ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป106

อปัณณกปฏิปทา (๕)

พรหมวิหารธรรมข้อมุทิตา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

เหตุให้คิดทำลายล้าง ๓

คนเป็นอันมากเป็นอย่างนี้ ๔

พรหมวิหารในส่วนอันคับแคบ ๕

มักขะ ความลบหลู่คุณท่าน ๖

โทษของความริษยา ๗

สันโดษในผล ไม่สันโดษในกุศล ๘

การปฏิบัติแผ่มุทิตา ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๓๗/๑ ต่อ ๑๓๗/๒ ( File Tape 106 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

อปัณณกปฏิปทา (๕)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

จะแสดงพรหมวิหารข้อ ๓ มุทิตา

ความยินดีในเมื่อได้เห็นได้ยินได้ทราบผู้อื่นว่ามีความสุข ประสบสมบัติ มีความเจริญ

อันความพลอยยินดีด้วยผู้อื่นในเมื่อเขาประสบสุขสมบัติดังกล่าวนี้

เป็นเครื่องกำจัด อรติ ความไม่ยินดีด้วยหรือ อิสสา ความริษยา

อันความริษยานี้มาจากคำว่าอิสสา ไม่ใช่มาจากคำว่าอิจฉาดังที่มักจะพูดกัน

ว่าเมื่อเห็นเขาได้ดีมีสุขก็มีความอิจฉาตาร้อน

เพราะฉะนั้น เมื่อเรียกให้ถูกด้วยภาษาบาลีก็จะต้องเรียกว่าอิสสา

หรือไม่เช่นนั้นก็เรียกว่าริษยา

 

แต่ว่าอิจฉานี้ก็เป็นอันตรายอย่างหนึ่งของมุทิตาเหมือนกัน

แต่ว่าต้องเป็นอิจฉาคือความปรารถนากระหยิ่มอยากจะได้ในสุขสมบัตินั้นๆด้วย

เพราะอิจฉานี้แปลว่าความปรารถนา

เมื่อเห็นเขาได้ดีมีสุขก็เกิดปรารถนาอยากจะได้ดีมีสุขเช่นนั้นๆด้วย ดั่งนี้เป็นอิจฉาได้

ซึ่งท่านใช้คำเรียกว่า โสมนัส คือความยินดีพอใจ ซึ่งภาษาธรรมะเรียกว่าอาศัยเรือน

อันหมายความว่าอาศัยกามคุณ อันมีลักษณะที่ทำให้ต้องการอยากจะได้ด้วย

 

เหตุให้คิดทำลายล้าง

 

อันมุทิตานี้จะเป็นมุทิตาที่บริสุทธิ์ ก็จะต้องปราศจากอันตรายที่ใกล้

คือโสมนัสหรืออิจฉาดังกล่าว และต้องปราศจากอิสสาหรือริษยา

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าความไม่ยินดีด้วย หรืออิสสาคือความริษยานี้ เป็นสิ่งที่มีโทษมาก

เพราะเป็นเหตุให้คิดทำลายล้าง ริษยาจึงไม่ใช่หมายความว่าไม่ยินดีด้วยอย่างเดียว

แต่คิดทำลายล้างด้วย คือคิดที่จะให้เขาเสื่อมจากสุขสมบัตินั้นๆที่เขาได้

จึงได้มีพุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งที่ว่า อรติ โลกนาติกา

ความไม่ยินดีด้วยคือความริษยา ยังโลกให้พินาศ

เมื่อกลับความตรงกันข้าม มุทิตาคือความยินดีด้วยย่อมยังโลกให้เจริญให้มีสุข

 

และความริษยานี้กล่าวได้ว่า มีอยู่เป็นสันดานของคนเป็นอันมาก

ที่ไม่อยากจะเห็นใครได้ดีมีสุข แต่ตนเองนั้นต้องการได้ดีมีสุข

เมื่อคนอื่นได้ดีมีสุขก็ไม่ชอบ คิดทำลายล้าง

และอาการที่ไม่ชอบนี้ย่อมเกิดจากเหตุต่างๆประกอบอยู่ด้วย เช่น เมื่อตนได้ดีมีสุข

หากผู้อื่นได้ดีมีสุขมาเทียมเท่าเข้า ก็อาจจะแย่งความได้ดีมีสุขไปจากตน

เพราะความได้ดีมีสุขนั้นย่อมเกี่ยวกับลาภบ้างยศบ้างสรรเสริญสุขบ้าง

 

ลาภกับยศนั้นมีเป็นอันมากที่มีส่วนอันจำกัด

ยศบางอย่างหรือเรียกว่ายศทุกอย่างก็ได้มีส่วนจำกัด นี้เป็นยศในทางโลก

และผู้ที่ได้ดีมีสุขได้ครองลาภครองยศอันใดอันหนึ่งที่มีจำนวนจำกัดนั้นอยู่

ก็ย่อมไม่ปรารถนาให้ใครเจริญขึ้นมาเทียมเท่า ซึ่งอาจจะทำให้ตนต้องตกต่ำจากลาภยศนั้น

ฉะนั้นเมื่อต้องการที่จะรักษาลาภยศของตน ที่ตนครองอยู่นั้น

ก็ต้องคอยทำลายล้างผู้ที่จะเจริญขึ้นมาเทียมเท่า ดั่งนี้ก็เป็นความริษยา

 

คนเป็นอันมากเป็นอย่างนี้

 

แต่ว่าริษยาที่เป็นสันดานของมนุษย์ทั่วไปนั้น

ก็มีอยู่ที่ไม่อยากให้ใครได้ดีมีสุข แม้ว่าตนเองก็ไม่คิดว่าตนเองจะได้ดีมีสุขอย่างนั้นๆ

แต่ว่าใครได้ดีมีสุขอย่างนั้นๆก็มักจะไม่ชอบ ก็คิดที่จะให้ผู้ที่ได้ดีมีสุขนั้นต้องเสื่อมไป

จากความได้ดีมีสุขนั้นๆ สันดานของคนเป็นอันมากมักจะเป็นอย่างนี้

คือนอกจากจะมีสันดานที่ชอบเห็นความพินาศของผู้อื่นแล้ว

ยังมีสันดานที่ไม่ชอบจะเห็นความเจริญของผู้อื่นอีกด้วย

เพราะฉะนั้น อิสสาคือความริษยานี้จึงเป็นสิ่งที่มีโทษมาก

ในโลกนี้การที่ความเจริญต่างๆไม่บังเกิดขึ้นเท่าที่ควร

และที่บังเกิดขึ้นแล้วก็ถูกทำลายล้าง ก็มีเหตุมาจากอิสสา

คือความริษยาอันนี้เป็นสำคัญส่วนหนึ่ง

 

อันเหตุแห่งความพินาศตัดทอนความเจริญไม่ให้เกิดความเจริญ

นอกจากอิสสาคือริษยานี้แล้ว ก็ยังมีพยาบาทซึ่งตรงกันข้ามกับเมตตา

วิหิงสาเบียดเบียนที่ตรงกันข้ามกับกรุณาดังกล่าวมาแล้วด้วย

และยังมีราคะปฏิฆะที่ตรงกันข้ามกับอุเบกขาที่จะกล่าวต่อไป

ก็แปลว่ากิเลสทุกข้อที่ตรงกันข้ามกับพรหมวิหารธรรมนี้

ล้วนเป็นอันตรายแก่ความสุขความเจริญทั้งนั้น กล่าวจำเพาะข้ออิสสาคือริษยานี้

ก็เป็นอันตรายดังที่กล่าวมา

 

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้หัดปลูกมุทิตาจิต

คือจิตที่ประกอบด้วยความบันเทิงยินดี ต่อความสุขความเจริญของผู้อื่น

เป็นเครื่องกำจัดความริษยา

 

พรหมวิหารในส่วนอันคับแคบ

 

แต่ว่าอันมุทิตานี้มิใช่ว่าจะไม่มีในสันดานของมนุษย์

เช่นเมตตากรุณาก็เหมือนกันไม่ใช่ว่าจะไม่มี แต่ว่ามีอยู่ในส่วนอันคับแคบ

ตั้งต้นแต่มีอยู่ในความสุขความเจริญของตน เมื่อตนเองได้รับสุขสมบัติ

ได้รับความสำเร็จที่ต้องการต่างๆ ตนเองก็ย่อมจะมีความยินดี

มีความบันเทิงสุข ในความสุขความเจริญของตน ในความสำเร็จของตน

เช่นผู้ที่เป็นนักเรียนสอบไล่ สอบไล่ได้ก็มีความยินดี

ผู้ที่ทำการงานได้งานที่ต้องการ ได้ยศได้ลาภก็มีความยินดีบันเทิงใจ

นี้คือมุทิตาต่อตัวเอง

 

แต่นอกจากนี้ก็ยังมีมุทิตาต่อบุคคลซึ่งเป็นที่รักของตน

เช่นในบุตรธิดา ในบุคคลที่เป็นที่รักทั้งหลาย

เมื่อบุคคลที่เป็นที่รักได้รับความสุขความเจริญ ก็มีความบันเทิงใจยินดีด้วย

เพราะฉะนั้น อาการที่เรียกว่ามุทิตานี้จึงมีอยู่ในสันดานของคนดังกล่าว ไม่ใช่ไม่มี

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้อบรมมุทิตา ที่มีอยู่เป็นพื้นในจิตใจของตนนี้แหละ

แผ่ขยายให้กว้างออกไป ซึ่งทีแรกท่านก็สอนให้แผ่ไปในบุคคลที่เป็นที่รักก่อน

ตั้งจิตให้เขาได้รับความสุขความเจริญประสบความสำเร็จ

เมื่อเขาได้รับประสบสุขสมบัติ ได้รับความสำเร็จ ก็บันเทิงยินดี ซึ่งทำได้ง่ายอยู่แล้ว

 

จากนั้นก็ตรัสสอนให้แผ่ไปในบุคคลที่เป็นกลางๆ

เมื่อทำได้ก็สอนให้แผ่ไปในบุคคลที่เป็นศัตรู หรือที่ไม่ชอบกัน

เมื่อบุคคลที่เป็นกลางๆหรือแม้ที่เป็นศัตรูที่ไม่ชอบกันได้ความสุขความเจริญ

ก็แผ่ใจออกไปให้เขา พลอยยินดีในความสุขความเจริญของเขา

เป็นเครื่องกำจัดอิสสาคือความริษยา

 

มักขะ ความลบหลู่คุณท่าน

 

และนอกจากนี้ความพลอยยินดีดังกล่าวมานี้ ยังเป็นเครื่องกำจัด มักขะ

คือความหลบหลู่คุณท่านอีกด้วย คือท่านผู้มีคุณ จะเป็นท่านที่มีคุณต่อตนก็ตาม

มีคุณต่อผู้อื่นที่เป็นจำเพาะบุคคล หรือเป็นส่วนรวมก็ตาม

ก็อย่าให้มีความลบหลู่คุณท่านที่เรียกว่ามักขะ บางทีก็รู้ว่าท่านมีคุณ แต่ก็ลบหลู่คุณท่าน

จนถึงทำลายด้วยวิธีที่บิดเบือนความจริงกล่าวร้ายป้ายสีทั้งที่รู้ เพื่อทำลายคุณของท่าน

และเมื่อทำลายคุณของท่าน ก็ทำลายความเคารพนับถือที่มีอยู่ในท่านด้วย

และนอกจากนี้ที่ร้ายขึ้นไป ก็คือทำลายล้างกิจการต่างๆของท่านที่ท่านทำ

หรือที่ท่านได้เริ่มตั้งขึ้นไว้ให้เสียหาย หรือถ้ายังไม่มีกิจการที่ทำขึ้น

แต่ว่าได้มีแนวคิดที่ท่านให้ไว้แล้ว มีแผนผังที่ท่านวางไว้แล้ว

ในทางที่เป็นประโยชน์เป็นคุณ แต่ก็ต้องการทำลายบุคคลนั้นก็ลบหลู่

ว่าแบบแปลนแผนผังหรือแนวความคิดที่ตั้งไว้นั้นไม่ดี ก็เลิกล้างไม่ทำ

เหล่านี้เป็นมักขะคือลบหลู่ แล้วก็เป็นอกตัญญูคือเป็นผู้ที่ไม่รู้คุณที่ท่านทำไว้แล้วด้วย

แล้วก็เจือด้วยความริษยาด้วย

 

เพราะฉะนั้น หากว่าได้ปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

คืออบรมมุทิตาจิตนี้ให้บังเกิดขึ้น ยินดีพอใจในความสุขความเจริญของผู้อื่น

ตลอดจนถึงในงานการที่เป็นประโยชน์ของผู้อื่น ที่จะทำให้ผู้ที่ปฏิบัติการงานที่เป็นประโยชน์นั้น

ได้ประสบความสำเร็จในการที่จะปฏิบัติการงาน

โดยไม่ต้องกลัวว่าท่านผู้ที่ทำประโยชน์นั้นจะได้ชื่อได้เสียงได้เกียรติยศ ได้ลาภได้ผล

อันจะทำให้ตนเองต้องตกต่ำ ตัดความคิดที่ผิดความปรารถนาที่ผิดดั่งนี้เสีย

เรียกว่ามุ่งสนับสนุนคนดี สนับสนุนความดี สนับสนุนความสุขความเจริญของใครๆ

ก็จะทำให้หมู่ชนเรานี้ได้มีคนดีมีสติปัญญามีความสามารถที่จะทำดีต่างๆ

สามารถที่จะทำดีต่างๆ เพื่อความสุขความเจริญต่างๆได้ ทั้งแก่ตนเองทั้งแก่ส่วนรวม

 

ถ้าคนเราไม่ลุอำนาจของกิเลสที่เป็นความริษยา เป็นความมักขะลบหลู่คุณท่าน

เป็นความเห็นแก่ตัว ( เริ่ม ๑๓๗/๒ ) มีความยินดีในความสุขความเจริญ

ของผู้ที่ประสบความสุขความเจริญ อันรวมตลอดจนถึงในคนดีทั้งหลาย

ที่สามารถสร้างความสุขความเจริญได้ ให้แก่ตนให้แก่ส่วนรวม

อันอยู่ในลักษณะของมุทิตาด้วยอย่างนี้แล้ว ก็จะทำให้หมู่ชน ประเทศชาติ

ตลอดจนถึงโลกมีความสุขความเจริญขึ้นพร้อมๆกันมาก

แต่เพราะความริษยาดังที่กล่าวมานี่เอง จึงเป็นเหตุให้เกิดการทำลายล้างโลก

ทำลายล้างหมู่ชน ทำลายความสุขความเจริญต่างๆของโลกของหมู่ชน

 

โทษของความริษยา

 

เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงควรมองเห็นโทษของความริษยา

และไม่ต้องไปมองเห็นโทษความริษยาของใคร

ในทางธรรมปฏิบัตินั้น ก็ให้ดูความริษยาในใจของตัวเอง

เมื่อใครมีความสุขความเจริญอย่างไร แต่ใจของตัวเองมีความริษยา

ก็ให้รู้ใจของตัวเองว่านี่เป็นความริษยาเป็นสิ่งที่มีโทษไม่ควรจะมี ควรที่จะมีมุทิตา

คือความพลอยยินดี ขอให้เขาได้ตั้งอยู่ในสุขสมบัติ อย่าให้เสื่อมจากสุขสมบัติ

เหมือนอย่างที่มีมุทิตาต่อตนเอง และมีมุทิตาต่อคนที่เป็นที่รักทั้งหลาย

หัดเตือนใจตัวเอง คอยระงับความริษยา แต่ทำมุทิตาให้บังเกิดขึ้น

ตลอดจนถึงคอยระงับโสมนัสชนิดที่เป็นอิจฉา คือความปรารถนาต้องการ

ที่จะแข่งดีแข่งเจริญอันเป็นตัณหาโลภะเสียด้วย

 

แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่หมายความว่าตนเองนั้น จะหยุดไม่ทำอะไรเพื่อความสุขความเจริญของตัวเอง

ตัวเองนั้นก็ควรจะต้องปฏิบัติ มีความพากเพียรพยายาม

เพื่อสร้างความสุขความเจริญให้แก่ตัวเอง เป็นความเพียรที่เป็นส่วนเหตุ ก็ต้องทำ

แต่ว่าเมื่อทำอย่างเต็มที่แล้วผลที่ได้เท่าไรก็ยินดีเท่านั้น เป็นความสันโดษคือสันโดษในผล

เพราะว่าเมื่อได้เท่านั้น ถึงจะไปเสียใจเท่าไรก็ไม่เพิ่มขึ้นอีกได้

หรือว่าอยากได้เท่าไหร่ก็ไม่อาจจะเพิ่มขึ้นอีกได้ เพราะเป็นผลที่พึงได้เท่านั้น

ก็ควรทำความยินดีรับผลที่พึงได้เท่านั้น แต่ก็พยายามในเหตุต่อไป ไม่ยินดีในพอใจ

คือไม่สันโดษในความเพียรที่จะทำต่อไป แต่สันโดษในผล

ทั้งนี้ก็หมายความว่า ก็อย่าให้เกินพอดี คือให้อยู่ในกำลังที่จะพึงเพียรได้

และให้อยู่ในขอบเขตอันสมควรด้วย จึงจะเป็นสันโดษที่ถูกต้อง

 

สันโดษในผล ไม่สันโดษในกุศล

 

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนเอาไว้ว่าให้สันโดษในผลที่ได้ต่างๆ เช่นได้ลาภ

สำหรับภิกษุก็เช่นในปัจจัยทั้ง ๔ จีวรคือผ้านุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยาแก้ไขตามที่ได้

แต่ไม่ให้สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย คือในการที่จะประกอบความเพียร

ทำความดีปฏิบัติธรรมให้ยิ่งๆขึ้นไป ปฏิบัติในศีลก็ปฏิบัติสมาธิต่อไป ปฏิบัติปัญญาต่อไป

เพิ่มการปฏิบัติให้สูงขึ้นๆ ดั่งนี้คือไม่สันโดษในกุศลธรรมทั้งหลาย

 

พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนไว้ดั่งนี้ เพื่อให้เป็นผู้ที่จะได้เป็นคนดี เป็นบุคคลที่เป็นกัลยาณชน

จนถึงเป็นอริยชน เสมอด้วยกัลยาณชนและอริยชนทั้งหลาย ตรัสสอนให้ปฏิบัติตนเองดั่งนี้

แต่ตรัสสอนไม่ให้มีความริษยา ในการบรรลุถึงสุขประโยชน์ของใครๆ

เมื่อใครๆบรรลุสุขประโยชน์ ก็มีจิตใจโมทนายินดีในสุขประโยชน์ที่เขาได้รับ

และตนเองก็ปฏิบัติตนเพื่อให้บรรลุถึงสุขประโยชน์ดังกล่าว เพื่อให้เป็นคนดี

เสมอด้วยคนดีทั้งหลาย เมื่อใครเขาจะเป็นคนดีไปก่อนก็ให้เขาเป็นไป มีความยินดีด้วย

ตนเองต้องการเป็นคนดีบ้างก็ปฏิบัติเพื่อความเป็นคนดี ให้เป็นคนดีด้วยกัน

ดั่งนี้เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง

การปฏิบัติแผ่มุทิตา

 

เพราะฉะนั้น การอบรมจิตให้มีมุทิตานี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

ไม่ด้อยไปกว่าข้อเมตตากรุณา ต้องมีมุทิตานี้ด้วย ทำลายความริษยา

และทำลายความดิ้นรนทะยานอยากเป็นโลภะตัณหาในสิ่งที่เขาได้

ที่เรียกว่าโสมนัสหรือเรียกว่าอิจฉาดังกล่าว

 

และวิธีที่จะแผ่มุทิตา ซึ่งเป็นการหัดปฏิบัติอบรมนี้

พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนไว้ให้แผ่ไปโดยเจาะจง และโดยไม่เจาะจง

และก็ตรัสสอนไว้ให้แผ่ไปโดยเจาะจง ก็คือแผ่ไปในบุคคลที่เป็นที่รัก

ในบุคคลที่เป็นปานกลาง และในบุคคลที่เป็นศัตรูกัน เป็นการหัด

และก็แผ่ไปโดยไม่เจาะจงคือทั่วไป ดังที่ได้แสดงไว้ครั้งหนึ่งในข้อเมตตาแล้ว

และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ก็จะทำให้จิตใจนี้หายจากอิสสาริษยา

หายจากโลภะตัณหาอิจฉาที่จะแข่งดี อยากจะได้เป็นของตนด้วย

เป็นมุทิตาที่บริสุทธิ์ขึ้นในจิตใจ ซึ่งสามารถทำได้

และจะให้ผู้ที่แผ่มุทิตาจิตดังกล่าวนี้ออกไปได้มีความสุขก่อน

และใจที่มีมุทิตาดั่งนี้ก็จะทำให้ปฏิบัติในทางที่เกื้อกูลสนับสนุนกันและกัน

ให้มีความสุขความเจริญ ไม่ตัดรอนกัน

 

และความคิดแผ่นั้น ก็ดังที่ท่านผูกเอาไว้เป็นคำสวดว่าสัตว์ทั้งปวง

มาลัทธะ สัมปัติโต วิรัติชันตุ จงอย่าไปปราศจากสมบัติที่ตนได้แล้วเถิด

คือทุกๆสัตว์บุคคล เมื่อได้สมบัติที่เป็นสุขสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งของตน

ก็ขอให้ดำรงอยู่ในสุขสมบัตินั้นๆ อย่าให้เสื่อมไปจากสุขสมบัติที่ตนได้แล้ว

ดั่งนี้เป็นการหัดแผ่จิตด้วยมุทิตา

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

อปัณณกปฏิปทา (๖)

พรหมวิหารธรรมข้ออุเบกขา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

เวทนาเป็นที่ตั้งแห่งราคะโทสะโมหะ ๓

การปฏิบัติให้รู้จักเวทนาทั้ง ๓ ๔

สัจจะความจริงคือเกิดดับ ๔

เกิดดับของนาฬิกา ๕

ความมุ่งหมายของอุเบกขาพรหมวิหาร ๕

ข้อพิจารณาปลงลงในกรรม ๖

เครื่องดับความชอบความชัง ๗

หลักของใจ ๘

ความรักที่ไม่ใช่เมตตากรุณา ๙

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๓๗/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๓๘ /๑ ( File Tape 106 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

อปัณณกปฏิปทา (๖)

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 *

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

จะแสดงอุเบกขาพรหมวิหารอันเป็นข้อที่ ๔

อุเบกขานี้แปลกันว่าความวางเฉย และท่านผู้แปลได้มีอธิบายต่อท้ายว่า

ไม่ยินดีไม่ยินร้ายในเวลาที่ผู้อื่นถึงความวิบัติ ดั่งนี้ก็มี

และคำว่าความวางเฉยนี้มี ๒ อย่าง คือวางเฉยที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา

เป็นความวางเฉยที่มีอยู่แก่ทุกๆคน แม้ไม่ปฏิบัติธรรมก็มีอยู่

ดังเช่นอุเบกขาเวทนา ทุกคนย่อมมีเวทนาคือความรู้เป็นสุขบ้าง รู้เป็นทุกข์บ้าง

รู้เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขบ้าง ที่เรียตามศัพท์ภาษาบาลีว่า

สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา นี้เป็นธรรมดาของเวทนาในขันธ์ ๕ ที่ทุกๆคนมีอยู่

 

และในข้อ ๓ อทุกขมสุขเวทนา เวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข

เรียกว่าอุเบกขาเวทนาก็ได้ มีความทำนองว่าเวทนาที่เป็นกลางๆไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข

ทุกๆคนนั้นก็ย่อมจะต้องมีเวทนาทั้ง ๓ นี้อยู่ด้วยกัน ในเวลาที่ทุกคนประสบอารมณ์

คือเรื่องที่เข้ามาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางมนะคือใจ

คือตาเห็นรูปอะไร หูได้ยินเสียงอะไร จมูกได้ทราบกลิ่นอะไร ลิ้นได้ทราบรสอะไร

กายได้ทราบสิ่งถูกต้องอะไร และมโนคือใจได้รู้ได้คิดเรื่องอะไร ก็บังเกิดเป็นวิญญาณ

ซึ่งเป็นความรู้อย่างหนึ่ง คือว่าเห็น ได้ยิน ที่เราเรียกกัน อันที่จริงก็เป็นความรู้อย่างหนึ่งๆ

รู้ที่สำเร็จเป็นการเห็น รู้ที่สำเร็จเป็นการได้ยิน ต่อไปก็รู้ที่สำเร็จเป็นการทราบกลิ่น ทราบรส

ทราบสิ่งถูกต้อง และรู้ที่สำเร็จเป็นความรู้คิดเรื่อง ดั่งนี้เป็นวิญญาณ

ก็คือการเห็น การได้ยิน การได้ทราบ การได้คิด การได้รู้ สิ่งที่ประสบเหล่านั้น

 

และเมื่อเป็นวิญญาณขึ้นดั่งนี้ ก็เป็นผัสสะคือกระทบถึงจิต

ซึ่งในขันธ์ ๕ มิได้แสดงเอาไว้ ในขันธ์ ๕ นั้นแสดงต่อเป็นเวทนาทีเดียว

เมื่อเป็นผัสสะก็กระทบถึงจิต ก็บังเกิดเป็นเวทนา

คือเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข หรือเป็นอุเบกขาดังกล่าว

ซึ่งแม้สุขทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขนี้ ก็เป็นความรู้อีกนั่นแหละ

แต่เป็นความรู้ที่ปรากฏให้รู้เป็นสุข รู้เป็นทุกข์ ให้รู้เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

 

เวทนาเป็นที่ตั้งแห่งราคะโทสะโมหะ

 

อันเวทนาที่เป็นสุขเวทนานั้น ย่อมเป็นที่ตั้งแห่งความยินดี ทำให้เกิดราคะความติดใจยินดี

ทุกขเวทนา เวทนาที่เป็นทุกข์ย่อมเป็นที่ตั้งแห่งปฏิฆะกระทบกระทั่งโกรธแค้นขัดเคือง

ส่วนข้อที่ ๓ เวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช้สุขหรืออุเบกขาเวทนานั้นย่อมเป็นที่ตั้งแห่งโมหะ

คือความหลง อันหมายความว่ามิได้พิจารณาให้รู้จักปล่อยให้เลยไป คือแปลว่าไม่สนใจ

และเมื่อไม่สนใจก็ทำให้ไม่รู้จักเวทนาที่เป็นกลางๆนี้ มีเหมือนอย่างว่าไม่มี

 

คล้ายกับว่าทุกคนหายใจเข้าหายใจออกอยู่โดยปรกติ

แต่ว่าเมื่อไม่กำหนดจิตอยู่ที่ลมหายใจ ก็ย่อมไม่รู้ว่าหายใจ

แม้จะหายใจอยู่ก็เหมือนอย่างว่าไม่หายใจ ไม่รู้ว่าหายใจ

เพราะว่าไม่ได้สนใจถึง แต่ความจริงหายใจอยู่

 

การปฏิบัติให้รู้จักเวทนาทั้ง ๓

 

เพราะฉะนั้น จึงไม่รู้จักเวทนาที่เป็นกลางๆนี้ แม้จะมีอยู่ๆเป็นระยะๆ ก็ไม่สนใจ

ไม่รู้จักเวทนานี้ อันนี้แหละคือโมหะคือความหลง เป็นที่ตั้งแห่งความหลงก็คือว่าไม่รู้จัก

มักจะรู้จักแต่เวทนาที่ให้เป็นสุขให้เป็นทุกข์ ที่ให้ชอบให้ชัง

ในทางปฏิบัติพิจารณาขันธ์ ๕ นั้น ก็ต้องการที่จะให้รู้จักเวทนาทั้ง ๓ นี้

ของตนเองที่บังเกิดขึ้น สุขก็ให้รู้จัก ทุกข์ก็ให้รู้จัก เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุขก็ให้รู้จัก

คือใจจะต้องกำหนดเหมือนอย่างลมหายใจที่ยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างนั้น

ต้องกำหนดจึงจะรู้ว่าเราหายใจเข้าเราหายใจออกอยู่

 

สัจจะความจริงคือเกิดดับ

 

เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีอยู่สิ่งที่เป็นไปอยู่เป็นอันมาก เมื่อไม่มีสติที่จะกำหนด

ก็ไม่รู้จักว่ามีอยู่เป็นไปอยู่ เมื่อเป็นดั่งนี้ก็เป็นความหลง เพราะไม่รู้จัก

ต่อเมื่อมากำหนดให้รู้จักในสิ่งที่มีอยู่ที่เป็นไปอยู่ ก็ย่อมจะเห็นสัจจะ

คือความจริงของสิ่งนั้น คือเกิดดับ เหมือนอย่างเมื่อกำหนดลมหายใจเข้าออก

ก็ย่อมจะรู้จักว่าลมหายใจที่เข้าออกนี้เป็นสิ่งที่เกิดดับๆ

เกิดดับอย่างหยาบ ก็คือหายใจเข้าเกิด หายใจออกก็ดับ เป็นไปอยู่ดั่งนี้

 

แม้เวทนาก็เหมือนกัน เมื่อกำหนดให้รู้จักก็ย่อมจะมองเห็นความเกิดดับของเวทนาทุกอย่าง

แต่ว่าก่อนที่จะเห็นเกิดดับนั้น จะต้องรู้จักหน้าตาของเวทนานั้นๆก่อน

ทุกๆสิ่งก็เหมือนกัน ที่จะเห็นเกิดดับได้นั้นก็ต้องเห็นหน้าของสิ่งนั้นๆก่อน

จึงจะเห็นเกิดดับของสิ่งนั้นๆได้

เกิดดับของนาฬิกา

 

เหมือนอย่างดูนาฬิกา ก็ต้องมองเห็นหน้าปัดนาฬิกา

จะต้องมองเห็นเข็มสั้นเข็มยาว จึงจะมองเห็นว่านาฬิกานั้นเคลื่อนที่ไปอยู่เสมอ

คือเข็มสั้นเข็มยาวนั้นเคลื่อนไปอยู่เสมอ ที่เรียกว่านาฬิกาเดิน

ถ้าหากว่าไม่ดูหน้าปัดไม่เห็นหน้าปัด ก็ไม่มองเห็นเข็มสั้นเข็มยาวของนาฬิกาที่เคลื่อนไปๆ

นั่นก็คือเกิดดับของนาฬิกานั้นเอง แต่เป็นเกิดดับที่มีสันตติคือความสืบต่อ ต่อเนื่องกันไป

 

ความมุ่งหมายของอุเบกขาพรหมวิหาร

 

อุเบกขาที่เป็นอุเบกขาเวทนาดังกล่าว ที่ทุกคนมีอยู่เป็นประจำ

เมื่อไม่กำหนดให้รู้จัก ก็เป็นอุเบกขาที่เรียกว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา

เป็นอุเบกขาที่เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา

ส่วนอุเบกขาที่เป็นพรหมวิหารนี้ ถ้าจะแปลว่าความวางเฉย

ก็เป็นความวางเฉยที่ประกอบด้วยปัญญา

 

และก็ควรจะทราบว่าความมุ่งหมายของอุเบกขาในพรหมวิหารนี้

มุ่งถึงอุเบกขาในสัตว์บุคคล มีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์

เช่นเดียวกับเมตตากรุณามุทิตา ก็เป็นไปในสัตว์บุคคล มีสัตว์บุคคลเป็นอารมณ์

อุเบกขาก็เช่นเดียวกัน คือเป็นอุเบกขาในสัตว์บุคคลนั้นๆ

( เริ่ม ๑๓๘/๑ ) แต่อาการที่เป็นอุเบกขาที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้

ให้เจริญอุเบกขาพรหมวิหาร ก็คือให้พิจารณาว่า สัตว์บุคคลนั้นๆโดยเจาะจง

หรือว่าสัตว์บุคคลทั้งปวงโดยไม่เจาะจง

 

กัมมัสสกา เป็นผู้มีกรรมเป็นของๆตน กัมมะทายาทา เป็นทายาทรับผลของกรรม

กัมมะโยนิ มีกรรมเป็นกำเนิด กัมมะพันธุ มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์

กัมมะปฏิสรณโณ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย

ยังกัมมัง กริสสามิ จักกระทำกรรมอันใดไว้ กัลยาณัง วา ปาปกัง วา ดีหรือชั่ว

ตัสสะ ทายาโท ปวิสติ หรือ ภวิสสันติ จักเป็นทายาทรับผลของกรรมนั้น ดั่งนี้

 

ข้อพิจารณาปลงลงในกรรม

 

คือให้พิจารณาปลงใจลงไปในกรรม โดยพิจารณาถึงสัตว์บุคคลนั้นๆโดยเจาะจง

หรือถึงสัตว์ทั้งปวงบุคคลทั้งปวงโดยไม่เจาะจง ปลงลงไปในกรรมดังกล่าว

เช่นว่า เมื่อแผ่ใจออกไปด้วยอุเบกขาในบุคคลใดในบุคคลหนึ่งโดยเจาะจง

ก็พิจารณาว่าเขาผู้นั้นเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆตน เป็นทายาทรับผลของกรรม ดั่งที่กล่าวมา

ถ้าแผ่ไปด้วยอุเบกขาโดยไม่เจาะจง ก็แผ่ใจออกไปว่าสัตว์บุคคลทั้งปวง

เป็นผู้มีกรรมเป็นของๆตน เป็นทายาทรับผลของกรรม ดังกล่าว

และก็แผ่ถึงตนเองด้วยว่า ตนเองก็เช่นเดียวกันมีกรรมเป็นของๆตน

เป็นทายาทรับผลของกรรมดังกล่าว ตนเองฉันใด สัตว์บุคคลอื่นก็ฉันนั้น

สัตว์บุคคลอื่นฉันใด ตนเองก็ฉันนั้น

 

เมื่อแผ่ใจถึงสัตว์บุคลลนั้นๆโดยเจาะจง หรือทั้งหมดโดยไม่เจาะจง ดั่งนี้

จิตก็จะปลงลงได้ในกรรม เมื่อปลงลงได้ในกรรมดั่งนี้ ก็แปลว่าจิตวางได้ วางลงไปในกรรมได้

อันนี้คือวาง เมื่อวางลงไปในกรรมได้แล้ว ก็ย่อมจะวางความชอบหรือความชัง

ในสัตว์บุคคลนั้นๆลงได้ด้วย ในสัตว์ทั้งปวงได้ด้วย

 

เพราะว่าจะชอบก็ตาม จะชังก็ตาม

ทุกคนก็ต้องมีกรรมเป็นของๆตน เป็นทายาทรับผลของกรรมอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น ความชอบความชังนั้นจึงทำอะไรไม่ได้

จะชอบและคิดเพื่อให้เขาเจริญสักเท่าไร เขาก็เจริญไปได้ตามกรรมที่เขาทำ

หรือว่าจะชังคิดจะทำลายเขาสักเท่าไหร่ เขาก็จะต้องเป็นไปตามกรรมของเขาเอง

เมื่อกรรมเขาดี เขาก็จะต้องดีทำลายเขาไม่ได้

เมื่อกรรมเขาไม่ดี เขาก็ต้องไม่ดี จะส่งเสริมอย่างไรก็ไม่ได้

 

เครื่องดับความชอบความชัง

 

เพราะฉะนั้น เมื่อเกิดปัญญาศรัทธาเชื่อลงไปในกรรม

เห็นกรรม ปลงใจลงไปได้ดั่งนี้ จึงเป็นเครื่องดับความชอบความชังได้

และเมื่อวางลงไปได้ดั่งนี้ คือวางใจลงไปในกรรมได้ วางความชอบความชังลงไปในใครๆได้

และแม้ในตนเอง ซึ่งปรกตินั้นตนเองก็ชอบตนเองอยู่แล้ว รักตนเองอยู่แล้ว ไม่ชังตนเอง

แต่เมื่อปลงใจลงไปในกรรมได้ ว่าตนเองนั้นเมื่อทำกรรมดีก็ย่อมดีตามกรรม

เมื่อทำกรรมชั่วก็ย่อมชั่วตามกรรม จะให้ยิ่งหรือหย่อนไปกว่ากรรมที่ทำนั้นก็ไม่ได้

ก็ทำให้ปลงใจลงไปในตัวเองได้ วางความชอบความชังในตัวเองลงได้

 

และเมื่อวางลงได้ดั่งนี้ก็ย่อมจะเกิดความเฉย

อันหมายความว่าไม่ขวนขวายที่จะทำให้ผิดไปจากกรรม ให้เป็นไปตามกรรม

โดยที่ตนเองไม่ต้องทำอะไรอย่างอื่น ให้เป็นไปตามกรรม

และความที่เฉยดั่งนี้ไม่ใช่หมายความว่า เฉยจากความไม่ขวนขวายที่จะทำอะไร

ที่ควรจะทำต่างๆ เมื่อควรที่จะไปไหน จะทำอะไร จะอยู่ที่ไหนก็ไป ก็ทำ ก็อยู่

ควรที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนก็ปฏิบัติ ไม่หวั่นไหวต่อความยินดีความยินร้าย

ความหลงความกลัวต่างๆ คือเฉยต่อความยินดี เฉยต่อความยินร้าย

เฉยต่อความหลง เฉยต่อความกลัว ต่างๆ ไม่ให้ความยินดีความยินร้าย

ความหลง ความกลัว เข้ามาขัดขวางต่อการที่จะกระทำ ตามที่ควรจะกระทำ

 

และก็กระทำให้สมควร เช่นควรที่จะเมตตา ก็เมตตา

แผ่ความรักดีปรารถนาดีไปแก่บุคคลนั้นๆโดยเจาะจง หรือแก่สัตว์บุคคลทั่วไปโดยไม่เจาะจง

แผ่กรุณาความคิดสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ไปเช่นเดียวกัน

แผ่มุทิตาความพลอยยินดีไปเช่นเดียวกัน

และเมื่อได้เมตตา ได้กรุณา และได้มุทิตา ในสัตว์บุคคลที่มีความสุขความเจริญ

เมื่อเขามีความสุขความเจริญแล้วก็ไม่ต้องขวนขวายที่จะช่วยต่อไปได้

เหมือนอย่างบิดามารดาที่มีเมตตากรุณามุทิตาในบุตรธิดามุ่งให้บุตรธิดามีความสุขความเจริญ

มีทุกข์ก็ช่วยให้พ้นทุกข์ และยินดีในเมื่อบุตรธิดามีความสุขความเจริญ

และเมื่อบุตรธิดานั้นมีความสุขความเจริญเต็มที่แล้ว ไม่มีความทุกข์อะไรที่จะต้องช่วย

ก็ปฏิบัติในอุเบกขานี้เป็นความวาง วางใจ และเฉยจากการที่จะต้องขวนขวายช่วยเหลือ

เมื่อบุตรธิดาเกิดความทุกข์ก็ขวนขวายช่วยให้พ้นทุกข์ตามที่พึงช่วยได้

และเมื่อไม่สามารถจะช่วยได้ เช่นว่า เจ็บป่วยเป็นโรคที่ไม่สามารถจะรักษาได้

จะต้องทำกาลกิริยาตายจากไป ก็ต้องปลงใจลงในกรรมและผลของกรรมดังกล่าว

วางจากความยึดถือเศร้าโศก วางความรักความยึดถือ แล้วก็เฉยจากความรักความยึดถือ

แสดงอาการเป็นปรกติ ไม่เดือดร้อนวุ่นวายเพราะความทุกข์โศก ดั่งนี้ก็เป็นอุเบกขา

 

หลักของใจ

 

เพราะฉะนั้น อุเบกขาข้อนี้จึงเป็นข้อหลักที่จะเป็นหลักของใจอยู่เป็นประจำ

พร้อมกันไปกับข้อเมตตา ข้อกรุณา ข้อมุทิตา ซึ่งควรจะมีเป็นหลักของใจอยู่เป็นประจำ

เพราะว่า เมื่อมีข้ออุเบกขานี้ เพราะปลงใจลงไปในกรรมในผลของกรรมได้ในใครๆ

ในคนที่เป็นที่รักก็ดี ในคนที่เป็นปานกลางก็ดี หรือแม้ในคนที่ไม่ชอบกันก็ดี

ปลงใจลงไปในกรรมในผลของกรรมได้ ว่าเขานั้นๆแต่ละคนหรือทั้งหมดนั้น

ก็ต้องมีกรรมเป็นของๆตน ต้องเป็นทายาทรับผลของกรรม

เขาได้ดีมีสุขก็เพราะกรรม เขาได้โทษมีทุกข์ก็เพราะกรรม มีเป็นหลักของใจอยู่ดั่งนี้

 

แม้เป็นสามัญชนจะต้องมีความยึดถือว่าเป็นตัวเราเป็นของเรา

แต่เมื่อมีอุเบกขาข้อนี้อยู่ ก็จะทำให้แก้ใจตัวเองได้ ไม่ยึดถือจนเกินไปจนทำให้ปฏิบัติผิด

รู้จักผิดชอบชั่วดี ก็คือกรรมนั้นเอง

แม้ในเวลาปรกติ เช่นว่า มารดาบิดาที่เลี้ยงดูบุตรมาตั้งแต่เล็ก

เมื่อบุตรทำไม่ดีก็ต้องรู้ว่าบุตรทำไม่ดี โดยจะต้องสอบถามสอบสวน

เมื่อรู้ว่าบุตรทำไม่ดีก็ต้องว่ากล่าวตักเตือน ให้ละชั่วและให้ทำดี

และแม้ว่าบุตรของตนบุตรของเขาทะเลาะกัน ก็ไม่ลำเอียงเข้ากับบุตรของตน

พิจารณาให้รู้จักว่าใครผิดใครถูก เมื่อบุตรของตนผิดก็ต้องรับว่าผิด แล้วก็ต้องว่ากล่าวตักเตือน

ดั่งนี้ก็เพราะอุเบกขานี่แหละ คือมีใจที่เป็นกลาง เป็นกลางได้ก็เพราะว่าปลงลงไปในกรรมได้

ไม่รักเสียจนไม่รู้ผิดไม่รู้ถูก ซึ่งความรักเช่นนั้นไม่ใช่เป็นความรักที่เป็นเมตตา

 

ความรักที่ไม่ใช่เมตตากรุณา

 

แต่เป็นความหลงไหล เป็นความรักหลง

และความรักหลงนี้ไม่ชื่อว่ามีเมตตา ไม่ชื่อว่ามีกรุณา ต่อคนที่รัก

ดังเช่นนิทานที่แสดงเรื่องพ่อแม่เลี้ยงลูกให้เป็นโจร

เมื่อลูกตั้งแต่เป็นเล็กๆ ไปลักขะโมยของใครมาพ่อแม่ก็ดีใจชมเชย

ก็ทำให้ลูกนั้นเกิดความสำคัญผิดว่าขะโมยนี่ดีแม่ชมพ่อชม

ก็ทำบ่อยๆจนติดสันดานเป็นโจร ในที่สุดก็เป็นโจรต้องถูกจับลงโทษตามบ้านเมือง

รักดั่งนี้ไม่ใช่รักที่เป็นเมตตาเป็นกรุณา แต่เป็นรักที่ผิด

เพราะเหตุว่าขาดหลักของอุเบกขาที่รู้จักผิดรู้จักชอบ เพราะปลงใจลงในกรรมนี้เอง

ทำให้เกิดความลำเอียง ไม่เที่ยงธรรม

 

และผู้ที่มีหน้าที่ในด้านที่จะตัดสินคดีความ ก็ต้องมีอุเบกขานี้เป็นหลัก

จึงจะปราศจากความลำเอียง มุ่งเอาผิดเอาถูกเป็นที่ตั้ง

ไม่มุ่งว่าโจทย์จำเลยเป็นญาติของตน หรือให้สินบนแก่ตนอะไรเหล่านี้เป็นต้น

แต่มุ่งเอาผิดเอาถูกเป็นที่ตั้ง วางได้จากความโลภ ความรัก ความชัง ความหลง

และความกลัวต่างๆ ชี้ผิดว่าผิด ชี้ถูกว่าถูก ตามความเป็นจริง โดยไม่ลำเอียง

ดั่งนี้ก็เพราะมีอุเบกขาวางได้ ลงไปในกรรมคือในข้อผิดข้อถูก วางได้จากความชอบความชัง

แล้วก็เฉยได้จากความชอบความชังความหลงและความกลัวต่างๆ

ไม่หวั่นไหวในอันที่จะรักษาความเที่ยงธรรม ดั่งนี้เพราะมีอุเบกขา

เพราะฉะนั้นทั้ง ๔ ข้อนี้ก็จำเป็นต้องมีทั้งนั้น

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats