๓๖/๒ ) ไม่ได้เกิดจากความที่โกรธเคืองอะไร

เพราะฉะนั้น แม้การเบียดเบียนดั่งนี้ก็เป็นบาปเป็นอกุศลไม่ควรที่จะทำ

แม้การเบียดเบียนที่ไม่จำเป็นต่างๆ

เช่นว่ามียุงมากัดก็ตบยุงทันที การตบยุงนั้นก็เป็นการทำโทษยุงถึงตาย

แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นว่า โทษที่ยุงมากัดนั้นไม่น่าจะต้องมีโทษถึงตาย

ใช้วิธีอื่น เช่นค่อยๆปัดให้เขาไปเสีย หรือใช้ยากันยุง

หรือว่าอยู่ในมุ้งลวดเหล่านี้เป็นต้น ก็ย่อมเป็นการที่ทำได้

และนอกจากนี้ยังมีอื่นๆอีกมาก

แม้การที่กักขังสัตว์ให้อดอยากก็เป็นการเบียดเบียนอย่างหนึ่ง

การทรมาณสัตว์ก็เป็นการเบียดเบียนอย่างหนึ่ง

การที่ใช้แรงงานบุคคลด้วยกันเกินไปก็เป็นการเบียดเบียนอย่างหนึ่ง

เมื่อจ้างใช้ให้พอเหมาะพอดี ไม่ถึงกับทำให้เขาเป็นทุกข์เดือดร้อน

โดยที่มีค่าตอบแทนตามที่ตกลงกัน หรือตามที่จะพึงให้ได้ ก็เป็นการไม่เบียดเบียน

แต่เมื่อใช้แรงงานเกินไปก็เป็นการเบียดเบียน

การให้ใครทำอะไรเกินไป ทำให้ลำบากโดยที่ไม่ควรจะเป็น ก็เป็นการเบียดเบียน

อหิงสาความไม่เบียดเบียน

เพราะฉะนั้น อะไรที่ก่อความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นสัตว์อื่นแล้ว ก็พึงหลีกเลี่ยง

เป็นอหิงสาคือไม่เบียดเบียน ทั้งคนและทั้งสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย

และการที่จะละความไม่เบียดเบียนนี้ได้ ก็ต้องอาศัยการหัดแผ่จิตออกไป

ให้เกิดความสงสาร คิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ในเมื่อเขาประสบทุกข์

และแม้เขาไม่ประสบทุกข์ ก็ปรารถนาให้เขาไม่ต้องเป็นทุกข์เดือดร้อน

ไม่คิดไม่ทำอะไรที่จะให้เขาเป็นทุกข์เดือดร้อน เพราะมีความสงสาร

ดั่งนี้ ก็เป็นลักษณะของกรุณา อันตรงกันข้ามกับการเบียดเบียน

เพราะเบียดเบียนนี้เป็นตัวเหตุก่อให้ใครๆเป็นทุกข์ แต่กรุณาเป็นเหตุให้ไม่เบียดเบียน

และเป็นเหตุให้คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ในเมื่อเขาเป็นทุกข์ด้วย

โทมนัสที่อาศัยเรือน

และนอกจากนี้ความโทมนัสความเสียใจก็อาจเกิดขึ้นได้

ในเมื่อเห็นบุคคลที่เป็นที่รักเป็นทุกข์ ต้องประสบความทุกข์

หรือแม้ว่ารู้ว่าตัวเองเป็นทุกข์ ต้องประสบความทุกข์ ก็อาจเสียใจให้แก่ตัวเอง

ว่าต้องเป็นทุกข์ ความเสียใจที่เป็นโทมนัสดังกล่าวมานี้ เรียกว่าอาศัยเรือน

ท่านหมายถึงอาศัยกามที่เป็นตัวความรัก เมื่อมีความรักในผู้ใด ผู้นั้นก็เป็นที่รัก

เมื่อบุคคลเป็นที่รักเป็นทุกข์ ตัวเองก็โทมนัส รักในตัวเอง เมื่อตัวเองเป็นทุกข์ ก็โทมนัส

และแม้โทมนัสดังกล่าวนี้ ถึงว่าจะทำให้เกิดสงสารคิดจะช่วยให้พ้นทุกข์ต่อไปด้วย

แต่เป็นความสงสารคิดช่วยให้พ้นทุกข์อันประกอบด้วยโทมนัสดั่งนี้

ก็ยังมิใช่กรุณาที่บริสุทธิ์

เพราะฉะนั้น ก็ต้องปฏิบัติที่จะละโทมนัสมิให้บังเกิดขึ้น ด้วยอาศัยความคิดพิจารณาว่า

โทมนัสคือความเสียใจใดๆ ความทุกข์ใจใดๆ ความไม่สบายใจใดๆที่บังเกิดขึ้น

ในเมื่อเห็นใครเป็นทุกข์ หรือแม้ตัวเองเป็นทุกข์ เป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์

ไม่เป็นเครื่องช่วยให้บุคคลนั้นๆ หรือตนเองพ้นทุกข์ได้

ทั้งยังจะทำให้ไม่เกิดปัญญาที่จะพบทางช่วยที่เหมาะสมได้ทันท่วงที

เพราะมัวแต่เสียใจ ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ ทำให้ไม่เป็นอันคิดที่จะแก้ไข

เพราะฉะนั้นก็ต้องพิจารณาให้เห็นโทษของโทมนัส

และเมื่อเห็นโทษของโทมนัสดั่งนี้แล้ว โทมนัสก็จะสงบลงได้

ทำให้กรุณาเด่นขึ้นเป็นความสงสาร ความเห็นอกเห็นใจ ความคิดที่จะช่วยให้พ้นทุกข์

มองเห็นทางที่จะช่วยให้พ้นทุกข์ได้ถนัดขึ้น ได้ดีขึ้น ตามที่สามารถจะทำได้

และเมื่อสามารถจะช่วยได้เพียงไร ก็ช่วยเพียงนั้น

ถ้าไม่สามารถจะช่วยได้ก็คิดสงสารอยู่ในใจ ไม่คิดซ้ำเติม

และไม่เห็นสนุกไปในความทุกข์ของผู้อื่นดังที่กล่าวมาข้างต้น เห็นอกเห็นใจ

และเมื่อช่วยได้ก็ช่วยตามที่สามารถช่วยได้ โดยทางที่ถูกชอบ

กรุณาในทางที่ชอบ

บุคคลที่เป็นที่สรรเสริญพระคุณว่าประกอบด้วยกรุณา ก็คือพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา

ในทางประเทศชาติบ้านเมือง ก็ได้แก่องค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระมหากรุณา

อันที่จริงนั้น เมตตาก็ย่อมมีอยู่ หรือแม้กรุณา หรือแม้มุทิตา อุเบกขา

ก็ย่อมมีอยู่ในพระพุทธเจ้า และในพระมหากษัตริย์ผู้ทรงตั้งอยู่ในธรรม

แต่ว่ายกเอาข้อกรุณานี้ออกหน้าพิจารณาดูแล้วก็จะเห็นว่า

เพราะว่าข้อกรุณานี้แสดงออกเป็นการกระทำที่ช่วยต่างๆทางกายทางวาจา

อันเกิดจากใจที่กรุณา พร้อมทั้งเมตตา พร้อมทั้งมุทิตา อุเบกขา

แต่อาการที่แสดงออกปรากฏ อันเป็นเหตุให้ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือต่างๆนั้นพ้นทุกข์

ได้มีความสุขก็คือกรุณา อันเป็นลักษณะที่ปรากฏว่าช่วยต่างๆอย่างนั้นอย่างนี้

และการที่ช่วยนี้ทางพุทธศาสนาต้องการให้ช่วยในทางที่ชอบ

เช่นว่า บุคคลที่ต้องเป็นทุกข์เพราะเหตุต่างๆ อันควรแก่ความกรุณา

แต่ไม่สามารถจะช่วยๆได้ เช่น ผู้ต้องโทษเพราะกระทำผิด

ทางบ้านเมืองตัดสินลงโทษต้องจำคุกก็ต้องมีความทุกข์ ก็เป็นบุคคลที่พึงกรุณาสงสาร

แต่ก็ไม่สามารถจะช่วยได้ จะไปช่วยให้เขาแหกคุกหนี ดั่งนี้ก็ไม่ได้เป็นการผิดไม่ควรทำ

ต้องช่วยในทางที่ชอบ เช่นแผ่เมตตาจิตช่วยไปให้เขามีความสุขตามที่ควรจะเป็นได้

ไม่คิดซ้ำเติมให้เป็นทุกข์มากขึ้น

เรื่องธิดาช่างทอหูก

พระพุทธเจ้าเองทรงมีพระมหากรุณาแก่สัตว์โลกทุกถ้วนหน้า

และก็ทรงช่วยด้วยการทรงแสดงธรรมะสั่งสอน ให้เขาซึ่งเป็นผู้ฟังได้ปัญญาเห็นธรรม

และบรรลุมรรคผลตามภูมิตามชั้น ทรงช่วยได้ดั่งนี้ แต่จะทรงช่วยประการอื่นย่อมทำไม่ได้

ดังเช่นบุคคลที่มีกรรมมาถึงเข้า อันจะต้องถึงแก่ความตายตามกรรม

พระพุทธเจ้าจะไปทรงช่วยให้เขาไม่ต้องตายในเมื่อกรรมมาถึงเขานั้นไม่ได้

แต่ทรงช่วยได้ด้วยวิธีอื่น

ดั่งเช่นที่มีเรื่องเล่าถึงธิดาของช่างทอหูก ซึ่งตอนเช้าก็นำอาหารไปให้บิดาที่โรงหูก

พระพุทธเจ้าทรงทราบว่านางถึงวาระที่จะต้องทำกาลกิริยา คือตายในวันนั้น

จึงได้เสด็จออกไปทรงบิณฑบาตโดยปรกติ ไปดักอยู่ในทางที่ธิดาของช่างทอหูกนั้นจะต้องผ่าน

และเมื่อธิดาของช่างทอหูกนั้นผ่านไปถึง นางก็หยุดถวายความเคารพพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามปัญหาว่าจะไปไหน นางก็ตอบว่าไม่รู้

พระองค์ก็ตรัสถามอีกว่าไม่รู้หรือ นางก็ตอบว่ารู้

แล้วมีอีกสองข้อ แต่ในที่นี้จะยกมาเพียงสองข้อเท่านี้ก่อน

ประชาชนที่เฝ้าอยู่ด้วยนั้นก็กล่าวหาว่านางเจรจาไม่เคารพ

ต่อพระพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดา พูดเป็นเล่นๆ

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถามว่า เมื่อทรงถามว่าจะไปไหน

นางตอบว่า ไม่รู้ คืออย่างไร นางก็กราบทูลว่าไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่

ก็ตรัสถามอีกว่า ครั้นตรัสถามว่าไม่รู้หรือ นางตอบว่า รู้ หมายความว่าอย่างไร

นางก็ตอบว่า รู้ว่าจะต้องตายแน่ พระพุทธเจ้าก็ทรงสาธุการ

ธิดาช่างทอหูกนั้นก็ได้ดวงตาเห็นธรรม คือเป็นโสดาบันบุคคล

เมื่อเป็นโสดาบันบุคคลแล้ว จะตายเมื่อไรก็ไม่ตกทุคติ

มีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า อีก ๗ ชาติเป็นอย่างยิ่ง

เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าได้โปรดนางแล้ว ก็เสด็จต่อไป

ธิดานายช่างหูกนั้นครั้นได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วก็เดินต่อไปยังโรงหูก

บิดากำลังหลับคาหูกอยู่ ได้ยินเสียงนางเดินกุกกักเข้าไป ก็ตกใจตื่น

ก็กระชากหูกโดยแรง กระสวยของหูกก็พุ่งไปถูกอุระของนางถึงแก่ความตายทันที

พระพุทธเข้าได้ทรงช่วยดั่งนี้ ทรงรู้ว่านางจะต้องตาย แล้วก็เป็นกรรมที่มาถึงนางเข้า

อันเป็นสิ่งที่หลีกไม่พ้น พระองค์ทรงรู้แล้ว พระองค์ก็ช่วยไม่ได้ที่จะไม่ให้ตายในวันนั้น

แต่ทรงช่วยได้ในทางที่จะไปโปรดนางให้ได้ดวงตาเห็นธรรม

ให้เป็นผู้ที่มีจิตใจบรรลุถึงที่พึ่งอันแน่นอนแล้ว

ทุกคนมีกรรมเป็นของๆตน

พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้เองว่าทุกคนมีกรรมเป็นของๆตน

และพระองค์ก็มีพระญาณหยั่งทราบ อดีต อนาคต ปัจจุบัน

ทรงรู้หมดในวาระสุดท้ายของทุกๆคน แม้แต่วาระสุดท้ายแห่งชีวิตของพระองค์เอง

พระองค์ก็ทรงทราบ และจะถึงเมื่อไหร่ก็ทรงทราบ

หากว่าทรงอาศัยพระญาณหยั่งรู้ดั่งนี้เที่ยวช่วยใครต่อใคร เช่นธิดาของช่างทอหูกนั้น

ก็ช่วยเหนี่ยวรั้งเอาไว้ให้นางกลับไปบ้านเสีย อย่าไปที่โรงหูก จะได้ไม่ต้องตาย

ดั่งนี้ก็ทรงทำไม่ได้ เพราะเป็นการผิดคติธรรมดา

ฉะนั้นผู้ที่มีญาณหยั่งรู้อดีตอนาคตปัจจุบันนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่ไม่มีกิเลส

หรือมีกิเลสที่เบาบางแล้ว ไม่ทำอะไรที่ผิดธรรมชาติธรรมดา

เมื่อวาระควรจะมาถึงอย่างไรเป็นไปตามกรรม ก็ให้เป็นไปอย่างนั้น

พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติดั่งนี้

และแม้เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถูกพระเจ้าอชาตศัตรูจับขังไว้ในที่คุมขังที่เชิงเขาคิชฌกูฏ

พระองค์ก็ไม่ทรงเข้าไปเกี่ยวข้องเพราะเป็นเรื่องการเมือง และก็ทรงทราบถึงกรรม

และผลของกรรมที่พระเจ้าพิมพิสารได้ทรงปฏิบัติมาทำมา จะต้องมีวาระเป็นไปอย่างใด

แต่พระองค์ก็โปรดพระเจ้าพิมพิสาร ด้วยวิธีที่เสด็จลงจากเขาคิชฌกูฏ

ผ่านที่คุมขังของพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารก็ทอดพระเนตร

เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นเสด็จลง ก็ทรงเจริญพุทธานุสสติ ทรงมีความสุข

แม้ว่าจะไม่ได้ทรงได้พระกระยาหารเพียงพอ หรือจนถึงไม่ได้พระกระยาหาร

ก็ทรงอยู่ได้ด้วยปีติสุขอันเกิดจากพุทธานุสสติ ที่เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นลงเขาคิชฌกูฏ

ทรงช่วยดั่งนี้ อันเป็นการกระทำที่ถูกของพระพุทธเจ้า

แม้การช่วยของท่านผู้อื่นซึ่งเป็นผู้มีพระกรุณา

เช่นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงตั้งอยู่ในธรรม ก็เช่นเดียวกัน ทรงช่วยในทางที่ควรช่วยต่างๆ

ดังเช่นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระมหากรุณาช่วยประชาชน

ในด้านต่างๆดังที่ปรากฏ ในทางที่ควรช่วย ในทางที่พึงทำ อันเป็นการไม่ผิด

เพราะฉะนั้นจึงรวมเข้าว่าต้องช่วยให้ไม่ผิดด้วย ช่วยให้ถูก

ช่วยในทางที่ถูกตามควรแก่ภาวะของบุคคลนั้นๆ

เพราะฉะนั้นกรุณาจึงมีลักษณะดังที่กล่าวมานี้

ศัตรูที่ใกล้ก็คือโทมนัสดังกล่าว ศัตรูที่ไกลก็คือวิหิงสา

เพราะฉะนั้น แม้ในการปฏิบัติ ก็ต้องปฏิบัติที่จะไม่ให้วิหิงสาบังเกิดขึ้นแม้ในจิตใจ

และไม่ให้โทมนัสบังเกิดขึ้น ทั้งสองอย่าง และวิธีปฏิบัตินั้นก็อาจปฏิบัติได้

ตามวิธีปฏิบัติในโพชฌงค์ ๗ ดังที่แสดงมาแล้วในข้อเมตตา

บัดนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats