ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป126

กุศลวิตก อกุศลวิตก

วิตกวิจารในอารมณ์ของสมาธิ

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

ข้อที่ตรัสสอนให้ปฏิบัติเกี่ยวแก่วิตก ๓

ธรรมดาของจิตเป็นดั่งนี้ ๕

ข้อพึงปฏิบัติในอกุศลวิตก ๖

ข้อพึงปฏิบัติในกุศลวิตก ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๖๔/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๖๕/๑ ( File Tape 126 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

กุศลวิตก อกุศลวิตก

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ในการปฏิบัติจิตตภาวนาสมาธินั้น

ต้องอาศัยแนวปฏิบัติตามองค์ฌานทั้ง ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

และ ๒ ข้อแรกคือ วิตก วิจาร นั้นต้องใช้ตั้งแต่ในเบื้องต้น ในขั้นบริกัมมภาวนา

คือการภาวนาบริกรรม อันหมายความว่าต้องกำหนดใจถึงกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่ง

ที่เรียกว่าเป็นอารมณ์ของสมาธิ คือเป็นที่ตั้งของสมาธิ

 

การยกจิตขึ้นสู่กรรมฐาน หรืออารมณ์ของสมาธิ เรียกว่า วิตก

ความคอยประคองจิตไว้ให้อยู่ในกรรมฐาน หรืออารมณ์ของสมาธิ เรียกว่า วิจาร

ต้องมี ๒ ข้อนี้เป็นเบื้องต้นเริ่มปฏิบัติ อันเรียกว่าบริกรรมภาวนา

พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงวิตกคือความตรึกของจิตใจไว้เป็นอันมาก

เพราะวิตกทั่วไปนั้นก็คือความตรึกนึกคิด

จนถึงได้มีพระพุทธภาษิต

ตรัสตอบปัญหาที่มานพผู้หนึ่งได้กราบทูลถามว่า อะไรเป็นเครื่องผูกพันโลกไว้

โลกมีอะไรเป็นเครื่องผูกพัน อะไรเป็นที่เที่ยวไปของโลกนั้น ก็ตรัสตอบว่า

โลกมีนันทิคือความเพลินเป็นเครื่องผูกพัน อันนันทิคือความเพลินย่อมผูกพันโลกไว้

และวิตกคือความตรึกนึกคิดเป็นที่เที่ยวไปของโลกนั้น

ซึ่งโลกก็หมายถึงสัตว์โลก มนุษย์ก็เป็นสัตว์โลกจำพวกหนึ่ง

 

เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า คนเราทุกๆคนโดยปรกติสามัญนั้น

ย่อมมีนันทิคือความเพลินเป็นเครื่องผูกพันไว้

และคนเรานั้นย่อมมีวิตกคือความตรึกนึกคิดเป็นที่เที่ยวไป

ดั่งจะเห็นได้ว่าจิตใจนี้ของทุกๆคน ย่อมผูกพันอยู่ด้วยความเพลินในอารมณ์นั้นๆ

ในเรื่องนั้นๆ ในสิ่งนั้นๆ และจิตใจนี้ย่อมเที่ยวไปโน่นเที่ยวไปนี่ ด้วยวิตกคือความตรึกนึกคิด

คือคิดไปนั้นเอง ตัวความคิดคือวิตกจึงเป็นที่เที่ยวไปของโลก คือสัตว์โลก

โดยตรงคือของจิตนี้เอง

 

ข้อที่ตรัสสอนให้ปฏิบัติเกี่ยวแก่วิตก

 

พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติเกี่ยวแก่วิตกคือความคิดของใจจิตของทุกคน

ว่าพระองค์เองเมื่อยังทรงเป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ ทรงปฏิบัติแสวงหาความตรัสรู้

ได้ทรงปฏิบัติด้วยการกระทำวิตกคือความตรึกนึกคิดของพระองค์เองให้เป็น ๒ ส่วน

คือให้เป็นอกุศลวิตกความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลส่วนหนึ่ง

ให้เป็นกุศลวิตกคือความตรึกนึกคิดที่เป็นกุศลอีกส่วนหนึ่ง

คือพระองค์ได้ทรงตั้งความเพียร เป็นผู้ไม่ประมาท คือไม่เลิ่นเล่อเผลอเพลินมัวเมา

มีสติกำหนดดูวิตกคือความคิดของพระองค์ที่เป็นไปอยู่

เมื่ออกุศลวิตกคือความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลข้อใดข้อหนึ่งบังเกิดขึ้น ก็ทรงรู้

คือเมื่อกามวิตกความตรึกนึกคิดไปในกาม คือในเรื่องรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง

ที่ใคร่ที่ปรารถนาที่พอใจ หรือด้วยอำนาจกามคือความใคร่ปรารถนาพอใจ ก็ดี

ความตรึกนึกคิดไปในทางทำร้ายหมายล้างผลาญผู้อื่นใครๆบังเกิดขึ้น ก็ทรงรู้

หรือว่าความตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียนใครๆบังเกิดขึ้น ก็ทรงรู้

ว่าบัดนี้กามวิตกความตรึกนึกคิดไปในกามบังเกิดขึ้น

พยาบาทวิตกความตรึกนึกคิดไปในทางทำร้ายหมายล้างผลาญผู้อื่นเกิดขึ้น

วิหิงสาวิตกความตรึกนึกคิดไปในทางเบียดเบียนบังเกิดขึ้น

ความตรึกนึกคิดข้อใดข้อหนึ่งเหล่านี้ทั้งหมดเป็นอกุศล มีโทษ เป็นเครื่องดับปัญญา

เป็นฝ่ายทำให้คับแค้นใจ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพานคือความดับกิเลสและกองทุกข์

เมื่อทรงพิจารณารู้จักดั่งนี้ วิตกอกุศลดั่งกล่าวก็จะตั้งอยู่ไม่ได้ ต้องดับไป สงบไป

 

และเมื่อวิตกคือความตรึกนึกคิดที่ตรงกันข้าม คือที่เป็นกุศลบังเกิดขึ้น ก็ทรงรู้

คือเมื่อความตรึกนึกคิดไปในทางออกจากกามบังเกิดขึ้น ไม่ติดอยู่ในกามบังเกิดขึ้นก็ทรงรู้

ว่านี่คือเนกขัมมวิตก ความตรึกไปในทางออก

หรือเมื่อความตรึกนึกคิดไปในทางไม่ปองร้ายหมายล้างผลาญบังเกิดขึ้น

แต่เป็นไปด้วยเมตตากรุณาหมายเกื้อกูล ก็ทรงรู้

หรือเมื่อความตรึกนึกคิดไปในทางไม่เบียดเบียน

แต่เป็นไปในทางช่วยสงเคราะห์อนุเคราะห์บังเกิดขึ้นก็ทรงรู้

 

ว่าข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้งหมดเหล่านี้เป็นกุศล

คือเป็นเนกขัมมวิตก ความตรึกนึกคิดไปในทางออกจากกาม

อัพยาบาทวิตกความตรึกคิดไปในทางไม่พยาบาทปองร้ายหมายล้างผลาญ

อวิหิงสาวิตกความตรึกนึกคิดไปในทางไม่เบียดเบียน

และก็ทรงทราบด้วยการพิจารณาว่ากุศลวิตกเหล่านี้เป็นกุศล มีอานิสงส์คือมีคุณไม่มีโทษ

เป็นเครื่องเจริญปัญญา ไม่เป็นฝักฝ่ายคือทำให้คับแค้น

เป็นไปเพื่อนิพพานคือความดับกิเลสและกองทุกข์

 

ธรรมดาของจิตเป็นดั่งนี้

 

อนึ่ง ทรงทราบธรรมดาของจิตด้วย

ว่าจิตนี้ย่อมน้อมไปได้ตาม วิตกคือความตรึก วิจารคือความตรอง

กล่าวคือเมื่อตรึกตรองไปมากๆบ่อยๆ ด้วยอกุศลวิตก คือเป็นกามวิตกบ้าง

พยาบาทวิตกบ้าง วิหิงสาวิตกบ้าง จิตก็ย่อมน้อมไปในอกุศลวิตกเหล่านี้มาก

ย่อมไม่น้อมไปในฝ่ายตรงกันข้ามคือฝ่ายกุศล และถ้าหากว่าตรึกตรองไปในทางกุศลมาก

คือในทางเนกขัมมวิตก อัพยาบาทวิตก อวิหิงสาวิตก จิตก็น้อมไปมากในกุศลทั้งหลาย

 

เพราะฉะนั้น วิตกวิจารคือความตรึกความตรองของจิตนี้จึงเป็นปัจจัยสำคัญ

ที่จะเป็นเหตุให้จิตใจนี้น้อมไปได้ตามทางที่วิตกวิจารไป

เมื่อวิตกวิจารไปในทางอกุศลมาก จิตก็น้อมไปในทางอกุศลมาก

เมื่อวิตกวิจารไปในทางกุศลมาก จิตก็น้อมไปในทางกุศลมาก

เป็นธรรมดาของจิตเป็นดั่งนี้

 

เพราะฉะนั้น พระองค์จึงคอยกำหนดดูจิตของพระองค์เอง

ว่าจิตบังเกิดขึ้นอย่างใร คือมีวิตกวิจารบังเกิดขึ้นอย่างใดในจิต

พระองค์มีความเพียร มีความไม่ประมาท ไม่เลิ่นเล่อเผลอเพลิน

เมื่ออกุศลวิตกบังเกิดขึ้นทรงทราบ ก็ทรงจับพิจารณาทันที ให้รู้จักว่านี่เป็นอกุศลมีโทษ

เป็นเครื่องดับปัญญา เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปเพื่อนิพพาน

ด้วยอำนาจแห่งสติที่กำหนด และปัญญาที่รู้ดั่งนี้ อกุศลก็ย่อมจะดับ

 

และเมื่อฝ่ายกุศลจิตคือกุศลวิตกบังเกิดขึ้น พระองค์ก็ทรงรู้อีกว่านี่เป็นกุศล มีคุณ

เจริญปัญญา ไม่เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน

คือความดับกิเลสและกองทุกข์ และเมื่อทรงรู้ดั่งนี้วิตกฝ่ายกุศลนั้นก็ย่อมจะตั้งอยู่

และย่อมจะเจริญยิ่งขึ้น

ข้อพึงปฏิบัติในอกุศลวิตก

 

และได้ทรงทราบความเป็นไปของจิตในขณะที่ประกอบด้วยอกุศลวิตก

กับความเป็นไปของจิตในขณะที่ประกอบด้วยกุศลวิตก ว่าแตกต่างกัน

และการปฏิบัติก็แตกต่างกัน คือในขณะที่จิตเป็นไปด้วยอกุศลวิตกมีกามวิตกเป็นต้น

การปฏิบัติในการสำรวมระวังจิต ข่มจิต จะต้องมีมาก

( เริ่ม ๑๖๕/๑ )

ซึ่งเปรียบเหมือนอย่างคนเลี้ยงโค ที่ได้นำฝูงโคไปเลี้ยงในแถวที่สุดบ้าน

ซึ่งเป็นเขตทำนา ในเดือนท้ายแห่งฤดูฝน ข้าวกล้ากำลังงอกงามอยู่ในนาทั่วไป

การที่จะต้อนฝูงโคให้เดินไปตรงๆตามทาง ไม่ให้โคตัวใดตัวหนึ่งหันซ้ายหันขวา

ไปกินรวงข้าวของชาวนานั้นเป็นสิ่งที่ทำยาก คนเลี้ยงโคต้องคอยระมัดระวังโค

ต้องใช้ปฏักตีบ้างทิ่มแทงบ้าง เพื่อให้โคไม่กล้าเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาไปกินข้าวของชาวนา

ให้เดินตรงไปตามทาง ต้องมีความระมัดระวังกวดขันโคอย่างเต็มที่

จึงจะนำโคให้เดินไปโดยไม่แวะซ้ายขวา ไปทำข้าวของชาวนาให้เป็นอันตรายดังกล่าว

เพราะกลัวที่จะถูกเจ้าของข้าวเจ้าของนาเขาโกรธแค้นขัดเคืองด่าว่าเอาบ้าง ทำร้ายเอาบ้าง

ก็ปล่อยให้โคไปกินข้าวของเขา เพราะฉะนั้นจึงต้องคอยควบคุมอยู่อย่างใกล้ชิด

เมื่อถึงคราวที่จะใช้ปฏักตีก็ต้องใช้ปฏักตี ใช้ปฏักแทงก็ต้องใช้ปฏักแทง

บังคับให้โคเดินไปตามทาง

 

จิตนี้ก็เช่นเดียวกัน ในขณะที่เป็นไปด้วยอกุศลวิตกมีกามวิตกเป็นต้น

ก็จะต้องมีสติควบคุมระมัดระวัง มีปัญญาคอยข่ม

เพื่อให้อกุศลวิตกเหล่านั้นสงบลงมากฉันนั้น ถึงคราวที่จะต้องแนะนำจิตก็ต้องแนะนำ

ถึงคราวที่จะต้องดุว่าจิตก็ต้องดุว่า เพื่อเหมือนอย่างบังคับให้จิตนี้สละอกุศลวิตกเหล่านั้น

และดำเนินไปตรงทางแห่งสมาธิที่ต้องการ เพราะฉะนั้นการปฏิบัติควบคุมจิตระงับจิต

ในขณะที่จิตเป็นไปกับด้วยกามวิตกเป็นต้น จึงเป็นของทำยาก

แต่เมื่อมีความเพียรทำจริง มีความไม่ประมาท ไม่เลิ่นเล่อเผลอเพลิน

คือไม่มีนันทิคือความเพลินผูกเอาไว้ ต้องพยายามละนันทิคือความเพลิน

ซึ่งเป็นเครื่องผูกใจเอาไว้เสียด้วย จึงจะทำให้กามวิตกเป็นต้นนั้นสงบลงได้ ละเสียได้

 

ข้อพึงปฏิบัติในกุศลวิตก

 

แต่ว่าเมื่อสามารถวิตกคือตรึกนึกคิดไปในกุศลที่ตรงกันข้าม

เป็นเนกขัมมวิตกเป็นต้นได้แล้ว จิตน้อมมาในทางกุศลได้แล้ว จิตก็จะมีความสงบ

และดำเนินไปตรงต่อสมาธิได้ดี การที่จะต้องควบคุมจิตอย่างเข้มงวดก็ลดลง

จะปฏิบัติสบายเข้า จึงเปรียบเหมือนอย่างว่า ชาวนาที่นำโคไปเลี้ยงในแถวที่สุดบ้าน

ซึ่งเป็นที่นาของชาวบ้าน ในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน ยังไม่ใช่เป็นฤดูเพาะปลูกไถหว่าน

ก็ปล่อยให้โคเที่ยวกินหญ้าไปตามที่เหล่านั้น ส่วนคนเลี้ยงโคเองนั้นก็นั่งพักนอนพัก

อยู่ที่โคนไม้บ้าง ในที่แจ้งบ้าง ไม่ต้องคอยติดตามโคอย่างใกล้ชิด

ไม่ต้องใช้การตีการแทงโคด้วยปฏัก เพราะว่าโคก็กินแต่หญ้าไปตามเรื่อง

ไม่มีข้าวอยู่ในนาของชาวบ้านที่โคจะไปกินของเขา ทำให้เขาเสียหาย

คนเลี้ยงโคจึงปล่อยโคให้กินหญ้าอยู่ตามสบาย ตัวเองก็นอนหรือนั่งใต้ต้นไม้หรือในที่แจ้ง

คอยดูแต่เพียงว่าโคอยู่ที่นั่น เท่านั้น

 

จิตที่น้อมมาได้ในกุศลวิตกแล้วก็เช่นเดียวกัน ก็ปล่อยจิตให้ตรึกไปในกุศลได้

และตัวจิตเองนั้นก็พักอยู่ เหมือนอย่างคนเลี้ยงโคนั่งพักนอนพักอยู่ใต้ต้นไม้หรือในที่แจ้งนั้นเพียงแต่ทำความรู้ว่านั่นคือจิตที่คิด หรือนั่นคือวิตกคือความตรึก คือว่าธรรมะเหล่านั้น

อันหมายความว่านั่นคือวิตกคือความตรึกที่เป็นกุศลอย่างนั้นเท่านั้น

 

เพราะฉะนั้น เมื่อสามารถปฏิบัติอยู่เนืองๆบ่อยๆ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

คือให้ทำความรู้จักจิตของตนที่คิดไปอย่างไร แล้วคอยจำแนกให้รู้ว่า

ถ้าคิดอย่างนี้เป็นอกุศล ก็เหมือนอย่างว่าจัดเอาไว้กองหนึ่ง ส่วนหนึ่ง

คิดอย่างนี้เป็นกุศล ให้รู้ดั่งนี้ก็เหมือนอย่างว่าจัดเอาไว้อีกกองหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง

คอยมีสติกำหนดดูให้รู้จัก แยกหมู่แยกกองกันอยู่อย่างนี้

พร้อมทั้งมีสติกำหนดและพิจารณา ปัญญาพิจารณาให้รู้จักโทษของฝ่ายอกุศลที่บังเกิดขึ้น

อานิสงส์คือคุณประโยชน์ของฝ่ายกุศลที่บังเกิดขึ้น ซึ่งแตกต่างกันดังที่ตรัสสอนไว้ดั่งนี้

 

ปฏิบัติดั่งนี้ก็จะเป็นเครื่องกันจิตด้วยสติหรือด้วยปัญญานั้นเอง

ไม่ให้น้อมไปในฝ่ายอกุศล แต่ให้น้อมมาในฝ่ายกุศล

และเมื่อทำอยู่อย่างนี้ได้เสมอๆแล้ว ก็จะสามารถป้องกันจิตได้

มิให้น้อมไปในทางอกุศลมาก แต่ให้น้อมไปในกุศลมาก

และเมื่อน้อมไปในกุศลมากเนืองๆอยู่ดั่งนี้

ก็จะทำให้จิตอยู่ตัวในฝ่ายกุศล หรือในทางกุศลมากขึ้นๆ

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

 

*

 

ข้อที่ทรงปฏิบัติเมื่อก่อนจะตรัสรู้

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

ความตรึกแม้ในทางกุศลก็อาจเกิดโทษ ๓

การปฏิบัติในขั้นบริกรรมภาวนา ๔

ขณิกะสมาธิ อุปจาระสมาธิ อัปปนาสมาธิ ๕

พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติมาโดยทางนี้ ๖

มิจฉามรรค สัมมามรรค ๖

กามาวจรสัตว์ ๗

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ ดีเยี่ยม

ม้วนที่ ๑๖๕/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๖๕/๒ ( File Tape 126 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

ข้อที่ทรงปฏิบัติเมื่อก่อนจะตรัสรู้

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

 

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงข้อปฏิบัติ

ซึ่งพระองค์ได้ปฏิบัติมาเมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ก่อนจะตรัสรู้

ว่าได้ทรงปฏิบัติตั้งสติกำหนดรู้วิตกคือความตรึก ทำให้เป็น ๒ ส่วน

คือเมื่อจิตวิตกคิดนึกไปในทางอกุศล ก็ทำสติกำหนดรู้ พร้อมทั้งโทษ

ก็จะทำให้ความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลนั้นสงบได้

และเมื่อทรงตรึกนึกคิดไปในทางกุศล ก็ให้ทำสติกำหนดรู้

ความตรึกนึกคิดที่เป็นกุศลนั้นก็จะตั้งอยู่

 

ทรงทำสติกำหนดรู้ความตรึกนึกคิดในจิตของพระองค์เองให้เป็น ๒ ส่วนอยู่ดังนี้

เมื่อฝ่ายอกุศลเกิดขึ้นก็ให้รู้ว่านี่อกุศล ไม่ดี เมื่อฝ่ายกุศลเกิดขึ้นก็ให้รู้ว่านี่กุศล ดี

เหมือนอย่างแบ่งออกเป็น ๒ กอง เมื่ออกุศลเกิดขึ้นก็จับใส่เข้ากองอกุศล

เมื่อกุศลเกิดขึ้นก็จับใส่เข้าในกองกุศล ทรงกำหนดรู้พร้อมทั้งโทษและคุณ

เมื่อเป็นดั่งนี้ฝ่ายอกุศลก็จะสงบ ฝ่ายกุศลก็จะตั้งอยู่

 

และได้ทรงแสดงถึงธรรมชาติธรรมดาของจิตใจ

ว่ามีปรกติที่น้อมไปตามวิตกวิจาร คือความตรึกความตรองของจิตใจนี้เอง

เมื่อวิตกวิจารตรึกตรองไปในทางอกุศลมาก จิตก็น้อมไปในทางอกุศลมาก

ไม่น้อมไปในทางกุศล แต่เมื่อวิตกวิจารตรึกตรองไปในทางกุศลมาก

จิตก็น้อมไปในกุศลมาก ไม่น้อมไปในอกุศล

 

ความตรึกแม้ในทางกุศลก็อาจเกิดโทษ

 

และแม้ว่าจะได้น้อมจิตไปในทางกุศล ความตรึกตรองที่เป็นกุศลนั้นก็ตั้งอยู่

ก็อาจจะตรึกตรองในทางกุศลนั้นไปได้ตลอดคืนตลอดวัน

แต่ว่าเมื่อวิตกวิจาร คือตรึกตรองไปแม้ในทางกุศลมากเกินไป

กายก็จะบอบช้ำเมื่อยล้า จิตก็จะฟุ้งขึ้น จะเหน็ดเหนื่อย

เพราะฉะนั้น การตรึกตรองไปแม้ในทางกุศลเองที่นานเกินไป มากเกินไป ก็ให้เกิดโทษได้ดั่งนี้

จึงได้ทรงหยุดตรึกตรองแม้ในทางกุศลนั้น รวมจิตเข้ามาตั้งอยู่ในภายใน สงบอยู่ในภายใน

จิตก็จะตั้งเป็นสมาธิได้อยู่ในภายใน โดยมีอารมณ์เป็นอันเดียว

ไม่ตรึกตรองไปมากเรื่องยืดยาว จิตก็สงบได้

 

ตามที่ทรงปฏิบัตินี้พิจารณาดูแล้วก็จะจับความได้ว่า

ในขณะที่ได้ทรงปล่อยให้จิตวิตกวิจารคือตรึกนึกคิดไป

แต่ว่าทรงมีสติตามดูจิตที่คิดไปนั้น คอยรู้จิตที่คิดไปนั้น

เมื่อเป็นอกุศลก็รู้ว่านี่เป็นอกุศล มีโทษ เมื่อเป็นกุศลก็รู้ว่านี่เป็นกุศล มีคุณประโยชน์

จนถึงฝ่ายอกุศลสงบลงได้ ตั้งอยู่แต่ฝ่ายกุศล แต่ก็ปล่อยให้จิตตรึกตรองไปในฝ่ายกุศล

นานเท่านานก็ตรึกตรองไปได้ ตลอดคืนก็ได้ ตลอดวันก็ได้

แต่ว่าปล่อยให้จิตตรึกตรองไปในฝ่ายกุศล นานเกินไปก็มีโทษดังกล่าว

กายก็บอบช้ำกระสับกระส่าย จิตก็ฟุ้งขึ้น ไม่สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ

 

การปฏิบัติในขั้นบริกรรมภาวนา

 

ในขณะที่ปฏิบัติดั่งนี้ก็กล่าวได้ว่าเป็น บริกรรมภาวนา

คือเป็นการปฏิบัติอบรมจิตฝึกจิตในทางบริกรรม คือวิตกวิจารตรึกตรองไป

แต่ว่ามีสติคอยตามรู้ ตามดู ตามเห็น จิตว่าเป็นอย่างไร

จนถึงเมื่อได้ทรงหยุดตรึกตรองไปแม้ในทางกุศลนั้น

รวมจิตเข้ามาตั้งอยู่ในภายใน เพียงจุดเดียว

 

หากจะยกเอาสติปัฏฐานขึ้นมาเป็นที่ตั้ง

ก็อาจยกขึ้นมาได้ว่า ตั้งสติคอยตามดูกาย เวทนา จิต ธรรม

ให้รู้แต่เพียงอย่างเดียวว่า นี่กาย นี่เวทนา นี่จิต นี่ธรรม และทั้ง ๔ นั้นก็ยังมากไป

ก็ให้เหลือแต่ ๑ ว่านี่กาย หรือว่านี่เวทนา หรือว่านี่จิต หรือว่านี่ธรรม

เพียงอย่างเดียว และอีก ๓ อย่างนั้น ก็จะรวมกันเข้ามาเอง ให้รู้ว่านี่มีอยู่

นี่ก็คือว่ากายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ ธรรมก็ได้มีอยู่

ดั่งนี้ ก็กล่าวได้ว่าเป็น อุปจาระภาวนา ภาวนาคืออบรมทำสมาธิจิตให้มีขึ้น

ใกล้ที่จะแนบแน่น และเมื่อได้รวมจิตให้เป็นสมาธิเข้ามามากขึ้น จนถึงใกล้จะแนบแน่น

 

ก็ใช้วิตกวิจารนี้เอง ตรึกตรองนี้เอง

เป็นแต่เพียงว่าในทีแรกนั้นตรึกตรองไปมากเรื่องมากราว

แม้ในทางกุศล ก็ตรึกตรองไปในเรื่องการออกจากกามต่างๆ

ไม่พยาบาทปองร้ายหมายล้างผลาญต่างๆ แต่มีเมตตามุ่งดีปรารถนาดีต่างๆ

ไม่เบียดเบียน แต่มีกรุณาช่วยเหลือเกื้อกูลต่างๆมากเรื่องมากราว

จิตจึงไม่รวมเป็นหนึ่ง ดังที่เรียกว่าบริกรรมภาวนานั้น

ขณิกะสมาธิ อุปจาระสมาธิ อัปปนาสมาธิ

 

แต่ครั้นมางดวิตกวิจารไปในเรื่องต่างๆมาก แต่ให้วิตกวิจารอยู่ในเรื่องเดียว

คือตรึกตรองอยู่ถึงเรื่องกายเวทนาจิตธรรมดังกล่าวนั้น ไม่ตรึกตรองไปในเรื่องอื่น

ตรึกก็คือว่ายกจิตขึ้นสู่กายเวทนาจิตธรรม หรือเพียงข้อใดข้อหนึ่งดังกล่าว

ตรองก็คือว่าประคองจิตไว้ให้ตั้งกำหนดอยู่ในเรื่องเดียวนั้น ก็เป็นการปฏิบัติเข้าหลักแห่งสมาธิ

เป็น ขณิกะสมาธิ สมาธิชั่วขณะบ้าง เป็นสมาธิที่นานกว่าชั่วขณะบ้าง

จนถึงเป็น อุปจาระ คือใกล้ที่จะแน่วแน่ ( เริ่ม ๑๖๕/๒ ) ก็ต้องอาศัยวิตกวิจารนี้เช่นเดียวกัน

และเมื่อรวมจิตเข้ามาดั่งนี้ ก็ย่อมจะได้สมาธิที่ดีขึ้นๆดังกล่าว จนเป็นอุปจาระสมาธิ

ภาวนาก็เป็นอุปจาระภาวนา คือเป็นภาวนาอบรมจิตใจที่ได้อุปจาระสมาธิ

 

จิตจึงเริ่มได้ความสงบ เริ่มได้สมาธิ

เมื่อมีความเพียรตั้งมั่นไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่นไม่หลงลืม

กายก็สงบไม่กระสับกระส่าย จิตก็ตั้งมั่นมีอารมณ์เป็นอันเดียว

ลักษณะดังที่กล่าวนี้หากจะยกเอาองค์ของฌานที่ ๑ เข้ามาประกอบ ก็ยกขึ้นได้ว่า

เมื่อมีวิตกวิจารตรึกตรองอยู่ในอารมณ์เป็นอันเดียวเรียกว่า เอกัคคตา จิตมีอารมณ์เดียว

อันเป็นลักษณะของสมาธิ ก็ย่อมจะได้ปีติคือความอิ่มใจความดูดดื่มใจ

ได้ความสุขคือความสบายกายสบายใจ

 

และเมื่อมีปีติมีสุข จิตที่เป็นเอกัคคตาในเบื้องต้นนั้น

ก็จะเป็นเอกัคคตาคือตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นอันเดียวที่แนบแน่นเป็นอัปปนาสมาธิ

เมื่อเป็นดั่งนี้ การภาวนาคือการปฏิบัติก็เป็นอัปปนาภาวนา

การภาวนาที่ทำให้ได้ถึงขั้นอัปปนาสมาธิ

และเมื่อได้วิตกวิจารปีติสุขเอกัคคตาพร้อมกัน ก็ชื่อว่าได้ปฐมฌาน

และเมื่อมีความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่นไม่หลงลืม มีกายไม่กระสับกระส่าย สงบ

มีจิตตั้งมั่นดีขึ้น ก็ได้สมาธิที่เป็นเอกัคคตานี้สูงขึ้นๆ

พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติมาโดยทางนี้

 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงพระองค์เอง ว่าได้ทรงปฏิบัติโดยทางนี้

ตั้งต้นแต่ได้ทรงปฏิบัติเกี่ยวแก่วิตกคือความตรึกดังกล่าว จนถึงได้อัปปนาสมาธิ

ก็ทรงได้ฌาน ทรงได้วิชชา ๓ จนถึงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

และก็ได้ทรงแสดงถึงพระองค์ที่มีพระมหากรุณา ทรงแสดงธรรมะสั่งสอน

ดังที่ได้ตรัสแสดงทางที่ทรงปฏิบัติมาสั่งสอน ที่นำมาเล่านี้

ได้ตรัสอุปมาธรรมะไว้ว่า

 

เหมือนอย่างว่า มีที่ลุ่มเต็มไปด้วยเปือกตม ในป่าใหญ่

ซึ่งเป็นที่อาศัยอยู่ของหมู่เนื้อฝูงใหญ่ ก็ได้มีบุคคลที่ไม่หวังดี

คือพรานมาปิดทางที่เกษมสวัสดี แต่เปิดทางที่ไม่สวัสดีให้ฝูงเนื้อนั้นออกมา

ทั้งมีเนื้อต่อตัวผู้ เนื้อต่อตัวเมีย และเมื่อฝูงเนื้อได้ออกมาในทางไม่สวัสดีที่นายพรานเปิดให้นั้น

ทั้งได้ถูกเนื้อต่อตัวผู้เนื้อต่อตัวเมียชักจูงอีกส่วนหนึ่ง ฝูงเนื้อจึงต้องพบกับความหายนะ

คือความเสื่อมเสีย ร่อยหรอลงไปด้วยฝีมือของบุคคลที่ไม่หวังดีคือพราน

แต่ว่ามีบุคคลที่หวังดีได้มาช่วยปิดทางที่ไม่สวัสดี และเปิดทางที่สวัสดีเพื่อให้เนื้อออก

ทั้งได้นำเนื้อต่อตัวผู้เนื้อต่อตัวเมียออกไปเสีย ฝูงเนื้อนั้นก็มีความสวัสดี

และมีจำนวนเพิ่มเติมมากขึ้น มีความผาสุข

 

มิจฉามรรค สัมมามรรค

 

และก็ได้ตรัสเป็นธรรมะว่า บุคคลที่ไม่หวังดีคือพรานนั้นก็ได้แก่มาร

และป่าที่เป็นที่ลุ่มเต็มไปด้วยเปือกตมนั้นก็คือกามคุณ

ฝูงเนื้อนั้นก็คือว่าสัตว์ทั้งหลาย คือว่าสัตว์โลก

และทางที่ไม่สวัสดีนั้นก็ได้แก่มิจฉามรรค คือทางผิดทั้ง ๘

ได้แก่มิจฉาทิฏฐิความเห็นผิด มิจฉาสังกัปปะความดำริผิด

มิจฉาวาจาเจรจาผิด มิจฉากัมมันตะการงานผิด

มิจฉาอาชีวะเลี้ยงชีวิตผิด มิจฉาวายามะเพียรพยายามผิด

มิจฉาสติสติ สติระลึกผิด มิจฉาสมาธิ สมาธิผิด

เนื้อต่อตัวผู้นั้นก็ได้แก่ นันทิราคะ คือความยินดีติดใจด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน

เนื้อต่อตัวเมียนั้นก็ได้แก่ อวิชชา คือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง

 

ส่วนบุคคลผู้หวังดีนั้นก็คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

และทางที่สวัสดีที่บุคคลผู้หวังดีเปิดให้นั้น ก็ได้แก่มรรคมีองค์ ๘

ที่เป็นสัมมามรรคทางชอบ อันตรงกันข้าม

อันได้แก่สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะความดำริชอบ

สัมมาวาจาเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะการงานชอบ

สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ สัมวายามะเพียรชอบ

สัมมาสติ สติชอบ สัมมาสมาธิ สมาธิชอบ ดั่งนี้

 

กามาวจรสัตว์

 

เพราะฉะนั้น สัตว์โลกนี้คือบุคคลทุกๆคนในโลกนี้เอง

จึงเป็นเหมือนอย่างฝูงเนื้อที่อยู่ในป่าอันเต็มไปด้วยเปือกตม

ซึ่งเป็นที่ลุ่มอันได้แก่กามคุณ คือต่างเป็นกามาวจรสัตว์ คือหมู่สัตว์ที่หยั่งลงในกาม

และถ้าหากว่าถูกอำนาจของมารมาเปิดทางผิดให้ พร้อมทั้งมีเครื่องล่อคือนันทิราคะ

อันเหมือนอย่างเนื้อต่อ กับอวิชชา ซึ่งเป็นเนื้อต่อตัวผู้เนื้อต่อตัวเมีย

ก็ย่อมจะออกดำเนินไปนานาในทางที่ไม่สวัสดี อันเป็นมิจฉามรรค

อันเป็นทางที่ผิด ประสบความวิบัติ

 

แต่เมื่อได้ปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ได้ฟังธรรมะของพระองค์

ได้ปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน ก็ย่อมจะได้พบสัมมามรรค คือทางที่ถูกชอบ

และเมื่อปฏิบัติดำเนินไปในทางที่ถูกชอบนั้น ก็ย่อมจะมีความสวัสดี

กรณียะคือกิจที่ควรทำ อันพระองค์ผู้พระศาสดาได้ทรงกระทำแก่สาวกทั้งหลายแล้ว

เพราะฉะนั้น จึงให้บรรดาสาวกทั้งหลาย พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย พากันเป็นผู้ไม่ประมาท

เพ่งปฏิบัติทำจิตตภาวนา อบรมจิต ให้ถูกต้องตามที่ทรงสั่งสอน

ก็จะเป็นผู้ที่ไม่เดือดร้อนในภายหลัง มีความสุขความสวัสดี

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats