ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป147

อานาปานสติสมาธิชั้นที่ ๓

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

วิธีพิจารณากายเวทนาจิตธรรม ๒

อานาปานสติชั้นที่ ๓ ๓

รูปกาย นามกาย ๓

มหาภูตรูป อุปาทายรูป ๔

กายทั้งหมดรู้ด้วยสติและญาณ ๕

ลำดับของการปฏิบัติ ๖

 คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๘๘/๒ ครึ่งหลัง ต่อ ๑๘๙/๑ ( File Tape 147 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

อานาปานสติสมาธิชั้นที่ ๓

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

สติปัฏฐานทั้ง ๔ คือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติพิจารณากาย

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติพิจารณาเวทนา

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติพิจารณาจิต

ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติพิจารณาธรรมะ

 

วิธีพิจารณากายเวทนาจิตธรรม

 

วิธีอนุปัสสนาคือวิธีพิจารณาตามให้รู้ให้เห็นกายเวทนาจิตธรรมนั้น

ท่านแสดงหลักไว้ว่าที่ชื่อว่า อนุปัสสนา คือการพิจารณาตามให้รู้ให้เห็นนั้น

ให้พิจารณาตามให้รู้ให้เห็นโดยเป็นของไม่เที่ยง ไม่ใช่เป็นของเที่ยง

โดยเป็นทุกข์มิใช่เป็นสุข โดยเป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตน มิใช่เป็นอัตตาตัวตน

โดยความหน่ายไม่ใช่เพลินยินดี โดยสิ้นราคะความติดใจยินดี มิใช่เพื่อราคะความติดใจยินดี

โดยดับทุกข์มิใช่ก่อทุกข์อันเรียกว่าสมุทัย และโดยสละคืนมิใช่ยึดถือ

 

เพราะฉะนั้น เมื่ออนุปัสสนาพิจารณาดูตามให้รู้ให้เห็น

โดยเป็นของไม่เที่ยงจึงดับ นิจจสัญญา ความสำคัญหมายว่าเที่ยง

เมื่อดูให้รู้ให้เห็นโดยเป็นทุกข์จึงดับ สุขสัญญา ความสำคัญหมายว่าสุข

เมื่อดูตามให้รู้ให้เห็นโดยเป็นอนัตตาจึงดับ อัตตสัญญา ความสำคัญหมายว่าอัตตาตัวตน

และเมื่อหน่ายย่อมดับ นันทิ คือความเพลินยินดี

เมื่อผ่อนคลายจนถึงดับ ราคะ ความติดใจยินดี ( เริ่ม ๑๘๙/๑ ) จึงดับราคะความติดใจยินดี

เมื่อดับทุกข์เป็นนิโรธ จึงดับสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อสละคืน จึงดับความยึดถือ

 

เพราะฉะนั้น วิธีปฏิบัติในสติปัฏฐาน

พิจารณาตามดูให้รู้ให้เห็นกายเวทนาจิตธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ทุกข้อ

จึงเป็นไปเพื่อให้เห็นว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

เพื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด และดับทุกข์ และเพื่อสละคืนดังกล่าวนั้น

ถ้าเป็นไปตรงกันข้ามแม้ข้อใดข้อหนึ่ง ก็ไม่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นต้น

 

อานาปานสติชั้นที่ ๓

 

จะได้กล่าวถึงอานาปานสติชั้นที่ ๓ หรือข้อที่ ๓

ต่อจากชั้นที่ ๑ ที่ ๒ หรือข้อที่ ๑ ที่ ๒ ที่กล่าวมาแล้ว

พระพุทธเจ้าตรัสสอนให้ศึกษาสำเหนียกกำหนดว่า เราจักรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจเข้า

ให้ศึกษาสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้จักทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจออก ดั่งนี้

 

รูปกาย นามกาย

 

คำว่า กายทั้งหมด นั้นพระอาจารย์ในต้นเดิมได้อธิบายไว้ว่า

ได้แก่นามกายรูปกาย หรือว่ารูปกายนามกาย คือรูปนาม

นามกายนั้นได้แก่ เวทนา ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์เป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

สัญญา ความจำได้หมายรู้ เจตนา ความจงใจ ผัสสะ ความกระทบใจ

มนสิการ การกระทำไว้ในใจ และก็หมายถึงสิ่งที่เรียกว่า นาม นามกาย

ตลอดจนถึงที่เรียกว่า จิตสังขาร เครื่องปรุงจิต ซึ่งก็ได้แก่ สัญญา เวทนา นั้นนั่นเอง

 

มหาภูตรูป อุปาทายรูป

 

ส่วนรูปกาย กายคือรูปนั้นก็ได้แก่ มหาภูตรูป รูปที่เป็นใหญ่ทั้ง ๔ ในกายนี้

ที่เรียกว่าธาตุทั้ง ๔ คือปฐวีธาตุธาตุดิน อาโปธาตุธาตุน้ำ เตโชธาตุธาตุไฟ วาโยธาตุธาตุลม

และก็หมายถึง อุปาทายรูป คือรูปที่อาศัย มหาภูตรูป ทั้ง ๔ เหล่านั้น ทั้งหมด

อะไรคือ อุปาทายรูป รูปอาศัยดังกล่าว ท่านแสดงเอาไว้ก็คือประสาททั้ง ๕

 

อันได้แก่ จักษุประสาท ประสาทตาที่ให้สำเร็จการเห็นรูป

โสตะประสาท ประสาทหูที่ให้สำเร็จการได้ยินเสียง

ฆานะประสาท ประสาทจมูกที่ให้สำเร็จการทราบกลิ่น

ชิวหาประสาท ประสาทลิ้นที่ให้สำเร็จการทราบรส

กายประสาท ประสาทกายที่ให้สำเร็จการทราบโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้อง

 

โคจร คืออารมณ์ของประสาททั้ง ๕ นั้นก็ได้แก่รูปเสียงกลิ่นรสและโผฏฐัพพะคือสิ่งถูกต้อง

ภาวะ คือความเป็น ๒ อย่าง คือ อิตถีภาวะ ความเป็นหญิง

ปุริสภาวะ ความเป็นชาย หทัย หมายถึงสิ่งที่ให้สำเร็จความคิด

ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต หมายถึงความเป็นอยู่แห่งรูปหรือสิ่งที่รักษารูปให้เป็นอยู่

อาหาร หมายเอาโอชา อากาสธาตุ หมายถึงสิ่งที่ขังอยู่ในช่องว่างอันเรียกว่าปริเฉทรูป

วิญญัติ คือสิ่งที่ไหวให้เกิดความรู้ ได้แก่ กายวิญญัติ ไหวกายการเคลื่อนไหวได้

วจีวิญญัติ ไหววาจาอันหมายถึงพูดได้หรือวาจาที่พูด

วิการ ได้แก่ ลหุตา ความเบา คือรูปของคนเป็นเบากว่ารูปของคนตาย

มุทุตา ความที่อ่อนไหวได้ เหมือนอย่างร่างกายของคนดีๆไม่แข็งกระด้าง

คู้เข้าคู้ออกได้เป็นต้น ไม่เหมือนอย่างร่างกายของคนป่วยคนตาย

กัมมันญตา ความที่ควรแก่การงานคือประกอบการงานต่างๆได้

ลักษณะเครื่องกำหนดหมายก็ได้แก่ อุจยะ ความที่เติบโตได้

สันตติ ความสืบต่อได้ เช่น ขนเก่าหลุดไป ขนใหม่งอกขึ้นมาแทน

ชรตา ความที่ชำรุดทรุดโทรมได้ อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยงมีเกิดมีดับ

 

ลักษณะทั้งหมดเหล่านี้เรียกว่าเป็น อุปาทายรูป รูปอาศัย

และก็หมายถึงลม อัสสาสะ หายใจเข้า ปัสสาสะ หายใจออก

นิมิต ที่กำหนดของจิต อุปานิพันธะ ที่ผูกพันของจิต

กายสังขารเครื่องปรุงกายก็ได้แก่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนั่นแหละ

เหล่านี้ทั้งหมดเป็นรูปกาย รู้กายทั้งหมดก็คือรู้นามกายและรู้รูปกาย ดั่งที่กล่าวมานี้

 

ศึกษาสำเหนียกกำหนด ก็ศึกษาสำเหนียกกำหนดด้วย สีลสิกขา สิกขาคือศีล

จิตตสิกขา สิกขาคือสมาธิ ปัญญาสิกขา สิกขาคือปัญญา

ด้วยศีลก็คือความปรกติกายวาจาใจ พร้อมที่จะปฏิบัติสมาธิหรือจิตตสิกขา

จิตตสิกขาหรือจิตก็ได้แก่สมาธิความตั้งใจกำหนดมั่น ปัญญาสิกขาก็คือใช้ปัญญาพิจารณา

กำหนดว่าเราจักรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดคือทั้งนามกายทั้งรูปกาย

หรือทั้งนามและรูปนี้ หายใจเข้าหายใจออก

 

กายทั้งหมดรู้ด้วยสติและญาณ

 

ซึ่งตอนนี้ท่านอธิบายไว้ว่า

เมื่อปฏิบัติทำสมาธิกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก

หายใจเข้าออกยาวก็รู้ หายใจเข้าออกสั้นก็รู้ ดังกล่าวในชั้นที่ ๑ ในชั้นที่ ๒ นั้น

จิตก็จะได้สมาธิอันเรียกว่าเอกัคคตาของจิต คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวไม่ฟุ้งซ่าน

เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวไม่ฟุ้งซ่าน

กายเหล่านั้นคือทั้งนามกายทั้งรูปกายเหล่านั้น ก็เป็นอันรู้ทั่วถึงด้วยสตินั้น

ด้วยญาณคือความหยั่งรู้นั้น ดั่งนี้

 

ลำดับของการปฏิบัติ

 

เพราะฉะนั้น จึงทำให้เข้าใจในลำดับของการปฏิบัติว่า เมื่อปฏิบัติในขั้นที่ ๑ ที่ ๒

หายใจเข้าออกยาว ก็ให้รู้ว่าเราหายใจเข้าออกยาว

หายใจเข้าออกสั้น ก็ให้รู้ว่าเราหายใจเข้าออกสั้น

และความรู้จักลมหายใจนั้น ท่านก็ได้อธิบายไว้ว่า

ผู้รู้จัก เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ของลมหายใจ คือระยะทางหายใจ

เมื่อระยะทางที่หายใจ เบื้องต้นท่ามกลางที่สุดมีระยะที่ยาว ก็เรียกว่ายาว

มีระยะที่สั้นก็เรียกว่าสั้น

 

เพราะฉะนั้น ในการปฏิบัติจึงย่อมเริ่มรู้จักระยะของลมหายใจเข้าออก

เบื้องต้นท่ามกลางที่สุดดังกล่าว จึงจะชื่อว่าสติกำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก

และเมื่อสติกำหนดอยู่ดั่งนี้ จิตก็จะได้สมาธิคือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว

คือมีลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์แต่เพียงอย่างเดียว

 

แม้ว่าลมหายใจเข้าจะเป็นอันหนึ่ง

ลมหายใจออกจะเป็นอันหนึ่ง เรียกว่าต่างอารมณ์กันก็ตาม

แต่ก็เป็นต่างอารมณ์กันซึ่งรวมอยู่ในเรื่องของลมหายใจด้วยกัน จึงนับว่าเป็นอารมณ์เดียวได้

และเมื่อพิจารณาดูว่า แม้ว่าลมหายใจออกจะอย่างหนึ่ง ลมหายใจเข้าจะอย่างหนึ่ง

แต่ว่าเมื่อหายใจเข้าจิตก็อยู่กับลมหายใจเข้า เมื่อหายใจออกจิตก็อยู่กับลมหายใจออก

เมื่อจิตอยู่ดั่งนี้ก็ชื่อว่ามีอารมณ์เป็นอันเดียว

 

แต่ถ้าสับสนกัน หายใจเข้าจิตไปกำหนดที่หายใจออก

หายใจออกจิตกำหนดหายใจเข้า สับกันเสียดั่งนี้ ก็ชื่อว่าพลาดจากอานาปานสติ

จะไม่พลาดอานาปานสติในเมื่อกำหนดในลมที่หายใจจริงๆ

หายใจเข้าก็อยู่ที่เข้า หายใจออกก็อยู่ที่ออก

 

และการอยู่ดังกล่าวนั้น เมื่อกล่าวให้ละเอียดเข้าไปอีกหน่อยหนึ่ง

ก็กล่าวได้ว่าก็ต้องอยู่ที่ เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด ของลมหายใจ

คืออยู่ที่ระยะทางที่ลมหายใจเดินไป หรือหายใจไป

รู้เบื้องต้น รู้ท่ามกลาง รู้ที่สุด ทั้งขาเข้า ทั้งขาออก ดั่งนี้จึงจะครบถ้วน

และเมื่อเป็นดั่งนี้จิตจึงชื่อว่าได้เอกัคคตา คือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวไม่ฟุ้งซ่าน

ถ้ายังตกหล่นอยู่ก็ชื่อว่ายังฟุ้งซ่านอยู่ จิตยังไม่รวมเข้ามา

และท่านแสดงว่าเมื่อรู้ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวไม่ฟุ้งซ่านดั่งนี้

ด้วยอำนาจของลมหายใจเข้าออกยาวหรือสั้น

กายทั้งหมดคือทั้งรูปกายทั้งนามกายก็เป็นอันชื่อว่าได้รู้ทั่วถึง ด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น

 

เพื่อความเข้าใจง่าย

ท่านพระอาจารย์จึงได้นำเอาระยะทางเดินของลมหายใจ

เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด มาอธิบายในชั้นที่ ๓ นี้ คือ

ท่านอธิบายว่า เมื่อหายใจเข้า เบื้องต้นที่ลมกระทบก็คือปลายจมูก

หรือริมฝีปากเบื้องบน ท่ามกลางก็คืออุระ ที่สุดก็คือนาภีที่พองขึ้น

และเมื่อหายใจออกเบื้องต้นคือนาภีที่ยุบลง ท่ามกลางคืออุระ

และที่สุดก็คือปลายกระพุ้งจมูกหรือที่ริมฝีปากเบื้องบน

เป็นอันว่าให้กำหนดรู้ลมหายใจให้สมบูรณ์นั้นเอง

ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น ก็จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตั้งแต่ในเบื้องต้นแล้ว

จึงจะชื่อว่ารู้ลมหายใจยาวหรือสั้นทั้งหมด

เพราะดังที่ได้กล่าวแล้วว่าจะเรียกว่ายาวหรือสั้น ก็กำหนดด้วยระยะทางเดินของลมหายใจ

ก็เบื้องต้นท่ามกลางที่สุดของลมหายใจนั่นแหละ

เมื่อเป็นระยะทางที่ยาวก็เรียกว่ายาว ระยะทางที่สั้นก็เรียกว่าสั้น

และเมื่อจะให้รวมเข้ามาเป็นสมาธิ

นามรูปทั้งหมดก็รวมมาอยู่ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออกนี้ทั้งหมด

นามรูปทั้งหมดนั้นก็คือนามรูปดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น คือนามกายรูปกาย

จิตจะไม่ไปที่อื่น เมื่อจิตรวมเป็นอันหนึ่ง นามรูปทั้งหมดก็มารวมอยู่อันหนึ่ง

ที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก จะทำให้ปรากฏชัดในการกำหนด

เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุดของลมหายใจเข้าออก ถนัดชัดเจนขึ้นไม่ตกหล่น

 

เพราะฉะนั้น ท่านจึงแสดงไว้ว่าเมื่อรู้จิตเตกัคคตาคือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียวกัน

ความไม่ฟุ้งซ่านด้วยอำนาจของลมหายใจเข้าออกยาวหรือสั้น

กายทั้งหมดคือทั้งนามกายทั้งรูปกายเหล่านั้น ก็เป็นอันรู้ทั่วถึง

ด้วยสตินั้น ด้วยญาณคือความหยั่งรู้นั้น

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

อานาปานสติสมาธิชั้นที่ ๔

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บริกรรมภาวนา ๒

อุปจารภาวนา อัปปนาภาวนา ๓

สมาธิ ๓ ๔

อานาปานสติชั้นที่ ๔ ๔

กายสังขาร ๕

ขั้นรู้จักกายทั้งหมด ๖

ปัญหาในขั้นสงบรำงับกายสังขาร ๗

การนำปฏิบัติในเบื้องต้น ๘

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๑๘๙/๒ เริ่มต้น ต่อ ๑๙๐/๑ ( File Tape 168 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

อานาปานสติสมาธิชั้นที่ ๔

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

 

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ภาวนาคือการปฏิบัติทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น

หรือการอบรมปฏิบัติทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น มี ๓

คือ บริกัมมภาวนา ภาวนาในบริกรรม อุปจาระภาวนา ภาวนาในอุปจาร

อัปปนาภาวนา ภาวนาในอัปปนา

 

บริกรรมภาวนา

 

ข้อแรก บริกัมมภาวนา ภาวนาในบริกรรม

บริกรรมแปลว่ากระทำโดยรอบ หมายถึงการเริ่มปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้น

เช่น การทำสมาธิภาวนา ปฏิบัติอบรมสมาธิเบื้องต้น

ก็ต้องแสวงหากรรมฐานที่เป็นอารมณ์ของสมาธิ เช่น อานาปานสติ

สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

ก็ปฏิบัติตั้งสติกำหนดลมหายใจ หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้

การเริ่มปฏิบัติดั่งนี้เรียกว่าบริกรรม การอบรมปฏิบัติในบริกรรมคือการเริ่มกระทำ

อานาปานสติที่ยกขึ้นเป็นตัวอย่างเรียกว่า บริกัมมภาวนา ภาวนาในบริกรรม

 

อุปจารภาวนา

 

อุปจาระภาวนา ภาวนาในอุปจาร

คำว่า อุปจาร หรือ อุปจาระ นั้น หมายถึงใกล้เคียง เช่น อุปจารของบ้าน

ก็หมายถึงที่ใกล้เคียงบ้าน อุปจารของเมืองก็หมายถึงที่ใกล้เคียงเมือง

ยังไม่ถึงตัวบ้านแต่ว่าใกล้บ้าน ก็เรียกอุปจารของบ้าน

ยังไม่ถึงตัวเมืองแต่ว่าใกล้เมือง ก็เป็นอุปจารของเมือง

ที่ใช้สำหรับสมาธิก็หมายความว่าใกล้สมาธิเข้า แต่ยังไม่เป็นสมาธิทีเดียว

ความเป็นสมาธิทีเดียวนั้นเรียกว่า อัปปนา แปลว่าแนบแน่น

ฉะนั้น จะเป็นสมาธิจริงก็ต้องถึงอัปปนาคือแนบแน่น

แต่เมื่อยังไม่ถึงแนบแน่น ใกล้เข้า คือใกล้จะแนบแน่น ก็เรียกว่าอุปจาร

 

ยกตัวอย่างการทำอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

เมื่อตั้งสติกำหนดลมหายใจดังกล่าว เมื่อทำบ่อยๆเข้าจิตก็เริ่มจะตั้งมั่นเป็นสมาธิ

แต่ยังไม่ตั้งมั่น สมาธิจึงยังไม่แนบแน่น ใกล้จะตั้งมั่น ดั่งนี้เรียกว่าอุปจาร

อุปจาระภาวนาก็หมายถึงภาวนา คือการปฏิบัติอบรมในขั้นอุปจาร

คือในขั้นที่ใกล้เข้า จะตั้งมั่นเป็นสมาธิที่แนบแน่น

 

อัปปนาภาวนา

 

อัปปนาภาวนา ภาวนาในอัปปนา อัปปนาแปลว่าแนบแน่น

หมายถึงสมาธิที่แนบแน่น คือจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิจริง แนบแน่นไม่หวั่นไหวคลอนแคลน

ยกตัวอย่างตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออก เมื่อจิตใกล้จะตั้งมั่นก็เป็นอุปจาร

เมื่อจิตตั้งมั่นไม่ว่อกแว่กไปข้างไหน อยู่กับลมหายใจเข้าออกแนบแน่นมั่นคง ก็เป็นอัปปนา

ภาวนาในขั้นนี้เรียกว่าอัปปนาภาวนา ภาวนาในอัปปนาคือในขั้นแนบแน่น

 

สมาธิ ๓

 

สมาธิความตั้งใจมั่นก็ควรจะกล่าวว่ามี ๓ เหมือนกัน

คือบริกัมมสมาธิ สมาธิในบริกรรม

คือการเริ่มปฏิบัติ จิตยังไม่ค่อยจะตั้งมั่น ยังกวัดแกว่งกระสับกระส่าย

ต่อมาก็เป็นอุปจาระสมาธิ สมาธิในอุปจาระ คือใกล้ที่จะแนบแน่น

ยิ่งขึ้นก็เป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิในอัปปนาคือแนบแน่นมั่นคง เป็นตัวสมาธิจริง

แต่โดยมากท่านแสดงสมาธิไว้แค่ ๒ คืออุปจาระสมาธิ และอัปปนาสมาธิ

 

น่าจะเป็นเพราะสมาธิในขั้นบริกรรม หรือบริกัมมสมาธินั้น

ยังไม่ตั้งได้เท่าไหร่ หลุดเลื่อนเสียหายมาก คือจิตฟุ้งซ่านออกไป

ต้องนำจิตกลับมาตั้งไว้ใหม่ ดั่งนี้อยู่บ่อยๆ เรียกว่าเกือบจะไม่เป็นสมาธิ

แต่ว่าเมื่อภาวนาจัดไว้ ๓ คือ บริกัมมภาวนา อุปจาระภาวนา อัปปนาภาวนา

สมาธิก็น่าจะจัดไว้ ๓ ได้คือ บริกัมมสมาธิ อุปจาระสมาธิ และอัปปนาสมาธิ

 

อานาปานสติชั้นที่ ๔

 

ในการปฏิบัติอานาปานสติสมาธิภาวนานั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงสั่งสอนไว้

ดังที่ได้แสดงอธิบายมาเป็นชั้นที่ ๑ หรือข้อที่ ๑ ชั้นที่ ๒ หรือข้อที่ ๒ ชั้นที่ ๓ หรือข้อที่ ๓

จะได้แสดงชั้นที่ ๔ หรือข้อที่ ๔ ตรัสสอนไว้ว่า

ศึกษาว่าเราจักสงบรำงับกายสังขารหายใจเข้า

ศึกษาสำเหนียกกำหนดว่าเราจักสงบระงับกายสังขารหายใจออก

กายสังขาร

 

คำว่า กายสังขาร นั้นแปลกันว่าเครื่องปรุงกาย

ก็ได้แก่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก หรืออัสสาสะ ปัสสาสะนี้เอง

ลมหายใจดังกล่าวเรียกว่ากายสังขารเครื่องปรุงกาย

เพราะปรุงกายนี้ให้ตั้งอยู่ ดำรงอยู่ เป็นอยู่ ดังจะเห็นได้ว่า เมื่อยังดำรงชีวิตอยู่

ทุกคนก็ต้องหายใจเข้าหายใจออกอยู่ตลอดเวลา หยุดไม่ได้

หยุดเมื่อใดก็เป็นความแตกสลายของกายนี้ คือตาย

 

เพราะฉะนั้นกายที่ยังเป็นอยู่ ดำรงชีวิตอยู่

จึงต้องอาศัยลมหายใจเข้าออก จึงเรียกว่าลมปราณ เป็นตัวชีวิตของกายนี้

จึงเรียกสัตว์โลก ทั้งมนุษย์ทั้งสัตว์เดรัจฉานว่า ปาโณ แปลว่าสัตว์มีชีวิต

แต่ตามศัพท์ก็คือว่า ผู้ที่มีลมปราณคือลมหายใจเข้า ลมหายใจออก นี้เอง

นี้เป็นอธิบายคำว่ากายสังขารเครื่องปรุงกาย คือลมหายใจเข้าลมหายใจออก

 

สงบรำงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย คือลมหายใจเข้าลมหายใจออกนั้น

ไม่ใช่หมายความว่าทำการกลั้นลมหายใจ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ จะเป็นการกลั้นใจตาย ไม่ถูกต้อง

แต่หมายความว่าการปฏิบัติทำอานาปานสติสมาธิภาวนาอบรมสมาธิ

ด้วยการตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออกตามที่ตรัสสอนมาโดยลำดับ

คือตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออกยาวก็รู้ว่ายาว สั้นก็รู้ว่าสั้น

ศึกษาสำเหนียกกำหนดว่าเราจักรู้ทั่วถึงกายทั้งหมด

คือทั้งนามกายทั้งรูปกาย หายใจเข้าหายใจออก

 

เมื่อปฏิบัติอยู่ดั่งนี้ ก็จะเริ่มได้สมาธิในลมหายใจ

อันหมายความว่าจิตตั้งกำหนดอยู่ในลมหายใจมั่งคงขึ้น ก็จะเกิดฉันทะคือความพอใจ

และเมื่อปฏิบัติต่อไปก็จะเกิดปราโมทย์คือความบันเทิงใจ ลมหายใจก็จะละเอียดเข้า

เพราะเหตุว่า จิตใจสงบ กายสงบ เข้าด้วยสมาธิ

เมื่อกายจิตสงบ ลมหายใจก็สงบละเอียดประณีตสุขุมขึ้น

 

ขั้นรู้จักกายทั้งหมด

 

และเมื่อมาปฏิบัติในขั้นที่ ๓ ศึกษาสำเหนียกกำหนดให้รู้จักกายทั้งหมด

คือทั้งนามกายทั้งรูปกาย หายใจเข้าหายใจออก

พูดง่ายๆ เรียกอย่างธรรมดาๆ ก็เหมือนอย่างทุกคนกำลังนั่งอยู่ในบัดนี้

และกำหนดดูรูปกายอันนี้ เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป

มีหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดโดยรอบ และบัดนี้ก็กำลังนั่งอยู่

และก็ไม่ได้นั่งอยู่เฉยๆ นั่งหายใจเข้าหายใจออกอยู่

ตรวจดูกายนี้ทั้งหมดดังกล่าว ให้จิตอยู่ในขอบเขตของกายนี้ ไม่ให้ออกไปข้างนอก

และก็กำหนดดูลมหายใจเข้าออกตามระยะทางหายใจที่ยาวหรือสั้น

เพราะยาวหรือสั้นนั้นก็เกี่ยวแก่ระยะทางของลมหายใจที่ดำเนินไปทั้งเข้าและออก

และเมื่อมีระยะทาง ก็จะต้องมีเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด

กำหนดให้รู้ให้เห็นทั้งเบื้องต้น ทั้งท่ามกลาง ทั้งที่สุด

เรียกว่าให้รู้ตลอดระยะทางไม่ให้ตกหล่น

 

เมื่อจิตกำหนดดั่งนี้ส่วนที่เป็นนามกายคือใจ ก็จะมาอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก

ก็เป็นอันว่ากายและใจมารวมกันอยู่ด้วยสมาธิไม่ไปข้างไหน ก็ย่อมจะรู้กายทั้งหมด

สมาธิก็จะเกิด ก็จะได้ฉันทะได้ปราโมทย์ดังกล่าว จนถึงได้อุเบกคือความวางเฉย

จิตก็จะกลับจากลมหายใจเข้าลมหายใจออก มาอยู่กับอุเบกขาคือความวางเฉย

และเมื่อเป็นดั่งนี้ การหายใจจริงๆก็จะละเอียดเข้าๆ จนถึงไม่ปรากฏ

แต่ความรู้สึกดั่งนี้ก็คือกายสังขารเครื่องปรุงกาย อันได้แก่ลมหายใจเข้าออกสงบรำงับไปเอง

ด้วยการปฏิบัติให้ได้สมาธิ สงบระงับไปด้วยสมาธิ

เพราะฉะนั้น เมื่อมาจับเอาข้อที่ ๔ นี้ขึ้นมาแสดง ท่านจึงแสดงมาตั้งแต่ขั้นที่ ๑

หรือชั้นที่ ๑ ที่ว่าหายใจเข้าออกยาวก็รู้ว่ายาว หายใจเข้าออกสั้นก็รู้ว่าสั้น

ในขั้นทั้ง ๒ นี้ก็กำหนดให้รู้จักว่าลมหายใจเข้าออกสั้นก็ตาม ยาวก็ตาม สั้นก็ตาม

เนื่องด้วยกาย เป็นกายสังขารเครื่องปรุงกาย เราจะสงบระงับดับด้วยสมาธิปฏิบัติ

และต่อจากนั้นก็กำหนดว่า รู้ทั่วถึงกายทั้งหมด หายใจเข้าหายใจออก

ซึ่งเป็นชั้นที่ ๓ หรือขั้นที่ ๓

 

( เริ่ม ๑๙๐/๑ ) ความที่กำหนดรู้กายทั้งหมดหายใจเข้าหายใจออก ก็เป็นกาย เนื่องด้วยกาย

เราก็จะสงบรำงับเครื่องปรุงกาย หายใจเข้าหายใจออกด้วยสมาธิเช่นเดียวกัน

และเมื่อได้สมาธิดีขึ้น กายจิตสงบมากขึ้น ลมหายใจเข้าออกเองก็สงบมากขึ้นไปโดยลำดับ

จนถึงเหมือนอย่างไม่หายใจ อยู่ในลักษณะที่เรียกว่า จิตกลับจากลมหายใจเข้าลมหายใจออก

ตั้งอยู่ในอุเบกขา เมื่อเป็นดั่งนี้ อาการของกายต่างๆในขณะที่นั่งปฏิบัติ

คือการน้อมกายไปน้อมกายมา การน้อมกายไปมาบ่อยๆ การค้อมกาย ความหวั่นไหวของกาย

ความโงกของกาย ความสั่นเสทือนของกายต่างๆ ก็จะไม่มี

 

ปัญหาในขั้นสงบรำงับกายสังขาร

 

หากจะมีปัญหาว่า เมื่อสงบรำงับกายสังขารเครื่องปรุงกายถึงขั้นนี้

ก็เป็นอันว่าจิตก็จะไม่ได้กำหนดลมหายใจเข้าออก อานาปานสติสมาธิก็จะไม่มี

เพราะว่าจิตไม่กำหนดลมหายใจเข้าออก

ได้ยินว่า ถ้าปล่อยจิตจากความกำหนด ก็จะเป็นอย่างนั้น

 

ท่านจึงสอนวิธีปฏิบัติในขั้นนี้ไว้ว่า

เมื่อลมหายใจเข้าออกหยาบ ก็ให้กำหนดนิมิตของลมหายใจเข้าออกที่หยาบ

เมื่อลมหายใจเข้าออกละเอียด ก็ให้กำหนดนิมิตของลมหายใจเข้าออกที่ละเอียด

และเมื่อลมหายใจเข้าออกที่ละเอียดดับไป

ก็ให้กำหนดอารมณ์แห่งนิมิตของลมหายใจเข้าออกที่ละเอียดนั้น

คือให้กำหนดนิมิตของลมหายใจเข้าออกที่ละเอียดเป็นอารมณ์ต่อไป

 

เปรียบเหมือนเมื่อเคาะกังสดาล หรือระฆัง

เสียงระฆังก็จะดัง ก็ให้กำหนดนิมิตของเสียงระฆังที่ดังนั้น

และเมื่อเสียงระฆังที่ดังนั้นเบาลง ก็ให้กำหนดนิมิตของเสียงระฆังที่เบาลงนั้น

เมื่อเสียงระฆังนั้นเงียบไป ก็ให้กำหนดอารมณ์แห่งเสียงระฆังที่เบา

คือกำหนดเสียงระฆังที่เบาเป็นอารมณ์ต่อไป คือไม่ปล่อยกรรมฐานอันเป็นที่ตั้ง

กำหนดเสียงที่เบานั้น แม้จะดับไปแล้วหายไปแล้ว ไว้ในใจ

เหมือนอย่างยังดังเบาๆอยู่ในใจ ให้ตั้งอยู่ในใจ

 

ฉะนั้น เมื่อลมหายใจที่หยาบกลายมาเป็นลมหายใจที่ละเอียด

จนถึงลมหายใจที่ละอียดนั้นดับไม่ปรากฏ จึงได้ปล่อยอารมณ์

แต่ยังกำหนดอารมณ์คือนิมิตจากลมหายใจเข้าออกที่ละเอียดไว้ในจิตใจ

เหมือนอย่างว่าจิตใจยังหายใจเข้า ยังหายใจออกอยู่

เมื่อเป็นดั่งนี้ก็เป็นอันว่า ยังไม่ทิ้งลมหายใจเข้าออก ยังเป็นอานาปานสติสมาธิภาวนาอยู่

 

พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายลมหายใจเข้าออก

ให้ตั้งสติกำหนดให้เป็นอานาปานสติสมาธิภาวนาไว้ดั่งนี้

เพราะฉะนั้น จึงควรฟังให้เข้าใจ พิจารณาให้เข้าใจ และนำมาปฏิบัติ

ตามที่พระบรมครูได้ตรัสสอนเอาไว้

 

การนำปฏิบัติในเบื้องต้น

 

พระอาจารย์ทั้งหลายตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน

ได้แสดงอธิบายวิธีช่วยในการปฏิบัติข้อนี้ไว้เป็นอันมาก ดังเช่นแบบที่ใช้ การนับ

แบบที่ใช้บริกรรมว่า พุทโธ หายใจเข้าพุท หายใจออกโธ เป็นการนำปฏิบัติในเบื้องต้น

ที่ท่านเปรียบไว้ว่า การปฏิบัติในเบื้องต้นนั้น เหมือนอย่างพายเรือไปในน้ำเชี่ยว

ลำพังพายไม่พอต้องใช้ถ่อช่วย

 การปฏิบัติทำอานาปานสติสมาธิภาวนาก็เช่นเดียวกัน

ต้องใช้นับเหมือนอย่างถ่อช่วยพยุงจิต หรือพุทธโธช่วยพยุงจิตไว้

และเมื่อจิตสงบเหมือนอย่างเรือไปถึงที่น้ำเรียบแล้ว ก็ไม่ต้องใช้ถ่อ ใช้พายเรื่อยๆไปก็ได้

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats