ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป133

พระพุทธคุณบทว่า อนุตโร ปุริสทัมสารถิ

สติปัฏฐานของพระบรมศาสดา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

สติปัฏฐานของพระศาสดา ๒

ทรงฝึกบุรุษบุคคลใน ๘ ทิศ ๓

รูปารมณ์ ๔

รูปนิมิต ๕

สุภะวิโมกข์ สุภะวิมุติ ๖

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๗๓/๑ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๗๓/๒ ( File Tape 133 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พระพุทธคุณบทว่า อนุตโร ปุริสทัมสารถิ

สติปัฏฐานของพระบรมศาสดา

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในท้ายสฬายตนะวิภังคสูตร ว่าศาสดาผู้เป็นพระอริยเจ้า

ย่อมมีสติปัฏฐาน คือมีสติสัมปชัญญะตั้งอยู่ในสาวกทั้งหลาย ๓ ประการ

โดยตรัสเป็นกลางๆ ถึงพระอริยะผู้ควรเป็นศาสดา อนุสาสน์สาวกทั้งหลาย

และตรัสระบุถึงพระตถาคต คือพระพุทธเจ้า ดั่งเช่นพระองค์

 

สติปัฏฐานของพระศาสดา

 

ทรงเรียกพระองค์เองว่าตถาคต ได้ทรงมีสติสัมปชัญญะตั้งอยู่ในสาวกทั้งหลาย

คือพระอริยะซึ่งมุ่งสุขประโยชน์แก่สาวกทั้งหลาย ย่อมสั่งสอนสาวกทั้งหลาย

ให้ปฏิบัติกระทำข้อนั้นข้อนี้ บรรดาสาวกทั้งหลายนั้น บางจำพวกไม่ตั้งใจฟัง

ไม่ปฏิบัติตามที่ทรงอนุสาสน์สั่งสอน ย่อมปฏิบัติผิดไปจากที่ทรงสั่งสอน

พระตถาคตย่อมไม่ชื่นชม ไม่เสวยความชื่นชม และมีใจไม่กระทบกระทั่ง

มีสติสัมปชัญญะอยู่ นี้เป็นสติปัฏฐานข้อหนึ่งของพระตถาคตผู้พระบรมศาสดา

 

อนึ่ง บรรดาสาวกทั้งหลายผู้ฟัง บางบุคคลก็ไม่ตั้งใจฟัง

ไม่ปฏิบัติตาม ปฏิบัติให้ผิดไปจากที่ทรงสั่งสอน

แต่ว่าบางบุคคลก็ตั้งใจฟัง ปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน พระตถาคตย่อมชื่นชมก็หามิได้

ไม่ชื่นชมก็หามิได้ เสวยความชื่นชมก็หามิได้ เสวยความไม่ชื่นชมก็หามิได้ แต่มีใจเป็นกลางๆ

มีสติสัมปชัญญะในสาวกทั้ง ๒ ฝ่ายนี้ อย่างไม่ถูกกระทบกระทั่ง นี้เป็นสติปัฏฐานที่ ๒

อนึ่ง สาวกทั้งหลายตั้งใจฟัง ตั้งใจปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน พระตถาคตย่อมชื่นชม

ย่อมเสวยความชื่นชม มีสติสัมปชัญญะ มีใจที่ไม่ถูกกระทบกระทั่ง นี้เป็นสติปัฏฐานที่ ๓

 

ตรัสว่าพระอริยะพึงตั้งอยู่ในสติปัฏฐานทั้ง ๓ นี้ ย่อมสมควรเพื่อเป็นศาสดา

อนุสาสน์สั่งสอนสาวกทั้งหลาย ตรัสเป็นกลางๆ แต่ก็มีตรัสถึงพระองค์เองรวมอยู่ด้วย

และเมื่อพิจารณาตามที่ตรัสเป็นกลางๆแล้ว ก็แสดงว่าศาสดาที่มีสติสัมปชัญญะ

อันเรียกว่าสติปัฏฐานในสาวกทั้งหลาย ดังที่กล่าวมาทั้ง ๓ นี้ ควรเป็นศาสดาเพื่อสั่งสอน

 

ทรงฝึกบุรุษบุคคลใน ๘ ทิศ

 

พระพุทธเจ้าได้ทรงเป็นศาสดาที่สั่งสอน

อันนับว่าเป็นลึกล้ำ อาจารย์ผู้ประกอบการฝึกทั้งหลาย

เพราะเหตุที่ได้ทรงเป็น อนุตโรปุริสทัมสารถิ คือเป็นสารถีผู้ฝึกบุรุษบุคคลที่ควรฝึก

( เริ่ม ๑๗๓/๒ ) เป็นยอดเยี่ยมล้ำโยคาจาร คือครูอาจารย์ที่ประกอบการฝึกทั้งหลาย

ยกตัวอย่างครูอาจารย์ที่ฝึกช้างฝึกม้าฝึกโค ก็ฝึกให้วิ่งไปได้ในทิศใดทิศหนึ่งเท่านั้น

แต่พระองค์ทรงฝึกบุรุษคือบุคคลที่ควรฝึก ให้วิ่งไปได้ใน ๘ ทิศ

คือในทางธรรมะปฏิบัติ ๘ อย่าง ซึ่งเหมือนอย่าง ๘ ทิศที่ตรัสยกขึ้นไว้

ก็คือทิศ ๑ ตรัสฝึกให้ปฏิบัติถึงรูปฌาน ก็ย่อมจะทำให้ผู้ปฏิบัติได้รูปฌาน

เมื่อเข้ารูปฌานก็เห็นรูปทั้งหลาย นี้เป็นทิศที่ ๑

ทิศที่ ๒ ตรัสฝึกให้ปฏิบัติในอรูปฌาน ผู้ปฏิบัติก็ย่อมจะได้อรูปฌาน

เมื่อได้อรูปสัญญาในภายใน ก็เห็นรูปทั้งหลายในภายนอก

ทิศที่ ๓ ตรัสสอนให้ฝึกน้อมจิตไปว่างามทั้งหมด อันเป็น สุภะวิโมกข์

ทิศที่ ๔ ตรัสสอนให้ฝึกก้าวล่วงรูปสัญญาความสำคัญหมายในรูป

ปฏิฆะสัญญาความสำคัญหมายในความปฏิฆะคือกระทบกระทั่ง

นานัตสัญญาความสำคัญหมายต่างๆ ให้เข้าถึงอากาสานัญจายตนะ

คืออรูปฌานที่บริกัมมภาวนาว่าอากาศไม่มีที่สุด

ทิศที่ ๕ ทรงสอนให้ฝึกก้าวล่วงความกำหนดหมายว่าอากาศไม่มีที่สุด

เข้าสู่วิญญานัญจายตนะ ซึ่งบริกัมมภาวนาว่าวิญญาณไม่มีที่สุด

ที่ ๖ ตรัสสอนให้ก้าวล่วงขั้นวิญญานัญจายตนะ บริกัมมภาวนาว่า น้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี

ทิศที่ ๗ ตรัสสอนให้ก้าวล่วงขั้นอากิญจัญญายตนะ ก้าวขึ้นสู่ขั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ

มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่

 

และจนถึงทิศที่ ๘ ตรัสสอนให้ก้าวล่วงขั้นนี้ ขึ้นสู่สัญญาเวทยิตนิโรธ ดับสัญญาเวทนา

ซึ่งบุรุษที่ควรฝึก เมื่อตรัสฝึกดังกล่าว ก็ย่อมจะปฏิบัติได้ทั้ง ๘ ทิศนี้ คือ ๘ ขั้นนี้โดยลำดับ

เพราะฉะนั้น จึงทรงเป็นอนุตโรปุริสทัมสารถิ คือเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก

หรือฝึกคนที่ควรฝึก อย่างยอดเยี่ยมกว่าโยคาอาจารย์ทั้งหลาย

คืออาจารย์ที่ประกอบการฝึกสั่งสอนทั้งปวง

 

รูปารมณ์

 

อันทิศทั้ง ๘ ที่ตรัสสอนนี้ ก็ทรงยกเอาในขั้นการปฏิบัติ

อบรมจิตใจนี้เอง ให้เป็นสมาธิ โดยที่ยึดรูปเป็นอารมณ์ และยังเห็นรูปทั้งหลาย

การปฏิบัติในสติปัฏฐานในขั้นกายานุปัสสนาพิจารณากาย เวทนานุปัสสนาพิจารณาเวทนา

จิตตานุปัสสนาพิจารณาจิต ธรรมานุปัสสนาพิจารณาธรรมะ

ก็จะต้องมีการกำหนดกายเวทนาจิตธรรมทั้ง ๔ นี้เป็นอารมณ์ คือเป็นรูปารมณ์ขึ้นในจิตใจ

 

และคำว่ารูปในที่นี้ ไม่ใช่หมายถึงจำเพาะที่เป็นวัตถุเท่านั้น

แต่เป็นนิมิตในจิตใจ จิตใจกำหนดให้เป็นนั่นเป็นนี่ ก็เรียกว่ารูปได้

อย่างคำว่าปิยะรูปสาตะรูป รูปที่เป็นที่รัก รูปที่เป็นที่ชอบใจ

ก็หมายถึงทั้งที่เป็นรูปวัตถุ และทั้งที่เป็นรูปนิมิตอยู่ในใจ

ตลอดจนถึงนามธรรมทั้งหมดที่ประกอบไปด้วยกัน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ก็เป็นปิยะรูปสาตะรูปได้ทั้งหมด กาย เวทนา จิต ธรรม นี้ก็เป็นรูปนิมิตได้ทั้งหมด

คือยังเป็นสิ่งนั้นเป็นสิ่งนี้ที่เป็นตัวอารมณ์ อันเรียกว่ารูปารมณ์

 

ดังเช่นกำหนดลมหายใจเข้าออก ตัวลมหายใจเองนี้เป็นรูป

คือเป็น วาโยธาตุ ที่หายใจเข้าก็มากระทบที่ปลายจมูก เข้าไป

หายใจออกก็มากระทบที่ปลายจมูก ออกไป เรียกว่าเป็น รูปวัตถุ

และลมหายใจที่ใจกำหนดอยู่ในภายในเป็นอารมณ์ ตัวอารมณ์ในใจนี้ไม่ใช่เป็นรูปวัตถุ

แต่เป็นเรื่อง และตัวเรื่องนี้เอง เมื่อเป็นเรื่องของลมหายใจ

ก็เรียกว่าเป็นอารมณ์ที่เป็น ส่วนรูปอยู่ในใจ

 

รูปนิมิต

 

เพราะฉะนั้น คำว่ารูปในที่นี้จึงหมายถึงส่วนนึกอยู่ในใจ คือตัวเรื่องนั้นเอง

เรื่องนั้นเรื่องนี้ก็เรียกว่าเป็นรูปได้ และเมื่อกำหนดกรรมฐานดั่งนี้ ก็เห็นรูปทั้งหลายได้

เป็นรูปนิมิต และแม้ว่าจะมีอรูปสัญญา คือมีสัญญาที่ไม่ใช่รูป ตัวสัญญานั้นไม่ใช่รูป

แต่ว่าอารมณ์ของสัญญานั้นยังเป็นรูป เช่นว่าจำต้นไม้ได้

ตัวสัญญาความจำนั้นเป็นอรูป แต่ว่าต้นไม้ในความจำนั้นไม่ใช่รูป

แม้ดั่งนี้ก็เป็นอรูปสัญญาได้ จึงได้เห็นรูปทั้งหลายในภายนอกได้

ดั่งนี้ ก็เป็นการปฏิบัติในสมาธิทั่วไป

สุภะวิโมกข์ สุภะวิมุติ

 

และเมื่อมาปฏิบัติอบรมเมตตากรุณามุทิตาอุเบกขา คือพรหมวิหารธรรม

เมตตานั้นตรัสไว้ว่ายอดของเมตตานั้นก็คือว่า ความน้อมจิตว่างามทั้งหมด

คือว่าเมื่อแผ่เมตตาไปในทั้งหมด ก็ย่อมจะเห็นว่างามทั้งหมด

เพราะเหตุว่า หมดพยายาทความมุ่งร้าย มีแต่ความมุ่งดีปรารถนาดี

จึงน้อมจิตว่างามทั้งหมด ดั่งนี้เป็นยอดของเมตตา

ฉะนั้นผู้ที่เจริญเมตตาเป็นอย่างดี ย่อมจะไม่เห็นว่าทุกๆอย่างที่มีเมตตานั้นน่าเกลียดน่าชัง

จะเห็นว่างามทั้งหมด ปรารถนาดีทั้งหมด จึงเรียกว่าเป็น สุภะวิโมกข์ สุภะวิมุติ

จิตน้อมไปว่างดงาม จิตพ้นจากโทสะพยาบาท ซึ่งทำให้เห็นว่างดงาม

 

คราวนี้เมื่ออบรมกรุณา ก็จะทำให้บรรลุถึงอากาสานัญจายตนะ

กำหนดว่าอากาศไม่มีที่สุด อากาสานัญจายตนะเป็นยอดของกรุณา

เมื่ออบรมในมุทิตา ก็จะทำให้ได้ถึงวิญญานัญจายตนะ วิญญาณไม่มีที่สุด

เพราะวิญญาณัญจายตนะ เป็นยอดของมุทิตา

เมื่ออบรมในอุเบกขา ก็จะทำให้ได้ถึงอากิญจัญญายตนะ

กำหนดว่าน้อยหนึ่งนิดหนึ่งก็ไม่มี เป็นที่สุด

ฉะนั้น เมื่ออบรมเจริญใน เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็ส่งจิตขึ้นไปได้ดังกล่าว

แล้วก็อาจจะต่อขึ้นไปจนครบ ๘ ทิศได้ นี้เพียงในด้านของสมาธิภาวนา

 

พระพุทธเจ้าฝึกบุรุษที่ควรฝึก คือคนที่ควรฝึกได้ดั่งนี้

แต่ที่ยังทำไม่ได้นั้นก็เพราะว่า ยังไม่ได้ฝึกอย่างเต็มที่

แต่เมื่อฝึกอย่างเต็มที่แล้ว เมื่อเป็นบุคคลที่ควรฝึก ก็ย่อมจะบรรลุได้

พระพุทธเจ้าจึงทรงเป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึกดั่งนี้

ผู้ปฏิบัติธรรมะก็ชื่อว่าเป็นผู้มารับฝึกจากพระศาสดา ขอให้มีความตั้งใจฟัง

มีความตั้งใจปฏิบัติ ไม่ปฏิบัติให้นอกทางออกไปจากที่ทรงสอน

ก็ชื่อว่าได้เข้าอยู่ในสติปัฏฐานของพระพุทธเจ้า ที่ทรงชื่นชม และทรงเสวยความชื่นชม

ทรงมีสติสัมปชัญญะมีใจไม่กระทบกระทั่ง ชื่อว่าได้รับพระมหากรุณาจากพระองค์

ฉะนั้น เมื่อมีความตั้งใจฟัง มีความตั้งใจปฏิบัติแล้ว ก็เป็นอันว่า

ได้เข้าอยู่ในพระพุทธคุณบทว่า อนุตรโร ปุริสทัมสารถิ ของพระพุทธเจ้า

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวด และทำความสงบสืบต่อไป

 

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats