ถอดเทปพระธรรมเทศนา

เทป161

พุทธานุสสติ สัมมาสัมพุทธะ

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

อานาปานสติ ๙ อาการ ๔

ฉันทะ ๓ อาการ ๕

ปราโมทย์ ๓ อาการ ๕

ความหมายว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๖

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน อธิบายจากปฏิสัมภิทามรรค ปฏิบัติขั้นละเอียด

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๒๐๔/๒ เริ่มต้น จบในหน้าเดียว ( File Tape 161 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

พุทธานุสสติ สัมมาสัมพุทธะ

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ในคำว่าขอนอบน้อม หรือตั้งใจนอบน้อม

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระพุทธคุณบทหนึ่ง

ซึ่งแปลความว่า พระองค์ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ

เพราะฉะนั้น จึงสมควรระลึกถึงพระพุทธคุณบทนี้ ว่าพระองค์เป็นผู้ตรัสรู้นั้น

ก็คือตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ อันได้แก่ทุกข์ เหตุเกิดทุกข์อันเรียกว่าทุกขสมุทัย

ความดับทุกข์อันเรียกว่าทุกขนิโรธ

ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อันเรียกว่าทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา หรือมรรค

 

พระพุทธองค์ได้ตรัสอธิบายอริยสัจจ์เหล่านี้ไว้เอง ว่าทุกข์นั้นก็ได้แก่

ชาติทุกข์ ทุกข์คือชาติความเกิด ชราทุกข์ ทุกข์คือชราความแก่ มรณะทุกข์ ทุกข์คือความตาย

และทุกข์คือโสกะความแห้งใจ ปริเทวะความคร่ำครวญรัญจวนใจ

ทุกขะความไม่สบายกาย โทมนัสสะความไม่สบายใจ

อุปายาสะหรืออุปายาสความคับแค้นใจ

และความประจวบกับด้วยสิ่งหรือสัตว์บุคคลอันไม่เป็นที่รัก

ความพลัดพรากจากสิ่งหรือสัตว์บุคคลอันเป็นที่รัก

ความปรารถนาไม่ได้สมหวัง

 

และกล่าวโดยย่อ ขันธ์อันเป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการ เป็นทุกข์

ขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการนั้น ก็ได้แก่ รูปขันธ์กองรูป

เวทนาขันธ์กองเวทนา ความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆไม่ทุกข์ไม่สุข

สัญญาขันธ์กองสัญญา ความจำได้หมายรู้

สังขารขันธ์กองสังขาร ความคิดปรุงหรือความปรุงคิด

วิญญาณขันธ์กองวิญญาณ คือความรู้ที่เรียกว่าเห็นคือเห็นรูป ที่เรียกว่าได้ยินคือได้ยินเสียง

ที่เรียกว่าได้ทราบ คือได้ทราบกลิ่น ได้ทราบรส ได้ทราบโผฏฐัพพะสิ่งถูกต้อง

และได้รู้ได้คิดธรรมะคือเรื่องราว

 

เหตุเกิดทุกข์นั้นทรงแสดงตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก อันเป็นเหตุให้ถือภพชาติใหม่

ประกอบไปด้วยนันทิความเพลิน และราคะความติดใจยินดี

มีความอภินันท์ยินดียิ่งในอารมณ์นั้นๆ

ความดับทุกข์นั้นก็ได้แก่ความดับ ด้วยความสำรอกโดยไม่เหลือซึ่งตัณหานั้น

ความสละ ความสละคืน ความปล่อย พ้น ไม่อาลัยตัณหานั้น

ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็ได้แก่มรรคมีองค์ ๘ คือ

สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะความดำริชอบ

สัมมาวาจาเจรจาชอบ สัมมากัมมันตะการงานชอบ

สัมมาอาชีวะเลี้ยงชีวิตชอบ สัมมาวายามะเพียรชอบ

สัมมาสติระลึกได้ชอบ สัมมาสมาธิความตั้งใจมั่นชอบ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อริยสัจจ์ทั้ง ๔ นี้เองโดยชอบ จึงได้พระนามว่าสัมมาสัมพุทธะ

ดังที่เราทั้งหลายได้สวดนมัสการอยู่เนืองๆ ในบทว่า นโม ตัสสะ ภควะโต อรหะโต

สัมมาสัมพุทธัสสะ ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 

อานาปานสติ ๙ อาการ

 

สติปัฏฐานทั้ง ๔ นั้น

ข้อกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติพิจารณาเห็นกายในกาย

ปัพพะแรกก็ได้แก่อานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก

ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสเริ่มต้นไว้ว่า เข้าไปสู่ป่า สู่โคนไม้ สู่เรือนว่าง นั่งขัดบัลลังก์คือนั่งพับขา

ที่เรียกว่าขัดสะหมาด ตั้งกายตรง ดำรงสติจำเพาะหน้า หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้

หายใจเข้ายาวก็รู้ว่าหายใจเข้ายาว หายใจออกยาวก็รู้ว่าหายใจออกยาว

หายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าหายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้นก็รู้ว่าหายใจออกสั้น

ศึกษาคือสำเหนียกว่า เราจักกำหนดรู้ตลอดกายทั้งหมดหายใจเข้า

ศึกษาคือสำเหนียกว่า เราจักกำหนดรู้ตลอดกายทั้งหมดหายใจออก

ศึกษาคือสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขารเครื่องปรุงกายหายใจเข้า

ศึกษาคือสำเหนียกกำหนดว่า เราจักระงับกายสังขารเครื่องปรุงกายหายใจออก

 

พระพุทธเจ้าตรัสสอนวิธีปฏิบัติทำอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกไว้ดั่งนี้

จะอธิบายข้อแรก คือหายใจเข้ายาว ก็รู้ว่าเราหายใจเข้ายาว

หายใจออกยาว ก็รู้ว่าเราหายใจออกยาว อย่างไร

ท่านอธิบายไว้ในปฏิสัมภิทามรรคว่า มีวิธีปฏิบัติเป็น ๙ อาการ

คือ อาการที่ ๑ หายใจเข้ายาวในขณะที่นับ คือกำหนดได้ว่ายาว

อาการที่ ๒ หายใจออกยาวในขณะที่นับ คือกำหนดได้ว่ายาว

อาการที่ ๓ หายใจเข้าบ้างหายใจออกบ้าง ยาวในขณะที่นับ คือกำหนดได้ว่ายาว

นี้เป็น ๓ อาการ

ฉันทะ ๓ อาการ

 

และต่อจากนี้ท่านอธิบายว่า

เมื่อหายใจเข้าเมื่อหายใจออกยาวในขณะที่นับ คือกำหนดได้ว่ายาว

ฉันทะคือความพอใจย่อมเกิด จึงแสดงอาการอันเกี่ยวแก่ฉันทะนี้อีก ๓ อาการ

นับเป็นอาการที่ ๔ ว่า ด้วยอำนาจแห่งฉันทะคือความพอใจ

หายใจเข้ายาวในขณะที่นับ คือกำหนดได้ว่ายาว ที่ละเอียดกว่านั้น

อาการที่ ๕ ว่า ด้วยอำนาจแห่งฉันทะ

หายใจออกยาวในขณะที่นับ คือกำหนดได้ว่ายาว ที่ละเอียดกว่านั้น

อาการที่ ๖ ว่า ด้วยอำนาจฉันทะความพอใจ

หายใจเข้าบ้างหายใจออกบ้างยาว ในขณะที่นับ คือกำหนดได้ว่ายาว

จึงมีแสดงเกี่ยวแก่ฉันทะความพอใจ ๓ ประการ ดั่งนี้

 

ปราโมทย์ ๓ อาการ

 

ต่อไปก็มีแสดงว่า

ด้วยอำนาจแห่งฉันทะเมื่อหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาว ในขณะที่นับ

คือกำหนดได้ว่ายาว ที่ละเอียดกว่านั้น ปราโมทย์คือความบังเทิงใจย่อมเกิดขึ้น

จึงมีอาการที่เกี่ยวกับปราโมทย์อีก ๓ นับเป็นที่ ๗-๘-๙

อาการที่ ๗ ว่า ด้วยอำนาจแห่งปราโมทย์

หายใจเข้ายาว ในขณะที่นับ คือกำหนดได้ว่ายาว ที่ละเอียดกว่านั้น

อาการที่ ๘ ด้วยสามารถแห่งปราโมทย์คือความบันเทิงใจ

หายใจออกยาว ในขณะที่นับ คือกำหนดได้ว่ายาว ที่ละเอียดกว่านั้น

อาการที่ ๙ ด้วยสามารถแห่งปราโมทย์ หายใจเข้ายาวบ้าง หายใจออกยาวบ้าง

ในขณะที่นับ คือกำหนดได้ว่ายาว ที่ละเอียดกว่านั้น

ก็รวมเป็น ๓ อาการที่เกี่ยวกับปราโมทย์ ก็รวมเป็น ๙ อาการ

ความหมายว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

 

และได้แสดงต่อไว้ว่า

ด้วยสามารถแห่งปราโมทย์ เมื่อหายใจเข้า เมื่อหายใจออก ยาวในขณะที่นับ

คือกำหนดได้ว่ายาว ที่ละเอียดกว่านั้น จิตย่อมออกจากลมอัสสาสะปัสสาสะ

หรือจากลมหายใจเข้าลมหายใจออก อุเบกขาย่อมตั้งขึ้น

 

กายคือลมหายใจเข้าลมหายใจออก

ด้วยอาการทั้ง ๙ เหล่านี้เป็นอุปปัฏฐานะ คือเป็นที่ปรากฏ

สติเป็นอนุปัสสนาญาณ ความหยั่งรู้ที่พิจารณาเห็น หรือความหยั่งรู้ที่ตามรู้ตามเห็น

กายเป็นอุปปัฏฐานะคือเป็นที่ปรากฏ มิใช่เป็นสติ

สตินั้นเป็นอุปปัฏฐานะคือเป็นที่ปรากฏด้วย เป็นสติด้วย

พิจารณาเห็น หรือตามดูตามรู้ตามเห็นกายนั้น ด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น

เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐานภาวนา

การภาวนาคือการอบรมสติปัฏฐาน ข้อพิจารณาเห็นกาย

ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

*

ศีลสมาธิปัญญา

อานาปาสติสมาธิชั้นที่ ๒

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์

ม้วนที่ ๒๐๕/๑ เริ่มต้น จบในหน้าเดียว ( File Tape 161 )

อณิศร โพธิทองคำ

บรรณาธิการ

ศีลสมาธิปัญญา

อานาปาสติสมาธิชั้นที่ ๒

*

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

วัดบวรนิเวศวิหาร

*

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต

ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ

พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง

เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

 

ศีลสมาธิปัญญานี้ เป็นข้อที่พึงปฏิบัติด้วยกัน

แม้ในการฟังธรรมเทศนา หรือการฟังธรรมบรรยาย

ก็ต้องฟังด้วยการปฏิบัติศีลสมาธิปัญญา อันเป็นไปในการฟัง

ดังเช่นในบัดนี้ ทุกๆท่านต่างก็นั่งอยู่ในอาการสำรวม และวาจาที่พูดออกก็ไม่มี

ใจที่คิดเพื่อพูดก็ไม่มี เป็นความสำรวมวาจา และสำรวมใจเอง

ให้สงบจากความคิดฟุ้งซ่านไปในเรื่องต่างๆ มีความสำรวมใจเพื่อที่จะฟัง

ความสำรวมกายวาจาใจดังที่กล่าวมานี้ ได้ชื่อว่าเป็นศีลด้วยกัน

เป็นศีลคือสังวรความสำรวมระวัง

 

และเมื่อมีความสำรวมระวังดั่งนี้ ก็เรียกว่าอยู่ในอาการอันพร้อมที่จะฟัง

จึงทำความตั้งใจฟัง ความตั้งใจฟังนี้เป็นสมาธิ เป็นสมาธิในการฟัง

โดยมีถ้อยคำที่แสดงธรรมไปนี้เป็นอารมณ์ของสมาธิที่ตั้งใจฟังนี้

ไม่ส่งใจไปในเรื่องอื่น แต่ส่งใจไปฟังธรรมะที่แสดง ดั่งนี้ก็เป็นสมาธิในการฟัง

เมื่อมีสมาธิในการฟัง ก็ย่อมได้ปัญญาคือความรู้ รู้ในธรรมะที่ฟัง

ว่าแสดงเรื่องอะไร แสดงอย่างไร มีเหตุผลเป็นไปอย่างไร นี้เป็นตัวปัญญาที่ได้จากสมาธิ

เพราะฉะนั้น จึงต้องมีศีล ต้องมีสมาธิในการฟัง จึงจะได้ปัญญาในธรรม

เป็นอันว่าได้ทั้งศีล ได้ทั้งสมาธิ และได้ทั้งปัญญา ประกอบไปด้วยกัน

 

อานาปานสติชั้นที่ ๒

 

ในวันนี้จะแสดงอานาปานสติชั้นที่ ๒ เมื่อวานนี้ได้แสดงอานาปานสติชั้นที่ ๑

คือหายใจเข้ายาวก็รู้ว่ายาว หายใจออกยาวก็รู้ว่าหายใจออกยาว

ตามอธิบายในปฏิสัมภิทามรรค ซึ่งจำแนกออกไปเป็น ๙ อาการ

ส่วนอานาปานสติชั้นที่ ๒ ตรัสแสดงไว้ว่า หายใจเข้าสั้นก็รู้ว่าสั้น หายใจออกสั้นก็รู้ว่าสั้น

มีอธิบายไว้เป็น ๙ อาการดุจเดียวกัน

 

ในเบื้องต้นอาการที่ ๑ อาการที่ ๒ อาการที่ ๓

คืออาการที่ ๑ หายใจเข้าสั้น ในขณะที่นับ คือกำหนดรู้ว่านิดหน่อย

อาการที่ ๒ หายใจออกสั้น ในขณะที่นับ คือกำหนดรู้ว่านิดหน่อย

อาการที่ ๓ หายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้าง ในขณะที่นับ คือกำหนดรู้ว่านิดหน่อย

๓ ประการนี้เป็นการเริ่มปฏิบัติ

 

และต่อจากนี้ท่านแสดงว่า เมื่อหายใจเข้า เมื่อหายใจออกสั้น ในขณะที่นับ

คือกำหนดรู้ว่านิดหน่อย ฉันทะคือความพอใจย่อมเกิด

จึงมาถึงอาการที่เกี่ยวแก่ฉันทะความพอใจอีก ๓ เป็นอาการที่ ๔ อาการที่ ๕ อาการที่ ๖

คืออาการที่ ๔ ด้วยสามารถแห่งฉันทะความพอใจ หายใจเข้าสั้น

ในขณะที่นับ คือกำหนดรู้ว่านิดหน่อย ที่ละเอียดกว่านั้น

อาการที่ ๕ หายใจออกสั้น ในขณะที่นับคือกำหนดรู้ว่านิดหน่อย ที่ละเอียดกว่านั้น

อาการที่ ๖ หายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้าง สั้น ในขณะที่นับ

คือกำหนดรู้ว่านิดหน่อย ที่ละเอียดกว่านั้น

จึงรวมเป็นอาการที่เกี่ยวแก่ฉันทะอีก ๓ เป็น ๖

 

ต่อจากนี้ท่านแสดงว่า เมื่อหายใจเข้า เมื่อหายใจออก สั้น

ในขณะที่นับ คือกำหนดรู้ว่านิดหน่อย ที่ละเอียดกว่านั้น

ด้วยสามารถแห่งฉันทะ ปราโมทย์คือความบังเทิงใจย่อมเกิด

จึงแสดงอาการที่เกี่ยวกับปราโมทย์คือความบันเทิงใจอีก ๓

นับเป็นอาการที่ ๗ อาการที่ ๘ อาการที่ ๙

 

คืออาการที่ ๗ ด้วยสามารถแห่งปราโมทย์ความบันเทิงใจ หายใจเข้าสั้น

ในขณะที่นับ คือกำหนดรู้ว่านิดหน่อย ที่ละเอียดกว่านั้น

อาการที่ ๘ หายใจออกสั้น ในขณะที่นับคือกำหนดรู้ว่านิดหน่อย ที่ละเอียดกว่านั้น

อาการที่ ๙ คือหายใจเข้าบ้าง หายใจออกบ้าง สั้น

ในขณะที่นับ คือกำหนดรู้ว่านิดหน่อย ที่ละเอียดกว่านั้น

ก็รวมเป็น ๙

 

ต่อจากนี้ท่านแสดงว่า เมื่อหายใจเข้า เมื่อหายใจออก สั้น

ในขณะที่นับคือกำหนดรู้ว่านิดหน่อย ด้วยสามารถแห่งปราโมทย์ความบันเทิงใจ

จิตย่อมออกจากลมอัสสาสะปัสสาสะ คือลมหายใจเข้าลมหายใจออก

อุเบกขาคือความเข้าไปเพ่งเฉยอยู่ย่อมตั้งขึ้น

กายคือลมหายใจเข้าลมหายใจออกด้วยอาการทั้ง ๙ เหล่านี้เป็นอุปปัฏฐานะ คือเป็นที่ปรากฏ

สติเป็นอนุปัสสนาญาณความหยั่งรู้ เป็นเหตุพิจารณาเห็น หรือเป็นเหตุตามดูตามรู้ตามเห็น

กายเป็นอุปปัฏฐานะคือเป็นที่ตั้งเป็นที่ปรากฏของจิต กายไม่ใช่เป็นสติ

ส่วนสตินั้นเป็นอุปปัฏฐานะคือเป็นที่ปรากฏ เป็นที่เข้าไปตั้งแห่งจิตด้วย เป็นสติด้วย

พิจารณาเห็น หรือตามดูตามรู้เห็นกายนั้น ด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น

เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐานภาวนา

ความอบรมสติปัฏฐานข้อพิจารณาเห็น หรือพิจารณาตามดูตามรู้ตามเห็นกายในกาย ดั่งนี้

 

อานาปานสติทั้ง ๒ ชั้นแรกนี้ ท่านอธิบายวิธีปฏิบัติไว้ในแนวเดียวกัน

การเริ่มต้นปฏิบัตินั้น เมื่อลมหายใจเป็นปรกติของทุกคน อย่างที่เรียกว่าหายใจทั่วท้อง

คือหายใจเข้า ก็เข้าจากจมูก ผ่านอุระคือทรวง เข้าไปถึงท้องที่พองขึ้น

หายใจออก ก็ผ่านจากท้องที่ยุบลง ผ่านอุระ แล้วไปออกปลายจมูก

เรียกได้ว่าเป็นหายใจยาว คือหายใจตามปรกติ

 

เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็เริ่มปฏิบัติตามชั้นที่ ๑ ตั้งต้นแต่ตั้งสติจำเพาะหน้า

อันหมายความว่า จำเพาะลมหายใจเข้าลมหายใจออก กำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก

ลมหายใจเข้าก็กำหนด เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด

ดั่งที่พระอาจารย์ได้แสดงไว้ว่า ปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบนเป็นเบื้องต้นในขาเข้า

อุระคือทรวงอกเป็นท่ามกลาง อุทรคือท้องเป็นที่สุด ก็ตั้งสติดูให้ตลอดสาย

และในขาออก อุทรคือท้องเป็นเบื้องต้น อุระคือทรวงอกเป็นท่ามกลาง

ปลายจมูกหรือริมฝีปากเบื้องบนเป็นที่สุด ก็ตั้งสติตามดูให้ตลอด

 

มีความเพียร มีสติ มีญาณ ที่ประกอบด้วยพิจารณาเห็น

หรือตามดูตามรู้ลมหายใจเข้าออกดั่งนี้ เข้าก็ให้รู้เป็นอาการที่ ๑ ออกก็ให้รู้เป็นอาการที่ ๒

ทั้งเข้าทั้งออกก็ให้รู้เป็นอาการที่ ๓ ก่อนที่ฉันทะจะเกิด

และเมื่อจิตได้สมาธิคือรวมเข้ามา สติก็ตั้งอยู่ที่ลมหายใจ ไม่หลุดหายไป

เริ่มได้สมาธิขึ้น สติตั้งมั่นขึ้น ความเพียรก็เป็นไปสม่ำเสมอขึ้น

เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็จะเกิดฉันทะคือความพอใจในการปฏิบัติทำอานาปานสติ

ไม่เบื่อหน่าย ไม่อยากเลิก นั่งทำอานาปานสติเพราะมีฉันทะคือความพอใจ

ทำให้เกิดความเพียรยิ่งขึ้น ทำให้จิตตั้งมั่นยิ่งขึ้น

ทำให้เกิดวิมังสาซึ่งเป็นตัวอนุปัสสนาญาณ ญาณที่ตามดูตามรู้ตามเห็น กระชับมากขึ้น

เมื่อฉันทะเกิดขึ้น หายใจเข้าหายในออก ทั้งหายใจเข้าทั้งหายใจออกก็ละเอียดกว่านั้น

และย่อมจะเกิดปราโมทย์ต่อไปคือความบันเทิงใจ

หายใจเข้าหายใจออก ทั้งหายใจเข้าทั้งหายใจออก ก็จะละเอียดกว่านั้น

เมื่อเป็นดั่งนี้ อุเบกขาก็จะตั้งขึ้น เพราะว่าจิตก็จะออกจากลมหายใจเข้าลมหายใจออก

อุเบกขาจึงตั้งขึ้น เป็นความเข้าไปเพ่งเฉยอยู่

 

แต่ว่ากายคือลมหายใจเข้าลมหายใจออก ด้วยอาการทั้ง ๙ นี้

เป็นอุปปัฏฐานะะคือเป็นที่ปรากฏ เป็นที่เข้าไปตั้งแห่งจิต

คือจิตก็ยังตั้งกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกอยู่

หรือกำหนดนิมิตของลมหายใจเข้าของลมหายใจออก

จึงเป็นอันว่าได้กายานุปัสสนาสติปัฏฐานในขั้นนี้

 

แต่เพราะเหตุใดเหตุหนึ่งก็ตาม

ถ้าลมหายใจเข้าออกสั้น ในขณะที่ตั้งกำหนดนับ

คือกำหนดได้ว่าลมหายใจนิดหน่อย คือว่าสั้น ไม่ยาวตามปรกติ

ก็ให้ตั้งต้นด้วยสั้น อันเป็นชั้นที่ ๒ แล้วก็ปฏิบัติไปตามอาการทั้ง ๙ นั้นเช่นเดียวกัน

เมื่อได้อาการทั้ง ๙ ก็เป็นอันว่าได้กายานุปัสสนาสติปัฏฐานในขั้นนี้

ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและทำความสงบสืบต่อไป

*

 

ดาวน์โหลดตัวอักษร (ฟ้อนต์) ทิเบตทั้ง ๓ แบบ เพื่อความสมบูรณ์ในการชมเว็บ

actisan.ttf

adtibet.ttf

atibet.ttf


uptime alert service

website monitor

View My Stats